จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด

สั่งซื้อหนังสือ “จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด” คลิ๊ก

สรุปหนังสือ MINDREADER จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด

หนังสือเล่มนี้พูดถึงพื้นฐานความรู้ใหม่ ๆ โดยอ้างอิงถึงความรู้เกี่ยวกับสัญญาณและภาษากายแบบเก่า ซึ่งล้าสมัยไปแล้วเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้สามารถก้าวข้ามกลวิธีอ่านคนที่มีแบบแผนตายตัวซึ่งผู้คนอ้างว่า สามารถเปิดเผยความคิดในส่วนลึกของจิตใจได้อย่างน่าทึ่ง ด้วยการสังเกตแค่จากการแต่งตัว คำถามคือการสวมสร้อยที่มีสัญลักษณ์ทางศาสนา สะท้อนถึงการยึดถือค่านิยมทางจิตวิญญาณอย่างแรงกล้าได้จริงหรือ คำตอบคือไม่จริงเสมอไป คน ๆ นั้นอาจจะสวมมันเพื่อชดเชยความรู้สึกผิดบาปที่ทำตัวตรงข้ามกับหลักการสูงส่งนั้นอยู่ หรือบางทีอาจสวมมันด้วยเหตุผลทางความรู้สึก เช่น สร้อยเส้นนั้นเป็นของตกทอดจากคุณยายก็เป็นได้

หากสูทเต็มยศกับรองเท้าหนังเงาวับบ่งบอกถึงความทะเยอทะยานแล้ว กางเกงผ้ายืดแสดงถึงความเกียจคร้านหรือเปล่าไม่เลยสักนิด คนที่แต่งตัวตามสบายอาจทำไปเพราะมั่นใจในตัวเอง และไม่สนใจว่าใครจะคิดอย่างไร หรืออาจรู้สึกไม่มั่นคงแต่พยายามแสดงออกว่าไม่ใส่ใจใครก็ได้ อีกกลวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันคือ การสันนิษฐานจากพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง ซึ่งไม่สมเหตุสมผลเลยสักนิด ถ้าพึ่งการสันนิษฐานแบบผิวเผินเหล่านี้ ก็จะมีโอกาสอ่านคนผิดอยู่เรื่อย ๆ แล้วอะไรที่ใช้ได้จริง ทั้งหมดที่ต้องทำคือจดจ่อกับองค์ประกอบสำคัญบางข้อ ซึ่งจะเป็นแว่นขยายที่เผยให้เห็นภาวะทางจิตใจ ความคิด ความรู้สึก รวมถึงสิ่งที่มีค่าที่สุดนั่นคือ ระดับความซื่อสัตย์ และสุขภาวะทางอารมณ์ของอีกฝ่าย

ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถนำเทคนิคไปใช้ได้ โดยไม่ต้องพบหน้าอีกฝ่ายจริง ๆ เพราะบ่อยครั้งก็ได้ฟังอีกฝ่ายผ่านบันทึกการสนทนา สุนทรพจน์ เทปบันทึกเสียง ข้อความเสียง หรือแม้กระทั่งได้อ่านจากอีเมล ความสามารถในการอ่านใจโดยไม่ต้องพบกับอีกฝ่ายโดยตรงจะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในยุคที่ผู้คนต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือประชุมออนไลน์ ซึ่งไม่สามารถอ่านสีหน้าหรือภาษากายกันได้อย่างสิ้นเชิง หากอยู่ในสถานการณ์ที่มีเดิมพันสูงขอให้ค่อย ๆ ใช้เวลาในการทำความเข้าใจอีกฝ่ายให้ถ่องแท้

ระหว่างที่เรียนรู้เกี่ยวกับผู้อื่นมากขึ้น หวังว่าจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้นเช่นกัน และเมื่อตระหนักรู้ในตัวเองมากขึ้นจะมีโอกาสทำให้ตัวเองมีสุขภาพจิต ชีวิต และความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น จะมีข้อได้เปรียบในการวิเคราะห์ทุกการสนทนา และทุกสถานการณ์ในชีวิตเมื่อพัฒนาความสามารถในการหยั่งรู้ว่า คนรอบตัวคิดอย่างไร ต้องการอะไรและเป็นคนอย่างไรเรียบร้อยแล้ว

ส่วนที่ 1 เผยจิตใต้สำนึก

บทที่ 1 จริง ๆ แล้วพวกเขาคิดอะไรอยู่

หากตั้งใจพิจารณาสิ่งที่ผู้คนพูด วิธีที่พวกเขาพูดทั้งรูปแบบภาษา และโครงสร้างประโยค จะมองออกว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ การสนทนาของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จะแบ่งออกได้เป็น 3 มุมมองต่อไปนี้

สรรพนามบุรุษที่ 1 หรือผู้พูดได้แก่ ฉันและของฉัน หรือเราและของเรา

สรรพนามบุรุษที่ 2 หรือผู้ฟังได้แก่ คุณและของคุณ

สรรพนามบุรุษที่ 3 หรือผู้ที่ถูกกล่าวถึงได้แก่ เขาและของเขา เธอและของเธอ หรือพวกเขาและของพวกเขา

เมื่อมองเผิน ๆ สรรพนามเหล่านี้อาจดูเหมือนคำที่ใช้แทนคำนาม เพื่อไม่ให้ต้องพูดคำเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ถ้ามองในมุมภาษาศาสตร์เชิงจิตวิทยา (psycholinguistic) สรรพนามสามารถเผยให้เห็นว่าคนคนนั้นกำลังพยายามรักษาระยะห่าง หรือแยกตัวออกจากคำพูดของตัวเองโดยสิ้นเชิงอยู่หรือไม่ ในทำนองเดียวกันกับคนที่โกหกอย่างไร้เล่ห์เหลี่ยม อาจหลบตาเพราะการสบตาคือการเพิ่มความใกล้ชิด และทำให้คนที่กำลังโกหกรู้สึกผิดมากขึ้นเรื่อย ๆ จิตใต้สำนึกของคนเหล่านี้มักหาวิธีเว้นระยะห่างจากคำพูดของตัวเอง

ดังนั้น การเลี่ยงไม่ใช้สรรพนามแทนตัวเอง จึงเป็นการกระทำที่ส่งสัญญาณว่าคน ๆ นั้นไม่อยากรับผิดชอบในคำพูดของตัวเอง ตัวอย่างการกล่าวคำชมในชีวิตประจำวัน ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งเชื่อมั่นในคำพูดของตัวเอง เธอมักจะใช้สรรพนามแทนตัวเองเช่น ฉันชอบการนำเสนอของคุณจริง ๆ แต่ถ้าหากเธอพยายามประจบประแจงอย่างไม่จริงใจก็อาจใช้คำพูดว่า การนำเสนอยอดเยี่ยมเลย วิธีพูดแบบนี้แสดงให้เห็นว่าเธอดึงตัวเองออกจากสนทนาโดยสิ้นเชิง ผู้ที่อยู่ในแวดวงการบังคับใช้กฎหมายคุ้นเคยกับหลักการนี้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าไม่สามารถตัดสินความซื่อสัตย์ของใครได้จากการฟังคำพูดเพียงประโยคเดียว แต่มันถือเป็นเบาะแสแรกที่สำคัญ

สร้างระยะห่างผ่านการใช้ภาษา

การเปลี่ยนรูปประโยคที่ประธานเป็นผู้กระทำ (active voice) ไปเป็นรูปประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ (passive voice) ก็อาจบ่งบอกถึงความไม่จริงใจได้ การใช้รูปแบบประโยคที่ประธานเป็นผู้กระทำนั้นมีความชัดเจนและตรงไปตรงมา โดยแสดงออกว่าคน ๆ นั้นหรือคนกลุ่มนั้นเป็นผู้กระทำอะไรบางอย่างในประโยคด้วยตัวเอง ส่วนการใช้รูปประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ เป็นการบ่งบอกว่าประธานเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยคนอื่นหรือสิ่งอื่น เมื่อใช้ภาษาในแบบที่ดึงตัวเองออกจากการเป็นผู้กระทำ ก็เหมือนกับได้ส่งข้อความที่ซ่อนไว้ ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่คิดอยู่ในใจออกไป การใช้รูปประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ หรือเลี่ยงไม่ใช้บุรุษสรรพนามจะช่วยลดแรงกระแทกของข้อความที่อาจถูกตีความแบบผิด ๆ หรือก่อให้เกิดการเผชิญหน้า เพราะรูปประโยคที่ประธานเป็นผู้กระทำ และมีการใช้สรรพนามแทนตัวเอง จะถ่ายทอดความหนักแน่นไปที่ข้อความ จึงเป็นการบ่งบอกถึงความพึงพอใจ และความภาคภูมิใจด้วย

จุดแบ่งแยกสำคัญ

การใช้ภาษาเพื่อสร้างระยะห่างมีอยู่หลายประเภท มีจุดสังเกตทางภาษา 2 ประการ โดยประการแรกคือภาวะทางความรู้สึกที่รุนแรง มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างไวยากรณ์ที่เรียบง่ายกว่า ไม่ใช่โครงสร้างที่หรูหรากว่า ประโยคที่เต็มไปด้วยความรู้สึกและความจริงใจ จะกระชับและตรงประเด็น การใช้มุกซ้ำซากและการเปรียบเปรยที่น่าสงสัยมากเช่นกัน บางคนมักใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อสร้างภาพให้ตัวเองดูเป็นคนอ่อนไหว ซึ่งเป็นการพยายามถ่ายทอดความรู้สึกที่ไม่มีอยู่จริง การผลิตความรู้สึกกินพลังทางความคิดอย่างมาก คนเหล่านี้จึงหันไปใช้คำพูดที่หยิบยืมมา

การใช้คำสุภาพ

คำบางคำจะกระตุ้นความรู้สึกเชิงลบ ส่วนคำสุภาพ (euphemisms) ช่วยลดผลกระทบทางความรู้สึกได้ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมพนักงานขายที่ดีจึงไม่บอกว่า ลงชื่อในสัญญานี้ แต่มักจะให้คำแนะนำว่า ลองดูว่าเอกสารโอเคไหม แม้ว่าทั้งสองประโยคจะนำไปสู่การกระทำเดียวกัน แต่โดยสัญชาตญาณลึก ๆ แล้ว จะรู้สึกระแวดระวังเมื่อต้องลงชื่อในสัญญา โดยไม่มีโอกาสให้ทนายตรวจสอบเสียก่อน ในขณะที่การดูว่าเอกสารโอเคไหม เป็นสิ่งที่ทำได้โดยไม่ต้องกังวลอะไรมาก การใช้คำสุภาพบอกกลาย ๆ ว่าผู้พูดต้องการลดทอนหรือเบนความสนใจจากความตรงไปตรงมา และอาจจะพยายามลดก็เรียกร้อง หรือภาระรับผิดชอบซึ่งกังวลว่าสิ่งที่พูดไปจะไม่ได้รับการยอมรับ รู้สึกไม่ดีกับสิ่งที่กำลังพูด หรือทุกข้อรวมกัน

นี่กับนั่น

จิตใต้สำนึกของผู้พูดมักเชื่อมโยงกับตัวผู้พูด ผู้ฟัง เนื้อหาของการสนทนา หรือวัตถุประสงค์ของการสนทนา ซึ่งมักจะเชื่อมโยงผ่านสิ่งที่เรียกว่าความใกล้ชิดเชิงพื้นที่ (spatial immediacy) คำกริยาวิเศษณ์อย่าง นี้กับนั่น เหล่านี้กับเหล่านั้น และนี่กับนั่น แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนหรือสิ่งของต่าง ๆ กับตัวผู้พูด ภาษาที่สะท้อนถึงความใกล้ชิด และการเชื่อมโยงมีความสัมพันธ์กับความรู้สึกของผู้พูดก็จริง แต่ไม่ควรด่วนสรุปว่ามันเหมือนกับการใช้ภาษาเพื่อสร้างระยะห่าง เรื่องนี้มีความซับซ้อนทางจิตวิทยาอยู่มากมาย

เนื่องจากการใช้ภาษาเพื่อสร้างระยะห่างนั้น อาจสะท้อนถึงกลไกการป้องกันตัวทางจิตวิทยาที่เรียกว่า การแยกตัว (detachment) สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงพื้นฐานของการใช้ภาษา ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในวงแคบ ๆ คำพูดเพียงประโยคเดียวไม่สามารถพิสูจน์ได้ทุกอย่าง ตัวอย่างเช่น ลองคิดดูว่าคนที่มีบุคลิกแบบเปิดเผย (extrovert) มักชื่นชอบการพูดจากมุมมองของตัวเอง ส่วนคนที่มีบุคลิกแบบเก็บตัว (introvert) มักเว้นระยะปลอดภัยไว้ 1 ช่วงแขนเสมอ คำพูดเพียงประโยคเดียวนี้ไม่สามารถนำมาใช้ยืนยันได้ว่า แต่ละคนมีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด

บทที่ 2 คนเรามองหรือรู้สึกกับคนอื่นอย่างไร

ผู้คนที่อยู่ในแวดวงการบังคับใช้กฎหมายรู้ว่า เหยื่ออาชญากรรมรุนแรงจะไม่ค่อยใช้คำว่าเรา พวกเขามักจะกล่าวถึงเหตุการณ์ในลักษณะที่แยกตัวเองออกจากผู้ก่อเหตุ โดยแทนผู้ที่ทำร้ายพวกเขาด้วยคำว่าเขาหรือเธอและแทนตัวเองว่าฉัน การอธิบายเรื่องราวโดยใช้คำว่าเราในเชิงจิตวิทยา อาจแสดงถึงความสนิทสนมและสื่อความหมายถึงการคบค้าสมาคม ความสัมพันธ์ หรือแม้กระทั่งการให้ความร่วมมือ

สามารถนำข้อมูลนี้ไปใช้สังเกตบทสนทนาที่ไม่มีพิษมีภัยในชีวิตประจำวันได้ ผลการวิจัยชี้ว่าคู่แต่งงานที่ใช้ภาษาที่แสดงถึงความร่วมมือกัน มากกว่าการใช้ภาษาแบบเน้นความเป็นปัจเจกบุคคล จะมีอัตราการหย่าร้างต่ำกว่า และรายงานว่ารู้สึกพอใจในชีวิตแต่งงานมากกว่า

ในแวดวงธุรกิจก็เช่นกัน งานวิจัยพบว่าบริษัทที่พนักงานมักเอ่ยถึงที่ทำงานของตัวเองว่า บริษัทนี้หรือบริษัทนั้นแทนที่จะพูดว่าบริษัทของฉันหรือบริษัทของเรา และเรียกเพื่อนร่วมงานของตัวเองว่าพวกเขาแทนที่จะเป็นเพื่อนร่วมงานของฉัน มักมีกำลังใจในการทำงานต่ำ และมีอัตราการเปลี่ยนงานสูง

สิ่งแทนเชิงสัญลักษณ์

คุณแม่มือใหม่กำลังพับเสื้อผ้าของลูกน้อย เธอยิ้มออกมาระหว่างหยิบเสื้อผ้าตัวจิ๋ว ที่ซื้อมาด้วยความรักออกจากตะกร้าทีละตัวแล้วลูบให้เรียบ เธอเรียงเสื้อผ้าที่สะอาดซ้อนกันอย่างเรียบร้อย และวางลงในลิ้นชักตู้เก็บของเด็ก เธอถอนหายใจด้วยความพึงพอใจ ชื่นชมฝีมือตัวเองแล้วจึงปิดลิ้นชัก จากการที่เธอทำงานบ้านแสนน่าเบื่อด้วยความสุข คุณแม่คนนี้เผยให้เห็นความอิ่มเอมในหัวใจ เธอรักใคร่ทะนุถนอมลูกของเธอ ซึ่งมองออกเพราะเธอจัดการดูแลข้าวของของลูกน้อยด้วยความรักและเอาใจใส่ สิ่งแทนเชิงสัญลักษณ์นี้สามารถเปิดเผยข้อมูลส่วนลึกที่สำคัญ ซึ่งยากที่จะเข้าถึงได้ด้วยวิธีที่ตรงไปตรงมา คนเราทุกคนล้วนเดินอยู่บนพื้นที่ของอารมณ์ตัวเองกับคนอื่น ๆ ผ่านกลไกทางการสื่อสารที่หลากหลาย แค่สังเกตความเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยของภาษา ก็สามารถประเมินได้แล้วว่า ใครต้องการจะสนิทมากขึ้น หรือใครกำลังพยายามสร้างระยะห่างระหว่างพวกเขา หรือคนอื่น ๆ เวลาต้องการรู้ระดับความสนิทใจ ในความสัมพันธ์ใดก็ตามไม่ว่าเก่าหรือใหม่

บทที่ 3 การเผชิญหน้าอย่างจัง

การใช้คำที่เรียกว่าคำเชื่อมโยง (function words) แม้กระทั่งเวลาคุยกับคนแปลกหน้า สะท้อนถึงและส่งเสริมความเชื่อมโยงทางอารมณ์ ซึ่งบ่งบอกว่าพวกเขายอมให้เข้าไปในพื้นที่ของพวกเขา และพัฒนาความสอดคล้องของอารมณ์ระหว่างกัน งานวิจัยพบว่ายิ่งมีการใช้คำเชื่อมโยงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งสามารถคาดหวังผลลัพธ์เชิงบวกร่วมกันได้ในเกือบทุกสถานการณ์ คนที่กำลังโกรธซึ่งไม่สนใจในประสบการณ์ร่วม หรือความเชื่อมโยงกับคนอื่น จะใช้ภาษาที่เป็นรูปธรรมและชัดเจน เพราะมันคือการเผชิญหน้ากัน ไม่มีคำว่าเรา นี่หมายความว่าการใช้รูปแบบภาษาที่ชัดเจน โดยมีประธานและกรรมสมบูรณ์ในประโยค เช่น ผมบอกคุณแล้วว่าอย่าปล่อยให้สุนัขออกไปที่สนามหลังบ้าน

การพบกันครั้งแรก

เมื่อคนสองคนพบกัน ยิ่งพวกเขาเริ่มมีมุมมองร่วมกันได้เร็วเท่าไหร่ พวกเขาจะสามารถแบ่งปันประสบการณ์ และพัฒนาความสัมพันธ์ได้ดีขึ้นเท่านั้น การใช้คำเชื่อมโยงเพิ่มขึ้นไม่เพียงแสดงว่า คนคนนั้นพยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ยังสื่อถึงระดับของการตอบสนองต่อความพยายามนั้นอีกด้วย

ช่วยตั้งใจฟังทางนี้หน่อยได้โปรด

ลองดูว่าคำหรือวลีต่อไปนี้มีอะไรเหมือนกันบ้าง เชื่อไหมล่ะว่า ที่จริงแล้ว อันที่จริงแล้ว โดยทั่วไปแล้ว ปรากฏว่า ด้วยความสัตย์จริง โดยแก่นแท้แล้ว วลีพวกนี้เรียกว่าจุดสนใจของการสนทนา (conversational) ซึ่งนำมาใช้เพื่อดึงความสนใจเวลาที่กำลังพูดเพื่อเน้นย้ำประเด็นสำคัญในข้อความ ความพิเศษของมันก็คือวลีเหล่านี้อาจบ่งบอกถึง 2 สิ่งที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้ โดยขึ้นอยู่กับบริบทของการพูดคุยนั้น ๆ ในทางหนึ่งหากคนที่ใช้ต้องการชักจูงอีกฝ่าย คำพูดเหล่านี้อาจถูกใช้ในการหลอกลวงได้ ในอีกทางหนึ่งเมื่อใช้ในการสนทนาทั่วไป วลีเหล่านี้จะสื่อถึงการเปิดกว้าง และความสนใจในการสนทนา รวมถึงความพยายามที่จะมีส่วนร่วม และหาทางสร้างความประทับใจ

แบบแผนทางภาษาที่ผู้คนใช้ในความสัมพันธ์ต่าง ๆ ทั้งในชีวิตส่วนตัวและสังคมการทำงาน มักจะเผยให้เห็นถึงสถานะและอำนาจควบคุม ที่พวกเขามองว่าตัวเองมีในความสัมพันธ์นั้น แม้ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ที่มีอายุแค่ 5 นาที ถ้าจะให้ลึกซึ้งกว่านั้นวิธีที่ใครคนหนึ่งมองคนอื่น และความสัมพันธ์ย่อมเผยให้เห็นถึงสุขภาวะทางอารมณ์ของคนคนนั้นด้วย

บทที่ 4 อำนาจและสถานะในความสัมพันธ์

มีกฎสากลที่ไม่มีระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรข้อหนึ่ง นั่นคือผู้ที่มีสถานะด้อยกว่าจะไม่ออกคำสั่งกับผู้ที่มีสถานะสูงกว่า พวกเขาย่อมพูดจาอ่อนน้อม เมื่อต้องการร้องขอบางสิ่ง ตัวอย่างเช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะเชิญผู้โดยสารให้กลับไปที่นั่ง แทนที่จะบอกให้นั่งลง สามัญสำนึกและผลการวิจัยแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสถานะและความสุภาพ เมื่อขอร้องหรือเรียกร้องจากใครสักคน มักจะปรับภาษาให้เหมาะสมกับขนาดของคำขอ และความแตกต่างของอำนาจระหว่างคนสองคน สถานะที่ด้อยกว่าหรือความรู้สึกไม่มั่นคงโดยรวม จะถูกสะท้อนให้เห็นผ่านลักษณะการพูด ว่าคนคนนั้นปรับเปลี่ยนคำพูดในการร้องขอมากน้อยเพียงใด

นิ่งเสียตำลึงทอง

ยังมีกฎแบบไม่เป็นลายลักษณ์อักษรอีกข้อนั่นคือ สิ่งที่ต้องพูดหรือทำน้อยเท่าไหร่เพื่อขอความร่วมมือ แสดงว่ายิ่งมีอำนาจควบคุมมากเท่านั้น ผู้พิพากษาสามารถสั่งให้ทนายความเงียบได้เพียงแค่ยกนิ้วขึ้นกลางอากาศ การใช้อำนาจเหนือผู้อื่นเพื่อให้เขาเคลื่อนไหวหรือหยุดเป็นการใช้สถานะแล้ว ยิ่งต้องใช้แรงกดดันเพื่อให้ได้ความร่วมมือน้อยเท่าไหร่ ยิ่งแสดงว่ามีอำนาจและการควบคุมมากเท่านั้น ไม่ค่อยเห็นคนที่มีสถานะต่ำกว่า ซึ่งมีสุขภาวะทางอารมณ์ปกติ ใช้ภาษากายสั่งการคนที่มีสถานะสูงกว่า

จุดสนใจอยู่ที่ภายในหรือภายนอก

คนที่มีอำนาจมีแนวโน้มที่จะใช้คำว่าฉันน้อยกว่าคนที่มีสถานะด้อยกว่า นี่เป็นเพราะสรรพนามที่ใช้สะท้อนถึงสิ่งที่ให้ความสนใจ เพราะจะสนใจแต่ตัวเองเมื่อรู้สึกไม่ปลอดภัยและต้องป้องกันตัวเอง จะย้ายไปสนใจสิ่งที่อยู่ภายนอกเมื่อรู้สึกมีพลังอำนาจและทุกอย่างอยู่ในการควบคุม มุมมองเรื่องสถานะถูกสะท้อนออกมาโดยไม่รู้ตัวในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พบได้แม้ในการพูดคุยหรือการโต้ตอบที่สั้นกระชับที่สุด ลองพิจารณาระหว่างประโยคที่ว่า คุณควรรู้ กับ ฉันอยากให้คุณรู้ ประโยคคุณควรรู้นั้นมาจากผู้พูดมีสถานะสูงกว่า เพราะมันให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่ภายนอก และใช้คำที่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งก็คือคุณควรรู้บางอย่าง ในทางตรงกันข้ามประโยคที่ 2 มีนัยว่าข้อมูลนี้ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ แต่มันเป็นบางอย่างที่ฉันอยากจะบอก จุดสนใจอยู่ที่ความต้องการของฉันไม่ใช่ของคุณ

บทที่ 5 การอ่านอารมณ์

เวลานักกีฬาหรือศิลปินเข้าสู่ ช่วงเข้าฝัก ผลงานที่ออกมามักจะไร้ที่ติ เพราะเมื่อพวกเขาเอาแต่จดจ่ออยู่กับเป้าหมาย พวกเขาจะสนใจอยู่กับสิ่งเดียวที่ต้องทำให้เสร็จ ในทำนองเดียวกันคนที่มีความมั่นใจ ก็สามารถพุ่งความจดจ่อไปที่เป้าหมาย และตัวฉันก็จะหายไปเช่นเดียวกับเวลาพูดคำว่าฉันก็หายไปเช่นกัน เมื่อมีส่วนได้ส่วนเสียเพิ่มขึ้น ปฏิกิริยาลูกโซ่จึงเกิดขึ้นตามมาได้แก่ ความมั่นใจที่ลดลง มุมมองที่แคบลง และความกังวลที่เพิ่มขึ้น ถ้าเข้าใจว่าจะต้องมองหาอะไร ความมั่นใจหรือการขาดความมั่นใจก็จะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจน

จิตวิทยาของความมั่นใจ

คนที่จดจ่อกับตัวเองมากกว่าคือคนที่รู้สึกวิตกกังวลมากกว่า มาทำความเข้าใจด้วยการพิจารณาพฤติกรรมของมนุษย์ที่มี 4 ระดับดังนี้

  1. ไม่รู้ตัวว่าขาดความสามารถคือ คนคนหนึ่งไม่ตระหนักว่าสิ่งที่กำลังลงมือทำนั้นไม่ถูกต้อง
  2. รู้ตัวว่าขาดความสามารถคือ คนคนหนึ่งตระหนักดีว่าไม่มีทักษะที่จำเป็นเพียงพอ ที่จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จตามที่ต้องการ
  3. รู้ตัวว่ามีความสามารถคือ คนคนหนึ่งตระหนักว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ แต่ยังจำเป็นต้องใช้สติเพื่อให้ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  4. ไม่รู้ตัวว่ามีความสามารถคือ คนคนหนึ่งสามารถทำงานนั้นได้อย่างถูกต้อง และไม่จำเป็นต้องทุ่มเทความตั้งใจทั้งหมด หรือแม้เพียงเล็กน้อยเพื่อลงมือทำสิ่งนั้น

การเรียนขับรถเกียร์ธรรมดา เป็นตัวอย่างที่มีประสิทธิภาพ สำหรับพฤติกรรมทั้ง 4 ระดับนี้ ในครั้งแรกผู้เรียนจะรู้สึกไม่คุ้นเคยเลย แต่ในที่สุดก็จะสามารถเปลี่ยนเกียร์ได้โดยไม่ต้องจดจ่อ เนื่องจากกระบวนการทั้งหมดได้ถูกฝังเข้าไปในความจำของกล้ามเนื้อ และสามารถทำไปตามสัญชาตญาณได้เลย ความจำของกล้ามเนื้อนั้นเกี่ยวข้องกับความจำเชิงกระบวนวิธี (procedural memory) ซึ่งเป็นความจำประเภทหนึ่ง ในความทรงจำระยะยาวระดับจิตใต้สำนึก ที่ช่วยให้ลงมือทำงานบางอย่างได้ โดยไม่ต้องอาศัยความตั้งใจมากนัก สามารถเข้าถึงความจำเชิงกระบวนวิธีนี้ได้อัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้สติจดจ่อเลย

สิ่งที่บ่งบอกถึงความวิตกกังวล

เมื่อเดิมพันสูงขึ้นความกังวลก็เพิ่มขึ้น และความสามารถในการเรียนรู้ของคนเราก็เริ่มด้อยประสิทธิภาพลง ผลลัพธ์ก็คือประสิทธิภาพการทำงานที่แย่ลง การเปลี่ยนมาจดจ่ออยู่กับตัวเองเพราะความวิตกกังวลทำให้ความสามารถในการรับข้อมูลลดลงไปด้วย ในการเผชิญกับภัยคุกคามใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือทางอารมณ์ จะมีความตื่นตัวสูงและทรัพยากรในความคิดที่ปกติ จะถูกใช้ตีความหมายทางอ้อมของสิ่งต่าง ๆ จะถูกเบี่ยงเบนไปทางอื่น

ภาษาของความวิตกกังวล

เนื่องจากความทุกข์ทางอารมณ์นั้นทำให้ความสนใจพุ่งเข้าหาตัวเอง การใช้สรรพนามแทนตัวเองบ่อย ๆ จึงเป็นเครื่องหมายของภาวะวิตกกังวล แต่ก็ใช่ว่าสรรพนามทุกคำจะเท่าเทียมกันหมด คำว่าฉันซึ่งเป็นกรรมของประโยค จึงให้ความรู้สึกอับจนหนทางและเปราะบาง เมื่อถูกใช้มากเกินไปก็เป็นสัญญาณเตือนถึงความวิตกกังวลที่เด่นชัดขึ้นไปอีก เนื่องจากความวิตกกังวลกับความโกรธนั้นเกี่ยวพันกันอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภาวะโกรธจึงเกี่ยวข้องกับประโยคที่ฉันเป็นผู้ถูกกระทำ ในภาวะอารมณ์ทั้ง 2 แบบนี้ คนเราจะมองว่าตัวเองเป็นเหยื่อ ซึ่งกระตุ้นให้ใช้ประโยคที่ฉันเป็นผู้ถูกกระทำไปด้วย เช่น คุณทำกับฉันแบบนี้ได้ยังไง แล้วยังสามารถบอกได้ว่าใครกำลังอยู่ในภาวะวิตกกังวล หากมีการใช้ส่วนขยาย (qualifiers) ซึ่งแสดงถึงความไม่มั่นคง หรือความลังเลใจบ่อย ๆ เช่น ฉันคิดว่า ฉันสงสัยว่า ฉันเดาว่า ส่วนขยายจะปรากฏให้เห็นบ่อยขึ้น เมื่อความกังวลใจเพิ่มสูงขึ้น

ความกลัวนำไปสู่ความโกรธ

หากปกติเป็นคนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ และรู้สึกไม่สบายใจเวลามีความจริงบางอย่างมากระทบต่อภาพลักษณ์ ก็จะยิ่งทำให้กลายเป็นคนขี้กลัวมากเท่านั้น การเลือกตอบสนองแบบสู้ หนี หรือนิ่งเป็นการตอบโต้ทางจิตวิทยาต่อสิ่งคุกคามที่ได้รับ ไม่ว่าจะทางร่างกายหรือทางอารมณ์ คนที่กำลังโกรธนั้นกำลังรู้สึกกลัวอยู่ในระดับหนึ่ง พวกเขาตอบสนองต่อความกลัวด้วยความโกรธ เมื่อความทะนงตนพยายามที่จะชดเชยความรู้สึกสูญเสีย ความโกรธสร้างภาพลวงของการมีอำนาจควบคุม ถ้าคิดตามหลักเหตุผล ความโกรธไม่ได้มอบความพึงพอใจ หรือความผ่อนคลายทางจิตใจได้อย่างแท้จริง และกลายเป็นคนที่อ่อนไหวทางอารมณ์มากขึ้น ทุกครั้งที่ใช้ความโกรธที่รุนแรง เป็นแรงผลักดันความคิดและการกระทำ

ภาษาของความโกรธ

ภาวะโกรธอาจถูกสะท้อนให้เห็น ผ่านการใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 และสามมากกว่า เมื่อกำลังโกรธ ย่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ที่สรรพนามจะเปลี่ยน ในเชิงอารมณ์ ความโกรธจะทำหน้าที่ชี้นำ ปิดบัง หรือเบี่ยงเบนความสนใจออกจากตัวเอง ภาษาที่ใช้จึงเป็นไปในทางเดียวกัน มันจะย้ายจากฉันไปยังคุณ ซึ่งสะท้อนถึงการตั้งตัวเป็นศัตรูได้อย่างชัดเจน อย่างที่ได้เรียนรู้กันไปแล้วว่าความทะนงตนนั้น เข้ามามีบทบาทเต็มที่เวลาโกรธ และภาษาที่ใช้ย่อมไม่มีคำว่าเรา เพราะเราไม่ได้อยากเชื่อมสัมพันธ์หรือแบ่งปันอะไรกับคนหรือสิ่งที่ไม่ชอบ

ในการสื่อสารแบบต่อหน้าให้ระวังรอยยิ้ม ซึ่งเป็นหน้ากากที่ใช้กันทั่วไป เนื่องจากมันสามารถปกปิดสีหน้าโกรธ เกลียดชัง เศร้า หรือกลัวได้ พูดง่าย ๆ ก็คือ คนที่ไม่อยากให้ความรู้สึกที่แท้จริงถูกเปิดเผย มักจะทำเป็นหน้าระรื่น สิ่งที่จะเห็นก็คือยิ้มแต่ปาก ไม่ใช่ยิ้มกว้างไปทั้งใบหน้า สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เมื่อพูดถึงความคิด และความรู้สึกความสัมพันธ์ระหว่างอารมณ์และเจตนานั้น อาจไม่ได้ชัดเจนเสมอไป คนเราอาจจะเป็นคนจริงใจแม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกไม่มั่นคง หรือพวกเขาไม่คิดว่าตัวเองกำลังโกหก เพราะพวกเขาก็โกหกตัวเองอยู่ และเชื่อในสิ่งที่ตัวเองพูดด้วยซ้ำ

ส่วนที่ 2 เครื่องจับเท็จมนุษย์

บทที่ 6 ประเมินความจริงใจและความซื่อตรง

เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าคนที่คุยด้วยมีเจตนาแอบแฝง ควรตั้งคำถามกับตัวเองว่าคน ๆ นี้ดูเป็นคนที่น่าจะเปิดใจ และยินดีที่จะพูดคุยด้วยความจริงใจหรือเปล่า หรือดูมีเล่ห์เหลี่ยมอีก 2 อย่างที่ยังไม่ได้งัดออกมาใช้ คนเราเมื่อรู้สึกสบายใจกับสิ่งรอบตัว จึงจะบรรยายสิ่งที่ตัวเองทำ บางครั้งการทำแบบนี้จึงดูผิดที่ผิดทางและกลายเป็นน่าสงสัย

การยิงถล่มด้วยภาษากาย

จะรู้ได้ทันทีหากคนที่กำลังสนทนาด้วย รู้สึกอึดอัดกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งที่กำลังคุยกัน โดยธรรมชาติแล้วจะขยับไปนั่งไกล ๆ หรือโน้มตัวเข้าหาคนที่อยากจะสร้างความสัมพันธ์ด้วย แต่ถ้าบางคนรู้สึกอึดอัดหรือไม่สนใจ อาจเอนตัวไปทางจุดที่เป็นทางออก หรือขยับไปทางนั้นเลยก็ได้ หากยืนอยู่อาจเอาหลังพิงกำแพงไว้ หรืออาจใช้สิ่งของมากั้นกลาง แต่เนื่องจากลุกขึ้นแล้วเดินออกไปเฉย ๆ ไม่ได้จึงต้องแสดงความรู้สึกไม่พอใจ ด้วยการใช้สิ่งกีดขวางมาคั่นกลาง กับต้นเหตุที่สร้างความอึดอัดนั้น ในทำนองเดียวกันเวลาที่โกหกมักจะหลบตา และยังอาจมีแนวโน้มที่จะสงวนท่าทีและไม่เปิดเผยนัก สาระสำคัญของการบอกใบ้ด้วยภาษากายบอกว่า การใช้ท่าทางหรืออิริยาบถที่เปิดเผย ย่อมบ่งบอกถึงความมั่นใจ

การเกริ่นถึงสิ่งกระตุ้นความตึงเครียด

ภาษากายของคนเรานั้นแกล้งทำกันได้อย่างง่ายดาย และยิ่งไม่สามารถประเมินอะไรได้เลย หากไม่ได้เจอกันต่อหน้า หากอยากยกระดับการอ่านคน ค่อย ๆ เติมสิ่งกระตุ้นความตึงเครียดทางอารมณ์เข้าไป เพื่อกดดันอีกฝ่ายเล็กน้อย จุดประสงค์คือจะลองถามหรือบอกบางอย่าง โดยต้องไม่ไปปรักปรำอีกฝ่ายโดยตรง แต่พูดเป็นนัย ๆ ถึงพฤติกรรมที่อาจเป็นไปได้ ถ้าดูไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่พูดเลยอาจจะไม่ได้ปกปิดอะไรจริง ๆ แต่ถ้าเกิดมีอาการร้อนตัวก็แสดงว่ารู้ว่าหมายถึงอะไร และทางเดียวกันที่รู้ได้เป็น เพราะกำลังทำผิดในเรื่องนั้นจริง ๆ

การตอบกลับข้อกล่าวหา

ตามแนวทางพื้นฐานแล้วคำตอบที่เป็นความจริงนั้นจะสั้นและตรงไปตรงมาการปฏิเสธที่เชื่อถือได้นั้นจะตรงไปตรงมาและชัดเจนหากเป็นคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดแต่กำลังบอกความจริงเขาก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่รีรอที่จะปฏิเสธอย่างขันแข็งและชัดเจนส่วนคนที่กำลังหลอกลวงนั้นจ้องแต่จะดึงตัวเองให้ห่างจากความผิดมากที่สุดส่วนสำคัญของคำตอบควรจะปฏิเสธการกระทำอย่างชัดเจนและสอดคล้องกันและไม่ได้พยายามพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่คนประเภทที่สามารถกระทำการดังกล่าวได้ในสถานการณ์ใดก็ตามถ้ารู้สึกว่ากำลังถูกหลอกการหลีกเลี่ยงที่จะไม่เผชิญหน้ากับคนๆนั้นในทันทีมักเป็นทางออกที่ดีที่สุด

พลังงานของคำโกหก

การหาเรื่องมาโกหกนั้นต้องใช้พลังงานความคิด มากกว่าการบอกความจริง คนที่โกหกมักจะต้องพึ่งทางลัดต่าง ๆ ดังนั้น ให้คอยระวังสัญญาณของการหลอกลวง 4 ข้อต่อไปนี้

การพูดจาสูงส่งและใช้ปรัชญา

ข้อเขียนหรือคำพูดใดก็ตาม ที่เริ่มต้นด้วยการพยายามแก้ตัว ในทำนองขอความยุติธรรม หรือความเป็นธรรม อาจมีปัญหาบางอย่าง เว้นเสียแต่ว่าคนคนนั้นกำลังสารภาพความจริง จิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังการพูดจาสูงส่ง หรือพยายามยกปรัชญามาใช้คือ การที่คน ๆ นั้นพยายามหาเหตุผลให้กับการกระทำของตัวเองและรอการเห็นชอบ ซึ่งนำเสนอตัวเองให้ดูเป็นคนดีมีศีลธรรม ซึ่งมีค่านิยมและอุดมการณ์ที่ดี

การอ้างคำพูดของตัวเอง

สิ่งนี้ถือเป็นสัญญาณอันตรายเช่นกัน ในการเขียนผู้คนมักจะชอบใช้วลี อย่างที่ฉันได้เขียนไว้ข้างต้น อย่างที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ และตามที่ได้อธิบายไปแล้วตอนต้น เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดในการถ่ายทอดข้อมูล และเนื่องจากการโกหกต้องใช้พลังสมองเยอะ การอ้างกลับไปถึงสิ่งที่พูดไว้ก่อนหน้า แทนที่จะต้องโกหกใหม่อีกรอบจึงง่ายกว่า

ความซับซ้อนในความเรียบง่าย

คำพูดที่ตรงไปตรงมา และการแสดงออกอย่างจริงจังนั้น มักจะใช้ประโยคที่มีโครงสร้างซับซ้อนกว่า เพราะการพูดให้ถูกต้องไม่ผิดเพี้ยนนั้นต้องสร้างความพิเศษขึ้นมา คนที่โกหกจะใช้คำเหล่านี้ลำบาก เนื่องจากพวกเขาเหน็ดเหนื่อยกับการต้องคิดวิเคราะห์ เพื่อคอยจำว่าอะไรที่เขาไม่ได้ทำ และอะไรที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ในขณะเดียวกันก็ต้องถ่ายทอดว่าทำอะไร และเกิดอะไรขึ้น

ดูโล่งใจเมื่อการสนทนาจบลง

การหลอกลวงนั้นใช้พลังงานเยอะมาก จึงต้องคอยดูหรือฟังเวลาเปลี่ยนหัวข้อสนทนาให้ดี คนคนนั้นดูมีความสุขมากขึ้น หรือไม่ดูผ่อนคลายมากขึ้นหรือเปล่า อาจถึงขั้นยิ้มออกมาหรือหัวเราะเขิน ๆ ลองสังเกตท่าทางของเขา ว่าเขามีท่าทีที่ผ่อนคลาย และมีทีท่าที่ป้องกันตัวเองลดลงไหม ยิ่งเขาเปลี่ยนอารมณ์รวดเร็วเท่าไหร่ ยิ่งบ่งบอกว่าเขารู้สึกอึดอัดกับเรื่องที่คุยก่อนหน้ามากเท่านั้น แม้จะเป็นที่รู้จักว่าสัญญาณของภาษากายเพียงอย่างเดียวไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะสัญญาณที่สามารถควบคุมได้ง่าย แต่โอกาสทองที่มักถูกมองข้ามก็ได้ปรากฏขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าสามารถจัดการกับภาษากายได้ง่าย

บทที่ 7 ศิลปะการอ่านคนเสแสร้ง

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ภาษากายนั้นไม่เพียงแต่สะท้อนความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรม แต่ยังส่งผลต่อสิ่งเหล่านั้นด้วย จิตใจและร่างกายทำงานสัมพันธ์กัน เพื่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า การรู้คิดผ่านฐานกาย (embodied cognition) ซึ่งอธิบายว่าวิธีการที่จัดการกับร่างกายตัวเอง สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงทางความคิด และพฤติกรรมได้อย่างมากแทบจะในทันที การทำท่าทางแบบเปิดและขยายกว้าง เช่น กางแขนขาและใช้พื้นที่มากกว่า

การศึกษาพบว่าคนที่ทำท่าทางแบบเปิดเพียง 60 วินาที ไม่เพียงแต่รู้สึกมีพลังและมั่นใจในตัวเอง แต่ยังทำสิ่งต่าง ๆ ในลักษณะที่ทรงพลัง และแสดงออกถึงความกระตือรือร้นที่จะลงมือทำสิ่งต่าง ๆ คนที่เสแสร้งนั้นต้องเลียนแบบลักษณะท่าทาง และคำพูดที่ควรจะเป็น คนที่ทำผิดไม่ค่อยออกตัวเพื่อรับความผิดไว้เอง เพราะพวกเขาทำผิดอยู่แล้ว ในทางกลับกันคนที่บริสุทธิ์จะไม่เก็บงำความรู้สึกผิด หรือโทษตัวเองไว้ในใจ พวกเขาจะรีบตำหนิตัวเองถึงสิ่งที่พวกเขาน่าจะทำหรือไม่ทำ เพื่อให้เหตุการณ์ดีขึ้น เมื่อตระหนักรู้เช่นนี้ก็จะสามารถอ่านคนที่เสแสร้งได้ ผ่านการทำความเข้าใจและจัดการความประทับใจ และรู้จักข้อผิดพลาดที่คนส่วนใหญ่เคยทำ

การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแบบมีกำแพง

เมื่อใครสักคนกำลังเสแสร้ง นั่นคือกำลังจัดการความประทับใจ ที่คนอื่นมีต่อตัวเขาอยู่ เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ถูกต้อง และตอบสนองต่อเจตนาใด ๆ ก็ตามที่มีอยู่ ในทางกลับกันคนที่เชื่อถือได้ จะไม่มัวมาสนใจว่าจะเป็นอย่างไร ในสายตาคนที่ผ่านเข้ามา ไม่กังวลกับภาพลักษณ์ของตัวเอง

โลกคือละคร

เพื่อให้เข้าใจหลักจิตวิทยาที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ทั้งหมด ควรทำความเข้าใจว่าปกติแล้วมีวิธีจัดการตัวเองอย่างไร คนที่มีความภูมิใจในตัวเองสูง จะไม่แสดงให้โลกเห็นว่าตัวเองยอดเยี่ยมขนาดไหน คนที่รู้สึกไม่มั่นคงอยู่ตลอดเวลาต่างหาก ที่วางท่าว่าอยู่เหนือคนอื่น จนกลายเป็นคนเย่อหยิ่ง อวดดี หรือแย่กว่านั้น เพื่อที่จะชดเชยความรู้สึกที่แท้จริงเกี่ยวกับตัวเอง ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้นจริง ๆ แล้วคือการถ่ายทอดตัวตนปลอมออกมา โดยทั่วไปแล้วการเสแสร้งนั้นเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที แต่จะทำอย่างไรหากได้รับฟังเรื่องราวบางอย่างซึ่งเกิดขึ้นไปแล้ว โชคยังดีที่เรื่องเล่าที่หลอกลวงจะทิ้งร่องรอยทางภาษาให้ได้ติดตาม

บทที่ 8 การแต่งเรื่อง : แก้ต่างและเกลี้ยกล่อม

คนบางกลุ่มสามารถแต่งเรื่องราวที่เคลิบเคลิ้มได้ พวกเขาเล่าเรื่องอย่างมีอารมณ์ร่วม และเต็มไปด้วยรายละเอียด เว้นเสียแต่ว่าเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ เพื่อให้ได้เรียนรู้ที่จะแยกแยะความจริง ออกจากเรื่องโกหก จะเริ่มต้นที่เรื่องของรายละเอียดกันก่อน

โครงสร้างของข้อความและลักษณะของรายละเอียด

เมื่อพูดถึงการจับโกหก รายละเอียดที่เพิ่มเข้ามาหรือถูกตัดออกไป จากข้อความไม่ว่าจะในคำพูดหรือการเขียน มักสร้างความสับสนอย่างมาก ความสับสนเกี่ยวกับเรื่องรายละเอียดนี้ อาจเป็นผลมาจากรายละเอียดปลีกย่อย ที่เกี่ยวพันกันอยู่โดยเฉพาะ ความสามารถแยกแยะออกเป็นปัจจัยสำคัญ 3 ข้อนั่นคือ

ความสำคัญ รายละเอียดที่มีนั้นสำคัญต่อความครบถ้วนของเรื่องเล่า หรือข้อความเพียงใด

สัดส่วนและตำแหน่งการวาง รายละเอียดนั้นปรากฏขึ้นตรงไหน และถูกพูดถึงอย่างไร หากมองในเชิงปริมาณมีการใช้เวลามากแค่ไหน ไปกับการพูดถึงมัน

ความเข้ากัน รายละเอียดต่าง ๆ ซับซ้อนขนาดไหน และมีความเหมาะสมกับบริบทแวดล้อมทั้งในกายภาพ และบทสนทนาหรือไม่

โดยทั่วไปแล้วรายละเอียด มีความตรงประเด็นสูงและเห็นภาพชัดเจน เป็นเครื่องบ่งบอกความซื่อสัตย์ ตรงข้ามกับข้อความเท็จ ที่มักจะมีรายละเอียดที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่สมดุลจากที่กล่าวข้างต้น เมื่อคนเรากำลังเล่าเรื่องจริง ในส่วนเกริ่นนำสู่เหตุการณ์หลัก หรือส่วนเปิดของเรื่องราวมักจะไม่มีรายละเอียดมากนัก เว้นเสียแต่ว่ารายละเอียดเหล่านั้นจะมีความสำคัญต่อการบรรยาย ส่วนเรื่องหลอกลวงมักจะมีส่วนที่ร่ายยาวถึงข้อเท็จจริง ที่ไม่เกี่ยวข้องในตอนต้น เพราะคนคนนั้นพยายามสร้างตัวตนให้ดูเป็นคนน่าเชื่อถือ มีความพิถีพิถัน และเฉพาะเจาะจงมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

คนที่กำลังแต่งเรื่องหลอกลวง มักจะจดจ่ออย่างหนักกับรายละเอียดที่ไม่สำคัญ เพื่อให้รายละเอียดดูมีมิติและสมบูรณ์เหมือนเรื่องจริง

คำชี้แจงและการยืนยันแบบออกนอกหน้า

ทุกปัจจัยที่กล่าวไปข้างต้นคือ สัญญาณเตือน แต่ยังมีสัญญาณเตือนสุดอันตรายอีกอย่างนั่นคือ เมื่อคนบางคนเล่ารายละเอียดยิบย่อยของตัวเองมากเกินไปเพื่อชี้แจง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาชี้แจงรายละเอียด ที่เห็นอยู่แล้วว่ามีแรงจูงใจที่ชัดเจนโจ่งแจ้ง

คำบรรยายที่แจ่มชัด

คำกล่าวที่เป็นความจริงจะมีรายละเอียดที่แจ่มชัด มากกว่าเกี่ยวกับปฏิกิริยาของผู้คน และสามารถถ่ายทอดการสนทนาออกมาได้ เหมือนเดิมแทบจะทุกคำพูด

การใช้ประสาทสัมผัสที่หลากหลาย

ยิ่งรายละเอียดที่เล่ามีความซับซ้อนมากขึ้น ก็ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือได้มากขึ้น แต่พูดถึงกลิ่น เสียง และความรู้สึก ซึ่งเหมือนรายละเอียดเหล่านี้ถูกรวมเข้ากับคำอธิบายที่น่าจะยิ่งน่าเชื่อถือเป็นพิเศษ

มุมมองจากบุคคลที่ 3

เรื่องเล่าจะมีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นอีกขั้น เมื่อในรายละเอียดมีคำ หรือมุมมองจากบุคคลที่สาม

การสลับฉากและสิ่งที่ไม่เกิดขึ้น

ตราบใดที่กำลังพูดถึงเหตุการณ์ที่ไม่ใช่เหตุสะเทือนใจ คนที่เล่าความจริงจะต้องรื้อฟื้นความทรงจำมาเล่าราวกับฉายภาพยนตร์ในหัว ส่วนคนที่ปั้นแต่งเรื่องราวขึ้นมา จะถูกบีบให้ต้องแต่งเรื่องว่าเกิดอะไรขึ้นเป็นฉากฉาก มันจึงมีลักษณะเหมือนรูปภาพ หรือภาพถ่ายที่เอามาร้อยเรียงต่อกันตามลำดับ เพื่อสร้างภาพที่เหมือนเคลื่อนไหวได้จริง ๆ

สุดยอดวิธีจับผิดนักแก้ตัว

สามารถมองออกได้ทันทีว่า กำลังเล่าเรื่องจริงหรือคำแก้ตัว เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากคำโกหก โดยใช้การตั้งคำถามเพียงสองสามข้อ เริ่มจากคำถามเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง แล้วค่อยนำเสนอรายละเอียดเพิ่มเติม โดยขอย้ำว่ารายละเอียดต้องไม่ใช่เรื่องจริง รายละเอียดที่บอกต้องฟังดูสมเหตุสมผลพอ รายละเอียดต้องเป็นบางอย่างที่ส่งผลโดยตรงต่อคนคนนั้น เพราะนั่นหมายความว่าเขาจะต้องรู้เกี่ยวกับมันอย่างแน่นอน

ถ้าเขานิ่งเงียบมากเกินไป เปลี่ยนเรื่อง หรือตอบคำถามผิด ก็จะได้รู้ความจริงในอีกด้านหนึ่ง ถ้าคำตอบของบางคนฟังดูลื่นไหลเหมือนซ้อมมาอย่างดี ก็เป็นไปได้ว่าเขาคาดไว้แล้วว่าจะต้องตอบคำถามนั้น และมีเวลาเตรียมคำตอบ ทุกคนต่างรู้จักคนเจ้าคารมและพวกเจ้าเล่ห์แล้ว ไหนจะคนที่เป็นนักต้มตุ๋นจริง ๆ อีก ข่าวดีก็คือคนพวกนี้มีกลยุทธ์ที่สามารถคาดการณ์ได้ง่าย ๆ และถ้ารู้กลวิธีของพวกเขาสักครั้งหนึ่งแล้ว ก็สามารถรู้ตัวล่วงหน้าและตอบโต้พวกเขาได้ในครั้งต่อ ๆ ไป

บทที่ 9 กลอุบายจากผู้เชี่ยวชาญ

นักต้มตุ๋นเชี่ยวชาญการเบี่ยงเบนความสนใจ ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในมายากลเช่นกัน และเช่นเดียวกับนักมายากลฝีมือดี นักต้มตุ๋นไม่เพียงสามารถดึงความสนใจไปยังจุดที่เขาต้องการ แต่ยังนำเสนอกลอุบายไปพร้อม ๆ กับเรื่องราวที่ดึงดูดใจ พวกเขารู้ว่าการเล่าเรื่องราวเพ้อฝันนั้น จูงใจคนได้ง่ายกว่าการโกหกหน้าด้าน ๆ ลองมาดูกระบวนการทำงานของนักต้มตุ๋นผ่านการแอบอ้าง ซึ่งเป็นรูปแบบกลโกงที่พบมากที่สุด พวกเขาจะหาทางทำให้เหยื่อรู้สึกหวั่นไหวมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้หลงเชื่อและยอมทำตามอย่างรวดเร็ว โดยไม่สงสัยในการขายเรื่องราวของพวกเขา วิธีการของพวกเขามักจะมีรูปแบบดังต่อไปนี้

  1. สร้างความเชื่อถือ จะมีความน่าเชื่อถือเท่า ๆ กับความน่าเชื่อถือของคนเล่า ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมนักตุ้มตุ๋นมักอ้างตัวว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และเป็นเรื่องที่มีอำนาจบางอย่าง
  2. ทำให้สับสน เวลาถูกทำให้ไขว้เขวหรืออยู่ภายใต้แรงกดดัน มีแนวโน้มที่จะเชื่อแม้ว่าข้อความนั้นจะน่าสงสัยอย่างมาก
  3. เสริมความไว้วางใจ ก่อนที่จะเริ่มสงสัยว่าพวกเขาเชื่อถือได้หรือไม่ คนที่แอบอ้างจะรีบรัวข้อมูลเกี่ยวกับตัวเองที่พวกเขารู้ว่าเป็นข้อมูลจริง เมื่อได้ยินเรื่องที่ตรงกับความจริงอย่างน้อย 2 อย่าง จะเริ่มเอนเอียงไปทางยอมรับข้อเสนอที่จะตามมา
  4. เล่าเรื่องราวถึงเวลาที่พวกเขาจะปั้นแต่งเรื่องไปพร้อม ๆ กับเน้นย้ำความน่าเชื่อถือของตัวเอง และบอกถึงผลที่ตามมาถ้าไม่ยอมทำตามที่พวกเขาเสนอ

โปรดจงระมัดระวังเป็นพิเศษถ้าพวกเขากดดัน จำไว้ว่าบริบทคือทุกอย่าง อย่าหลงเชื่อในเรื่องเล่าของพวกเขา ใช้เวลาประเมินข้อมูลที่มีเพื่อชะลอสมองความเร็วแสง และใช้ระบบความคิดที่คิดช้ากว่า

การหลอกลวงโดยใช้ความใกล้ชิด

นักต้มตุ๋นผู้ช่ำชองอาจจัดฉากให้คล้อยตามอยู่นาน มากกว่าจะเริ่มเล่าเรื่องหลอกลวงของเขา เขาจะทำเช่นนั้นได้เขาต้องหาทางทำให้รู้สึกผูกพันกับเขาอย่างลึกซึ้ง โดยการสร้างความน่าเชื่อถือ และความเชื่อมั่นในตัวเขา ธรรมชาติของมนุษย์มักจะเชื่อมั่นและถูกชักนำโดยคนที่เหมือนและคนที่ชอบ

ดูเหมือนฉันและคุณก็ชอบฉัน

ความเชื่อว่าสิ่งตรงข้ามการจะดึงดูดซึ่งกันและกันนั้นไม่เป็นความจริง คนเรามักจะชอบคนที่มีส่วนคล้ายกัน และมีความสนใจคล้ายกันมากกว่า อาจจะรู้สึกว่าคนบางคนน่าสนใจเพราะแตกต่าง แต่ความคล้ายคลึงและความเหมือนนั้นจะทำให้เกิดความชอบพอกัน คนที่เหมือนกันจึงดึงดูดกันและกัน สิ่งที่เหมือนกับกฎข้อนี้คือ หลักการของสหายร่วมรบ คนที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขผ่านสถานการณ์ที่ชีวิตพลิกผันมาด้วยกัน มักจะมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง

สายสัมพันธ์อันหลอกลวง

ไม่ว่าจะได้คุยเล่นกับเขาแค่ 5 นาที หรือรู้จักเขามา 5 เดือน จะคิดเอาเองว่าคน ๆ นี้หรือคนที่เข้าใจ แต่เมื่อการผูกมัดทางอารมณ์ยังไม่แน่นหนาพอ สำหรับนักต้มตุ๋นเขาจะถักเกลียวเชือกที่แข็งแรงที่สุด เพื่อผูกมัดให้คล้อยตามโดยอาศัยความไว้ใจ ถึงเวลาหนึ่งเมื่อขอให้ทำบางอย่าง ซึ่งดูไม่เข้าท่าไม่ว่าจะมากหรือน้อย ถ้าไว้ใจเขาก็ย่อมจะทำตามอย่างรวดเร็วโดยไม่สงสัย หรือฉุกคิดอะไรเลย ต่อไปนี้คือวิธีการที่จะสร้างความไว้ใจ

ตัวเร่งความไว้ใจ

เมื่อใครสักคนแบ่งปันแง่มุมบางอย่างในชีวิตส่วนตัว มักจะสร้างอิทธิพลในทางจิตวิทยา 2 อย่าง อย่างแรกการแบ่งปันแง่มุมนั้น จะทำให้มอบความไว้ใจที่อีกฝ่ายไม่สมควรได้รับ ถ้ามีการเปิดอกเล่าเรื่องราวหรือบอกความลับในเวลาที่เร็วเกินไป รวมถึงใช้กลวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วย ก็อาจหมายถึงความพยายามยัดเยียดให้เกิดความสัมพันธ์ เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างแรงขับทางจิตวิทยาให้ไว้ใจพวกเขาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เรื่องนี้จะไปกระตุ้นให้อิทธิพลอย่างที่ 2 ทำงาน จะรู้สึกอยากตอบแทนเพราะมันดูยุติธรรมดี การกระทำแบบนี้จะฝังแนวคิด คนที่ไว้ใจได้เข้าไปในจิตใต้สำนึก และรับฟังคนที่ไว้ใจได้อยู่แล้ว

ส่วนที่ 3 วิเคราะห์ลักษณะทางจิตวิทยา

บทที่ 10 แอบส่องบุคลิกภาพและสุขภาพจิต

แม้ว่าประเภทของบุคลิกภาพ (personality type) จะไม่ใช่คำศัพท์เฉพาะทางคลินิกหรือทางวิทยาศาสตร์ แต่คนส่วนใหญ่ก็เข้าใจแนวคิดนี้ว่า หมายถึงวิธีที่คนบางคนแสดงพฤติกรรมเป็นประจำ หรือสื่อถึงพื้นฐานทางอารมณ์ สิ่งที่เรียกกันว่าบุคลิกภาพนั้น แท้จริงแล้วคือวิธีสังเกตว่าใครบางคนรับมือกับความเครียดทั้งภายในและภายนอกอย่างไร คุณสมบัติเหล่านี้จะมีความสำคัญและปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด เมื่อคนคนนั้นได้สัมผัสประสบการณ์ความตึงเครียดในระดับหนึ่ง ในขณะนั้นกลไกการป้องกันตัวของพวกเขาจะเข้ามามีบทบาท และจะสังเกตเห็นรูปแบบทางภาษาของพวกเขาได้ทันที พูดกว้าง ๆ ก็คือคนที่มีบุคลิกภาพแบบบงการ มีแนวโน้มที่จะโยนความกลัวและความกังวลออกจากตัว ขณะที่คนที่มีบุคลิกภาพแบบโอนอ่อนผ่อนตาม มักจะดึงสิ่งเหล่านี้เข้าหาตัว และอ้าแขนรับมันไว้เอง

วิถีของอาการป่วยทางจิต

ความผิดปกติทางจิตวิทยามักถูกแบ่งประเภทออกเป็นความผิดปกติประเภทขัดกับตัวเอง(ego-dystonic) และความผิดปกติประเภทเข้ากับตัวเอง (ego-syntonic) โดยพฤติกรรม ความคิด หรือความรู้สึก ความผิดปกติประเภทขัดกับตัวเองมักจะเป็นโรคผิดปกติทางอารมณ์ หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคอารมณ์แปรปรวน (affective disorders) ซึ่งหมายรวมถึงโรคซึมเศร้า (depression) โรคอารมณ์ 2 ขั้ว (bipolar disorder) และโรควิตกกังวล (anxiety disorder) ผู้ป่วยมักมีแนวโน้มที่จะคิดลบ คิดมาก และสนใจแต่เรื่องของตัวเอง พวกเขามักจะไวต่อสิ่งที่ทำให้เครียดในแต่ละวันมากเกินไป ซึ่งทำให้ท้อแท้และเครียดมากจนเกินไปได้ง่าย รวมถึงเกิดการตอบสนองทางอารมณ์ที่รุนแรง จึงยากจะคิดอะไรได้อย่างคมชัด และรับมือกับความเครียดได้ไม่ค่อยดีนัก

ในทางกลับกันโลกบุคลิกภาพแปรปรวน (personality disorders) เป็นความผิดปกติประเภทเข้ากับตัวเอง ที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่คน ๆ หนึ่งมองตัวเอง และวิธีที่เขามองโลกซึ่งรวมถึงความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (borderline personality disorders) ความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม (antisocial personality) และโรคหลงตัวเอง (narcissistic personality disorders) คนกลุ่มนี้มองว่าความคิด พฤติกรรม และความรู้สึกทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนพวกเขา แม้คนอื่นจะเชื่อว่าพวกเขากำลังทุกข์ทรมานจากความผิดปกติบางอย่าง พวกเขาก็จะปฏิเสธที่จะมองกลับเข้ามาภายในตัวเอง และตัดสินว่าคนอื่น ๆ นั่นแหละที่มีปัญหา

ผู้สานสัมพันธ์กับผู้เผชิญหน้า

หลักการคือคนที่เป็นมิตรมากกว่า จะใช้ภาษาที่สร้างความสัมพันธ์และหลีกเลี่ยงการปะทะ ส่วนคนที่เป็นมิตรน้อยกว่าจะใช้ภาษาที่บีบบังคับ การเน้นการเผชิญหน้าแบบไม่ยั้งคิด ถ้าในกรณีที่สุดโต่งสักหน่อย คนประเภทแรกจะหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจรวมไปถึงการยอมข่มความรู้สึก และความต้องการที่แท้จริงของตัวเอง ขณะที่คนประเภทหลังจะอ้าแขนรับ หรือแม้กระทั่งหาโอกาสที่จะพุ่งเข้าปะทะและสร้างความขัดแย้ง

ธรรมชาติของคำ

เบาะแสทางภาษาบางอย่างก็ดูสมเหตุสมผล โดยสัญชาตญาณคนที่เป็นมิตรมักจะใช้คำที่มีความหมายเชิงบวก เช่น ความสุข แรงบันดาลใจ ยอดเยี่ยม และไม่ค่อยใช้คำเชิงลบ เช่น เกลียด ทำลาย น่ารำคาญ โกรธ พวกเขาจะเขียนหรือพูดเกี่ยวกับบ้าน ครอบครัว และการสื่อสาร ทั้งยังหลีกเลี่ยงหัวข้อและภาษาที่ให้ความรู้สึกมืดมนหรือละเอียดอ่อน เช่น คำจำพวกโลงศพ ทรมาน ความตาย ในทางตรงกันข้าม คนที่มีความเป็นมิตรน้อยกว่าจะใช้ภาษาที่เป็นเชิงลบ และใช้คำที่เกี่ยวข้องกับความขุ่นเคืองใจ เช่น เกลียด เบื่อหน่าย ทนไม่ได้ งานวิจัยพบว่าคนที่เป็นมิตรมากกว่าจะสบถสาบานน้อยกว่า ถ้ามีมุมมองที่ดีก็น่าสนใจเรื่องดี บ่มเพาะทัศนคติ ความชื่นชม และความรู้สึกขอบคุณ

บทที่ 11 ตัวตนตามเรื่องเล่า อ่านความคิดและจิตวิญญาณ

คนเรามักมีแนวโน้มที่จะมองหาในสิ่งที่พวกเขาตามหา และมองเห็นในสิ่งที่พวกเขาคาดหวังว่า จะเห็นเนื่องจากคอยมองหาหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าสิ่งที่คิดนั้นถูกต้อง จึงมองไม่เห็นหลักฐานที่ไม่ตรงกับความคาดหวัง ปรากฏการณ์นี้เรียกว่าคติจากการมองหาสิ่งยืนยันความเชื่อ (confirmation bias) จะมุ่งเข้าหาสิ่งที่ยืนยันความคิด และกรองสิ่งที่ไม่ใช่ทิ้งไปโดยไม่รู้ตัว เมื่ออคติจากการมองหาสิ่งยืนยันความเชื่อเริ่มทำงาน หลักฐานต่าง ๆ ก็ดูเหมือนจะมีป้ายติดไว้ตามหมวดหมู่ราวกับมีเวทมนต์ การจัดหมวดหมู่ในสมองนี้คือ หนึ่งในระบบทางลัดทางความคิด ที่เรียกว่าระบบฮิวริสติก (heuristics) ทางลัดนี้จะประมวลผลสิ่งที่รับมาจากโลกรอบตัว โดยไม่จำเป็นต้องทำการตัดสินใจใหม่ในทุกครั้งที่ต้องเลือก

การด่วนสรุป

ระบบฮิวริสติกนั้นมีประโยชน์ในการช่วยให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่มันก็สามารถนำไปสู่อคติที่ทำให้ตัดสินคนอื่นว่า เป็นผู้กระทำผิดจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าบริสุทธิ์ ก็รู้ตัวว่ามีอคติจะช่วยให้ลดผลกระทบจากมัน และยกระดับความสามารถในการประเมินคนอื่น หรือสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง

ความตั้งใจของผู้กำกับ

คนเรามักจะมองสิ่งที่มองหา และมองเห็นในสิ่งที่คาดหวัง ผู้คนมองตัวเอง คนอื่น และโลกรอบตัวตามที่พวกเขาจำเป็นต้องเห็น เพื่อเกลี่ยสิ่งที่กำลังมองเห็นให้เข้ากับเรื่องราวที่พวกเขารู้ พูดอีกอย่างก็คือเพื่อให้พวกเขาสามารถทำความเข้าใจตัวเอง ทางเลือกที่พวกเขามี และชีวิตของพวกเขาได้เรียกว่า การเชื่อมโยงจากความเกี่ยวเนื่อง (associative coherence) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ระบุว่า ทุกอย่างเสริมแรงให้กับทุกอย่างที่เหลือ จิตใจที่มั่นคงต้องอาศัยมุมมอง ยิ่งมุมมองคมชัดก็ยิ่งเข้าใกล้ความเป็นจริงได้มากขึ้น ทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมก็จะยิ่งเที่ยงตรงและมีเหตุผล มนุษย์พยายามทำความเข้าใจชีวิต และโลกใบนี้ผ่านเรื่องราวต่าง ๆ เรื่องเล่าต้องการโครงเรื่องที่สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน เหมือนที่เรื่องเล่าชั้นดีควรจะมี มันจะต้องดูสมเหตุสมผล เมื่อเรื่องราวมีช่องโหว่อยู่ ความทะนงตนจะรีบเข้ามาจัดการเขียนบทเพื่ออธิบายว่าเกิดอะไรขึ้น และทำไมความทะนงตนให้กำเนิดเรื่องเล่าใหม่

บทที่ 12 การเปิดโครงข่ายป้องกันตัว

เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้ง ระหว่างเรื่องเล่ากับความเป็นจริง ความทะนงตนจะเข้ามากระตุ้นกลไกการป้องกันตัวจำนวนหนึ่ง เพื่อบิดเบือนความจริง ความสมบูรณ์ของเรื่องเล่าที่สร้างขึ้นต้องถูกปกป้องไว้ การโกหกตัวเองเพื่อให้ยังสามารถใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองได้ ให้เรื่องราวดูถูกต้องทั้งนั้น ความทะนงตนจึงมีทั้งโล่และกันชนมากมายไว้เป็นกลไกการป้องกันตัว ที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือ การหลบเลี่ยง การปฏิเสธความจริง และการหาข้อแก้ต่าง เมื่อกลไกนี้ทำงานช่องว่างระหว่างความจริงและความสามารถในการยอมรับความจริงก็จะยิ่งกว้างขึ้น การมีความทะนงตนสูงจึงหมายถึงการตำหนิผู้อื่นมากกว่าตัวเอง รวมถึงแสดงความรับผิดชอบ และยอมรับผิดน้อยลงนี่เป็นเหตุผล ที่คนที่เห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ จะยอมให้อภัยหรือขอโทษยาก

มองผ่านกระจกเงา

เมื่อเป็นเรื่องพฤติกรรมที่ทำกับคนอื่น ความทะนงตนนั้นพร้อมที่จะทำให้ตัวมันเองพ้นผิด จากการทำผิดศีลธรรม ความเห็นแก่ตัว หรือพฤติกรรมรุนแรง ยิ่งใครสักคนมีความทะนงตนสูง ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะมองเห็นสิ่งอื่น นอกเหนือจากตัวเขา ความต้องการ และความจำเป็นของเขา ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ต้องอาศัยการเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเดินออกจากวิถีทางของตัวเอง และมองโลกผ่านมุมมองของคนอื่นบ้าง

เมื่อกระจกแตก

คนส่วนใหญ่ไม่ได้โกรธง่ายอย่างนั้น เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่พวกเขาเข้าใจได้ และบ่อยครั้งที่ไม่มานั่งใส่ใจกับการโกหกหน้าตาเฉยอย่างโจ่งแจ้ง แต่จะอ่อนไหวหรือตะขิดตะขวงใจเมื่อต้องเผชิญกับความจริง ที่ปฏิเสธจะยอมรับสิ่งนี้ มักจะนำไปสู่ความกลัว และปิดกลไกการป้องกันตัว ถ้าสามารถยอมรับบางเรื่องเกี่ยวกับตัวเอง หรือชีวิตได้อย่างเต็มใจจะไม่ต้องหลบซ่อนจากมันอีก เมื่ออ้าแขนรับความจริงไว้ได้เมื่อไหร่ ความจริงนั้นจะไม่มีวันถูกทำลาย แต่ถ้าเป็นความหลงผิดแค่เสียงกระซิบกระซาบ หรือสายตาที่มองมาก็ทำให้มันแตกสลายไปได้แล้ว

ยั่วโมโห

จำได้หรือไม่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกถึงภัยคุกคามทางอารมณ์ ยิ่งเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำและยิ่งความจริงที่เผชิญมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ที่มองตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกกลัวมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ตามจะยิ่งเข้าใกล้ภาพลักษณ์ที่ใครบางคนมองตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใกล้ใจกลางเรื่องเล่าส่วนตัวของพวกเขามากเท่านั้น พวกเขาจะคิดว่านี่คือตัวตนที่เป็นฉัน นั่นเป็นจุดที่ความทะนงตนจะพุ่งเข้ามาปกป้องตัวมันเอง คงรู้ว่าจะเดือดดาลขนาดไหนถ้าอะไร ๆ ไม่เป็นไปตามที่เขาต้องการ

ภาษาบ่งบอกระยะห่างและการแยกตัว

คงไม่ต้องรอให้ใครอาละวาดก่อนจึงจะรู้ว่าทำให้เขาโกรธ แบบแผนในการพูดช่วยเปิดเผยให้เห็นความกังวลที่อยู่ในระดับจิตใต้สำนึก และสามารถระบุได้จากการใช้ภาษาแบบสร้างระยะห่าง เวลามีคนใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 แทนตัว เพื่อบอกความรู้สึกแทนที่จะใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 แทนตัวเพื่อบอกข้อเท็จจริง มันชี้ให้เห็นว่าความทะนงตนของเขากำลังทำงานเต็มที่ โดยใช้กลไกการดึงตัวเองออกห่าง เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดทางอารมณ์ การแยกตัวเป็นการตอบสนองที่รุนแรงที่สุด ในหมู่กลไกการป้องกันตัว ซึ่งใช้รับมือกับความวิตกกังวล ที่ถูกปิดกั้นหรือเก็บกดเอาไว้ เมื่อความเจ็บปวดนั้นรุนแรงเกินไป ตัวฉันจะปลีกตัวออกไปเพื่อรับมือกับอารมณ์ที่ท่วมท้น ด้วยเหตุนี้ คนที่พบกับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส จะไม่ใช้สรรพนามที่สื่อถึงตัวเอง ดังนั้น ยิ่งใกล้จะจี้ใจดำใครสักคนเท่าไหร่ ก็ยิ่งประเมินความกลัว และความไม่มั่นใจของคนคนนั้นได้ การไม่รู้ล่วงหน้าว่าตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนไหวของเขาถือเป็นสิ่งที่มีค่ามาก

บทที่ 13 ความหมายของค่านิยม

เมื่อคนเราบอกเล่าหรือเขียนเกี่ยวกับตัวเอง พวกเขามักจะเน้นไปที่ 1 ใน 5 หัวข้อต่อไปนี้ พวกเขาจะกล่าวถึงตัวเองในแง่ลักษณะนิสัย เป็นคนซื่อสัตย์ เข้ากับคนง่าย เป็นคนขยัน ในแง่ความสัมพันธ์ชอบคบกับเพื่อนดี ๆ ในแง่ของการครอบครองมีบ้านติดทะเลสาบ ในแง่คุณสมบัติทางร่างกายมีหุ่นแบบนักกีฬา และในแง่วิชาชีพหรือทักษะความเชี่ยวชาญเป็นสถาปนิก ทำพวกงานฝีมือได้ดี ด้วยเหตุนี้ จะสามารถจับหลักที่จะเปิดเผยภาพลักษณ์ที่คนคนนั้นมองตัวเองอย่างไร ให้คุณค่ากับอะไรในตัวเอง และสิ่งใดที่พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้พวกเขามีคุณค่าในสายตาของผู้อื่น

ถ้าว่ากันตามหลักเหตุผล คุณลักษณะที่ให้คุณค่าในตัวเอง จะเป็นสิ่งที่ให้คุณค่าในคนอื่นเช่นกัน เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ก็คือ มีเพียงคุณลักษณะและอุปนิสัยที่ให้คุณค่าในตัวเองเท่านั้น ที่จะชื่นชมและสนใจในคนอื่น จงสังเกตว่าคนที่คุยด้วยชี้นำบทสนทนาไปทางไหน หรือเปลี่ยนหัวข้อสนทนาเอาดื้อ ๆ ดังนั้น ไม่ว่าค่านิยมนั้นจะเป็นอะไร ความทะนงตนจะหาทางฉายภาพลักษณ์นี้ออกมาในตัวเขาและในตัวคนอื่น ระดับการเห็นคุณค่าในตัวเองจะยิ่งกระจ่างชัด เมื่อค่านิยมที่กล่าวถึงถูกตั้งข้อสงสัยขึ้นมา จุดอ่อนของเรื่องเล่าส่วนตัวของพวกเขาก็จะยิ่งถูกเปิดเผยออกมา แล้วความทะนงตนก็จะยิ่งถูกกระตุ้นอย่างหนัก ให้เขาเข้ามาปกป้องตัวเอง

การเห็นคุณค่าในตัวเอง การควบคุมตัวเอง และสุขภาวะทางอารมณ์

การที่คนเราจะมีพลังในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความหมาย และสอดคล้องไปกับค่านิยมที่แท้จริงนั้น ต้องอาศัยการควบคุมตัวเอง หรือความสามารถในการปฏิเสธตัวเอง การเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือความรักตัวเอง เมื่อไม่เห็นคุณค่าในตัวเองความสนใจและความตั้งใจจะหักเหจากความพึงพอใจระยะยาว ไปสู่การไขว่คว้าความสุขระยะสั้น ถ้ามันทำให้รู้สึกดีก็จะทำเลย ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ช่างมัน ความสนใจระยะสั้นนี้ทั้งตื้นและแคบ เมื่อรักตัวเองก็อยากจะทำอะไรให้ตัวเอง ความสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย เพราะไม่ได้สนใจที่ความพยายาม หรือความเจ็บปวด แต่สนใจที่ผลรางวัลหรือความพึงพอใจยิ่ง พยายามหาทางหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด จากความท้าทายในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ก็เท่ากับว่ากำลังหนีจากชีวิตที่มีความหมาย และมีความสุขไปด้วย

ใครจะต้องชดใช้

บางคนที่ทุกข์ทรมานจากการมีบุคลิกภาพแบบแปรปรวน จะลดความเจ็บปวดของตัวเองด้วยการสร้างความเจ็บปวดให้คนอื่น ส่วนคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวนไม่ว่าจะมีบุคลิกภาพแปรปรวนร่วมด้วยหรือไม่ มีแนวโน้มที่จะทำลายตัวเองอย่างเปิดเผย ผ่านความเลวร้ายต่าง ๆ ได้มากกว่า จะหันไปหาสิ่งบันเทิงและการเบี่ยงเบนความสนใจต่าง ๆ เท่าที่จะหาได้ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดที่มี พวกเขาลงโทษตัวเองด้วยการทำสิ่งต่าง ๆ ที่ดูเหมือนมีความสุข คนเหล่านี้ไม่สามารถทุ่มเทเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเองได้ จึงใช้ความเชื่อผิด ๆ เข้ามาแทนที่ความรัก คนบางคนถึงรับมือกับความเครียด และบาดแผลทางใจได้ดีกว่าคนอื่น เพราะความยืดหยุ่นทางจิตใจ

บทที่ 14 ปัจจัยของความยืดหยุ่น

ความยืดหยุ่นทางจิตใจนี้หมายถึง ความสามารถในการปรับตัว และรับมือกับความเครียด แล้วก้าวผ่านความยากลำบากนั้นไป โดยที่สภาพจิตใจไม่มีปัญหา อาจมองว่าความยืดหยุ่นทางจิตใจ เป็นความแข็งแกร่งในรูปแบบหนึ่งที่ไม่เพียงช่วยให้รับมือกับความเครียดในชีวิตประจำวันได้ แต่ยังปกป้องเมื่อจำเป็นต้องเผชิญกับภาวะที่ทำให้เกิดความเครียด หรือการบอบช้ำทางจิตใจครั้งใหญ่ในชีวิต

มีความทะนงตนน้อยลง = จำเป็นต้องควบคุมน้อยลง

ความยืดหยุ่นทางจิตใจนี้เกิดจากความเชื่อในตัวเอง และความเชื่อในสิ่งที่เหนือกว่าตัวเอง ไม่ใช่ทุกเรื่องที่มีเหตุผล ให้สามารถเข้าใจได้ด้วยมุมมองที่จำกัด ถ้ายอมรับความจริงข้อนี้ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจกับทุกเรื่องที่ไม่รู้ ยิ่งใครสักคนยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางมากเท่าไหร่ โลกก็จะยิ่งหมุนรอบตัวมากขึ้นเท่านั้น เมื่อบวกกับการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ เขาจะยิ่งเชื่อว่าตัวเองสมควรเจอกับความเจ็บปวดและความทุกข์ยาก ดังนั้น เขาจะเหมารวมว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพื่อทำร้ายเขา ไม่ใช่เพื่อช่วยเหลือเขา เพราะจากมุมมองของเขา จักรวาลเกลียดเขา คนที่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจะมองทุกเรื่องเป็นเรื่องของตัวเองเสียหมด ยิ่งความคิดแบบนี้ขยายตัวออกไป คนคนนั้นจะยิ่งกลายเป็นคนขี้ระแวง และเชื่อว่าตัวเองเป็นต้นเหตุของทุกอย่างที่เกิดขึ้น

ทุกคนล้วนอยากหนี แค่มากน้อยต่างกัน

ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็สามารถพบสื่อบันเทิง ที่เข้าถึงได้สะดวกสบายโดยไม่ต้องคิดอะไร ความบันเทิงสำเร็จรูปเสนอทางหนีออกไปยังอีกโลกหนึ่ง โลกแห่งเขาวงกตอันไร้ทางออกของวิดีโอเกม ภาพยนตร์ และกระดานสนทนาตามเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นที่ที่ให้สามารถแยกตัวเองออกจากสิ่งที่ก่อให้เกิดความเครียดได้ทุกครั้งที่หลีกหนี แทนที่จะเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ความยืดหยุ่นทางจิตใจก็จะถูกบั่นทอนลงไป ทฤษฎีการจัดการความกลัวตาย (terror management theory) อธิบายถึงวิธีรับมือกับความวิตกกังวลรูปแบบหนึ่งในสองรูปแบบ เมื่อใช้ชีวิตอย่างเต็มที่และมั่นคง  มักจะอ้าแขนรับค่านิยมและความเชื่อต่าง ๆ ซึ่งจะนำความหมายมาสู่ชีวิต สิ่งนี้เรียกว่าสมมติฐานการตระหนักถึงความตาย (mortality salience hypothesis) และช่วยให้ควบคุมตัวเองได้มากขึ้น แต่ถ้ากำลังใช้ชีวิตอย่างไม่ค่อยมีความหมาย จะพยายามกลบความกลัวด้วยการทำตามใจตัวเอง ซึ่งเรียกว่าสมมติฐานการกั้นแรงปะทะจากความวิตกกังวล (anxiety-buffer hypothesis) เวลาที่โกรธตัวเองมักจะเตะโน่นชนนี่ตลอด นั่นเป็นเพราะอารมณ์กำลังปั่นป่วนจากการโมโหตัวเอง จนแสดงออกมาทางร่างกาย แต่ก็มีความเป็นไปได้ทางจิตวิทยาที่ว่า กำลังพยายามลงโทษตัวเองโดยไม่รู้ตัว

…มากเกินไป/…น้อยเกินไป

คุณภาพชีวิตในแง่อารมณ์นั้น จะสอดคล้องกับปริมาณความรับผิดชอบที่ยินดีรับ เป็นโรคบุคลิกภาพแปรปรวน อาจควบคุมแรงกระตุ้นของตัวเองมากเกินไปหรือน้อยเกินไป นั่นหมายความว่าคนที่ดูเหมือนจะมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี มีความเชื่อมั่นในคุณธรรม และอุดมคติต่าง ๆ อย่างแรงกล้า อาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยก็ได้ การแสดงความรักใคร่เป็นพฤติกรรมเชิงบวก ในขณะที่ความห่างเหินหรือการไม่เอาใจใส่นั้นไม่ใช่ แต่การตัวติดกับคนอื่นมากเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดี หรือว่าการไว้ใจผู้อื่นเป็นพฤติกรรมเชิงบวก ในขณะที่ความหวาดระแวงนั้นไม่ใช่ แต่การเป็นคนไร้เดียงสาจนไม่ทันคนก็ไม่ใช่เรื่องดี การขาดการยับยั้งชั่งใจสามารถแสดงออกมา ในรูปแบบของการปล่อยปละละเลยกับทั้งเรื่องของตัวเองและผู้อื่น

นอกเหนือจากนี้ยังมีอาการอีกมากที่ต้องใช้หลักจิตวิทยาหลายอย่างมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพราะความผิดปกติทางจิตไม่เพียงแบ่งได้หลายประเภทเท่านั้น แต่ยังแบ่งได้หลายระดับจนทำให้มึนงงกันเลยทีเดียว โดยอัตราที่คนหนึ่งคนจะมีโรคที่เกิดร่วมกันนั้นมีมากถึง 90% เมื่อใครบางคนมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพอย่างหนึ่ง พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติทางบุคลิกภาพเพิ่มเติมอีกอย่างน้อย 1 อย่าง เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ที่เพิ่มขึ้นของความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

ส่วนที่ 4 สร้างระบบวิเคราะห์ลักษณะทางจิตวิทยา

บทที่ 15 ค้นหาจิตใจที่มั่นคง

มุมมองนั้นกำหนดวิธีที่มองเห็น และตอบสนองต่อสถานการณ์ ทั้งยังชี้นำหรือหลอกลวงให้จัดสถานการณ์ดังกล่าว ไว้ในหมวดหมู่สิ่งสำคัญหรือสิ่งไม่สำคัญ ดังนั้นหากจะเริ่มต้นจากส่วนที่ง่ายที่สุดของการประเมินทางจิตวิทยา จำเป็นต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ คนคนนี้มีมุมมองที่สมดุลในการจัดลำดับสิ่งสำคัญในชีวิตหรือเปล่า หรือเขาทำเป็นเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ แต่ดันมองข้ามสิ่งที่สำคัญไป เขาดูเป็นคนที่รู้ว่าอะไรสำคัญและอะไรไม่สำคัญหรือเปล่า หรือเขาใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายและวิกฤตอยู่ตลอดเวลา สามารถรู้อะไรได้มากมายจากวิธีการที่ใครสักคนตอบสนองต่อความพ่ายแพ้และชัยชนะเล็ก ๆ ในชีวิต แต่ไม่ต้องนั่งรอและเฝ้าดูการสนทนาทั่ว ๆ ไป สามารถเป็นแว่นขยายที่ส่องเข้าไปดูโลกภายในของคน ๆ นั้นได้ด้วย

เลนส์ของความจริง

สิ่งที่บอกได้ว่าใครบางคนมีมุมมองอย่างไรคือ วิธีที่เขาตอบสนองและครุ่นคิดต่อประสบการณ์ที่ยากลำบากของชีวิต หรือแม้แต่สถานการณ์ที่เป็นกิจวัตร มุมมองจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่า จัดหมวดหมู่ประสบการณ์ไว้ในสถานการณ์ปนเปื้อนหรือการชำระล้าง โดยอย่างหลังมีความสัมพันธ์กับการมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีขึ้น ส่วนอย่างแรกนั้นมีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตที่แย่ลง เมื่อใครสองคนพูดถึงชีวิตของเขา สัดส่วนและความหนักแน่นระหว่างส่วนที่เป็นแง่บวกกับแง่ลบ ของรายละเอียดและเหตุการณ์ที่เขาพูดถึง จะบ่งบอกมุมมองของเขาได้ คนที่มีวิธีมองโลกแบบเดียวกันมักจะมีแบบแผนการใช้ภาษาที่เหมือนกัน

100% แน่นอน และโดยสมบูรณ์

คนที่เก็บกดความวิตกกังวลเอาไว้ในระดับสูง จะแสดงออกอย่างดื้อรั้นสุดโต่งบ่อยตามไปด้วย โดยมักใช้คำว่าตลอดเวลา ทุกคน ไม่มีใครเลย ทั้งหมด จำเป็นต้อง และอย่างแน่นอน ในทางตรงกันข้าม คนที่มีระดับความวิตกกังวลต่ำ สามารถแสดงออกถึงจุดยืนที่มีความรอบคอบมากกว่า โดยใช้คำว่าบางครั้งไม่บ่อยนัก อาจเป็นไปได้ เกือบ และอาจจะ การขาดมุมมองจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของกรอบความคิดแบบเบ็ดเสร็จ (absolutist thinking) ซึ่งสะท้อนให้เห็นในวิธีการพูด ไม่ว่าจะคำพูด ความเห็น หรือแนวคิดที่สื่อความหมาย หรือเป็นสัญลักษณ์ของการรวบยอด ก็ถือว่าเป็นการคิดแบบเบ็ดเสร็จเช่นกัน

ตัวเพิ่มความรุนแรง ราดน้ำมันใส่กองไฟ

การใช้คำพูดที่หยาบกระด้างเป็นลักษณะของคนที่คิดแบบเบ็ดเสร็จ แบบแผนทางภาษาของคนคนหนึ่งจะเปิดเผยบุคลิกภาพของเขา และเมื่อความเจ็บปวดทางจิตปรากฏให้เห็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ มันจะปรากฏขึ้นในแบบใดแบบหนึ่ง ระหว่างความผิดปกติประเภทขัดกับตัวเอง หรือความผิดปกติประเภทเข้ากับตัวเอง การใช้คำหยาบก็เหมือนกับการใช้คำแบบเบ็ดเสร็จ เพราะคำเหล่านั้นมักใช้เป็นคำขยายกริยาที่เพิ่มความรุนแรง

ผู้พิพากษาลูกขุนและเพชฌฆาต

การใช้ภาษาแบบเบ็ดเสร็จนั้น สามารถเป็นสัญญาณที่ชัดเจน ของความแปรปรวนทางอารมณ์ เมื่อพิจารณาความคิดเห็น หรือการตัดสินใจส่วนตัว ไม่เพียงเป็นการเหมารวมเท่านั้น แต่ยังอ้างไปถึงความจริงสากลด้วย ซึ่งไม่น่าแปลกใจที่แบบแผนทางภาษาเหล่านี้ ตั้งอยู่บนรากฐานของการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง มุมมองที่แคบและการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ

ระดับที่ 1 ผู้พิพากษา

เมื่อบางคนพูดจากมุมมองของผู้พิพากษา พวกเขากำลังฉายภาพมุมมองของตัวเอง ราวกับมันเป็นความจริงที่ทุกคนยอมรับ

ระดับที่ 2 ผู้พิพากษาและลูกขุน

ความบิดเบี้ยวของมุมมองจะยิ่งมีปัญหามากขึ้น เมื่อผู้พิพากษากับลูกขุนรวมอยู่คนคนเดียว โดยทั้งตัดสินและฝั่งตราประทับทางคุณธรรม เพื่อแปะป้ายว่าคน สถานที่ หรือแนวคิดหนึ่งจัดเป็นความดีหรือความชั่ว

ระดับที่ 3 ผู้พิพากษา ลูกขุน และเพชฌฆาต

ในระดับนี้เขาคือคนที่สนับสนุนการแก้แค้น หรือทวงความยุติธรรมกับคนที่ไม่ได้มองโลกผ่านเลนส์แบบเดียวกับตัวเขา หรือต่อต้านความปรารถนา และความคาดหวังของเขา

ในแต่ละระดับคำที่เพิ่มความรุนแรงให้คำกริยา จะเพิ่มความบิดเบี้ยวมากขึ้น

ทุกภาพมีเรื่องราว

ยิ่งเห็นคุณค่าในตัวเองสูงเท่าไหร่ จะยิ่งโต้ตอบด้วยความขุ่นเคืองได้ช้าเท่านั้น เพราะไม่จำเป็นต้องได้รับความรัก หรือความเคารพจากคนอื่นเพื่อเติมเต็มคุณค่าในตัวเอง ถ้าเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงและความทะนงตนเข้ามามีบทบาท จะเตรียมตั้งรับตลอดเวลา เพื่อรับมือสถานการณ์ที่ทำให้ต้องตั้งคำถามต่อคุณค่าของตัวเอง โดยกลัวว่าจะไม่เป็นที่รักหรือไม่น่ารักพอ การเห็นคุณค่าในตัวเองและความทะนงตนนั้น มีความเชื่อมโยงที่แปรผกผันกันเสมอ ยิ่งเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำเท่าไหร่ ความทะนงตนก็จะยิ่งขยายตัว และมุมมองจะยิ่งแคบลงเช่นเดียวกับกระดานหก เมื่อด้านหนึ่งดีดขึ้นอีกด้านก็จะถูกกดลง สุขภาวะทางอารมณ์ของคนเราจึงสามารถประเมินได้ จากการสังเกตที่มุมมองและการเห็นคุณค่าในตัวเอง

บทที่ 16 จิตวิทยาของการเห็นคุณค่าในตัวเอง

คนเรามักสับสนระหว่างการเห็นคุณค่าในตัวเอง (self-esteem) กับความมั่นใจในตัวเอง (self-confidence) แต่ 2 อย่างนี้ค่อนข้างแตกต่างกันทีเดียว และการแยกแยะให้ออกนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ความมั่นใจตัวเองคือการที่รู้สึกว่ามีความสามารถเพียงพอในเรื่องหนึ่ง หรือในสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง ขณะที่การเห็นคุณค่าในตัวเองนั้นคือ การตระหนักรู้ว่าเป็นที่รัก น่าชื่นชอบ และคู่ควรที่จะได้รับสิ่งดี ๆ ในชีวิต แน่นอนว่าบางคนพยายามจะเสริมภาพลักษณ์ของตัวเอง โดยให้ความสำคัญอย่างมากกับคุณลักษณะบางอย่าง อาจดูเหมือนคนที่เห็นคุณค่าในตัวเองสูง ในสายตาของคนที่ไม่เคยเรียนรู้เรื่องนี้

แต่จริง ๆ แล้วกำลังทุกข์ทรมานจากการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ เพราะพยายามจะสร้างตัวตนทั้งหมดขึ้นมา จากพรสวรรค์ 1 อย่างที่มีมาแต่กำเนิด หรือทักษะบางอย่างที่ตัวเองพัฒนาขึ้น เช่น จะเป็นคนสำคัญก็ต่อเมื่อเป็นคนสวย มีค่าเพราะฉลาด การมองคุณค่าแบบนี้เกิดจากกรอบความคิดแบบยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ที่บังคับให้ต้องเอาตัวเองไปต่อสู้กับคนอื่น เพื่อที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีค่าพอจะได้รับความรัก และคู่ควรกับความสัมพันธ์ ความทะนงตนที่พองโตขึ้น ไม่ได้เกิดจากการเห็นคุณค่าในตัวเองในระดับสูงสุด แต่เกิดจากความเกลียดชังตัวเองเสียมากกว่า อย่าติดกับหลักความเชื่อที่ว่า คนที่มีความทะนงตนมากจะชอบตัวเอง

การวิ่งอย่างบ้าคลั่ง

ตอนทะนงตนเป็นตัวตนจอมปลอมที่มีอยู่ เพื่อชดเชยความรู้สึกผิดหรือปมด้อย โดยเป็นแง่มุมต่าง ๆ ที่ไม่สามารถรักหรือยอมรับได้ ความอวดดีเป็นการแสดงออกถึงความทะนงตนอย่างหนึ่ง ที่บ่มเพาะทัศนคติ ความเชื่อ และค่านิยมต่าง ๆ เพื่อคอยค้ำจุนภาพลักษณ์ที่สั่นคลอนของตัวเอง จึงเป็นการยืนยันถึงการเห็นคุณค่าในตัวเองต่ำ คนอวดดีไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองครบถ้วนสมบูรณ์ เขาเป็นเหมือนคนเสพติดอารมณ์ที่ต้องคอยพึ่งคนอื่น ในการหล่อเลี้ยงตัวตนอันเปราะบางของเขา เขาเป็นทาสของแรงกระตุ้นในตัวที่ไม่เคยเอาชนะได้

หากมองผิวเผินคนอวดดีอาจดูเหมือนเห็นคุณค่าในตัวเองมากกว่า พวกเขาเลยดูไม่เป็นคนที่กลัวอะไรทั้งสิ้น แต่ความจริงแล้วเขาถูกขับเคลื่อนด้วยความกลัวที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งบดบังความกลัวที่เกิดขึ้นตรงหน้า บุคลิกภาพแบบนี้ถูกแสดงออกผ่านทัศนคติที่ดูมั่นใจ ชอบท้าทาย และคิดว่าตัวเองถูกต้อง แต่พฤติกรรมที่ปรากฏให้เห็นไม่ได้สะท้อนถึงความเปราะบางที่แท้จริงของเขา นั่นคือความต้องการให้คนอื่นยอมรับ

ตำนานของคนที่หลงใหลในความรักตัวเอง

มีความเชื่อผิด ๆ อย่างหนึ่งเล่าต่อกันมานานว่า การหลงตัวเองคือผลลัพธ์ของการเห็นคุณค่าในตัวเองมากเกินไป แม้ว่าการหลงตัวเองจะถูกมองว่าเป็นการรักตัวเองมากจนเกินเหตุ แต่ที่จริงแล้วมันคือการเกลียดตัวเองมากเกินไปต่างหาก ตำนานของนาร์ซิสซัสเป็นที่มาของความหลงตัวเอง (narcissism) ซึ่งหมายถึงการจดจ่อกับตัวเองและรูปแบบทางกาย หรือภาพลักษณ์ที่คนภายนอกมองเห็น ในตำนานเทพปกรณัมกรีกนาร์ซิสซัสเป็นพรานที่ขึ้นชื่อในเรื่องรูปลักษณ์ที่งดงาม เช่นเดียวกับคนหลงตัวเองในโลกปัจจุบัน ที่จะจดจ่ออยู่แต่เรื่องรูปลักษณ์ภายนอก สิ่งนี้ไม่เพียงสะท้อนกรอบความคิดของพวกเขา แต่ยังรวมถึงสุขภาพจิตด้วย

ถ้าเราต่อกันไม่ติด งั้นฉันจะคุมเอง

ความทะนงตนบอกว่ากำลังถูกล้อมไว้และตกอยู่ในอันตราย ยิ่งความทะนงตนเพิ่มขึ้นเท่าไหร่จะยิ่งถูกกลืนมากขึ้นเท่านั้น การกลัวว่าจะเข้ากับคนอื่นไม่ได้ จึงกลายเป็นภัยคุกคามของการดำรงอยู่ เชื่อว่าชีวิตกำลังอยู่ในความเสี่ยง การควบคุมจึงถูกมองว่าเป็นตัวแทนของการเชื่อมโยงกับคนอื่น ยิ่งเห็นคุณค่าในตัวเองน้อยลงเท่าไหร่ ความทะนงตนก็จะเข้ามาควบคุมมากเท่านั้น โดยมีเป้าหมาย 2 อย่างคือ การหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดความเปราะบางทางอารมณ์ เมื่อเห็นคุณค่าในตัวเองลดลง ความสามารถในการให้และรับจะถูกจำกัด และความทะนงตนจะเข้ามาควบคุมนำไปสู่ภาวะเอาแต่ได้ ที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ก็ยิ่งเอาความสิ้นหวังนั้น ไปพยายามควบคุมเหตุการณ์และผู้คนรอบตัว โดยเฉพาะคนที่ใกล้ชิด ไม่ว่าจะเข้าควบคุมอย่างเปิดเผย หรือแสดงความขุ่นเคืองแบบอ้อม ๆ จิตใต้สำนึกในการช่วงชิงอำนาจการควบคุม ทำอะไรที่ล้ำเส้น และปฏิบัติไม่ดีต่อคนที่หวังดี เมื่อไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็นจะอดไม่ได้ที่จะโกรธตัวเอง จากนั้นก็ปลดปล่อยความโกรธออกมาสู่โลกรอบตัว และคนที่ห่วงใยมากที่สุด

เกม หน้ากาก และจุดซ่อนตัว

เมื่อไม่สามารถแสดงความอ่อนแอได้ก็ต้องยิ่งหาทางควบคุม รวมถึงต้องคิดคำนวณและตีความเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อชดเชยความผิดพลาดและข้อบกพร่อง ทั้งที่จริงและที่คิดไปเอง หน้ากากที่สวมจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่การปลอมตัว แต่เป็นภาพลักษณ์ที่วาดให้กับตัวเอง เพื่อหาทางกลบเกลื่อนความเกลียดชังตัวเอง และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่แสดงให้เห็นความอ่อนแอเหล่านั้น ซ่อนตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเพื่อให้รู้สึกปลอดภัย จนกระทั่งมีชีวิตอยู่เพียงเพื่อปกป้องภาพลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งรวมถึงทุกเกมที่เล่น และหน้ากากทุกอันที่หยิบมาสวม เพื่อบอกโลกว่านี่คือตัวตนที่ถูกต้อง หรือเป็นคนที่คู่ควรกับการเป็นที่รัก การโหยหาการยอมรับ และพวกเขาจะกลายเป็นคนที่คอยเอาใจคนอื่น ในที่สุดพวกเขาจะเลือนหายไปกับฉากหลัง และกลายเป็นคนที่ไม่มีอารมณ์ความรู้สึก เพื่อที่จะไม่ให้มีอะไรสั่นคลอน และเลี่ยงการเสี่ยงที่จะถูกตัดออกจากความสัมพันธ์ พวกเขาแค่ตามน้ำไปเพื่อให้เข้ากับคนอื่นได้

คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ มีแนวโน้มที่จะทุกข์ทรมานจากการเป็นโรคอารมณ์แปรปรวน ส่วนคนที่มีบุคลิกภาพแบบบงการ จะเอาตัวเองไปอยู่ในจุดสนใจเพื่อซ่อนตัวในที่แจ้ง พวกเขาจะไขว่คว้าเงินทอง อำนาจ และชื่อเสียงให้ตัวเองดูมีค่า และคู่ควรที่จะสร้างความสัมพันธ์ด้วย คนที่มีบุคลิกภาพแบบนี้ มีแนวโน้มที่จะทุกข์ทรมานจากโรคบุคลิกภาพแปรปรวน คนที่มีความผิดปกตินั้นดูออกได้ไม่ยากเลย ถ้ารู้ว่าต้องสังเกตจากอะไรบ้าง ยกเว้นคนประเภทหนึ่งที่ถือว่าอันตรายที่สุด นั่นคือคนที่เป็นโรคบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคม หรือพวกโซซิโอพาท (sociopath)

บทที่ 17 เปิดหน้ากากความผิดปกติทางบุคลิกภาพ

คำว่าโซซิโอพาทและไซโคพาท (psychopath) สามารถใช้แทนกันได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแวดวงจิตวิทยาเอง ยังไม่มีความเห็นที่ตรงกันว่าความผิดปกติทั้ง 2 ประเภทนี้ มีสาเหตุรวมถึงสัญญาณและอาการบ่งชี้ สิ่งที่พอจะมีความชัดเจนคือ ระบบประสาทอัตโนมัติของคนที่เป็นไซโคพาท มีการเชื่อมโยงผิดปกติ ต่างกับโซซิโอพาทที่แม้ว่าอาการของพวกเขาอาจจะมีเรื่องเกี่ยวกับองค์ประกอบทางพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในทางการแพทย์ทั้ง 2 คำถูกจัดกลุ่มว่า เป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบต่อต้านสังคมทั้งคู่ และด้วยเหตุผลอีกหลายอย่าง จะใช้คำว่าโซชิโอพาทเพื่อเป็นคำที่ใช้แทนถึงทั้งสองโรคนี้

ไขสัญญาณที่ซ่อนอยู่

ไม่ใช่พวกโซชิโอพาททุกคนจะมีวินัย บางคนก็ขาดการควบคุมตนเอง และทุกข์ทรมานกับพฤติกรรมเสพติด และนิสัยที่ทำร้ายตัวเองหลายอย่าง  แต่คนที่สามารถอดทนรอสิ่งที่ต้องการได้ และมองเป้าหมายระยะยาวนี่แหละที่อันตรายที่สุด เพราะพวกเขาจะละเอียดรอบคอบและดูเรียบร้อย ลักษณะเด่นที่ใช้วินิจฉัยคนที่เป็นโซชิโอพาทอย่างเสน่ห์แบบผิวเผิน การไร้ความสำนึกหรือความละอายใจ นิสัยชอบโกหก พฤติกรรมชอบปั่นหัวคน และพฤติกรรมสำส่อนต่างเป็นที่รู้กันดี ซึ่งพวกเขาก็สามารถปกปิดสิ่งเหล่านี้ได้เก่งมาก จนมาเปิดเผยก็ต่อเมื่อสายเกินไปแล้ว บุคลิกของคนเป็นโซชิโอพาทนั้น ถูกปลอมขึ้นอย่างระมัดระวัง เพื่อใช้ในการเข้าหาและสร้างความพึงพอใจให้กับเหยื่อ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความผูกพัน และชักจูงเพื่อสร้างความพึงพอใจ เพื่อดึงดูดคนที่พบเห็นให้ได้มากที่สุด

การขายเกินพอดี

คนประเภทนี้จะไม่มีความรู้สึกผิดหรือละอายใจ ถึงแม้พวกเขาจะไม่สนุกกับผลลัพธ์ของการถูกจับได้ สูญเสียการควบคุม หรือถูกเปิดโปง พวกเขามีแนวโน้มที่จะเชื่อทุกสิ่งที่ตัวเองพูด หรือรู้สึกว่ามันเหมาะสมอย่างไร้ที่ติ แม้ว่ามันจะเป็นคำโกหกก็ตาม ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จะตรวจสอบการตอบสนองทางร่างกายของการโกหกในพวกโซชิโอพาท พวกเขาจะใช้การขายที่มากเกินเหตุ ด้วยคำพูดที่น่ารำคาญ กล่าวซ้ำซาก และใช้มุกเก่า ๆ ที่น่าเบื่อเป็นจุดขาย ในการโต้แย้ง และเรื่องราวของพวกเขา เนื่องจากพวกโซชิโอพาทคือคนที่ฝึกฝน การเล่นละครตบตาและการนำเสนอภาพลักษณ์มาอย่างดี พวกเขาจึงเล่นบทคนจริงใจได้อย่างแนบเนียน แต่เดาได้เลยว่าพวกเขาจะทำทุกอย่างมากเกินพอดีไปหมด คนที่มีสุขภาวะอารมณ์ที่ดีและมีความซื่อตรง จะไม่สบตาใครนาน ๆ หรือไม่พยายามที่จะโน้มน้าวอย่างหนัก ให้เชื่อในสิ่งที่เชื่อได้จริง ๆ และแน่นอนว่าสัญญาณของความอ่อนน้อม ทั้งที่จริงและปลอมนั้นสามารถทำให้สับสนได้ง่าย

แง้มดูใต้หน้ากาก

พวกโซชิโอพาทมักหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญสถานการณ์ หรือประเด็นที่อาจทำให้เกิดความรู้สึกที่ควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะความกลัวในการสนทนา พวกเขาจะไม่พูดถึงหัวข้ออย่างเรื่องความยากลำบากในวัยเด็ก หรือความรักที่ไม่สมหวัง พวกโซชิโอพาทจะไม่ค่อยพูดถึงความต้องการทางอารมณ์หรือทางสังคมของตัวเอง แต่จะพูดคุยอย่างลื่นไหลถ้าเป็นเรื่องเงิน อำนาจ และการควบคุม เช่นเดียวกับความจำเป็นทางร่างกายอย่างอาหารหรือเสื้อผ้า เมื่ออยู่ในที่ที่คุ้นเคยและได้เป็นฝ่ายควบคุม พวกโซชิโอพาทจะสวมหน้ากากที่ไม่สามารถสังเกตเห็น หรือมองทะลุผ่านได้เลย ต้องทำให้พวกเขาเสียศูนย์ก่อน แล้วแทนที่พวกเขาจะตอบสนองแบบที่เคยเตรียมการเอาไว้ จะเห็นการตอบสนองที่แท้จริง ซึ่งแสดงให้เห็นสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้หน้ากากนั้น

หลังชนกำแพง

พวกโซชิโอพาทหรือคนที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพอื่น ที่มีลักษณะคล้าย ๆ กันจะรู้ว่าต้องทำอย่างไรในทางจิตวิทยา เพื่อให้เป็นผู้คุมเกมในความสัมพันธ์ หลังจากทำให้คนอื่นให้ความร่วมมือได้ในระดับหนึ่ง พวกเขาจะเริ่มกัดกร่อนความมั่งคงทางอารมณ์ของเป้าหมาย จึงเป็นเหตุผลที่พวกเขาชอบทำตัวให้คาดเดาไม่ได้ ท่าทางของพวกเขาอาจจะเกรี้ยวกราด หรือพวกเขาอาจจะบีบคั้นโดยไม่ต้องใช้คำพูดเลย ด้วยการปิดปากเงียบ คนเหล่านี้ต้องการทำให้เจ็บปวด อาจฟังดูย้อนแย้ง แต่การยอมให้พวกเขากลับทำให้รู้สึกว่ามีอำนาจควบคุมมากขึ้น นั่นเพราะเมื่ออนุญาตให้ตัวเองถูกควบคุม ทั้งสถานการณ์และพฤติกรรมของพวกเขา จะเริ่มดำเนินไปบนวิถีทางและผลลัพธ์ที่คาดเดาได้ ความคิดความทะนงตนซึ่งใช้เส้นทางที่มีแรงต้านน้อยที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นั่นคือสิ่งที่ไม่รู้

สงครามเต็มรูปแบบ

นิสัยที่แย่ที่สุดของพวกโซชิโอพาท จะผุดออกมาอย่างรวดเร็ว เมื่อพวกเขารู้สึกว่าควบคุมไม่ได้ เมื่อพบว่าไม่เชื่อฟังอีกต่อไป พวกเขาจะเปลี่ยนไปใช้โหมดจู่โจมเต็มรูปแบบทันที บอกลาหน้ากากของความมีมารยาทไปได้เลย พวกเขาจะโยนข้อกล่าวหาสารพัดอย่างใส่ รวมถึงว่าร้ายให้ทุกคนที่จะยอมฟัง พวกเขาจะปั้นน้ำเป็นตัวเพื่อทำลายชื่อเสียง พวกเขาจะใช้ความคิดเห็นจากสังคมเป็นศาลเตี้ย ใช้ทุกคนกดดันและใช้คนเหล่านั้นโจมตีแทน พวกเขาไม่รีรอที่จะพาไปขึ้นศาล สำหรับพวกเขานี่คือเกมแห่งอำนาจ ไม่ว่าคน ๆ หนึ่งจะมีบุคลิก หรือความผิดปกติแบบไหน สุขภาวะทางอารมณ์นั้น ไม่สามารถแยกขาดจากคุณภาพของความสัมพันธ์ที่มีได้ งานวิจัยยืนยันสิ่งที่ก็รู้กันอยู่แล้วนั่นคือ ความสามารถในการสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดี เป็นหัวใจสำคัญของสุขภาพจิตที่ดี เมื่อเป็นเรื่องของความสัมพันธ์แล้ว ต่อให้ใครสักคนเป็นโซชิโอพาท ก็ไม่สามารถยับยั้งตัวเองจากการเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงออกมา แต่จะดีกว่าหรือไม่ถ้ารู้ว่า มีอะไรที่ต้องระมัดระวังให้ดี ก่อนที่จะสายเกินไป

บทที่ 18 ภาพสะท้อนของความสัมพันธ์

คนที่มีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี มักจะมีความสัมพันธ์ที่มีความสุขกับคนอื่นด้วย ในทางตรงกันข้าม คนที่ไม่สามารถเข้ากับใครได้เลย มักจะมีปัญหาทางอารมณ์บางอย่าง การที่ไม่มีความสุขในชีวิต มักมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความสัมพันธ์ที่ล้มเหลว หรือกำลังจะล้มเหลว โดยสุขภาพทางอารมณ์มักจะขึ้นอยู่กับคุณภาพของความสัมพันธ์ การปล่อยให้คนอื่นเข้ามาในพื้นที่ทางอารมณ์ และการเข้าไปในพื้นที่ทางอารมณ์ของคนอื่นนั้น ต้องอาศัยการลดความเป็นตนเอง ก็จะเกิดการสร้างความสัมพันธ์ และกลายเป็นความผูกพันยิ่งเห็นคุณค่าในตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกครบถ้วนสมบูรณ์มากเท่านั้น อย่างไรเสียการรับก็เป็นผลลัพธ์ที่ตามมาโดยธรรมชาติ ของการให้ตามหลักการต่างตอบแทน วงจรของการให้และรับ ซึ่งเป็นการผสมผสานที่สมบูรณ์แบบในความเป็นจริงแล้ว งานวิจัยแสดงให้เห็นว่ามีบางส่วนของสมอง ที่มีระดับการทำงานสูงขึ้นเมื่อเป็นผู้ให้ การให้จึงเป็นสิ่งที่ทำให้สมองตื่นตัวได้จริง ๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อเอาแต่รับจะรู้สึกว่างเปล่า และถูกบีบให้ต้องเป็นฝ่ายรับอย่างไม่จบสิ้น เพื่อพยายามเติมเต็มตัวเอง การเป็นฝ่ายรับอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้รู้สึกว่าต้องพึ่งผู้อื่นมากขึ้น และยิ่งทำให้รู้สึกอ่อนล้าเพิ่มขึ้นด้วย

การกำจัดผลบวกลวง

การได้เห็นภาพรวมทางจิตวิทยา จะช่วยให้ระบุได้ง่ายขึ้นว่า คนคนนั้นเห็นคุณค่าในตนเองต่ำ โดยดูจากวิธีพูดและการปฏิบัติตัว ทว่าโอกาสมองผิดพลาดก็มีอยู่มากมาย การให้เพื่อบริจาคกับการให้เพราะถูกข่มขู่ ในทั้งสองกรณีเงินจากคนคนหนึ่งเปลี่ยนมือไปสู่คนอีกคนหนึ่งเหมือนกัน แต่กรณีหนึ่งทำให้มีอำนาจมากขึ้น ขณะที่อีกกรณีทำให้อ่อนแอลง การกระทำแบบหนึ่งเพิ่มการเห็นคุณค่าในตัวเองยิ่ง อีกแบบหนึ่งทำให้รู้สึกห่อเหี่ยว ถ้าให้เพราะความรู้สึกกลัวหรือรู้สึกผิด ก้อนหินคุณค่าในตัวเองจะไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย มันมีเพียงแต่จะลดลงด้วยซ้ำ เนื่องจากเพราะไม่ได้กำลังให้อยู่จริง ๆ มันคือการที่คนอื่นมาเอาไปต่างหาก กำลังถูกคนอื่นเอาเปรียบโดยตัวเองเป็นคนอนุญาต

ภาพลักษณ์ของความสัมพันธ์

คนเราสามารถสังเกตเห็นการเห็นคุณค่าในตัวเองได้ ในรูปของสิ่งสะท้อนความสัมพันธ์ของคนเรา โดยมักจะปรากฏให้เห็นใน 3 ขอบเขตนั่นคือ ประวัติความเป็นมาและแบบแผน การปฏิสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยน ขอบเขตและอาณาเขต

ประวัติความเป็นมาและแบบแผน

ในรูปการณ์ทำงานคำถามที่ดีที่สุด ที่จะใช้สัมภาษณ์เพื่อรับสมัครงาน ต้องเป็นคำถามปลายเปิด ลองถามเกี่ยวกับงาน เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานที่ผ่านมาของเขา ต้องมองหาคนที่มีความรับผิดชอบในระดับหนึ่ง ต่อทั้งความสำเร็จส่วนตัวและความสัมพันธ์กับคนอื่น นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิทธิ์รู้สึกไม่พอใจกับคนอื่นเล็กน้อย แต่ถ้าไม่มีความฉลาดทางอารมณ์มากพอที่จะรู้ตัวว่า ตัวเองดูขุ่นเคือง มุ่งร้าย และอาฆาตนี่ต่างหากที่เป็นสัญญาณอันตราย วิธีรับรู้สิ่งต่าง ๆ ของเขาคือสิ่งที่ต้องกังวล และการที่เขาไม่รู้ว่าควรพูดหรือไม่พูดอะไรบ้าง ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลยิ่งขึ้นไปอีก

การปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยน

บางคนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง อาจปล่อยใจให้หลงไปกับบางอย่าง เพื่อความพอใจของตัวเอง แต่อาจจะปฏิบัติกับผู้อื่นไม่ดีนัก หรือเขาอาจจะเอาแต่ทำนู่นทำนี่ให้ผู้อื่น เพราะโหยหาการยอมรับและความเคารพ แต่ไม่เคยสนใจความต้องการของตัวเอง มีเพียงคนที่เคารพในตัวเองอย่างแท้จริง ที่จะปฏิบัติต่อทั้งตัวเองและผู้อื่นอย่างดี คนที่เคารพตัวเองจะสามารถเคารพคนอื่น และปฏิบัติตัวด้วยความซื่อตรง

ขอบเขตและอาณาเขต

ภาพลักษณ์อันไม่ชัดเจน ที่ใครบางคนมองตัวเอง อาจแสดงออกมาในรูปของขอบเขตที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ เพราะถ้าคนคนหนึ่งยังไม่สามารถให้นิยามตัวเองได้อย่างชัดเจน จะไม่รู้ว่าสิ่งใดเหมาะสมสำหรับตัวเขา หรือเหมาะสมสำหรับคนอื่น ความผิดปกตินี้อาจปรากฏให้เห็นในรูปของคนที่รู้สึกขาดแคลนอย่างเรื้อรัง การกำหนดอาณาเขตที่ดีไม่ใช่การกีดกั้นคนอื่นออกไป แต่เป็นการกำหนดพื้นที่ และสำนึกในความรับผิดชอบส่วนตัว โดยธรรมชาติแล้วคนเราจะปฏิบัติตัวในแบบที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่พวกเขามองตัวเอง และภาพลักษณ์ที่พวกเขาคิดว่าคนอื่นมอง

คนที่ต้องการจะบีบบังคับคนอื่น อาจใช้หลักจิตวิทยานี้ด้วยการพูดถึงเรื่องมิตรภาพ ครอบครัว ความเป็นหุ้นส่วน ความมุ่งมั่นในการทำงาน การมีมารยาทในสังคม ซึ่งล้วนเป็นคุณลักษณะที่คนส่วนใหญ่อยากให้ตัวเองมี คนที่กำหนดอาณาเขตของตัวเองได้อย่างเหมาะสม จะอยากเสนอความช่วยเหลือให้คนอื่น หากเป็นเรื่องสมเหตุสมผลและในเวลาเดียวกัน จะสามารถขอความช่วยเหลือจากคนอื่นได้อย่างมีความรับผิดชอบตรงไปตรงมา และไม่ต้องใช้การอ้อมค้อมเพื่อชักจูงใด ๆ ยิ่งมีความสุขมากขึ้นกับทิศทาง และจังหวะเวลาในการใช้ชีวิต ก็จะยิ่งขุ่นเคืองใจกับตัวเองน้อยลง มีความยืดหยุ่น และความอดทนต่อผู้อื่นมากขึ้น ยอมตามใจตัวเองมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งอยากสั่งให้โลกใบนี้ทำตามใจเสมอ ซึ่งเปิดโอกาสให้การปฏิสัมพันธ์ และความสัมพันธ์แย่ ๆ ได้ออกโรง

บทที่ 19 ความสุขความเศร้าและความทุกข์ทรมานระหว่างกลาง

คนที่ทุกข์ทรมานจากความวิตกกังวลหรือซึมเศร้า จะมีการใช้สรรพนามแทนตัวเองในอัตราที่สูงกว่า พวกเขายังใช้คำพูดที่มีความใกล้ชิดมากกว่า และใช้รูปประโยคที่บอกเหตุการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งบ่งบอกถึงการขาดมุมมองที่ดี หรือขาดการสร้างระยะห่างทางจิตวิทยาจากความทุกข์ เมื่ออยู่ภายใต้ความเครียดในระดับหนึ่ง พวกเขาจะใช้ภาษาที่เกี่ยวกับความสิ้นหวัง ตัวบ่งชี้ที่เชื่อถือได้ถึงลักษณะของการจดจ่อกับตัวเอง จนเป็นสาเหตุของอาการซึมเศร้าคือ การย้อนคิดถึงสิ่งกระตุ้นเชิงลบมากกว่าเชิงบวก และใคร่ครวญอยู่แต่กับความคิดแย่ ๆ และความกลัว แม้แต่เหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ได้ใหญ่โตอะไร ก็ทำให้พวกเขาจินตนาการไปต่าง ๆ นานา ซึ่งกัดกินพวกเขาด้วยความกลัว และความวิตกกังวลที่ผุดขึ้นมากมาย ชีวิตของพวกเขาเต็มไปด้วยโศกนาฏกรรมที่ไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลยด้วยซ้ำ

ภาพลวงตาของการจดจ่อ

การขาดความสามารถในการปล่อยวาง สิ่งที่น่าวิตกกังวลและความคิดที่ฟุ้งซ่าน จะทำให้อารมณ์ของพวกเขายิ่งปั่นป่วนขึ้นเรื่อย ๆ พวกเขาจะดึงความโศกเศร้าเข้ามาในชีวิตตัวเอง ด้วยการพุ่งความสนใจไปยังความคิดเชิงลบ หรือแรงกระตุ้นมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นการเติมเชื้อไฟให้มันสามารถดำรงอยู่ในชีวิตได้ต่อไป เรื่องนี้ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ความทะนงตนจดจ่ออยู่กับเรื่องเชิงลบ จากนั้นความสนใจก็ให้ความสำคัญกับสิ่งที่จดจ่อ ซึ่งทำให้มันดูมีความสำคัญ และยิ่งทำให้พุ่งความสนใจเพิ่มขึ้นไปอีก ซึ่งยิ่งตกอยู่ในวังวนของมุมมองที่แคบลง และความสั่นคลอนทางอารมณ์ที่มากขึ้นเรื่อย ๆ จึงไม่แปลกที่อารมณ์จะบูดบึ้งและเหวี่ยงไปมา

การเชื่อมโยงของร่างกายและจิตใจ

แม้ว่าปัญหาทางจิตและอารมณ์ จะถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่กว้าง ๆ ของความผิดปกติทางสุขภาพจิต แต่ก็มีความสัมพันธ์กับสุขภาพกายโดยตรง ความผิดปกติในเชิงจิตวิทยาสามารถแสดงออกมาเป็นอาการได้ทั้งในทางจิตวิทยาและทางร่างกาย ตัวอย่างเช่น คนที่ได้รับการวินิจฉัยทางการแพทย์แล้วว่าเป็นโรคซึมเศร้า มักจะแสดงอาการทางร่างกาย เช่น อาการปวดและเจ็บโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน นอนไม่หลับ อ่อนเพลียไม่มีแรง ระบบทางเดินอาหารผิดปกติ ยิ่งคนคนหนึ่งไม่สามารถประคองความสัมพันธ์ให้ดี ก็จะยิ่งทำให้ภาวะทางอารมณ์ และหลายครั้งก็ภาวะทางกายแย่ลง ความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือการอยู่ตัวคนเดียว เป็นปัจจัยที่มีผลต่อความเครียดสูง และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงมากกว่าปัจจัยอื่น ๆ

จากโรคประสาทสู่โลกจิต

ความแตกต่างระหว่างโรคประสาทกับโรคจิต โรคประสาทคือความวิตกกังวล ความไม่มั่นคง และความกลัวที่ไม่มีเหตุผล ส่วนใหญ่อาจมีแนวโน้มของโรคประสาทอยู่บ้างไม่มากก็น้อย ส่วนคนที่มีแนวโน้มของโรคประสาทอย่างรุนแรง จะปรับตัวหรือรับมือความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างยากลำบาก รวมถึงไม่สามารถสร้างบุคลิกภาพที่ดี ซับซ้อน และน่าพึงพอใจได้

ส่วนโรคจิตคือการแยกตัวออกจากความเป็นจริง โรคจิตเกิดขึ้นเมื่อคนคนหนึ่งพยายามบิดเบือนความเป็นจริง จนถึงระดับที่แทบจะไม่เหลือสิ่งที่ตรงกับความเป็นจริงอยู่เลย แม้ว่าอาการของโรคจิตจะพบได้ในคนที่เป็นโรคจิตเภท แต่มันก็พบได้บ่อยในหมู่คนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวน 2 ขั้ว หรือโรคไบโพลาร์ด้วย ลักษณะของอาการเหล่านี้ อาจสอดคล้องกับอารมณ์หรือขัดแย้งกับอารมณ์ ในช่วงที่อารมณ์ดีผิดปกติ อาการที่สอดคล้องกับอารมณ์อาจเป็นความรู้สึกว่า ตัวเองยิ่งใหญ่เกินจริง เพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดหายไป เขาจึงสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการกระทำ และผลลัพธ์ที่ขึ้นมาเอง แน่นอนว่านี่ยิ่งไปทำให้ความเจ็บป่วยแย่ลง เพราะเมื่อเกิดช่องโหว่ขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เขาจะยิ่งถอยลึกลงไปในความเชื่อของตัวเองมากขึ้น

บทที่ 20 เมื่อไหร่ที่ควรระวังสัญญาอันตรายและสัญญาณเตือน

คนเราไม่ได้จู่ ๆ ก็สติแตกขึ้นมา คนส่วนใหญ่มักมีพฤติกรรมที่บ่งชี้ให้ได้รู้ก่อนว่า ความรุนแรงกำลังเริ่มก่อตัว เวลาโกรธทำลายข้าวของหรือเปล่า มักจะข่มขู่หรือใช้ความรุนแรงในการพยายามแก้ไขความขัดแย้ง หรือเพื่อให้ได้อย่างที่ต้องการ มักแสดงออกเกินกว่าเหตุในเรื่องเล็กน้อย จู่ ๆ ก็มีทัศนคติ ประสิทธิภาพการทำงาน หรือพฤติกรรมที่แย่ลงอย่างฉับพลัน แม้ว่าข้อบ่งชี้เหล่านี้จะเป็นคำเตือนล่วงหน้าถึงสิ่งที่น่าเป็นกังวล แต่อย่าประมาทผลกระทบจากยาเสพติดและแอลกอฮอล์ งานวิจัยพบว่า 31% ของคนที่ใช้ทั้งสารเสพติดเกินขนาด และเป็นโรคทางจิตเวชมักมีประวัติการใช้ความรุนแรงอย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี ในสถานการณ์ใดก็ตามที่รู้สึกว่า มีบางอย่างที่ไม่ชอบมาพากล ขอให้เชื่อสัญชาตญาณตัวเอง ไม่จำเป็นต้องหาเหตุผล จิตใต้สำนึกสัมผัสถึงภัยคุกคาม ซึ่งจิตสำนึกอาจมองข้าม ดังนั้น เพื่อปกป้องตัวเองต้องเรียนรู้ที่จะเชื่อใจตัวเองด้วย

ภัยคุกคามต่อตัวเอง

แม้ว่าความเจ็บป่วยทางจิตจะไม่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรง แต่ความคิดและพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในอัตราที่สูง สามารถพบได้ทั่วไปในกลุ่มคนที่เป็นโรคอารมณ์แปรปรวน หรือบุคลิกภาพแปรปรวน คนที่พยายามฆ่าตัวตายจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอย่างมาก ก่อนที่พวกเขาจะเข้าสู่สภาวะซึมเศร้าและสิ้นหวังอย่างหนัก ส่วนที่หาทางออกด้วยการจบชีวิตตัวเอง ความจริงก็คือเมื่อไหร่ก็ตาม ประสบการณ์วิกฤตในชีวิตไม่จำเป็นว่าเขาต้องอยู่บนความเสี่ยง จากการฆ่าตัวตายเสมอไป การทำทีฆ่าตัวตายเป็นความพยายามฆ่าตัวตาย โดยที่คน ๆ นั้นไม่ได้มีเจตนาที่จะตายจริง ๆ แต่ต้องบอกไว้ก่อนว่า การทำร้ายตัวเองโดยเจตนาไม่ว่าจะตั้งใจฆ่าตัวตายหรือไม่ ก็ถือว่ามีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่คน ๆ นั้นอาจลงมือฆ่าตัวตายจริง ๆ ในระยะยาว

สาเหตุความเครียดที่สำคัญ

พฤติกรรมที่รุนแรงส่วนใหญ่ ก็เกิดจากสิ่งกระตุ้นความเครียดเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นความรู้สึกกดดันท่วมท้น ที่ถูกกักเก็บไว้ในความคิดและความรู้สึก สิ่งกระตุ้นความเครียดนั้นมีอยู่มากมาย เช่น วิกฤตทางการเงินหรือปัญหาส่วนตัว การล้มละลาย การแยกทาง คำสั่งของศาล การแย่งชิง การไต่สวน การต้องเดินเข้าออกโรงพัก การถูกไล่ออก ลดตำแหน่ง และสถานการณ์อื่น ๆ การเปลี่ยนแปลงในเชิงลบครั้งสำคัญในชีวิต หรือวิถีชีวิตเมื่อรวมกับปัจจัยอื่น ๆ แล้ว เป็นสาเหตุที่สมเหตุสมผลที่ควรระมัดระวัง

ปรากฏการณ์อาชญากรรมเลียนแบบ

ข่าวสารปัจจุบันและรายงานข่าวผ่านสื่อ เกี่ยวกับความรุนแรงในที่ทำงาน อาจกระตุ้นให้คนอื่น ๆ ทำเหมือนกันได้ หากพวกเขารู้สึกว่ากำลังประสบสิ่งเดียวกันกับผู้กระทำผิด และรู้สึกถึงความขุ่นเคืองคล้าย ๆ กัน บรรดาสื่อเรียกสิ่งนี้ว่าปรากฏการณ์อาชญากรรมเลียนแบบ (copycat effect) แต่ในทางจิตวิทยาเรียกว่าปรากฏการณ์แวร์เธอร์ (Werther effect) ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ว่า มนุษย์เริ่มนำการกระทำของคนอื่นมาใช้ ในการตัดสินหาพฤติกรรมที่เหมาะสมสำหรับตัวเอง

บทสรุป

ต้องทำอะไรต่อกับสิ่งที่ได้เรียนรู้

เมื่อพิจารณาทุกอย่างแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังใช้ชีวิตในโลกที่วุ่นวาย และยากจะคาดเดามากขึ้นทุกวัน กลวิธีเหล่านี้จะมีความหมาย และคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป บางทีเมื่อได้ออกไปลองสำรวจ เพื่อเรียนรู้และทำนายพฤติกรรมของผู้คนรอบตัว อาจเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น และอาจรู้ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง เมื่อทำให้สุขภาวะทางอารมณ์ และคุณภาพความสัมพันธ์ดีขึ้น มีคนกล่าวไว้ว่าความรู้คืออำนาจ นั่นไม่เป็นความจริง ความรู้คือเครื่องมือเช่นเดียวกับสิ่งอื่น ๆ แต่วิธีที่ใช้มันต่างหากที่สร้างความแตกต่าง อำนาจที่แท้จริงคือการนำความรู้ไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ การได้รู้ว่าแท้จริงแล้วผู้คนคิดและรู้สึกอย่างไร จะช่วยปกป้องเวลา เงิน พลังงาน และจิตใจได้ อีกทั้งมันยังช่วยให้อยู่ในจุดที่สามารถทำความเข้าใจ ช่วยเหลือ และเยียวยาคนที่กำลังเจ็บปวดได้ดีเช่นกัน.

สั่งซื้อหนังสือ “จิตวิทยาอ่านใจคนขั้นสุด” คลิ๊ก