การวิเคราะห์การลงทุนในตราสารอนุพันธ์ [ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย]
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือของกลุ่มวิชาที่ 3: การวิเคราะห์หลักทรัพย์และการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนภายใต้หลักสูตร CISA ใหม่ระดับที่ 1 (หลักสูตรการวิเคราะห์และการจัดการลงทุนขั้นพื้นฐาน)
บทที่ 1 ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์
ตราสารอนุพันธ์ คือ สัญญาทางการเงินกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งในอนาคต (สินทรัพย์อ้างอิง) โดยกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายต่าง ๆ ให้คงที่ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา
ตราสารอนุพันธ์แบ่งออกเป็น
- ฟอร์เวิร์ด – ข้อตกลงในการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคต โดยกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายต่าง ๆ ให้คงที่ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา ซื้อขายกันเองนอกตลาด
- ฟิวเจอร์ส – คล้ายคลึงกับฟอร์เวิร์ด แต่ซื้อขายในตลาดที่เป็นทางการและเงื่อนไขสัญญาเป็นมาตรฐาน
- สวอป – ข้อตกลงระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่ายในการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดในอนาคต โดยกระแสเงินสดจะมีการอ้างอิงจากปัจจัยหรือตัวเลขดัชนีทางการเงิน
- ออปชัน – ตราสารอนุพันธ์ที่ผู้ขายให้สิทธิผู้ซื้อในการตัดสินใจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อสินทรัพย์อ้างอิงกับผู้ขายที่ราคาคงที่และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา
ประเภทสินทรัพย์อ้างอิงในตราสารอนุพันธ์
- สินค้าโภคภัณฑ์ – สินค้าหรือสินทรัพย์เพื่อการลงทุนประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการได้ ซึ่งแบ่งออกเป็น
- สินค้าอุปโภค – เหล็ก ทองคำ ถ่านหิน
- สินค้าบริโภค – ข้าวสาลี ขนแกะ ไข่ไก่
- สินทรัพย์และตัวเลขดัชนีทางการเงิน – ตราสารหรือหลักทรัพย์ทางการเงินที่สะท้อนถึงสิทธิเรียกร้องที่ผู้ถือตราสารมีต่อสินทรัพย์ของผู้ออกตราสาร
- ตราสารทุนและดัชนีราคาตลาดหุ้น
- ตราสารหนี้และอัตราดอกเบี้ย
- เงินตราต่างประเทศ
- อื่น ๆ – สถานะเครดิต สภาพอากาศ เป็นต้น
กลไกการทำงานของตราสารอนุพันธ์
ประเภทผู้ลงทุน
- ผู้ถัวความเสี่ยง – ปกป้องฐานะการเงินของตนให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิงลดลง
- นักเก็งกำไร – หวังทำกำไรจากตราสารหากราคาของสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่ได้พยากรณ์ไว้
- นักค้ากำไร – หาจังหวะที่ราคาของสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดสปอตไม่สอดคล้องกับราคาของสินทรัพย์อ้างอิงในตลาดอนุพันธ์เพื่อทำกำไร
ข้อพึงระวังจากการลงทุนในตราสารอนุพันธ์
- ความเสี่ยงที่เกิดจากอัตราทด – อัตราทดทำให้อัตราผลตอบแทนของการลงทุนตราสารอนุพันธ์สูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิงโดยตรง แต่ก็ทำให้ขาดทุนสูงยิ่งขึ้นเช่นกัน
- ความเสี่ยงที่เกิดจากการขาดสภาพคล่อง – สะท้อนถึงต้นทุนในการซื้อขายและความยากง่ายในการเปิดและปิดฐานะในสัญญา
- ความเสี่ยงที่เกิดจากการผิดนัดชำระของคู่สัญญา – การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในตลาดต่อรองโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมีความเสี่ยงจากการถูกคู่สัญญาผิดนัด เนื่องจากไม่มีองค์กรใดทำหน้าที่รับประกันการชำระราคา
- ความเสี่ยงที่เกิดจากการขาดแคลนสินทรัพย์ในอนาคต – สินค้าโภคภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบในการผลิต หากในอนาคตมีโอกาสขาดแคลน การถือครองสินค้าโดยตรงย่อมดีกว่าการมีฐานะซื้อล่วงหน้าบนสินค้าดังกล่าว
ภาพรวมเกี่ยวกับตลาดอนุพันธ์
ลักษณะตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์
- ตลาดตราสารอนุพันธ์ที่เป็นทางการ
- การซื้อขายนอกตลาด
โครงสร้างตลาดอนุพันธ์ในประเทศไทย
- บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน (TFEX) – ศูนย์กลางการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพของตลาดทุนไทยในระยะยาว
- ตลาดโอทีซี – การซื้อขายกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยไม่ผ่านตลาดที่จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางที่มีหน่วยงานกำกับดูแล
บทบาทและหน้าที่ของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
- สำนักงาน ก.ล.ต. – ออกกฎเกณฑ์และกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อกำกับดูแลผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน
- บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
- บริษัท สำนักหักบัญชี (ประเทศไทย) จำกัด – ศูนย์กลางการชำระราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ซื้อขายใน TFEX
- บริษัทสมาชิกตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและบริษัทสมาชิกหักบัญชี
- สมาชิกประเภทตัวแทน – สามารถซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้ทุกประเภทสินค้าในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าทั้งเพื่อตนเอง และรับคำสั่งซื้อขายเพื่อลูกค้า แต่ต้องได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.
- สมาชิกประเภทตัวแทนที่จำกัดเฉพาะสัญญาซื้อขายล่วงหน้า – สามารถซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับประเภทสินค้าหรือตัวแปรตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. โดยรับคำสั่งซื้อขายเพื่อตนเองและเพื่อลูกค้า
- สมาชิกประเภทผู้ค้า – สามารถซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อตนเองเท่านั้น
- ผู้ประกอบวิชาชีพ แบ่งออกเป็น 7 ประเภท
- ผู้จัดการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- ผู้แนะนำการลงทุนด้านสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- ผู้แนะนำการลงทุนด้านสินค้าเกษตร
- ผู้แนะนำการลงทุนในตราสารซับซ้อนประเภท 1
- ผู้แนะนำการลงทุนในตราสารซับซ้อนประเภท 3
- ผู้ลงทุนสถาบัน/ผู้ลงทุนทั่วไป/ผู้ลงทุนต่างประเทศ
- ผู้ดูแลสภาพคล่องการซื้อขาย – สร้างสภาพคล่องในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
บทที่ 2 ความรู้พื้นฐานและการประยุกต์ใช้สัญญาฟอร์เวิร์ด
สัญญาฟอร์เวิร์ด หมายถึง ข้อตกลงในการซื้อขายสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคต โดยกำหนดเงื่อนไขการซื้อขายต่าง ๆ ให้คงที่ตั้งแต่วันที่ทำสัญญา การชำระราคาจะเกิดขึ้น ณ เวลาในอนาคตตามที่ตกลงไว้ในสัญญา
ลักษณะและองค์ประกอบที่สำคัญของสัญญาฟอร์เวิร์ด
- วันที่ทำสัญญา
- ฐานะของสัญญา – ใครเป็นคู่สัญญาฝ่ายซื้อและใครเป็นคู่สัญญาฝ่ายขาย
- สินทรัพย์อ้างอิง – ประเภทและคุณสมบัติของสินทรัพย์อ้างอิงที่ซื้อขายภายใต้สัญญา
- ขนาดของสัญญา – จำนวนสินทรัพย์อ้างอิงที่ซื้อขายภายใต้สัญญา
- วันส่งมอบ – วันที่คู่สัญญาต้องชำระราคาในอนาคต
- ราคาซื้อขายล่วงหน้า – ราคาของสินทรัพย์อ้างอิงที่จะต้องชำระราคาในอนาคต
- มูลค่าที่ตราไว้ของสัญญา – จำนวนเงินที่ผู้มีฐานะซื้อล่วงหน้าต้องชำระแก่ผู้มีฐานะขายล่วงหน้าที่วันส่งมอบ
ผลตอบแทนของสัญญาฟอร์เวิร์ด
- หากราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตสูงกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ซื้อได้กำไร
- หากราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตต่ำกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ซื้อขาดทุน
สินทรัพย์อ้างอิงของสัญญาฟอร์เวิร์ดที่มีการซื้อขายกันในปัจจุบันครอบคลุมสินทรัพย์ที่แท้จริง สินทรัพย์ทางการเงิน รวมทั้งตัวเลขดัชนีทางการเงิน
กลไกการซื้อขายสัญญาฟอร์เวิร์ด
การเกิดขึ้นของธุรกรรมฟอร์เวิร์ด อาจเกิดจากลูกค้าของสถาบันขอให้สถาบันการเงินที่ทำธุรกิจเป็นตัวกลางค้าสัญญาฟอร์เวิร์ดเสนอราคาซื้อขายล่วงหน้า นอกจากนี้ ก่อนหน้าการทำซื้อขาย ลูกค้าจะต้องขอเปิดวงเงินซื้อขายกับตัวกลางก่อน โดยตัวกลางจะพิจารณาฐานะทางการเงินและมูลค่าหลักประกันของลูกค้า แล้วกำหนดวงเงินให้ลูกค้าสามารถซื้อขายสัญญาฟอร์เวิร์ดกับตัวกลาง
การชำระราคาของสัญญาฟอร์เวิร์ด แบ่งออกเป็น
- การส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิงจริง หรือ
- การหักชำระส่วนต่างราคาด้วยเงินสด
หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการยกเลิกสัญญาฟอร์เวิร์ดก่อนถึงวันส่งมอบก็สามารถทำได้ แต่ต้องได้รับความนิยมจากคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งก่อน
หากยินยอมให้ยกเลิกสัญญาก่อนถึงวันส่งมอบ คู่สัญญาต้องประเมินกำไรขาดทุนที่ได้รับจากการเปิดฐานะในสัญญามาถึงวันที่ยกเลิกสัญญา โดยคู่สัญญาฝ่ายที่ขาดทุนต้องชำระส่วนที่ขาดทุนให้แก่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
หากไม่ยิมยอมให้ยกเลิกสัญญาก่อนถึงวันส่งมอบ คู่สัญญาที่ต้องการยกเลิกสัญญาสามารถทำสัญญาหักล้างฐานะกับคู่สัญญาใหม่ เช่น หากคุณทำสัญญาซื้อฟอร์เวิร์ดไว้ คุณเพียงแค่ทำสัญญาขายกับคู่สัญญาใหม่ที่มีสินทรัพย์อ้างอิงและวันส่งมอบเดียวกับสัญญาแรก
การประยุกต์ใช้สัญญาฟอร์เวิร์ด
การเก็งกำไรจากทิศทางของราคา
- การเก็งกำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคา
- หากราคาในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้า คุณจะได้กำไร
- หากราคาในอนาคตปรับตัวลดต่ำกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้า คุณจะขาดทุน
- การเก็งกำไรจากการลดลงของราคา
- หากราคาในอนาคตปรับตัวลดต่ำกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้า คุณจะได้กำไร
- หากราคาในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้า คุณจะขาดทุน
ข้อได้เปรียบของการเก็งกำไรด้วยฟอร์เวิร์ดแทนการซื้อขายสินทรัพย์จริงในวันนี้
- การซื้อฟอร์เวิร์ดจะไม่มีเงินลงทุนจมไปในสินทรัพย์ (เพราะยังไม่มีการซื้อจริง) รวมถึงไม่มีต้นทุนและความเสี่ยงในการเก็บรักษา
- สัญญาฟอร์เวิร์ดทำให้นักลงทุนเก็งกำไรได้ทั้งราคาขาขึ้นและขาลงอย่างสะดวก
ข้อควรระวังในการใช้ฟอร์เวิร์ด
- ความเสี่ยงจากการถูกคู่สัญญาผิดนัด
- โอกาสของกำไรและขาดทุนจากราคาสินทรัพย์จะมีเสมือนกับการซื้อขายสินทรัพย์จริง (ถึงแม้ไม่มีเงินลงทุนไปจมในสินทรัพย์จริง)
- การยกเลิกฐานะในสัญญาก่อนถึงวันส่งมอบเป็นไปได้ยาก
การประกันความเสี่ยง
- การประกันความเสี่ยงด้วยการขายล่วงหน้า เหมาะกับ
- กิจการที่ต้องขายสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งในอนาคต หรือ
- กิจการที่ผลประกอบการจะถูกประเมินด้วยมูลค่าของสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งในอนาคต
- การประกันความเสี่ยงด้วยการซื้อล่วงหน้า เหมาะกับ
- กิจการที่ต้องซื้อสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งในอนาคต หรือ
- กิจการที่จะมีรายจ่ายขึ้นกับราคาของสินทรัพย์ชนิดใดชนิดหนึ่งในอนาคต
บทที่ 3 ความรู้พื้นฐานสัญญาฟิวเจอร์ส
ลักษณะและองค์ประกอบที่สำคัญของสัญญาฟิวเจอร์ส
- การมีศูนย์กลางการซื้อขาย – รวมศูนย์คำสั่งซื้อขายทั้งหมด ซึ่งแตกต่างตลาดโอทีซี ที่ผู้ทำธุรกรรมต้องเสาะหาคู่สัญญาที่ราคาดีที่สุดเอง
- ความเป็นมาตรฐานของสัญญา – กำหนดข้อกำหนดต่าง ๆ ของสัญญาไว้คงที่ ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถต่อรองได้เพียงราคาซื้อขายล่วงหน้าและจำนวนสัญญาเท่านั้น
- สภาพคล่อง – การรวมศูนย์การซื้อขายทำให้คำสั่งซื้อขายจำนวนมากมารวมศูนย์อยู่ที่เดียวกัน การจับคู่สัญญาจึงเป็นไปได้สะดวก มีต้นทุนการเสาะหาคู่สัญญาที่ต่ำ
- สำนักหักบัญชี – ทำหน้าที่รองรับการชำระราคาของผู้ซื้อผู้ขาย รวมทั้งทำหน้าที่ให้หลักประกันแก่ผู้ซื้อผู้ขายว่าจะไม่ถูกคู่สัญญาอีกด้านบิดพลิ้วไม่ปฏิบัติตามภาระผูกพันของสัญญา
ประเภทสัญญาฟิวเจอร์ส
- ฟิวเจอร์สบนตราสารทุน
- หุ้นรายตัว
- ดัชนีหุ้น
- ฟิวเจอร์สอัตราดอกเบี้ยและตราสารหนี้
- อัตราดอกเบี้ย
- ตราสารหนี้
- ตั๋วเงินจ่าย
- พันธบัตรรัฐบาล
- ฟิวเจอร์สบนเงินตราต่างประเทศ – ซื้อขายสกุลเงินหลักของโลก เช่น ยูโร ดอลลาร์สหรัฐ เยน ปอนด์สเตอร์ลิง เป็นต้น
- ฟิวเจอร์สบนโลหะมีค่า – ทองคำ โลหะเงิน แพลตินัม พาลลาเดียม เป็นต้น
- ฟิวเจอร์สบนสินค้าโภคภัณฑ์
- สินค้าอุปโภค – น้ำมัน โลหะและแร่ธาตุต่าง ๆ
- สินค้าบริโภค – สินค้าเกษตรและปศุสัตว์
กลไกการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ส
โครงสร้างตลาดฟิวเจอร์ส
- หน่วยงานกำกับดูแล
- ตลาดฟิวเจอร์ส – หน่วยงานที่ทำหน้าที่ออกแบบสัญญาฟิวเจอร์สแล้วนำเข้าตลาด กำหนดวิธีการซื้อขาย ดูแลระบบการซื้อขายและการจับคู่คำสั่ง
- สำนักหักบัญชี
- สมาชิกตลาด – ผู้ที่มีสิทธิซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์โดยตรงในตลาด
- ผู้ลงทุน
ขั้นตอนการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ส
- วางเงินประกันกับสมาชิกตลาด (โบรกเกอร์)
- ส่งคำสั่งซื้อ/ขายยังสมาชิกตลาด (โบรกเกอร์)
- โบรกเกอร์ส่งคำสั่งซื้อ/ขายยังตลาดฟิวเจอร์ส
- ตลาดฟิวเจอร์สจับคู่คำสั่ง
- ตลาดฟิวเจอร์สส่งคำสั่งที่จับคู่ได้ยังสำนักหักบัญชี
- สมาชิกตลาด (โบรกเกอร์) วางเงินประกันยังสำนักหักบัญชี
การวางเงินประกันและการปรับฐานะในสัญญาฟิวเจอร์ส
นักลงทุนต้องเปิดบัญชีมาร์จิ้นกับโบรกเกอร์และวางหลักประกันขั้นต้นก่อนการส่งคำสั่งซื้อขาย เมื่อคำสั่งถูกจับคู่แล้วโบรกเกอร์จึงวางเงินประกันต่อไปที่สำนักหักบัญชี
นอกจากนี้ โบรกเกอร์ยังกำหนดให้มีระดับเงินประกันรักษาสภาพ ซึ่งเป็นจำนวนเงินขั้นต่ำที่ต้องมีอยู่ในดุลบัญชีมาร์จิ้นของลูกค้าที่มีฐานะในสัญญาฟิวเจอร์ส ซึ่งต่ำกว่าเงินประกันขั้นต้นที่เก็บโดยโบรกเกอร์ แต่สูงกว่าเงินประกันขั้นต้นที่สำนักหักบัญชีคิดกับโบรกเกอร์
สัญญาฟิวเจอร์สมีการชำระราคารายวันและการปรับมูลค่าของหลักทรัพย์ตามราคาตลาดล่าสุด ซึ่งเท่ากับกำไรขาดทุนจากสัญญาฟิวเจอร์สจะถูกรับรู้ทุกสิ้นวันจนกว่าจะปิดฐานะ ซึ่งลดความเสี่ยงของสำนักหักบัญชีและโบรกเกอร์
การชำระราคาของสัญญาฟิวเจอร์ส แบ่งออกเป็น
- การส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิงจริง หรือ
- การหักชำระส่วนต่างราคาด้วยเงินสด
คู่สัญญาที่ต้องการยกเลิกสัญญาสามารถทำสัญญาหักล้างฐานะกับคู่สัญญาใหม่ เช่น หากคุณทำสัญญาซื้อฟิวเจอร์สไว้ คุณเพียงแค่ทำธุรกรรมขายสัญญาซีรีส์เดิม
ผลตอบแทนจากฐานะในฟิวเจอร์ส
- หากราคาสปอตของสินทรัพย์อ้างอิงในวันส่งมอบสูงกว่าราคาฟิวเจอร์สที่ตกลงกันไว้ ผู้ซื้อได้กำไร แต่ผู้ขายขาดทุนในจำนวนเดียวกัน
- หากราคาสปอตของสินทรัพย์อ้างอิงในวันส่งมอบต่ำกว่าราคาฟิวเจอร์สที่ตกลงกันไว้ ผู้ซื้อขาดทุน แต่ผู้ขายได้กำไรในจำนวนเดียวกัน
สัญญาฟิวเจอร์สมีความเสี่ยงจากการผิดนัดจากคู่สัญญาต่ำ เนื่องจากมีสำนักหักบัญชีมาแบกรับความเสี่ยงนี้แทน แต่ผู้มีฐานะในฟิวเจอร์สต้องเผชิญกับ
- ความเสี่ยงจากสภาพคล่องของสัญญา – หากสัญญาซีรีส์ที่ต้องการซื้อหรือขายมีปริมาณการซื้อขายเบาบาง ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถเปิดหรือปิดฐานะภายในระยะเวลาที่ต้องการ
- ความเสี่ยงจากสภาพคล่องของผู้ลงทุน – หากขาดทุนสะสมจนทำให้เงินประกันต่ำกว่าเงินประกันรักษาสภาพและผู้ลงทุนไม่สามารถวางเงินเพิ่มเติมได้ ฐานะจะถูกบังคับปิด
- ความเสี่ยงจากราคาตลาดติดเพดานการเปลี่ยนแปลงราคาสูงสุดต่อวัน – เมื่อราคายุติธรรมของสัญญาอยู่นอกขอบเขตการเคลื่อนไหวของราคา ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สได้
ความแตกต่างระหว่างฟอร์เวิร์ดและฟิวเจอร์ส
ฟอร์เวิร์ด | ฟิวเจอร์ส |
ต่อรองและซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย | ซื้อขายในตลาดที่จัดขึ้นอย่างเป็นทางการ |
ต่อรองเงื่อนไขต่าง ๆ ของสัญญาให้ตรงความต้องการ | ต่อรองได้เพียงแค่ราคาและจำนวนสัญญาเท่านั้น |
คู่สัญญาเดิมต้องตกลงกันใหม่ | การปิดฐานะคงค้างทำได้สะดวก เพราะซื้อขายเปลี่ยนมือสัญญาที่ยังไม่ครบกำหนดได้ |
ความเสี่ยงการผิดนัดของคู่สัญญาสูงกว่า | ความเสี่ยงการผิดนัดของคู่สัญญาต่ำกว่า |
บทที่ 4 การประเมินมูลค่าและการประยุกต์ใช้สัญญาฟิวเจอร์ส
การประเมินราคาซื้อขายล่วงหน้าด้วยแบบจำลองต้นทุนการถือครอง (Cost of Carry Model)
ทางเลือกที่ 1 ซื้อสินทรัพย์ในวันนี้ทันทีที่ราคาสปอต (S0) แล้วถือครองไว้เป็นเวลา T ปี
ทางเลือกที่ 2 ซื้อสัญญาฟิวเจอร์สอายุ T ปีที่อ้างอิงกับสินทรัพย์นั้นที่ราคาฟิวเจอร์ส (F0)
ต้นทุนของทางเลือกที่ 1: S0 (1+r)T
ต้นทุนของทางเลือกที่ 2: F0
ทางเลือกทั้งสองควรมีต้นทุนเท่ากัน ทำให้ F0 = S0 (1+r)T
การทำอาบิทราจในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- หาก F0 > S0 (1+r)T นักลงทุนสามารถทำกำไรด้วยธุรกรรมที่เรียกว่า Cash-and-carry Arbitrage ซึ่งเป็นการกู้เงินมาซื้อสินทรัพย์อ้างอิงในปัจจุบัน พร้อมกับทำสัญญาขายสินทรัพย์นั้นล่วงหน้า
- หาก F0 < S0 (1+r)T นักลงทุนสามารถทำกำไรด้วยธุรกรรมที่เรียกว่า Reverse Cash-and-carry Arbitrage ซึ่งเป็นการขายชอร์ตสินทรัพย์อ้างอิงในปัจจุบัน นำเงินที่ได้ไปฝากธนาคาร พร้อมกับทำสัญญาซื้อสินทรัพย์นั้นล่วงหน้า
ราคาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อมีต้นทุนในการเก็บรักษาสินทรัพย์อ้างอิง
ต้นทุนในการเก็บรักษาถือเป็นต้นทุนที่มีนัยสำคัญสำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ แต่ไม่เป็นต้นทุนสำคัญสำหรับสินทรัพย์ทางการเงิน
ต้นทุนของทางเลือกที่ 1: S0 (1+r)T + FV[SC]
ต้นทุนของทางเลือกที่ 2: F0
ทางเลือกทั้งสองควรมีต้นทุนเท่ากัน ทำให้ F0 = S0 (1+r)T + FV[SC]
ราคาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อมีรายได้จากการถือครองสินทรัพย์อ้างอิง
สินทรัพย์บางประเภทให้ประโยชน์แก่ผู้ถือครองในรูปของกระแสเงินสดระหว่างการถือครอง เช่น การถือครองหุ้นสามัญจะทำให้นักลงทุนมีโอกาสรับรายได้เป็นเงินปันผล
ต้นทุนของทางเลือกที่ 1: S0 (1+r)T + FV[SC] – FV[CF]
ต้นทุนของทางเลือกที่ 2: F0
ทางเลือกทั้งสองควรมีต้นทุนเท่ากัน ทำให้ F0 = S0 (1+r)T + FV[SC] – FV[CF]
ราคาซื้อขายล่วงหน้าเมื่อมีผลประโยชน์ที่ไม่เป็นตัวเงินการถือครองสินทรัพย์อ้างอิง
แบบจำลองต้นทุนการถือครองสามารถใช้ได้ดีกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าบนสินทรัพย์ทางการเงินและสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อการลงทุน เพราะสินค้าเหล่านี้สามารถเก็บรักษาได้โดยไม่เน่าเสียและมีตลาดสำหรับการกู้ยืมสินค้าเพื่อการขายชอร์ต
แต่สินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์บางชนิดจะมีความแตกต่าง เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าเพื่อการบริโภคและไม่มีตลาดสำหรับการกู้ยืมสินค้า การทำ Reverse Cash-and-carry Arbitrage จึงสามารถทำได้แต่เฉพาะผู้ที่มีสินค้าในครอบครองเท่านั้น
ต้นทุนของทางเลือกที่ 1: S0 (1+r)T + FV[SC] – FV[CF]
ต้นทุนของทางเลือกที่ 2: F0
ทางเลือกทั้งสองควรมีต้นทุนเท่ากัน ทำให้ F0 = S0 (1+r)T + FV[CY] – FV[SC] – FV[CF]
ความสัมพันธ์ระหว่างราคาซื้อขายล่วงหน้ากับอายุสัญญา
ราคาสปอตและราคาซื้อขายสินทรัพย์ล่วงหน้าของสินทรัพย์ชนิดหนึ่งอาจมีค่าต่างกัน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งความแตกต่างระหว่างราคาทั้งสองเรียกว่า “เบลิส”
ค่าเบลิสอาจมีค่ามากกว่า น้อยกว่าหรือเท่ากับศูนย์ก็ได้ อย่างไรก็ตาม เมื่ออายุสัญญาเหลือสั้นลงและวันส่งมอบใกล้เข้ามา ขนาดเบลิสจะมีแนวโน้มลดลงเมื่อวันส่งมอบของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าใกล้เข้ามา และราคาซื้อขายล่วงหน้าต้องเท่ากับราคาสปอตเมื่อถึงวันส่งมอบสัญญา
การเคลื่อนไหวของราคาสปอตและราคาซื้อขายล่วงหน้าที่เคลื่อนที่เข้าหากันเมื่ออายุสัญญาลดลงและมีค่าเท่ากันในวันส่งมอบเรียกว่า “การบรรจบกันของราคา”
ราคาซื้อขายล่วงหน้ากับอายุคงเหลือสัญญา
- ในภาวะที่ต้นทุนการถือครองสินค้ามีบทบาทอย่างมากต่อราคาซื้อขายล่วงหน้า (ซึ่งมักเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ที่ไม่มีผลประโยชน์ในการถือครอง) ทำให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าสูงกว่าราคาสปอต และราคาซื้อขายล่วงหน้าของสัญญาที่มีวันส่งมอบไกลสูงกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้าของสัญญาที่มีวันส่งมอบใกล้ ภาวะตลาดนี้เรียกว่า Normal Market
- ในภาวะที่ผลประโยชน์จากการถือครองสินทรัพย์มีบทบาทอย่างมากต่อราคาซื้อขายล่วงหน้า (ซึ่งมักเกิดขึ้นกับสินทรัพย์ที่มีผลประโยชน์ในการถือครองสูง) ทำให้ราคาซื้อขายล่วงหน้าต่ำกว่าราคาสปอต และราคาซื้อขายล่วงหน้าของสัญญาที่มีวันส่งมอบไกลต่ำกว่าราคาซื้อขายล่วงหน้าของสัญญาที่มีวันส่งมอบใกล้ ภาวะตลาดนี้เรียกว่า Inverted Market
ความสัมพันธ์ระหว่างราคาซื้อขายล่วงหน้ากับค่าความคาดหวังของราคาในอนาคต
แบบจำลองต้นทุนการถือครองไม่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างราคาปัจจุบันและราคาซื้อขายล่วงหน้าของสินค้าที่สามารถเกิดความเสียหายจากการจัดเก็บง่ายหรือมีต้นทุนธุรกรรมซื้อขายสูง
ในกรณีนี้จะใช้แนวคิดที่เรียกว่า The Expectation Hypothesis ซึ่งกล่าวว่า ราคาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าเกษตรสะท้อนค่าความคาดหมายของราคาสินค้านั้นในอนาคต
แต่แนวคิดนี้มีข้อจำกัดสองประการ
- ต้นทุนธุรกรรมในสองตลาด – ตราบเท่าที่ความแตกต่างของราคาต่ำกว่าต้นทุนธุรกรรม นักเก็งกำไรไม่มีแรงจูงใจเข้าตลาด
- ทัศนคติในการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง – หากส่วนต่างของราคาและค่าคาดหมายของราคาในอนาคตน้อยกว่าส่วนชดเชยความเสี่ยงที่ต้องการ นักเก็งกำไรก็ไม่เข้าตลาด
รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างราคาซื้อขายล่วงหน้าและค่าคาดหมายในอนาคต
- Normal Contango – ราคาซื้อขายล่วงหน้า > ค่าคาดหมายของราคาในอนาคต
- Normal Backwardation – ราคาซื้อขายล่วงหน้า < ค่าคาดหมายของราคาในอนาคต
ความไม่สมบูรณ์ของตลาดและขอบเขตยุติธรรม
ราคาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดและราคาซื้อขายล่วงหน้าตามทฤษฎีอาจมีต่างกันโดยไม่สามารถทำอาบิทราจได้ ทำให้ราคายุติธรรมของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจะมีค่าอยู่ในกรอบของราคา (Arbitrage Band) ถ้าราคาซื้อขายล่วงหน้ามีค่าอยู่ภายในเส้น Arbitrage Band จะไม่มีโอกาสทำอาบิทราจ
การประยุกต์ใช้สัญญาฟิวเจอร์สในการลงทุน
การซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สเพื่อเก็งกำไร
- การเก็งกำไรด้วยฐานะเดี่ยว – การเปิดสัญญาฟิวเจอร์สซีรีส์เดียวเพื่อเก็งกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาในอนาคต
- เปิดฐานะซื้อเมื่อคาดว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตจะสูงกว่าราคาซื้อล่วงหน้า หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ผู้ซื้อจะได้กำไร
- เปิดฐานะขายเมื่อคาดว่าราคาสินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตจะต่ำกว่าราคาซื้อล่วงหน้า หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ผู้ซื้อจะได้กำไร
- การเก็งกำไรด้วยฐานะสเปรด – การเปิดฐานะในสัญญาฟิวเจอร์สซีรีส์ต่างกันแต่มีความสัมพันธ์กันตั้งแต่ 2 ซีรีส์ขึ้นไปพร้อมกัน โดยทั่วไปจะเป็นการเปิดฐานะขายในฟิวเจอร์สซีรีส์หนึ่งและเปิดฐานะขายฟิวเจอร์สซีรีส์หนึ่งไปพร้อมกัน
การซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สเพื่อป้องกันความเสี่ยง
หลักการทั่วไปในการใช้สัญญาฟิวเจอร์สเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคา
- เปิดฐานะซื้อเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาด้านรายจ่าย
- เปิดฐานะขายเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากราคาด้านรายรับ
การเลือกใช้ฟิวเจอร์สหรือฟอร์เวิร์ดในการประกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อจำกัดของผู้ประกันความเสี่ยงว่า
- ต้องการสัญญาที่มีเงื่อนไขตรงตามลักษณะของส่วนเปิดความเสี่ยงของตนมากน้อยแค่ไหน ถ้าต้องการสัญญาที่เฉพาะเจาะจง ฟอร์เวิร์ดเหมาะสมกว่าฟิวเจอร์ส
- ต้องการรับสินทรัพย์อ้างอิงจริงหรือไม่ ถ้าใช่ ฟอร์เวิร์ดเหมาะสมกว่าฟิวเจอร์ส
- ต้องการสัญญาที่มีสภาพคล่องสูงและสามารถเปิดและปิดฐานะได้สะดวกและรวดเร็วหรือไม่ ถ้าใช่ ฟิวเจอร์เหมาะสมกว่าฟอร์เวิร์ด
- มีความกังวลด้านสภาพคล่องของกิจการระหว่างเปิดสัญญาหรือไม่ ถ้าใช่ ฟิวเจอร์เหมาะสมกว่าฟอร์เวิร์ด
ปัจจัยที่ต้องพิจารณาเมื่อเลือกใช้สัญญาฟิวเจอร์สเพื่อประกันความเสี่ยง
- สินทรัพย์อ้างอิงของสัญญาฟิวเจอร์ส
- เดือนส่งมอบของสัญญาฟิวเจอร์ส
- จำนวนของสัญญา
การซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์สเพื่อทำอาบิทราจ
- หาก F0 > ราคาทางทฤษฎี นักลงทุนสามารถทำกำไรด้วยธุรกรรมที่เรียกว่า Cash-and-carry Arbitrage ซึ่งเป็นการกู้เงินมาซื้อสินทรัพย์อ้างอิงในปัจจุบัน พร้อมกับทำสัญญาขายสินทรัพย์นั้นล่วงหน้า
- หาก F0 < ราคาทางทฤษฎี นักลงทุนสามารถทำกำไรด้วยธุรกรรมที่เรียกว่า Reverse Cash-and-carry Arbitrage ซึ่งเป็นการขายชอร์ตสินทรัพย์อ้างอิงในปัจจุบัน นำเงินที่ได้ไปฝากธนาคาร พร้อมกับทำสัญญาซื้อสินทรัพย์นั้นล่วงหน้า
บทที่ 5 ความรู้พื้นฐานสัญญาออปชัน
ออปชัน หมายถึง ตราสารอนุพันธ์ที่ผู้ขายให้สิทธิผู้ซื้อในการตัดสินใจที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ (คอลออปชัน) หรือขายหรือไม่ขาย (พุทออปชัน) สินทรัพย์ที่ระบุในสัญญาตามระยะเวลาและราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
ลักษณะและองค์ประกอบที่สำคัญของสัญญาออปชัน
- วันที่ทำสัญญา
- ด้านของสัญญา – ใครคือคู่สัญญาฝ่ายซื้อและใครคือคู่สัญญาฝ่ายขาย
- ประเภทของสิทธิ – คอลออปชัน (สิทธิในการซื้อ) และพุทออปชัน (สิทธิในการขาย)
- รายละเอียดของสินทรัพย์อ้างอิง
- ราคาใช้สิทธิ – ราคาซื้อ (คอลออปชัน) หรือขาย (พุทออปชัน) สินทรัพย์อ้างอิงในอนาคตที่มีการกำหนดคงที่ในสัญญา
- วันหมดอายุของสัญญา – วันสุดท้ายที่ผู้มีฐานะซื้อออปชันสามารถเลือกใช้สิทธิตามสัญญา
- ระยะเวลาการใช้สิทธิ – ช่วงเวลาสัญญาที่กำหนดให้ผู้มีฐานะซื้อออปชันเลือกใช้สิทธิได้
- ค่าซื้อสิทธิ (ออปชันพรีเมียม) – ราคาของสัญญาออปชันที่ผู้ซื้อต้องชำระให้แก่ผู้ขายออปชันในวันที่ซื้อสิทธิ
สิทธิและภาระผูกพันตามสัญญาออปชัน
ผู้มีฐานะซื้อออปชันมีสิทธิเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ แต่ผู้มีฐานะขายต้องปฏิบัติภาระผูกพันในสัญญาหากผู้มีฐานะซื้อเลือกใช้สิทธิ
- คอลออปชัน – หากราคาใช้สิทธิในอนาคตมากกว่าราคาใช้สิทธิที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ผู้ซื้อจะได้กำไร
- พุทออปชัน – หากราคาใช้สิทธิในอนาคตน้อยกว่าราคาใช้สิทธิที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ผู้ซื้อจะได้กำไร
สัญญาออปชันสามารถสิ้นสุดใน 3 กรณี
- ผู้ซื้อสัญญาออปชันใช้สิทธิในสัญญาออปชันก่อนสัญญาหมดอายุ
- สัญญาครบกำหนดอายุโดยไม่ถูกใช้สิทธิโดยผู้ซื้อสัญญาออปชัน
- คู่สัญญาตกลงยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดอายุ
ผลตอบแทนและความเสี่ยงจากฐานะในสัญญาออปชัน
- คอลออปชัน
- ฐานะซื้อ: กำไรไม่จำกัด แต่ขาดทุนจำกัดเพียงค่าพรีเมียม
- ฐานะขาย: กำไรจำกัดเพียงแค่ค่าพรีเมียม แต่ขาดทุนไม่จำกัด
- พุทออปชัน
- ฐานะซื้อ: กำไรเท่ากับราคาใช้สิทธิ – ค่าพรีเมียม แต่ขาดทุนจำกัดเพียงค่าพรีเมียม
- ฐานะขาย: กำไรจำกัดเพียงแค่ค่าพรีเมียม ขาดทุนจำกัดแค่ราคาใช้สิทธิ – ค่าพรีเมียม
เนื่องจากสัญญาออปชันเป็น Zero Sum Game ทำให้คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้กำไรในจำนวนที่เทียบเท่ากับผลขาดทุนของคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่ง
สัญญาออปชันใช้อัตราทดแบบเดียวกับฟอร์เวิร์ดและฟิวเจอร์ส ทำให้ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์อ้างอิง และทำกำไรมากกว่าหากคาดการณ์ถูกต้อง แต่หากคาดการณ์ผิดพลาด ผลขาดทุนอาจมากกว่าเงินลงทุนเริ่มต้น
ความแตกต่างของสัญญาออปชันกับสัญญาฟอร์เวิร์ด/ฟิวเจอร์ส
ฟอร์เวิร์ด/ฟิวเจอร์ส | ออปชัน |
ก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย | ก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ผู้ขาย แต่เป็นสิทธิของผู้ซื้อ |
ไม่มีค่าพรีเมียม | มีค่าพรีเมียม |
ประเภทของสัญญาออปชัน
แบ่งตามลักษณะของสิทธิ
- คอลออปชัน
- พุทออปชัน
แบ่งตามระยะเวลาที่ผู้ซื้อสามารถใช้สิทธิได้
- แบบยุโรป – ผู้มีฐานะซื้อเลือกใช้สิทธิ ณ วันหมดอายุของสัญญาเท่านั้น
- แบบอเมริกา – ผู้มีฐานะซื้อเลือกใช้สิทธิ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งก็ได้ก่อนที่สัญญาจะหมดอายุ
- แบบอเมริกาเทียม – ผู้มีฐานะซื้อเลือกใช้สิทธิได้เป็นช่วงของระยะเวลา เช่น สัญญาออปชัน 1 ปี อาจกำหนดให้ผู้ซื้อสามารถเลือกใช้สิทธิได้ทุกสัปดาห์สุดท้ายของทุกไตรมาสในระยะเวลา 1 ปี
แบ่งตามประเภทของสินทรัพย์อ้างอิง
- สินทรัพย์หรือดัชนีราคาของสินทรัพย์ทางการเงิน – ตราสารหนี้ เงินตราต่างประเทศ อัตราดอกเบี้ย
- สินค้าหรือดัชนีราคาของสินค้าโภคภัณฑ์ – สินค้าอุปโภค & สินค้าบริโภค
- สัญญาฟิวเจอร์ส – สัญญาฟิวเจอร์สของหุ้นสามัญเป็นสินทรัพย์อ้างอิง
กลไกการซื้อขายสัญญาออปชัน
ตลาดซื้อขายสัญญาออปชัน แบ่งออกเป็น
- ตลาดโอทีซี – เงื่อนไขของสัญญากำหนดตามความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย
- ตลาดทางการ – สัญญามาตรฐานที่กำหนดโดยผู้กำกับดูแลการซื้อขายหรือตลาด
การซื้อขายสัญญาออปชันในตลาด TFEX ไม่แตกต่างจากการซื้อขายสัญญาฟิวเจอร์ส
การชำระราคาและการส่งมอบ
- การทำธุรกรรมหักล้างฐานะ
- ออปชันหมดอายุ
- การใช้สิทธิในออปชันก่อนหมดอายุ (ในกรณีสัญญาออปชันแบบอเมริกา)
สถานะของสัญญาออปชัน
- สถานะที่ได้เปรียบ (In-the-money) – สถานะของสัญญาออปชันที่ผู้ซื้อจะได้กำไร (หากใช้สิทธิทันที)
- สถานะที่ไม่ได้และไม่เสียเปรียบ (At-the-money) – สถานะของสัญญาออปชันที่ผู้ซื้อไม่ได้กำไรแต่ก็ไม่ขาดทุน (หากใช้สิทธิทันที)
- สถานะที่เสียเปรียบ (Out-of-the-money) – สถานะของสัญญาออปชันที่ผู้ซื้อจะได้รับผลขาดทุน (หากใช้สิทธิทันที)
- สถานะ Near-the-money และ Nearest-the-money
- สถานะ Near-the-money – สัญญาออปชันซีรีส์ที่มีราคาใช้สิทธิใกล้เคียงกับราคาปัจจุบันของสินทรัพย์อ้างอิง ซึ่งอาจครอบคลุมมากกว่า 1 ราคาใช้สิทธิ
- สถานะ Nearest-the-money – สัญญาออปชันซีรีส์ที่มีราคาใช้สิทธิใกล้เคียงกับราคาปัจจุบันของสินทรัพย์อ้างอิงมากที่สุด
บทที่ 6 การประเมินมูลค่าและการประยุกต์ใช้สัญญาออปชัน
องค์ประกอบพื้นฐานของมูลค่าสัญญาออปชัน
มูลค่าของสัญญาออปชัน (ออปชันพรีเมียม) ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
- มูลค่าที่แท้จริง หมายถึง มูลค่าของสัญญาออปชันที่เกิดจากการใช้สิทธิในทันที ซึ่งขึ้นอยู่กับความแตกต่างระหว่างราคาใช้สิทธิและราคาของสินทรัพย์อ้างอิง ณ ขณะนั้น แต่เนื่องจากผู้ถือออปชันสามารถเลือกไม่ใช้สิทธิได้ หากการใช้สิทธิทำให้ขาดทุน มูลค่าขั้นต่ำของการใช้สิทธิเท่ากับศูนย์
- มูลค่าอันเกิดจากเวลา หมายถึง ส่วนต่างระหว่างราคาของสัญญาออปชันและมูลค่าที่แท้จริงของสัญญาออปชัน ณ ขณะนั้น
สถานะที่ไม่ได้และไม่เสียเปรียบและสถานะที่เสียเปรียบจะมีมูลค่าที่แท้จริง = 0 แต่มูลค่าอันเกิดจากเวลา > 0 หากยังไม่หมดอายุ ส่วนสถานะที่ได้เปรียบจะมีมูลค่าที่แท้จริง > 0 และมูลค่าอันเกิดจากเวลา > 0 หากยังไม่หมดอายุ
ปัจจัยกำหนดมูลค่าของสัญญาออปชัน
- ราคาปัจจุบันของสินทรัพย์อ้างอิง
- คอลออปชัน – เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิงเพิ่มขึ้น คอลออปชันจะอยู่ในสถานะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือมากขึ้น
- พุทออปชัน – เมื่อราคาสินทรัพย์อ้างอิงลดลง พุทออปชันจะอยู่ในสถานะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ถือมากขึ้น
- ราคาใช้สิทธิ
- คอลออปชัน – เมื่อราคาใช้สิทธิถูกกำหนดไว้ต่ำ คอลออปชันจะยิ่งมีประโยชน์ต่อผู้ซื้อ
- พุทออปชัน – เมื่อราคาใช้สิทธิถูกกำหนดไว้สูง พุทออปชันจะยิ่งมีประโยชน์ต่อผู้ซื้อ
- อายุคงเหลือของสัญญา – ทั้งพุทออปชันและคอลออปชันแบบอเมริกาและยุโรปต่างมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับระยะเวลาใช้สิทธิ
- ความผันผวนของราคาสินทรัพย์อ้างอิง
- คอลออปชัน – ยิ่งราคาอ้างอิงปรับตัวสูงมากขึ้นเท่าไหร่ คอลออปชันจะยิ่งมีประโยชน์ต่อผู้ซื้อมากขึ้นเท่านั้น
- พุทออปชัน – ยิ่งราคาอ้างอิงปรับตัวลดลงมากเท่าไหร่ พุทออปชันจะยิ่งมีประโยชน์ต่อผู้ซื้อ
- อัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง
- คอลออปชัน – ยิ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยงสูงมากเท่าไหร่ คอลออปชันจะยิ่งมีประโยชน์ต่อผู้ซื้อมากขึ้นเท่านั้น
- พุทออปชัน – ยิ่งอัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยงสูงมากเท่าไหร่ พุทออปชันจะยิ่งมีประโยชน์ต่อผู้ซื้อน้อยลงเท่านั้น
- ผลประโยชน์จากการถือครองสินทรัพย์อ้างอิง
- คอลออปชัน – ส่งผลกระทบทางลบ เพราะคอลออปชันไม่ได้รับผลประโยชน์ที่จ่ายให้แก่ผู้ถือครองสินทรัพย์อ้างอิง
- พุทออปชัน – ส่งผลกระทบทางบวก เพราะพุทออปชัน ทำให้นักลงทุนไม่จำเป็นขายสินทรัพย์ทันที จึงยังสามารถรับประโยชน์จากการถือครองสินทรัพย์
ขอบเขตราคาของสัญญาออปชันเมื่อหุ้นอ้างอิงไม่จ่ายเงินปันผล
ขอบเขตบนของราคาของคอลออปชันและพุทออปชัน (แบบยุโรปและอเมริกา)
- ราคาที่เหมาะสมของคอลออปชันต้องไม่เกินราคาปัจจุบันของสินทรัพย์อ้างอิง
ขอบเขตล่างของราคาของคอลออปชัน
- คอลออปชันแบบยุโรป: ราคาที่เหมาะสมต้องไม่ต่ำกว่าศูนย์และสูงกว่าราคาปัจจบันของสินทรัพย์อ้างอิงหักด้วยมูลค่าปัจจุบันของราคาใช้สิทธิ
- คอลออปชันแบบอเมริกา: ราคาที่เหมาะสมต้องไม่ต่ำกว่าคอลออปชันแบบยุโรปที่มีเงื่อนไขสัญญาเหมือนกันเสมอ
ขอบเขตล่างของราคาของพุทออปชัน
- พุทออปชันแบบยุโรป: ราคาที่เหมาะสมต้องไม่ต่ำกว่าศูนย์และสูงกว่ามูลค่าปัจจุบันของราคาใช้สิทธิหักด้วยราคาปัจจบันของสินทรัพย์อ้างอิง
- คอลออปชันแบบอเมริกา: ราคาที่เหมาะสมต้องไม่ต่ำกว่าศูนย์และต้องสูงกว่าราคาใช้สิทธิหักด้วยราคาปัจจุบันของสินทรัพย์อ้างอิง
เงื่อนไขเสมอภาคของพุทออปชันและคอลออปชันเมื่อหุ้นอ้างอิงไม่จ่ายเงินปันผล
เงื่อนไขเสมอภาคของพุทออปชันและคอลออปชันแบบยุโรป
- กลุ่มการลงทุนแบบ Protective Put: ซื้อหุ้นอ้างอิงและซื้อพุทออปชัน
- กลุ่มการลงทุนแบบ Fiduciary Call: ซื้อคอลออปชันและซื้อพันธบัตรแบบไม่จ่ายคูปองที่มีอายุไถ่ถอนเท่ากับอายุสัญญาออปชันและมีมูลค่าไถ่ถอนเท่ากับราคาใช้สิทธิของออปชัน
เงื่อนไขเสมอภาคของพุทออปชันและคอลออปชันแบบอเมริกา – แตกต่างจากแบบยุโรป เนื่องจาก
- พุทออปชันบนหุ้นที่ไม่จ่ายเงินปันผลมีโอกาสถูกใช้สิทธิก่อนหมดอายุได้
- คอลออปชันบนหุ้นที่ไม่จ่ายเงินปันผลไม่ควรถูกใช้สิทธิก่อนหมดอายุ
ขอบเขตราคาของสัญญาออปชันเมื่อหุ้นอ้างอิงจ่ายเงินปันผล
ขอบเขตบนของราคาของคอลออปชัน (แบบยุโรปและอเมริกา)
- เหมือนกับกรณีที่หุ้นอ้างอิงไม่จ่ายเงินปันผล
ขอบเขตบนของราคาพุทออปชัน
- พุทออปชันแบบยุโรป: มูลค่าปัจจุบันของราคาใช้สิทธิ + มูลค่าปัจจุบันของเงินปันผล
- พุทออปชันแบบอเมริกา: ราคาใช้สิทธิ + เงินปันผล
ขอบเขตล่างของราคาคอลออปชัน
- คอลออปชันแบบยุโรป: ราคาที่เหมาะสมต้องไม่ต่ำกว่าศูนย์และสูงกว่าราคาปัจจบันของสินทรัพย์อ้างอิง – มูลค่าปัจจุบันของเงินปันผล – มูลค่าปัจจุบันของราคาใช้สิทธิ
- คอลออปชันแบบอเมริกา: อยู่นอกเหนือหนังสือฉบับนี้
ขอบเขตล่างของราคาพุทออปชัน
- พุทออปชันแบบยุโรป: ราคาที่เหมาะสมต้องไม่ต่ำกว่าศูนย์และสูงกว่ามูลค่าปัจจุบันของเงินปันผล + มูลค่าปัจจุบันของราคาใช้สิทธิ – ราคาปัจจบันของสินทรัพย์อ้างอิง
- พุทออปชันแบบอเมริกา: อยู่นอกเหนือหนังสือฉบับนี้
เงื่อนไขเสมอภาคของพุทออปชันและคอลออปชันเมื่อหุ้นอ้างอิงไม่จ่ายเงินปันผล
เงื่อนไขเสมอภาคของพุทออปชันและคอลออปชันแบบยุโรป
- กลุ่มการลงทุนแบบ Protective Put: ซื้อหุ้นสามัญและซื้อพุทออปชัน
- กลุ่มการลงทุนแบบ Fiduciary Call: ซื้อคอลออปชันและซื้อพันธบัตรแบบไม่จ่ายคูปองที่มีอายุไถ่ถอนเท่ากับอายุสัญญาออปชันและมีมูลค่าไถ่ถอนเท่ากับมูลค่าปัจจุบันของราคาใช้สิทธิของออปชันและเงินปันผล
เงื่อนไขเสมอภาคของพุทออปชันและคอลออปชันแบบอเมริกา – ซับซ้อนกว่า และจะได้ความสัมพันธ์ออกมาเป็นช่วงของราคาเท่านั้น
แบบจำลองประเมินมูลค่าสัญญาออปชัน
แบบจำลองกำหนดราคาสัญญาออปชันแบบไบโนเมียล (BOPM) – ราคาสินทรัพย์อ้างอิงที่มีค่าเป็นไปได้ 2 ค่าในแต่ละคาบเวลาในอนาคต โดยค่าหนึ่งเป็นค่าที่สูงขึ้นและอีกค่าหนึ่งเป็นที่ค่าลดลงจากราคาในปัจจุบัน
แบบจำลองกำหนดราคาสัญญาออปชันแบบแบล็ค-โชลส์-เมอร์ตัน (BSMOPM) – ราคาสินทรัพย์อ้างอิงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องทางเวลา และการเปลี่ยนแปลงของราคาในอนาคตมีรูปแบบการแจกแจงความน่าจะเป็นแบบลอการิทึมแบบปกติ
การประยุกต์ใช้สัญญาออปชันในการลงทุน
การซื้อขายออปชันเพื่อเก็งกำไร
การเก็งกำไรด้วยกลยุทธ์การลงทุนแบบฐานะเดี่ยว
- ฐานะซื้อคอลออปชัน – เริ่มได้กำไรเมื่อราคาสปอตในขณะนั้น > ราคาใช้สิทธิ + ค่าพรีเมียม และกำไรสุทธิจะสูงขึ้นไปตามราคาของสินทรัพย์อ้างอิงที่สูงขึ้น แต่ขาดทุนไม่เกินค่าพรีเมียม
- ฐานะขายคอลออปชัน – เริ่มได้กำไรเมื่อราคาสปอตในขณะนั้น < ราคาใช้สิทธิ + ค่าพรีเมียม แต่กำไรสูงสุดไม่เกินค่าพรีเมียม แต่ขาดทุนที่เป็นไปได้ไม่จำกัด
- ฐานะซื้อพุทออปชัน – เริ่มได้กำไรเมื่อราคาสปอตในขณะนั้น < ราคาใช้สิทธิ + ค่าพรีเมียม และกำไรสุทธิจะสูงขึ้นไปตามราคาของสินทรัพย์อ้างอิงที่ลดลง แต่ขาดทุนไม่เกินค่าพรีเมียม
- ฐานะขายคอลออปชัน – เริ่มได้กำไรเมื่อราคาสปอตในขณะนั้น > ราคาใช้สิทธิ + ค่าพรีเมียม แต่กำไรสูงสุดไม่เกินค่าพรีเมียม แต่ขาดทุนเท่ากับราคาใช้สิทธิ – พุทพรีเมียม
การซื้อขายออปชันเพื่อถัวความเสี่ยงจากราคาตราสารทุน
การใช้สัญญาออปชันแบบพื้นฐาน หมายถึง การสร้างฐานะซื้อหรือขายในคอลออปชันหรือพุทออปชันเพียงฐานะเดียว เพื่อประกันความเสี่ยงจากราคาตราสารทุน ซึ่งแบ่งออกเป็น
- การถัวความเสี่ยงจากราคาขายตราสารทุนในอนาคต
การถัวความเสี่ยงจากราคาขายตราสารทุนด้วยการซื้อพุทออปชัน: กลยุทธ์การลงทุนที่ประกอบด้วยฐานะซื้อสินทรัพย์อ้างอิงและฐานะซื้อพุทออปชันบนสินทรัพย์อ้างอิงตัวเดียวกัน
- การถัวความเสี่ยงจากราคาซื้อตราสารทุนในอนาคต
การถัวความเสี่ยงจากราคาซื้อตราสารทุนด้วยฐานะซื้อคอลออปชัน
การซื้อขายสัญญาออปชันเพื่อทำอาบิทราจ เมื่อ
- ออปชันพรีเมียมมีค่าอยู่นอกขอบเขตราคาที่เหมาะสม
- ออปชันพรีเมียมมีค่าไม่สอดคล้องกับ Put-Call Parity
บทที่ 7 ความรู้พื้นฐานสัญญาสวอป
สัญญาสวอป – สัญญาที่คู่สัญญาตกลงแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดกันเป็นงวด ๆ ในอนาคตไปตลอดอายุของสัญญา โดยกระแสเงินสดหรือเงินงวดที่แลกเปลี่ยนกันจะถูกคำนวณขึ้นจากอัตราผลตอบแทนที่อ้างอิงกับตัวเลขดัชนีที่ต่างกันสำหรับคู่สัญญาแต่ละด้าน
ลักษณะและองค์ประกอบที่สำคัญของสัญญาสวอป
- ฐานะของสัญญา – ใครเป็นคู่สัญญาฝ่ายซื้อและใครเป็นคู่สัญญาฝ่ายขาย
- สินทรัพย์อ้างอิง – สินทรัพย์หรือตัวเลขดัชนีที่จะถูกนำมาใช้คำนวณอัตราผลตอบแทน และเงินงวดที่คู่สัญญาจะนำมาแลกเปลี่ยนกันในอนาคต
- ขนาดของสัญญา – จำนวนเงินต้นที่ตราไว้
- งวดการชำระราคา – ระยะเวลาหรือความถี่ที่คู่สัญญาแลกเปลี่ยนเงินงวดกันในอนาคต
- อายุสัญญา
- สวอปคูปอง – อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เป็นค่าคงที่ตลอดอายุสัญญา
การทำสัญญาสวอปจะทำให้เกิดพันธะผูกพันในอนาคตทั้งแก่ผู้ซื้อและผู้ขาย โดยต้องชำระเงินในอนาคตตามจำนวนและราคาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้า โดยจะมีการชำระราคาเป็นงวด ๆ ไปในอนาคต ไม่ว่าดัชนีอ้างอิงที่วันส่งมอบจะสูงหรือต่ำกว่าค่าที่ได้ตกลงไว้ก็ตาม
สัญญาสวอปจะสิ้นสุดลงเมื่อถึงวันครบกำหนดสัญญาหรือยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดก็ได้
ประเภทสัญญาสวอป
- อัตราดอกเบี้ย
- เงินตราต่างประเทศ
- ตราสารทุน
กลไกซื้อขายสัญญาสวอป
ตลาดสัญญาสวอปมีลักษณะเหมือนกันตลาดฟอร์เวิร์ดและตลาดออปชันที่ประกอบขึ้นด้วยตัวกลางค้าสัญญาสวอป ได้แก่
- ธนาคารพาณิชย์
- สถาบันการเงิน และ
- วาณิชธนากิจ
ตัวกลางที่กล่าวข้างต้นจะเป็นผู้เสนอราคาของสัญญาสวอป และพร้อมที่จะเป็นคู่สัญญาทั้งด้านซื้อและด้านขายตามราคาที่ตนเสนอกับลูกค้า โดยลูกค้าจะประกอบด้วย
- ผู้ที่ต้องการใช้สัญญาที่เป็นภาคธุรกิจที่ต้องการประกันความเสี่ยงจากราคาสินทรัพย์อ้างอิง หรือ
- นักลงทุนที่ต้องการเก็งกำไรจากราคาสินทรัพย์อ้างอิง
ผลตอบแทนของสัญญาสวอป
- ผลตอบแทนที่มาจากส่วนต่างมูลค่ากระแสเงินสดรับและจ่ายในแต่ละงวด
- ผลตอบแทนที่มาจากกำไรหรือขาดทุนในสัญญาเมื่อสัญญาถูกยกเลิกก่อนกำหนด
บทที่ 8 การประเมินมูลค่าและการประยุกต์ใช้สัญญาสวอป
การประเมินราคาของสัญญาสวอป หมายถึง การกำหนดอัตราคงที่ของกระแสเงินสดที่จะใช้ในการแลกเปลี่ยนกับกระแสเงินสดที่อ้างอิงกับอัตราลอยตัวในอนาคตสำหรับสัญญาสวอปที่จะตกลงกันในปัจจุบัน
การประเมินราคาของสัญญาสวอปแบบพื้นฐาน
สัญญาสวอปอัตราดอกเบี้ย – การคำนวณหาอัตราดอกเบี้ยคงที่ ซึ่งทำให้มูลค่าสุทธิของสัญญาเป็นศูนย์ในวันเริ่มต้นสัญญา ซึ่งคำนวณแต่ดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ย + เงินต้นก็ได้ ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่างกันมาก
สัญญาสวอปเงินตราต่างประเทศและสัญญาสวอปข้ามเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ย – ประเมินมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดรับและกระแสเงินสดจ่ายภายใต้โครงสร้างของอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ขณะที่ต้องการประเมินมูลค่า แต่เนื่องจากกระแสเงินสดดังกล่าวเป็นเงินคนละสกุลกัน ทำให้ต้องพิจารณาในเรื่องของการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง 2 สกุลเงินว่าจะอยู่ในรูปจำนวนเงินสกุลท้องถิ่นต่อ 1 หน่วยของเงินตราต่างประเทศหรือในทางกลับกัน
สัญญาสวอปตราสารทุน – คล้ายคลึงกับ
- สัญญาสวอปอัตราดอกเบี้ยที่เปรียบเสมือนกับการออกหุ้นกู้ที่จ่ายดอกเบี้ย และซื้อหุ้นกู้อีกฉบับหนึ่งที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว หรือ
- สัญญาสวอปเงินตราต่างประเทศที่เปรียบเสมือนกับการออกหุ้นกู้เป็นเงินสกุลหนึ่ง เพื่อแลกกับหุ้นกู้ที่เป็นอีกสกุลเงินหนึ่ง เป็นต้น
ความเสี่ยงด้านเครดิตของสัญญาสวอป แบ่งออกเป็น
- ความเสี่ยงของการถูกผิดนัดชำระราคาในปัจจุบัน – เกิดขึ้นเมื่อครบกำหนดชำระราคา แต่คู่สัญญาฝ่ายที่ต้องจ่ายกระแสเงินสดสุทธิกลับไม่มีเงินสดมาชำระราคา
- ความเสี่ยงของการถูกผิดนัดชำระราคาในอนาคต – สัญญายังไม่หมดอายุและคู่สัญญายังมีภาระต้องชำระราคากันอีกในอนาคต มีโอกาสที่คู่สัญญาด้านใดด้านหนึ่งจะไม่ศักยภาพในการชำระราคาในอนาคต
การประยุกต์ใช้สัญญาสวอป
สัญญาสวอปตราสารทุน – มีประโยชน์กับนักลงทุนสถาบันและหรือผู้จัดการลงทุนที่ต้องการปรับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุนของตนด้วยการสังเคราะห์ฐานะซื้อหรือมีฐานะขายตราสารทุนโดยไม่ต้องทำการซื้อขายตราสารทุนนั้นจริง
สัญญาสวอปอัตราดอกเบี้ย – สถาบันการเงินมักถ่ายโอนความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยไปสู่ผู้ที่เป็นลูกหนี้สถาบันการเงินโดยกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะกู้เงินจากสถาบันการเงินมีอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยของตลาด
สัญญาสวอปเงินตราต่างประเทศ – ใช้สัญญาสวอปเพื่อเปลี่ยนดอกเบี้ยจ่ายในเงินตราต่างประเทศให้เป็นเงินสกุลท้องถิ่น
บทความนี้เป็นแค่สรุปหนังสือ หากคุณต้องการอ่านฉบับเต็ม คุณสามารถสั่งซื้อที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์