สรุปหนังสือ ทำไมเป็นคนแบบนี้ What Makes You You ?
ทำไมเป็นคนแบบนี้? เป็นคำถามที่หลายคนมีต่อตัวเองและคนรอบข้าง เวลาที่เจอพฤติกรรมที่ไม่เข้าใจ ทำไมถึงตกหลุมรักผิดคน ทำไมเป็นคนแสนดีแต่ไม่มีความสุข ทำไมคนเราถึงมีและไม่มีความเห็นอกเห็นใจตัวเองและคนอื่น ทำไมถึงโดนข่าวปลอมหลอกได้ มีคนมากมายที่พยายามทำความเข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้ เช่นเดียวกันกับคนอีกมากมายที่สมควรได้รับความเข้าใจจากผู้อื่น การเข้าใจตัวเองจะทำให้รู้จักตัวเองดีขึ้น ปรับปรุงแก้ไขตัวเองอย่างที่ควร เห็นคุณค่าตัวเองมากขึ้น อ่อนโยนกับตัวเองมากขึ้น และรักตัวเองแบบที่เป็น ขณะเดียวกันการเข้าใจผู้อื่น และทำให้ไม่ปิดประตูใส่เขา ไม่ตัดสินใครเร็วเกินไป ไม่ให้เกียรติใครง่ายเกินไป สุดท้ายจำเป็นต้องอยู่ด้วยกัน อยู่กับตัวเราที่เป็นแบบนี้ อยู่กับคนอื่นที่เป็นแบบเขา ความเข้าใจกันและกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
หลงใหล สัมพันธ์ ซับซ้อน
เมื่อมีความรัก ทุกคนคงอยากมีความสัมพันธ์ที่ดีกันทั้งนั้น แต่บางครั้งก็ไปตกหลุมรักผิดคนเข้า ปอลฮุสและวิลเลี่ยม อธิบายถึง Dark Triad หรือ 3 ลักษณะนิสัยที่จะพาไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษได้แก่
- Narcissism ความหลงตัวเอง ความรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าผู้อื่นอยู่เสมอ และการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล
- Psychopathy จิตใจหยาบกระด้าง ขาดความเห็นใจผู้อื่น ขาดความสำนึกผิด ขาดความยับยั้งชั่งใจ และไม่สนว่าผู้อื่นจะเป็นอย่างไร
- Machiavellianism จอมบงการ ยัดเยียดความคิด ชอบควบคุมผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตัวเอง ชอบใช้อำนาจเหนือคนอื่น และหลอกลวงเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ
โจนาสัน ไลน์ออนและบล็องชาร์ด อธิบายว่าคน 3 แบบนี้เจอกันตอนแรกอาจไม่รู้ว่าพวกเขามีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ข้อ เพราะพวกเขามีความมั่นใจ ดูหน้าดึงดูดมีเสน่ห์ และมีทักษะการเข้าสังคมเป็นอย่างดี แล้วคนแบบไหนที่มักจะตกเป็นเหยื่อของ Dark Triad เลชูกาแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส ที่เอลพาโซ่ และโจนส์แห่งมหาวิทยาลัยเนวาดารีโน ทำการวิจัยพบว่าคนนั้นคือ Emophilia คือคำที่นักจิตวิทยาเรียกคนที่มีแนวโน้มจะตกหลุมรักง่ายไป เร็วไป และบ่อยไปแบบในหนังโรแมนติกคอเมดี แต่ Emophilia นี่แหละที่มักจะตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่อันตราย เพราะการที่ตกหลุมรักง่าย ๆ ตกหลุมรักเร็ว และตกหลุมรักบ่อย จะทำให้พวกเขาตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ผิดในชีวิตอยู่บ่อย ๆ
สรุปยิ่งตกหลุมรักง่ายไป เร็วไป และบ่อยไป ยิ่งมีโอกาสตัดสินใจเลือกคนที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เป็นอันตรายมากขึ้น ประเด็นหลักที่น่าจะเรียนรู้ได้คือ Take it slow อย่าใจร้อน อย่าผลีผลามอยากกระโจนเข้าตามแรงปรารถนาจนควบคุมตัวเองไม่ได้ การอยากมีความรักไม่ใช่เรื่องผิด แต่การโหยหาอยากมีความรักมากไป ยิ่งอาจทำให้การตัดสินใจไม่รอบคอบ และตกหลุมรักผิดคนได้ ยิ่งตกหลุมรักง่ายไป เร็วไป และบ่อยไปยิ่งมีแนวโน้มว่าจะดึงดูดคนผิด ๆ เข้ามาในชีวิต และนำไปสู่ความเจ็บปวดในที่สุด
Nice Guy คือคนที่เอาความต้องการของคนอื่นเป็นที่ตั้งก่อนตัวเองเสมอ คนแบบนี้จะหลีกเลี่ยงการปะทะ หรือมีปัญหาอยากทำให้คนอื่นมีความสุข คอยสนับสนุนทุกทาง คนที่เข้าข่าย Nice Guy Syndrome มักจะผูกความสุขของตัวเองไว้ที่คนอื่น ความสุขของเขาต้องได้รับการรับรองจากคนอื่นก่อนถึงจะมีความสุขได้ ถ้าคนอื่นมีความสุขเขาถึงจะต้องมีความสุขได้ ลึก ๆ แล้วที่เขาตามใจคนอื่นหมด เอาคนอื่นมาก่อนตัวเอง และไม่กล้าบอกความต้องการตัวเอง เพราะเขากลัวที่จะไม่เป็นที่รัก กลัวว่าถ้าไม่ทำตามแล้วคนก็จะไม่รัก
คนทุกคนอยากเป็นที่รัก แต่วิธีการที่ Nice Guy เลือกเพื่อให้เป็นที่รักคือ การเชื่อว่าถ้าทำให้คนอื่นพอใจได้เขาก็จะเป็นที่รัก เพราะเอาความสุขของตัวเองไปผูกกับคนอื่น และไม่บอกความต้องการของตัวเอง ก็ไม่มีใครรู้ว่าจริง ๆ แล้วเขาคิดยังไง เขาต้องการอะไร คนที่เป็น Nice Guy เลยถูกเอาเปรียบได้ง่าย หรือมักจะถูกละเลยอยู่บ่อย ๆ เพราะไม่เคยมีเสียงของตัวเอง คนที่ดูแลคนอื่นจนลืมดูแลตัวเองก็ไม่มีความสุขหรอก
สิ่งที่ Nice Guy ควรลองทำคือรักตัวเองให้เหมือนกับที่รักคนอื่น ปรารถนาดีกับตัวเองให้เหมือนกับที่ปรารถนาดีต่อคนอื่น การดูแลคนอื่นเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่สิ่งสำคัญคือต้องดูแลตัวเองให้ดี เพื่อที่จะดูแลคนอื่นได้ดีไปด้วย บางทีการบอกความต้องการของตัวเองให้ชัดเจน ก็อาจจะทำให้ใช้ชีวิตง่ายขึ้น ถ้าซื่อสัตย์กับตัวเองแล้ว บอกความต้องการที่ชัดเจนแล้ว คนที่ยังอยู่กับเราคือคนที่รักเราจริง ๆ คนเหล่านั้นคือคนที่ควรให้ความหมาย
ถ้ามีคนใกล้ตัวเป็น Nice Guy สิ่งที่ทำได้คือ ถามความรู้สึกของเขา เวลามีคนมาถามเขาบางอย่างว่าเป็นอย่างไรบ้าง หรือเหนื่อยไหมเขาจะมีความสุขมาก
Benching เป็นคำแสลงในทางความสัมพันธ์ ซึ่งมีที่มาจากการแข่งขันกีฬา หมายถึงตัวสำรอง ดิบเบิลและโดรแอง เคยทำวิจัยการใช้คอมพิวเตอร์ในการรักษาความสัมพันธ์ยุคใหม่ ที่เรียกว่าพฤติกรรม Backburner คือคนที่ไม่พร้อมจะผูกพันกับใคร Backburner ต้องการเป็นคนควบคุมความสัมพันธ์ เขาไม่ค่อยต้องการขยับความสัมพันธ์ไปให้มากกว่านี้ ไม่ได้รัก แต่แค่อยากมีคนรออยู่ เป็นคนที่เลือกเล่นกับความรู้สึกของคนอื่นไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่ามีความสำคัญอยู่ คงไม่ใช่คนแบบที่อยู่ด้วยแล้วดีต่อหัวใจเท่าไหร่
Breadcrumbing คำนี้ในปัจจุบันเป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกพฤติกรรม ในความสัมพันธ์ยุคดิจิทัล ที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้คิดจริงจังอะไรมากกับอีกฝ่าย เหมือนจะมีอะไรให้อีกฝ่ายลุ้น แต่จริง ๆ ไม่มีอะไรให้ลุ้น โดยพื้นฐานแล้วมาจากการเล่นตัว Playing Hard to Get กฎพื้นฐานของโลกใบนี้คือ อะไรก็ตามที่ขาดแคลน หายาก ได้มายาก ลึกลับ ก็ย่อมมีมูลค่าสูงหรือมีคุณค่าสูง ในเรื่องความสัมพันธ์ก็เหมือนกัน คนที่ได้มายาก ๆ คนนั้นก็จะมีความน่าดึงดูดมากขึ้น คนให้คุณค่ามากขึ้น ส่วนคนที่ได้มาง่าย ๆ ความน่าดึงดูดก็จะน้อยลง คุณค่าที่มอบให้ก็จะน้อยลง
งานวิจัยอีกชิ้นที่น่าสนใจมาก ทำการทดลองกับ Speed Dating ได้ผลว่าการที่คนเรารู้ว่าอีกฝ่ายสนใจ ชอบ เป็นผลดีต่อความรู้สึกก็จริง แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่พบว่าอีกฝ่ายไม่ได้สนใจแค่คนเดียว แต่สนใจคนอื่นไม่ต่างกัน ความรู้สึกจากบวกก็จะกลายเป็นลบทันที คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบ Avoidance ซึ่งก็คือคนที่ไม่ค่อยชอบการผูกมัด ไม่ชอบความใกล้ชิด ไม่แสดงความรู้สึกออกมา ไม่ค่อยเชื่อมั่นหรือไว้ใจคนอื่นได้ง่าย ๆ กว่าจะเชื่อใจใครสักคนต้องใช้เวลานาน พึ่งพาตัวเองเป็นส่วนใหญ่ และมีแนวโน้มว่าจะชอบเก็บความกังวล หรืออารมณ์ต่าง ๆ ไว้คนเดียว มีแนวโน้มที่จะเล่นตัวมากกว่า
คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบ Anxiety ซึ่งก็คือคนที่ต้องการที่จะใกล้ชิดทั้งร่างกาย และอารมณ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ คนนี้รู้สึกว่าต้องการการรับรองจากคนอื่นเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเองมีคุณค่า กลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง มีแนวโน้มจะวิ่งไล่ตามคนที่เล่นตัวมากกว่า ถ้ามองให้ลึกลงไปในเรื่องจิตวิทยาการเล่นตัว คิดว่าการทดลองทั้งหมดที่ยกมานั้น บอกเรื่องเดียวกันนั่นคือเรื่องคุณค่า
ประเด็นแรกคือความสัมพันธ์ที่แข็งแรง เกิดขึ้นจากการมองเห็นคุณค่าในกันและกัน เป็นคุณค่าที่ตรงกันทั้งคู่ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อมองเห็นคุณค่าไม่ตรงกัน
ประเด็นที่ 2 กลับมาทบทวนเรื่องคุณค่าในตัวเราเอง และคุณค่าของคนอื่นว่า ทำตัวให้มีคุณค่าสมกับที่อยากให้คนอื่นมองเห็นคุณค่าหรือยัง และเห็นคุณค่าของคนอื่นสมกับที่ตัวเขามีคุณค่าหรือเปล่า ถ้าเข้าใจสิ่งเหล่านี้ จะเข้าใจว่าความรู้สึกของคน คุณค่าของคนไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
Ghosting ความสัมพันธ์แบบผี ๆ Ghosting เด่นชัดในความสัมพันธ์ของยุคดิจิทัลมากขึ้น เพราะคนเชื่อมโยงกันผ่านช่องทางดิจิทัล แต่ถ้าค่อย ๆ หายไป ไม่ได้หักดิบ อันนี้เรียกชื่อว่า Caspering ไม่ว่าจะ Ghosting หรือ Caspering สิ่งที่เหมือนกันก็คือหายไปโดยไม่บอก ไม่อธิบาย Ghosting อาจเป็นคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ต้องการมีความสัมพันธ์ต่อไป พฤติกรรมการหยั่งเชิง หลังจากที่หายไปนาน ๆ แล้วอยู่ ๆ ก็โผล่มาวนเวียน เรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า Haunting ส่วน Zombie-ing แต่มาหลอกหลอนให้เห็นตัวเป็น ๆ แบบซอมบี้ แล้วซอมบี้เวลาเห็นคนมันจะวิ่งไล่ใส่เพื่องับคอด้วย นอกจากนั้นยังมี Submarining เรือดำน้ำที่หายต่อมอยู่ใต้น้ำ แล้วอยู่ ๆ ก็โผล่ขึ้นมาให้เห็น
เหตุผลที่คนเลือกใช้ Ghosting เป็นทางออกในการจบความสัมพันธ์มีอยู่ 5 เหตุผล
- ความสะดวก บอกเลิกง่ายดี เพราะไม่ต้องอธิบายให้มากความ
- ความมีเสน่ห์ บางคนใช้การหายไปเพื่อทำให้อีกฝ่ายต้องการตนมากกว่าเดิม
- ปฏิกิริยาในทางลบ ประเมินแล้วว่าการเผชิญหน้าและบอกเหตุผลตรง ๆ อาจจะทำให้อีกฝ่ายมีท่าทีเป็นลบ
- ระดับสถานะความสัมพันธ์ คือไม่ต้องการขยับสถานะให้มากกว่านี้
- ความปลอดภัย ความกลัวว่าการเผชิญหน้าจะทำให้มีระยะห่างได้
ข้อสังเกตหนึ่งก็คือทั้ง 5 ข้อล้วนตั้งอยู่บนมุมมองหรือประโยชน์ของคนที่เป็นผีอย่างเดียว มี Empathy ให้ตัวเองแน่นอนแต่ไม่มี Empathy ให้อีกฝ่ายว่าจะรู้สึกอย่างไร การอยู่ ๆ จะหายก็หายไป และอยู่ ๆ จะกลับมาในชีวิตในฐานะวิญญาณที่ตามหลอกหลอน หรือซอมบี้ไล่ตามคน หรือเรือดำน้ำที่โผล่มาเหนือน้ำทะเลแบบไม่ให้สัญญาณใด ๆ ก็ชวนให้คิดว่าอีกฝ่ายเป็นคนแบบไหน ลึก ๆ แล้วเขาน่าจะต้องการการยืนยันว่าตัวเองยังสำคัญอยู่ หรือแค่ต้องการู้ว่าเขายังมีอิทธิพลต่อความเป็นไปมากน้อยแค่ไหน
ถ้าจะอยู่กับความสัมพันธ์แบบไหน คงเลือกอยู่กับความสัมพันธ์ที่อยู่แล้วรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า เป็นคุณค่าจากการที่อีกฝ่ายปฏิบัติด้วยให้รู้สึกว่ามีคุณค่า และเป็นคุณค่าจากการที่อีกฝ่ายปฏิบัติกับตัวเองเพื่อรักษาคุณค่าในตัวเรา
Gastighting เป็นพฤติกรรมการคุกคามรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผู้กระทำใช้วิธีการหลอกลวง การบิดเบือนความจริง และการล้างสมองให้เหยื่อรู้สึกสงสัยในการรับรู้คุณค่า หรือความสามารถของตัวเอง และเมื่อเหยื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ก็จำเป็นต้องพึ่งพาผู้กระทำต่อไป หรือจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าได้ก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากผู้กระทำ
ในชีวิตจริงอาจจะเจอ Gastighting ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน ความสัมพันธ์ครอบครัว หรือเพื่อนฝูง เกิดขึ้นได้ทั้งหมด เช่น อาจจับได้ว่าแฟนโกหก มีหลักฐานพร้อมแน่นหนาแต่แฟน Gastighter โต้กลับว่าคิดไปเอง บ้าไปแล้ว หรือไม่ก็บอกว่าอย่าเข้ามายุ่งวุ่นวายจับผิดกับชีวิตของเขามากเกินไป เขาเบี่ยงเบนประเด็นจากเรื่องที่โกหกไปเป็นความผิดของคุณ และพูดต่าง ๆ นานาจนสุดท้ายรู้สึกว่าตัวเองผิดจนต้องเป็นฝ่ายขอโทษ แล้วบอกแฟนว่าจะไม่ทำแบบนั้นอีก หรือจำได้แม่นว่าเป็นคนที่พูดอะไรบางอย่าง หรือปฏิบัติบางอย่าง แต่เขากลับบอกว่าเปล่า คิดไปเองเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้น จนเริ่มสงสัยตัวเองไปด้วย จนทำให้คนรอบข้างเริ่มมองเปลี่ยนไป ไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะคำพูดของเขาเหมือนที่เขาทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง
ถ้าเจอใครที่อยู่ในความสัมพันธ์ที่มี Gastighting อย่าเพิ่งไปตัดสินว่าทำไมโง่จัง เห็นอยู่ว่าเขาหลอกทำไมยังอยู่กับเขาอยู่ได้ อย่าลืมว่าเหยื่อ Gastighting ถูกทำให้รู้สึกสับสน สิ่งที่ควรมอบให้คือการทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่า ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ได้โดดเดี่ยว ให้เห็นคุณค่าของเขาอยู่และปรารถนาที่จะทำให้เขามีกำลังใจจัดการชีวิตได้ พื้นฐานที่ต้องมีในทุกความสัมพันธ์ก็คือ การมองเห็นคุณค่าของตัวเอง และรักษาคุณค่าของตัวเองไว้ให้ดี โดยไม่ปล่อยให้ใครกระทั่งตัวเองมาทำลาย สั่นคลอนหรือลดทอนคุณค่าที่มี
ความสัมพันธ์ที่ดีคือ ความสัมพันธ์ที่ยิ่งอยู่แล้วยิ่งมีคุณค่า ได้เติมคุณค่าให้กันและกัน ความสัมพันธ์ใดก็ตามที่ทำให้ตัวเรารู้สึกไม่มีคุณค่า ความสัมพันธ์นั้นไม่มีคุณค่า เพราะมันไม่ได้ทำให้มีความหมาย มีแต่ลดทอนคุณค่าในตัวเราให้ลดลง คนที่ควบคุมความสว่างในชีวิตของเราได้ดีที่สุดคือตัวเราเอง
ถ้าเป็นไปได้คงไม่มีใครอยากเลิกรากับคนที่รัก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีวิธีการรับมือ และจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ Grande-ing เป็นแสลงที่หมายถึงความสัมพันธ์ที่เลิกรากันแล้ว แต่แทนที่จะจมอยู่กับความเศร้า หรือความเกลียดชัง กลับรับมือกับมันได้อย่างสง่างาม Grande-ing จึงแสดงถึง Emotional Intelligence ในการจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง เมื่อเจอกับความเปลี่ยนแปลงและแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสม
กระบวนการมูฟออนไม่ได้หมายความว่า มูฟแล้วจะไม่เสียใจอีก แต่เป็นกระบวนการล้มลุกคลุกคลานที่ต้องจัดการกับความรู้สึกของตัวเองอยู่ดี พอมีวิธีคิดแบบนี้แล้ว จึงไม่ควรคาดหวังการเปลี่ยนแปลงแบบดีดนิ้ว แล้วลอกคราบกลายเป็นคนใหม่เลย จะไม่บีบบังคับตัวเองให้ต้องลืมเขาเร็ว ๆ แต่จะเข้าใจตัวเองมากขึ้นว่า หัวใจที่เจ็บปวดก็ต้องการเวลาในการดูแลเหมือนกัน และตัวเรานี่แหละคือคนที่จะอยู่กับตัวเองในทุกสถานการณ์ไม่หนีไปไหน
มูฟออนอาจจะแปลว่ามองไปข้างหน้าบ้าง หันหลังกลับมาดูข้างหลังบ้าง หลงทางบ้าง ตรงเส้นทางบ้าง หัวเราะบ้าง หรือมีน้ำตาบ้าง แต่ก็เข้าใจว่ามันคือส่วนหนึ่งของกระบวนการมูฟออน เลือกจะทำสิ่งที่ดีต่อตัวเอง เพราะรู้ว่าชีวิตยังมีความหวัง เรียนรู้จากการได้มีชีวิตร่วมกับใครบางคน แต่ละคนที่เข้ามาในชีวิตก็มาพร้อมกับบทเรียน ให้ขอบคุณที่ให้บทเรียนบางอย่าง ทั้งในเวลาที่มีเธออยู่และเมื่อเธอจากไป ขอบคุณตัวเองที่ใช้เวลาเรียนรู้บทเรียนนั้นจนเข้าใจ และยืนหยัดที่จะมูฟออนต่อ
อำนาจ ขัดแย้ง แตกต่าง
เงินเปลี่ยนคนเราได้มากน้อยแค่ไหน เงินเป็นคนควบคุมคนเราหรือคนเราเป็นคนควบคุมเงิน คราอุส และคณะทำการทดลอง โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้สูง และรายได้น้อย จำนวน 300 คน มาวิเคราะห์การแสดงใบหน้าของบุคคลในรูปถ่าย และคนแปลกหน้าที่เข้าร่วมสัมภาษณ์ ว่ากำลังรู้สึกอย่างไร งานวิจัยนี้ต้องการหาความสัมพันธ์ระหว่างรายได้กับ Empathy ซึ่งการที่คนเราอ่านความรู้สึกบนใบหน้าของผู้อื่นได้ คือสัญญาณว่าสัมผัสความรู้สึกของผู้อื่นได้
ผลปรากฏว่างานวิจัยนี้ กลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้น้อย มีความสามารถในการอ่านความรู้สึกบนใบหน้า ได้ดีกว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีรายได้มาก ถ้ามีเงินแล้วนึกถึงความรู้สึกของคนอื่นน้อยลง ใส่ใจกับคนอื่นน้อยลง เท่ากับว่าเงินควบคุมอยู่
แบบเดียวกันกับการทดสอบที่พบว่า คนมีรายได้สูงมีความสามารถในการสัมผัสความรู้สึกของคนได้น้อยกว่า หรือการทดลองที่พบว่า คนที่ใช้รถยนต์ราคาแพงจะใส่ใจคนเดินข้ามถนนน้อยลง
ถ้าเงินมาพร้อมกับอำนาจเป็นไปได้ไหมว่า การมีเงินทำให้รู้สึกมีอำนาจ และการมีอำนาจอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงคนเรา แค่ทำให้เห็นความเป็นตัวเราชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง
ทุกคนเคยทำผิดพลาด แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับความผิดพลาด และสำหรับบางคนการยอมรับว่าตัวเองทำผิด ก็ช่างยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน ในชีวิตของเราก็คงเคยเจอคนแบบนี้ หรือไม่ก็กำลังเจออยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้ตัวหรือคนในข่าว เป็นสิ่งที่น่าสงสัยเหลือเกินว่า โรคไม่ยอมรับผิด หรือโรคที่ตัวเองผิดไม่ได้นี้มาจากไหนกัน
จีราเบ็กและมัวโยแห่ง PsychTests AIM Inc. มีผลการวิจัยที่ตั้งชื่อไว้น่าสนใจมากว่า It Wasn’t My Fault : New Study Looks at Why People Hates Admitting Mistakes. ผู้วิจัยวทำการวิจัยว่าทำไมการยอมรับผิดถึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครบางคน โดยวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 4,727 คนที่ทำการทดสอบ Self-Esteem Test และเปรียบเทียบผลระหว่าง 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่จะยอมรับผิดเมื่อทำพลาด กับกลุ่มที่ยังไงก็จะไม่ยอมรับผิด แล้วไปดูว่าวิธีคิดของ 2 กลุ่มนี้มันมีความแตกต่างกันอย่างไรผู้วิจัยพบว่ามี 5 ประเด็นหลัก ๆ ที่เป็นเหตุผลที่ทำให้คนรู้สึกว่า การยอมรับผิดเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน ก็เลยไม่ยอมรับผิด ซึ่งตรงข้ามกับคนที่ยอมรับผิดกันอย่างสิ้นเชิง
ประเด็นที่ 1 คือ มาจากความรู้สึกเกลียด ที่ตัวเองรู้สึกอ่อนแอหรือถูกว่าอ่อนแอ
ประเด็นที่ 2 คือ มาจากความรู้สึกไม่มั่นคงที่ฝังรากลึกมาก
ประเด็นที่ 3 คือ มาจากความต้องการการยอมรับจากผู้อื่นอย่างสุดขั่ว
ประเด็นที่ 4 คือ คนเหล่านี้มีแนวโน้มเป็นเพอร์เฟกต์ชันนิสต์ ซึ่งแปลว่าจะผิดไม่ได้
ประเด็นที่ 5 คือ คนเหล่านี้มีแนวโน้มจะโต้ตอบอย่างรุนแรง เมื่อมีคนชี้ว่าเขาทำผิด
ถ้าอ่านเหตุผลการวิจัยและเห็นชัดเลยว่าลึก ๆ แล้วพวกเขาอ่อนแอ เปราะบาง รู้สึกไม่มั่นคง ใช้ชีวิตอยู่กับความหวาดกลัว และมองเห็นคุณค่าของตัวเองน้อยเหลือเกิน ความผิดพลาดที่แท้จริงไม่ใช่การทำผิด แต่การทำผิดแล้วไม่ยอมรับคือความผิดพลาดที่แท้จริง
ใครก็ตามที่ละเลย ไม่ให้ความสำคัญกับความจริง คนคนนั้นจะเป็นที่น่าเชื่อถือไม่ได้เลยในเรื่องสำคัญ ๆ การยอมรับความจริงจึงนำไปสู่ความน่าเชื่อถือ คนที่ไม่เคยทำผิดพลาดมาก่อน คือคนที่ไม่เคยลองทำสิ่งใหม่ ๆ เลย เมื่อไม่เคยทำผิดพลาด ก็จะไม่มีวันได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ หรือค้นพบสิ่งใหม่ ๆ แต่ก่อนนั้นจะต้องยอมรับก่อนว่าตัวเองมีความผิดพลาดอยู่ เพราะถ้าไม่เคยยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด ก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย และคนที่ไม่ยอมรับผิด จะไม่มีทางได้เรียนรู้เลย
ชีวิตแต่ละวันมักเจอเรื่องโกหกอยู่เป็นประจำ อาจจะเป็นการโกหกเรื่องเล็ก ๆ จนไปถึงเรื่องการโกหกเรื่องใหญ่โตแบบหน้านิ่ง ๆ ไม่สะทกสะท้าน ทั้งในข่าว เจอกับคนอื่น หรือแม้กระทั่งเจอกับตัวเอง เดอเปาโล แบ่งการโกหกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ Self-serving การโกหกเพื่อตัวเองและ Kind-hearted การโกหกเพื่อคนอื่น
การโกหกเพื่อตัวเองคือ ทำเพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกอับอาย หรือการโกหกเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น
ตรงกันข้ามกับการโกหกเพื่อคนอื่นคือ โกหกเพื่อให้คนอื่นรู้สึกดีหรือดูดีขึ้น
สุดท้ายแล้วจุดประสงค์ในการโกหกนี้ ต่างก็ทำเพื่อตัวเองหรือเพื่อคนอื่น
เดอเปาโล พบว่าส่วนมากคนที่โกหกบ่อย ๆ มักเป็นคน Extrovert หรือบุคลิกที่ชอบเข้าสังคม ที่สนใจว่าคนอื่นจะคิดอย่างไรกับตัวเขา เขาโกหกเพราะต้องการให้ตัวเองดูดี และเป็นคนที่ประทับใจกับคนอื่น บางครั้งอาจเรียกว่าสร้างภาพก็ได้ งานวิจัยของเดอเปาโลยังพบว่า คนที่โกหกบ่อย ๆ มีแนวโน้มจะชอบบงการ ควบคุมคนอื่น และขาดความรับผิดชอบมากกว่าคนทั่วไปด้วย ถ้าดูคนที่ขยันโกหกแล้วจะพบว่า การโกหกเป็นเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ภายใต้การโกหกที่เป็นยอดภูเขาน้ำแข็งนั้น มีลักษณะนิสัยหลายอย่างที่ซ่อนอยู่ข้างใต้ ทั้งความเห็นแก่ตัว ความไม่รับผิดชอบ และต้องการควบคุมคนอื่น และความควบคุมตัวเองด้วยสติรู้ผิดรู้ชอบไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งทุกอย่างล้วนเป็นนิสัยที่แสดงถึงความอ่อนแอในชีวิตทั้งหมดเลย
Motivated Reasoning หรือการให้เหตุผลโดยมีแรงจูงใจ และ Confirmation Bias หรือความเอนเอียงเพื่อยืนยัน คือมีแนวโน้มที่จะเชื่อในสิ่งที่มายืนยันความเชื่อใจที่มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้ พยายามหาข้อมูลต่าง ๆ ที่ตรงความเชื่อ เพื่อยืนยันสิ่งที่ต้องระวังคือ เมื่อเป็นข้อมูลที่ตรงกับความเชื่ออยู่แล้ว อาจจะมีการตรวจสอบน้อยลง ซึ่งที่จริงแล้ว Fake News เกิดขึ้นได้ทั้งกับเรื่องที่เชื่ออยู่แล้ว หรือเรื่องที่ไม่เคยเชื่อเลย อีกทั้ง Fake News ก็ฉลาดมาก เพราะมันถูกคิดมาเพื่อแชร์ต่ออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าไม่ทันได้ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่ เพียงเพราะเป็นเรื่องที่ตรงกับความเชื่อ ก็จะติดกับดัก Fake News ได้มี
มีงานวิจัยในปี 2015 โดยวิจัยด้านการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า อารมณ์โกรธและความรู้สึกตื่นตระหนก มีอิทธิพลให้คนเชื่อ Fake News ได้ง่ายขึ้น การเชื่อ Fake News ย่อมเกิดจากการเห็นบ่อย ๆ จนคิดว่าเป็นเรื่องจริง ถ้าการเรียนรู้จากงานวิจัยนี้คือ มนุษย์มีจุดอ่อนอยู่ที่ว่า ถ้าคนกดแชร์อะไรเยอะ ๆ จะทำให้เผลอคิดไปได้ว่านี่เป็นเรื่องจริง แต่ต่อให้คนแชร์เยอะแค่ไหน ก็อาจจะต้องติดเบรคว่าจริงหรือ แล้วตรวจสอบข้อมูลดูก่อน
The False Consensus Effect คือการที่มีความคิด ทัศนคติ หรือพฤติกรรมบางอย่าง และเชื่อว่าอาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่คนส่วนใหญ่ต้องเป็นแบบเรา หรือต้องคิดแบบเรา ใคร ๆ ก็คิดแบบนี้ใคร ๆ ก็ทำแบบนี้ เป็นการเหมารวมเรียบร้อยว่า สิ่งที่คิดหรือสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นที่ยอมรับได้ เพราะคนอื่นก็ทำกัน การยกเหตุผลว่าใคร ๆ ก็ทำแบบนี้จึงเป็นอคติที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
The False Consensus Effect เกี่ยวข้องกับการทำงานด้วย ในเวลาที่ทำงาน บางครั้งถ้ายึดติดกับความคิดของตัวเองมากไป ก็อาจจะเผลอคิดว่าใคร ๆ ก็คงคิดเหมือนเรากันหมด วิธีที่จะลดความคิดใคร ๆ ก็คิดแบบนี้ได้ก็คือ ออกไปสำรวจว่าใคร ๆ เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเป็นการทำงานกับลูกค้า มันคือการออกจากห้องไปทำความเข้าใจลูกค้าของจริง ๆ ไปอยู่ในชีวิตของลูกค้าเพื่อเข้าใจพวกเขาจริง ๆ ก็จะทำให้เข้าใจลูกค้าได้มากขึ้น ลูกค้าอาจจะไม่ได้คิดแบบเดียวกันเลยก็ได้ สุดท้ายสินค้าและบริการที่คิดมาก็จะไม่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้า
พอเปลี่ยนการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง มาเป็นทำความเข้าใจคนที่อยู่ในชีวิตได้จริง ๆ เป็นฝ่ายโคจรดูรอบ ๆ ชีวิตเขา เข้าไปสำรวจโลกของเขา ตอนนั้นอาจจะเข้าใจเขาได้อย่างแท้จริง การเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ทำให้ได้เห็นมุมมองในด้านอื่น ๆ ได้เรียนรู้จากคนอื่น และได้ทบทวนความคิดของตัวเองไปในตัวด้วย เปลี่ยนจากความคิดว่าใคร ๆ ก็ทำแบบนี้ มาเป็น อยากจะเข้าใจใคร ๆ ให้มากขึ้น
Dehumanization แปลว่ากระบวนการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ทำให้มนุษย์ไม่เป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของมนุษย์มาโดยตลอด เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดการทำลายความเป็นมนุษย์ ผลกระทบมักจะบานบานเสมอ กระบวนการ Dehumanization นั้นจะเห็นการเหยียบย่ำคุณค่าของมนุษย์อีกฝั่งหนึ่ง ว่ามีความต่ำต้อยด้อยค่าหรือเป็นผู้ร้าย ขณะเดียวกันก็ยกย่องคุณค่าของมนุษย์อีกฝั่งหนึ่งเสมอ ว่ามีความดีงามเหนือผู้อื่น
Dehumanization ไม่เพียงแต่ทำลายความเป็นมนุษย์กับคนที่อยู่ตรงข้าม แต่ที่สุดแล้วมันกลับมาทำลายความเป็นมนุษย์ในตัวเราด้วย เพราะวิธีการที่ปฏิบัติต่อมนุษย์ด้วยกัน จะบ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ของเราด้วย การทำลายความเป็นมนุษย์ในคนอื่น ก็เท่ากับทำลายความเป็นมนุษย์ในตัวเราไปด้วย รักษาความเป็นมนุษย์ในคนอื่น ก็เท่ากับเป็นการรักษาความเป็นมนุษย์ในตัวเราด้วยเหมือนกัน
Empathy มาจากปัจจัยทางชีววิทยาที่แม้จะมีอยู่ในตัวเรามีอยู่ใน DNA ของเราก็จริง แต่มันก็ปรับเปลี่ยนได้ จากปัจจัยทางสังคมและอิทธิพลในการเติบโต ซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยการผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม หรือแม้กระทั่งสร้างขึ้นมาจากการใช้ชีวิต การตระหนักว่าคือมนุษย์ด้วยกัน มาจากการสร้าง การหล่อหลอม และการเห็นโลกที่กว้างขึ้น จนเข้าใจตัวเองจริง ๆ ว่าความหมายความเป็นมนุษย์เหมือนกันนั้นคือ ไม่ว่าจะต่างกันแค่ไหน เขาก็มีเลือดเนื้อ มีความรู้สึก มีหัวใจ มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ไม่ต่างกัน
ถ้าต้องไปสัมผัสชีวิตที่หลากหลาย ไปทำความรู้จักกับคนที่แตกต่างให้มาก ไม่ใช่คนที่เหมือนเราอย่างเดียว ยิ่งเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอกับคนที่หลากหลายมากขึ้น ก็จะยิ่งเชื่อมโยงถึงกันได้มากขึ้น มันอาจจะทำได้ตั้งแต่การฟังคนอื่นมากขึ้น เห็นคนอื่นมากขึ้น ไปดูคนอื่นมากขึ้น จนพบว่าโลกไม่ได้มีแค่ตัวเราคนเดียว หรือมีแค่สิ่งที่เชื่อและยึดมั่นว่าเป็นความจริงแท้ของชีวิตเพียงแบบเดียว คนเรามี Empathy อยู่ใน DNA แล้ว แต่ Empathy เป็นเซลล์พิเศษ มันไม่ได้งอกงามจากการอยู่เฉย ๆ หรือกินข้าวกินน้ำก็เติบโตเอง แต่มันงอกงามเติบโตจากการที่สร้าง บ่มเพาะ ถ่ายทอดให้กันและกัน โค้ชกัน แบ่งปันกัน และเรียนรู้จากกันและกัน มันถึงจะเติบโตได้
เยียวยา หาทาง รักตัวเอง
Spotlight Effect คือความรู้สึกว่ามีสปอร์ตไลต์สาดส่องเข้ามาอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนอื่นมองเห็นทุกการกระทำ ก็เลยคิดว่าเมื่อมีเรื่องที่น่าอาย ทุกคนก็ต้องเห็น จีโลวิชและซาวิตสกีนักจิตวิทยาทำการทดลองในปี 2000 โดยให้นักเรียนคนหนึ่งใส่เสื้อสีเหลืองสกรีนหน้านักร้องแบร์รี แมนิโลว์บนเสื้อ จากนั้นก็เดินเข้าไปในห้องเรียนที่คนอื่นใส่เสื้อผ้าตามปกติ แล้วนั่งเรียนตามปกติ หลังจากนั้นเขาก็ถามนักเรียนที่ใส่เสื้อเหลืองว่า คิดว่ามีคนจำได้ไหมว่าเขาใส่เสื้อลายอะไร กี่คน ผลปรากฏว่าไม่ว่าจะทดลองกี่ครั้ง นักเรียนที่ใส่เสื้อเด่นกว่าคนอื่นจะประเมินว่า มีคนจำเสื้อของเขาได้มากกว่านักเรียนที่จำได้จริงเสมอ
การทดลองนี้บอกว่า มักจะคิดว่ามีคนสนใจมากกว่าความเป็นจริง ความรู้สึกแบบ Spotlight Effect มาจากความคิดว่าเป็นศูนย์กลางของโลก ฉันสำคัญที่สุดทุกคนต้องให้ความสำคัญ แต่ละคนก็จะมีเรื่องราวในชีวิตที่ต้องจัดการเรื่องที่คิดว่าสำคัญ อาจจะไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญขนาดนั้นสำหรับคนอื่นก็ได้ เมื่อมีปัญหา เมื่อมีความผิดพลาดเกิดขึ้น เผชิญหน้าและแก้ไขอย่างไร นั่นต่างหากคือเรื่องที่น่าจดจำ
เมื่อชีวิตเจอกับความผิดหวังและความสูญเสีย ที่ทำให้เดินทางไปยังเป้าหมายเดิมไม่ได้ จะเรื่องเลิกกับแฟน สูญเสียคนรัก หน้าที่การงานมีปัญหา หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้ชีวิตไม่เหมือนเดิม ก็จะเกิดความรู้สึกว่าไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรต่อ ความเศร้าโศกแบ่งเป็น 7 ระยะด้วยกัน ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องเจอทุกระยะ หรือต้องเรียงตามลำดับ และไม่ได้แปลว่าผ่านระยะหนึ่งไปแล้วเท่ากับผ่านไปเลย บางคนอาจจะเจอแค่บางระยะ บางคนหมุนเวียนกลับไปกลับมา เอาไว้ใช้สำรวจตัวเองและคนใกล้ตัวว่า อยู่ในระยะไหนจะได้เข้าใจ และตอบสนองได้ถูก
ระยะที่ 1 คือ Shock งง สับสน พูดไม่ออก บอกไม่ถูก อึ้ง ไม่รู้จะตอบสนองต่อข่าวร้ายอย่างไร ไม่คิดว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้น บางคนร่างกายแสดงออกด้วยอาการหน้ามืด เป็นลม หรือหมดสติ
ระยะที่ 2 คือ Denial หรือการปฏิเสธความจริง หลายครั้งการสูญเสียเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน ทำให้คนตั้งรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทันใดไม่ได้ การปฏิเสธความจริงเป็น Defense Mechanism หรือกลไกการป้องกันทางจิตปกติที่เกิดขึ้นได้ ไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นไม่ยอมรับความจริงหรือหลอกตัวเอง แต่มันคือการประวิงเวลาให้ได้ค่อย ๆ ทบทวนว่าจะรับมือกับสถานการณ์นั้นอย่างไร
ระยะที่ 3 Anger หรือความโกรธคือ Masking Effect หรือการปิดบังซ่อนเร้นความรู้สึก คนบางคนเจ็บปวดเศร้ามาก แต่แสดงออกด้วยการโกรธอาละวาด ซึ่งบางทีเอาความโกรธไปลงกับคนอื่น หรือสิ่งของก็มี
ระยะที่ 4 คือ Bargaining ระยะนี้คือระยะของการสร้างเงื่อนไข เป็นระยะที่ใจไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน แต่อยู่กับอดีต และอยากกลับไปแก้ไขอดีต เพื่อให้ปัจจุบันดีขึ้น เป็นช่วงแห่งความรู้สึกผิด สำนึกผิด และมองเห็นว่าตัวเองมีส่วนร่วมต่อปัญหาอย่างไร
ระยะที่ 5 คือ Depression ระยะแห่งความจมดิ่งกับความเศร้า บางทีไม่แสดงออกมาให้เห็น เหมือนระยะที่กล่าวมาข้างต้น
ระยะที่ 6 คือ Reconstruction and Work Through เหมือนเอาใจที่แหลกสลายมาก่อร่างสร้างเป็นหัวใจดวงใหม่อีกครั้ง เป็นระยะของการค่อย ๆ ปะติดปะต่อทำความเข้าใจ
ระยะที่ 7 คือ Acceptance หรือการยอมรับ ระยะนี้ไม่ได้แปลว่าไม่เศร้า อาจจะยังเศร้าอยู่แต่ยอมรับได้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้นแล้ว และแก้ไขอดีตไม่ได้ เริ่มคิดได้ เริ่มเข้าใจว่าต้องจัดการกับชีวิตเพื่อไปต่อ เริ่มกลับมาสู่ปัจจุบันอย่างมีความหวังต่อในอนาคต บางทีการใช้ชีวิตไม่เป็นไปตามความหวัง ก็ไม่ได้แปลว่ากำลังหลงทาง หากแต่กำลังสำรวจเส้นทางใหม่ หลายครั้งก็ต้องใช้วิธีการคลำทางเอา
เวลาชีวิตออกนอกเส้นทาง หรืออยู่บนเส้นทางที่ไม่เป็นใจ คือช่วงเวลาแห่งการสำรวจเส้นทางใหม่ ไม่ได้กำลังหลงทางหรือกำลังเสียเวลา เพราะสุดท้ายเส้นทางใหม่นี้ก็จะพาไปสำรวจเส้นทางที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน และระหว่างการเดินทาง ระหว่างการคลำทางก็คงได้บทเรียนอะไรใหม่ ๆ ให้ได้เรียนรู้อยู่เสมอ
เทคนิคการแก้ปัญหาสำหรับโปรแกรมเมอร์ เวลาที่เจอปัญหาความผิดพลาดในการโค้ดดิ้ง ที่ทำให้ระบบใช้งานไม่ได้ หรือที่เรียกว่า Debugging และคิดออกว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ว่าให้ไปคุยกับเป็ดยาง เทคนิคนี้เรียกว่า Rubber Duck Debugging วิธีการคือให้โปรแกรมเมอร์พกเป็ดยางติดตัวไว้ และเมื่อมีปัญหา Debugging ให้ลองเล่าปัญหาให้น้องเป็ดยางฟัง อธิบายวิธีคิดในการใส่โค้ดดิ้งทีละบรรทัดให้น้องเป็ดยางฟังอย่างช้า ๆ และน้องเป็ดยางจะช่วยแก้ปัญหาได้
ปรากฏว่าเทคนิค Rubber Duck Debugging นี้ทำให้โปรแกรมเมอร์หลาย ๆ คนแก้ปัญหาได้ ที่นี้โปรแกรมเมอร์ทั้งหลายก็จะพกเป็ดยางไว้กับตัว และเมื่อเกิดปัญหาใด ๆ ที่ต้องใช้ความคิดในการหาทางออก เขาจะคุยกับเป็ดยางประจำตัวจนหาทางออกได้ หลักการของเรื่องนี้เหมือนเวลามีคนมาปรึกษา หน้าที่คือรับฟังและให้เขาพูดสิ่งที่คิดออกมาเยอะ ๆ เวลาพูดออกมาเขาก็จะได้ยินเสียงตัวเองไปด้วย ว่ากำลังคิดอะไรอยู่ พอได้ยินว่าตัวเองกำลังคิดอะไรอยู่ สมองก็จะค่อย ๆ ประมวลผลจัดการความคิดให้เป็นระบบ เอาความคิดที่ฟุ้งซ่านอยู่ออกมาวางไว้ ผ่านการเล่าออกเสียงก็จะช่วยให้ตกผลึกความคิดได้
การใช้เทคนิค Rubber Duck Debugging อาจจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้แก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกัน บางปัญหา หรือบางสถานการณ์ การพูดคุยกับคนอื่นก็ช่วยให้เห็นทางแก้ไขปัญหาได้เหมือนกัน
Resilience คือความสามารถในการล้มแล้วลุก ความสามารถในการรับมือกับความยากลำบาก หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ แต่ละคนจะมีวิธีตอบสนองต่อปัญหาที่เจอในชีวิตได้ต่างกัน บางคนล้มแล้วลุกเร็ว บางคนก็ต้องใช้เวลา การจะสร้างให้เกิด Resilience ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ
องค์ประกอบที่ 1 Self-regulation ความสามารถในการควบคุมและกำกับตัวเอง การจะมี Self-regulation ได้จึงต้องซื่อสัตย์ต่อความรู้สึก ไม่โกหกตัวเอง จะได้จัดการชีวิตได้ถูก ถ้าตอนนี้รู้สึกว่ายังทุกข์อยู่ ลองให้เวลาตัวเองได้เศร้าบ้าง อนุญาตให้เปราะบางได้ ความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องผิด มันคือส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ ความแข็งแกร่งที่แท้จริงคือ การยอมรับและซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกของตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่วางมันลงไปจริง ๆ แล้ว จะมีสติในการทำความเข้าใจกับปัญหา และหาทางออกได้
องค์ประกอบที่ 2 Interpersonal Relationships ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับครอบครัวและเพื่อน เวลาที่เจอปัญหาแล้ว ไม่ได้รับกำลังใจจากคนรอบตัวว่าจะผ่านไปได้ การที่จะลุกขึ้นมาการล้มก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า
องค์ประกอบที่ 3 Meaning Making การสร้างความหมาย เป็นกระบวนการตีความ ทำความเข้าใจตัวเอง ทำความเข้าใจความสัมพันธ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ถ้าให้ความหมายความล้มเหลวว่า ความล้มเหลวคืออีกหนึ่งความสำเร็จที่ให้รู้ว่า ทำแบบไหนไม่เวิร์ค ยิ่งล้มเยอะ ก็ยิ่งมีความสำเร็จที่ได้รู้ว่าทำแบบไหนไม่เวิร์คเยอะไปด้วย ล้มเหลวจึงไม่ใช่อ่อนแอ แต่เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จ และจะสำเร็จยิ่งขึ้นเมื่อลุกขึ้นไปเรียนรู้เพิ่ม
อีกปัจจัยคือ Purpose หรือเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต พบว่าการมีเป้าหมายในชีวิต ทำให้มองอุปสรรคที่เจอในชีวิตด้วยมุมมองที่เป็นบวก ทำให้เยียวยาตัวเองจากความรู้สึกเจ็บปวดได้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีวิธีรับมือกับปัญหาได้ดี อุปสรรคก็เป็นแค่อีกทางผ่านที่ต้องเจอ ก่อนจะไปถึงจุดหมายเท่านั้นเอง
เวลาที่พูดถึงคำว่า Compassion หรือความเมตตานั้น มักจะนึกถึงการเมตตาต่อคนอื่น เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เมตตาต่อคนที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี Self- Compassion คือความเข้าใจว่า คนสำคัญที่ต้องไม่ลืมเมตตาคือคนที่อยู่ตรงหน้ากระจก ก็คือตัวเราเอง มี 3 องค์ประกอบด้วยกันคือ
- Self-kindness การใช้ถ้อยคำที่อ่อนโยน แทนที่จะใช้ถ้อยคำรุนแรงในการวิจารณ์ตัวเอง
- 2. Common Humanity การตระหนักว่าความเจ็บปวด และความล้มเหลวเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์ต้องเจอ
- Mindfulness การรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเอง ส่วนหนึ่งมาจากการรู้จักตัวเอง ถ้ารู้จักตัวเองดีก็จะรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในใจไปด้วยได้
Self-compassion กับ Self-esteem ต่างกัน Self-esteem จะมองในมุมการเห็นคุณค่าในตัวเอง การได้รับคุณค่า และการที่ชอบตัวเองมากแค่ไหน ในทางจิตวิทยา การมี Self-esteem ต่ำเกินไปก็เป็นปัญหา ขณะเดียวกัน มากเกินไปก็เป็นปัญหาเหมือนกัน การมี Self-esteem ขึ้นมาได้ก็ไปผูกติดกับความสำเร็จ การได้รับรางวัล การได้รับความชื่นชม หรือการมีตัวตนในสายตาคนอื่นถึงจะมีคุณค่า
ส่วน Self-compassion ก็ไม่ได้เกี่ยวกับการวัดคุณค่าของตัวเองเลย ไม่ว่าจะเป็นใคร มนุษย์ก็ควรได้รับความเมตตาและได้รับความเข้าอกเข้าใจ ซึ่งรวมไปถึงตัวเองด้วย นั่นหมายความว่าการมี Self-compassion ให้ตัวเองได้นั้น ไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่า อยู่เหนือคนอื่นหรือแตกต่างจากคนอื่น จึงจะเมตตาหรือรู้สึกดีกับตัวเองได้ อีกทั้งการจะมี Self-compassion ก็ไม่ต้องรอปัจจัยภายนอก เพราะมันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเองได้เลย จึงทำให้รับมือกับปัญหาได้มากขึ้น เมื่อเริ่มต้นจากการเมตตาตัวเอง เพราะเห็นคุณค่าของตัวเอง รู้ว่าตัวเองมีคุณค่า จึงต้องเมตตาตัวเองให้เป็นด้วย จึงต้องมีทั้ง Self-esteem หรือการเห็นคุณค่าของตัวเองและ Self-compassion หรือความเมตตาต่อตนเองควบคู่กันไป
แต่ละคนคงมีวิธีที่จัดการสิ่งของที่แตกหักแตกต่างกันไป บางคนทิ้งซื้อของใหม่ บางคนเอาไปซ่อม บางคนแปรรูปไปเป็นอย่างอื่น เป็นต้น ประเทศญี่ปุ่นมีศิลปะประเภทหนึ่งชื่อ คินสึคุโรอิ คือ ศาสตร์แห่งการซ่อมแซมภาชนะต่าง ๆ ที่เคยแตกชำรุดให้กลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง และปรับปรุงให้สวยงามยิ่งกว่าเดิม ภาชนะที่เคยแตกปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่มีความหมาย เหมือนใจที่เคยเจอความเจ็บปวดจนรู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า พอมีคนเห็นค่าของที่ทิ้งไว้ นำภาชนะนั้นมาซ่อมแซมด้วยความตั้งใจว่า ภาชนะชิ้นนี้น่าจะกลับมาใช้ใหม่ได้อีกครั้ง และด้วยความเชื่อว่า ภาชนะที่แตกแล้วไม่ได้ไร้คุณค่า ภาชนะนั้นก็กลับมามีความหมายอีกครั้ง
ตัวเราก็เหมือนกัน ถ้าเชื่อว่าบาดแผลในชีวิตที่มีไม่ได้ทำให้คุณค่าลดน้อยถอยลง ถ้าเชื่อว่าตัวเองยังมีคุณค่า ไม่ต้องสมบูรณ์แบบก็สมบูรณ์ในตัว ไม่พร่อง ไม่ขาด เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้อยากจะรักษาคุณค่าที่มีในตัวต่อไป
ชีวิตก็คือการทำคินสึคุโรอิกับหัวใจอยู่ตลอดเวลา เห็นคุณค่าของตัวเองอยู่เสมอ แม้ชีวิตจะมีบาดแผลและเชื่อมั่นว่าจะสมานบาดแผลนั้นได้ แม้จะต้องใช้เวลาหรือความพยายามแค่ไหนก็ตาม ยอมรับในรอยร้าวที่มี และสมานบาดแผลด้วยการเติมคุณค่าดี ๆ ให้ตัวเองเรื่อย ๆ สุดท้ายเข้าใจว่า การเยียวยาบาดแผลต้องใช้เวลาและความอดทน แม้จะไม่ง่าย แต่ถ้าไม่ทำ ก็คงไม่เห็นตัวเองมีความสุขอย่างที่หวังสักที
ความสุข คุณค่า ความหมายของชีวิต
ส่วนใหญ่แล้วเวลาได้ยินคำว่าเห็นแก่ตัว มักจะนึกถึงด้านที่ไม่ดี แต่ทุกอารมณ์ความรู้สึกมีทั้งด้านดีและด้านไม่ดี อยู่ที่ว่าจะใช้บริบทไหน โดยพื้นฐานแล้วการเห็นแก่ตัวคือการมองเห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา มองเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชีวิต และมองเห็นความสำคัญของตัวเราเอง การเห็นแก่ตัวแบบไหนที่เรียกว่าเป็นการเห็นแก่ตัวที่ดี และแบบไหนที่เรียกว่าการเห็นแก่ตัวที่เลวร้าย
การเห็นแก่ตัวในแบบที่ดีคือ Healthy Selfishness คือการที่เห็นความสำคัญของตัวเอง และต้องการปกป้องตัวเราจากสิ่งที่ไม่ดี หรือการที่อยากทำสิ่งดี ๆ ให้ตัวเอง เพราะเชื่อว่าสมควรได้รับสิ่งที่ดี Healthy Selfishness คือการฟังความต้องการของตัวเอง และซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเองที่สุด จะปฏิเสธคนอื่นเป็น ถ้าสิ่งที่คนอื่นต้องการไม่ตรงกับความต้องการของเรา เห็นแก่คนอื่นแต่ฝืนใจตัวเองจนเจ็บปวดไม่ใช่เรื่องที่ดี Healthy Selfishness ไม่ได้แปลว่าคิดถึงแต่ตัวเองแล้วไม่เคยคิดถึงคนอื่นเลย ตรงกันข้าม Healthy Selfishness คือการกลับมาคิดว่า การที่ทำดีต่อตัวเองจะทำให้คนอื่นได้ประโยชน์ไปด้วยอย่างไรบ้าง โดยไม่ได้ตัดขาดคนอื่นออกจากสมการชีวิต
การเห็นแก่ตัวที่ไม่ดี Unhealthy Selfishness คือการคิดถึงตัวเองก่อน โดยตัดคนอื่น ๆ ออกจากสมการชีวิต ถ้าเอาตัวเองรอดแล้วได้ประโยชน์แล้ว เป็นอันจบ ไม่สนใจคนอื่น จึงแสดงออกด้วยความโลภ ความกระหาย การเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล และการไม่คำนึงถึงความรู้สึกของคนอื่น นำไปสู่อคติหลาย ๆ อย่างที่อันตราย เช่น
Self-serving Bias การเทคเครดิตความสำเร็จเข้าตัว
Bias Blind Spot การมีคติว่ามีอคติน้อยกว่าคนอื่น กลายเป็นความเห็นแก่ตัวที่พาตัวเองพังไปด้วย
ที่สุดแล้ว การเห็นแก่ตัวที่ดีคือการเห็นคุณค่าของตัวเอง รักษาชีวิตของตัวเองให้อยู่บนเส้นทางที่ดี โดยไม่ลืมว่าเมื่อรักษาตัวเองให้อยู่ในจุดที่ดีแล้ว จะเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นได้ด้วย การเห็นแก่ตัวที่ดีเป็นแบบนั้น รักตัวเองแต่ก็รักคนอื่นเป็น ดูแลตัวเองแต่ก็ดูแลคนอื่นได้ เคารพตัวเองแต่ก็เคารพคนอื่นได้ด้วยเช่นกัน
ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากได้ แต่บางทีความสุขอาจจะไม่ใช่คำตอบเดียวของชีวิต ถ้าหมกมุ่นอยู่กับการมีความสุขอย่างเดียว ก็จะคอยแต่ถามตัวเองว่า ฉันมีความสุขหรือยัง และพอพบว่าตัวเองยังไม่รู้สึกแบบนั้นก็จะเฟลกับตัวเองมาก เพราะรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่มีความสุข ความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่มีความสุขเป็นความรู้สึกที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะความสุขเป็นเรื่องดีที่จะมี แต่ในบางเวลาถ้าไม่มีความสุข ก็คือไม่มีความสุข ไม่ใช่เรื่องผิด ยิ่งรู้สึกผิดที่ไม่มีความสุข ก็จะยิ่งทุกข์กว่าเดิมอีก ความสุขเป็นเรื่องที่ดี แต่เอาจริง ๆ ชีวิตคนเราก็ไม่ได้มีความสุขตลอดเวลา ไม่อาจมีความสุขแบบนันสต็อปได้ มันต้องมีความรู้สึกอื่น ๆ อารมณ์อื่น ๆ เกิดขึ้น ซึ่งทุกอารมณ์มีประโยชน์ในการใช้ชีวิตทั้งสิ้น
มีอีกคำที่ใกล้เคียงกับความสุข แต่ให้ความหมายที่ลึกกว่าและอยู่กับความเป็นจริงมากกว่า นั่นคือคำว่า Well-being หรือสุขภาวะ Well-being นั้นมีความสุขเป็นส่วนหนึ่งด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่ามีความสุขอยู่ตลอดเวลา แต่การมี Well-being คือการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม และนำบทเรียนที่ได้มาใช้พัฒนาชีวิต Well-being เป็นทักษะก็แปลว่าฝึกฝนได้ และพัฒนาทักษะนี้ให้ดียิ่งขึ้นได้เรื่อย ๆ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบคือ
- Resilience ความยืดหยุ่นทางจิตใจ เป็นความสามารถในการล้มแล้วลุก หรือเยียวยาตัวเองจากความเจ็บปวด และพาตัวเองกลับเข้ามาสู่สมดุลของชีวิตได้
- Outlook หรือวิสัยทัศน์ เป็นความสามารถในการมองเห็นสิ่งที่ดีในคนอื่น ความสามารถในการดื่มด่ำประสบการณ์เชิงบวก
- Attention การสนใจ การใส่ใจ และการสังเกต โดยใช้คำถาม 3 ข้อต่อไปนี้ ในการวิเคราะห์เพื่อหา Attention ตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่? ตอนนี้ใจอยู่ที่ไหนโฟกัสสิ่งที่ทำอยู่หรือโฟกัสสิ่งที่ไม่ได้ทำ? ตอนนี้มีความสุขหรือไม่มีความสุข? คนที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ใจหลุดลอยไปที่อื่นที่ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ จะเกิดความรู้สึกว่าไม่มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน เพราะใจอยู่กับเรื่องอื่น
- Generosity ความใจดี ไม่เห็นแก่ตัว เมื่อแสดงออกถึงความเมตตา หรือทำประโยชน์ให้คนอื่นมีความสุข สมองจะได้รับการกระตุ้นให้ผลิตฮอร์โมนแห่งความสุขออกมา การกระตุ้นดังกล่าวจะยาวนานมากกว่า ในมุมนี้เท่ากับว่าการเป็นผู้ให้ทำให้มีความสุขยาวนานมากกว่าการเป็นผู้รับ ความใจดีนั้นยังให้ความสำคัญกับคนอื่น มองเห็นความเชื่อมโยงกับคนอื่น ทำให้รู้ว่าไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่บนโลก และรู้ว่าต่อให้มีความสุขแต่คนรอบข้างไม่มีความสุขก็ไม่ใช่ชีวิตที่มีคุณภาพสักเท่าไหร่ และทำให้มองไกลไปกว่าการที่ทำให้ตัวเองมีความสุขอยู่คนเดียว เป็นการขยายความสุขให้คนรอบตัวและวงที่กว้างขึ้น
สองสิ่งที่มนุษย์กลัวที่สุดในชีวิตคือ กลัวความตายและกลัวการที่พูดในสาธารณะ แต่ในยุคนี้อาจจะกลัวอีกอย่างเพิ่มเข้ามานั่นคือ FOMO ย่อมาจาก Fear of Missing Out คือความกลัวที่จะพลาดการรับรู้ หรือประสบการณ์บางอย่าง ซึ่งเมื่อพลาดแล้วอาจทำให้รู้สึกว่า ไม่ได้รับการผนวกให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้ ที่จริงแล้วความรู้สึกกลัวว่า จะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมนั้นเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อโซเชียลมีเดียเกิดขึ้น และทำให้รู้ทุกความเคลื่อนไหวบนโลกนี้ การรู้มากก็ยิ่งทำให้กลัวที่จะไม่รู้ขึ้นมาได้ เลยกลายเป็นว่าจะต้องรู้ต้องทันทุกเรื่อง
คนที่มีพฤติกรรมเข้าข่าย FOMO นั้นจะมีอาการติดการออนไลน์อยู่ตลอดเวลา ต้องคอยเช็คมือถืออยู่ตลอดเวลาว่า ตอนนี้ในโลกออนไลน์กำลังเกิดอะไรขึ้น เพราะกลัวว่าจะพลาดอะไรไป ไม่ว่าจะเป็นพลาดข้อมูล ตกกระแส พลาดความเคลื่อนไหว และประสบการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก
รากลึกของ FOMO มาจากการเปรียบเทียบทางสังคม นอกจากนี้ FOMO ยังเชื่อมโยงกับความเหงา เพียงแต่ไม่ใช่ความเหงาที่โรแมนติก มันเจ็บปวดกว่านั้น ซึ่งมีผลต่อสุขภาพจิต และการบ่มเพาะความสัมพันธ์ที่ดีในโลกออฟไลน์ไม่ได้ หมายความว่าในโลกออนไลน์ผูกมิตรเก่ง แต่พอออกมาในโลกออฟไลน์แล้วไม่อาจเริ่มต้นความสัมพันธ์ได้ หรือไม่รู้จะรักษาความสัมพันธ์นอกโลกออนไลน์ไว้ได้อย่างไร นั่นแปลว่า FOMO อาจจะเริ่มต้นจากโลกออนไลน์ แต่สร้างผลกระทบมาถึงการใช้ชีวิตในโลกออฟไลน์ด้วย และ FOMO ยังสร้างผลกระทบในทางลบ ทั้งความเครียด ความเหนื่อยล้า และการพักผ่อนไม่เพียงพอ
ในทางกลับกัน JOMO หรือ Joy of Missing Out คือการมีความสุขเมื่อพบว่าตัวเองพลาดอะไรบางอย่างไป ไม่ต้องรู้ทุกเรื่องก็มีความสุข ไม่ต้องเกาะทุกกระแสก็มีความสุข ให้ทำสองสิ่งนี้เพื่อให้มี JOMO
หนึ่งรู้จักปฏิเสธบ้าง พูดคำว่าไม่บ้าง แล้วชีวิตจะมีความสุข ชีวิตเราเราเป็นคนเลือก ไม่ใช่คนอื่นมาเลือกแล้วทำตามคำบอก
สองรู้จักทางสายกลาง ทุกอย่างมีประโยชน์ เมื่อใช้อย่างพอเหมาะและไม่จมกับมัน
และมีอีกสามสิ่งที่น่าจะลองทำเพื่อหา JOMO
- Disconnect คือไม่ต้องออนไลน์อยู่ตลอดเวลา พักจากเทคโนโลยีบ้าง
- Reflect คือการคุยกับตัวเอง สำรวจความรู้สึกของตัวเองในปัจจุบัน โฟกัสกับสิ่งที่กำลังทำอยู่
- Reconnect คือเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับตัวเองและคนที่สำคัญในชีวิต
สุดท้ายสิ่งที่น่าจะเสียดายที่สุดก็คือ เสียดายที่ไม่ได้ใช้เวลาในชีวิตที่มีอย่างจำกัด ให้มีความหมายอย่างที่ควรจะเป็น
มีความเชื่อว่า ถ้าอยากได้งานที่มีประสิทธิภาพก็ต้องอัดฉีดเงินเข้าไป คนจะทำงานได้ดีขึ้น เพราะคนต้องการเงิน คำถามก็คือมันเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า ได้ทำการทดลองว่า ระหว่างเงินกับความสุขอะไรคือแรงผลักดันที่ให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพได้มากกว่ากัน ผู้วิจัยแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม โจทย์คือแต่ละกลุ่มต้องหาทางทำหอคอยจากเส้นพาสต้าดิบ แล้วปักมาชเมลโล่ไว้ข้างบนสุดภายในเวลาที่กำหนด กลุ่มไหนทำหอคอยได้สูงที่สุดเป็นฝ่ายชนะ ผู้วิจัยบอกกับกลุ่มแรกว่า ใครชนะจะได้เงิน 400 ดอลลาร์เป็นรางวัล ส่วนกลุ่มที่สองผู้วิจัยบอกว่า มาเล่นเกมกัน ขอให้ทุกคนสนุกกับเกมนี้เต็มที่ เอาสนุกไว้ก่อน มาดูกันว่าใครชนะ
ระหว่างการทดลอง ผู้วิจัยสังเกตเห็นความแตกต่างในบรรยากาศการทำงานของทั้ง 2 กลุ่ม กลุ่มที่มีเงินเป็นแรงผลักดัน จะทำงานกันอย่างคร่ำเคร่ง สีหน้าของพวกเขาจริงจัง บรรยากาศค่อนข้างตึงเครียด ส่วนกลุ่มที่มีความสุขเป็นแรงผลักดัน จะมีเสียงหัวเราะเฮฮาลั่นห้อง สมาชิกแต่ละคนให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี สีหน้าเต็มไปด้วยความสุข ผลสุดท้ายเมื่อหมดเวลากลุ่มที่มีเงินเป็นแรงผลักดัน ทีมที่ทำหอคอยได้สูงที่สุดก็คือ 21 นิ้ว ขณะที่กลุ่มที่มีความสุขเป็นแรงผลักดัน ทีมที่ทำหอคอยได้สูงที่สุดคือ 25.25 นิ้ว การทดลองนี้บอกว่า ความสุขเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่าเงิน
ในความเป็นจริง การดำรงชีวิตอยู่ก็จำเป็นต้องใช้เงิน และเงินเป็นรางวัลอย่างหนึ่ง ที่ถ้าใช้อยากมีประสิทธิภาพก็จะช่วยดึงดูดให้คนทำงานอยู่ แต่อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่มนุษย์ต้องการในชีวิตนั่นคือความสุข การทดลองนี้ทำให้เห็นแล้วว่า ความสุขเป็นแรงผลักดันให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้เห็นบรรยากาศการทำงานที่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เกิดความร่วมมือกัน และเกิดการช่วยเหลือกัน นั่นเกิดมาจากการมีความสุขเป็นแรงผลักดัน การทำงานอย่างมีความสุข และความสุขจะนำพาไปสู่ความสำเร็จ และความสุขก็คือความสำเร็จไปในตัวแล้ว
เวลาที่จะให้ของขวัญกัน คงอยากให้ของขวัญชิ้นนั้นเป็นชิ้นที่ทำให้คนรับมีความสุขมากที่สุด แล้วอะไรคือของขวัญที่ดีที่สุดที่มอบให้กันได้ สิ่งที่ทำให้คนเรามีความสุขเกิดมาจากหลายสิ่ง มีความสุขจากการเป็นผู้ที่นึกถึงคนอื่นก่อนตัวเอง มีความสุขจากการใส่ใจพิถีพิถันเพื่อทำให้คนอื่นมีความสุข มีความสุขจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิด มีความสุขจากการใช้เวลาคุณภาพด้วยกัน การมีคนสำคัญอยู่ในชีวิตเป็นของขวัญมีค่าที่สุดที่ได้รับมันมาในชีวิต ทุกคนมีเวลาเป็น Asset ที่มีค่าและมีจำกัดอยู่ในมือ ถ้ามอบเวลาให้ใครแปลว่าคน ๆ นั้นมีความสำคัญ ไม่ต้องรอให้ถึงปีใหม่ ไม่ต้องรอให้ถึงวันสำคัญ ถึงค่อยให้ความสำคัญกัน ถึงค่อยระลึกถึงการมีอยู่ของกันและกัน แต่ทำทุกวันที่อยู่ร่วมกันให้เป็นเวลาคุณภาพ ให้เวลาที่อยู่ด้วยกันคือของขวัญที่ดีที่สุด ที่ได้มอบให้กันและกัน
Gratitude คือความรู้สึกซาบซึ้งถึงคุณค่าของคน สิ่งต่าง ๆ หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรา และขอบคุณที่คนเหล่านั้น และเรื่องราวเหล่านั้นเข้ามาในชีวิตของเรา การมี Gratitude ทำให้มองเห็นเรื่องดีในเรื่องร้าย มองเห็นแสงสว่างแม้ในยามมืดมน มองเห็นเรื่องเล็ก ๆ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยิ่งใหญ่ มองเห็นคุณค่าและความหมายในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น เมื่อมองอดีตก็เห็นบทเรียน มองปัจจุบันก็เห็นความหมาย มองอนาคตก็เห็นความหวัง
ดอกเตอร์เอ็มมอนส์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และดอกเตอร์แม็กคัลล็อจห์ แห่งมหาวิทยาลัยไมอามี่ ศึกษาเรื่อง Gratitude โดยแบ่งกลุ่มคนเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มแรกจดบันทึกเรื่องราวผู้คน หรือสิ่งต่าง ๆ ที่ได้พบเจอแล้วรู้สึกซาบซึ้งถึงคุณค่า และอยากขอบคุณในแต่ละวัน
กลุ่มที่สองจดบันทึกสิ่งที่ทำให้พวกเขาไม่มีความสุขในแต่ละวัน
กลุ่มที่สามจดบันทึกอะไรก็ได้ที่เกิดขึ้นกับพวกเขา โดยไม่ต้องสรุปว่าสิ่งเหล่านั้นดีหรือไม่ดี
ทั้ง 3 กลุ่มจดบันทึกตามหัวข้อทุกวัน เมื่อเวลาผ่านไป 10 สัปดาห์ ผู้วิจัยพบว่ากลุ่มที่จดบันทึกเรื่องราวที่ดี พวกเขาซาบซึ้งถึงคุณค่าและอยากขอบคุณ กลายเป็นกลุ่มที่มองโลกในแง่ดี รู้สึกดีกับชีวิตมากขึ้น ที่น่าสนใจคือพวกเขาออกกำลังกายมากขึ้น และกลายเป็นว่าพวกเขามีเหตุให้เข้าพบจิตแพทย์น้อยลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่จดบันทึกแต่เรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เมื่อมองเห็นคุณค่าในชีวิต ก็จะกลับมาใช้ชีวิตให้มีคุณค่า
ได้เรียนรู้จากการวิจัยนี้เรียกมันว่า Gratitude Diary คือการจดบันทึกเรื่องราวหรือผู้คนที่เข้ามาในชีวิตในแต่ละวัน ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ทำให้รู้สึกดี กฎของ Gratitude Diary คืออย่าปล่อยให้กระดาษว่างเปล่า ต้องหาเรื่องดีมาเขียนให้ได้ ต่อให้เกิดเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น ก็ต้องหาวิธีมองหรือหาเรื่องที่ดีให้เจอ มันคือการฝึกให้มีสายตาของ Gratitude ในการมองโลก
ก่อนจะหลับตาลงไปสู่วันใหม่ ลองกลับมานึกทบทวนว่า วันนี้มีอะไรที่อยากจะเขียนลงไปใน Gratitude Diary ชีวิตบ้าง อาจจะพบว่า การมีชีวิตอยู่นี่มันดีจริง ๆ