ถ้าพูดถึงหงส์ หลายๆคนคงนึกถึงภาพนกที่คล้ายเป็ดมีขนสีขาวทั้งตัว แต่จริงๆแล้วหงส์มีประเภทที่มีขนสีดำอยู่ด้วยแต่พบเห็นได้ยากมาก จึงมีการนำคำว่า “หงส์ดำ” มาใช้ในทฤษฎี “Black Swan” ซึ่งความหมายเป็นอย่างไร บทความนี้จะเล่าให้ฟัง

กำเนิดทฤษฎี Black Swan

ทฤษฎี “หงส์ดำ​”​ (Black Swan) ถูกเขียนขึ้นในหนังสือติดอันดับขายดี (Best Seller) เมื่อปี 2007 ชื่อ “The Black Swan– The Impact of the Highly Improbable” โดย Nassim Nicholas Taleb นักคณิตศาสตร์ และนักเทรดหุ้น เชื้อสายเลบานอน สัญชาติอเมริกัน

เนื่องจากชาวยุโรปเคยเชื่อมาตลอดว่าหงส์ทุกตัวบนโลกนี้ล้วนมีสีขาว แต่สุดท้ายมาค้นพบ “หงส์ดำ” ที่ประเทศออสเตรเลีย ในปี 1697 โดยคุณ Willem de Vlamingh จึงได้เรียนรู้ว่าโลกนี้มีหงส์สีดำอยู่ด้วย เป็นข้อพิสูจน์ว่าความเชื่อในอดีตไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง จึงกลายเป็นคำแทนของ “สิ่งที่เหมือนจะเป็นไปไม่ได้” (แต่เป็นไปแล้ว)

Black Swan จึงถูกนำมาใช้เรียกปรากฎการณ์ที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้นหรือนอกเหนือความคาดหมาย เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะมีผลกระทบรุนแรงมาก และความสามารถในการคาดการณ์ย้อนหลัง คือพยายามจะสรรหาข้อมูลต่างๆเพื่อมาอธิบายว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงเกิดขึ้น (คุณสมบัติของ Black Swan: Rarity, Extreme Impact, และ Retrospective Predictability)

Black Swan เป็นได้ทุกเรื่องทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเงิน การเมือง ไม่ได้จำเป็นต้องมาอธิบายกับเรื่องหุ้นหรือการลงทุนเพียงอย่างเดียว และก็ไม่ได้หมายถึงแต่ความหมายในแง่ลบเท่านั้น มันยังหมายถึงด้านบวกด้วย เช่นการสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่างกำเนิดสมาร์ทโฟน(iPhone) ในปีพ.ศ. 2550

ตัวอย่างกรณี Black Swan

  • เหตุการณ์วินาศกรรม 9/11 ในวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 เป็นเหตุการณ์การโจมตีที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตและความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากอัลกออิดะห์ได้จี้เครื่องบินพาณิชย์ 4 ลำ เพื่อใช้โจมตีสถานที่สำคัญ เป็นผลให้ตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์กซิตี้ถล่ม อาคารเพนตากอนที่รัฐเวอร์จิเนียเสียหาย นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านการบินและการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั่วโลก เช่น การนำของเหลวขึ้นเครื่องถูกจำกัด และต้องนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น แล็ปท็อป พาวเวอร์แบงก์ ออกจากกระเป๋าเพื่อสแกน ประตูห้องนักบินถูกปรับปรุงให้มีความแข็งแรงทนทานและล็อกจากภายใน เป็นต้น
  • เหตุการณ์สึนามิ(Tsunami)ในไทย 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 คลื่นยักษ์ที่ส่งผลกระทบใน 6 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต, พังงา, ระนอง, กระบี่, ตรัง และสตูล เนื่องจากในไทยไม่เคยเกิดสึนามิขึ้นมาก่อน และยากที่จะคาดการณ์ว่าแผ่นดินไหวนั้นจะส่งผลให้เกิดสึมานิในจังหวัดชายฝั่งอันดามันของไทย จึงนับว่าเป็นความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวกระทบกันหมด ต่อมาหลังจากเหตุการณ์นั้นก็เริ่มมีการให้ข้อมูลความรู้กับประชาชนมากขึ้น มีการสร้างจุดสัญญาณเตือนภัยต่างๆ
  • มหาอุทกภัยในประเทศไทย พ.ศ. 2554 ที่กินระยะเวลาเกือบ 6 เดือน ครอบคลุมถึง 74 จังหวัด หนักที่สุดในรอบ 70 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2485 ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง 1.44 ล้านล้านบาท และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกอีกด้วย เกิดความเสียหายอย่างมหาศาลต่อทั้งทางภาคการเกษตร อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม ในช่วงนั้นเราคงไม่เคยเห็นสภาพที่ต้องไปใช้ชีวิตกินอยู่บนหลังคาบ้านตัวเอง หรือใช้เรือเป็นพาหนะแทน หรือต้องจอดรถไว้กลางสะพาน
  • การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 ถือเป็น “หงส์ดำ” ของชาวโลก เพราะไม่เคยเกิดการระบาดของไวรัสใดที่รวดเร็ว เป็นวงกว้างและกระทบต่อชีวิตและเศรษฐกิจโลกได้มากถึงเพียงนี้ (ทั้งนี้อาจจะไม่ได้เป็น Black Swan สำหรับ Taleb เพราะเขาเขียนเอาไว้ในหนังสืออยู่แล้วว่าโรคระบาดจะมีความรุนแรงหรือฉับพลันมากขึ้น และจะแพร่กระจายไปทั่วโลก) ส่งผลให้หลายองค์กรทั่วโลกพยายามคิดค้นวัคซีน และยาต้านไวรัสตามมา
  • กรณีแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ต้นกำเนิดแผ่นดินไหวรอบนี้มาจากรอยเลื่อนสะกาย Sagaing Fault ที่วางตัวในแนวเหนือ-ใต้ ผ่ากลางอกประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ริกเตอร์ (ข้อมูลจากเว็บไซต์กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว https://earthquake.tmd.go.th/) โดยแรงสั่นสะเทือนมาถึงกรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งแม้ว่าในอดีตจะเคยเกิดแผ่นดินไหวในไทย แต่ก็ไม่เคยส่งผลกระทบที่รุนแรงมาถึงบริเวณกรุงเทพฯและปริมณฑลถึงเพียงนี้ และแน่นอนว่ากรุงเทพฯไม่เคยรับมือกับการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาก่อน เพราะเราเข้าใจว่าไกลจากรอยเลื่อนต่างๆที่ส่วนใหญ่อยู่ในโซนภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็คือ ตึกสูง30ชั้นที่กำลังก่อสร้างพังถล่ม และตึกสูงส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะกลุ่มคอนโดฯสูง(High Rise) ที่จะรับรู้ได้มากเป็นพิเศษสำหรับคลื่นแผ่นดินไหวในรอบนี้ แน่นอนว่าเกิดผลกระทบกับธุรกิจผู้รับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจอสังหาฯ(โดยเฉพาะที่เป็นกลุ่มคอนโดฯ) การท่องเที่ยว ธุรกิจประกันภัยที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นหน่วยงานทุกภาคส่วนคงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อไป

สาระน่ารู้เพิ่มเติม :

  • มีอีกคำที่ใช้เปรียบเปรยและมีความหมายตรงกันข้ามกับหงส์ดำ คือ “แรดเทา” (Grey Rhino) เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ไม่มีใครสนใจหรือใส่ใจที่จะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ปล่อยปละละเลย จนอาจลุกลามใหญ่โต ตัวอย่างเช่น ปัญหาขยะล้นเมือง ปัญหาโลกร้อน เป็นต้น
  • คลื่นแผ่นดินไหวประกอบด้วย:

1.) คลื่นในตัวกลาง ได้แก่ คลื่นP (Primary wave) เคลื่อนที่ได้เร็วสั่นสะเทือนไม่มาก และคลื่น S (Secondary wave) ที่เคลื่อนที่ช้ากว่าแต่พลังทำลายสูงกว่า

2.) คลื่นพื้นผิว จะเดินทางช้ากว่าคลื่นในตัวกลาง แต่อันตรายมากสุด

ดังนั้นประเทศญี่ปุ่นจึงสร้างเครื่องตรวจจับคลื่นสั่นสะเทือนประเภทคลื่นP(Primary wave) เพื่อนำมาประมวลผลแล้วสามารถส่งแจ้งเตือนประชาชนทั่วไปล่วงหน้าได้ แม้จะแค่ไม่กี่นาที แต่ลดการสูญเสียได้หลายชีวิต

สรุป

จะเห็นได้ว่าหลายๆเหตุการณ์เกิดมาจากความรู้สึกที่ว่า “ไม่น่าจะเกิดขึ้น” “ไม่น่าเป็นไปได้” มาก่อนทั้งสิ้น แต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นจนได้ ดังนั้นสิ่งที่เราได้เรียนรู้จาก Black Swan ก็คือ ขอให้คิดเสมอว่าทุกอย่างเป็นไปได้…แม้โอกาสจะน้อยมากก็ตาม “ไม่เคยเกิดเลย..ไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิด” ดังนั้นอย่าประมาทเป็นดีที่สุด และ”ถ้าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด ก็จงอย่าลืมพกสติไว้ข้างตัว”