CCI คือ


Commodity Channel Index หรือ CCI ถูกคิดค้นโดย Donald Lambert คืออินดิเคเตอร์ที่สามารถบ่งชี้ถึงการเริ่มต้นแนวโน้มใหม่ และยังสามารถแจ้งเตือนในกรณีที่ราคาขึ้นหรือลงมากเกินไปได้อีกด้วย

แรกเริ่มนาย Lambert ได้สร้างเครื่องมือนี้เพื่อที่ว่าจะหา Cycle ของราคาบนสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) ด้วยความมีประสิทธิภาพของเครื่องมือนี้ ทำให้กลายเป็นที่โด่งดังและถูกนำมาประยุกต์ใช้ต่อในการเทรดดัชนี, หุ้น, ETFs และอื่นๆอีกมากมาย 

ในทั่วไป CCI จะวัดจากราคาปัจจุบันเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (ค่า Default อยู่ที่ 20-period) โดยในช่วงที่ CCI มีค่าสูง ก็แปลว่า ราคาปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่สูง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ส่วนในช่วงที่ CCI มีค่าต่ำ ก็แปลว่า ราคาปัจจุบันนั้นอยู่ในระดับที่ต่ำ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ CCI สามารถใช้ในการวิเคราะห์ระดับ Overbought และ Oversold ของราคาได้

สูตรที่มา

CCI = (Typical Price – 20-period SMA of TP) / (0.015 x Mean Deviation)
Typical Price = (High + Low + Close) / 3
Constant = 0.015

ในส่วนของการคำนวณ Mean Deivation มีอยู่ 4 ขั้นตอน

  1. นำ 20-period SMA ลบด้วย Typical Price วันก่อนหน้า
  2. นำ 20-period SMA ลบด้วย Typical Price ใน 2 วันก่อนหน้า … ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 20 วันก่อนหน้า
  3. จากนั้น นำค่าที่ได้มาหาค่า Absolute (เปลี่ยนเป็นค่าบวกให้หมด) แล้วนำมาบวกกันทั้งหมด
  4. นำผลลัพธ์ที่ได้หารด้วย 20

สามารถ Download ตัวอย่าง Excel ในการคำนวณ CCL ได้ที่ลิงค์นี้ (คลิ๊ก)

โดย Lambert ได้ Set ค่าคงที่ไว้ที่ 0.015 ในสูตร เนื่องด้วยเพราะว่า จะได้ค่า CCI แกว่งตัวอยู่ในช่วงระหว่าง -100 และ +100 อยู่ราวประมาณ 70-80% 

ทั้งนี้ความผันผวนของ CCI ขึ้นอยู่กับเราตั้งค่า Period ที่ต้องการดูย้อนหลัง อย่างปกติทั่วไปอยู่ที่ 20 วัน แต่หากเราปรับสั้นลงเหลือสัก 10 วัน ก็จะผันผวนมาก หรือปรับให้ยาวขึ้นเป็น 40 วัน ก็จะผันผวนน้อย

การวิเคราะห์

เนื่องด้วย CCI ถูกใช้เปรียบเทียบราคาปัจจุบันกับราคาเฉลี่ย โดยเมื่อ CCI ให้ค่าเป็นบวก เป็นการแสดงให้เห็นว่า ราคาปัจจุบันได้อยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ย สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในการขึ้น ในทางตรงกันข้าม หาก CCI ให้ค่าเป็นลบ แปลว่าราคาปัจจุบันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ชี้ให้เห็นถึงความอ่อนแรง

โดย Commodity Channel Index (CCI) สามารถเป็นได้ทั้ง Coincident indicator และ Leading indicator 

Coincident indicator : Indicator ที่เคลื่อนไหวไปตามราคา , โดยเมื่อ CCI กระชากขึ้นเหนือระดับ +100 แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งในการขึ้นของราคา เป็นสัญญาณการเริ่มต้นการขึ้นใหม่ ในทางตรงกันข้าม กรณี CCI ดิ่งลงต่ำกว่าระดับ -100 เป็นสัญญาณการเริ่มต้นขาลง

Leading indicator : Indicator ที่สามารถชี้นำราคา , CCI สามารถใช้ดูระดับ Overbought และ Oversold ได้ เพื่อใช้จับจังหวะการย่อตัวหรือฟื้นตัวระยะสั้น อีกทั้งการดู Divergence ที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในโมเมนตัมการเคลื่อนไหวของราคา และมีโอกาสกลับตัวในที่สุด

เริ่มต้นแนวโน้มใหม่

การที่ CCI เคลื่อนไหวขึ้นสูงเหนือระดับ +100 แสดงถึงการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แสดงถึงความแข็งแกร่งของราคา ซึ่งมีโอกาสเข้าสู่รอบการขึ้นใหม่อีกครั้ง

ในทางตรงกันข้าม กรณี CCI ลงต่ำกว่า -100 แสดงถึงความอ่อนแอของราคา มีโอกาสเข้าสู่แนวโน้มขาลง

เริ่มต้นแนวโน้มใหม่-CCI

กราฟตัวอย่างการใช้ CCI ในการหาจุดเริ่มต้นแนวโน้มใหม่ของราคา จะเห็นได้ว่า ในช่วงที่ CCI ขึ้นเหนือ +100 (เส้นสีเขียว) เป็นสัญญาณการเริ่มต้นการเข้าสู่รอบการขึ้นใหม่อีกครั้ง และในทางขวาสุดของกราฟ (เส้นสีแดง) เป็นจังหวะที่ CCI ลงต่ำกว่า -100 เป็นสัญญาณการเข้าสู่รอบขาลง

Overbought/Oversold

CCI สามารถใช้วิเคราะห์ Overbought/oversold ทั้งนี้ต้องเข้าใจ CCI ก่อนว่ามันเป็นลักษณะ Unbound oscillator คือไม่มี Limit ในการแกว่งตัว (โดยปกติทั่ว Indicator ทั่วไป อย่างเช่น RSI จะแกว่งตัวในช่วง 0-100 แต่ CCI ไม่ใช่) ดังนั้นการวัด Overbought/oversold ของ CCI จะค่อนข้าง Subjective (ไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับผู้ใช้) 

โดยหลักการทั่วไปในการวิเคราะห์ OB/OS ของ CCI คือ ในช่วงที่ราคาแกว่งตัว Sideway จะใช้ค่าที่ระดับ +/-100 ส่วนในช่วงที่ราคาเป็นเทรนอยู่แนะนำให้ใช้ช่วงระดับ +/-200 ในการหาจุด Extreme levels (OB/OS) 

ทั้งนี้การวัดระดับ OB/OS ต้องคำนึงถึงความผันผวนของราคาหุ้นด้วยเช่นเดียวกัน

CCI Overbought Oversold

ตัวอย่างกราฟหุ้นในการดูระดับ Overbought และ Oversold ของราคา โดยใช้ระดับ +/- 200 เป็นระดับในการวัด ในการเทรด สำหรับเทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้สูง สามารถเข้าเทรดตั้งแต่ตอนที่ราคา แตะระดับ +/- 200 ได้เลย หรือ อีกกรณีสำหรับเทรดเดอร์ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ สามารถเข้าเทรดหลังจากที่ CCI วกกลับเข้ามาในกรอบ +/- 200

Divergence

การเกิด Divergence คือความไม่สอดคล้องระหว่างราคากับ Indicator ซึ่งการเกิดสัญญาณนี้ บ่งชี้ว่าราคามีโอกาสที่จะกลับตัวเกิดขึ้นในอนาคต

CCI Divergence

ตัวอย่างการเกิด Divergence กับ CCI บนกราฟราคาทองคำ ในกราฟทางซ้ายมือเป็นการเกิดสัญญาณ Bearish divergence จากเดิมที่ราคาอยู่ในรอบขาขึ้น จากนั้นกลับเข้าสู่รอบขาลง ส่วนทางขวามือเป็นการเกิดสัญญาณ Bullish divergence (เกิด Bullish Divergence จำนวน 2 รอบ) จากเดิมที่ราคาอยู่ในแนวโน้มขาลง กลับเข้าสู่รอบการขึ้นใหม่อีกครั้ง

สรุป

CCI เป็น Indicator ที่ค่อนข้างสารพัดประโยชน์ สามารถดู Overbought/oversold, ดูการเริ่มต้นของแนวโน้ม และยังสามารถหาจุดกลับตัวของราคาได้จากสัญญาณ Divergence อีกทั้งยังสามารถใช้ได้ในสินค้าที่หลากหลาย ทั้ง Forex, หุ้น, ดัชนี, ทองคำ, น้ำมัน และอื่นๆอีกมากมาย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง