เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น

สั่งหนังสือ “Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น” (คลิ๊ก)

สรุปหนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น

หนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็นเล่มนี้ ถ้าให้สรุปสั้น ๆ ก็ว่าด้วยศาสตร์แห่งการสร้าง และการปรับเปลี่ยนนิสัยใหม่ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่เราต้องการ โดยให้โฟกัสไปที่การกระทำระหว่างทางมากกว่าผลลัพธ์ เพราะถ้าเรามัวแต่โฟกัสที่ผลลัพธ์ ซึ่งในตอนเริ่มต้นจะไม่เห็นผลทันทีที่ลงมือทำ ก็เลยจะทำให้เราถอดใจไวเกินไป

เริ่มต้นหนังสือเป็นเรื่องของผู้เขียน เขาเล่าเรื่องที่เขาประสบอุบัติเหตุโดนไม้เบสบอลกระแทกเข้าที่จมูก จนอาการหนักมากกะโหลกร้าวเบ้าตาแตกถึงขั้นโคม่า ต้องทำให้เขานอนโรงพยาบาลนาน กว่าจะเกือบเป็นปกติได้ใช้เวลานาน 8 เดือนทีเดียว เขาชื่นชอบกีฬาเบสบอลและเขาก็เป็นนักกีฬาเบสบอลด้วย แต่ว่าเขาก็เล่นได้ไม่เก่ง

จนกระทั่งได้เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยที่เดนิสัน ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องนิสัย และเขาปรับปรุงพฤติกรรมของเขาไปทีละเล็กทีละน้อย เช่น นิสัยการนอนที่ดี นิสัยการเรียนที่ดี นิสัยรักการออกกำลังกาย ตั้งแต่ปี 1 จนกระทั่งถึงปี 4 ทำให้เขาได้เกรด A ทุกวิชา มีรูปร่างดี ได้เป็นกัปตันทีม เป็นสุดยอดนักกีฬา

ก่อนจบการศึกษา เขายังได้รับการบันทึกในสมุดเกียรติประวัติ โดยจารึกลงใน 8 หมวดที่แตกต่างกัน และยังได้รับเหรียญเกียรติยศประธานสภานักเรียน ซึ่งถือเป็นการยกย่องสูงสุดของมหาวิทยาลัย เขาลงท้ายเรื่องของเขาว่า ความสำเร็จเป็นผลิตผลของนิสัยที่ทำเป็นกิจวัตร ไม่ไช่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอะไรเพียงครั้งเดียวในชีวิต

พลังอันน่าพิศวงของนิสัยเล็ก ๆ นั้นคือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็ก ๆ ในแต่ละวัน จะทำให้สร้างการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ได้ คนเราให้ค่ากับเรื่องใหญ่ ๆ ในชีวิตเกินไป จนทำให้ละเลยคุณค่าของการปรับปรุงอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในชีวิตประจำวัน การปรับปรุงให้ดีขึ้นเพียง 1% วันเป็นเวลา 1 ปีคุณจะก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิมถึง 37 เท่าทีเดียว สร้างความประหลาดใจได้อย่างเหลือเชื่อใช่ไหมล่ะครับ

ความสำเร็จเป็นผลของนิสัยที่ทำเป็นกิจวัตร ควรให้ความสนใจวิธีการในปัจจุบัน จึงจะได้รับผลตามพฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ หากคุณคิดว่าการสร้างนิสัยที่ดีและเลิกนิสัยไม่ดีเป็นเรื่องยาก ไม่ใช่ว่าคุณไร้ความสามารถ แต่เป็นเพราะยังข้ามภาวะแห่งศักยภาพที่ซ่อนเร้นไปไม่ได้ ต่อเมื่อคุณก้าวผ่านภาวะนี้ไปแล้ว คนอื่นจะเรียกว่า ความสำเร็จเพียงชั่วข้ามคืน

เป้าหมายดีสำหรับกำหนดทิศทาง กระบวนการดีที่สุด เพราะช่วยสร้างความก้าวหน้า จงปล่อยวางเป้าหมาย และหันมาให้ความสำคัญกับกระบวนการแทน กระบวนการที่ว่าไว้ในหนังสือ Atomic Habits เล่มนี้ จะพูดถึงการทำให้ดีขึ้นแค่วันละ 1% เท่านั้นพอ ไม่ต้องทำให้ดีขึ้นมาก แบบก้าวกระโดด เพราะมันจะยากจนเราทำให้ถอดใจ แต่เอาแค่ดีขึ้นวันละนิด วันละ 1% จากเมื่อวานเท่านั้น ฟังดูเหมือนจะน้อยแค่ดีขึ้นวันละ 1 เปอร์เซ็นต์ มันจะดีได้มากขนาดไหนกัน แต่เมื่อลองเอามาคำนวนทางคณิตศาสตร์แล้ว กลับพบว่าการทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมวันละ 1 เปอร์เซ็นต์ เมื่อผ่านไป 1 ปี แล้วผลลัพธ์ที่ได้จะทบต้นทบดอกจนกลายเป็นว่าเพิ่มขึ้นถึง 37.78 เท่าทีเดียว

หลักการนี้ถูก เดฟ เบรลส์ฟอร์ด (Dave Brailsford) ผู้อำนวยการทีมแข่งจักรยานของประเทศอังกฤษนำมาปรับใช้ จากเดิมที่เคยรั้งท้ายในการแข่งขัน ตกอยู่ในสภาพที่ไม่ได้โดดเด่นต่อเนื่องยาวนานเป็น 100 ปี พอเอาหลักการปรับปรุงผลงานให้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อยมาใช้ สั่งสมไปเรื่อย ๆ เพียงแค่ 5 ปีพวกเขาก็สร้างผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ ได้ครองแชมป์ติดกันจนสร้างผลงานได้แบบถล่มทลาย ในช่วงระยะเวลา 10 ปี เป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ของวงการปั่นจักรยาน

สิ่งที่พวกเขาทำคือ ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องเป็นแชมป์ให้ได้ แต่สิ่งที่พวกเขาตั้งเป้าคือจะทำอย่างไรให้นักปั่นของเขาทำผลงานได้ดีขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ปรับแก้ทีละจุดทีละส่วน เมื่อเอาทุกส่วนมารวมกันเข้าก็คือหนทางสู่การเป็นแชมป์นั่นเองครับ นี่คือกลยุทธ์การตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริงในแต่ละวัน เพราะถ้ามัวแต่ตั้งเป้าว่าจะเป็นแชมป์ก็คงจะซ้อมกันไปเรื่อย ๆ แบบมหาโหด แต่พอเป้าหมายถูกซอยแบ่งย่อยให้เป็นไปได้จริง ก็ทำให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะทำมันไปทุกวัน จนกลายเป็นแชมป์ในที่สุด

ดังนั้นถ้าใครมีเป้าหมายใหญ่เรื่องใดในชีวิต ให้ตั้งเป้าหมายนั้นไว้เป็นเข็มทิศนำทาง แล้วมาโฟกัสที่การกระทำในแต่ละวันแทน เราตั้งเป้าหมายไว้ได้ แต่ต้องหันมาโฟกัสที่กระบวนการ ว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายปลายทางฝันที่ตั้งใจไว้ครับ

เหตุผลเบื้องหลังที่สำคัญของการตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง เพราะกว่าการกระทำจะเห็นผลได้ต้องใช้เวลาสั่งสมผลงานสักระยะ เหมือนกับคนที่อยากจะลดความอ้วน แล้วคาดหวังว่าออกกำลังกายแค่ไม่กี่ครั้งแล้วจะผอม หรือลดของหวานแค่ไม่กี่มื้อแล้วพุงจะยุบ จนใส่กางเกงไซส์เล็กลงไหว แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่มักทำไม่ได้อย่างใจหวัง เพราะการจะลดน้ำหนักได้นั้น ก็ต้องใช้การกระทำที่ทำจนเป็นนิสัยแล้ว ไปสั่งสมให้ไขมันละลายออกไปในที่สุด

หนังสือเล่มนี้ให้แง่คิดที่ดีตรงที่บอกว่า เป้าหมายมักทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะถ้าเราทำแล้วไม่เห็นผลลัพธ์ตามเป้า เราก็มักจะทุกข์แล้วก็ล้มเลิกไป ดังนั้นเราควรมาใส่ใจที่การกระทำเล็ก ๆ  น้อย ๆ ที่ทำแล้วเห็นผลลัพธ์ ที่จะค่อย ๆ พาเราไปสู่เป้าหมายแทน เช่น ถ้าคุณอยากเป็นนักเขียนหรือมีผลงานเป็นการออกหนังสือสักเล่ม สิ่งที่คุณต้องทำไม่ใช่การเขียนหนังสือหนึ่งเล่ม แต่เป็นการเขียนสะสมไปเรื่อย ๆ ทุกวัน วันละหน้า หรือวันละตอน จนกระทั่งรวบความออกมาได้เป็นหนังสือหนึ่งเล่ม

นิสัยเป็นตัวกำหนดความเป็นตัวตนของเรา ถ้าอยากเปลี่ยนนิสัยที่ไม่ดีของตัวเองให้ได้ สิ่งที่ต้องทำคือบ่งชี้ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหน ในสิ่งที่คุณอยากจะเป็น ตัวอย่างเช่น คุณลองหลับตาคิดถึงคนที่อยากเลิกสูบบุหรี่ 2 คน เมื่อมีคนยื่นบุหรี่ให้เขา คนที่หนึ่งพูดว่า “ไม่ล่ะ ขอบคุณ ผมพยายามจะเลิกสูบอยู่” แสดงว่าเขาเชื่อว่าตัวเองยังเป็นนักสูบบุหรี่อยู่ ส่วนคนที่ 2 พูดว่า “ไม่ล่ะ ขอบคุณ ผมไม่สูบบุหรี่” แสดงให้เห็นว่าเขาหลุดพ้นจากเป็นนักสูบบุหรี่แล้ว กระบวนการสร้างนิสัยคือค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็ก ทีละน้อย ทีละวัน ไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ทำให้คุณกำลังจะกลายไปเป็นคนในแบบที่ตัวเองต้องการ

กฎ 4 ข้อสร้างนิสัยที่ดีคือ 1. ทำให้เห็นชัดเจน 2. ทำให้น่าดึงดูด 3. ทำให้เป็นเรื่องง่าย 4. ทำให้น่าพอใจ

ถ้าอยากทำให้เห็นชัดเจน ต้องมีการสร้างสภาพแวดล้อม เช่น ถ้าอยากสร้างนิสัยอ่านหนังสือก่อนนอน ก็ให้คุณเพิ่มพฤติกรรม

จากเดิมคุณ ตื่นนอน ” เก็บที่นอน ” อาบน้ำ

เปลี่ยนใหม่เป็น ตื่นนอน ” เก็บที่นอน ” วางหนังสือไว้บนหมอนหนุน ” อาบน้ำ

เมื่อถึงเวลาเข้านอนคุณก็ต้องหยิบหนังสืออ่านอย่างเพลิดเพลินก่อนเข้านอน

สิ่งแวดล้อมเป็นมือที่มองไม่เห็น ที่สามารถกำหนดพฤติกรรมของเรา การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ การเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเป็นความลับของการควบคุมตนเอง

การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ ต้องทำให้น่าดึงดูด ยิ่งทำยิ่งน่าดึงดูดมากเท่าไหร่ ก็จะเกิดนิสัยนั้นมากขึ้น มีการให้รางวัลตัวเองที่น่าดึงดูดด้วยก็จะดีที่สุด ความคาดหวังในรางวัลที่จะได้รับ จะช่วยกระตุ้นให้เราลงมือทำ ให้ใช้เทคนิคการรวมสิ่งล่อใจเข้าไป โดยการเชื่อมโยงพฤติกรรมที่เราต้องทำกับสิ่งที่เราอยากทำ เช่นออกกำลังกาย 10 นาทีแล้วค่อยดูโทรทัศน์ เป็นต้น

ทำให้ง่าย แนวคิดนี้คือการทำให้กิจวัตรของคุณ เริ่มต้นง่ายที่สุดเท่าที่จะง่ายได้ ใคร ๆ ก็สามารถทำสมาธิเป็นเวลา 1 นาทีได้ หรืออ่านหนังสือ 1 หน้าได้ เมื่ออยากเริ่มต้นฝึกนิสัยใหม่ ควรจะใช้เวลาฝึกทำน้อยกว่า 2 นาที ซึ่งการใช้กฎ 2 นาทีนี้จะเป็นตัวอย่างเช่น จากการทบทวนความรู้ ก็ให้เปลี่ยนเป็น เปิดสมุดจดบทเรียน แทน เป็นต้น

ทำให้น่าพอใจ เรามีแนวโน้มจะทำพฤติกรรมเดิมซ้ำ ๆ ถ้าทำแล้วได้รับความพึงพอใจ ถ้าต้องการให้นิสัยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คุณต้องรู้สึกได้ถึงความสำเร็จในทันที แม้จะเล็กน้อยมากสักเพียงใดก็ตาม ตัวอย่างเช่น คุณอยากเลิกนิสัยซื้อของจุกจิก ก็ให้เปิดบัญชีขึ้นมาเล่มหนึ่ง แล้วเขียนกระดาษแปะในสิ่งที่ตัวเองต้องการไว้ ทุกครั้งที่คุณงดซื้อของที่ไม่จำเป็น ก็ให้โอนเงินเท่ากับราคาที่งดซื้อใส่ในบัญชี นั่นจะทำให้คุณรู้สึกดีกว่ามาก เมื่อเทียบกับความรู้สึกว่าตนเองถูกบีบคั้นไม่ให้ซื้อของไร้สาระ และคุณกำลังทำสิ่งที่พอใจโดยไม่ต้องเสียอะไรเลย

หนังสือ Atomic Habits เล่มนี้ ยังบอกถึงวิธีการแก้นิสัยที่ไม่ดีแบบง่าย ๆ ไว้อีกด้วย อันดับแรกคือให้เราทำรายการนิสัยทั้งหมด ที่ทำในแต่ละวันออกมา จากนั้นก็ดูว่าพฤติกรรมหรือนิสัยใดบ้าง ที่เราเห็นว่าไม่มีประโยชน์ควรแก้ไข เป็นวิธีค้นหาและแก้ไขสาเหตุของนิสัยที่ไม่ดี หลังจากทำรายการออกมาแล้ว และเลือกนิสัยที่จะแก้เสร็จ ก็มาถึง 4 ขั้นตอนของการลบนิสัยที่ไม่ดีออกจากตัวเอง โดยกลับกันจากกฎ 4 ข้อของการสร้างนิสัย ดังนี้ครับ

ทำให้มองไม่เห็น โดยการลดการมองเห็น หรือสัมผัสปัจจัยที่กระตุ้นนิสัยไม่ดี กำจัดปัจจัยเหล่านั้นออกจากสิ่งแวดล้อมของเรา เช่น ถ้าเห็นโทรทัศน์อยู่ในสายตา ก็คงยากที่จะห้ามใจไม่ให้ดูมันได้ ก็ต้องทำให้ไม่เห็นโดยเอาไปไว้ในห้องอื่น

ทำให้ไม่น่าดึงดูดใจ ให้ทำการผูกกิจกรรมที่เป็นการลงโทษและความเกลียดชัง ติดกับนิสัยที่ไม่ดีที่เราต้องการเลิก

ทำให้ยาก ก็ต้องทำให้การดูโทรทัศน์ยุ่งยากขึ้น โดยหลังจากดูโทรทัศน์แล้วให้ดึงปลั๊กออก และถอดถ่านรีโมตออกด้วย การที่ต้องเสียบปลั๊กและใส่ถ่านรีโมตจะทำให้รู้สึกว่ายุ่งยาก เลยทำให้ไม่อยากดู

ทำให้ไม่น่าพอใจ ปรับทัศนคติให้มองเห็นว่าไม่ดี เน้นประโยชน์ที่ได้จากการเลิกนิสัยไม่ดีโดยขอให้คนช่วยเตือนทุกครั้งที่ทำนิสัยไม่ดี และมีบทลงโทษที่ทำให้เกิดความรู้สึกเจ็บปวด

เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ตลอดกาล มีนิทานสอนใจของกรีกโบราณที่รู้จักกันว่าเป็น ปรัชญาภาษา หรือ Sorites Paradox โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับผลที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำอันเล็กน้อย ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนมากพอ กล่าวไว้ว่า เงิน 1 เหรียญสามารถทำให้ใครร่ำรวยขึ้นมาได้หรือไม่ แต่ถ้าหากเก็บสะสมไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่งคงต้องยอมรับว่า ไม่มีใครรวยได้ถ้าไม่เริ่มจากเงินเพียง 1 เหรียญ

เราสามารถอธิบายหลักการเช่นนี้กับนิสัยเล็ก ๆ ได้เหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพียงหนึ่งอย่าง จะเปลี่ยนแปลงชีวิตได้หรือไม่ ก็คงไม่ แต่ถ้าหากเปลี่ยนแปลงทีละเล็กทีละน้อยไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดหนึ่ง คงต้องยอมรับว่าชีวิตได้เปลี่ยนไปแล้ว จากการที่เราเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นอย่างแน่นอน เป้าหมายของการเปลี่ยนนิสัยไม่ใช่แค่การเปลี่ยน 1 เปอร์เซ็นต์เพียงครั้งเดียว  แต่เป็นการเปลี่ยนนับเป็นพัน ๆ ครั้ง และมันเป็นผลรวมของพฤติกรรมเล็ก ๆ ที่สะสมรวมกัน นิสัยแต่ละอย่างจึงเป็นรากฐานที่สำคัญของชีวิตเรา

ถ้าต้องการสร้างนิสัยใด ๆ ขึ้นมา ต้องเริ่มด้วยการทำซ้ำ ๆ ไม่ใช่การทำอย่างสมบูรณ์แบบ แต่ต้องฝึกฝนเท่านั้น จนกลายเป็นการกระทำโดยอัตโนมัติ ระยะเวลาไม่ได้ช่วยสร้างนิสัย ความถี่จำนวนครั้งที่แสดงพฤติกรรมออกมาต่างหาก สั่งสมความถี่การแสดงพฤติกรรม จนฝังลึกลงไปในจิตใจ การฝึกฝนไม่สำคัญว่านานแค่ไหน สิ่งสำคัญคือคุณลงมือทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพื่อให้ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ

พฤติกรรมมนุษย์เป็นไปตามกฎแห่งความพยายามน้อยที่สุด โดยธรรมชาติคนมีแนวโน้มจะเลือกทำสิ่งที่ต้องเหนื่อยน้อยที่สุด เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อให้พฤติกรรมที่ต้องการเกิดง่ายที่สุด เช่น ถ้าต้องการทำอาหารเช้าเพื่อสุขภาพ ให้จัดวางกระทะบนเตา วางเครื่องปรุงต่าง ๆ บนเคาน์เตอร์ เตรียมจานชามและอุปกรณ์ไว้ตั้งแต่ตอนกลางคืน เมื่อตื่นมาในตอนเช้าการทำอาหารก็เป็นเรื่องที่ง่ายมาก เป็นการลดอุปสรรคขัดขวางการมีพฤติกรรมที่ดี เมื่อทำได้ง่ายก็จะกลายเป็นนิสัยได้ง่าย ๆ เป็นการเตรียมสิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้พฤติกรรมที่ดีในอนาคตเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

การเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้นิสัยไม่ดีเกิดขึ้นได้ยาก ในบางครั้งความสำเร็จก็ใช่ว่าจะมาจากการทำให้นิสัยดีเกิดขึ้นได้ง่าย แต่มาจากการทำให้นิสัยไม่ดีเกิดขึ้นได้ยากกว่าที่เคย โดยการใช้แผนสร้างข้อผูกมัด เป็นทางเลือกหนึ่งที่คุณทำได้ เพื่อควบคุมพฤติกรรมบางอย่างที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นวิธีการล็อคไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ไม่ดี และบังคับตัวเองให้ทำแต่พฤติกรรมที่ดีแทน

กุญแจสำคัญคือการที่จะเปลี่ยนหรือล้มเลิกที่จะทำ ต้องมีความยุ่งยากมากกว่าการเริ่มต้นทำจึงจะดี แผนสร้างข้อผูกมัดนี้ ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้ทำพฤติกรรมที่ถูกต้องในอนาคต โดยการขัดขวางนิสัยไม่ดีในปัจจุบัน ทางที่ดีคือการทำบางอย่างเพียงครั้งเดียว แล้วนำไปสู่การมีนิสัยที่ดีขึ้นในระยะยาว เช่น อยากทำงานหรือทำอะไรแล้วได้ผลลัพธ์ดีขึ้น โดยการใช้เทคโนโลยีเพื่อจัดการอีเมลล์ที่ไม่จำเป็น ปิดเสียงเตือนในโทรศัพท์มือถือ ลบ App ที่ไม่จำเป็นต่อการใช้งานด้วย เป็นต้น

การเปลี่ยนพฤติกรรม เราไม่ได้กำลังค้นหาความพึงพอใจแบบไหนก็ได้ แต่เรากำลังหาความพึงพอใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ในทันทีต่างหากล่ะ นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เป็นความไม่สอดคล้องของกาลเวลา นั่นคือวิธีการที่สมองของคุณ ประเมินผลตอบแทนที่ไม่สอดคล้องกับเวลา เราให้คุณค่ากับสภาวะในปัจจุบันมากกว่าอนาคต ซึ่งโดยปกติแล้วถือว่ามนุษย์เราพึงพอใจเช่นนี้ ผลตอบแทนที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันขณะ มักมีคุณค่ามากกว่าผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่บางครั้งอคติที่เราเน้นเพียงความสุข ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้ามากกว่าความสุขในอนาคต ก็อาจทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน

การกระทำทุกอย่างนำไปสู่ผลลัพธ์มากมายตามกาลเวลา น่าเสียดายที่ผลลัพธ์เหล่านี้ มักจะถูกลำดับความสำคัญผิด นิสัยที่แย่มักให้ผลลัพธ์ที่ทำให้เรารู้สึกดีได้ในทันที แต่ให้ผลเสียในระยะยาว เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้นคือว่า อะไรทำให้สมองของเราสั่งการ ให้ทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ และหลีกเลี่ยงการทำพฤติกรรมบางอย่าง นั่นคือพฤติกรรมใดที่ให้รางวัลในทันทีเราจะทำซ้ำ พฤติกรรมใดที่ให้โทษในทันทีเราจะหลีกเลี่ยง

วิธีเปลี่ยนความสุขเฉพาะหน้าให้เป็นประโยชน์ สิ่งสำคัญในการฝึกนิสัยให้มีความต่อเนื่อง คือการรู้สึกรับรู้ได้ถึงความสำเร็จ แม้จะในเรื่องเล็กน้อยก็ตาม ความรู้สึกถึงความสำเร็จนี้ คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าความพยายามของคุณให้ผลตอบแทนแล้ว และสิ่งที่คุณทำนั้นคุ้มค่า ที่ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไป นิสัยใด ๆ ก็ตาม จำเป็นต้องเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เราชอบใจมากพอ เพื่อให้คงอยู่จนกลายเป็นนิสัยติดตัว การเสริมแรงเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจจะด้วยกลิ่นหอมของสบู่ ยาสีฟันรสมินต์ หรือการได้ออมเงินเพียงเล็กน้อยเข้าบัญชีเงินฝาก นั่นจะเป็นตัวช่วยสร้างความพอใจในทันที ซึ่งคุณจำเป็นต้องอาศัยมัน เพื่อให้คุณยังคงมีความสุขได้ ในช่วงเวลาฝึกฝนนิสัยนั้น ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นเรื่องง่าย

วิธีทำให้นิสัยที่ดียังคงอยู่กับเราในทุกวัน อาจใช้วิธีการติดตามผลของนิสัย ซึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ ที่วัดว่าคุณทำนิสัยนั้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ รูปแบบง่ายที่สุดมีคนจำนวนนับไม่ถ้วน ที่คอยติดตามพฤติกรรมของตัวเอง แต่บุคคลมีชื่อเสียงมากที่สุด ที่ทำเช่นนี้น่าจะเป็นเบนจามิน แฟรงคลิน ท่านเป็นหนึ่งในผู้สร้างชาติของสหรัฐอเมริกา เมื่ออายุ 20 ปี ท่านเริ่มพบสมุดโน๊ตเล่มเล็ก ๆ ไปด้วยทุกที่ และใช้มันสำหรับตรวจสอบตัวเอง ในเรื่องของคุณธรรมประจำใจ 13 ประการ ซึ่งรวมถึงการกำหนดเป้าหมายต่าง ๆ เช่น จงอย่าเสียเวลา จงใช้เวลาทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และจงหลีกเลี่ยงบทสนทนาที่ไร้สาระ เมื่อหมดวันแฟรงคลินจะเปิดสมุดโน๊ต และบันทึกพัฒนาการของตัวเอง

ซึ่งการติดตามดูผลของนิสัยนั้นช่วยให้  สร้างปัจจัยกระตุ้นที่มองเห็นได้ชัดเจน ที่สามารถเตือนเราให้ลงมือกระทำได้  เป็นแรงจูงใจอย่างแท้จริง เพราะคุณจะเห็นความก้าวหน้าในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ และไม่ต้องการที่จะเสียมันไป  คุณรู้สึกพอใจ เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเห็นความสำเร็จ ที่เกิดขึ้นเรื่อย ๆ จากสิ่งที่คุณทำ การติดตามดูนิสัยนั้นยังเห็นได้ชัดว่า คุณกำลังจะกลายเป็นคนในแบบที่คุณปรารถนา ซึ่งเป็นหลักฐานที่มาในรูปแบบของการที่คุณได้รับความสุข จากรางวัลเฉพาะหน้าและรางวัลที่คุณปรารถนาอย่างแท้จริง

แต่การติดตามก็แลกมาด้วยความรู้สึกว่า เป็นภาระที่บังคับคุณให้ต้องทำกิจวัตรอีกถึง 2 อย่างคือ กิจวัตรในการพยายามสร้างพฤติกรรมใหม่ ๆ และกิจวัตรในการติดตามดูพฤติกรรมใหม่นั้นด้วยครับ การติดตามกิจกรรมเพียงหนึ่งอย่าง แต่ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ย่อมดีกว่าติดตามกิจกรรม 10 อย่างเป็นระยะ ๆ การติดตามให้ทำการจดบันทึกผล การติดตามทันทีหลังจากทำพฤติกรรมนั้นเสร็จ พฤติกรรมที่ทำจนเสร็จสิ้น คือสิ่งที่ต้องเขียนลงไป

รู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะไม่ควรติดตามดูผลของนิสัย ข้อเสียของการติดตามพฤติกรรมบางอย่าง คือเราจะถูกผลักดันให้วัดผลเชิงปริมาณมากกว่าวัตถุประสงค์แท้จริงที่อยู่เบื้องหลัง เมื่อใดที่การวัดผลกลายเป็นเป้าหมาย มันเป็นจุดจบของการวัดผลที่ดี การวัดผลจะมีประโยชน์เมื่อใช้เป็นเพียงแนวทาง และช่วยเพิ่มบริบทในการเห็นภาพรวมที่กว้าง ไม่ใช่เพื่อมันครอบงำคุณ ในรูปที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เรามาให้คุณค่ากับตัวเลขมากเกินไป และมองข้ามคุณค่าของบางสิ่งที่ดูเหมือนไม่ยั่งยืน บอบบาง และยากที่จะประเมินคุณภาพ

เราเข้าใจผิดว่าเราวัดคุณค่าได้เฉพาะเพียงสิ่งที่เกิดขึ้น และมองเห็นเท่านั้น แต่เพียงเพราะคุณสามารถวัดค่าบางสิ่งได้ ไม่ได้หมายความว่านั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่สุด และเพียงเพราะคุณไม่สามารถวัดคุณค่าบางสิ่งได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นไม่สำคัญเลย ชัยชนะที่ไม่เกี่ยวกับน้ำหนัก จึงใช้ได้ดีสำหรับการลดน้ำหนัก ตัวเลขบนตาชั่งอาจเปลี่ยนได้ยาก ดังนั้นหากคุณจดจ่ออยู่กับตัวเลขนั้น แรงจูงใจของคุณก็จะลดลง แต่หากคุณสังเกตเห็นว่าผิวพรรณของคุณสดใส คุณตื่นเช้าหรือสมัครตามภาพร่างกายดีขึ้น ผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ถือว่ามีคุณค่ามากพอ ที่คุณจะคอยติดตามดูผล ถ้าคุณไม่รู้สึกว่าตัวเองได้รับแรงจูงใจจากตัวเลขน้ำหนักอีกต่อไป บางทีอาจถึงเวลาที่จะหันมาให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดที่ต่างออกไป ซึ่งจะส่งสัญญาณแสดงความก้าวหน้าของคุณได้มากกว่าตัววัดเดิม ๆ

มีแผนสำรองที่ดีรองรับไว้ด้วย ไม่ว่าคุณจะทำสิ่งใดจนเป็นนิสัย และทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอมานานแค่ไหนก็ตาม แต่ชีวิตย่อมถูกขัดจังหวะได้ ในบางครั้งความสมบูรณ์แบบนั้น เป็นไปไม่ได้หรอกครับ ในไม่ช้าไม่นานก็จะมีเรื่องฉุกเฉินบางอย่างแทรกเข้ามาในชีวิต เมื่อทำผิดพลาดไปจงอย่าทำผิดพลาดอีกเป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน การทำพลาดในครั้งแรกไม่ได้ทำร้ายคุณหรอก แต่มันจะเป็นวงจรของความพลาดซ้ำ ๆ ครั้งที่ตาม ๆ มาต่างหาก การพลาดในครั้งแรกเป็นอุบัติเหตุ แต่การพลาดครั้งต่อมาจะเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมใหม่ เมื่อใดคนที่ประสบความสำเร็จเจอเรื่องล้มเหลว เขาจะรีบลุกขึ้นใหม่ การทำผิดพลาดไม่มีผลอะไรเลย หากเราลุกขึ้นมาตั้งหลักใหม่อีกครั้งอย่างรวดเร็ว

ความจริงเรื่องพรสวรรค์ ความลับในการเพิ่มโอกาสความสำเร็จขั้นสูงสุดก็คือ การเลือกสนามการแข่งขันให้เหมาะสม ซึ่งเป็นความจริงสำหรับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่นเดียวกับในวงการแข่งกีฬาและการทำธุรกิจ คุณจะทำนิสัยอะไรได้ง่ายขึ้น และมีความสุขที่จะทำได้อย่างต่อเนื่องมากขึ้น  ถ้านิสัยหรือพฤติกรรมนั้นสอดคล้องกับธรรมชาติความเป็นตัวคุณ และตรงกับความสามารถของคุณ เช่นเดียวกันกับ ไมเคิล เฟ็ลปส์ ที่ใช้พรสวรรค์ของตัวเองเป็นนักกีฬาว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ หรือเอล เกอร์รูจ ซึ่งเป็นนักวิ่งก็ใช้พรสวรรค์ของเขาบนลู่วิ่งเช่นกัน คุณต้องอยู่ในเกมที่โอกาสเข้าข้างคุณ

แต่จุดแข็งของพันธุกรรมก็ถือว่าเป็นจุดอ่อนได้เช่นกัน พันธุกรรมไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย นั่นหมายความว่าพันธุกรรมทำให้เกิดข้อได้เปรียบอย่างมาก เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวย และเป็นจุดอ่อนอย่างร้ายแรง เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสม ถ้าคุณจะยัดลูกบาสเกตบอลลงห่วง การมีความสูง 7 ฟุตนั้นเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก แต่ถ้าคุณอยากเล่นยิมนาสติกการสูง 7 ฟุต จะกลับกลายเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่เลยทีเดียว สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดความเหมาะสมของพันธุกรรม และเป็นประโยชน์ของพรสวรรค์ที่เรามี

เมื่อสิ่งแวดล้อมรอบตัวเปลี่ยนไป คุณภาพจะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จนี่เป็นเรื่องจริง ไม่เพียงแต่กับลักษณะทางกายภาพเท่านั้น แต่ในด้านจิตใจด้วยเช่นกัน คนที่อยู่ในระดับบนสุดของการแข่งขันใด ๆ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขาถูกฝึกมาดี แต่คนเหล่านี้ยังมีความเหมาะสมอย่างมากด้วยเช่นกัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าถ้าคุณอยากจะยิ่งใหญ่ การเลือกที่ที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

ทำอย่างไรเราจะใช้โอกาสจากพันธุกรรมที่มี ให้ได้เต็มศักยภาพที่สุดได้นั้น พันธุกรรมของเราไม่ได้บอกว่าเราต้องเลิกทำงานหนัก พันธุกรรมแค่ช่วยทำให้ชัดเจนยิ่ง ว่าเราควรทุ่มเทพลังไปที่จุดไหน เมื่อเรารู้จุดแข็งของตัวเองดีพอแล้ว เราจะรู้ว่าควรใช้เวลาและพลังงานไปกับอะไร เราจะรู้ว่าโอกาสเป็นแบบไหนที่เราควรจะแสวงหา แล้วความเสี่ยงหรือความท้าทายใดที่ควรหลีกเลี่ยง ยิ่งเราเข้าใจธรรมชาติของตัวเองดีขึ้นเท่าไหร่ เราจะยิ่งมีหนทางมากขึ้นเท่านั้น พันธุกรรมไม่อาจทำให้คุณประสบความสำเร็จได้ ถ้าคุณไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง

จะรักษาความมุ่งมั่นตั้งใจได้อย่างไร เมื่อคุณเบื่อกับการต้องทำตามเป้าหมาย คนที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ นั้นเขาก็รู้สึกหมดแรงจูงใจได้เหมือนคนอื่น ๆ ความแตกต่างคือพวกเขายังคงพยายาม หาทางทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอทั้ง ๆ ที่รู้สึกเบื่อหน่าย ทุกคนก็จะต้องเผชิญกับความท้าทายทำนองเดียวกัน บนเส้นทางของการพัฒนาตัวเอง คุณจำเป็นต้องเผชิญกับความเบื่อหน่ายที่เกิดขึ้นระหว่างเส้นทางนั้น เราทุกคนมีเป้าหมายที่อยากจะทำให้สำเร็จ และมีความฝันที่อยากจะเติมเต็ม แต่ไม่ว่าคุณกำลังพยายามจะทำอะไรสักอย่างให้ดีขึ้นมากแค่ไหน แต่ถ้าคุณยังทำเฉพาะช่วงที่คุณสะดวก หรือรู้สึกตื่นเต้นที่จะทำแล้วล่ะ คุณก็จะไม่มีความต่อเนื่องสม่ำเสมอ พอที่จะทำให้ได้ผลลัพธ์อันน่าทึ่ง การฮึดลุกขึ้นสู้ในยามที่รู้สึกเบื่อหน่าย เจ็บปวด หรือไม่มีแรงจะทำ นั่นคือความแตกต่างระหว่างมืออาชีพกับมือสมัครเล่นครับ

เมื่อสิ่งใดก็ตามสำคัญต่อคุณอย่างแท้จริง คุณต้องมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกใด มืออาชีพจะลงมือทำแม้ไม่มีอารมณ์จะทำ และอาจไม่ได้รู้สึกสนุกหรือมีความสุขเลย แต่เขาจะหาสิ่งอื่นมาทดแทน ทางเดียวที่จะทำสิ่งที่ปรารถนาให้ดีเลิศ คือความหลงใหลที่จะทำสิ่งนั้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ทำอย่างนั้นต่อเนื่องครั้งแล้วครั้งเล่า และคุณต้องรู้จักตกหลุมรักความเบื่อหน่ายครับ

การได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ยังเป็นการช่วยให้เกิดพฤติกรรมที่คาดหวังในอนาคต ได้ง่ายกว่าการมีแค่ความตั้งใจในปัจจุบันว่าอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จัดการสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดนิสัยที่ดีได้ตามที่คาดหวัง แล้วยังเป็นการรับประกันว่า นิสัยดี ๆ นั้นจะเกิดขึ้นได้จริงและถาวร

การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ในวันนี้ของเรา ส่งผลสำคัญต่อชีวิตเราในอนาคตกว่าที่คิด ดังนั้นจงปล่อยวางเป้าหมายใหญ่ที่คุณได้ตั้งเอาไว้ แล้วให้ไปใส่ใจที่การกระทำย่อย ๆ หรือนิสัยเล็ก ๆ น้อย ๆ ในทุก ๆ วันหรือทุกชั่วโมงก็พอ ว่าเราทำแล้วมันจะพาไปในทิศทาง ไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่เราต้องการไหม ถ้าไม่ให้เปลี่ยน ถ้าใช่ก็ไปต่อ แล้วสุดท้ายเป้าหมายที่ต้องการ ก็จะมาถึงโดยที่คุณไม่รู้ตัว แล้วคุณจะรู้สึกในตอนนั้นว่าทำไมมันช่างง่ายจัง ทั้งที่ไม่ค่อยได้พยายามทำอะไรสักเท่าไหร่เลย แต่คนอื่น ๆ จะมองว่าคุณนี่ช่างสุดยอดไปเลยที่ทำเรื่องนี้ได้.

สั่งหนังสือ “Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น” (คลิ๊ก)