หากพูดถึงโลกของการลงทุน หลายคนมักจะนึกถึงการซื้อขายหุ้นผ่านแพลตฟอร์มตัวกลางที่มีกฎข้อบังคับชัดเจน อย่างที่ใกล้ตัวกับนักลงทุนไทยมากที่สุด คงหนีไม่พ้น Streaming ที่เป็นแพลตฟอร์มภายใต้ การดูแลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

แต่ในอีกมุมหนึ่ง การลงทุนไม่ได้ถูกจำกัดเพียงแต่การซื้อขายหลักทรัพย์ที่เป็นทางการเท่านั้น ยังมีการซื้อขายที่เรียกว่า Over-the-Counter (OTC) หรือการซื้อขายนอกตลาด แล้ว การซื้อขายที่ว่านี้ เป็นยังไง ลองไปดูกันต่อเลย

การซื้อขายนอกตลาด หรือ OTC คือ การที่นักลงทุนตกลงที่จะซื้อขายหลักทรัพย์กันเอง ทั้งการส่งมอบ ชำระเงิน โดยไม่ได้ผ่านตัวกลางที่เป็นทางการแต่อย่างใดเลย

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันมากขึ้น เช่น หลักทรัพย์ A มีกำหนดที่จะเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ หากใครมีหลักทรัพย์ A อยู่ ต้องทำการขายในตลาดหลักทรัพย์ให้ทัน หากใครขายไม่ทัน ก็จะต้องถือใบหุ้น A แล้วไปหาผู้ซื้อข้างนอกตลาดด้วยตนเอง

อาจเป็นการโพสต์ในอินเทอร์เน็ต หรือหาจากคนรู้จักต่าง ๆ ซึ่งวิธีการหาคนซื้อ ก็ไม่ได้มีกฎเกณฑ์อะไรตายตัว แม้ราคาซื้อขาย ก็ยังต้องกำหนดขึ้นมาเอง ด้วยการทำแบบนี้ทำให้มีช่องโหว่อื่นอีก

ทั้งด้านความโปร่งใสของข้อมูลที่ผู้ซื้อได้รับจากผู้ขาย ทำให้การตัดสินใจลงทุนมีโอกาสที่จะถูกหลอกลวง

อีกทั้งยังมีช่องโหว์ที่สำคัญ คือสภาพคล่องที่ตํ่า ทำให้เกิดการซื้อขายที่มีราคาผันผวน การที่จะต้องรีบขายในระยะเวลาอันสั้น จะเป็นไปได้ยาก แถมยังมีโอกาสขาดทุนจำนวนมากอีกด้วย

เหรียญก็มี 2 ด้านเสมอ ในช่องโหว่ที่เกิดขึ้น ก็จะมีข้อดีของการซื้อขายนอกตลาดอยู่

โดยการซื้อขายนอกตลาด มีความยืดหยุ่นมากกว่าการซื้อขายที่ผ่านตัวกลางที่มีกฎระเบียบชัดเจน เนื่องจาก นักลงทุนสามารถซื้อขายสินทรัพย์ได้หลากหลาย ที่ยังไม่มีในตลาดปกติ ซึ่งอาจแลกมาพร้อมกับโอกาสที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

อย่างการเข้าไปลงทุนในบริษัทที่ยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ก็อาจเป็นการตัดสินใจที่ดี หากบริษัทประสบความสำเร็จขึ้นมา ราคาที่เราเข้าไปตกลงซื้อ ก็คงยังไม่สูง แต่เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว ก็อาจได้กำไรหลายเด้งกันเลยทีเดียว

สุดท้ายการซื้อขายนอกตลาด หรือ OTC ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่นักลงทุนต้องประเมินความเสี่ยงและพิจารณาโอกาสที่จะได้รับด้วยนะ นอกจากนี้ยังควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและวางแผนการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถพบกับโอกาสจากการซื้อขายนอกตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ