ต่อเนื่องจากเรื่องสินทรัพย์ในบทความที่แล้ว ในบทความนี้เราจะอธิบายเรื่องหนี้สิน ซึ่งเป็นภาระผูกพันที่ส่งผลให้เงินไหลออกจากบริษัทในอนาคต เนื่องจากจำเป็นที่จะต้องจ่ายเงินออกไปตามสัญญาที่ตกลงเอาไว้กับฝ่ายอื่นๆ สามารถแบ่งหนี้สินได้ตามลักษณะสภาพคล่อง 2 ชนิด คือ หนี้สินหมุนเวียน (Current liabilities) และหนี้สินไม่หมุนเวียน (Noncurrent liabilities)

หนี้สินหมุนเวียน (Current Liabilities)

หนี้สินหมุนเวียน คือหนี้สินระยะสั้นที่บริษัทต้องชำระภายในระยะเวลาหนึ่งปี เช่น หากบริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นจากธนาคารหรือเจ้าหนี้การค้าจากการซื้อสินค้าหรือบริการที่ยังไม่ได้จ่ายเงิน Current liabilities ประกอบด้วย:

การซื้อของโดยใช้เครดิต (Buy on credit) ถือว่าเป็นหนี้สินหมุนเวียน
Source: https://tutorstips.com/current-liabilities/

  1. เจ้าหนี้การค้า (Accounts payable) คือเงินที่ต้องจ่ายให้กับผู้จำหน่ายสินค้าหรือบริการให้กับเรา
  2. เงินกู้ระยะสั้น (Short-term loans) คือเงินที่ต้องชำระคืนภายในระยะเวลาไม่เกินหนึ่งปี
  3. ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย (Accrued expenses) เช่น ค่าเช่า, ค่าเงินเดือนที่ยังไม่ได้จ่าย

การจัดการหนี้สินหมุนเวียน มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการรักษาสภาพคล่อง (Liquidity) และความสามารถในการดำเนินงานประจำวันของธุรกิจ เป็นการเตรียมพร้อมสำหรับสิ่งที่คาดการณ์ได้ และการมีแผนสำรองเพื่อให้แน่ใจว่าบริษัทสามารถจ่ายหนี้และค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ทันเวลา

หนี้สินไม่หมุนเวียน (Noncurrent Liabilities)

หนี้สินไม่หมุนเวียน คือหนี้สินที่มีระยะเวลาชำระคืนเกินกว่าหนึ่งปี มักเกี่ยวข้องกับการลงทุนระยะยาวหรือค่าใช้จ่ายในการเติบโตของธุรกิจ การจัดการกับหนี้สินเหล่านี้อย่างมีวิสัยทัศน์สามารถช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสในการขยายและเติบโตได้ Noncurrent liabilities ประกอบด้วย:

สัญญาเช่าตึกถือว่าเป็นสัญญาเช่าระยะยาว
Source: https://www.youtube.com/watch?v=7YdzH17VUWw

  1. สัญญาเช่าระยะยาว (Lease agreement) เป็นการเช่าระยะยาวเพื่อดำเนินธุรกิจ เช่น สัญญาเช่าตึก หรือเช่าเครื่องจักร
  2. เงินกู้ระยะยาว (Long-term loans) คือสินเชื่อที่มีกำหนดชำระคืนเกินกว่าหนึ่งปี
  3. เงินค่าตอบแทนพนักงาน (Employee’s benefits) เป็นการตั้งสำรองเอาไว้เพื่อจ่ายให้กับพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินเกษียณ, ประกันภัย, และรางวัลต่างๆ

หนี้สินไม่หมุนเวียนเป็นตัวช่วยในการลงทุนต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างรวดเร็วโดยการใช้เงินจากฝ่ายอื่นเช่น ธนาคาร เพื่อมาลงทุนเพื่อให้เกิดผลกำไรแบบทวีคูณ (Leverage) อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องระวังคือต้องแน่ใจว่าธุรกิจมีความสามารถในการชำระหนี้ (Solvency) เพื่อที่จะไม่เกิดการผิดนัดชำระ (Default) และกู้เงินเกินตัว

เราจะเห็นว่าปริมาณของทั้ง Current และ Noncurrent liabilities บ่งบอกถึงปริมาณภาระที่แต่ละบริษัทกำลังแบกรับเอาไว้อยู่ ส่วนความสามารถในการชำระหนี้สามารถคำนวณได้โดยใช้อัตราส่วน Liquidity ratios และ Solvency ratios สำหรับหนี้สินระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเราจะมาอธิบายในบทความถัดๆไป

หลักการวิเคราะห์งบการเงิน: Balance Sheet