รู้หรือไม่ว่าโฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) เป็นบริษัทที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจของตนเอง แล้วธุรกิจนี้มีรายได้มาจากทางใด และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ทำไมหลายๆบริษัทอยากจะตั้งเป็นHolding บทความนี้จะสรุปให้ฟัง

Holding Company คือ

Pure Holding Company เป็นบริษัทที่ไม่มีการประกอบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญเป็นของตนเอง คือไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือผลิตสินค้าและบริการใดๆเป็นหลัก แต่มีอำนาจควบคุมหรือตัดสินใจ โดยการถือหุ้นในกิจการอื่นเพื่อรับรายได้หลักเป็นเงินปันผลนั่นเอง โดยอาจเป็นการลงทุนในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักในประเทศ หรือบริษัทในต่างประเทศก็ได้ โดยทรัพย์สินคือ เงินลงทุนในหุ้นบริษัทอื่น ไม่ได้ถือที่ดิน อาคาร เครื่องจักร ยานพาหนะแต่อย่างใด (ถ้า Property holding จะมีที่ดิน หรือเป็นใบอนุญาตฯสำหรับ License holding company)

ทั้งนี้ยังมีรูปแบบ Holding Company ในแบบอื่นอีกเช่น Semi-holding Company ที่กิจการมีธุรกิจของตัวเอง อาจจะขายสินค้าหรือบริการใดๆ และถือหุ้นในบริษัทอื่นเพื่อมีรายได้เงินปันผลด้วย แต่ในบทความนี้ขอเน้นไปที่ Pure Holding Company เป็นหลัก

ส่วนในเรื่องของVAT บริษัทไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (กฎหมายไม่บังคับให้จดVAT) ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และรูปแบบของบริษัท

รูปแบบธุรกิจ Holding Company

1.) ลักษณะของ Holding Company ที่จะเข้าจดทะเบียน ต้องไม่เป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (Investment Company) ยกเว้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน

2.) ต้องถือหุ้นในบริษัทหลักอย่างน้อย 1 บริษัท โดย

  • กรณีบริษัทหลักเป็นบริษัททั่วไป Holding Company ต้องถือหุ้นในบริษัทหลักมากกว่า 50%
  • กรณีบริษัทหลักเป็นบริษัทที่มีเงื่อนไขในการร่วมลงทุนกับภาครัฐหรือมีข้อจำกัดตามกฎหมายอื่น Holding Company ต้องถือหุ้นในบริษัทหลักมากกว่าหรือเท่ากับ 40%

3.) ต้องถือหุ้นในบริษัทหลักตลอดเวลาที่เป็นบริษัทจดทะเบียน โดยอาจเปลี่ยนบริษัทหลักได้ เมื่อพ้นระยะเวลา 3 ปีนับแต่วันที่หุ้นสามัญเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ

รายได้ธุรกิจ Holding Company

1.) รายได้เงินปันผล (Passive income) เป็นรายได้หลักที่รับจากบริษัทย่อยที่เข้าไปถือหุ้น ซึ่งจะได้รับการยกเว้นภาษี* เมื่อเข้าข่ายดังนี้

  • บริษัท Holding Company ไปถือหุ้นบริษัทอื่นไม่น้อยกว่า 25% ของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง
  • บริษัท Holding Company ถือหุ้นบริษัทอื่นมาอย่างน้อย 3 เดือนก่อนประกาศจ่ายปันผล และยังคงถือต่อไปอีกไม่น้อยกว่า 3 เดือน (3เดือนก่อนและ3เดือนหลังจากวันประกาศจ่ายปันผล ยังต้องถือหุ้นอยู่)
  • บริษัทลูกไม่ถือหุ้นไขว้ระหว่างกัน ไม่มี Cross share holding คือบริษัทลูกที่ถูกถือหุ้น(ผู้จ่ายเงินปันผล) ไม่ได้ไปถือหุ้นบริษัท Holding (ผู้รับเงินปันผล)

*ยกเว้นภาษีคือ บริษัทย่อยไม่ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย 10% ตอนจ่ายปันผลให้ และเงินที่บริษัทHoldingได้รับก็ไม่ต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 20% ตอนสิ้นปี เพื่อไม่ให้เป็นการเสียภาษีซ้ำซ้อนเพราะบริษัทย่อยเสียภาษีแล้ว

แต่กรณีไม่ครบเงื่อนไขตามด้านบน บริษัทHolding ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และต้องนำเงินปันผลมาเป็นเงินได้ในการเสียภาษีนิติบุคคล(แต่ได้รับยกเว้นภาษีครึ่งนึง) ดูการคำนวณตามภาพด้านล่าง

สรุป

  • กรณีที่ไม่เข้าข่ายยกเว้นภาษี เมื่อคำนวณเบ็ดเสร็จแล้ว บริษัท H จะได้รับเงินสด 90 บาท และจ่ายภาษีทั้งสิ้น 10 บาท
  • แต่กรณีที่เข้าข่ายยกเว้นภาษี บริษัท H (Holding Company) จะได้รับเงินสดเต็มเม็ดเต็มหน่วย 100 บาท หรือ100% ของเงินปันผลนั่นเอง

2.) รายได้ดอกเบี้ย เช่น ดอกเบี้ยที่ปล่อยกู้ให้บริษัทลูก หรือดอกเบี้ยรับจากเงินฝากธนาคาร จะถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่าย 1% (Tax Credit สิ้นปีได้) และรายได้ดอกเบี้ยนั้นไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล(20%) แต่จะได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3%

รายจ่ายธุรกิจ Holding Company

เนื่องจากไม่ใช่ธุรกิจOperation ปกติจึงไม่ค่อยมีค่าใช้จ่ายมากนัก ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่มียกตัวอย่างเช่น

1.) ค่าทำบัญชีและสอบบัญชี

2.) ค่าที่ปรึกษากฎหมาย

3.) ค่าตอบแทนกรรมการ

ข้อดีของธุรกิจ Holding Company

1.) สามารถตัดสินใจหรือสื่อสารผ่านไปยังบริษัทย่อยภายใต้การถือหุ้นได้โดยง่าย (รวมศูนย์)

2.) นำเงินปันผลมาขยายกิจการ ตัดสินใจได้ง่ายเพราะกระแสเงินสดรวมอยู่ที่บริษัทHolding

3.) กำหนดนโยบายและการสืบทอดธุรกิจได้ เช่นกำหนดคุณสมบัติผู้ถือหุ้น กำหนดนโยบายจัดการต่างๆได้ชัดเจน

4.) ดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินต่ำกว่า เนื่องจากความแข็งแกร่งด้านการเงินจึงมักจะได้รับเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าบริษัทย่อย

5.) จำกัดความเสี่ยงหากโดนฟ้องร้อง เช่น หากบริษัทลูกมีความเสี่ยงถูกฟ้องก็จะไม่กระทบมายังบริษัทHolding และเจ้าหนี้ของบริษัทลูกก็จะไม่สามารถเข้าถึงทรัพย์สินที่บริษัทHolding ถือได้

6.) ประโยชน์ทางด้านการบริหารภาษี (ตามที่ได้กล่าวไปแล้ว)

ข้อเสียของธุรกิจ Holding Company

1.) โครงสร้างซับซ้อน การที่บริษัทHolding ที่มีบริษัทย่อยหรือบริษัทลูกหลายแห่งอาจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน โดยต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการบัญชีมากขึ้นกว่าปกติ รวมทั้งข้อกำหนดกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม เช่น การพิจารณาเรื่องTransfer Pricing เป็นต้น อีกทั้งถ้าไม่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินธุรกิจในระยะยาวได้ ส่วนนักลงทุนก็อาจต้องใช้ความรู้และประสบการณ์มากกว่าปกติเพื่อวิเคราะห์งบฯ

2.) ต้นทุนที่สูงขึ้นจากด้านกฎหมายและบัญชี

3.) อาจเกิดความขัดแย้งในการตัดสินใจระหว่างบริษัทHolding กับบริษัทย่อย

4.) กรณีที่ต้องการขายหุ้นของบริษัทลูกออกไป จะต้องมีการเสียภาษี Capital Gain หรือผลกำไรจากส่วนต่างของราคาที่สูงถึง 20%

บทสรุป

ธุรกิจHolding Company คือบริษัทที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจหรือผลิตสินค้าและบริการใดๆเป็นหลัก แต่เข้าไปถือหุ้นในหลายกิจการ โดยจะมีรายได้หลักคือเงินปันผล ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสียต่างๆในการจัดตั้งกิจการ ดังนั้นผู้ต้องการจัดตั้งควรศึกษาประเมินปัจจัยให้รอบด้านก่อนตัดสินใจ ส่วนผู้ใช้งบฯก็น่าจะพอเห็นภาพที่มาที่ไปและเข้าใจลักษณะของธุรกิจได้ดีขึ้น

(ขอขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจาก ONE Law Academy)