สรุป Money Lecture

สั่งซื้อหนังสือ Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต ได้ที่นี่ : คลิ๊ก

Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต

บทที่ 1 เงินคือสิ่งสำคัญของชีวิต

ปฐมนิเทศ

เราใช้เวลาประมาณหนึ่งส่วนสี่ของชีวิตกับการเรียนหลายสิบปี ตั้งแต่ประถมวัย ถึงมัธยม จรดอุดมศึกษา วิชาบริหารการเงินเป็นสิ่งที่ตกตะกอนได้จากวิชาเรียนน้อยมาก หรืออาจเรียกได้ว่าน้อยมากที่สุด คุณครูมักหลงลืมวิชาเกี่ยวกับเงินจนหมดสิ้น แม้เป็นเรื่องเงินง่าย ๆ พวกเรากลับตกไม้ตาย เรากับเงินเป็นสิ่งต้องห้าม ไม่มีใครใส่ใจจะพูดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจัง การเรียนรู้เรื่องเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นความรู้ที่เรียนเพียงครั้งเดียวแต่ใช้ได้ตลอดไป

ทำไมเราต้องรู้เรื่องเงิน

ในวิชาบริหารธุรกิจหรือการลงทุนที่ว่าด้วยการก่อตั้งธุรกิจ หัวใจสำคัญของบริษัทและพันธกิจของหุ้น เราเข้าใจเหตุผลอย่างชัดเจนก็จะตัดสินได้ว่าสิ่งไหนจำเป็น สิ่งไหนไม่จำเป็น การบริหารการเงินส่วนบุคคลต้องเริ่มต้นที่จุดประสงค์ก่อน ว่าจุดมุ่งหมายของเราคืออะไร หัวใจหลักของการทำธุรกิจมี 3 ข้อได้แก่ 1. สร้างกำไร 2. สร้างกระแสเงินสด 3. อยู่รอดได้ วิชาที่ว่าด้วยการบริหารเงินส่วนบุคคล ประเด็นที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องก็ให้ภาพถึงเป้าหมาย ของการบริหารเงินได้เช่นกัน

  1. สร้างกำไร ไม่ว่าจะเป็นบุคคลหรือบริษัท เป้าหมายพื้นฐานระดับแรกที่คำนึงถึงย่อมเป็นเรื่องกำไร หากไม่มีกำไรจะทำมาหากินเพื่ออะไร การกระทำควรเพิ่มมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ แน่นอนว่าบางช่วงอาจขาดทุน แต่โดยภาพรวมแล้วกำไรเป็นสิ่งสำคัญ

กำไรสุทธิ = รายได้ – ค่าใช้จ่าย

สมการนี้หมายความว่า หากเราหารายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายเรื่อย ๆ เงินเก็บหรือกำไรสะสมของเรา ก็จะพอกพูนและเพิ่มมูลค่ามากขึ้นในระยะยาว แต่ในทางตรงกันข้าม หากเราหารายได้ แล้วได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายเรื่อย ๆ ทุนรอนก็จะร่อยหรอจนหมดตัว สิ่งแรกที่เราต้องรู้คือเรามีกำไรหรือเปล่า นี่คือเหตุผลสำคัญที่เราต้องจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย การหากำไรนำไปสู่เป้าหมายในระยะยาวนั่นคือการเกษียณ การเรียนรู้วิธีบริหารเงิน จึงเป็นการทำเป้าหมายให้ชัดเจนจับต้องได้ และหาทางวางแผนจะไปให้ถึง

  1. สร้างกระแสเงินสด เมื่อไม่มีกระแสเงินสดให้ใช้ตอนนี้ ก็อาจอยู่ได้อีกไม่กี่วัน กระแสเงินสดจึงเป็นตัวแทนของสภาพคล่อง เป็นตัวแทนของความลื่นไหลสำคัญในชีวิต เราจะมุ่งหมายหาผลกำไรอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งสำคัญคือเราต้องบริหารกระแสเงินสดด้วย เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างไม่ติดขัด

กระแสเงินสดคงเหลือ = กระแสเงินสดเข้า – กระแสเงินสดออก

จากสมาการนี้ กระแสเงินสดคงเหลือในแต่ละเดือนไม่จำเป็นต้องเป็นบวกเสมอไป แต่โดยภาพรวมแล้ว กระแสเงินสดคงเหลือสะสมควรเป็นบวกเสมอ จึงควรแยกกำไรออกจากกระแสเงินสดเสมอ เพื่อเข้าใจการสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาว และเข้าใจสภาพคล่องที่เพียงพอ ในแต่ละช่วงเวลาเราบริหารกำไรให้สูงมาก ๆ กระแสเงินสดก็มักดีไปด้วย ข้อเท็จจริงนี้ถูกต้องในแง่ของการบริหารเงินของบุคคลธรรมดา

  1. อยู่รอดได้ เศรษฐกิจดี สภาพการเงินปกติ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าใครกำลังใช้ชีวิตอย่างประมาทหรือเปล่า

ความมั่งคั่งสุทธิ = สินทรัพย์ – หนี้สิน

สมการนี้ โดยพื้นฐานแล้วเราควรมีความมั่งคั่งสุทธิเป็นบวกเสมอ เพราะสภาพโครงสร้างการเงินที่ดี จะช่วยให้เราผ่านวิกฤติได้ การคำนวณหาความมั่งคั่ง จะช่วยให้เรามองตัวเองอย่างเป็นธรรมเสมอ ว่าเรามีความมั่นคงด้านฐานะทางการเงินมากแค่ไหน

เพื่อสำเร็จการศึกษา

หากเรียนรู้ตามหลักสูตรที่วางไว้แต่ละบท ย่อมได้ประเด็นทั้งการสร้างกำไร สร้างกระแสเงินสด และอยู่รอดได้แบบครบถ้วน ถ้าไม่ลองวางแผนการเงินอย่างจริงจัง ดูสักครั้งก็ไม่อาจวางแผนการเงินได้ดี

สำหรับคนที่อยากได้เกียรตินิยมอันดับ 1

หากหลงใหลไปกับความมหัศจรรย์ของตัวเลข สินทรัพย์ต่าง ๆ หรือเงินที่เคลื่อนไหวในบัญชี ก็สามารถศึกษาต่อไปได้ไม่จบสิ้น หากชอบเฉพาะการวางแผนการเงินส่วนบุคคล อาจลองหาหนังสือวิชาการด้านนี้มาอ่านเพิ่ม จุดสำคัญที่สุดในวิชานี้ จึงเป็นการปลุกไฟแห่งความชอบ ที่จะศึกษาด้านการเงินให้ตื่นขึ้น หากทำสำเร็จถือว่าหลักสูตรนี้บรรลุวัตถุประสงค์สูงสุดแล้ว

บทที่ 2 สมการที่เปลี่ยนแปลงทุกสิ่ง

สมการเปลี่ยนชีวิต

รายได้ = ค่าใช้จ่ายจำเป็น + เงินออมเงินลงทุน + ค่าใช้จ่ายตามต้องการ

หลักการตีความสมการที่เรียบง่ายคือ เมื่อมีรายได้เข้ามา เราก็เลือกใช้จ่ายไปตามลำดับ เริ่มจากใช้จ่ายจำเป็น เงินออมเงินลงทุน แล้วสิ้นสุดที่ค่าใช้จ่ายตามต้องการ นี่เป็นสมการตั้งต้นสำหรับการวางแผนการบริหารเงิน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว วางแผนการเงินเพื่อจะได้รู้ว่า ใช้ได้เท่าไรเก็บได้เท่าไหร่จึงจะพอ โดยจะตัดเงินออมกับเงินลงทุนก่อน แล้วค่อยนำไปใช้จ่ายตามชอบ หากยังใช้เหลืออีก ค่อยนำมาเก็บเพื่อลงทุนต่อไป

รายได้

รายได้ หมายถึง ผลประโยชน์ที่ตีค่าออกมาเป็นมูลค่าเชิงเศรษฐกิจได้ ก่อนจะวางแผนการเงินเราต้องแจกแจงรายได้ของตัวเองเสียก่อน นับแต่รายได้ต่อเดือน รายได้ต่อปี หรือรายได้ที่ได้เป็นครั้งคราว หลังจากนั้นจึงมาเฉลี่ยเป็นรายเดือน เพราะการทำสมการรายรับ-รายจ่ายต่อเดือน จะช่วยให้เห็นภาพได้ดีที่สุด รายได้ที่เขียนลงมา ควรเป็นรายได้ที่แน่นอนประมาณหนึ่ง หรือหากเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน ก็อาจเขียนให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด

ค่าใช้จ่ายจำเป็น

ค่าใช้จ่ายจำเป็น หมายถึง ค่าใช้จ่ายที่เราจำเป็นต้องจ่าย อาจเรียกว่าเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐานขั้นต่ำแต่ละเดือน คำว่าจำเป็นของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราควรหาคำตอบให้ได้ว่า จำเป็นของเราประกอบด้วยอะไรบ้าง หากจินตนาการว่าตกงานกะทันหัน เรายังต้องใช้เงินไปกับอะไร นั่นแหละคือค่าใช้จ่ายจำเป็น หากพบว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นมีมากจนแซงรายได้ไปแล้ว ต้องกลับไปตั้งคำถามว่า ค่าใช้จ่ายที่เขียนเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจริงหรือไม่ ปรับลดได้อีกหรือเปล่า สุดท้ายแล้วตัวเลขจะบอกเราเองว่าทำได้หรือไม่ หากลดได้พยายามลด แต่ถ้าลดไม่ได้แล้ว ต้องกลับไปแก้ปัญหาใหม่ ด้วยการหารายได้เพิ่ม จะได้มีเงินเหลือ ให้เรานำส่วนต่างไปทำอย่างอื่นได้ต่อไป

เงินออม

เงินออม หมายถึง เงินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องเงินต้นเป็นหลัก โดยเก็บไว้ใช้ในยามฉุกเฉินหรือจำเป็น เงินออมควรมีขอบเขตที่จำกัด ไม่น้อยไป ไม่มากไป ทุกคนควรมีเงินออมประมาณ 6-12 เท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็น เหตุผลก็คือหากมีวิกฤตกะทันหัน เช่น ตกงาน ธุรกิจไปไม่รอด หรือโรคระบาดจนปิดเมือง เราจะยังพอมีชีวิตรอดต่อไปอีก 6 – 12 เดือน ให้พอขยับขยายหาลู่ทางได้ ดังนั้นในช่วงแรกที่ยังมีเงินออมไม่ถึงเป้าหมาย เราต้องนำรายได้ที่หักด้วยค่าใช้จ่ายจำเป็น มาใส่ในกระปุกเงินออม จนเมื่อถึงระดับที่มีเงินออมตามเป้าหมายแล้ว เราถึงจะเปลี่ยนไปเป็นเงินลงทุน และค่าใช้จ่ายตามต้องการในลำดับต่อไป เงินออมจึงเป็นการเก็บเงินเพียงครั้งเดียวในช่วงสร้างเนื้อสร้างตัว เมื่อออมถึงเป้าแล้วก็ไม่ต้องออมสะสมเรื่อย ๆ ยกเว้นว่าเป้าหมายการออมของเราจะต่างไปจากเดิม

เงินลงทุน

เงินลงทุน หมายถึง เงินที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างผลตอบแทนภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม เงินก้อนนี้อาจนำไปใช้ซื้อสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ กองทุนรวม และคาดหวังผลตอบแทนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ส่วนต่างราคาสินทรัพย์ ดอกเบี้ย เงินปันผล และค่าเช่า เป็นต้น เวลาวางแผนการลงทุนคุณต้องมีความรู้พื้นฐานประมาณหนึ่ง

ค่าใช้จ่ายตามต้องการ

ค่าใช้จ่ายตามต้องการ หมายถึง ค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต เรียกว่าใช้ก็ได้ไม่ใช้ก็ได้ แต่การใช้อาจให้ความสุขมากกว่า ค่าใช้จ่ายตามต้องการ จึงเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเสริม ซึ่งควรเกิดขึ้นเมื่อเราหักค่าใช้จ่ายจำเป็น เงินออม และเงินลงทุนเรียบร้อยแล้ว

ความมั่งคั่งและส่วนต่อขยาย

  1. ลดรายจ่าย

การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือการปรับเป้าหมายทางการเงินให้สมเหตุสมผล เป็นการขยายความมั่งคั่งที่ดี ในระยะต้นต้องหาให้เจอว่าเรามีรายจ่ายใดมากเกินไปที่ลดได้หรือเปล่า หากลดเต็มที่แล้วจึงค่อยหาวิธีต่อไป

  1. เพิ่มรายได้

การเพิ่มรายได้มีทั้งเพิ่มจากงานที่ทำอยู่ และหารายได้เพิ่มเติมจากทางใหม่ ซึ่งเป็นการขยายความมั่งคั่งในระยะกลาง การเพิ่มรายได้มีข้อจำกัดที่น้อยกว่าการลดรายจ่าย เราทุกคนควรเพิ่มศักยภาพของตัวเองให้มากที่สุด เพื่อสร้างรายได้ให้สูงและคุ้มค่า

  1. ลงทุนต่อ

การลงทุนต่อถือเป็นการขยายความมั่งคั่งที่ดีในระยะยาว การเพิ่มรายได้จะมีข้อจำกัดเมื่อฐานความมั่งคั่งสูงแล้ว แต่การลงทุนมากไม่ค่อยมีข้อจำกัดด้านขนาดของเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจะให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยมในระยะยาว เนื่องจากได้รับผลตอบแทนทบต้นเพิ่มขึ้นตามระยะเวลา เราจึงควรศึกษาเรื่องการลงทุน เพราะเป็นวิธีเพิ่มความมั่งคั่งที่ทุกคนทำได้ และช่วยให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินได้เร็วมากขึ้น

บทที่ 3 วาดด้วยมือตัวเอง

ก่อนจะติดเครื่องยนต์

จุดหมายสำคัญเสมอ โดยเฉพาะเมื่อเราตั้งใจว่าจะออกเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนก็เช่นเดียวกัน เป้าหมายในการลงทุนสำคัญมาก เพราะจะช่วยกำหนดขอบเขต จัดรูปทรง และหาลู่ทาง ในการลงทุนให้ง่ายขึ้น หลักการตั้งเป้าหมายแบบ SMART

  1. Specific คือการตั้งเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงและชัดเจน
  2. Measurable คือการตั้งเป้าหมายที่ชี้วัดเป็นตัวเลขได้ชัดเจน
  3. Achievable คือการตั้งเป้าหมายที่บรรลุได้จริงทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เราล้มเลิกเสียก่อน
  4. Relevant คือการตั้งเป้าหมายที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับความเป็นจริงสมเหตุสมผลกับสถานการณ์ปัจจุบันและสอบรับกับเป้าหมายที่อยู่สูงขึ้นไป
  5. Time-bounded คือการตั้งเป้าหมายโดยมีกรอกเวลากำหนดชัดเจน เพื่อจะได้วางแผนวัดผลและสรุปผลการรับตอนท้ายได้ง่าย

เสียใจด้วยแต่คุณ(บางคน)ไม่ได้ไปต่อ

หากจะยกเรื่องตั้งเป้าหมายมาใช้กับเรื่องการเงิน สูตรใหม่ซึ่งดัดแปลงมาจาก SMART โดยคง Specific Measurable Time-bounded ไว้เหมือนเดิม สุดท้ายแล้วเราผู้ตั้งเป้าหมายกับเราผู้ตัดสินก็เป็นคนเดียวกัน จะหลงใหลใฝ่ฝันในสิ่งใด ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ทำได้

จาก SMART สู่ SMIRT

คงไว้ 3 ข้อ และปรับแก้ใหม่อีก 2 ข้อนั่นคือ I และ R โดยคิดว่าการใส่ 2 ข้อนี้เข้ามา จะทำให้เป้าหมายทางการเงินกระชับขึ้น ต่อยอดได้ง่ายขึ้น และเข้าใจภาพได้อย่างรวดเร็ว

Important หรือระดับความสำคัญต่อชีวิต ในการวางแผนการเงินวางแผนการลงทุน แบ่งระดับความสำคัญเป็น 2 ระดับ Want (ต้องการ) คือ อยากได้แต่มีก็ได้ไม่มีก็ได้ ไม่ได้จำเป็นมากนักสำหรับชีวิต และ Need (จำเป็น) คือ ต้องได้ หากขาดไปชีวิตจะลำบากเป็นอย่างมาก

Risk Acceptance หรือระดับความเสี่ยงที่รับได้ การเข้าใจตัวเอง จะช่วยทำให้การวางแผนการลงทุน ที่ต้องมาจากเป้าหมายทางการเงินไม่หลงทาง

ประยุกต์ใช้ SMIRT กับเป้าหมายทางการเงิน

ควรตั้งเป้าหมายทางการเงินแบบ SMIRT

Specific คือ จุดมุ่งหมายในการลงทุน

Measureble คือ จำนวนเม็ดเงินเป็นตัวเลข

Important คือ ระบุว่า Want (ต้องการ) หรือ Need (จำเป็น)

Risk Acceptance คือ บอกระดับความเสี่ยงที่รับได้เป็นเปอร์เซ็นต์

Time bounded คือ กำหนดว่าต้องการได้มาในกี่เดือน

แบ่งเป้าหมายตามเส้นระยะทาง

การแบ่งเป้าหมายทางการเงินตามกรอบระยะเวลา แบ่งกรอบออกเป็น 3 ระยะหลัก คือ

  1. เป้าหมายทางการเงินระยะสั้น หมายถึง เป้าหมายที่มีกรอบเวลาอยู่ในช่วงไม่เกิน 3 ปี
  2. เป้าหมายทางการเงินระยะกลาง หมายถึง เป้าหมายที่มีกรอบเวลาอยู่ในช่วง 3 ถึง 7 ปี
  3. เป้าหมายทางการเงินระยะยาว หมายถึง เป้าหมายที่มีกรอบเวลาอยู่ในช่วง 7 ปีขึ้นไป

ทั้งนี้ก็เพื่อวางแผนที่จะหาตัวเลขผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับต่อไป

ความเสี่ยงความสำคัญและความสัมพันธ์กับเป้าหมาย

ระยะเวลาความสำคัญ หรือความเสี่ยงที่รับได้ ต่างก็ร่วมกันบ่งชี้ไปถึงผลตอบแทนคาดหวังทั้งนั้น ระยะเวลาสั้นเราจะรับความเสี่ยงได้น้อย ผลตอบแทนที่คาดหวังจะน้อย ระยะเวลามากเราจะรับความเสี่ยงได้มาก ผลตอบแทนที่คาดหวังจะมาก ต่อมาคือ Need รับความเสี่ยงได้น้อยกว่า Want และผลตอบแทนที่ออกมา ต้องไม่เกินไปจากกรอบความเสี่ยงที่รับได้ที่ตั้งไว้ เมื่อได้ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับแล้ว ทุกอย่างก็จะง่ายขึ้น เพราะเราสามารถจะคิดแผนย้อนกลับมาได้ว่า เราจะต้องวางแผนเก็บเงินเพื่อเป้าหมาย ในแต่ละเป้าหมายเป็นจำนวนเดือนละเท่าไหร่ และควรจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ชนิดใดดี

บทที่ 4 อิสรภาพของเราราคาเท่าไหร่

ไหนล่ะอิสรภาพ

การวางแผนการเงินเป็นเรื่องของทุกคน เพราะต้องมีวันที่เราหาเงินไม่ได้ หรือทำงานไม่ไหวอีกต่อไป การเก็บเงินเกษียณที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดคือ การเริ่มต้นเก็บเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  การมีเวลาเก็บเงินนาน จะช่วยให้เราทยอยเก็บเงินต้นได้ โดยไม่เป็นภาระมากนัก

ไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแห่งแรกในโลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 14% ของประชากรทั้งประเทศ ไทยจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาแห่งแรกในโลก ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ความแก่ส่งผลต่อปัจจัยระดับมหภาค เรียกว่า คนไทยแก่กันที่นี่ส่งผลกันไปทั้งแผ่นดิน ความสามารถในการหาเงินจะลดลงมากหลังเกษียณ รัฐบาลต้องแบกค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น ในขณะที่เก็บภาษีจากการใช้จ่ายได้ต่ำลง

แก่ของฉันมันเป็นเรื่องของใคร

การวางแผนการเงินสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับประเทศที่มีความไม่แน่นอน ของสังคมผู้สูงอายุในอนาคต เพราะเมื่อผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจเริ่มเติบโตช้าลง รัฐบาลจำเป็นต้องใช้เครื่องมือเชิงนโยบายบางอย่างมากระตุ้นเศรษฐกิจให้ไปต่อได้ หนึ่งในนั้นคือการลดดอกเบี้ย เราต้องเตรียมแผนการเงินตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะจำเป็นต้องอาศัยช่วงเวลาที่ยาวนาน เพื่อเอาชนะความผันผวน และแสวงหาการลงทุนที่คุ้มค่า การคำนวณเพื่อเตรียมเงินสำหรับเกษียณ มี 3 วิธีได้แก่

  1. วิธีใช้เงินต้น

วิธีนี้เรียบง่ายและตรงไปตรงมาที่สุด ไม่มุ่งหวังดอกผลจากการลงทุนใด ๆ ทั้งสิ้น เก็บเงินให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วแบ่งใช้ไปเรื่อย ๆ เมื่อเลิกทำงานแล้ว วิธีนี้ได้รับความนิยมอย่างสูง

เงินก้อนเกษียณ = (เงินเดือนเกษียณ x 12) x (ปีที่เสียชีวิต – ปีที่เริ่มต้นเกษียณ)

เงินก้อนเกษียณ หมายถึง จำนวนเงินทั้งหมดที่เราต้องมี เพื่อให้บรรลุตามแผนเกษียณที่ต้องการ

ส่วนเงินเดือนเกษียณ หมายถึง จำนวนเงินที่เราต้องการใช้ต่อเดือนยามเกษียณ เป็นวิธีที่เสี่ยงเกินไป หลักลอยเกินไป และอาศัยการคาดเดามากเกินไป ที่สำคัญคือมีวิธีที่ดีกว่านี้มาก

  1. วิธีใช้กระแสเงินสด

นี่เป็นวิธีวางแผนเกษียณอันดับหนึ่ง สำหรับผู้ที่พอจะมีความรู้ทางการเงินอยู่บ้าง วิธีนี้จะช่วยทุ่นแรงได้มากกว่าวิธีแรกที่ต้องเก็บเงินจำนวนมาก โดยจะเน้นการนำเงินก้อนไปลงทุนในสินทรัพย์ เพื่อสร้างผลตอบแทนเป็นกระแสเงินสด เราก็ใช้จ่ายด้วยกระแสเงินสดเหล่านั้น

เงินก้อนเกษียณ = (เงินเดือนเกษียณ x 12) ÷ ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ

สังเกตว่าสมการนี้ไม่ได้วุ่นวายกับตัวแปรเรื่องอายุเลย ไม่ว่าจะเป็นอายุตอนเริ่มต้นเกษียณ หรืออายุตอนเสียชีวิต คิดภาพตามช้า ๆ นำเงินต้นไปลงทุน นำดอกผลมาใช้จ่าย ส่วนเงินเริ่มแรกก็ปล่อยไปแบบนั้น นั่นหมายความว่าคุณได้รับอนุญาตให้มีชีวิตต่อไปเรื่อย ๆ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงิน การเข้าใจพื้นฐานด้านการเงิน และความสามารถด้านการลงทุน ช่วยให้เราลดข้อจำกัดในชีวิตได้มากมาย

  1. วิธีใช้เงินต้นและกระแสเงินสดผสมกัน

วิธีสุดท้ายนั้นอยู่ตรงกึ่งกลาง เหมาะสำหรับคนที่มีความรู้ทางการเงินบ้าง แต่เก็บเงินไม่ทันแล้ว อาจเป็นไปได้ด้วยหลายสาเหตุ จึงใช้สองวิธีผสมกัน โดยเก็บเงินให้ได้มากที่สุด นำไปลงทุนสร้างดอกผล เก็บกระแสเงินสดมาใช้ ค่าใช้จ่ายส่วนที่ไม่พอก็เบิกเงินต้นมาใช้แทน

แม่มณีจันทร์ไม่ถูกใจสิ่งนี้

หากแม่มณีจันทร์แห่งทวิภพได้มาเห็น การคำนวณการเตรียมเงินเกษียณของคนยุคนี้ ก็คงต้องกรีดร้องด้วยความตกใจ คนยุคปัจจุบันต้องเตรียมเงินเพื่อการเกษียณกันเป็นหลักหลายล้าน นี่เป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิด เรื่องใหญ่ที่แม้แต่รัฐบาลก็ต้องหันมอง เพราะเรากำลังพูดถึงความลี้ลับของเวลา ที่มาพร้อมกับมูลค่า เรื่องราวปาฏิหาริย์เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีก่อน นักทฤษฎีคนหนึ่งได้ค้นพบความประหลาดของเงินตรา ในขณะที่เหล่ามาทาดอร์กำลังต่อสู้กับวัวกระทิง

บทที่ 5 ความลี้ลับของเงินตรา

ค่าเงินของเราไม่เท่ากัน

เมื่อประมาณ 500 ปีก่อน นักทฤษฎีชาวสเปนนามว่า มาร์ติน เดอ แอชปิลกูเอต้า ได้รำพึงรำพันว่า 1 เหรียญของวันนี้มีค่ามากกว่า 1 เหรียญของวันถัดไป นั่นเป็นครั้งแรกที่มนุษย์พูดถึงความลี้ลับระหว่างเงินตรากับเวลาอย่างเป็นทางการ Time Value of money หรือมูลค่าของเงินตามเวลา เหตุผลหลักที่เงินมีมูลค่าไม่เท่ากันมี 3 ข้อหลักได้แก่ 1. คนชอบใช้เงินในปัจจุบันมากกว่าอนาคต 2. เงินเฟ้อทำให้อำนาจการซื้อลดลงและ 3. เงินในอนาคตมีความเสี่ยงว่าจะไม่ได้รับ

ชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีมากเกินไป จึงทำให้สินค้าแพงขึ้น และมูลค่าของเงินลดลง แปลว่ามูลค่าของเงินไม่สามารถดูได้ที่ตัวเลข แต่ต้องดูที่ความสามารถในการชำระหนี้เท่านั้น การเติบโตของเศรษฐกิจกับเงินเฟ้อมีความสัมพันธ์กันสูงมาก สาเหตุหลักมาจากเมื่อเศรษฐกิจดีเงินในระบบจะมีการหมุนเวียนมาก การมีเงินเฟ้อในระดับต่ำที่ยังคาดการณ์ได้ถือว่าเป็นเรื่องดี หากตัวเลขเงินเฟ้อติดลบหรือที่เรียกว่าเงินฝืด สภาพเศรษฐกิจก็อาจแย่เพราะมีเงินหมุนในระบบน้อยลง แต่ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงมาก ก็อาจทำให้เศรษฐกิจแย่มาก

สิ่งที่ใช่จึงไม่ใช่สิ่งที่เห็น

ตัวเลขเงินในบัญชีของเรา จึงไม่ใช่เงินที่แท้จริงอีกต่อไป เราจึงต้องสนใจความสามารถในการชำระหนี้ของเงินมากกว่า เงินเฟ้อเหมือนโจรที่ปล้นเงินในกระเป๋าเราอย่างเชื่องช้า แนบเนียน แต่ไม่เป็นไรทันทีที่เรารู้จักมัน ก็เหมือนกับเรารู้เท่าทันมันแล้ว มาหาวิธีรับมือกับเจ้าโจรร้ายนี้กันเถอะ

ปกป้องวัวของคุณจากเจ้าโจรร้าย

แผนการเกษียณกำลังพังไม่เป็นท่า เพราะวางแผนเตรียมเงินเสียเสร็จสรรพ แต่ลืมคำนวณค่าเงินเฟ้อ แต่ก็ยังไม่สายเกินไป วิธีง่ายที่สุดคือเราต้องคำนวณเงินเฟ้อเข้าไปในเงินที่เราต้องการในยามเกษียณด้วย เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เงินที่เตรียมไว้ไม่ถูกเงินเฟ้อกัดกร่อนไปจนหมดราคา

ค่าครองชีพในอนาคต = ค่าครองชีพในปัจจุบัน x (1 + อัตราเงินเฟ้อ)ปี

จากสมการนี้จะเห็นว่าเจ้าเงินเฟ้อปล้นเงินเราไปเกือบครึ่ง

แมลงสาบไม่ได้มีตัวเดียว

อย่าลืมว่าหลังจากเกษียณอายุแล้วเงินเฟ้อก็ยังจะมีอยู่

เงินก้อนเกษียณ = (เงินเดือนเกษียณ x 12) ÷ (ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ – อัตราเงินเฟ้อ)

จากสมการให้คิดเสียว่าเราจำเป็นต้องหาผลตอบแทนเผื่อในส่วนของเงินเฟ้อด้วย

บทที่ 6 คือเรื่องมหัศจรรย์

มหัศจรรย์กลับด้าน

หากเราทำให้เงินตัวเองเพิ่มค่าได้ล่ะ เหมือนกับเงินเฟ้อที่ทบสะสมไปเรื่อย ๆ แต่นี่ตรงกันข้าม หากสินทรัพย์หรือเงินลงทุนของเรา สามารถทบเพิ่มค่าได้ เรื่องราวจะมหัศจรรย์ขนาดไหน

ค่าครองชีพในอนาคต = ค่าครองชีพในปัจจุบัน x (1 + อัตราเงินเฟ้อ)ปี

ได้กล่าวถึงสูตรการคำนวณนี้ไปเรียบร้อยแล้วในบทก่อน

สมการวุ่นวายกับเครื่องคิดเลข(ไม่)เย็นชา 

ไม่แนะนำให้คำนวณโดยการบวกลบคูณหาร หรือกดเครื่องคิดเลขธรรมดาในชีวิตจริงเด็ดขาด มีเครื่องคิดเลขการเงินไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะนั่นคือ Application EZ financial Calculator

หลักการพื้นฐานคือ ให้คิดว่าเรามีถุงยักษ์สำหรับสะสมเงินก้อน โดยเงินที่สะสมจะผลิดอกออกผลไม่รู้จบ สร้างผลตอบแทนทบต้นไปมา หลักการแทนค่าคือ เงินใดที่ไหลเข้าถุงเงินจะให้เครื่องหมายลบ (-) เช่น เงินก้อนแรกหรือเงินงวดสะสมรายเดือน ในขณะที่เงินใดที่ไหลออกจากถุงเงินจะให้เครื่องหมายเป็นบวก (+) เช่น เงินก้อนสุดท้ายหรือเงินที่แบ่งไปใช้ระหว่างทาง เมื่อคำนวณมูลค่าของเงินตามเวลา ก็จะมีตัวแปรหลักทั้งหมดเพียง 5 ตัวได้แก่

1.มูลค่าเงินในปัจจุบัน (Present Value) หรือ (PV)

มูลค่าเงินในปัจจุบัน หมายถึง เงินที่จุดเริ่มต้นปีที่ 0 โดยทั่วไปหมายถึงเงินก้อนแรกที่ใส่ลงไปในการลงทุน ถ้าไม่มีเงินก้อนแรกแล้วอาศัยการสะสมรายเดือนอย่างเดียว ก็ใส่ค่าให้เท่ากับ 0 แต่ถ้ามีเงินก้อนแรกเริ่มด้วยให้ใส่ค่าดังกล่าวติดลบ

2.เงินงวด (Payments) หรือ (PMT)

เงินงวด หมายถึง เงินแต่ละงวดที่นำเข้าหรือออกจากถุงเงิน หากสะสมลงทุนเพิ่มเช่นทยอยสะสมทุกเดือน แบบนี้จะใส่ค่าเป็นเครื่องหมายลบ เพราะเงินไหลเข้า แต่ถ้าแบ่งเงินออกไปใช้ต่อเนื่องก็ใส่เครื่องหมายบวกแทน ถ้าไม่มีเงินเข้าหรือออกเลย ใส่เงินครั้งเดียวแล้วถือยาว แบบนี้ก็ใส่ค่าเป็น 0

3.มูลค่าเงินในอนาคต (Future Value)  หรือ (FV)

มูลค่าเงินในอนาคต หมายถึง เงินก้อนสุดท้ายที่เราจะได้หลังจากลงทุนจนครบกำหนด เงื่อนไขเวลาที่วางไว้โดยทั่วไปค่าจะเป็นบวก เพราะเราจะถอนเงินก้อนนี้ให้ไหลออกจากถุงเงินมาเป็นผลตอบแทน แต่บางกรณีก็เป็นลบ เช่น เราแบ่งใช้เงินในถุงเงินแล้ว ไม่เหลือเพียงพอจนครบงวดเวลา

4.ผลตอบแทน   (Annual Rate) หรือ (Rate)

ผลตอบแทน หมายถึง การได้กำไรหรือขาดทุนจากการนำเงินในถุงไปลงทุน เราใส่ตัวเลขเป็นหน่วยเปอร์เซ็นต์ได้เลยเช่น 10% ใส่เลข 10 ไม่ใช่ 0.1 เพราะเครื่องคิดเลขปรับค่าเป็นเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว หากลงทุนแล้วได้กำไรให้ใส่ค่าบวก หากลงทุนแล้วขาดทุนให้ใส่ค่าลบ

5.จำนวนงวด  (Periods)

จำนวนงวด หมายถึง จำนวนครั้งที่เงินงวดถูกใส่หรือดึงออกไปจากถุงเงิน นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นใส่เงินในปัจจุบัน ไปจนถึงจุดสิ้นสุดการลงทุน หรือมูลค่าเงินในอนาคต โดยทั่วไปจะใช้เวลาเป็นหลักเดือน

สมการนี้จะบอกความสัมพันธ์ระหว่างตัวเลข 5 ตัวนี้ จึงต้องรู้ค่าของตัวเลข 4 ตัวแรกก่อน จึงจะหาตัวเลขตัวที่ 5 ได้ เช่น เราต้องรู้ว่าเงินเริ่มต้นเงินงวดผลตอบแทนและจำนวนงวดเป็นเท่าไหร่ จึงจะคำนวณหามูลค่าเงินในอนาคตได้ โดยในเครื่องคิดเลขเราจะเห็นตัวแปรอีกตัวหนึ่งที่ต้องเลือกคือ Compounding หรือระยะเวลาการคิดดอกเบี้ยเพื่อทบต้นตรงนี้ให้เลือกเป็น Monthly  เพื่อจะได้สัมพันธ์กับเงินงวดที่เราคิดเป็นเดือน

จุดสิ้นสุดความวุ่นวายของนายปุณ

ตัวอย่าง

มีเงิน 10,000 บาท ลงทุน 30 ปีผลตอบแทน 10% ในอนาคตจะมีมูลค่าเงินลงทุนเป็นเท่าไหร่

เมื่อลองกดเครื่องคิดเลขการเงินจะได้ตามนี้

PV = – 10,000

PMT = 0

Annual Rate% = 10

Period = 360

แล้วจึงกด FV เราจะได้มูลค่าเงินในอนาคตอยู่ที่ 198,373.99 บาท

บทที่ 7 ย้อนเวลาหาอนาคต

โดราเอมอนมาแล้ว

สูตรที่ให้ไปเหมือนไทม์แมชชีน เพราะไม่ใช่ว่าเฉพาะแต่จะพาไปหามูลค่าเงินในอนาคตเท่านั้น แต่ยังคิดย้อนกลับมาในปัจจุบันได้ ด้วยเครื่องคิดเลขการเงินประกอบด้วย 5 ตัวแปรหลักคือ PV, PMT, FV, Annual Rate และ Periods หากกำลังหามูลค่าในอนาคต เราจะใส่ตัวแปรอื่นเพื่อหาตัวเลข FV แต่เวลาวางแผนการเงิน เราจะรู้เป้าหมายในอนาคต FV แล้ว ประมาณผลตอบแทนคาดหวัง (Annual Rate) ได้รู้ระยะเวลาที่ต้องการเกษียณ (Periods) ชัดเจน เงินเริ่มต้นที่ลงทุน (PV) ก็รู้ สิ่งที่เราต้องหาคือเงินงวดที่ลงทุน (PMT) รู้สึกคุ้นไหมใช่แล้วนี่คือตัวแปรเงินลงทุนในสมการเปลี่ยนชีวิต เมื่อรู้ตัวแปรเงินลงทุนเราก็จะหาค่าใช้จ่ายตามต้องการในแต่ละเดือนได้

เป้าหมายทางการเงินทั้งหมดล้วนวางแผนได้ง่าย แต่ส่วนที่วางแผนได้ยากที่สุดคือ การวางแผนเกษียณ และมีปัจจัยต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องจำนวนมาก หลายคนอาจคิดว่าการเกษียณเป็นเรื่องยาก เพราะต้องเก็บเงินเยอะมาก แต่อย่าลืมว่าความจริงแล้ว เราจะได้รับเงินอีกหลายก้อนในช่วงเกษียณ ตัวเลขดังกล่าวจะมาช่วยผ่อนภาระการเก็บเงินให้เราได้

เงินจากกองทุนประกันสังคม

กองทุนประกันสังคม คือ กองทุนที่จัดทำขึ้นเพื่อเก็บสะสมเงินจากลูกจ้างและนายจ้าง เพื่อชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีต่าง ๆ เช่น เจ็บป่วย ตกงาน หรือเกษียณอายุ ในภาวะปกติลูกจ้างมีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 5% ต่อเดือน แต่ไม่เกินเดือนละ 750 บาท เทียบเท่ากับเงินเดือนสูงสุดที่จะเข้าระบบประกันสังคมได้ที่ 15,000 บาท โดยนายจ้างมีหน้าที่ส่งเงินสะสมในจำนวนเท่ากันทุกเดือน จะได้รับเงินคืนจากประกันสังคมเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ โดยผู้ประกันตนมีสิทธิ์เลือกว่าจะรับเป็นเงินก้อน (บำเหน็จ) หรือเงินรายเดือน(บำนาญ)

เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ กองทุนเตรียมตัวเกษียณภาคสมัครใจของพนักงานเอกชน โดยบริษัทเอกชนจะมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือไม่ก็ได้ และในกรณีที่มีพนักงานจะเข้าร่วมหรือไม่ก็ได้เช่นกัน หลักการคล้ายกองทุนประกันสังคม คือลูกจ้างสมทบส่วนหนึ่งนายจ้างสมทบส่วนหนึ่งในจำนวนเท่ากับที่ลูกจ้างส่ง แต่ไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ เช่น บริษัทอาจกำหนดกรอบอยู่ที่ 2 – 15 เปอร์เซ็นต์ แต่บริษัทจะส่งเงินสมทบไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แบบนี้สัดส่วนที่คุ้มค่าที่สุดในการส่งก็คือเพดานสูงสุดที่บริษัทจะสมทบนั่นเอง

การคำนวณหาเงินเกษียณที่จะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จึงมีลักษณะเหมือนการหามูลค่าเงินในอนาคตตามปกติ เลือกกดเครื่องคิดเลขการเงินใส่ Annual Rate ตามแผนที่เลือก Periods ตามจำนวนเดือนจนกว่าจะเกษียณ แต่ PMT จะพิเศษเพราะเราต้องคำนวณส่วนที่นายจ้างสมทบไปด้วย อย่าลืมพิจารณาถึงเรื่องเพดานการจ่ายสมทบด้วย

เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 

กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ คือ กองทุนที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการออมของข้าราชการสำหรับสะสมไว้ใช้ยามเกษียณ โดยผู้ที่เข้าร่วมกองทุนจะได้รับเงินสมทบเพิ่มจากภาครัฐคล้ายกับที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีในภาคเอกชน สมทบเพิ่มให้การคำนวณเงินที่จะได้รับตอนเกษียณ แบ่งคิดเป็น 2 ก้อน คือ เงินจากกรมบัญชีกลาง และเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยพิจารณาตามลักษณะว่าจะเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญ

ถึงเวลาจัดการแผนเกษียณของคุณแล้ว

ขั้นตอนการคำนวณเงินเก็บเพื่อใช้สำหรับเตรียมตัวเกษียณ

  1. ประเมินเงินที่ต้องการต่อเดือนตอนเกษียณ
  2. ปรับมูลค่าเงินที่ต้องการตามอัตราเงินเฟ้อ
  3. หักเงินบํานาญที่คาดว่าจะได้รับ
  4. นำเงินส่วนที่เหลือซึ่งต้องการตอนเกษียณมาคำนวณเพื่อหาเงินก้อนที่ต้องเก็บให้ได้
  5. หักเงินบำเหน็จที่คาดว่าจะได้รับ
  6. คำนวณย้อนกลับมาเป็นเงินลงทุนต่อเดือน

การวางแผนไปสู่การเกษียณไม่ได้ยากอย่างที่คิด เพราะเรายังมีเงินบำเหน็จบำนาญช่วยเหลือไว้มาก กองทุนอย่างอื่นเพื่อเตรียมเกษียณ ก็คำนวณโดยใช้หลักการเดียวกันได้

บทที่ 8 กาซาปองกำลังสมุนไพร

มันเป็นเรื่องของกาซาปอง

ชีวิตเราก็เหมือนตู้กาชาปอง ทุกวันเราต้องตื่นมาหมุน หมุน และหมุน บางวันได้ออกมาเป็นดอกไม้ บางวันออกมาเป็นขนม แต่บางวันก็เป็นระเบิด ประกันภัย คือ ถุงมือนิรภัยที่ช่วยป้องกันไม่ให้เราเจ็บตัวจากระเบิดกาซาปองน้อยที่สุด ถ้าจะไม่ให้เจ็บเลยคงเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าไม่ใส่ถุงมือนิรภัยเลยก็อาจไม่ใช่เรื่องดี ถึงแม้ว่าถุงมือดังกล่าวจะมีราคาไม่น้อย แถมส่วนใหญ่ยังต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี หลักการพื้นฐานของการทำประกันภัย ไม่ว่าจะเป็นประกันชีวิต ประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ ล้วนเป็นการประกันความเสี่ยงทั้งนั้น

ถุงมือนิรภัยสำหรับใช้งาน

ประกันภัย หมายถึง การบริหารความเสี่ยงโดยโอนความเสี่ยงของผู้เอาประกันไปให้บริษัทประกัน ผู้เอาประกันจะจ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกัน และบริษัทประกันจะจ่ายทุนประกันหรือผลประโยชน์คืนแก่ผู้เอาประกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ เช่น เสียชีวิตหรือประสบอุบัติเหตุ

ประกันชีวิต

ประกันชีวิต คือ ประกันที่มุ่งหมายปกป้องชีวิตหรือพูดง่าย ๆ คือเราจะได้กำไรในการพนันครั้งนี้ก็ต่อเมื่อเสียชีวิตเท่านั้น ควรทำประกันแค่พอดี เพราะนี่คือการประกันความเสี่ยงก่อนจะเปิดกรมธรรม์ใหม่ทุกครั้ง อย่าลืมคิดก่อนว่าหน้าที่หลักของถุงมือนิรภัยคืออะไร ประกันชีวิตมี 5 ประเภทได้แก่

  1. ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลาคือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองในช่วงเวลาที่กำหนด เบี้ยประกันถูกที่สุด แต่ไม่มีมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ (ประกันแบบจ่ายทิ้ง) เมื่อครบกำหนดรอบปีที่จ่ายความคุ้มครองก็จบลง
  2. 2. ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ คือ ประกันที่เน้นการคุ้มครองระยะยาว โดยต้องจ่ายเบี้ยประกันช่วงระยะเวลาหนึ่ง เช่น 5 ปี 10 ปี หรือ 15 ปี และกรมธรรม์จะคุ้มครองไปจนถึงอายุ 90 ปี 99 ปี หรือตลอดชีวิต

  1. ประกันชีวิตแบบบำนาญ

ประกันชีวิตแบบบํานาญ คือ ประกันที่คล้ายการออมเงินไปจนถึงช่วงเวลาเกษียณ และหลังจากเกษียณ เราจะได้รับเงินบำนาญคืนจนถึงเวลาที่กำหนดไว้ เบี้ยประกันค่อนข้างแพง เหมาะสำหรับการสร้างรายได้ เป็นหลักประกันหลังการเกษียณ

  1. ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ คือ ประกันที่เน้นการออมทรัพย์โดยจ่ายเบี้ยในช่วงเวลาที่กำหนดและได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาที่กำหนด

  1. ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน

ประกันชีวิตแบบควบการลงทุน คือ ประกันที่มีการนำเบี้ยส่วนหนึ่งของเราไปลงทุนในกองทุนรวม โดยเราเลือกกอง จัดพอร์ต และปรับความเสี่ยงได้ตามใจชอบ

จุดมุ่งหมายสูงสุดของการประกันชีวิตคือ การประกันความเสี่ยงในกรณีเสียชีวิต ไม่ใช่การออมหรือการลดหย่อนภาษี เราจึงควรยึดเป้าหมายเรื่องความคุ้มครองเป็นที่ตั้ง หลักพื้นฐานคือทุนประกันควรเท่ากับ 2 – 5 เท่าของรายได้ต่อปีของเรา แต่เบี้ยประกันที่จ่ายไม่ควรมากกว่า 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมตลอดปี

ประกันวินาศภัย

ประกันวินาศภัย หมายถึง ประกันที่ไม่ได้มุ่งหมายประกันความเสี่ยงจากการเสียชีวิตโดยส่วนใหญ่ประกันวินาศภัยมีพื้นฐานจะมี 2 อย่างคือ

  1. ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ

ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ คือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองในช่วงเวลาที่กำหนด โดยมุ่งเน้นการชดเชยค่ารักษาพยาบาล เบี้ยประกันไม่มีมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ เบี้ยประกันที่จ่ายไม่ควรมากกว่า 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้รวมตลอดปี

  1. ประกันภัยรถยนต์

ประกันภัยรถยนต์ คือ ประกันที่มุ่งเน้นความคุ้มครองไปยังคนและรถ จากความเสี่ยงที่เกิดจากรถยนต์ แบ่งออกเป็นประกันภาคบังคับหรือที่รู้จักกันในชื่อพ.ร.บ.รถยนต์ ซึ่งจะคุ้มครองคนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้เอาประกันภัยหรือคู่กรณี ในขณะที่ประกันอีกประเภทคือประกันภาคสมัครใจ แบ่งออกเป็น 4 ชั้นหลัก โดยเราสามารถเลือกประเภทของประกันภัยรถยนต์ตามความเสี่ยงในการขับรถ ประสบการณ์การขับรถ ความถี่ในการขับรถ รวมไปถึงความเสี่ยงที่ยอมรับได้

ได้เวลาเลือกถุงมือนิรภัยแล้ว

การเลือกสรรประกันภัยให้เหมาะสมกับตัวเรา การตัดสินใจโดยมีหลักการดังนี้คือ

  1. คุ้มครองความเสี่ยงตามความจำเป็นและเหมาะสม

ต้องเลือกทำประกันภัยตามความจำเป็นเท่านั้น ก่อนจะลงนามในกรมธรรม์ทุกฉบับ ถามตัวเองเสมอว่าเรามีความเสี่ยงในเรื่องนั้นหรือไม่ และต้องจำกัดความเสี่ยงในเรื่องนั้นหรือเปล่า

  1. เบี้ยประกันและทุนประกันพอดี

เบี้ยประกันชีวิตไม่ควรเกิน 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อปี ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุไม่ควรเกิน 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อปี และรวมกันทั้งสองด้านแล้วไม่ควรเกิน 20 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อปี

  1. บริษัทประกันต้องมีความน่าเชื่อถือ

ควรเลือกทำประกันภัยกับบริษัทที่มีขนาดใหญ่ มีชื่อเสียงและน่าเชื่อถือ

  1. ติดต่อได้ในช่องทางที่สะดวก

การซื้อผ่านธนาคาร ช่องทางออนไลน์ หรือโทรศัพท์ มักได้ค่าเบี้ยประกันต่ำกว่าการซื้อผ่านตัวแทน แต่ก็อาจมีข้อเสียในเรื่องของการติดต่อเวลาจะเบิกสินไหมทดแทนต่าง ๆ ต้องติดต่อกับบริษัทประกันภัยเอง คนที่ต้องการมีตัวแทนมาทำให้ทุกอย่าง ก็อาจเลือกซื้อผ่านตัวแทนเวลาติดต่อประสานงานก็จะง่ายกว่าทำเอง

ถึงเวลาสะสางก้อนกรมธรรม์ที่ทำไว้

หลายคนมีประกันภัยอยู่แล้วมากมายหลายฉบับ ก็นำความคุ้มครองของแต่ละฉบับมาเรียบเรียงดูว่า ขาดหรือเกินอย่างไรบ้าง หากขาดจะได้พิจารณาทำเพิ่ม แต่ถ้าเกินจะได้พิจารณาปรับลดตามความเหมาะสม รวมไปถึงการทำปฏิทินเตรียมตัวชำระค่าเบี้ยประกันในแต่ละปี

บทที่ 9 ภาษีอาจน่ากลัวกว่าความตายเสียอีก

ป่าช้าภาษี

ภาษี หมายถึง เงินหรือทรัพย์สินที่รัฐ หรือสถาบันที่ปฏิบัติหน้าที่เทียบเท่ารัฐเรียกเก็บจากราษฎร การเรียกเก็บภาษีจะมีแบบทางตรงและทางอ้อม ภาษีทางตรงเช่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือ ภาษีที่เราต้องจ่ายให้รัฐเมื่อมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ ภาษีที่ผู้ประกอบการจะเรียกเก็บจากลูกค้าและนำส่งให้รัฐ

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป โดยปกติเก็บเป็นรายปี ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการภาษี ภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป

ภาษีบุคคลธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

เงินได้พึงประเมิน คือ เงินที่ได้ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎหมาย ได้แก่

  1. เงินทรัพย์สิน ประโยชน์ที่ประเมินมูลค่าได้ เงินภาษีที่ผู้อื่นออกแทนให้ และเครดิตภาษี
  2. ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ แต่เจ้าของรายได้อยู่ในประเทศไทยเกิน 180 วันในรอบปี

วิธีการคํานวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 วิธี คือ วิธีเงินได้สุทธิและวิธีเงินได้พึงประเมิน กฎหมายกำหนดให้เราคำนวณทั้ง 2 วิธี และเลือกจ่ายภาษีตามวิธีที่คำนวณยอดภาษีแล้วได้มากกว่า

ได้เงินคือเงินได้

การหักค่าใช้จ่ายทำได้ 2 วิธีได้แก่

  1. การหักแบบเหมา คือ การเลือกหักค่าใช้จ่ายอิงแบบเปอร์เซ็นต์จากเงินได้พึงประเมิน
  2. การหักแบบตามจริง คือ การเลือกหักค่าใช้จ่ายจากหลักฐานที่จ่ายออกไปจริงตามดุลพินิจของกรมสรรพากร

ลดหย่อนเถิดจะเกิดผล 

ค่าลดหย่อนมีความหมายทางกฎหมาย คือ รายการที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้นำไปหักออกจากเงินได้เพิ่มขึ้น หลังจากที่หักค่าใช้จ่ายแล้วคิดง่าย ๆ ก็เหมือนกับส่วนลดเพิ่มเติมที่กฎหมายกำหนดให้ ซึ่งช่วยแบ่งเบาให้เราจ่ายภาษีน้อยลงเท่านั้นเอง รายการลดหย่อนภาษีนั้นมีรายละเอียดค่อนข้างมาก วิธีที่อยากแนะนำที่สุดคือยื่นภาษีออนไลน์ หลังจากนั้นระบบจะมีคำถามมาให้เราเลือกตอบ เราก็แค่ตอบไปตามความจริง ระบบก็จะคำนวณค่าลดหย่อนให้เองอัตโนมัติ

อย่าลืมฉันวิธีเงินได้พึ่งประเมินกล่าว

กรณีมีรายได้ทางอื่นนอกเหนือจากเงินเดือน จะต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย วิธีเงินได้พึงประเมิน หากมีรายได้ทางอื่นทั้งหมดที่ไม่ใช่เงินเดือนต่ำกว่า 1 ล้านบาท เราก็ไม่ต้องคำนึงถึงการเสียภาษีด้วยวิธีนี้

อยากจ่ายภาษีแล้วต้องทำอย่างไรดี

การยื่นภาษีเงินบุคคลธรรมดา มีเงื่อนไขว่ามีรายได้ เป็นแบบเงินเดือนอย่างเดียว เราต้องยื่นแบบภ.ง.ด. 91 ภายในเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไป แต่หากมีรายได้ที่ไม่ใช่เงินเดือนอย่างเดียว ให้ดูประเภทของเงินได้พึงประเมิน หากไม่มีเงินได้ 40 (5) – 40 (8) ให้ให้เรายื่นแบบภ.ง.ด. 90 ภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมปีถัดไป แต่ถ้ามีเงินได้ 40 (5) – 40 (8) ยื่นแบบภ.ง.ด. 94 ครึ่งปีภายในเดือนกรกฎาคม – กันยายนของปีดังกล่าวด้วย และยื่นแบบภ.ง.ด. 90 เต็มปีภายในเดือนมกราคม – มีนาคมปีถัดไป

การยื่นภาษีทำได้ 3 วิธีหลักคือ

  1. ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง
  2. ทางอินเตอร์เน็ตผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร
  3. ไปรษณีย์ลงทะเบียน เฉพาะผู้ที่มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ โดยส่งพร้อมแนบเช็ค (ประเภท ข., ค., หรือ ง.) หรือใบธนาณัติตามจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระทั้งจำนวน ไปที่สำนักบริหารการคลังและรายได้ กรมสรรพากรอาคารสรรพากรเลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

บทที่ 10 เงินที่งอกบนดาวพุธ

ลึกลับยิ่งกว่าดาราจักร

การลงทุนเป็นเรื่องลึกลับและน่าสนุก สิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การคำนวณอัตราคิดลดที่ซับซ้อน การวางแผนการใช้เงินอย่างละเอียดยิบ หรือการจิ้มสูตรภาษีที่น่าปวดหัว แต่เป็นอัตราผลตอบแทนต่างหาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ลี้ลับที่สุดในจักรวาล

มีอะไรซ่อนอยู่ในความมืด

การลงทุนคือการนำเงินไปซื้อสินทรัพย์เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับมา โดยอยู่ในความเสี่ยงที่เหมาะสม หมายความว่าการลงทุนที่แท้จริงไม่ต้องทำให้ยาก เพราะความเสี่ยงที่เหมาะสมของแต่ละคนไม่เท่ากัน การลงทุนจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็ไม่ควรหลีกเลี่ยง เพราะการลงทุนจะช่วยให้เราเอาชนะเงินเฟ้อ และบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ในระยะยาว ลองคิดสภาพว่าคุณต้องเก็บเงินมากมาย เพื่อเอามาใช้ตอนเกษียณ โดยมีอัตราผลตอบแทน 0%  แถมพอเกษียณแล้วก็นั่งนับวันหมดอายุไข

เงินที่งอกบนดาวพุธ

ในระบบสุริยะดาวพุธอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด จึงเหมาะให้เงินร้อน ๆ ไปอยู่ ซึ่งก็คือเงินที่ต้องใช้ในเวลาอันใกล้ เงินที่รับความเสี่ยงไม่ได้เลย หรือเงินที่ต้องใช้เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เงินฝากธนาคารมีทั้งหมด 5 ประเภท

  1. เงินฝากออมทรัพย์ธรรมดา

เงินฝากออมทรัพย์ธรรมดา คือ เงินฝากที่ไม่มีข้อกำหนดในการเบิกถอน และทำบัตร ATM ได้ เงินฝากแบบนี้ให้ดอกเบี้ยน้อยมากจนเกือบเป็น 0 ไม่เหมาะที่จะเก็บเงินจำนวนมาก แค่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันก็พอ

  1. เงินฝากกระแสรายวัน

เงินฝากกระแสรายวัน คือ เงินฝากที่เบิกถอนทางเช็คธนาคาร ได้ดอกเบี้ยต่ำมาก โดยทั่วไปคือ 0%  เหมาะสำหรับใช้ทางธุรกิจเท่านั้น ไม่เหมาะกับการออมหรือเก็บเงิน มีบัญชีประเภทนี้เมื่อต้องใช้เช็คธนาคารในการทำธุรกรรมเท่านั้น

3 เงินฝากประจํา

เงินฝากประจํา คือ เงินฝากที่มีข้อกำหนดเวลาเบิกถอนชัดเจน เช่น 3 เดือนหรือ 6 เดือน ข้อดีของเงินฝากประเภทนี้คือ ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ธรรมดา แต่ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียสภาพคล่อง เพราะหากเบิกถอนก่อนกำหนดจะไม่ได้ดอกเบี้ย

  1. เงินฝากไม่ประจํา

เงินฝากไม่ประจํา คือ เงินฝากที่ให้ดอกเบี้ยสูงเหมือนกับเงินฝากประจำ แต่เบิกถอนได้บ่อยกว่าตามเงื่อนไขที่กำหนดในบัญชีแบบนี้ เพราะดอกเบี้ยและสภาพคล่องสูง แต่เงินฝากประเภทนี้อาจมีเงื่อนไขพิเศษ

  1. เงินฝากปลอดภาษีดอกเบี้ยสูง

เงินฝากปลอดภาษีดอกเบี้ยสูง คือ เงินฝากที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเกิดการออม ซึ่งได้ดอกเบี้ยสูงแต่ต้องทยอยสะสมต่อเนื่องอย่างน้อย 24 เดือน

แทงหวยก็รวยได้

สลากออมทรัพย์เป็นนโยบายสนับสนุนการออมโดยรัฐบาล จึงได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมาย และออกโดยธนาคารของรัฐเท่านั้น หากเราซื้อสลากออมทรัพย์มากจนถึงระดับหนึ่ง จะการันตีผลตอบแทนได้ โดยทั่วไปประมาณ 500,000 บาท จะเหมือนเราซื้อหวยเลข 00 ถึง 99 ก็จะการันตีผลตอบแทนเลขท้ายแน่นอน ควรซื้อในช่วงที่เปิดตัวสลากรุ่นใหม่ เพราะโดยทั่วไปประมาณ 3 เดือนแรก จะมีการแจกของเพิ่ม เช่น แจกรถ แจกทอง หรือแจกรางวัลพิเศษ โอกาสได้ผลตอบแทนก็เพิ่มไปด้วย

มีอะไรในดาวพุธที่เราต้องรู้

เงินฝากธนาคารถือเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด เพราะเราใช้สินทรัพย์ประเภทนี้เก็บเงินออมยามฉุกเฉินเป็นหลัก ซึ่งก็คือเงินออมที่เราต้องสะสมให้ได้ 1-2 เดือนของค่าใช้จ่ายจำเป็นนั่นแหละ ไม่ควรทุ่มเงินทั้งหมดไว้ในเงินฝากธนาคาร เพราะสุดท้ายจะโดนเจ้าโจรร้ายปล้นดอกเบี้ยจนหมดคือเจ้าเงินเฟ้อ อัตราเงินเฟ้อระยะยาวประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ และปัจจุบันดอกเบี้ยธนาคารโดยทั่วไปให้ผลตอบแทนไม่ถึง 2 เปอร์เซ็นต์ทั้งนั้น ดาวพุธดวงนี้ร้อนรุ่มเกินกว่าจะลงปักฐานในระยะยาวได้

บทที่ 11 ชั้นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยหนี้

ฟันเฟืองแห่งทุนนิยม

กลไกสำคัญที่สุดที่ทำให้ทุนนิยมครองโลกได้ แม้แต่ประเทศที่อุทิศให้คอมมิวนิสต์อย่างจีน ยังต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อเปิดรับระบบทุนนิยม นอกจากเรื่องแรงจูงใจทำมากได้มากทำน้อยได้น้อยแล้ว อีกกลไกหนึ่งคือเรื่องของระบบเครดิต ที่ทำให้อำนาจของเงินทวีคูณอย่างรวดเร็ว

ใต้ความขมุกขมัวของดาวศุกร์

ตราสารหนี้ก็ไม่ต่างจากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ เพราะมองเห็นความเสี่ยงยากกว่าดวงดาวที่สดใสแบบดาวพุธ การตัดระบบของธนาคารพาณิชย์จึงทำให้เราต้องแบกรับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ไว้ทั้งหมด ถึงแม้ว่าผลตอบแทนของตราสารหนี้จะดีกว่าการฝากเงินธนาคาร แต่เราก็ต้องพิจารณาเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารมากกว่า ทั้งยังต้องใช้ความรู้ความสามารถในการลงทุนมากกว่า เพราะนั่นคือจุดชี้เป็นชี้ตายของการลงทุนเลย ตลาดตราสารหนี้แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ

  1. ภาครัฐ

ตราสารหนี้ของภาครัฐมีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. ตั๋วเงินคลัง

ตั๋วเงินคลังคือตราสารหนี้ระยะสั้น

  1. พันธบัตรรัฐบาล

พันธบัตรรัฐบาลคือตราสารหนี้ระยะยาว

  1. ภาคเอกชน

ตราสารหนี้ของภาคเอกชนมีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ได้แก่

  1. ตั๋วแลกเงิน

ตั๋วแลกเงินคือตราสารหนี้ระยะสั้น

  1. หุ้นกู้

หุ้นกู้คือตราสารหนี้ระยะยาว

ผลตอบแทนอยู่ตรงไหน

ตราสารหนี้สามารถซื้อขายได้ทั้งตลาดตรงและตลาดรอง ตลาดตรง หมายถึง การซื้อครั้งแรกตอนที่ประกาศขายตราสาร โดยเงินที่เราจ่ายจะเข้าไปที่ผู้ออกตราสารโดยตรง ในขณะที่ตลาดรอง หมายถึง การซื้อขายที่เปลี่ยนมือระหว่างผู้ซื้อตราสารด้วยกันเอง ตราสารหนี้แตกต่างจากเงินฝากตรงที่ถอนก่อนกำหนดไม่ได้ ต่อให้เราจะขอไม่รับดอกเบี้ยก็ตาม วิธีที่ง่ายที่สุดคือการขายในตลาดรอง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่จะรับซื้อตราสารหนี้เหล่านี้อยู่แล้ว ผลตอบแทนของตราสารหนี้ค่อนข้างจะวิเคราะห์ง่ายและตรงไปตรงมาเหมือนกัน เพราะตราสารหนี้มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ยที่แน่นอน มีเวลาการไถ่ถอนและจำนวนเงินที่จะได้รับชัดเจน ทั้งยังประเมินมูลค่าได้ง่าย

  1. ดอกเบี้ยตราสารหนี้มักสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร

ตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากประจำธนาคาร เพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูงกว่า จึงควรได้รับผลตอบแทนสูงกว่าในระยะเวลาที่เท่ากัน

  1. ดอกเบี้ยตราสารหนี้ภาครัฐมักต่ำกว่าภาคเอกชน 

หากเปรียบเทียบความเสี่ยงแล้วภาคเอกชนย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่าภาครัฐบาล

  1. ดอกเบี้ยตราสารหนี้ระยะยาวมากสูงกว่าระยะสั้น

การฝากเงินระยะยาวมีความเสี่ยงสูงในเรื่องของสภาพคล่อง และการผันผวนของอัตราดอกเบี้ย

  1. ดอกเบี้ยตราสารหนี้จะลดตามดอกเบี้ยนโยบาย

หากมีการประกาศนโยบายลดดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์จะต่ำลง แนวโน้มของดอกเบี้ยตราสารหนี้ก็จะต่ำลงด้วย

  1. ดอกเบี้ยตราสารหนี้จะลดลงตามความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้นของผู้ออก

หากผู้ออกตราสารหนี้น่าเชื่อถือมากดอกเบี้ยมักจะต่ำ เหมือนรัฐบาลที่ให้ดอกเบี้ยน้อยกว่าเอกชน

มือที่สามของความรักเรา 

ตราสารหนี้นั้น เป็นสินทรัพย์ที่ผู้ลงทุนต้องได้รับความเสี่ยงที่สูงกว่าเงินฝากธนาคาร ส่วนหนึ่งเพราะผู้ออกตราสารมีโอกาสผิดนัดชำระ การตรวจสอบความน่าเชื่อถือจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ในการลงทุนมีบุคคลที่สามมาคอยจัดอันดับความน่าเชื่อถือให้ ซึ่งก็คือบริษัทจัดอันดับเครดิตนั่นเอง บริษัทจัดอันดับน่าเชื่อถือในประเทศไทยมีอยู่ 2 แห่งคือ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด และบริษัท ฟิทช์เรทติ้งส์(ประเทศไทย) จำกัด ก่อนซื้อตราสารหนี้ต้องดูอันดับเครดิตที่บุคคลที่ 3 เหล่านี้จัดด้วย เพื่อประกอบความน่าเชื่อถือการลงทุน นักลงทุนมือใหม่หรือระดับกลางทั่วไป ควรเลือกพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์ระดับลงทุนเท่านั้น หรือในอีกแง่หนึ่งคืออันดับเครดิตตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ในขณะที่สินทรัพย์ที่ไม่ได้รับการจัดอันดับเครดิต และสินทรัพย์ระดับเก็งกำไร เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เชี่ยวชาญด้านตราสารหนี้โดยเฉพาะ เพราะมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง

ช่องทางการลงจอดบนดาวศุกร์

คนที่สนใจลงทุนในตราสารหนี้เป็นพิเศษ สามารถค้นหาข้อมูลของตราสารหนี้ออกใหม่ และตราสารหนี้ที่ยังมีการเปิดจำหน่ายอยู่ได้ ทางเว็บไซต์ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ข้อเสียอีกข้อหนึ่งของตราสารหนี้คือ ใช้เงินลงทุนค่อนข้างมาก สำหรับใครที่มีเงินน้อยแต่อยากลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนรวมตราสารหนี้จะตอบโจทย์มากกว่า เพราะเริ่มต้นด้วยเงินไม่มาก และทยอยซื้อต่อเนื่องได้ง่าย

บทที่ 12 ธรณีนี่นี้ใครครอง

เจ้าของที่มากกว่าหนึ่ง

เมื่อพูดถึงการลงทุนเกือบทุกคนก็คิดถึงหุ้นเป็นอันดับหนึ่ง เพราะหุ้นมักเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดีมากในระยะยาว ถ้าเลือกถูกก็ให้ผลตอบแทนอย่างดี หุ้นหรือตราสารทุนคือ สัดส่วนความเป็นเจ้าของของบริษัทจดทะเบียน เวลากิจการต่าง ๆ ต้องการขยายธุรกิจ แต่ไม่อยากกู้เงินธนาคาร วิธีหนึ่งคือเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อย โดยทุกคนสามารถร่วมเป็นเจ้าของกิจการได้

แต่บริษัทที่จะขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้ จะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน และผ่านเกณฑ์การนำมาระดมทุนเสียก่อน ซึ่งจะมีความโปร่งใสของข้อมูลมากกว่าธุรกิจที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมให้นักลงทุนรายย่อยลงทุนได้อย่างปลอดภัย ตลาดหุ้นจึงอนุญาตให้คนที่มีเงินแค่ 100 เดียว เป็นเจ้าของท่าอากาศยานอันดับ 1 ของชาติ ร้านสะดวกซื้อที่มีสาขาอยู่ทั่วทุกมุมถนน ธนาคารที่ถือเงินไว้เป็นล้าน ๆ แต่จะได้เป็นเจ้าของหนึ่งในกี่ล้านส่วนนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

พลังที่ยิ่งใหญ่มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง

มีคำกล่าวหนึ่งในโลกของการลงทุนว่า ยิ่งความเสี่ยงสูงเท่าไหร่ ผลตอบแทนคาดหวังก็ยิ่งสูงเท่านั้น เช่นเดียวกันหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน หุ้นถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจมาก เพราะเราสามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ด้วยเงินไม่มาก มีโอกาสได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนต่างราคาและเงินปันผลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้หุ้นยังดีกว่าธุรกิจส่วนตัวในแง่ของสภาพคล่องที่สูงมาก

หุ้นวิเศษและถิ่นที่อยู่

หุ้นซื้อขายผ่านตลาดรองทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปัจจุบันมี 2 ตลาดคือ SET และ mai แต่ในทางปฏิบัติไม่มีความแตกต่างเท่าไหร่นัก เพราะซื้อขายได้เหมือนกัน โดยนักลงทุนรายย่อยต้องซื้อขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาต หรือที่เรียกกันติดปากว่าโบรกเกอร์ เพื่อให้โบรกเกอร์เป็นคนกลางในการจัดการโอนหุ้นและโอนเงินระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หุ้นซื้อขายผ่านทางโบรกเกอร์เป็นหลัก โดยทำได้หลายวิธี ถ้าแบบดั้งเดิมคือการโทรไปที่บริษัทโบรกเกอร์  เพื่อสั่งซื้อขายผ่านผู้ดูแลนักลงทุนส่วนตัว แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก สามารถสั่งซื้อขายหุ้นผ่านทางเว็บไซต์หรือ Application ด้วยตัวเอง นับเป็นวิธีที่สะดวกมาก ทั้งยังช่วยให้เราตัดสินใจซื้อขายได้รวดเร็วและทันสถานการณ์

เราจะรวยกันแล้ว

กำไรจากหุ้นมาจาก 2 ทางคือ ส่วนต่างราคาและเงินปันผล ส่วนกำไรอีกด้านหนึ่งคือเงินปันผล โดยทั่วไปกิจการจะจ่ายเงินปันผลคืนแก่ผู้ถือหุ้น โดยจัดสรรจากกำไรสุทธิ หากหุ้นที่ถืออยู่ประกาศจ่ายเงินปันผล ก็จะได้เงินส่วนนี้ด้วย เข้าใจว่าการเล่นหุ้นนั้นใช้เงินมาก พอรู้สึกว่าเงินตัวเองไม่มากก็เลยไม่ได้ศึกษา แต่จริง ๆ แล้วมีเงินหลักร้อยก็ลงทุนหุ้นได้แล้ว เพราะการกำหนดซื้อหุ้นขั้นต่ำคือ 1 หุ้น และหุ้นก็มีให้เลือกซื้อตั้งแต่ราคาหน่วยสตางค์ไปถึงหลักพัน แต่โดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่หลักสิบหรือร้อย หมายความว่ามีเงินไม่มากก็ลงทุนได้ แต่อย่าลืมเลือกลงทุนแบบไม่มีค่าคอมมิชชั่นก็แล้วกัน

เพื่อดาวดวงนั้นว่าแต่ดวงไหน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปัจจุบัน มีหุ้นอยู่ประมาณ 700 ตัว ซึ่งก็มีธุรกิจให้เลือกหลากหลาย โดยธุรกิจใหญ่ระดับประเทศส่วนใหญ่ ก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งสิ้น แนวคิดการลงทุนมีหลัก ๆ 2 วิธี ได้แก่ การลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน และการลงทุนตามปัจจัยเทคนิคการลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน คือ การมองภาพธุรกิจ วิเคราะห์กิจการของหุ้นที่อยากลงทุน อ่านงบการเงินและวิเคราะห์การตลาดในอนาคต ขณะที่การลงทุนตามปัจจัยเทคนิคคือ การให้ความสำคัญกับราคาหุ้นเป็นหลัก โดยดูกราฟหุ้นเพื่อติดตามพฤติกรรมราคาและตัดสินใจซื้อขายตามความน่าจะเป็น

ไหนอัญมณีที่หล่นในกรวดทราย

สำหรับคนที่สนใจใคร่รู้ต้องศึกษาเรื่องไหนบ้างก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นสักตัว

1.ปัจจัยมหภาค

ให้พิจารณาจาก PESTEL Analysis ได้แก่การเมือง (Political) เศรษฐกิจ (Economic) โครงสร้างสังคม (Social) เทคโนโลยี (Technological) สิ่งแวดล้อม (Environment) และกฎหมาย (Legal)

  1. ลักษณะอุตสาหกรรม

ให้พิจารณาจาก 5 Forces Model ได้แก่ ปัจจัยจากลูกค้า ปัจจัยจากผู้ค้า ปัจจัยจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมเอง ปัจจัยจากผู้เล่นรายใหม่ และปัจจัยจากสินค้าทดแทน

  1. พื้นฐานบริษัทเชิงคุณภาพ

บริษัททำธุรกิจอะไร และมีโครงสร้างกิจการอย่างไร แนะนำให้พิจารณาจาก Business Model Canvas

  1. พื้นฐานบริษัทเชิงปริมาณ

บริษัทมีงบการเงินอย่างไร และงบการเงินมีคุณภาพมากแค่ไหน แนะนำให้พิจารณาจากงบการเงินทั้งหมด

  1. ผู้บริหารและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้ตัวบริษัทคือ คนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทนั้น ไล่ตั้งแต่ผู้บริหาร ที่ปรึกษาไปจนถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ นักลงทุนควรสืบค้นประวัติ แรงจูงใจ หรือโอกาสที่จะทุจริตของแต่ละคนอย่างละเอียด

  1. โอกาสเติบโต

นักลงทุนควรวิเคราะห์โอกาสเติบโตของรายได้ กำไรสุทธิ และเงินปันผลของบริษัท

  1. มูลค่าพื้นฐานของกิจการ

บริษัทควรมีมูลค่าเท่าไหร่ นักลงทุนต้องพิจารณาถึงปัจจัยที่จะใช้ประเมินมูลค่าอย่างสมเหตุสมผล

  1. กลยุทธ์การลงทุน

ก่อนจะซื้อขายหุ้นทุกครั้ง นักลงทุนต้องมีแผนในใจเสมอว่า จะมีเป้าหมายการลงทุนอย่างไร เมื่อไหร่จะซื้อ เมื่อไหร่จะถือ และเมื่อไหร่จะขาย การวางแผนไว้ล่วงหน้าจะทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพ ส่วนการมีแผนมีวินัยและมีระบบ ช่วยให้อยู่รอดในระยะยาว

  1. การจัดพอร์ตโฟลิโอ

นอกจากจะซื้อหุ้นใหม่แล้ว นักลงทุนยังต้องเรียนรู้ด้วยว่าจะซื้อหุ้นในปริมาณเท่าไหร่รวมถึงการจัดสรรความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ

  1. จิตวิทยาการลงทุน

นักลงทุนต้องรู้จักตัวเองและรู้จักผู้อื่นด้วยว่า แต่ละคนกำลังคิดอะไร หรือมีความรู้สึกแบบไหน

ดาวอังคารคือความหวังจริงหรือ

เราสามารถลงทุนในหุ้นได้โดยไม่ต้องเลือกหุ้นเอง ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นนั่นเอง สำหรับคนที่อาจไม่มีเวลา ไม่เชี่ยวชาญ หรือไม่ได้มีความสนใจเพียงพอที่จะลงทุนด้วยตัวเอง โดยจะสรุปข้อดีของการเลือกกองทุนรวมหุ้นแทนลงทุนในหุ้นดังนี้

  1. ตัดสินใจโดยผู้เชียวชาญ

ผู้จัดการกองทุนรวมต้องมีการสอบใบอนุญาตความรู้ด้านการเงิน และการลงทุนเป็นอย่างดี เราไม่ได้มีความรู้มากมายการ เลือกกองทุนรวมก็ดูปลอดภัยกว่า

  1. ใช้เวลาไม่มาก

การเลือกกองทุนรวมยากสุดตรงเลือกกองทุนรวมในตอนแรก หลังจากนั้นก็เพียงติดตามผลการลงทุนแต่ละระยะ ซึ่งอาจหมายถึง 3 เดือน 6 เดือนหรือ 1 ปี

  1. มีโอกาสเข้าถึงการลงทุนได้มากกว่านักลงทุนรายย่อย

กองทุนรวมบางกองทุนสามารถลงทุนในสินทรัพย์หรือตลาดที่นักลงทุนรายย่อยเข้าเองไม่ได้

บทที่ 13 ขุดขึ้นจากดินสร้างก่อด้วยหินบินฟ่องล่องลอย

ขุดขึ้นจากดิน

ที่ดาวพฤหัสบดีมีสินทรัพย์อีก 2 ประเภทนั่นคือ

สินค้าโภคภัณฑ์ คือ สินค้าหรือบริการที่มีความแตกต่างกันน้อยมาก ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ผลิตก็ตาม

สินค้าโภคภัณฑ์แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักคือ 1. กลุ่มที่เป็นปิโตรเลียมและโลหะมีค่า 2. กลุ่มที่เป็นผลิตภัณฑ์จากทางการเกษตร

สวรรค์แห่งความปลอดภัย

ทองคำได้รับสมญานามในโลกของการลงทุนว่า Safe Haven หรือสวรรค์แห่งความปลอดภัย เนื่องจากมีลักษณะคล้ายกับสกุลเงินที่ไม่ฝักไฝ่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ทองคำสามารถแปรเปลี่ยนไปเป็นสกุลเงินใด ๆ ในโลกได้ง่าย แต่ก็ไม่ได้เป็นเงินสกุลใดของโลกอย่างแท้จริง จึงเป็นสินทรัพย์สำคัญที่คนมองหา เวลาตลาดการเงินโลกเกิดปัญหา คนที่ไม่มั่นใจที่จะถือเงินสกุลใดสกุลหนึ่ง ก็จะหันมาถือทองคำแทน ทองคำไม่ใช่สินทรัพย์สำหรับการออม แต่เป็นสินทรัพย์สำหรับลงทุน ทองคำเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาผันผวนไปตามราคาโลก อาจพิจารณากราฟราคาประกอบการซื้อขาย หรือซื้อเก็บไว้ในพอร์ต เพื่อถัวเฉลี่ยความเสี่ยงจากตลาดการเงินโลก

ดินอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบันมีสินทรัพย์อีกอย่างที่ได้รับความนิยมขึ้นมากคือ สกุลเงินดิจิตอลต่าง ๆ ที่โด่งดังที่สุดคงหนีไม่พ้น Bitcoin สกุลเงินดิจิตอลมีลักษณะคล้ายกับทองคำคือ เป็นสกุลเงินที่ไม่ขึ้นตรงกับประเทศใดประเทศหนึ่ง สกุลดิจิตอลใช้ระบบความน่าเชื่อถือของระบบบล็อกเชนมาสนับสนุน ร่วมกับการมีอยู่จำกัด ทำให้สกุลเงินเหล่านี้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ และนำมาใช้ในการแลกเปลี่ยนซื้อขายไม่ต่างจากเงินสกุลปกติ สกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้ก็มีความผันผวนไม่ต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วไป โดยราคาจะเปลี่ยนไปตามความต้องการซื้อและขายของตลาด

สร้างก่อด้วยหิน

หากให้นับสินทรัพย์ที่ต่อสู้กับเงินเฟ้อได้ดี อสังหาริมทรัพย์น่าจะได้รับการพูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์นั้นทำได้ 2 แบบดังนี้

  1. มุ่งส่วนต่างราคา

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบนี้ เหมือนกับการซื้อมาขายไปปกติคือ เน้นซื้อให้ถูกและขายให้แพง

  1. เน้นกระแสเงินสด

การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบนี้ เหมือนกับการซื้อหุ้นกินปันผลคือ เน้นซื้อทรัพย์สินที่ดี และหากระแสเงินสดในระยะยาว โดยทั่วไปกระแสเงินสดจะมาจากการปล่อยเช่า

แต่หินมันแพงนะ

หลายคนฝันถึงการมีอสังหาริมทรัพย์ที่มั่นคง และเราก็กินเงินค่าเช่าจนแก่ตาย ฟังแล้วดูดีแต่ราคาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่นั้นแสนแพง หากจะซื้อคอนโดมิเนียมสักห้องหรือบ้านเช่าสักหลัง เราอาจจะต้องใช้เงินหลักล้านหรือหลายล้าน แต่ถ้าอยากได้สินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงขึ้น ราคาก็แพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ดีในแง่การสร้างกระแสเงินสด เนื่องจากให้ผลตอบแทนที่สมน้ำสมเนื้อและมีความมั่นคง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นอีกทางเลือกที่ดี สำหรับคนที่สนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่มีเงินถุงเงินถัง กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เป็นกองทุนปิดต้องซื้อขายผ่านตลาดรอง ซึ่งในที่นี้คือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ใครที่ไม่สะดวกหรือต้องการลงทุนแบบอัตโนมัติ การลงทุนในกองทุนรวมที่ไปลงทุนต่อในกองทุนรวม เป็นทางเลือกที่ดี

บินฟ่องล่องลอย

ตราสารอนุพันธ์ สินทรัพย์นี้ผันผวนที่สุดและยากที่สุด ตราสารอนุพันธ์คือ ตราสารทางการเงินที่มีมูลค่านั้นขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อ้างอิง แต่ตัวมันไม่ได้มีมูลค่าเงินสดในตัวมันเอง โดยทั่วไปจะเป็นพวกสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ล่องลอยไปในอวกาศ

ตราสารอนุพันธ์จัดเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงมาก ต้องใช้ความเชียวชาญในการลงทุนสูง คาดหวังผลตอบแทนปีละเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ ในด้านทางตรงกันข้าม ความเสี่ยงก็จะสูงจนถึงขั้นหมดตัว

บทที่ 14 ยืมมือคนอื่นรวย

กลับสู่โลกของกองทุนรวม

โลกแห่งกองทุนรวม เมื่อหักลบกลบหนี้ข้อดีข้อเสียแล้ว กองทุนรวมดูจะเหมาะสมที่สุดสำหรับคนที่เริ่มต้นลงทุน แถมยังเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการวางแผนการเงินอีกด้วย เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่น ๆ แล้ว แทบขาดกองทุนรวมไม่ได้เลย กองทุนรวมคือ การระดมเงินจำนวนมากเพื่อก่อตั้งกองทุน แล้วจ้างผู้เชียวชาญที่เรียกว่าผู้จัดการกองทุนมาบริหาร เพื่อจัดการซื้อขายหากมีดอกผลการลงทุนจากสินทรัพย์ที่ตกลงกันไว้ในนโยบายของกองทุนรวม และแบ่งกำไรตามสัดส่วนของการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมนั้น ผู้จัดการกองทุนก็ได้ค่าบริหารไปเป็นเปอร์เซ็นต์ของทรัพย์สินรวม

ข้อดีของกองทุนรวมคือ

  1. มีผู้เชียวชาญคอยบริหารให้
  2. กระจายความเสี่ยงได้ดี
  3. ช่วยให้เข้าถึงสินทรัพย์บางประเภทได้

ข้อเสียของกองทุนรวมคือ

  1. มีค่าธรรมเนียม
  2. เราไม่มีอำนาจบริหาร
  3. ผลตอบแทนอาจจะน้อยกว่าการลงทุนเอง

มีอะไรบางอย่างบนพิภพ

มีสินทรัพย์มากมาย เพราะกองทุนรวมคือการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เหล่านั้น หลักการพิจารณาความเสี่ยงและผลตอบแทน จึงเหมือนกับการพิจารณาสินทรัพย์เหล่านั้นโดยตรง เพียงแต่มีผู้เชียวชาญมาคอยดูแลให้ ดังนั้นเราต้องเลือกก่อนว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน  คาดหวังผลตอบแทนประมาณเท่าไหร่ หรือรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ควรพิจารณาเลือกกองทุนรวมแต่ละประเภทอีกที

ลดหย่อนภาษีดีหรือเปล่า

กองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีในปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภทได้แก่

  1. กองทุน SSF (Super Savings Fund)

กองทุน SSF หรือกองทุนรวมเพื่อการออม คือ กองทุนที่ตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการออมของประชาชน เป็นค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 2 แสนบาทและต้องถือต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากวันซื้อ ไม่มีขั้นต่ำและไม่มีข้อกำหนดการซื้อต่อเนื่อง

  1. กองทุน RMF (Retirement Mutual Fund)

กองทุน RMF หรือกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ คือ กองทุนที่สนับสนุนการลงทุนเพื่อการเกษียณของประชาชน ใช้ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 50,000 บาท และต้องถือต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ต่ำกว่า 5 ปี ขึ้นกับระยะเวลาใดจะยาวนานกว่า ไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ แต่ต้องซื้อต่อเนื่องขั้นต่ำปีเว้นปี

หลังจากวางแผนเลือกซื้อกองทุนรวมเรียบร้อยแล้ว เราต้องตัดสินใจต่อว่าจะเลือกกองทุนรวมแบบธรรมดาหรือกองทุนรวมประหยัดภาษีดี กองทุน SSF และ RMF มีข้อดีในแง่ลดหย่อนภาษีได้ แต่ก็มีเงื่อนไขการถือครองระยะยาวนาน เหมาะกับเป้าหมายการลงทุนระยะยาวเป็นหลัก

ก่อนจะลงหลักปักฐาน

วิธีเลือกกองทุนดังนี้

  1. ดูนโยบายหลัก

ต้องรู้ก่อนว่าอยากลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน หรืออสังหาริมทรัพย์ โดยอาจเลือกจากผลตอบแทนคาดหวัง

  1. ดูนโยบายรอง

นอกจากนโยบายหลักแล้ว แต่ละกองทุนก็มีนโยบายที่เฉพาะเจาะจง

  1. ดูสินทรัพย์ที่ลงทุน

แม้ว่าจะเป็นกองทุนรวมประเภทเดียวกัน แต่สินทรัพย์ที่ลงทุนก็แตกต่างกัน ตามที่ผู้จัดการกองทุนเลือก

  1. ดูเงื่อนไขภาษี

หากเราสนใจกองทุนรวม SSF กับ RMF ที่มีนโยบายกองทุนรวมแบบเดียวกัน ก็เลือกได้ว่าจะลดหย่อนภาษีด้วยหรือเปล่า

  1. ดูผลตอบแทนย้อนหลัง

หลังจากเลือกนโยบายทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็ประเมินเรื่องผลตอบแทนกันต่อ

  1. ดูค่าธรรมเนียม

ค่าธรรมเนียมกองทุนถือเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะมีส่วนกำหนดผลตอบแทนในอนาคต

  1. ดูความเสี่ยง

นอกจากดูผลตอบแทนแล้ว การดูโอกาสความเสี่ยงที่จะขาดทุนก็สำคัญมาก นักลงทุนควรวางกรอบตั้งแต่ต้นว่า ตัวเองแบกรับการขาดทุนได้ไม่เกินเท่าไหร่

  1. ดูนโยบายจ่ายปันผล

ถ้ามีกองทุนที่เหมือนกันทุกประการ แต่มีให้เลือกระหว่างปันผลกับไม่ปันผล แนะนำแบบไม่ปันผลมากกว่า เพราะการวางแผนการเงินคือ การลงทุนทบต้นในระยะยาว

  1. ดูเงื่อนไขการซื้อ

ข้อนี้ก็สำคัญเพราะบางกองทุนกำหนดยอดซื้อขั้นต่ำในแต่ละครั้ง ต้องคำนวณดูว่าตัวเองมีเงินตามกำหนดขั้นต่ำหรือเปล่า

  1. ดูเงื่อนไขการขายคืน

ข้อนี้สำคัญน้อยที่สุดแต่ก็ต้องศึกษาไว้ โดยเฉพาะเรื่องของเวลาที่จะได้รับการคืนหลังจากการขาย

เข้าใจได้ใช้เป็น

เราต้องกำหนดให้ได้ก่อนว่าเราชอบกองทุนรวมที่มีนโยบายแบบไหน แล้วคัดเลือกกองทุนรวมที่ดีที่สุดซัก 10 กอง ในประเภทนั้น ๆ มาเปรียบเทียบกัน เพื่อเลือกกองทุนที่ชอบที่สุด จัดกลุ่มวิธีดูกองทุนใหม่เป็นดังนี้

  1. นโยบายการลงทุนและสินทรัพย์ที่ลงทุน
  2. ผลตอบแทนย้อนหลัง
  3. ค่าธรรมเนียม
  4. ความเสี่ยงส่วนเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นเพียงปัจจัยรอง

บทที่ 15 เทส่วนผสมทุกอย่างลงในหม้อ

แผนการเงินที่สมบูรณ์ บูรณาการทุกอย่างลงไปในแผนการเงิน ที่จะนำมาใช้เป็นตัวอย่างในบทนี้

1คิดรายได้รวม

รายได้รวม = รายได้จากเงินเดือน + รายได้จากค่าลิขสิทธิ์

  1. วางแผนประกันชีวิต

ทุนประกัน =  2.5 เท่าของรายได้ต่อปี

  1. ค่าใช้จ่ายจำเป็น

ค่าใช้จ่ายจำเป็น = ค่าเดินทาง + ค่าอาหาร + ค่าผ่อนบ้าน

+ ค่าสาธารณูปโภค + ค่าประกันสังคม

+ ค่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ + ค่าประกันชีวิต

  1. คิดเงินออมฉุกเฉิน 

เงินออกฉุกเฉิน =  10 x ค่าใช้จ่ายจำเป็น

  1. คำนวณเงินที่ต้องการใช้ยามเกษียณ

เงินเดือนเกษียณในอนาคต = เงินเดือนเกษียณปัจจุบัน x (1 + อัตราเงินเฟ้อ)ปี

  1. คำนวณเงินบำนาญจากประกันสังคม

เงินบำนาญ = ( 20% + อัตราปรับเพิ่ม) x ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย

  1. คำนวณเงินเดือนเกษียณที่ต้องเก็บเพิ่ม

เงินเดือนเกษียณที่ต้องเก็บเพิ่ม = เงินเดือนเกษียณ – เงินบํานาญประกันสังคม

  1. คำนวณเงินก้อนเกษมที่ต้องเก็บ

เงินก้อนเกษียณ = (เงินเดือนเกษียณ x 12) ÷ (ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับ – อัตราเงินเฟ้อ)

  1. คำนวณเงินที่คาดว่าจะได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ( fv) เมื่อ

PV = 0

PMT = 0.05 x 3500 x2 =3,500

Annual Rate = 7.5%

Periods = 420

จะเท่ากับ 7,107,667 บาท

  1. คำนวณเงินก่อนเกษียณที่ต้องเก็บเพิ่ม

เงินก้อนเกษียณที่ต้องเก็บเพิ่ม = เงินก้อนเกษียณ – จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

  1. คำนวณค่าใช้จ่ายตามต้องการ

ค่าใช้จ่ายตามต้องการ = รายได้ – ค่าใช้จ่ายจำเป็น – เงินออม เงินลงทุน

 12 คำนวณภาษีได้บุคคลธรรมดา

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน

 13 วิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไร

กำไรสุทธิ = รายได้ – ค่าใช้จ่ายจำเป็น – ค่าใช้จ่ายตามต้องการ

  1. วิเคราะห์ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด

กระแสเงินสดคงเหลือ = กระแสเงินสดเข้า – กระแสเงินออก

กระแสเงินสดคงเหลือ=กระแสเงินสดเข้า – ค่าใช้จ่ายหลังปรับเป็นก้อนจ่ายตามจริง

  1. วิเคราะห์ความสามารถในการอยู่รอด

ความมั่งคั่งสุทธิ=สินทรัพย์รวม – หนี้สินรวม

ความมั่งคั่งสุทธิ=(มูลค่าบ้านตามสัดส่วนถือ+เงินสด )-(ค่างวด x จำนวนงวด)

  1. สรุปการบันทึกกระบวนการทุกอย่างในการทำแผนการเงิน

ทำกระบวนการข้างต้นทั้งหมดอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะนึกได้ พยายามเขียนอธิบายความหมายต่าง ๆ เพื่อต้องกลับมาแก้ไขในอนาคตจะได้ไม่ต้องนึกนาน วิธีที่ดีที่สุดคือการบันทึกในไฟล์ Excel และผูกสูตรคำนวณไว้อัตโนมัติ เมื่อจะปรับแก้สมมติฐานตรงไหน ก็ให้สมองกลคอมพิวเตอร์ปรับปรุงแผนใหม่แทนเราได้เลย

  1. ติดตามปรับปรุงแผนอย่างต่อเนื่องทุก 3 เดือน

ระยะเวลา 3 เดือนเป็นเวลาที่ดีที่เราจะทบทวนแผนการเงินเสียใหม่ ว่ามีอะไรขาดตกบกพร่องหรือมีอะไรที่ต้องแก้ไขหรือไม่

หลักสูตร Money Lecture จบแล้ว

หลักสูตรนี้เป็นการปูพื้นฐาน ให้คุณมองภาพการเงินได้เข้าใจรอบด้าน และวางแผนได้จริง

บทที่ 16 เงินไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต

สุดท้ายพวกเราก็หาเงินไปเพื่อความสุขทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่เกิดจากไม่ขาดแคลน หรือความสุขจากการใช้ชีวิตหรูหรา เงินมีค่าแต่เมื่อมีมากถึงจุดหนึ่ง การเติบโตของความสุขเหมือนกับปริมาณเงินจะไม่มากมายเช่นเดิมแล้ว มันก็อยู่ตรงนั้น กองอยู่ตรงนั้น ก็ลงทุนในหุ้นหรือกองทุน อาจจะไม่ได้คิดแม้แต่จะถอนออกมาใช้ด้วยซ้ำ แต่แค่เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันไป หาจุดสมดุลในชีวิตให้เจอ สุขอยู่ตรงไหน เงินแค่ไหน เหยียบย่ำทุกก้าวไปด้วยสติที่เต็มเปี่ยม วางแผนการเงินอย่างละเอียด เพื่อให้รู้ว่าต้องออมเท่าไหร่หรือลงทุนเท่าไหร่ถึงจะใช่ เงินที่เหลือเก็บก็เก็บไว้ใช้บ้าง แล้วโปรดหาเงินอย่างมีความสุข.

สั่งซื้อหนังสือ Money Lecture เรียนหนึ่งครั้งใช้ได้ทั้งชีวิต ได้ที่นี่ : คลิ๊ก