สารบัญ
Standard Deviation คือ
Standard Deviation (S.D.) หรือ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ที่ในทางสถิติวัดการกระจายตัวของข้อมูล ซึ่งเทรดเดอร์ส่วนมากนำมาประยุกต์ใช้ในการ วัดความผันผวน ของราคา
การดูความผันผวน ไม่ได้เป็นการคาดการณ์ทิศทางราคาว่าจะขึ้นหรือลง แต่จะเป็นการดูว่า ราคามีความผันผวนมากหรือน้อย ในกรณีหุ้นที่มีความผันผวนมาก แปลว่า หุ้นนั้นแกว่งตัวค่อนข้างรุนแรง ส่วนในกรณีหุ้นที่มีความผันผวนน้อย แปลว่า หุ้นนั้นแกว่งตัวค่อนข้างแคบ
ตัวอย่าง ความผันผวนน้อย และความผันผวนมาก
จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ราคาแกว่งตัวในกรอบแคบ แสดงถึงความผันผวนที่น้อย ค่า S.D. 20 วัน ซึมตัวเป็นแนวราบ (ซ้ายมือ) ส่วนในช่วงที่ผันผวนมาก ราคาแกว่งตัวในกรอบกว้าง ค่า S.D. ดีดตัวสูงขึ้นอย่างชัดเจน
สูตรการคำนวณ
ขั้นตอนการคำนวณ
- หาค่าเฉลี่ยของราคาในช่วง Period ที่ต้องการคำนวณ … (μ)
- นำราคาปิด แต่ละวัน ลบด้วยค่าเฉลี่ยที่ได้ … (Xi – μ)
- นำผลลัพธ์ที่ได้ ในแต่ละวัน ยกกำลังสอง … (Xi – μ)^2
- นำค่า (Xi – μ)^2 ที่ได้ในแต่ละวัน มารวมกัน Σ(Xi – μ)^2
- จากนั้นหารด้วย จำนวน Period … (Σ(Xi – μ)^2) / N
- แล้วถอด Square root (√) ก็จะได้ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D หรือ σ)
ตัวอย่างการคำนวณ S.D.
ใน Excel สามารถใช้คำสั่ง STDEVP ในการคำนวณ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
สามารถ Download ไฟล์ Excel ตัวอย่างการคำนวณ Standard Deviation ได้ที่นี่ (คลิ๊ก)
กราฟจาก Tradingview ที่แสดง Standard Deviation ของรอบ 20 วัน บนดัชนี Set Index
ค่า S.D.
ค่า Standard Deviation ที่ได้จะขึ้นอยู่กับราคาหุ้นอ้างอิงที่คำนวณ ถ้าราคาหุ้นสูง เช่น SCC เทรดอยู่ที่ราว 300++ บาท ค่า S.D. ที่ได้ก็จะสูง หากไปดูค่า S.D ในหุ้นที่ราคาต่ำ อย่างพวก SIRI ที่เทรดอยู่ราว 1 บาท +/- ค่า S.D ที่ได้ก็จะต่ำ
ดังนั้นในการดูค่า S.D. ว่าสูงหรือต่ำ ให้ดูพฤติกรรมการเคลื่อนไหวของค่า S.D. ในอดีตบนหุ้นแต่ละตัว ว่าเคลื่อนไหวเป็นอย่างไร ไม่ควรนำค่าที่ได้มาเทียบระหว่างหุ้นกัน
การใช้งาน
คาดการณ์ความกว้างการแกว่งตัวของราคา
ในทางสถิติ การกระจายข้อมูลแบบปกติ (Normal distribution)
- 1 S.D. จะครอบคลุมข้อมูลอยู่ที่ 68.27%
- 2 S.D. จะครอบคลุมข้อมูลอยู่ที่ 95.45%
- 3 S.D. จะครอบคลุมข้อมูลอยู่ที่ 99.73%
สมมติถ้า ราคาหุ้น 199 บาท มีค่า S.D. ในรอบ 20 วัน เท่ากับ 6
นั่นหมายความว่า ในอนาคต 20 วัน ข้างหน้า
- มีโอกาส 68% ที่ราคาจะแกว่งตัวในช่วง +/- 6 (ช่วงบริเวณ 193-205 บาท)
- มีโอกาส 95% ที่ราคาจะแกว่งตัวในช่วง +/- 12 (ช่วงบริเวณ 187-211 บาท)
- มีโอกาส 99% ที่ราคาจะแกว่งตัวในช่วง +/- 18 (ช่วงบริเวณ 181-217 บาท)
โดย Bollinger bands ได้นำหลักการนี้ไปใช้ โดยใช้ค่า 2 S.D. ซึ่งตามหลักการคือ 95% การแกว่งตัวของราคา เคลื่อนไหวในกรอบดังกล่าว
เจาะลึกการเทรด Bollinger Bands และ %b ที่มาและการใช้งาน (คลิ๊ก)
ปกติส่วนมากจะนำหลักการนี้ไปใช้ในการต่อยอดกลยุทธ์การเทรดรูปแบบ Mean reversion คือในช่วงที่ราคาฉีกออกจากกรอบของ S.D. ออกไปมากๆ มีโอกาสที่จะกลับเข้ามาในกรอบดังกล่าว
ดูความผันผวน
ในช่วงที่ค่า S.D. เคลื่อนไหวเป็นแนวราบ แสดงถึงความผันผวนของราคาที่ต่ำ ส่วนในช่วงที่ค่า S.D. ปรับตัวสูงขึ้น แสดงถึงความผันผวนของราคาที่สูง
เราสามารถต่อยอดจากการวิเคราะห์ความผันผวนในการเทรดได้ด้วย เช่น ในช่วงความผันผวนต่ำ ก็อาจจะวางเป้าหมาย และ Stop loss ให้แคบลง และใช้การเพิ่ม Size การเทรดเอา ส่วนในช่วงความผันผวนสูง ก็อาจจะวางเป้าหมาย และ Stop loss ให้กว้างขึ้น และลด Size ในการเทรดลง เป็นต้น
Tip : โดยปกติ ช่วงขาลง ผันผวน สูงกว่า ช่วงขาขึ้น (อารมณ์กลัว รุนแรงกว่า อารมณ์โลภ)
สรุป
Standard deviation (S.D.) หรือในภาษาไทยเรียกกันกว่า ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ซึ่งเป็นหลักการทางสถิติไว้วัดความผันผวนการแกว่งตัวของราคา ดูว่าช่วงไหนราคาผันผวนมาก หรือผันผวนน้อย และยังสามารถคาดการณ์ในกรอบการแกว่งตัวในอนาคตของราคาว่าควรอยู่ในช่วงประไหน
ความผันผวนถือเป็นหนึ่งรูปแบบในการวิเคราะห์พฤติกรรมของราคา เทรดเดอร์ควรเข้าใจในส่วนนี้ เพื่อนำไปสร้างกลยุทธ์การเทรดที่มีประสิทธิภาพ โดยจะมีประโยชน์อย่างมากในการเทรด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง