Relative Strength คือ

Relative strength หรือ RS คือการแสดงถึงความสัมพันธ์การเคลื่อนไหวระหว่างหุ้นกับดัชนี เพื่อเปรียบเทียบหาว่าหุ้นนั้นแข็งแกร่ง หรืออ่อนแอกว่าตลาด เพื่อคาดการณ์ทิศทางในอนาคต

สูตรการคำนวณ

Relative Strength = Base Security / Comparative Security

การหา Relative Strength ค่อนข้างง่ายมาก เพียงใช้ ราคาหุ้น หารด้วย ราคาหุ้นอ้างอิง (ที่จะเปรียบเทียบ) ปกติทั่วไป ราคาหุ้นอ้างอิง เราจะนิยมใช้พวกดัชนี เช่น เราจะหาความแข็งแกร่งของหุ้นไทย ก็จะใช้ดัชนี SET เป็นสินค้าอ้างอิง เป็นตัวเปรียบเทียบ เป็นต้น 

RS PTT SET

กราฟตัวอย่างการใช้ Relative Strength โดยเป็นการเปรียบเทียบระหว่างหุ้น PTT กับ SET INDEX โดยใช้การคำนวณจาก PTT/SET เพื่อค่า Relative Strength 

จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ Relative Strength ปรับตัวขึ้น (วงกลมสีเขียว) เป็นการแสดงถึงช่วงที่ PTT แข็งแกร่งกว่าตลาด (ช่วงนั้น PTT ปรับตัวขึ้นแรงกว่าเมื่อเทียบกับตลาด , PTT +38% ส่วน SET Index +10%) 

ส่วนช่วงที่ Relative Strength ปรับตัวลง (วงกลมสีแดง) เป็นการแสดงถึงช่วงที่ PTT อ่อนแอ่กว่าตลาด (ช่วงนั้น PTT ปรับตัวลงมากกว่าเมื่อเทียบกับตลาด , PTT -10% ส่วน  SET Index -4%)

การวิเคราะห์

การวัด Relative strength เป็นการดูว่าหุ้นตัวไหนแข็งแกร่งกว่า เพื่อที่จะเลือกลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆ โดยส่วนมากจะใช้การเปรียบเทียบความแข็งแกร่งจากตลาด เช่น SET index เป็นต้น เป้าหมายคือหาหุ้นที่ Outperform ตลาดนั่นเอง

ถ้า Relative strength ปรับตัวขึ้น แปลว่าหุ้นนั้นมีความแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับตลาด และในทางตรงกันข้ามถ้า Relative strength ปรับตัวลง แปลว่าหุ้นนั้นอ่อนแอเมื่อเทียบกับตลาด

โดยเราสามารถใช้การวิเคราะห์ Relative strength ได้ 2 วิธีคือ 1. ยืนยันแนวโน้ม และ 2. Divergence

ยืนยันแนวโน้ม

หุ้นที่เป็นแนวโน้มขาขึ้น ค่า Relative Strength ควรเคลื่อนไหวเป็นทิศทางขาขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะแสดงถึงความแข็งแกร่งการขึ้นของราคา

ส่วนหุ้นที่เป็นขาลง ค่า Relative Strength ควรเคลื่อนไหวเป็นทิศทางขาลงเช่นเดียว เพราะ แสดงถึงความอ่อนแอของราคา

หากราคาเริ่มเคลื่อนไหวสวนทิศทางกับ ค่า Relative Strength เช่น ราคาขึ้น แต่ค่า RS กลับลง เป็นต้น แปลว่าเริ่มเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแนวโน้ม

RS CK SET

จากตัวอย่างกราฟข้างต้น หุ้น CK 

จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ราคาหุ้นเป็นแนวโน้มขาขึ้น ค่า RS ก็ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยลักษณะทำ High ใหม่ (Higher high) และทำ Low ที่สูงขึ้น (Higher Low) สะท้อนให้เห็นถึงราคามีความแข็งแกร่งกว่าตลาด 

ในช่วงกลางของกราฟ ราคาเริ่มหลุดเส้น Trend line ลงมา จากนั้น ค่า RS ก็ไม่ได้ทำ High สูงขึ้น แต่กลับทำ High ที่ต่ำลง (Lower High) และยืนยันทิศทางการลง ด้วยการทำ Low ใหม่ในช่วงถัดมา (Lower Low) แสดงถึงราคาเริ่มอ่อนแอเมื่อเทียบกับตลาด เป็นการยืนยันแนวโน้มขาลง

Divergence

การเกิดสัญญาณ Divergence สามารถบ่งชี้ถึงการกลับตัวของราคาในอนาคต 

  • Bullish divergence : ราคามีโอกาสปรับตัวขึ้นในอนาคต
  • Bearish divergence : ราคามีโอกาสปรับตัวลงในอนาคต
LH SET

ตัวอย่างการเกิดสัญญาณ Bullish divergence กับ Relative Strength 

โดยกราฟตัวอย่างข้างต้น ราคาทำ Low ใหม่ แต่ RS กลับยก Low สูงขึ้น เป็นการขัดแย้งกันระหว่าง ราคา กับ ค่า RS ทำให้ราคามีโอกาสที่จะกลับตัวเกิดขึ้นได้ และสุดท้ายได้เห็นการยืนยันทิศทางการกลับตัวด้วยการ Breakout ขึ้นทำ High ใหม่ (เส้นประสีแเดง) ของทั้งราคา และ RS

สรุป

การดู Relative strength ถือเป็นการดูอีกมิติหนึ่ง ช่วยให้เทรดเดอร์สามารถวิเคราะห์ความแข็งแกร่งของราคาหุ้น เมื่อเทียบกับตลาดได้ คอยเป็นตัวยืนยันทิศทางแนวโน้ม และยืนยันรอบการกลับตัวได้เช่นเดียวกัน

เรายังสามารถประยุกต์ใช้ Relative strength ได้หลากหลาย สามารถนำ Sector มาเทียบกับ Index เพื่อดูว่ากลุ่มไหนแข็งแกร่งหรืออ่อนแอกว่าตลาด เพื่อให้การเลือกหุ้นง่ายมากยิ่งขึ้น หรือการเปรียบเทียบกับในอุตสาหกรรม โดยนำหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม มาเทียบกับดัชนีของ Sector นั้นๆ เพื่อดูว่า ตัวไหนแข็งแกร่งสุด ก็ได้เช่นเดียวกัน

อีกทั้งยังสามารถนำ Indicator ใน Technical Analysis มาช่วยยืนยันได้เช่นเดียวกัน Momentum indicator และพวก Chart patterns ต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเทรดมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง