RRG คือ
Relative Rotation Graphs หรือ RRG เป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของ Sector, หุ้นต่างๆ เทียบกับตลาด (Benchmark) เพื่อดูความแข็งแกร่งและแนวโน้มว่าเป็นอย่างไร
โดยจุดเด่นของกราฟ RRG สามารถโชว์ถึงการ Rotation ของหุ้น (หรือ Sector) ให้เห็นภายในกราฟเดียว เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน
ซึ่งกราฟ RRG จะเป็นลักษณะ สี่เหลี่ยมจัตุรัส และแบ่งย่อยออกเป็น 4 ช่องด้วยกัน
ในแต่ละช่องจะสะท้อนถึงข้อมูลดังต่อไปนี้
ช่องสีเขียว (Leading) +/+ : แนวโน้มเชิงบวก โมเมนตัมเชิงบวก
ช่องสีเหลือง (Weakening) +/- : แนวโน้มเชิงบวก โมเมนตัมเชิงลบ
ช่องสีแดง (Lagging) -/- : แนวโน้มเชิงลบ โมเมนตัมเชิงลบ
ช่องสีน้ำเงิน (Improving) -/+ : แนวโน้มเชิงลบ โมเมนตัมเชิงบวก
ส่วนลูกศร จะแสดงถึงการเคลื่อนไหวของ หุ้น (หรือ Sector) ข้ามไปในแต่ละช่อง โดยทั่วไปจะเคลื่อนไหวตามลูกศรวิ่งวนไปเรื่อยๆ หรือที่เรียกว่าการ Rotation นั่นเอง
ประวัติ
กราฟ RRG ถูกพัฒนาเมื่อปี 2004-2005 โดย Julius de Kempenaer (เจ้าของ RRG Research) ก่อนหน้านั้นเค้าเป็นนักวิเคราะห์ให้กับพวกผู้จัดการกองทุน ในช่วงที่เขาได้กำลังพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิค และการวิเคราะห์เชิงปริมาณ
เขาได้เจอปัญหาที่พบบ่อยมากอยู่ 2 อย่าง คือ
1. พวกผู้จัดการกองทุนมักชอบลงทุนให้ได้ผลตอบแทนอ้างอิงตามตลาด (Relative performance) แค่นั้นพอ มากกว่าที่จะคาดการณ์ทิศทางตรงๆ แค่ต้องการทราบว่า หุ้นไหนควร Overweight (ให้น้ำหนักมาก) หรือหุ้นไหนควร Underweight (ให้น้ำหนักน้อย) ในพอร์ตการลงทุน และ
2. พวกผู้จัดการกองทุน ต้องเผชิญกับข้อมูลในแต่ละวันที่มหาศาล เขาเหล่านั้นต้องการเครื่องมือง่ายและชัดเจนต่อการดู ในการหาหุ้นไหนแข็งแกร่งและหุ้นไหนอ่อนแอ
ดังนั้น Julius จึงได้คิดเครื่องมือ RRG ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว โดยประสิทธิภาพที่ดีเยี่ยม ทำให้ยังเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน
ที่มา
ส่วนประกอบหลักของกราฟ RRG จะมีเป็น 2 อย่าง คือ
1. JdK RS Ratio (แกนแนวนอน : แกน X)
2. JdK RS-Momentum (แกนแนวตั้ง : แกน Y)
JdK RS Ratio
RS-Ratio เป็นเครื่องมือที่ไว้วัดความแข็งแกร่งเชิงเปรียบเทียบ (Relative Performance) ก็จะคล้ายๆกับ Relative Strength นั่นเอง โดยจะเปรียบเทียบหุ้นอ้างอิงกับตลาด (Benchmark) เพื่อดูว่า หุ้นตอนนี้แข็งแกร่ง หรือ อ่อนแอกว่าตลาด
โดย JdK RS Ratio จะใช้คล้าย Relative Strength แต่จะมีการ Smooth ค่าด้วยการคำนวณค่าเฉลี่ยย้อนหลังจำนวน X วัน และ ทำการ Normailzed เพื่อให้ค่าแต่ละตัวของหุ้นวิ่งอยู่ในระดับ +/- 100 ซึ่งวิธีนี้จะสามารถนำไปเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่นแต่ละตัวได้
Relative Strength = [ หุ้นอ้างอิง (หรือ Sector) / ดัชนี (ตลาด หรือ Benchmark) ]
การวิเคราะห์
- ถ้า JdK RS-Ratio > 100 : แสดงถึงหุ้นอ้างอิงนั้นแข็งแกร่งกว่าตลาด
- ถ้า JdK RS-Ratio < 100 : แสดงถึงหุ้นอ้างอิงนั้นอ่อนแอ่กว่าตลาด
กราฟตัวอย่าง หุ้น XLY
ในส่วนตรงกลาง เป็นค่า Relative Strength (XLY/SPX) ระหว่างหุ้น XLY กับ ดัชนี S&P500
ด้านล่างสุด เป็น JdK RS-Ratio และ JdK RS-Momentum
ในส่วนนี้ให้ดูเฉพาะ เส้นสีแดง : JdK RS-Ratio
โดย JdK RS-Ratio จะสะท้อนถึงการเปรียบเทียบความแข็งแกร่งของราคาหุ้นกับดัชนี เมื่อค่า JdK RS-Ratio เคลื่อนไหวเหนือระดับ 0 แสดงถึงความแข็งแกร่งของราคาหุ้น และเมื่อค่า JdK RS-Ratio เคลื่อนไหวต่ำกว่า 0 แสดงถึงความอ่อนแอของราคาหุ้น (เมื่อเทียบกับดัชนี)
สังเกตได้ว่า Relative Strength จะวิ่งคล้ายๆกับ JdK RS-Ratio
ซึ่ง JdK RS-Ratio จะมีคุณภาพสมบัติที่คล้ายกับเครื่องมือที่เป็น Trend-Following มันจะมีช่วง “Lag” ของ Indicator อยู่ (เพราะใช้การเฉลี่ยในการคำนวณ)
ในช่วงพื้นที่สีน้ำเงิน แสดงให้เห็นถึงการ Lag ของ Indicator ตัวนี้ โดยในจังหวะที่ค่า Relative strength เป็น Peak ค่าของ JdK RS-Ratio ยังอยู่เหนือ 0 อยู่ และค่อยๆ ปรับลงต่ำกว่า 0
JdK RS-Momentum
Momentum changes before the trend reverses.
เทรนจะเปลี่ยนได้ ต้องมาจากการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัมก่อน
การใช้วัดโมเมนตัมนั้นมีหลักการง่ายๆ คือ ROC (Rate-of-change) ของ JdK RS-Ratio นั่นเอง
โดยทั่วไปเมื่อ JdK RS-Momentum จะขึ้นเหนือ 100 ก็เมื่อ JdK RS-Ratio ฟอร์มตัวจากฐานและเริ่มไต่ตัวสูงขึ้น และในทางตรงกันข้าม JdK RS-Momentum จะลงต่ำ 100 ก็เมื่อ JdK RS-Ratio ฟอร์มตัวจากยอดสูงสุดและเริ่มอ่อนตัวลงมา
เส้นสีแดง : JdK RS-Ratio
เส้นสีเขียว : JdK RS-Momentum
ในช่วง Feb-Mar เป็นจังหวะที่ราคากำลังปรับตัวขึ้น แต่ RS-Ratio เริ่มอ่อนตัวลง แต่ยังไม่ลงต่ำกว่าระดับ 100 แต่สังเกตได้ว่า RS-Momentum ได้ลงต่ำ 100 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เริ่มเป็นสัญญาณที่ไม่ดีของราคา จากนั้นค่อยเกิดการเปลี่ยนแนวโน้มเกิดขึ้น (จากขึ้น เป็นลง)
อีกช่วงนึงคือ กลาง Apr-Jun เป็นช่วงที่ RS-Ratio กำลังปรับตัวขึ้น แต่ยังไม่สูงกว่าระดับ 100 แต่ RS-Momentum ได้ให้ค่ามากกว่า 10 เป็นเวลา 5 สัปดาห์ก่อนหน้าแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณบวก หลังจากนั้นราคาก็ได้กลับเข้าสู่รอบการขึ้นใหม่ (จาก Sideway เป็น ขึ้น)
จะเห็นได้ว่า โมเมนตัม เกิดการเปลี่ยนแปลง ก่อนที่แนวโน้มจะเปลี่ยนทุกครั้ง
RRG
RRG มาจากการนำ RS-Ratio และ RS-Momentum มาพอร์ตลงในกราฟสี่เหลี่ยม
โดย
- แกนแนวนอน (แกน X) คือ JdK RS-Ratio
- แกนแนวตั้ง (แกน Y) คือ JdK RS-Momentum
เมื่อนำ 2 ข้อมูลทั้ง RS-Ratio และ RS-Momentum มาสร้างกราฟสี่เหลี่ยม แล้วแบ่งค่า 100 เป็นเกณฑ์ เราจะสามารถแยกส่วนข้อมูลได้เป็น 4 ช่อง
โดย 4 ช่องนั้นจะแบ่งออกเป็น
- ช่องที่ 1 : RS-Ratio > 100, RS-Momentum > 100 ให้ชื่อว่าโซน Leading (สีเขียว)
- ช่องที่ 2 : RS-Ratio > 100, RS-Momentum < 100 ให้ชื่อว่า Weakening (สีเหลือง)
- ช่องที่ 3 : RS-Ratio < 100, RS-Momentum > 100 ให้ชื่อว่า Improving (สีน้ำเงิน)
- ช่องที่ 4 : RS-Ratio < 100, RS-Momentum < 100 ให้ชื่อว่า Lagging (สีแดง)
โซน Leading : หุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด และ โมเมนตัมเป็นบวก
โซน Weakening : หุ้นที่แข็งแกร่งกว่าตลาด แต่ โมเมนตัมเป็นลบ
โซน Improving : หุ้นที่อ่อนแอกว่าตลาด แต่ โมเมนตัมเป็นบวก
โซน Weakening : หุ้นที่อ่อนแอกว่าตลาด และ โมเมนตัมเป็นลบ
การ Rotation
โดยปกติการเคลื่อนไหวของวัฎจักรในหุ้นหรือพวก Sector ต่างๆ จะเคลื่อนไหวเป็นลักษณะ ตามเข็มนาฬิกา
สมมติ เริ่มจากหุ้นที่ขาขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จะอยู่ในโซน Leading (สีเขียว) โดยทั้งแข็งแกร่งกว่าตลาด และ โมเมนตัมเป็นบวก จากนั้นก่อนที่หุ้นจะเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้นสู่ขาลง ต้องเกิดการเปลี่ยนโมเมนตัมก่อนเป็นอันดับแรก คือจะลงมาอยู่ในโซน Weakening (สีเหลือง) เป็นช่วงที่ ยังแข็งแกร่งกว่าตลาด แต่โมเมนตัมเริ่มอ่อน
และจากนั้นในการเข้าสู่ขาลงอย่างเต็มตัว โดยหุ้นจะกลับมาอ่อนแอกว่าตลาดและโมเมนตัมเป็นลบ ซึ่งจะเข้าสู่โซน Lagging (สีแดง)
ต่อมาหากหุ้นจะเปลี่ยนจากขาลงเป็นขาขึ้น ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัมก่อน โดยการเข้าสู่โซน Improving (สีน้ำเงิน) คือ หุ้นยังคงอ่อนแอ แต่โมเมนตัมเริ่มกลับมาเป็นบวก
สุดท้ายของการวนลูป คือ การเข้าสู่รอบขาขึ้นเป็นเต็มตัว โดยหุ้นจะวิ่งจากโซน Weakening (สีน้ำเงิน) ไปสู่โซน Leading (สีเขียว) ที่ลักษณะเป็น แข็งแกร่งกว่าตลาด และโมเมนตัมเป็นบวก นั่นเอง
โดยธรรมชาติของการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมักจะเป็นแบบนี้อยู่เสมอ
Rotation Trails
เราจะเห็นพฤติกรรมการวิ่งวนตามเข็มนาฬิกาของหุ้นได้โดยการดูการเคลื่อนไหวในอดีตของมัน ในแต่ละจุดบน RRG สามารถใช้การ Plot เป็นวัน หรือ สัปดาห์ ต่อ 1 จุดก็ได้ จะช่วยให้เราเห็นภาพการเคลื่อนไหวได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
(หางของ RRG สามารถปรับแต่งได้ว่าจะดูย้อนหลังกี่จุด)
การวิเคราะห์
- RS-Ration สำคัญมากกว่า RS-Momentum
- การ Rotation ไม่ Perfect ทุกครั้ง อาจมีการวิ่งทวนเข็มนาฬิกาเกิดขึ้นได้
- หุ้นที่อยู่ในช่วงขอบของกราฟ จะมีความสำคัญมากกว่า หุ้นที่อยู่ตรงกลางของกราฟ (หุ้นที่อยู่ตรงกลางเหมือนความว่า ราคาเคลื่อนไหวไปทางเดียวกับ ดัชนีอ้างอิง)
- RRG เป็น Lagging indicator
- ไม่ควรใช้ RRG ตัวเดียวในการเทรด ควรใช้ประกอบการเทรดมากกว่า
ตัวอย่างกราฟ RRG ใน Bloomberg ระหว่าง Sector ต่างๆ กับ SET Index
สรุป RRG
RRG ไม่ใช่ Trading system ที่จะเอามาใช้เป็นสัญญาณซื้อขาย โดยจะใช้ในการ Scan ข้อมูลคร่าวๆ สามารถใช้เป็นลักษณะกรองหุ้น หรือกลุ่มอุตสาหกรรมว่าตัวไหนน่าลงทุนมากกว่า ช่วยให้เราเห็นภาพได้กว้างขึ้น สร้างมิติมุมมองในการลงทุน สามารถนำไปประยุกต์ต่อยอดเสริมประสิทธิภาพในการเทรดของเรา
แหล่งข้อมูลอ้างอิง