Growth Mindset

สั่งหนังสือ “Growth Mindset พัฒนาตัวเองให้สำเร็จแบบก้าวกระโดด” (คลิ๊ก)

สรุปหนังสือเรื่อง Growth Mindset

พัฒนาตัวเองให้สำเร็จแบบก้าวกระโดด

Growth Mindset พัฒนาตัวเองให้สำเร็จแบบก้าวกระโดด ผลงานการเขียนของ ณรงค์วิทย์ แสนทอง ที่ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ ด้วยลีลาการบอกเล่าที่สร้างแรงบันดาลใจ ผ่านประสบการณ์ชีวิต ที่พิสูจน์ได้ว่า แม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้า คือปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวตัดสิน ว่าใครจะมีโอกาสก้าวหน้าและประสบความสำเร็จมากกว่ากัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ชีวิตเราจะต้องวิ่งไล่ล่าความสำเร็จไปตลอดชีวิต ถึงแม้เราจะมีกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้า เราก็สามารถหาจังหวะหยุดพัก เพื่อให้รางวัลกับชีวิตได้ เราสามารถใช้ชีวิตแบบสบาย ๆ ก็ได้เหมือนกัน

แต่ถ้าเรามีกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้าติดตัวไว้ เราก็พร้อมที่จะปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ง่ายกว่าคนอื่น ๆ ใครที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่กับชีวิตมาโดยตลอด แล้วยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ฝันไว้ หรือใครที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ยังมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านี้ ลองนำเอาแนวคิดจากหนังสือเล่มนี้ ไปปรับใช้ดูเพื่อจะช่วยให้ไปถึงความสำเร็จได้ดีกว่า เร็วกว่า และง่ายกว่า การใช้กรอบแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่เราใช้อยู่ก็ได้

คนเราชอบตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยกับคนที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ไม่เคยหวนกลับมาตั้งคำถามกับความสำเร็จของตัวเอง มักมีข้ออ้างซึ่งฟังแล้วเหมือนเป็นเหตุผลที่ดี เพื่อจะได้ไม่ทำจึงติดกับดักเรื่องของกรอบแนวคิด ทำให้ไม่ก้าวหน้า เพราะให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ ศักดิ์ศรีของตัวเองในสายตาของคนอื่น อีกทั้งคนเรายังชอบดูถูกศักยภาพของตัวเอง เอาแต่ชื่นชมศักยภาพของคนอื่น โดยไม่รู้เลยว่าเขาดึงศักยภาพออกมาใช้ได้อย่างไร ไม่รู้เบื้องหลังชีวิตว่าปัจจัยที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จคืออะไร รู้แต่ผลสำเร็จของเขา ไม่ใช่ว่าเขาเก่งกว่า แต่ว่าเขารู้เทคนิควิธีการในการดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ออกมาใช้ได้มากกว่าเท่านั้น บางครั้งความสำเร็จอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่น เปลี่ยนจากการปฏิเสธมายอมรับ มองเห็นสิ่งที่มี เลิกไล่ล่าสิ่งที่ไม่มี ใส่ใจกับสิ่งที่ชอบให้มากกว่าสิ่งที่คิดว่าใช่ เป็นต้น

คนสำเร็จควรมี Growth Mindset ก่อนจะไปถึงเรื่อง Growth Mindset มาดูเรื่องของ Mindset ก่อน คำว่า Mindset หมายถึง กรอบความคิด ที่จะกำหนดแนวทาง และรูปแบบในการดำเนินชีวิต ซึ่งเบื้องหลังของกรอบความคิด ประกอบไปด้วยความเชื่อ ทัศนคติ และวิธีการคิด กรอบความคิดคือ ตัวกำหนดพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต และแสดงออกทางพฤติกรรมด้วย ในสังคมเราจะพบเห็นคนอยู่สองประเภท ที่ดำเนินชีวิตแตกต่างกันเสมอ เพราะมีกรอบแนวคิดที่แตกต่างกันนั่นเอง มันเป็นเรื่องเฉพาะตัว แม้แต่คนในครอบครัวเดียวกัน ยังมีกรอบแนวคิด และการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน สภาพแวดล้อมอาจมีผลบ้าง แต่ไม่มากเท่ากับความเชื่อ ทัศนคติ และวิธีคิด

คำว่า Growth Mindset นี้ เริ่มรู้จักกันจาก ดร.แครอล เอส ดเว็ด (Dr.Carol S. Dweck) ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนทางด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้ทำวิจัยเกี่ยวกับกรอบแนวคิดของคน และสรุปผลออกมาว่า คนเรามีกรอบแนวคิดอยู่สองแบบ คือกรอบแนวคิดแบบตายตัว (Fix Mindset) และกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้า (Growth Mindset) ซึ่งกรอบแนวคิดแบบตายตัว คือกรอบแนวคิดที่เชื่อเรื่องพรสวรรค์ เชื่อว่าความเก่งพัฒนาไม่ได้ มีพฤติกรรมชอบยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ กรอบแนวคิดแบบก้าวหน้า คือกรอบแนวคิดที่เชื่อว่า ความเก่งพัฒนาได้ ไม่ต้องมีพรสวรรค์ก็ได้ มีพฤติกรรมชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไม่กลัวอะไรที่ยาก ชอบความท้าทาย ปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดี

ในความเป็นจริงบอกไม่ได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน มันขึ้นอยู่กับเรื่องที่ต้องการจะทำมากกว่า บางทีการมีกรอบแนวคิดแบบตายตัว ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้เหมือนกัน ในขณะที่บางเรื่องต้องมีกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้า จึงจะทำได้ถ้าต้องการประสบความสำเร็จในชีวิตให้มากกว่าที่เป็นอยู่ หรือที่เคยเป็นมา ต้องปรับกรอบแนวคิดในเรื่องการมองโลก การเรียนรู้ การพัฒนาตัวเอง คนมีกรอบแนวคิดแบบ Growth Mindset จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า ดีกว่า และง่ายกว่า

ถ้าอยากมีแนวคิดเป็นแบบ Growth Mindset ควรเริ่มปรับความเชื่อ เปลี่ยนความคิด คือเชื่อและคิดว่าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้ เลิกหาข้ออ้าง เปลี่ยนมาสร้างข้อเอื้อ ลดข้ออ้างที่เป็นอุปสรรคในชีวิต เปลี่ยนมาหาแนวทาง ที่จะทำให้เราก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคนั้น ๆ ไปได้ ทำเรื่องใหม่ ๆ ไม่มีผิด เพราะไม่รู้ถูกคืออะไร ทำได้ไม่ดียังดีกว่าไม่ได้ทำ จงเชื่อว่าทุกความล้มเหลวที่เกิดขึ้น จะมอบประสบการณ์อันล้ำค่าติดตัวไปใช้ในอนาคต จุดด้อยจะเป็นจุดเด่นได้ในวันที่เราสำเร็จ เรื่องราวความสำเร็จของคนที่ไม่พร้อม ย่อมน่าฟังกว่าความสำเร็จของคนที่เกิดมาพร้อมทุกอย่าง เหล่านี้เป็นคุณลักษณะของกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้า

คนสำเร็จเขาเชื่อว่าแม้เลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ คนสำเร็จจะปรับเปลี่ยนความเชื่อ เพราะความเชื่อเป็นบ่อเกิดแห่งความศรัทธา เชื่อว่าสำเร็จได้ เชื่อว่าตัวเองเก่ง เชื่อว่าทำได้ ความศรัทธาในตัวเองก็จะเกิด เมื่อความศรัทธาในตัวเองเกิด จะมีแรงมีพลังไปสร้างความสำเร็จตามที่ตัวเองต้องการได้ ความสำเร็จเริ่มต้นจากศูนย์ก็ได้ ถ้าเรามีความพยายามมากพอ และกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้า เป็นกรอบแนวคิดที่ให้ความหวัง ให้กำลังใจกับคนที่ไม่พร้อมได้ดีมาก ๆ เพราะจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาหาข้ออ้าง ช่วยให้มองทะลุข้อจำกัดออกไปสู่ความสำเร็จได้ง่าย

คนสำเร็จสามารถเปลี่ยนปัญหาให้เป็นปัญญาได้ ถ้าถามอะไรตอบได้จากความจำ สิ่งนั้นเรียกว่าความรู้หรือประสบการณ์ ถ้าถามอะไรนอกเหนือจากความรู้ และประสบการณ์เดิมแล้วตอบได้ สิ่งนั้นเรียกว่าความคิด ซึ่งเกิดจากการประมวลผลของความรู้และประสบการณ์ ความคิดเป็นเพียงกระบวนการหนึ่ง ในการประมวลผลสิ่งต่าง ๆ ภายในหัวของเรา ความคิดเป็นได้ทั้งบวกและลบ ความคิดแบบมีหรือไม่มีเหตุผลก็ได้ แต่คำว่าปัญญา คือการคิดออก คิดได้ ถึงความเจริญที่เป็นจริง ความจริงที่มีเหตุผล และสามารถหาทางออกจากปัญหานั้น ๆ ได้ ความคิดที่เป็นปัญญาไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นพรแสวงที่เราสามารถฝึกฝนได้ โดยใช้ปัญหาอุปสรรคมาเป็นโจทย์ในการฝึก หลายคนจึงชอบพูดว่า ปัญหาคือหนทางสร้างปัญญา  แล้วถ้ามองไม่เห็นอนาคตข้างหน้า จงก้มหน้าทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แล้วอนาคตจะมาเอง

การเปลี่ยนกรอบแนวคิด จากคนที่กลัวปัญหาอุปสรรค หรือกลัวอะไรที่ยาก ๆ มันอาจจะต้องใช้เวลาในการฝึกทำ ช่วงแรกมันอาจจะทำให้รู้สึกแย่บ้าง โดยเฉพาะกับคนที่ชีวิตผ่านมามีแต่ความสำเร็จ ไม่ค่อยเจอความล้มเหลว หรือไม่เคยมีลูกบ้ามาก่อน แต่คนเราฝึกกันได้ทุกเรื่อง ถ้ามุ่งมั่นตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงจริง ๆ ลองทำดูคุณทำได้ความล้มเหลวครั้งใหญ่ คือบทเรียนครั้งสำคัญ ช่วยให้เราดึงเอาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ออกมาใช้ ความล้มเหลวในอดีตย่อมส่งผลต่อความสำเร็จในปัจจุบัน และความล้มเหลวในปัจจุบัน จะเป็นต้นทุนความสำเร็จในอนาคต ถ้าสำเร็จจากเรื่องที่เคยล้มเหลวได้ แล้วแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้เขาผิดพลาดเหมือนเราได้ ก็จะทำให้บทเรียนแห่งความล้มเหลวของเรามีค่ามากยิ่งขึ้น

คนสำเร็จกินแรงบันดาลใจเป็นอาหารเสริม คนที่ประสบความสำเร็จหลายคน เขาไม่ได้เก่งกว่าคนทั่วไปหรอก แต่คนเหล่านี้มีพลังภายใน แรงบันดาลใจ แรงแรงจูงใจมากกว่าคนทั่วไป คนสำเร็จเขาสร้างพลังภายในจากจินตนาการของตัวเอง เปลี่ยนความล้มเหลวเป็นพลัง และขอยืมพลังจากคนสำเร็จคนอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จมา ซึ่งแนวทางในการสร้างแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของคนอื่นมี เวลาเห็นคนอื่นสำเร็จ อย่ามัวแต่ไปอิจฉา หรือจับผิดความสำเร็จของเขา แต่จงเอาเวลามาหาข้อเอื้อดูว่า ถ้าเราอยากสำเร็จแบบเขา เราต้องเรียนรู้บทเรียนอะไรจากเขาบ้าง

สร้างแรงบันดาลใจจากเรื่องราวชีวิตเขา เวลาเราเห็นใครประสบความสำเร็จในแบบที่เราต้องการ แนะนำว่าให้เราไปศึกษาประวัติความเป็นมาของคุณคนนั้น ดูว่ากว่าเขาจะประสบความสำเร็จได้ เขาเจออะไรมาบ้าง สิ่งที่เขาเจออยู่นั้น คล้าย ๆ กับสิ่งที่เรากำลังเจออยู่หรือไม่ แล้วเขาผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร เอาภาพเราไปอยู่กับความสำเร็จของเขา ให้ลองหลับตาแล้วนึกภาพดู ว่าถ้าคนที่ประสบความสำเร็จคนนั้นคือเรา เราจะรู้สึกอย่างไร เก็บเอาความรู้สึกดี ๆ แบบนี้ไปเป็นพลังในการพัฒนาตัวเอง เพื่อสร้างภาพฝันนั้น ให้มันเป็นจริงขึ้นมา

อยากมี Growth Mindset ต้องหาคุณค่าชีวิตให้เจอ อิคิไกน่าจะเหมาะในเรื่องนี้ สำหรับคนที่กำลังวิ่งวนสับสนในตัวเอง ว่าเป้าหมายชีวิตเราคืออะไร เราเกิดมาทำไม อะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับเรา เราควรเลือกทำอะไรมากกว่า เรามีโอกาสดี ๆ ในชีวิตหลายอย่างมาก ไม่รู้จะเลือกอะไรดี ในขณะที่บางคนยังไม่รู้เลย ว่าตัวเองควรจะเลือกทำสิ่งที่ชอบ แต่ไม่ตอบโจทย์ความเป็นอยู่ หรือจะเลือกทำสิ่งที่ไม่ชอบ แต่มันตอบโจทย์ของเรื่องรายได้ดี เมื่อไหร่เราจึงจะหาสิ่งที่ชอบสิ่งที่ถนัดแล้วตอบโจทย์เรื่องรายได้ด้วย

ใช้อิคิไกในการค้นหาคุณค่าของชีวิต โดยใช้คำถามแค่ 3 คำถามนั่นคือ 1.อะไรคือสิ่งที่เราชอบหรือรัก ถ้าถามแบบง่าย ๆ ตอบไม่ยากคือ ถ้าเรามีชีวิตที่เลือกได้ไม่เดือดร้อนอะไร เราชอบทำอะไรมากที่สุด 2.อะไรคือสิ่งที่เราเก่งหรือถนัด หมายถึงสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าคนอื่นเป็นจุดเด่นของเรา 3.อะไรคือสิ่งที่โลกต้องการ หมายถึงประโยชน์สิ่งที่มีค่าสำหรับคนอื่น ที่เขาต้องการจากเรา ให้ไปแล้วเขาได้รับประโยชน์และเรามีความสุข คำถามเหล่านี้อาจจะใช้ได้เฉพาะคนที่มีทุกอย่างพร้อมในชีวิตแล้ว ต้องการแค่เติมเต็มความสุขของตัวเองที่ยังขาดอยู่เท่านั้น ต่อมามีคนนำเอาแนวคิดอิคิไกไปต่อยอด เพื่อให้สามารถใช้กับคนทั่วไปได้ โดยมีเพิ่มคำถามเข้ามาอีก 1 คำถามคือ 4.อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วทำให้มีรายได้ หมายถึง เราทำในสิ่งที่เราถนัด และมีคนต้องการยินดีจ่ายเงิน หรือผลตอบแทนให้กับเรา สิ่งนั้นสามารถสร้างรายได้ให้กับเรา

อิคิไกออกแบบโมเดลที่เป็นวงกลมซ้อนกัน 4 วง และมีการอธิบายเพิ่มเติมในส่วนที่ซับซ้อนกันระหว่างวงกลมทั้ง 4 วงอย่างนี้ อุดมการณ์หรือพันธกิจ เป็นพื้นที่ส่วนที่ทับซ้อนกันระหว่างความรักและสิ่งที่โลกต้องการ คือเราได้ทำสิ่งที่เรารักแล้วสิ่งนั้นมีประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วย ความหลงใหล เป็นพื้นที่ส่วนที่ทับซ้อนกันระหว่างสิ่งที่เรารักและสิ่งที่เราถนัด ทำแล้วมีทั้งความสุขและผลงาน เพราะเราทำได้ดีกับสิ่งที่เรารัก อาชีพ เป็นพื้นที่ส่วนที่ทับซ้อนกันระหว่างสิ่งที่โลกต้องการกับการสร้างรายได้ คือคนพร้อมจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ ความเชี่ยวชาญ เป็นพื้นที่ส่วนที่ทับซ้อนกันระหว่างความถนัดกับการสร้างรายได้

หัวใจของอิคิไกไม่ใช่คำถามไม่ใช่วงกลม แต่คือการได้พบเจอคุณค่าที่แท้จริง ตามแบบฉบับของแต่ละคน เราไม่จำเป็นต้องทำให้ครบทุกเรื่อง ครบทุกวง ครบทุกส่วน ก็สามารถทำให้เราเจออิคิไก หรือคุณค่าที่สร้างความสุขที่แท้จริงในชีวิตได้ ซึ่งความสุขของบางคนไม่ต้องมีเงินมาเกี่ยวข้องก็ได้ ความสุขบางคนไม่ต้องมีอาชีพก็ได้ ความสุขบางคนไม่ต้องทำสิ่งที่ถนัดที่สุดก็ได้ อิคิไกจึงเป็นเพียงหลักการ แนวทางเพื่อให้แต่ละคนสามารถนำไปใช้ค้นหาคุณค่า และความสุขของตัวเองได้เท่านั้น

หลายคนพยายามค้นหาคำแค่คำเดียวคือ คุณค่า บางคนค้นหาทั้งชีวิตยังไม่เจอเลย หรืออาจจะเจอแต่ไม่รู้ว่ามันคือคุณค่า สุดท้ายไม่รู้ว่าสิ่งที่ตามหามานั้นมันคือ คุณค่า หลายคนที่งงสับสนแยกไม่ออก ว่าคุณค่ากับสิ่งที่มีค่ามันต่างกันอย่างไร คนส่วนใหญ่ก็เลยพยายามปิดบัง ไม่กล้ายอมรับคุณค่าที่ไม่มีมูลค่า เพราะถ้าสิ่งที่เราชอบเรารักนั้นไม่สามารถทำเงินได้ ไม่สามารถสร้างอาชีพได้ ไม่สามารถทำให้ตัวเองและครอบครัวดูดีมีค่าในสายตาคนอื่นได้ เราก็มักจะไม่ยอมรับว่าสิ่งนั้นคือคุณค่า

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วคุณรู้สึกมีความสุข ทำแล้วอยากทำอีก ทำซ้ำแล้วไม่เบื่อ และคุณไม่สามารถอธิบายเหตุผลของการทำสิ่งนั้นให้คนอื่นฟังได้ หรือแม้จะอธิบายได้แต่ไม่หมดเท่ากับที่คุณรู้สึกได้ นี่แหละแสดงว่าเราเจอสิ่งที่เรียกว่าคุณค่า ซึ่งคุณค่าสร้างได้แต่สะสมไม่ได้ คุณค่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราในทุกชั่วขณะ นั่นคือเราทำสิ่งนั้นอย่างมีความสุข และมีคนรู้สึกได้ว่ามีประโยชน์ หรือได้รับคุณค่าบางอย่างจากเรา และเมื่อวันเวลาผ่านไป คุณค่าของเรายิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด นี่แหละคือคุณค่าที่สร้างได้ตลอดเวลาแต่สะสมไม่ได้ สิ่งที่เราสะสมได้นั่นก็คือศรัทธาบารมี ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการสร้างคุณค่านั่นเอง

กลยุทธ์การพัฒนา Growth Mindset สิ่งที่ยากที่สุดเรื่องการเรียนรู้ของมนุษย์คือ การนำเอาความรู้ไปลงมือทำ มักจะเจอปัญหาหลายอย่าง เช่น เรียนทีละเรื่อง ทำทีละเรื่อง ไม่ค่อยได้เรื่อง เพราะชีวิตเราเป็นหนึ่งเดียว ไม่ได้แยกออกเป็นเรื่อง ๆ อย่างชัดเจน ต้องเอาความรู้ทักษะด้านอื่น ๆ มาผสมผสานกัน สารพัดวิชาที่เรานึกไม่ออกบอกไม่ได้ ว่าต้องใช้วิชาของศาสตร์ไหนบ้างเอามาผสมกัน และติดกรอบจนลืมแก่น เวลาไปเรียนรู้อะไรมา คนเราก็จะอินจนประทับใจ เวลานำไปใช้จริงก็มักจะถูกครอบด้วยกรอบ จนทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้จริง สุดท้ายก็ได้แค่รูปแบบของการนำความรู้ไปใช้ แต่ไม่ได้ผลจริง ใช้ไม่สุดแต่หยุดเพราะมีเรื่องที่ใหม่กว่า ตอนไปเรียนอะไรใหม่ ๆกลับมา เรามีอาการเห่อของใหม่ แต่ปัญหาอยู่ที่ยังใช้ความรู้นั้นได้ไม่ดี ยังไม่สุดทางก็เลิกใช้เลิกทำ โดยมีเหตุผลหรือข้ออ้างที่ว่า มีเรื่องใหม่น่าสนใจกว่า ขอไปเรียนเรื่องใหม่เพื่อนำมาใช้แทนเรื่องที่กำลังทำอยู่ เอาเครื่องมือเป็นตัวตั้งชีวิตเป็นตัวตาม นี่คือปัญหาของอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุด ที่ขวางกั้นไม่ให้เรานำความรู้ไปใช้ได้จริงในชีวิต แท้จริงแล้วชีวิตเราสำคัญกว่าเครื่องมือ

แนวคิด Growth Mindset นี้มีประเด็นที่น่าสนใจคือ แนวคิดนี้ เปลี่ยนชีวิตไม่ได้ถ้าไม่ได้ลงมือทำจริง การอ่านการฟังได้แค่ความรู้และความเข้าใจ แต่ยังไม่มีพลังมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตได้จริง ๆ คนเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ต่อเมื่อได้ความรู้สึกจากการลงมือทำจริง โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความเชื่อ ทัศนคติ และกรอบความคิด การพัฒนา Growth Mindset ต้องใช้ร่วมกับแนวคิดเรื่องอื่น ๆ ด้วย เราสามารถนำเอาแนวคิดต่าง ๆ ที่เรารู้ได้เรียนมามาประยุกต์ใช้ร่วมกันได้

การพัฒนา Growth Mindset ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ต้องหาแนวทางของตัวเองให้เจอ การพัฒนาเรื่องกรอบแนวคิดยากตรงที่ไม่รู้ว่า ที่ทำอยู่หรือกำลังจะทำถูกหรือผิด ไม่มีใครบอกได้ นอกจากบทเรียนที่เกิดจากประสบการณ์ของเราเอง ถ้าเราอยากจะพัฒนาตัวเอง อย่ายึดติดแค่กรอบแนวคิดเรื่องนี้เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น จะต้องเอาชีวิตของเราเป็นตัวตั้ง หาเป้าหมายในชีวิตที่มีคุณค่าให้เจอถ้าเราอยากมากพอ ในระหว่างการเดินทางไปสู่เป้าหมายนั่นแหละ คือเวลาที่เราจะสามารถพัฒนากรอบแนวคิดเรื่อง Growth Mindset ได้เป็นอย่างดี

กลยุทธ์ยืมมือคนอื่นมาพัฒนา Growth Mindset เป็นเทคนิคในการพัฒนากรอบแนวคิดโดยใช้ตัวช่วยคือ ใช้โค้ชมาเป็นตัวช่วย เครื่องมือที่โค้ชจะนำมาช่วยคือการตั้งคำถาม เพื่อกระตุ้นให้มีพลังความคิดมากพอ ที่จะนำไปใช้ในการปรับเปลี่ยนกรอบแนวคิดใหม่ หรือจะใช้แรงบันดาลใจจากความสำเร็จของคนอื่น โดยให้เริ่มต้นจากการประเมินตัวเองก่อน ว่าเรามีปัญหามีจุดอ่อนเรื่องอะไร ให้เราไปเลือกอ่าน ฟัง หรือดูเรื่องราวของคนที่เคยมีปัญหาเหมือนเรา และเขาสามารถก้าวข้ามปัญหานั้นไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร

คนเราชอบเอาข้อจำกัดในอดีตมาเป็นปมในปัจจุบันและในอนาคต เอามาเป็นตัวถ่วงในชีวิตไม่ให้เราคิดอะไรที่ไกลกว่าสูงกว่าข้อจำกัดนั้น ๆ สิ่งสำคัญที่ทำให้เราใช้หรือไม่ใช้ความรู้ที่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 เรื่องคือ 1.จะนำความรู้ไปใช้เพื่ออะไร สิ่งสำคัญที่จะตอบคำถามนี้คือ คนเราต้องมีเป้าหมายที่มีความหมาย และเห็นคุณค่าก่อนจึงจะตั้งคำถามได้ว่า ความรู้ที่ได้นี้จะเอาไปใช้เพื่ออะไร เพราะถ้าไม่มีเป้าหมายหรือเห็นค่าแล้ว ต่อให้ความรู้ที่ได้ดีแค่ไหนก็ตาม ก็จะไม่รู้จะเอาไปใช้เพื่ออะไรกันแน่ 2.จะนำความรู้ไปใช้ได้อย่างไร เทคนิคการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ยิ่งตอนที่เจอปัญหาอุปสรรค เรามักจะเลิกใช้ความรู้ใหม่ ๆ เอาง่าย ๆ แล้วย้อนกลับไปใช้ความรู้เดิม 3.จะนำความรู้ไปใช้ต่อเนื่องจนสำเร็จได้อย่างไร ถ้าเป้าหมายไม่ใช่และไม่รู้จะใช้ยังไง โอกาสที่จะนำความรู้นี้ไปใช้อย่างต่อเนื่องคงจะยาก

ในระหว่างเดินทางไปสู่เป้าหมาย ช่วงเวลานี้แหละที่เราต้องนำเอาความรู้เรื่องกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้ามาใช้เยอะมาก เช่น ถ้าทำไปแล้วเจอปัญหาอุปสรรคยาก ๆ ต้องทำใจไว้ล่วงหน้า ว่าทุกความสำเร็จต้องเจอปัญหาระหว่างทางอย่างแน่นอน เชื่อว่าเราก้าวข้ามไปได้ คิดว่าถ้าเราผ่านปัญหาอุปสรรคนี้ไปได้ เวลาเล่าเรื่องความสำเร็จ จุดนี้แหละคือไฮไลท์ที่คนอยากฟัง ถ้าทำไปแล้วไม่คืบหน้ารู้สึกท้อ ให้เราเปลี่ยนจุดโฟกัสจากผลที่ได้รับ มาเป็นการได้ลงมือตามแผนตามที่คิดไว้ หรือหั่นเป้าหมายออกมาเป็นเป้าเล็ก ๆ เพื่อให้เห็นว่าตลอดเส้นทางเราบรรลุเป้าหมายได้ตลอด จะทำให้รู้สึกว่าเราสำเร็จทุกวัน

ถ้าทำไปแล้วมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ สิ่งที่ต้องทำคือทำใจ คิดว่าไม่มีใครเข้าใจสิ่งที่เราทำดีเท่ากับเรา และเมื่อทำช้ากว่าคนอื่นทำให้ขาดความมั่นใจ เวลารู้สึกแบบนี้ อย่าเอาชีวิตเราไปเปรียบเทียบกับใคร แต่จงก้มหน้าก้มตาทำสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จ ดีกว่าเสียเวลาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ถ้าทำไปแล้วรู้สึกลังเล เพราะมีเป้าหมายใหม่ที่น่าสนใจกว่า จงอย่าเพิ่งสับสนระหว่างเป้าหมายกับสิ่งที่ทำ เป้าหมายคือสิ่งที่เราอยากได้ เช่น ว่าอยากมีบ้าน อยากมีรถ เป็นต้น แต่สิ่งที่ทำไม่ว่าจะเป็นแผนงาน วิธีการ หรือกิจกรรม เช่น เป้าหมายเราอยากเก็บเงิน 1 ล้านบาท ตอนแรกสิ่งที่เราทำคือหารายได้เสริมจากการทำงาน part time หลังเลิกงาน แต่ตอนนี้มีงานออนไลน์เกิดขึ้นเยอะ ทำรายได้ดีกว่างานพาร์ทไทม์ อีกทั้งยังสะดวกกว่า ง่ายกว่า และยังทำได้ตลอดเวลา เราก็สามารถเปลี่ยนได้

ปัญหาเรื่องเป้าหมายเก่าไม่อยากทิ้ง เป้าหมายใหม่ก็อยากทำ ปัญหานี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีโอกาสในชีวิตมากกว่าคนอื่น ถ้าเราไม่ตั้งหลักชีวิตให้ดี เราอาจจะเกิดอาการสำลักโอกาส แต่ขาดแคลนความสำเร็จ หมายถึง ทำทุกเรื่องทำทุกอย่างแต่ไม่ได้เรื่องไม่สำเร็จสักอย่าง ถ้าเราสามารถกำหนดแนวทาง เทคนิควิธีการ หรือกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับตัวเองไว้ล่วงหน้าได้จะดีมาก ๆ เพราะเวลาเราทำไปสักระยะหนึ่งเริ่มไม่แน่ใจ ลังเล หรือท้อ ก็สามารถกลับมาอ่านสิ่งที่เขียนไว้ จะช่วยให้เรากลับมามีสติและพลังใจอีกครั้งหนึ่งได้ คงไม่แตกต่างอะไรกับการที่คนสำเร็จส่วนใหญ่ทำ คือ จะแปะข้อคิด คำคม รูปคนที่เป็นไอดอลไว้ในห้องนอน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองตลอดเวลา

ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคดิจิทัล การบริหารจัดการยุคใหม่ จึงเน้นที่ความยืดหยุ่น คล่องตัวและรวดเร็ว มุ่งไปที่ผลลัพธ์ สร้างผลกระทบไปถึงการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ และพฤติกรรมผู้บริโภค เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การมีกรอบแนวคิดแบบก้าวหน้า จะนำพาให้ทุกคนก้าวพ้นจากความยุ่งยากในยุคนี้ไปได้.

สั่งหนังสือ “Growth Mindset พัฒนาตัวเองให้สำเร็จแบบก้าวกระโดด” (คลิ๊ก)