หลังจากที่เราได้เรียนรู้เกี่ยววิธีการประเมินมูลค่าหุ้นทั้งแบบ DDM และ DCF ไปแล้ว คราวนี้จะเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในทั้ง 3 วิธี นั่นก็คือวิธีการเปรียบเทียบอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ หากเรามีตัวเลขอัตราส่วนทางการเงิน เช่น P/E เพียงหนึ่งตัวและปีเดียว เราจะไม่สามารถประเมินได้เลยว่าหุ้นนั้นถูกหรือแพงถ้าไม่มีการเปรียบเทียบ เนื่องจากแต่ละอุตสาหกรรมมีตัวเลขอัตราส่วนที่เหมาะสมไม่เท่ากัน โดยเราสามารถเปรียบเทียบอัตราส่วนได้ทั้งกับค่าในอดีตของบริษัทเดียวกัน หรือเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีรูปแบบสินค้าและบริการใกล้เคียงกัน

อัตราส่วนทางการเงินสำหรับประเมินมูลค่า

โดยส่วนใหญ่เราจะใช้อัตราส่วนราคา (Price multiples) มาใช้ประเมินมูลค่าหุ้น ประกอบด้วย:

  • P/E ratio เป็นสัดส่วนระหว่างราคาหุ้นกับกำไรต่อหุ้น
  • P/S ratio เป็นสัดส่วนระหว่างราคาหุ้นกับยอดขายต่อหุ้น
  • P/BV ratio เป็นสัดส่วนระหว่างราคาหุ้นกับมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น
  • P/CF ratio เป็นสัดส่วนระหว่างราคาหุ้นกับกระแสเงินสดจากการดำเนินงานหรือกระแสเงินสดอิสระต่อหุ้น

ตามปกติเราจะใช้ P/E ratio เป็นตัวหลักในการประเมินมูลค่า เนื่องจากเป็นสัดส่วนของราคาต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

ค่า P/E คำนวณจากพื้นฐาน

นอกจากค่า P/E ที่เราคำนวณตรงๆจากราคากับกำไรต่อหุ้นแล้ว เราสามารถหา P/E ที่สะท้อนมาจากพื้นฐานของหุ้น (Justified P/E) ได้จาก Gordon growth model ที่เคยอธิบายเอาไว้ในบทความก่อนๆ

ค่า PE คำนวณจากพื้นฐาน

เราสามารถนำค่า Justified P/E นี้มาเทียบกับ Forward P/E โดยหาก Justified P/E มีค่ามากกว่า หมายความว่าราคาหุ้นถูกว่าราคาเหมาะสม

Premium สิ่งที่ต้องระวังในการเทียบอัตราส่วน

นอกจากเราต้องเปรียบเทียบหุ้นที่มีรูปแบบสินค้าและบริการที่ใกล้เคียงกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ Premium ที่นักลงทุนให้กับแต่ละบริษัท ตามปกติแล้วบริษัทที่มีความสามารถในการแข่งขันหรือมีข้อได้เปรียบสูงกว่ามักจะมี Premium สูงกว่าด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น BH ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีการบริการลูกค้าระดับบน ทำให้บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรมากกว่ากว่ารพ.เอกชนอื่นๆอย่างเช่น CHG เป็นต้น ซึ่งการที่ BH มีค่า P/E สูงกว่ารพ.อื่นอาจไม่ได้แปลว่า BH จะมีราคาแพงกว่าเสมอไป

วิธีการเปรียบเทียบนี้เป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากความง่ายในการประเมินมูลค่าเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ แต่ก็มีข้อเสียเปรียบตรงที่เราอาจไม่สามารถหาบริษัทที่ใกล้เคียงกันมาเปรียบเทียบได้ และไม่ได้แสดงถึงระดับหนี้สินของบริษัทที่บางบริษัทอาจมีการกู้เงินมาจำนวนมากและทำกำไรได้สูง แต่มีความเสี่ยงที่สูงกว่า อีกทั้งการประเมินว่าเป็นหุ้นถูกก็ไม่สามารถบอกได้ว่าจะเป็นหุ้นที่ดีน่าลงทุน จำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย