สรุปหนังสือ PRODUCTIVITY

คิดแบบเยอรมัน ลงมือทำแบบญี่ปุ่น

ทำไมคนเยอรมันมี Productivity สูงกว่าคนญี่ปุ่นถึง 1.5 เท่า

Productivity เป็นคำที่พูดถึงมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ Productivity คือการวัดผลประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งอาจหมายถึงเงิน งาน หรือผลลัพธ์อื่น ๆ ก็ได้ ดังนั้น คนที่มี Productivity สูงก็หมายความว่า คนนั้นสร้างผลงานได้เท่ากับคนสองหรือสามคนทำได้ อาจเคยได้ยินปัญหาคนญี่ปุ่นทำงานจนถึงขั้นเสียชีวิต หรือบริษัทใช้แรงงานพนักงานราวกับทาส ตามพาดหัวข่าวอยู่บ่อยครั้ง

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คนญี่ปุ่นขยันทำงานเพื่อไล่ตามคนอเมริกัน แล้วก็แซงหน้าได้ในที่สุด ต่างแซ่ซ้องยินดีที่ประเทศชาติพัฒนา และเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะผลงานของคนรุ่นก่อน เมื่อไม่กี่ปีมานี้ หรือหลังจากสภาวะฟองสบู่แตก ถึงจะมีชั่วโมงทำงานเยอะ แต่ประเทศกลับไม่เจริญก้าวหน้ามากเท่าที่คิด คำพูดที่ว่ายิ่งประชากรมีชั่วโมงทำงานเยอะ ประเทศยิ่งเจริญก้าวหน้าคงไม่ถูกต้องอีกแล้ว

คนญี่ปุ่นเลยเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปการทำงาน โดยตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับ Productivity ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทำงานทางไกล ให้พนักงานเลิกงาน 15:00 น ทุกวันศุกร์สิ้นเดือน กำหนดระเบียบการทำงานล่วงเวลา และส่งเสริมให้พนักงานลาพักร้อน ระยะหลังมานี้หลายบริษัทเริ่มเข้มงวด เรื่องลดการทำงานล่วงเวลา บางบริษัทลองกำหนดวันปลอดการทำงานล่วงเวลา บางบริษัทห้ามทำงานล่วงเวลาหลัง 20:00 น. แต่วิธีพวกนี้ก็ไม่ช่วยให้ Productivity คนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น

บริษัทขนาดใหญ่บางแห่งลองจ้างบริษัทอื่นให้ทำงานแทน เพื่อลดการทำงานล่วงเวลาลง  แต่วิธีนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ มันแค่ปัดปัญหาให้พ้นตัวมากกว่า ข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECE) ปี 2015 ระบุว่าคนญี่ปุ่น 1 คนทำงานปีละ 1,719 ชั่วโมง ส่วนคนเยอรมันทำงานปีละ 1,371 ชั่วโมงน้อยกว่าคนญี่ปุ่นราว 350 ชั่วโมง ถ้าคำนวณเป็นวันซึ่งปกติแล้วทำงานวันละ 8 ชั่วโมง เท่ากับว่าคนญี่ปุ่นทำงานมากกว่าคนเยอรมันปีละ 43 วัน ข้อมูลนี้ยังไม่ได้รวมชั่วโมงทำงานล่วงเวลาของธุรกิจบริการ นั่นแปลว่ามีคนญี่ปุ่นที่ทำงานเกิน 3,000 ชั่วโมงอยู่ไม่น้อย สรุปว่า คนญี่ปุ่นทำงานเยอะชั่วโมงกว่าคนเยอรมัน แต่สร้างผลงานและผลลัพธ์น้อยกว่า  ข้อแตกต่างที่ชัดที่สุดคือ แนวคิดต่อการทำงานและวิถีชีวิต

คนญี่ปุ่นเรียกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ว่า วันธรรมดา แต่คนเยอรมันเรียกว่า วันทำงาน

เยอรมันนีกับญี่ปุ่นมีจุดร่วมอย่างคาดไม่ถึง ทั้ง 2 ประเทศต่างเป็นประเทศแพ้สงคราม  หลังแพ้สงครามก็เจริญก้าวหน้าในฐานะประเทศอุตสาหกรรม ทั้ง 2 ประเทศเก่งด้านการผลิตสินค้า เยอรมนีเป็นอันดับ 1 ในด้านสหภาพยุโรป (EU) เพราะพวกเขาพัฒนาคุณภาพและการผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่อง มาร์คเยอรมันเป็นสกุลเงินที่แข็งค่าอยู่เสมอ รัฐบาลเยอรมันจึงพยายามผลักดันให้ประเทศกลายเป็นผู้ชนะในสงครามการค้า โดยทุ่มกำลังไปที่การพัฒนาคุณภาพสินค้า  สุดท้ายเยอรมันนีก็กลายเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

อุตสาหกรรมในญี่ปุ่นก็ไม่ด้อยไปกว่าเยอรมนี หลังแพ้สงครามไม่นานญี่ปุ่นก็ฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างน่าอัศจรรย์ จากนั้นก็มุ่งมั่นยกระดับคุณภาพสินค้า จนสกุลเงินเยนแข็งค่า และมีศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจไม่แพ้เยอรมนี เยอรมนีมองว่าพลเมืองคือ แรงงาน จึงให้ความสำคัญเรื่องสิทธิแรงงาน ส่วนคนญี่ปุ่นมองว่าพลเมืองคือ ผู้บริโภค จึงให้ความสำคัญเรื่องสิทธิผู้บริโภค  เยอรมันนีให้ความสำคัญเรื่องสิทธิแรงงาน จึงมอบจำนวนวันหยุดให้แรงงานเต็มที่  และสร้างประเทศที่เป็นมิตรกับแรงงาน ส่วนญี่ปุ่นให้ความสำคัญเรื่องสิทธิผู้บริโภค จึงมีแนวคิดฝังลึกว่า ลูกค้าคือพระเจ้า

คนเยอรมันเรียกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ว่าวันทำงาน วันสุดสัปดาห์จึงเป็นวันพักผ่อน เมื่อเป็นวันพักผ่อนก็ไม่ต้องทำงาน ส่วนคนญี่ปุ่นเรียกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ว่าวันธรรมดา หรือเรียกอีกอย่างว่าวันปกติ วันหยุดจึงมีภาพลักษณ์ว่าเป็นวันพิเศษ

คนเยอรมันให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงาน

คนเยอรมันมุ่งมั่นกับการสร้างระบบไม่ทำงานวันหยุด ดังนั้น ถ้ามีงานหรือมีปัญหาเข้ามาในวันหยุด ก็จะเกิดปัญหาลุกลามใหญ่โต แต่ก็ไม่เคยเจอปัญหานั้น พวกเขาจึงใช้ระบบนี้ต่อไป สุดท้ายงานที่ต้องทำทันทีก็ไม่เคยด่วนขนาดนั้น ถ้าเป็นงานที่ชี้เป็นชี้ตายก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่งานนอกเหนือจากนั้นเอาไว้ทำพรุ่งนี้เช้าก็ได้ ปริมาณงานที่ 1 คนรับไหวมีขีดจำกัด ดังนั้น การคิดวิธีเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ย่อมดีกว่าการเพิ่มเวลาทำงาน

แนวคิดคนอื่นก็คือคนอื่น ฉันก็คือฉัน

ช่วงทศวรรษ 1980 ผู้เขียนเพิ่งย้ายเข้ามาทำงานที่เยอรมนี ตอนนั้นทำงานที่ธนาคารโตเกียวสาขาเยอรมันนี ชั่วโมงทำงานจึงยาวนานเช่นเดียวกับธนาคารที่ญี่ปุ่น ประเทศเยอรมนีสมัยนั้น มีคนส่งกาแฟตามออฟฟิศเป็นอาชีพ คนที่ทำอาชีพนี้ส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพ งานของพวกเขามีแค่ส่งกาแฟ ซึ่งใช้เวลาตอนเช้าประมาณ 1 ชั่วโมงก็เสร็จงาน จากนั้นพวกเขาอาจไปส่งกาแฟที่ออฟฟิศอื่น

คนเยอรมันใช้สำนวนเพื่อบอกว่า คนคนนั้นอยู่ดาวอื่น โดยแฝงความหมายว่า คนคนนั้นมีความคิดแตกต่างกับตัวเอง แต่ไม่ได้ดูถูกอีกฝ่ายหนึ่ง คนเยอรมันมีแนวคิดฝังลึกว่า  คนอื่นก็คือคนอื่น ฉันก็คือฉัน พวกเขาจึงรู้สึกภาคภูมิใจกับชีวิตของตัวเอง แม้จะทำงานส่งกาแฟแต่ก็หยิ่งในศักดิ์ศรี ถ้าคนญี่ปุ่นมีแนวคิดว่า คนอื่นก็คือคนอื่น ฉันก็คือฉัน คงอดกังวลไม่ได้ว่า คนอื่นจะคิดกับตัวเองอย่างไร แถมตัวเองก็ถูกบังคับให้ยอมรับคนอื่นไปด้วย

เมื่อความคิดนี้รุนแรงขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า อิทธิพลของคนรอบข้าง เวลาโดนสั่งให้ทำตามคนที่อยู่ด้านขวาทุกคนก็ต้องทำตาม ถ้าคนอื่นทำงานล่วงเวลา ตัวเองจะต้องกลับบ้านตรงเวลาอยู่คนเดียวไม่ได้ นี่คืออิทธิพลของคนรอบข้าง จะหลุดพ้นจากอิทธิพลของคนรอบข้างได้ก็ต่อเมื่อ อยากใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง ไม่ต้องใส่ใจชีวิตคนอื่น ต่อไปเมื่อคิดเรื่องงานควรคิดเรื่องชีวิตของตัวเองควบคู่กันไปด้วย ถ้าเพิ่ม Productivity โดยยังรักษาเวลาของตัวเองได้ ก็แสดงว่าให้ความสำคัญกับชีวิตมากขึ้น

บทที่ 1 แนวคิดพื้นฐาน

ทำไมสถานีรถไฟที่เยอรมนีมีเสียงประกาศน้อย

ตอนที่ผู้เขียนใช้บริการสถานีรถไฟครั้งแรกที่ประเทศเยอรมนี เขาแปลกใจที่ไม่เห็นช่องตรวจตั๋วเหมือนญี่ปุ่น ที่เยอรมนีมีเจ้าหน้าที่คอยสุ่มตรวจตั๋วโดยสารบนรถไฟ แทนการใช้ช่องตรวจตั๋วอัตโนมัติ เมื่อเจ้าหน้าที่มาตรวจตั๋วแล้วพบว่า มีผู้โดยสารที่ไม่ซื้อตั๋วขึ้นมาบนรถไฟ เจ้าหน้าที่จะไม่รับฟังเหตุผลใด ๆ และเขียนใบสั่งทันที

ที่ญี่ปุ่นจะมีเสียงประกาศซ้ำ ๆ ว่ากรุณายืนอยู่บนหลังเส้นสีขาว และประตูจะปิดหลังเสียงสัญญาณ แต่ที่เยอรมันไม่มีเสียงประกาศแบบนี้เลย ขนาดเสียงประกาศว่า กรุณาระวังประตูกำลังจะปิดก็ไม่มี พอผู้โดยสารเข้ามาในตู้โดยสารแล้วประตูจะปิดทันที รถไฟที่ญี่ปุ่นสถานีรถไฟนั้นเสียงดังมาก มีเสียงประกาศไม่หยุด ขนาดเข้าไปในตู้โดยสารแล้วก็ยังมีเสียงประกาศอยู่เรื่อย ๆ รถไฟออกช้าแค่ 2-3 นาทีก็ประกาศขอโทษซ้ำแล้วซ้ำเล่า การประกาศซ้ำ ๆ คงเกิดจากแนวคิดของบริษัทรถไฟญี่ปุ่นว่า ถ้าเกิดเรื่องอะไรขึ้นตัวเองจะเดือดร้อน บริษัทรถไฟญี่ปุ่นจึงมีท่าทีหลบเลี่ยงความรับผิดชอบมากกว่าความเอาใจใส่

คนเยอรมันก็มีมารยาทเหมือนกัน แต่มารยาทไม่ใช่กฎหมาย จึงไม่ใช่สิ่งที่ต้องบังคับกันพวกเขามีมารยาทแต่ก็รู้จักยืดหยุ่น ส่วนคนญี่ปุ่นถูกบังคับให้มีมารยาท เหมือนโดนบังคับเป็นกฎหมาย จึงรู้สึกอึดอัดมากเกินไป คนญี่ปุ่นสร้างกฎระเบียบไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ สร้างกฎระเบียบแล้วก็แค่ปฏิบัติตาม พอปฏิบัติตามแล้วก็สบายใจ แต่ไม่เคยพูดคุยกันเลยว่า กฎนี้เข้ากับสภาพสังคมหรือไม่ ทำไมต้องสร้างกฎนี้ขึ้นมา กฎนี่เปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้หรือไม่

เมื่อใดที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ จะหยุดใช้ความคิด จะหยุดตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว เช่น เสียงประกาศในสถานีรถไฟมีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ต้องมองคนเสียมารยาทด้วยหางตาหรือไม่ ฝึกคิดด้วยการตั้งข้อสงสัยแบบนี้จนเป็นนิสัย ถ้าไม่เปลี่ยนความคิด ไม่มีทางเปลี่ยนชีวิตและการทำงานได้

ใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

ที่บริษัทเมทซเลอร์ต่างมีรูปแบบการทำงานที่แตกต่างกันไป บางคนทำงานเต็มเวลา บางคนทำงานถึงแค่บ่าย 3 โมงก็กลับบ้าน บางคนหยุดสัปดาห์ละ 3 วัน บางคนมีลูกเล็กจึงทำงานที่บ้านแทบไม่โผล่มาที่บริษัท ผู้ชายที่ขอลาไปเลี้ยงลูกก็มี ยิ่งไปกว่านั้นผู้หญิงที่หยุดสัปดาห์ละ 3 วัน เธอเป็นถึงหัวหน้าทีม ผู้เขียนทำงานในสภาพแวดล้อมแบบนี้ไประยะหนึ่งก็ เรียนรู้ว่า การทำงานไม่ได้มีเพียงรูปแบบเดียว คนเยอรมันยืดหยุ่นกับการทำงานค่อนข้างมาก พวกเขาขอแค่ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จก็พอ

ในบริษัทเยอรมัน แม้พนักงานจะกลับบ้านเร็ว หรือทำงานอยู่บ้าน ก็ไม่มีใครคิดว่าเขาขี้โกง เพราะว่าพนักงานเป็นบุคลากรของบริษัท เขาจะทำงานแบบไหนก็เรื่องของเขา ตราบใดที่เขาทำงานเก่ง ไม่ว่าจะทำงานแบบใดก็เป็นหัวหน้าได้ คนเยอรมันยอมรับรูปแบบการทำงานอันหลากหลายได้ เพราะพวกเขาคิดว่าคนอื่นก็คือคนอื่น ฉันก็คือฉัน ซึ่งสื่อถึงการใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

เมื่อให้ความสำคัญกับชีวิตตัวเองเป็นอันดับแรก จะมองเรื่องการทำงานอย่างเป็นกลาง คำว่าชีวิตสำหรับคนเยอรมันไม่ใช่สภาพความเป็นอยู่โดยทั่วไป แต่มีค่าเทียบเท่ากับครอบครัว พวกเขาให้ความสำคัญกับการใช้เวลาร่วมกับครอบครัว หรือหุ้นส่วนชีวิตมากที่สุด ชีวิตต้องมาก่อนงาน คนเยอรมันคิดรอบคอบก่อนจะตกลงแต่งงาน คำว่าครอบครัวของพวกเขา จึงมีความหมายลึกซึ้งมาก

ระบบของบริษัทและวัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่สิ่งที่ปรับเปลี่ยนได้ง่าย ๆ มุมมองของคนรอบข้างก็ปรับเปลี่ยนไม่ได้ง่าย ๆ เช่นกัน แม้ไม่อยากแพ้ให้กับอิทธิพลของคนรอบข้าง แต่บางครั้งถ้าไม่ปรับตัวตามเสียบ้าง ก็อาจเป็นพนักงานที่ไม่เอาไหน แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ควรปล่อยให้คนอื่นครอบงำจิตใจ แค่ทำตามคนที่ทำงานตรงเวลา หรือเข้าใจคนเหล่านั้น มันถือการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่แล้ว หรืออาจปฏิเสธการทำงานล่วงเวลาสัก 1 ครั้งจาก 5 ครั้ง  เพื่อให้เวลาตัวเองก็ได้ ใช้ชีวิตแบบชีวิตต้องมาก่อนงานได้ แค่เปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ถ้าปรับปรุงตัวเองด้วยวิธีนี้  ชีวิตก็จะมีคุณค่ามากขึ้น

ความคิดพึ่งพาตนเองเป็นอิสระ

หลังจากที่ผู้เขียนได้เข้าทำงานในบริษัทเมทซเลอร์ ซึ่งบริษัทแห่งนี้มีประวัติเก่าแก่หลายร้อยปี แต่ก็ไม่ลังเลที่จะเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่าวัฒนธรรมองค์กรที่ควรรักษาไว้ก็มี แต่ถ้าต้องมีสิ่งที่ต้องเปลี่ยนตามกาลเวลาก็ต้องปรับตัว สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากบริษัทเมทซเลอร์คือ ที่นี่มีความยืดหยุ่นสูง วิธีควบคุมเป้าหมาย และสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงาน มีหลายวิธีแตกต่างกันไปตามขนาดของบริษัท และสไตล์การบริหาร หัวหน้าสร้างขวัญกำลังใจแก่พนักงานด้วยการให้อิสระแทนคำสั่ง

เมื่อพนักงานได้รับอิสระ หัวหน้าควรปล่อยให้ลูกทีมคิดเอง และไม่ต้องให้ลูกทีมรายงานทุกสิ่งทุกอย่าง สภาพแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับอิสระ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเพิ่ม Productivity การปลูกฝังให้พนักงานพึ่งพาตัวเอง โดยการปล่อยให้เขารับผิดชอบงานเองอย่างเดียวคงไม่ได้ หัวหน้าต้องอยู่เคียงข้างเวลาที่พนักงานกังวล พร้อมกับรักษาระยะห่างแต่พอดี พนักงานถึงจะรู้จักพึ่งพาตัวเอง มีขวัญกำลังใจ จนเพิ่ม Productivity ได้สำเร็จ

เทคนิคหลุดพ้นจากอิทธิพลของคนรอบข้าง

ในแวดวงกีฬา ชาวตะวันตกถนัดการเล่นแบบฉายเดี่ยว ส่วนคนญี่ปุ่นถนัดการเล่นแบบเป็นทีม เยอรมันนีเป็นชาติที่เล่นฟุตบอลเก่ง ถึงขนาดคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาแล้ว พวกเขาสร้างทีมเวิร์คด้วยชัยชนะ ทีมฟุตบอลทุกทีมต่างมุ่งมั่นคว้าชัยชนะ พวกเขาให้ความสำคัญกับชัยชนะเป็นอันดับแรกและมุ่งมั่นอย่างถึงที่สุด ถ้าไม่เข้าใจเรื่องนี้จะเล่นกีฬา หรือทำธุรกิจสู้ชาวต่างชาติไม่ได้เลย

การนึกถึงใจคนอื่นเป็นเรื่องที่ดีมาก  สิ่งนี้ถือเป็นคุณธรรมประจำใจคนญี่ปุ่น แต่ว่าสมัยนี้ไม่ใช่แล้ว การเดาความรู้สึกของอีกฝ่าย และการนึกถึงใจคนอื่นมากเกินไป จะทำให้ทำงานผิดวัตถุประสงค์อยู่บ่อย ๆ เพราะอิทธิพลของคนรอบข้าง ถูกคุกคามมากจนเกินไป ก็จะส่งผลต่อขวัญกำลังใจของแต่ละคน รวมถึง Productivity ของทีม เรื่องนี้ไม่ได้เกิดกับการเล่นกีฬาอย่างเดียว มันเกิดในแวดวงธุรกิจด้วย

ความหมายของปรองดองว่า การร่วมแรงกันทำ การร่วมแรงกันเพื่อเผชิญหน้ากับสิ่งที่เป็นคุณและโทษ ส่วนคำว่าคล้อยตามหมายความว่า การมีจังหวะเดียวกัน การเห็นด้วยกับท่าทีหรือความคิดเห็นของบุคคลหนึ่งแล้วปฏิบัติตาม ปรองดองเป็นสิ่งสำคัญ แต่คล้อยตามมีข้อเสียร้ายแรง  คัมภีร์หลุนอวี่บันทึกคำสอนบทหนึ่งของขงจื่อไว้ว่า  สุภาพชนปรองดองแต่ไม่คล้อยตาม คนต่ำช้าคล้อยตามแต่ไม่ปรองดอง สุภาพชนจะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นแต่ไม่คล้อยตามง่าย ๆ

ก่อนจะทำตามคนอื่นลองตั้งคำถามดูบ้าง

ประเทศเยอรมันนีมีสิ่งปลูกสร้างสมัยยุคกลางเยอะมาก และนี่กฎระเบียบยิบย่อยเกี่ยวกับภูมิทัศน์ เพื่อรักษาสภาพบรรยากาศของเมือง ย่านที่พักอาศัยมีระเบียบเกี่ยวกับการตัดหญ้า และการกวาดหิมะอย่างเคร่งครัด คนเยอรมันยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และรักษาภูมิทัศน์ของเมือง ไม่ใช่เพราะอิทธิพลของคนรอบข้างเลย แต่พวกเขาทำเพราะสามัญสำนึกมากกว่า

วิธีที่ทำให้เป็นอิสระจากอิทธิพลของคนรอบข้างคือ ตั้งคำถามกับคนรอบข้างเกี่ยวกับกฎระเบียบที่ปฏิบัติตามว่า ทำไมต้องทำแบบนั้น จะเป็นอิสระจากอิทธิพลของคนรอบข้างได้ก็ต่อเมื่อ หมั่นตั้งข้อสงสัยอยู่เสมอว่า สิ่งนั้นจำเป็นจริง ๆ หรือไม่ และมีวิธีอื่นหรือเปล่านั่นเอง

ควรให้ความสำคัญกับอะไร

วันคริสต์มาสเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ คนเยอรมันจะฉลองกันในครอบครัว พวกเขาจะไม่ออกไปรับประทานอาหารเย็นนอกบ้าน แต่จะกินอาหารประจำเทศกาลอยู่ที่บ้าน และฉลองกันอย่างเรียบง่าย เมื่อทำงานเสร็จคนเยอรมันจะรีบกลับบ้านเพื่อไปอยู่กับครอบครัว พวกเขาไม่ค่อยดื่มสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าเหมือนคนญี่ปุ่น ครอบครัวจึงเป็นศูนย์กลางชีวิต พวกเขาจึงอยู่ท่ามกลางครอบครัว ที่มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นโดยอัตโนมัติ

คนเยอรมันให้ความสำคัญกับการใช้เวลากับครอบครัว มากกว่าความสำเร็จของงาน เมื่อเวลามีงานด่วนเข้ามา พวกเขาจะปฏิเสธทันควัน เพราะไม่อยากทำงานล่วงเวลา ถ้าพนักงานต้องทำงานบริษัทอย่างเดียวตั้งแต่เช้าจรดเย็น พวกเขาจะไม่มีทางเลือกให้ชีวิต ดังนั้น การได้ลองคิดทบทวนว่า ควรให้ความสำคัญกับอะไร จึงไม่ใช่เรื่องเปล่าประโยชน์

คนเยอรมันเลือกทางเดินชีวิตตั้งแต่ 10 ขวบ

เด็กเยอรมันเลือกทางเดินชีวิตตัวเองได้ แต่พวกเขายังมีอายุแค่ 10 ขวบจึงมีข้อจำกัดอยู่   ผู้ปกครองหรือครูเป็นผู้เลือกโรงเรียนให้ตามผลการเรียน อุปนิสัย หรือความเหมาะสม แต่มีแนวโน้มจะเลือกการฝึกอาชีพต่าง ๆ โดยคำนึงถึงความตั้งใจของเด็ก ๆ นักศึกษาเยอรมันจำนวนมากขอพักการเรียนนาน 3-6 เดือนเพื่อไปฝึกงาน พวกเขาจะลองทำงานที่บริษัทต่าง ๆ แล้วค่อยเลือกที่ทำงาน เพื่อดูความเหมาะสมของตัวเองก่อนจะเข้าทำงาน

ที่ญี่ปุ่นพนักงานใหม่ 30% ลาออกจากการทำงานได้ไม่ถึง 3 ปี จะไม่พบเหตุการณ์นี้ในเยอรมัน ดังนั้น การเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรก่อนเข้าไปทำงาน จึงมีส่วนสำคัญในการป้องกันพนักงานลาออกได้เป็นอย่างดี คนเยอรมันมี Productivity สูง เพราะระบบการศึกษาและระบบการเข้าทำงาน ถ้านักศึกษารู้ว่าตัวเองเหมาะกับงานหรือบริษัทใดตั้งแต่เนิ่น ๆ มันจะช่วยลดโอกาสเลือกทำงานที่ตัวเองไม่ชอบ หรือไม่มีกะจิตกะใจทำงานได้

เด็กเยอรมันถูกปลูกฝังให้พึ่งพาตัวเอง

คนเยอรมันอบรมสั่งสอนลูกอย่างเข้มงวด ถึงขนาดมีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า เรื่องเลี้ยงลูกกับเลี้ยงสุนัขไว้ใจคนเยอรมันได้เลย สิ่งหนึ่งที่คนเยอรมันไม่ทำคือตีลูก ถ้าลูกทำผิดพ่อแม่จะทำหน้าดุ และตักเตือนทันทีว่าทำไมถึงทำแบบนั้น หรือทำไมถึงทำแบบนี้ ลูกก็เลยเชื่อฟังพ่อแม่เพราะรู้สึกกลัว

นอกจากนี้คนเยอรมันแยกเวลาส่วนตัวกับเวลาที่ให้ลูกอย่างชัดเจน เวลาพ่อแม่ไปไหนจะไม่ค่อยพาลูกไปด้วย ถ้าไปร้านอาหารก็จะไปกันแค่ผู้ใหญ่ พวกเขาจะฝากลูกไว้กับพี่เลี้ยง เพื่อที่จะได้ใช้เวลาส่วนตัว เด็กเยอรมันจัดการเวลาของตัวเองได้อย่างอิสระ โรงเรียนสอนเฉพาะช่วงเช้า  เพราะช่วงบ่ายเด็กแต่ละคนจะมีเวลาทำสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบ ระบบการศึกษาแบบนี้ช่วยปลูกฝังนิสัยให้เด็กคิดเองทำเองเป็น

คนเยอรมันอบรมสั่งสอนเด็กอย่างเข้มงวด แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นสอนทุกอย่างรวมถึงเรื่องหยุมหยิม ถึงพ่อแม่เยอรมันจะดูเข้มงวด แต่สายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกลับไม่ห่างเหิน พ่อแม่มีเวลาคุยกับลูกทุกวันลูกก็เลยรู้สึกอบอุ่น ยิ่งไปกว่านั้นสังคมเยอรมันยังใจกว้างกับเด็ก ๆ ด้วย เข้มงวดในเรื่องที่ควรเข้มงวดแต่ก็รู้จักยืดหยุ่น นี่คือเอกลักษณ์ประจำชาติของเยอรมนี

วิธีใช้เงินของคนญี่ปุ่นกับคนเยอรมัน

เยอรมนีเป็นประเทศอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาพลักษณ์ของคนเยอรมันคือเรียบง่ายและมัธยัสถ์ ชอบใช้ของไปนาน ๆ มากกว่าซื้อใหม่ไปเรื่อย ๆ คนเยอรมันจึงทุ่มเงินซื้อบ้าน รถ และเครื่องใช้ไฟฟ้า แล้วใช้งานอย่างทะนุถนอมเป็นเวลาหลายสิบปี ญี่ปุ่นกับเยอรมนีมีแนวคิดเรื่องเงินแตกต่างกันอยู่บ้าง คนญี่ปุ่นพยายามหาเงินซื้อของราคา 100 เยนในราคา 80 เยน ส่วนคนเยอรมันจะไม่ซื้อของราคา 100 เยน พวกเขาจะเลือกซื้อของดี ๆ ในราคา 120 เยน

ผู้บริโภคจะรู้สึกคุ้มค่าเมื่อซื้อของดีได้ในราคาถูก แต่เมื่อมองถึงเศรษฐกิจโดยรวม ผู้ขายจะอยู่ในสภาพไม่กำไรไม่ขาดทุน เมื่อบริษัทไม่ได้กำไร ก็ต้องจ่ายเงินเดือนถูก ส่วนคนเยอรมันชอบซื้อของดีราคาแพง เมื่อบริษัทได้กำไรเศรษฐกิจจะดีขึ้น และจ่ายเงินเดือนสูงได้ ถือเป็นการคืนกำไรให้ประชาชน เศรษฐกิจของเยอรมนีจึงมีเสถียรภาพ

ทุ่มเทเงินและเวลาเพื่อพัฒนาระบบ

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ผู้ชายชาวเยอรมันลาไปเลี้ยงดูบุตรมากขึ้น คนใช้สิทธิ์มีเพิ่มขึ้น หลังจากระบบเข้าที่เข้าทาง ซึ่งอีกไม่นานปัญหาเรื่องอัตราการเกิดน้อยคงจะหมดไป ญี่ปุ่นเองก็รู้ว่าจะเจอปัญหาสังคมผู้สูงอายุมาสักระยะแล้ว แต่สถานการณ์ก็ยังเหมือนเดิม ส่วนคนเยอรมันรีบสร้างระบบและนำมาใช้ ถ้าระบบมีปัญหาก็จะแก้ไขทันที การทุ่มเทเวลาเพื่อสร้างระบบคือวิถีปฏิบัติคนเยอรมัน

คนเยอรมันชอบสร้างระบบและนำไปใช้งานอย่างเต็มที่ พวกเขายอมทุ่มเทเงินทองกับเวลา เพื่อสร้างระบบโดยไม่เสียดาย เชื่อว่าพวกเขามี Productivity สูงเพราะเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้เยอรมนียังปฏิรูประบบประกันสังคม ระบบการรักษาพยาบาล และระบบบำนาญ รวมถึงเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างถอนรากถอนโคน พวกเขาจึงสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง

บทที่ 2 การสื่อสาร

แค่พูดอย่างไม่ลังเลก็เพิ่ม Productivity ได้

เคล็ดลับการเพิ่ม Productivity คือ การสื่อสาร แค่เปลี่ยนวิธีสื่อสาร Productivity จะเพิ่มอย่างน่าทึ่ง บางครั้งสาเหตุที่ทำงานโดยใช้เวลาเกินจำเป็น และต้องรับมือกับอุปสรรคทั้งภายในและภายนอกบริษัทก็คือวิธีสื่อสาร การทำธุรกิจต้องพึ่งการสื่อสารรูปแบบต่าง ๆ เช่น การประชุม การคุยธุรกิจ การติดต่อ การขอคำแนะนำ เป็นต้น แต่การสื่อสารที่จะส่งผลต่อ Productivity ก็คือการสนทนาในชีวิตประจำวัน

คนเยอรมันกล่าวคำทักทายเสียงดัง โดยไม่สนเรื่องอายุหรือตำแหน่งหน้าที่ เพราะพวกเขาต้องการทลายกำแพงที่มองไม่เห็นนั้น ได้ยินอยู่บ่อย ๆ ว่าการสื่อสารควรเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ซึ่งคนเยอรมันก็ทำแบบนั้นจริง ๆ เวลาเจอกันที่ลิฟต์พวกเขาจะทักทายกันโดยอัตโนมัติ พอต้องสื่อสารกันเรื่องงานก็จะง่ายขึ้น และช่วยเพิ่ม Productivity ด้วย เมื่อเริ่มกล่าวคำทักทายอย่างเป็นธรรมชาติ จะสื่อสารได้อย่างราบรื่น ทำงานได้ฉับไว

ไม่ใช้คำว่าด่วนที่สุด

คำว่าขอด่วนที่สุดคือ ตัวอย่างหนึ่งของการสื่อสารที่ไปลด Productivity ถ้าลูกทีมรีบร้อนทำงานตอนนั้น ความประณีตของงานก็จะลดลง และอาจถึงขั้นต้องทำใหม่ คราวนี้ทั้งหัวหน้าและลูกทีมก็ต้องเครียดโดยไม่จำเป็น แถมยังส่งผลเสียต่อ Productivity อีกด้วย คนที่เดือดร้อนจากคำพูดคลุมเครือว่า ด่วนที่สุดไม่ใช่ฝ่ายที่พูดคำนี้ แต่กลับเป็นฝ่ายที่เดาใจคนพูดไม่ถูก ลูกทีมต้องแบกรับความกดดันเงียบ ๆ เพราะถูกคาดหวังว่าต้องรู้ใจหัวหน้าว่าอยากได้อะไร

ภาษาเยอรมันไม่มีคำที่มีความหมายตรงกับคำว่าด่วนที่สุด พวกเขาจึงต้องพูดเรื่องทั้งหมดให้อีกฝ่ายฟัง ถ้าอธิบายด้วยคำพูดที่ชัดเจน และลงรายละเอียดให้อีกฝ่ายเข้าใจ วิธีนี้ช่วยเพิ่ม Productivity ได้ ควรจะเลิกถกเถียงกัน มุ่งแต่จะทำตัวเองเป็นฝ่ายถูก หรือปรับความคิดตามอีกฝ่าย เชื่อว่าเมื่อเคารพอีกฝ่าย ก็จะเกิดการไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งการสนทนากันบ่อย ๆ ก่อให้เกิดความไว้วางใจ และนำไปสู่การเพิ่ม Productivity

คิดเสียว่าถามฟรี

สังคมญี่ปุ่นมองว่าการเอาใจใส่ การเดาใจคนอื่น และการเห็นอกเห็นใจเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนที่เดาความรู้สึกของอีกฝ่าย หรือสิ่งที่แฝงอยู่ในคำพูดได้อย่างคล่องแคล่ว จะได้รับคำชมว่ามีไหวพริบ หรืออ่านสถานการณ์ขาด แต่ตรงกันข้ามคนที่พูดตามที่ตัวเองคิด จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ละเอียดอ่อนหรือหยาบกระด้าง การเดาใจคนอื่นจะเป็นผลลบ เพราะมันต้องใช้แรงหรือเวลามากขึ้นทำให้งานเพิ่มขึ้น

ถ้าเป็นคนเยอรมัน พวกเขาจะคุยกันอย่างเปิดอกระหว่างหัวหน้ากับลูกทีม หรือเพื่อนร่วมงานด้วยกันเอง เพื่อสำรวจข้อมูลไว้ล่วงหน้าเท่าที่จำเป็น ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่างบริษัทญี่ปุ่นกับเยอรมันคือ ถ้าคนเยอรมันไม่รู้เขาจะบอกว่าไม่รู้และถามทันที แต่คนญี่ปุ่นจะลังเลว่าถ้าถามตอนนี้จะรบกวนเขาหรือเปล่า คนอื่นจะมองว่าทำงานไม่เป็นหรือเปล่า จึงต้องอ่านใจและคาดเดาความต้องการของผู้อื่นเสมอ ถ้าอยากเพิ่ม Productivity วิธีได้ผลที่สุดคือ ถามทันทีเมื่อไม่เข้าใจ แม้ข้อสอบจะมีคำตอบเดียว แต่โจทย์ส่วนใหญ่ที่เจอในชีวิตการทำงาน มันไม่เคยมีคำตอบที่ชัดเจนตั้งแต่แรกแล้ว

เทคนิคเลิกเดาใจคน

พนักงานจะทำงานตามคำสั่งอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าเขาทำงานได้โดยไม่ต้องรอคำสั่ง จะได้รับการประเมินจากหัวหน้าทำนองว่า ดีเลยลูกทีมคนนี้ช่วยผ่อนแรงได้ มุมหนึ่งการเดาใจคนอื่นของคนญี่ปุ่น ก็เป็นเชาว์ปัญญาที่ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ถ้าทำมากเกินไป การทำงานก็ย่อมไร้ประสิทธิภาพ ถ้าจะให้เลิกอ่านใจคนอื่นโดยสิ้นเชิงคงเป็นไปไม่ได้ แต่หัวหน้าลดการเดาใจคนอื่นได้

คนที่มีตำแหน่งสูง ๆ ให้แสดงความคิดเห็น และความต้องการอย่างชัดเจน ลูกทีมจะลดการเดาใจลงได้ เทคนิคสำคัญในการลดการเดาใจคนอื่นก็คือ การพูดมาก ทุกคนต้องพร้อมใจกันเปลี่ยนวิธีสื่อสาร และแสดงความคิดเห็นของตัวเอง

ไม่โฮเร็นโซโดยเปล่าประโยชน์

หัวหน้าผู้เขียนที่บริษัทเมทซเลอร์ มีกิจวัตรประจำวันอย่างหนึ่งคือ เมื่อมาถึงที่ทำงานจะไม่ไปนั่งโต๊ะทันที แต่จะเดินรอบ ๆ ประมาณ 10 นาทีแล้วค่อยไปนั่งโต๊ะ ไม่ใช่แค่หัวหน้าเท่านั้น ผู้บริหารอื่น ๆ รวมถึงเจ้าของบริษัทก็จะเดินไปทั่วบริษัท และทักทายพนักงาน พวกเขาไม่ได้เดินไปเพื่อควบคุมการทำงานของลูกทีม  แต่เพื่อรับรู้ความคืบหน้าในการทำงาน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลมาก เพราะพวกเขาไม่ต้องใช้โฮเร็นโซเลย

ก่อนกลับบ้านหัวหน้าก็จะเดินไปทั่วเหมือนตอนเช้า แม้หัวหน้าจะมีตารางงานแน่นมากทุกวัน แต่ก็ต้องคุยสั้น ๆ กับลูกทีมเสมอ คงคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของงาน วิธีนี้ช่วยให้ไม่ต้องเรียกทุกคนเข้ามาประชุมในตอนเช้า ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลที่จำเป็นในเวลาสั้น วิธีนี้จึงเป็นการสื่อสารน้อยที่มีประสิทธิภาพมาก แถมลูกทีมก็ไม่ต้องทำเอกสารรายงานหัวหน้า ซึ่งประหยัดแรงและเวลาได้ด้วย

เมื่อทำผิดต้องคิดว่าครั้งต่อไปจะทำอย่างไร

เวลาเกิดเรื่องผิดพลาด ถ้าไม่ขอบคุณคนที่มารายงาน จะไม่มีใครกล้ารายงานเรื่องไม่ดี สิ่งที่ควรทำคือขอบคุณ คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาและดำเนินการแก้ไข จากนั้นค่อยมาพูดคุยและวิเคราะห์กันว่า ทำไมถึงเกิดข้อผิดพลาดแบบนี้ วิธีนี้ไม่ใช่การเลี่ยงความรับผิดชอบ แต่เป็นแนวคิดที่มีเหตุผล และช่วยกู้สถานการณ์ได้ง่ายกว่าด้วย ถ้ามัวแต่คิดหาเหตุผลที่ทำไม่ได้ มันจะกลายเป็นการทวงถามความรับผิดชอบ หรือการวิพากษ์วิจารณ์ แรงจูงใจในการทำงานก็จะลดลง

เมื่อโทษว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล ต่อไปลูกทีมจะไม่กล้าตัดสินใจเอง เพราะกลัวความผิดพลาด ซึ่งนี่คืออุปสรรคต่อการเพิ่ม Productivity ในบริษัทถ้าลูกทีมทำผิดพลาดและรีบมารายงานต้องรับฟัง และแสดงความรู้สึกขอบคุณอย่างจริงใจ วิธีนี้จะช่วยให้ลูกทีมกล้ามารายงานปัญหา มันจะส่งผลดีต่อบริษัทมากขึ้นแน่นอน เพราะเมื่อคนเยอรมันทำผิด พวกเขาจะคิดว่าต่อไปควรทำอย่างไร คนเยอรมันจึงไม่เข้าใจการคิดทบทวนแบบญี่ปุ่นว่าจะไม่ทำผิดแบบนี้อีก

คนเยอรมันก็คิดถึงสาเหตุของความผิดพลาดเช่นกัน แต่พวกเขาไม่ได้มองที่นิสัยแบบคนญี่ปุ่น เช่น ขาดความกระตือรือร้น ประมาทเกินไป พวกเขาคิดอย่างมีเหตุผล แม้ทำผิดกฎระเบียบไปบ้าง แต่ถ้าการทำแบบนั้นมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก็ยอมรับได้  กฎระเบียบเป็นสิ่งที่ต้องรักษา แต่ถ้ากฎระเบียบไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และใช้ไม่ได้ผลก็ถึงเวลาที่จะต้องปรับเปลี่ยนกฎอย่างเอาจริงเอาจัง

หยุดเขียนอีเมลที่ถามไปเรื่อยไม่จบสิ้น

หนึ่งในวิธีสื่อสารอันไร้ประโยชน์ก็คือ อีเมลและการประชุม ระยะหลังจากนี้หลายบริษัทเริ่มเปลี่ยนเป็นสื่อสารกันทาง Application LINE แต่คนเยอรมันเมื่อส่งอีเมลโต้ตอบกันไปสักระยะหนึ่ง สักฝ่ายจะเสนอมาว่าออกมาคุยกันดีกว่า คนเยอรมันแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบพบหน้ากันบ่อยกว่าคนญี่ปุ่น เพราะการออกไปคุยกันแค่ครั้งเดียว จะทำให้ปัญหาคลี่คลายเร็วกว่าส่งอีเมลหากันหลายครั้ง

ในสถานการณ์แบบนี้ควรออกไปเจอกันโดยตรงหรือโทรศัพท์หากัน เพราะการตอบอีเมลภาษาอังกฤษไปมาทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาแม่ของทั้งสองฝ่ายมีข้อจำกัด จริงอยู่ที่บางเรื่องสื่อสารกันด้วยอีเมลได้ดีกว่า แต่บางเรื่องแค่โทรศัพท์ไปครั้งเดียว ก็ไปต่อได้อย่างราบรื่น ซึ่งนี่เป็นอีกเทคนิคหนึ่งที่ช่วยเพิ่ม Productivity ในการทำงานนั่นเอง

ไม่ประชุมแบบตัดสินใจไม่ได้

สาเหตุที่ทำให้การประชุมไร้ประโยชน์ คนเรายังคงเลิกประชุมแบบไร้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะมันทำให้รู้สึกว่ากำลังทำงาน แค่ทุกคนมาคุยกันในห้องประชุม ทุกคนก็จะรู้สึกว่ากำลังทำงาน แม้จะไม่ได้ข้อสรุปก็ตาม คนที่เข้าประชุมจะได้รับข้อมูลที่จำเป็นในเวลาสั้น ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมาก การประชุมเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ผู้เข้าประชุมจะแสดงความคิดต่อวาระการประชุม แต่ผู้บริหารจะไม่ควรพูดฝ่ายเดียว และพนักงานหนุ่มสาวก็ไม่ได้นั่งฟังเงียบ ๆ

กฎเหล็กก็คือ เมื่อทุกคนเข้าประชุม ทุกคนต้องได้พูด ถ้าไม่พูดเลยเท่ากับว่าใช้เวลาประชุมโดยเปล่าประโยชน์ การประชุมแบบนี้จะมีบันทึกลายมือ และอัพโหลดบันทึกการประชุมในวันนั้น เข้าไปในโฟลเดอร์ส่วนกลางของบริษัทด้วย จุดที่บริษัทเยอรมันแตกต่างมากคือ คนที่ไม่ได้เข้าประชุมเพราะติดงานจะไม่ถูกตำหนิ เพราะเขาแค่ไปอ่านบันทึกการประชุมก็เข้าใจเรื่องที่คุยกัน  การไม่เข้าประชุมจึงไม่ใช่ปัญหา

ส่วนที่บริษัทเยอรมันนั้นจะประชุมสั้น ๆ ราว 30 นาที ถ้าประชุมเรื่องจริงจังก็ไม่เคยเกิน 2 ชั่วโมง นี่แปลว่าคนเยอรมันประชุมชั่วโมงเดียวก็ได้ข้อสรุปของปัญหาแล้ว ปกติแล้วคนเยอรมันจะกำหนดเวลาเริ่มและเวลาสิ้นสุดประชุม แต่พวกเขาจะยืดหยุ่นตามสถานการณ์ เช่น บางเรื่องที่น่าจะต้องคุยกันยาว พวกเขาจะยกไปคุยต่อในโอกาสหน้า

สังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานเพื่อให้งานราบรื่น

คนเยอรมันจะไม่ทำงานที่ไร้ประโยชน์ พวกเขาไม่ได้เกียจคร้าน แต่เป็นคนเอาจริงเอาจังและขยัน ซึ่งคล้ายกับคนญี่ปุ่นมาก แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างกับคนญี่ปุ่นอย่างมากคือ คนเยอรมันจะมั่นใจในความคิดของตัวเอง และจัดลำดับความสำคัญอย่างชัดเจน  วิธีที่ช่วยให้เพื่อนร่วมทีมยอมให้ความร่วมมือคือ ต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่า งานที่อยากให้เขาช่วยทำนั้นสำคัญกว่า  เทคนิคที่ใช้บ่อย ๆ ก็คือ ผู้เขียนจะชวนเพื่อนร่วมงานที่สนิทกันเป็นพิเศษ ไปเลี้ยงอาหารกลางวันเป็นประจำ เขาชอบสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานเพื่อให้งานราบรื่น

ผู้เขียนมีเพื่อนสนิท 3 คนคนหนึ่งเป็นคนจีน อีกคนนึงเป็นลูกครึ่งไทยเยอรมัน และคนสุดท้ายเป็นคนเยอรมัน ถึงจะมีเพื่อนน้อยแต่ก็เยอะสัญชาติ วิธีนี้ช่วยให้ได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานที่สนิทกัน เวลาขอความช่วยเหลือจากส่วนงานอื่นเป็นพิเศษ ทั้ง 3 คนนี้จะช่วยพูดอีกแรง งานจึงราบรื่นสุด ๆ แต่ต้องชวนคนจากส่วนงานอื่น (คนเยอรมัน) ที่ให้ความร่วมมือไปกินอาหารญี่ปุ่นด้วย

สิ่งสำคัญเวลาสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงานคือ ต้องอธิบายว่างานนี้สำคัญมากแค่ไหนสำหรับทีมหรือบริษัท เพราะอีกฝ่ายจะยอมช่วยทำงานก็ต่อเมื่อเข้าใจความสำคัญของงาน คนเยอรมันไม่ได้คิดว่าการไหว้วานคือเรื่องธรรมดา ดังนั้น ต้องทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่า งานที่ไหว้วางให้ทำมีเป้าหมาย เพื่อให้ทีมมุ่งไปในทิศทางเดียวกันและเพิ่มผลกำไร

เสริมความแข็งแกร่งของการสื่อสารแนวนอน

ประเทศเยอรมนีมีผู้อพยพเยอะมากแต่ไม่เท่าสหรัฐอเมริกา ขนาดนักเตะทีมชาติเยอรมันที่ลงฟุตบอลโลกกว่าครึ่ง มีพ่อแม่เป็นผู้อพยพมาจากประเทศอื่นด้วย ความหลากหลายตรงนี้ ทำให้คนเยอรมันถนัดไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน คนเยอรมันจะคบค้าสมาคมกับพนักงานต่างฝ่าย ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งกันเป็นเรื่องปกติ ถึงพวกเขาจะไม่ได้ประชุมร่วมกัน แต่การพูดคุยกันสบาย ๆ ระหว่างกินมื้อกลางวัน ก็ช่วยสร้างมิตรภาพได้ดี

เมื่อทุกคนสื่อสารกันอย่างทั่วถึง Productivity ก็จะเพิ่มขึ้น นี่เป็นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมาก ๆ บริษัทเมทซเลอร์จะแชร์การใช้ข้อมูลกันในอีเมลกลุ่ม บริษัทเยอรมันจะใช้ข้อมูลพวกนี้ให้เข้ากับสถานการณ์ได้มากกว่า เมื่อตั้งอีเมลกลุ่มแล้วพนักงานไม่ต้องทำอะไรเลยก็ยังได้รับข้อมูล วิธีนี้ช่วยเพิ่ม Productivity ได้อีกวิธีหนึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจเวลาใครรู้จากอีเมลกลุ่มว่ามีคนลางาน คนอื่น ๆ จะอาสารับงานไปทำ ทั้งที่ปกติแล้วคนเยอรมันจะอ้างว่า นี่ไม่ใช่งานของตัวเอง แต่พอมีคนลางาน พวกเขาก็ให้ความร่วมมือโดยไม่ต้องพูดอะไร คนเยอรมันดูเผิน ๆ เหมือนจะสนใจแค่ส่วนของตัวเอง แต่ถ้าพวกเขาเข้าใจเงื่อนไขตั้งแต่แรก ทีมเวิร์คจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ มนุษย์ย่อมมีน้ำใจช่วยเหลือกันเป็นเรื่องธรรมดา

พูดคำที่เขาใช้กัน

คนเยอรมันมีกฎเหล็กอยู่ว่า เวลาคนอื่นพูดห้ามพูดแทรก ควรปล่อยให้อีกฝ่ายพูดจนจบ ถ้าตอบรับบ่อยเกินไปคนพูดจะยิ่งหงุดหงิด นอกจากนี้ถ้าคนฟังจดบันทึกระหว่างที่อีกฝ่ายพูด คนพูดอาจไม่พอใจคิดว่าอีกฝ่ายไม่ตั้งใจฟัง ส่วนใหญ่แล้วคนเยอรมันถ้าลองได้พูดเขาจะพูดได้ไม่หยุด ถ้าคนเยอรมันอยากได้ข้อมูลบางอย่างจากลูกค้า เขาจะรอให้ถึงช่วงที่การพูดคุยหยุดชะงักรอคอยพูดแทรก

ถ้าคนเยอรมันพูดแทรกทันที นั่นแปลว่าเขาต้องการแสดงออกว่าไม่พอใจอย่างชัดเจน เวลาไปต่างประเทศแนะนำให้ปรับวิธีสื่อสารให้เข้ากับคนท้องถิ่น ไม่จำเป็นต้องพูดภาษานั้นเก่งก็ได้ แม้จะใช้ภาษาไม่ค่อยคล่อง ก็จะรู้สึกใกล้ชิดและจะพยายามเข้าใจมากกว่า เวลาทำงานร่วมกับคนท้องถิ่น ไม่ควรคิดว่าใช้ภาษาอังกฤษเอาก็ได้ แต่ควรพยายามใช้ภาษาท้องถิ่น และพยายามทำความเข้าใจวัฒนธรรม กับประวัติศาสตร์ของพวกเขา โดยไม่ต้องถึงกับรู้ไปหมดทุกเรื่องก็ได้

บทที่ 3 วิธีบริหารเวลา

เวลาสามารถบริหารได้

คนเยอรมันเข้มงวดเรื่องเวลาถึงขนาดมีสุภาษิตว่า การตรงต่อเวลาคือทุกสิ่งทุกอย่าง การบริหารเวลาจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยเพิ่ม Productivity คนเยอรมันที่มาทำงานไม่ตรงเวลาก็มี รถไฟมาไม่ตรงเวลาก็มี แต่ทุกการประชุมหรือการเจรจาธุรกิจต้องเริ่มตรงเวลา ถ้าใครมาสายโดยไม่แจ้งให้ทราบจะถูกมองในแง่ลบทันที แต่ละประเทศมีวัฒนธรรมและกฎระเบียบแตกต่างกันไป แต่คนเยอรมันและคนญี่ปุ่นจะมีความคิดเรื่องการรักษาเวลาเหมือนกัน

คนเยอรมันยังบริหารเวลาเก่งไม่แพ้คนญี่ปุ่นด้วย ขนาดในกฎหมายที่เยอรมันยังมีคำว่าเวลาพ่วงมาด้วย เช่น

กฎหมายช่วงเวลาเลี้ยงดูบุตร กำหนดวันลาสำหรับการเลี้ยงดูบุตร

กฎหมายช่วงเวลาดูแลครอบครัว กำหนดให้ลดเวลาทำงานเพื่อไปดูแลครอบครัว

นี่คือข้อพิสูจน์ว่าพลเมืองมีสิทธิ์คุ้มครองเวลาของตัวเอง ไม่ว่าคนเยอรมันจะทำงานในบริษัทหรือร้านค้า พวกเขาจะรักษาเวลาเข้าทำงานและเลิกงานอย่างเคร่งครัด กฎหมายเวลาแรงงานของเยอรมันที่เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 1994 ระบุว่า ห้ามทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง งานที่ต้องทำให้เสร็จภายในวันนี้จริง ๆ แล้วแทบจะไม่มีถ้าคิดได้เช่นนี้ จะพบว่างานส่วนใหญ่ยืดหยุ่นได้เสมอ

ลองคิดว่าการทำงานล่วงเวลาไม่ใช่สิ่งที่ดี

คนเยอรมันชื่นชมคนที่มีผลงาน แต่ถ้าใครทำงานล่วงเวลาเป็นประจำโดยไม่ลางานเลย เขาจะโดนสงสัยเรื่องวิธีทำงานทันที จะถูกคนเยอรมันมองว่าทำงานไม่เป็น พวกเขามองว่าคนประเภทนี้เป็นคนไร้ความสามารถ พวกเขาจึงเลี่ยงการทำงานล่วงเวลาให้ได้มากที่สุด คนเยอรมันที่เป็นผู้บริหาร พนักงานระดับสูง หรือเจ้าของธุรกิจก็ทำงานยาวนานหลายชั่วโมง พวกเขาได้รับค่าตอบแทนสูง จึงต้องทำงานเพิ่มขึ้น และรับผิดชอบมากขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา

เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่ง ที่คนเยอรมันไม่ต้องทำงานล่วงเวลา ก็เพราะพวกเขาแทบจะไม่ทำงานเรื่อยเปื่อยเลย เมื่อคนเยอรมันจดจ่อกับการทำงานเต็มที่ พวกเขาก็สามารถเลิกงานตรงเวลา แล้วกลับไปใช้เวลาส่วนตัวได้ ทุกคนสามารถเริ่มลดเวลาทำงานได้ตั้งแต่วันนี้ ให้ลองตัดสินใจว่าจะกลับบ้านตอน 5 โมงหรือ 6 โมงดี แล้วเมื่อถึงเวลาเลิกงานก็กลับบ้านทันทีแม้งานจะยังไม่เสร็จ เมื่อลองทำแบบนี้แล้วจะทำงานได้เร็วขึ้น

ถ้าคิดว่าการเลิกทำงานล่วงเวลาแบบหักดิบนั้นยากเกินไป ให้ค่อย ๆ ลดเวลาตอนทำล่วงเวลา ด้วยความคิดว่าจะกลับเร็วขึ้นกว่าเมื่อวาน 10 นาที จากนั้นค่อยตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ทำงานล่วงเวลาเลย โดยคิดว่าคนที่ทำงานล่วงเวลาคือคนที่ทำงานไม่เป็น ก็จะพบความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลดีกลับมาหาในไม่ช้า

อย่าเสียเวลาเขียนอีเมลนาน

เวลางานเล็ก ๆ น้อย ๆ พอถูกสะสมไปเรื่อย ๆ มันจะนำไปสู่การทำงานล่วงเวลาได้ คนเยอรมันคิดว่า แค่ส่งข้อมูลที่ถูกต้องมาก็พอ ไม่ต้องพูดอะไรมากกว่านั้น พวกเขาคิดแบบนี้ไม่ใช่แค่กับเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นกับลูกค้าด้วย คนเยอรมันจะไม่กล่าวขอโทษยืดยาว ลูกค้าได้รับข้อมูลแล้วก็จบ สิ่งนี้คือนิสัยที่แตกต่างของคนเยอรมัน แต่ถ้าจำกัดเวลาการเขียนอีเมลให้เหลือแค่ฉบับละ 1 นาที เมื่อรวม ๆ กันแล้วจะลดการใช้เวลาโดยเปล่าประโยชน์พอสมควร

ใช้เวลาพักแบบคนเยอรมัน

คำว่า Carpe diem (คา-เพ-เดียม) คำนี้เป็นภาษาละตินซึ่งปรากฏในบทกวีของฮอเรซ กวีโรมันโบราณก่อนคริสตกาลหมายความว่า จงคว้าวันนี้ไว้ หมายความว่า จงให้ความสำคัญกับตอนนี้และจงสนุกกับปัจจุบัน วลีนี้หมายถึงจงทำงานที่ได้รับมอบหมายในตอนนี้ อย่าผัดวันประกันพรุ่งจงทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เหตุการณ์นี้ทำให้รู้สึกว่า ทำงานหนักสมเป็นหัวหน้า คนเยอรมันจะมุ่งมั่นทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และชอบใช้เวลาพักระหว่างทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การประชุมทางโทรศัพท์ขณะเดินทาง เป็นเรื่องที่มีประสิทธิภาพมาก ไม่ต้องไปรบกวนเวลาทำงานของพนักงานคนอื่น ดังนั้น จะโทรศัพท์ไปกินข้าวกลางวันไปก็ย่อมได้ ซึ่งคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีทำงานที่น่าสนใจ และมีประสิทธิภาพอีกวิธีหนึ่ง

เก็บออมชั่วโมงทำงานล่วงเวลา

คนทั่วโลกต่างคิดเหมือนกันว่า เวลาเป็นเงินเป็นทอง แต่จุดที่น่าสนใจก็คือ เยอรมนีมีกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนเวลาเป็นเงินอยู่จริง ๆ กฎหมายนั่นก็คือ ระบบสะสมเวลาแรงงาน  จริง ๆ แล้วคนเยอรมันไม่ใช่จะทำงานล่วงเวลาเลย พวกเขาแค่สร้างระบบที่มองว่าการทำงานล่วงเวลาไม่ใช่เรื่องปกติขึ้นมา ระบบสะสมเวลาแรงงานคือ ระบบสะสมชั่วโมงทำงานล่วงเวลาไว้ในบัญชี เมื่อพนักงานสักคนสะสมได้ส่วนหนึ่ง เขาจะเปลี่ยนมันให้เป็นวันหยุดพักร้อนได้ นี่คือระบบที่คิดว่าเวลาเป็นเงินเป็นทองอย่างแท้จริง

ชั่วโมงทำงานล่วงเวลาที่สะสมในบัญชี และระยะเวลาชำระบัญชีจะแตกต่างกันไปในแต่ละบริษัท พนักงานบางคนสะสมชั่วโมงทำงานล่วงเวลาไว้เพื่อใช้ในการเลี้ยงดูบุตรหรือดูแลครอบครัว ก่อนหน้าที่เยอรมนีจะใช้ระบบสะสมเวลาแรงงานในช่วงทศวรรษที่ 1990 เพราะเขาใช้ระบบจ่ายค่าแรงล่วงเวลา แต่บริษัทไม่อยากจ่ายค่าแรงล่วงเวลาอยู่แล้ว ฝ่ายพนักงานเองถ้าไม่ได้ค่าแรงเพิ่มก็อยากรีบกลับบ้าน  ความต้องการทั้งสองฝ่ายจึงตรงกัน พอถึงเวลาเลิกงานคนเยอรมันจึงกลับบ้านทันทีจนเป็นนิสัย เมื่อพนักงานอยากกลับบ้านตรงเวลา พวกเขาเลยต้องทำงานให้เสร็จภายในเวลางาน Productivity จึงเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ

เวลาเงียบสงบช่วยเพิ่ม Productivity

กฎหมายเยอรมนีระบุว่าวันจันทร์ถึงวันศุกร์ตั้งแต่ 4 ทุ่มถึง 7 โมง ช่วงกลางวันตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงบ่ายสามโมง วันเสาร์ตั้งแต่หนึ่งทุ่มถึง 8 โมง วันหยุดและวันนักขัตฤกษ์ทั้งวันห้ามส่งเสียงดัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ระดับการห้ามส่งเสียงดังในกฎหมายนี้ ไม่ใช่แค่ถูกห้ามเปิดเพลงเสียงดัง แต่ห้ามใช้เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องซักผ้าด้วย ส่วนตอนกลางคืนก็ห้ามใช้ฝักบัว ขนาดคนเยอรมันที่ชอบดูแลสนามหญ้าในสวน ยังไม่กล้าใช้เครื่องตัดหญ้าในช่วงเวลานี้เลย

ตู้ทิ้งขยะสำหรับขวดแก้วที่ตั้งอยู่กลางแจ้ง ก็ยังมีข้อความบอกว่าห้ามใช้บริการในช่วงเวลานี้ เพราะเวลามีคนมาทิ้งขวดจะเกิดเสียงดัง คนเยอรมันเข้มงวดกับเสียงดัง เพราะพวกเขามีนิสัยรักสงบ และอยากพักผ่อนให้เต็มที่ นิสัยเหล่านี้อาจมีผลต่อ Productivity ที่สูงของคนเยอรมัน เมื่อพวกเขามีเวลาเงียบสงบที่แน่นอน คนเยอรมันจะตระหนักได้ว่า ต้องดูดฝุ่นหรือซักผ้าให้เสร็จก่อนถึงเวลานั้น พวกเขาจะทำงานบ้านทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเสาร์ แล้วค่อยพักผ่อนตามสบายในวันอาทิตย์ คนเยอรมันรู้จักแบ่งเวลา เมื่อถึงเวลาทำงานก็ทำเต็มที่ เมื่อถึงเวลาพักก็ต้องพักให้เต็มที่ วิธีนี้ช่วยเพิ่ม Productivity ได้จริง ๆ

วิธีจัดลำดับความสำคัญของงานแบบคนเยอรมัน

คนเยอรมันมอบหมายงานกันอย่างชัดเจน พวกเขาจะไม่รับงานอื่นที่อยู่นอกเหนือจากงานของตัวเอง และให้ความสำคัญกับงานที่ได้รับมอบหมายมาเป็นอันดับแรก ต่อให้มีงานด่วนที่ต้องส่งพรุ่งนี้ พวกเขาก็จะคิดว่า รู้ตั้งนานแล้วว่าต้องรีบใช้ แล้วทำไมถึงมาบอกตอนนี้ นี่ไม่ใช่ปัญหาของฉัน แต่เป็นปัญหาของคนที่บริหารเวลาได้ไม่ดี แม้งานด่วนนั้นจะต้องใช้พรุ่งนี้ ลูกทีมก็ไม่ให้ความสำคัญกับงานนี้เป็นอันดับแรก พวกเขายังคงทำงานเดิมที่ได้รับมอบหมายมา งานของตัวเองสำคัญกว่างานด่วนของหัวหน้า นี่คือการจัดลำดับความสำคัญอันเป็นเอกลักษณ์ของคนเยอรมัน

เทคนิคไม่ยอมทำงานแทรกคือ หนึ่งในเทคนิคที่ช่วยเพิ่ม Productivity ได้ง่ายที่สุด ถึงหัวหน้าจะโดนลูกทีมปฏิเสธก็ไม่โกรธ หรือคิดไปว่าลูกทีมคนนี้ไม่เอาไหน ช่างไม่รู้จักกาละเทศะบ้างเลย เชื่อว่าการไม่เลือกที่รักมักที่ชังของคนเยอรมัน มีผลต่อ Productivity ด้วย

เทคนิคกำจัดสิ่งรบกวนสมาธิ

ออฟฟิศของบริษัทเมทซเลอร์ไม่มีฉากกั้น พนักงานจึงมองเห็นกันทั่วทั้งชั้น ออฟฟิศลักษณะนี้มีข้อดีคือ ทุกคนสื่อสารกันได้ง่าย แต่มีข้อเสียคือเวลาทำงานจะไม่ค่อยมีสมาธิ คราวนี้เรื่องที่น่ากังวลคือ เวลาที่แต่ละคนคุยโทรศัพท์พร้อมกัน ผู้จัดการกองทุนต้องใช้ความคิด และมีสมาธิกับตลาดหุ้น พวกเขาจึงต้องทำงานพร้อมกับใส่หูฟัง พวกเขาใส่หูฟังเพื่อตัดเสียงรบกวน รู้สึกทึ่งกับวิธีง่าย ๆ นี้มาก ถ้าออฟฟิศขยายพื้นที่ก็คงช่วยให้ทุกคนทำงานอย่างสงบได้อีกวิธีหนึ่ง แต่การแจกหูฟังให้พนักงาน จะคุมงบประมาณได้ดีกว่า แล้วยังใช้สร้างสมาธิได้ทุกที่ด้วย

ใครๆก็ลาพักร้อนได้

บริษัทเยอรมนีมีวันพักร้อนตามกฎหมายอย่างน้อยที่สุดปีละ 24 วัน ส่วนบริษัทใหญ่ให้วันพักร้อน 30 วัน แถมไม่มีเงื่อนไขว่าถ้าเป็นพนักงานใหม่จะไม่ได้วันพักร้อน เมื่อคนเยอรมันกำหนดวันพักร้อนไว้ในกฎหมาย พวกเขาจึงเชื่อว่าทุกคนต้องมีสิทธิ์นี้ คนเยอรมันส่วนใหญ่ใช้วันลาพักร้อนจนหมดเกลี้ยง พวกเขาจะลาช่วงฤดูร้อน 2-4 สัปดาห์ และในฤดูหนาว 1-2 สัปดาห์ เพื่อไปเที่ยวต่างประเทศกับครอบครัว

ปกติแล้วคนเยอรมันไม่ค่อยใช้เงิน แต่ถ้าเป็นเรื่องพักร้อนพวกเขาแทบไม่เสียดายเงินเลยคนเยอรมันไปเที่ยวต่างประเทศมากที่สุดในโลก และมองการลาพักร้อนกับการลาป่วยเป็นคนละเรื่องกัน พวกเขาคิดว่าวันพักร้อนมีไว้เพื่อพักร้อน จึงใช้แยกกับวันลาป่วย คนเยอรมันไม่ถูกอิทธิพลของคนรอบข้างครอบงำ เพราะพวกเขาคิดว่าจะลาพักร้อนยาว แล้วจะรีบกลับมาชีวิตก็จะง่ายขึ้น

บทที่ 4 การทำงานเป็นทีม

เพิ่มความฉับไวในการทำงาน

ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเพิ่ม Productivity คือความฉับไวในการทำงาน คงมีวิธีง่าย ๆ เพื่อเพิ่มความฉับไว เช่น ตัดงานไร้ประโยชน์ออก ทำงานให้เสร็จรวดเร็ว แต่การเพิ่มทักษะของพนักงานก็สำคัญเช่นกัน ก่อนเพิ่ม Productivity ในการทำงาน ต้องทบทวนสภาพของทีมและการบริหารทีม ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดต้องพิจารณาคือโครงสร้างบริษัท คนเยอรมันจะไม่ถ่อมตนเพราะอีกฝ่ายอายุมากกว่าหรือเที่ยวอวดเบ่งใคร เพราะตัวเองอายุมากกว่า

คนเยอรมันรู้จักกาลเทศะ และไม่พูดเรื่องที่ไม่สมกับเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาไม่ลังเลที่จะแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม สังคมของพวกเขาค่อนข้างเปิดกว้าง ใครจะพูดอะไรก็ได้ คนเยอรมันให้ความเคารพกับตำแหน่งมากคล้ายกับคนญี่ปุ่น แต่ตำแหน่งหัวหน้าเป็นเพียงแค่บทบาท บริษัทเยอรมันไม่มีกฎว่า ผู้บริหารต้องถูกเลือกจากพนักงาน ที่เข้ามาทำงานพร้อมกันในรุ่นเดียวกัน พวกเขาจึงไม่ชินกับความคิดทำนองว่า ต้องเอาใจหัวหน้าเพื่อความก้าวหน้า

คนเยอรมันเคารพหัวหน้าแต่ไม่เอาใจเขาเพื่อหวังเรื่องตำแหน่ง บริษัทส่วนใหญ่มักจะมีหัวหน้าที่ไม่พอใจลูกทีมที่ไม่เชื่อฟัง ส่วนลูกทีมก็ไม่เชื่อใจหัวหน้าที่ไม่รู้เรื่องหน้างาน ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ การสื่อสารภายในบริษัทก็มีแต่จะแย่ลง ทุกคนไม่เข้าใจกันและ Productivity ก็จะต่ำลงด้วย ถ้าอยากจะเพิ่ม Productivity คิดว่า การปรับโครงสร้างบริษัทให้แบนราบเป็นวิธีหนึ่งที่สมควรทำ

สำนึกรับผิดชอบเรื่องงาน

บางกรณีถ้าอยากเพิ่ม Productivity จะต้องกำหนดผู้รับผิดชอบงานให้ชัดเจน  ในบริษัทเยอรมันคนอื่นจะไม่ค่อยให้ความช่วยเหลือ หรือถ้าช่วยก็ต้องมีเงื่อนไข หัวหน้าต้องแจกจ่ายงานให้เหมาะสมไม่ให้ล่าช้า และไม่อ้างว่าทำเพื่อทีมหรือเพื่อเพิ่มประสบการณ์ ถ้าทีมยังทำงานล่าช้าหัวหน้าก็ต้องพร้อมรับมือให้ได้ การกำหนดหน้าที่รับผิดชอบให้ชัดเจนเหมือนคนเยอรมัน งานอาจจะติดขัดบ้าง แต่วิธีนี้จะไม่ไปเพิ่มงานให้ใคร Productivity ของพนักงานก็จะเพิ่มขึ้น

บางเวลาต้องถ่ายโอนอำนาจ

บริษัทที่มีโครงสร้างความสัมพันธ์แบนราบ นอกจากจะต้องกำหนดหน้าที่ของพนักงาน ให้ชัดเจนแล้ว ยังต้องให้อำนาจในการทำงานนั้นให้เสร็จด้วย นี่คือเงื่อนไขสำคัญสำหรับการเพิ่ม Productivity ถ้าการมอบอำนาจให้พนักงานสักคนทำงานใหญ่เป็นเรื่องยาก ก็ลองเริ่มจากมอบอำนาจให้ทำงานเล็ก ๆ ก่อนก็ได้ วิธีนี้จะช่วยให้งานเดินเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การทำงานในบริษัทเยอรมันจะตัดสินใจได้เร็วกว่า เพราะบริษัทกำหนดคนที่ต้องตัดสินชัดเจน ไม่ตัดสินใจกันหลายคนเด็ดขาด

เมื่อหัวหน้ามอบหมายอำนาจการตัดสินใจแล้ว จะไม่เข้าไปก้าวก่ายอีก ต่อให้หัวหน้ารู้สึกว่าไม่อยากทำธุรกิจกับลูกค้ารายนี้แล้ว ถ้าไม่บอกลูกทีมตั้งแต่แรก ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของลูกทีม ถ้าหัวหน้าเปลี่ยนการตัดสินใจของลูกทีมภายหลัง ลูกทีมอาจหมดความไว้วางใจในตัวเขา  ถ้าหัวหน้ามอบหมายงานลูกทีมโดยไม่ได้ให้อำนาจเต็ม ลูกทีมก็ต้องคอยถามหัวหน้าแก้งานหลายรอบ สุดท้ายงานก็จะคืบหน้าช้า การลดจำนวนคนตัดสินใจ เป็นวิธีเร่งความเร็วในการตัดสินใจ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด

ยิ่งเป็นข้อมูลไม่ดียิ่งต้องเปิดรับ

ประโยคแรกที่หัวหน้าคนเยอรมันพูด ตอนที่ผู้เขียนเข้ามาทำงานใหม่ ๆ คือ ถึงจะทำผลงานแย่จะไม่ถูกไล่ออก แต่ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลเสียต่อบริษัท แล้วปิดบังเรื่องนั้นไว้จะได้ออกทันที หัวหน้าอยากถือว่าพนักงานทำผิดพลาดได้ แต่ห้ามปิดบังความผิดพลาดเด็ดขาด ยิ่งมีข่าวร้ายยิ่งต้องรีบบอก ไม่อย่างนั้นลูกค้าจะไม่ไว้ใจบริษัทอีกต่อไป การทำงานความผิดพลาดมันเกิดขึ้นได้ไม่ใช่สิ่งต้องห้าม และบริษัทก็ควรเตรียมตัวรับมือก่อนที่จะเกิดข้อผิดพลาด

บริษัทที่มีวิธีรับมือเช่นนี้ จะไม่มีพนักงานคนไหนต้องนั่งเครียดหรือกลุ้มใจอยู่คนเดียว แถมความเสียหายก็จะไม่ลุกลาม เมื่อทุกคนที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อหาทางออกร่วมกัน ปัญหาก็จะถูกแก้ไขได้ทันท่วงที ถ้าบริษัทคิดหาวิธีรับมือก่อนที่ข้ามเส้นแบ่งเขตเตือนภัย จะเลี่ยงสถานการณ์ร้ายแรงที่สุด และควบคุมความเสียหายได้ แล้วจะสามารถควบคุมความเสี่ยงได้ ถ้าควบคุมความเสี่ยงไม่ได้นั่นแหละคือปัญหา ดังนั้นควรสร้างบรรยากาศในที่ทำงาน ให้เปิดรับฟังข่าวร้ายให้มากที่สุด

รู้จักพลิกแพลงเวลาสั่งงาน

คนเยอรมันชอบสื่อสารกันตรง ๆ เวลาหัวหน้าทีมสั่งงานลูกทีมมักจะถามกลับว่า ทำไมต้องทำเรื่องนี้? งานนี้ต้องทำเมื่อไหร่? งานนี้มีเป้าหมายอะไร? ดังนั้น เวลาสั่งงานต่อให้รีบแค่ไหนก็พยายามอธิบายเป้าหมาย ผลลัพธ์ และเหตุผลอย่างละเอียด ซึ่งคนเยอรมันก็รับฟังแต่โดยดี นี่คือกฎพื้นฐานของการบริหารทีมให้ราบรื่น วิธีง่าย ๆ นี้ช่วยเพิ่ม Productivity อย่างที่คาดไม่ถึง

ครึ่งชีวิตคือการจัดระเบียบ

ที่เยอรมนีมีสุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า ครึ่งชีวิตคือการจัดระเบียบ ถ้าจัดระเบียบอยู่เสมอจะไม่เสียเวลาหาของ วิธีนี้จึงช่วยเพิ่ม Productivity ได้ด้วย การจัดระเบียบยังช่วยให้ให้การลาพักร้อนยาวไม่มีปัญหาด้วย ถ้าอยากพักร้อนราบรื่น ก็ต้องจัดระเบียบการแบ่งปันข้อมูลในทีม บริษัทเมทซเลอร์กำหนดข้อมูลที่ควรแบ่งปัน และไม่ควรแบ่งปันอย่างชัดเจน ถ้าเป็นข้อมูลที่ควรแบ่งปัน เช่น ข้อมูลลูกค้า ทุกคนจะสร้างระบบกลางเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเป็นระยะ

พนักงานจะมีไฟล์ไว้โน้ตข้อมูลลูกค้า ซึ่งจะกรอกตั้งแต่ใครติดต่อลูกค้าบ้าง ติดต่อครั้งแรกเมื่อไหร่ไปจนถึงรายละเอียดข้อเสนอธุรกิจและแนวทางรับมือต่อจากนี้ จากนั้นทุกคนก็จะแบ่งปันข้อมูลบน Cloud หรือทาง อีเมล วิธีนี้จึงเป็นระบบที่ดี บริษัทนำระบบนี้มาใช้ ทุกคนก็ช่วยกันคิดหาวิธีใช้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยตลอดเวลา ดังนั้น เวลาพนักงานลาพักร้อนหรือลาป่วย แล้วมีลูกค้าติดต่อมาคนอื่นก็จะทำงานแทนได้ พนักงานจึงลาพักร้อนยาวอย่างไร้กังวล

อย่าลังเลที่จะย้อนถามจนกว่าจะเข้าใจ

เยอรมันเกือบทุกคนไม่คิดว่า การถามคือการรบกวน แม้จะย้อนถาม 2-3 ครั้ง อีกฝ่ายก็จะพยายามพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นแทน ประเทศเยอรมนีมีผู้อพยพจำนวนมาก ผู้คนสื่อสารด้วยภาษาที่หลากหลาย ดังนั้น การไม่เข้าใจสิ่งที่อีกฝ่ายพูดจึงเป็นเรื่องธรรมดา คนเยอรมันทำงานกันเป็นทีม พวกเขาจึงต้องถามเรื่องที่ไม่เข้าใจจนกว่าจะเข้าใจ ฝ่ายที่พูดต้องหาวิธีอธิบายให้อีกฝ่ายเข้าใจ ขืนทำงานโดยที่ไม่เข้าใจ สุดท้ายก็ต้องเสียเวลาทำใหม่ 2-3 รอบ การถามจนกว่าจะเข้าใจจึงช่วยเพิ่มความฉับไวในการทำงานได้

เลขาคือเพื่อนร่วมรบ

หนึ่งตำแหน่งงานที่มีบทบาทสำคัญมากในบริษัทก็คือ เลขานุการ แต่ละทีมจะมีเลขาหนึ่งคน ซึ่งนับเป็นเรื่องแปลกใหม่มาก งานของเลขา ฯ นั้นกว้างมาก เลขา ฯ ต้องดูรายละเอียดงาน และตารางงานของพนักงานทุกคนในทีม รวมทั้งช่วยจัดการให้ด้วย ข้อมูลลูกค้า ข้อมูลภายในบริษัท ข้อมูลจากกรุงโตเกียว และสาขาอื่น ๆ จะมากองรวมอยู่ที่เลขา ฯโทรศัพท์ แฟกซ์ และพัสดุไปรษณีย์ ก็ต้องถูกส่งไปที่เลขา ฯ ก่อนจากนั้นเลขา ฯ ค่อยส่งต่อให้ผู้รับอีกที

เวลานัดทีมประชุม แค่โทรศัพท์ไปหาเลขา ฯ คนเดียว เลขา ฯ ก็จะช่วยจัดตารางให้ การมอบหมายหน้าที่นี้ให้เลขา ฯ ทำซึ่งปรับตารางเวลาได้ง่ายกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย นอกจากนี้เลขา ฯ ยังเป็นคนที่รู้และควบคุมความลับเก่ง ไม่มีเรื่องอะไรที่ปิดบังเลขา ฯ ได้ เลขา ฯ เป็นมากกว่าผู้ช่วย เลขา ฯ คือเพื่อนร่วมรบที่ดีที่สุด เลขา ฯ จะมีบทบาทสำคัญในการเพิ่ม Productivity ของพนักงานทุกคนในบริษัทได้

ทำไมคนเยอรมันชอบดื่มในบริษัทตอน 5 โมงเย็นวันศุกร์

เมื่อคนเยอรมันให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีม พวกเขาจึงมีการสื่อสารภายในที่ยอดเยี่ยมอีกด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัทเยอรมันมักจัดประชุมนอกสถานที่อยู่บ่อย ๆ การประชุมลักษณะนี้ มีประสิทธิภาพสูงกว่าการประชุมภายในบริษัทเสียอีก การประชุมนอกสถานที่จะแตกต่างไปตามสภาพและขนาดของบริษัท การเปลี่ยนบรรยากาศจากเมืองใหญ่มาอยู่ในที่เงียบสงบ และมีอากาศสดชื่นช่วยให้พนักงานคิดไอเดียใหม่ ๆ และตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ดีขึ้น

บริษัทเยอรมันไม่ค่อยสังสรรค์กันหลังเลิกงาน แต่จะหาโอกาสให้พนักงานแต่ละแผนกมาผูกมิตรกัน ตัวอย่างเช่น ตอน 5 โมงเย็นของวันศุกร์ บริษัทจะเปิดไวน์ให้ทุกคนมาดื่มร่วมกัน ซึ่งใครจะมาร่วมก็ได้ เมื่อพนักงานมาอยู่ร่วมกัน พวกเขาจะพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วค่อย ๆ แยกย้ายกันไป  ช่วงหลังเลิกงาน คนเยอรมันจะไม่ไปดื่มสังสรรค์ ต่อด้วยร้านคาราโอเกะ แล้วคุยกันเอะอะในรถไฟเที่ยวสุดท้าย ร่างกายพวกเขาจึงสดชื่น คนเยอรมันถนัดรักษาระยะห่างทางความสัมพันธ์ พวกเขาไม่ได้ทำตัวสนิทเกินไปจนตัวติดกัน หรือไม่ยอมสุงสิงกับใครเลย

ผูกไมตรีกับลูกค้า

คนเยอรมันมีวิธีสื่อสารกับลูกค้า พวกเขาจะไม่ไปตีกอล์ฟกับลูกค้าในวันหยุดเด็ดขาด กลยุทธ์หนึ่งที่บริษัทเมทซเลอร์ชอบใช้คือ จัดงานเลี้ยงเพื่อเชิญลูกค้ามาร่วมงาน บางครั้งบริษัทจัดงานเลี้ยงในวันหยุด และเชิญครอบครัวของพนักงานมาร่วมงานด้วย ส่วนงานเลี้ยงก็มีหลายรูปแบบ เช่น งานคอนเสิร์ต (เรียกว่างานกาล่า) งานเลี้ยงเล็ก ๆ เพื่อพูดคุยกัน งานสัมมนา และงานจัดเลี้ยงทั่วไป การสื่อสารในงานเลี้ยงเหล่านี้ ช่วยเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับลูกค้า พร้อมกับขยายฐานลูกค้าได้ด้วย

บทที่ 5 การใช้ชีวิต

วิธีช่วยให้พนักงานลางานง่ายขึ้น

ผลสำรวจเมื่อปี 2012 ระบุว่า คนเยอรมันได้วันพักร้อน 30 วันแต่จะใช้เพียง 28 วัน ส่วนประเทศที่ใช้ควรพักร้อนเต็มที่ครบ 30 วันคือฝรั่งเศส การใช้วันพักร้อนเป็นเรื่องสำคัญมากในการเพิ่ม Productivity แต่คำถามที่สำคัญกว่านั้น คือ ควรทำอย่างไรเพื่อให้ได้พักร้อนกันอย่างเต็มที่จริง ๆ บริษัทเยอรมันจะมีปฏิทินแผ่นใหญ่ติดไว้ในพื้นที่ทำงานของทุกทีม แต่ละคนจะใช้แม่เหล็กสีแดงหรือสีน้ำเงินติดที่วันหยุดของตัวเอง

วิธีนี้ช่วยให้ทุกคนรู้ว่าใครจะมาเมื่อไหร่ ถ้ามีใครลาวันหยุดซ้อนกัน ก็จะไปปรึกษากันเป็นการส่วนตัวเพื่อเปลี่ยนวันหยุด เมื่อพนักงานแบ่งปันกำหนดการวันหยุด ในทีมทุกคนก็จะลางานกัน ได้ง่ายขึ้น วิธีต่อไปซึ่งใช้ได้ผลก็คือ ให้หยุดในวันครบรอบ วิธีต่อไปคือลดชั่วโมงทำงานแลกกับค่าตอบแทน ถ้าผู้บริหารระดับสูงเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ทุกคนในบริษัทก็จะตั้งใจหาวิธีปรับปรุงการทำงาน ส่งผลให้บริษัทมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น บริษัทที่มีผู้บริหารระดับสูง ให้ความสำคัญแก่พนักงาน จึงแข็งแกร่งอย่างแท้จริง

วางสมาร์ทโฟนแล้วไปเดินเล่นกัน

การเดินเล่นคือการเดินไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีจุดหมาย การเดินเล่นไม่ใช่การเดินเฉย ๆ หรือเดินเพื่อเปลี่ยนสถานที่ ถ้าพาสุนัขไปเดินเล่นนั่นเรียกว่าการให้สุนัขเดินเล่น คนเยอรมันชอบเดินเล่นมาก ถึงขั้นผิดปกติในสายตาคนทั่วไป ถ้าคนเยอรมันมีเวลาว่าง พวกเขาจะออกไปเดินเล่น โดยไม่สนว่าจะเป็นวันทำงานหรือวันหยุดสุดสัปดาห์ คนเยอรมันทุกเพศทุกวัยออกไปเดินเล่นตามที่ต่าง ๆ ในทุกฤดู ต่อให้เป็นฤดูฝน ลมแรง หรือหิมะตกก็ตาม

นิสัยชอบเดินนี้คงมาจากความรักธรรมชาติ และใส่ใจสุขภาพของคนเยอรมัน พวกเขามี Productivity สูง เพราะมีเวลาได้พักสมองแบบนี้ เมื่อสมาชิกในทีมมีเวลาเล็ก ๆ น้อย ๆ ร่วมกัน ในสถานีที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานจะถือเป็นเวลาพักสมอง และเสริมความแข็งแกร่งของทีมเวิร์คได้ในเวลาอันสั้น ในการทำงานย่อมเกิดปัญหา หรือความผิดพลาดได้เสมอ ต่อให้ไม่ได้ทำงานแต่ใจยังกังวลว่าถ้าเกิดปัญหาจะรับมืออย่างไรอยู่ดี

แต่คนเก่ง ๆ ในแวดวงธุรกิจและกีฬา จะพักสมองเก่งมาก พอพักเรื่องงานแล้วออกมาเดินเล่น พวกเขาจะรู้สึกสดชื่นและสมองโล่ง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นพวกเขาก็เผชิญหน้ากับมันได้อย่างสุขุม และแก้ไขมันได้อย่างราบรื่น ช่วงเวลาที่เพลิดเพลินไปกับการเดินเล่นเรื่อยเปื่อย โดยไม่ได้ฟังเพลง ไม่ได้เล่นสมาร์ทโฟน และไม่ได้ตั้งใจออกกำลังกายเพื่อสุขภาพคือ ช่วงเวลาที่วิเศษ ช่วงเวลานี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง

ครอบครัวมาเป็นที่หนึ่ง

คนเยอรมันให้ความสำคัญกับการใช้เวลากับครอบครัวมาก พวกเขาจึงพยายามไม่นัดใครช่วงบ่ายวันศุกร์ บนท้องถนนช่วงบ่ายสองบ่ายสามของวันศุกร์ จะเริ่มคลาคล่ำด้วยรถยนต์ที่รีบมุ่งหน้ากลับบ้าน เพราะแต่ละคนอยากกลับไปใช้เวลากับครอบครัว คนเยอรมันให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นธรรมชาติของพวกเขา ถ้าครอบครัวมีความสุขทุกคนก็พร้อมทุ่มเทให้กับงาน การมีเวลากับครอบครัวช่วยเพิ่ม Productivity ในการทำงานได้จริง ๆ

ถ้าครอบครัวรักใคร่กันดี พนักงานจะมี Productivity ในการทำงานเพิ่มขึ้น บริษัทก็จะแข็งแกร่ง แล้วเศรษฐกิจของประเทศก็จะดีขึ้นตามลำดับ

จัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ดี

คนเยอรมันจะเก็บกวาดบ้าน ให้สะอาดเอี่ยมอ่องราวกับห้องตัวอย่าง กระจกหน้าต่างถูกเช็ดถูจนไม่มีฝ้าเกาะ แม้แต่ห้องครัวที่เปื้อนคราบน้ำมันได้ง่าย ก็ยังไม่มีคราบราวกับสร้างใหม่ ข้าวของไม่รกเพราะถูกจัดเป็นระเบียบเหมือนที่ทำงาน พวกเขาจึงไม่ต้องเดินวนไปมาเพื่อขุดคุ้ยเวลาอยากหาของ คนเยอรมันมีสำนึกว่า ชาวบ้านต้องช่วยกันรักษาภูมิทัศน์ของเมือง พวกเขาจึงไม่ตากผ้านอกบ้าน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นแค่กับคนเยอรมัน แต่ถือเป็นเรื่องปกติในโลกตะวันตกด้วย

พวกเขาจะไม่ตากผ้าในห้อง แต่พอซักผ้าเสร็จแล้วก็จะเอาเข้าเครื่องอบผ้า พอผ้าแห้งก็พับเก็บทันที คนเยอรมันชอบรักษาความสะอาดในบ้าน ถึงขนาดมีร้านค้าสำหรับอุปกรณ์ทำความสะอาดโดยเฉพาะ ราวกับศูนย์รวมของตกแต่งบ้าน เหล็กขูดสำหรับทำความสะอาดกระจกหน้าต่างให้ใส ก็เป็นอุปกรณ์ในครัวเรือนของคนเยอรมันมาแต่โบราณ ถ้าคนเยอรมันทำเลอะนิดหน่อย พวกเขาจะทำความสะอาดทันทีไม่ปล่อยทิ้งไว้ ถ้ามีของในบ้านที่ใช้ไม่ถนัดมือ ก็จะปรับเปลี่ยนให้ใช้สะดวกขึ้น ซึ่งนิสัยเล็ก ๆ พวกนี้ ส่งผลต่อ Productivity ในการทำงาน

ถ้าพนักงานหงุดหงิดกับการวางผังในออฟฟิศ พวกเขาจะปรับเปลี่ยนภายในเวลา 2-3 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ตอนบริษัทปรับเปลี่ยนภายใน และจะใช้ระบบใหม่ พวกเขาเริ่มจากจัดสรรพื้นที่ให้ทีมมานั่งรวมกัน วิธีที่ใช้ก็ไม่ใช่แค่การย้ายโต๊ะ แต่เป็นการทุบเสาหรือผนังออกไป เพื่อปรับเปลี่ยนแปลงขนาดห้อง พอสภาพแวดล้อมในการทำงานยืดหยุ่นได้เช่นนี้ บรรยากาศจึงสดใสอยู่เสมอ นี่คือกุญแจสำคัญที่ช่วยให้บริษัทเมทซเลอร์อยู่รอดมาได้หลายศตวรรษ พวกเขารักษารากฐานเอาไว้อย่างมั่นคง แต่อะไรควรเปลี่ยนตามยุคสมัยก็เปลี่ยนอย่างรวดเร็วไม่รีรอ

มีน้ำใจให้มากขึ้น

ทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จในปี 2011 ตอนที่ทีมฟุตบอลหญิงญี่ปุ่นคว้าแชมป์สำเร็จ คนรอบข้างผู้เขียนต่างมาแสดงความยินดีที่ญี่ปุ่นคว้าแชมป์ ประสบการณ์ครั้งนี้สอนว่า คนต่างชาติอื่น ๆ ไม่ใช่แค่เยอรมันต่างยอมรับความสามารถของอีกฝ่ายอย่างจริงใจ เยอรมนีเป็นประเทศผู้อพยพ พวกเขาจึงรู้ว่าการยอมรับความแตกต่าง และการมีวัฒนธรรมที่น่านับถือเป็นเรื่องวิเศษสุด อีกทั้งการคว้าแชมป์ระดับโลก เป็นเรื่องที่มีความหมายจริง ๆ นี่คือประสบการณ์อันล้ำค่า เมื่อคนเรามีน้ำใจโลกใบนี้จะเปิดกว้างและน่าอยู่ยิ่งขึ้น สังคมญี่ปุ่นก่อนที่จะฟองสบู่จะแตก อยู่ด้วยกันแบบบ้าน ๆ และมีน้ำใจมากกว่านี้ ซึ่งมองว่าคือความงามที่น่านึกถึงอยู่เสมอ

ยอมรับวิธีทำงานที่หลากหลาย

รายงานความสุขโลกปี 2017 ซึ่งจัดโดยสหประชาชาติระบุว่า เยอรมนีอยู่อันดับที่ 16 ส่วนญี่ปุ่นอยู่อันดับที่ 51 รั้งท้าย ทั้งเยอรมนีและญี่ปุ่นต่างเป็นประเทศพัฒนาแล้วเหมือนกัน แต่ทำไมความสุขถึงได้แตกต่างกันมากขนาดนี้ คนญี่ปุ่นควรมีโอกาสได้คิดว่าอยากจะทำอะไร และทำอย่างไรถึงจะมีความสุข ตั้งแต่ยังเป็นเด็กควรคิดเรื่องนี้ให้ติดเป็นนิสัย ถึงสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ญี่ปุ่นอาจไม่ค่อยเอื้อให้มีน้ำใจ และชวนให้คิดว่าตัวเองควรใช้ชีวิตอย่างไรดี แต่ถ้าพอมีเวลาหรือโอกาสได้คิดเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้บ้าง มันน่าจะเป็นเรื่องดี

คนเยอรมนีอิสระสูงมาก อาจเป็นเพราะพวกเขามีหลักใช้ชีวิตว่า คนอื่นก็คือคนอื่น ฉันก็คือฉัน แม้ว่าจะทำงานอะไร ถ้ายังยิ้มได้ถือว่ามีความสุขอย่างแท้จริง เหมือนกับพนักงานสาวส่งกาแฟที่เคยพูดถึง เมื่อค่อย ๆ รับรู้ว่า คนอื่นก็คือคนอื่น ฉันก็คือฉัน ก็จะเริ่มยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล และก้าวไปข้างหน้าได้ ตอนนี่อยู่ในยุคสมัยที่มีความหลากหลาย และมีการทำงานแบบต่าง ๆ เยอะมาก คิดว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้ว ที่ทุกคนจะทบทวนการทำงาน ทั้งของคนอื่นหรือของตัวเอง เพื่อให้ตัวเองมีความสุขจากการทำงานอย่างแท้จริง

อย่าเอาชีวิตไปเกาะติดกับที่ทำงาน

คนเยอรมันจะเข้าสู่วัยเกษียณในช่วงอายุ 60 – 65 ปี แต่จริง ๆ แล้วแทบไม่มีใครทำงานจนถึงเกษียณเลย คนเยอรมันจะค้นหาทางเดินชีวิตตัวเองก่อนเกษียณ และเริ่มออกเดินทางท่องเที่ยว บางคนสนุกกับงานอดิเรก บางคนมุ่งมั่นกับงานจิตอาสา บางคนเปลี่ยนไปทำงานบริษัทอื่น และบางคนเริ่มทำธุรกิจส่วนตัว

คนเยอรมันจึงเลือกทางเดินชีวิตเส้นที่ 2 หรือ 3 ได้อย่างสบาย ถ้าเจอสิ่งที่อยากทำและเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ คงได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข อายุและเพศไม่มีผลกับการทำงาน เพราะสิ่งสำคัญคือประสบการณ์ คนคนนั้นเคยทำอะไรมาบ้าง และทำอะไรเป็นบ้าง  จริงอยู่ที่งานบางอย่าง เช่น โปรแกรมเมอร์อาจจะเหมาะกับคนหนุ่มสาวมากกว่า แต่งานส่วนใหญ่แล้วอายุไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่แล้ว  ถ้าสร้างเส้นทางให้ชีวิตมีความสุขขึ้นได้ ก็จะพึ่งพาตัวเองได้ดีกว่า

เทคนิคทำงานเก่งทันทีตั้งแต่วันพรุ่งนี้

  1. คุยงานกันแบบตัวต่อตัวระหว่างกินมื้อกลางวัน

พนักงานส่วนใหญ่งานยุ่งจนต้องซื้อข้าวกล่อง จากร้านสะดวกซื้อมากินเป็นมื้อกลางวัน  ดังนั้น เทคนิคแรกในการเพิ่ม Productivity ที่อยากจะแนะนำคือ คุยงานกันแบบตัวต่อตัวระหว่างกินมื้อกลางวัน เทคนิคนี้เหมาะสำหรับการชวนคนจากต่างแผนกไปกินข้าว ถ้าไปแบบ 2 ต่อ 1 หรือ 3 ต่อ 1 มันจะมีฝ่ายหนึ่งที่พวกมากกว่า จนไม่อาจคุยกันแบบเปิดอกได้ ดังนั้น การคุยกันแบบตัวต่อตัวจึงเหมาะสมที่สุด โดยจะเลือกไปกินข้างนอก หรือกินในโรงอาหารบริษัทก็ได้ เวลาได้คุยกับคนจากฝ่ายอื่น นอกจากจะได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกันแล้ว  ยังเป็นโอกาสได้เรียนรู้งานส่วนที่ต่างไปด้วย

  1. ตั้งเป้าหมายของการประชุมให้ชัดเจน

ลองแยกการประชุมออกตามเป้าหมายต่าง ๆ เช่น ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือประชุมเพื่อตัดสินใจ ส่วนใหญ่แล้วการประชุมที่ยืดเยื้อมักเกิดจากการไม่ตั้งเป้าหมาย และไม่แบ่งเวลาให้ชัดเจน ถ้ากำหนดว่าจะประชุม 1 ชั่วโมงแล้ว ประกาศว่าต้องประชุมให้จบใน 1 ชั่วโมง เพราะมีเรื่องอื่นต้องคุยต่อ ทุกคนจะพยายามประชุมให้จบภายในเวลาที่ตั้งไว้ ถ้าเอาแต่นั่งเฉย ๆ ไม่ยอมพูดอะไรเลยในที่ประชุม Productivity ของทั้งบริษัทก็ไม่มีวันเพิ่มขึ้น ขอแค่กล้าพูดกล้าตัดบท ทุกคนจะได้ใช้เวลาประชุมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

  1. ตัดสินใจวันนี้ลงมือทำพรุ่งนี้

หัวใจสำคัญในการทำงานคือ ต้องคิดเสมอว่าต้องทำสิ่งนี้ตอนนี้หรือไม่ เกณฑ์ตัดสินก็คือควรจะทำตอนนี้หรือไม่ ไม่ใช่ทำตอนนี้ได้หรือไม่ ถ้าตัดสินใจบางเรื่องล่าช้างานจะชะงัก ดังนั้น ต้องตัดสินใจตอนนี้ แต่งานเลื่อนไปทำพรุ่งนี้ได้ ขอให้พูดให้ติดปากเลยว่า ตัดสินใจวันนี้ลงมือทำพรุ่งนี้

  1. ลิสต์งาน 3 อย่างของวันนี้ให้เป็นนิสัย

การผัดงานคงเป็นเรื่องยากในตอนแรก ดังนั้นทุกเช้าก่อนเริ่มงาน ให้ลองลิสต์งาน 3 อย่างของวันนี้ ส่วนงานที่อยู่นอกเหนือจาก 3 อย่างนั้นไม่ต้องทำวันนี้ก็ได้ เมื่อทำงานเสร็จก็กลับบ้านตรงเวลาได้เลย เมื่อกำหนดงานที่ควรทำวันนี้ให้ชัดเจน และทำจนเสร็จจะกลับบ้านตรงเวลาได้ง่ายขึ้น บางคนอาจคิดว่าถ้าผัดงานไปวันพรุ่งนี้ก็ต้องทำงานเพิ่ม แต่วันพรุ่งนี้ก็คือวันพรุ่งนี้ ขอให้พยายามจำกัดงานให้แค่ 3 อย่าง พยายามจำกัดงานไม่ใช่พยายามทำให้เสร็จ ให้ทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เทคนิคนี้จะช่วยสร้างนิสัยตัดสินใจเร็วขึ้นให้ได้

  1. ลองประชุมนอกสถานที่

แค่ออกไปประชุมนอกสถานที่ ไม่ต้องถึงไปกับค้างคืนก็ได้ จะรู้สึกปลอดโปร่งและมีชีวิตชีวา ตอนประชุมจะมีสมาธิเต็มที่ เพราะไม่ต้องกังวลกับการรับโทรศัพท์เรื่องงานบ่อย ๆ เหมือนตอนอยู่ออฟฟิศ เลือกสถานที่ที่ควรให้ทุกคนผ่อนคลายได้ คนที่ปกติแล้วไม่ค่อยพูดอะไรในที่ประชุม จะพูดและแสดงความคิดเห็นมากขึ้น แถมยังสร้างความสามัคคีในทีมได้ด้วย

  1. เปลี่ยนเส้นทางขากลับบ้าน

ถ้าแค่เดินทางไปกลับระหว่างบ้านกับออฟฟิศทุกวัน ชีวิตจะซ้ำซากและสมองทื่อจนคิดไอเดียใหม่ ๆ ไม่ออก ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจะช่วยกระตุ้นได้ ขากลับบ้านให้ลองเปลี่ยนเส้นทางกลับบ้านใหม่ ลองใช้เส้นทางที่ไม่เคยผ่านบ้าง แล้วจะพบอะไรบางอย่าง เมื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ ก็จะหาไอเดียใหม่ ๆ ในการทำงานได้ง่ายขึ้น

  1. หาเวลาให้ตัวเอง

ต่อให้ในแต่ละวันจะยุ่งยากแค่ไหน อยากให้หาเวลาให้ตัวเองสักนิดก็ยังดี อาจมีเวลาจำกัดแต่ก่อนนอนจะทำอะไรก็ได้ เช่น ทำสมาธิสัก 10 นาที อ่านหนังสือ 30 นาที หรือแช่ตัวในอ่างอาบน้ำ เมื่อหาเวลาให้ตัวเอง และหยุดติดต่อกับสังคมภายนอกได้จะหายเครียดเทคนิคไปเดินเล่นแบบคนเยอรมัน หรือการหาความรู้เพิ่มเติมก็เป็นอีกเทคนิคที่ควรนำไปใช้ ลองตัดขาดจากวิธีคิดว่างานต้องมาก่อนสักพัก แล้วหาเวลาให้ตัวเองสัก 10 นาทีดู

บทส่งท้าย

การเพิ่ม Productivity ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจดจ่อทำงาน แต่เกิดจากผลลัพธ์ที่ตามมา หลังจากที่คนทำงานมีเวลาว่าง และหาเวลาให้ตัวเองได้ ประเทศเยอรมนีไม่ได้มีเทคนิคล้ำหน้า คนเยอรมันไม่ได้มีศักยภาพมากล้นจนคาดไม่ถึง ถ้ากล้าคิดและกล้ากำหนดชีวิตตัวเอง จะมีความสุขกับวันหยุด ได้กินมื้อเย็นพร้อมหน้ากับครอบครัว เป็นอิสระจากอิทธิพลของคนรอบข้าง และแสวงหาความสุขของตัวเองได้โดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร

ถ้าหลุดพ้นจากอิทธิพลของคนรอบข้าง จะมีอิสระมากขึ้นและมีความคิดสร้างสรรค์โดยอัตโนมัติ พอบวกกับความมีมารยาทและใส่ใจผู้อื่น จะเป็นคนที่เยี่ยมยอดขึ้นแน่นอน การพัฒนาเทคโนโลยีและการควบคุมชั่วโมงทำงานล่วงเวลา จึงไม่ใช่วิธีแก้ไขปัญหา เมื่อมีประชากรน้อยลง การเพิ่ม Productivity ในการทำงานให้ได้ เพื่อชดเชยกับแรงงานที่เสียไป ถ้าเพิ่ม Productivity ได้แล้ว เมื่อมี Productivity สูงขึ้น จะมีเวลาว่างเพิ่ม ก็จะมีความสุขยิ่งขึ้น ดังนั้น ขอให้ลองเริ่มจากเปลี่ยนความคิด และการกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ดู.