คู่มือเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉิบหายขั้นสุด

สรุปหนังสือ THE WORST – CASE SCENARIO SURVIVAL HANDBOOK

คู่มือเอาตัวรอดจากสถานการณ์ฉิบหายขั้นสุด

กฎแห่งการเอาชีวิตรอด ในหลักสูตรการเอาชีวิตรอด การหลบหลีก การต่อต้าน และการหลบหนี หรือเรียกสั้น ๆ ว่าหลักสูตรการเอาชีวิตรอด หมายถึงการมีชีวิตอยู่นานกว่าบางสิ่ง การรักษาชีวิตหรือการดำรงอยู่ของตัวเอง การใช้ชีวิตต่อไป การดำรงอยู่ต่อไป หรือมีชีวิตอยู่หลังจากนั้น หัวใจหลักของการเอาชีวิตรอดมันคือการมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่ว่าสถานะการจะเลวร้ายสักแค่ไหน

ต้องเตรียมตัวให้พร้อมทั้งในแง่ร่างกาย จิตใจ และวัสดุอุปกรณ์ ทรัพยากรและการด้นสดช่วยให้มีชีวิตรอด

ต้องไม่ละเลยความสำคัญของจิตใจในการเอาชีวิตรอด โดยเฉพาะการทำจิตใจให้สงบนิ่ง และไม่ตื่นตระหนก จงจำไว้ว่าพลังใจคือทักษะการเอาชีวิตรอดที่สำคัญที่สุด อย่าปล่อยให้ตัวเองติดโรคชอบยอมแพ้ ความแข็งแกร่งทางจิตใจจะมีประโยชน์มากเป็นพิเศษ เมื่อใครสักคนทำผิดพลาดขึ้นมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนทำผิดพลาดกันได้ การเอาชนะความผิดพลาดนั้นช่วยให้มีชีวิตรอด

ต้องวางแผนเอาชีวิตรอด โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญอย่าง อาหาร ไฟ น้ำ และที่หลบภัย รวมถึงการส่งสัญญาณและการปฐมพยาบาล สภาพแวดล้อมแบบร้อนชื้นคือสภาพแวดล้อมที่เอาชีวิตรอดได้ง่ายที่สุด เพราะมีปัจจัยในการดำรงชีวิตครบถ้วน ทั้งอาหาร ไฟ น้ำ และที่หลบภัย ถ้ารู้ว่าต้องมองหามันจากตรงไหน

วลีสั้น ๆ แค่วลีเดียวได้กลายเป็นคติประจำใจ วลีนั้นคือ “จงเรียนรู้วิธีกลับมา” คู่มือเล่มนี้จะช่วยให้สามารถทำแบบนั้นได้ เพราะโลกข้างนอกนั่นยังมีอันตรายรออยู่ ไม่ว่าจะพยายามกันมากแค่ไหน ไม่ว่าเทคโนโลยีการแพทย์ และการตระหนักรู้ของคนทั่วโลกจะก้าวหน้าไปไกลเพียงใด ทว่าอันตรายมากมายยังคงซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ ตรงมุมตึก และหลังบานประตู แล้วไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเมื่อไหร่สถานการณ์จะเลวร้ายลง หรือเลวร้ายลงถึงขั้นฉิบหาย

เมื่อสถานการณ์คับขันมาถึงอยากให้รู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง เพราะมีเพียงการเตรียมพร้อมเท่านั้น ที่จะช่วยให้มีชีวิตรอดมาแบบครบ 32 โชคดีที่กุญแจสำคัญดอกแรก สู่การเป็นผู้อยู่รอดในสถานการณ์เลวร้ายสุดขีดทุกประเภทนั้นเรียบง่ายมาก นั่นคืออย่าตื่นตระหนก ทั้งยังหวังด้วยว่าความรู้นั้น จะสามารถช่วยให้ใจเย็น สงบนิ่ง และสุขุมมากพอที่จะทำสิ่งที่จำเป็น

ส่วนที่ 1 การเข้าออกและหลบหนี

วิธีพังประตู

ให้ถีบเน้น ๆ ไปที่ตัวล็อคสักที 2 ทีเพื่อพังมัน ปกติแล้ววิธีกระแทกประตูด้วยไหล่หรือวิ่งโถมเข้าใส่ทั้งตัว มักได้ผลไม่ดีเท่าใช้เท้าถีบ นั่นเพราะเท้าส่งแรงได้มากกว่าไหล่ แถมยังบังคับทิศทางให้ตรงกับกลไกตัวล็อคได้ง่ายกว่าอีกด้วย

มองหารูฉุกเฉิน มองหารูเล็ก ๆ หรือรูกุญแจ บนลูกบิดประตูส่วนใหญ่จะมีระบบรักษาความเป็นส่วนตัว ซึ่งมักติดตั้งตามประตูห้องนอนและห้องน้ำ เพื่อให้สามารถปลดล็อกได้จากด้านใน เมื่อประตูปิดแต่ที่มือจับก็มักมีรูฉุกเฉินให้สามารถเข้าถึงกลไกตัวล็อคที่อยู่ภายใน ต้องเสียบหรือแหย่ไขควงเข้าไปในมือจับ เพื่อดันหรือหมุนตัวล็อคให้ประตูเปิด

วิธีงัดรถยนต์

รถยนต์จำนวนมากที่ผลิตในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ใช้กุญแจรีโมทหรือระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ แบบเข้ารหัสเพื่อปลดล็อคประตู แต่ถึงอย่างนั้นรถเหล่านี้ก็มักจะมีระบบปลดล็อคด้วยมือ เผื่อในกรณีที่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ใช้การไม่ได้ รถที่ใช้ปุ่มกดล็อคแนวตั้ง คือรถที่เปิดได้ง่ายที่สุด ตัวล็อคจะโผล่พ้นประตูออกมาพร้อมกับมีแท่งเหล็กแนวตั้งอยู่ด้านในประตู ล็อคเหล่านี้สามารถเปิดได้ง่าย ๆ ด้วยลวดไม้แขวนเสื้อ โดย

  1. นำไม้แขวนเสื้อแบบลวดมาดัดเป็นรูปตัว J
  2. ดัดปลายเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 1.5 ถึง 2 นิ้ว
  3. สอดลวดเข้าไปในประตูตรงระหว่างกระจกกับยางกันน้ำฝน พยายามเปิดประตูด้วยการลองผิดลองถูก ขยับจนเจอแท่งเหล็กที่เชื่อมกับปุ่มล็อค จากนั้นให้เกี่ยวแล้วดึงขึ้นเพื่อปลดล็อค

ใช้เหล็กสะเดาะล็อค หรืออุปกรณ์สะเดาะกุญแจก็ได้ ส่วนล็อคแนวนอนที่โผล่ออกมาทางด้านข้างประตู ไม่สามารถจัดการได้ง่าย ๆ ถ้าไม่มีเครื่องมือเฉพาะ แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถสะเดาะล็อคได้

วิธีขับรถพุ่งชนรถ

การพุ่งชนรถเพื่อดันมันออกไปให้พ้นทางนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายหรือปลอดภัย แต่ถ้าจำเป็นต้องทำก็มีบางวิธีที่ดีกว่าวิธีอื่น วิธีที่ดีที่สุดคือ การชนส่วนปลายของท้ายรถที่ขวางอยู่ โดยเล็งถัดจากกันชนท้ายไปประมาณ 1 ฟุต เนื่องจากท้ายรถเป็นส่วนที่เบากว่า และขยับได้ง่ายกว่า ทำได้โดย

  1. ปิดการทำงานของถุงลมนิรภัยถุงลมจะพุ่งออกมาเมื่อรถชนและอาจบดบังการมองเห็นไปชั่วขณะแต่หลังจากนั้นมันจะยุบตัวลงอย่างรวดเร็ว
  2. คาดเข็มขัดนิรภัย
  3. เร่งเครื่องให้ได้ความเร็วอย่างน้อย 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อย่าขับเร็วเกินไป การขับช้า ๆ ในช่วงแรกจะช่วยให้ควบคุมรถได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องชะลอความเร็ว
  4. เพิ่มความเร็วตอนก่อนที่จะชน เพิ่มความเร็วให้สูงกว่า 48 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  5. ใช้ฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าของรถ พุ่งชนล้อหลังของรถที่ขวางอยู่ โดยทำมุม 90 องศา รถทั้ง 2 คันจะต้องทำมุมตั้งฉากกัน หรือใกล้เคียงเมื่อพุ่งชนกัน
  6. ถ้าไม่สามารถชนท้ายรถได้ ให้ชนมุมด้านหน้าของรถแทน ระวังอย่าชนที่ตรงกลางตัวรถ เพราะรถจะไม่ขยับออกไปพ้นทาง
  7. เหยียบคันเร่งแล้วขับต่อไป รถที่ขวางอยู่ควรหมุนคว้างพ้นทางไป

คำแนะนำ การพุ่งชนท้ายรถ จะทำให้รถไม่สามารถวิ่งได้ เนื่องจากล้อหลังถูกทำลาย จึงมีเวลาหนีไปได้โดยไม่ถูกไล่ตาม

วิธีเอาตัวรอดจากเหตุรถชน สามารถทำได้โดย

  1. เหยียบเบรคแต่เนิ่น ๆ แล้วเหยียบไปเรื่อย ๆ แรงกระแทกที่เกิดจากการหยุดกะทันหัน คือตัวการที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตในเหตุรถชนส่วนใหญ่
  2. นั่งให้หลังติดเบาะ ยิ่งอยู่ห่างจากถุงลมนิรภัยที่กำลังพองตัวมากเท่าไร มันก็ยิ่งช่วยทำให้เคลื่อนที่ช้าลง ในเหตุรถชนมากเท่านั้น
  3. รัดเข็มขัดนิรภัย ม้วนสายรัดเข็มขัดนิรภัยจะยืดออกในขณะที่ตรึงตัวไว้กับที่นั่ง เพื่อป้องกันการหยุดกระทันหัน และรั้งตัวไม่ให้ปลิวออกไปนอกรถ
  4. เก็บแขนและขาให้ห่างจากถุงลมนิรภัย สำหรับคนขับเก็บนิ้วโป้งและท่อนแขน ให้ห่างจากถุงลมนิรภัยที่พวงมาลัย สำหรับผู้โดยสารเก็บแขนและขา ให้ห่างจากหน้าปัดรถ
  5. 5. ระวังโดนชนด้านข้างอย่างจัง โครงรถด้านข้างตรงที่นั่งฝั่งผู้โดยสาร มีการป้องกันน้อยกว่าตรงหน้ารถหรือท้ายรถ และมักมีถุงลมนิรภัยน้อยกว่าด้วย ถ้าหลีกเลี่ยงการชนไม่ได้ หน้ารถจะช่วยทำให้อยู่ห่างจากรถอีกคัน หรือวัตถุที่ชนมากขึ้น
  6. หักเลี้ยวไปมา แต่ด้วยความเร็วต่ำเท่านั้น การหมุนพวงมาลัยกะทันหันขณะที่รถวิ่งด้วยความเร็วสูง อาจทำให้รถแกว่งไปมาอย่างแรง และการพยายามหมุนพวงมาลัยมากเกินไป เพื่อให้รถกลับมาวิ่งเป็นเส้นตรง อาจทำให้รถพลิกคว่ำได้ อย่าหักเลี้ยวจนกระทั่งรถมีความเร็วต่ำกว่า 64 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยประมาณ
  7. หมุนพวงมาลัยไปทางขวา หากกำลังจะพุ่งชนอีกฝ่ายตรง ๆ ให้เหยียบเบรคแล้วหมุนพวงมาลัยไปทางขวา การหมุนพวงมาลัยไปทางซ้ายอาจช่วยให้รอดจากการชนกับรถคันแรก แต่ก็เสี่ยงที่จะโดนชนโดยรถคันที่ 2 ที่กำลังวิ่งมาในทิศทางเดียวกัน
  8. พุ่งไปยังดงหญ้า พารถออกจากถนนและมุ่งไปยังพื้นผิวที่มีสิ่งกีดขวางน้อยกว่า ขณะชะลอความเร็ว

วิธีหนีออกจากรถที่กำลังจม

  1. รีบเปิดหน้าต่างทันทีที่รถตกถึงน้ำ นี่คือโอกาสดีที่สุดที่จะหนีออกมา นั่นเป็นเพราะการเปิดประตูสู้กับแรงดันน้ำด้านนอกนั้นทำได้ยากมาก ๆ
  2. ทุบกระจกให้แตก กระจกไฟฟ้าอาจยังใช้การได้ จนกว่าระบบอิเล็กทรอนิกส์ของรถจะเปียกน้ำ ถ้าเปิดกระจกไม่ได้ให้ถีบกระจกให้แตกด้วยเท้า หรือทุบด้วยของแหลม โดยเน้นทุบที่ขอบกระจก แทนที่จะเป็นตรงกลาง
  3. ออกจากรถ หนีออกมาให้เร็วที่สุด ในตอนที่รถยังลอยอยู่ มันอาจลอยอยู่แค่ไม่กี่วินาที หรือเป็นนาทีขึ้นอยู่กับตัวรถ
  4. ถ้าติดอยู่ข้างใน รอให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องโดยสารก่อน ทำใจดี ๆ อย่าสติแตกไปก่อน รอให้น้ำไหลเข้าท่วมห้องโดยสาร จนกระทั่งน้ำถึงระดับศีรษะให้เงยหน้าสูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วกลั้นไว้ ถึงตอนนี้แรงดันทั้งในและนอกตัวรถจะเท่ากัน จึงน่าจะเปิดประตูและว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำได้แล้ว

ส่วนที่ 2 คมเขี้ยวและกรงเล็บ

วิธีเอาตัวรอดเวลาโดนงูจู่โจม

วิธีจัดการกับแผลงูกัด

  1. ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำ
  2. รัดอวัยวะที่ถูกกัดให้อยู่นิ่ง และจัดตำแหน่งแผลให้อยู่ต่ำกว่าหัวใจ วิธีนี้จะช่วยให้พิษถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง
  3. เข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด ควรให้หมอดูแผลงูกัดไม่ว่าจะในกรณีใด ๆ นอกเสียจากว่าจะยอมฝากชีวิตไว้กับความหวังที่ว่างูตัวนั้นไม่มีพิษ
  4. พันแผล รีบหาอะไรมารัดให้แน่นเหนือบาดแผลขึ้นไป 5-10 เซนติเมตรโดยทันที เพื่อให้พิษถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง และจะต้องไม่พันแน่นเกินไปจนเลือดไม่ไหลเวียน พันในระดับให้พอสอดนิ้วหนึ่งเข้าไปได้
  5. 5. ใช้เครื่องดูดพิษ หากมีเครื่องดูดพิษในกล่องประถมพยาบาล ให้ทำตามวิธีใช้โดยวางหัวดูดไว้เหนือปากแผล เพื่อดูดพิษออกโดยไม่ต้องผ่าเปิดบาดแผล อย่าพยายามใช้ปากดูดพิษเด็ดขาด เพราะหากพิษเข้าปากมันก็สามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้

วิธีเอาตัวรอดเวลาโดนงูรัด

งูหลามหรืองูเหลือมนั้น ต่างจากงูพิษตรงที่มันไม่ได้ฆ่าด้วยพิษ แต่ใช้วิธีรัดเหยื่อจนตาย โดยจะพันตัวรอบเหยื่อแล้วออกแรงรัดมหาศาล จนกระทั่งเหยื่อตายในที่สุด

  1. เคลื่อนไหวช้า ๆ ยิ่งดิ้นงูจะยิ่งรัดแน่น แต่อย่าอยู่นิ่งเพื่อแกล้งตาย เพราะปกติแล้วพวกมันจะออกแรงรัดต่อไปอีกสักพัก หลังจากเหยื่อตายและหยุดเคลื่อนไหวแล้ว
  2. พยายามจับหัวมันไว้ ใช้มือข้างหนึ่งจับหัวงูเอาไว้เพื่อไม่ให้มันขยับได้
  3. แกะงูออกจากตัว ใช้มืออีกข้างจับหางงูไว้ แล้วบิดมันออกห่างตัวเพื่อแกะงูออกจากตัว
  4. ทุบหัวงูให้มึนงง หากงูยังคงรัดอยู่และไม่สามารถหนีได้ ให้ทุบแรง ๆ ไปกลางหัวงู เพื่อทำให้มันมึนงง แล้วลงมือแกะงูออกจากตัวต่อไป

วิธีหลีกเลี่ยงการโจมตี อย่าเข้าใกล้ ยุแหย่ พยายามเคลื่อนย้าย หรือพยายามฆ่างู หากบังเอิญเจอมันเข้าให้ถอยออกมาช้า ๆ แล้วหนีไปให้ไกล งูนั้นฉกได้ไกลถึงครึ่งลำตัวของมันในพริบตา แถมบางพันธุ์ก็ยาวได้เกือบ 2 เมตรหรือยาวกว่านั้น เวลาปีนเขาในที่ที่มีงูพิษ ให้สวมรองเท้าบูทหนังหนา ๆ และกางเกงขายาวเสมอ

วิธีเอาตัวรอดเวลาเจอหมี

วิธีป้องกันการจู่โจม

  1. ยืดตัวให้ดูสูง ยืนตรงด้วยท่ายืนปกติ อย่าก้มตัวหรือแสดงท่าทีคุกคาม ตามองหมีไว้ตลอด
  2. แสดงให้เห็นว่าไม่เป็นภัยคุกคาม พูดเบา ๆ ด้วยน้ำเสียงปลอบโยน ปกติแล้วหมีอาจคิดไว้ก่อนว่ามนุษย์จะทำร้ายมัน

หากหมีพุ่งเข้าใส่

หมีอาจพุ่งเข้าใส่แบบหลอก ๆ โดยวิ่งเข้ามาหาแล้วหยุดก่อนจะถอยไป การพุ่งเข้าใส่แบบหลอก ๆ เป็นพฤติกรรมที่พบได้บ่อยของหมี แต่เจตนาเบื้องหลังพฤติกรรมนั้น ต้องดูบริบทแวดล้อมด้วย ยิ่งหมีพุ่งมาหาด้วยความดุดันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงว่าหมีกำลังเครียดมากเท่านั้น หากหมีพุ่งเข้าหาให้เตรียมป้องกันตัว แต่อย่าคิดเอาเองว่าหมีจะทำร้าย จนกว่ามันจะเข้าถึงตัว

  1. เล็งไปที่ตาหรือจมูกของมัน หากถูกจู่โจมให้สู้กลับสุดชีวิตด้วยทุกอย่างที่มี เล็งไปที่ตาหรือจมูกของมัน

ถ้าบังเอิญเจอหมีควรทำอย่างไร

ทำให้มันรู้ตัว โดยอาจจะพูดคุยเสียงดัง ตบมือ ร้องเพลง หรือตะโกนเรียก ไม่ว่าจะเลือกทำอะไรก็ขอแค่ให้มันได้ยิน อย่าเสี่ยงทำให้มันตกใจ กับหมีนั้นไม่อาจประเมินระยะปลอดภัยได้เลย เอาเป็นว่ายิ่งไกลจากมันได้เท่าไหร่ก็ยิ่งดี

วิธีหลีกเลี่ยงการจู่โจม

พยายามขัดจัดกลิ่นอาหารจากตัว ที่ตั้งแคมป์ เสื้อผ้า และพาหนะ อย่าเผลอหลับในเสื้อผ้าที่สวมตอนทำอาหาร อย่าเก็บอาหารไว้ในเต็นท์แม้แต่ช็อกโกแลตแท่งเดียวก็ไม่ได้ เก็บและทิ้งขยะให้เรียบร้อย

วิธีสลัดให้หลุดจากจระเข้

1.กอดมัน ถ้ามันงับเข้าปากได้ ให้พยายามใช้แขนขาที่ไม่ได้ถูกจระเข้งับอยู่ โอบรอบตัวมันราวกับว่ากำลังกอดมันอยู่นั่น จะทำให้จระเข้สะบัดหรือกลิ้งตัวไปมาได้ยากขึ้น เทคนิคนี้ยังแสดงให้จระเข้เห็นว่า เหยื่อที่มันเลือกนั้นตัวใหญ่กว่าที่คิด และอาจยอมถอยไปเอง

  1. ดิ้นรนเต็มที่ จระเข้มีแนวโน้มที่จะยอมแพ้มากขึ้น หากมันรู้สึกว่าตัวเองประเมินเหยื่อที่ตัวเองจู่โจมต่ำเกินไป
  2. ทุบจมูกจระเข้ ถ้าต้องดึงอะไรออกจากปากมัน ให้ทุบหรือชกเข้าที่จมูก จระเข้มักอ้าปากเวลาโดนทุบเพียงเบา ๆ หากงับอะไรไว้มันก็จะยอมปล่อยแล้วถอยไปเอง
  3. เล่นงานดวงตาหรือจมูก หากเจ้าจระเข้ยังไม่ยอมแพ้ให้ใช้อาวุธทุกอย่างที่มีในมือหรือกำปั้น จระเข้นั้นวิวัฒนาการมาเพื่อล้มสัตว์ขนาดใหญ่ที่แข็งแรง แถมทั้งตัวยังหุ้มด้วยเกล็ดหนาเหมือนชุดเกราะ ให้เล่นงานที่ตาหรือจมูก ซึ่งเป็นจุดอ่อนเพียงไม่กี่จุดที่เปราะบางต่อการจู่โจม
  4. สู้ไม่ถอย จระเข้จะปกป้องดวงตาด้วยการหุบตากลับเข้าไปในหัว ให้ออกแรงมากขึ้นเพื่อชก หรือตบไปที่บริเวณดวงตา
  5. รีบไปรับการรักษาโดยเร็ว พาตัวเองไปให้ถึงมือหมอโดยเร็วที่สุด ถึงจะเป็นแค่แผลโดนกัดเล็ก ๆ หรือรอยฟกช้ำก็ควรทำการฆ่าเชื้อให้ถูกต้อง

วิธีหลีกเลี่ยงการจู่โจม

ถึงแม้การเสียชีวิตเพราะโดนจระเข้ทำร้ายจะพบเห็นได้ไม่บ่อยนัก แต่มักมีหลายร้อยรายที่ถึงขั้นเสียชีวิต ข้อควรระวังมีดังนี้ อย่าไปเล่นน้ำหรือเดินลุยน้ำในที่ที่รู้ว่ามีจระเข้อาศัยอยู่ อย่าไปเล่นน้ำหรือเดินลุยน้ำคนเดียว อย่าไปแหย่ พยายามอย่าแตะตัวหรือจับมันเด็ดขาด อย่ายื่นแขนขาออกนอกเรือ และไม่ควรโยนปลาหรือเหยื่อตกปลาที่ไม่ใช้แล้ว ออกจากเรือหรือท่าจอดเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงรุ่งเช้า หรือช่วงกลางคืนที่จระเข้ออกหากิน อย่าให้อาหารจระเข้เด็ดขาด กรณีโดนจระเข้ทำร้ายในหลาย ๆ ครั้งมักเกิดจากการที่คนไปให้อาหารมันก่อน

วิธีเอาตัวรอดจากผึ้งเพชฌฆาต

  1. วิ่งหนี ถ้าพวกผึ้งมาตอมหรือต่อยจงอย่าอยู่เฉยให้วิ่งหนี
  2. ปกป้องอวัยวะสำคัญ เอาเสื้อคลุมตาและจมูกเพื่อปกป้องอวัยวะแสนบอบบางเหล่านี้ และก็ต้องเว้นช่องให้ตัวเองมองเห็นว่ากำลังวิ่งไปทางไหน
  3. อย่าตบผึ้ง ผึ้งที่ถูกบี้ตายจะปล่อยกลิ่นที่ดึงดูดผึ้งตัวอื่นมา อย่าไปตบมันเพราะจะทำให้พวกผึ้งโกรธหนักกว่าเก่า
  4. หนีเข้าไปในอาคารให้เร็วที่สุด พวกผึ้งจะตามเข้าไปในอาคาร แต่จะรู้สึกสับสนเมื่อเจอแสงสว่างและกระจก ทำให้ติดตามการเคลื่อนไหวได้ยากขึ้น
  5. ถ้าไม่มีที่ให้หลบก็วิ่งเข้าสุมทุมพุ่มไม้ ก็จะช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง และทำให้ผึ้งบินตามได้ยากขึ้น
  6. ถ้าโดนมันต่อยเข้า ผึ้งจะฝังเหล็กไว้ในผิว ให้เอาเหล็กในออกโดยใช้เล็บขูดปลายเหล็กในไปทางด้านข้าง อย่าไปบีบหรือดึงมันออก เพราะพิษจากเหล็กในจะยิ่งกระจายเข้าสู่ร่างกาย
  7. อย่ากระโดดลงน้ำเด็ดขาด มีความเป็นไปได้สูงว่าพวกมันจะรออยู่ตรงนั้น จนกระทั่งโผล่ขึ้นมาหายใจ

ความเสี่ยงที่จะโดนผึ้งจู่โจม ผึ้งเพชฌฆาตจากแอฟริกานั้นเป็นญาติห่าง ๆ กับผึ้งธรรมดาที่คนเลี้ยงไว้เอาน้ำผึ้ง มันได้ชื่อผึ้งเพชฌฆาตหลังจากมีข่าว การเสียชีวิตของผู้คนมากมายที่ถูกพวกมันต่อย ผึ้งเพชฌฆาตนั้นจะเป็นสัตว์ที่มีนิสัยดุร้าย มันโกรธง่ายไม่ว่าจะกับคนหรือสัตว์อื่น และบ่อยครั้งก็มักจู่โจมเข้าทำร้าย ส่วนใหญ่คนที่ถูกต่อยจะตาย มักเป็นพวกที่หนีผึ้งไม่ทัน

วิธีหลีกเลี่ยงการจู่โจม

ป้องกันผึ้งมาทำรังด้วยการอุดรู หรือรอยร้าวตามกำแพงนอกบ้าน และโพรงบนต้นไม้ รวมถึงติดตั้งตะแกรงปิดรางน้ำฝนบนหลังคา และกล่องมิเตอร์น้ำที่พื้น อย่าไปยุ่งกับรังผึ้งถ้าพบเห็นรังผึ้งแถวบ้าน ไม่ว่าจะสร้างเสร็จแล้วหรือยังไม่เสร็จ ห้ามไปยุ่งกับมันนอกเสียจากว่า มันกำลังก่อปัญหาหรือเป็นอันตรายจริง ๆ ให้โทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์รบกวน เพื่อหาคนมากำจัดรังผึ้ง

วิธีรับมือวัวกระทิงที่พุ่งเข้าใส่

  1. อย่าแสดงท่าทีคุกคาวัวกระทิง และอย่าขยับ วัวกระทิงจะไม่ยุ่งกันคนนอกเสียจากมันจะโกรธ
  2. หากมันยังวิ่งมาให้มองหาที่ปลอดภัย การวิ่งหนีอาจไม่ช่วยอะไร ถ้าไม่เจอประตูที่เปิดอยู่ เจอรั้วให้กระโดดข้ามไป หรือเจอที่หลบภัยอื่น ๆ วัวกระทิงสามารถวิ่งได้เร็วกว่าคน แต่ถ้าหาที่ปลอดภัยเจอก็ให้วิ่งจ้ำอ้าวไปได้เลย
  3. ถอดเสื้อ หมวก หรือเสื้อผ้าอื่น ๆ ออก หากไม่สามารถหาที่ปลอดภัยได้ ให้ถอดเสื้อผ้าชิ้นหนึ่งออกเพื่อใช้ดึงความสนใจวัว เสื้อผ้านั้นจะเป็นสีอะไรก็ได้ แต่ความจริงแล้ววัวกระทิงจะไม่พุ่งเข้าใส่สีแดงโดยเฉพาะ พวกมันตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวไม่ใช่สี
  4. โยนเสื้อหรือหมวกออกจากตัว วัวกระทิงจะวิ่งเข้าใส่วัตถุที่เพิ่งโยนไปแทน

ถ้าเจอฝูงวัวเตลิด อาจไม่มีทางดึงความสนใจพวกมันไปทางอื่นได้ มองให้ออกว่าพวกมันกำลังวิ่งไปทางไหนแล้วอย่าไปขวางทาง ถ้าไม่สามารถหนีได้ ทางเลือกเดียวคือการวิ่งขนานไปกับฝูงวัวเตลิด เพื่อไม่ให้ตัวเองถูกเหยียบตาย

ส่วนที่ 3 วิธีป้องกันตัวที่ดีที่สุด

วิธีชนะการต่อสู้ด้วยดาบ

เวลาต่อสู้กับคนที่ถือดาบ หรืออาวุธที่มีใบมีดยาวและแหลมคม สิ่งแรกที่ต้องทำคือควบคุมอาวุธของอีกฝ่ายให้ได้ หากถูกเขาฟันหรือแทงใส่ ให้ปัดป้อง หากเขาชักดาบกลับให้จู่โจม จำไว้ว่าการฟันแทงจะทำให้ชนะการต่อสู้ ไม่ใช่การปัดป้อง ตั้งรับ หรือก้าวเท้า

วิธีปัดป้องและจู่โจม

  1. หากถนัดขวา ให้ถือดาบต่ำและหันปลายไปทางซ้าย ใช้ดาบในมือปัดป้องดาบของคู่ต่อสู้ ขณะที่เคลื่อนตัวไปทางขวา โดยปัดทุกการโจมตีไปทางขวามือ เล็งให้กลางดาบของคู่ต่อสู้ปะทะกลางดาบ ให้จำไว้ว่าเวลาปัดป้องต้องใช้ช่วงกลางดาบเสมอไม่ใช่ปลายดาบ
  2. หากคู่ต่อสู้จะฟันหรือแทงศีรษะ ให้ยกดาบขึ้นเหนือศรีษะ โดยเอียงใบดาบไปทางพื้นเล็กน้อย
  3. แม้มันอาจจะยาก แต่จงพยายามพุ่งใส่ฝ่ายตรงข้ามเสมอ ถึงจะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ก็ตาม ใช้ดาบฟันและช่วงแทงสู้ต่อสู้สั้น ๆ อย่างรวดเร็ว แทนที่จะเงื้อดาบฟัน

วิธีโจมตี

  1. แทงดาบใส่คู่ต่อสู้จากทุกทิศทางอย่างรวดเร็ว ให้แทงอีกฝ่ายไม่ยั้ง เพื่อสร้างบาดแผลให้ได้มากที่สุด
  2. ดาบต้องอยู่ข้างหน้าตัวเสมอ อย่าเงื้อดาบไปด้านหลังเพื่อหวังจะฟันคู่ต่อสู้แรง ๆ เพราะอาจลงเอยด้วยการถูกแทงได้
  3. พุ่งเข้าใส่ดาบที่ฟันแทงเข้ามา หรือปัดดาบไปด้านข้าง ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่ได้รับการฝึกฝนเสียการทรงตัว

หากต้องสู้กับคู่ต่อสู้ที่มีหลายคน

  1. ถ้าถนัดขวา ให้เคลื่อนตัวไปทางขวาแล้วโจมตี คนที่อยู่ขวาสุดก่อน ใช้คน ๆ นี้ขัดขวางการโจมตีของคนที่เหลือ
  2. เคลื่อนที่และจู่โจมอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้มีใครเข้าประชิดตัวจากด้านหลัง สู้แบบหลังชนกำแพงหากเป็นไปได้
  3. ฟาดฟันให้เต็มแรง ในสถานการณ์เช่นนี้ให้ใช้ดาบฟันคู่ต่อสู้เท่านั้น เพราะการแทงอาจทำให้ดาบไปติดค้าง อยู่กับเสื้อผ้าของคู่ต่อสู้คนใดคนหนึ่ง จนไม่เหลืออาวุธป้องกันตัว

วิธีป้องกันตัวจากการโดนต่อย

โดนต่อยเข้าลำตัว

  1. เกร็งหน้าท้อง การต่อยเข้าที่ตำแหน่งของร่างแหประสาทบริเวณช่องท้อง (solar plexus) อาจทำให้อวัยวะภายในได้รับความเสียหายจนถึงแก่ชีวิตได้ เป็นวิธีที่ง่ายและได้ผลที่สุดในการน็อคใครสักคน
  2. อย่าพยายามหลบหมัดหรือถอยหนี
  3. เอี้ยวตัวเล็กน้อยเพื่อให้หมัดโดนด้านข้างลำตัวแทน ใช้การขยับเข้าใกล้เพื่อลดแรงกระแทก พยายามรับหมัดด้วยกล้ามท้องด้านข้าง (oblique) ซึ่งเป็นจุดที่กล้ามเนื้อห่อหุ้มซี่โครง แม้หมัดที่กระแทกบริเวณนี้อาจทำให้ซี่โครงร้าว แต่ก็มีโอกาสน้อยมากที่จะสร้างความเสียหายให้กับอวัยวะภายใน
  4. ใช้แขนป้องกันหมัด หากมีเวลามากพอก็ให้ใช้แขนกันหมัดของคู่ต่อสู้

โดนต่อยเข้าศีรษะ

  1. เคลื่อนตัวเข้าหาหมัด ไม่ใช่ถอยหนี การโดนต่อยขณะถอยหลังจะทำให้ศีรษะได้รับแรงกระแทกแบบเต็ม ๆ หมัดที่พุ่งเข้าปะทะใบหน้าอาจทำให้ศีรษะสะบัดอย่างรุนแรง จนสมองในกะโหลกเคลื่อนตัวกระทันหัน ซึ่งอาจส่งผลให้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิตได้
  2. เกร็งคอและหดศีรษะ การทำแบบนี้จะช่วยให้ลำตัว ศีรษะ และคอเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น
  3. เกร็งกราม การทำแบบนี้จะช่วยลดความเสียหายที่อาจเกิดกับเพดานปาก

วิธีเอาตัวรอดเมื่อถูกจับเป็นตัวประกัน

ผู้ก่อการร้ายชอบใช้อำนาจควบคุม และพวกเขาจะทำเช่นนั้นด้วยการมองว่าเหยื่อไม่ใช่คน ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการกระทำทารุณ จงทำตามเคล็ดลับต่อไปนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทารุณ หรืออะไรที่เลวร้ายยิ่งกว่า

  1. ตั้งสติ ช่วยให้คนอื่น ๆ ที่เหลือตั้งสติด้วย จำไว้ว่าคนร้ายที่จับตัวประกันมักกระวนกระวาย และตื่นตระหนกสุดขีด
  2. หากมีการยิงปืนให้หมอบลงกับพื้น นอนคว่ำหน้ากับพื้น หรือถ้าเป็นไปได้ก็ให้หลบหลังกำแพง แต่อย่าขยับไปไหนไกล เพราะคนร้ายอาจคิดว่าพยายามจะหนีหรือต่อสู้ขัดขืน
  3. อย่าทำตัวน่าสงสัยหรือเคลื่อนไหวกระทันหัน อย่าพยายามซ่อนกระเป๋าสตางค์ หนังสือเดินทาง ของมีค่า หรือทรัพย์สินส่วนตัว
  4. เชื่อฟังทุกคำสั่ง หากลังเลที่จะทำตามคำสั่ง อาจถูกฆ่าทิ้งทันที ไม่ก็อาจโดนหมายหัวหรือโดนทำโทษในภายหลัง
  5. อย่ามองหน้าผู้ก่อการร้ายหรือเงยหน้าขึ้น จนกว่าจะถูกสั่งให้พูดด้วย ก่อนจะพูดอะไรให้ยกมือขออนุญาต และระวังคำพูดคำจะให้ดี ตอบคำถามอีกฝ่ายด้วยความยำเกรง แต่ไม่เกรงกลัว เสียงไม่สั่น
  6. อย่าท้าทายผู้ก่อการร้ายเด็ดขาด คนพวกนี้มักฆ่าเหยื่อเพื่อเชือดไก่ให้ลิงดู ถ้าแสดงอาการต่อต้านแม้แต่นิดเดียว อีกฝ่ายก็อาจจะเลือกได้
  7. สังเกตลักษณะและพฤติกรรมของผู้ก่อการร้ายให้ดี ตั้งชื่อเล่นให้คนพวกนี้ในใจ เพื่อให้สามารถระบุตัวได้ในภายหลัง เตรียมพร้อมให้ปากคำด้วยการจดจำเครื่องแต่งกาย
  8. หากเป็นเหยื่อจี้เครื่องบิน ก็ต้องรู้ว่าทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุดอยู่ตรงไหน ให้นับแถวที่นั่งกับทางออก ในกรณีที่มีการกู้ภัยฉุกเฉินอาจเกิดวันที่บดบังทัศนวิสัย จึงต้องรู้เส้นทางออกจากตัวเครื่องให้เร็วที่สุด
  9. หากทีมช่วยเหลือบุกเข้ามา ให้หมอบลงและอยู่นิ่ง ๆ หากมีการยิงปืน การเคลื่อนไหวแบบฉับพลันอาจทำให้ผู้ก่อการร้าย หรือทีมช่วยเหลือตกใจและหันมาลั่นไกใส่ได้
  10. เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เตรียมให้ข้อมูลของตัวเอง และผู้ก่อการร้ายกับเจ้าหน้าที่ อาจมีผู้ก่อการร้ายบางคนที่พยายามหนีออกไป โดยแฝงตัวเป็นหนึ่งในตัวประกัน

วิธีจับโกหก

ให้ใช้เบาะแสจากการพูด และภาษากายต่อไปนี้ เพื่อพิจารณาว่าอีกฝ่ายกำลังโกหกอยู่หรือเปล่า

พูดเสียงสูงกว่าปกติ ระดับเสียงของผู้พูดจะสูงขึ้น จากความเครียดที่ทำให้สายเสียงตึง

สร้างเกาะกำบังขึ้นมา โดยจะใช้มือป้องปากหรือตาขณะที่พูดคุย

ชะงักก่อนตอบ เมื่อถูกถามคำถาม อีกฝ่ายอาจจะตอบช้าหรือหยุดคิดอยู่นาน กว่าจะให้คำตอบ

บ่นไปเรื่อย มักบ่นไม่หยุดหรือใช้คำพูดในเชิงลบจำนวนมาก

มีท่าทางกระสับกระส่าย คนพูดโกหกโดยทั่วไปจะรู้สึกเครียด ประหม่า สับสน หรือกระวนกระวาย และมักแสดงออกผ่านภาษากาย

สิ่งที่อีกฝ่ายเล่าฟังดูน่าสงสัย เรื่องราวของพวกเขาอาจฟังดูไม่น่าเชื่อสำหรับคนที่ฟังหูไว้หู

พยายามไม่ลงรายละเอียด มักให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

คำพูดขัดแย้งกันเอง เรื่องที่เล่าฟังดูไม่ปะติดปะต่อ แถมท่าทางและสิ่งที่สื่อสารออกมาก็ยังไม่สอดคล้องกันด้วย

ส่วนที่ 4 วิธีกระโดดเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงตาย

วิธีกระโดดจากสะพานหรือหน้าผาลงน้ำ

เมื่อมีเหตุจำเป็นให้ต้องกระโดดลงน้ำจากที่สูงเกิน 6 เมตร อาจไม่รู้ว่าน้ำลึกแค่ไหน การกระโดดในลักษณะนี้จึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงอันตรายมากทีเดียว ถ้าต้องกระโดดจากสะพานลงแม่น้ำ หรือแหล่งน้ำใดก็ตามที่มีเรือสัญจร ให้กระโดดบริเวณร่องน้ำ หรือทางน้ำลึกซึ่งปกติมักอยู่ตรงกลางสะพาน และเป็นบริเวณที่เรือใช้ลอดใต้สะพาน อย่ากระโดดใกล้เสาขึงที่ใช้รับน้ำหนักสะพาน เพราะอาจตกลงไปกระแทกกับเศษซากวัสดุ ที่กองรวมกันอยู่บริเวณนั้นจนได้รับบาดเจ็บ

  1. กระโดดโดยเอาเท้าลง
  2. ทิ้งตัวในแนวดิ่ง
  3. เท้าชิด ให้กัดฟัน และมองตรงไปข้างหน้า อย่าก้ม หรือเงยศีรษะขึ้น
  4. ให้เอาเท้าลงน้ำก่อนและขมิบก้น หากไม่ทำเช่นนั้นน้ำอาจทะลักเข้าร่างกาย จนอวัยวะภายในได้รับความเสียหายร้ายแรง
  5. เอามือกุมเป้า
  6. หลังจากลงน้ำแล้วให้รีบกางแขนขาออกกว้าง วาดแขนขาไปมาเพื่อให้เกิดแรงต้านและชะลอการจม
  7. รีบว่ายเข้าฝังให้เร็วที่สุด เมื่อลอยขึ้นสู่ผิวน้ำแล้ว

คำแนะนำ วิธีกระโดดลงน้ำข้างต้นสามารถช่วยชีวิตได้ แต่ก็อาจทำให้ขาหักถ้าตัวไม่ตรงเมื่อกระแทกน้ำ แล้วอาจทำให้หลังหักได้ อย่าหมุนตัวเอาศีรษะลงเด็ดขาด ถ้ากระโดดถูกวิธีก็น่าจะรอดชีวิตได้ แต่ความสูงต้องไม่เกิน 50 เมตร

วิธีกระโดดออกจากรถที่กำลังวิ่ง

การกระโดดออกจากรถที่กำลังวิ่งอยู่ ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย อย่างเช่นในกรณีที่เบรคมีปัญหา และรถกำลังจะพุ่งลงเหวหรือพุ่งชนรถไฟ

  1. เปิดใช้งานระบบเบรกฉุกเฉิน วิธีนี้อาจไม่ได้ทำให้รถหยุดวิ่งทันที แต่ก็น่าจะช่วยลดความเร็ว ให้พอกระโดดหนีออกไปได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น
  2. เปิดประตูรถ
  3. กะระยะให้แน่ใจว่าจะกระโดดพ้นตัวรถ เนื่องจากจะเคลื่อนที่ด้วยอัตราเร็วเท่ากับรถ หลังจากกระโดดก็จะยังเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกับรถด้วยเช่นกัน
  4. เก็บแขนเก็บคองอเข่า
  5. พยายามกระโดดลงบริเวณที่จะช่วยลดแรงกระแทก ไม่ว่าจะเป็นพื้นหญ้า พุ่มไม้ กองฟาง หรืออะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ทางเท้าหรือต้นไม้ ถึงจะไม่มีโอกาสได้สวมอุปกรณ์ป้องกัน และกระโดดลงบนกองทรายแบบสตั้นแมน แต่พื้นผิวใดก็ตามที่ช่วยลดแรงกระแทก จะช่วยลดอาการบาดเจ็บให้ได้
  6. กลิ่งตัวเมื่อถึงพื้น พยายามใช้ไหล่ลง จากนั้นให้กลิ้งตัวออกไปในทิศทางตั้งฉากกับวิถีของรถ อย่าม้วนตัวตีลังกา

ส่วนที่ 5 ปัญหาทางเทคนิค

วิธีเอาตัวรอดจากโทรศัพท์มือถือไฟลุก

  1. ตอบสนองอย่างรวดเร็ว โทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์อื่นที่ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน อาจลุกไหม้ขึ้นมากระทันหันแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เนื่องจากเป็นไฟที่เกิดจากปฏิกิริยาทางเคมี โทรศัพท์มือถือจึงอาจลุกไหม้ได้ไม่ว่าจะในตอนที่เปิดหรือปิดเครื่องอยู่ มีเวลาตอบสนองแค่ไม่กี่วินาที ทันทีที่โทรศัพท์มือถือเริ่มร้อน
  2. ถอดกางเกงออก หากโทรศัพท์มือถืออยู่ในกางเกงอย่าพยายามหยิบมันออกมา แต่ให้ถอดกางเกงออกแทน ส่วนถ้าโทรศัพท์มือถืออยู่ในกระเป๋าถือ ก็เตรียมขว้างกระเป๋าใบนั้นให้ห่างไปจากตัว และคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบข้าง
  3. อย่าพยายามกู้โทรศัพท์มือถือ เมื่อแบตเตอรี่เริ่มทำงานผิดปกติ โทรศัพท์มือถือจะเกิดไฟฟ้าลัดวงจรใช้งานไม่ได้ ดังนั้นอย่าพยายามกดปิด อย่าหยิบมันขึ้นมาเพื่อโทรขอความช่วยเหลือ เพราะนอกจากจะโทรไม่ติดแล้ว ยังอาจได้รับบาดเจ็บไปด้วย อย่าใช้ผ้าคลุมเพื่อดับไฟ แบตเตอรี่ทุกชนิดที่อาศัยปฏิกิริยาออกซิเดชันหรือรีดักชั่น ในการสร้างพลังงานสามารถลุกติดไฟได้ โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจนจากภายนอกเลย
  4. หลีกเลี่ยงการสูบควันเข้าไป โทรศัพท์มือถือเต็มไปด้วยวัตถุที่เป็นโลหะและพลาสติก เมื่อเกิดการลุกไหม้ก็จะปล่อยสารที่ทำให้ระคายเคือง และอาจถึงขั้นเป็นพิษออกมา
  5. มองหาแหล่งน้ำ วิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามคือ การโยนโทรศัพท์มือถือลงน้ำ
  6. รอ 10 นาที อุปกรณ์เล็ก ๆ อย่างโทรศัพท์มือถือลุกไหม้ได้ไม่นานนัก แต่หลังจากที่ไฟดับแล้ว มันอาจยังร้อนเกินกว่าที่จะหยิบขึ้นมาได้ไปอีกหลายนาที

คำแนะนำ การปล่อยให้โทรศัพท์มือถืออยู่ในสภาพร้อนจัด อาจทำให้มันพังเร็วขึ้นจนนำไปสู่การลุกไหม้ ดังนั้น อย่าวางโทรศัพท์มือถือไว้ในรถยนต์ที่ร้อนอบอ้าว หรือบริเวณใดที่โดนแดดโดยตรง ในวันที่อากาศร้อนจัด

วิธีเอาตัวรอดจากการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล

วิธีเอาตัวรอดเมื่อโดนแฮกข้อมูล

  1. ตอบสนองทันที ข้อมูลที่โดนขโมยส่วนใหญ่มักถูกนำไปขายในเว็บไซต์ที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือที่เรียกว่าเว็บมืด โดยมักถูกขายไปหลายต่อก่อนที่จะถูกนำไปใช้ ยิ่งยกเลิกบัญชีผู้ใช้และเปลี่ยนรหัสผ่านเร็วเท่าไหร่ ข้อมูลที่โดนขโมยไปขายก็จะยิ่งไร้ค่า หรือไร้ประโยชน์ต่อผู้ซื้อมากขึ้นเท่านั้น
  2. เปลี่ยนไปใช้โทรศัพท์มือถือแบบใช้แล้วทิ้ง พกโทรศัพท์มือถือสำรองแบบใช้แล้วทิ้ง โดยซื้อด้วยเงินสดพร้อมชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม หากเป็นไปได้ก็ให้สลับเอาซิมการ์ด ในโทรศัพท์มือถือเครื่องหลักมาใส่ในเครื่องนี้
  3. อย่าเจรจาต่อรองกับพวกแฮกเกอร์ hacker เก่ง ๆ ส่วนใหญ่ก็เหมือนสแปมเมอร์ ที่หลอกล่อผู้คนครั้งละหลายพันหรือหลายหมื่นคน และคาดหวังว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งที่หลงกล หากเป็นคนหนึ่งที่โดนหลอกล่อแล้วตอบกลับ แฮกเกอร์พวกนั้นก็จะยิ่งเห็นเป็นเหยื่ออันโอชะ
  4. อย่าเปิดอีเมลหรือคลิกลิงก์แปลก ๆ นั่นอาจเป็นอีเมลหรือลิงค์ปลอมที่มีไว้เพื่อโจมตี หรือหลอกลวงเอาข้อมูล
  5. ทำใจไว้เลยว่าคงไม่มีทางกู้คืนข้อมูลได้ การจ่ายเงินค่าไถ่ด้วย bitcoin หรือเงินรูปแบบอื่น ๆ ไม่ได้ช่วยให้ได้ข้อมูลกลับคืนมา แฮกเกอร์ไม่ใช่คนดีมีคุณธรรม
  6. ค้นเว็บไซต์ อาจมีผู้หวังดีค้นพบกุญแจเข้ารหัสสำหรับปลดล็อค และนำไปโพสต์ไว้บนเว็บไซต์แล้วก็ได้
  7. ตื่นตัวเข้าไว้ พวกที่สวมรอยแอบอ้างเป็นคนอื่น จะรู้จักเหยื่อของตัวเองเป็นอย่างดี ดังนั้น จงจับตาดูสมาชิกครอบครัวและเพื่อนสนิทว่า พวกเขาทำอะไรที่ส่อพิรุธหรือไม่

คำแนะนำ การยืนยันตัวตนแบบ 2 ขั้นตอน อาจเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เป็นประโยชน์ แต่ก็เฉพาะในกรณีที่โทรศัพท์มือถือยังอยู่กับตัว และยังไม่โดนแฮกข้อมูล เปิดใช้งานการแจ้งเตือนทั้งทางข้อความและอีเมล เมื่อมีการทำธุรกรรมใด ๆ จากสถาบันทางการเงิน การใช้บัตรเครดิตวงเงินต่ำหลาย ๆ ใบถือว่าปลอดภัยกว่าการใช้บัตรเครดิตวงเงินสูงแค่ใบเดียว หรือ 2 ใบ หนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดสำหรับหลีกเลี่ยงการโดนแฮกคือ การถอดปลั๊กคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เชื่อมต่ออื่น ๆ ที่อาจมีอยู่ในบ้าน เพราะแฮกเกอร์ไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ที่ปิดเครื่องอยู่ได้

วิธีเอาตัวรอดจากรถยนต์ไร้คนขับที่สูญเสียการควบคุม

  1. คาดเข็มขัดนิรภัย ทางรอดที่ดีที่สุดเวลาที่รถยนต์ไร้คนขับสูญเสียการควบคุม ก็เหมือนกับรถยนต์ทั่วไปนั่นคือ คาดเข็มขัดนิรภัยให้แน่น ไม่ว่าจะนั่งอยู่เบาะหน้าหรือเบาะหลัง
  2. บีบแตร หากนั่งอยู่เบาะหน้าให้บีบแตรซ้ำ ๆ เพื่อเตือนผู้ขับขี่คนอื่นให้หลบรถ หากไม่มีแตรหรือนั่งอยู่เบาะหลัง ก็ให้ดูขั้นตอนต่อไป
  3. เตือนคนเดินถนน ให้เปิดหน้าต่างแล้วตะโกนเตือนคนที่กำลังเดินบนถนน ในกรณีที่สามารถทำได้ ถ้าระบบรถไม่ได้ถูกแฮกชุดคำสั่งของรถ ก็น่าจะช่วยป้องกันไม่ให้มันขับไปชนผู้คน และสิ่งกีดขวางอื่น ๆ
  4. ตั้งสติ ในกรณีที่ระบบรถไม่ได้ถูกแฮก และระบบรถมีมาตรการรักษาความปลอดภัย เวลารถขัดข้องติดตั้งไว้ เมื่อเซ็นเซอร์ขัดข้องจนระบบรวน รถน่าจะชะลอความเร็ว และจอดข้างทางอย่างปลอดภัย
  5. ระวังรถถูกแฮก หากระบบรถยนต์ถูกแฮก รถจะทำงานด้วยความแม่นยำโดยไม่ติดขัดหรือสับสน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อันตรายมาก เพราะรถที่ถูกตั้งค่าให้มีความปลอดภัย จะเริ่มทำอะไรเสี่ยง ๆ
  6. กดสวิตช์ตัดการทำงาน รถยนต์ไร้คนขับน่าจะติดตั้งสวิตช์ตัดการทำงาน ไว้ในบริเวณที่สังเกตเห็นได้ง่าย อย่างแผงหน้าปัด คอนโซลหน้ารถ หรือแกนพวงมาลัย
  7. กระโดดออกจากรถ ใช้วิธีนี้เฉพาะตอนที่ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว โดยให้กระโดดขณะที่รถแล่นด้วยความเร็วต่ำเท่านั้น

วิธีเอาชนะการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์

  1. อย่าตอบโต้ พวกคนที่จ้องจะระรานคนอื่นต่างก็เรียกร้อง และหวยหาความสนใจกันทั้งนั้น
  2. หาคนช่วย ติดต่อหาคนที่ไว้ใจจะเป็นคนที่รู้จักแค่ในโลกออนไลน์ก็ได้ จากนั้นให้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น
  3. รวบรวมหลักฐาน ทำสำเนาดิจิทัลของข้อความ รูปภาพ และวีดีโอกลั่นแกล้งทั้งหมด พิมพ์ข้อความและอีเมลออกมาเก็บไว้เป็นหลักฐานเพื่อดำเนินคดี

4 ออกจากบัญชีผู้ใช้ ล็อคเอาต์จากบัญชีผู้ใช้และแอพพลิเคชั่น ที่พวกอันธพาลตามรังควาน ปิดการแจ้งเตือนทั้งหมด สร้างตัวกรองอีเมลเพื่อคัดข้อความทั้งหมดจากอันธพาล ออกไปไว้ในโฟลเดอร์โดยเฉพาะ

  1. ปล่อยให้แบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือใกล้หมดตลอดเวลา เมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมดจนต้องปรับเป็นโหมดประหยัดพลังงาน โทรศัพท์มือถือน่าจะจำกัดการแสดงข้อมูลพื้นหลังของโทรศัพท์มือถือ
  2. ปรับลดแพ็คเกจเป็นระดับที่ให้ความเร็วอินเตอร์เน็ตต่ำที่สุด หรืออาจลองหันไปใช้โทรศัพท์รุ่นเก่าออนไลน์
  3. พักจากโลกออนไลน์ แม้อาจฟังดูเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ต้องเริ่มจำกัดเวลาออนไลน์ โดยเริ่มจากใช้เวลาออนไลน์วันละไม่เกิน 5 ชั่วโมง จากนั้นค่อย ๆ ลดลง
  4. 8. แจ้งตำรวจ หากอันธพาลไม่เลิกก็ให้แจ้งตำรวจ อย่าลืมพกหลักฐานติดตัวไปด้วย

ส่วนที่ 6 สถานการณ์วิกฤต

วิธีใช้เครื่อง AED เพื่อยื้อชีวิต

เครื่องกระตุกหัวใจ (defibrillator) คืออุปกรณ์ที่ใช้ปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าสู่หัวใจ เพื่อรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งน่าจะเคยเห็นในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์มาแล้ว สมัยก่อนเครื่องนี้เคยมีน้ำหนักมาก ราคาสูง และพบได้ในโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ แต่ปัจจุบันมีการผลิตเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติออกมา ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าและสามารถพบได้ทั่วไป ทั้งในสระว่ายน้ำ ฟิตเนส สนามบิน และสถานที่สาธารณะอื่น ๆ

วิธีใช้เครื่อง AED

  1. กดปุ่มเปิดเครื่อง เครื่อง AED ส่วนใหญ่จะมีทั้งภาพ และเสียงที่บอกให้รู้ว่าปุ่มอยู่ตรงไหน
  2. ถอดเสื้อและเครื่องประดับของผู้ป่วยออก
  3. ติดแผ่นนำไฟฟ้าบนหน้าอก ตามแผนภาพที่แสดงบนจอ ติดแผ่นนำไฟฟ้าแผ่น 1 ไว้ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และติดอีกแผ่นไว้ที่ชายโครงด้านซ้าย
  4. เชื่อมต่อแผ่นนำไฟฟ้ากับตัวเครื่องเครื่อง AED จะวิเคราะห์จังหวะการเต้นของหัวใจ และตัดสินว่าควรช็อตไฟฟ้าผู้ป่วยหรือไม่ ในระหว่างนี้จึงต้องไม่สัมผัสตัวผู้ป่วยโดยเด็ดขาด
  5. เครื่องวิเคราะห์แล้วพบว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการช้อตไฟฟ้า เครื่องจะออกคำสั่งทั้งในรูปแบบของภาพและเสียงเพื่อให้ช็อตไฟฟ้า ซึ่งโดยปกติแล้วต้องกดปุ่มก่อนจะช๊อตไฟฟ้า ดูให้แน่ใจว่าไม่มีใครที่กำลังสัมผัสตัวผู้ป่วย เครื่องจะตรวจสอบจังหวะการเต้นของหัวใจผู้ป่วยอีกครั้ง

คำแนะนำ เมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คลื่นไฟฟ้าหัวใจจะผิดปกติ และหัวใจจะหยุดเต้น ผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะหยุดหายใจ รวมถึงชีพจรจะเต้นช้าลงและคลำยาก หรือไม่ก็หยุดเต้นแล้วหมดสติไป

วิธีช่วยชีวิตตัวเองถ้าเกิดหัวใจวาย

  1. เคี้ยวแอสไพรินทันทีที่สงสัยว่าตัวเองกำลังจะหัวใจวาย ให้เคี้ยวแอสไพรินสำหรับผู้ใหญ่ 1 เม็ด 325 มิลลิกรัมต่อเม็ด หรือแอสไพรินสำหรับเด็ก 4 เม็ด 81 มิลลิกรัมต่อเม็ด ให้ละเอียดแล้วกลืนลงไป การเคี้ยวจะทำให้แอสไพรินเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วขึ้น อาการหัวใจวายมีสาเหตุมาจากการอุดตันของเส้นเลือด ซึ่งทำหน้าที่ส่งออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ ยาแอสไพรินไม่ได้ช่วยยับยั้งอาการหัวใจวาย หรือกำจัดสิ่งอุดตันออกไป แต่ช่วยป้องกันไม่ให้เกล็ดเลือดแข็งตัว จนเกิดการอุดตันเพิ่ม
  2. บอกให้คนอื่นรู้ ถ้าเป็นไปได้ให้บอกคนรอบข้างว่ากำลังจะหัวใจวาย และขอให้พวกเขาโทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน
  3. ลดการใช้ออกซิเจนของหัวใจ หยุดกิจกรรมทุกอย่าง ยิ่งหัวใจเต้นเร็วเท่าไหร่มันก็ยิ่งใช้ออกซิเจนมากเท่านั้น พยายามคิดถึงเรื่องที่ทำให้สงบ เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจลง
  4. เพิ่มออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงหัวใจ นอนลงกับพื้นยกขาทั้งสองข้างขึ้น เพื่อให้เลือดไหลไปยังหัวใจมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
  5. ทำ CPR ด้วยการไอ ให้หายใจเข้าทางจมูกแล้วไอทุก 3 วินาที โดยในขณะที่หายใจเข้าก็ให้คิดในใจว่า หายใจไว้ หายใจไว้ จากนั้นก็ไอแล้วทำแบบเดิมซ้ำ ๆ การไอจะช่วยให้ไม่เป็นลม และมีสติจนกระทั่งสามารถทำ CPR แบบปกติได้

คำแนะนำ อย่ากินอาหารหรือดื่มน้ำ อาจต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการอุดตันของหลอดเลือดแดง อาหารหรือของเหลวในร่างกายจะทำให้ยากต่อการรักษา

วิธีรับมือเมื่อไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ระบาด

ถ้าไม่ติดเชื้อ

  1. ถ้ามีวัคซีนให้ฉีดก็รีบไปฉีด ต่อให้วัคซีนไม่ได้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ก็อาจช่วยลดระยะเวลาและความรุนแรงของโรคได้
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่น ผู้ที่ติดเชื้ออาจแพร่เชื้อให้ก่อนที่พวกเขาจะแสดงอาการ
  3. อยู่แต่ในบ้าน การอยู่แต่ในบ้านจะช่วยลดโอกาสในการสัมผัสผู้คน และสิ่งของซึ่งเป็นพาหนะชั้นดี
  4. อย่าจับสิ่งของใด ๆ ไวรัสส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสโดยตรง ไม่ใช่ผ่านทางอากาศ
  5. สวมถุงมือ เมื่อจำเป็นต้องออกจากบ้านก็ให้สวมถุงมือ ถ้าเป็นถุงมือแบบใช้ครั้งเดียวให้ถอดทิ้ง ตอนอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดเชื้อไวรัสแล้ว
  6. สวมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ หน้ากากอนามัยช่วยลดโอกาส ที่จะติดเชื้อไวรัสผ่านละอองฝอยในอากาศ
  7. สวมหน้ากากกรองอากาศ ถ้าสวมหน้ากาก n95 อย่างถูกวิธี มันจะมีประสิทธิภาพในการป้องกัน การติดเชื้อสูงกว่าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่ก็ทำให้ร้อนและอึดอัดกว่า
  8. ล้างมือบ่อย ๆ วิธีป้องกันการติดเชื้อที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ ล้างมือด้วยน้ำอุ่นและสบู่เป็นเวลา 15-20 วินาที

ถ้าติดเชื้อ

  1. อยู่แต่ในบ้าน อย่าออกจากบ้านจนกว่าจะไม่มีไข้แล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่ได้กินยาลดไข้
  2. ติดตามอาการ อาการของไข้หวัดมีทั้งเป็นไข้ ไอ เจ็บคอ คัดจมูกน้ำมูกไหล ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดหัว หนาวสั่น และรู้สึกอ่อนเพลีย
  3. ดื่มน้ำให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มาก ๆ โดยผู้ใหญ่ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร จะเป็นน้ำดื่มหรือน้ำที่อยู่ในอาหารก็ได้
  4. กินยาต้านไวรัส แพทย์อาจจ่ายยาต้านไวรัสมาให้ ซึ่งช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการป่วยได้
  5. รู้ตัวว่าเมื่อไหร่ที่ควรไปโรงพยาบาล ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ที่ต้องรักษาในโรงพยาบาล ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้อาจเป็นอาการหายใจลำบาก หรือหายใจไม่อิ่ม เจ็บหน้าอก ปวดท้อง เวียนศีรษะมึนงงสับสน รวมถึงอาเจียนอย่างหนักหรือต่อเนื่อง

วิธีรับมือกับภาวะเพลียแดด

อาการบ่งชี้ของภาวะเพลียแดดคือ มีเหงื่อออกมาก อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ งุนงงสับสน และเป็นตะคริว นอกจากนี้ยังอาจรวมถึงปัสสาวะเป็นสีเข้ม และหัวใจเต้นเร็ว ถ้ามีอาการดังกล่าวก็ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. หยุดกิจกรรมทุกอย่าง นั่งพักในที่ร่มหรือบริเวณที่อากาศเย็นสบาย การนั่งยังช่วยลดโอกาสที่จะบาดเจ็บ ถ้าเกิดเป็นลมหมดสติขึ้นมา
  2. ถอดเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก นี่จะช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และระบายความร้อนได้มากขึ้น
  3. ทำให้ร่างกายเย็นลง วิธีที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงได้เร็วที่สุดคือ การลงไปแช่ในน้ำเย็นทั้งตัว ใช้น้ำอุณหภูมิเท่าไหร่ก็ได้ที่ต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกาย แต่ยิ่งเย็นก็จะยิ่งดี ถ้าลงไปแช่ทั้งตัวไม่ได้ให้เทน้ำลงบนเสื้อผ้าที่สวมอยู่ หรือใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวก็ได้
  4. หาอะไรมาพัด จะพักเองหรือขอให้คนอื่นช่วยพัดให้ก็ได้
  5. ดื่มน้ำช้า ๆ ค่อย ๆ จิบน้ำทีละน้อย อย่าดื่มเข้าไปอึกใหญ่ ถ้าเป็นไปได้ก็ให้เติมแร่ธาตุ
  6. สังเกตสีของปัสสาวะ ปัสสาวะบ่งบอกได้ว่าไตกลับมาทำงานตามปกติแล้วหรือยัง ให้ทำตามขั้นตอนข้างต้นต่อไปเพื่อบรรเทาอาการ และเมื่อเป็นไปได้ก็ให้เข้าไปอยู่ในที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ

วิธีรับมือเมื่อขาหัก

อาการบาดเจ็บที่ขาส่วนใหญ่คือขาแพลง ซึ่งเกิดจากการที่เส้นเอ็นตึงตัวมากเกินไป แต่การรักษาอาการขาแพลงกับขาหักนั้นไม่ได้แตกต่างกันเลย

  1. ถ้าผิวหนังฉีกขาดอย่าจับหรือหาอะไรมาใส่แผล ต้องป้องกันไม่ให้แผลติดเชื้อ ถ้าแผลมีเลือดออกมากให้พยายามห้ามเลือด ด้วยการใช้ผ้าพันแผลที่ฆ่าเชื้อแล้ว หรือผ้าสะอาดกดแผลด้วยแรงที่สม่ำเสมอ
  2. อย่าขยับขาข้างที่หัก ต้องดามขาข้างที่หักเอาไว้ไม่ให้ขยับเขยื้อน
  3. หาของแข็งที่เป็นแท่งยาวเท่า ๆ กัน 2 ชิ้นมาดามขา ใช้ไม้พลาสติก หรือม้วนกระดาษแข็งมาทำเป็นเครื่องดามได้
  4. จัดตำแหน่งเครื่องดามให้ครอบคลุมบริเวณที่ขาหัก ทั้งด้านบนและด้านล่าง วางเครื่องดามไว้ใต้ขาหรือขนาบไว้ด้านข้างหากยกขาขึ้นไม่ไหว ถ้าเป็นไปได้ควรวางเครื่องดามให้ยึดข้อต่อที่อยู่เหนือและใต้ส่วนที่หัก เพื่อป้องกันการขยับ
  5. มัดเครื่องดามใช้เชือก เข็มขัด เศษผ้า หรืออะไรก็ตามที่หาได้
  6. อย่ามัดแน่นเกินไป เพราะอาจทำให้เลือดไม่ไหลเวียน
  7. ให้ผู้บาดเจ็บนอนหงายนิ่ง ๆ จะช่วยให้เลือดยังคงไหลเวียน และป้องกันไม่ให้เกิดอาการช็อค

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง อย่าคลำ ดัด หรือพยายามทำความสะอาดแผลกระดูกหักแบบเปิด ไม่อย่างนั้นอาจเกิดการติดเชื้อ อย่าเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บนอกจากจะจำเป็นจริง ๆ ดามบริเวณขาที่หักแล้วจึงค่อยไปขอความช่วยเหลือ ถ้าจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บ ก็ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่า บริเวณที่ขาหักจะไม่ขยับเขยื้อน

คำแนะนำ อย่าพยายามขยับหรือจัดกระดูกที่หักให้เข้าที่ เพราะอาจทำให้ผู้บาดเจ็บรู้สึกเจ็บปวดอย่างรุนแรง และยิ่งมีอาการเลวร้ายลง

ส่วนที่ 7 วิธีเอาตัวรอดเมื่อออกผจญภัย

วิธีเอาตัวรอดจากทรายดูด

  1. ตั้งสติ ทรายดูดมีความหนาแน่น และสามารถลอยตัวในทรายดูดได้ดีกว่าในน้ำ ดังนั้น การลอยตัวเหนือทรายดูดจึงค่อนข้างง่าย
  2. อย่าดิ้นรนหรือตะเกียกตะกาย ยืนตัวตรงจนกว่าทรายจะดูดลงไปจนถึงช่วงเข่า
  3. ค่อย ๆ เอนตัวนอนหงาย ทำให้ลำตัวช่วงบนและต้นขาขนานไปกับพื้น
  4. เมื่อทรงตัวได้แล้ว ให้ดึงขาท่อนล่างขึ้นมาจากทรายดูดเป็นอันดับแรก ขั้นตอนนี้ค่อนข้างยากทีเดียว เพราะทรายดูดมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำ 2 เท่า ฉะนั้นค่อย ๆ ดึงขาขึ้นมาช้า ๆ
  5. กลิ้งตัวไปยังพื้นที่ปลอดภัย เมื่อดึงขาออกมาได้แล้ว กลิ้งตัวบนทรายดูดไปหาพื้นแข็ง ๆ ถ้ามีกิ่งไม้หรือรากไม้ใกล้ ๆ ที่พอเอื้อมถึง ให้จับมันไว้ให้แน่น แล้วดึงตัวเองออกจากทรายดูด

วิธีเลี่ยงไม่ให้จม

ทรายดูดเป็นแค่ทรายธรรมดา ๆ ที่ผสมกับน้ำผุด มันจึงมีลักษณะคล้าย ๆ ของเหลว แต่ถ้าจะดึงแขนและขาออกมาจากบ่อทรายดูด ต้องพยายามลดแรงดึงของสุญญากาศที่เกิดขึ้นภายในบ่อ ขยับตัวช้า ๆ เพื่อลดความหนืดของทรายดูด ซึ่งเพิ่มขึ้นตามอัตราเฉือนที่เกิดจากการเคลื่อนไหว กางแขนขาออกและหงายหลังลอยตัว ร่างกายมนุษย์มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำจืด ในขณะที่น้ำเค็มมีความหนาแน่นมากกว่าน้ำจืดนิดหน่อย การลอยตัวเหนือน้ำเค็มจึงง่ายกว่าลอยตัวเหนือน้ำจืด ส่วนการลอยตัวเหนือทรายดูดก็ยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ เพราะตามธรรมชาติแล้วเมื่ออยู่ในทรายดูด ระดับการลอยตัวคือแถว ๆ ซี่โครงเท่านั้น แต่เมื่ออยู่ในน้ำจืดระดับการลอยตัวจะอยู่ถึงคอ

วิธีขึ้นสู่ผิวน้ำเมื่อออกซิเจนในถังหมด

  1. อย่าตื่นตระหนก
  2. ส่งสัญญาณให้นักดำน้ำคนอื่น ๆ รู้ว่าเจอปัญหา ชี้ไปที่ถังอากาศหรืออุปกรณ์ช่วยหายใจ
  3. ให้สลับกันใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ ขณะว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำช้า ๆ หายใจเข้า 2 ครั้ง แล้วส่งอุปกรณ์ช่วยหายใจกลับไปให้นักดำน้ำเจ้าของอุปกรณ์ ดันตัวขึ้นพร้อมกันระหว่างนั้นก็หายใจออก เสร็จแล้วหายใจเข้าอีก 2 ครั้งสลับกันไปแบบนี้ จนกว่าจะว่ายขึ้นมาถึงผิวน้ำ
  4. ถ้าไม่มีใครสามารถช่วยได้ ให้คาบอุปกรณ์ช่วยหายใจไว้ในปาก อากาศในถังอาจขยายตัวขณะที่ดันตัวขึ้น ซึ่งช่วยให้หายใจได้อีกหน่อย
  5. เงยหน้าขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจให้โล่งที่สุด ว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำด้วยความเร็วต่ำถึงปานกลาง หายใจออกช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง ขณะว่ายน้ำดันตัวขึ้นมา การหายใจออกอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะถึงผิวน้ำเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าไม่หายใจออกเรื่อย ๆ จะเสี่ยงกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่ด้วยความเร็วในการหายใจออกก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

คำแนะนำ ห้ามดำน้ำคนเดียวเด็ดขาด ตรวจสอบระดับความลึก และความดันบนหน้าปัดอยู่เสมอคอยดูให้แน่ใจว่านักดำน้ำคนอื่น ๆ อยู่ห่างออกไปในระยะที่ใกล้พอจะส่งสัญญาณ หรือว่ายไปหาได้โดยง่าย ถ้าเจอปัญหาให้แบ่งกันใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจ วิธีนี้ปลอดภัยมากกว่าการที่รีบว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าอยู่ในน้ำลึก ซึ่งจำเป็นต้องว่ายขึ้นไปอย่างช้า ๆ ใช้อุปกรณ์ช่วยหายใจสำรองแทนที่จะว่ายขึ้นสู่ผิวน้ำเสมอ เว้นเสียแต่ว่าดำน้ำในระดับน้ำที่ลึกไม่เกิน 9 เมตร

วิธีเอาตัวรอดจากภาวะขาดน้ำ

  1. ประหยัดน้ำเอาไว้ แต่ก็ต้องดื่มด้วยถ้ามีน้ำแม้จะน้อยนิด อย่าอดน้ำเป็นอันขาด ให้ดื่มน้ำโดยแบ่งน้ำทั้งหมดที่มีออกเป็น 4-6 ส่วนโดยประมาณ แล้วดื่ม 1 ส่วนทุก ๆ 2-3 ชั่วโมงเท่าที่จำเป็น
  2. จำกัดปริมาณอาหารที่กิน การย่อยอาหารตามธรรมชาติจำเป็นต้องอาศัยน้ำ
  3. เคลื่อนไหวร่างกายเฉพาะในช่วงเย็นและกลางคืน พื้นที่ที่เป็นทะเลทรายอาจร้อนในตอนกลางวัน แต่ก็หนาวเย็นมากในตอนกลางคืน
  4. หาตำแหน่งของหุบเขาลึกแคบ หรือทางน้ำที่เคยมีน้ำไหลผ่าน แม้หุบเขาที่รกร้างและท้องน้ำที่แห้งขอดจะดูเหมือนไม่มีน้ำ แต่มันอาจจะเก็บน้ำฝนจากครั้งอดีตเอาไว้ใต้ดิน
  5. หาพืชพันธุ์สีเขียว พืชพันธุ์สีเขียวจะดูดน้ำจากใต้พื้นดิน ให้ขุดลึกลงไปใต้โคนต้นของพืชทะเลทรายเพื่อหาน้ำ
  6. ตัดกระบองเพชร ใช้มีดคม ๆ ตัดกระบองเพชรตรงโคนต้นออกเป็นส่วน ๆ ดึงหนามออก แล้วเคี้ยวเนื้อเยื่อส่วนในแต่อย่ากลืนลงไป
  7. สังเกตท้องฟ้า นกจำเป็นต้องกินน้ำ และอาจนำทางไปยังแหล่งน้ำ สังเกตว่าพวกมันรวมตัวกันตรงไหน แล้วสำรวจพื้นที่บริเวณนั้นเพื่อหาน้ำ ถ้ามีน้ำอยู่ในรอยแตกของหิน จงยัดเศษผ้าเข้าไปให้ผ้าดูดซึมน้ำ จากนั้นก็บิดผ้าให้น้ำหยดเข้าปาก

ประวัติผู้เขียน

Joshua Piven คือผู้เขียนหนังสือหลายเล่ม ที่ขายดีติดอันดับของนิวยอร์กไทม์ เขาเป็นนักเขียนสุนทรพจน์มือรางวัล นักเขียนบท และผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ทั้งยังเคยรอดจากการถูกโจรขี่มอเตอร์ไซค์ไล่แทง รอดจากการติดอยู่บนเก้าอี้ลอยฟ้า ระหว่างไปเล่นสกีบนภูเขาที่กำลังเกิดพายุหิมะสุดหฤโหด และรอดจากโรคนิ่วในไตมาได้แบบฉิวเฉียด

David Borgenicht คือนักเขียนเจ้าของผลงานแนวเสียดสีหลายสิบเล่ม เช่น Star Trek Book of Opposite และ How To Con Your Kid เขาเป็นผู้รอดชีวิตจากการเจอกับงูหางกระดิ่ง หมี และสิงโตภูเขา รวมถึงโจรมุมตึก นักต้มตุ๋น และลูก ๆวั ยรุ่นของเขาเอง เขาเป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Quirk Books ด้วย.