การวิเคราะห์ Cash flow statement ทำให้เราเข้าใจทิศทางและปริมาณเงินที่ไหลเข้าออกบริษัทจากการดำเนินการแต่ละกิจกรรม โดยบริษัทที่อยู่ในช่วงอายุของธุรกิจที่ต่างกันก็จะมีรูปแบบของกระแสเงินสดที่แตกต่างกันด้วย เช่น บริษัทที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ๆอาจมี Cash flow from operating activities (CFO) ติดลบ เนื่องจากยังไม่สามารถทำรายได้ออกมาได้มาก และต้องจัดหาเงินมาลงทุนเพื่อให้บริษัทเติบโตได้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทที่จะไปต่อได้ควรมี CFO สูงกว่าปริมาณเงินที่ใช้ในการลงทุน
การวิเคราะห์ CFO
ตัวเลข CFO ที่เป็นบวกนั้นสามารถทำได้ทั้งจากการสร้างรายได้จากการดำเนินธุรกิจตามปกติ และการขายทุนหมุนเวียน (working capital) ที่ไม่ใช่เงินสดออกไป เช่น การเทขายสินค้าคงเหลือ, ลูกหนี้การค้า, หรือการเพิ่มปริมาณเจ้าหนี้การค้า ซึ่งวิธีหลังนี้เป็นวิธีที่ไม่ยั่งยืน เพราะว่าทุนหมุนเวียนสามารถถูกขายออกไปได้ในจำนวนจำกัด และเจ้าหนี้ก็ไม่สามารถยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไปได้ตลอดไป
นอกจากจะดูว่า CFO ของแต่ละบริษัทเป็นบวกหรือไม่แล้ว เราสามารถดูสัดส่วนระหว่าง CFO และ Net profit ได้ โดยบริษัทที่มีความสามารถในการทำเงินที่ดีจะมีสัดส่วนดังกล่าวค่อนข้างคงที่ อย่างไรก็ตามหาก Net profit สูงกว่า CFO มากๆก็อาจตีความได้ว่าบริษัทมีวิธีการบันทึกบัญชีที่ไม่เหมาะสม เช่น มีการรับรู้รายได้เร็วเกินไป หรือการเลื่อนรับรู้รายจ่ายให้ไกลออกไป ซึ่งจะทำให้สัดส่วน CFO และ Net profit ดูผันผวนเมื่อเวลาผ่านไป
Cash Flow from Investing Activities (CFI) ดูอย่างไร
ส่วนใหญ่แล้วบริษัทจำเป็นต้องมีการลงทุนเพิ่ม เพื่อที่จะทำให้ผลการดำเนินงานในอนาคตเติบโต ดังนั้นตัวเลขการใช้เงินสำหรับลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์ลงทุน (CAPEX) เช่น เครื่องจักรสำหรับผลิตสินค้า ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเติบโตของบริษัท แต่ถ้าบริษัทมีการขายสินทรัพย์ลงทุนออกไปเพื่อแปลงเป็นเงินสด ก็จะส่งผลให้ CAPEX ลดลง และอาจจำเป็นต้องจ่ายเงินเพื่อลงทุนมากขึ้นในอนาคตหากบริษัทต้องการที่จะเติบโตต่อไป ซึ่งตัวเลข CFI ที่จ่ายออกไปไม่ควรสูงกว่า CFO ที่บริษัททำได้
Cash Flow from Financing Activities (CFF) บอกอะไรได้บ้าง
CFF เป็นส่วนที่เป็นบวกบ่งบอกถึงกระแสเงินสดที่ไหลเข้าบริษัทจากการจัดหาเงินทั้งการออกหุ้นสามัญ, การกู้เงิน, หรือการออกหุ้นกู้ เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆต่อไป และเมื่อบริษัทจ่ายคืนเงินที่กู้มา, จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น, หรือซื้อหุ้นคืน ก็จะเป็นรายการที่เป็นตัวเลขติดลบ ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทกู้เงินมาสำหรับซื้อหุ้นคืนหรือจ่ายปันผล โดยไม่ได้เอาเงินที่กู้มาไปลงทุนเพื่อซื้อสินทรัพย์มาขยายกิจการแต่อย่างใด อาจตีความได้ว่าเป็นการกู้เงินมาใช้ในกิจกรรมที่ไม่ได้ทำให้บริษัทเติบโตขึ้นอย่างแท้จริง
กระแสเงินสดสุทธิ (Net cash flow) คำนวณได้โดยการนำทั้งสามส่วนมารวมกัน
Net cash flow=CFO+CFI+CFF
เมื่อเราเข้าใจถึงคอนเซปต์การวิเคราะห์ Cash flow statement แต่ละส่วนแล้ว เราก็จะวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงานของแต่ละบริษัทได้อย่างลึกซึ่งมากกว่าการอ่านเพียงแค่ Income staement กับ Balance sheet เพียงสองอย่าง หาก Net cash flow ออกมาเป็นตัวเลขติดลบติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็จะเป็นการเพิ่มโอกาสในการล้มละลายของบริษัทด้วยเช่นกัน
หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Cash Flow Statement
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Cash Flow Statement (Part 1) บทนำ
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Cash Flow Statement (Part 2) องค์ประกอบ
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Cash Flow Statement (Part 3) Direct และ Indirect Method
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Cash Flow Statement (Part 4) การนำงบกระแสเงินสดไปใช้
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Cash Flow Statement (Part 5) Common-Size Cash Flow Statement
- หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Cash Flow Statement (Part 6) อัตราส่วนทางการเงินจากงบกระแสเงินสด