ค่าครองชีพหลัก ๆ ที่ทุกคนต้องจ่ายทุกเดือน หลีกหนีไม่ได้ คือ “ค่าไฟ” ซึ่งค่าไฟนี้ เป็นผลมาจากการดำรงชีวิตที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป การเปิดตู้เย็น ทีวี พัดลม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพอากาศร้อนของประเทศไทย การเปิดแอร์กลายเป็นความจำเป็นพื้นฐานของหลาย ๆ บ้าน ซึ่งหลายคนก็อาจสงสัยว่า “เปิดแอร์ 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟกี่บาท?” ในบทความนี้จะพาไปหาคำตอบอย่างเข้าใจง่าย พร้อมปูพื้นฐานเรื่องค่าไฟฟ้าและการคำนวณที่ทุกคนควรรู้กัน
คำถามแรกคือ แอร์ที่ใช้อยู่มีขนาด BTU เท่าไหร่
BTU (British Thermal Unit) คือหน่วยวัด “ความสามารถในการทำความเย็น” ของแอร์ จะแบ่งขนาดของแอร์ ตาม BTU เป็น 3 ขนาด
-แอร์ขนาด 9,000 BTU เหมาะกับห้องขนาดเล็ก
-แอร์ขนาด 12,000 BTU เหมาะกับห้องกลาง ๆ
-แอร์ขนาด 18,000 BTU หรือมากกว่านั้น เหมาะกับห้องใหญ่ เช่น ห้องนั่งเล่น หรือห้องนอนใหญ่
ขนาดของ BTU มีผลต่อค่าไฟ เนื่องจากค่าไฟคำนวณจากหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ ซึ่งเรียกว่ากิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) โดย 1 kWh หมายถึงการใช้ไฟฟ้า 1,000 วัตต์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ชั่วโมง
สมมติเปิดแอร์ 1 ชั่วโมง จะเสียค่าไฟเท่าไหร่ ตามขนาด BTU ของแอร์ 3 แบบ และใช้ราคาไฟเฉลี่ย 4.20 บาทต่อหน่วย (รวม FT และ VAT แล้ว)
(ใช้ไฟ = กำลังไฟ (กิโลวัตต์) x จำนวนชั่วโมง)
-แอร์ขนาด 9,000 BTU เปิด 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟ คือ 0.85 กิโลวัตต์ × 4.20 บาท/หน่วย = 3.57 บาท
-แอร์ขนาด 12,000 BTU เปิด 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟ คือ 1.10 กิโลวัตต์ × 4.20 บาท/หน่วย = 4.62 บาท
-แอร์ขนาด 18,000 BTU เปิด 1 ชั่วโมง เสียค่าไฟ คือ 1.51 กิโลวัตต์ × 4.20 บาท/หน่วย = 6.34 บาท
เราก็พอจะรู้กันบ้างแล้วว่า เปิดแอร์ 1 ชั่วโมงต้องเสียค่าไฟกี่บาท ซึ่งหากในบ้านหรือคอนโดมีการใช้ไฟฟ้าหลายชั่วโมงต่อวัน โดยเฉพาะจากแอร์ซึ่งกินไฟมากกว่าหลายเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นรวมกัน ยอดรวมของการใช้พลังงานก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สิ่งสำคัญที่หลายคนอาจยังไม่รู้ก็คือ ค่าไฟฟ้าในประเทศไทยถูกคิดแบบ “อัตราก้าวหน้า” หรือที่เรียกว่า “อัตราขั้นบันได” กล่าวคือ ยิ่งใช้มาก ราคาต่อหน่วยก็ยิ่งแพง ไม่ใช่ว่าใช้กี่หน่วยก็คิดราคาเท่าเดิม
ตัวอย่างค่าไฟอัตราก้าวหน้า
-หน่วยที่ 1–15 จะคิดเพียง 2.34 บาท
-หน่วยที่ 36–100 จะคิดที่ 3.62 บาท
-และถ้าใช้เกิน 150 หน่วยขึ้นไป ราคาจะเพิ่มเป็น 4.22 บาทต่อหน่วย
หากเราใช้เปิดแอร์ไม่กี่ชั่วโมงต่อวัน และแอร์ระบบ Inverter ก็จะช่วยให้ค่าไฟในการเปิดแอร์ต่อชั่วโมงของเราลดลงไปได้อีก จากตัวอย่างข้างบนที่คำนวณจากแอร์ระบบธรรมดา ซึ่งกินไฟต่อชั่วโมงในอัตราคงที่ตลอดเวลาใช้งาน แต่ แอร์ระบบ Inverter มีการควบคุมรอบการทำงานของ Compressors ที่ช่วยให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น
ตัวอย่างแอร์ธรรมดา เทียบกับ แอร์ Inverter
-แอร์ธรรมดา 1.51 kW × 4.20 บาท = ประมาณ 6.34 บาทต่อชั่วโมง
-แอร์ Inverter 1.10 kW × 4.20 บาท = ประมาณ 4.62 บาทต่อชั่วโมง
จะเห็นได้ว่าการเลือกแอร์ก็มีส่วนที่สำคัญในการประหยัดค่าไฟได้เหมือนกัน แม้จะเปิดระยะเวลา 1 ชั่วโมงเหมือนกัน แต่ค่าไฟต่อ 1 ชั่วโมง ของ แอร์ Inverter ช่วยประหยัดถึง 27% เลยทีเดียว