การที่บริษัทมีการควบคุมกำกับดูแลกิจการไม่ดี อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าประสิทธิภาพในการตรวจสอบบัญชีและการตรวจสอบกรรมการบริหารก็จะไม่ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจส่งผลให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งสามารถเอาเปรียบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มอื่นๆได้ ยกตัวอย่างเช่น หากผู้บริหารไม่ถูกควบคุมและจับตามองมากเท่าที่ควร ผู้บริหารอาจบริหารบริษัทตามความต้องการของตัวเองโดยการเลือกที่จะรับความเสี่ยงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้มูลค่าบริษัทลดลง นอกจากนี้ผู้บริหารยังสามารถสร้างประโยชน์ให้ตัวเอง, เพื่อนฝูง, และครอบครัวครัวได้ด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่บริษัทมี
การไม่ปฏิบัติตามที่องค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลกำหนดสามารถนำบริษัทไปสู่ความเสี่ยงทั้งด้านกฎหมาย และด้านการเสียชื่อเสียง ส่วนการละเมิดสิทธิของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆก็อาจถูกฟ้องร้องได้ และความล้มเหลวในการบริหารจัดการสิทธิของผู้ที่ปล่อยเงินกู้ก็อาจนำไปสู่การผิดนัดชำระและล้มละลายในที่สุด
ดังนั้นการที่บริษัทมีการกำกับควบคุมที่มีประสิทธิภาพก็จะช่วยให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานดีขึ้นจากการควบคุมให้แนวทางการปฏิบัติงานของผู้บริหารที่ตรงตามความต้องการของผู้ถือหุ้น และไม่นำพาบริษัทสู่ความเสี่ยงทั้งด้านการผิดนัดชำระ, ด้านกฎหมาย และด้านการกำกับดูแลอีกด้วย
Source: ANEVIS
ในการวิเคราะห์หุ้นของทั้งนักลงทุนและนักวิเคราะห์การลงทุน ประเด็นเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการกำกับดูแลภายในบริษัทเป็นเรื่องที่ถูกนำมาพิจารณามาอย่างยาวนานแล้ว อย่างไรก็ตามปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ที่คนเริ่มพูดถึงเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งการลงทุนโดยนำปัจจัยทั้งเรื่องการกำกับดูแล, สิ่งแวดล้อม, และสังคม มาประกอบการตัดสินใจเรียกว่า ESG investing ซึ่งก็จะมีเรื่องต่างๆให้พิจารณาภายใน 3 หมวดหมู่หลัก เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, การเปลี่ยนผ่านของแรงงานแต่ละช่วงอายุ, และความเสี่ยงจากการคอรัปชันของผู้บริหาร
มีวิธีการอยู่หลายวิธีที่เราสามารถนำแนวคิดเกี่ยวกับ ESG มาใช้ประกอบการบริหารพอร์ตโฟลิโอได้ โดยวิธีหลักๆสามารถทำได้ดังนี้:
- Negative screening เป็นการคัดหุ้นที่มีการดำเนินงานขัดต่อหลัก ESG ออกไป เช่น บริษัทขุดเจาะน้ำมันที่เมื่อน้ำมันถูกนำมาใช้ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเวลาต่อมา
- Positive screening เป็นการเลือกหุ้นที่มีการดำเนินงานตรงต่อหลัก ESG โดยอาจมีการใช้คะแนน ESG ที่ให้โดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งมาช่วยในการเลือก ซึ่งจะมีวิธีการย่อยคือวิธี Best-in-class เป็นการนำหุ้นที่มีคะแนน ESG สูงที่สุดในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมมารวมกันเป็นพอร์ตโฟลิโอตามสัดส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องการ
- Full integration เป็นการนำปัจจัยทางด้าน ESG มาใช้ประกอบการวิเคราะห์หุ้นตามปัจจัยพื้นฐาน โดยเป็นการรวมเข้าไปในตัวแปรต่างๆ เช่นใน Cost of capital หรือ Future cash flows
- Thematic investing เป็นการเลือกลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใดกลุ่มอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการนำหลัก ESG ไปใช้ เช่น กลุ่มพลังงานหมุนเวียน, กลุ่มที่การลดการปล่อยคาร์บอน, และกลุ่มที่มีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่ดี เป็นต้น
นอกจากการเลือกหุ้นที่นำหลัก ESG มาใช้ในการดำเนินงานแล้ว บางบริษัทยังมีการออก Green bonds ซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ระดมทุนไปเพื่อลงทุนในโครงการที่ส่งผลบวกต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: การกำกับดูแลกิจการ และ ESG (Part 1) ประเภทของ Stakeholders
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: การกำกับดูแลกิจการ และ ESG (Part 2) ความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: การกำกับดูแลกิจการ และ ESG (Part 3) Stakeholder mechanisms
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: การกำกับดูแลกิจการ และ ESG (Part 4) ปัจจัยที่ส่งผลต่อการกำกับกิจการ