สรุปหนังสือ ศิลปะของการมีชีวิตที่ดี The Art of the Good Life

By Rolf Dobelli

แปล วิกันดา พินทุวชิราภรณ์

นับตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งก็คือ 2,500 ปีก่อนเป็นอย่างน้อย หรืออาจจะยาวนานกว่านั้นเสียอีก มนุษเฝ้าถามตัวเองอยู่เสมอว่าการมีชีวิตที่ดีคืออะไร ควรใช้ชีวิตอย่างไร สิ่งใดก่อให้เกิดชีวิตที่ดี โชคชะตามีบทบาทอย่างไร แล้วบทบาทของเงินด้วย การดำเนินชีวิตที่ดีเกี่ยวข้องกับแนวคิดการทำตามทัศนคติบางอย่าง หรือการบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิตที่เป็นรูปธรรม

ตลอดระยะเวลา 200 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้สรรค์สร้างโลกใบนี้ จนมันกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างง่ายดายอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้ทางเจ้าของกิจการ นักลงทุน ผู้บริหารองค์กร แพทย์ นักข่าว ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง รวมถึงคนทั่วไป จึงต้องพบเจออุปสรรคมากมายที่ทำให้ชีวิตเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่สิ่งที่จะช่วยได้ก็คือชุดเครื่องมือทางความคิด และรูปแบบความคิดที่ใช้ได้ผลอย่างแน่นอน อาจเรียกแนวทางและวิธีคิดเหล่านี้ ด้วยคำที่ฟังดูทันสมัยว่า ระบบปฏิบัติการสำหรับชีวิต

แนวทางและวิธีคิดเหล่านี้ สำคัญต่อการสร้างชีวิตที่ดียิ่งกว่า ความรู้ที่เป็นข้อเท็จจริง เงินทอง ความสัมพันธ์ หรือสติปัญญาเสียอีก หนังสือเล่มนี้ประกอบด้วยสารพัดเครื่องมือทางความคิดสำหรับการสร้างชีวิตที่ดี โดยกลั่นกรองความรู้ทั้งจากภูมิปัญญาโบราณ ซึ่งเกือบจะถูกลืมไปแล้ว และงานวิจัยอันล้ำสมัยด้านจิตวิทยา หนังสือเล่มนี้นับเป็นปรัชญาชีวิตชั้นยอดสำหรับศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว แม้ 52 เครื่องมือทางความคิดนี้ จะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีชีวิตที่ดี แต่มันก็ช่วยให้โอกาสแห่งความสำเร็จอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

บทที่ 1

บัญชีในใจ

วิธีเปลี่ยนความสูญเสียให้กลายเป็นสิ่งที่ดี

ก่อนหน้านี้ผู้เขียนรู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ได้รับใบสั่ง แต่ตอนนี้เขาจ่ายค่าปรับด้วยรอยยิ้ม โดยหักเงินจากบัญชีที่จัดสรรไว้เพื่อการบริจาค ในแต่ละปีจะกันเงินไว้เพื่อทำสิ่งดี ๆ แล้วก็ใช้เงินส่วนนี้ในการจ่ายค่าปรับทั้งหมดด้วย เพราะเขามองว่านี่เป็นหนึ่งในการกระทำของพลเมืองที่ดี ซึ่งยืมแนวคิดมาจาก ริชาร์ด เธเลอร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

แนวคิดอันเรียบง่ายนี้ ซึ่งแวดวงจิตวิทยาเรียกว่าบัญชีในใจ (mental accounting) เป็นเหตุผลวิบัติชั้นยอดอย่างหนึ่งกล่าวคือ คนเรามองเงินแต่ละก้อนแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับว่าได้เงินก้อนนั้นมาได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ถ้าได้เงินก้อนหนึ่งมาเพราะเจอมันหล่นอยู่บนถนน ก็จะเห็นคุณค่าของมันน้อยกว่า และใช้เงินก้อนนี้อย่างรวดเร็ว โดยไม่หยั้งคิดมากกว่า เมื่อเทียบกับเงินที่หามาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง เรื่องเล่าเกี่ยวกับใบสั่งคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า สามารถใช้ประโยชน์จากเหตุผลวิบัตินี้ได้ ด้วยการจงใจสร้างอุบายขึ้นมาหลอกตัวเองให้รู้สึกสบายใจ

สมมุติว่ากำลังท่องเที่ยวอยู่ในประเทศยากจน และพบว่ากระเป๋าสตางค์หายไป หลังจากนั้นไม่กี่นาทีก็หามันเจอ ปรากฏว่าสิ่งเดียวที่หายไปคือเงิน จะมองว่านี่คือการลักขโมย หรือการบริจาคให้ใครสักคนที่ยากลำบาก ไม่ว่าจะพยายามคิดหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองสักแค่ไหน ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความคิดที่ว่าเงินหายไปได้ แต่ปัจจัยสำคัญของเหตุการณ์นี้ ที่สามารถควบคุมได้คือการตีความสิ่งที่เกิดขึ้น

การมีชีวิตที่ดีต้องอาศัยการตีความข้อเท็จจริงในเชิงมุ่งเน้นประโยชน์ ตัวอย่างเช่น เวลาจะควักกระเป๋าซื้อสิ่งต่าง ๆ ให้บวกราคาเพิ่มขึ้นอีก 50% ไว้ในใจเสมอ เพราะคำนึงถึงภาษีที่ต้องจ่ายด้วย นี่คือวิธีใช้บัญชีในใจที่ดี เพราะมันช่วยให้ระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่าย

คนเราไม่สามารถทวงเวลา เงิน และของที่สูญเสียไปกลับคืนมาได้ แต่สามารถตีความสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกแบบหนึ่งได้ ลองทำเช่นนี้ด้วยการหยิบบัญชีในใจมาใช้ดู ยิ่งชำนาญในการหลีกเลี่ยงเหตุผลวิบัติมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสนุกกับการหยิบมันมาใช้เป็นครั้งคราวมากขึ้นเท่านั้น ทว่าต้องระลึกไว้เสมอว่า นี่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเอง

บทที่ 2

ศิลปะแห่งการปรับแก้

ทำไมจึงประเมินค่าการเตรียมความพร้อมไว้สูงเกินไป

ชีวิตคนเราก็เหมือนกับการบังคับเครื่องบินหรือรถยนต์ ด้วยความที่อยากให้มันดำเนินไปตามแผน มองเห็นเส้นทางล่วงหน้าและไม่ติดขัด แต่มันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเตรียมพร้อม เพื่อสร้างจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด จึงจัดเตรียมสิ่งต่าง ๆ อย่างเพียบพร้อมไว้ตั้งแต่แรก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา อาชีพ การงาน ชีวิตรัก หรือครอบครัว โดยวาดฝันว่าจะไปถึงเป้าหมายตามที่วางแผนไว้ได้อย่างง่ายดาย แต่เชื่อว่าย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่ามันไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย ชีวิตพบเจอกับความปั่นป่วนอยู่เสมอ โดยประเมินค่าการเตรียมความพร้อมไว้สูงเกินไป และประเมินค่าการปรับแก้ไว้ต่ำเกินไป

ในเมื่อเป็นเช่นนั้น ทำไมคนเราถึงลังเลที่จะปรับเปลี่ยนและแก้ไข นั่นเพราะตีความว่าแม้แต่การแก้ไขเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เป็นเครื่องบ่งบอกว่า แผนการมีข้อผิดพลาด กุญแจสำคัญไม่ใช่การกำหนดแผนการที่ตายตัว แต่เป็นการวางแผนใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเป็นกระบวนการที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงต้องรู้จักลบความรู้สึกแย่ ๆ ที่มีต่อการปรับแก้คนที่รู้จักปรับเปลี่ยนและแก้ไข ย่อมได้เปรียบคนที่มัวเสียเวลาไปกับการเตรียมความพร้อมให้สมบูรณ์แบบ โดยหวังว่าแผนการนั้นจะสำเร็จด้วยดี

การฝึกฝนที่ดีที่สุดนั้นไม่มีอยู่จริง เป้าหมายของชีวิตไม่ได้มีแค่อย่างเดียว ไม่มีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่สมบูรณ์แบบ ไม่มีพอร์ตหุ้นที่ยอดเยี่ยมที่สุด และไม่มีอาชีพที่เหมาะสมที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นแค่ความเชื่อผิด ๆ ยิ่งโลกใบนี้ซับซ้อนมากเท่าไหร่ จุดเริ่มต้นก็ยิ่งมีความสำคัญน้อยลงเท่านั้น จงอย่าทุ่มเททรัพยากรทั้งหมด ไปกับการเตรียมความพร้อมให้สมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ว่าจะในเรื่องชีวิต การทำงาน หรือชีวิตส่วนตัวก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือการฝึกฝนศิลปะแห่งการปรับแก้ ด้วยการลงมือปรับปรุงสิ่งที่ไม่ได้ผลอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรู้สึกแย่ว่า แผนการของตัวเองไม่สมบูรณ์แบบ

บทที่ 3

คำปฏิญาณ

การใช้ความไม่ยืดหยุ่นเป็นกลยุทธ์

ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ ความยืดหยุ่นไม่ใช่สิ่งที่มีประโยชน์แต่เป็นกับดัก นั่นก็คือการใช้ความไม่ยืดหยุ่นแบบสุดขีด เพื่อทำตามเป้าหมายระยะยาว ซึ่งไม่มีทางสำเร็จได้หากยืดหยุ่นให้กับพฤติกรรมของตัวเอง ทำไมความไม่ยืดหยุ่นจึงเป็นสิ่งที่ดี มีเหตุผลอยู่ 2 ประการด้วยกัน

ประการแรกคือ การตัดสินใจเป็นกรณีไปตามแต่สถานการณ์จะบั่นทอนพลังใจ โดยอาการนี้มีชื่อเฉพาะว่า ความเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ สมองที่เหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ จะพุ่งเข้าหาตัวเลือกที่ง่ายที่สุด ซึ่งมักจะเป็นตัวเลือกที่แย่ที่สุด คำปฏิญาณจึงเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมอย่างยิ่ง เพราะหลังจากปฏิญาณในเรื่องใดก็ตาม จะไม่ต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนั้นอีกเลย การตัดสินใจถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงไม่ต้องเสียพลังใจไปกับเรื่องนี้

ส่วนเหตุผลประการที่ 2 ซึ่งทำให้ความไม่ยืดหยุ่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างยิ่งก็คือ การสร้างชื่อเสียงในด้านนี้ให้ตัวเอง การยึดมั่นในสิ่งใดสิ่งหนึ่งคือ การบอกผู้คนว่านี่คือจุดยืน และไม่มีพื้นที่เหลือสำหรับการต่อรอง ทั้งคำมั่นสัญญา คำปฏิญาณ หรือหลักปฏิบัติอันเคร่งครัด เป็นสิ่งที่น่าจะทำตามได้ไม่ยาก แต่มันไม่ใช่แบบนั้นเลย

การยึดมั่นในคำปฏิญาณอย่างแรงกล้า หนักแน่น และจริงจังเช่นนี้ การส่งสัญญาณจึงจะประสบความสำเร็จ ด้วยเหตุนี้ จงเลิกชื่นชมความยืดหยุ่นความยืดหยุ่น รังแต่จะทำให้ไม่มีความสุขและเหนื่อยล้า ทั้งยังทำให้ไขว้เขวไปจากเป้าหมายด้วย ต้องยึดมั่นในคำปฏิญาณของตัวเองอย่างแข็งขัน ห้ามโอนอ่อนโดยเด็ดขาด แล้วจะพบว่าการทำตามคำปฏิญาณอย่างเต็มที่ 100% นั้น ง่ายกว่าการทำตามแค่ 99% เสียอีก

บทที่ 4

วิธีคิดแบบกล่องดำ

ความเป็นจริงไม่ใส่ใจความรู้สึก

หรือเหตุผลว่าทำไมทุกก้าวแห่งความผิดพลาด

ถึงทำให้ชีวิตดีขึ้น

ทุกครั้งที่เกิดเหตุเครื่องบินตก เที่ยวบินหลังจากนั้นก็จะปลอดภัยมากยิ่งขึ้น นี่คือผลของวิธีคิดแบบกล่องดำ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางความคิดอันยอดเยี่ยม ที่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกด้านของชีวิต โดย แมทธิว ไซเอ็ด เป็นผู้คิดค้นคำว่าวิธีคิดแบบกล่องดำ และเขียนหนังสืออธิบายเกี่ยวกับวิธีคิดนี้ไว้อย่างละเอียด มีผู้คนเพียงหยิบมือเดียวเท่านั้นที่ยอมรับความจริงโดยดี และวิเคราะห์กล่องบันทึกข้อมูลการบินของตัวเอง ซึ่งต้องอาศัย 2 องค์ประกอบต่อไปนี้คือ

  1. การยอมรับโดยสมบูรณ์ ต่อความพ่ายแพ้ ข้อบกพร่อง หรือความล้มเหลวของตัวเองนั้น ยากเอาการหากต้องทำด้วยตัวเองเพียงคนเดียว เพราะคนเรามักมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในตัวคนอื่นชัดเจนกว่าสิ่งต่าง ๆ ในตัวเอง วิธีที่ดีที่สุดก็คือการขอให้เพื่อนหรือคู่หูที่เชื่อใจ ช่วยบอกถึงข้อเสียทั้งหมดอย่างตรงไปตรงมา สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างก็คือวิธีคิดแบบกล่องดำ ต้องสร้างกล่องดำของตัวเองขึ้นมา มันไม่จำเป็นต้องทนทานต่อแรงกระแทก แค่สมุดโน้ตสักเล่มก็ใช้ได้แล้ว

โดยทุกครั้งที่ต้องตัดสินใจครั้งใหญ่ ให้จดบันทึกทุกสิ่งที่แวบเข้ามาในหัวลงในสมุด ไม่ว่าจะเป็นสมมุติฐาน ความคิด หรือข้อสรุป หากการตัดสินใจนั้นลงเอยด้วยความล้มเหลว ให้ตรวจดูกล่องดำบันทึกข้อมูลการบินของตัวเอง และวิเคราะห์อย่างละเอียดว่า อะไรคือสาเหตุของความผิดพลาด สิ่งที่ต้องทำมีเพียงเท่านี้ และการหมั่นวิเคราะห์อย่างต่อเนื่อง จะให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน

วิธีคิดแบบกล่องดำ ไม่เพียงใช้ได้ผลในระดับบุคคล แต่ยังใช้ในโลกธุรกิจได้ด้วย และทุกองค์กรก็ควรนำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่การยอมรับโดยสมบูรณ์ และวิธีคิดแบบกล่องดำนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องแก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง เพื่อป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

บทที่ 5

ผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับความต้องการ

ทำไมเครื่องมือประหยัดเวลาจึงมักทำให้เสียเวลา

หลายคนไม่เคยนึกถึงผลกระทบเชิงลบ ของผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับความต้องการเลย แต่นักชีววิทยารู้จักสิ่งนี้ดี ธรรมชาติแสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์นี้อย่างชัดเจนมาหลายล้านปีแล้วตัวอย่างเช่น นกยูงตัวผู้ประชันอาวุธกันด้วยขนหางที่ทั้งยาวและงดงาม ทว่าพวกมันต้องเผชิญกับผลกระทบของผลลัพธ์ ที่ตรงข้ามกับความต้องการทันทีที่เจอสุนัขจิ้งจอก ความสมดุลระหว่างความดึงดูดทางเพศ กับการหลบเลี่ยงสายตาของนักล่า เพื่อความอยู่รอดของนกยูงตัวผู้ ความยาวของขนหางที่เพิ่มขึ้นมาทุก 1 เซนติเมตร นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับความต้องการมากขึ้น เช่นเดียวกันกับเขาของกวางตัวผู้ และเสียงอันไพเราะของนกหลายชนิด

ด้วยเหตุนี้ต้องระวังเรื่องผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับความต้องการ ซึ่งยากที่จะมองเห็นได้อย่างชัดเจนในแวบแรก แต่ต้องอาศัยการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ดังนั้น ความระลึกถึงกฎพื้นฐานของชีวิตที่ดีเสมอ นั่นคือถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มีประโยชน์อย่างแท้จริง ก็ย่อมอยู่ได้โดยไม่ต้องมีมัน กฎข้อนี้เป็นจริงอย่างยิ่ง สำหรับการใช้เทคโนโลยีครั้งต่อไป ที่พบเจอปัญหาบางอย่าง ขอแนะนำให้ค้นหาทางออกด้วยการเปิดสวิตช์สมอง และใช้ความคิดให้เต็มที่ แทนที่จะหันไปคว้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใกล้ ๆ มือขึ้นมา

บทที่ 6

ศิลปะแห่งการใส่ใจสิ่งแย่ ๆ เพื่อสร้างชีวิตที่ดี

อย่าทำในสิ่งที่ไม่เข้าท่าแล้วคิดว่าสิ่งดี ๆ จะเกิดขึ้นเอง

ตลอดระยะเวลา 2,500 ปีที่ผ่านมา นักปรัชญา นักเทวะวิทยา นักสังคมวิทยา นักเศรษฐศาสตร์ แพทย์ นักจิตวิทยา นักวิจัยเกี่ยวกับสมอง และนักโฆษณา ต่างพยายามค้นหาว่าอะไรที่ทำให้คนเรามีความสุข แต่สิ่งที่พวกเขาค้นพบก็ยังไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจน การศึกษาของบรรดาผู้เชี่ยวชาญแทบไม่ได้ช่วยให้รู้อะไรใหม่ ๆ เลย ทุกวันนี้ก็ยังได้แต่ค้นหาแบบสะเปะสะปะ ราวกับกำลังคลำทางในความมืดว่า อะไรคือปัจจัยเชิงบวกที่ก่อให้เกิดความสุข

แต่ถ้าถามว่าอะไรคือปัจจัย ที่ส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตที่ดี หรือพูดง่าย ๆ ก็คือปัจจัยที่เป็นอันตราย กลับระบุได้อย่างชัดเจน ปัจจัยเชิงลบนั้นชัดเจนกว่าปัจจัยเชิงบวกเสมอ มันเปรียบเหมือนหินแกรนิตที่แข็งแกร่ง มองเห็นได้ง่าย และจับต้องได้ ในขณะที่ปัจจัยเชิงบวกเปรียบเหมือนอากาศธาตุ ด้วยเหตุนี้ ต้องพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อกำจัดปัจจัยเชิงลบ แล้วชีวิตที่ดีก็จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

องค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของชีวิตที่ดีก็คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่โง่เขลา ตื้นเขิน และไม่มีคุณค่าที่ยั่งยืน ไม่ใช่การพยายามไขว่คว้าความสุขอันยิ่งใหญ่ สิ่งที่ทำให้ชีวิตยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่มเข้าไปในชีวิต แต่เป็นสิ่งที่กำจัดออกไปต่างหาก

บทที่ 7

ลอตเตอรี่แห่งการเกิด

ทำไมความสำเร็จจึงไม่ใช่สิ่งที่สร้างขึ้นมาเอง

ความสุขเป็นสิ่งที่มีแต่ความสำเร็จ เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นมา อันที่จริงนั่นอาจเป็นสิ่งที่คิดเอาเอง คนเราพร้อมที่จะสละรายได้ในสัดส่วนอันสูงลิ่ว เพื่อให้ได้เติบโตในประเทศที่ต้องการ ความจริงที่ว่าสถานที่เกิดมีมูลค่ามหาศาลเช่นนี้ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มันมีอิทธิพลต่อการประสบความสำเร็จมากเพียงใด

ลอตเตอรี่แห่งการเกิด ไม่ใช่เรื่องของประเทศที่เกิด แต่ยังรวมถึงครอบครัว และย่านที่อยู่อาศัย สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่เหนือการควบคุม ไม่เพียงเท่านั้น ยังจะได้รับการปลูกฝังเรื่องค่านิยม พฤติกรรม และหลักการต่าง ๆ ที่จะช่วยส่งเสริม หรือไม่ก็ฉุดรั้งชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็อยู่เหนือการควบคุมเช่นกัน

นอกจากนี้ต้องสวมบทบาทมากมายในชีวิต และตัดสินใจสารพัดเรื่อง เมื่อพิจารณาเหตุผลเหล่านี้แล้วคิดว่า ความสำเร็จในชีวิตที่สร้างขึ้นมาเองอย่างแท้จริงมีสัดส่วนเท่าไร คำตอบที่สมเหตุสมผลก็คือ 0% เพราะแท้จริงแล้ว ความสำเร็จขึ้นอยู่กับสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่มีทางควบคุมได้เลย นี่จึงหมายความว่าไม่ได้สร้างความสำเร็จด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้นำไปสู่ข้อสรุป 2 ประการ

ข้อสรุปประการแรกคือ ควรถ่อมตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวลาที่ประสบความสำเร็จ ยิ่งความสำเร็จนั้นยิ่งใหญ่มากเท่าไหร่ ยิ่งไม่ควรยกยอตัวเองมากเท่านั้น การยกยอตัวเองคือการตกอยู่ในหลุมพรางของภาพลวงตา แม้จะเป็นแค่การแอบชื่นชมตัวเองแบบเงียบ ๆ ก็ตาม ความทนงตัวไม่เพียงไร้ประโยชน์ แต่ยังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์เช่นนี้ ด้วยการกำจัดมันทิ้งไปคือรากฐานสำคัญของชีวิตที่ดี จงเตือนตัวเองทุกวันว่า ทุกสิ่งที่เป็น ทุกสิ่งที่มี และทุกสิ่งที่สามารถทำได้ ล้วนเป็นเพราะโชคล้วน ๆ ปฏิกิริยาเดียวที่เหมาะสมก็คือ ความรู้สึกขอบคุณ และผู้ที่รู้สึกเช่นนี้จะได้รับผลพลอยได้ที่ดีด้วย ซึ่งก็คือการมีความสุขมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ข้อสรุปประการที่ 2 คือ ควรยินดีและเต็มใจยกผลประโยชน์บางส่วนจากความสำเร็จให้กับผู้ที่เกิดมาพร้อมกับยีนที่ไม่ดี อยู่ในครอบครัวที่ไม่ดี หรืออาศัยอยู่ในย่านที่ไม่ดี นี่ไม่ใช่การแสดงออกถึงคุณธรรมอันสูงส่ง แต่เป็นสามัญสำนึก หัวใจสำคัญของการบริจาคและการจ่ายภาษี ไม่ใช่ประเด็นเรื่องการเงินแต่เป็นเรื่องศีลธรรมต่างหาก

บทที่ 8

ภาพลวงตาที่ว่าด้วยการใคร่ครวญสิ่งที่อยู่ในใจตัวเอง

จงให้ความสำคัญกับความรู้สึกแต่ไม่ใช่ความรู้สึกของตัวเอง

การใช้ชีวิตคงไม่ใช่เรื่องยากนัก หากโลกใบนี้ไม่ได้เต็มไปด้วยการรบเร้าให้ทำตามหัวใจ คนเราถูกพร่ำบอกว่าจงเชื่อในความรู้สึกของตัวเอง และฟังเสียงจากหัวใจของตัวเอง แต่คำแนะนำคือไม่ต้องไปสนใจมัน อย่าใช้ความรู้สึกเป็นเข็มทิศ หากเปรียบกับเข็มทิศเสียงจากหัวใจก็คือเข็มแม่เหล็กนับ 10 เล่ม ซึ่งต่างก็ชี้ไปคนละทิศคนละทาง และหมุนวนไปมาตลอดเวลา ดังนั้น จงอย่าใช้มันนำทางชีวิต การใคร่ครวญสิ่งที่อยู่ในใจไม่มีทางทำให้มีชีวิตที่ดีได้ นักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ภาพลวงตาที่ว่าด้วยการใคร่ครวญสิ่งที่อยู่ในใจตัวเอง ซึ่งหมายถึงความเชื่อผิด ๆ ว่าการไตร่ตรองความคิด และอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง จะช่วยให้เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการได้ การใคร่ครวญสิ่งที่อยู่ในใจถึงเชื่อถือไม่ได้ เหตุผลมีอยู่ 2 ประการ คือ

ประการแรกคือ การมัวแต่ฟังเสียงจากหัวใจอย่างลึกซึ้ง ไม่สามารถช่วยให้อยู่รอดจนมีโอกาสถ่ายทอดยีนให้กับคนรุ่นต่อไป หากมองในแง่ของวิวัฒนาการ สิ่งที่สำคัญกว่ามาก ซึ่งจะช่วยให้เอาตัวรอดได้ก็คือ การอ่านอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น

ประการที่ 2 คือ คนเราชื่นชอบการได้เป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงคนเดียว และการใคร่ครวญสิ่งที่อยู่ในใจเพื่อตัดสินว่า แท้จริงแล้วรู้สึกอย่างไร ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้ว่าถูกหรือผิด นี่อาจทำให้รู้สึกดีแต่กลับไม่มีประโยชน์นัก เพราะการทำเช่นนี้ไม่ได้ช่วยให้ค้นพบวิธีแก้ปัญหาใด ๆ เลย

อารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เชื่อถือไม่ได้อย่างยิ่ง ดังนั้น กฎที่ควรยึดมั่นก็คือ จงให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกให้น้อยลง โดยเฉพาะอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ นักปรัชญาชาวกรีกเรียกความสามารถในการปิดกั้นนี้ว่า ภาวะแห่งความสันติ (ataraxia) ซึ่งหมายถึงความสงบ การพยายามบังคับตัวเองให้ข่มอารมณ์ความรู้สึกลบเอาไว้ กลับทำให้มันแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในทางตรงกันข้าม การจัดการอารมณ์ความรู้สึกเชิงลบ ด้วยวิธีที่ผ่อนคลายและน่าสนุก จะช่วยให้ได้สัมผัสกับความสงบ

ดังนั้น จงอย่าเชื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง คำกล่าวนี้เป็นจริงเสมอ ต้องให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่นให้มาก แต่อย่าทำเช่นนั้นกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง จงปล่อยให้มันบินผ่านไปตามธรรมชาติของมัน ที่จะเข้ามาและจากไปตามอำเภอใจอยู่แล้ว

บทที่ 9

กับดักของความจริงใจ

ทำไมถึงต้องทำตัวเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ชอบคนจริงใจหรือเปล่า เชื่อว่าต้องชอบคนแบบนี้อย่างแน่นอน การที่ความจริงใจได้รับความนิยม จึงไม่ได้น่าแปลกใจเลยทุกวันนี้ การสัมมนาแทบทั้งหมดล้วนมีหัวข้อนี้อยู่ด้วย หนังสือเกี่ยวกับความเป็นผู้นำแทบทุกเรื่อง ก็มีเนื้อหาบทหนึ่งที่ตั้งชื่อทำนองว่า ความเป็นผู้นำจากใจจริง จงอย่าหลงเชื่อกระแสเรื่องความจริงใจ เรื่องนี้มีเหตุผลอยู่หลายประการ

เหตุผลข้อแรกคือ บ่อยครั้งก็ไม่ได้เข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง

เหตุผลที่ 2 คือ การแสดงออกอย่างจริงใจทำให้ดูน่าขัน ผู้คนได้รับความเคารพเพราะพวกเขาแสดงออกได้อย่างเหมาะสมตามที่ถูกคาดหวัง ไม่ใช่เพราะพล่ามทุกอย่างที่อยู่ในใจออกมา

เหตุผลที่ 3 คือ การแสดงออกอย่างจริงใจหมายถึง การถอดเกราะป้องกัน และเชิญชวนผู้คนให้เข้ามาเอาเปรียบ นอกจากจะดูโง่แล้วยังถูกโจมตีได้ง่ายด้วย

มีการพูดถึงการสร้างตัวตนที่ 2 ขึ้นมา ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อของคนทั่วไปในปัจจุบันว่า คนเราควรมีตัวตนที่แท้จริงเพียงหนึ่งเดียว อย่างไรก็ตามตัวตนที่ 2 นี้ไม่ใช่การเสแสร้ง แต่มันคือการแสดงออกต่อโลกภายนอก ด้วยความเป็นมืออาชีพคงเส้นคงวาและน่าเชื่อถือ โดยเก็บงำความไม่มั่นใจ ความไม่พอใจ และความผิดหวังเอาไว้ เพราะสิ่งเหล่านี้เหมาะจะนำไประบายกับไดอารี่ หมอน หรือคนรัก ดังนั้น เก็บความจริงใจไว้ใช้กับการรักษาคำมั่นสัญญา และการทำตามแนวทางการใช้ชีวิตที่ตั้งใจไว้ก็พอ

ไม่ว่าจะเลือกใช้ตัวตนที่ 2 หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นสิ่งห่อหุ้มภายนอก ในไม่ช้าก็จะตระหนักว่า มันไม่เพียงปกป้องจากอิทธิพลภายนอกที่เป็นพิษ แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงภายในด้วย ดังนั้น แม้ผู้อื่นอย่างลูกน้องหรือเพื่อนที่ไม่ไว้ใจ จะเรียกร้องให้เปิดเผยใจจริงมากกว่านี้ ก็อย่าได้หลงกลแสดงออกด้วยความจริงใจ คนเราสามารถเลือกได้ว่าจะทำอย่างไร

บทที่ 10

การปฏิเสธใน 5 วินาที

การตกลงช่วยเหลือในเรื่องที่ดูเล็กน้อยคือหลุมพรางขนาดใหญ่

โรคสนองความพอใจของคนอื่นนี้มาจากไหน ในช่วงทศวรรษที่ 1950 นักชีววิทยาพยายามหาสาเหตุว่า ทำไมสัตว์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันทางสายเลือด ถึงช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นี่คือพฤติกรรมเดียวกับที่พบเห็นมาในอาณาจักรสัตว์ ซึ่งเรียกว่าการเห็นแก่ผู้อื่นแบบต่างตอบแทน หรือการให้แบบต่างตอบแทน ลิงชิมแปนซีแบ่งอาหารให้เพื่อนในฝูง เพราะคิดว่าเพื่อนของมันจะแบ่งอาหารให้เป็นการตอบแทนในภายหลัง

อย่างไรก็ตามต้องระวังไว้ให้ดี เพราะการให้แบบต่างตอบแทนมีอันตรายซ่อนอยู่นั่นคือ ถ้าใครสักคนทำสิ่งดี ๆ ให้ก็จะรู้สึกว่าต้องตอบแทนพวกเขา ซึ่งหมายความว่ากำลังถูกคนอื่นควบคุม นอกจากนี้ยังมีอันตรายอีกอย่างที่ร้ายแรงกว่ามากก็คือ การตอบตกลงตามความต้องการของอีกฝ่ายโดยอัตโนมัติ หลังจากตอบตกลงแล้วก็จะหาเหตุผลมารองรับการตัดสินใจนี้ พูดง่าย ๆ ว่าการให้แบบต่างตอบแทนทำให้ความสำคัญกับการมองหาข้ออ้าง ในการทำสิ่งนั้นแต่ไม่ได้คิดถึงเวลาที่ต้องใช้เพื่อทำมันให้สำเร็จ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลเลย เพระข้ออ้างไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่า แต่เวลาเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและมีอยู่จำกัด

ตระหนักว่าการตอบตกลงทำตามคำขอของคนอื่น เป็นปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติ ที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวมนุษย์ รับมือกับมันด้วยเทคนิคการปฏิเสธใน 5 วินาทีของ ชาร์ลี มังเกอร์ และยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า ถึงจะปฏิเสธคำขอ 90% ด้วยการพูดว่าไม่ ก็ไม่ได้พลาดอะไรในโลกนี้ไปมากนักหรอก เมื่อถูกใครสักคนขอความช่วยเหลือให้ใช้เวลา 5 วินาที ในการใคร่ครวญก่อนตัดสินใจ และส่วนใหญ่คำตอบก็คือไม่

บทที่ 11

ภาพลวงตาจากการจดจ่อความคิด

ทำไมการอาศัยอยู่ในหมู่เกาะแคริบเบียน

ถึงไม่ได้ทำให้มีความสุขมากขึ้น

แดเนียล คาร์เนแมน กล่าวไว้ว่า ไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่สำคัญมาก เท่ากับที่ประเมินไว้ตอนคิดถึงสิ่งนั้น ยิ่งกำหนดสิ่งที่จะจดจ่ออย่างเฉพาะเจาะจงมากเท่าไหร่ สิ่งนั้นก็จะยิ่งมีอิทธิพลมากขึ้นเท่านั้น การเอาชนะภาพลวงตาจากการจดจ่อ ความคิดคือกุญแจสำคัญของชีวิตที่ดี โดยมันจะช่วยป้องกันไม่ให้ตัดสินใจอย่างโง่เขลา เหตุผลก็เพราะเมื่อต้องตัดสินใจด้วยการเปรียบเทียบ คนเรามีแนวโน้มที่จะจดจ่ออยู่กับแง่มุมหนึ่งมากเป็นพิเศษ และมองข้ามปัจจัยอื่น ๆ นับร้อย นี่คือภาพลวงตาจากการจดจ่อความคิด ซึ่งทำให้เชื่อว่าแง่มุมดังกล่าว สำคัญมากเกินกว่าความเป็นจริง

คนเราสามารถเปรียบเทียบปัจจัยทั้งหมดนับร้อยอย่าง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้พลังงานมหาศาล หรือเลือกใช้อีกวิธีที่ปฏิบัติได้ง่ายกว่า นั่นก็คือการมองภาพรวมของตัวเลือกที่กำลังเปรียบเทียบ เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ความสำคัญกับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งมากเกินไป ลองมองชีวิตด้วยเลนที่มีมุมกว้างที่สุดแล้ว จะเห็นว่าสิ่งที่ดูจะสำคัญในขณะนี้ได้หดเล็กลง จนกลายเป็นแค่จุดเล็ก ๆ จุดหนึ่ง ซึ่งแทบจะไม่มีผลกระทบต่อภาพรวมเลย

จะสร้างชีวิตที่ดีได้ก็ต่อเมื่อรู้จักมองชีวิตผ่านเลนมุมกว้างเช่นนี้ คนเรามีแนวโน้มที่จะติดกับดักของภาพลวงตา จากการจดจ่อความคิดมากเป็นพิเศษเมื่อคิดถึงเรื่องเงิน จะมีความสุขมากขึ้นแค่ไหนถ้าได้เป็นเศรษฐี จะพบว่าแท้จริงแล้วความแตกต่างที่เกิดจากความร่ำรวยนั้นเล็กน้อยมาก การจดจ่อความคิดอยู่กับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หมายความว่ากำลังบ่อนทำลายชีวิตที่ดี

บทที่ 12

สิ่งที่ซื้อไม่ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในชีวิต

ทำไมจึงควรซื้อข้าวของให้น้อยลง

และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ให้มากขึ้น

คนเราได้รับความพึงพอใจ จากสิ่งของที่ซื้อมามากแค่ไหน ผลลัพธ์ของคำถามเผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ ระหว่างราคากับความพึงพอใจที่เจ้าของได้รับ พูดง่าย ๆ ว่าสิ่งของทำให้มีความสุขตอนที่คิดถึงมัน แต่ไม่ใช่ตอนที่กำลังใช้อยู่ ซึ่งนี่คือผลลัพธ์ของภาพลวงตาจากการจดจ่อความคิด แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้เป็นภาพลวงตาจากการจดจ่อความคิด ที่ส่งผลต่อความพึงพอใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ซื้อมากล่าวคือ ขณะที่คิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีแนวโน้มที่จะประเมินผลกระทบที่สิ่งนั้นมีต่อชีวิตไว้สูงเกินไป

การจดจ่อความคิดอยู่กับสิ่งเหล่านั้นทำให้มีความสุข แต่ละวันที่ใช้ชีวิตในแต่ละวันสิ่งเหล่านั้นก็จะจางหายไปจากความคิด ส่งผลให้มันมีอิทธิพลน้อยลงต่อความสุข นอกจากนี้การทุ่มเทเวลาหรือเงินให้กับการบำรุงรักษาสิ่งของต่าง ๆ ยังมีผลข้างเคียงและต้นทุนแฝงด้วย นี่คือปรากฏการณ์ผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับความต้องการ ทั้งสองนี้จะทำให้สูญเงินก้อนโต ซึ่งนี่จะบั่นทอนความสุข

เห็นได้ชัดว่าถ้าอยากสร้างชีวิตที่ดี ก็ควรคิดให้รอบคอบเกี่ยวกับสิ่งที่จะซื้อ อย่างไรก็ตาม มีสินค้าประเภทหนึ่งที่ภาพลวงตาจากการจดจ่อความคิด ไม่สามารถทำให้ความสุขของผู้ครอบครองลดลงได้ซึ่งก็คือประสบการณ์ เมื่อได้สัมผัสกับประสบการณ์อันเปี่ยมสุข ทั้งหัวใจและสมองก็จะซึมซับมันเอาไว้ ดังนั้น จงลงทุนกับประสบการณ์มากกว่าวัตถุสิ่งของ

บทที่ 13

เงินช่างแม่ง

การเก็บออมอิสระภาพ

เงินเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับการเปรียบเทียบ ไม่ใช่แค่การเปรียบเทียบกับคนอื่นเท่านั้น แต่รวมถึงการเปรียบเทียบกับอดีตของตัวเองด้วย การจัดการเงินมีกฎอันยอดเยี่ยมอยู่จำนวนหนึ่ง กฎข้อแรกได้รับการนิยามโดยผู้ที่รักการใช้ภาษาอย่างโลดโผนว่า เงินช่างแม่ง โดยคาดว่า 2 คำสุดท้ายคือคำที่จะตะโกนใส่เจ้านาย ก่อนที่จะเดินปึงปังออกจากที่ทำงาน เงินช่างแม่งคือเงินออมที่จะช่วยให้ลาออกจากงานได้ทันที โดยไม่ต้องเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินอย่างร้ายแรง เงินช่างแม่งคืออิสระภาพมันจะช่วยให้มองสิ่งต่าง ๆ และคิดอย่างเป็นกลาง ซึ่งนี่สำคัญยิ่งกว่าอิสระภาพทางวัตถุเสียอีก

กฎข้อที่ 2 คืออย่าเต้นเร้า ๆ เพราะความผันผวนเล็กน้อยในรายได้หรือทรัพย์สิน หัวใจสำคัญของกฎนี้คือ อย่าคิดถึงเรื่องเงินมากนัก การคิดเรื่องเงินบ่อย ๆ ไม่ได้ช่วยให้เงินเพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าเดิม

กฎข้อที่ 3 คืออย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น การทำเช่นนี้รังแต่จะทำให้ไม่มีความสุข แต่ถ้าอดใจไม่ไหวจริง ๆ ให้เปรียบเทียบตัวเองกับคนที่มีสถานะทางการเงินแย่กว่า แต่ถ้าจะให้ดีก็อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นเลย

กฎข้อที่ 4 คือแม้จะร่ำรวยมหาศาล ก็จงใช้ชีวิตอย่างสมถะ

เงินไม่ใช่องค์ประกอบของชีวิตที่ดี ด้วยเหตุนี้เมื่อก้าวข้ามความยากจน และสร้างความมั่นคงทางการเงินได้แล้ว ควรให้ความสำคัญกับองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีคุณค่ามากกว่า แทนที่จะหมกมุ่นกับการสั่งสมความมั่งคั่ง

บทที่ 14

ขอบเขตแห่งความสามารถ

ทำไมการรู้ขีดจำกัดของตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ไม่มีใครเข้าใจโลกนี้อย่างสมบูรณ์ มันซับซ้อนเกินไปสำหรับสมองของมนุษย์คนหนึ่ง แม้จะมีการศึกษาสูง แต่สิ่งที่เรียนรู้และเข้าใจเป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของโลกใบนี้ ทว่าพื้นที่นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะส่งให้บินขึ้นไปคว้าความฝันอันสูงลิ่วได้ ถ้าไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดเลย ก็จะไม่มีทางบินขึ้นจากพื้นดินได้ คติในการดำเนินชีวิตคือ รู้จักขอบเขตแห่งความสามารถของตัวเอง และยึดมั่นในพื้นที่นี้

ควรใช้แนวคิดนี้ในการจัดระบบชีวิตการทำงาน เพราะการจดจ่ออยู่กับขอบเขตแห่งความสามารถจะมอบผลลัพธ์ หรือนอกเหนือจากเงินทองให้ด้วย โดยสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ผลตอบแทนด้านอารมณ์ความรู้สึก ก็จะได้สัมผัสกับความรู้สึกอันล้ำค่าจากการทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ ทั้งยังมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

สิ่งที่ทรงพลังไม่แพ้กันก็คือ ความต้องการที่จะสร้างขอบเขตดังกล่าว ความต้องการนี้จะรุนแรงเป็นพิเศษ ในกรณีที่ประสบความสำเร็จในขอบเขตปัจจุบันแล้ว และรู้สึกว่าตัวเองทำทุกสิ่งในขอบเขตนี้ได้อย่างสบาย ๆ จะสร้างขอบเขตแห่งความสามารถขึ้นมาได้ เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาและต้องใช้เวลามากเสียด้วย นอกจากนี้ การสร้างขอบเขตแห่งความสามารถ ยังต้องอาศัยความหมกมุ่นด้วย

อย่ากล่าวโทษตัวเองในสิ่งที่ไม่ถนัด ความจริงคือไม่ว่าสิ่งที่ทำได้แค่ในระดับปานกลาง หรือแย่ยิ่งกว่านั้นจะมีจำนวนมากสักแค่ไหนก็ไม่สำคัญเลยสักนิด สิ่งสำคัญคือสามารถทำอะไรบางอย่างได้ดีกว่ามาตรฐานเป็นอย่างมาก แถมยังอาจถึงขั้นทำมันได้ดีที่สุดในโลกเลยก็ได้ เมื่อหาสิ่งนี้พบก็หมายความว่า มีรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับชีวิตที่ดีแล้ว เวลา 1 ชั่วโมงที่ทุ่มเทให้กับขอบเขตแห่งความสามารถของตัวเอง ก็สร้างผลลัพธ์ได้มากกว่าการทุ่มเทเวลานับพันชั่วโมงให้กับสิ่งอื่น ๆ

บทที่ 15

ความลับของการยืนหยัด

ทำไมคนที่น่าเบื่อถึงประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ชอบเสี่ยง

สุดยอดนักลงทุนจะซื้อหุ้นของบริษัทเพียงไม่กี่แห่ง ที่พวกเขารู้จักเป็นอย่างดีเท่านั้น ความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับตลาดไม่มีความหมายสำหรับพวกเขา นักลงทุนเหล่านี้ลงทุนในระยะยาว พวกเขาซื้อและขายหุ้นน้อยครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียมการซื้อขาย สมองของเราชอบการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้น ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คนเรามีปฏิกิริยาตอบสนองรุนแรงกว่าที่ควร ต่อเรื่องที่ดีขึ้นหรือแย่กว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน และข่าวคราวที่น่าตกใจ แต่กลับไม่ค่อยรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้ จึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทำ ความกระตือรือร้น และการลงมือทำมากกว่าสิ่งที่ไม่ทำ ความรอบคอบ และการรอคอย ความสำเร็จในระยะยาวมักมีองค์ประกอบหนึ่งซึ่งไม่ได้โดดเด่นสะดุดตา แต่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาอันยาวนาน และนี่ก็คือความลับของการยืนหยัดในสิ่งสำคัญ ชีวิตที่ดีควรยุ่งวุ่นวายอยู่กับการทำงานสารพัดอย่างให้น้อยลง และยืนหยัดที่จะทุ่มเทความพยายามให้กับสิ่งสำคัญให้มากขึ้น

เมื่อระบุขอบเขตแห่งความสามารถของตัวเองได้แล้ว ก็ต้องยึดมั่นในขอบเขตนี้ ความบากบั่น ความพากเพียร และการคิดแบบระยะยาวคือ คุณสมบัติสำคัญที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง จึงควรยืนหยัดและส่งเสริมพวกมันอย่างต่อเนื่อง แค่ฉลาดกว่าคนอื่นนิดหน่อยก็พอ และรักษาสถานะนี้เอาไว้ให้นานแสนนาน

บทที่ 16

ความเลวร้ายของเสียงเรียกจากหัวใจ

ทำในสิ่งที่ทำได้ ไม่ใช่สิ่งที่หวังว่าจะทำได้

ทุกวันนี้ผู้คนที่แสวงหาสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า เสียงเรียกจากหัวใจ พวกเขาต้องการเชื่อมโยงกับโลกอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทั้งยังเทิดทูนแนวคิดอันแสนดูดี ที่ว่าในส่วนลึกของมนุษย์ทุกคนมีดอกตูมที่กำลังรอวันผลิบาน และกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายอันลึกซึ้ง พวกเขาจึงตั้งใจฟังเสียงเรียกจากหัวใจของตัวเอง โดยหวังว่ามันจะช่วยบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาสมบูรณ์ แต่นี่เป็นเรื่องอันตราย เพราะแนวคิดเรื่องเสียงเรียกจากหัวใจคือ หนึ่งในภาพลวงตาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคนี้

แนวคิดอันงดงามที่ว่าเสียงเรียกจากหัวใจ จะทำให้มีความสุขนั้นไม่ถูกต้อง ผู้ที่พยายามอย่างหนักเพื่ออาชีพ ที่หัวใจเรียกร้องไม่ใช่คนที่มีความสุข แต่เป็นแค่คนดันทุรัง ซึ่งอาจลงเอยด้วยการรู้สึกแย่ในไม่ช้า เพราะส่วนใหญ่แล้วเสียงเรียกจากหัวใจ มักมาพร้อมกับความคาดหวังที่ยิ่งใหญ่จนไม่สมเหตุสมผล ผู้คนมักอ้างว่าการทำตามเสียงเรียกจากหัวใจคือ ทางเลือกเดียวที่พวกเขามี แต่แท้จริงแล้วมันไร้สาระมาก ต่อให้สิ่งที่เรียกว่าเสี่ยงเรียกจากหัวใจจะมีอยู่จริง แต่ก็ไม่ควรไล่ตามมันอย่างไม่ลืมหูลืมตา เห็นได้ชัดว่าบางครั้งเสียงเรียกจากหัวใจก็ไม่ได้เป็นไปตามหลักศีลธรรมเลย

สิ่งที่มีคุณค่าคือความสามารถและจุดแข็งต่างหาก ดังนั้น จงพัฒนาต่อยอดจากทักษะที่มีอยู่ ข่าวดีคือทักษะที่เชี่ยวชาญ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ชอบอยู่แล้ว นอกจากนี้ประเด็นสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้อื่นมีบทบาทอย่างยิ่งในการประเมินความสามารถ และก็ต้องใช้ความสามารถของตัวเองในการหาเลี้ยงชีพด้วย

บทที่ 17

คุกแห่งชื่อเสียง

วิธีเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญ

กับสิ่งชี้วัดภายนอกมาเป็นสิ่งชี้วัดภายใน

จะเลือกตัวเลือกใดระหว่าง การเป็นคนที่ฉลาดที่สุดในโลกแต่ทุกคนกลับมองว่าเป็นคนที่โง่ที่สุด กับการเป็นคนที่โง่ที่สุดในโลกแต่ทุกคนกลับมองว่าเป็นคนที่ฉลาดที่สุด คำถามนี้แสดงให้เห็นถึงหนึ่งในแนวคิดที่สำคัญต่อการมีชีวิตที่ดี ซึ่งก็คือสิ่งที่ชี้วัดภายในกับสิ่งชี้วัดภายนอก เมื่อต้องประเมินตัวเอง ให้ความสำคัญกับสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่างการประเมินของตัวเอง กับการประเมินของคนอื่น อย่างไรก็ตาม ความต้องการที่จะแสดงภาพลักษณ์ที่ดีที่สุด ออกมาเป็นแรงกระตุ้นให้ฝังรากลึกมานาน

ในยุคที่ต้องดำรงชีพด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์ ชีวิตของพวกเขาขึ้นอยู่กับความจริงที่ว่า คนอื่นคิดอย่างไรกับพวกเขา เพื่อนมนุษย์เหล่านั้นจะให้ความร่วมมือ หรือขับไล่พวกเขาออกจากกลุ่ม สุดท้ายคนที่ไม่สนใจสิ่งชี้วัดภายนอก ก็จะล้มหายตายจากไปโดยไม่มีโอกาสได้ส่งต่อพันธุกรรม แม้เหตุผลด้านวิวัฒนาการจะช่วยอธิบายว่า ทำไมคนเราถึงกังวลมากกว่าคนอื่นจะมองอย่างไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุผลนั้นสมเหตุสมผลกับยุคปัจจุบัน อันที่จริงมันตรงกันข้ามเลยต่างหาก ความคิดเห็นของคนอื่นมีความสำคัญน้อยกว่าที่คิดมาก จงปลดปล่อยตัวเองจากวิธีคิดนี้ ต่อไปนี้คือเหตุผล 3 ประการว่าทำไมถึงควรทำเช่นนี้

เหตุผลแรกคือ มันช่วยให้ไม่ต้องพบเจอกับความผันผวนของอารมณ์ เพราะย่อมไม่สามารถควบคุมชื่อเสียงให้ดีเลิศตลอดเวลาได้

เหตุผลที่ 2 คือ การให้ความสำคัญกับเกียรติยศและชื่อเสียง จะทำให้มองไม่เห็นว่าอะไรคือ สิ่งที่ทำให้มีความสุขอย่างแท้จริง

และเหตุผลที่ 3 คือ วิธีคิดนี้ทำให้เครียด มันจึงเป็นภัยต่อชีวิตที่ดี เลิกกระหายที่จะได้รับการยอมรับ สิ่งที่ควรทำคือสร้างความสำเร็จ และใช้ชีวิตในแบบที่จะสามารถมองตัวเองในกระจกได้อย่างมีความสุข นี่คือการยึดมั่นในสิ่งที่วัดภายในอย่างเต็มที่ ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งชีวิตภายใน วางเฉยต่อคำชื่นชมและคำติเตือนจากภายนอกด้วยความสุขุม

บทที่ 18

ภาพลวงตาที่ว่าด้วยจุดสิ้นสุด

สามารถเปลี่ยนตัวเองได้แต่เปลี่ยนผู้อื่นไม่ได้

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ลองจินตนาการถึงตัวเองเมื่อ 20 ปีก่อนดู มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในแง่ของบุคลิกภาพ ค่านิยม สิ่งที่ชอบ และสิ่งที่ไม่ชอบ ถึงจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่เหมือนการพลิกโฉม แต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อย บุคลิกภาพจะหยุดการพัฒนาลงในวันนี้จริงหรือ แน่นอนว่าไม่จริงเลย แดเนียล กิลเบิร์ต นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เรียกความเข้าใจผิด ๆ นี้ว่า ภาพลวงตาที่ว่าด้วยจุดสิ้นสุด ความจริงคือในอนาคตก็จะเปลี่ยนไปมากพอ ๆ กับที่ผ่านมา

ในอนาคตจะมีบุคลิกภาพ และค่านิยมที่ต่างจากตอนนี้อย่างแน่นอน ซึ่งผลการวิจัยยืนยันเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี ข่าวร้ายคือไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผู้อื่นได้ ไม่มีทางเลยแม้แต่คนรักหรือลูก ๆ ก็ตาม เพราะแรงกระตุ้นที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองต้องเกิดขึ้นจากภายใน ทั้งแรงกดดันจากภายนอก  และการโต้แย้งด้วยเหตุผลล้วนไม่ได้ผล นั่นคือเหตุผลที่กฎเหล็กข้อหนึ่งสำหรับการมีชีวิตที่ดี ซึ่งก็คือจงหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงผู้อื่น

กลยุทธ์ง่าย ๆ นี้ช่วยให้ไม่ต้องทุกข์ใจ เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ หรือรู้สึกผิดหวัง กฎอันยอดเยี่ยมอีกข้อที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ จงทำงานกับคนที่ชอบและเชื่อใจเท่านั้น

บทที่ 19

ความหมายของชีวิตในแง่มุมย่อย

อะไรคือเป้าหมายที่ไปถึงได้

และอะไรคือเป้าหมายที่ไม่อาจไปถึง

การจะอธิบายชีวิตและตัวตนของคนคนหนึ่ง ได้อย่างครบถ้วนคงต้องใช้พื้นที่มาก ชีวิตประกอบด้วยหลากหลายแง่มุม คำตอบที่ยาวเพียง 1 บรรทัดจึงเป็นคำจำกัดความที่ไม่ถูกต้องแม่นยำ สรุปก็คือไม่ควรตอบคำถามว่าเป็นใคร เพราะมันจะทำให้เสียเวลาไปเปล่า ๆ ส่วนคำถามที่ 2 คือต้องการอะไร คำถามนี้แตกต่างจากคำถามแรกตรงที่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน อันที่จริงนี่เป็นคำถามสำคัญที่ควรตอบ เพราะมันถามถึงเป้าหมายในชีวิต ซึ่งบางครั้งก็เรียกมันว่าความหมายของชีวิต

อย่างไรก็ตาม คำว่าความหมายอาจฟังดูคลุมเครือ ให้แยกมันออกเป็นความหมายของชีวิตในแง่มุมใหญ่ กับความหมายของชีวิตในแง่มุมย่อย เมื่อพูดถึงการค้นหาความหมายของชีวิตในแง่มุมใหญ่ ก็เท่ากับกำลังพูดถึงการหาคำตอบของคำถามอย่าง เกิดมาบนโลกนี้ใบนี้เพื่ออะไร  ทำไมอวกาศจึงมีอยู่ และทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร ซึ่งวัฒนธรรมต่าง ๆ ล้วนตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตำนานหรือความเชื่อของตัวเอง วิทยาศาสตร์ไม่มีคำตอบสำหรับคำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิตในแง่มุมใหญ่ เหมือนตำนานเหล่านั้น สิ่งเดียวที่วิทยาศาสตร์รู้คือมนุษย์จะพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ตราบเท่าที่ยังมีสสารและพลังงานเพียงพอ ไม่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และชัดเจนของมนุษยชาติ ชีวิต หรือจักรวาล

แท้จริงแล้วโลกนี้ไม่ได้มีความหมายอันใด ดังนั้น จงหยุดมองหาความหมายของชีวิตในแง่มุมใหญ่ เพราะกำลังเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ อย่างไรก็ตาม คำถามเกี่ยวกับความหมายของชีวิตในแง่มุมย่อยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะมันหมายถึงเป้าหมายส่วนตัว ความปรารถนาอันแรงกล้า และภารกิจในชีวิต คนเราไม่มีทางที่จะมีชีวิตที่ดีได้ หากปราศจากเป้าหมายส่วนตัว จงทุ่มเทความพยายามทั้งหมดให้กับบางสิ่ง และปล่อยให้ความคิดจดจ่ออยู่กับจุดหมายนั้น ไม่มีสิ่งใดที่รับประกันได้ว่าจะไปถึงจุดหมาย แต่ถ้าไม่มีจุดหมายก็รับประกันได้ว่าจะไม่ก้าวหน้าไปไหนเลย

การตั้งเป้าหมายใช้ได้ผลจริง ๆ เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ อย่างไรก็ตาม หนทางหนึ่งสู่ชีวิตที่ดีก็คือ การปรับความคาดหวังให้เหมาะสม และตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง สิ่งสำคัญคือการรู้ว่ากำลังมุ่งหน้าไปที่ไหน ไม่ใช่การไปที่ไหนก็ได้อย่างรวดเร็ว

บทที่ 20

ตัวตนทั้งสอง

ทำไมชีวิตถึงแตกต่างจากอัลบั้มรูป

ตัวตนเชิงประสบการณ์คือส่วนหนึ่งของจิตสำนึก ซึ่งสัมผัสกับประสบการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในชั่วขณะนี้ ประสบการณ์ดังกล่าวก็คือตัวตนเชิงประสบการณ์ที่ได้สัมผัส ซึ่งไม่ได้มีแค่สิ่งที่กำลังทำอยู่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่กำลังคิด และรู้สึกในขณะที่ทำสิ่งนั้นอยู่ด้วย กล่าวคือตัวตนเชิงประสบการณ์จะรับรู้ถึงสภาวะทางกายภาพ อย่างความเหนื่อยล้า อาการปวดฟัน หรือความเครียด แล้วผสมผสานทุกอย่างเข้าด้วยกัน ออกมาเป็นประสบการณ์ในช่วงเวลาชั่วขณะหนึ่ง แล้วชั่วขณะหนึ่งนั้นนานแค่ไหน นักจิตวิทยาประมาณไว้ว่า 3 วินาที หรือบวกลบได้เล็กน้อยนั่นคือ ช่วงเวลาที่รับรู้ว่าเป็นปัจจุบัน

คนที่ 2 ก็คือตัวตนเชิงความทรงจำ ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของจิตสำนึก ที่รวบรวม ประเมินค่า และจัดระเบียบสิ่งที่ตัวตนเชิงประสบการณ์ไม่ได้โยนทิ้งไป ตัวตนเชิงความทรงจำก็อาจได้รับรู้ประสบการณ์นี้ด้วย ตัวตนเชิงประสบการณ์จะได้คำตอบที่ตั้งอยู่บนสิ่งที่พึ่งได้สัมผัส และสภาวะจิตใจในช่วง 3 วินาทีนั้น ซึ่งตัวตนเชิงความทรงจำจะได้รับคำตอบ ที่ตั้งอยู่บนการประมวลผลอารมณ์ความรู้สึกทั้งหมดอย่างกว้าง ๆ ว่า ในช่วงที่ผ่านมานี้รู้สึกอย่างไร และพึงพอใจในชีวิตมากแค่ไหน

ข่าวร้ายคือ 2 ตัวตนนี้มักไม่เหมือนกัน แล้วตัวตนใดสำคัญกว่ากัน คำตอบคือสำคัญทั้งสองแบบ แน่นอนว่าไม่อยากลืมความทรงจำอันยอดเยี่ยม แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะให้คุณค่ากับตัวตนเชิงความทรงจำมากเกินไป แถมยังเฝ้านึกถึงอนาคต แทนที่จะจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน จึงต้องป้องกันตัวเองจากแรงกระตุ้นนี้ ลองคิดดูว่าสิ่งใดสำคัญมากกว่า ชีวิตที่จดจ่ออยู่กับช่วงเวลาอันน่าพึงพอใจในปัจจุบัน หรือชีวิตที่จดจ่ออยู่กับอัลบั้มรูปในอดีต

บทที่ 21

ธนาคารความทรงจำ

ประสบการณ์สำคัญกว่าความทรงจำ

คนส่วนใหญ่คิดว่าประสบการณ์นั้นจะมีคุณค่า ก็ต่อเมื่อพวกเขาจำมันได้ เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ธนาคารความทรงจำ กล่าวคือยิ่งความทรงจำนั้นคงอยู่นานแค่ไหน มันก็จะยิ่งมีคุณค่ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น หากประสบการณ์ดี ๆ คงอยู่ในธนาคารความทรงจำไปจนวันตาย ประสบการนั้นก็จะมีคุณค่าอย่างยิ่ง หากประสบการณ์นั้นคงอยู่ในความทรงจำแค่ครึ่งชีวิต มันก็จะมีคุณค่าน้อยลงครึ่งหนึ่ง ลดหลั่นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงจุดที่ประสบการณ์นั้นไม่ได้อยู่ในความทรงจำเลย และมีคุณค่าเป็นศูนย์

หากไม่มีความทรงจำ ประสบการณ์ต่าง ๆ ก็จะถูกมองว่าไม่มีคุณค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ และไม่สมเหตุสมผลเลย สุดท้ายแล้วความตายก็พรากความทรงจำทั้งหมดไปอยู่ดี  แล้วการพยายามเหนี่ยวรั้งความทรงจำเก็บไว้ จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตจะสำคัญอย่างไร การศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า ผู้คนรู้สึกมีความสุขมากขึ้นเมื่อนึกถึงประสบการณ์ที่ดี  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่พวกเขารู้สึกโหยหาช่วงเวลานั้น แม้ความจริงแล้วจะมองว่า การพยายามเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ในชั่วขณะปัจจุบันก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่า การปัดฝุ่นความทรงจำเก่า ๆ เสียทีเดียว

แต่ไม่ว่าอย่างไร ประสบการณ์ที่กำลังสัมผัสอยู่ในตอนนี้ก็ทรงพลัง และเปี่ยมไปด้วยรสชาติกับสีสัน มากกว่าความทรงจำอันเลือนราง ความทรงจำไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน ตื้นเขิน  เลื่อนลอย ผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ ผ่านการปั้นแต่งมาบางส่วน และไม่มีประโยชน์อันใด ทุกวันนี้ความรู้สึกของการอยู่กับชั่วขณะนี้ กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งภายใต้ชื่อใหม่ว่า การอยู่กับปัจจุบัน อันที่จริงนั่นเป็นเรื่องดี ทว่าผู้คนมักสับสนว่า การอยู่กับปัจจุบันคือ การไม่คิดถึงอนาคต แต่มันเป็นความเข้าใจที่ผิดส่วนหนึ่งของชีวิตที่ดีคือ การเตรียมการเพื่ออนาคต รวมทั้งการมองเห็นอันตรายแต่เนิ่น ๆ และหาทางหลีกเลี่ยงมัน

บทที่ 22

เรื่องราวในชีวิตคือเรื่องโกหก

ทำไมภาพที่มองตัวเองถึงผิดเพี้ยน

สมองของมนุษย์มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ แต่นี่เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เหมาะสม เพราะคอมพิวเตอร์เก็บข้อมูลดิบ โดยบิดเป็นหน่วยข้อมูลที่เล็กที่สุด ทว่าสมองไม่ได้เก็บข้อมูลดิบ แต่เก็บข้อมูลที่ผ่านการประมวลผลแล้ว หน่วยข้อมูลของสมองไม่ใช่บิด แต่เป็นเรื่องราว นั่นก็เพราะพื้นที่จัดเก็บข้อมูลของสมองมีจำกัด สมองจึงพัฒนาวิธีบีบอัดข้อมูลขึ้นมา ซึ่งก็คือเรื่องราว โลกแห่งความจริงไม่มีเรื่องราว

แล้วสมองเรียบเรียงข้อเท็จจริงให้กลายเป็นความทรงจำได้ มันร้อยเรียงข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้เป็นเรื่องราวที่กระชับ สอดคล้องกัน และเป็นเหตุเป็นผล หรือวิธี 3C นั่นเอง โดยความกระชับ  (compact) หมายถึงเรื่องราวที่สั้น เข้าใจง่าย และไม่มีช่องโหว่ ความสอดคล้องกัน (consistent) หมายถึงทุกอย่างในเรื่องราวนั้นต้องไม่ขัดแย้งกัน และความเป็นเหตุเป็นผล (causal) หมายถึงการเชื่อมโยงระหว่างเหตุและผลอย่างชัดเจน องค์ประกอบทั้ง 3 นี้นำไปสู่ความทรงจำที่สมเหตุสมผล  สมองทำแบบนี้โดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวชีวิตที่เก็บไว้ในหัวนั้น ถูกต้องตามความเป็นจริงมาก คือพอ ๆ กับภาพวาดแต่นี่เป็นปัญหา โดยเหตุผลมีทั้งหมด 4 ข้อ

เหตุผลข้อแรกคือ คนเราเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่ตัวเองคิด นี่ไม่ได้หมายถึงความชอบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งที่หลายคนมองว่าไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้อย่างบุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และค่านิยม

เหตุผลข้อที่ 2 คือ เรื่องราวชีวิตที่ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้หลงลืมไปว่าชีวิตไม่ได้เป็นไปตามแผนอย่างที่คิดเสมอไป ความบังเอิญมีบทบาทมากกว่าที่คิด

เหตุผลข้อที่ 3 คือ เรื่องราวชีวิตที่ถูกปั้นแต่งขึ้นมา ทำให้ยากที่จะตัดสินข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้ โดยปราศจากการตีความ การอ้างอิง หรือข้อแก้ตัว ซึ่งข้อแก้ตัวเปรียบเหมือนเบรคที่คอยยับยั้งการเรียนรู้จากความผิดพลาด

เหตุผลข้อที่ 4 คือ จะมองตัวเองดีกว่าความเป็นจริง ไม่ว่าจะเรื่องหน้าตา ความสำเร็จ หรือสติปัญญา อคติจากการคิดเข้าข้างตัวเองนี้ ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เพราะประเมินตัวเองไว้สูงเกินไป

เรื่องราวชีวิตที่ปั้นแต่งขึ้นมา ซึ่งไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้ภาพที่มองตัวเองผิดเพี้ยนไป โดยเชื่อว่าซับซ้อน สับสน และย้อนแย้งในตัวเองน้อยกว่าความเป็นจริง การมองตัวเองตามความเป็นจริง จะช่วยให้มีแนวโน้มมากขึ้น ที่จะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนในแบบที่อยากจะเป็นได้สำเร็จ

บทที่ 23

เหตุผลวิบัติที่ว่าด้วยวาระสุดท้ายที่ดี

ทำไมถึงไม่ควรกังวลกับช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

การใช้ชีวิตโดยนึกถึงชั่วขณะแห่งความตาย หรือชั่วโมงสุดท้ายของชีวิตนั้นไม่เข้าท่าเลย ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้สึกในชั่วขณะสุดท้ายของชีวิตไม่ได้สำคัญเลย เมื่อเทียบกับชีวิตที่ผ่านมาทั้งหมด การใคร่ครวญถึงช่วงเวลาแห่งความตายนั้นไร้ประโยชน์ และรังแต่จะฉุดรั้งให้ไขว้เขวไปจากการสร้างชีวิตที่ดี คนเราประเมินความน่าดึงดูดใจของชีวิตได้แย่มาก เพราะมีข้อผิดพลาดในการวิเคราะห์เหตุผล

นี่ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายนัก สำหรับการประเมินชีวิต แต่ไม่ใช่กับชีวิตที่แท้จริง มีแนวโน้มสูงมากที่จะไม่ได้ตายขณะอยู่ในจุดสูงสุดของชีวิต แต่จะสิ้นลมหายใจในช่วงที่สมรรถภาพทางร่างกาย และสมองค่อย ๆ เสื่อมถอยลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแน่นอนว่าความทุกข์ใจจากความเสื่อมถอยนี้ ย่อมทำให้ระดับความสุขลดต่ำลง กว่าช่วงเวลาหลายสิบปีก่อนตอนที่ยังอายุน้อย และไม่ต้องเผชิญกับความทุกข์ใจดังกล่าว

จงอย่าตัดสินชีวิตทั้งชีวิต จากช่วงเวลาแห่งลมหายใจสุดท้าย ชีวิตที่ดีซึ่งมีวันแห่งความเจ็บปวดไม่กี่วัน ในช่วงวาระสุดท้ายย่อมดีกว่าชีวิตที่ย่ำแย่ แต่มีความสุขในวาระสุดท้ายเพียงไม่นาน อายุและความตายคือราคาที่ต้องจ่าย เพื่อแลกกับการมีชีวิต มันเปรียบเหมือนค่าอาหารราคาแพง ที่ต้องจ่ายหลังกินมื้อเย็น

บทที่ 24

น้ำวนแห่งความสงสารตัวเอง

ทำไมการจมปลักอยู่กับอดีตถึงเป็นเรื่องไม่เข้าท่า

การสงสารตัวเองคือหนึ่งในการตอบสนอง ต่อบททดสอบของชีวิตที่ไร้ประโยชน์ที่สุด มันไม่ได้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี อันที่จริงมันตรงกันข้ามเลยต่างหาก การสงสารตัวเองเปรียบเหมือนน้ำวนทางอารมณ์ความรู้สึก ยิ่งจมจ่อมอยู่กับมันมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งถูกดูดให้จมลึกลงไปมากขึ้นเท่านั้น แล้วไม่นานคนที่ติดกับดักนี้ ก็จะกลายเป็นเหยื่อของความหวาดระแวง โดยรู้สึกราวกับว่าผู้คน มนุษยชาติทั้งมวล หรือแม้แต่จักรวาลนี้เป็นปฏิปักษ์ต่อเขา

วงจรอุบาทนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบ ต่อคนที่ติดกับดักของการสงสารตัวเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้คนรอบข้างด้วย เพื่อดึงตัวเองให้ออกห่างจากน้ำวนอันแสนอันตรายนี้ ด้วยการนึกถึงคติที่ว่า หากติดอยู่ในหลุมจงอย่าขุดให้มันลึกขึ้น การขุดลึกลงและรำลึกถึงสิ่งแย่ ๆ ที่อยากลืมไปให้หมด ของสถานการณ์อันเลวร้ายในปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมเลย โดยเหตุผลมีทั้งหมด 2 ข้อ

เหตุผลข้อแรกคือ ไม่สามารถโยนความผิดให้ใครสักคนได้ตลอดไป โดยเฉพาะการโยนความผิดให้พ่อแม่ คนอื่นก็อาจคิดว่าเป็นเด็กไม่รู้จักโต จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ต้องเจอปัญหาเหล่านั้น

เหตุผลข้อที่ 2 คือผลการวิจัยจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เหตุการณ์ในวัยเด็กที่เลวร้ายสุด ๆ ก็ส่งผลน้อยมากต่อความสำเร็จ หรือความพึงพอใจต่อชีวิตในวัยผู้ใหญ่ สิ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบได้มากกว่าเหตุการณ์ในอดีตคือ ยีนที่ได้รับการถ่ายทอดมา ซึ่งตั้งอยู่บนความบังเอิญล้วน ๆ ต่างหาก

การไม่จมปลักอยู่กับความสงสารตัวเองคือ กฎทองสำหรับสุขภาพจิตที่ดี จงยอมรับความจริงว่าชีวิตไม่ใช่สิ่งที่สมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของใครก็ตาม สิ่งที่ควรทำคือบรรเทาความรุนแรงของปัญหาในปัจจุบัน แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ก็ต้องรับมือกับมันด้วยความอดทน การพร่ำบ่นเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า และการสงสารตัวเองก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ตรงข้ามกับความต้องการถึง 2 ต่อ การมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อคือ วิธีใช้ชีวิตที่เลวร้ายอย่างไร้ที่ติ

บทที่ 25

สุขนิยมและสภาวะแห่งความสุขใจ

ความหมายสามารถชดเชยความรื่นรมย์ได้อย่างไร

รวมถึงในทางกลับกันด้วย

นับตั้งแต่ 500 ปีก่อนคริสตกาล นักคิดชาวกรีกต่างก็ครุ่นคิดเกี่ยวกับประเด็นนี้ นักปรัชญาส่วนน้อยซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อนักสุขนิยม เชื่อว่าชีวิตที่ดีคือการเสพสุขเฉพาะหน้า ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยคำว่าสุขนิยม (hedonistic) ซึ่งหมายถึงความยินดี ความสุขใจ ความสนุก ความพึงพอใจ และความปรารถนาทางโลก ทั้งยังเชื่อว่าชีวิตที่ดีเกิดขึ้นจากความสุขใจอันสูงส่ง โดยเรียกการแสวงหาสิ่งเหล่านี้ว่า สภาวะแห่งความสุขใจ (eudemonial) นักปรัชญาจำนวนมากสรุปว่า ความสุขใจอันสูงส่งหมายถึงคุณงามความดี กล่าวคือมีเพียงชีวิตที่เปี่ยมด้วยคุณธรรมเท่านั้น ที่เป็นชีวิตที่ดี ประสบการณ์ในแต่ละชั่วขณะก็มีองค์ประกอบ 2 อย่างนั่นก็คือ

องค์ประกอบด้านความรื่นรมย์ สุขนิยม และองค์ประกอบด้านความหมาย โดยองค์ประกอบด้านความรื่นรมก็คือ ความพึงพอใจเฉพาะหน้า ส่วนองค์ประกอบด้านความหมายคือ ความรู้สึกว่าประสบการณ์ในชั่วขณะนั้นมีความหมายมากแค่ไหน แนะนำให้รักษาสมดุลระหว่างความรื่นรมย์กับความหมาย จงอย่าให้น้ำหนักกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบสุดโต่ง ยิ่งให้น้ำหนักกับสิ่งใดมากเท่าไหร่ อรรถประโยชน์ส่วนเพิ่มที่ได้รับจากมันก็จะยิ่งลดลงเท่านั้น ควรสับเปลี่ยนไปมาระหว่างความรื่นรวมกับความหมาย

บทที่ 26

ขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่า ภาคที่ 1

แม้นจะไม่เป็นเช่นนั้น

ทุกวันนี้มีผู้คนเพียงหยิบมือเดียวที่แตกฉาน จึงแทบไม่มีใครเข้าใจความหมายของข้อความที่ว่า แม้นจะไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งเทียบเคียงได้กับคำกล่าวในปัจจุบันที่ว่า ข้ามศพฉันไปก่อน ทัศนะคตินี้ทำให้กำหนดพื้นที่หนึ่งในชีวิตขึ้นมา สำหรับสิ่งต่าง ๆ ที่จะไม่ยอมผ่อนปรนเป็นอันขาด นั่นก็คือความชอบและหลักการที่ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ ให้ยึดขอบเขตแห่งความสามารถเป็นต้นแบบ และเรียกแนวคิดนี้ว่าขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่า มันเชื่อมโยงกับแนวคิดซึ่งก็คือคำปฏิญาณ โดยขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่าคือ พื้นที่รวบรวมคำปฏิญาณ และปกป้องพวกมันจากอันตราย 3 รูปแบบนั่นก็คือ 1.ทางเลือกที่ดีกว่า 2.การโจมตีจากสังคมและ 3.ข้อเสนอของปีศาจ

ขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่าก็เหมือนกับขอบเขตแห่งความสามารถ ตรงที่สิ่งสำคัญไม่ใช่ขนาดของพื้นที่นี้ แต่เป็นการรู้ขอบเขตที่แท้จริงของมัน การสร้างขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่านั้น แทบไม่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเพื่อการรู้แจ้งเลย เป็นการคิดอย่างเฉียบคม ความมีเหตุผล หรือทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุด เพราะว่าขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่า ซึ่งมีขนาดเล็ก ไม่อาจผ่อนปรนได้ และมีขอบเขตที่ชัดเจน นับเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตที่ดี

ขอบเขตนี้ไม่ได้เกิดจากการใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง แต่เกิดจากการตกผลึกด้วยกาลเวลา ซึ่งคนส่วนใหญ่สร้างขอบเขตนี้ได้ในช่วงวัยกลางคน กระบวนการปกตินี้เป็นขั้นตอนสำคัญ ของการก้าวไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ โดยจำเป็นต้องผ่านประสบการณ์บางอย่างมาก่อน นั่นก็คือการตัดสินใจผิดพลาด ความผิดหวัง ความล้มเหลว และวิกฤต ทั้งยังต้องเข้าใจตัวเองมากกว่าที่จะรู้ว่า หลักการใดที่จะยืนหยัดเพื่อปกป้องมัน และหลักการใดที่พร้อมจะละทิ้งไป

บทที่ 27

ขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่า ภาคที่ 2

หากเปลือกนอกแตกสลาย

ถ้าไม่ทำให้ผู้คนรับรู้ได้อย่างชัดเจนถึงสิ่งที่เชื่อมั่นอย่างแท้จริง ก็จะค่อย ๆ กลายเป็นหุ่นเชิด โดยทุกครั้งที่ถูกคนอื่นเอาเปรียบจะยอมแพ้ในไม่ช้าก็เร็ว จะไม่ต่อสู้อีกต่อไป จะไม่ยืนหยัดต่อแรงกดดัน และกำลังใจก็จะเสื่อมถอย หากเปลือกนอกแตกสลาย เมื่อถึงจุดหนึ่งจิตใจก็จะแตกสลายเช่นกัน เรื่องราวของบุคคลที่เผชิญกับสถานการณ์อันโหดร้าย มีความสำคัญอย่างยิ่ง คนเราถูกโจมตีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จากสิ่งที่จ้องจะเล่นงานความชอบ หลักการ และปณิธาน หรือก็คือขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่า

การโจมตีเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้ชัดเหมือนการทรมาน แต่มันแนบเนียนมากเสียจนบ่อยครั้งก็ไม่ทันสังเกตเห็นเลย ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา แรงกดดันจากสังคม คำแนะนำที่ไม่ได้ร้องขอ ซึ่งหลั่งไหลมาจากทุกทิศทาง การโฆษณาชวนเชื่อแบบแยบยล แฟชั่น การปั่นกระแสของสื่อมวลชน หรือกฎหมาย สิ่งเหล่านี้เปรียบเหมือนลูกธนูที่พุ่งตรงมายังขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่าอยู่ทุกวัน ยาพิษอันแหลมคมเหล่านี้ไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่มันก็ร้ายแรงพอที่จะทำลายความภาคภูมิใจในตัวเอง และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทางอารมณ์อ่อนแอลง

ขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่าเปรียบเหมือนปราการ ที่เกี่ยวข้องคำปฏิญาณ และสิ่งเดียวที่จะทดสอบความแข็งแกร่งของมันได้ก็คือ การถูกโจมตีอย่างรุนแรง แม้จะกล่าวอ้างว่ายึดมั่นในอุดมคติอันสมบูรณ์แบบ หลักการสูงส่งและทางเลือกที่ไม่เหมือนใคร แต่จะยืนยันถึงความแข็งแกร่งของป้อมปราการนี้ได้ ก็ต่อเมื่อยืนหยัดที่จะปกป้องมัน สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่า ไม่ได้นำไปสู่ผลกระทบที่ร้ายแรงถึงขั้นคอขาดบาดตาย แต่เป็นการต่อสู้เพื่อรักษาสถานะให้ตัวเองยังคงมีอำนาจเหนือกว่า

ดังนั้น จงทำให้ผู้โจมตีเล่นงานได้ยากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และหากจำเป็นต้องยอมแพ้ ก็จงทำให้พวกเขาต้องชดใช้อย่างสาสมที่สุดกับความพ่ายแพ้ ความมุ่งมั่นเช่นนี้เป็นสิ่งที่ทรงพลังอย่างยิ่ง และเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ชีวิตที่ดี

บทที่ 28

ขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่า ภาคที่ 3

ข้อเสนอของปีศาจ

เทือกเขาแอลป์คือสิ่งกีดขวางขนาดมหึมา ที่ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป มันปิดกั้นการคมนาคมของผู้คนและสินค้า ระหว่างตอนเหนือและตอนใต้มานานหลายศตวรรษ เส้นทางที่ดูมีความหวังมากที่สุดก็คือช่องเขากอทท์ฮาร์ด การจะข้ามหุบเขาอันกว้างใหญ่นี้ไปได้ ก็คือต้องสร้างสะพานขึ้นมา และนี่ก็ก่อให้เกิดสะพานปีศาจ ชาวเมืองได้พยายามสร้างสะพานหลายครั้ง แต่ก็ลงเอยด้วยความล้มเหลว อึดใจต่อมาปีศาจก็ปรากฏขึ้นต่อหน้าชาวเมืองที่งงงัน และเสนอข้อตกลงให้กับพวกเขา เงื่อนไขคือปีศาจจะสร้างสะพานให้ โดยแลกกับวิญญาณของสิ่งมีชีวิตแรกที่เดินข้ามสะพานนั้น วิญญาณดังกล่าวจะตกเป็นของปีศาจ

ชาวเมืองผู้หัวแหลมตอบตกลง และแอบคิดแผนการบางอย่างขึ้นมา หลังจากปีศาจสร้างสะพานเสร็จแล้ว พวกเขาก็ส่งแพะข้ามสะพานไปก่อน ปีศาจโกรธจัดและคว้าหินขนาดใหญ่เท่าบ้านขึ้นมา เพื่อจะทุบสะพานให้แหลก ทว่าหญิงผู้เคร่งศาสนาคนหนึ่ง ตรงเข้ามากรีดรูปไม้กางเขนลงบนหินก้อนนั้น ปีศาจจึงปล่อยหินทันที มันร่วงลงไปในหุบเขาโดยเฉียดสะพานไปเพียงนิดเดียว แล้วกลิ้งต่อไปผ่านหมู่บ้านเกิชเซเนิน ก่อนจะหยุดลงในที่สุด ทุกวันนี้ก็ยังสามารถมองเห็นก้อนนี้ได้ มันอยู่ห่างจากทางหลวงแค่ไม่กี่เมตร และถูกเรียกว่าหินปีศาจมานับตั้งแต่ตอนนั้น

ชาวเมืองอูรีขายวิญญาณของพวกเขา แต่ก็หาวิธีเอาตัวรอดมาได้ โดยไม่เกิดการสูญเสียใด ๆ แถมยังได้สะพานที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางคมนาคม สามารถพบเรื่องราวที่คล้ายคลึงกันได้ในทุกวัฒนธรรม อาจสงสัยว่าการขายวิญญาณหมายความว่าอย่างไร ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า ในทุกยุคสมัยและทุกวัฒนธรรม มีสิ่งต้องห้ามจำนวนหนึ่งที่ผู้คนจะไม่ทำข้อตกลง แลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเพื่อให้ได้มันมา ลองถามตัวเองดูสิว่ามีอะไรบ้าง ที่มองว่ามันสูงส่งมากจนไม่มีทางยอมขายโดยเด็ดขาด ซึ่งไม่ช่วยเน้นย้ำประเด็นสำคัญที่ว่า องค์ประกอบหนึ่งของชีวิตที่ดีคือขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่า ต้องปกป้องพื้นที่นี้จากอันตราย 3 รูปแบบ และตอนนี้กำลังพูดถึงอันตรายรูปแบบที่ 3 ซึ่งก็คือข้อเสนอของปีศาจ

หากไม่ระบุขอบเขตแห่งสิ่งที่ทรงคุณค่าให้ชัดเจน ก็จะต้องคิดพิจารณาทุกครั้งที่มีข้อตกลง หรือข้อเสนอที่เย้ายวนใจเข้ามา นี่ไม่เพียงทำให้เสียเวลามหาศาลไปอย่างสูญเปล่า แต่ยังบั่นทอนความเคารพในตัวเองและชื่อเสียง ทุกครั้งที่ตัดสินใจตอบรับสิ่งที่ไม่เข้าท่า แต่ดึงดูดใจราวกับข้อเสนอของปีศาจ ซึ่งจะส่งผลให้อ่อนไหวต่อข้อเสนอทำนองนี้มากขึ้น นี่คือวงจรอุบาทว์อย่างแท้จริง

บทที่ 29

สมุดรวมความวิตกกังวล

วิธีเปิดลำโพงในหัว

เซ็นเซอร์ตรวจจับอันตราย จะตั้งค่าให้สัตว์ชนิดใหม่ไวต่อความวิตกกังวลมากกว่า เพราะการวิ่งหนีเงาปริศนาบ่อยเกินไป ย่อมทำให้มันมีโอกาสรอดชีวิต มากกว่าการวิ่งหนีน้อยเกินไป สรุปก็คือทำให้สัตว์ชนิดนี้วิตกกังวล ว้าวุ่นใจ และหวาดกลัวในระดับสูง แต่ก็ไม่ได้สูงมากจนทำให้มันไม่กล้าออกไปหาอาหาร นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในวิวัฒนาการ ของสัตว์ทุกชนิดบนโลกนี้ รวมถึงมนุษย์ด้วย เหตุนี้จึงถูกความวิตกกังวลตามรังควานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ มันคือส่วนหนึ่งของซอฟต์แวร์ที่ฝังแน่นอยู่ในสมอง และไม่สามารถปิดการทำงานได้

หากปราศจากความวิตกกังวล ความวิตกกังวลที่ไม่เคยเสื่อมคลายนี้ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า มันเป็นกลยุทธ์อันยอดเยี่ยมในการเอาตัวรอด ตลอดหลายล้านปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาที่ซ่อนอยู่คือระดับความวิตกกังวลนั้น ไม่เหมาะสมกับอันตรายที่พบเจอในชีวิต การวิตกกังวลตลอดเวลา นำไปสู่ภาวะเครียดเรื้อรัง ซึ่งอาจทำให้เสียเวลาหลายปีไปโดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ความกลัดกลุ้มใจ ยังกลายเป็นวิธีเบี่ยงเบนความสนใจที่ผู้คนโปรดปราน ด้วยสาเหตุก็เพราะการครุ่นคิดเกี่ยวกับคำถามที่เป็นนามธรรมนั้น ง่ายกว่าการลงมือแก้ปัญหา ซึ่งนี่นำไปสู่การผัดวันประกันพรุ่ง

ความวิตกกังวลเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลจากสิ่งเหล่านี้ จะทำให้ตัดสินใจได้แย่และเจ็บป่วย ทั้งที่ไม่ได้ตกอยู่ในอันตรายเลย หากพิจารณาตามความเป็นจริง กลยุทธ์ที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง ช่วยกำจัดความวิตกกังวลได้ดีกว่าด้วย ต่อไปนี้คือกลยุทธ์ทั้ง 3 ที่พบว่าใช้ได้ผลดี

กลยุทธ์แรกคือ สมุดรวมความวิตกกังวล โดยต้องหยิบสมุดโน๊ตขึ้นมา 1 เล่ม แล้วเขียนลงไปบนหน้าปกว่า สมุดรวมความวิตกกังวลของฉัน จากนั้นก็กำหนดเวลาที่แน่นอนเวลาในช่วงเช้าไว้วันละ 10 นาที เพื่อจดบันทึกทุกอย่างที่ทำให้วิตกกังวล ไม่ว่าสิ่งนั้นจะฟังดูมีเหตุผล งี่เง่า หรือคลุมเครือแค่ไหนก็ตาม การทำเช่นนี้จะช่วยให้แทบไม่รู้สึกวิตกกังวลเลยตลอดทั้งวันที่เหลือ เพราะสมองรับรู้ว่าความกังวลทั้งหมดถูกจดบันทึกเก็บไว้แล้ว ไม่ใช่ถูกมองข้ามไปเฉย ๆ ต้องทำแบบนี้ทุกวัน โดยขึ้นหน้าใหม่ทุกครั้ง

กลยุทธ์ที่ 2 คือ การซื้อประกันภัย กรมธรรม์ประกันภัยเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มหัศจรรย์ และเป็นหนึ่งในสิ่งที่กำจัดความวิตกกังวลได้ยอดเยี่ยมที่สุด คุณค่าที่แท้จริงของมันไม่ได้อยู่ที่เงิน ซึ่งจะได้รับเมื่อเกิดปัญหา แต่อยู่ที่การช่วยลดความวิตกกังวล เกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

กลยุทธ์ที่ 3 คือ การทำในสิ่งที่สนใจ นี่เป็นวิธีบำบัดความกังวลที่ดีที่สุด การทำในสิ่งที่สนใจ และทำให้มีความสุขนั้นดีกว่าการฝึกสมาธิเสียอีก มันช่วยเบี่ยงเบนความสนใจได้ดียิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เมื่อทำตามกลยุทธ์ทั้ง 3 นี้ ก็มีโอกาสสูงมาก ที่จะได้มีชีวิตที่ปราศจากความกังวล ซึ่งนั่นคือชีวิตที่ดี

บทที่ 30

ภูเขาไฟแห่งความคิดเห็น

ทำไมการไม่มีความคิดเห็นจึงเป็นสิ่งที่ดีกว่า

สมองของมนุษย์คือภูเขาไฟแห่งความคิดเห็น ที่พ่นความคิดเห็นและความคิดต่าง ๆ ออกมาอย่างไม่หยุดหย่อน ไม่ว่าคำถามนั้นจะสำคัญหรือไม่สำคัญ มีคำตอบที่แท้จริงหรือไม่ และและซับซ้อนหรือเข้าใจง่าย สมองก็จะพ่นคำตอบมากมายออกมา ราวกับภูเขาไฟที่กำลังพ้นลาวา อย่างไรก็ตาม นั้นทำให้เกิดความผิดพลาด 3 ประการ

ความผิดพลาดแรกคือ การแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ไม่ได้สนใจ

ความผิดพลาดที่ 2 คือ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีคำตอบ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นน่าจะล่มอีกเมื่อไหร่ มีจักรวาลมากกว่าหนึ่งจักรวาลใช่หรือไม่ ไม่มีใครสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างมั่นใจ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น ต้องระวังเรื่องการพูดความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องทำนองนี้

ความผิดพลาดที่ 3 คือ การแสดงความคิดเห็นอย่างรีบร้อนเกินไป เกี่ยวกับเรื่องที่ซับซ้อนเหมือนคำถามต่าง ๆ ซึ่งนี่เป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงที่สุด คนเรามีแนวโน้มที่จะเลือกฝั่งในทันที โดยเฉพาะในกรณีที่เรื่องนั้นมีความซับซ้อน จากนั้นสมองส่วนเหตุผลจึงจะค้นหาเหตุผลมารองรับ และสนับสนุนจุดยืนนี้คือ การตัดสินจากความรู้สึกแรก ๆ ความรู้สึกแวบแรกคือสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและฉาบฉวย มันตื้นเขินและมีเพียง 2 ขั้วซึ่งก็คือบวกกับลบ พูดง่าย ๆ ว่ามีแค่ชอบกับไม่ชอบเท่านั้น

นอกจากความคิดเห็นที่ไม่ถี่ถ้วนพอ จะสามารถก่อให้เกิดการตัดสินใจแย่ ๆ ซึ่งนำไปสู่เหตุผลที่ดีอีกประการหนึ่งว่า ทำไมถึงไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็นอย่างรวดเร็วนั้นก็คือ จะรู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้น เมื่อไม่ต้องพะวงกับการพยายามแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิตที่ดี

บทที่ 31

ป้อมปราการความคิด

วงล้อแห่งโชคชะตา

หนังสือเรื่อง The Consolation of Philosophy ได้กลายเป็นหนึ่งในหนังสือของยุคกลาง ที่มีผู้อ่านมากที่สุด มันไม่ได้พูดถึงความเชื่อทางศาสนาคริสต์ ซึ่งแตกต่างจากหนังสือส่วนใหญ่ของยุคกลางที่ได้รับความนิยม เป็นเครื่องมือทางความคิดในการรับมือกับสถานการณ์ใหม่ที่ไม่อาจหลีกหนีได้ ต่อไปนี้คือบทสรุปโดยย่อเกี่ยวกับคำแนะนำ

คำแนะนำแรก จงยอมรับการมีอยู่ของโชคชะตา โดยช่วงเวลาที่ดีและช่วงเวลาที่เลวร้าย จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น ผู้ที่เชื่อในแนวคิดนี้และวาดฝันถึงช่วงเวลาที่วงล้อขึ้นไปสู่จุดสูงสุด ต้องยอมรับว่าสุดท้ายแล้วพวกเขา ก็จะพบกับช่วงเวลาที่วงล้อรถลงสู่จุดต่ำสุดอีกครั้ง ดังนั้นจงอย่ากังวลมากเกินไปว่ากำลังขึ้นสูงหรือลงต่ำ เพราะทุกอย่างสามารถพลิกผันแบบกลับตาลปัตรได้ทุกเมื่อ

คำแนะนำที่ 2 ทุกสิ่งทุกอย่างที่ครอบครอง ให้ความสำคัญ และรักล้วนไม่จีรัง ทัศนคติที่ดีที่สุดที่ควรยึดถือคือ ทุกสิ่งล้วนเป็นเพียงสิ่งที่ยืมมา และอาจถูกทวงคืนเมื่อไหร่ก็ได้ อย่างน้อยก็ด้วยความตาย

คำแนะนำที่ 3 หากสูญเสียสิ่งต่าง ๆ มากมาย หรือถึงขั้นสูญเสียทุกอย่าง ให้ระลึกไว้ว่าแท้จริงแล้วชีวิตมีสิ่งดี ๆ มากกว่าสิ่งแย่ ๆ จึงไม่ควรคร่ำครวญเมื่อสูญเสีย

คำแนะนำที่ 4 สิ่งที่ไม่มีใครจะพรากไปได้ก็คือความคิด เครื่องมือทางความคิด รวมถึงวิธีที่ตีความ สิ่งเหล่านี้คือป้อมปราการความคิด ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งอิสรภาพที่ไม่มีใครรุกรานได้

เชื่อว่าน่าจะเคยได้ยิน หรืออ่านแนวคิดที่คล้ายคลึงกับคำแนะนำเหล่านี้มาหมดแล้ว เพราะนี่คือหลักการพื้นฐานของลัทธิสโตอิก ปรัชญาชีวิตชั้นสูงที่นำไปปฏิบัติได้จริงนี้ ถือกำเนิดขึ้นที่กรุงเอเธนส์เมื่อ 400 ปีก่อนคริสตกาล ลัทธิสโตอิกเป็นปรัชญาสาขาเดียว ที่นำเสนอคำตอบซึ่งนำไปปฏิบัติได้จริง สำหรับคำถามต่าง ๆ ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ในขณะที่สาขาและแขนงอื่น ๆ ของปรัชญา เน้นการปลุกเร้าทางสติปัญญา แต่แทบไม่ได้ชี้แนะแนวทางในการรับมือกับชีวิตเลย

โลกใบนี้เต็มไปด้วยความวุ่นวาย และความเป็นไปได้ จึงไม่แปลกที่บางครั้งชีวิต ก็ขึ้นไปอยู่ในจุดสูงสุดของวงล้อแห่งโชคชะตา ทว่าความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่สถานะทางสังคม รถยนต์ราคาแพง เงินออมในบัญชีธนาคาร หรือความสำเร็จในโลกภายนอก สิ่งเหล่านี้อาจถูกพรากไปได้ในเสี้ยววินาที ความสุขที่แท้จริงอยู่ในป้อมปราการความคิด ดังนั้น จงลงทุนกับป้อมปราการนี้

บทที่ 32

ความอิจฉา

กระจกวิเศษจงบอกข้าเถิด

ความไร้ประโยชน์ของความอิจฉา ไม่ใช่แนวคิดที่เพิ่งเกิดขึ้น แม้แต่นักปรัชญายุคกรีกก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงมัน ความอิจฉาคือหนึ่งในบ่อเกิดความทุกข์ที่สำคัญที่สุด ความอิจฉาส่งผลต่อความพึงพอใจในชีวิตยิ่งกว่าโรคภัยไข้เจ็บทางกาย หรือความล้มเหลวทางการเงินเสียอีก และความสามารถในการจัดการอารมณ์ความรู้สึกนี้ ก็เป็นพื้นฐานของชีวิตที่ดี สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความอิจฉาก็คือ ยิ่งเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นมากเท่าไหร่ ความอิจฉาก็จะยิ่งอันตรายมากขึ้นเท่านั้น

ตอนนี้พบวิธีแก้ปัญหาแล้ว นั่นคือจงหยุดเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น แล้วจะได้สัมผัสกับชีวิตอันแสนสุข ที่ปราศจากความอิจฉา การหลีกหนีความอิจฉาคือกฎทอง ทว่านั่นเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก เพราะบางครั้งการเปรียบเทียบก็เป็นสิ่งที่ยากจะหลีกหนีได้ ไม่เคยมีช่วงเวลาใดที่ผู้คนจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ๆ จำนวนมากขนาดนี้มาก่อน อินเตอร์เน็ตทำให้ความอิจฉากลายเป็นโรคระบาดในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ควรระวังภาพลวงตาจากการจดจ่อ การตระหนักว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นผลจากภาพลวงตาจากการจดจ่อ ความคิดจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดจากความอิจฉา จงจำไว้ว่าสิ่งที่อิจฉานั้น ล้วนมีความสำคัญน้อยกว่าที่คิด ในกรณีที่ว่าชีวิตนั้นยอดเยี่ยมมากจนน่าอิจฉาจงถ่อมตัวเข้าไว้ การทำเช่นนี้เท่ากับกำลังป้องกัน ไม่ให้ผู้อื่นต้องพบกับความเจ็บปวดอันแสนเลวร้ายของความอิจฉา การถ่อมตัวคือการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการประสบความสำเร็จก็คือ การไม่พูดถึงมัน

บทที่ 33

การป้องกัน

จงหลีกเลี่ยงปัญหาก่อนที่มันจะกลายเป็นสิ่งที่ต้องหาทางแก้ไข

ปัญญาคือความสามารถที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มันคือมาตรวัดในการประเมินทักษะที่ใช้ในการดำเนินชีวิต และเมื่อตระหนักว่าแท้จริงแล้ว การหลีกเลี่ยงปัญหานั้นง่ายกว่าการแก้ไข ก็จะพบว่าคำจำกัดความอันเรียบง่ายที่ว่า ปัญญาคือการป้องกันนั้นถูกต้องแล้ว ความจริงก็คือชีวิตเป็นเรื่องยาก ปัญหามากมายถาโถมเข้ามารอบด้าน โชคชะตาสร้างหลุมพรางเอาไว้ และโยนอุปสรรคเข้ามากีดขวางเส้นทาง ไม่อาจเปลี่ยนแปลงอะไรได้

การป้องกันไม่ใช่สิ่งที่มีคุณค่าน้อย การขาดจินตนาการแสดงให้เห็นว่า การป้องกันไม่ได้อาศัยแค่ความรู้ แต่ต้องอาศัยจินตนาการด้วย ทว่าน่าเสียดายที่จินตนาการมักถูกเข้าใจผิด โดยผู้คนจำนวนมากทึกทักไปว่า การจินตนาการหมายถึงการปล่อยให้ความคิดล่องลอยไป อันที่จริงการจินตนาการหมายถึง การบังคับตัวเองให้คิดถึงความเป็นไปได้ และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ในกรณีของปัญหาที่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้นั้น การหลีกเลี่ยงมันตั้งแต่แรกง่ายกว่าการแก้ปัญหาในภายหลัง ปัญญาคือการป้องกัน มันไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นจะมองเห็นได้ จึงไม่สามารถโอ้อวดมันได้ แต่ก็อย่างที่รู้อยู่แล้วว่า การกังวลเรื่องภาพลักษณ์ไม่ใช่หนทางสู่ชีวิตที่ดี

บทที่ 34

การบรรเทาภาระทางความคิด

ไม่ใช่ผู้รับผิดชอบสภาวการณ์ของโลก

เรื่องเลวร้ายเปรียบเหมือนเสียงร้องขอความช่วยเหลือ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็อดนึกถึงความอยุติธรรมบนโลกนี้ไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีกลยุทธ์ระดับบุคคล หรือเครื่องมือทางความคิดที่จะช่วยให้รับมือกับเหตุการณ์เลวร้ายเหล่านี้ได้ โดยไม่สูญเสียความสงบสุขทางจิตใจ และต่อไปนี้ก็คือกลยุทธ์ 5 ข้อ

กลยุทธ์แรก จงระลึกไว้เสมอว่าทำอะไรไม่ได้มากนัก

กลยุทธ์ที่ 2 สิ่งที่ควรบริจาค ถ้าอยากช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้คนบนโลกนี้คือเงิน อย่าบริจาคเวลา ผู้คนจำนวนมากติดกับดักของความเข้าใจผิด ของคนที่อยากเป็นอาสาสมัคร โดยเชื่อว่างานอาสาสมัครนั้นมีคุณค่า ทว่าความจริงมันคือการเสียเวลาโดยไม่คุ้มค่า เวลาจะมีคุณค่ามากกว่าหากนำมันไปลงทุนกับสิ่งที่อยู่ในขอบเขตแห่งความสามารถ เพราะนี่คือสิ่งที่จะสร้างคุณค่าและรายได้ได้สูงสุดในแต่ละวัน

กลยุทธ์ที่ 3 จงกำจัดการเสพข่าวสารอย่างเคร่งครัด การให้ความสนใจโศกนาฏกรรมระดับโลก ก็ไม่ต่างอะไรจากการทำตัวเป็นพวกถ้ำมอง การติดตามสถานการณ์ อาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองช่างมีมนุษยธรรม แต่ความจริงคือกำลังหลอกตัวเองและผู้เคราะห์ร้าย สิ่งที่ทำอยู่ไม่ได้มีคุณค่าด้านมนุษยธรรม เพราะมันไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครเลย

กลยุทธ์ที่ 4 จงมองว่าจักรวาลนี้มีดาวดวงอื่นอีกนับไม่ถ้วน ที่เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิต ซึ่งต้องพบเจอกับวิกฤต หายนะ รวมถึงความทุกข์ทรมานแบบเดียวกับที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้

กลยุทธ์ที่ 5 จงระลึกไว้ว่าไม่ใช่ผู้รับผิดชอบสภาวการณ์ของโลก แม้จะฟังดูใจดำและไม่มีความเห็นอกเห็นใจเอาเสียเลย แต่มันคือความจริง

จงหากลยุทธ์ที่จะช่วยให้รับมือ กับเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ได้ สิ่งสำคัญคือต้องมีกลยุทธ์ ไม่เช่นนั้นการใช้ชีวิตก็จะกลายเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะจะจมอยู่กับเหตุการณ์เลวร้ายจำนวนมาก ที่ยังไม่มีทางแก้ไขและได้แต่รู้สึกผิด ซึ่งภาระอันนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดเลย

บทที่ 35

หลุมพรางเรื่องการจดจ่อ

วิธีจัดการทรัพยากรที่สำคัญที่สุด

การจดจ่อนั้นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ นำมันไปใช้กับอะไร ประเด็นที่น่าสังเกตคือ แทนที่จะเลือกสิ่งที่จะจดจ่อแบบเฉพาะเจาะจง พวกมันแข่งการแย่งชิงความสนใจ โดยบางสิ่งก็น่าเบื่อและบางสิ่งก็น่าตื่นเต้น คำยกยอ คำวิงวอน และข้อเสนอเหล่านี้ ทำให้รู้สึกราวกับว่าตัวเองเป็นพระราชา ทั้งที่ความจริงแล้วควรรู้สึกว่าตัวเองเป็นทาส ที่ถูกบังคับให้รับสารพัดสิ่งที่ผู้อื่นป้อนให้ แท้จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นคือขโมยไม่ใช่ของขวัญ มันคือความพ่ายแพ้ไม่ใช่ชัยชนะ มันคือรายจ่ายไม่ใช่รายรับ

ต้องสูญเสียทรัพยากรบางอย่าง เช่น การจดจ่อ เวลา หรือแม้แต่เงิน มีแนวโน้มที่จะทำผิดพลาดเกี่ยวกับการจดจ่อด้วย ทว่าวิธีต่อไปนี้คือกุญแจสำคัญ ที่จะช่วยให้หลีกเลี่ยงความผิดพลาดได้

ข้อที่ 1 อย่าสับสนระหว่างสิ่งใหม่กับสิ่งที่สำคัญ ความจริงคือส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่หลายคนมองว่าเป็นนวัตกรรมแห่งการปฏิวัตินั้น ไม่ได้สำคัญอะไรเลย

ข้อที่ 2 จงหลีกเลี่ยงคอนเทนต์ หรือเทคโนโลยีที่ฟรี สิ่งเหล่านี้คือหลุมพรางเรื่องการจดจ่อ ที่พยายามดึงดูดให้เข้าไปหา เพราะมันได้รับเงินจากโฆษณา

ข้อที่ 3 จงอยู่ให้ห่างจากทุกอย่างที่เป็นมัลติมีเดีย ทั้งภาพ ภาพเคลื่อนไหว และความเป็นจริงเสมือน ล้วนเร่งเร้าอารมณ์ความรู้สึกให้แล่นพล่านจนเกินระดับปลอดภัย

ข้อที่ 4 พึงระลึกไว้เสมอว่า การจดจ่อไม่ใช่สิ่งที่สามารถแบ่งแยกได้ มันไม่เหมือนเวลาและเงิน

ข้อที่ 5 จงอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ ไม่ใช่สถานะที่เสียเปรียบ เมื่อใครสักคนนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้ร้องขอ เพื่อแย่งชิงความสนใจ จะตกอยู่ในสถานการณ์เสียเปรียบโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้การจดจ่อและความสุข มีความเชื่อมโยงกันด้วย มันเกี่ยวข้องกันในทุกด้าน ความสุขขึ้นอยู่กับว่าจัดการการจดจ่อของตัวเองอย่างไร เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต สามารถส่งผลต่อความสุขได้มากน้อยหรือไม่มีผลเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจดจ่ออยู่กับมันมากแค่ไหน เมื่อจดจ่อความคิดอยู่กับสิ่งใด ชีวิตก็จะมุ่งตรงไปในทิศทางนั้น แต่ละชั่วขณะในชีวิตล้วนเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ถ้าตั้งใจจดจ่ออยู่กับชั่วขณะนั้น ก็จะได้สิ่งดี ๆ จากชีวิตมากขึ้น จงวิเคราะห์ เข้มงวด และระมัดระวังเรื่องการรับข้อมูล เช่นเดียวกับที่วิเคราะห์เข้มงวด และระมัดระวังเรื่องอาหารและยา

บทที่ 36

หลักการอ่านให้น้อยลงแต่อ่าน 2 รอบ

คนเรากำลังอ่านหนังสือด้วยวิธีที่ผิด

การอ่านหนังสือจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อจดจำเนื้อหาส่วนใหญ่ไม่ได้เลย แน่นอนว่าประสบการณ์ที่ได้รับขณะอ่านก็มีความสำคัญ คาดหวังว่าการอ่านจะมีอิทธิพลต่อตัวตน แต่จดจำสิ่งที่อ่านได้น้อยมาก เพราะกำลังอ่านด้วยวิธีที่ผิด ไม่ได้เลือกเฟ้นสิ่งที่จะอ่านให้ดี และไม่ได้อ่านให้ละเอียดถี่ถ้วนพอ ตั้งใจอ่านให้ดีขึ้นและอ่าน 2 รอบ โดยลองอ่านไม่เกิน 10 นาที จากนั้นก็ตัดสินใจว่าจะอ่านหนังสือเรื่องนั้นต่อไปหรือไม่ ผลลัพธ์ของการอ่าน 2 รอบนั้นไม่ได้มากกว่า ผลลัพธ์ของการอ่านรอบเดียวเพียง 2 ครั้ง แต่มันมากกว่านั้นอย่างมหาศาล ผลลัพธ์ที่ได้นั้นมากกว่าถึง 10 เท่า

กุญแจสำคัญในที่นี้ก็คือ การดำดิ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความผิวเผิน ต่อไปนี้คือคำแนะนำเพิ่มเติม

ข้อแรกคือ การประเมินระดับของประสิทธิภาพ โดยสามารถใช้วิธีนี้ในการประเมินหนังสือที่ต้องการอ่าน เพื่อนำไปใช้งานไม่ใช่เพื่อความบันเทิง หนังสือคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพมากกว่า

ข้อที่ 2 คือนิยายแนวสืบสวนสอบสวนและเขย่าขวัญไม่อยู่ในระบบ แน่นอนว่าไม่มีใครอยากหาตัวฆาตกรอีกรอบ ทั่งที่รู้คำตอบอยู่แล้ว

ข้อที่ 3 คือ ต้องตัดสินใจว่าตั๋วอ่านหนังสือจะมีกี่ช่อง สำหรับผู้เขียนกำหนดไว้ที่ 100 ช่องสำหรับช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้าเฉลี่ยแล้ว 10 เรื่องต่อปี

ข้อที่ 4 คือ หากอายุยังน้อย โดยเฉพาะในกรณีที่ยังอยู่ในช่วงแรกของชีวิต การอ่านบทความ อ่านหนังสือให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้

การอ่านแบบสุ่มอย่างเต็มที่ในช่วงหลายปีแรกของชีวิต การอ่านเปรียบเหมือนการศึกษาตัวอย่างจำนวนมาก ในเชิงสถิติผลคือจะเห็นภาพรวมของโลกหนังสือ ทั้งยังตัดสินใจได้ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เลือกหนังสือที่จะอ่านได้อย่างเฉียบขาด ในภายหลังเมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 30 แล้ว ก็นับว่าชีวิตที่เหลือสั้นเกินกว่าที่จะเสียเวลาไปกับหนังสือห่วย ๆ

บทที่ 37

กับดักของอุดมการณ์

ทำไมคนที่ยึดมั่นในอุดมการณ์ ถึงมองสิ่งต่าง ๆ ง่ายเกินไป

คนเราคิดว่าตัวเองเข้าใจสิ่งต่าง ๆ มากพอ แต่เมื่อต้องอธิบายออกมาถึงตระหนักว่า ความรู้ยังมีช่องโหว่อีกมากมาย เชื่อว่าตัวเองเข้าใจบางอย่างดีกว่าความเป็นจริง นี่คือภาพลวงตาที่ว่าด้วยความรู้ ด้วยเหตุนี้จึงใช้ทางลัดอันสะดวกสบาย ซึ่งนำไปสู่สิ่งที่แปลกประหลาดอย่างยิ่ง นั่นคือแทนที่จะอ่านหนังสือเกี่ยวกับหัวข้อนั้น ๆ หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ กลับขอรับความคิดเห็นจากกลุ่มคนรอบตัว ความคิดเห็นจึงตั้งอยู่บนความเป็นจริงน้อยกว่าที่คิด เพราะมันเป็นสิ่งที่รับมาจากชุมชนแห่งความรู้

เมื่อความโน้มเอียงที่จะทำตามความคิดเห็นของกลุ่ม ไม่ได้หยุดอยู่แค่เรื่องส่วนตัว แต่ยังไปถึงโลกทัศน์ด้วย มันก็สามารถนำไปสู่หายนะได้ และจุดนี้เองที่อุดมการณ์เข้ามามีบทบาท อุดมการณ์คือแนวคิดที่มีพลังมหาศาล ซึ่งมาพร้อมกับความคิดเห็นชุดหนึ่ง จงหลีกเลี่ยงอุดมการณ์ และความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์ โดยเฉพาะในกรณีที่รู้สึกเห็นพร้องกับมัน อุดมการณ์เป็นสิ่งที่แย่ มันทำให้โลกทัศน์แคบลง และผลักดันให้ตัดสินใจได้อย่างเลวร้าย จะรู้ได้ว่าสิ่งนั้นคืออุดมการณ์ สามารถสังเกตเห็นได้จากสัญญาณเตือนภัย 3 ข้อต่อไปนี้

  1. มันอธิบายทุกอย่างได้
  2. มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจโต้แย้งได้

และ 3. มันฟังดูคลุมเครือ

หากมองในแวบแรกอุดมการณ์ที่ไม่มีสิ่งใดจะโต้แย้งได้ ดูเหมือนเป็นข้อดี ทว่าแท้จริงแล้วทฤษฎีที่ไม่มีสิ่งใดโต้แย้งได้นั้น ไม่ได้แข็งแกร่งเลย และก็สามารถทำลายมันได้ง่ายมาก อุดมการณ์มักซ่อนอยู่เบื้องหลังม่านควันแห่งความคลุมเครือ เพื่อป้องกันการถูกโจมตีให้ได้มากที่สุด นั่นคือสัญญาณเตือนภัยที่ 3 ที่จะช่วยจำแนกอุดมการณ์

จงคิดด้วยตนเอง อย่าศรัทธาในความคิดเห็นของกลุ่มมากเกินไป และเหนือสิ่งอื่นใดคือ จงหลีกหนีให้ไกลจากความเชื่อที่ไร้ข้อพิสูจน์ ยิ่งตระหนักได้เร็วเท่าไหร่ว่า ตัวเองไม่เข้าใจโลก ก็จะยิ่งเข้าใจโลกอย่างลึกซึ้งมากขึ้นเท่านั้น

บทที่ 38

การหักลบทางความคิด

จะรู้ได้อย่างไรว่ามีความสุข

กลยุทธ์ที่มีชื่อเรียกทางจิตวิทยาว่า การหักลบทางความคิด และเป็นเครื่องมือสำหรับชีวิตที่ดี ที่ควรมี มาทำการทดลองอย่างรวดเร็วกัน ก่อนอื่นขอให้ตอบคำถามว่า มีความสุขกับชีวิตของตัวเองมากแค่ไหนในภาพรวม ขั้นตอนต่อไปหลับตาลง จินตนาการว่าสูญเสียแขนขวาไปจะรู้สึกอย่างไร ชีวิตยากลำบากขึ้นแค่ไหนเมื่อมีแขนข้างเดียว คราวนี้ให้จินตนาการต่อว่า สูญเสียแขนซ้ายไปด้วย จะรู้สึกอย่างไร สุดท้ายนี้ให้จินตนาการว่า สูญเสียการมองเห็น ถึงจะยังคงได้ยินเสียงต่าง ๆ แต่ไม่มีทางมองเห็นวิวทิวทัศน์ใด ๆ อีกจะรู้สึกอย่างไร

ใช้เวลาอย่างน้อย 2 นาทีในการทบทวนทั้ง 3 สถานการณ์นี้อีกครั้ง เพื่อสัมผัสถึงความรู้สึกของตัวเองอย่างลึกซึ้งหลังทำการทดลอง ตอนนี้มีความสุขแค่ไหนกับชีวิตของตัวเอง คนส่วนใหญ่จะรู้สึกมีความสุขมากขึ้นแบบพุ่งทะยาน ประเด็นสำคัญคือต้องไม่คิดในเชิงนามธรรม แต่ต้องรู้สึกถึงสถานการณ์นั้นจริง ๆ ความรู้สึกขอบคุณเป็นสิ่งที่ควรรู้สึก เมื่อนึกถึงความโชคดีทั้งหมดในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความโชคดีที่ได้เกิดมา แต่เมื่อมองอย่างลึกซึ้งก็จะเห็นว่า ความรู้สึกขอบคุณมีปัญหาอยู่ 2 อย่าง

ปัญหาแรกคือ ขอบคุณใคร หากไม่ได้นับถือศาสนาก็อาจคิดว่า ไม่มีใครที่ต้องขอบคุณ

ส่วนปัญหาที่ 2 คือ ความเคยชิน สมองของคนเราตอบสนองอย่างรุนแรงต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ปรับตัวอย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์ต่าง ๆ นี่เป็นข้อดีเมื่อเกิดหายนะขึ้น นี่คือผลจากความเคยชินเรียกว่า ระบบภูมิคุ้มกันทางจิตใจ การหักลบทางความคิดช่วยเพิ่มความสุขได้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับการจดจ่ออยู่กับเรื่องดี ๆ การหักลบทางความคิดช่วยหลีกเลี่ยงผลร้าย การหักลบทางความคิดมีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ในการหลอกสมองให้เห็นคุณค่าของสิ่งดี ๆ ในชีวิตให้มากขึ้น กลยุทธ์นี้ทำให้มีความสุข มันจึงเป็นหนึ่งในสิ่งที่นำไปสู่ชีวิตที่ดี

บทที่ 39

จุดอิ่มตัวของการตรึกตรอง

การคิดคือไฟฉาย ส่วนการลงมือทำคือสปอตไลต์

ความคิดที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นตอนที่กำลังเขียน ไม่ใช่ตอนที่กำลังครุ่นคิด ความเข้าใจอันลึกซึ้งนี้ก็นับว่ามีประโยชน์ เพราะมันเป็นจริงกับทุกกิจกรรมของมนุษย์ นั่นก็เพราะโลกเป็นสิ่งที่เข้าใจยาก มันคลุมเครือและขุ่นมัว ความเป็นจริงไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนทุกแง่มุม แม้แต่ผู้ที่ปราดเปรื่องที่สุดก็ยังมองเห็นได้แค่ระยะใกล้ ๆ ในบางทิศทางเท่านั้นถ้าอยากไปให้ไกลเกินขีดจำกัดความรู้ของตัวเองก็ต้องเดินไปข้างหน้า การคิดถึงเหมือนไฟฉาย ส่วนการลงมือทำคือสปอร์ตไลท์ ลำแสงของมันสอดส่องไปไกลถึงโลกที่การคิดไม่อาจมองเห็น และเมื่อพบสิ่งใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ก็สามารถเปิดไฟฉายอีกครั้งได้ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือชีวิตประจำวัน ความก้าวหน้าแทบทั้งหมดที่นำไปสู่ความเข้าใจที่ยิ่งใหญ่กว่า ล้วนเป็นผลจากการลงมือทำ

เพื่อรับมือกับโลกนี้ไม่อาจมองเห็นได้ นั่นคือการเปิดทางไปสู่โลกที่ไม่รู้จัก ภาพลวงตาที่ว่าด้วยการใครควรสิ่งที่อยู่ในใจตัวเองคือ คำศัพท์ในแวดวงจิตวิทยา ซึ่งหมายถึงความเข้าใจผิดว่า การใคร่ครวญจะช่วยให้ค้นพบความปรารถนาที่แท้จริง จุดหมายของชีวิตหรือแก่นแท้ของชีวิตอันเปี่ยมสุข ความจริงคือมันจะทำให้จมอยู่กับความหงุดหงิด ความคิดที่คลุมเครือ และอารมณ์ความรู้สึกที่แล่นพล่าน ดังนั้น ครั้งต่อไปที่กำลังจะตัดสินใจเรื่องสำคัญ จงคิดอย่างถี่ถ้วนและหยุดเมื่อถึงจุดอิ่มตัวของการตรึกตรอง ซึ่งจะประหลาดใจเมื่อพบว่าไปถึงจุดนั้นเร็วแค่ไหน เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วจงปิดไฟฉายแล้วเปิดสปอร์ตไลท์ คำแนะนำนี้มีประโยชน์ทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน

บทที่ 40

รองเท้าของผู้อื่น

การสลับบทบาท

การคิดจากมุมมองของฝั่งตรงข้ามนั้นแทบไม่เคยได้ผลเลย เพราะมันต้องอาศัยพลังสมองมากเกินไป และก็ไม่มีแรงจูงใจมากพอให้ทำเช่นนั้น ถ้าอยากเข้าใจใครสักคนได้อย่างแท้จริง ต้องเข้าไปอยู่ในจุดเดียวกับพวกเขา ไม่ใช่ในแง่ของความคิด แต่เป็นในแง่ของความเป็นจริง ต้องสวมรองเท้าของพวกเขา และสัมผัสประสบการณ์ของพวกเขาด้วยตัวเอง การคิดและการลงมือทำคือวิธีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในการทำความเข้าใจโลก

ผู้คนจำนวนมากกลับสับสนในเรื่องนี้ แล้วการคิดจะนำไปสู่การลงมือทำที่สอดคล้องกันอย่างสมบูรณ์แบบได้ อย่างน้อยก็ในเรื่องที่เป็นนามธรรมอย่างศีลธรรม ทันทีที่ยอมรับว่าการคิดกับการลงมือทำ เป็นโลกที่แยกออกจากกัน ก็จะทำนำความรู้ข้อนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ การสวมรองเท้าของผู้อื่น และเดินด้วยรองเท้าคู่นั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า จงนำวิธีนี้ไปใช้กับความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุดในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกับคนรัก ลูกค้า พนักงาน การสลับบทบาทเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ ได้ผลรวดเร็ว และคุ้มค่าที่สุดในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน

บทที่ 41

ภาพลวงตาที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโลก ภาคที่ 1

อย่าหลงเชื่อทฤษฎีผู้ยิ่งใหญ่

แนวคิดที่ว่าปัจเจกชนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้ เป็นหนึ่งในอุดมคติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้ และเป็นหนึ่งในภาพลวงตาที่ร้ายแรงที่สุดด้วย โดยแนวคิดนี้มีอคติทางความคิด 2 อย่างซ่อนอยู่

อย่างแรกคือภาพลวงตาจากการจดจ่อความคิด กล่าวคือเมื่อจดจ่ออยู่กับโครงการเพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก ก็จะรู้สึกว่ามันมีความสำคัญมากกว่าความเป็นจริง

อคติทางความคิดอย่างที่ 2 คือ จุดยืนที่ตั้งอยู่บนเจตจำนง กล่าวคือสันนิษฐานว่าทุกการเปลี่ยนแปลงมีเจตจำนงของใครบางคนอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าแท้จริงแล้วสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาจริงหรือไม่ก็ตาม

อคติทางความคิดนี้ฝังรากลึกมาตั้งแต่อดีต ช่วงที่วิวัฒนาการขึ้นมา ซึ่งส่งผลให้เชื่อว่าคิดมากเกินไปย่อมดีกว่าคิดน้อยเกินไป มนุษย์ในทุกวันนี้คือทายาทของสายพันธุ์โอมินิด ซึ่งมีอคติเรื่องจุดยืนที่ตั้งอยู่บนเจตจำนงรุนแรงเกินไป มันฝังรากลึกอยู่ในสมอง นั่นคือเหตุผลว่าทำไมถึงมองเจตนา และเจ้าของเจตนานั้นเสมอ ทั้งที่บางครั้งมันก็ไม่ได้มีอยู่จริง จุดยืนที่ตั้งอยู่บนเจตจำนง ทำให้ตีความไปว่าประวัติศาสตร์ของโลกก็คือ ประวัติศาสตร์ของผู้ยิ่งใหญ่

แท้จริงแล้วประวัติศาสตร์โลกนั้นยุ่งเหยิง ตั้งอยู่บนความบังเอิญ และคาดการณ์ไม่ได้ หากศึกษาประวัติศาสตร์มานานพอ ก็จะเห็นว่าทุกการพัฒนาครั้งสำคัญล้วนมีเหตุบังเอิญบางอย่างเกิดขึ้น และแม้แต่บุคคลสำคัญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ก็เป็นเพียงหุ่นเชิดในยุคสมัยของพวกเขา ดังนั้น กุญแจสำคัญสู่ชีวิตที่ดีก็คือ อย่าเทิดทูนผู้ยิ่งใหญ่ และอย่ายึดติดกับภาพลวงตาที่ว่า สามารถเป็นแบบพวกเขาได้เช่นกัน

บทที่ 42

ภาพลวงตาที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงโลก ภาค 2

ทำไมจึงไม่ควรชื่นชมใครมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเอง

นักประดิษฐ์ผู้โด่งดัง และ CEO ผู้เก่งกาจล้วนเป็นผลผลิตของยุคสมัย ไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดยุคสมัยนั้น จริงอยู่ว่าคนเหล่านี้ใช้ความสามารถของพวกเขาในการลงมือทำสิ่งสำคัญ แต่ถึงจะไม่มีพวกเขาสุดท้ายใครสักคนก็จะลงมือทำสิ่งนั้นอยู่ดี ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรชื่นชมผู้ยิ่งใหญ่มากเกินไป และควรถ่อมตัวในความสำเร็จของตัวเอง ไม่ว่าความสำเร็จจะพิเศษมากแค่ไหน ความจริงคือมันเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้ว

ผลกระทบที่มีต่อโลกใบนี้นับว่าเล็กน้อยมาก หากมองในภาพใหญ่ก็จะเห็นว่า ไม่มีความสำคัญ ไม่จำเป็นและสามารถถูกแทนที่ได้ พื้นที่เดียวที่จะสร้างความแตกต่างได้อย่างแท้จริงก็คือ ชีวิตของตัวเอง จงทุ่มเทความสนใจให้กับสิ่งที่อยู่รอบตัว แล้วไม่นานจะเห็นว่าลำพังแค่การจัดการชีวิตของตัวเองก็ยากพอแล้ว แล้วจะเสนอตัวไปเปลี่ยนแปลงโลกเพื่ออะไร อย่าหาเรื่องให้ตัวเองต้องผิดหวังเลย

บทที่ 43

เหตุผลวิบัติที่ว่าด้วยโลกอันยุติธรรม

ทำไมชีวิตจึงไม่เหมือนกับนิยายอาชญากรรมแบบดั้งเดิม

ความปรารถนาที่จะไขว่คว้าความยุติธรรมของคนเรานั้น ยิ่งใหญ่มากเสียจนทนแทบไม่ไหว เมื่อนึกถึงความไม่ยุติธรรม มันไม่ใช่แค่ความปรารถนาทั่วไป แต่เป็นความปรารถนาที่ทึกทักเอาเองว่า มันจะต้องกลายเป็นความจริงในที่สุด หากไม่ใช่ตอนนี้ก็ต้องเป็นในอนาคต ลึก ๆ แล้วคนส่วนใหญ่เชื่อว่า โลกนี้ยุติธรรม พวกเขาเชื่อว่าความดีจะได้รับผลตอบแทน และความชั่วร้ายจะถูกลงโทษ แต่เกรงว่าความจริงจะไม่เป็นเช่นนั้น

แท้จริงแล้วโลกนี้ไม่ได้ยุติธรรม แถมยังไม่ยุติธรรมอย่างมากด้วย เชื่อว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หากยอมรับความจริงว่า โลกนี้ไม่ยุติธรรม และรับมือกับมันด้วยการปล่อยวาง การทำเช่นนี้จะช่วยให้ไม่ต้องรู้สึกผิดหวัง เมื่อพบเจอกับความไม่ยุติธรรมอีกมากมายในชีวิต หากมองในมุมของจิตวิทยานี้เป็นกลยุทธ์อันสมบูรณ์แบบ ในการรับมือกับความโหดร้ายของโชคชะตา ความจริงคือไม่มีแผนการเพื่อโลกที่ยุติธรรม ไม่มีแม้แต่แผนการที่ไม่ยุติธรรม ไม่มีแผนการอะไรเลย

โดยพื้นฐานแล้วโลกนี้ไร้ศีลธรรม ความจริงข้อนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนยากจะยอมรับได้ โดยวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า เหตุผลวิบัติที่ว่าด้วยโลกอันยุติธรรม อย่างไรก็ตามนี่ไม่ได้หมายความว่า ควรยอมรับความไม่ยุติธรรมทุกรูปแบบ และไม่ต้องทำสิ่งต่าง ๆ เพียงแต่ต้องยอมรับว่า ความไม่ยุติธรรมที่ไม่สามารถจัดการได้นั้นมีอยู่มากมาย หนึ่งในองค์ประกอบของชีวิตที่ดีคือ การยอมรับความจริงข้อนี้โดยสมบูรณ์ แล้วจดจ่ออยู่กับชีวิตประจำวันของตัวเอง

มีสิ่งที่ต้องจัดการอยู่มากมาย จนต้องยุ่งวุ่นวายอยู่ทุกวัน สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเส้นทางชีวิต แทบไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับความจริงที่ว่า เป็นคนที่ดีหรือแย่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ต้องพบเจอกับโชคชะตาอันโหดร้าย ดังนั้น จงยอมรับความทุกข์และโชคร้ายด้วยความสุขุมและเยือกเย็น รวมทั้งทำเช่นเดียวกันนี้กับความสำเร็จ และโชคดีอันเหลือเชื่อด้วย

บทที่ 44

ลัทธิคาร์โก้

อย่าสร้างเครื่องบินด้วยฟาง

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 หมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกจำนวนหนึ่ง กลายเป็นสมรภูมิของหนึ่งในการรบที่ดุเดือดที่สุด ระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับอเมริกา เมื่อสงครามสิ้นสุดลง และทหารถอนทัพออกไปแล้ว ชนพื้นเมืองก็กลับมาอยู่เพียงลำพังอีกครั้ง แล้วก็เกิดเรื่องแปลกประหลาดขึ้น มีลัทธิใหม่ผุดขึ้นบนเกาะหลายแห่ง ซึ่งนั่นก็คือลัทธิคาร์โก้ ชนพื้นเมืองเริ่มเผาใบไม้บนยอดเขา และนำก้อนหินมาวางล้อมรอบบริเวณพื้นที่โล่งเตียนนั้น พวกเขาสร้างเครื่องบินขนาดเท่าของจริงด้วยฟาง และตั้งมันไว้บนรันเวย์จำลอง สร้างหอวิทยุด้วยไม้ไผ่ แกะสลักไม้ให้มีรูปทรงเหมือนหูฟัง และเลียนแบบการเคลื่อนไหวของทหาร ตามที่ได้เห็นในช่วงสงคราม ทั้งยังจุดไฟเพื่อเลียนแบบสัญญาณไฟ และสักตราสัญลักษณ์เหมือนที่เห็นจากชุดเครื่องแบบของทหารลงบนผิวหนังของพวกเขา

พูดง่าย ๆ ว่าชนพื้นเมืองสร้างสนามบินจำลอง เพราะหวังจะดึงดูดเจ้านกยักษ์ที่เคยหย่อนอาหารลงมาในช่วงสงคราม เมื่อได้ยินเช่นนี้อาจหัวเราะในเรื่องลัทธิคาร์โก้ แต่มันกำลังแพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างไม่น่าเชื่อ แม้แต่ในโลกแห่งการเงินก็เช่นกัน ลองคิดดูมีบริษัทมากมายแค่ไหน ที่ตกแต่งออฟฟิศตาม google โดยมีสไลเดอร์ ห้องนวด และอาหารฟรี เพราะหวังว่าจะดึงดูดพนักงานชั้นเลิศได้

สามารถเห็นหนึ่งในพิธีกรรมของลัทธิคาร์โก้ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในบรรดาผู้ตรวจสอบบัญชี พวกเขามีการตรวจสอบที่เคร่งครัด สำหรับการตรวจสอบประจำปี เช่น การตรวจสอบว่าบันทึกการประชุมกรรมการ มีลายเซ็นกำกับครบถ้วนหรือไม่ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดได้รับการบันทึกอย่างถูกต้องหรือไม่ รวมถึงการบันทึกรายได้ด้วย พวกเขาทำตามแบบแผนทุกอย่าง เมื่อบริษัทล้มละลาย ผู้ตรวจสอบบัญชีก็ได้แต่ประหลาดใจ เห็นได้ชัดว่าพวกเขาเก่งกาจในการระบุว่าบริษัทขาดเอกสารใดบ้าง แต่ไม่เก่งเอาเสียเลยในการมองหาความเสี่ยงที่แท้จริง

เรื่องราวนี้มอบบทเรียนอะไรให้ คำตอบคือจงอย่าเลียนแบบ และหลีกเลี่ยงลัทธิคาร์โก้ทุกรูปแบบ ต้องระมัดระวังให้ดี เพราะการลอกเลียนแบบแผนโดยไม่ได้เข้าใจองค์ประกอบอย่างถ่องแท้ เป็นสิ่งที่พบได้บ่อยกว่าที่คิด เมื่อพบเจอการลอกเลียนแบบนี้ ต้องรีบกำจัดมันออกไปจากชีวิต ไม่เช่นนั้นมันก็จะทำให้ต้องเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ และมีมุมมองที่คับแคบ ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ อย่าลอกเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เกี่ยวกับองค์ประกอบของความสำเร็จนั้น

บทที่ 45

การแข่งขันกับตัวเอง

เพื่อสั่งสมความเชี่ยวชาญจะนำไปสู่ชัยชนะ

ทำไมการสั่งสมความรู้ทั่วไปถึงเป็นได้แค่งานอดิเรก

ถ้าพิจารณาความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายมหาศาล จะเห็นว่าความรู้ในจักรวาลส่วนตัว หดเล็กลงจนกลายเป็นแค่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงอย่างแท้จริง มีความรู้มากขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องที่เฉพาะด้านมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือในขณะที่ความรู้ในเรื่องที่เชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้น ความไม่รู้ในเรื่องทั่วไปก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน สิ่งที่จะช่วยให้อยู่รอดได้ก็คือ การพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญในสาขาอื่น ๆ

สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ก็คือ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเริ่มถูกแบ่งเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแบบเจาะลึก จากนั้นก็แบ่งเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านแบบเจาะลึกลงไปยิ่งกว่าเดิม ไล่ไปเช่นนี้เรื่อย ๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด จำนวนของความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงเพิ่มขึ้นสูงมากในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนหน้านี้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเป็นจุดร่วมทางวิชาชีพ แต่ผู้คนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเดียวกันกลับกระจายตัวอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก

ในตอนนี้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก่อให้เกิดการรวมตัวกันในระดับโลก ของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดการแบ่งแยกทางวิชาชีพ การแข่งขันภายในสาขานั้นสูงมาก และสาขาที่แยกย่อยออกมาก็มีจำนวนมหาศาล ความจริงเหล่านี้มอบบทเรียนให้

บทเรียนแรกคือ บางครั้งก็ยังไม่ได้เชี่ยวชาญมากพอ จึงได้แต่ประหลาดใจเมื่อคนอื่นประสบความสำเร็จมากกว่า ดังนั้น จงถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริงในสาขาของตัวเอง สามารถนำสิ่งที่มีประโยชน์จากสาขาอื่นที่คล้ายคลึงกันมาใช้ได้ เพียงแต่ต้องจดจ่ออยู่กับเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งก็คือขอบเขตแห่งความสามารถของตัวเองนั่นเอง

บทเรียนที่ 2 คือ ปรากฏการณ์ผู้ชนะกินรวบ จะส่งผลดีในกรณีที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในสาขาของตัวเอง โดยความหมายคือดีที่สุดในระดับโลก

ถ้าอยากเป็นผู้ชนะอย่างแท้จริง ก็ต้องเริ่มจากการแข่งขันกับตัวเอง และบทเรียนสุดท้ายคือจงหยุดสั่งสมความรู้ทั่วไป โดยหวังว่ามันจะช่วยเพิ่มโอกาสทางอาชีพให้ หากมองในแง่ของผลตอบแทนทางการเงิน สิ่งนี้ไม่มีประโยชน์ใดอีกต่อไปแล้ว ทุกวันนี้การสั่งสมความรู้ทั่วไป เหมาะที่จะเป็นแค่งานอดิเรกเท่านั้น

บทที่ 46

การแข่งขันสะสมอาวุธ

ทำไมถึงควรหลีกเลี่ยงการลงสนามรบ

ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการแข่งขันสะสมอาวุธกับดักอันแสนอันตราย ซึ่งมีที่มาจากศัพท์ทางทหารนี้เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป พูดง่าย ๆ ก็คือผู้คนรู้สึกว่าพวกเขาต้องสะสมอาวุธ เพราะคนอื่นก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน ทั้งที่ความจริงแล้วอาจมองภาพรวมก็จะเห็นว่า มันไม่สมเหตุสมผลเอาเสียเลย ผู้ที่ติดกับดักของการแข่งขันสะสมอาวุธมักไม่รู้ตัว ความอันตรายของปรากฏการณ์นี้คือ ทุกขั้นตอนและทุกการลงทุนนั้นดูสมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาจากตัวมันเองเพียงอย่างเดียว แต่ผลลัพธ์ในภาพรวมกลับเป็นศูนย์หรือติดลบ

ดังนั้น จงพิจารณาชีวิตให้รอบด้าน หากพบว่าตัวเองติดอยู่ในการแข่งขันสะสมอาวุธโดยไม่ได้ตั้งใจให้รีบหนีออกมา รับรองได้เลยว่ามันไม่มีทางนำไปสู่ชีวิตที่ดีได้ สามารถพบเห็นกับดักของปรากฏการณ์นี้ได้ ในชีวิตการทำงานของผู้คนจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น ยิ่งเพื่อนร่วมงานทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องทุ่มเทเวลาให้มากขึ้น เพื่อตามพวกเขาให้ทัน สุดท้ายก็จะลงเอยด้วยการเสียเวลามากมายไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะว่าทุกวันนี้สิ่งต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ไม่ใช่แค่ในที่ทำงานเท่านั้น แม้แต่ในชีวิตส่วนตัวก็เช่นกัน โดยอาจติดกับหลักของการแข่งขันสะสมอาวุธได้หากไม่ระวังให้ดี เช่น ยิ่งคนอื่นพยายามโพสต์ข้อความที่น่าประทับใจลง facebook มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องทำเช่นนั้นให้มากขึ้น เพื่อจะได้ไม่จางหายไปจากโซเชียลมีเดีย จงหลีกหนีการแข่งขันสะสมอาวุธ มันเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ยาก เพราะแต่ละขั้นตอนนั้นดูสมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาจากตัวมันเองเพียงอย่างเดียว

ดังนั้น ต้องหมั่นถอยออกมาจากสนามรบเพื่อมองภาพรวม อย่าตกเป็นเหยื่อแรงดึงดูดของมัน การแข่งขันสะสมอาวุธคือชัยชนะที่ได้ไม่คุ้มเสีย และทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือการอยู่ให้ห่างมันเข้าไว้ จะพบชีวิตที่ดีเมื่อไม่ต้องต่อสู้แย่งชิงกับผู้อื่นในเรื่องที่ไร้แก่นสาร

บทที่ 47

การผูกมิตรกับคนนอกคอก

ทำความรู้จักกับคนนอกคอก แต่อย่าเป็นคนนอกคอกเสียเอง

ผู้คนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม หรือบางทีก็มากกว่านั้น เช่น พนักงานซึ่งเป็นสมาชิกของบริษัท นักเรียนซึ่งเป็นสมาชิกของโรงเรียน อาจารย์ซึ่งเป็นสมาชิกของมหาวิทยาลัย ประชากรซึ่งเป็นสมาชิกของเมือง และสมาชิกของสมาคมต่าง ๆ รวมทั้งหลายเหล่านี้เหมือนกับกลุ่มพบปะทางธุรกิจ ตรงที่มันตอบสนองความต้องการ ทั้งยังทำให้รู้สึกสบายใจ และได้รับการดูแล

ทว่าบางคนก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มใดเลย โดยเหตุผลอาจเป็นเพราะพวกเขาตั้งใจหลีกเลี่ยงเอง ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ากลุ่มตั้งแต่แรก หรือถูกเตะออกมา คนนอกคอกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนบ้า แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะบางคนก็เป็นผู้ที่ผลักดันให้โลกก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว ความก้าวหน้าครั้งสำคัญทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากคนนอกคอกนั้นมีจำนวนมากจนน่าทึ่ง

คนนอกคอกมีความได้เปรียบทางกลยุทธ์ เพราะพวกเขาไม่ต้องยึดติดกับระเบียบของผู้มีอำนาจ ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างช้าลง ไม่ต้องทำเรื่องไร้สาระต่าง ๆ ที่มักพบเจอในกลุ่มส่วนใหญ่ และไม่ต้องพยายามทำให้แนวคิดของพวกเขาง่ายขึ้น เพื่อนำเสนอด้วยสไลด์ที่ดูน่าสนใจแต่ก็น่าขบขัน นอกจากนี้คนนอกคอกสามารถหลีกเลี่ยงการเล่นเกมอำนาจชวนปวดหัว ที่มักเกิดขึ้นในการประชุม และเพิกเฉยต่อการประชุมได้อย่างสบายใจ ทั้งยังไม่รู้สึกกดดันให้รับคำเชิญ หรือมีส่วนร่วมในงานต่าง ๆ เพียงเพื่อจะได้เสนอหน้าให้คนอื่นเห็นด้วย

การเป็นคนนอกคอกอาจฟังดูน่าสนใจ แต่ห้ามทำผิดพลาดด้วยการเป็นคนนอกคอกโดยเด็ดขาด เพราะจะถูกสังคมต่อต้านในทุกรูปแบบ แรงปะทะนั้นรุนแรงและไร้ซึ่งความเมตตา ความจริงคือคนนอกคอกแทบทั้งหมด ล้วนถูกเล่นงานเสียยับเยิน จากสังคมที่ต่อต้านพวกเขาอย่างสุดกำลัง มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะเปล่งประกายสุกใสราวกับดาวหาง ชีวิตของคนนอกก็เป็นแค่เรื่องราวที่เหมาะกับการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ แต่ไม่ใช่เรื่องราวที่จะนำไปสู่ชีวิตที่ดี

คำแนะนำคือ เท้าข้างหนึ่งต้องปักหลักให้อยู่ในกลุ่ม ที่มีบทบาทสำคัญในสังคม ซึ่งจะช่วยให้ได้รับผลประโยชน์จากการเป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันเท้าอีกข้างหนึ่งก็สามารถพเนจรไปที่ไหนก็ได้ วิธีนี้ฟังดูท้าทายเล็กน้อย ต้องรู้จักรักษาความสมดุลมัน แต่มันก็ได้ผลดีทีเดียว สิ่งที่ควรทำคือผูกมิตรกับคนนอกคอก

การมีภาพของแวนโก๊ะแขวนไว้บนผนังนั้น ดีกว่าการเป็นแวนโก๊ะเสียเอง ในทางปฏิบัติสิ่งที่ควรทำคือ การสานสัมพันธ์กับผู้คนที่เปรียบเหมือนแวนโก๊ะให้ได้มากที่สุด แล้วจะได้ซึมซับมุมมองอันสดใหม่ของพวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการก้าวไปสู่ชีวิตที่ดี

บทที่ 48

โจทย์ปัญหาเลขานุการ

ทำไมกลุ่มตัวอย่างจึงมีขนาดเล็กเกินไป

สมมุติว่าต้องการจ้างเลขานุการ มีผู้หญิงจำนวน 100 คนยื่นใบสมัครงานตำแหน่งนี้ หากต้องสัมภาษณ์ผู้สมัครทีละคนด้วยการสุ่ม แล้วหลังสัมภาษณ์เสร็จแต่ละครั้ง จะต้องตัดสินใจว่าจะรับหรือปฏิเสธผู้สมัครคนนี้ ไม่มีการรีรอจนกว่าจะได้สัมภาษณ์ผู้สมัครครบทุกคน และไม่สามารถเปลี่ยนใจได้ในภายหลัง จะทำอย่างไร โจทย์ปัญหานี้เป็นที่รู้จักในหมู่นักคณิตศาสตร์ ในชื่อโจทย์ปัญหาเลขานุการ สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ คำตอบที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโจทย์นี้ มีเพียงคำตอบเดียวนั่นคือ ควรสัมภาษณ์ผู้สมัคร 37 คนแรก และปฏิเสธทุกคน วิธีนี้จะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างยอดเยี่ยม จริงอยู่ว่าเธออาจไม่ใช่คนที่ดีที่สุดในบรรดาผู้สมัคร 100 คน แต่เธอเป็นตัวเลือกที่ดีอย่างแน่นอน ในขณะที่วิธีอื่นล้วนให้ผลลัพธ์ที่แย่กว่าในเชิงสถิติ

โลกใบนี้ยิ่งใหญ่พรั่งพร้อม และหลากหลายกว่าที่จินตนาการไว้ ดังนั้น จงพยายามทดลองด้วยการสุ่มตัวอย่างให้มากที่สุด ในตอนที่ยังอายุน้อย สิ่งสำคัญในช่วงหลายปีแรกของการเป็นผู้ใหญ่ ไม่ใช่การหาเงินหรือการสร้างความมั่นคงทางอาชีพ แต่เป็นการสำรวจจักรวาลแห่งความน่าจะเป็น จงเปิดรับอย่างเต็มที่ ลิ้มลองสิ่งใดก็ตามที่โชคชะตานำพาเข้ามาในชีวิต และอ่านให้มาก นิยายและเรื่องสั้นคือแบบจำลองชีวิตอันยอดเยี่ยม แต่เมื่ออายุมากขึ้น ก็ควรปรับวิธีคิดโดยเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นคนช่างเลือก เพราะเมื่อถึงตอนนั้นก็รู้แล้วว่า ชอบอะไรและไม่ชอบอะไร

บทที่ 49

การจัดการความคาดหวัง

ยิ่งคาดหวังน้อยเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

สมองของเราไม่เคยขาดความคาดหวัง อันที่จริงมันคือเครื่องผลิตความคาดหวังต่างหาก เมื่อบิดลูกบิดประตูสมองก็คาดหวังว่าประตูจะเปิด เมื่อเปิดก๊อกสมองก็คาดหวังว่าน้ำจะไหลออกมา ความคาดหวังเหล่านี้อยู่ในจิตใต้สำนึกสิ่งที่พบเจอในชีวิตเป็นประจำ ถูกฝังอยู่ในสมองจนแทบไม่ต้องคิดอะไรเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้นเลย อย่างไรก็ตาม โชคร้ายที่แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ สมองก็ยังคงสร้างความคาดหวัง

ผลการวิจัยยืนยันว่า ความคาดหวังมีผลกระทบอย่างยิ่งต่อความสุข และความคาดหวังที่ไม่สมเหตุสมผล เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำลายความสุขได้รุนแรงที่สุด แล้ววิธีใดที่จะช่วยให้จัดการความคาดหวังได้ดีที่สุด แนะนำให้จัดระเบียบความคิดเหมือนที่แพทย์ฉุกเฉินคัดแยกผู้ป่วยกล่าวคือ ต้องคัดแยกความคิดออกเป็น ต้องมีสิ่งนี้ อยากได้สิ่งนี้ และคาดหวังที่จะได้สิ่งนี้ โดยกลุ่มแรกคือสิ่งที่จำเป็น กลุ่มที่ 2 คือความปรารถนา (สิ่งที่ชอบหรือเป้าหมาย) และกลุ่มที่ 3 คือความคาดหวัง

คราวนี้มาสำรวจความคิดแต่ละกลุ่มไปตามลำดับกัน การมองความปรารถนาบางอย่างว่ามันคือสิ่งที่จำเป็นต้องมี รังแต่จะทำให้กลายเป็นคนขี้หงุดหงิดที่ไม่น่าอยู่ใกล้ ทั้งยังทำในสิ่งโง่ ๆ ด้วย ไม่ว่าจะฉลาดแค่ไหนก็ตาม ยิ่งกำจัดสิ่งที่คิดไปเองว่าจำเป็นออกไปได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดีเท่านั้น

คราวนี้มาดูเรื่องความปรารถนากันบ้าง ชีวิตที่ไม่มีเป้าหมายคือชีวิตที่ไร้ค่า แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้มันฉุดรั้ง จงระลึกไว้เสมอว่าไม่อาจสมหวังในทุกความปรารถนาได้ เพราะหลายสิ่งอยู่เหนือการควบคุม ความจริงแล้วมันไม่ได้สำคัญต่อความสุข

ตอนนี้มาถึงกลุ่มที่ 3 แล้วนั่นก็คือ ความคาดหวังส่วนใหญ่แล้ว ช่วงเวลาที่ทำให้ทุกข์ใจมากที่สุด ล้วนเกิดขึ้นเพราะจัดการความคาดหวังได้ไม่ดี โดยเฉพาะความคาดหวังที่มีต่อผู้อื่น ทั้งที่ความจริงคือไม่สามารถคาดหวังให้ผู้อื่นทำสิ่งที่ต้องการได้ เช่นเดียวกับสภาพอากาศ

จะสร้างความคาดหวังที่สมเหตุสมผลได้ สำหรับขั้นตอนแรก ต้องระบุให้ชัดเจนว่ามันคือสิ่งที่จำเป็น ความปรารถนา หรือความคาดหวัง

ขั้นตอนที่ 2 หากสิ่งนั้นเป็นความคาดหวัง ต้องให้คะแนนความคาดหวัง หรือทำให้ความฝันในชีวิตกลายเป็นความจริง

ขั้นตอนที่ 3 ลบคะแนนความคาดหวังที่ประเมินไว้ออก 2 คะแนน แล้วปรับเปลี่ยนความคาดหวังให้สอดคล้องกับคะแนนใหม่นี้

กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที ความคาดหวังจึงได้รับการปรับเปลี่ยนให้สมเหตุสมผลมากขึ้น ทำตามกระบวนการนี้วันละครั้ง และมันก็ก่อให้เกิดผลลัพธ์อันยอดเยี่ยมต่อความพึงพอใจในชีวิต

บทที่ 50

กฎของสเตอร์เจียน

วิธีสร้างเครื่องตรวจจับสิ่งไร้สาระ

ธีโอดอร์ สเตอร์เจียน เป็นหนึ่งในนักเขียนนิยายแนวไซไฟ ที่มีผลงานมากที่สุดในช่วงศตวรรษที่ 1950 – 1960 ทว่าความสำเร็จย่อมมาพร้อมกับความประสงค์ร้าย เขาต้องอดทนกับถ้อยคำกระแนะกะแหนอย่างไม่หยุดหย่อน ของบรรดานักวิจารณ์ที่บอกว่า 90% ของนิยายแนวไซไฟคือขยะ สุดท้ายสเตอร์เจียนก็ตอบกลับว่า ถูกต้องเลยแต่ 90% ของงานเขียนทั้งหมดที่ตีพิมพ์ออกมาล้วนเป็นขยะ ไม่ว่ามันจะเป็นงานเขียนประเภทไหนก็ตาม

การระลึกถึงกฎของสเตอร์เจียนเสมอจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เมื่อใช้เครื่องมือทางความคิดอันยอดเยี่ยมนี้ ก็เท่ากับกำลังอนุญาตให้ตัวเองมองข้ามเรื่องส่วนใหญ่ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือได้อ่านโดยไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะความจริงคือโลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งไร้สาระ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสนใจ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรพยายามกวาดล้างสิ่งไร้สาระ เพราะไม่มีทางทำสำเร็จอย่างแน่นอน โลกนี้เต็มไปด้วยสิ่งไร้สาระ และก็ไม่สามารถจัดการได้หมดโดยไม่เสียสติไปก่อน

ดังนั้น ต้องเลือกสิ่งที่จะให้ความสำคัญ จดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้น และไม่ต้องชายตามองสิ่งที่เหลือเลย ด้วยเหตุนี้ จึงรู้สึกว่าการมองโลกด้วยมุมมองแบบสุดโต่งเป็นเรื่องยาก การมองข้ามสิ่งไร้สาระทั้งหมดไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ ไม่ได้มีเครื่องตรวจจับสิ่งไร้สาระติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ต้องสร้างมันขึ้นมาเอง

จงอย่ารับสิ่งไร้สาระใด ๆ เข้ามาในชีวิต อย่ายอมจำนนต่อสิ่งเร้าเพียงเพราะอยากทำสิ่งนั้น อย่าลองใช้อุปกรณ์สารพัดอย่างเพียงเพราะมันมีอยู่ สิ่งล้ำค่าที่แท้จริงซึ่งมีคุณค่า เปี่ยมคุณภาพ และมีความสำคัญอย่างยิ่งนั้นมีเพียงไม่กี่อย่าง และการทำตามกฎของสเตอร์เจียนจะช่วยให้ประหยัดเวลาได้มาก และหลีกเลี่ยงความรู้สึกอันย่ำแย่ ต้องสังเกตความแตกต่างและแยกให้ออกระหว่างไอเดียกับไอเดียที่ดี ผลิตภัณฑ์กับผลิตภัณฑ์ที่ดี ต้องมองให้ออกว่าสิ่งใดไร้สาระ อันที่จริงยังมีกฎอีกข้อ ที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามันใช้ได้ผลดีมากนั่นคือ หากไม่แน่ใจว่าสิ่งนั้นไร้สาระหรือไม่ ให้มั่นใจได้เลยว่ามันไร้สาระ

บทที่ 51

ความถ่อมตัวที่น่ายกย่อง

ยิ่งยึดมั่นในตัวเองน้อยลงเท่าไหร่ ชีวิตก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น

ลองจินตนาการถึงคน 2 ประเภทนี้ดู คนประเภท A ยึดมั่นในตัวเองสูงมาก ในขณะที่คนประเภท B ยึดมั่นในตัวเองต่ำมาก เมื่อถูกขโมยอาหาร ท้าชิงเพื่อแย่งถ้ำ หรือแย่งคู่ครองไป คนประเภท B จะโต้ตอบแบบเอื่อยเฉื่อย โดยบอกว่านี่เป็นเรื่องปกติของชีวิต จากนั้นก็หาอาหารเพิ่ม หาถ้ำใหม่ หรือหาคู่ครองใหม่ ส่วนปฏิกิริยาของคนประเภท A นั้นตรงกันข้ามเลย เพราะเขาจะต่อสู้อย่างดุเดือดและรุนแรง เพื่อปกป้องสิ่งที่พวกเขาเป็นเจ้าของ คิดว่าคนประเภทไหนมีโอกาสที่จะอยู่รอด และส่งต่อยีนของพวกเขาให้คนรุ่นต่อไปได้มากกว่ากัน แน่นอนว่าต้องเป็นคนประเภท A เพราะคนเราไม่มีทางมีชีวิตอยู่ได้ โดยปราศจากการยึดมั่นในตัวเอง ในระดับที่เหมาะสม

เมื่อพิจารณาความสำคัญของตัวเอง โดยจินตนาการว่ากำลังมองย้อนมาจาก 100 ปีข้างหน้า เมื่อถึงตอนนั้นชื่อเสียงอันดีงามก็ไม่เหลือร่องรอยใด ๆ แล้ว ไม่ว่าในวันนี้จะยอดเยี่ยมสักแค่ไหนก็ตาม การยึดมั่นในตัวเองอย่างสูง ไม่ใช่องค์ประกอบของชีวิตที่ดี อันที่จริงมันตรงกันข้ามเลยต่างหาก กล่าวคือยิ่งละทิ้งการยึดมั่นในตัวเองได้มากเท่าไหร่ชีวิตก็จะยิ่งดีขึ้นเท่านั้น เรื่องนี้มีเหตุผลอยู่ 3 ข้อ

เหตุผลข้อแรก การยึดมั่นในตัวเองต้องใช้พลังงาน หากประเมินความสำคัญของตัวเองไว้สูงเกินไป ก็ต้องทำตัวเหมือนเครื่องส่งสัญญาณ และเรดาร์ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือต้องแสดงภาพลักษณ์ที่เหมาะสมให้โลกเห็น

เหตุผลข้อที่ 2 ยิ่งประเมินความสำคัญของตัวเองไว้สูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งตกเป็นเหยื่อของอคติจากการคิดเข้าข้างตัวเองเร็วขึ้นเท่านั้น โดยเริ่มจะทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ตัวเองดูดี ไม่ใช่เพื่อเป้าหมาย จะเห็นอาคติจากการคิดเข้าข้างตัวเองได้ง่าย

เหตุผลข้อที่ 3 หากเน้นย้ำความสำคัญของตัวเอง ก็เท่ากับกำลังสร้างศัตรู เพราะมันหมายความว่าละเลยความสำคัญของคนอื่น เพื่อยกระดับตัวเองให้ดูมีความสำคัญมากขึ้น แต่เมื่อประสบความสำเร็จ ก็จะถูกคนอื่นที่มีความคิดแบบนี้เช่นกันเล่นงาน นี่ไม่ใช่ชีวิตที่ดีเลย

เห็นแล้วว่าความยึดมั่นในตัวเองเป็นศัตรูมากกว่าจะเป็นเพื่อน ทุกคนต่างก็เป็นแค่คนคนหนึ่งในบรรดาผู้คนหลายพันล้านคน ต่างก็มีชีวิตอยู่ในเศษเสี้ยวเล็ก ๆ ของกาลเวลา ซึ่งเริ่มต้นขึ้นและสิ้นสุดลงอย่างไร้แบบแผน ในช่วงชีวิตอันแสนสั้นนี้ จงถ่อมตัวแล้วชีวิตจะดีขึ้นหลายเท่าตัว ความยึดมั่นในตัวเองเป็นเรื่องง่ายเสียจนไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ ในทางกลับกัน ความถ่อมตัวเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่เหมาะสมกับความเป็นจริงมากกว่า ทั้งยังช่วยให้ได้สัมผัสกับอารมณ์ ความรู้สึกอันแสนสงบด้วย

บทที่ 52

ความสำเร็จในโลกภายใน

ทำไมสิ่งที่เลือกที่จะจดจ่อถึงสำคัญกว่าผลลัพธ์

ไม่ว่าแวดวงไหนก็มีการจัดอันดับกันทั้งนั้น แต่เรื่องราวแห่งความสำเร็จเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จที่แท้จริงได้มากแค่ไหน คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่านิยามคำว่าความสำเร็จว่าอย่างไร สังคมสามารถควบคุมได้ว่าผู้คนจะใช้เวลาของพวกเขาไปกับสิ่งใด ด้วยการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จและเกียรติยศ ทำไมสังคมยุคใหม่ถึงพยายามที่จะชักจูงให้ผู้คนไขว่คว้าความสำเร็จทางวัตถุ แทนที่จะไขว่คว้าสิ่งอื่น อย่างเวลาในการพักผ่อนหย่อนใจที่มากขึ้น ทำไมถึงจัดอันดับคนที่รวยที่สุด แต่ไม่จัดอันดับคนที่มีความสุขที่สุด คำตอบคือเพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้

สังคมในแต่ละยุคสมัย นิยามความสำเร็จแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันในทุกยุคสมัยก็คือ สังคมจะพยายามเต็มที่เพื่อโน้มน้าวให้เชื่อในนิยามดังกล่าว จงอย่าหลับหูหลับตาเดินตามการชี้นำนี้ ไม่ว่ามันจะพยายามบอกให้ก้าวไปทางไหน รับรองได้เลยว่าสิ่งที่รออยู่ตรงปลายทางนั้น ไม่ใช่ชีวิตที่ดีอย่างแน่นอน

ความสำเร็จที่แท้จริงนี้ เป็นหนึ่งในรากฐานของแนวคิดแบบตะวันตก โดยมันไม่ได้เกิดขึ้นจากการจุดธูปหอม การใคร่ครวญตัวเอง หรือการเล่นโยคะ ความสำเร็จในโลกภายในคือ สิ่งที่นักปรัชญาชาวกรีกและโรมันเรียกว่า ภาวะแห่งความสันติ เมื่อบรรลุภาวะแห่งความสันติ ซึ่งหมายถึงเป็นความสงบทางจิตวิญญาณ จะสามารถวางเฉยได้ไม่ว่าโชคชะตาจะโหดร้ายเพียงใด พูดง่าย ๆ ก็คือ ความสำเร็จหมายถึงจิตใจอันเยือกเย็น ไม่ว่าจะบินขึ้นสูงเสียดฟ้า หรือล่วงลงมาสู่พื้นดิน จะสร้างความสำเร็จในโลกภายในได้ ต้องจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สามารถจัดการได้ และไม่ต้องสนใจสิ่งอื่นเลย พูดง่าย ๆ คือควรให้ความสำคัญกับสิ่งที่จะจดจ่อ ไม่ใช่ผลลัพธ์ คนเราสามารถเลือกสิ่งที่จะจดจ่อได้ แต่ไม่สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ เพราะโชคชะตาจะเข้ามาแทรกแซงอยู่เสมอ

ความจริงก็คือ ผู้คนปรารถนาความสำเร็จในโลกภายนอก เพราะมันช่วยให้พวกเขาได้สัมผัสกับความสำเร็จในโลกภายใน ในเมื่อเป็นเช่นนี้จะใช้ทางอ้อมไปทำไม การใช้ทางตรงซึ่งก็คือการสร้างความสำเร็จในโลกภายใน ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

บทส่งท้าย

แนวคิดที่ว่าชีวิตเป็นเรื่องง่ายคือกับดัก ที่ทำให้ทุกคนพลาดท่าเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะตอนที่ยังอายุน้อย ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นเลย และการสร้างชีวิตที่ดีก็ไม่ใช่ภารกิจเล็ก ๆ แม้แต่คนที่ชาญฉลาดก็ยังมีปัญหาในเรื่องนี้ เพราะได้สร้างโลกที่ไม่สามารถทำความเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ขึ้นมา ซึ่งเป็นโลกที่สัญชาตญาณไม่ใช่เข็มทิศที่เชื่อถือได้อีกต่อไป ทั้งยังเต็มไปด้วยความซับซ้อนและความไม่แน่นอน ทว่ากลับพยายามใช้ชีวิตท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันแสนคลุมเครือนี้ ด้วยสมองซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสิ่งอื่นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

นั่นคือเหตุผลที่จำเป็นต้องมีกล่องเครื่องมือทางความคิด ที่สามารถพึ่งพาได้ทุกเมื่อ เครื่องมือทางความคิดจะช่วยให้มองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น และตัดสินใจทำในสิ่งที่สมเหตุสมผลในระยะยาว การใช้เครื่องมือเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน จะค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงและพัฒนาโครงสร้างสมอง ซึ่งก่อให้เกิดสิ่งที่แวดวงจิตวิทยาเรียกว่า ทางลัดทางความคิด แม้ตัวช่วยเหล่านี้จะไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีชีวิตที่ดี แต่มันจะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีกว่า และทำในสิ่งที่เหมาะสมมากกว่า การพึ่งพาสัญชาตญาณเพียงอย่างเดียว

องค์ความรู้ในการดำเนินชีวิต ได้มาจากวิธีคิดและแนวทางของแหล่งความรู้ทั้ง 3 ได้แก่ จิตวิทยายุคใหม่ ลัทธิสโตอิก และปรัชญาด้านการลงทุนแบบเน้นคุณค่า ต่างส่งเสริมซึ่งกันและกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ มันสมบูรณ์แบบมากเสียจนบางคนอาจคิดว่า 3 สิ่งนี้น่าจะมีต้นกำเนิดมาจากแหล่งเดียวกัน แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย และการตระหนักว่าฟันเฟืองทั้ง 3 นี้ เข้ากันได้อย่างราบรื่นและพอดิบพอดีขนาดไหน ก็ทำให้ได้สัมผัสกับชั่วขณะแห่งความเข้าใจอันกระจ่างแจ้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก

เชื่อว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จาก 52 เครื่องมือนี้อย่างแน่นอน โดยบางสถานการณ์ก็อาจต้องใช้เครื่องมือสองอย่างพร้อมกัน หรือมากสุดก็ 3 อย่าง ในการทำให้เกิดชีวิตที่ดี.