สรุปหนังสือ Principles for Dealing with The Changing World Order
Why Nations Succeed and Fail
ในช่วงเวลาข้างหน้านี้ จะแตกต่างออกไปจากช่วงเวลาที่ได้ประสบมา ตลอดช่วงชีวิตโดยสิ้นเชิง แต่ก็คล้ายคลึงกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ราวสองสามปีก่อน ได้สังเกตการปรากฏเกิดขึ้นของพัฒนาการใหญ่ ๆ จำนวนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นแต่ก็ได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในประวัติศาสตร์ ที่สำคัญที่สุดคือได้เห็นการมาบรรจบกันของหนี้มหาศาล และอัตราดอกเบี้ยระดับศูนย์หรือเกือบศูนย์ อันนำไปสู่การพิมพ์เงินจำนวนมากจาก 3 สกุลเงินสำรองหลักของโลก ความขัดแย้งครั้งใหญ่ทางการเมือง และทางสังคมภายในประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะสหรัฐ อันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำของความมั่งคั่ง ความแตกต่างทางการเมือง และความแตกต่างของค่านิยมที่มากที่สุดในรอบศตวรรษ
การผงาดขึ้นของมหาอำนาจใหม่ของโลก (จีน) ที่มาท้าทายมหาอำนาจเดิมของโลก (สหรัฐฯ) และระเบียบอำนาจโลกปัจจุบัน ช่วงเวลาที่มีความคล้ายคลึงกันมากที่สุด ที่เกิดขึ้นไม่นานคือช่วงเวลาระหว่างปี 1930 ถึงปี 1945 คล้ายการผงาดขึ้นและเสื่อมถอยของจักรวรรดิอังกฤษและดัตช์ การผงาดขึ้นและล้มสลายของราชวงศ์ต่าง ๆ ของจีนและอื่น ๆ จากการที่ศึกษาประวัติศาสตร์เห็นว่า มันมักจะเกิดขึ้นผ่านวงจรชีวิตที่ค่อนข้างชัดเจน เช่นเดียวกันกับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่มีวิวัฒนาการไปตามแต่ละยุคสมัย ที่เปลี่ยนผ่านเรื่อย ๆ อันที่จริงประวัติศาสตร์และอนาคตของมนุษย์ชาตินั้น สามารถมองเป็นการรวมเอาเรื่องราวของชีวิตแต่ละคนที่พัฒนาไปตามกาลเวลา
เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลายครั้งในประวัติศาสตร์ตลอดที่ผ่านมา และเป็นส่วนหนึ่งของวัฏจักรแห่งความรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของอาณาจักรต่าง ๆ และแง่มุมอื่น ๆ ของอาณาจักรด้วย เช่น ระดับการศึกษา ระดับผลิตภาพ ระดับการค้าขายกับประเทศ กองทัพ สกุลเงิน และตลาดต่าง ๆ เป็นต้น จักรวรรดิหรือราชวงศ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง สามารถมีวงจรได้ยาวนานถึงราว 200-300 ปี ทุกจักรวรรดิและราชวงศ์ที่รุ่งเรืองและเสื่อมถอย แบบวัฏจักรรอบใหญ่ (Big Cycle) อันคลาสสิค ซึ่งมีตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนช่วยให้มองเห็นว่ากำลังอยู่ที่จุดไหน
กล่าวอีกอย่างว่า การพลิกผันของสภาพแวดล้อมจากจุดที่สูงโต่ง ไปสู่อีกด้านหนึ่งของวัฏจักรนั้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไร ช่วงของการเติบโตครั้งใหญ่ และการตกต่ำครั้งใหญ่ เช่นเดียวกับเรื่องอื่น ๆ เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวในช่วงชีวิตหนึ่ง ดังนั้น เรื่องเหล่านั้นจึงสร้างความประหลาดใจได้ ยกเว้นคนที่ศึกษารูปแบบของยุคสมัยต่าง ๆ ในประวัติศาสตร์มา อนาคตที่จะเผชิญจึงดูแตกต่างจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่คาดหวัง ไม่มีระบบการปกครองใด ไม่มีระบบเศรษฐกิจใด ไม่มีสกุลเงินใด และไม่มีอาณาจักรใดที่คงอยู่ได้ตลอดไป
Part 1 โลกใบนี้ดำเนินมาอย่างไร
บทที่ 1 วัฏจักรรอบใหญ่โดยสังเขป
ระเบียบอำนาจโลกตอนนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในทางที่มีความสำคัญมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงชีวิต แต่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในช่วงประวัติศาสตร์ก่อนหน้านี้ แสดงให้เห็นกรณีต่าง ๆ และกลไกที่ขับเคลื่อนพวกมันแล้วใช้มุมมองนั้นในการจินตนาการถึงอนาคต จากการศึกษาการรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของสกุลเงินสำรองหลักของ 3 จักรวรรดิล่าสุด (ดัตช์ อังกฤษ และอเมริกา) และอีก 6 จักรวรรดิที่สำคัญในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา (เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย อินเดีย ญี่ปุ่น และจีน) ตลอดจนถึงราชวงศ์สำคัญ ๆ สำคัญทั้งหมดของจีน ย้อนไปตั้งแต่ราชวงศ์ถังเมื่อราว 600 ปีก่อน เพียงเพื่อจะได้แม่แบบที่ใช้ในการดูวัฏจักรทั้งหมด โดยที่สำคัญที่สุดคือวัฏจักรที่กำลังเจออยู่ในตอนนี้
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่แทบทุกประเทศ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาคือความดิ้นรนต่อสู้ที่จะสร้าง ได้มา และกระจายความมั่งคั่งกับอำนาจ กระนั้นก็ตามพวกเขาก็ต่อสู้เพื่อสิ่งอื่นด้วย ที่สำคัญที่สุดคืออุดมการณ์และศาสนา การดิ้นรนต่อสู้เหล่านี้เกิดขึ้นในสากลเสมอ โดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา จะมีผลกระทบที่ใหญ่มากต่อชีวิตผู้คนในทุกด้าน ตลอดเวลาที่ผ่านมาและในทุกประเทศนั้น ผู้คนที่มีความมั่งคั่งเป็นคนที่ครอบครองปัจจัยการสร้างความมั่งคั่ง เพื่อจะรักษาหรือเพิ่มความมั่งคั่งของพวกเขานั้น พวกเขาร่วมมือกับคนที่มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งมีสายสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกัน เพื่อกำหนดและบังคับใช้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ
พลวัตนี้ทำให้ประชากรกลุ่มที่เล็กมาก ๆ กลุ่มหนึ่งกุมและควบคุมความมั่งคั่ง และอำนาจส่วนใหญ่อย่างมหาศาล เลยเถิดไปจนเมื่อเจอช่วงเวลาที่เลวร้าย ซึ่งสร้างความเสียหายต่อกลุ่มคนที่ยากจนและไร้อำนาจที่สุด ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งจนเกิดการปฏิวัติ และ/หรือสงครามกลางเมือง เมื่อความขัดแย้งเหล่านี้สิ้นสุดลง ระเบียบอำนาจโลกใหม่จะถูกสร้างขึ้น และวัฏจักรก็จะเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
การทำความเข้าใจวัฏจักรรอบใหญ่ แบบแผนเรื่องความมั่งคั่ง อำนาจเชิงเปรียบเทียบ และระเบียบอำนาจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อทุกคนในทุกประเทศ ในแบบที่เกินกว่าจะประเมินได้ การเปลี่ยนแปลงด้านความมั่งคั่งและอำนาจครั้งใหญ่นี้ไม่ได้เด่นชัดนัก เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงรูปแบบทางประวัติศาสตร์ที่จะแสดงว่า การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น 3 วัฏจักรที่สำคัญที่สุด ได้แก่ วัฏจักรหนี้ระยะยาวและตลาดทุน วัฏจักรของความเป็นระเบียบและความโกลาหลภายใน และวัฏจักรของความเป็นระเบียบและความโกลาหลภายนอก
วัฏจักรเหล่านี้ขับเคลื่อนการพลิกไปอย่างชนิดที่ว่าตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง เช่น การพลิกไปมาระหว่างเวลาสันติและช่วงเวลาสงคราม ระหว่างช่วงเวลาเศรษฐกิจเฟื่องฟูและเศรษฐกิจพังพินาศ การขึ้นมามีอำนาจการเมืองระหว่างขั้วฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา การรวมตัวและการแยกตัวของจักรวรรดิต่าง ๆ เป็นต้น สิ่งที่อยู่ภายใต้การพลิกกลับของแนวโน้มหนึ่ง เป็นส่วนผสมที่นำไปสู่การพลิกกลับสู่แนวโน้มตรงข้ามกัน วัฏจักรเหล่านี้ยังคงมีแกนเหมือน ๆ กันตลอดเวลาที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่เหมือน ๆ กันที่ว่า พื้นฐานของวงจรชีวิตมนุษย์ยังคงเหมือนเดิมตลอดที่ผ่านมา
วิวัฒนาการเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และยั่งยืนถาวรที่สุดเพียงสิ่งเดียวในจักรวาล แต่ก็ยังยากที่จะสังเกตเห็น ขณะที่มองเห็นสิ่งที่มีอยู่และสิ่งที่เกิดขึ้น แต่มองไม่เห็นวิวัฒนาการและพลังแห่งวิวัฒนาการ ที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ นั้นมีอยู่และเกิดขึ้น วิวัฒนาการคือการเคลื่อนไหวที่มีแนวโน้มสูงขึ้นไปตามการปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการปรับตัว และการเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยรอบระหว่างทาง คือวัฏจักรเกือบทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงไปในวิถีแห่งการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีวัฏจักรเกิดขึ้นระหว่างทางเป็นเหมือนเกลียวไขจุกขวดที่ชี้ขึ้นด้านบน ซึ่งพบเห็นได้ในทุกสิ่งตั้งแต่ความมั่งคั่ง การเมือง ชีววิทยา เทคโนโลยี สังคม ปรัชญา และอื่น ๆ
ศักยภาพการผลิตของมนุษย์เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้ความมั่งคั่ง อำนาจ และคุณภาพชีวิตโดยรวมของโลกใบนี้ ยกระดับสูงขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ เป็นผลลัพธ์จากความสามารถในการวิวัฒนาการของมนุษยชาติ ซึ่งมีมากกว่าสปีชีส์อื่น ๆ เพราะสมองของคนเราให้ความสามารถพิเศษ อันแตกต่างในการเรียนรู้และคิดเชิงทฤษฎี ด้วยเหตุนี้การประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ และวิธีการทำสิ่งต่าง ๆ ของมนุษย์จึงมีความก้าวหน้าอย่างโดดเด่น วิวัฒนาการนั้นนำไปสู่วิวัฒนาการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง จนประกอบขึ้นมาเป็นการเปลี่ยนแปลงระเบียบอำนาจโลก
แม้จะมีความสำคัญเนื่องจากการเรียนรู้ และการพัฒนาของศักยภาพการผลิตเหล่านี้ก่อให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่อย่างทันทีทันใดกับผู้ที่มั่งคั่งและมีอำนาจ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และรวดเร็วมาจากความเฟื่องฟู การล่มสลาย การปฏิวัติ และสงคราม ซึ่งส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนด้วยวัฏจักร และวัฏจักรเหล่านี้ก็ถูกขับเคลื่อนด้วยความสัมพันธ์ของสาเหตุ-ผลกระทบที่สมเหตุสมผล ตลอดที่ผ่านมาสูตรสำเร็จก็คือ ระบบที่ผู้คนมีการศึกษาดี และปฏิบัติต่อการอย่างสุภาพชน การเกิดนวัตกรรมต่าง ๆ การระดมทุนผ่านตลาดทุน และการเป็นเจ้าของปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ได้ประโยชน์จากการสร้างผลกำไร
อย่างไรก็ตาม ระบอบทุนนิยมในระยะยาวได้สร้างช่องว่างของความมั่งคั่งและโอกาส รวมถึงสภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวที่นำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ การปฏิวัติ และสงคราม ซึ่งเป็นเหตุของการเปลี่ยนแปลงระเบียบปกติของภายในประเทศและของโลก ประเทศที่มีการออมสูง หนี้ต่ำ และมีเงินทุนสำรองที่แข็งแกร่ง จะสามารถต้านทานและพังลงของเศรษฐกิจและเครดิตได้ดีกว่าประเทศที่ไม่ค่อยมีการออม หนี้สูง และมีเงินทุนสำรองที่อ่อนแอ วัฏจักรส่วนใหญ่ในประวัติศาสตร์ล้วนเกิดขึ้นด้วยเหตุผลเหมือน ๆ กัน ช่วงเวลาของการทำลายล้างและบูรณะฟื้นฟู ได้สร้างความเสียหายอย่างสาหัสต่อผู้ที่อ่อนแอ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าใครคือผู้ทรงอำนาจ และปฏิวัติวิถีใหม่ในการทำสิ่งต่าง ๆ เช่น ระเบียบใหม่ที่ปูทางให้กับช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรือง จนในที่สุดก็ยาวนานเกินไปอันเนื่องจากฟองสบู่หนี้ พร้อมกับช่องว่างมหาศาลของความมั่งคั่ง และนำไปสู่สภาวะฟองสบู่แตกออก และนำมาซึ่งการทดสอบภาวะวิกฤตครั้งใหม่ และเป็นช่วงเวลาของการทำลายล้าง/การบูรณะฟื้นฟู (เช่น สงคราม) ซึ่งนำไปสู่ระเบียบใหม่ และในที่สุดผู้ที่แข็งแกร่งก็จะเหนือกว่าผู้ที่อ่อนแออีกครั้งเช่นเดิม เป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ตัวชี้วัดของความมั่งคั่งและอำนาจมี 8 ตัวสำคัญ ได้แก่
- การศึกษา
- ความสามารถการแข่งขัน
- นวัตกรรมและเทคโนโลยี
- ผลผลิตทางเศรษฐกิจ
- ส่วนแบ่งการค้าในระดับโลก
- ความเข้มแข็งทางการทหาร
- ความเข้มแข็งในการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
- สถานะการเป็นสกุลเงินสำรองหลัก
การศึกษาที่ดีขึ้นก่อให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของส่วนแบ่งการค้าในโลก และความเข้มแข็งทางการทหาร ผลผลิตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นมากขึ้น และก่อตัวในฐานะศูนย์กลางทางการเงินชั้นนำของโลก และการสถาปนาเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกซึ่งเกิดขึ้นหลังสุด และจะเห็นว่าปัจจัยเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้ว จะเพิ่มขึ้นด้วยกันในระยะเวลายาวนานระดับหนึ่ง จากนั้นก็จะค่อย ๆ ลดลงตามลำดับคล้าย ๆ กัน สกุลเงินสำรองร่วมกันก็เหมือนกับภาษาร่วมกันของโลก ที่มีแนวโน้มจะคงอยู่ต่อแม้หลังจากจักรวรรดินั้นจะเริ่มเสื่อมถอย เพราะพฤติกรรมการใช้งานนั้นจะยังคงอยู่ยาวนานกว่าจุดแข็งอื่น ๆ จนทำให้กลายเป็นถูกนำมาใช้โดยทั่วหน้า เรียกการขึ้นลงอย่างเป็นวัฏจักรและเกี่ยวโยงกันแบบนี้ว่า วัฏจักรรอบใหญ่
แบบแผนของวัฏจักรรอบใหญ่ สามารถมองการผงาดขึ้น และเสื่อมถอยเหล่านี้แบบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็น 3 ช่วงระยะ
ช่วงของการผงาด เป็นช่วงเวลาเรืองรองที่สร้างสมขึ้นมาหลังจากเกิดระเบียบอำนาจโลกใหม่ มันจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศนั้นมีพื้นฐานที่เข้มแข็งเนื่องจากมันมี ระดับการก่อหนี้ที่ค่อนข้างต่ำ ช่องว่างของความมั่งคั่ง ค่านิยม ความเชื่อ การเมือง ระหว่างคนทั่วไปยังน้อย ผู้คนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความรุ่งเรือง การศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ผู้นำที่เข้มแข็งและมีความสามารถ ระเบียบอำนาจโลกอันสงบสุข ที่ชี้นำโดยมหาอำนาจของโลกที่อาจมีหนึ่งหรือมากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่…
จุดสูงสุดของอำนาจ ช่วงระยะนี้มีลักษณะของความมากเกินพอดี ปรากฏในรูปของระดับการก่อหนี้ที่สูง ช่องว่างของความมั่งคั่ง ค่านิยม ความเชื่อ การเมือง เกิดขึ้นอย่างมาก การศึกษาและโครงสร้างพื้นฐานเสื่อมโทรม ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นต่าง ๆ ของคนในประเทศ การต่อสู้ระหว่างประเทศอันเกิดจากจักรวรรดิอยู่มานาน กำลังถูกท้าทายโดยคู่แข่งที่เกิดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่…
การเสื่อมถอย เป็นช่วงระยะที่เจ็บปวดจากการต่อสู้และรื้อโครงสร้างต่าง ๆ จนเกิดความขัดแย้งอันรุนแรง และการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รวมถึงการสถาปนาระเบียบใหม่ทั้งภายในและภายนอก ปูทางสู่ระเบียบครั้งใหม่ และระยะการสั่งสมความรุ่งเรืองครั้งใหม่
ณ เวลานี้ก็ผ่านมาถึง 75 ปีแล้ว และจักรวรรดิที่สำคัญต่าง ๆ ในอดีต ก็เคยมีฐานะเป็นสกุลเงินสำรองหลักนั้น มักจะเข้าสู่ตอนปลายของวัฏจักรหนี้ระยะยาวแล้ว เมื่อประเทศนั้นมีหนี้ปริมาณมหาศาล และนโยบายทางการเงินตามปกติใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลซึ่งมีความไร้เอกภาพทางการเมือง และพยายามจะอุดรูทางการเงินด้วยการใส่เงินปริมาณมหาศาลซึ่งมาจากการกู้ยืม ขณะที่ธนาคารกลางก็พยายามสนับสนุนด้วยการพิมพ์เงินจำนวนมาก (ก็คือการพิมพ์เงินเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล) ทั้งหมดนี้เกิดเมื่อช่องว่างของความมั่งคั่งและค่านิยมมหาศาล และมีมหาอำนาจใหม่ที่กำลังขับเคี่ยวกับมาหาอำนาจเดิมในด้านการค้า การพัฒนาทางเทคโนโลยี ตลาดทุน และภูมิรัฐศาสตร์
เหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด ตอนนี้ต้องเผชิญกับภาวะโลกระบาดด้วย ในเวลาเดียวกันนี่เองความคิดอันยอดเยี่ยมของมนุษย์ การทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ที่ชาญฉลาด ได้สร้างวิธีการอันยอดเยี่ยมในการแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ เหล่านี้ หากทุกคนสามารถรับมือด้วยกันได้ดี จะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ และไปสู่ช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรืองครั้งใหม่ ที่อาจจะแตกต่างออกไปจากเดิมบ้าง ขณะเดียวกันก็มั่นใจเช่นกันว่า จะมีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ที่สร้างความบอบช้ำต่อคนจำนวนมากด้วย นี่คือวิธีการที่โลกนี้ดำเนินไป
บทที่ 2 ปัจจัยเฉพาะ
ประวัติศาสตร์สอดคล้องต่อเนื่อง มันสอดคล้องต่อเนื่องเพราะเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำ ๆ เสมอ แม้ว่าจะไม่ใช่เหมือนกันทุกประการก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุ-ผลกระทบที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์เหล่านั้น จะเป็นแบบที่ใช้ได้แบบสากลเสมอโดยไม่ขึ้นกับกาลเวลา แต่ทุกอย่างมีวิวัฒนาการและส่งอิทธิพลต่อกันนายแบบที่แตกต่างออกไปเรื่อย ๆ จากการศึกษาเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันบนเวลาและสถานที่ที่แตกต่างกัน รากฐานของสาเหตุ-ผลกระทบในเหตุการณ์พวกนั้นก็ยิ่งชัดเจนยิ่งขึ้น
เนื่องจากการคิดเกี่ยวกับปัจจัยเฉพาะทั้งหมด และการตอบสนองต่อกันของพวกมันเป็นเรื่องซับซ้อน แนะนำให้จดจำวัฏจักรรอบใหญ่ทั้ง 3 เอาไว้ก่อน ว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องติดตาม ได้แก่
- วัฏจักรของการมีเงินที่ดีหรือไม่ดี เช่น วัฏจักรตลาดทุน
- วัฏจักรของระเบียบและความไม่สงบภายใน เกิดจากระดับของความร่วมแรงร่วมใจ และการต่อสู้ระหว่างความมั่งคั่ง และอำนาจที่ขึ้นอยู่กับช่องว่างของความมั่งคั่ง และค่านิยมเป็นส่วนใหญ่
- วัฏจักรของระเบียบและความไม่สงบภายนอก เกิดจากระดับความสามารถการแข่งขันของมหาอำนาจเดิม ในการต่อสู้แย่งชิงความมั่งคั่งและอำนาจ
- ความเร็วของการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้เกิดการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น
- การกระทำจากธรรมชาติที่สำคัญอย่างภัยแล้ง อุทกภัย และโรคระบาด
นี่เป็นแรงที่สำคัญที่สุด 5 อย่างซึ่งเรียกว่า Big Five และยังมีปัจจัยเฉพาะอื่น ๆ อย่างเช่นธรณีวิทยา-ภูมิศาสตร์ (Geology/Geotraphy) หลักกฎหมาย (Rule of Law) และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งก็มีความสำคัญเช่นกัน ปัจจัยเฉพาะและการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนเหตุการณ์ต่าง ๆ แบ่งได้เป็น 2 ประเภท
- ปัจจัยเฉพาะที่มีมาแต่แรก ในการทำให้ประเทศมีความเป็นอยู่ที่ดีนั้น หมายถึงด้านภูมิศาสตร์ธรณีวิทยา การสืบทอดของเผ่าพันธุ์ และภัยธรรมชาติ ปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของแต่ละประเทศ และเรื่องราวของคนในประเทศนั้น ๆ
ภูมิศาสตร์ ประเทศตั้งอยู่ที่ไหน มีอะไรโดยรอบบ้าง และสภาพภูมิประเทศมีลักษณะใด ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเฉพาะที่สำคัญทั้งนั้น
ธรณีวิทยา ทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนและใต้พื้นดิน ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง
ภัยธรรมชาติ ซึ่งเกิดได้หลายรูปแบบ อย่างเช่น โรคระบาด อุทกภัย และภัยแล้ง ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา พวกมันส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดี และเส้นทางการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ ยิ่งกว่าสงครามและเศรษฐกิจตกต่ำเสียอีก
การสืบทอดของเผ่าพันธุ์ เมื่อกล่าวถึงการสืบทอดของเผ่าพันธุ์ ทุกคนบนโลกนี้เกิดมาพร้อมกับยีนที่สืบทอดมา ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของพวกเขาในระดับหนึ่ง ดังนั้น มันจึงเป็นเหตุผลที่ว่า การเกิดขึ้นของพันธุกรรมของประชาชนในประเทศ ควรจะส่งผลบางอย่างต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น
- ปัจจัยเฉพาะด้านทุนมนุษย์ แม้ว่าสินทรัพย์และภาระผูกพันที่มีมาแต่แรกของประเทศหนึ่งจะมีความสำคัญอย่างมาก แต่ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า วิถีที่ผู้คนใช้ชีวิตทั้งของตนเองและผู้อื่น เป็นปัจจัยเฉพาะที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเงินทุนคือสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ ทุนมนุษย์จึงสามารถนิยามว่าหมายถึง มนุษย์ที่สร้างรายได้ เมื่อมนุษย์มีความสามารถในการสร้างรายได้มากกว่าที่ใช้จ่าย ก็จะเป็นการมีทุนมนุษย์ที่ดี และเป็นความพอดีในตัวเอง แม้ว่าหลาย ๆ ประเทศจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาสามารถดึงมาใช้ได้ แต่ทุนมนุษย์เป็นทุนที่มีความยั่งยืนที่สุด เพราะสินทรัพย์ที่มีมาแต่แรกจะถูกนำมาใช้จนหมดไปในที่สุด ในขณะที่ทุนมนุษย์สามารถคงอยู่ได้ตลอดไป ปัจจัยเฉพาะด้านทุนมนุษย์ที่สำคัญที่สุด ในสังคมต่าง ๆ ในทุกช่วงเวลา ผู้คนมีธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ร่วมกัน ซึ่งทำให้พวกเขามีความคล้ายกันมากกว่าที่จะแตกต่างกัน
- ผลประโยชน์ส่วนตน โดยเฉพาะการเอาตัวรอดเป็นแรงจูงใจที่ทรงพลังที่สุด
- แรงขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาและรักษาความมั่งคั่งและอำนาจเอาไว้ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในระยะยาว ประเทศนั้นต้องมีรายได้อย่างน้อยเท่ากับรายจ่ายที่ประเทศนั้นจ่ายออกไป ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ความขัดสนและความโกลาหลกำลังรออยู่ข้างหน้าแล้ว
- ตลาดทุน ความสามารถในการเก็บออม และให้ได้มาซึ่งอำนาจซื้อผ่านตลาดทุน มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประเทศดังกล่าว
- ความสามารถในการเรียนรู้จากประวัติศาสตร์
- วัฏจักรรอบใหญ่ของจิตวิทยาที่เกี่ยวโยงกันหลายชั่วอายุคน คนต่างรุ่นกันก็จะคิดแตกต่างกัน เนื่องจากประสบการณ์ของพวกเขาแตกต่างกัน
- ชอบความพึงพอใจระยะสั้นมากกว่าความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว มนุษย์มีแนวโน้มชอบเลือกความสุขระยะสั้นมากกว่า มักจะทำให้วัฏจักรมีจุดสูงสุดและต่ำสุดมากที่ควร มันดึงเอาสิ่งดี ๆ มาใช้ล่วงหน้า ที่มีต้นทุนต้องจ่ายคืนในอนาคต โดยเกิดขึ้นในวิธีที่อันตรายได้หลายแบบ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นการก่อให้เกิดวัฏจักรฟองสบู่ และการพังทลายของหนี้
- ความคิดริเริ่มของมนุษย์ชาติ พลังที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษย์ชาติคือสิ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งแสดงในรูปแบบของศักยภาพการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และมาตรฐานความเป็นอยู่ที่สูงขึ้น
ปัจจัยเฉพาะที่ถูกกำหนดโดยวัฒนธรรม
- วัฒนธรรม ความแตกต่างทางวัฒนธรรมคือความแตกต่างในวิธีที่ผู้คนเชื่อว่า พวกเขาควรทำในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก ทุกสังคมสร้างวัฒนธรรมบนพื้นฐาน วิธีการที่พวกเขาคิดว่าความเป็นจริงทำงานอย่างไร
- การเปิดรับความคิดแบบสากล เรื่องนี้เป็นตัวชี้วัดแบบชี้นำที่ดีของความแข็งแกร่ง เพราะหน่วยใด ๆ ก็ตามที่แยกโดดเดี่ยวออกไป เมื่อมีโอกาสก็จะพลาดแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดของโลกไป ซึ่งจะทำให้พวกเขาอ่อนแอลง
- ภาวะผู้นำ ทุกสิ่งถูกกำหนดมาจากคนที่อยู่ในฐานะผู้นำ ชีวิตเป็นเหมือนเกมหมากรุก โดยทุกการเดินหมากจะเป็นตัวกำหนดผลลัพธ์ และผู้เล่นบางคนก็รู้วิธีจะเดินหมากให้ดีกว่าคนอื่น
ปัจจัยเฉพาะที่ถูกกำหนดโดยการตอบสนองต่อกัน ระหว่างปัจเจกบุคคลและกลุ่มคนในสังคม
- ช่องว่างความมั่งคั่ง
- ช่องว่างเรื่องค่านิยม
- การดิ้นรนเรื่องชนชั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้คนมักจะถูกจัดอยู่ในแต่ละชนชั้นเสมอ ต่างกันที่ระดับของความเข้มข้น ทั้งจากการเลือกจะอยู่ร่วมกันกับคนที่เหมือน ๆ กันกับพวกเขาเอง หรือไม่ก็มีคนอื่นกำหนดชนชั้นให้พวกเขา สงครามโลกเริ่มชนชั้นมีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อระเบียบอำนาจภายใน
- วัฏจักรด้านการเมืองของฝ่ายซ้าย/ขวา ในทุกสังคมจะมีการพลิกไปมาระหว่างหัวการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ที่กำหนดว่าความมั่งคั่งและอำนาจจะจัดสรรอย่างไร การพลิกไปมาดังกล่าว บางครั้งก็เป็นไปอย่างสันติ บางครั้งก็รุนแรง และเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจเสมอ
- ทฤษฎีทางเลือกที่ยากลำบากของนักโทษ (Prisoner’s Dilemma) จำเป็นต้องการการแก้ไขเพื่อความสันติสุขและการดำรงอยู่ เป็นแนวคิดจากทฤษฎีเกมที่อธิบายว่า เพราะอะไรที่แม้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทั้งสองฝ่ายคือการร่วมมือกัน แต่สิ่งที่สมเหตุสมผลสำหรับทั้งคู่คือการฆ่าอีกฝ่ายก่อน นั่นเป็นเพราะการเอาชีวิตรอดเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างที่สุด
- ความสัมพันธ์แบบต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ หรือแบบต่างฝ่ายต่างเสียประโยชน์ มันแล้วแต่ว่าทั้งสองฝ่ายจะเลือกให้มีความสัมพันธ์แบบใด
- วัฏจักรใหญ่ของความสมดุลทางอำนาจ ที่ขับเคลื่อนวัฏจักรใหญ่ของความสงบสุข/สงคราม ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ
- วัฏจักรของความแข็งแกร่งทางการทหารและสันติ/สงคราม ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า ความแข็งแกร่งทางการทหารผ่านการเป็นพันธมิตร เป็นปัจจัยเฉพาะที่สำคัญอย่างยิ่งของผลลัพธ์ต่าง ๆ
ทุกสิ่งเหล่านี้ร่วมกันเพื่อกำหนดระเบียบอำนาจภายใน ระเบียบอำนาจภายนอก และวิธีที่พวกมันเปลี่ยนแปลงไป ปัจจัยทั้งหมดเหล่านี้เป็นตัวกำหนดระดับ การรุ่งเรือง และเสื่อมถอยด้านความมั่งคั่งและอำนาจในทุกชนชาติ มันทั้งขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงระเบียบอำนาจภายใน และระเบียบอำนาจโลก พัฒนาเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และเคลื่อนสภาพแวดล้อมไปข้างหน้าเมื่อเวลาผ่านไป
บทที่ 3 วัฏจักรรอบใหญ่ของเงิน
เครดิตหนี้และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
สิ่งที่คนส่วนใหญ่และประเทศของพวกเขาต้องการมากที่สุดคือ ความมั่งคั่ง อำนาจ และเงินกับเครดิตก็เป็นสิ่งที่ทรงอิทธิพลที่สำคัญที่สุด ต่อการผงาดขึ้นและเสื่อมถอยของความมั่งคั่งและอำนาจ
พื้นฐานเรื่องเงินและเครดิต ที่เป็นสากลเสมอและไม่ขึ้นกับกาลเวลา ทุกหน่วยทั้งผู้คน บริษัท องค์กรไม่แสวงหากำไร และรัฐบาล ต่างต้องรับมือความเป็นจริงทางการเงินขั้นพื้นฐานเหมือนกัน และมักเป็นแบบนี้เสมอ พวกเขามีเงินเข้ามาก็คือรายได้ และมีเงินออกไปก็คือรายจ่าย และเมื่อหักลบกันแล้วก็จะกลายเป็นกำไรสุทธิ กระแสเงินเข้าออกเหล่านี้ถูกวัดเป็นตัวเลขที่ปรากฏในงบรายรับรายจ่าย หากหน่วยหนึ่งได้รับเงินมามากกว่าที่ใช้จ่าย ก็จะมีผลกำไรที่ทำให้เงินออมสูงขึ้น หากใช้จ่ายมากกว่าที่หามาได้เงินออมก็จะลดลง หรือไม่ก็เติมเต็มส่วนต่างด้วยการกู้ยืม หรือเอาเงินจากคนอื่นมาแทน
ค่าใช้จ่ายเป็นภาระหนี้ หน่วยนั้นก็จำเป็นต้องหั่นค่าใช้จ่ายลงอีก หรือไม่ก็ผิดนัดชำระหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ เนื่องจากการใช้จ่ายของหน่วยเศรษฐกิจหนึ่งเป็นรายได้ของอีกหน่วยเศรษฐกิจหนึ่ง เมื่อหน่วยเศรษฐกิจนั้น ๆ ลดค่าใช้จ่าย ก็จะไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อแค่หน่วยเศรษฐกิจดังกล่าว แต่ยังกระทบต่อหน่วยเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่พึ่งพาการใช้จ่ายดังกล่าว ในการได้มาซึ่งรายได้ ในทำนองเดียวกัน การที่หนี้ของหน่วยเศรษฐกิจหนึ่งเป็นสินทรัพย์ของอีกหน่วยเศรษฐกิจหนึ่ง การที่หน่วยเศรษฐกิจดังกล่าวผิดนัดชำระหนี้ จะทำให้มูลค่าส่วนของสินทรัพย์ของหน่วยเศรษฐกิจอื่น ๆ ลดลงด้วย ซึ่งทำให้พวกเขาต้องลดการใช้จ่ายลง
พลวัตนี้ก่อให้เกิดแรงเสริมโดยตัวมันเอง ในการหดตัวของหนี้และเศรษฐกิจแบบลดต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะกลายมาเป็นปัญหาทางการเมือง เนื่องจากประชากรขัดแย้งเรื่องวิธีการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์ที่หดเล็กลง หนี้ที่กัดกินส่วนทุน หมายความถึงคือหนี้ที่จำเป็นต้องชำระคืนก่อนเป็นชิ้นแรก เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่ายและมูลค่าสินทรัพย์น้อยกว่ามูลค่าของส่วนภาระต่าง ๆ ก็คือหนี้ กำลังจะมีความจำเป็นที่จะต้องขายสินทรัพย์ ปริมาณเงินและเครดิตที่ตายตัวมันไม่ได้มีอยู่จริง เงินและเครดิตสามารถสร้างขึ้นได้ง่าย ๆ โดยธนาคารกลาง
สำหรับบางคน บางบริษัท บางองค์กรไม่แสวงหากำไร และบางประเทศ ภาระผูกพันนั้นใหญ่มาก เมื่อเทียบกับรายได้สุทธิและมูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่จำเป็นต้องมี เพื่อให้เพียงพอต่อภาระผูกพันดังกล่าว ดังนั้น พวกเขาจึงอ่อนแอทางการเงิน แต่พวกเขาดูเหมือนไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะพวกเขาใช้จ่ายเยอะได้ด้วยการกู้ยืม ความเป็นจริงของการเงินพื้นฐานเหล่านี้ใช้ได้กับทุกคน ทุกบริษัท ทุกองค์กรไม่แสวงหากำไร และทุกรัฐบาลในแบบเดียวกัน โดยมีข้อยกเว้นใหญ่ ๆ ที่สำคัญเพียงข้อเดียวคือ ทุกประเทศสามารถสร้างเงินและเครดิตขึ้นมาจากอากาศได้ เพื่อให้แก่ผู้คนในการใช้จ่ายและกู้ยืมธนาคารกลาง สามารถแก้หนี้ได้ด้วยการพิมพ์เงินแทน ไม่น่าแปลกใจเลยที่รัฐบาลพิมพ์เงินเมื่อวิกฤตหนี้นั้นเป็นสาเหตุของการที่หนี้กินส่วนทุนในจำนวนที่เกินรับได้
ในเชิงการเมืองและควบคู่ไปกับความเสียหายทางเศรษฐกิจคือ ทั้งหมดที่รัฐบาลพิมพ์ออกมานั้นมีมูลค่าไม่เท่ากัน เงินตรา (สกุลเงิน) ที่เป็นที่ยอมรับโดยแพร่หลายทั่วโลก ถูกเรียกว่าสกุลเงินสำรองหลัก การที่สถานะสกุลเงินสำรองหลักเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม ตราบที่มันยังคงเป็นอยู่เพราะมันช่วยให้ประเทศมีความสามารถในการกู้ยืม และใช้จ่ายได้มากเป็นพิเศษ ทำให้มีอำนาจเหนือกว่าใครในโลกนี้ ในการได้เงินและเครดิตที่จำเป็นในการซื้อขายในต่างประเทศ การมีสถานะเป็นสกุลเงินสำรอง มักจะเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ให้ประเทศหยุดชะงัก เป็นประเทศที่ทำให้ประเทศกู้ยืมมากเกินกว่าที่ประเทศดังกล่าวจะสามารถกู้ได้จริง ๆ เพราะการสร้างเงินและเครดิตมหาศาลเพื่อชำระหนี้จะกร่อนมูลค่าของสกุลเงินลง และเป็นต้นเหตุของการสูญเสียสถานะการเป็นสกุลเงินสำรองหลัก
ในทางตรงกันข้ามประเทศที่ไม่ได้มีสถานะเป็นสกุลเงินสำรองหลัก มักจะต้องการเงินตราสกุลเงินสำรองหลัก เช่น ดอลลาร์ เมื่อพวกเขามีหนี้ในรูปสกุลเงินดังกล่าวจำนวนมาก ซึ่งเป็นสกุลเงินที่พวกเขาไม่สามารถพิมพ์เองได้ หรือไม่พวกเขาก็ไม่ได้เก็บเงินในรูปสกุลดังกล่าวไว้มากนัก และความสามารถในการได้มาซึ่งสกุลเงินดังกล่าวที่พวกเขาต้องการนั้นก็ลดถอยลง เมื่อประเทศต่าง ๆ ต้องการสกุลเงินสำรองหลักเพื่อชำระหนี้ ซึ่งอยู่ในรูปแบบสกุลเงินสำรองหลัก และก็ซื้อของต่าง ๆ จากผู้ขายที่รับแต่สกุลเงินสำรองหลักเท่านั้น พวกเขาสามารถล้มละลายได้เลย สิ่งนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต และเป็นจุดที่หลายประเทศในปัจจุบันกำลังเป็นอยู่
เงินคือ สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งสามารถใช้เป็นที่เก็บรักษาความมั่งคั่งได้ด้วยเช่นกัน สื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหมายถึง สิ่งหนึ่งที่สามารถมอบให้คนอื่นเพื่อไปซื้อสิ่งต่าง ๆ ได้ โดยทั่วไปแล้ว ผู้สร้างสิ่งสิ่งหนึ่งขึ้นมาเพื่อจะแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น ที่มีสิ่งอื่นที่พวกเขาต้องการ ที่เก็บรักษาความมั่งคั่งหมายถึง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรักษาอำนาจซื้อระหว่างการได้มันมาและการใช้จ่ายมันออกไป แม้ว่าสิ่งที่เหมาะสมที่สุดอย่างหนึ่งของการเก็บรักษาความมั่งคั่งคือ สิทธิ์ในการเรียกร้องบนตัวเงิน ตราที่สามารถนำไปใช้จ่ายในภายหลังได้
ผู้คนก็ยังเก็บรักษาความมั่งคั่งในรูปสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่พวกเขาคิดว่ามันจะคงมูลค่า หรือเพิ่มมูลค่าใด้ด้วย อย่างเช่น ทองคำ แร่เงิน อัญมณี ภาพวาด อสังหาริมทรัพย์ หุ้น และพันธบัตร ในการถือครองสิ่ง ๆ หนึ่งที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้พวกเขาพบว่า พวกเขาสามารถทำได้ดีกว่าการเพียงแค่ถือสกุลเงินไว้ ที่สำคัญจะต้องตระหนักว่า เงินและเครดิตส่วนใหญ่แล้วไม่ได้มีมูลค่าโดยแท้จริง แต่มันเป็นเพียงรายการบันทึกในระบบบัญชี ที่สามารถถูกเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย
วัตถุประสงค์ของระบบดังกล่าวคือ ช่วยจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประสิทธิภาพการผลิตขยายตัวขึ้น เป็นรางวัลกลับคืนมาให้แก่ผู้ให้กู้และผู้กู้ยืม แต่ระบบดังกล่าวกำลังเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ ความหมายของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดคือ เครื่องจักรหนี้และเครดิตไม่ได้ทำงานได้อย่างสมบูรณ์พร้อม อุปทาน อุปสงค์ และมูลค่าของเงินนั้นมีวัฏจักรขึ้นลง ในช่วงขาขึ้นนั้นเต็มไปด้วยความสุขและอุดมสมบูรณ์ ในช่วงขาลงเต็มไปด้วยความสาหัสของการปรับโครงสร้างต่าง ๆ
เงิน เครดิต และความมั่งคั่ง แม้ว่าเงินและเครดิตจะเชื่อมโยงถึงความมั่งคั่งเหมือนกัน แต่มันไม่ใช่เรื่องเดียวกันกับความมั่งคั่ง เนื่องจากเงินและเครดิตสามารถซื้อความมั่งคั่งได้ ซึ่งก็คือสินค้าและบริการ จำนวนเงินและเครดิตที่มีและขนาดความมั่งคั่งที่มีจึงดูแทบจะเหมือนกัน แต่ไม่สามารถสร้างความมั่งคั่งด้วยการเพียงแค่เสกเงินและเครดิตขึ้นมา ในการสร้างความมั่งคั่งนั้นต้องทำให้ตัวเองมีศักยภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างเงินกับเครดิต และการสร้างความมั่งคั่งมักจะน่าสับสน แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามมันเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของวัฏจักรเศรษฐกิจ มีทั้งเศรษฐกิจการเงินและเศรษฐกิจจริง แม้ว่ามันจะเกี่ยวโยงกันแต่พวกมันก็แตกต่างกัน แต่ละอย่างมีปัจจัยด้านอุปทานและอุปสงค์เฉพาะของมันเองในการขับเคลื่อน
ในภาคเศรษฐกิจจริง อุปทานและอุปสงค์ถูกขับเคลื่อนโดยปริมาณของสินค้าและบริการที่ถูกผลิตขึ้น กับจำนวนผู้ซื้อสินค้าและบริการดังกล่าว เมื่อระดับของอุปสงค์ในสินค้าและบริการแข็งแกร่งและเพิ่มสูงขึ้น กำลังการผลิตเองก็ไม่ได้เพียงพอที่จะสร้างสิ่งต่าง ๆ ให้เพียงพอต่ออุปสงค์ ความสามารถการผลิตของเศรษฐกิจจริง ที่จะเพิ่มขึ้นได้จึงมีจำกัด หากอุปสงค์ยังคงเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าความสามารถในการผลิต ราคาต่าง ๆ ก็จะเพิ่มสูงขึ้นและทำให้เงินเฟ้อปรับสูงขึ้น นั่นเป็นจุดที่เศรษฐกิจการเงินเข้ามามีบทบาทในภาวะเผชิญเงินเฟ้อ
ธนาคารกลางมักจะเพิ่มความเข้มงวดในเงินและเครดิต เพื่อชะลออุปสงค์ของเศรษฐกิจจริง และในตอนที่อุปสงค์มีน้อยเกินไปพวกเขาจะทำตรงข้าม ด้วยการหมุนเงินและเครดิตเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ ด้วยการเพิ่มและลดอุปทานของเงินและเครดิต ธนาคารกลางจึงสามารถที่จะเพิ่มและลดอุปสงค์ และการผลิตสินทรัพย์ทางการเงิน สินค้า และบริการได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ เงินและเครดิตเป็นแรงหนุนเมื่อมันถูกใช้ออกไป และเป็นแรงฉุดเมื่อมันจำเป็นต้องได้รับการชำระคืน นั่นจึงเป็นสิ่งที่ทำให้เงิน เครดิต และการเติบโตทางเศรษฐกิจมักจะเป็นไปโดยวัฏจักร นายธนาคารการที่ควบคุมเงินและเครดิต เปลี่ยนแปลงต้นทุนและความมีพร้อมของเงินและเครดิต เพื่อควบคุมตลาดและเศรษฐกิจ
เมื่อใช้เครื่องมือมากเกินไป เงินกระดาษที่หมุนโดยรัฐบาลซึ่งถูกพิมพ์ออกมาเยอะไป จะนำไปสู่การเทขายสินทรัพย์ประเภทหนี้ และพัฒนาไปสู่เหตุการณ์แห่ถอนเงิน ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้มูลค่าของเงินและเครดิตลดลง ซึ่งจะกระตุ้นให้คนหนีออกจากทั้งสกุลเงินและหนี้ ยิ่งคนส่วนใหญ่เข้าใกล้เวลาที่จะระเบิดมากขึ้น ซึ่งก็คือเมื่อสิทธิในการเรียกร้องยอดที่ค้างชำระนั้นมหาศาลที่สุด เมื่อเทียบกับปริมาณของเงินที่จับต้องได้ที่มีอยู่จริงและความมั่งคั่งที่จับต้องได้จริง ๆ สถานการณ์ยิ่งมีแต่ความเสี่ยงมากขึ้น แต่ผู้คนกับรู้สึกปลอดภัยมากขึ้นแทน นั่นเป็นเพราะพวกเขาถือครองหนี้และได้รับผลตอบแทนจากการถือดังกล่าว ยิ่งนานวันเข้านับจากตั้งแต่การระเบิดครั้งล่าสุด ความทรงจำของผู้คนเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ก็เลือนหายไปมากขึ้นด้วย
บทที่ 4 การเปลี่ยนแปลงในมูลค่าของเงิน
คนส่วนใหญ่กังวลว่าสินทรัพย์จะปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลง พวกเขาแทบไม่ได้สนใจถึงมูลค่าของเงินเลย ดังนั้นมาดูเรื่องความเสี่ยงของสกุลเงินกัน ทุกสกุลเงินล้วนถูกลดมูลค่าลงไม่ก็ตายไป จากกว่า 750 สกุลเงินที่เคยมีมาตั้งแต่ปี 1700 มีเพียง 20% เท่านั้นที่ยังอยู่ และพวกมันทั้งหมดล้วนได้เคยถูกลดมูลค่ามาแล้ว หากย้อนกลับไปในปี 1850 สกุลเงินหลักของโลกไม่ได้หน้าตาแบบทุกวันนี้ แม้ว่าดอลลาร์ ปอนด์ สวิสฟรังก์ ได้เกิดขึ้นแล้วในปี 1850 แต่สกุลเงินที่สำคัญที่สุดในยุคนั้นได้ล้มหายตายจากไปอย่างในเยอรมนีใช้กิลเดอร์ (gulden) ทาเลอร์ (thaler) ในญี่ปุ่นใช้โคบัง (koban) หรือเรียว (rye) บางสกุลเงินนั้นหายสาบสูญไปอย่างสิ้นเชิง และถูกทดแทนโดยสกุลเงินใหม่อย่างสมบูรณ์ บางสกุลเงินถูกผนวกรวมเข้ากับสกุลเงินอื่น ๆ เพื่อทดแทน เช่น สกุลเงินของประเทศกลุ่มยุโรปผนวกรวมกันเป็นยูโร และบางสกุลเงินยังคงมีอยู่ทุกวันนี้แต่ถูกลดมูลค่า อย่างเช่น ปอนด์อังกฤษและดอลลาร์สหรัฐ
ลดมูลค่าลงเมื่อเทียบกับอะไร เป้าหมายของการพิมพ์เงินคือเพื่อลดภาระหนี้ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดของสกุลเงินคือการลดมูลค่าลงเมื่อเทียบกับหนี้ หนี้คือคำมั่นในการส่งมอบเงินคืน ดังนั้นการให้เงินที่มากขึ้นแก่คนที่ต้องการมัน จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้ เมื่อการสร้างเงินนี้ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่แท้จริง และผลตอบแทนคาดหวังในอนาคตของเงินสด และสินทรัพย์ประเภทหนี้มากพอ มันจะผลักดันให้มีการไหลออกจากสินทรัพย์ดังกล่าวเหล่านั้น และเข้าสู่สินทรัพย์เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ เช่น ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ และสกุลเงินอื่น ๆ (รวมถึงดิจิทัล) สิ่งนี้นำไปสู่แรงส่งโดยตัวมันเองของการเสื่อมมูลค่าของเงินลง ทองคำเป็นสกุลเงินทางเลือกที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลา และใช้ได้อย่างแพร่หลาย ในขณะที่เงินมีไว้เพื่อซื้อสินค้าและบริการ ดังนั้น อำนาจซื้อของทองคำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
แบบแผนของการลดค่าเงิน และสูญเสียสถานการณ์เป็นสกุลเงินสำรองหลักในประเทศต่าง ๆ ไม่ได้จำเป็นต้องเหมือนกัน แม้ว่าทั้งสองเรื่องเกิดขึ้นเพราะวิกฤตหนี้เหมือนกันก็ตาม การสูญเสียสถานะการเป็นสกุลเงินสำรองหลัก เป็นผลรวมจากการลดค่าเงินอย่างมหาศาลที่เรื้อรัง ซึ่งการลดมูลค่าเหล่านี้มีอะไรเหมือนกัน คือ ทุกประเทศในกรณีต่าง ๆ เจอพลวัตคลาสสิคของการแห่หนี้ โดยการที่ส่วนของสิทธิเรียกร้องต่อธนาคารกลาง มีมากเกินกว่าที่สกุลเงินที่จับต้องได้จริงมีอยู่ เงินทุนสำรองสุทธิของธนาคารกลางเริ่มลดลง ก่อนที่การลดค่าเงินจริง ๆ จะเกิด การแห่หนีจากสกุลเงิน และการลดค่าเงินมักจะเกิดขึ้นควบคู่กันกับปัญหาหนี้ที่รุนแรง ปกติแล้วตอนช่วงแรกธนาคารกลางมักจะตอบสนอง ด้วยการปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่มสูงขึ้น แต่มันสร้างความเสียหายเชิงเศรษฐกิจมากเกินไป จึงเพิ่มอุปทานเงินแทน หลังจากที่เงินมูลค่าลดลงแล้ว พวกเขามักจะลดดอกเบี้ยลงมา ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างมากในแต่ละกรณี ด้วยตัวแปรสำคัญคืออำนาจทางเศรษฐกิจและการทหารว่า ประเทศนั้น ๆ มีมากน้อยเพียงใดตอนเวลาที่เกิดการลดค่าเงิน
บทที่ 5 วัฏจักรรอบใหญ่
ของระเบียบอำนาจและความวุ่นวายภายใน
วิธีการที่ผู้คนปฏิบัติต่อกัน เป็นตัวขับเคลื่อนพื้นฐานของผลลัพธ์ ที่พวกเขาพึงได้รับ ภายในประเทศต่าง ๆ จะมีระบบหรือระเบียบสำหรับการควบคุมดูแล วิธีการที่ผู้คนควรปฏิบัติต่อกัน ระบบเหล่านี้และพฤติกรรมจริง ๆ ของผู้คนที่ดำเนินไปก่อให้เกิดสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา มาทำการสำรวจความสัมพันธ์ของสาเหตุ-ผลกระทบ ที่ไม่เกิดขึ้นกับกาลเวลาและเป็นสากล ซึ่งก่อร่างระเบียบภายใน และพฤติกรรมที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง ระหว่างช่วงเวลาที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และช่วงเวลาที่ไม่สงบ สิ่งสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อคนส่วนใหญ่ในแทบทุกประเทศตลอดเวลาคือ การที่ผู้คนดิ้นรนที่จะสร้าง ได้มา และกระจายความมั่งคั่งและอำนาจ
การดิ้นรนต่อสู้เหล่านี้เกิดขึ้นในแบบที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลาและเป็นสากล และได้เห็นว่าการดิ้นรนต่อสู้เหล่านี้ ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อชีวิตผู้คนในทุกมิติ ตั้งแต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาษี เศรษฐกิจ และวิธีที่ผู้คนอยู่ร่วมกันตลอดเวลาแห่งความเฟื่องฟูกับถดถอย และช่วงเวลาสงบสุขกับสงคราม และวิธีที่พวกมันเผยออกมาในแบบที่เป็นวัฏจักร ซึ่ง 6 ระยะขั้นของวัฏจักรภายในนั้นมี
ระยะขั้นที่ 1 เมื่อระเบียบอำนาจใหม่เริ่มต้นขึ้น และผู้นำคนใหม่กุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จ เพื่อเอาชนะสงครามกลางเมือง หรือเพื่อให้เกิดการปฏิวัติ แม้แต่อย่างสันติก็ตามคือการเกิดความขัดแย้งมหาศาลโดยที่ข้างหนึ่งชนะและอีกข้างหนึ่งพ่ายแพ้ และประเทศได้รับความเสียหายอย่างมาก ระยะขั้นที่ 1 คือสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา หลังสงครามมันคือเวลาที่ผู้ชนะเข้าคุมและผู้แพ้ต้องน้อมรับ แม้ผู้ชนะจะเข้มแข็งพอที่จะเอาชนะได้ในระยะขั้นแรกของระเบียบอำนาจใหม่นี้ พวกเขายังต้องฉลาดพอที่จะรวบอำนาจเบ็ดเสร็จได้ และสร้างประเทศขึ้นมาใหม่หลังจากเอาชนะทางอำนาจแล้ว ผู้นำใหม่มักจะจัดการกับฝ่ายตรงข้ามที่เหลือ และต่อสู้กันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจ แท้จริงแล้วอาจกล่าวได้ว่า การปฏิวัติมักจะมาเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการต่อสู้เพื่อโค่นผู้นำและระบบดั้งเดิม และส่วนที่ 2 คือการต่อสู้เพื่อขจัดพวกที่ยังภักดีต่อผู้นำคนเดิม และต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจในหมู่ฝ่ายผู้ชนะด้วยกันเอง จะเรียกส่วนที่ 2 นี้ว่าการกวาดล้าง ซึ่งจะนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 2 เมื่อมีการสร้างและปรับปรุงระบบการจัดสรรทรัพยากร และระบบข้าราชการต่าง ๆ ซึ่งหากทำออกมาได้ดี เรียกระยะนี้ว่าความรุ่งเรืองช่วงเริ่มต้น เพราะมันมักจะเป็นจุดเริ่มต้นของช่วงเวลาความสงบสุขและรุ่งเรือง การที่จะประสบความสำเร็จได้ ระบบจำเป็นต้องสร้างความเฟื่องฟูให้กับคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนชนชั้นกลางที่มีจำนวนมาก ผู้นำที่ดีที่สุดในช่วงระยะขั้นนี้มักจะแตกต่างจากผู้นำที่ประสบความสำเร็จในระยะขั้นที่ 6 และ 1 เรียกพวกเขาว่า วิศวกรโยธา ในขณะที่พวกเขาจำเป็นต้องฉลาดและในเชิงอุดมคติต้องเข้มแข็งและเป็นแรงบันดาลใจได้ เหนือสิ่งอื่นใดพวกเขาจำเป็นต้องสามารถออกแบบ และสร้างระบบที่อำนวยประโยชน์ให้แก่คนส่วนใหญ่ หรือพวกเขาต้องการคนทำงานให้พวกเขา เพื่อให้สามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้ด้วย ก็จะนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 3 เมื่อมีความสงบสุขและรุ่งเรือง เรียกระยะนี้ว่า ความรุ่งเรืองช่วงกลาง มันเป็นจุดที่พอดีที่สุดของวัฏจักรระเบียบอำนาจภายใน มันเกิดขึ้นตอนที่ผู้คนมีโอกาสที่จะเติบโตได้อย่างถ้วนหน้า และตื่นเต้นไปกับการเติบโตดังกล่าว ร่วมด้วยช่วยกันสร้างเพิ่มขึ้น ร่ำรวย และได้รับการชื่นชมยกย่องในการประสบความสำเร็จ ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า เมื่อทุกอย่างจัดการได้ด้วยดี จะมีการเข้าถึงการศึกษาและตำแหน่งงานที่เหมาะอย่างกว้างขวาง และแทบจะเท่าเทียมกัน สิ่งนี้ดึงกรอบประชากรที่กว้างที่สุด ที่เป็นไปได้มาเข้าสู่ความสามารถ และส่งผลบวกต่อระบบ โดยคนส่วนใหญ่เชื่อว่ามีความยุติธรรม ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ นวัตกร และนักผจญภัย สร้างไอเดียใหม่ ๆ และนำพาสังคมไปสู่สิ่งใหม่ และกลายเป็นฮีโร่ที่สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นอยากเป็นตาม เนื่องจากพวกเขาคิดค้นไอเดียใหม่ ๆ ที่ปฏิวัติวงการ ทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นและได้ผลตอบแทนจากสิ่งนั้น ซึ่งจะนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 4 เมื่อมีการใช้จ่ายและหนี้ที่มากเกินไป และช่องว่างด้านความมั่งคั่งและการเมืองขยายกว้างมากขึ้น เรียกมันว่าระยะฟองสบู่แห่งความรุ่งเรือง มีการใช้จ่ายที่อื่นด้วยหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในการซื้อสินค้า บริการ และสินทรัพย์การลงทุน ดังนั้นการเติบโตของหนี้จึงมีอัตราที่เร็วกว่าขีดจำกัดของกระแสเงินสดในอนาคต เพื่อชำระหนี้คืนฟองสบู่จึงเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงในการใช้จ่ายเงินและเวลา ไปในด้านบริโภคและสินค้าหรูหราฟุ่มเฟือยมากขึ้น และการลงทุนที่ให้ดอกผลน้อยลง มีการใช้จ่ายด้านการทหารที่สูง ในระยะขั้นนี้เพื่อขยายและปกป้องผลประโยชน์ระดับโลก ฐานะดุลการชำระเงินของประเทศแย่ลง สะท้อนถึงการกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และความสามารถการแข่งขันที่ลดลง หากประเทศดังกล่าวมีสถานะเป็นสกุลเงินสำรองหลัก ช่องว่างความมั่งคั่งและโอกาส จะขยายกว้างและมีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเกิดขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 5 เมื่อมีสภาวะการเงินที่แย่ และความขัดแย้งรุนแรง อิทธิพลที่สำคัญที่สุดที่เปลี่ยนแปลงในวัฏจักรรอบใหญ่คือ หนี้ เงิน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนผสมความเป็นพิษอันคลาสสิคของอิทธิพลที่นำมาซึ่งความขัดแย้งภายในครั้งใหญ่ ประกอบด้วย 1.ประเทศและประชากรในประเทศ (หรือรัฐหรือเมือง) มีฐานะการเงินที่แย่ เช่น มีหนี้และภาระผูกพันที่ไม่ใช่หนี้จำนวนมาก 2.มีช่องว่างด้านรายได้ ความมั่งคั่ง และค่านิยมที่แตกต่างกันอย่างมากภายในแต่ละหน่วยต่าง ๆ และ 3.ผลกระทบเชิงลบด้านเศรษฐกิจที่รุนแรง
การบรรจบดังกล่าวมักทำให้เกิดความวุ่นวาย ความขัดแย้ง และบางครั้งเกิดสงครามกลางเมือง ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุรวมถึงฟองสบู่ทางการเงินที่แตกออก ภัยธรรมชาติ เช่น โรคระบาด ภัยแล้งและน้ำท่วม และสงคราม มันนำมาซึ่งการทดสอบภาวะวิกฤตด้านการเงิน ฐานะการเงิน ซึ่งวัดโดยรายได้เทียบกับค่าใช้จ่าย และสินทรัพย์เทียบกับหนี้สินที่มีอยู่ อันจะนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 6 เมื่อเกิดสงครามกลางเมือง การปฏิวัติ สงครามกลางเมืองย่อมเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น แทนที่จะคิดว่ามันจะไม่เกิดขึ้นตอนนี้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ในประเทศส่วนใหญ่คาดไว้แบบนั้น หลังจากที่ไม่มีสงครามมาเป็นเวลานาน จะดีกว่าที่ระวังและจับตาสัญญานที่บ่งบอกว่าใกล้เกิดขึ้นเพียงใดแล้ว สงครามกลางเมืองและการปฏิวัติเกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพื่อเปลี่ยนระเบียบอำนาจภายในอย่างถึงแก่น รวมถึงการปรับโครงสร้างด้านความมั่งคั่ง และอำนาจทางการเมืองทั้งหมด ที่รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ ความเป็นเจ้าของทางการเงิน และการตัดสินใจทางการเมืองโดยสมบูรณ์ ช่วงเวลาของสงครามกลางเมืองมักจะโหดร้ายอย่างมาก โดยปกติในช่วงต้นของสงครามเหล่านี้เป็นการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยพลังล้นเหลือ และเป็นไปเพื่อแย่งชิงอำนาจ และในขณะที่การต่อสู้และอารมณ์รุนแรงขึ้น และฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ นำไปสู่ระยะขั้นที่ 1 และนำไปสู่ระยะขั้นที่ 2 เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ โดยทั้งวัฏจักรจะเกิดขึ้นซ้ำอีกครั้ง ทุกประเทศตอนนี้กำลังผ่านวัฏจักรดังกล่าว และแต่ละประเทศก็ยังอยู่ในระยะขั้นที่แตกต่างกัน นั่นเป็นวัฏจักรระเบียบอำนาจภายในที่ครบถ้วน แต่แน่นอนว่าวัฏจักรนั้นวนซ้ำโดยผู้นำใหม่แทนที่ผู้นำเก่า และวัฏจักรทั้งหมดก็เริ่มใหม่อีกครั้ง
การศึกษาประวัติศาสตร์ได้สอนว่า ไม่มีสิ่งใดที่คงอยู่ตลอดไป นอกจากวิวัฒนาการและภายในวิทยาการเอง ก็มีวัฏจักรที่เหมือนกับคลื่นที่ซัดสาดเข้ามาและออกไป และยากที่จะเปลี่ยนแปลงหรือต่อต้านมัน ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ให้ได้อย่างดีนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ว่า กำลังอยู่ในระยะขั้นใดของวัฏจักรนั้น และต้องรู้หลักการที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลา และใช้ได้แบบสากลในการจัดการกับมัน เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนแปลง แนวทางที่ดีที่สุดก็เปลี่ยนไป กล่าวคือสิ่งที่ดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และสถานการณ์ต่าง ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดที่จะเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตาว่า ระบบเศรษฐกิจหรือการเมืองใด ๆ นั้นดีที่สุดเสมอ เพราะมีบางครั้งที่ระบบก็ไม่ได้ดีที่สุด สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ๆ และหากสังคมไม่ปรับตัวก็จะตาย นั่นคือเหตุผลว่าทำไมการปฏิรูประบบอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับตัวให้เหมาะสมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด การทดสอบระบบใด ๆ ก็ตาม เป็นแค่เพียงการดูว่าระบบทำงานได้ดีเพียงใด ในการส่งมอบสิ่งที่คนส่วนใหญ่ต้องการ และสามารถวัดผลได้ก็เท่านั้น
บทที่ 6 วัฏจักรรอบใหญ่
ของระเบียบอำนาจและความวุ่นวายภายนอก
ระยะขั้นทั้ง 6 ในวัฏจักรที่สลับไปมา ระหว่างระเบียบอำนาจและความวุ่นวาย เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศต่าง ๆ ล้วนดำเนินในลักษณะเดียวกัน สำหรับระหว่างประเทศโดยมีข้อยกเว้นใหญ่ ๆ หนึ่งประการ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกขับเคลื่อนโดยมาก จากความเปลี่ยนแปลงของอำนาจที่แท้จริง นั่นเป็นเพราะว่าระบบการกำกับดูแลทั้งหมดต้องการการเห็นพ้องตรงกัน และมีประสิทธิภาพในเรื่อง 1.กฎหมายและความสามารถในการออกกฎหมาย 2.ความสามารถในการบังคับใช้กฎหมายเช่นตำรวจ 3.วิธีการตัดสินเช่นผู้พิพากษา 4.ผลที่ชัดเจนและเฉพาะเจาะจงว่าเหมาะสม ต่อทั้งด้านความผิดทางอาญาและการบังคับใช้ เช่น ค่าปรับและการกักขัง
สิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นไม่มีอยู่หรือไม่ได้มีประสิทธิภาพ ในการชี้นำความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบที่มีใช้ในการชี้นำความสัมพันธ์ภายในของประเทศ เมื่อประเทศมหาอำนาจมีข้อพิพาทกัน พวกเขาไม่ได้ขอให้ทนายความดำเนินฟ้องคดีต่อผู้พิพากษา แต่พวกเขาคุกคามซึ่งกันและกัน และก็บรรลุข้อตกลงร่วมกันหรือปะทะกัน ระเบียบอำนาจระหว่างประเทศเป็นไปตามกฎแห่งป่า (Law of the Jungle) มากกว่าที่จะเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ
การต่อสู้กันระหว่างประเทศมี 5 ประเภทหลัก สงครามด้านการค้า/เศรษฐกิจ สงครามด้านเทคโนโลยี สงครามด้านเงินทุน สงครามด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามทางการทหาร การต่อสู้แย่งชิงและสงครามเหล่านี้ ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการยิงและการสังหารหรือไม่ก็ตาม ล้วนเป็นการใช้อำนาจของฝ่ายหนึ่งเหลืออีกฝ่ายหนึ่ง พวกเขาสามารถลุยเต็มพิกัดหรือยั้งไว้ก็ได้ขึ้นอยู่กับความสำคัญของปัญหา และอำนาจเชิงเปรียบเทียบกับฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อสงครามด้านการทหารเริ่มต้นขึ้นแล้ว มิติอื่น ๆ ที่เหลือทั้ง 4 จะถูกติดอาวุธให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แม้ว่าเป็นเรื่องปกติที่จะมีความปรารถนาที่จะมีอำนาจ แต่ก็มีพวกที่ไม่ปรารถนาอำนาจเช่นกัน นั่นเป็นเพราะการรักษาไว้ซึ่งอำนาจต้องใช้ทรัพยากร ที่สำคัญที่สุดคือเวลาและเงิน อีกทั้งอำนาจนั้นมาพร้อมกับความรับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ กระนั้นก็ตาม วัฏจักรก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นลักษณะนี้ หากประเทศต่าง ๆ ที่อยู่ในช่วงระยะที่ร่ำรวย และมีอำนาจยังคงดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาเงินได้มากกว่าที่ใช้ไป ทำให้ระบบทำงานได้ดีสำหรับประชาชนส่วนใหญ่ และหาวิธีสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ได้ประโยชน์ร่วมกันกับคู่แข่ง ที่สำคัญที่สุดของพวกเขา อาณาจักรและราชวงศ์หนึ่งดำรงอยู่ได้หลายร้อยปี และสหรัฐฯซึ่งมีอายุ 245 ปีได้พิสูจน์ด้วยตัวเองแล้วว่า เป็นหนึ่งในอาณาจักรที่ยั่งยืนยาวนานที่สุด
บทที่ 7 การลงทุนให้สอดคล้องไปตามวัฏจักรรอบใหญ่
การศึกษาช่วงเวลา 500 ปีจนถึงปัจจุบัน มีวัฏจักรรอบใหญ่ของการสะสมและสูญเสียความมั่งคั่งและอำนาจอันมหาศาล และจากทั้งหมดทั้งมวลนี้ ปัจจัยที่ส่งผลมากที่สุดคือวัฏจักรหนี้และตลาดทุน อาจเรียกว่าวัฏจักรการลงทุนรอบใหญ่ จำเป็นต้องเข้าใจวัฏจักรเหล่านี้ให้ดีเพียงพอ ในการขยับหรือกระจายพอร์ตโฟลิโออย่างชาญฉลาด เพื่อปกป้องผลกำไรไว้ ทุกตลาดมักถูกขับเคลื่อนโดย 4 ปัจจัยเฉพาะหลัก อันได้แก่ การเติบโต เงินเฟ้อ ส่วนชดเชยความเสี่ยง และอัตราคิดลด รัฐบาลมีอิทธิพลต่อปัจจัยเหล่านี้ผ่านนโยบายการคลังและการเงิน ด้วยเหตุนี้เอง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่รัฐบาลต้องการให้เกิดขึ้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือ สิ่งที่ขับเคลื่อนวัฏจักรมันมีความแตกต่างระหว่างรัฐบาลกลางและธนาคารกลาง ในแง่ของสิ่งที่ทำให้การขับเคลื่อนผลตอบแทนตลาดและภาวะเศรษฐกิจ รัฐบาลกลางกำหนดว่าเงินที่พวกเขาใช้จะมาจากไหน และใช้ไปที่ไหนเพราะพวกเขาสามารถเก็บภาษีและใช้จ่ายได้ แต่พวกเขาไม่สามารถสร้างเงินและเครดิตได้ ในทางตรงกันข้ามธนาคารกลางสามารถสร้างเงินและเครดิตได้ แต่ไม่สามารถกำหนดว่าเงินและเครดิตจะเข้าสู่เศรษฐกิจจริงอย่างไร
วัฏจักรรอบใหญ่ของทุนนิยมและตลาด นับมาจนถึงกระทั่งราว ๆ ปี 1350 การให้กู้ยืมพร้อมคิดดอกเบี้ยเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาคริสต์และอิสลาม และถูกแบนในศาสนายิวและชาวยิวด้วยเช่นกัน เนื่องจากปัญหาร้ายแรงที่เกิดขึ้น โดยธรรมชาติของมนุษย์ทำให้ผู้คนกู้ยืมมากกว่าที่สามารถจ่ายคืนได้ ซึ่งสร้างความตึงเครียดและมักเกิดความรุนแรงระหว่างผู้กู้และผู้ให้กู้ ผลที่ตามมาจากการขาดแคลนการให้กู้ยืม สกุลเงินจึงต้องจับได้ (ทองคำและเงิน) ราวหนึ่งศตวรรษต่อมา ในยุคแห่งการบุกเบิก นักสำรวจตระเวนไปทั่วโลกเพื่อเก็บรวบรวมทองคำ เงิน และสินทรัพย์ที่จับต้องได้อื่น ๆ เพื่อให้มีเงินมากขึ้น นั่นคือวิธีการสร้างความมั่งคั่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดในเวลานั้น
นักสำรวจและผู้สนับสนุนพวกเขาแบ่งผลประโยชน์กัน มันเป็นระบบจูงใจที่มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความร่ำรวย จินตนาการถึงความแตกต่าง ลองพิจารณาว่า ความมั่งคั่งที่มีในตอนนี้จะมีมากเพียงใดหากไม่มีเงินฝาก หุ้น และพันธบัตรเป็นคำมั่นว่า จะจ่ายคืนให้ในอนาคต อาจจะแทบไม่มีเวลาเลยก็ได้ ความมั่งคั่งที่สามารถจับต้องได้ นั่นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนที่เงินฝาก ตราสารหนี้ และหุ้นจะถือกำเนิดขึ้น ด้วยการคิดค้นนี้และการเติบโตของความมั่งคั่งทางการเงิน เงินจึงไม่ถูกจำกัดด้วยการผูกโยงกับทองคำและเงิน เนื่องจากเงิน เครดิต และอำนาจในตัวมันถูกลดข้อจำกัดลง
เมื่อเครดิตถูกสร้างขึ้น อำนาจซื้อจะเกิดขึ้นโดยแลกเปลี่ยนกับการให้คำมั่นที่จะชำระคืนภายฟลัง ดังนั้นในระยะสั้นเป็นการกระตุ้น แต่ในระยะยาวเป็นแรงกดดัน เรื่องนี้นำไปสู่การเติบโตขึ้นของรูปแบบอำนาจซื้อ และในที่สุดก็ไปสู่คำมั่นอีกมากมาย ที่เกินกว่าที่จะสามารถจ่ายคืนได้ และวิกฤตการผิดคำมั่นสัญญาก็เกิดขึ้น ในรูปแบบของวิกฤตผิดนัดชำระหนี้ และการพังลงของตลาดหุ้น วัตถุประสงค์ของการลงทุนคือ การเอาเงินใส่ไปในตัวเก็บรักษาความมั่งคั่ง ที่สามารถแปลงสภาพมันเพื่อนำไปจับจ่ายในอนาคตได้ เมื่อลงทุนต้องจ่ายเงินจำนวนหนึ่งไปเพื่อได้มาในอนาคต หากจ่ายเงิน 100 ดอลลาร์วันนี้ก็ต้องรออีกกี่ปีจึงจะได้ 100 ดอลลาร์คืนมา และเริ่มสะสมผลตอบแทนเพิ่มเติมจากที่จ่ายไป
ในพันธบัตรสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และยุโรป อาจต้องรอประมาณ 45 ปี 150 ปีและ 30 ปีตามลำดับเพื่อให้ได้เงินคืน และในยุโรปขณะนี้ไม่น่าจะได้รับเงินคืน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยติดลบ เนื่องจากกำลังพยายามรักษาอำนาจซื้อ ต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อด้วย ขณะนี้ในสหรัฐฯและยุโรปอาจไม่ได้อำนาจซื้อคืน (และในญี่ปุ่นอาจใช้เวลามากกว่า 250 ปีที่จะได้คืน) ในความเป็นจริงแล้ว ในประเทศเหล่านี้มีอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ แทบจะรับประกันได้ว่าจะมีกำลังซื้อน้อยลงในอนาคต แทนที่จะได้เงินคืนน้อยกว่าเงินเฟ้อ ทำไมไม่ซื้อของ (ของอะไรก็ได้) ที่เท่ากับเงินเฟ้อหรือมากกว่าเงินเฟ้อ
วัฎจักรรอบใหญ่นับตั้งแต่ปี 1900 ในการดูให้ทั่วโลกย้อนกลับไป 500 ปี และในจีนย้อนกลับไป 1,400 ปีนั้น เห็นวัฎจักรแบบเดียวกันโดยพื้นฐานเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยเหตุผลพื้นฐานเดียวกัน ช่วงเวลาที่เลวร้ายในช่วงหลายปี ก่อนการสถาปนาระเบียบอำนาจโลกใหม่ในปี 1945 เป็นเรื่องปกติของช่วงการเปลี่ยนผ่านของปลายวัฏจักรรอบใหญ่ เมื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิวัติและการปรับรื้อโครงสร้างใหม่เกิดขึ้น แม้ว่ามันจะเลวร้ายแต่พวกมันก็เหมาะสมกับช่วงขาขึ้นอันสุดยอด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการเปลี่ยนแปลงอันสาหัสจากระเบียบอำนาจเก่าไปสู่ระเบียบอำนาจใหม่ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว
Part 2 โลกดำเนินมาอย่างไรในช่วง 500 ปีที่ผ่านมา
บทที่ 8 ประวัติศาสตร์รอบ 500 ปีโดยสังเขป
ต้องย้อนกลับไปที่ปี 1500 ก่อน เพื่อให้ได้ภาพที่ชัดขึ้นว่าโลกนี้เคยเป็นอย่างไร เมื่อเรื่องราวนี้เริ่มต้นขึ้น โลกใบนี้แตกต่างอย่างมากเมื่อตอนปี 1500 แต่มันก็ทำงานแบบเดียวกับในปัจจุบันเช่นกัน นั่นเป็นเพราะแม้ว่าสิ่งต่าง ๆ ได้วิวัฒนาการอย่างมากนับตั้งแต่ปี 1500 เป็นต้นมา แต่พวกมันเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกัน โดยวิวัฒนาการแบบยกระดับก่อให้เกิดความก้าวหน้า และวัฏจักรรอบใหญ่ก่อให้เกิดการพลิกผันไปมา และการสะดุดต่าง ๆ ตลอดช่วงของการยกระดับนี้
เกิดอะไรขึ้นบ้างตั้งแต่ปี 1500 เป็นต้นมา มีสิ่งสำคัญต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้น ทั้งวิวัฒนาการและวัฏจักร มีทั้ง 1.การปฏิวัติทางความคิดหลายครั้งซึ่งนำไปสู่วิวัฒนาการที่ยิ่งใหญ่ และก้าวหน้าจากนั้นไปหลาย 100 ปี 2.วัฏจักรแห่งความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรือง หลายวัฏจักรสลับกับความตกต่ำและสงคราม ที่เป็นจุดสิ้นสุดของระเบียบอำนาจเก่า และเริ่มต้นระเบียบอำนาจใหม่
ยุคการปฏิวัติด้านการค้าช่วงปี 1100-1500 การปฏิวัติทางการค้าเป็นการขยับจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาการเกษตรเพียงอย่างเดียว ไปสู่เศรษฐกิจที่รวมการค้าสินค้าที่หลากหลาย วิวัฒนาการนี้เริ่มต้นในศตวรรษที่ 12 และในปี 1500 มีศูนย์การค้าอยู่ที่นครรัฐของอิตาลี
ยุคเรเนซองส์ช่วงปี 1300 – 1600 การคิดแบบใหม่ซึ่งจำลองรูปแบบมาจากชาวกรีกและโรมันโบราณในหลาย ๆ ด้าน เริ่มต้นในเมืองนครรัฐของอิตาลีราวปี 1300 และส่งผ่านมายังยุโรปจนถึงช่วงปี 1600 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เรียกว่ายุคเรเนซองส์ ที่สุดด้านประวัติศาสตร์ของวัฏจักร ที่มีแรงเสริมโดยตัวมันเอง ช่วงเวลาแห่งความสงบสุขซึ่งเกิดความคิดสร้างสรรค์ และการค้าต่างเสริมแรงซึ่งกันและกัน ในการก่อให้เกิดความรุ่งเรืองและความก้าวหน้าที่ยอดเยี่ยม ใจกลางของความรุ่งเรืองและก้าวหน้า และการขับเคลื่อนไปข้างหน้า คือ เหล่าผู้คนและตระกูลอย่างเมดิซีซึ่งเป็นพ่อค้าและนายธนาคาร ไม่ใช่ศักดินากษัตริย์
ยุคแห่งการสำรวจและการล่าอาณานิคมช่วงปี 1400 – 1700 ยุคแห่งการสำรวจเริ่มขึ้นช่วงปี 1400 เมื่อชาวยุโรปเดินทางไปทั่วโลก เพื่อเสาะหาความมั่นคง ก่อให้เกิดความแพร่หลายในการติดต่อระหว่างชนชาติต่าง ๆ มากมายเป็นครั้งแรก และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้โลกเล็กลง มันค่อนข้างใกล้เคียงกับยุคเรเนซองส์ เพราะความมหัศจรรย์ทางเทคโนโลยีของยุคเรเนซองส์ ถูกเปลี่ยนเป็นความก้าวหน้าในการต่อเรือและการเดินเรือ ความร่ำรวยที่เรือเหล่านั้นนำกลับมาช่วยเป็นทุนหนุนสำหรับความก้าวหน้าของยุคเรเนซองส์ที่มากขึ้น
ยุคการปฏิรูปปี 1517 – 1648 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1500 ในยุโรป ความเคลื่อนไหวของนิกายโปรเตสแตนต์ จุดประกายการปฏิวัติต่อต้านนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่งมีส่วนการเกิดสงครามต่อเนื่อง และโค่นล้มระเบียบอำนาจยุโรปที่มีในเวลานั้น ระเบียบอำนาจเดิมประกอบด้วยกษัตริย์ ขุนนาง และคริสตจักร ที่มีความสัมพันธ์แบบพึ่งพากัน
ระเบียบอำนาจใหม่หลังจากสงครามสามสิบปี (ปี 1648) สงคราม 30 ปีทำให้ประเทศที่เป็นโปรเตสแตนท์ต่อต้านพวกคาทอลิก ในตอนท้ายของสงครามระเบียบอำนาจใหม่ได้ถูกกำหนดขึ้น ในสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย ความก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นคือ การจัดตั้งโครมแดนทางภูมิศาสตร์ และสิทธิอธิปไตยของประชาชนภายในเขตแดนเหล่านั้น ในการตัดสินใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ของพวกเขาเอง เช่นเดียวกับช่วงเวลาส่วนใหญ่หลังสงครามใหญ่ และการกำเนิดระเบียบอำนาจใหม่ เวลาแห่งความสงบสุขระหว่างประเทศต่าง ๆ จะขยายออกไปโดยที่ชาวดัตช์ผงาดขึ้นมาจากความโกลาหล ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลก
การถือกำเนิดระบบทุนนิยมช่วงปี 1600 เริ่มต้นที่ชาวดัตช์ การพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ขึ้น และนิยมใช้กับตลาดหุ้นช่วยให้ผู้ที่มีเงินออมสามารถถ่ายโอนอำนาจซื้อของตน ไปยังเหล่าผู้ประกอบการที่สามารถนำอำนาจซื้อเหล่านั้น ไปใช้ให้เกิดประโยชน์และสร้างผลกำไรได้ สิ่งนี้ช่วยปรับปรุงการจัดสรรทรัพยากรอย่างมีนัยสำคัญ และกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะมันก่อให้เกิดอำนาจซื้อใหม่ มันยังก่อให้เกิดวัฏจักรของตลาดทุนด้วย
การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ช่วงปี 1500 – 1600 การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เป็นการต่อยอด การเปลี่ยนแปลงของยุคเรเนซองส์จากการค้นหาความจริง ในวิถีแบบศาสนาไปสู่การค้นหาความจริง โดยใช้เหตุผลเชิงตรรกะและแรงผลักดันของการปฏิรูป ไปสู่การตั้งคำถามกับผู้ที่มีอำนาจ และการคิดด้วยตนเอง ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การพัฒนาระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งช่วยยกระดับความเข้าใจของมนุษยชาติที่มีต่อโลก โดยการกำหนดระเบียบหลักปฏิบัติ ที่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้ นำไปสู่การค้นพบมากมายที่ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ช่วงปี 1700 – 1800 เริ่มต้นในสหราชอาณาจักรช่วงปี 1700 การปล่อยให้ผู้คนมีอิสระในการคิดค้น มีศักยภาพและช่วยสนับสนุนพวกเขาด้วยเงินทุน ทำให้สังคมต่าง ๆ เปลี่ยนไปสู่กระบวนการผลิตแบบใหม่ ที่พึ่งพาเครื่องจักรก่อให้เกิดช่วงเวลาของการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตที่ยั่งยืน และแพร่หลายในวงกว้างในรอบนับพันปี
การตื่นรู้และยุคสมัยแห่งการปฏิวัติช่วงปี 1600-1700 เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อว่ายุคแห่งการให้เหตุผล การตื่นรู้เป็นระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์โดยพื้นฐาน ที่ใช้กับวิธีที่มนุษย์ควรประพฤติ แนวความคิดนี้แพร่หลายในยุโรปในช่วงปี 1700 และ 1800 เป็นการต่อยอดและเสื่อมถอยลงของสิทธิของสถาบันกษัตริย์และพระศาสนจักร การเพิ่มสิทธิของบุคคลทั่วไป ที่แสดงลักษณะการเคลื่อนไหวทางปัญญาสมัยเมื่อก่อน
สงครามนโปเลียนและระเบียบอำนาจใหม่ที่เกิดขึ้นตามมาปี 1803 – 1815 สงครามนโปเลียนดำเนินไปตั้งแต่ปี 1803 ถึง 1815 เมื่ออังกฤษและพันธมิตรเอาชนะนโปเลียนและพันธมิตรของเขาได้ ตามปกติแล้วผู้ชนะรวมตัวกันเพื่อสร้างระเบียบอำนาจใหม่ของโลก ซึ่งถูกร่างขึ้นที่รัฐสภาเวียนนา โดยร่างขอบเขตใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีอำนาจประเภทใด ๆ ในยุโรปที่จะมีอำนาจเยอะจนเกินไป โดยอยู่บนพื้นฐานแนวคิดเรื่องความสมดุลของอำนาจ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสงคราม อังกฤษกลายเป็นจักรวรรดิมหาอำนาจของโลก และตามปกติหลังจากสงครามและการจัดตั้งระเบียบโลกใหม่ จะมีช่วงเวลาแห่งความสงบสุขและความรุ่งเรืองที่ยาวนานขึ้น ซึ่งก็คือช่วงเวลาสันติภาพบริติช (Pax Britannica)
มหาอำนาจตะวันตกกรีธาทัพเข้าสู่เอเชียช่วงปี 1800 อังกฤษและมหาอำนาจตะวันตกอื่น ๆ นำเรือปืนของพวกเขาเข้าสู่อินเดีย จีน และญี่ปุ่น ในช่วงกลางศตวรรษที่ 17 จนถึงศตวรรษที่ 18 ทำให้เกิดการแตกหักครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ของพวกเขา ชาวจีนพยายามต่อสู้กับอังกฤษแต่แพ้ ชาวญี่ปุ่นเห็นเรื่องนี้และเปิดประเทศตัวเองเพื่อการค้า พัฒนาการเหล่านี้นำไปสู่การล่มสลายของราชวงศ์ชิงในที่สุด และการลาออกของรัฐบาลญี่ปุ่น การควบคุมอินเดียอย่างต่อเนื่องโดยอังกฤษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่นและจีน โดยได้นำไปสู่การตระหนักว่าพวกเขาจำเป็นต้องปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย ซึ่งกระตุ้นให้ยุคแห่งการฟื้นฟูเมจิในญี่ปุ่น และขบวนการเสริมสร้างความแข็งแกร่งตนเองในจีน ความสำเร็จอย่างมากในญี่ปุ่น และไม่ประสบความสำเร็จในประเทศจีน ที่ยังคงเจ็บปวดกับสิ่งที่ชาวจีนเรียกว่า ศตวรรษแห่งความอัปยศ
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ช่วงทศวรรษที่ 1850 ไปจนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เริ่มต้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 คลื่นแห่งนวัตกรรมครั้งใหญ่ลูกที่ 2 ได้เกิดขึ้น โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่การเคลื่อนที่ด้วยพลังงานไอน้ำ เช่น รถไฟ และจากนั้นก็เป็นไฟฟ้า โทรศัพท์ ชิ้นส่วนการผลิตแบบเปลี่ยนทดแทนกันได้ และนวัตกรรมอื่น ๆ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ให้ประโยชน์แก่สหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ตามปกติแล้วช่วงเวลาแบบนี้ก่อให้เกิดความมั่งคั่งที่ยอดเยี่ยม และช่องว่างความมั่งคั่งที่กว้างมาก และตลาดทุนที่อู้ฟู่ซึ่งนำไปสู่ยุคที่เรียกว่า ยุคทองในสหรัฐฯ
การถือกำเนิดระบอบคอมมิวนิสต์ปี 1848 การถือกำเนิดและพัฒนาการของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เป็นปฏิกิริยาต่อต้านทั้งทุนนิยม และช่องว่างความมั่งคั่งที่มันสร้างขึ้น และประโยชน์ของการปฏิวัติอุตสาหกรรม จะตกเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่มากกว่าแรงงาน ความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์และมหาอำนาจที่มีอยู่เดิม ได้ทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านศตวรรษ และนำไปสู่การปฏิวัติครั้งสำคัญอีกหลายครั้ง รวมทั้งในรัสเซียและจีน ที่รัฐบาลคอมมิวนิสต์เข้ายึดอำนาจ ศตวรรษที่ 20 ซึ่งมี 2 วัฏจักรรอบใหญ่ของความรุ่งเรือง ล้มสลาย สงคราม และระเบียบอำนาจใหม่ ซึ่งวัฏจักรรอบใหญ่ที่ 2 นี้ ดูเหมือนว่าอยู่ในช่วงตอนปลายของวัฏจักรแล้ว
บทที่ 9 วัฎจักรรอบใหญ่
ของการรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของจักรวรรดิดัตซ์และกิลเดอร์
หลังจากการพยายามก่อการปฏิวัติหลายครั้ง ในช่วงกลางศตวรรษที่ 15 ชาวดัตช์ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของฮาพส์บวร์คแห่งสเปน ในที่สุดก็มีอำนาจมากพอที่จะได้รับเอกราชโดยพฤตินัยในปี 1581 จากปี 1625 ไปจนถึงการล่มสลายในปี 1795 ชาวดัตช์ได้มาซึ่งความมั่งคั่ง และอำนาจเพียงพอที่จะอยู่เหนือกว่า ทางราชวงศ์ฮาพส์บวร์คและจีนในฐานะเป็นจักรวรรดิที่ร่ำรวยที่สุดในโลก จักรวรรดิผงาดขึ้นด้วยเหตุผลอันคลาสสิค ด้วยจุดสูงสุดราวปี 1650 ในยุคที่ปัจจุบันนี้เป็นที่จดจำในฐานะ ยุคทองของดัตซ์
แม้จำนวนประชากรร่องรอยอาณาเขตที่มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถมีอำนาจทางทหารที่โดดเด่นในทวีปยุโรปได้ แต่ด้วยความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางการเงิน และกองทัพเรือที่แข็งแกร่งที่สามารถปกป้องอาณาจักรการค้าขนาดใหญ่ และอาณานิคมทั่วโลกของพวกเขาได้ มันก็ชดเชยได้มากจนเกินพอแล้ว สิ่งนี้ทำให้สกุลเงินของพวกเขา ดัตซ์กิลเดอร์กลายเป็นสกุลเงินสำรองหลักระดับโลกสกุลแรก ชาวดัตช์เป็นผู้ที่มีการศึกษาดีเยี่ยม ซึ่งขยันขันแข็งและมีความคิดสร้างสรรค์ สิ่งประดิษฐ์ที่สำคัญที่สุด 2 อย่างที่พวกเขาคิดคือ 1.เรือเดินสมุทรที่มีประสิทธิภาพเฉพาะตัวที่สามารถพาพวกเขาไปทั่วโลกได้ และด้วยทักษะทางการทหารที่พวกเขาได้มาจากการต่อสู้ ที่พวกเขาได้เคยทำในยุโรป ทำให้พวกเขาสามารถเก็บสะสมความร่ำรวยมหาศาลได้ 2.ระบบทุนนิยมที่ขับเคลื่อนความพยายามเหล่านี้
ชาวดัตช์คิดค้นระบบทุนนิยมอย่างที่รู้จัก สิ่งนี้ยอดเยี่ยมสำหรับชาวดัตช์และยิ่งใหญ่สำหรับโลก แต่ก็เช่นเดียวกับสิ่งประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ส่วนใหญ่ มันนำมาซึ่งผลที่ตามมาที่ร้ายแรงถึงตายได้ แม้การผลิต การค้า และกรรมสิทธิ์ถือครองโดยเอกชนได้มีมาก่อนแล้ว แต่ความสามารถของผู้คนจำนวนมาก ในการซื้อความเป็นเจ้าของร่วมกันผ่านหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่เคยมีมาก่อน ชาวดัตช์สร้างมันขึ้นเมื่อพวกเขาคิดค้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกของโลก (Dutch East India Company) และตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในปี 1602 นอกจากการสร้างตลาดหุ้นแล้ว ชาวดัตช์ยังได้พัฒนาระบบการธนาคารที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วและเริ่มหนุนเงินทุน สำหรับการค้าระหว่างประเทศให้พ่อค้าชาวดัตช์ และพ่อค้าที่ไม่ใช่ชาวดัตช์
ผลที่ได้จากระบบนี้ กิลเดอร์รักษาประสิทธิภาพการเป็นทั้งสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และเป็นตัวกักเก็บความมั่งคั่ง ตั๋วแลกเงินของธนาคารแห่งอัมสเตอร์ดัม ช่วยยกระดับสถานะการเป็นสกุลเงินสำรอง การค้าของบอลติกและรัสเซียอาศัยเพียงกิลเดอร์และตั๋วแลกเงินของธนาคารแห่งอัมสเตอร์ดัม ในการกำหนดราคาและการทำข้อตกลงการชำระราคาและส่งมอบ
จุดสูงสุดของอำนาจ ยุคทองของดัตช์ทำให้ชาวดัตช์เปลี่ยนความสนใจไปที่การมีชีวิตที่ดี ในแง่ที่ทำให้การเงินพวกเขาอ่อนแอลง มหาอำนาจประเทศอื่นก็รุ่งเรืองขึ้นเช่นกัน และเริ่มท้าทายพวกเขา การมาถึงของระบบทุนนิยมรวมกับแนวทางใหม่ของการตื่นรู้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่เรียกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่สหราชอาณาจักร ชาวดัตช์ซึ่งเคยเป็นผู้นำที่ไม่มีใครเทียบได้ในด้านนวัตกรรม การค้า และความมั่งคั่งในช่วงยุค 1600 ล้มเหลวในการรักษาความเป็นผู้นำดังกล่าวเอาไว้ ในที่สุดต้นทุนในการรักษาอาณาจักรที่เสื่อมถอย และพยายามยื้อเกินไปก็ไม่ยั่งยืน
การเสื่อมถอย รอบปี 1750 อังกฤษ (และฝรั่งเศส) แข็งแกร่งกว่าเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากเพราะอำนาจของพวกเขาขยายขึ้น เพราะชาวเนเธอร์แลนด์อ่อนแอลง ชาวดัตช์มีหน้าที่เพิ่มมากขึ้น ประสบปัญหาความขัดแย้งภายในเรื่องความมั่งคั่ง การทหารที่อ่อนแอลง ทั้งหมดนี้ทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการเสื่อมถอยและถูกโจมตี การเสื่อมถอยลงของจักรวรรดิดัตช์ นำไปสู่วัฏจักรรอบใหญ่ครั้งใหม่ของประวัติศาสตร์โลก นั่นคือการรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของจักรวรรดิอังกฤษ และการเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลกของมัน เรื่องราวดังกล่าวซึ่งก็เป็นเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้ เกิดขึ้นเพียงราว ๆ 1 ศตวรรษหลังจากนั้น ในแบบที่เป็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีมากขึ้น พร้อมกับผู้คนที่มีชุดสวมใส่ที่แตกต่างกัน พูดจาคนละภาษากัน
บทที่ 10 วัฏจักรรอบใหญ่
ของการรุ่งเรืองและสืบถอยของจักรวรรดิอังกฤษและปอนด์
การเปลี่ยนแปลงของระเบียบอำนาจโลก เกิดขึ้นเมื่อประเทศอย่างน้อย 2 ประเทศ หรือกลุ่มพันธมิตร ประเทศที่มีอำนาจทัดเทียมกันมีการปะทะ และมีฝ่ายที่ชนะและทรงอำนาจมากพอที่จะกำหนดกฎหมายขึ้นมา ซึ่งก็คือระเบียบอำนาจโลกใหม่นั่นเอง ก่อนที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น ประเทศที่กำลังรุ่งเรืองจำเป็นต้องทำให้ตัวเองอยู่ ในสถานะความแข็งแกร่งที่ทัดเทียมกับประเทศที่ปกครองอยู่เดิม ดังนั้น เรื่องราวของการรุ่งเรืองของประเทศที่ยิ่งใหญ่ต่าง ๆ ก็ล้วนเริ่มต้นขึ้นใหม่มายาวนาน ก่อนที่มันจะกลายเป็นมหาอำนาจ อังกฤษคว้าชัยชนะผ่านเศรษฐกิจและการทหารที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นก็ดำเนินไปตามบทอันคลาสสิคของวัฏจักรรอบใหญ่ของสิ่งที่เกิดขึ้น
หลังจากสงครามที่ก่อให้เกิดมหาอำนาจ เกิดระเบียบอำนาจใหม่ของโลกอันยาวนาน ที่กำหนดโดยผู้ชนะในกรณีนี้คือ 100 ปี ที่มีความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรือง นั่นคือเมื่อจักรวรรดิอังกฤษกลายเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
การผงาด ในยุโรปมีความหายนะและการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นผลมาจากสงคราม 30 ปี เพราะเป็นสงครามระหว่างอุดมการณ์ ศาสนา และชนชั้นทางเศรษฐกิจ ที่สร้างระเบียบอำนาจใหม่แก่ยุโรปผ่านสัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย สัญญานี้ก่อตั้งประเทศต่าง ๆ ขึ้นมา และสร้างรอยแตกร้าวในยุโรปขึ้นมา ซึ่งนำไปสู่การเลือกที่แตกต่างกันในประเทศต่าง ๆ สงครามกลางเมืองในอังกฤษทำให้กษัตริย์ (ชาร์ลที่ 1) ถูกสอบสวนและประหารชีวิต และระบอบราชาธิปไตยก็ถูกแทนที่ด้วยระบอบเครือจักรพบอังกฤษ ภายใต้การปกครองของนายพลที่เป็นผู้นำการปฏิวัติ โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ความขัดแย้งเหล่านี้ก่อให้เกิดกฎหมาย แทนที่กฎโดยระบอบราชาธิปไตย และสร้างสมดุลแห่งอำนาจใหม่ระหว่างกษัตริย์และรัฐสภา ซึ่งเป็นรากฐานของความรุ่งเรืองของอังกฤษในเวลาต่อมา
การปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชากรที่มีการศึกษาดีพร้อมกับวัฒนธรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ และความพร้อมของเงินทุนเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแนวคิดใหม่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับวิธีที่เครื่องจักร สามารถทำในสิ่งที่ต้องใช้แรงคนเยอะ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน และความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นมาก ทรัพยากรเหล็กและถ่านหินอันเป็นสิ่งที่ได้มาตามธรรมชาติทางธรณีวิทยาของอังกฤษ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า การปฏิรูปอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ความเข้มแข็งเหล่านี้ทำให้เกิดการแซงหน้าเนเธอร์แลนด์
ในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเงินในยุโรปราวปี 1750 ซึ่งเป็น 30 ปีก่อนที่สหราชอาณาจักรจะเอาชนะเนเธอร์แลนด์ ในการต่อสู้และกลายเป็นจักรวรรดิมหาอำนาจของโลกได้อย่างชัดเจน การที่สหราชอาณาจักรกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก สหราชอาณาจักรจำเป็นต้องสามารถต่อสู้ทางการทหาร เพื่อปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของตนเองไว้ ความแข็งแกร่งทางทหารของสหราชอาณาจักร โดยเฉพาะกองทัพเรือช่วยวางรากฐานด้านอาณานิคมของพวกเขา และเข้ายึดครองประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ในยุโรปได้ รวมทั้งควบคุมความมั่นคงของเส้นทางการค้าโลก
ความสามารถในการหารายได้ของจักรวรรดิมีมากกว่าค่าใช้จ่ายทางทหาร เพราะมันช่วยหนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ต้องขอบคุณนวัตกรรมทางการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ และการล้มสลายของกิลเดอร์ ลอนดอนจึงเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก และเงินปอนด์สเตอร์ลิงจึงกลายเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก สหราชอาณาจักรเดินตามรอยลำดับขั้นของวัฏจักรรอบใหญ่ของการเป็นจักรวรรดิที่รุ่งเรือง
จุดสูงสุดของอำนาจ สถานะของเงินปอนด์ในการเป็นสกุลเงินสำรองหลัก ช่วยเสริมอิทธิพลในการขยายอาณานิคม การขยายทางการทหาร การค้าโลก และกระแสการลงทุนสัดส่วนการส่งออกทั่วโลกของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการแผ่ขยายของจักรวรรดิโดยไปถึงจุดสูงสุดในราวปี 1850 ที่ประมาณ 40% ของการส่งออกทั่วโลกในปี 1818 ธนาคาร English Rothechild ได้ให้เงินกู้แก่รัฐบาลปรัสเซียเป็นครั้งแรก เมื่อเงินปอนด์มีสภาพคล่องมากขึ้น คลื่นของประเทศที่ต้องการของกู้ยืมอื่น ๆ ก็ถาโถมเข้ามา และหนี้ทั่วโลก การค้าโลก และกระแสเงินทุนทั่วโลกก็กลายเป็นอยู่ในรูปเงินสเตอร์ลิงมากขึ้น
ความน่าเชื่อถือในเงินปอนด์ได้รับการสนับสนุนจากการบริหารจัดการ ทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งดำเนินการในฐานะการเป็นผู้ให้กู้ยืมแหล่งสุดท้าย (Lender of Last resort) จักรวรรดิอังกฤษยังคงขยายอาณาเขตและการเงินอย่างต่อเนื่อง ในช่วงทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 19 เมล็ดพันธุ์แห่งการล่มสลายก็ปรากฏเด่นชัด โดยได้แรงหนุนจากปัจจัยอันคราสิกของ 1.ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง 2.ความไม่เท่าเทียมและความขัดแย้งที่เพิ่มขึ้น 3.การผงาดขึ้นของคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะเยอรมนีและสหรัฐอเมริกา
การเสื่อมถอย ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรในปี 1945 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของความมั่งคั่งและอำนาจ โดยสหรัฐฯผงาดขึ้นเป็นอาณาจักรที่โดดเด่นของโลก เช่นเดียวกับที่อังกฤษเคยเป็นหลังสงครามนโปเลียน ต้องใช้เวลา 20 ปีกว่าที่เงินปอนด์อังกฤษจะสูญเสียสถานะ การเป็นสกุลเงินสำรองระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ แต่เงินปอนด์ก็สูญเสียฐานะตั้งแต่สิ้นสุดสงคราม การเสื่อมถอยของเงินปอนด์อังกฤษมีความยืดเยื้อยาวนาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลดค่าเงินอย่างรุนแรงในหลาย ๆ ครั้ง
ยุโรปช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต้นทุนอันเลวร้ายอย่างมหาศาลของสงคราม ผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ต้องสร้างระเบียบอำนาจใหม่ กับโลกตามผลลัพธ์ที่ตามมา เพื่อให้แน่ใจว่าสงครามดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นอีก โดยปกติแล้วระเบียบโลกใหม่จะมุ่งเน้นไปตามผู้ที่ชนะ ซึ่งมักจะเป็นจักรวรรดิใหม่ที่กำลังรุ่งเรืองขึ้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เห็นได้ชัดว่าเป็นสหรัฐฯ
องค์ประกอบทางภูมิศาสตร์ที่สำคัญที่สุด ของระเบียบอำนาจหลังสงครามได้แก่ สหรัฐฯ การเป็นมหาอำนาจซึ่งทำให้มีสถานะเหมือนเป็นผู้ดูแลความสงบของโลก องค์การสหประชาชาติก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขข้อพิพาทระดับโลก สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในใจกลางของจักรวรรดิใหม่ที่กำลังรุ่งเรือง ในกรณีนี้คือ นิวยอร์ก โดยมีองค์กรที่มีอำนาจแกนหลักคือ คณะมนตรีความมั่นคงซึ่งควบคุมโดยผู้ที่ชนะสงคราม
องค์ประกอบทางการเงินที่สำคัญที่สุดของระเบียบโลกใหม่ได้แก่ ระบบการเงินเบรตตันวูดส์ ซึ่งกำหนดให้เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก IMF และธนาคารโลกถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนระบบการเงินโลกใหม่ นิวยอร์กมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการเงินใหม่ของโลก จากมุมมองของยุโรป แง่ที่สำคัญของระเบียบโลกใหม่คือ การเปลี่ยนดุลอำนาจจากที่มหาอำนาจยุโรป ที่เคยอยู่จุดสูงสุดไปสู่โลกที่พวกเขาสิ้นพลัง และถูกบดบังโดยมหาอำนาจใหม่ ซึ่งลดความสำคัญทุกรัฐในยุโรป
บทที่ 11 วัฏจักรรอบใหญ่
ของการรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของสหรัฐฯ และดอลลาร์
วัฏจักรรอบใหญ่ของการผงาดขึ้นของสหรัฐฯ ที่เริ่มต้นในศตวรรษที่ 19 เป็นการค่อย ๆ แซงหน้าสหราชอาณาจักรอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนเป็นจักรวรรดิที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก และการเสื่อมถอยลงในช่วงเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากเรื่องราวของสหรัฐฯ ในฐานะจักรวรรดิมหาอำนาจของโลก ยังอยู่ในช่วงกำลังเผยให้ปรากฏขึ้น และมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับโลกในปัจจุบัน
การผงาด สหรัฐฯผ่านกระบวนการปฏิวัติ และหลังการปฏิวัติเหมือนทั่วไป ซึ่งก่อให้เกิดระเบียบอำนาจภายในของประเทศ 1.ผู้นำที่เข้มแข็งที่รวมมือกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการควบคุม 2.กลุ่มดังกล่าวได้รับชัยชนะและรวบอำนาจการควบคุม 3.ผู้นำใหม่มีวิสัยทัศน์ที่ได้รับการสนับสนุนจากประชากร แต่ 4.ผู้นำใหม่แตกออกเป็นฝักฝ่ายที่มีความขัดแย้งว่า รัฐบาลควรทำงานอย่างไร เพื่อนำวิสัยทัศน์นั้นไปปฏิบัติ ในที่สุดกลุ่มเหล่านี้ 5.คิดระบบการควบคุมและวางไว้ในข้อตกลง (ในกรณีของสหรัฐฯตอนแรกนั้นอยู่ในข้อบังคับของสมาพันธ์และจากนั้นก็บรรจุในรัฐธรรมนูญ) 6.จัดตั้งส่วนต่าง ๆ ของรัฐบาล (เช่น ระบบเงินและเครดิต ระบบกฎหมาย ระบบนิติบัญญัติ การทหาร เป็นต้น) และ 7.ใส่คนเข้าไปในงานและทำให้มันดำเนินไปได้ดี สหรัฐฯทำสิ่งเหล่านี้ด้วยวิธีการที่สันติ และไม่เหมือนใครผ่านการเจรจา การเคารพข้อตกลงเกือบทั้งหมด และการออกแบบการกำกับดูแลที่ดี ซึ่งทำให้เป็นการเริ่มต้นที่ดี
จุดสูงสุดของอำนาจ เป็นไปตามบทแบบฉบับมาตรฐาน มหาอำนาจที่ชนะมาพบกันเพื่อกำหนดระเบียบโลกใหม่ กำหนดระบบเงินและเครดิตใหม่ด้วย ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นถูกขับเคลื่อนจากพลวัตของอำนาจดิบมากกว่า นั่นเป็นเพราะมีกฎหมายและมาตรฐานพฤติกรรมภายในประเทศ ในขณะที่อำนาจดิบระหว่างพวกเขามีความสำคัญมากที่สุด กฎหมาย กฎเกณฑ์และแม้แต่สนธิสัญญา และองค์กรอนุญาตโตตุลาการที่ตกลงร่วมกัน (เช่น สันนิบาตแห่งชาติ สหประชาชาติ และองค์การการค้าโลก) ไม่สำคัญเท่าไหร่ นั่นคือสิ่งที่ทำให้การมีกองทัพที่แข็งแกร่ง และพันธมิตรทางทหารที่แข็งแกร่งนั้นสำคัญมาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการทหารแย่งเงินของรัฐบาลไป จากการใช้จ่ายเพื่อโครงการทางสังคม และเนื่องจากเทคโนโลยีทางทหารต้องดำเนินไปพร้อมกับเทคโนโลยีของภาคเอกชน ความเสี่ยงทางทหารที่ใหญ่ที่สุดสำหรับมหาอำนาจก็คือ การที่พวกเขาแพ้สงครามด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี
ระบบการเงินและเศรษฐกิจหลังสงครามโลก สำหรับระบบการเงินและเศรษฐกิจแบบใหม่หลังสงคราม เกิดขึ้นแบบหนึ่งสำหรับค่ายที่นำโดยสหรัฐฯ และอีกแบบหนึ่งสำหรับค่ายที่นำโดยโซเวียต แต่ก็จะมีบางประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งมีสกุลเงินที่เป็นของตนเอง ซึ่งไม่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ตัวแทนจาก 44 ประเทศมารวมตัวกันในเมืองเบรตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเชียร์ในปี 1944 เพื่อสร้างระบบการเงินที่ผูกโยงเงินดอลลาร์เข้ากับทองคำ และผูกโยงสกุลเงินของประเทศอื่น ๆ เข้ากับดอลลาร์ ผลจากข้อตกลงเบรตตันวูดส์ทำให้เงินดอลลาร์กลายเป็นสกุลเงินสำรองชั้นนำของโลกนี้เป็นเรื่องปกติ เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้สหรัฐฯเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด และมีอำนาจมากที่สุด หลังจากสภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงหลังสงคราม ซึ่งเกิดเพียงสั้น ๆ จากการใช้จ่ายด้านการทหารที่ลดลง ทำให้สหรัฐฯเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความสงบสุข และเจริญรุ่งเรืองที่ยาวนาน ซึ่งเป็นไปตามปกติของการเริ่มต้นวัฏจักรรอบใหญ่
ในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่เคยประสบกับภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น พวกเขาจึงไม่ระวัง และปล่อยให้มันลามปามในช่วงท้ายของทศวรรษ การเติบโตของ GDP ที่แท้จริงอยู่ที่ประมาณ 2% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 14% อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ประมาณ 13% และการว่างงานอยู่ที่ประมาณ 6% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาราคาทองคำพุ่งขึ้น และสินค้าโภคภัณฑ์ยังคงขึ้นอยู่ในระดับเท่าเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น โดยให้ผลตอบแทนประมาณ 30% และ 15% ต่อปีตามลำดับ แต่เงินเฟ้อที่สูงทำให้ผลตอบแทนต่อปีของหุ้นเหลือเพียงเล็กน้อยที่ 5% ต่อปีและผลตอบแทนสำหรับพันธบัตรที่ 4% ด้วยความผันผวนเทียบเท่ากับหุ้น
ระบบหลังยุคเบรตตันวูดส์ หลังจากการยุติการผูกโยงเงินดอลลาร์และสกุลเงินอื่น ๆ กับทองคำในปี 1971 โลกได้เปลี่ยนไปสู่ระบบการเงินแบบหนุนด้วยความเชื่อมั่น และเงินดอลลาร์มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับทองคำ สกุลเงินอื่น ๆ หุ้น และในที่สุดก็เกือบทุกอย่างเช่นกัน เศรษฐศาสตร์และการเมืองมีการพลิกไปมาระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ด้วยความสุดขั้วที่แตกต่างกันไป เนื่องจากความเกินพอดีของแต่ละฝ่าย กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแบกรับได้ไหว และความทรงจำเกี่ยวกับปัญหาของอีกฝ่ายก็เลือนหายไปตามกาลเวลา มันเป็นเหมือนกับแฟชั่นที่ความกว้างของเนคไทและความยาวของกระโปรงเปลี่ยนไปตามกาลเวลา เมื่อมีความนิยมอย่างสุดขั้วอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรคาดหวังว่าอีกไม่นานจะมีความเคลื่อนไหวที่เทียบเคียงกัน แต่เป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม การยับยั้งเข้าสู่การเงินที่เข้มงวด ได้สร้างความเสียหายแก่ลูกหนี้อย่างสาหัส และลดทอนการกู้ยืมซึ่งทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอยครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
ตอนนี้สหรัฐฯอยู่ตรงไหนของวัฏจักรรอบใหญ่ สหรัฐฯผ่านวัฏจักรหนี้รอบใหญ่มาประมาณ 70% บวกลบไม่เกิน 10% สหรัฐยังไม่ได้ก้าวข้ามเส้นแบ่งที่จะเข้าสู่ระยะขั้นที่ 6 ซึ่งเป็นระยะสั้นของสงครามกลางเมือง /การปฏิวัติที่ความเคลื่อนไหวของความขัดแย้งเริ่มต้นขึ้น แต่ความขัดแย้งภายในสูงขึ้นเรื่อย ๆ การเลือกตั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศมีการแบ่งแยกเพียงใด ราว ๆ 50/50 กับแนวทางที่ดูแล้วไม่สามารถหาทางลงร่วมกันได้ ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า การแบ่งขั้วที่มากขึ้นนั้นมีผลเท่ากับ ความเสี่ยงที่มากขึ้นของสภาวะการชะงักงันทางการเมือง ซึ่งลดโอกาสของการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิวัติที่ช่วยแก้ปัญหาได้ รูปแบบใดรูปแบบหนึ่งของสงครามกลางเมือง/การปฏิวัติ
การยกระดับจากระยะขั้นที่ 5 ไปสู่ระยะครั้งที่ 6 หมุดหมายที่สำคัญมีอยู่ 3 ประการได้แก่ 1.กฎเกณฑ์ที่ไม่ได้รับการเคารพยอมรับ 2.ทั้งสองฝ่ายต่างโจมตีวิพากษ์วิจารณ์ด้วยอารมณ์ซึ่งกันและกัน 3.การนองเลือด เพื่อติดตามว่าสิ่งต่าง ๆ ดำเนินเป็นอย่างไรบ้าง ให้ตามดูสิ่งเหล่านี้ต่อไป
บทที่ 12 วัฏจักรรอบใหญ่
ของการรุ่งเรืองและเสื่อมถอยของจีนและหยวน
วัฒนธรรมของจีนซึ่งหมายถึง ความคาดหวังโดยธรรมชาติของผู้คนเกี่ยวกับวิถีที่ครอบครัวและชุมชนควรปฏิบัติต่อกัน และวิถีที่ผู้นำควรชี้นำและผู้ตามควรปฏิบัติตาม ซึ่งวิวัฒนาการมาเป็นเวลาหลายพันปี ผ่านการรุ่งเรืองขึ้นและเสื่อมถอยลงของหลาย ๆ ราชวงศ์ที่ปกครอง และการพัฒนาของปรัชญาขงจื้อ (confuclus) และลัทธิขงจื้อใหม่ ตลอดจนความเชื่ออื่น ๆ ในตอนนี้จีนมีความผูกโยงกับสหรัฐฯอย่างหลวม ๆ ในการเป็นมหาอำนาจด้านการค้า ผลผลิตทางเศรษฐกิจและนวัตกรรม และเทคโนโลยี อีกทั้งยังเป็นมหาอำนาจทางการทหาร และการศึกษาที่แข็งแกร่งและเติบโตอย่างรวดเร็ว จีนยังเป็นมหาอำนาจเกิดขึ้นใหม่ในด้านภาคการเงินด้วย แต่ยังตามหลังในแง่ของฐานะสกุลเงินสำรอง และการเป็นศูนย์กลางทางการเงิน
ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของจีน ในอดีตจีนได้ยืนหยัดในการเป็นหนึ่งในจักรวรรดิที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลก เริ่มต้นจากเกิดสงครามกลางเมือง แล้วจีนก็เริ่มรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งโดยเป็นไปอย่างช้า ๆ ในตอนแรกจากนั้นก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว วันนี้เป็นรองเพียงสหรัฐฯ และจ่อที่จะแซงหน้า ราชวงศ์จีนสำคัญ ๆ ตามปกตินั้นเป็นเช่นเดียวกับจักรวรรดิทั่วไปคือ มีอายุประมาณ 250 ปีบวกลบ 150 ปี และโดยมากแล้วจะเป็นไปตามรูปแบบเดียวกันของการผงาดขึ้นและการเสื่อมถอยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถเห็นได้จากวัฏจักร การจัดระเบียบอำนาจภายใน
ระยะขั้นที่ 1 ระเบียบอำนาจใหม่เริ่มต้นขึ้นและผู้นำใหม่รวบอำนาจได้ นำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 2 ระบบจัดสรรทรัพยากรและระบบข้าราชการ ถูกสร้างขึ้นและปรับปรุงพัฒนาซึ่งหากทำได้ดี จะนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 3 มีความสงบสุขและความรุ่งเรือง ซึ่งนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 4 มีค่าใช้จ่ายและก่อหนี้มากเกินไป และช่องว่างความมั่งคั่งและการเมืองที่ขยายกว้างมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 5 มีสภาวะการเงินที่ย่ำแย่และขัดแย้งรุนแรง ซึ่งนำไปสู่…
ระยะขั้นที่ 6 มีสงครามกลางเมือง/การปฏิวัติซึ่งนำไปสู่ระยะขั้นที่ 1 ซึ่งนำไปสู่ระยะขั้นที่ 2 ไปเรื่อย ๆ โดยวัฏจักรทั้งหมดจะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก
วัฏจักรทั่วไปเริ่มต้นด้วยผู้นำที่แข็งแกร่งซึ่งได้เข้าควบคุม และดำเนินการปรับปรุงพัฒนาสิ่งที่จำเป็นเพื่อสร้างอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ ประเด็นสำคัญเหล่านี้ยังเห็นได้จาก
- ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มขึ้น และปัญหาการคลังในช่วงของราชวงศ์ เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของการเสื่อมถอย ราชวงศ์ต่าง ๆ มักจะเริ่มต้นด้วยการถือครองที่ดิน แล้วความมั่งคั่งที่เท่าเทียมกันมากกว่า เนื่องจากการถือครองที่กระจุกในชนชั้นสูงของราชวงศ์เดิม ได้รับการจัดสรรใหม่ซึ่งช่วยป้องกันความขัดแย้งทางสังคม และช่วยเรื่องฐานะการคลัง
- ปัญหาการเงินเป็นตัวการร่วมของการล่มสลายของจักรวรรดิในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน และหมิง รัฐบาลพยายามดิ้นรนเมื่อรักษาปริมาณเงินเหรียญโลหะให้เพียงพอ และหันไปใช้วิธีพิมพ์เงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงคราม และภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือที่เกิดจากฝีมือมนุษย์
- คุณภาพของการปกครองและโครงสร้าง มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในช่วงต้นของราชวงศ์แต่ละยุค และจากนั้นก็พังลงไปตามเส้นทางของราชวงศ์ ในช่วงปลายของราชวงศ์ซ่ง หมิง และชิงระยะเวลาหลายปีที่การลงทุนภาครัฐนั้นต่ำเกินไป ทำให้จีนต้องเสี่ยงต่อความอดอยาก และภาวะน้ำท่วม
- ความขัดแย้งภายในมักเกิดขึ้นจากความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ประกอบกับช่วงเวลาที่เลวร้าย ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่สำคัญ และช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความเสียหายเฉียบพลัน มักเกิดขึ้นพร้อมกับการล่มสลายของราชวงศ์
- สภาวะที่เลวร้ายของช่องว่างทางความมั่งคั่งขนาดใหญ่ นำไปสู่การลุกฮือครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนทั่วไปก่อกบฏ ต่อความมากเกินพอดีของชนชั้นนำ
- การแยกโดดเดี่ยวและอิทธิพลทางวัฒนธรรมของขงจื้อ ที่สนับสนุนการศึกษามากกว่าด้านการค้า เทคโนโลยี และกำลังทางทหาร ทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ เทคโนโลยี และการทหารของจีนอ่อนแอลง ซึ่งทำให้จีนพ่ายแพ้หรือตกเป็นรองพวกป่าเถื่อนที่เข้มแข็งกว่า เช่น พวกมองโกล มหาอำนาจต่างชาติในสงครามฝิ่น และส่วนอื่น ๆ ของโลกในยุคโดดเดี่ยวของ เหมา เจ๋อตุง
ภูมิศาสตร์ทางกายภาพและธรณีวิทยาของจีน มีผลกระทบอย่างมากต่อการผงาดขึ้นและเสื่อมถอยของราชวงศ์ สิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือภูมิประเทศของจีนนั้นหลากหลายและมักจะผันแปร ตัวอย่างเช่น ทางเหนือมีอากาศที่หนาวเย็นกว่า ราบเรียบกว่า และแห้งกว่า ทางใต้มีภูเขามากกว่า อบอุ่นกว่า เปียกชื้นกว่า ซึ่งทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ของจีนมีผลผลิต พืชที่ไม่สอดคล้องกัน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้นำทั้งในอดีตและปัจจุบันของจีน เรียนรู้บทเรียนสร้างการป้องกันภัยจากธรรมชาติ และการเมืองเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นซ้ำ หรือนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่อาจยอมรับได้ ระยะเวลาการวางแผนที่ผู้นำจีนให้ความสำคัญนั้นยาวนานมากกว่า 1 ศตวรรษ เพราะอย่างน้อยนั่นคือระยะเวลาราชวงศ์ที่ดีจะดำรงอยู่ได้ พวกเขาเข้าใจดีว่าเส้นทางการเติบโตโดยปกติของการพัฒนา กินระยะขั้นตอนหลายทศวรรษที่แตกต่างกัน ซึ่งพวกเขาวางแผนไว้ ผู้นำจีนไม่เพียงแต่พยายามดำเนินการตามแผนของตนเท่านั้น พวกเขากำหนดเกณฑ์วัดที่ชัดเจน เพื่อใช้ตัดสินผลงานของพวกเขา และพวกเขาก็บรรลุเป้าหมายโดยส่วนใหญ่
บทเรียนของจีนและวิธีที่พวกเขาดำเนินไป วัฒนธรรมจีนพัฒนาขึ้นโดยต่อยอดมาจากประสบการณ์ที่ชาวจีนมี และบทเรียนที่พวกเขาได้เรียนรู้ จากในช่วงเวลานับพันปี สิ่งเหล่านี้กำหนดไว้ในปรัชญาว่า สิ่งต่าง ๆ ทำงานอย่างไร และมีวิธีใดที่ได้ผลที่สุดในการจัดการกับความเป็นจริง ประเทศจีนโดยพื้นฐานแล้วเป็นที่ราบขนาดใหญ่ ล้อมรอบด้วยพรมแดนธรรมชาติขนาดใหญ่ (ทะเลและภูเขา) โดยมีประชากรจำนวนมากกระจายอยู่พื้นที่ราบนี้ โลกส่วนใหญ่ของจีนถูกล้อมด้วยพรมแดนเหล่านั้น และสงครามส่วนใหญ่ก็เป็นการต่อสู้เพื่อควบคุมจีนนั่นเอง ส่วนใหญ่ก็เป็นในหมู่ชาวจีนด้วยกันเอง แม้ว่าบางครั้งจะเป็นการสู้ระหว่างผู้รุกรานต่างชาติกับชาวจีนด้วยก็ตาม ปรัชญาการทหารแบบดั้งเดิมของจีนสอนว่า วิธีที่ดีที่สุดของการชนะสงครามไม่ใช่การต่อสู้ แต่ด้วยการพัฒนาพลังของตนอย่างเงียบ ๆ จนถึงจุดที่เพียงแค่แสดงออกมาก็จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามยอมจำนน
ประวัติศาสตร์ด้านการเงินและเศรษฐกิจของจีน จีนได้ผ่านวัฏจักรเงิน เครดิต เศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งดำเนินอย่างมายาวนานหลังจากที่จีนคิดค้นเงินกระดาษในศตวรรษที่ 9 จนกระทั่งได้มีการนำเงินหยวนมาใช้ในปลายศตวรรษที่ 19 โลหะเงินเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ ในระดับสากล แม้ว่าบางครั้งจะต้องใช้ทองคำด้วยก็ตาม การทำความเข้าใจเกี่ยวกับระบบต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับจีน เนื่องจากระบบเหล่านี้มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปมาระหว่างกันบ่อยครั้ง และช่วยให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองหรือความพินาศในช่วงเวลาต่าง ๆ กัน ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการระบบเหล่านี้ แผนภาพยังคงเป็นตัวชี้วัดอย่างกว้าง และเพียงเพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนมีระบบการเงินที่หลากหลาย เช่นเดียวกับส่วนอื่น ๆ ของโลกเท่านั้น และพวกมันดำเนินไปในลักษณะโดยพื้นฐานเดียวกัน ที่สำคัญที่สุดคือวัฏจักรที่เงินที่จับต้องได้ ถูกละทิ้งไปเนื่องจากปัญหาหนี้ที่นำไปสู่สภาวะเงินเฟ้อ ภาวะเงินเฟ้อรุนแรง และในที่สุดก็กลับมาเป็นเงินที่จับต้องได้อีกครั้ง
จากปี 1800 จนกระทั่งปัจจุบัน ความเสื่อมถอยของจีนหลังปี 1800 เริ่มขึ้นเมื่อ ราชวงศ์สุดท้ายของจีน (ราชวงศ์ชิง) เสื่อมถอยและอ่อนแอในขณะเดียวกัน อังกฤษและประเทศตะวันตกอื่น ๆ บางประเทศแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งทำให้อังกฤษและนายทุนนักล่าอาณานิคมรายอื่น ๆ เข้าควบคุมเศรษฐกิจของจีนมากขึ้น ฐานะการเงินและระบบการเงินของจีนพังทลายลง ภายใต้ภาระหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้ และการพิมพ์เงินที่ทำให้มูลค่าของมันพังลง มีการก่อจลาจลในประเทศและสงครามกลางเมืองครั้งใหญ่ นั่นคือการเสื่อมถอยอันรุนแรงในวัฏจักรรอบใหญ่ ซึ่งความแข็งแกร่งที่สำคัญ ๆ ทุกด้านร่วงลงไปด้วยแรงส่งร่วมกันของมันเอง ที่ดำเนินไปตั้งแต่ประมาณปี 1840 จนถึงปี 1949
การสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 นำไปสู่การส่งกลับชาวต่างชาติส่วนใหญ่ในจีน ต้นยุคปี 1800 เป็นช่วงเวลาที่อังกฤษรุ่งเรือง และขยายตัวไปทั่วโลก ซึ่งทำให้จักรวรรดิอังกฤษที่ผงาดขึ้นนี้เข้ามาติดต่อกับจีนมากขึ้น ซึ่งกองทัพเรืออังกฤษที่เหนือกว่าทางเทคโนโลยี ได้เอาชนะชาวจีนในปี 1839-42 ทำให้อังกฤษกำหนดสนธิสัญญาที่ให้จีนยกฮ่องกงแก่อังกฤษ และเปิดท่าเรือชาวจีนจำนวนมาก โดยเฉพาะเซี่ยงไฮ้ให้กับพ่อค้าจากอังกฤษ เช่นเดียวกับประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ในสนธิสัญญาฉบับต่อ ๆ มา ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การสูญเสียพื้นที่ส่วนใหญ่ ทางตอนเหนือของจีนให้กับรัสเซียและญี่ปุ่น และการสูญเสียพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าไต้หวันให้แก่ญี่ปุ่น ซึ่งก่อให้เกิดความเสื่อมถอยที่ส่งผลซึ่งกันและกัน และสร้างแรงส่งด้วยตัวมันเอง จนสุดท้ายเรียก ศตวรรษแห่งความอัปยศ ช่วงเวลานั้นมีบทบาทสำคัญในการกำหนดมุมมองของผู้นำจีน เหมา เจ๋อตุง ซึ่งมองว่าระบบทุนนิยมเป็นระบบที่บริษัทต่าง ๆ แสวงหาผลกำไรผ่านลัทธิจักรวรรดินิยม เช่น ผ่านการควบคุมและแสวงหาประโยชน์จากประเทศต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่อังกฤษและมหาอำนาจด้านทุนนิยมอื่น ๆ ทำกับจีน
เข้าสู่ยุคแนวคิดแบบมาร์กซ์และเลนิน ทฤษฎีระบบที่สำคัญที่สุดของมาร์กซ์เรียกว่าปรัชญาวัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical Materialism) กล่าวโดยสรุปคือ วัตถุนิยมวิภาษวิธีเป็นระบบสำหรับการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยการสังเกต และการมีอิทธิพลต่อความขัดแย้งของสิ่งที่ตรงข้าม ซึ่งก่อให้เกิดการดิ้นรนต่อสู้ เมื่อได้รับการแก้ไขแล้วก็จะนำมาซึ่งความก้าวหน้า มาร์กซ์มุ่งหมายหลักการนี้ให้ใช้ได้กับทุกสิ่ง ความขัดแย้งและการดิ้นรนต่อสู้ระหว่างชนชั้น ที่ปรากฏชัดในความขัดแย้งระหว่างทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างมากมายของหลักการนี้ เหมา เจ๋อตุง ชอบแนวทางของมาร์กซ์-เลนิน ซึ่งการบรรลุผลตามอุดมคติของคอมมิวนิสต์นั้น เกิดขึ้นในช่วงท้ายของกระบวนการวิวัฒนาการที่ยาวนานมาก เติ้ง เสี่ยวผิง ในปี 1986 ซึ่งเขากล่าวว่าระบบทุนนิยมที่นำมาใช้กับลัทธิคอมมิวนิสต์นั้นเข้ากันไม่ได้ จนถึงตอนนี้ระบบทุนนิยมในจีนหรือที่อื่นกำลังชนะการแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการผสมผสานระหว่างลัทธิคอมมิวนิสต์และลัทธิทุนนิยมของจีน ได้สร้างผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจที่น่าทึ่งในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา
การผงาดขึ้นตั้งแต่ปี 1949 จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะเป็นการอธิบายที่เรียบง่ายมากเกินไปสักหน่อย แต่สามารถนึกถึงวิวัฒนาการของจีนได้ตั้งแต่ 1949 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นเป็น 3 ระยะ คือ
- ยุค เหมา เจ๋อตุง ตั้งแต่ปี 1949 ถึง 1976
- ยุค เติ้ง เสี่ยวผิง และผู้สืบทอดอำนาจของเติ้งตั้งแต่ปี 1978-2012 เมื่อ สี จิ้นผิง ขึ้นสู่อำนาจ
- ยุค สี จิ้นผิง ตั้งแต่ปี 2012 จนถึงปัจจุบัน
แต่ละช่วงขับเคลื่อนให้จีนนำไปตามเส้นทางแห่งการพัฒนาระยะยาว โดยสร้างต่อจากความสำเร็จก่อนหน้านี้ ตั้งแต่ปี 1949 จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1976 เหมา เจ๋อตุง รวบอำนาจสถาปนาสถาบันของจีน หลักธรรมาภิบาลและโครงสร้างพื้นฐานของจีน และการปกครองจีนแบบจักรพรรดิคอมมิวนิสต์
เติ้ง เสี่ยวผิง และรัฐมนตรีของเขาปกครองจีนทั้งทางตรงและทางอ้อม จนกระทั่งเขาเสียชีวิตในปี 1997 ในช่วงนี้จีนเปลี่ยนไปใช้รูปแบบผู้นำแบบองค์รวมมากขึ้น เปิดรับโลกภายนอก
สี จิ้นผิง ขึ้นสู่อำนาจในปี 2012 ปกครองจีนให้มีความร่ำรวยมากขึ้น และมีอำนาจมากกว่าเดิม ซึ่งมีการก่อหนี้ที่สูงจนเกินไป มีการทุจริตเกิดขึ้นมากเกินไป และเป็นภัยกับสหรัฐฯมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาเร่งรัดการปฏิรูปเศรษฐกิจ รับมือกับความท้าทายในการพยายามควบคุมการเติบโตของหนี้ ในขณะเดียวกันก็ปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจัง สนับสนุนการสร้างเทคโนโลยีชั้นนำ และแสดงจุดยืนระดับโลกมากขึ้น
ระยะขั้นที่ 1 การสร้างฐานในปี 1949 ถึง 1976 ระหว่างการก่อตั้งจีนในปี 1949 และการเสียชีวิตของเหมา เจ๋อตุงในปี 1976 เศรษฐกิจจีนเติบโตค่อนข้างเร็ว ในอัตราเฉลี่ยต่อปีประมาณ 6% โดยมีอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีประมาณ 1-2% มีการสะสมเงินตราสำรองต่างประเทศได้ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์ สิ่งนี้แสดงถึงการพัฒนาที่ปานกลาง แต่จีนยังคงยากจน และมีความผันผวนมากมายตลอดทาง โจว เอินไหล ผู้ซึ่งเป็นนักปฏิรูป ต้องการสร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับสหรัฐฯมานานหลายทศวรรษแล้ว เพื่อต่อต้านการคุกคามของรัสเซีย และเพื่อยกระดับสถานทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ
เนื่องจากในปี 1971 มีความชัดเจนเป็นพิเศษว่าการสร้างความสัมพันธ์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของจีนและสหรัฐฯ ทั้งสองฝ่ายจึงได้เริ่มต้นสานความสัมพันธ์ ในระหว่างการเยือนของนิกสันและโจว เอินไหล ได้ลงนามในข้อตกลงที่เรียกว่าหนังสือแถลงการณ์เซี่ยงไฮ้ ซึ่งสหรัฐฯระบุว่ายอมรับว่าชาวจีนทั้งหมดของทั้งสองฝั่งของช่องแคบไต้หวันว่า มีเพียงจีนเดียวและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แม้จะมีการรับรองดังกล่าว แต่การรวมชาติกับไต้หวันยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องมากที่สุดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีน และการค้าแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ก็ได้เริ่มต้นขึ้น จากนั้นในเดือนมกราคมและกันยายนในปี 1976 โจว เอินไหลถึงแก่อสัญกรรมก่อน และต่อมาก็เป็นเหมาที่ถึงอสัญกรรม และจีนคอมมิวนิสต์ก็เผชิญกับวิกฤตการสืบทอดตำแหน่งครั้งแรกตั้งแต่ปี 1976 ถึง 1978 มีการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจระหว่างแก๊ง 4 สหายและกลุ่มนักปฏิรูป ฝ่ายปฏิรูปได้รับชัยชนะ และเติ้ง เสี่ยวผิงกลายเป็นผู้นำสูงสุดในปี 1978
ระยะขั้นที่ 2 เติ้งและผู้สืบทอดของเขามีความเข้มแข็งมากขึ้น เติ้งเสี่ยวผิงอายุ 74 ปี ผู้มีประสบการณ์โชกโชนตั้งแต่ปี 1978 จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 1997 นโยบายที่สำคัญที่สุดของเขาได้รับการถ่ายทอดด้วยวลีเดียว ปฏิรูปและเปิดกว้าง ปฏิรูปหมายถึงปฏิรูปตลาด โดยใช้ตลาดเพื่อช่วยจัดสรรทรัพยากร และสร้างแรงจูงใจให้กับผู้คน และเปิดกว้างหมายถึงการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพื่อเรียนรู้พัฒนาปรับปรุงและค้าขายแลกเปลี่ยน ทุนนิยมกลายเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิสต์แบบผสม
ในช่วงยุคโลกาภิวัฒน์นี้ ความสัมพันธ์แบบพึ่งพาอาศัยกันได้พัฒนาขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยชาวจีนผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยวิธีที่ประหยัดต้นทุนอย่างมาก และให้สหรัฐกู้ยืมเงินเพื่อสิ่งเหล่านี้ มันเป็นข้อตกลงยอดแย่สำหรับชาวอเมริกันที่เรียกว่า ซื้อตอนนี้จ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) และชาวจีนชอบข้อตกลงนี้ เพราะพวกเขาสะสมเงินออมในสกุลเงินสำรองของโลกเพิ่มขึ้นได้ เติ้งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 1997 ทำให้ประเทศจีนเปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ เมื่อเขาขึ้นสู่อำนาจ 90% ของประชากรดำรงชีวิตอยู่ในความยากจนคับแค้น ในช่วงเวลาที่เขาเสียชีวิต ตัวเลขความยากจนดังกล่าวลดลงมากกว่าครึ่ง
ระยะขั้นที่ 3 การเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการสิ้นสุดของโลกาภิวัตน์ในปี 2008 ถึงปัจจุบัน ยุคแห่งสันติภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และโลกาภิวัตน์เริ่มลดน้อยลง ทำให้เกิดยุคแห่งความขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจนในประเทศต่าง ๆ และระหว่างประเทศที่กำลังรุ่ง (จีน) กับมหาอำนาจโลก (สหรัฐฯ)
การขึ้นมาเป็นมหาอำนาจโลก ในปี 2012 สี จิ้นผิง ขึ้นสู่อำนาจและคัดเลือกคณะบริหารชุดใหม่ โดยเรียงตามลำดับซึ่งถูกกำหนดไว้แต่เดิม เริ่มมีสมาชิกโปลิตบูโรถูกเลือกเป็นกลุ่มแรก จากนั้นเป็นการเลือกรัฐมนตรี รัฐมนตรีผู้ช่วยว่าการ และผู้ใต้บังคับบัญชาระดับสูง จากนั้นแผนรอบแรกก็เริ่มขึ้น เช่นเดียวกับที่เมื่อผู้นำใหม่ส่วนใหญ่ขึ้นสู่อำนาจ มีความตื่นเต้นและความกระตือรือร้นอย่างมาก ที่จะเสริมสร้างทั้งหลักกฎหมาย ด้วยการกวาดล้างการทุจริต และเศรษฐกิจของจีนด้วยการเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และเพิ่มการปฏิรูปที่อิงกับตลาด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลสี จิ้นผิงได้ดำเนินนโยบายอย่างจริงจัง
เพื่อปฏิรูปและเปิดตลาดเศรษฐกิจของจีน บริหารจัดการการเติบโตหนี้ จากการให้สกุลเงินยืดหยุ่นมากขึ้น สนับสนุนผู้ประกอบการ และการตัดสินใจที่มุ่งเน้นตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่จีนต้องการเป็นผู้นำระดับโลก กำหนดกฎระเบียบที่สมเหตุสมผล ซึ่งดำเนินมาโดยองค์กรกำกับดูแลที่พัฒนามาอย่างดี สร้างขีดความสามารถในด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โลกาภิวัฒน์เกิดการย้อนกลับ และสงครามได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น
เริ่มจากสงครามการค้าและเศรษฐกิจ ขยายไปสู่สงครามเทคโนโลยี และสงครามภูมิรัฐศาสตร์ และล่าสุดสงครามเงินทุน ทั้งหมดนี้ยังคงค่อนข้างไม่รุนแรง เมื่อเทียบกับสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ แต่ควรเฝ้าดูเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงของจีนจากการโดดเดี่ยวไปสู่การเปิดกว้าง และจากลัทธิคอมมิวนิสต์แบบฮาร์ดคอร์มาเป็นการปฏิรูปตลาดและระบบทุนนิยม ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจีน โดยสรุป ยุคสมัยใหม่ของจีนได้นำไปสู่การปรับปรุงพัฒนา สภาวะความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐานที่รวดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ ตลอดจนการทะยานขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปัจจัยต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอาณาจักรที่ทรงอำนาจในทุก ๆ ด้านนั้น ตอนนี้จีนเป็นมหาอำนาจที่สำคัญ และกำลังแผ่ขยายอิทธิพล
บทที่ 13 ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐ – จีนและสงคราม
สถานการณ์วางตัวของคนอเมริกาและคนจีนที่เป็นอยู่ โชคชะตาและการปรากฏของวัฏจักรรอบใหญ่ ทำให้ทั้งสองประเทศและผู้นำของพวกเขา อยู่ในสถานะแบบที่พวกเขาเป็นอยู่ ในขณะนี้ มันนำพาสหรัฐผ่านความสำเร็จต่าง ๆ ที่ส่งเสริมร่วมกันในวัฏจักรรอบใหญ่ จนนำไปสู่ความมากเกินพอดี จนนำไปสู่ความมากเกินพอดีจนทำให้อ่อนแอลงในหลาย ๆ ด้าน ในทำนองเดียวกัน มันนำพาจีนไปสู่การถดถอยในวัฏจักรรอบใหญ่ จนนำไปสู่สภาวะที่เลวร้ายอย่างเกินกว่าที่จะทนรับได้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิวัติ และแรงส่งช่วงขาขึ้น ซึ่งจีนกำลังเป็นอยู่ ดังนั้น สหรัฐฯดูเหมือนจะเสื่อมถอยลง และจีนดูเหมือนจะผงาดด้วยเหตุผลตามแบบฉบับทั้งหมด
ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่า ความสำเร็จของทุกประเทศขึ้นอยู่กับการรักษาอิทธิพลที่เข้มแข็งไว้ โดยไม่เกิดความมากเกินไป จนนำไปสู่ความตกต่ำของประเทศ ประเทศที่มีความสำเร็จจริง ๆ สามารถทำเช่นนั้นได้อย่างยิ่งใหญ่ เป็นเวลา 200-300 ปี แต่ไม่มีประเทศใดทำได้ตลอดไป ประวัติศาสตร์สอนว่ามีสงครามหลัก ๆ อยู่ 5 ประเภทได้แก่ 1. สงครามการค้าเศรษฐกิจ 2. สงครามเทคโนโลยี 3. สงครามภูมิรัฐศาสตร์ 4. สงครามเงินทุน 5. สงครามทางการทหาร ขอเพิ่มอีก 2 คือ 6. สงครามด้านวัฒนธรรม 7. สงครามกับพวกกันเอง
สงครามเหล่านี้ดำเนินไปในระดับที่แตกต่างกัน มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรถูกเข้าใจผิดว่า เป็นความขัดแย้งเฉพาะแต่ละเรื่อง แต่ควรถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งที่สัมพันธ์ต่อกัน ซึ่งเป็นส่วนขยายของความขัดแย้งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในการเฝ้าดูเหตุการณ์เหล่านี้ ที่ดำเนินไปจำเป็นต้องสังเกต และพยายามทำความเข้าใจเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของแต่ละฝ่าย
สงครามการค้า/เศรษฐกิจ สงครามการค้าสามารถเปลี่ยนจากการโต้แย้งกันอย่างสุภาพ ไปสู่การคุกคามชีวิตได้ ขึ้นอยู่กับว่าคู่ต่อสู้อยากจะรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ยังไม่เห็นว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ดำเนินไปไกลมากนัก มีเพียงการใช้มาตรการอันคลาสสิคอย่างกำแพงภาษีนำเข้า และข้อจำกัดการนำเข้า นอกเหนือจากข้อพิพาททางการค้าแล้ว ยังมีข้อวิพากษ์วิจารณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 อย่างที่สหรัฐฯมีต่อการจัดการเศรษฐกิจของจีน คือ
- รัฐบาลจีนดำเนินนโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เป็นการแทรกแซงมากขึ้นในหลายด้าน โดยมุ่งจำกัดการเข้าถึงตลาดสำหรับการนำเข้าสินค้า บริการ และธุรกิจ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ ด้วยการสร้างแนวทางปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม
- จีนนำเสนอแนวทางที่สำคัญของรัฐบาล ทรัพยากร และด้านกฎระเบียบที่สนับสนุนอุตสาหกรรมของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมถึงนโยบายที่ออกมา เพื่อสกัดเค้นเอาเทคโนโลยีขั้นสูงจากบริษัทต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมที่ละเอียดอ่อน
- ชาวจีนกำลังขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งการขโมยบางส่วนเชื่อว่า ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และบางส่วนเชื่อว่าอยู่นอกเหนือการควบคุมโดยตรงของรัฐบาล
เมื่อสิ่งต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยดี มันเป็นเรื่องง่ายที่จะรักษาหลักคุณธรรมให้สูงไว้ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อการต่อสู้ดำเนินไปอย่างยากลำบาก มันจะกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น ที่จะสนับสนุนการกระทำที่เคยถือว่าผิดหลักคุณธรรมได้ ตามปกติแล้วส่วนที่อันตรายที่สุดของสงครามการค้า/เศรษฐกิจ เกิดขึ้นเมื่อประเทศใด ๆ ก็ตามมีการตัดขาดสินค้านำเข้าที่จำเป็นจากประเทศอื่น ๆ
การเคลื่อนไหวเพื่อตัดการเข้าถึงที่สำคัญจากทั้งสองฝ่าย จะส่งสัญญาณถึงการยกระดับครั้งใหญ่ ที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่เลวร้ายยิ่งกว่านี้มาก หากไม่เกิดขึ้นความเปลี่ยนแปลงจะดำเนินไปตามปกติ ดังนั้น ดุลการชำระเงินระหว่างประเทศจะเปลี่ยนแปลงไป ตามความสามารถในการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ของแต่ละประเทศเป็นหลัก
สงครามเทคโนโลยี สงครามเทคโนโลยีนั้นรุนแรงกว่าสงครามการค้า/เศรษฐกิจมาก เพราะใครก็ตามที่ชนะสงครามเทคโนโลยี ก็อาจจะชนะสงครามทางการทหาร และสงครามอื่น ๆ ทั้งหมดได้ด้วย ขณะนี้สหรัฐฯและจีนเป็นผู้เล่นที่โดดเด่นในภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก และภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขนาดใหญ่เหล่านี้คือ อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนในประเทศได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อรองรับชาวจีนในประเทศจีน และเพื่อกลายเป็นคู่แข่งในตลาดโลก ในขณะเดียวกัน จีนยังคงพึ่งพาเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างมาก นั่นทำให้สหรัฐเสี่ยงต่อการที่จีนเร่งพัฒนา และการแข่งขันทางเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น และก็ทำให้จีนเสี่ยงที่จะถูกตัดขาดการเข้าถึงเทคโนโลยีที่สำคัญ ๆ ด้วย
สงครามภูมิรัฐศาสตร์ อำนาจอธิปไตยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่อย่างไต้หวัน ฮ่องกง ทะเลตะวันออก และทะเลจีนใต้ อาจเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของจีน นอกเหนือจากนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ เกี่ยวกับอิทธิพลทั่วโลก สำหรับทั้งสหรัฐฯและจีนมีบางด้านที่แต่ละฝ่ายเห็นว่าสำคัญที่สุด โดยหลักแล้วอยู่บนพื้นฐานของความใกล้ชิด และ/หรือการได้มาซึ่งสิ่งที่จำเป็น และให้ความสำคัญเรื่องตลาดส่งออกในระดับที่รองลงมา ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอิทธิพลของจีนเหนือประเทศอื่น ๆ ได้แผ่ขยายออกไป ในขณะที่อิทธิพลของสหรัฐฯได้ลดลงเรื่อย ๆ สิ่งสำคัญคือ ต้องดูว่าความเป็นพันธมิตรเหล่านี้จะมีหน้าตาอย่างไร ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาดังที่เห็น ประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดจะถูกโค่นลง โดยกลุ่มพันธมิตรของประเทศที่มีอำนาจน้อยกว่า แต่โดยรวมแข็งแกร่งกว่า
สงครามเงินทุน เป้าหมายในสงครามเงินทุนคือการตัดศัตรูออกจากแหล่งเงินทุน เพราะไม่มีเงินเท่ากับไม่มีอำนาจ ระดับที่สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นสอดคล้องกับความรุนแรงของความขัดแย้ง สิ่งที่ถูกเรียกว่าการคว่ำบาตร และนำมาใช้ในปัจจุบันมีหลายรูปแบบ เนื่องจากเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินหลักในการค้าโลก กระแสเงินทุนและเงินทุนสำรองจึงเป็นสกุลเงินสำรองหลักของโลก ซึ่งทำให้สหรัฐฯอยู่ในสถานะที่น่าอิจฉา ที่สามารถพิมพ์เงินของโลก และคว่ำบาตรศัตรูได้
ขณะนี้สหรัฐมีคลังแสงของการคว่ำบาตร ซึ่งเป็นคลังแสงอาวุธที่ถูกเอาไปใช้มากที่สุด สิ่งต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปในขอบเขตที่สหรัฐฯและจีนอยู่ในสงครามเงินทุน และพัฒนาสกุลเงินและตลาดทุนของจีน จะเป็นผลเสียต่อสหรัฐฯและเป็นผลประโยชน์ต่อจีน หากสหรัฐไม่มีการโจมตีสกุลเงินและตลาดทุนของจีน เพื่อพยายามทำให้อ่อนแอลง และ/หรือจีนจะทำลายสกุลเงินและตลาดทุนของตนเอง โดยการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ทำให้ตลาดเหล่านี้มีความน่าสนใจน้อยลง สกุลเงินตลาดทุนของจีนน่าจะพัฒนา เพื่อเพิ่มความสามารถการแข่งขันกับตลาดสหรัฐฯได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
สงครามการทหาร มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะนึกออกว่า สงครามทางการทหารครั้งใหญ่ครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไร แม้ว่ามันอาจจะเลวร้ายกว่าที่คนส่วนใหญ่จินตนาการไว้มากก็ตาม นั่นเป็นเพราะอาวุธจำนวนมากได้รับการพัฒนาอย่างลับ ๆ และเนื่องจากความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการสร้างความเสียหายได้เติบโตขึ้นอย่างมาก ในสงครามทุกรูปแบบ สำหรับพื้นที่ที่อาจจะเกิดความขัดแย้งทางทหาร ไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้ และเกาหลีเหนือเป็นจุดที่ร้อนแรงที่สุด อินเดียและเวียดนามเป็นพื้นที่ถัดไป เมื่อประเทศต่าง ๆ มีความวุ่นวายครั้งใหญ่เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ประเทศฝ่ายตรงข้ามจะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่อย่างรุนแรง
ประวัติศาสตร์สอนว่า เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านของผู้นำและ/หรือมีผู้นำที่อ่อนแอ ในเวลาเดียวกันกับที่มีความขัดแย้งภายในครั้งใหญ่ ความเสี่ยงที่ศัตรูจะรุกคืบ ควรถูกประเมินว่าจะมีสูงขึ้น ตอนนี้จีนยังมีเวลาในมือ หากจำเป็นจะต้องมีสงคราม ก็เป็นประเด็นของจีนที่จะให้มีในภายหลัง เช่นอีก 5 ปีถึง 10 ปีข้างหน้า ที่จีนจะแข็งแกร่งขึ้นและพึ่งพาตนเองมากขึ้น สำหรับสหรัฐฯก็จะให้มีขึ้นเร็วกว่านั้น
สงครามและความท้าทายภายในทั้งของจีนและสหรัฐฯ มีความสำคัญและยิ่งใหญ่กว่าสงครามและความท้าทายจากภายนอก ซึ่งรวมถึงสงครามการเมืองภายในหมู่ผู้นำของประเทศนั้น ๆ และในทุกระดับของรัฐบาล สงครามระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เช่น คนรวยและคนจน คนชนบทและคนเมือง ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายหัวก้าวหน้า กลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงทางประชากร การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อื่น ๆ โชคดีที่อิทธิพลที่สำคัญที่สุดเหล่านี้ อยู่ในการควบคุมและสามารถวัดได้
Part 3 อนาคต
บทที่ 14 อนาคต
เกี่ยวกับวิธีการที่มองไปยังอนาคต แม้ว่าสิ่งที่ไม่รู้เกี่ยวกับอนาคตอาจจะมีมากกว่าสิ่งที่รู้ การรับมืออนาคตล้วนเป็นเรื่องของ 1.การรับรู้และการปรับตัวต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น ถึงแม้ว่ามันจะไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าก็ตาม 2.ความน่าจะเป็นสำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น 3.การรู้ให้มากพอเกี่ยวกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อปกป้องตัวเองจากอะไรที่ไม่สามารถยอมรับได้ แม้ว่าจะไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์แบบก็ตาม การรู้ถึงวิธีการที่สิ่งต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงในอดีต ทำให้พิจารณาความเป็นไปได้ว่า สิ่งที่คล้ายคลึงกันอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต
วิวัฒนาการ สิ่งที่สำคัญที่สุดจะวิวัฒนาการไปในแนวทางที่มองเห็นได้ง่าย และคาดการณ์ล่วงหน้าต่อไปได้ ดังนั้น มันจึงไม่ได้ยากที่จะรับรู้โดยคร่าว ๆ ได้ว่า น่าจะอยู่ตรงไหนในอนาคต ตราบเท่าที่ตัวเปลี่ยนเกมสำคัญ ซึ่งมักพบได้สักครั้งในรอบ 500 ปียังไม่มาถึง แม้การคาดการณ์จากอดีตมักจะเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล ก็ยังต้องเตรียมความพร้อมกับสิ่งที่ไม่คาดฝันด้วย เพราะอนาคตจะแตกต่างไปจากที่คาดไว้อย่างมาก การระบุ การทำความเข้าใจ และการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญ แม้ว่าจะไม่สามารถคาดการณ์มันได้ อย่างไรก็ตาม การพยายามคาดการณ์โดยมีตัวชี้วัดที่ดีเป็นตัวช่วยก็สำคัญเช่นกัน
วัฏจักรและการสะดุดระหว่างทาง แม้ว่าพวกมันจะแทบมองไม่เห็น เมื่อเทียบกับภาพมหาภาคขนาดใหญ่มาก ๆ แต่ก็สามารถสร้างความเสียหาย และคร่าผู้คนจำนวนมากได้ แค่ดูแผนภาพต่อไปนี้ที่แสดงถึงภาวะตกต่ำ ความมั่นคงที่ลดลง เสียชีวิตในสงคราม และการเสียชีวิตจากโรคระบาดในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา เพื่อให้ได้มุมมองบางอย่างเกี่ยวกับพวกมัน ช่วงเวลาเลวร้ายเหล่านั้นแย่ยิ่งกว่าที่เห็นเสียอีก
การคิดค้นใหม่ ๆ ของมนุษย์ชาติ นวัตกรรมและการคิดค้นริเริ่ม เป็นปัจจัยเฉพาะที่ทรงพลังที่สุดอย่างชัดเจนของสถานะประเทศ ความสามารถของทั้งคอมพิวเตอร์และมนุษย์จะพัฒนาขึ้นในอัตราที่เพิ่มขึ้น บางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความก้าวหน้า และการนำไปใช้ที่กว้างขึ้นของคอมพิวเตอร์ควอนตัมด้วย AI จะนำไปสู่ความก้าวหน้าที่เกินกว่าจะจินตนาการได้ ด้วยอัตราการเรียนรู้และพัฒนา และการเปลี่ยนแปลงของความมั่งคั่ง และอำนาจของโลก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยระดับที่แตกต่างกันไป ในช่วง 5-20 ปีข้างหน้า แต่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะรวมกันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุด ในด้านความมั่งคั่งและอำนาจเท่าที่โลกเคยเห็นมา การคำนวณประมวลผลด้านควอนตัมด้วย AIจะกลายเป็นการคำนวณแบบพื้นฐาน เหมือนตอนที่ใช้คอมพิวเตอร์ทำแทนลูกคิด ทำให้มนุษย์มีพลังในการมอง เข้าใจ และกำหนดสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น การคิดค้นใหม่ ๆ และการยกระดับขึ้นของมาตรฐานความเป็นอยู่อาจดียิ่งขึ้น อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น หากมนุษย์ชาติไม่ทำลายตัวเองไปเสียก่อน
การรับมือกับสิ่งที่รู้และสิ่งที่ไม่รู้ การระบุและการกำจัดกรณีที่เลวร้ายที่สุด เกินกว่าจะรับไหวออกไปเป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรก นั่นเป็นเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเล่นเกมทั้งชีวิตและตลาดคือ การไม่ถูกทำให้ต้องออกจากเกมเสียก่อน
การกระจายความเสี่ยงแม้ว่ามันจะดูเหมือนกลยุทธ์การลงทุน แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นกลยุทธ์ด้านวิธีที่เก่าแก่ และเป็นที่ยอมรับว่าดีต่อชีวิต หลักการนี้ช่วยชีวิตคนจำนวนมากมาย เมื่อสิ่งต่าง ๆ เลวร้ายลง และเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญที่สุด
ยึดความสุขในอนาคตมาก่อนความสุขฉาบฉวย แล้วจะได้สิ่งที่ดีกว่าในอนาคต
รายล้อมตัวเองเพื่ออยู่ท่ามกลางคนที่ฉลาดที่สุด ที่สามารถหาเจอแล้วจะสามารถทดสอบความคิดแบบเข้มข้น และเรียนรู้จากพวกเขา
ด้วยหลักการต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ได้ผลลัพธ์เชิงบวกมากมาย เมื่อเทียบกับผลลัพธ์เชิงลบที่ค่อนข้างน้อย และมีอนาคตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะเจอการสะดุดระหว่างทางก็ตาม ความรู้สึกสบายใจที่จะได้รับหลักการเหล่านั้นไป หรือปฏิเสธมันได้ตามที่ต้องการ สิ่งสำคัญที่สุดเรียนรู้เกี่ยวกับบทเรียนในอดีต ที่จะช่วยให้รับมือกับอนาคตได้อย่างไม่ตื่นตระหนก