ใครหลายคนคงไม่ชอบกับความผันผวน โดยเฉพาะในเรื่องของเงิน ๆ ทอง ๆ อย่าง การเริ่มต้นด้วยการฝากเงินกับธนาคาร ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ปราศจากความผันผวน เงินไม่มีทางลดลง มีแต่เพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยที่ได้รับในแต่ละรอบปี

แต่พอเราเริ่มศึกษาการลงทุนมากขึ้น จะพบว่าความผันผวนนี่เอง คือสิ่งที่มาพร้อมกับโอกาส ผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นที่ราคาขึ้นลงทุกวันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน หากอยากเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความผันผวน ก็คงต้องพามาทำความรู้จักหนึ่งในตัวชี้วัดความผันผวน อย่าง ค่า Beta (β) แล้วค่านี้คืออะไร ลองไปดูกัน

ค่า Beta (β) เป็นตัววัดความผันผวนของราคาหุ้นเมื่อเทียบกับตลาดโดยรวม เราจะเปรียบเทียบหุ้นกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้นไทย กับ SET Index ว่าแปรผันตามกัน หรือแปรผกผันกัน

หากจะเรียกให้ง่าย คือ SET Index ขึ้น/ลง แล้วหุ้นของเราวิ่งตาม SET Index หรือวิ่งสวนทาง

-ค่า Beta > 1: หุ้นมีความผันผวนมากกว่าตลาด หากตลาดปรับตัวขึ้น 1% หุ้นอาจปรับขึ้นมากกว่า 1% เช่นกัน นี่อาจบ่งบอกถึงความเสี่ยงสูงสำหรับนักลงทุน เนื่องจากการขึ้นลงของหุ้นจะมากกว่าตลาด

-ค่า Beta = 1: หุ้นนั้นมีความผันผวนเท่ากับตลาด กล่าวคือ เมื่อดัชนีตลาดขึ้นหรือลง 1% ราคาหุ้นนั้นจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันที่ 1%

-ค่า 0< Beta < 1: หุ้นมีความผันผวนน้อยกว่าตลาด เช่น หากตลาดขึ้น 1% หุ้นอาจขึ้นเพียง 0.5% เป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยสำหรับนักลงทุนที่ต้องการลดความเสี่ยง

-ค่า Beta < 0: หุ้นเคลื่อนไหวในทิศทางตรงข้ามกับตลาด หากตลาดขึ้น หุ้นอาจลงและในทางกลับกัน หุ้นประเภทนี้อาจใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน

 ค่า Beta จึงทำหน้าที่เป็นเสมือนดัชนีที่บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวของหุ้นกับตลาดหุ้น

ตัวอย่าง

1.หุ้น A: Beta = 1.5 ค่า Beta สูงกว่า 1

แสดงว่า หุ้น A มีความผันผวนมากกว่าตลาด ถ้าตลาดขึ้น 10%, หุ้น A อาจขึ้น 15% แต่ถ้าตลาดลง 10%, หุ้น A อาจลง 15% เหมาะสำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และคาดหวังผลตอบแทนที่สูง

2.หุ้น B: Beta = 0.8 ค่า Beta น้อยกว่า 1 แต่มากกว่า 0 ถ้าตลาดขึ้น 10%, หุ้น B อาจขึ้น 8% แต่ถ้าตลาดลง 10%, หุ้น B อาจลง 8% เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยงมากนัก และต้องการความมั่นคง

3.หุ้น C: Beta = -0.5 ค่า Beta น้อยกว่า 0 ถ้าตลาดขึ้น 10%, หุ้น C อาจลง 5% แต่ถ้าตลาดลง 10%, หุ้น C อาจขึ้น 5% เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน

สุดท้าย ค่า Beta (β) เป็นดัชนีที่ช่วยวัดความเสี่ยงและปรับกลยุทธ์การลงทุนให้เหมาะสมได้เป็นอย่างดี ด้วยการเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างหุ้นและตลาด อีกทั้งการนำค่า Beta มาประยุกต์ใช้กับการลงทุน ก็เป็นส่วนหนึ่งให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้