สรุปหนังสือ How to Live a Good Life ชีวิตที่ดีจากสารพัดที่ในโลก
ความปรารถนาสูงสุดในชีวิต ย่อมมีคำตอบที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะครอบครัวที่อบอุ่น ความสำเร็จในหน้าที่การงาน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตที่ดี สังคมที่มีเสรีภาพ รักแท้ที่จะอยู่ไปชั่วนิรันดร์ เป็นต้น ทั้งหมดนั้นแท้จริงแล้ว ย่อมสะท้อนความหมายของชีวิตที่ดีในนิยามของตัวเอง ชีวิตที่ดีแบบนี้ไม่มีผิดถูก ผู้เขียนจะชวนมาสำรวจเรื่องนี้กัน ในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น หลากหลายขึ้น เปิดกว้างขึ้น อบอุ่นขึ้น และเยือกเย็นขึ้น
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้จะบอกว่าชีวิตที่ดีต้องเป็นเช่นไร หรือชีวิตแบบไหนไม่ดี ทุกคนมีบริบทต่างกัน สร้างสมประสบการณ์ในชีวิตต่างกัน หล่อหลอมออกมาเป็นทัศนคติต่างกัน ในหลากหลายห้วงเวลา ญี่ปุ่นโบราณ ญี่ปุ่นไม่โบราณนัก จีนโบราณ กรีกโบราณ เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ฟินแลนด์ เป็นต้น ที่ซึ่งผู้คนถูกหล่อหลอมขึ้นมา ผ่านภูมิประเทศ ภูมิอากาศ วัฒนธรรม และจารีตในสังคมที่แตกต่างกัน พวกเขาเหล่านั้นมองชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร และเหตุใดหลายแนวคิดเกี่ยวกับชีวิตที่ดีของพวกเขา จึงเป็นที่จดจำ เล่าขานสืบทอดต่อกันมานานนับศตวรรษ และยังได้รับการยอมรับในหลายพื้นที่ที่พ้นจากบ้านเกิด สะท้อนชัดว่ามีความดีงามอันเป็นสากลบางประการอยู่ในแนวคิดเหล่านี้
ผู้เขียนจะพาไปสัมผัส ไม่ใช่แค่ผ่านการวิเคราะห์จากปลายปากกา หรืองานเขียนจากคัมภีร์โบราณเท่านั้น แต่ที่พิเศษยิ่งคือเขาจะพาไปดูแนวคิด หลายคนยังมีชีวิตอยู่ แลกเปลี่ยนบทสนทนากันตัวต่อตัว ท่ามกลางบรรยากาศที่หล่อหลอมพวกเขาเหล่านั้น ความสุขในนิยามของดินแดนนั้น สัมผัสชีวิตที่ดีในสายตาและหัวใจของพวกเขา เพื่อจะพบในท้ายที่สุดว่า คนเรานั้นไม่ต่างกัน
โปรดพาตัวเองไปอยู่ในที่สงบ หาเครื่องดื่มแก้วโปรด สูดลมหายใจช้า ๆ วางความกังวลใจลงก่อน แล้วเปิดอ่านเพื่อมีชีวิตที่ดีร่วมกัน สิ่งที่ผู้อ่านกำลังจะได้พบเจอ เป็นการเดินทางที่ยาวไกลไปยังหลายพื้นที่ในโลกใบนี้ เดินทางไปในจินตนาการ เดินทางไปในความคิด และเดินทางไปพร้อมประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีจงใช้ชีวิต โดยเชื่อว่าควรทบทวนถามไถ่ตัวเองอยู่เสมอ ขึ้นชื่อว่าชีวิตสามารถทำความเข้าใจมันได้ ด้วยประตูหลายบาน คำตอบหลายแง่มุม ซึ่งมีอยู่ไม่รู้จบ
การทำความเข้าใจชีวิตเป็นความสนุกอย่างหนึ่งของการมีชีวิต การใคร่ครวญชีวิตนั้นสำคัญ แต่การวางความคิดเกี่ยวกับมันลงบ้าง ก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน บางครั้งการออกเดินทางไกลเพื่อค้นหาบางสิ่ง เพื่อจะพบว่าสิ่งนั้นแท้จริงแล้ว ไม่จำเป็นต้องออกเดินทางไกลไปไหนก็พบได้ แต่ก่อนที่จะหยุดพักได้ จำเป็นต้องออกเดินทางก่อน
TAOISM
Ancient China
อย่าแสวงหาความสุข จงเป็นความสุข
ย้อนกลับไปในอดีต นับตั้งแต่ยุคชุนชิวสู่ยุคจั้นกั๋ว (770-221 ปีก่อนคริสต์ศักราช) แผ่นดินจีนฝุ่นคลุ้งไปด้วยศึกสงครามยาวนานร่วม 550 ปี เป็นช่วงเวลาที่ปราชญ์ต่างสำนักครุ่นคิด และนำเสนอแนวทางชีวิตที่ดีสู่สังคม จนกลายเป็นยุคร้อยบุปผาบานพร้อมพรัก ร้อยสำนักประชันความคิด เต๋าเป็นหนึ่งวิธีที่ผุดขึ้นในช่วงเวลานั้น เล่าจื่อ จวงจื่อ เลี่ยจื่อ คือปรมาจารย์เต๋าที่ฝากคำสอนแบบไม่สอนไว้
นับเป็นเวลา 2,000 กว่าปีล่วงมาแล้ว การย้อนกลับไปมองคำสอนเต๋าก็ยังคงสะกิด และให้แง่มุมในการใช้ชีวิตได้เสมอ ไม่ว่ายุคสมัยไหนที่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพราะเต๋าคือสัจธรรม เต๋ากล่าวว่า ถ้าเข้าใจความตายก็จะเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะในความตายไม่มีในตัวท่าน ในความตายอัตตาตัวตนจะถูกทิ้งไป ในความตายไม่มีความคิด จะว่าไปนี่คือสภาวะที่เป็นเต๋า ดูเหมือนเลี่ยจื่อพยายามบอกว่า หากเข้าใจว่าไม่เคยมีการเกิด และไม่เคยมีการตายจะมีความสุข แต่นั่นหมายถึงการที่เข้าใจสิ่งนี้ ในระหว่างมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่ตอนที่ตายไปแล้ว
ชีวิตที่ดีตั้งแต่ต้นที่ทัศนคติที่ถูกต้อง สำหรับเต๋าการเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งคือความสุข การมองเห็นความเชื่อมโยงของทุกสิ่งทุกอย่างในโลกหล้า หากไม่มีพ่อแม่ย่อมไม่มีเรา หากพ่อแม่ไม่มีปู่ย่าตายายก็ย่อมไม่มีพวกท่าน ตัวเราในวันนี้คืออาหารที่กินเข้าไป อาหารนั้นมาจากพืชที่งอกจากดิน มาจากสัตว์ที่กินพืชเข้าไป ดินได้รับความชุ่มชื้นจากฝน ฝนกลั่นตัวจากเมฆบนฟ้า ซึ่งไม่เคยเกิดไม่เคยตายนั่นเอง เช่นนี้แล้วตัวเราจึงไม่ใช่คนสำคัญแต่อย่างใด คนอื่นสิ่งอื่นล้วนสำคัญสำหรับการมีชีวิตอยู่ทั้งสิ้น
ทุกสิ่งประกอบสร้างเป็นเรา ในตัวเรามีทุกสิ่งอยู่ในนั้น ถ้าสิ่งต่าง ๆ ไปก็อาจไม่มีอยู่ นี่คือสัจธรรมที่เต๋าเตือนให้ตระหนักอยู่เสมอ การมองโลกไม่ตรงความจริงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่แย่ ถมทับชีวิตด้วยความมีอะไร เพื่อทำให้รู้สึกว่าเป็นคนมีอะไร ซึ่งน่าสนใจว่าอะไรที่ว่านั่นคืออะไรกันแน่ ด้วยแว่นของเต๋าอะไรคืออัตตา และเมื่อไหร่มีอัตตาเมื่อนั้นไม่มีเต๋า เมื่ออัตตาถูกละทิ้งไป ผู้นั้นจะอยู่อย่างเต๋า อยู่อย่างเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่ง
เต๋าไม่ต้องการพลังปรารถนา เพราะไม่ต้องการเป็นบางสิ่งหรือบางส่วน หากคือเป็นทั้งหมด การเป็นส่วนหนึ่งของสรรพสิ่งคือความสุข คือความศักดิ์สิทธิ์ เช่นนี้เต๋าจึงไร้นาม สิ่งที่มีนามจึงไม่ใช่เต๋า อาจไม่ต้องถึงขั้นละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่าง แต่การลด ละวาง ความคาดหวังลงบ้าง น่าจะทำให้มีความสุขได้ง่ายมากขึ้น เมื่อบางสิ่งไม่ได้ดั่งใจ ลองฝึกยอมรับ หากมีบางเรื่องที่ต้องการและพลาดไป ลองปล่อยมันไปตามวิถีของมัน กับบางอย่างที่ปักใจว่าต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น ลองเอ่ยออกมาบ้างว่าอะไรก็ได้
นี่คือวิธีฝึกลดอัตตา ไม่เอาความปรารถนาตนไปขวางทางสิ่งต่าง ๆ ในโลกที่ดำเนินไปด้วยตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อยอมรับเต๋า อัตตาย่อมจางคลาย การตายของอัตตาคือ การมีชีวิตอยู่อย่างบริบูรณ์ ซึมซับทุกสิ่งไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบ ดีหรือร้าย อยากได้หรือไม่ต้องการอยู่ตรงนั้นกับทุกสิ่ง ทุกผลลัพธ์ ทุกคำตอบที่ชีวิตมอบให้ อยู่กับชั่วขณะอย่างแท้จริง เมื่อนั้นก็ไม่ต้องการความสุขแล้ว เพราะกลายเป็นความสุขไปเรียบร้อย
ธรรมชาติเดิมแท้คือความสุข
หนึ่งวิธีสร้างสุขของคนจำนวนไม่น้อยคือ เปรียบตัวเองกับคนที่แย่กว่า ซึ่งเป็นวิธีมองที่น่าตั้งคำถาม เพราะมันวางอยู่ในบนกรอบการเปรียบเทียบ ตราบที่ใช้คนอื่นเป็นเกณฑ์เช่นนี้ หากพลิกด้านเหลือบตาไปมองคนที่มีมากกว่า ใจก็ย่อมกลับด้านกลายเป็นทุกข์ได้เช่นกัน เต๋าไม่นิยมการเปรียบเทียบ
สำหรับเต๋า ความสุขเป็นสภาวะที่ไม่ผ่านการเปรียบเทียบ วิธีตรวจสอบว่าสุขจากการเปรียบเทียบหรือไม่คือลองสำรวจว่า ถ้าถูกทิ้งไว้ตามลำพังจะยังมีความสุขอยู่หรือเปล่า หรือมีความสุขได้พอมีคนอื่นให้อ้างอิง การเปรียบเทียบจึงเป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ เพราะในธรรมชาติทุกสิ่งล้วนเป็นไปในแบบที่เหมาะสมกับมัน ทั้งยังเอื้อต่อการมีชีวิตต่อสิ่งอื่นด้วย
คนส่วนใหญ่มักประเมินจากภายนอก ทว่าความสุขเป็นเรื่องภายใน แล้วชีวิตที่ดีขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าตนเอง เต๋ามองว่าทุกชีวิตที่ดำเนินไปตามเงื่อนไขในแบบของตน เป็นชีวิตที่เบิกบานได้ทั้งสิ้น ถ้าน้ำเปรียบได้กับธรรมชาติดั้งเดิม มันไหลอยู่แบบนั้น ฉ่ำเย็น ทว่าความปรารถนาอยากเป็นอย่างอื่น ซึ่งเปรียบดังก้อนหินกลับมาขวางทางน้ำไหล ทำให้ติดขัด คับข้อง แห้งแล้ง
ธรรมชาติคือการไหลลื่น ฉ่ำเย็น เป็นสุข คือการยินดีกับสิ่งที่เป็น สิ่งที่มี ความเบิกบานใจเป็นคุณธรรมเดิมแท้อยู่แล้ว เพียงถูกปิดกั้นด้วยความปรารถนาอยากเป็นอย่างอื่น จึงไม่ชอบตัวเอง ความอยากดีกว่าใคร อยากเหมือนคนอื่นเขา คืออัตตา การเป็นตัวเอง แล้วค่อย ๆ พัฒนาตัวเองโดยไม่เปรียบเทียบใคร คือธรรมชาติ ปล่อยลำธารไหลไป ขจัดหินคาดหวังอันเป็นอุปสรรคกีดขวางออกไป ธรรมชาติดั้งเดิมคือ ความสุขอยู่แล้ว
หลงรักตัวเอง
ชีวิตที่เปี่ยมสุขโดยไม่ต้องรอคอยสิ่งใดย่อมเป็นชีวิตที่ดี เต่าเชื่อว่าเป็นเจ้าของความสุขของตัวเอง และเรียกผู้ที่เป็นเจ้าของความสุขได้ด้วยตัวเองว่าอาจารย์ เมื่อสามารถมีความสุขโดยไม่ขึ้นกับสถานการณ์ใด ๆ ตอนเด็กก็มีความสุข ตอนหนุ่มก็มีความสุข ตอนแก่ก็มีความสุข มีมากก็มีความสุข มีน้อยก็มีความสุข ความคิดนี้เองเป็นตัวกีดกั้นจากความจริง ยิ่งหมกมุ่นกับความคิดมากเท่าไหร่ก็ยิ่งห่างไกลเต๋า ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรคิด หรือความคิดไม่มีประโยชน์ ในชีวิตประจำวันยังคงต้องใช้ความคิด แต่สิ่งที่จำเป็นไม่น้อยกว่าการใช้ความคิดคือ การวางความคิด และกลับมาอยู่กับความจริงโดยไม่ต้องคิด
สิ่งที่เป็นอาจไม่สมบูรณ์สวยงาม ไม่เป็นไรเลยอ่อนแอได้ เหงาได้ เป็นอะไรก็ได้ นั่นคือสภาวะหนึ่ง เป็นสภาวะที่พร้อมเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างอื่น สามารถรักตัวเองในความไม่สมบูรณ์ ไม่สวยงาม ได้ด้วยเช่นกัน ดังเช่นรักพระจันทร์ในสคืนไม่เต็มดวง นั่นคือสภาวะหนึ่งของจันทรา คือช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต สร้างสัมพันธ์กับตนเอง ให้เวลากับตนเอง เพื่อรักตนเองในแบบที่เป็น ใจดีกับตัวเองบ้าง
หากมีโอกาสได้ใช้เวลากับตัวเองตามลำพัง และสร้างสัมพันธ์เช่นนี้บ่อย ๆ จะโอบกอดภาวะต่าง ๆ ทั้งสว่างและมืดในตัวเองได้มากขึ้นเรื่อย ๆ จงจริงแท้กับชีวิตของตัวเอง จงฟังตัวเองเท่านั้น อย่ายอมให้ใครมาบังคับหรือกะเกณฑ์ อย่ายอมตกเป็นทาสความคาดหวังของใคร
เมื่อรู้จึงรักตัวเองให้ได้ในแบบที่เป็น เมื่อรักตัวเองได้ในแบบที่เป็น ก็ไม่ต้องพยายามเป็นคนอื่น จงเป็นตัวเองเท่านั้น หากรักตนเองได้ก็เป็นเจ้าของความสุขของตัวเอง ไม่ต้องรอใครมอบให้ เมื่อเข้าใจทั้งหมดนั้นก็รักตัวเองง่ายขึ้น ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น ไม่ว่าสว่างหรือมืด และรักทั้งหมดนั้น
สามคัมภีร์สำคัญแห่งเต๋า
เมื่อพูดปรัชญานิพนธ์โบราณในสำนักเต๋า ซึ่งสอนเรื่องสุญญะ การปล่อยวาง การใช้ชีวิตอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติและคุณธรรมจักรวาล ย่อมต้องเอ่ยถึงคัมภีร์สามเล่มที่สำคัญของปรัชญาเต๋า ได้แก่
เต๋าเต๋อจิง หรือ เต๋าเต็กเก็ง เป็นคัมภีร์ที่ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง เชื่อกันว่าเป็นคำสอนของเหลาจื้อ (Lao Tzu) ผู้มีชีวิตช่วง 600 ปีก่อนคริสตกาล บางกระแสมองว่าเหลาจื่อเป็นภาพแทนของปัญญา จากหลากหลายบุคคลที่ถูกรวบรวมผ่านกาลเวลา ตัวตนแท้จริงของเหลาจื่อยังคงเป็นปริศนา นามเหลาจื่อถูกกล่าวถึงครั้งแรกในช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล ส่วนหลักฐานเก่าแก่ที่สุดที่ขุดพบในปัจจุบันของเต๋าเต๋อจิง คือตัวอักษรบนไม้ไผ่อายุประมาณ 300 ปีก่อนคริสตกาล
คัมภีร์จวงจื่อ เป็นคัมภีร์เล่มสำคัญ ซึ่งส่งอิทธิพลต่อบทกวี และวรรณกรรมจีนต่อเนื่องจนปัจจุบัน ได้รับการยกย่องเป็นงานชิ้นสำคัญที่สุด ในยุคก่อนราชวงศ์ฉิน เขียนขึ้นโดยจวงจื่อ (Chuang Tzu) ปรมาจารย์เต๋าผู้มีชีวิตในช่วง 300-400 ปีก่อนคริสตกาล
คัมภีร์เลี่ยจื่อ อีกหนึ่งคัมภีร์เต๋าสำคัญซึ่งเขียนโดย เลี่ย ยูคู (Lie Yukou) ผู้ว่ากันว่ามีชีวิตในช่วง 500 ปีก่อนคริสตกาล โดยชื่อหนังสือเรียกตามสมญานาม เลี่ยจื่อของเขา แม้มีการอ้างถึงเลี่ยจื่อตั้งแต่ 200-300 ปีก่อนคริสตกาล ทว่านักประวัติศาสตร์เชื่อว่า คัมภีร์ฉบับที่ได้อ่านกันในปัจจุบัน น่าจะถูกรวบรวมขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 4
คัมภีร์เต๋าทั้ง 3 ล้วนแล้วแต่ตั้งคำถามถึงความเป็นไปในวิถีแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งมักใช้อัตตาตนเป็นศูนย์กลางจักรวาล นำมาซึ่งความติดขัดและขุ่นข้องหมองใจ ตรงกันข้ามกับการดำเนินชีวิตสอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ โดยยอมรับผลของเหตุปัจจัยนานัปการ นั่นต่างหากจึงเป็นชีวิตที่ดี
STOICISM
Ancient Greek
พายุร้ายเจียระไนเพชร
นักคิดชาวกรีกโบราณได้ให้กำเนิดแนวคิดหนึ่ง ที่มีบางสิ่งคล้ายบางอย่างต่างจากเต๋า กระนั้นทั้งสองล้วนแสวงหาในสิ่งเดียวกัน นั่นคือชีวิตที่ดี ปรัชญาที่ว่าคือ สโตอิก เกี่ยวกับผู้ก่อกำเนิดแนวคิดสโตอิก ที่มีหลายตำนานและกาลเวลา แต่จากการจดบันทึกต่อ ๆ กันมา คาดประมาณว่าเหตุน่าจะเกิดในช่วงราว 300 ปีก่อนคริสตกาล โดยพ่อค้าชาวเฟอนิเซียนคนหนึ่ง ที่แล่นเรือสินค้ามุ่งหน้าไปยังท่าเรือพีเรอัสแห่งเอเธนส์ แล้วเรืออับปาง
พ่อค้าคนนั้นชื่อซีโนแห่งซิทิอุม (Zino of Citium) เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เขากลายจากพ่อค้าเป็นเจ้าสำนักปรัชญาแทน หลังจากรอดชีวิตในสภาพสิ้นเนื้อประดาตัว วันหนึ่งเขาได้อ่านเรื่องราวของนักปรัชญานามโสกราติส ซึ่งเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่ด้วยความประทับใจ จึงได้ติดตามชายผู้หนึ่งไป ชายผู้นั้นชื่อกราติส (Crates) นักคิดแห่งสำนักซีนิก (Cynicism) ใช้ชีวิตโดยไม่พึ่งพาอะไร ไม่ครอบครองอะไร สวนกระแสความนิยมในสังคม และตั้งคำถามกับอำนาจรัฐ ซึ่งอาจสอดคล้องกันพอดีกับสถานการณ์สิ้นไร้ไม้ตอกของซีโน
การสะกดรอยตามครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็นศิษย์ ผู้ตามรอยความคิดของกราติสอยู่หลายปี กระทั่งวันหนึ่งจึงก่อตั้งสกุลแนวคิดของตนเองขึ้น ซีโนพร่ำบรรยายแนวคิดของเขา ณ สถานที่สาธารณะแห่งนั้น และเมื่อกลุ่มคนเหล่านั้นรวมตัวกันบริเวณ stoa บ่อยเข้า พวกเขาจึงถูกขนานนามว่าพวกสโตอิก (Stoic) เรื่องราวจุดเริ่มต้นของสำนักคิดนี้ แก่นแนวคิดของมันคือ ภัยพิบัติคือโอกาสของความดีงาม
ชีวิตคือความไม่แน่นอน และโลกทุกวันนี้ทำให้รู้สึกไม่แน่นอนมากขึ้น ในระดับวันต่อวัน เทคโนโลยีทำให้โลกหมุนไวขึ้นอีกหลายเท่า โรคระบาดชวนหวาดระแวง สงครามทั้งที่รบกันด้วยอาวุธและแยกเขี้ยวใส่กันทางเศรษฐกิจ ทวีความผันผวนรวนเรอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความเปลี่ยนแปลงด้านจำนวนประชากร ผู้อพยพ ความแตกต่างทางชนชั้น เจเนอเรชั่น ศาสนา ความเชื่อ รวมถึงอุดมการณ์ทางการเมือง ล้วนแล้วแต่สั่นคลอนความแน่นอนในชีวิต ไม่แปลกที่จะหายใจอยู่กับหัวใจที่ไหวหวั่น ทว่าความโกลาหลก็เหมือนสายลมแรง ที่ทำให้รากต้นไม้แข็งแรงขึ้น
ปรัชญาสโตอิกเชื่อว่า สามารถมีชีวิตที่ดีได้ เมื่อมีศิลปะในการใช้ชีวิต หากมีหลักปรัชญาในการใช้ชีวิต ก็คือผู้รักการเรียนรู้ วิธีใช้ชีวิต เมื่อตั้งหลักเช่นนี้ อุปสรรคปัญหาที่ผ่านเข้ามาก็เหมือนอุปกรณ์ ที่ทำให้เข้าใจชีวิตได้มากขึ้น เพื่อใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้น แต่ลำพังแค่ครุ่นคิดยังไม่พอ ต้องเป็นนักปฏิบัติด้วย จึงจะได้ชื่อว่านำปรัชญาไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างแท้จริง สามเหลี่ยมความสุขของปรัชญาสโตอิก ซึ่งประกอบไปด้วยส่วนสำคัญดังต่อไปนี้
ยูไดโมเนีย (Eudaimonia) หมายถึงเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ชีวิตที่ดีควรดำเนินไปอย่างงอกงาม โดยสัมพันธ์กับไดมอนในตัวแปลว่า มีตัวตนที่ดีที่สุดอยู่ภายในตัวเอง และกำลังใช้ประสบการณ์ทั้งหมดหล่อหลอมตัวเองให้ไปถึงจุดนั้น ยูไดโมเนียซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของสามเหลี่ยมแห่งสโตอิก ส่วนอีก 3 องค์ประกอบได้แก่
อาเรเต้ (Arete) คือคุณธรรมขั้นสูงหรือความเป็นเลิศ หมายถึงการเผยตัวตนที่ดีงามที่สุดของตัวเองออกมาทุกชั่วขณะ ต้องอุดช่องว่างระหว่างสิ่งที่สามารถทำได้ กับสิ่งที่ทำได้จริง ๆ หมายความว่าอาจมีศักยภาพทำเต็มที่ได้โดยทุ่มเทเต็มสิบ แต่ดันเหลือกลงแรงแค่เจ็ด แปลว่าไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับอาเรเต้ ในทุกการกระทำ หากทำสุดความสามารถแปลว่า ใช้ชีวิตสอดคล้องกับตัวตนที่ดีที่สุด สิ่งนี้จึงเป็นมุมหนึ่งของฐานสามเหลี่ยมแห่งความสุขของสโตอิก
สนใจสิ่งที่ควบคุมได้ นี่คือหลักการข้อสำคัญของสโตอิก สนใจสิ่งที่ควบคุมได้ และยอมรับสิ่งนอกเหนือการควบคุมอย่างที่มันเป็น เพราะไม่มีอำนาจในการย้อนกลับไปทำให้มันไม่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการเลือกตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยทางเลือกที่ดีที่สุด เพื่อให้สอดคล้องกับอุดมคติของตนเอง
รับผิดชอบ สโตอิกเชื่อว่า ชีวิตจะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับตัวเราเพียงผู้เดียว ปัจจัยภายนอกล้วนไม่มีผล การใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบคือ การอยู่กับอาเรเต้ (ตัวตนที่ดีงามที่สุด) ไม่ว่าภายใต้สถานการณ์ไหน เช่น ต่อให้ชีวิตตกอับก็ไม่คดโกงหรือขโมยใคร โดนกลั่นแกล้งก็หาวิธีตอบสนองอย่างมีคุณธรรม เป็นต้น ซึ่งถ้าทำได้นั่นก็เพียงพอต่อการเติบโตอย่างดีงามของชีวิตแล้ว นี่คือการดูแลในส่วนที่ควบคุมได้ คือการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ แล้วรับผิดชอบผลของการตอบสนองนั้น
สโตอิกเชื่อว่า สถานการณ์ไม่ได้ทำให้ทุกข์หรือสุข วิธีตอบสนองต่อสถานการณ์นั้นต่างหากที่สร้างสุขขึ้นมา การตีความนี่เองที่สร้างความแข็งแกร่งในตัวตนขึ้นมา ในชั่วขณะที่ตัดสินใจว่า จะไม่ยอมให้สถานการณ์ภายนอกมามีอำนาจเหนือตัวเราได้ สโตอิกคือปรัชญาที่มองกลับมาที่ตัวเองเป็นหลัก โดยตัดความกังวลจากความไม่แน่นอนภายนอกออกไป เพราะอย่างไรก็ควบคุมไม่ได้อยู่แล้ว อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
ให้ตั้งต้นอยู่ที่การพยายามเขยิบเข้าใกล้ตัวเองที่ดีที่สุดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นอะไรก็ตาม ให้โฟกัสสิ่งที่ทำได้ และทำให้สุดความสามารถภายใต้สถานการณ์นั้น เป็นความรับผิดชอบของตัวเรา หากทำได้ดีก็สามารถพึ่งพอใจกับตัวเองได้ว่า ตัวเองทำได้ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดยากเย็นนี้แล้ว ถ้าทำเช่นนี้บ่อย ๆ จะค่อย ๆ แข็งแกร่งขึ้น ไม่หวั่นไหวกับปัจจัยภายนอก เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพ และความสวยงามภายในตัวเอง
ดีแค่ไหนที่มีแก้วใบนั้นมาตั้งแต่ต้น
ปรัชญาไม่เพียงเป็นเกมทางความคิด หากคือหลักในการดำเนินชีวิตเพื่อฝึกฝน สโตอิกคือปรัชญาที่บรรดานักรบแกลดิเอเตอร์ฝึกปรือทางใจ สามารถทำอย่างนี้ เพื่อสร้างชีวิตที่ดี เริ่มที่การใช้ชีวิตแบบอาเรเต้ หรือการแสดงตัวตนสูงสุดของตัวเองออกมาทุกขณะ จะว่าไปมันคือการสำรวจว่า ทำดีที่สุดแล้วหรือยัง ความหมายที่ดีย่อมไม่ใช่การกดดันตัวเองที่ดีเกินไปกว่าที่ทำได้ หากคือการดันบาร์ไปให้ชนเพดานด้วยความสะใจ การไม่พยายามให้เต็มที่จะเปิดช่องว่างให้กับความเศร้าใจ เสียดาย และวิตกกังวล สอดแทรกเข้ามา สามารถตรวจสอบความก้าวหน้าว่า ใช้ชีวิตกับอาเรเต้มากน้อยเพียงใด โดยดูจากคุณธรรม 4 ประการ ที่ชาวสโตอิกได้รับจากโสกราติส ประกอบด้วย
1.ปัญญา คือการพิจารณาและแสดงออกมาอย่างเหมาะสม ตรงข้ามกับความเขลา
2.ความยุติธรรม คือการเห็นแก่ส่วนรวมและความเท่าเทียม ตรงข้ามกับความอยุติธรรม
3.ความกล้าหาญ คือการแสดงออกอย่างเหมาะสมเมื่อเผชิญกับสถานการณ์หน้าหวาดหวั่น ตรงข้ามกับความขี้ขลาด
4.วินัย คือการควบคุมตัวเอง มีระเบียบ ปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม แม้เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก แต่ก็รู้จักควบคุมอารมณ์ ให้อภัย และถ่อมตน ตรงข้ามกับความหยิ่งผยอง
ลำดับต่อไปคือสนใจสิ่งที่ควบคุมได้ หลักใหญ่ใจความคือ ยอมรับไม่ว่าจะเกิดขึ้น และทำภายใต้เงื่อนไขนั้นให้ดีที่สุด ไม่สิ้นเปลืองพลังงานไปฟูมฟายกับสิ่งที่แก้ไขอะไรไม่ได้ ไม่เสียเวลาอะไรอาวรณ์กับเรื่องที่เกิดขึ้น ทำเช่นนั้นเป็นรากของความทุกข์ ซึ่งเกิดจากการไม่ยอมรับความจริงสิ่งที่ควบคุมได้คือ ความคิดและการกระทำ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม สามารถเลือกตอบสนองได้ด้วยวิธีที่ดีที่สุด สโตอิกจึงเป็นแนวคิดที่เน้นกระบวนการมากกว่าผลลัพธ์ ความสำเร็จมิได้วัดที่ผลแพ้ชนะ หากวัดกันที่ความทุ่มเทขณะลงสนาม ถ้าพยายามเต็มที่แล้วย่อมมิใช่ความล้มเหลวแต่อย่างใด ในเมื่อนั้นคือทั้งหมดที่ทำได้แล้ว
ชีวิตที่ดีแบบสโตอิกจึงขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่
- ไม่เสียเวลากล่าวโทษสิ่งที่แก้ไขไม่ได้
- มั่นคงในใจว่าสามารถทำในส่วนที่ทำได้
ควบคุมการกระทำของตัวเองได้ โดยไม่ต้องควบคุมผลของมัน ซึ่งการปล่อยวางความคาดหวังจากผลลัพธ์เช่นนี้ นำมาซึ่งความสงบภายในใจ แก่นแกนของมันคือ การยอมรับทั้งที่มาและผลลัพธ์ ทั้งก่อนและหลัง และดูแลระหว่างกลางให้ดี สิ่งที่ทำได้เต็มที่คือกระบวนการระหว่างนั้น นี่คือทัศนคติและมุมมองชีวิตล้วน ๆ สโตอิกมองว่ามันเป็นเรื่องมหัศจรรย์แค่ไหนแล้ว ที่มีแก้วใบนั้นมาตั้งแต่ต้น ถ้าแก้วต้องแตกไป อย่างน้อยก็น่ายินดีกับช่วงเวลาที่ได้มีแก้วใบนั้นในชีวิต
อยากมีความสุขให้หมั่นนึกถึงเรื่องร้าย
เอพิคเตตุส คือชื่อนักปราชญ์สโตอิกชื่อ Epictetus ที่เรียกกันต่อมานี้แปลว่า สิ่งที่มีผู้ซื้อมา ในความหมายคือเขาเป็นทาสตั้งแต่เกิด แถมยังเป็นทาสขาพิการด้วย เจ้านายผู้มั่งคั่งอนุญาตให้เขาเรียนปรัชญาสโตอิด กับอาจารย์ที่มีชื่อเสียงอย่างมูโซนิอุสรูฟัส หลังการสวรรคตของจักรพรรดิเนโร เอพิคเตตุสได้รับการปลดปล่อยให้เป็นเสรีชน หลังจากนั้นราว 25 ปี เขาจึงก่อตั้งสำนักปรัชญาเพื่อสอนหลักการนี้
เอพิคเตตุสแบ่งสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตออกเป็น สิ่งดี สิ่งร้าย และสิ่งที่ไม่ต้องแยแส สิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวเราเองเท่านั้นที่จะเป็นสิ่งดีหรือสิ่งร้าย ส่วนสิ่งนอกเหนือไปจากนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ต้องแยแส ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยว่ามันจะนำมาซึ่งสิ่งดีหรือสิ่งร้าย เช่น อยู่มาวันหนึ่งเกิดถูกหวย แต่ก็ไม่ควรแยแสกับโชคดีนี้จนเกินไปนัก เพราะมันไม่ได้เกิดขึ้นจากอำนาจการควบคุมใดของเรา เช่นกันกับถ้ามีเรื่องร้ายที่เกินควบคุมเกิดขึ้น ก็ไม่ควรโศกาอาดูรกับมันจนเกินไป
การแยกแยะสิ่งที่ไม่ต้องแยแส และฝึกแน่นิ่งกับมันบ่อย ๆ ทำให้ไม่ฟูมฟายกับความชิบหายมากเกินความจำเป็น จะไม่มีทางพ่ายแพ้ต่อสิ่งใด ที่แพ้พ่ายเพราะเอาความสุขไปแขวนไว้กับคนอื่น มีเพียงผู้ที่ไม่ต้องการสิ่งใดจากคนอื่น หรือสิ่งอื่นเท่านั้นที่เป็นอิสระ ชีวิตที่อยู่ในการควบคุมวงการ และได้ดั่งใจตลอดเวลานั้นเปราะบาง เสี่ยงต่อการแตกร้าวเมื่อมีสิ่งไม่พึงประสงค์มากระทบกระแทก เพราะในความเป็นจริงไม่อาจควบคุมทุกสิ่งได้ 100%
คนสิ่งที่เสพติดชีวิตสะดวกสบาย จึงหงุดหงิดง่ายเมื่อไม่ได้อย่างใจ การสร้างภูมิคุ้มกันต่อการขาดแคลน จึงสำคัญสำหรับชีวิตที่ดี เพราะฉะนั้นชาวสโตอิกก็บอกว่า การจินตนาการในด้านลบ มันคนละเรื่องกับการวิตกกังวล เพราะการวิตกกังวล คือการคิดอย่างคลุมเครือ แต่จินตนาการเหตุร้ายล่วงหน้า คือการคิดอย่างรอบคอบชัดเจน เมื่อจินตนาการด้านร้ายเอาไว้ เท่ากับได้ลิ้มรสความยากลำบาก และเจ็บปวดนั้นไว้บ้างแล้ว
หากหายนะมาเยือน ชาวสโตอิกก็ไม่แปลกใจกับมัน ความตกใจ ความกลัว ความเจ็บปวด ย่อมบรรเทาเบาบาง ซึ่งการตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ดีที่สุด จะเกิดขึ้นเมื่อมองเห็นช่องว่างระหว่างตัวกระตุ้นกลับการตอบสนอง อำนาจในการควบคุมหรือเสรีภาพในการตอบสนอง อยู่ตรงช่องว่างนั่นเอง ถ้าตระหนักรู้มากขึ้นช่องว่างจะถ่างกว้างขึ้น ซึ่งก็คือการมีสติก่อนตอบโต้นั่นเอง
สตินั้นสำคัญ เพราะช่วยถ่างช่องว่างนี้ให้เลือกตอบโต้มัน ทำให้เลือกแสดงออกด้วยตัวตนที่ดีที่สุดได้ จะแสดงออกเป็นตัวเองที่ดีที่สุดได้ก็ต่อเมื่อมีสติ ทุกอย่างต้องการการฝึกฝน แต่ยังพอมีเวลาที่จะเคลื่อนเข้าหาตัวตนที่ดีที่สุด ตราบเท่าที่ชะตากรรมจะอนุญาต
IKIGAI
Japan
มองเห็นเส้นชัยหลงไหลกระบวนการ
โลกมีคน 2 ประเภท แบบแรกคืออยากเด้งตัวจากเตียงทุกเช้า เพื่อลุกขึ้นมาทำสิ่งที่อยากทำ แบบหลังคือกดนาฬิกาปลุกซ้ำ ๆ เพื่อขอต่อเวลาตื่นนอนออกไป เพราะไม่อยากตื่นขึ้นมาเจอชีวิตเดิม ๆ ในโลกอันแสนน่าเบื่อและเหนื่อยหน่าย เคล็ดลับของคนแบบแรก คือมีเหตุผลในการมีชีวิตอยู่ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า อิคิไก หนึ่งในรูปแบบชีวิตที่ดี คือการมีพลัง และความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย แต่ยิ่งท้าทายสำหรับวันวัยที่หายใจบนโลกใบนี้มายาวนาน จนมีโอกาสเบื่อโลกมากกว่าวัยเยาว์ ซึ่งทุกสิ่งยังแปลกใหม่น่าตื่นเต้น
หนึ่งในประเทศที่ผู้คนมีความรู้สึกเข้มข้นกับสิ่งที่ตัวเองทำ (passion) มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกคือประเทศญี่ปุ่น ความรู้สึกเช่นนี้ตรงข้ามกับความเหี่ยวเฉา ซึมกะทือ หมดไฟ ของผู้คนในสังคมซึ่งพบได้มากขึ้นเรื่อย ๆ อิคิไกประกอบด้วยคำว่า iki แปลว่าชีวิตและ gai แปลว่าเหตุผลหรือบางแหล่งแปลว่าคุ้มค่า ความหมายที่ซ่อนอยู่ในตัวหนังสือนั้นน่าสนใจ การริเริ่มที่สง่างามรวมกันเป็นความคุ้มค่า มันช่างละม้ายคล้ายการดำเนินชีวิตอยู่กับอาเรเต้ หรือการแสดงตัวเองเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด ตามที่ชาวสโตอิกฝึกฝน
มักคาดหวังว่าการงานที่ทำจะมีแต่เรื่องน่าสนุกและพึงพอใจ จะเบะปากเมื่อต้องเจอกับขั้นตอนน่าเบื่อหน่าย เจ้านายดุ ลูกค้ายาก อุปสรรคด้านเวลา เงิน และอื่น ๆ อีกจิปาถะ แต่ในความเป็นจริงคือ ทุกงานล้วนมีขั้นตอนที่ไม่น่าพึงพอใจ ทว่าผู้มีอิคิไกนั้นเหมือนมีพลังในการหลอมรวม สิ่งไม่น่าพึงใจให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่รัก แล้วก้มหน้าก้มตาทำด้วยรู้ว่ามันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ ที่มอบรอยยิ้มให้ได้ในท้ายที่สุด
บางครั้งสิ่งที่ทำให้ใครคนหนึ่งยังคงมุ่งมั่นทำการงานของตนต่อไป อาจเป็นเพราะเขาเห็นเส้นชัยที่ปลายทาง เขารู้ว่ากำลังทำอะไรเพื่ออะไร หากเป้าหมายประสงค์ที่ว่านี้มีค่ามากพอ ความเหนื่อยหนักย่อมมิใช่อุปสรรคฉุดหลัง ไม่มีงานใดไร้ความทุกข์ ไม่มีงานใดไม่เหนื่อย ทว่าก็มีสิ่งที่ทำให้เต็มใจเหนื่อย หากมันมีปลายทางอันล้ำค่า ระหว่างทางย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี Passion + Purpose เป็นคำตอบของการขับเคลื่อนชีวิตของผู้คน ที่อยากตื่นขึ้นมาทำงาน มองเห็นเส้นชัยหลงไหลกระบวนการ สองสิ่งนี้หากใครมี ย่อมเปลี่ยมไปด้วยกำลังวังชา และอยากตื่นมาประกอบการงานนั้น
มองเห็นเส้นชัย หลงใหลกระบวนการ หากทำเช่นนี้ได้ในแต่ละเช้า แทบจะอดใจรอไม่ไหวที่จะตื่นขึ้นไปพบเจอวันใหม่ ออกไปสานต่อภารกิจที่กำลังดำเนินอยู่ เพื่อทำให้มันก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ มิใช่เพื่อชนะใคร มิใช่เพื่อรอรับเสียงปรบมือชื่นชม ทำเพราะมันเป็นชีวิตของตัวเรา ทำเพราะมีความสุขที่ได้ทำ เพราะมันไม่ต่างจากลมหายใจเข้าออก อิคิไกคือสิ่งนั้น เหตุผลในการมีชีวิตอยู่ บางครั้งก็เรียบง่ายเช่นนี้เอง
ชีวิตงดงามเมื่อใส่ใจ
เหตุผลที่ตื่นขึ้นในตอนเช้า เหมือนเป็นอิคิไกเล็ก ๆ ที่ทำให้อยากตื่น ทำให้รู้สึกว่าโลกนี้น่าอยู่ ชีวิตที่สิ่งชุบชูใจ ที่เริ่มมอบให้ตัวเองตั้งแต่ต้นวัน เหมือนการตั้งเข็มทิศในทัศนคติทางบวก หากอธิบายในแง่พฤติกรรมและการทำงานของสมอง เมื่อสมองรู้ว่าตื่นเช้ามาจะได้รับรางวัลเป็นสิ่งที่ชอบ มันจะจดจำเพราะโดพามีนถูกกระตุ้นบ่อย ๆ ซึ่งมันเป็นเคมีประสาทที่ทำให้รู้สึกดี เมื่อได้รับสิ่งที่โปรดปรานก็จะยิ่งตื่นเช้าได้ง่ายขึ้น
สำหรับบางคน เหตุผลในการตื่นเช้าเป็นเรื่องเดียวกับการงาน ซึ่งไม่ใช่เรื่องพิเศษอลังการ แต่คืองานรูทีนที่ทำทุกวัน แต่พวกเขาก็รู้สึกว่าต้องตื่นขึ้นมาทำหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด บ่อยครั้งที่ตั้งต้นงานด้วยคำถามว่า ลูกค้าต้องการอะไร หรือแบบไหนที่ขายได้ คำถามเหล่านี้อาจไม่ได้พาไปไกลเกินกว่าความคาดหวังของตลาด หรือเพดานมาตรฐานเดิม
แต่ถ้าเปลี่ยนคำถามเป็น อยากนำเสนออะไรที่ดีกว่าที่มีอยู่ หรือทำได้ดีที่สุดแค่ไหน ความคาดหวังกับตัวเอง และพละกำลังที่ทุ่มเทย่อมแตกต่างกัน กำไรที่ได้จึงมิได้อยู่แค่ตัวเงิน หรือค่าตอบแทน หากอยู่ที่ความฟิน หรือความยินดีปรีดาที่ได้ทำในสิ่งที่ดีงาม ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนทั่วโลกพาการประทับใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ นิสัยละเอียดอ่อนเช่นนี้ สอดแทรกอยู่ในวัฒนธรรมของดินแดนแห่งนี้มาอย่างเนิ่นนาน
คนเราสามารถเริ่มวันด้วยสิ่งดีเล็ก ๆ และระหว่างวันก็มองเห็นรายละเอียดของชีวิตที่ชุบชูใจ ในการทำงานที่ทุ่มเทใส่ใจ กับสิ่งที่ต้องทำทุกวี่ทุกวัน เมื่อทำอย่างมุ่งมั่น เห็นความเชื่อมโยงกับคนอื่น เมื่อเห็นถึงประโยชน์ที่คนอื่นได้รับ และทำอย่างสุดฝีมือ ย่อมได้รับความภาคภูมิใจกลับมาเป็นรางวัล อาจไม่ใช่คำชมจากคนอื่น แต่คือความอิ่มเอมในใจตน
บางทีคุณค่าในชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าจะว่ากันจริง ๆ เล็กหรือใหญ่อยู่ที่ใครให้คุณค่า เมื่อใส่ใจเรื่องเล็กที่สุดก็มีคุณค่าในหัวใจเสมอ
มีความสุขได้โดยไม่จำเป็นต้องอยู่กับสิ่งที่รักตลอดเวลา
อิคิไก คือการหาพื้นที่ให้สิ่งที่รัก ให้เวลากับสิ่งที่หลงใหล เพิ่มพลังชีวิตโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นงานหลักก็ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับสิ่งที่รักเพื่อจะมีความสุข เพียงบางห้วงเวลาที่ได้สัมผัสสิ่งที่รักบ้าง ก็อาจเป็นน้ำหล่อเลี้ยงให้ยังอยากมีชีวิตอยู่ เหตุผลในการมีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นต้องติดตัวตลอดเวลา 24 ชั่วโมงทั้ง 7 วันแบบนั้น เพียงไม่หลงลืมมัน มองหา ใส่ใจ ให้เวลา และมีโอกาสได้ใกล้ชิด สัมผัส โอบกอดมันบ้าง นั่นอาจเพียงพอ
สิ่งที่รักอาจไม่สามารถสร้างรายได้ ไม่เป็นไรเลย สามารถสร้างรายได้จากอย่างอื่น แล้วเจียดเวลามาทำสิ่งที่รัก โดยไม่ต้องคาดหวังกำไรจากมัน ไม่แน่อาจมีความสุขและอิสระกว่าด้วยซ้ำ แถมยังไม่ต้องคาดหวังด้วยว่า ใครจะชอบ ใครจะซื้อ หรือโลกจะต้องการมันหรือไม่ ความสุขลึก ๆ ในใจคือคำตอบที่สมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว หน้าตาของอิคิไกนั้นมีหลากหลาย ทว่าแก่นแกนของมันคือการเข้าใจหัวใจตัวเอง ไม่สั่นไหวไปกับสิ่งเร้าของโลกรอบตัว แน่วแน่กับสิ่งที่รัก สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข ใส่ใจทุ่มเทพาตัวเองออกจากการเปรียบเทียบว่าอะไรดี เด่น ใหญ่ พิเศษ สำคัญ รายละเอียดเล็ก ๆ ทั้งหมดนั้นทำให้อยากมีชีวิตต่อไป มีเหตุผลมากมายในการมีชีวิตอยู่
WABI-SABI
Japan
ในโลกนี้มีสิ่งใดบ้างสมบูรณ์แบบ
วะบิ-ซะบิ คือความงามของสรรพสิ่งที่ไม่สมบูรณ์แบบ ไม่คงทนถาวร และไม่เสร็จสมบูรณ์ คือความงามของสรรพสิ่งที่สงบเสงี่ยมและอ่อนน้อม คือความงามของสรรพสิ่งที่ไม่ยึดติดในคติแบบแผน นี่คือวิธีมองว่าความงามที่ช่วยคลายกรอบ ซึ่งรัดตรึงตัวเอง คาดหวังชีวิตจะต้องเป็นไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ผูกมัดตัวเองและถูกคนอื่นผูกมัดมาตลอดชีวิต คาดหวังกับตัวเองให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ นั่นไม่แปลก ไม่ผิด
แต่น่าตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใด จึงคาดหวังกับตัวเองสูงส่งเพียงนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าเกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ ถูกปลูกฝังส่งต่อกันเรื่อยมาจนกลายเป็นสิ่งควรเป็นในสังคม ทั้งที่จริง ๆ แล้วความสมบูรณ์แบบเป็นเรื่องโกหก ในธรรมชาติไม่มีวงกลมที่เพอร์เฟค ไม่มีสี่เหลี่ยมหรือสามเหลี่ยมด้านเท่า ธรรมชาติคือความไม่สมบูรณ์แบบ แต่ไม่สมบูรณ์แบบใช่ใช่ว่าไม่งาม มันคนละเรื่องกัน วะบิ-ซะบิ คือสุนทรียะที่ต่างไป เหมือนแว่นที่ทำให้มองเห็นความงามที่เคยมองข้าม หรือเคยรังเกียจ
ลองปรับแว่นตาที่ใช้มองสรรพสิ่ง จะพบความงามที่ต่างไปทันที เมื่อเริ่มมองเห็นความงามในสิ่งเหล่านี้ จะเริ่มเขยิบเข้าใกล้ความเป็นธรรมชาติและธรรมดา ในเวลาเดียวกันก็กำลังขยับเข้าใกล้หัวใจตัวเอง และจิตวิญญาณที่แท้ในตัวตน เมื่อใกล้ชิดกับความเป็นจริงของตัวเอง ย่อมรู้สึกเบาและคลี่คลาย ไม่ต้องทำทุกสิ่งทุกอย่างเป๊ะก็งามได้ ถึงที่สุดแล้ว ไม่มีมนุษย์คนไหนเป็นต้นไม้ที่ตั้งตรงเป๊ะ
มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตไม่สมบูรณ์แบบ ที่พยายามสวมหน้ากากแห่งความสมบูรณ์แบบให้คนอื่นเห็น เมื่อถอดหน้ากากแสนสวยปลอม ๆ นั้นออก เผยให้เห็นความบิดเบี้ยวและริ้วรอยที่ซ่อนไว้ เมื่อไหร่ที่ซึมซับกันและกันจนกระทั่งสัมผัสถึงความงามได้ เมื่อนั้นก็จะได้สัมผัสรับรู้ความงามที่แท้จริงของกันและกัน เมื่อชีวิตที่ไม่สมบูรณ์แบบ คือชีวิตที่แท้จริงยิ่งกว่าความสุข คือการอยู่กับความจริง ไม่ใช่ภาพลวงที่หลอกตัวเอง หรือคนอื่นว่าดีงามเกินจริง ยอมรับความจริง แล้วยืดอกรับว่าใช่
แม้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งที่มีอยู่ก็มิได้น้อยเกินกว่าที่ต้องการ ในวัดเรียวอันจิในเกียวโต มีอ่างหินตรงขอบอ่างมีอักษร 4 ตัวสลักไว้โดยรอบ ได้แก่ วาเระแปลว่าฉัน ทาดะแปลว่าเพียงแค่ ทารุแปลว่ามาก เพียงพอ ชิรุแปลว่ารู้ อักษรทั้ง 4 นี้ถ้าแยกกันอยู่จะไม่มีความหมายอะไร จนเมื่อมารวมกันบนขอบสี่เหลี่ยมขอบอ่าง ก็กลายเป็นคำว่าฉันเพียงแค่รู้จักเพียงพอ ฉันพอใจกับสิ่งที่มี หรือฉันมีทุกอย่างที่ต้องการแล้ว
แม้ไม่ได้มีทุกอย่าง แต่ถ้าพึงพอใจกับทั้งหมดที่มีอยู่ นั่นอาจเป็นความหมายของสมบูรณ์แบบ เมื่อยอมรับความจริงได้ ความผ่อนคลายก็ตามมา ตัวเราสามารถซ่อมแซมตัวเองได้เสมอ ในบางเวลาที่ยังไม่พร้อมซ่อมแซม ก็สามารถอยู่ร่วมกับรอยแตกร้าวนั้นได้ โดยไม่ผลักไสหรือหลอกตัวเองว่ามันไม่มีอยู่ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีแค่ตัวเราเท่านั้นที่กำลังเผชิญ ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ต้องกดดันให้ตัวเองเป็นเช่นนั้น ไม่สมบูรณ์แบบอยู่ข้าง ๆ กัน โอบกอดตัวเอง โอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบในตัวคนอื่น เป็นธรรมดาและเป็นธรรมชาติ บางครั้งไม่ต้องทำสิ่งสมบูรณ์แบบ เพียงแค่ทำและเป็น
สงบงามการโกลาหล
วะบิ-ซะบิ ไม่ใช่ความงามโฉ่งฉ่าง มีมวลของความเศร้า อึมครึม หม่นหมอง เปลี่ยวเหงา แผ่คลุมอยู่ในนั้น เสน่ห์ของมันคือการที่ไม่อาจพูดออกมาได้ชัดเจน รากความคิดของวะบิ-ซะบิ มีที่มาจากเต๋าและเซ็น ซึ่งโอบรับความเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ และยอมรับความจริง สะท้อนออกมาผ่านการตัดท่อนสิ่งใดที่ล้นเกิน รวมถึงรายละเอียดประดับประดาออกไป
จุดเริ่มต้นของมันคือพิธีชาในญี่ปุ่นโบราณ แล้วค่อย ๆ วิวัฒนาการจนกลายเป็นพื้นที่ทางสังคม รวมเอาศิลปะหลายแขนงไว้ด้วยกัน ตั้งแต่สถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน การออกแบบสวน จัดดอกไม้ จิตรกรรม เตรียมอาหาร และการแสดง แม้ผู้ริเริ่มจบชีวิตไปแล้ว แต่นักการชาทั้งหลายยังคงสืบทอด แถมยังพัฒนาต่อไปอย่างเคร่งครัดมากขึ้น หลังจากนั้น 100 ปีศิลปะแห่งชา ก็ถูกแทนที่ด้วยวิถีแห่งชาหรือชาโด กระทั่งกลายเป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิบัติธรรม ที่ทุกสิ่งต้องเป็นไปตามข้อกำหนด ทุกการเคลื่อนไหวต้องกระทำอย่างถูกต้อง
เมื่อถึงขั้นนี้ วะบิ-ซะบิ ในพิธีชาได้กลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับตัวของมันเองไปเรียบร้อยแล้ว กล่าวคือเคร่งครัด สละสลวย และงามพริ้ง คนกลุ่มหนึ่งได้เข้าร่วมในพิธีชาคือบรรดาซามูไร ผู้ไม่อาจล่วงรู้ชะตากรรมว่าจะมีลมหายใจได้อีกกี่วัน การเข้าร่วมพิธีชาอันเงียบสงบ มีขั้นตอนให้ฟังเสียงต้มน้ำ พิจารณาความงามของถ้วยชา ค่อย ๆ ซึมซับบทกวี เหล่านี้เปรียบเสมือนการดึงสติกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ เป็นความสงบท่ามกลางชีวิตอันไม่แน่นอน เตรียมจิตใจให้พร้อมต่อความตายที่ไม่รู้จะมาถึงเมื่อไหร่
ขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสชื่นชมความงามของโลกและชีวิต ที่พร้อมจบได้ทุกเมื่อเชื่อวัน มีที่ไหนบ้างแน่นอนตลอดไป ช่วงเวลาไหนบ้างที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แผ่นดินไหวบางครั้งไม่ไหวให้เห็น แต่แรงกระเพื่อมจากเหตุการณ์บางอย่าง ก็สั่นคลอนชีวิตผู้คนจำนวนมาก ศึกสงครามที่ส่งผลต่อชีวิต ก็มิได้มีเพียงการศึกที่ต่อสู้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์เท่านั้น สงครามเศรษฐกิจ สงครามการเมือง สงครามอุดมการณ์ สงครามอารมณ์ ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อผู้คน และสร้างความถูกใจได้ไม่ต่างกัน
พิธีชาที่สงบชี้ชวนการใส่ใจ และให้เวลาถึงคุณค่าของความงามอันเป็นธรรมชาติ ขรุขระ เสื่อมสลาย ไม่สมบูรณ์ ช่วยทำให้ผู้คนมีห้วงยามแห่งการยอมรับ ความไม่แน่นอนของชีวิตอย่างสุขสงบ ท่ามกลางโลกโกลาหล บางครั้งการเงยหน้าหมองท้องฟ้ายามค่ำคืน อาจช่วยย้ำเตือนถึงเรื่องนี้ได้ เพราะพระจันทร์บนฟ้ามิได้สว่างกลมเต็มดวงทุกวัน เฉกเช่นเดียวกันกับชีวิตของคนเรา
ชีวิตธรรมดาที่งดงาม
หากนำ วะบิ-ซะบิ หลอมรวมกับการใช้ชีวิต คุณสมบัติของการเป็น วะบิ-ซะบิ เอื้อต่อการมีน้อย ประหยัด ซึ่งทำให้รบกวนทรัพยากรโลกน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นความถ่อมตัว มัธยัสถ์ เรียบง่าย อึมครึ้ม สงบเงียบ ล้วนเป็นด้านตรงข้ามกับความโอ่อ่า แพงระยับ อลังการ สว่างจ้า และโด่งดัง ซึ่งดูเหมือนจะต้องหาทุนทรัพย์มาประเคน เพื่อประกอบสร้างขึ้นมา เมื่อมีต่อม วะบิ-ซะบิ แล้วคิดว่าจะอ่อนไหวต่อความเป็นธรรมชาติมากขึ้นด้วย ทำให้เสพความงามและความสุขจากสิ่งที่ไม่ต้องซื้อหาได้มากขึ้น ประกายแดดระยิบระยับบนผิวน้ำ แสงทองส่องรอดใบไม้ สีท้องฟ้ายามโพล้เพล้และรุ่งเช้า เสียงลมพัด นกร้อง ความนุ่มของหญ้า เมื่อเอนกายนอนลงหรือถอดรองเท้าเดิน เงาสลัวของแสงแดดที่ทอดลงบนโซฟาในห้องนั่งเล่น เป็นต้น อีกมากมายที่รับรู้ได้เมื่ออ่อนไหวต่อความงามอันเป็นธรรมชาติ ซึ่งพร้อมจางหายได้ทุกเมื่อ
นี่คือความรู้สึกที่งดงามอย่างยิ่ง ความงามที่ไม่จีรังยั่งยืน กลับยิ่งงามเมื่อมีความอาลัยอาวรณ์ผสมอยู่ในนั้น ต่างทราบดีว่าคนที่รักไม่ได้อยู่ด้วยกันไปตลอดกาล สรรพสิ่งที่งดงามกำลังเสื่อมสลาย รวมถึงตัวเราเองด้วย ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ หากคือชีวิตที่โอบรับความสมบูรณ์แบบของตัวเอง คนอื่น และโลกใบนี้ ชีวิตคือความไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะมันเป็นเช่นนั้นจึงงดงาม
NIKSEN
The Netherlands
ความสุขคืออะไร
ตลอดอารยธรรมมนุษย์ เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่ชีวิตสามารถอยู่รอดปลอดภัย สิ่งที่ทุกคนตามหาซึ่งน่าจะเป็นความสุข เพียงแค่บางครั้งมันไม่ได้ถูกพูดถึงด้วยคำนี้ ความสุขซึ่งเป็นเหมือนเส้นชัย ที่แต่ละคนในแต่ละสังคมกำลังมุ่งหน้าไปหา ภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่าง ด้วยวิธีการที่หลากหลาย แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวพอ ๆ กับที่เป็นเรื่องส่วนรวม เป็นเรื่องปัจเจกพอ ๆ กับที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างสังคม เรียบง่ายพอ ๆ กับซับซ้อน เพราะโจทย์ของแต่ละคนแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างได้ตั้งแต่ DNA จนถึงการเมืองการปกครอง ครอบคลุมไปถึงอากาศที่ลอยละล่องอยู่บนท้องฟ้า ที่ต้องสูดหายใจเข้าไป ล้วนสัมพันธ์กับความสุขของผู้คนทั้งสิ้น
บางทีประเมินความสุขในการทำงานจากมุมแคบ ๆ ถ้ามองเพื่อนร่วมอาชีพ มองคนในวัยเดียวกัน มองคนในสังคมเดียวกัน อาจเห็นมุมมองที่กว้างขึ้น และไม่แน่ คะแนนความสุขที่มีอยู่ก็อาจไม่ได้น้อยจนย่ำแย่ บางทีเหตุผลสำคัญที่สุดของความสุข ไม่มีอะไรสำคัญที่สุดเพียงอย่างเดียว เหมือนอาหารที่ไม่มีส่วนประกอบอะไรสำคัญที่สุดแค่หนึ่งเดียว การอยู่ในสังคมที่ดีเป็นหนึ่งในเหตุผลหลัก ประเทศที่มีทางเลือกหลากหลาย แต่ละคนเลือกวิถีชีวิตที่ตัวเองชอบหรือเหมาะกับตัวเองได้ สังคมแบบนี้ทำให้คนมีความสุขมากขึ้น
ทางเลือกมากก็เครียดได้เหมือนกัน แต่มีทางเลือกมากดีกว่าไม่มีเลย มันขึ้นอยู่กับว่าเลือกเก่งแค่ไหน สังคมที่มีเศรษฐกิจดี มีความมั่นคงพอประมาณ คนบริโภคอย่างมีทางเลือก มีอิสรภาพทางการเมือง มีความมั่นคงทางการเมือง ซึ่ง 2 อย่างหลังอาจยากที่จะมีทั้งคู่พร้อมกัน ประชาชนควรมีอิสระในเรื่องส่วนตัว เขาก็มีความสุขมากขึ้นในสังคมนั้น ในระบบทุนนิยมและระบบตลาดเสรี ผู้คนมีความสุขมากกว่าสังคมคอมมิวนิสต์
ปัจจัยความสุขของคนในแต่ละประเทศมีมากมาย แต่คิดว่าการแข่งขันเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนมีความสุขน้อยลง คนที่ไม่สนใจเรื่องความหมายของชีวิต ก็ไม่ต่างจากคนที่ดำเนินชีวิตไปอย่างสนใจความหมาย คือมีความสุขไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน แต่กลับพบว่าคนที่ไม่มีความสุขมักเป็นกลุ่มที่คิดเรื่องความหมายของชีวิตมากกว่า เพราะพอไม่มีความสุขก็จะตั้งคำถามว่าเกิดมาทำไม ถ้าไม่มีความสุขแล้วมันมีวิธีที่จะมีความสุขมากขึ้นไหม
ยุคกลางก็เต็มไปด้วยกันต่อสู้ สงคราม โรคระบาด ผู้คนไม่มีความสุข มีชีวิตแสนสั้นและโหดร้าย ในสภาพเช่นนี้ ศาสนาจึงปรากฏตัวในลักษณะพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และปลอดภัยในโลกอันโหดร้าย ทำให้มีบทบาทมากต่อสังคม มาถึงยุคปัจจุบันสภาพสังคมดีขึ้นมาก ไม่ต้องการศาสนาเป็นพื้นที่หลบภัยอีกต่อไป วัดหรือโบสถ์ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัยในแบบเดิม บทบาทของศาสนาในเรื่องการให้ความคุ้มครองก็เปลี่ยนไป ในบางกรณีอาจมีข้อเสียด้วยซ้ำ สถิติชี้ว่า ประเทศที่เคร่งศาสนาที่สุด เป็นประเทศที่คนไม่มีความสุขมากที่สุด ความสุขเกิดขึ้นเมื่อเลือกวิถีชีวิตที่เหมาะกับตัวเอง จะทำสิ่งนี้ได้ต้องมีเสรีภาพ ซึ่งต้องมาควบคู่กับความสามารถในการเลือกด้วย ต้องรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ซึ่งต้องค่อย ๆ พัฒนาไป
องค์ประกอบของความสุข
คนจะมีความสุขได้ เมื่อเขาได้ดำเนินชีวิตในรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเอง สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อบุคคลนั้นมีความเข้าใจตัวเองอย่างแท้จริง เข้าใจความต้องการ ความถนัด ความชอบ ความสบายใจที่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อม และผู้คนแบบที่ใช่ ความเข้าใจนี้เกิดขึ้นผ่านการเลือก และทดลองถูก ๆ ผิด ๆ สลับกันไป กระทั่งได้คำตอบที่ใกล้เคียงความจริง ลองผิดเพื่อเจอสิ่งที่ถูกต้อง ให้โอกาสกับตัวเองกับการล้มลุกคลุกคลานในเรื่องต่าง ๆ เพราะผลลัพธ์ของมันมันหอมหวานและคุ้มค่า มันคือการกลั่นกรองจนตอบตัวเองได้ว่า อยากมีชีวิตแบบไหน เป็นใคร ชอบทำอะไร อยากใช้ชีวิตร่วมกับคนแบบไหน หรือกระทั่งเกิดมาทำไม
หากตอบสิ่งเหล่านี้ได้ชัดเจน จะพบรูปแบบชีวิตที่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งไม่ต้องดีงามตามบรรทัดฐานของใคร มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง ไม่อยู่ในเกณฑ์ความสำเร็จตามมาตรฐาน ไม่ทันสมัย แต่หัวใจมั่นคง และใบหน้าอิ่มรอยยิ้ม ความสุขคือการได้มีชีวิตในแบบที่เหมาะกับตัวเอง บางครั้งความสุขคือการเข้าใจว่า บางความฝันอาจไม่ใช่ความจริง และไม่จำเป็นต้องมีชีวิตอย่างที่ฝันเท่านั้น ซึ่งมีความสุขและการละวางความฝันลงในเวลาที่เหมาะสม ยอมรับในสิ่งที่ลงตัวกับศักยภาพและเงื่อนไขในชีวิต กลับทำให้สุขใจมากกว่าวิ่งไล่คว้าความฝันไม่รู้จบ
สิ่งสุดท้ายคือ ความเปิดกว้างและยอมรับในความหลากหลายของผู้คนในสังคม ซึ่งสำคัญยิ่งต่อความกล้าหาญที่จะเป็นตัวของตัวเอง ในสังคมที่ชอบตัดสินใจคนอื่น ดูถูก ด้อยค่าผู้คนที่แตกต่างจากกระแสหลัก หรือมีเกณฑ์ความดีงามคับแคบ 3 องค์ประกอบนี้เชื่อมร้อยกันอยู่
พักสักนิกส์
แม้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม เศรษฐกิจก็ติดอันดับบน ๆ ของโลก ชีวิตที่เต็มไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้นั้น บางครั้งก็กดดันคนในสังคม เพราะมีทางเลือกมากเกินไป มีศักยภาพทำนู่นนี่ได้เยอะ จึงเร่งตัวเองเพื่อทำภารกิจให้มากขึ้นเรื่อย ๆ วิถีชีวิตเช่นนี้ส่งผลต่อความสุข จึงไม่แปลกที่คำ ๆ หนึ่งถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมดัตช์ นั่นคือคำว่า Niksen นิกเซนในดิกชันนารีภาษาดัตช์นิยามว่า คือการไม่ทำอะไรเลย โดยทั่วไปคำกิริยานิกเซน มีความหมายในเชิงลบมาตลอด แปลว่ากำลังทำตัวไร้ประโยชย์ ขี้เกียจ หาดีไม่ได้ ซึ่งความขี้เกียจนั้นออกจะขัดหลักการอันเคร่งครัดของลัทธิแกลวีน ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวดัตช์มาแต่ไหนแต่ไร
บางคนชี้ให้เห็นด้านดีของนิกเซนโดยเรียกมันว่า พลังของการพัก หมายถึงปฏิเสธการกระทำทุกอย่าง เพื่อไม่ต้องทำอะไรเลย ทว่าเรื่องง่ายดายเช่นนี้กลับกลายเป็นยากเหลือเกิน นิกเซนคือการไม่ทำอะไร แล้วปล่อยใจล่องลอย คล้ายฝันกลางวัน มันคือการพักจากความกระตือรือร้น ซึ่งการทำสมาธิหรือเจริญสติ ก็ทำให้มีความสุขมากขึ้นเช่นกัน ช่วงเวลาของการนิกซ์คือ 5-10 นาที คั่นกลางระหว่างกิจกรรมเร่งรีบ จึงทำให้มันมีลักษณะต่างจากความเกียจคร้าน แต่คล้ายกับการงีบสั้น ๆ เพื่อเอาแรง
การนิคช่วยขัดจังหวะของความฟุ้งซ่านต่อเนื่อง ทำให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริงสักพัก ก่อนก้าวต่อไปอย่างมีสติมากขึ้น ด้วยใจที่เบากว่าเดิม ด้วยวิธีคิดแบบใช้เวลาให้เป็นประโยชน์สูงสุด ในชีวิตประจำวันจึงจัดตารางชีวิตต่อเนื่อง อัดแน่นไปด้วยการทำงาน ประชุม นัดหมอ นัดลูกค้า นัดเพื่อน แต่ไม่มีช่องว่างอย่างจริงจังให้กับการอยู่เฉย ๆ การทำงานหรือมีกิจกรรมต่อเนื่องทั้งวันและทุกวันเช่นนี้ ทำให้อ่อนล้า เหนื่อยกายเหนื่อยใจ และหมดไฟในที่สุด
คำว่าขี้เกียจมันทำให้คนรู้สึกแย่ กับกิจกรรมที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือการนั่งเฉย ๆ ทั้งนี้อาจมีเหตุผลนานัปการ เช่น คนนั้นอาจทำงานหนักมากแล้ว การนั่งพักอาจเป็นส่วนหนึ่งของการคิดและสร้างสรรค์ผลงาน หรือบางทีอาจเหนื่อยล้ากายใจ และอนุญาตให้ตัวเองได้พักบ้าง การตัดสินคนอื่นและตัวเอง โดยแปะป้ายคำว่าขี้เกียจเอาไว้ ทำให้ไม่กล้าผ่อนคลายกับชีวิต หากเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแย่ เวลาตัวเองไม่ทำอะไรเลย แนะนำขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ไม่ต้องหลีกหนีความรู้สึกนั้น เพียงรับรู้ว่ารู้สึกผิดเวลาพัก ไม่ทำกิจกรรมที่ก่อผลลัพธ์ ขั้นตอนการยอมรับสำคัญมากต่อการแก้ไข
- เมื่อยอมรับแล้วก็ลองทบทวนกับตัวเองว่า ที่รู้สึกผิดเพราะการอยู่เฉย ๆ นั้นขัดกับคุณค่าใด
- การให้คุณค่าเหล่านั้นไม่ได้ผิดอะไร แต่เมื่อรู้ว่าอาจตึงเกินไปจนรู้สึกแย่ ก็ลองผ่อนคลายลงบ้าง
จากนั้นลองจัดสรรเวลานิกซ์ให้ตัวเอง เช่น แบ่งเวลาชัดเจนในบางช่วงของวัน หรือบางจังหวะที่เป็นช่องว่างของกิจกรรม การนิกซ์เชื่อมโยงกับความคาดหวังด้วย การเล็งผลเลิศกับทุกสิ่งที่ทำ นอกจากเครียดแล้วยังใช้เวลามากมายกับสิ่งนั้น มีสถิติชี้ว่าใน 1 วันคนเรามีความคาดหวังกับเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นกว่าแต่ก่อน ช่องว่าของการอยู่เฉยและไม่ทำอะไร อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะความเข้าใจตัวเอง เมื่อเข้าใจมากขึ้นย่อมหนักแน่นมั่นคงขึ้น หวั่นไหวต่อการตัดสินใจของคนอื่นน้อยลง ทำให้ไม่ต้องทำตามเกณฑ์มาตรฐานที่กล่าวกันว่าดี หรือต้องแข่งขันกับใครเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเลิศเลอ
เป้าหมายเป็นแค่ส่วนเล็ก ๆ ของชีวิตเท่านั้นเอง เมื่อไปถึงก็อยู่ตรงนั้นเพื่อเฉลิมฉลองได้เพียงแป๊บเดียว ระหว่างทางของชีวิตต่างหากที่เต็มไปด้วยคุณค่า งดงามแบบไม่ต้องเปรียบเทียบกับใคร เพียงมีโอกาสสัมผัสอย่างแท้จริง จะพบว่าชีวิตมีเรื่องน่าชื่นชมอยู่ไม่น้อย จะมีประโยชน์อันใดหากต้องใช้ทั้งชีวิตไปกับการวิ่งหาความสำเร็จ หรือความสุดยอดสมบูรณ์แบบ โดยสูญเสียหรือละเลยทั้งหมดระหว่างทาง
HYGGE
Denmark
ความสุขคือการกอดคนอื่น
เดนมาร์กเป็นประเทศที่เกาะเกี่ยวอันดับประเทศที่สุขที่สุดในโลกอย่างเหนียวแน่น แม้อันดับ 1 จะแกว่งไปมาอยู่แถว ๆ ประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟินแลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ หรือสวิตเซอร์แลนด์ ที่ผลัดกันขึ้นมาสับเปลี่ยน ปรัชญาความสุขหรือแนวทางความสุขของประเทศนี้ จึงได้รับความสนใจไปทั่วโลก ซึ่งความสำคัญยอดฮิตของที่นี่คือ Hygge (ฮุกกะ) เหมือนรวงรังอันอบอุ่น สบายกาย สบายใจ ในแวดล้อมของคนที่ห่วงใยใส่ใจกัน
ทว่าไม่ได้พูดถึงสถานที่เท่านั้น หากคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจด้วย บรรยากาศฮุกกะแบบเดนมาร์กเชื่อมโยงกับสภาพอากาศด้วย ภูมิประเทศที่มีฤดูหนาวยาวนาน ทำให้การอยู่ในบ้านอย่างอบอุ่นกายใจสำคัญยิ่ง ความชำนาญในการสร้างบรรยากาศแห่งความสุข เกิดขึ้นด้วยปัจจัยบังคับเช่นนี้เอง เทียนไขจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ สำหรับการสร้างบรรยากาศ สภาพแสงที่ไม่สว่างจ้าเกินไปช่วยสร้างความอบอุ่น
นอกจากนั้นสิ่งสำคัญคือ ความใส่ใจกันและกัน ความเท่าเทียมกัน ให้ความสำคัญกับ we มากกว่า me ความซาบซึ้งใจกับแต่ละชั่วขณะ ตระหนักว่าไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว ความปรองดองกัน ไม่อวดความสำเร็จ ไม่แข่งขัน หลีกเลี่ยงบทสนทนาก่อนดราม่าทั้งหลาย เป็นที่ของความผูกพัน ทบทวนเรื่องราวดี ๆ ที่เคยมีด้วยกัน และเป็นหลุมหลบภัยที่รู้สึกวางใจ และเป็นตัวของตัวเองได้ ไม่ใช่แค่อุ่นกายหากคืออุ่นใจ
ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเดนส์เห็นแก่คนอื่นมากกว่าตัวเอง คิดถึงกลุ่มมากกว่าปัจเจก คิดถึงหัวจิตหัวใจคนอื่น อยากสร้างความสุขให้คนอื่น สร้างบรรยากาศความสุขของการอยู่ร่วมกัน มากกว่ามีความสุขอย่างโดดเดี่ยว ความคิดความเชื่อเช่นนี้ ผ่านการต่อสู้ต่อรองทางการเมืองมายาวนาน ผ่านการขับเคี่ยวระหว่างฝ่ายแรงงานกับนายทุน ในห้วงยามที่โลกแบ่งขั้วเป็นเสรีนิยมกับคอมมิวนิสต์ แต่แล้วผลลัพธ์ก็ค่อย ๆ หยั่งรากลึกในสำนึกของชาวเดนส์ การมีความสุขไปด้วยกัน การเกลี่ยความสุขให้ถึงกัน ดีกว่าแข่งขันกันเพื่อให้ผู้ชนะมีความสุขกว่าผู้แพ้
หากรากศัพท์ของ Hygge คือ คำว่า Hug หรือกอด ก็นับว่าน่าสนใจมาก ความสุขเกิดขึ้นได้เมื่อโอบกอดคนอื่น อากาศแบบฮุกกะต้องการให้คนอื่น อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นสุขด้วย ลำพังเทียนไข ไฟสลัว ผ้าห่มนุ่ม พรมหนา ไม่อาจทำให้คนโดดเดี่ยวรู้สึกอบอุ่นใจได้ อยากมีความสุขต้องแบ่งปันความสุขให้คนอื่น ทั้งในบ้านและสังคม
ABC ของความสุข
ปัจจัยสำคัญสำหรับความสุข เรื่องนี้ซับซ้อนและละเอียดมาก ต่างกันไปตามแต่ละประเทศ แต่ละบุคคล ถ้าในแง่หลักการแล้ว เวลาวัดระดับความสุขโดยดูจาก 3 มิติคือ
- ความพอใจในชีวิตโดยรวม
- อารมณ์ในช่วงเวลานี้เป็นอย่างไร
- มีเป้าหมายในชีวิตแล้วหรือยัง
ในเดนมาร์กพูดถึง ABC เพื่อสุขภาพจิตที่ดี A คือ Act การเคลื่อนไหวร่างกาย ทำกิจกรรมอย่างกระตือรือร้น B คือ Belong to ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับสังคมที่อยู่ C คือ Commit มุ่งมั่นในสิ่งที่มีความหมาย ทั้ง 3 สิ่งนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมาย แต่ทำให้มีความสุขได้ น่าจะหยิบ ABC มาตรวจสอบชีวิตในช่วงห่อเหี่ยวไร้เรี่ยวแรง ดูว่ามีตัวอักษรใดหายไปในช่วงนี้หรือเปล่า ขยับตัวน้อยไปไหม ออกกำลังกายหรือหากิจกรรมสนุก ๆ แปลกใหม่ทำดูบ้างไหม หรือโดดเดี่ยวแปลกแยกจากสังคมมากไปหรือเปล่า ได้เวลานัดเพื่อนพบญาติหรือรู้จักคนใหม่ ๆ แล้วหรือยัง หรือที่ไม่ค่อยมีไฟนั้นเป็นเพราะไม่ผูกมัดตัวเอง กับภารกิจที่มีความหมายหรือที่เห็นว่าสำคัญ
บางครั้งความสุขเกิดจากการปักหลักมุ่งมั่นทำเรื่องยากที่มีคุณค่า ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อปักหลักเช่นนี้มักจะได้ A และ B แถมมาด้วย ในทางกลับกัน เมื่อมี A และ B บ่อยครั้งที่ได้แรงบันดาลใจ ในการเจอสิ่งที่มีความหมายหรือ C ด้วยเช่นกัน ในโลกและชีวิตที่เต็มไปด้วยสิ่งควบคุมไม่ได้ สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่อุ่นใจขึ้นได้ แต่สิ่งสำคัญที่อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นคือช่วงเวลา ต้องการเวลาแห่งความใส่ใจกับปัจจุบันขณะอย่างแท้จริง ยิ่งข้างนอกโกลาหลสภาวะอุ่นใจยิ่งสำคัญ
ชีวิตคือช่วงเวลาเล็ก ๆ เชื่อมร้อยเข้าด้วยกัน สิ่งที่พ่อทำได้คือสะสมช่วงเวลาที่ดี เพื่อร้อยเรียงเป็นความรู้สึก และทัศนคติที่เป็นบวกต่อชีวิตในภาพรวม หากรู้สึกว่าชีวิตถูกร้อยเรียงด้วยโมเมนต์แห่งความพึงพอใจ ชีวิตนั้นย่อมมีความหมายในตัวมันเอง ความหมายของชีวิตคือ การประกอบเข้าด้วยกัน ของช่วงเวลาที่มีความหมาย
SISU
Finland
เย็นเฉียบ ร้อนฉ่า พาเป็นสุข
ฟินแลนด์ดินแดนที่คนนิยมการจุ่มตัวลงน้ำเย็นจัด เพื่อขึ้นมานั่งตัวแดงในห้องซาวน่าอุณหภูมิร้อนจี๋กันต่อ เหตุที่ชาวฟินน์ชอบ 2 กิจกรรมนี้กันนัก มันให้ความรู้สึกดีภายในเวลารวดเร็ว เรียบง่าย และยากจะหากิจกรรมอื่นใดเทียบเทียมได้ ฟินแลนด์ได้ชื่อว่าดินแดนพันทะเลสาบ ทั้งที่ในความจริงประเทศนี้มีทะเลสาบกว่า 180,000 แห่ง คนเป็นแสนชอบว่ายน้ำในฤดูหนาว กิจกรรมที่คนจำนวนหนึ่งชอบทำกันคือ แช่ตัวน้ำเย็นในรูที่เจาะเปิดผิวน้ำแข็ง ชาวฟินน์เรียกกิจกรรมนี้ว่า อวันโตะ
สภาพอากาศมีผลต่อร่างกายมนุษย์มายาวนาน การแทรกตัวในน้ำเย็นในระยะเวลา 1 นาที ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าพายุฮอร์โมน ซึ่งเป็นภาวะที่ฮอร์โมนแห่งความสุขหลายตัวถูกกระตุ้นให้ทำงาน บรรดาฮอร์โมนเหล่านั้นได้แก่ เอนดอร์ฟิน เหมือนยาแก้ปวดตามธรรมชาติ เซโรโทนิน ช่วยรักษาสมดุล โดพามีน ควบคุมระบบการให้รางวัลและระบบความพึงพอใจในสมอง กำหนดการเคลื่อนไหวและการตอบสนองทางอารมณ์ และออกซิโทซิน ฮอร์โมนแห่งความรัก
นอกจากนั้นการไหลเวียนเลือดก็ดีขึ้นด้วย แคลอรี่ถูกเผาผลาญ ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้น อัตราการเต้นหัวใจเพิ่มขึ้น และเมื่อเอนดอร์ฟินหลั่งออกมา นี่อาจเป็นวิธีใช้เวลา 1 นาทีที่คุ้มที่สุดแบบหนึ่งเลยทีเดียว แล้วประโยชน์ของซาวน่าที่สมาคมซาวน่าแห่งฟินแลนด์ระบุไว้คือ บรรเทาความเจ็บปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดความเครียดและเหนื่อยล้าทั้งกายใจ ทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ลดความดัน ช่วยให้นอนเต็มอิ่ม ร่างกายต้านอาการป่วยไข้ได้ดีขึ้น รักษาผิวให้ใส กำจัดสารพิษตกค้าง
นอกจากนั้นยังมีงานวิจัยที่ระบุว่า การเข้าซาวน่าเป็นประจำช่วยลดโอกาสติดหวัด และไข้หวัดใหญ่ได้ 30% ยังไม่พอ อีกการศึกษาหนึ่งระบุว่าช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะสมองเสื่อมและอัลไซเมอร์ด้วย ในห้วงขณะประกอบสองกิจกรรมนี้ มีแง่มุมเล็ก ๆ ของการฝึกสติอยู่ในตัวมันเองด้วย สิ่งที่รกรุงรังในจิตถูกขจัดออกไป พร้อมความแข็งแกร่งในเวลาเดียวกัน นิยามของซิสุเป็นแนวคิดกว้าง ๆ ของความมานะอุตสาหะ (perseverance) หรือความมุ่งมั่น (grit) แต่ก็ไม่ใช่ความหมายนั้นเป๊ะ ๆ เสียทีเดียว
ในเชิงนิรุกติศาสตร์รากศัพท์ภาษาฟินนิชของซิสุหมายถึง ข้างใน อาจแปลตรง ๆ ว่าลำไส้ บางคนอธิบายว่าซิสุเปรียบเสมือนการฉีดยา เพื่อให้คน ๆ หนึ่งฮึดทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จนสำเร็จ ซิสุเป็นคุณสมบัติที่ฝึกได้ สามารถบ่มเพาะคุณสมบัติเช่นนี้ขึ้นมาในตัวเองได้ เช่นเดียวกับการออกกำลังกาย ยิ่งฝึกบ่อยกล้ามเนื้อยิ่งแข็งแรง ซิสุในตัวเราก็เช่นกัน
ประคองไว้แล้วไปต่อ
ซิสุคือการฝึกที่จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่กดดัน หรือโจทย์ยากของชีวิต ไม่สามารถยืนหยัดความแข็งแกร่งได้ โดยปราศจากความยืดหยุ่น และชนะสถานการณ์ยากได้ ต้องมีวิธีอยู่กับสถานการณ์นั้น ทักษะ 1 ของซิสุคือต้องเข้าใจตัวเอง ยืนยันในจุดยืนของตัวเอง และรู้ว่าเมื่อไหร่จะพยักหน้าตอบรับ เมื่อไหร่จะส่ายหน้าปฏิเสธ เพราะทุกคนไม่ได้เหมาะกับความท้าทายในระดับเดียวกัน สิ่งนี้ต้องใช้เวลาและประสบการณ์ชีวิตในการค้นหาว่า อะไรคือจุดที่เหมาะกับตัวเราเอง ไม่ต้องพิชิตโจทย์ยากที่คนอื่นบอกว่าจำเป็น แต่ให้ถามตัวเองก่อนว่ามันสำคัญสำหรับเราหรือไม่
ทุกวันนี้คนเรารวบรวมพลังชีวิตเพื่อต่อสู้ และไม่ยอมแพ้กับอุปสรรคมากมาย คำถามคือสู้กับอะไร สู้เพื่ออะไร เป็นไปได้ไหมที่ต่อสู้กับสิ่งไม่จำเป็น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ไม่ต้องการ เช่น เงินที่มากเกินจำเป็น บ้านหลังใหญ่เกินจำเป็น รถที่แพงเกินจำเป็น และทั้งหมดนั้นไม่ได้นำมาซึ่งความสุขเลย ต้องการอะไรกันแน่ ชีวิตดูเหมือนว่าคำถามสั้น ๆ นี้จะเป็นแก่นแกนสำคัญสำหรับชีวิตที่ดี เพราะอยู่ในโลกที่ระงมไปด้วยเสียงปล่าวประกาศ ประชาสัมพันธ์ว่าต้องมีสิ่งนั้นต้องมีสิ่งนี้จึงจะมีชีวิตที่ดี
ถึงจุดหนึ่งอาจเริ่มมองเห็นว่า เส้นชัยของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับสนามแข่งที่มีเอาไว้ชนะคนอื่น เพียงเป็นเป้าหมายที่เห็นว่ามีคุณค่า และกว่าจะไปถึงได้ก็ต้องข้ามผ่านความท้าทายมิใช่น้อย ไม่มีสิ่งใดที่ได้มาโดยง่าย ทว่าความท้าทายในชีวิตก็เหมือนหิมะในฤดูหนาว หยดน้ำพราวในฤดูฝน ความระอุในฤดูร้อน มันเกิดขึ้นโดยไม่อาจควบคุม สิ่งที่ทำได้คือลุกขึ้นมาตักหิมะ กางร่ม ดื่มน้ำเย็น ประคับประคองตนในแต่ละฤดู แล้วก็เดินต่อไปเหมือนวันธรรมดาวันหนึ่ง สิ่งที่ทำได้คือทำในสิ่งที่ทำได้ ประคองไว้แล้วไปต่อ
DÖSTÄDNING
Sweden
จงแวดล้อมตัวเองด้วยสิ่งที่ทำให้เป็นสุข
ชีวิตที่ดีจะมีได้ต้องคิดถึงตอนจบชีวิตด้วย การคิดถึงความตายไม่ใช่ภารกิจเฉพาะสำหรับคนวัย 80-90 ปีเท่านั้น ใครที่อยู่ในวัย 18-19 ปีหากมีโอกาสครุ่นคิดถึงความจริงของชีวิตข้อนี้ก็น่าจะดีไม่น้อย เพราะมันคือเรื่องสำคัญสำหรับคนทุกวัย ไม่มีใครหนีความตายพ้น และไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ คนเราใช้ชีวิตราวกับจะอยู่ไปตลอดกาล สะสมสิ่งต่าง ๆ ราวกับจะใช้สอยมันไปชั่วนาตาปี นั่นทำให้ต้องลงทุนลงแรง และลงเวลาไปกับการทำงาน เพื่อแลกเงินมาซื้อข้าวของที่ยกจากร้านมาไว้ที่บ้าน ครั้งแล้วครั้งเล่า ชิ้นแล้วชิ้นเล่า จนบ้านและห้องเต็มไปด้วยสิ่งของ
สิ่งของแต่ละชิ้นล้วนคำนวณเป็นเวลาได้ทั้งสิ้น ของทุกชิ้นที่ซื้อมาคือเวลาชีวิตที่แลกไป บ้านหลายหลังที่ของมากมายเกินจำเป็น คนหลายคนมีเวลาน้อยกว่าข้าวของ ชีวิตหลายชีวิตจากไปโดยทิ้งสิ่งของไว้เป็นขยะ เพราะของมีค่าสำหรับคนหนึ่งอาจกลายเป็นภาระของคนอื่น เดอสแต็ดนิง ประกอบด้วยคำว่า ความตาย และการทำความสะอาด แปลง่าย ๆ ว่าการจัดบ้านเตรียมตาย ในความหมายที่ไม่ใช่เชิงลบ ด้วยไอเดียแล้ว การจัดบ้านเตรียมตายต่างจากแนวคิดมินิมัลลิสม์ตรงที่เป้าประสงค์ของมัน ไม่ใช่ลดของให้เหลือน้อยชิ้นที่สุด หากคือการจัดการข้าวของที่มีให้เรียบร้อยที่สุด เพื่อไม่เป็นภาระกับคนที่ต้องมาจัดการเคลียร์เมื่อไม่มีชีวิตแล้ว
ประเด็นสำคัญคือ การคิดถึงคนข้างหลังในอนาคต และทบทวนตัวเองในปัจจุบัน การจัดห้องทำให้ได้ทบทวนตัวเอง ทำให้ใช้ชีวิตได้ดีขึ้น อย่างไรก็ดี มันก็ว่าด้วยศิลปะของการทิ้งเช่นกัน เหลือไว้เท่าที่สำคัญและจำเป็น คนเราใช้เวลาและพลังงานมากเพียงใด กับสิ่งที่ไม่สำคัญและไม่จำเป็น ไม่เฉพาะข้าวของเครื่องใช้หรอก แต่ยังหมายถึงคุณค่าเชิงนามธรรมทั้งหลาย เช่น การยอมรับ ชื่อเสียง อำนาจ ตำแหน่ง เป็นต้น ไม่เพียงแค่บ้านที่รก บางทีใจก็รกรุงรังไปด้วยสิ่งที่ไม่สำคัญ และไม่จำเป็นพวกนี้เช่นกัน
ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ทิ้งเป็นและเก็บเป็น ทิ้งสิ่งที่ไร้ค่าและสร้างความหมองใจ เก็บสิ่งที่มีค่าและชุบชูใจ ถึงที่สุดการมีชีวิตคือการทบทวน จัดการ ลงมือเก็บและทิ้งอยู่ตลอดเวลา เพื่อจะได้ไม่เก็บสิ่งที่ควรทิ้ง หรือเผลอทิ้งสิ่งที่ควรเก็บรักษา ทบทวนเพื่อเข้าใจตัวเองมากขึ้น เพื่อปล่อยทิ้งสิ่งที่ควรปล่อย รักษาสิ่งที่ควรรักษา
ปล่อยข้าวของไปเก็บไว้เพียงสิ่งสำคัญ
การตระหนักว่าต้องตายทำให้ชีวิตได้ดีขึ้น ส่วนหนึ่งที่ชีวิตวุ่นวายสับสน เพราะแสร้งหลงลืมความชั่วคราวของมัน ถ้ามองว่าวันหนึ่งชีวิตจะสิ้นสุดลง คุณค่าหลายอย่างในชีวิตอาจเปลี่ยนแปลงไป ลำดับความสำคัญอาจเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นในแง่หนึ่ง การจัดบ้านก่อนตายคือการพยายามจัดระเบียบข้าวของเพื่อทบทวนตนเอง โดยมีเป้าหมายว่ามันจะทำให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่นมากขึ้น ไม่เสียเวลาเก็บสิ่งที่ไม่ควรเสีย ไม่อยากได้สิ่งที่ไม่จำเป็น ความแตกต่างจากการจัดบ้านทั่วไปคือ มันวางอยู่บนฐานความคิดว่า ถ้าพรุ่งนี้ตายของที่เหลืออยู่ต้องไม่สร้างภาระให้คนอื่น
สิ่งหนึ่งที่ต้องคิดคือ ถ้ามีชิ้นไหนที่จะสร้างความขัดแย้งให้กับคนข้างหลังควรจัดการมัน เช่น พี่น้องญาติมิตรทะเลาะกันเพราะชิงทรัพย์สมบัติมีค่า ความลับสิ่งใดก็ตามที่จะสร้างความรู้สึกไม่ดี เรื่องที่คนอื่นไม่ควรรู้อาจเก็บมันไว้มาเนิ่นนาน แต่ก่อนจะจากโลกนี้ไปควรจัดการมันให้จบ เพราะความลับที่ถูกเปิดเผยอาจไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งสิ้น มนุษย์มีความลับด้วยกันทั้งนั้น หากเป็นเจ้าของความลับก็ควรจัดการก่อนตาย หากมีคนตายแล้วทิ้งความลับไว้ สามารถเพิกเฉยกับมันได้โดยไม่ต้องไปคุ้ยค้น เพราะมันอาจสร้างแผลในใจโดยไม่จำเป็น
อีกเรื่องที่มาพร้อมกับข้าวของคือ ความทรงจำในสมองและหัวใจ ไม่สามารถจัดการความคิดและความรู้สึกได้ง่ายเหมือนจัดห้อง แต่ข้าวของทั้งหลายล้วนมีผลต่อการกระตุ้นความรู้สึกด้วยกันทั้งนั้น ความตายทำให้คิดเกี่ยวกับชีวิตต่างไปจากเดิม เมื่อมองเห็นว่าชีวิตกำลังค่อย ๆ เดินทางไปสู่จุดสิ้นสุด บุคคลนั้นอาจคิดถึงผลกระทบที่มีต่อคนอื่นมากขึ้น นอกจากค่อย ๆ ปล่อยมือจากสิ่งที่ไม่ชอบ ต้องหัดปล่อยมือจากสิ่งที่ชอบและสิ่งที่รักด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อวันนั้นมาถึงต้องปล่อยมือจากทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นเป็นเรื่องแน่นอนที่สุด
A Good Life
ชีวิตที่ดีคืออะไร
คนเราสามารถเรียนรู้อะไรจากการเงี่ยหูฟังปรัชญา อ่านแนวคิด หรือรับรู้มุมมองเกี่ยวกับชีวิตที่ดีจากหลากหลายถิ่นที่ ซึ่งเมื่อทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมจะเห็นว่า แต่ละวิถีทางล้วนเชื่อมสัมพันธ์กับภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ประวัติศาสตร์ ซึ่งค่อย ๆ ก่อร่างสร้างวัฒนธรรม และวิธีคิดของผู้คนในดินแดนนั้น ๆ โลกเต็มไปด้วยความแตกต่าง เมื่อโลกที่แตกต่างหลากหลายในรายละเอียดกลับมีจุดร่วมที่คล้ายกัน มนุษย์มีธรรมชาติร่วมกันอยู่ มีความต้องการพื้นฐานในชีวิตไม่ต่างกัน เมื่อเข้าใจหลักการ สามารถสร้างชีวิตที่ดีได้ผ่านการสร้างโลก 2 ใบ ใบหนึ่งคือโลกภายในหรือหัวใจของตัวเอง อีกใบหนึ่งคือโลกภายนอกหรือสังคม
- เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล ไม่ใช่ศูนย์กลางจักรวาล ทัศนคติที่ถูกต้องต่อตนเอง เป็นจุดเริ่มสำคัญของชีวิตที่ดี หากเข้าใจว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมด เป็นผลผลิตจากธรรมชาติ สังคม และผู้คนรอบตัว ย่อมเข้าใจว่า ชีวิตที่ดีเกิดจากชีวิตที่ดีของชีวิตอื่น ๆ ด้วย ทั้งคน สัตว์ และสรรพสิ่ง หากไม่ตระหนักถึงความจริงข้อนี้ อาจตั้งธงชีวิตผิด โดยใช้ตัวเองเป็นศูนย์กลาง พยายามเป็นคนที่โดดเด่น ชนะคนอื่น อยู่เหนือสิ่งอื่น บังคับควบคุมสิ่งต่าง ๆ
ทัศนคติที่ถูกต้องทำให้เคารพความเป็นไปที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเอง ผลลัพธ์หรือสถานการณ์ใด ๆ ล้วนประกอบขึ้นจากเหตุปัจจัยมากมาย หลากหลายวัฒนธรรมล้วนค้นพบ และอธิบายความจริงนี้ด้วยภาษาและวิธีที่แตกต่างกัน แต่ถึงที่สุดแล้วจุดร่วมสำคัญประการหนึ่งได้แก่ ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ไม่เอาตัวเองเป็นใหญ่ และตระหนักเสมอว่าสุขและทุกข์ขึ้นอยู่กับคนอื่นและสิ่งอื่น ทุกข์สุขคนอื่นและสิ่งอื่นก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเช่นกัน หากมองชีวิตด้วยทัศนคติเช่นนี้ จะแบกชีวิตตัวเองน้อยลง เกื้อกูลคนอื่นมากขึ้น และมองเห็นความหมายของชีวิตตัวเองชัดกว่าเดิม
- ทำเต็มที่โดยไม่คาดหวังผลลัพธ์ เมื่อทราบแล้วว่าจักรวาลและสรรพสิ่ง ดำเนินไปโดยไม่ใส่ใจความคาดหวัง และยิ่งใหญ่เกินควบคุมบัญชา ทัศนคติเช่นนี้ทำให้สิ้นไร้เรี่ยวแรง เหี่ยวแห้งความหวัง ชีวิตที่ดีเป็นด้านตรงกันข้าม มันคือการมองโลกตามจริง แล้วปลุกและปลอบตัวเองไปพร้อมกัน เมื่อตระหนักแล้วว่าควบคุมทุกสิ่งไม่ได้ ก็ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยท่าทีที่ผ่อนคลายมากขึ้นได้ วางความคาดหวังลง วางการกล่าวโทษตัวเองลง ใช้ใจเบา ๆ ก้าวต่อไปเรื่อย ๆ
ด้วยความเข้าใจ เช่นนี้ย่อมไม่เสียเวลา และพลังงานฟูมฟายกับผลลัพธ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ หรือแบกน้ำหนักของความหวังที่กดดันตัวเองไว้บนบ่า เพียงทำภาระหน้าที่อย่างเต็มที่ แล้วปล่อยให้ผลลัพธ์เป็นเรื่องของฟ้าดิน ซึ่งหมายถึงเหตุปัจจัยอีกมากมาย ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น ทั้งที่อาจรู้และไม่อาจรู้
- เข้าใจตัวเอง ไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น ความเข้าใจในตัวเองเป็นกุญแจสำคัญของชีวิตที่ดี ทว่าความเข้าใจนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องใช้เวลา ใส่ใจและไตร่ตรองทบทวนอยู่เสมอ การกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวในช่วงเวลานิกเซน การสร้างสภาพแวดล้อมที่ตัวเองชอบแบบฮุกกะ แล้วสังเกตทุกข์สุข ความสบายใจ ความอึดอัดใจ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการทำงานและชีวิต ทดลองชีวิตแล้วเลือกสรร กระทั่งการจัดบ้านแล้วทิ้งของหรือเลือกเก็บไว้ ก็ทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ ทำให้มองเห็นธรรมชาติในตัวเอง
- มีน้อยลง สุขมากขึ้น ปรัชญาการใช้ชีวิตจากหลายที่ในโลกค้นพบสิ่งเดียวกันว่า การมีมากไม่ได้นำไปสู่ความสุขเสมอไป ตรงกันข้ามการมีความสุขและพึ่งพอใจกับสิ่งที่มีอยู่ หรือต้องการสิ่งต่าง ๆ ให้น้อยลงต่างหาก เป็นที่มาของชีวิตที่ดี
5 ผูกมัดตัวเองกับบางสิ่งที่มีความหมาย ไม่จำเป็นต้องพบความหมายในชีวิตก็มีความสุขได้ ที่ทำอยู่ทุกวันก็มีความหมายในแบบของมัน ขอเพียงมองเห็นความหมายในสิ่งเหล่านั้น และผูกมัดตัวเองเข้ากับคุณค่า ใส่ใจมุ่งมั่นทำให้ดีที่สุด สิ่งใดที่มีความหมายผูกมัดตัวเองกับมัน ทำสุดฝีมือและค่อย ๆ ทำความรู้จักกับมันให้มากขึ้น วันหนึ่งมันจะกลายเป็นคำตอบว่า ลืมตาตื่นขึ้นมาทำไม
- ไม่คาดหวังความสมบูรณ์แบบ ทุกการกระทำเต็มไปด้วยความคาดหวังในผลเลิศ วัฒนธรรมเช่นนี้อาจทำให้รู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ เก่งไม่พอ เพราะวางเกณฑ์ความพอใจไว้สูงลิบ ไม้บรรทัดที่คอยวัดความสำเร็จเป็นของสมมุติ ความจริงไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แบบ ปรัชญาความสุขและชีวิตที่ดีจากหลายที่ในโลกบอกว่า อย่าคาดหวังความสมบูรณ์แบบ ดูเหมือนว่ามีความลับที่ผู้คนทั่วโลกค้นพบตรงกันนั่นคือ หากสามารถอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง ของคนอื่น และของชีวิตได้ จะมีความสุขง่ายขึ้น
- สิ่งมีค่าแท้จริงมองไม่เห็นด้วยตา จุดร่วมที่หลายวัฒนธรรมค้นพบเมื่อพูดถึงชีวิตที่ดี ทั้งชีวิตใช้เวลามากมายไปกับการได้มา ซึ่งสิ่งที่มองเห็นได้จับต้องได้ หลายอย่างสำคัญในแง่ประโยชน์ใช้สอย จำเป็นต้องมีเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างราบรื่น แต่มองไปลึก ๆ ไม่ได้ต้องการแค่ฟังก์ชันของมัน ต้องการเปลือกที่ห่อหุ้มมันให้มาห่อหุ้มตัวเองด้วย สิ่งเหล่านั้นช่วยให้คนสนใจมากขึ้น แต่มันไม่ได้การันตีความรัก
ชีวิตที่ดีอาจไม่จำเป็นต้องพอก ประดับสิ่งหรูหราทันสมัย หากคือความสัมพันธ์ที่มองกันถึงเนื้อแท้ในตัวตนของคน ๆ นั้น ที่แสดงออกมาอย่างจริงใจไม่เสแสร้งคือ การรับฟังกันอย่างแท้จริง ความสุขจากการชื่นชมโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของ ก็มีความสุขที่รื่นรมย์ใจยิ่งนัก มีสิ่งใดที่มองไม่เห็นแฝงเร้นอยู่ เช่น ความพึงพอใจในตัวเอง การยอมรับและชื่นชมตนเองอย่างที่เป็น การเปิดกว้าง ยอมรับคนอื่นในแบบที่เขาเป็น การใช้เวลาร่วมกันอย่างลึกซึ้ง การอยู่ตรงนั้นจริง ๆ แล้วรับฟัง ใส่ใจความสัมพันธ์ที่ไม่ตัดสินกันจากเปลือก ก็มีความสุขโดยไม่ต้องพยายามไขว่คว้า ความภูมิใจในตัวเองที่ได้ทำตามสัญญา และความเอื้อเฟื้อที่ผู้ให้สุขใจ เมื่อเห็นรอยยิ้มผู้รับ สิ่งมองไม่เห็นเหล่านี้ ล้วนมองไม่เห็นด้วยดวงตา แต่ต่างรับรู้เมื่อใช้ใจสัมผัส
- อยู่ที่นี่ ตอนนี้ จุดรวมสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากหลากหลายวัฒนธรรม เมื่อพูดถึงชีวิตที่ดีคือการมีสติ ซึ่งหมายถึงการอยู่กับเหตุการณ์ตรงหน้าอย่างแท้จริง รวมถึงการรู้เท่าทันตัวเอง และมีช่องว่างในการเลือกตัดสินใจ ทำสิ่งที่นำไปสู่ชีวิตที่ดี ไม่ใช่ตรงกันข้าม แม้รู้วิถีชีวิตและวิธีสร้างสรรค์ชีวิตที่ดี แต่หากไม่มีสติก็อาจตกอยู่ในวังวนแบบเดิมต่อไป สติจึงเป็นเครื่องมือที่คอยเตือนให้ฝึกตนบนเส้นทางที่ถูกต้อง และมุ่งหน้าไปในทิศทางที่ใช่ เขยิบเข้าใกล้ชีวิตที่ดี และขยับไกลออกจากด้านตรงข้าม
ชีวิตที่ดีไม่ได้อยู่ในอดีตหรือในอนาคต มันกำลังเกิดขึ้นอยู่ ณ ตอนนี้ตรงหน้า หากใช้เวลาส่วนใหญ่ในชีวิต ไปกับการกะเกณฑ์ทุกสิ่งให้เป็นไปตามแผนการ มีเงื่อนไขและหมุดหมายกับตัวเองหลากหลายเรื่อง ตั้งแต่เด็กจนโต ดูเหมือนชีวิตที่ดีจะรออยู่ข้างหน้าตลอดเวลา ชีวิตที่ดีอาจไม่ใช่สรวงสวรรค์ หรือจินตนาการแสนงามในฝัน หรือความเลิศเลอที่ต้องไขว่คว้า โดยใช้เวลาทั้งชีวิต มันอาจไม่ใช่อะไรแบบนั้น
หากคือชีวิตในทุกวันที่ใส่ใจให้คุณค่า และรู้สึกขอบคุณสิ่งที่มี ขอบคุณที่มีชีวิตอยู่ ได้ตื่นมาสัมผัสรับรู้กับเรื่องราว ผู้คน และเหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวล ต้องการสังคมที่ดีเพื่อมีชีวิตที่ดีร่วมกัน และนั่นอาจเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่มีชีวิตอยู่ เพื่อช่วยกันสร้างสรรค์โลกรอบตัวให้ดีขึ้นทีละนิด ตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละคน ชีวิตที่ดีเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แม้ในขณะที่กำลังคาดหวังจะเขียนตอนจบให้สวยงาม ชีวิตที่ดีคือเรื่องราวธรรมดา แต่เมื่อรักมันมันก็คือชีวิตที่ดีแล้ว.