ตราสารหนี้ คืออะไร
ตราสารหนี้ (Bond/Fixed Income Securities) คือ ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่ให้ผู้ให้กู้ (รัฐบาลหรือภาคเอกชน) สามารถกู้ยืมเงินจากนักลงทุน โดยผู้ให้กู้มีสถานะเป็นลูกหนี้ ส่วนนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้
ความแตกต่างระหว่างตราสารหนี้กับตราสารทุน
ตราสารหนี้ | ตราสารทุน | |
รูปแบบของผลตอบแทน | ดอกเบี้ย | ปันผล |
สิทธิในการเรียกร้อง | ได้รับเงินคืนก่อนตราสารทุน | ได้รับเงินคืนหลังตราสารหนี้ |
อายุการลงทุน | มีอายุแน่นอน | ไม่มีกำหนด |
ความเสี่ยงและผลตอบแทน | ต่ำกว่า | สูงกว่า |
สภาพคล่อง | ต่ำกว่า | สูงกว่า |
ความสำคัญของตราสารหนี้ในตลาดการเงินและการลงทุน
- เป็นแหล่งรายได้ประจำ
- ความปลอดภัยของเงินทุน
- การกระจายความเสี่ยง
- สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้
องค์ประกอบพื้นฐานของตราสารหนี้
- มูลค่าหน้าตั๋ว: จำนวนเงินต้นที่ผู้ลงทุนจะได้รับคืนเมื่อมีการไถ่ถอนตราสารหนี้
- อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว: อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกตราสารหนี้จ่ายกับผู้ลงทุนตลอดอายุของตราสารหนี้
- งวดการชำระดอกเบี้ย: จำนวนครั้งของการชำระดอกเบี้ย โดยทั่วไปจะมีหน่วยเป็นปี
- วันครบกำหนดไถ่ถอน: วันที่ผู้ลงทุนจะไถ่ถอนตราสารหนี้
- ชื่อผู้ออก: ระบุชื่อลูกหนี้
- ข้อสัญญา: เงื่อนไขและข้อตกลงที่กำหนดให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามหรืองดเว้นการปฏิบัติ
ประเภทของตราสารหนี้
แบ่งตามอายุของตราสารหนี้
1.1 ตราสารหนี้ระยะสั้น: ครบกำหนดไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปีนับจากวันออกจำหน่าย
1.2 ตราสารหนี้ระยะยาว: ครบกำหนดไถ่ถอนเกินกว่า 1 ปีนับจากวันออกจำหน่าย
1.3 ตราสารหนี้ที่ไม่มีกำหนดไถ่ถอน: ไม่ระบุวันครบกำหนดไถ่ถอน
แบ่งตามประเภทผู้ออก
2.1 ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล: ออกโดยกระทรวงการคลัง แบ่งออกเป็น
- ตั๋วเงินคลัง: ตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี
- พันธบัตรรัฐบาล: ตราสารหนี้ระยะยาวอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี
2.2 หุ้นกู้เทศบาล: ออกโดยหน่วยงานราชการระดับรัฐหรือระดับท้องถิ่น แบ่งออกเป็น
- หุ้นกู้ประเภทค้ำประกันด้วยภาษี แบ่งออกเป็น
- ภาระหนี้ทั่วไป
- ภาระหนี้ค้ำประกันด้วยการอนุญาตให้ก่อหนี้
- ภาระหนี้ซึ่งมีการเพิ่มระดับเครดิต
- หุ้นกู้รายได้: ชำระดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ออกหุ้นกู้
- หุ้นกู้มีการซื้อประกัน: ซื้อประกันการชำระเงินกับบริษัทประกัน เพื่อประกันการชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยแก่ผู้ลงทุน
- หุ้นกู้เตรียมชำระคืน: ค้ำประกันโดยพันธบัตรรัฐบาล โดยกระแสเงินสดที่ได้รับจากพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเพียงพอที่จะชำระคืนแก่ผู้ลงทุน
- อนุพันธ์ทางการเงินของหุ้นกู้เทศบาล: ตราสารอนุพันธ์ที่สร้างจากหุ้นกู้เทศบาล
2.3 ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย: เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านตลาดเงินในการจัดกาารสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2.4 พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ แบ่งออกเป็น
- ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง
- ไม่ได้ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง
2.5 ตราสารหนี้ภาคเอกชน: ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัดหรือประชาชนทั่วไปเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจการ
แบ่งตามวิธีการชำระดอกเบี้ย
3.1 ชำระดอกเบี้ยคงที่: ชำระดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุตราสารหนี้
3.2 ชำระดอกเบี้ยลอยตัว: ชำระดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น อัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 6 เดือน หากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมีการเปลี่ยนแปลง อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้รับจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
3.3 ไม่ชำระดอกเบี้ย: ผู้ลงทุนซื้อตราสารหนี้ประเภทนี้ในราคาส่วนลด และรับเงินคืนตามมูลค่าหน้าตั๋ว
แบ่งตามสิทธิเรียกร้อง
4.1 ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ: ผู้ลงทุนได้รับสิทธิในการรับชำระหนี้เป็นรองจากผู้ถือตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ แต่ก่อนผู้ถือตราสารทุน
4.2 ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ: ผู้ลงทุนได้รับสิทธิในการรับชำระหนี้ก่อนผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ แต่ด้อยกว่าตราสารหนี้มีประกัน
แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน
5.1 ตราสารหนี้ไม่มีหลักประกัน: สิทธิรับส่วนแบ่งจากการขายสินทรัพย์ที่เหลือจากสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โดยจะได้รับคืนจากสัดส่วนและตามลำดับในการเรียกร้องสิทธิเท่านั้น
5.2 ตราสารหนี้มีหลักประกัน: ผู้ถือตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีสิทธิเหนือหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน หากขายหลักประกันแล้วยังไม่เพียงพอ ผู้ถือตราสารหนี้จะถูกปรับสิทธิเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน
5.3 ตราสารหนี้มีการค้ำประกัน: ค้ำประกันโดยบริษัท องค์กรหรือบุคคลที่สาม โดยผู้ค้ำประกันจะจ่ายหนี้แทนผู้ออกตราสารหนี้หากไม่สามารถชำระหนี้หรือดอกเบี้ยในระยะเวลาที่กำหนด
แบ่งตามชนิดของสิทธิแฝง
6.1 ตราสารหนี้ปราศจากสิทธิแฝง
6.2 ตราสารหนี้มีสิทธิแฝง เช่น
- หุ้นกู้แปลงสภาพ: หุ้นกู้ที่ให้สิทธิในการแปลงสภาพจากหุ้นกู้เป็นหลักทรัพย์อื่น
- หุ้นกู้ซึ่งกำหนดเงินเพื่อไถ่ถอน: ผู้ออกหุ้นกู้แบ่งเงินจำนวนหนึ่งในแต่ละปีเพื่อการไถ่ถอนหุ้นกู้
- ตราสารหนี้ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด
- ตราสารหนี้ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด
- ตราสารหนี้จากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน: สินทรัพย์ที่ถูกแปลงมาเป็นตราสารหนี้ เช่น ตราสารที่มีการจดจำนองรองรับ (MBS) ที่นำลูกหนี้สินเชื่อจดจำนองอสังหามารองรับในการออกตราสาร
แบ่งตามวิธีการชำระเงินต้น
7.1 ชำระคืนมูลค่าหน้าตั๋วครั้งเดียว ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน
7.2 ทยอยชำระคืนมูลค่าหน้าตั๋ว
แบ่งตามลักษณะอื่น ๆ
8.1 ตราสารหนี้ชนิดชำระดอกเบี้ยโดยอ้างอิงกับตัวแปรอ้างอิง: คล้ายกับตราสารหนี้ประเภทชำระดอกเบี้ยลอยตัวแต่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรอ้างอิงแทนที่จะเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
8.2 หุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศ แบ่งออกเป็น
- หุ้นกู้ต่างประเทศ: หุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ โดยสกุลเงินของหุ้นกู้เป็นสกุลเงินของประเทศที่ไปจำหน่าย
- บาทบอนด์: ตราสารหนี้ต่างประเทศที่ออกโดยภาครัฐหรือภาคเอกชนต่างประเทศมาจำหน่ายในไทยเป็นสกุลเงินบาท
- หุ้นกู้ยูโร: หุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ โดยสกุลเงินของหุ้นกู้เป็นคนละสกุลเงินของสกุลเงินของประเทศที่ไปจำหน่าย
- FX Bond: หุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายในไทยในรูปของสกุลเงินต่างประเทศ
8.3 พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ: ตราสารหนี้ภาครัฐที่ผูกกระแสเงินสดที่จะจ่ายในรูปเงิน, ดอกเบี้ยจ่ายและมูลค่าหน้าตั๋วเข้ากับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตของประเทศ
8.4 ตราสารศุกูก: ตราสารทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่อยู่ในรูปของดอกเบี้ย, ไม่เกี่ยวพันกับธุรกิจต้องห้ามและผลตอบแทนจากการลงทุนมาจากการมีส่วนร่วมในธุรกรรมและรับความเสี่ยงร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักชาริอะห์ของศาสนาอิสลาม
8.5 หุ้นกู้ที่เลื่อนการชำระดอกเบี้ย: หุ้นกู้ที่ไม่มีการชำระดอกเบี้ยในระยะที่มีการเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และจะเกิดการชำระดอกเบี้ยที่เลื่อนออกไปพร้อมกัน
8.6 หุ้นกู้หลายประเภทที่มีการออกพร้อมกัน: หุ้นกู้ที่ผู้ออกหุ้นกู้มีการกำหนดหุ้นกู้เป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของหุ้นกู้ เช่น กำหนดไถ่ถอนและ/หรืออัตราดอกเบี้ยที่ต่างกัน
8.7 หุ้นกู้ที่ไม่ชำระด้วยตัวเงิน: หุ้นกู้ที่ชำระดอกเบี้ยแก่ผู้ถือหุ้นกู้ด้วยตราสารอื่น เช่น หุ้นกู้
8.8 หุ้นกู้สองสกุลเงิน: หุ้นกู้ที่มีการชำระดอกเบี้ยในสกุลเงินหนึ่ง แต่จ่ายคืนในอีกสกุลเงินหนึ่ง
ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้
บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตราสารหนี้
กระทรวงการคลัง: ออกตราสารหนี้หลักที่มีมูลค่ามากที่สุดในตราสารหนี้โดยดำเนินการผ่านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
ธนาคารแห่งประเทศไทย: ออกพันธบัตรเพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่องโดยดำเนินการผ่านตลาดเงิน
รัฐวิสาหกิจ: ออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการต่าง ๆ หรือนำเงินทุนไปใช้จ่ายในการดำเนินงานตามโครงการต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจ
บริษัทเอกชน: นิติบุคคลที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการลงทุนหรือเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท
ผู้ค้าตราสารหนี้: สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์หรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้
นายหน้าค้าตราสารหนี้: บริษัทที่ประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายตราสารหนี้ให้แก่บุคคลที่ต้องการจะซื้อหรือขายตราสารหนี้ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต.
ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์: บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์จากสำนักงานก.ล.ต.
ที่ปรึกษาทางการเงิน: สถาบันการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก.ล.ต. ในการให้บริการเกี่ยวกับคำปรึกษา ความเห็นและการจัดเตรียมเอกสารข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์, ผู้ถือหุ้นกู้และประชาชนทั่วไป
ผู้ลงทุน แบ่งออกเป็น
- ผู้ลงทุนรายบุคคล: ผู้ลงทุนรายบุคคลที่ซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยตนเอง
- ผู้ลงทุนสถาบัน: กลุ่มผู้ลงทุนหลักทั้งในตลาดหลักและตลาดรอง
หน่วยงานกำกับดูแล
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- กระทรวงการคลัง
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
องค์กรและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
- นายทะเบียน
- ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
- ผู้รับฝากทรัพย์สิน
ภาพรวมของตลาดแรกของตราสารหนี้
การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดแรกจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ออกตราสารหนี้ซึ่งต้องการระดมทุน ทำการขายตราสารหนี้ให้แก่ผู้ลงทุนในตลาดเป็นครั้งแรก
ภาพรวมของตลาดรองของตราสารหนี้
ตลาดรองของตราสารหนี้คือตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการซื้อขายตราสารหนี้หลังจากได้มีการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดแรกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตลาดรองของตราสารหนี้ในไทยประกอบด้วย
- ตลาดซื้อขายตราสารหนี้ลักษณะติดต่อกันเอง แบ่งออกเป็น
- การซื้อขายระหว่างผู้ค้าตราสารหนี้
- การซื้อขายระหว่างผู้ค้าตราสารหนี้กับผู้ลงทุนสถาบัน
- ตลาดซื้อคืนตราสารหนี้: ผู้ขายหลักทรัพย์ตกลงขายหลักทรัพย์ให้กับผู้ซื้อหลักทรัพย์ โดยมีสัญญาว่าจะซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวกลับคืนตามวันเวลาและราคาตกลงกันไว้
ภาษีที่เกี่ยวข้องการลงทุนในตราสารหนี้
- กำไรจากการขายตราสารหนี้: หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หากมีกำไร
- ดอกเบี้ยที่ได้รับ: หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
- เงินได้จากส่วนลดจากการซื้อตราสารหนี้ หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่าย: หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- การวิเคราะห์การลงทุนในตราสารหนี้ [ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย]
- สรุปหนังสือ การวิเคราะห์การลงทุนในตราสารหนี้