เงินสงเคราะห์ (Pension) คือค่าชดเชยที่บริษัทจ่ายให้กับพนักงานเพื่อเป็นการตอบแทนที่ทำงานให้กับบริษัท แบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆคือ แผนการสมทบเงิน (Defined contribution plan) และแผนผลประโยชน์ (Defined benefit plan)
Source: https://equable.org/pension-basics-unfunded-liabilities-aka-pension-debt/
แผนการสมทบเงิน (Defined contribution plan) ในประเทศไทยคนจะรู้จักกันดีในชื่อกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident funds) เป็นเงินที่นายจ้างจะสมทบเงินให้กับบัญชีสำหรับเกษียณของพนักงานในแต่ละงวด ซึ่งในแต่ละประเทศและแต่ละบริษัทอาจมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น ระยะเวลาทำงาน, กำไรที่บริษัททำได้, หรือแม้แต่อายุของพนักงาน แต่สำหรับประเทศไทย บริษัทโดยส่วนใหญ่จะสมทบให้ตามจำนวนที่พนักงานออมเงินเข้ากองทุน (ในปริมาณที่จำกัด) ดังนั้นการบันทึกลงในงบการเงินบริษัทจึงบันทึกเป็นเพียงรายจ่ายเงินสมทบ (Contribution expense) ใน Income statement และไม่ก่อนให้เกิดหนี้สินใน Balance sheet แต่อย่างใด
แผนผลประโยชน์ (Defined benefit plan) เป็นแผนจ่ายเงินสงเคราะห์ให้กับพนักงานหลังจากที่พนักงานเกษียณอายุไปแล้ว ซึ่งจำนวนที่จ่ายมักจะขึ้นกับจำนวนปีที่พนักงานทำงานให้บริษัท และเงินเดือนสุดท้ายของพนักงาน ตัวอย่างเช่น หากพนักงานมีเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ 100,000 บาท ได้เงินผลประโยชน์หลังเกษียณ 2% ของเงินเดือนสุดท้ายในอายุการทำงานทุกๆ 1 ปี ถ้าทำงานในบริษัทมาเป็นเวลา 20 ปี ก็จะได้รับเงินจำนวน 100,000 x 2% x 20 = 40,000 บาทต่อเดือนหลังจากที่เกษียณไปจนเสียชีวิตนั่นเอง จะเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่บริษัทต้องจ่าย จึงมีเพียงบริษัทส่วนน้อยที่มีแผนแบบนี้
บริษัทที่มีแผนผลประโยชน์โดยปกติแล้วจะตั้งกองทุนในนามนิติบุคคลอื่นแยกออกไป เพื่อลงทุนและจ่ายเงินให้พนักงานโดยเฉพาะ และการบันทึกงบการเงินจะมีความซับซ้อนกว่าแผนการสบทบเงิน เนื่องจากบริษัทต้องคาดการณ์จำนวนเงินที่ต้องจ่ายในอนาคต ถ้าหากมูลค่าสินทรัพย์ที่ใช้ลงทุนสูงกว่าประมาณการเงินที่จะต้องจ่าย เรียกว่ามีเงินทุนเกิน (Overfunded) ซึ่งมูลค่าส่วนเกินบันทึกเป็นสินทรัพย์เงินสงเคราะห์สุทธิ (Net pension asset) แต่ถ้าประมาณการเงินที่ต้องจ่ายสูงกว่าสินทรัพย์ที่มีก็จะเรียกว่ามีเงินทุนขาด (Underfunded) และมูลค่าที่ขาดบันทึกเป็นหนี้สินเงินสงเคราะห์สุทธิ (Net pension liability)
เนื่องจากหนี้สินจากแผนผลประโยชน์เป็นหนี้สินระยะยาว นักลงทุนจึงต้องใช้ Solvency ratio ในการวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้สินระยาวของบริษัท แบ่งเป็น Leverage ratios และ Coverage ratios
Leverage ratios บ่งบอกถึงสัดส่วนหนี้สินที่บริษัทมีเทียบกับเงินทุนมีอัตราส่วนหลักๆดังนี้:
Debt-to-assets ratio = Total debt / Total assets
Debt-to-capital ratio = Total debt / (Total debt+Total equity)
Debt-to-equity ratio = Total debt / Total equity
Financial leverage ratio = Average total assets / Average total equity
อัตราส่วนทั้งหมดนี้สามารถตีความได้ว่า ยิ่งมีค่าสูง ยิ่งมีการใช้ Leverage มาก ซึ่ง Debt ในสูตรประกอบด้วยหนี้สินที่มีดอกเบี้ย (Interest-bearing debt) เท่านั้น ไม่รวมหนี้สินอื่นๆที่ไม่มีดอกเบี้ย
Coverage ratios เป็นการวัดความสามารถในการชำระหนี้ โดยใช้กำไรที่บริษัทสามารถทำได้เทียบกับดอกเบี้ยจ่าย มีอัตราส่วนหลักๆดังนี้:
Interest coverage ratio = EBIT / Interest expense
Fixed charge coverage ratio = (EBIT + Lease payments) / (Interest expense + Lease payments)
Fixed charge coverage ratio เป็นอัตราส่วนที่กว้างกว่า Interest coverage ratio เหมาะกับบริษัทที่มีการเช่าสินทรัพย์ในปริมาณที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากถ้ามีการจ่ายค่าเช่าในปริมาณมาก จะทำให้อัตราส่วนมีค่าต่ำกว่า Interest coverage ratio นั่นเอง
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Non-Current Liabilities (Part 1) บทนำ
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Non-Current Liabilities (Part 2) Discount and Premium Bonds
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Non-Current Liabilities (Part 3) Bond Fair Value Reporting
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Non-Current Liabilities (Part 4) Lease
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Non-Current Liabilities (Part 5) Pension