พฤติกรรมและจิตวิทยาการลงทุน

สั่งซื้อหนังสือ “พฤติกรรมและจิตวิทยาการลงทุน” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก

พฤติกรรมและจิตวิทยาการลงทุน (The Little book of Behavioral Investing)

วิธีที่จะไม่เป็นศัตรูตัวร้ายของตัวเอง

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของนักลงทุนและศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดของพวกเขาก็คือตัวของพวกเขาเอง

– เบน เกรแฮม (Ben Graham) –

จากคำกล่าวข้างต้น พบว่าเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจริงกับนักลงทุนแทบทุกคน ไม่ว่าจะคุณจะเป็นใคร อยู่ที่ใด รวยจนแค่ไหนก็ตาม แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นแบบนี้เสมอไป ทุกอย่างย่อมแก้ไขได้ หากได้มีการเรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะได้มีการตัดสินใจในการลงทุนที่ดีขึ้น โดยต้องเริ่มจากเรียนรู้ความท้าทายทางพฤติกรรมและหลุมพรางทางอารมณ์ และแนวทางที่นักลงทุนระดับโลกบางคนมีการจัดการกับอคติที่เกิดจากพฤติกรรม (Behavioral Bias) เหล่านี้ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นและผลขาดทุนที่น้อยลง

ก่อนจะเริ่มคุณต้องรู้ก่อนว่าโดยทั่วไปสมองมนุษย์จะแบ่งการตัดสินใจเป็น 2 ระบบ

  1. ระบบเอ็กซ์ (X – System) คือ ระบบการตัดสินใจโดยใช้อารมณ์เป็นหลัก และเป็นระบบการตัดสินใจลำดับแรกที่เป็นไปเองและไม่ต้องใช้ความพยายาม ซึ่งจะอยู่บนพื้นฐานของความคุ้นเคย เคยชิน และความรวดเร็ว แต่ในแง่ของประสิทธิภาพจะเป็นระบบการตัดสินใจที่มีความถูกต้องแม่นยำน้อย มักสนองความพึงพอใจเสียมากกว่า
  2. ระบบซี (C – System) คือ ระบบการตัดสินใจโดยใช้ตรรกะและเหตุผล และเป็นระบบการตัดสินใจที่ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมากก มักจะดำเนินการได้ทีละ 1 ขั้นตอนเท่านั้น เพื่อให้ระบบการตัดสินใจมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือมากที่สุด จึงต้องใช้เวลาพอสมควรในการตัดสินใจ

แน่นอนว่าพฤติกรรมการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่มักจะเกิดจากระบบเอ็กซ์มากกว่า มีแค่เพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จะตัดสินใจด้วยระบบซี เช่น การที่คุณเดินชนโต๊ะ คุณมักจะโทษโต๊ะหรือคนที่นำโต๊ะมาวางตรงนั้นในทันที นี่แหละคือการทำงานของระบบเอ็กซ์ ทั้งที่ในความจริงแล้วหากได้ลองคิดอย่างถี่ถ้วนก็จะพบว่าโต๊ะก็อยู่เฉย ๆ ของมัน คุณเองนี่แหละที่เป็นคนเดินไปโต๊ะเอง ! แต่ในบางครั้งการตัดสินใจระบบเอ็กซ์ก็ถูกออกแบบมาให้ชนะระบบซี เช่น เวลาคุณกำลังจะโดนรถชนระบบเอ็กซ์จะสั่งให้คุณตัดสินใจหลบรถในทันที ซึ่งหากรอระบบซีทำงานคุณอาจจะโดนรถชนไปแล้วก็ได้

ในเรื่องของการลงทุนก็เช่นกัน คนมักจะใช้ระบบเอ็กซ์ในการตัดสินใจและมักจะไม่ตรวจสอบด้วยระบบซีที่มีเหตุผลและตรรกะมากกว่า วอเร็น บัฟเฟตต์ หนึ่งในนักลงทุนที่ยอดเยี่ยมที่สุดในโลกเคยกล่าวว่า นักลงทุนต้องหัดเรียนรู้ที่จะควบคุมระบบเอ็กซ์ของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งกระตุ้นที่มีผลเสียต่อพฤติกรรมการลงทุนนั่นเอง

และต่อไปนี้คุณจะได้เริ่มเรียนรู้พฤติกรรมที่ท้าทายหรืออคติเชิงพฤติกรรมซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายที่สุด และหลุมพรางทางอารมณ์ที่มักพบได้จากนักลงทุนมืออาชีพ เพื่อที่คุณจะได้เก็บเป็นความรู้และสามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่จะส่งผลเสียต่อการลงทุนของคุณ มาลองดูกัน !

บทที่ 1 ท่ามกลางอารมณ์โกรธ เตรียมตัว วางแผน และกำหนดกลยุทธ์ล่วงหน้า

ในโลกของการลงทุน เมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาลงทุกคนกำลังวุ่นวายกับการขายอย่างสิ้นหวัง มันยากมากที่จะสวนกระแสและตั้งคำสั่งซื้อทั้งที่ความจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ควรทำ ความยากลำบากที่เกิดขึ้นนี้จะเรียกว่า Empathy Gap ซึ่งถือว่าเป็นหลุมพรางกับดักทางอารมณ์ที่จะส่งผลเสียต่อพอร์ตโฟลิโอของคุณดังนั้นจึงควรพยายามกำจัดให้ได้

ก่อนที่จะเริ่มศึกษาวิธีการกำจัด Empathy Gap ต้องเข้าใจอันตรายของการผลัดวันประกันพรุ่งเสียก่อนเพราะมีความคล้ายกันกับ Empathy Gap  มาเริ่มเลย สมมุติว่าคุณต้องส่งงานเขียนบทความทั้งหมด 9 ชิ้น แล้วมีทางเลือกคือ ส่งบทความทั้งหมดพร้อมกันในนาทีสุดท้ายก่อนถึงกำหนด หรือกำหนดเวลาส่งบทความแต่ละชิ้นว่าชิ้นไหนส่งวันไหน แน่นอนคนส่วนใหญ่จะเลือกส่งบทความทั้งหมดพร้อมกัน แต่หารู้ไม่ว่าคุณกำลังจะเผชิญกับการผลัดวันประกันพรุ่ง เพราะเวลาเมื่อคุณจะเริ่มทำงานมักมีอุปสรรคต่าง ๆ มาขัดขวางทำให้คุณไม่สามารถทำงานต่อได้ ดังนั้นจึงต้องผลัดวันไปก่อน “ค่อยทำพรุ่งนี้แล้วกัน” ผลัดไปเรื่อย ๆ จนไม่สามารถส่งงานได้ทันกำหนดนี่แหละคืออันตรายของพฤติกรรมนี้ จริง ๆ ควรเลือกส่งงานแบบกำหนดเวลาเอาไว้ก่อน เพราะเราจะถูก Force ให้ทำเพื่อให้ทันตามกำหนดเวลาแบบไม่เหนื่อยจนเกินไป ดังนั้นจะเห็นได้ว่าวิธีที่จะสามารถกำจัด Empathy Gap และการผลัดวันประกันพรุ่งได้คือการให้คำสัญญาไว้ล่วงหน้า (Pre-commitment) ซึ่งคือการวางแผนการดำเนินการไว้ล่วงหน้า และสัญญาว่าจะทำตามแผนที่ได้ตั้งไว้จนสำเร็จ

ในการลงทุนก็เช่นกันเพื่อที่จะหลีกเลี่ยง Empathy Gap นักลงทุนควรมี Pre-commitment และต้องเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตาม 7P’s: การวางแผนที่ดีเยี่ยมและการเตรียมตัวเพื่อป้องกันผลงานที่ไม่ดี (Perfect Planning and Preparation Prevent Piss Poor Performance) พูดง่ายๆ คือเราต้องมีการวิจัยการลงทุนด้วยตัวเองในขณะที่อยู่ในภาวะที่ปราศจากอารมณ์และมีเหตุผล ในขณะที่ตลาดไม่ผันผวนมากนัก และตั้ง Pre-commitment ไว้ว่าจะปฏิบัติตามการวิเคราะห์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ ถ้าทำตามวิธีการนี้ ถึงแม้จะอยู่ในช่วงตลาดขาลง จะทำให้การซื้อขณะที่เผชิญกับการเทขายอย่างหมดหวังทำได้ง่ายขึ้น วิธีนี้ไม่ซับซ้อนนักและเป็นวิธีที่กำจัดอารมณ์ออกจากสถานการณ์ได้ดีมากอีกด้วย แต่ถ้าเป็นการตัดสินใจด้วยตัวคุณเองโดยไม่ได้มี Pre-commitment  เชื่อสิว่าคุณคงไม่มีวินัยมากพอ และมันยากมากที่จะสั่งซื้อท่ามกลางการเทขายอย่างหมดหวัง

บทที่ 2 ใครบ้างที่หวาดกลัวตลาดที่เลวร้าย – ลงทุนเพิ่ม เมื่อถูกทำให้ตกใจกลัว

ภาวะตลาดซบเซาหรือที่เราเรียกว่า “ตลาดหมี (Bear Market)” เป็นช่วงเวลาที่ Supply มากกว่า Demand ความเชื่อมั่นต่ำ และราคาตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด ทำให้นักลงทุนกลัวช่วงเวลานี้มาก จนอาจจะเกิดเป็นความโกลาหลที่รุนแรง เช่นเกิดการ Panic Selling หรือลังเลที่จะซื้อเพิ่ม

สอดคล้องกับคำกล่าวของ เจเรมี เกรเฮม หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ GMO เกี่ยวกับภาวะตลาดซบเซาที่ว่า ทุกครั้งที่ราคาลดลงจะยิ่งทำให้ความต้องการเงินสดเพิ่มขึ้นจนกระทั่งเกิด Terminal Paralysis (อัมพาตร้ายแรงหรือการหยุดนิ่ง) โดยคนที่ลงทุนมากเกินไปจะเกิดอาการช็อกจนทำอะไรไม่ถูกได้แต่ภาวนา สำหรับบางคนที่ดูเหมือนจะฉลาดเพราะคิดว่าการถือเงินสดไว้กับตัวดีที่สุด แต่จริง ๆ แล้วเขาไม่ได้ฉลาดเลยเพราะเขาพลาดโอกาสในการทำกำไรเมื่อตลาดฟื้นตัว

และแน่นอนสิ่งที่จะสามารถรักษา Terminal Paralysis ในช่วงตลาดหมี ได้คือ การมีแผนสำหรับต่อสู้กับการลงทุนครั้งใหม่ไว้ล่วงหน้าและทำตามแผนนั้นหรือ Pre-commitment นั่นเอง ซึ่งจะเป็นการกำจัดหลุมพรางทางอารมณ์สำหรับการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี และทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนท่ามกลางความเจ็บปวดในภาวะตลาดหมีได้ง่ายขึ้น และแน่นอนจะส่งผลดีต่อพอร์ตโฟลิโอของคุณในระยะยาว

บทที่ 3  มองโลกในแง่ดีเสมอ – “แต่ทำไมฉันจึงควรลงทุนในหุ้นตัวนี้”

การมองโลกในแง่ดีดูเหมือนจะถูกฝังแน่นอยู่ใต้จิตใต้สำนึกของคนส่วนใหญ่ และนักจิตวิทยาพบกว่าคนที่มองโลกในแง่ดีดูเหมือนว่าจะสามารถรับมือกับปัญหาได้ดีกว่าคนที่มองโลกในแง่ร้าย โดยเฉพาะเมื่อเผชิญความเจ็บปวดหรือปัญหาที่เลวร้ายดังนั้นการมองโลกในแง่ดีอาจเป็นกลยุทธ์ในการดำรงชีวิตที่ยอดเยี่ยม แต่ไม่ใช่กลยุทธที่ดีสำหรับการลงทุน !

ในแง่การลงทุน หากมองโลกในแง่ดีมากเกินไปก็เป็นอคติที่ต่อต้านความสามารถในกระบวนการคิด จะเป็นการบังคับตัวเองมองโลกในด้านสวยงามเสมอ ซึ่งจะสอดคล้องกับ อคติจากการเข้าข้างตัวเอง (Self-Serving Bias) ที่มีแนวคิดว่าเราจะมีแนวโน้มที่จะแสดงออกในแนวทางที่ตัวเองชอบเสมอ และเรามักจะเห็นความหายนะที่เกิดจากการเข้าข้างตัวเองนี้เป็นประจำ ซึ่งจะมีกฎแก้ตัวสำหรับการเข้าข้างตัวเอง 3 ข้อ คือ

  1. ข่าวทุกข่าว เป็นข่าวดี (ถ้าเป็นข่าวไม่ดีก็จะดีขึ้นเสมอ)
  2. ทุกอย่างราคาถูกเสมอ (แม้ว่าคุณจะต้องหาวิธีประเมินราคาใหม่)
  3. สรรหาหลักฐานมายืนยัน (อย่าปล่อยให้ข้อเท็จจริงมาขัดขวางเรื่องราวดี ๆ)

ทั้งการมองโลกในแง่ดีเกินไปและคติจากการเข้าข้างตัวเองล้วนเป็นภัยต่อการลงทุน ดังนั้นควรจะป้องกันไว้ก่อน โดยต้องหัดเรียนรู้ที่จะคิดในเชิงวิจารณ์และเป็นคนช่างสงสัย ซึ่งควรทำตัวให้ชินกับการตั้งคำถามที่ว่า “ทำไมจึงควรลงทุนในหุ้นตัวนี้” มากกว่าจะตั้งคำถามว่า “ทำไมจึงไม่ควรลงทุนในหุ้นตัวนี้” จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของสองคำถามนี้มีผลต่อผลการดำเนินงานอย่างมาก ดังนั้นเราควรมีความรู้สึก เอ๊ะ? เพื่อให้ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดเสียก่อน อย่าไปคล้อยตามและมองแต่ด้านดีของมัน ถ้าเอ๊ะแล้วมองตามโลกของความเป็นจริงสุดท้ายแล้วรู้สึกว่ามันไม่เวิร์คก็ควรจะปฏิเสธ นี่แหละคือส่วนสำคัญของความสำเร็จในการลงทุน

บทที่ 4 ทำไมไม่มีใครเชื่อคนเหล่านี้?- เลิกเชื่อผู้เชี่ยวชาญ!

โดยทั่วไปพบว่าคนมักมีความมั่นใจในตัวเองมากกว่ามั่นใจในความสามารถ และคนส่วนใหญ่ก็มักจะชอบและชื่นชมคนที่มีความมั่นใจและยินดีที่จะจ่ายเงินจำนวนมากสำหรับจ้างที่ปรึกษาที่มีความมั่นใจ (แม้จะไม่ถูกต้องแม่นยำก็ตาม) ยิ่งไปกว่าถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้วมีความมั่นใจจะได้รับความสนใจเป็นพิเศษ

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ถ้าคุณมีที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอยู่ตลอด สมองของเราจะหยุดกระบวนการคิดและตัดสินใจแล้วเชื่อคำแนะนำนั้นอย่าไม่ลืมหูลืมตา แทนที่จะมีการคิดวิเคราะห์ซักนิดว่าสิ่งที่เขาแนะนำนั้นถูกต้องหรือไม่ และจะเป็นการดีกว่าหากได้พิจารณาตัวเลือกด้วยตัวเอง โดยเราจะใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ฉะนั้น จงระวังผู้เชี่ยวชาญเพราะพวกเขามักจะคิดว่าตัวเองรู้มากกว่าคนอื่นบวกกับมีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป! ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อการลงทุนของคุณได้ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปเกิดขึ้นในตลาด? ผลก็คือจะมีปริมาณการซื้อขายและคำสั่งการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะทุกคนคิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าคนอื่น ๆ ทั้งที่จริงแล้วไม่ใช่เลย

ดังนั้นหากเราไม่ใช่ฉลาดกว่าคนอื่นแล้วเราจะลงทุนยังไง? คำตอบก็คือ แท้จริงแล้วคุณไม่จำเป็นต้องฉลาดกว่าคนอื่นเลย แต่คุณต้องมี Pre-commitment ไว้ล่วงหน้า และยึดมั่นในวินัยการลงทุนนั้น และจงหยุดฟังพวกที่เรียกตัวเองว่าผู้เชี่ยวชาญ ! นี่แหละคือประเด็นที่ควรให้ความสำคัญ

บทที่ 5 การคาดการณ์ที่ไร้ประโยชน์ – เตรียมตัว อย่าทำนาย

เล่า จื๊อ เคยกล่าวไว้ว่า “คนที่มีความรู้จะไม่ทำนาย คนที่ทำนายมักไม่มีความรู้” แต่อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าโลกของการลงทุนจะเต็มไปด้วยความพยายามที่จะคาดการณ์อนาคต ทั้งที่เป็นความล้มเหลวอย่างมหันต์ เพราะความบ้าคลั่งจะเพิ่มขึ้นหากกระบวนการลงทุนใช้ความสามารถในการคาดการณ์อนาคตที่มีข้อบกพร่องอย่างรุนแรงของคุณเป็นพื้นฐาน ซึ่งน่าจะดีกว่าถ้าทำตามเคนส์แนะนำคือ เมื่อถูกถามถึงอนาคตให้ตอบว่า “เราไม่รู้จริง ๆ”

ทั้งที่รู้ว่าการคาดการณ์นั้นไม่ดีแต่ทำไมถึงยังมีการคาดการณ์กันอยู่? เหตุผลก็คืออุปสงค์ของความต้องการข้อมูลมีมากกว่าอุปทาน ดังนั้นจึงยังมีคาดการณ์อยู่เรื่อย ๆ เพื่อเสนอขายข้อมูลนั้นแก่ลูกค้า อย่างไรก็ตามถึงแม้ข้อมูลที่ทำนายจะผิดพลาด นักพยากรณ์เหล่านี้ก็มักจะมีข้อแก้ตัวเสมอเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าไม่มีความสามารถในการคาดการณ์ เช่น “ผมเกือบถูกแล้ว” “เพียงแต่มันยังไม่เกิดขึ้น” “จะตัดสินใจเพียงจากการคาดการณ์ครั้งเดียวของผมไม่ได้” เป็นต้น

ดังนั้นหากไม่สามารถใช้การคาดการณ์ช่วยในการลงทุนได้ เราจะต้องใช้การวิเคราะห์แทน โดยนักลงทุนควรเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจและมูลค่าที่แท้จริงของกิจการมากกว่าการเสียเวลาไปกับการคาดเดาอนาคตที่ไม่มีทางจะรู้ได้ นี่แหละคือหนทางสู่ความสำเร็จของการลงทุนที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง

บทที่ 6 ข้อมูลมากเกินไป –  แยกแยะสัญญาณออกจากสิ่งรบกวน

เมื่อพูดถึงการลงทุนดูเหมือนเราจะเสพติดข้อมูลจำนวนมากเป็นพิเศษ และมีแนวคิดที่ว่า ข้อมูลมากกว่าต้องดีกว่าดูเหมือนจะชัดเจนแต่หากข้อมูลนั้นไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ต้องไปสนใจ อย่างไรก็ตามยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความถูกต้องของความเชื่อนี้อยู่ และจากการศึกษาที่ผ่านมาหลาย ๆ งานชี้ให้เห็นว่าการที่นักลงทุนมีข้อมูลจำนวนมากนั้นไม่ได้ให้ความถูกต้องเพิ่มขึ้นตามข้อมูลที่มี แต่กลับเป็นความมั่นใจของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นแทนซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลย

ทั้งนี้คุณก็ได้คำตอบแล้วว่าการมีข้อมูลจำนวนมากไม่ช่วยให้การตัดสินใจลงทุนของคุณดีขึ้น โดยสิ่งที่จะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้คือวิเคราะห์ปัจจัยที่ควรรู้สำหรับการลงทุนนั้น และหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการลงทุนเท่านั้น นอกจากจะไม่เสียเวลาแล้วยังช่วยให้ผลการลงทุนที่ได้มีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังเช่นคำกล่าวของ จีน มารี อีวิลลาร์ด แห่งบริษัท First Eagle ที่ว่า “มันเป็นเรื่องปกติมากที่จะจมปลักอยู่กับรายละเอียดหรือถูกดึงดูดด้วยความซับซ้อน แต่สำหรับผมที่สำคัญที่สุดก็คือการรู้ว่าลักษณะที่สำคัญจริง ๆ ธุรกิจ 3 หรือ 4 หรือ 5 อย่างคืออะไรผมคิดว่าหน้าที่สำคัญของผมคือการถามคำถามที่ถูกต้องและมุ่งเน้นการวิเคราะห์เพื่อใช้ในการตัดสินใจ”

ดังนั้นประเด็นสำคัญที่คุณจะสามารถนำไปใช้กับการลงทุนได้ไม่ใช่การมีข้อมูลจำนวนมากแต่เป็นการพิจารณาปัจจัยที่จะใช้ประเมินทางเลือกที่เหมาะสมกับการลงทุนของคุณ ตั้งคำถามและหาคำตอบจากคำถามนั้นให้ได้

บทที่ 7 ปิดโทรทัศน์ที่ไร้สาระ! – ความผันผวนคือโอกาส

ทุกวันนี้จะเห็นว่ามีช่องโทรทัศน์ที่วิเคราะห์เจาะลึกเกี่ยวกับราคาหุ้นในตลาดที่ค่อนข้างผันผวนจำนวนหนึ่ง โดยลุคของพิธีกรจะถูกวางไว้ให้ดูน่าเชื่อถือในมาดผู้เชี่ยวชาญ เพื่อมาอธิบายทุกอย่าง ทุกความเคลื่อนไหวเล็ก ๆ น้อย ๆ ของราคาหุ้นในแต่ละวันให้คุณฟัง ซึ่งถือเป็นการให้ข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่ง

และจากการสำรวจพบว่าผู้ที่เคยได้ดูได้ฟังการวิเคราะห์การนำเสนอข้อมูลจากช่องโทรทัศน์ดังกล่าวเป็นประจำ จะทำให้พวกเขาเหล่านั้นชินและไม่ลังเลยที่จะทำตามสิ่งที่พิธีกรพูด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงการที่เราจะสามารถอยู่รอดในตลาดการลงทุนได้ต้องสามารถแยกแยะสิ่งรบกวนและเย้ายวนให้ได้ ไม่ใช่หยุดคิดวิเคราะห์และเชื่อคำพูดคนอื่นโดยไม่ลืมหูลืมตา

สอดคล้องกับที่เคยพูดไว้ว่าการมีข้อมูลมากเกินไม่ได้ช่วยให้ตัดสินใจได้ดีขึ้นแต่เป็นการเพิ่มความมั่นใจเท่านั้นเอง สอดคล้องกับประโยคที่ว่า “ข้อมูลที่มีผลทางจิตใจแต่ไม่มีประโยชน์ในการตัดสินใจ (Placebic Information)” นั่นเอง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดที่จะเลี่ยงปัญหานี้คือ ปิดโทรทัศน์ซะ !

บทที่ 8 ปล่อยวาง – ถึงเวลาพิสูจน์ว่าตัวเองคิดผิด

เวลาเราเชื่อในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แน่นอนเราจะพยายามหาข้อมูลที่จะมาสนับสนุนความเชื่อของเราอย่างแน่นอน และจะมองข้ามข้อมูลที่ตรงข้ามกับความเชื่อนั้นซึ่งนี่เรียกว่า อคติที่เกิดจากการยืนยันความเชื่อ (Confirmation Bias) โดยเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้งในการลงทุนและเรื่องอื่น ๆ

ในอีกการศึกษาหนึ่งที่สอดคล้องกับอคตินี้คือเรื่องความเหมือนหรือความคล้ายกันอย่างมีอคติ (Biased Assimilation) ซึ่งเป็นการยอมรับหลักฐานทุกอย่างที่สนับสนุนกรณีของคุณ บ่อยครั้งที่นักจิตวิทยาพบว่าความมั่นใจและความเหมือนหรือคล้ายกันอย่างมีอคติทำให้เกิดสิ่งประหลาดขึ้นนั่นคือ พวกเขายิ่งมั่นใจว่าความคิดของตัวเองถูกต้องมากเท่าไร ก็มีแนวโน้มที่จะบิดเบือนหลักฐานใหม่เพื่อให้เป็นไปตามที่พวกเขาต้องการมากเท่านั้น

ทั้งสองพฤติกรรมที่กล่าวมานั้นเห็นได้ชัดว่าจะส่งผลเสียต่อพอร์ตโฟลิโอของคุณ ดังนั้นคุณจะป้องกันเงินทุนของคุณจะแนวโน้มที่มีเงื่อนงำในการหาข้อมูลที่สอดคล้องกับคุณได้อย่างไร? คำตอบก็คือ คุณต้องเรียนรู้ที่จะมองหาหลักฐานที่พิสูจน์ว่าการวิเคราะห์ของคุณผิด ลองค้นหามุมมองที่ตรงข้ามกับสิ่งที่คุณคิดและใช้ความซื่อสัตย์ของตัวเองในการตัดสินใจว่าสิ่งที่คุณคิดนั้นมีข้อมาขัดแย้งได้หรือไม่ หากไม่คุณก็ไม่จำเป็นต้องหยุดเชื่อในสิ่งที่เราคิด ยิ่งไปกว่านั้นจะทำให้คุณมีหลักฐานที่ถูกต้องอย่างแท้จริงมายืนยันความเชื่อของคุณและสามารถพูดได้อย่างมั่นใจมากขึ้นว่าสิ่งที่คุณคิดมันถูกต้องนะ!

บทที่ 9 ท่ามกลางคนที่เชื่อในภาวะตลาดหมีและภาวะตลาดกระทิง – เมื่อข้อเท็จจริงเปลี่ยนก็เปลี่ยนความคิด

คุณรู้หรือไม่ กลุ่มคนที่เชื่อในภาวะตลาดหมี (Perma-Bear) ก็เหมือนคนที่เชื่อในภาวะตลาดกระทิง (Perma-Bull) โดยทั่วไปพวกเขาจะเท่ากำไรไม่ค่อยได้ ดังนั้นจึงไม่ควรฟังพวกเขาแม้ในช่วงที่พวกเขาเรียกว่าตลาดขาลงก็ตาม เพราะพวกเขามักจะไม่เปลี่ยนความเชื่อ และอาจะเป็นอันตรายต่อการลงทุนของคุณได้ พฤติกรรมนี้ถือเป็นอคติที่เกิดจากการยึดติดข้อมูลหรือความเชื่อก่อนหน้า (Conservatism Bias)

ซึ่งผู้มี Conservatism Bias จะถูกเรียกว่าเป็น “นักอนุรักษ์นิยม”  และสาเหตุที่ทำให้เกิดอคตินี้คือเรามีหลุมพรางทางอารมณ์ร่วมด้วย เช่นหากคุณได้ถือหุ้นตัวหนึ่งก็จะมีความรู้สึกภูมิใจเวลาที่ราคาหุ้นตัวนั้นขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสุดท้ายกลายเป็นการยึดติดและปักใจเชื่อ ถึงแม้จะมีข่าวร้ายๆ เกี่ยวกับหุ้นตัวนี้เข้ามา แต่คุณก็ยังปิดหูปิดตาและเชื่อแบบเดิมต่อไป จนสุดท้ายก็ส่งผลเสียต่อพอร์ตโฟลิโอของคุณในที่สุด

ดังนั้นเราจึงควรป้องกันตัวเองไม่ให้เกิด Conservatism Bias โดยการทำตัวเองให้เหมือนกระดาษเปล่าและสมมติว่าคุณอยู่ในจุดเริ่มต้นที่เป็นศูนย์ และใช้ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งในอดีตและในปัจจุบันประกอบการตัดสินใจ อย่างไรก็ตามก็ยังมีอีกวิธีที่จะสามารถป้องกัน Conservatism Bias ได้คือการให้คนมาเสนอความเห็นในทางตรงข้ามหรือหาข้อโต้แย้งกับความคิดของคุณ ถ้าพิสูจน์แล้วว่าข้อโต้แย้งดังกล่าวคือความจริง มีแนวโน้มที่คุณจะสามารถเลิกยึดติดกับความคิดตัวเองได้ และนำข้อโต้แย้งนั้น ๆ ไปปรับเปลี่ยนความคิดให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการลงทุนของคุณได้

บทที่ 10 เรื่องชวนหลงใหล – เน้นที่ข้อเท็จจริง

อันตรายที่นักลงทุนต้องเผชิญอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ เรื่องชวนหลงใหลการลวงให้เข้าใจผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวลบๆ หากคุณคล้อยตามก็จะละทิ้งหลักฐานที่สนับสนุนเรื่องดี ๆ ไปเลย

การเล่าหรือนำเสนอเป็นวิธีการชวนเชื่อและมีผลต่อการตัดสินใจของคนฟัง เช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีผู้ป่วยทางสายตาจำนวน 50 คน คุณหมอมีการสอบถามความสมัครใจสำหรับการรักษา โดยครั้งแรกคุณหมอให้ข้อมูลว่า การรักษานี้จะทำให้คุณมีโอกาสหายถึง 90% ผลปรากฎว่ามีผู้ป่วยสมัครใจจะรับการรักษามากถึง 88% ต่อมาคุณหมอได้ให้ข้อมูลเติมว่าแต่ในการรักษาข้างต้นอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้สมองทำงานผิดปกติได้ เมื่อได้ฟังข้อมูลรอบสอง ปรากฎว่าผู้ป่วยที่สมัครใจจะรับการรักษาลดลงเหลือเพียง 39% เท่านั้น จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยมีความกลัวมาเกี่ยวข้องจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินใจเกิดขึ้นทัน โดยไม่ได้ดูรายละเอียดข้อเท็จจริงก่อนว่าโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงนั้นน้อยมากหรือแทบจะไม่มีเลย เช่นเดียวกับการลงทุน นักลงทุนส่วนใหญ่นักลงทุนมักจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นคุณค่า เพราะบริษัทมักจะมีเรื่องราวหรือข่าวไม่ดีมาบ่อย ๆ ทำให้นักลงทุนลำบากใจที่จะซื้อและเข้าไปลงทุน ทั้งที่จริง ๆ แล้วหุ้นนั้นอาจจะกำลังพัฒนาและมีโอกาสที่จะเติบโตในอนาคต โดยคำบอกเล่า เรื่องราว หรือข่าวคราวนี้ถือเป็นเรื่องชวนหลงใหลเป็นการลวงให้เข้าใจผิดนั่นเอง

วิธีที่จะป้องกันตัวเองจากเรื่องชวนหลงไหลให้ได้คือ การเน้นข้อเท็จจริง เพราะปกติเรื่องชวนหลังใหลจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นพวกเขาจึงถูกดึงดูดให้ใช้ระบบเอ็กซ์ในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นการคิดไวและไม่รอบคอบ แต่ถ้าหากเป็นข้อเท็จจริงจะเป็นการตัดสินใจโดยใช้ระบบซีซึ่งจะเป็นการใช้ตรรกะและเหตุอย่างรอบคอบ ทำให้การตัดสินใจการลงทุนของคุณมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทที่ 11 ครั้งนี้มันแตกต่าง – คุณได้เปรียบมืออาชีพอย่างมาก

ในบางครั้งมนุษย์เราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเงินเชิงพฤติกรรมและสิ่งที่คนสนใจมากที่สุดคือการเกิดฟองสบู่ ซึ่งคืออภาวะที่ราคาของสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงเกินกว่าราคาตามความเป็นจริง จนคนแห่ไปซื้อสินทรัพย์เพราะคาดหวังว่าจะนำมาเกร็งกำไรจนทำให้ราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ และขยายตัวเหมือนฟองสบู่

โดยมีบางแนวคิดที่เปรียบฟองสบู่เหมือน “ความประหลาดใจที่คาดการณ์ได้” โดยมีลักษณะ 3 ประการคือ

  1. อย่างน้อยก็มีคนตระหนักถึงปัญหา
  2. ปัญหาจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ
  3. ในที่สุดปัญหาจะกลายเป็นวิกฤติและมักจะทำให้คนส่วนใหญ่ช็อก

ปัญหาของความประหลาดใจที่คาดการณ์ได้คือ แม้จะมีความไม่แน่นอนเพียงเล็กน้อย แต่ก็มีความหายนะรออยู่และจะมีความไม่แน่นอนอย่างมากในช่วงที่เกิดความหายนะ

อุปสรรคที่ทำให้เรามองไม่เห็นความประหลาดใจที่คาดการณ์ได้นี้ จะประกอบด้วย

  1. การมองโลกในแง่ดีเกินไป (Over Optimism) คนทั่วไปมีแนวโน้มที่จะดูเฉพาะด้านที่ดี ด้านที่สวยงาม ทำให้มองไม่เห็นอัตรายจากความประหลาดใจที่คาดการณ์ได้
  2. ภาพลวงตาของการควบคุม (Illusion of control) กับความเชื่อที่ว่าเราสามารถควบคุมผลที่จะเกิดจากเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งถือเป็นภาพลวงตาของความปลอดภัย
  3. อคติจากการเข้าข้างตัวเอง (Self-Serving Bias) ความปรารถนาภายใจที่จะแปลข้อมูลหรือแสดงออกในแนวทางที่สนับสนุนกับความต้องการของตัวเอง ทั้งที่ในบางครั้งมันคือความผิดพลาด
  4. การไม่มองการณ์ไกล (Myopia) การเน้นหรือสนใจระยะสั้นมากเกินไป โดยไม่สนใจระยะยาวเลย
  5. การมองไม่เห็นเนื่องจากความไม่สนใจ (Inattentional Blindness) เราจะไม่คาดหวังที่จะพบเห็นในสิ่งที่เราไม่ได้มองหา ในทางการลงทุนนักลงทุนมักจะดูแต่รายละเอียดและสิ่งรบกวนทั้งหมดจนลืมที่จะดูภาพใหญ่

วิธีการป้องกันจากเหตุการณ์ฟองสบู่ คือการเข้าใจประวัติศาสตร์ของฟองสบู่อย่างถ่องแท้ จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยพื้นฐานที่มีนี้จะสามารถทำให้ตัดสินใจได้ว่าตลาดไหนน่าลงทุนหรือตลาดไหนที่เป็นอันตราย ถึงแม้ในแต่ละครั้งรายละเอียดของฟองสบู่จะเปลี่ยนไป แต่รูปแบบพื้นฐานและผลกระทบนั้นน่ากลัวเหมือนกัน

ในภาวะเหตุการณ์ฟองสบู่แบบนี้คุณมีข้อได้เปรียบนักลงมืออาชีพอย่างมากข้อหนึ่งคือ คุณไม่ต้องตกเป็นทาสของเกณฑ์มาตรฐานที่ไร้เหตุผล พูดง่าย ๆ คือจะมีนักลงทุนมืออาชีพกลุ่มหนึ่งที่มักจะเลือกผลักดันให้เกิดฟองสบู่ พวกเขาจะขยายฟองสบู่ให้ใหญ่ขึ้นมากกว่าจะทำให้เล็กลงด้วยความมั่นใจว่าจะสามารถออกจากฟองสบู่ได้ในตอนที่ฟองสบู่โตเต็มที่หรือเกือบเต็มที่ อย่างไรก็ตามก็ยังมีนักลงทุนที่จะไม่พยายามกระทำการที่ฝืนฟองสบู่ ทั้งนี้เพราะเกิดจากอคติจากการเข้าข้างตัวเองและการไม่มองการณ์ไกล โดยพวกเขาจะเปรียบเทียบผลตอบแทนกับดัชนี และกลัวว่าผลตอบแทนจะต่ำกว่าดัชนีแม้ว่าจะสูงกว่านักลงทุนรายอื่นก็ตาม

สุดท้ายเมื่อเกิดฟองสบู่หรือการแตกของฟองสบู่ สิ่งที่สำคัญที่ควรตระหนักไม่ใช่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเลวร้ายเพียงใดแต่คือถ้ามันเกิดขึ้นแล้วจะส่งผลกระทบอย่างไร ซึ่งผลกระทบที่เกิดอาจจะรุนแรงจนนักลงทุนไม่สามารถมองข้ามได้แม้ในระยะสั้น

บทที่ 12 ถูกด้วยเหตุผลที่ผิด หรือผิดด้วยเหตุผลที่ถูก – จดจำความผิดพลาดและอคติของคุณ

ปกติคนมักคิดว่าเราจะได้รับบทเรียนจากในอดีต แต่ก็ยังมีหลุมพรางทางพฤติกรรมอีกอย่างที่ยังคงวนเวียนกับเราเสมอนั่นคือ ความไม่เต็มใจที่จะจดจำความผิดพลาดของตัวเอง แต่กลับบิดเบือนมัน แน่นอน! การเรียนรู้จากความผิดพลาดเราต้องเข้าใจให้ได้เสียก่อนว่ามันคือความผิดพลาด ซึ่งการที่เราจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ต้องเอาชนะอคติทางจิตวิทยานี้ให้ได้ทั้ง 2 ข้อ คือ อคติจากการเข้าข้างตัวเอง และอคติจากการเข้าใจปัญหาหลังจากเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว

มันไม่ใช่ควาผิดของฉัน ฉันแค่โชคไม่ดีเท่านั้นแหละ! นี่แหละคืออคติจากการเข้าข้างตัวเอง โดยมักอ้างผลงาน ดี ๆ ว่าเป็นงานของตัวเอง แต่อันไหนคือความผิดพลาดจะโยนออกไป เช่นเดียวกับการลงทุน นักลงทุนจะโทษเวลาผลตอบแทนไม่ดีว่าเพราะโชคไม่ดี แท้จริงแล้วอาจจะเกิดจากการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดของคุณเองก็ได้ ดังนั้นการจะต่อสู้กับปัญหาที่เกิดจากการเข้าข้างตัวเอง คือการจัดบันทึกประวัติการลงทุนและเหตุผลเบื้องหลังที่ทำให้ตัดสินใจลงทุนแบบนี้ ทำให้เมื่อเกิดอะไรขึ้นทำให้คุณสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้ด้วยเหตุผล อีกทั้งยังเป็นการหลีกเลี่ยง อคติจากการเข้าใจปัญหาหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ถึงแม้บันทึกการลงทุนมองผิวเผินอาจจะดูธรรมดาแต่จริง ๆ แล้วมันเป็นวิธีที่ทำให้คุณสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่มีประสิทธิภาพมากและควรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างแนวทางการลงทุนของคุณเอง

บทที่ 13 อันตรายของการลงทุนแบบ ADHD – อย่าประเมินคุณค่าของการอยู่เฉยๆ ต่ำเกินไป

อุปสรรคอย่างหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนจำนวนมากไม่สามารถต่อสู้กับฟองสบู่หรือวิกฤตเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้คือ การมองการณ์ไม่ไกลหรือให้ความสำคัญในระยะสั้นมากเกินไป โดยในปัจจุบันนักลุงทุนดูเหมือนจะมีความบกพร่องในการขาดสมาธิหรือความอดทน (ADHD: Attention Deficit Hyperactivity Disorder) ในการบริหารพอร์ตโฟริโอของพวกเขา

การมุ่งเน้นไปให้ความสำคัญในระยะสั้นมักจะไม่มีการพิจารณาปัจจัยพื้นฐาน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการตัดสินใจลงทุน เคนส์พบว่า ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็ว และมีความกระตือรือร้นที่จะทำเงินในเวลาที่รวดเร็ว โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่ส่วนใหญ่พวกเขามักจะสนใจมูลค่า (ราคา) ในระหว่างปี ระหว่างไตรมาส ที่แย่ไปกว่านั้นคือยังสนใจมูลค่ารายวันและนาทีด้วย นี่แหละคือการให้ความสำคัญในระยะสั้นมากเกินไป ! นอกจากจะทำให้เครียดแล้ว ยังอาจจะส่งผลเสียต่อการลงทุนด้วย

อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากลัวจากความต้องการผลลัพธ์ที่รวดเร็วคือ อคติที่เกิดจากการกระทำ (Action Bias) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่นักลงทุนมักจะตัดสินใจลงทุนหรือทำอะไรอย่างรวดเร็ว ค้นหาที่จะทำกำไรทุกนาที เช่น เมื่อเห็นว่าตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นนิดหน่อยก็รีบขายทำกำไรทันที แทนที่จะรอจังหวะให้ Let Profit Run และทำกำไรให้ได้มากกว่านี้ ดังนั้นสิ่งที่จะมาต่อสู้กับอคตินี้ได้คือ “ความอดทน” หากคุณยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่คุณตัดสินใจนั้นถูกต้องหรือไม่ การอยู่เฉย ๆ ไม่ทำอะไรเลยเป็นสิ่งที่ดีที่สุด รอให้เห็นโอกาสที่ดีและจังหวะการตีที่เหมาะสมเสียก่อนค่อยเริ่มลุย ดังคำนักปราชญ์แห่งโอมาฮากล่าวว่า “การถือเงินสดอาจทำให้อึดอัด แต่ไม่อึดอัดเท่ากับการทำอะไรโง่ๆ” เช่นเดียวกับคำพูดของ วินนี่ เดอะ พูห์ ที่ว่า “อย่าประเมินค่าการอยู่เฉยๆ ต่ำเกินไป”

บทที่ 14 ในความคิดของตัวเล็มมิ่ง – เป็นนักลงทุนที่เป็นตัวของตัวเอง

วอเร็น บัฟเฟตต์ ตั้งข้อสังเกตว่า “เมื่ออยู่ภายใต้ภาวะกดดันนักลงทุนรายบุคคลจำนวนมากในตลาดวอลสตรีทก็ทำตัวเหมือนฝูงเล็มมิ่ง” นั่นคือจะมีการคล้อยตามกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น หากคุณต้องตอบคำถามแบบ Multiple choice ซึ่งมีตัวเลือกคือ A B C และ D ในความคิดคุณนั้นคิดว่าข้อ A ถูกต้องแน่นอน แต่เมื่อต้องไปตอบคำถามรวมกับคนอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ตอบข้อ C เป็นการยากมากในภาวะนี้ที่คุณจะยังคงยืนยันว่าจะตอบข้อ A เพราะไม่อยากขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่

ในการลงทุนการที่เราขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่มักจะกระตุ้นให้เกิดความกลัว เพราะกลัวที่จะโดนตำหนิ โดนมองว่าแตกต่างและเป็นที่รังเกียจ ในทางตรงข้ามหากคุณคล้อยตามคุณจะได้รับคำสรรเสริญเยินยอ นอกจากความกลัวแล้วถ้าเราขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่จะก่อให้เกิดความเจ็บปวด เพราะถ้าคุณได้เป็นตัวของตัวเอง คุณจะซื้อหุ้นที่คนอื่นกำลังจะขายและจะขายหุ้นที่คนอื่นกำลังซื้อ แต่ในความจริงคุณทำไม่ได้! ดังนั้นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ มักจะได้ทำตามกลยุทธ์ที่ตัวเองได้วางไว้ไม่ใช่การทำตามคนอื่น ดังคำที่เคนส์กล่าว่า “หลักการสำคัญของการลงทุน คือการขัดแย้งกับความคิดของคนส่วนใหญ่ หากคุณเห็นว่ามันเป็นการลงทุนที่ดีหรือยากที่จะหลีกเลี่ยง การลงทุนนั้นก็ไม่น่าสนใจ”

กลุ่มคนส่วนใหญ่มีอำนาจในการโน้มน้าว และสามารถนำไปสู่การตัดสินใจทางใดทางหนึ่งได้ พฤติกรรมนี้เรียกว่า การคิดเป็นกลุ่ม (Groupthink) โดยจะมีลักษณะบ่งชี้ 8 ประการคือ

  1. ภาพลวงตาของความมั่นคง

สิ่งนี้จะทำให้มองโลกในแง่ดีมากกว่าปกติและกระตุ้นให้รับความเสี่ยงที่สูงมาก

  1. การใช้เหตุผลกลุ่มตัดสินใจ

สมาชิดในกลุ่มจะมีความระวังตัวน้อยลง ทำตัวเหมือนตาบอด ยึดติดกับข้อมูลที่เคยมีมาก่อน

  1. เชื่อในหลักประพฤติปฏิบัติที่มีอยู่

สมาชิกในกลุ่มจะเชื่อในความถูกต้องของเหตุผล โดยไม่สนใจผลในเชิงจริยธรรมหรือศีลธรรม

  1. ทัศนคติที่แตกต่างจะกลายเป็นคนนอกกลุ่ม

คนที่คิดต่างจะถูกมองว่าเป็นศัตรูทันที ดังนั้นการไม่สนใจ ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวจะดีกว่า

  1. แรงกดดันโดยตรงของผู้ที่ไม่เห็นด้วย

สมาชิกจะถูกกดดันไม่ให้แสดงออกในความเห็นที่แตกต่าง

  1. การเซนเซอร์หรือตรวจสอบตัวเอง

เป็นการเซนเซอร์ตัวเองไม่ให้แสดงออกถึงความสงสัยหรือความเข้าใจที่แตกต่าง

  1. ภาพลวงตาของความเป็นเอกฉันท์

มุมมองและการตัดสินใจของคนส่วนใหญ่จะถูกอุปโลกน์ว่าเป็นเอกฉันท์

8.”เกราะป้องกันความคิด” จะถูกนำมาใช้

สมาชิกจะถูกปิดตาจากข้อมูลที่มาขัดแย้ง มุมมองหรือการตัดสินใจของกลุ่ม

จะเห็นได้ว่าการคิดเป็นกลุ่มเป็นความล้มเหลวของพฤติกรรมที่เกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อพอร์ตโฟริโอของคุณอย่างแน่นอน ดังนั้นการโดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงแกะเป็นสิ่งที่ดีกว่า ! การเป็นคนคิดต่างไม่ใช่เรื่องง่าย แต่อย่าทำผิดพลาดในเรื่องนี้ แม้แต่นักลงทุนที่เก่งที่สุดยังต้องพยายามเอาชนะความชั่วร้ายของการคล้อยตามหรือการคิดเป็นกลุ่ม โดยการเอาชนะความชั่วร้ายนี้จะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการคือ 1. ความกล้าที่จะแตกต่าง 2. การเป็นนักคิดเชิงวิจารณ์ 3. ความเพียรความกล้าที่จะยึดมั่น โดยหากคุณมีครบคุณจะสามารถยืนหยัดต่อสู้กับคนส่วนมาก และสามารถเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างที่คุณไม่คาดฝันเลย!

บทที่ 15 ต้องรู้จังหวะขาย – เมื่อเวลาขายเงินลงทุนมาถึง

ปกติแล้วคนทั่วไปมักจะเกลียดการสูญเสีย (Loss Aversion) เช่น เวลาเสียเงินคนมักจะต้องการเสียทีเดียวเป็นก้อนใหญ่มากกว่าเสียทีละนิดแต่หลาย ๆ ครั้งเพราะมันคือความรู้สึกทุกข์ไม่ต้องการที่จะให้เกิดขึ้นบ่อย ๆ  ในทางกลับกันหากได้เงินคนมักจะเลือกที่จะรับเงินเป็นก้อน ๆ ทีละนิดแต่หลาย ๆ ครั้งมากกว่าที่จะเลือกรับก้อนใหญ่ทีเดียวเพราะมันคือความรู้สึกที่ทำให้มีความสุขและเกิดขึ้นหลายๆ ครั้งด้วย

ในการลงทุนก็เช่นกันหากการกลัวความสูญเสียอยู่ในสายเลือดนั้นยังแย่ไม่พอ เรายังสามารถทำให้ตัวเราแย่ลงไปได้อีกด้วยการไม่มองการณ์ไกล ยิ่งนักลงทุนดูพอร์ตโฟลิโอบ่อยเท่าไรแนวโน้มที่ที่จะเผชิญกับการสูญเสีย เพราะหุ้นมีการผันผวนสูงอยู่แล้ว เว้นแต่ว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงความเย้ายวนใจได้ ! อย่างไรก็ตามก็ยังมีผู้บริหารกองทุนบางคนที่สามารถเข้าถึงผลการดำเนินงานของพอร์ตโฟลิโอของพวกเขาได้อย่าง Real time  สามารถรับรู้กำไรได้นาทีต่อนาที แค่คิดก็ปวดหัวแทนแล้ว! มันน่าจะบั่นทอนความรู้สึกของนักลงพวกเขาน่าดูเลย

เมื่อคุณไม่ชอบการสูญเสีย คุณก็จะเชื่อว่าการสูญเสียจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าคุณจะได้รับรู้มัน แนวคิดนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้นักลงทุนยังคงถือหุ้นที่ขาดทุนและขายหุ้นที่กำไร หรือที่เรียกว่า Disposition effect (ความเต็มใจที่จะขายหุ้นกำไรและลังเลที่จะขายหุ้นขาดทุน)  การขายขาดทุน (Stop loss) เป็นการขายเพื่อรับรู้ผลขาดทุนและหยุดการขาดทุนต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบหนึ่งที่เป็นประโยชน์ของการกำหนดไว้ล่วงหน้า (Pre-Commitment) ซึ่งจะสามารถช่วยลดผลกระทบของ Disposition effect ในตลาดและกระตุ้นไม่ให้ตกอยู่ภายใต้เล่ห์กลของ Disposition effect อีกด้วย

พฤติกรรมการไม่ชอบการสูญเสียอีกรูปแบบหนึ่งคือ Endowment Effect ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่จะกำหนดราคาสิ่งที่ตัวเองเป็นเจ้าของสูงกว่าคนอื่นด้วยเหตุผลที่ว่าเขาไม่อยากสูญเสียของชิ้นนี้ไป อาจจะเพราะว่ามีคุณค่าทางจิตใจหรือเป็นสิ่งที่มีคุณค่า ในเรื่องการลงทุนก็เช่นกัน หากหุ้นที่คุณถืออยู่กำลังขาดทุน แต่คุณกลัวการสูญเสียจึงไม่อยากจะขายทิ้งจึงตั้งราคาไว้สูง ๆ และมักจะตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมต้องขายทิ้ง? เพื่อเป็นข้ออ้างสำหรับหลีกเลี่ยงการสูญเสียนั้น แทนที่จะตั้งว่า ทำไมต้องเก็บไว้? แต่จริง ๆ แล้วการตั้งคำถามแบบหลังมันจะช่วยลดความสูญเสียได้มากกว่า !

ดังนั้นคุณควรตระหนักให้ได้อยู่เสมอ อย่าไปกลัวการสูญเสีย เพราะยิ่งคุณกลัวคุณจะสูญเสียมากกว่าเดิม พยายามหาจังหวะขายให้ได้ก่อนที่จะสายไป

บทที่ 16 กระบวนการ กระบวนการ กระบวนการ สิ่งเดียวที่คุณสามารถควบคุมได้

ผู้ที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ มักเป็นผู้ที่ยึดมั่นในกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการลงทุน เนื่องจากในการลงทุนผลลัพธ์มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง เพราะมันเกี่ยวข้องกับช่วงเวลา โดยทั่วไปคนมักจะตัดสินการตัดสินใจในอดีตจากผลลัพธ์สุดท้ายมากกว่าจะตัดสินใจบนพื้นฐานของคุณภาพการตัดสินใจด้วยข้อมูลที่มีในขณะนั้น เรียกพฤติกรรมนี้ว่า อคติที่เกิดจากผลลัพธ์ (Outcome Bias)

อย่างไรก็ตามหากคุณสามารถเปลี่ยนจากการมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์มาเป็นการเน้นที่กระบวนการ ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น พูดง่าย ๆ คือการมุ่งเน้นกระบวนการทำให้เราไม่ต้องกังวลกับประเด็นต่าง ๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น ‘ผลตอบแทน’ ซึ่งจะทำให้เราสามารถใช้ศักยภาพเพื่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนระยะยาวได้อย่างเต็มที่ แต่ถ้าใครสนใจการลงทุนระยะสั้นกระบวนการอาจจะไม่ตอบโจทย์เพราะผลลัพธ์อาจจะทำให้คุณช็อคได้

ดังนั้นหากใครคิดว่า ฉันนี่แหละจะลงทุนในระยะยาว จึงควรทำตามคำกล่าวของ เบน เกรแฮม ที่ว่า “วิธีการที่ดีนั้นโดยเนื้อแท้นั้นดีอยู่แล้ว จึงควรทุ่มเทให้กับหลักการ ยึดมั่นในหลักการและอย่าละทิ้ง” รับรองเกิดผลดีกับพอร์ตโฟลิโออย่างแน่นอน

++++

สุดท้าย ท้ายที่สุดบทเรียนต่าง ๆ ที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้คาดว่าจะเป็นแนวทางที่ทำให้คุณสามารถป้องกันตัวเองจากหลุมพรางทางอารมณ์และอคติทางใจที่อาจจะทำให้พอร์ตโฟลิโอพังไม่เป็นท่าได้

ดังนั้น คุณลองคิดทบทวนดูก่อนว่าวิธีหรือสไตล์การลงทุนของคุณเป็นอย่างไร มีอคติแบบไหนบ้างที่คุณกำลังถูกคอบงำ แล้วถ้ารู้แล้วจะทำอะไรได้บ้างเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ถ้าคุณตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ก็จะเป็นก้าวแรกในการเอาชนะศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดในการลงทุนของคุณ นั่นคือ ตัวคุณเอง !

I M M

สั่งซื้อหนังสือ “พฤติกรรมและจิตวิทยาการลงทุน” ได้ที่นี่ : คลิ๊ก