หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือของกลุ่มวิชาที่ 3: การวิเคราะห์หลักทรัพย์และการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนภายใต้หลักสูตร CISA ใหม่ระดับที่ 1 (หลักสูตรการวิเคราะห์และการจัดการลงทุนขั้นพื้นฐาน)

บทที่ 1 ภาพรวมการบริหารกลุ่มหลักทรัพย์

กลุ่มหลักทรัพย์ หมายถึง การลงทุนในหลักทรัพย์มากกว่า 1 หลักทรัพย์ขึ้นไป เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีที่สุด และกระจายการลงทุนไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่งมากเกินไป

กลุ่มหลักทรัพย์ของแต่ละบุคคลจะประกอบด้วยหลักทรัพย์ประเภทใด และสัดส่วนการลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละประเภทจะเป็นเช่นใดนั้น ขึ้นอยู่กับ

  • อายุ
  • สถานภาพทางการเงิน
  • ระยะเวลาในการวางแผนใช้จ่ายเงิน
  • ระดับในการยอมรับความเสี่ยง และ
  • เป้าหมายในการลงทุน

แนวคิดกับผลตอบแทนจากการลงทุน

ผลตอบแทนคือ ผลประโยชน์ที่นักลงทุนปรารถนาที่จะได้รับจากการลงทุน โดยคาดหวังว่าผลประโยชน์ที่ได้รับนั้นจะทำให้เงินลงทุนเพิ่มพูนขึ้น และคุ้มค่ากับ

  1. การที่นักลงทุนยอมสูญเสียโอกาสที่จะนำเงินที่ตนเองมีอยู่ไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ (ต้นทุนค่าเสียโอกาส)
  2. อำนาจซื้อที่สูญเสียไป อันเนื่องจากระดับของราคาสินค้าในอนาคตสูงขึ้น (อัตราเงินเฟ้อ)
  3. พันธะผูกพันของเงินลงทุนตลอดช่วงระยะเวลาการลงทุน

การคำนวณหาอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังของหลักทรัพย์

Harry Markowitz กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ หรือกลุ่มหลักทรัพย์ใด ๆ จะไม่ทราบถึงผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงต้องทำการคาดการณ์ผลตอบแทนที่พึงได้รับภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ไว้ล่วงหน้า

แนวคิดเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนในหลักทรัพย์

ความเสี่ยง คือ ความไม่แน่นอนที่ทำให้ไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่ได้คาดหวังไว้ การลงทุนใดที่มีความไม่แน่นอนของผลตอบแทนสูง ย่อมมีความเสี่ยงสูง

 

Markowitz แบ่งความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนเป็น

  • ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ: ความเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละหลักทรัพย์ อันเกิดจากปัจจัยภายในของบริษัท โดยอาจรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเฉพาะในแต่ละกลุ่มธุรกิจหรืออุตสาหกรรม
  • ความเสี่ยงที่เป็นระบบ: ความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อทุกหลักทรัพย์ในตลาด เกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้

การวัดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในหลักทรัพย์

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจะมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับระดับของความไม่แน่นอนที่ผลตอบแทนพึงได้รับจากการลงทุนไม่เป็นไปตามที่คาดหวังได้ ดังนั้น จึงมีการนำค่าต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในการวัดความเสี่ยง เช่น

  • ค่าความแปรปรวน: การหาระดับความไม่แน่นอนของอัตราผลตอบแทนที่ได้รับจากการลงทุนว่าแตกต่างหรือเบี่ยงเบนไปจากที่คาดหวังเพียงใด
  • ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน: วัดค่าความเบี่ยงเบนหรือความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุน
  • Semi-variance: วัดเฉพาะความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางลบ หรือในกรณีที่อัตราผลตอบแทนที่ได้รับการลงทุนต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง
  • ค่าสัมประสิทธิ์ความแปรปรวน: เปรียบเทียบความเสี่ยงต่อ 1 หน่วยของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง

ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังและความเสี่ยง

โดยทั่วไป นักลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง แต่หากการลงทุนนั้นมีความเสี่ยง นักลงทุนจะพิจารณาดูว่า อัตราผลตอบแทนที่พึงได้รับนั้นคุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งในทางการเงินการลงทุนจะอนุมานว่าตราสารหนี้ระยะสั้นที่ออกโดยภาครัฐว่าเป็น ‘หลักทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยง’ 

หากนักลงทุนต้องเลือกลงทุน อัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่พึงได้รับจึงควรเท่ากับอัตราผลตอบแทนที่ปราศจากความเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนส่วนใหญ่ไม่นิยมลงทุนในหลักทรัพย์ใดหลักทรัพย์หนึ่ง เนื่องจากมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับการกระจายลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกกระจายการลงทุนใน

  • หลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน แต่ต่างบริษัทหรือต่างอุตสาหกรรมกัน
  • หลักทรัพย์ต่างประเภทกัน
  • หลักทรัพย์ต่างประเทศ

การกระจายการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์

  • การกระจายการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ตามแนวคิดเดิม: นักลงทุนพยายามกำหนดกลุ่มหลักทรัพย์ที่เหมาะสม โดยตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าต้องเป็นการสุ่มลงทุนในหลักทรัพย์จำนวนมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อที่จะลดความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์อยู่ในระดับต่ำที่สุด แม้ยังจะไม่ชัดเจนว่า ความเสี่ยงที่ต้องการลดจะเป็นความเสี่ยงในลักษณะใด
  • การกระจายการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ตามแนวคิดของ Markowitz: หากนักลงทุนกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งมีความสัมพันธ์ของอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในทิศทางตรงกันข้ามหรือไม่มีความสัมพันธ์กันเลย จะสามารถลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์นั้นลงได้

การลดความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์

การกระจายการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์จะช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะตัวของแต่ละหลักทรัพย์ (ความเสี่ยงที่ไม่เป็นระบบ) แต่ไม่ได้ลดความเสี่ยงที่เป็นระบบ

แนวคิดพื้นฐานและความสำคัญของการบริหารกลุ่มหลักทรัพย์

การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์ หมายถึง กระบวนการตัดสินใจจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ได้ผ่านการศึกษาและวิเคราะห์มาแล้ว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้รับอัตราผลตอบแทนตรงกับที่ได้คาดหวังไว้ และลดความเสี่ยงจากการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์

นอกจากนี้ การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์ยังช่วยให้เกิดความยืดหยุ่นในการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง โดยนักลงทุนสามารถติดตามผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ และสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้

กระบวนการในการบริหารกลุ่มหลักทรัพย์

  1. การกำหนดนโยบายการลงทุน
  2. การทดลองสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ขึ้นมาก่อนที่จะลงทุนจริง
  3. การตัดสินใจลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ตามสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม
  4. การติดตามและวัดผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ว่า เป็นไปตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดหรือไม่

บทที่ 2 การวิเคราะห์ผู้ลงทุน

ประเภทของผู้ลงทุน

  • ผู้ลงทุนบุคคล: ผู้ลงทุนรายย่อยที่ลงทุนซื้อหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เพื่อการลงทุนสำหรับตนเองหรือในบัญชีของตนเองเท่านั้น
  • ผู้ลงทุนสถาบัน: ผู้ลงทุนที่เป็นบริษัท องค์กรหรือนิติบุคคลที่ทำหน้าที่ลงทุนเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท องค์กรหรือนิติบุคคลหรือทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินระหว่างบุคคลและตลาดการเงิน

ข้อมูลของผู้ลงทุนและการวิเคราะห์ข้อมูล

ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ลงทุนบุคคล

ข้อมูลส่วนตัวของผู้ลงทุน

ข้อมูลเบื้องต้นที่จำเป็นต้องทราบ เพราะจะมีผลต่อการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน การสร้างและบริหารกลุ่มหลักทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วย 3 แนวทาง

  • การจัดทำข้อมูลส่วนตัวผู้ลงทุนบุคคลตามสถานการณ์: อาจพิจารณาจากแหล่งที่มาของความมั่งคั่ง การวัดความมั่งคั่งและช่วงอายุของผู้ลงทุนบุคคล เนื่องจากผู้ลงทุนแต่ละรายมีลักษณะเฉพาะ และอาจมีลักษณะที่ผสมผสานกันระหว่างลักษณะเฉพาะต่าง ๆ
  • การจัดทำข้อมูลส่วนตัวผู้ลงทุนบุคคลเชิงจิตวิทยา: เชื่อมความแตกต่างระหว่างการเงินแบบดั้งเดิมและการเงินเชิงพฤติกรรม
  • การจัดประเภทผู้ลงทุนบุคคลตามบุคลิกภาพ: แนวคิด Ballard, Biehl & Kaiser Five-Way Model จำแนกนักลงทุนออกเป็น 5 ประเภท
    • นักผจญภัย: เชื่อมั่นในตัวเองสูง ยอมรับกับความไม่แน่นอนของชีวิต ตัดสินใจหุนหันพลันแล่น ไม่ค่อยคิดให้รอบคอบ
    • ผู้มีความเป็นเอกเทศ: คล้ายกับนักผจญภัย แต่จะตัดสินใจอย่างรอบคอบ ระมัดระวังหลังจากมีดุลยพินิจอย่างรอบคอบแล้ว
    • ดาราผู้มีชื่อเสียง: มักวิตกกังวล ตามกระแส กลัวตกข่าว จึงมักตัดสินใจเร็วโดยไม่ระมัดระวัง
    • ผู้พิทักษ์: ระมัดระวัง รอบคอบ ค่อนข้างจู้จี้และวิตกกังวลมาก รู้ข้อจำกัดของตนเองและกลัวการตัดสินใจ
    • ผู้ที่อยู่คาบเส้น: ผู้ลงทุนที่ไม่อยู่ในประเภทใดประเภทหนึ่งข้างต้น แต่จะมีคุณลักษณะอยู่ตรงกลาง

นอกจากนี้แล้ว ยังมีข้อมูลสำคัญของผู้ลงทุนที่จำแนกออกเป็น

  • ข้อมูลเชิงคุณภาพ
      • ข้อมูลประวัติส่วนตัวและผู้อยู่ในอุปการะ
      • ช่วงอายุของผู้ลงทุน
      • ข้อมูลด้านการทำงาน
  • ข้อมูลเชิงปริมาณ
    • กลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนในปัจจุบัน
    • ข้อมูลการเงินส่วนบุคคล

วัตถุประสงค์ของการลงทุน

รูปแบบผลตอบแทนที่ต้องการสามารถนำมาสะท้อนถึงระดับความเต็มใจในการรับความเสี่ยงของผู้ลงทุนได้

ข้อจำกัดหรือเงื่อนไขการลงทุน

  • มูลค่าเงินลงทุน
  • อายุและสุขภาพ
  • ภาระผูกพันส่วนบุคคล
  • การศึกษาและประสบการณ์
  • สภาพคล่องและการมีตลาดรองรับหรือความสะดวกด้านการซื้อขาย
  • ระยะเวลาการลงทุน
  • ข้อพิจารณาทางด้านภาษี
  • กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการลงทุน

การประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุนนั้น จะต้องประเมินทั้งระดับความสามารถรับความเสี่ยงและระดับความเต็มใจรับความเสี่ยง

ความสามารถรับความเสี่ยง: การวิเคราะห์ว่าฐานะการเงินของผู้ลงทุนเหมาะสมที่จะรับความเสี่ยงได้ถึงระดับใด รู้ว่าต้องลงทุนนานแค่ไหนจึงจะเหมาะสม เข้าใจความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการลงทุนว่ามากน้อยเพียงใด และหากลงทุนไปแล้วเกิดข้อผิดพลาดจะยอมรับผลลัพธ์การสูญเสียนั้นได้แค่ไหน

ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินความสามารถรับความเสี่ยง ได้แก่

  • ช่วงอายุของผู้ลงทุน
  • สถานะทางการเงิน

ความเต็มใจรับความเสี่ยง: พฤติกรรมของผู้ลงทุนบุคคล โดยสามารถพิจารณาจากปัจจัยต่อไปนี้

  • ทัศนคติต่อความเสี่ยง
  • พฤติกรรมการลงทุนที่ผ่านมา

ในทางปฏิบัติ อาจใช้วิธีการประเมินจากแบบสอบถามเพื่อประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของผู้ลงทุน

ข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ลงทุนสถาบัน

ยกตัวอย่างกองทุนบำเหน็จบำนาญและมูลนิธิ

กองทุนบำเหน็จบำนาญ

กองทุนบำเหน็จบำนาญคือ กองทุนที่ลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความมั่งคั่งสำหรับการจ่ายค่าบำเหน็จบำนาญให้แก่พนักงานและลูกจ้างที่ทำงานครบตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนดไว้หรือเมื่อเกษียณอายุ โดยผลตอบแทนจากหลักทรัพย์ที่ลงทุนจะต้องสามารถรองรับการใช้จ่ายในอนาคตหลังเกษียณอายุ

กองทุนบำเหน็จบำนาญแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • กองทุนแบบกำหนดผลประโยชน์ (DB) และ
  • กองทุนแบบกำหนดเงินสมทบ (DC)

วัตถุประสงค์ด้านความเสี่ยง: ผู้บริหารต้องพิจารณาสถานะทางการเงิน ความสามารถในการทำกำไร ความเสี่ยงทั่วไปของบริษัทที่ดำเนินการจัดตั้งกองทุน ค่าสหสัมพันธ์ของผลการดำเนินงานของบริษัทที่ดำเนินการจัดตั้งกองทุนกับผลตอบแทนของสินทรัพย์บำนาญ คุณลักษณะของแผนและคุณลักษณะของสมาชิก ฯลฯ ที่มีผลต่อการยอมรับความเสี่ยง

เป้าหมายผลตอบแทน

แผน DB คือ ได้ผลตอบแทนที่เพียงพอสำหรับการจ่ายเงินบำนาญตามที่กำหนดกับสมาชิก

แผน DC ไม่ได้ระบุเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนของสมาชิก 

ความต้องการด้านสภาพคล่อง: จำนวนกระแสเงินสดสุทธิจากการจ่ายผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกลบด้วยเงินสมทบจากสมาชิกที่ทำงานในปัจจุบัน ถือเป็นข้อกำหนดด้านสภาพคล่องของแผนบำนาญ

ระยะเวลาในการลงทุน

แผน DB ขึ้นอยู่กับ

  • การคาดการณ์เกี่ยวกับกองทุนว่าจะคงอยู่ตลอดไปหรืออาจต้องยุติลง
  • อายุของสมาชิกและสัดส่วนของผู้ที่ยังไม่เกษียณ
  • เวลาเฉลี่ยของการเข้าสู่วัยเกษียณของแรงงาน
  • เวลาเฉลี่ยของอายุขัยของผู้เกษียณอายุ

ประเด็นพิจารณาด้านภาษี: รายได้จากการลงทุนและกำไรที่เกิดขึ้นจริงภายในกองทุนบำเหน็จบำนาญแบบกำหนดผลประโยชน์ทั่วไปจะได้รับการยกเว้นภาษี

ปัจจัยด้านกฎหมายและข้อบังคับ: กฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนของแผนการลงทุน + หลักการลงทุนอย่างมีจริยธรรม

มูลนิธิ

มูลนิธิ (ตามมาตรา 110 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์) หมายถึง ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษาหรือเพื่อสาธารณประโยชน์อื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกันและจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแล้ว และการจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

มูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 120 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์

วัตถุประสงค์ด้านความเสี่ยง: มูลนิธิสามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่า เพราะไม่มีภาระรายจ่ายที่ชัดเจน ดังนั้น นโยบายการลงทุนของมูลนิธิมีความยืดหยุ่น

เป้าหมายผลตอบแทน: มูลนิธิแต่ละแห่งมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายผลตอบแทนที่แตกต่างกันออกไป

ข้อกำหนดด้านสภาพคล่อง: ความต้องการด้านสภาพคล่องของมูลนิธิเป็นความต้องการเงินสด โดยทั่วไปจะมีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าซึ่งก็คืออัตราการใช้จ่ายของมูลนิธิที่ระบุไว้

ระยะเวลาการลงทุน: มูลนิธิส่วนบุคคลและมูลนิธิทั่วไปมักมีการดำเนินการแบบถาวร ดังนั้น จึงมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ในการรักษาเงินทุนหลังจากหักค่าใช้จ่าย

ปัจจัยด้านกฎหมายและข้อบังคับ: มูลนิธิอาจอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายและข้อบังคับทางกฎหมาย ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และมูลนิธิจะต้องทราบและเข้าใจกฎหมายและข้อบังคับของแต่ละประเภทมูลนิธิ ซึ่งอาจเป็นประเด็นหนึ่งที่สร้างข้อจำกัดในการลงทุน

บทที่ 3 การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน หมายถึง การแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนของนักลงทุนเพื่อจะนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ โดยนักลงทุนจะพิจารณาประเภทของสินทรัพย์ว่าจะลงทุนในสินทรัพย์ใดบ้าง และลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่าใด มีสัดส่วนการลงทุนอย่างไร

โดยทั่วไปแล้ว นักลงทุนแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนของตนไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ป้องกันการสูญหายของเงินลงทุนทั้งหมด โดยหากการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งขาดทุน นักลงทุนยังมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากประเภทอื่นมาชดเชย

เหตุผลที่นักลงทุนแต่ละคนควรมีนโยบายการลงทุนเพื่อเป็นตัวกำหนดทิศทางการลงทุนว่าจะลงทุนอย่างไรและใช้กลยุทธ์การลงทุนอย่างไร

นโยบายการลงทุนจะให้แนวทางในการลงทุนว่า ควรจะลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนประเภทใดบ้าง มีสัดส่วนเปอร์เซ็นต์การลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทเท่าใด ซึ่งเรียกว่า กระบวนการจัดสรรเงินทุนตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้

โดยทั่วไปแล้ว การสร้างนโยบายการลงทุนเพื่อเป็นกรอบสำหรับการกำหนดกลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนจะเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ 4 ประการ

  • สินทรัพย์ลงทุนประเภทใด ที่ควรนำมาพิจารณาสำหรับการลงทุน
  • นักลงทุนหรือผู้จัดการกองทุนควรใช้นโยบายใดที่จะจัดสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภท
  • จากสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในข้อก่อนหน้า ควรจะมีขอบเขตการจัดสรรเงินลงทุนในช่วงระหว่างกี่เปอร์เซ็นต์
  • หลักทรัพย์พิเศษชนิดใดที่ควรพิจารณาซื้อมาไว้ในกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน

ประเภทของสินทรัพย์ทางการเงิน

  1. ตราสารหนี้: สินทรัพย์ทางการเงินที่ผู้ถือมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ โดยรับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ย เมื่อครบกำหนดอายุจะได้รับเงินต้นคืน
  2. ตราสารทุน: สินทรัพย์ทางการเงินที่ผู้ถือมีฐานะเป็นเจ้าของ โดยรับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล ตราสารทุนมีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้
  3. ตราสารอนุพันธ์: สินทรัพย์ทางการเงินที่ใช้สำหรับการลงทุนและการป้องกันความเสี่ยง เป็นตราสารที่ตกลงซื้อขายในวันนี้ และส่งมอบสินทรัพย์อ้างอิงและชำระเงินในเวลาที่กำหนดในอนาคต
  4. หน่วยลงทุนของกองทุนรวม: สินทรัพย์ทางการเงินที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน เพื่อระดมเงินจากนักลงทุนมารวมกันไว้ในรูปแบบของกองทุนรวม และผู้จัดการกองทุนจะนำเงินนั้นไปลงทุนในตลาดการเงิน แล้วเฉลี่ยคืนผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในรูปของเงินปันผล
  5. สินทรัพย์ลงทุนทางเลือก

5.1 การลงทุนในต่างประเทศ: ลงทุนสินทรัพย์ทางการเงินในต่างประเทศ ประเภทผลตอบแทนที่ได้รับจะแตกต่างกันตามสินทรัพย์ทางการเงินต่างประเทศที่เลือกลงทุน

5.2 การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนทองคำ: ลงทุนในกองทุน ETF ทองคำ เช่น SPDR Gold Fund

5.3 การลงทุนที่มีความซับซ้อน: การลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ การลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด เป็นต้น

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนเชิงกลยุทธ์

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนเชิงกลยุทธ์เป็นแนวทางที่นำมาใช้สำหรับการพิจารณาการลงทุนในระยะยาว โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนประเภทต่าง ๆ 

การลงทุนลักษณะนี้จะดูแนวโน้มผลการดำเนินงานของตลาดทุนในระยะยาว ซึ่งนักลงทุนจะพิจารณาเลือกลงทุนผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยง ความแปรปรวนร่วมและแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคต

นักลงทุนหรือผู้จัดการกองทุนจะต้องพิจารณาว่า จะมีการปรับสัดส่วนการลงทุนเมื่อระยะเวลาผ่านไปนานเท่าใด เช่น ปรับทุก 1 เดือนหรือทุก 3 เดือน เป็นต้น

การปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาด

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนโดยใช้วิธีการปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาด หมายถึง การจัดสรรเงินลงทุนโดยปรับสัดส่วนการลงทุนตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา ทั้งช่วงภาวะตลาดรุ่งเรือง ภาวะตลาดปกติหรือภาวะตลาดถดถอย ซึ่งนับเป็นการปรับสัดส่วนการลงทุนในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ไม่ใช่การปรับการลงทุนระยะยาว

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสม

การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนที่เหมาะสม หมายถึง การที่นักลงทุนเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การจัดสินทรัพย์ลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนของตนเองที่เปลี่ยนแปลงไป

หากนักลงทุนมีความเห็นว่า เป้าหมายในการลงทุน ความพอใจในแง่ของอัตราผลตอบแทนและระดับความเสี่ยงมีแนวโน้มคงที่และมีเสถียรภาพ รวมทั้งคาดว่าสภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต นักลงทุนควรเลือกใช้วิธีการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนเชิงกลยุทธ์

หากนักลงทุนเชื่อว่า นักลงทุนสามารถคาดการณ์สภาวะตลาดลงทุนในระยะสั้นและต้องการหาผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนเชิงกลยุทธ์ ประกอบกับมีเครื่องมือการลงทุนที่เหมาะสมแลสามารถที่จะรับความเสี่ยงได้นั้น นักลงทุนควรใช้วิธีการลงทุนโดยการจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนตามสภาวะตลาด

บทที่ 4 การกำหนดกลยุทธ์และการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์

แนวคิดพื้นฐานของการกำหนดกลยุทธ์

ประการที่ 1: ผู้ลงทุนไม่เชื่อว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพ ราคาหลักทรัพย์ไม่ได้สะท้อนข้อมูลข่าวสารอย่างทันทีทันใด ทำให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ใช้กลยุทธ์การลงทุนด้วย ‘การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรุก’ เพื่อฉวยโอกาสทำกำไรก่อนที่ราคาหลักทรัพย์จะเคลื่อนไหวสะท้อนข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ

ประการที่ 2: ผู้ลงทุนเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ ราคาหลักทรัพย์สะท้อนข้อมูลข่าวสารอย่างทันทีทันใด นักลงทุนไม่สามารถฉวยโอกาสทำกำไรจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ ทำให้ผู้ลงทุนกลุ่มนี้ใช้กลยุทธ์การลงทุนด้วย ‘การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรับ’

แนวคิดพื้นฐานของการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์

  1. กลยุทธ์การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรุก

แนวคิด: ผู้ลงทุนเชื่อว่าตลาดไม่มีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์: ใช้วิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าและการจับจังหวะการลงทุนควบคู่กันไป

  1. กลยุทธ์การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรับ

แนวคิด: ผู้ลงทุนเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ

กลยุทธ์: ใช้วิธีการสร้างกองทุนดัชนี

ความสำคัญของการกำหนดกลยุทธ์และการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์

การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนเป็นการเลือกวิธีการที่จะนำหลักทรัพย์ต่าง ๆ มารวมในกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน โดยผู้ลงทุนจะใช้กลยุทธ์อย่างเป็นรูปธรรม มีกระบวนการวางแผนการลงทุนอย่างเป็นขั้นตอน ช่วยให้ผู้ลงทุนมีความชัดเจนเรื่องการลงทุนมากขึ้น

ขั้นตอนการวางแผนการลงทุนประกอบด้วย 2 ขั้นตอน

  1. การกำหนดวัตถุประสงค์ และพิจารณาความชอบส่วนบุคคล
  2. การสร้างนโยบายการลงทุน

การกำหนดกลยุทธ์พื้นฐานของการบริหารกลุ่มหลักทรัพย์

การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรุก

การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรุกใช้วิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าและการจับจังหวะการลงทุน

กลยุทธ์การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรุกโดยวิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์

การเลือกหลักทรัพย์ที่ดีคือ การเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งแนวทางการคัดเลือกหลักทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

  1. การลงทุนในหุ้นคุณค่า (VI) คือแนวทางการลงทุนที่เน้นการลงทุนในบริษัทที่ผู้ลงทุนเชื่อว่าราคาตลาดของหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งสามารถแบ่งตามวิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้ามาในกลุ่มหลักทรัพย์ 3 วิธี คือ
  • พิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงิน
  • แบบสวนทางกับตลาด
  • โดยมีส่วนร่วมในการบริหาร
  1. การลงทุนในหุ้นที่มีศักยภาพการเติบโตระดับสูง: ผู้ลงทุนจะมองหาการลงทุนในหุ้นของบริษัทซึ่งศักยภาพในการเติบโตของกำไรสุทธิของกิจการสูงกว่าตลาดคาดการณ์ ซึ่งเป็นกิจการที่ตลาดยังไม่ได้รับรู้ว่ากิจการนั้น ๆ จะสามารถสร้างผลกำไรที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ราคาตลาดของหุ้นจึงยังไม่ได้สะท้อนศักยภาพในการเติบโตที่กล่าวข้างต้น

แนวทางการคัดเลือกการลงทุนในหุ้นที่เน้นการเติบโตประกอบด้วย

  • คัดเลือกหุ้นที่มีการคาดการณ์การเติบโตของกำไรสุทธิอยู่ในระดับสูง
  • คัดเลือกหุ้นที่มี P/E สูง
  • คัดเลือกหุ้นที่มี P/E ในระดับสูงที่สอดคล้องกับอัตราการเติบโตโดยใช้ PEG Ratio

กลยุทธ์การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรุกโดยวิธีการจับจังหวะการลงทุน

  1. การจับจังหวะการลงทุนโดยใช้ข้อมูลปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ: ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ผู้ลงทุนมักให้ความสำคัญและใช้เป็นเครื่องมือการจับจังหวะเวลาการลงทุน ได้แก่
  • อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น
  • อัตราดอกเบี้ยระยะยาว
  • อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของตลาด
  • วัฏจักรเศรษฐกิจ
  1. การจับจังหวะการลงทุนตามแนวคิด Mean Reversion: ผู้ลงทุนจำนวนมากเชื่อว่าราคาหุ้นจะปรับตัวเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากที่ได้ปรับตัวสูงขึ้นหรือลดลงจากระดับปกติเป็นเวลานาน การวัดค่าปกติ นิยมใช้ค่า P/E ของตลาด
  2. การจับจังหวะการลงทุนโดยใช้ปัจจัยเทคนิค: การวิเคราะห์หลักทรัพย์เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมหรือรูปแบบของราคา และปริมาณซื้อขายหลักทรัพย์ โดยใช้ข้อมูลในอดีต เพื่อคาดการณ์ในอนาคตว่าแนวโน้มของราคาจะเป็นอย่างไร โดยมีสมมติฐานว่าราคาหลักทรัพย์จะเคลื่อนไหวอย่างมีระบบและเป็นรูปแบบ
  3. การจับจังหวะด้วยการปรับเปลี่ยนสไตล์การลงทุน: การจับจังหวะการลงทุนตามขนาดกิจการ กล่าวคือ กลยุทธ์การลงทุนในหุ้นขนาดเล็กที่มีอัตราการเติบโตระดับสูง จะให้ผลตอบแทนสูงกว่ากลยุทธ์หุ้นคุณค่าในช่วงที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
  4. กลยุทธ์การสับเปลี่ยนกลุ่มการลงทุน: การสับเปลี่ยนการลงทุนในภาคธุรกิจแต่ละประเภท จะใช้การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอนาคตเป็นตัวกำหนด ซึ่งใช้ในกรณีที่ผู้ลงทุนเชื่อว่าตลาดจะปรับตัวลดลง แต่ผู้ลงทุนไม่กล้าขายหุ้นทั้งหมดหรือจำเป็นต้องถือหุ้นตลอดเวลา

การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรับ

การบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เชิงรับใช้วิธีการสร้างกองทุนดัชนี ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบ

  1. การสร้างกองทุนดัชนีชนิดเต็มรูปแบบ: การสร้างกลุ่มหลักทรัพย์หรือกองทุนรวมที่มีนโยบายการบริหารให้ได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนี โดยไม่มีนโยบายที่จะบริหารกองทุนให้ได้สูงหรือต่ำกว่าดัชนี
  2. การสร้างกองทุนดัชนีแบบย่อ: เนื่องจากการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์แบบเต็มรูปแบบมีความยุ่งยากในทางปฏิบัติ ทำให้มีการสร้างกองทุนดัชนีแบบย่อ โดยอาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ด้วยวิธีการปันส่วนเงินลงทุน
  3. การสร้างกองทุนดัชนีโดยใช้แบบจำลองทางสถิติ: การใช้ข้อมูลในอดีตของหลักทรัพย์ที่ประกอบกันเข้าเป็นดัชนีมาตรฐานเปรียบเทียบ เพื่อสร้างแบบจำลองที่ใช้ในการคัดเลือกหลักทรัพย์ โดยมีวัตถุประสงค์การทำแบบจำลองเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สอดคล้องและใกล้เคียงกับผลตอบแทนของดัชนีมาตรฐานเปรียบเทียบให้มากที่สุด

การออกแบบกลุ่มหลักทรัพย์

แนวทางการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์ที่เหมาะสม

3 ปัจจัยหลักที่ควรนำมาพิจารณาก่อนการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์การลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์

  • อัตราผลตอบแทนจากการลงทุน
  • ความเสี่ยงจากการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์
  • ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าธรรมเนียม ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

หลักการคัดเลือกหลักทรัพย์เข้ากลุ่มหลักทรัพย์

การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน

  1. การวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ: จำเป็นและสำคัญต่อการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทางด้านเศรษฐกิจอาจส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ ข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ควรนำมาวิเคราะห์คือ
  • ภาวะเศรษฐกิจโลก
  • ตัวชี้ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ ได้แก่
    • ผลิตภัณฑ์ประชาชาติ
    • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
    • ผลผลิตอุตสาหกรรม
    • ดัชนีราคาผู้บริโภค
    • ดัชนีราคาผู้ผลิต
    • อัตราการว่างงาน
    • อัตราดอกเบี้ยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
    • ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน
  • นโยบายของรัฐ
    • นโยบายการคลัง
    • นโยบายการเงิน
  1. การวิเคราะห์ด้านการเมือง: การวิเคราะห์ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงด้านการเมือง และการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ ทำให้ราคาสูงขึ้นหรือต่ำลงได้ 

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อาจกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์

  • การเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง
  • การเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล ตลอดจนคณะรัฐมนตรี
  • ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล
  • การเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล
  • การที่รัฐบาลให้การสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
  1. การวิเคราะห์อุตสาหกรรม: การวิเคราะห์การแข่งขันในอุตสาหกรรม รวมถึงการวิเคราะห์โอกาสในการดำเนินธุรกิจของกลุ่มอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งประกอบด้วยการวิเคราะห์ 4 ส่วน ดังนี้

3.1 ความสัมพันธ์ระหว่างวัฏจักรเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม: การจำแนกประเภทอุตสาหกรรมตามลักษณะของการเปลี่ยนแปลงภาวะเศรษฐกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  • อุตสาหกรรมที่เติบโตสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ
  • อุตสาหกรรมที่เติบโตในระดับเดียวกับการเติบโตของเศรษฐกิจ
  • อุตสาหกรรมที่ไม่ตกต่ำตามภาวะเศรษฐกิจ

3.2 การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจและการเลือกอุตสาหกรรม ได้แก่

  • ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์: การเปลี่ยนแปลงจำนวนประชากรที่กระทบต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ
  • ปัจจัยด้านวิถีการดำเนินชีวิต: วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงย่อยมีผลกระทบต่อการเติบโตของธุรกิจ
  • ปัจจัยด้านเทคโนโลยี: การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีจะส่งผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ
  • ปัจจัยด้านการเมืองและเศรษฐกิจ: การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบ กฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

3.3 การประเมินวัฏจักรของอุตสาหกรรม

ขั้นลักษณะการแข่งขันยอดขายกำไรตัวอย่างอุตสาหกรรม
บุกเบิกหรือแนะนำตลาดใช้เวลาปรับปรุงผลิตภัณฑ์คู่แข่งขันมีน้อยรายเติบโตค่อนข้างช้าค่อนข้างต่ำพันธุวิศวกรรม

นาโนเทคโลยี

ขยายตัวหรือเติบโตผลิตภัณฑ์ใหม่เริ่มเป็นที่ยอมรับคู่แข่งขันเริ่มเข้ามาในตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วสูงมากขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยลดลงไมโครคอมพิวเตอร์

มือถือ

เติบโตเต็มที่/คงตัวมีการขยายกิจการไปมากการแข่งขันสูงเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงมีแนวโน้มลดลงอาหารและเครื่องดื่ม
ถดถอยเริ่มมีผลิตภัณฑ์อื่นเข้ามาทดแทนการแข่งขันสูงต่ำลงเรื่อย ๆลดลงโทรทัศน์อนาล็อก

เครื่องแฟกซ์

3.4 การวิเคราะห์การแข่งขันในอุตสาหกรรม

ก่อนการวิเคราะห์แข่งขันในอุตสาหกรรม ผู้วิเคราะห์ต้องทราบโครงสร้างการแข่งขันในอุตสาหกรรม

ประเภทการแข่งขันจำนวนผู้ผลิตความแแตกต่างของผลิตภัณฑ์ตัวอย่างสินค้า
การแข่งขันสมบูรณ์แบบมากราย การแข่งขันสูงมากสินค้าเหมือนกันสินค้าเกษตร
การแข่งขันกึ่งสมบูรณ์มากรายสินค้าแตกต่างด้านภาพลักษณ์ ใช้การโฆษณาเน้นตรายี่ห้อน้ำอัดลม อาหารกระป๋อง ห้างสรรพสินค้า
ผู้ผลิตน้อยรายน้อยราย

ใช้เงินลงทุนมาก

สินค้าเหมือนกัน ผู้ผลิตรายใหญ่เป็นผู้นำด้านราคาปูนซีเมนต์ เหล็ก
การผูกขาดรายเดียว/รัฐเข้ามากำกับสินค้าแบบเดียว ไม่มีสินค้าทดแทนได้ไฟฟ้า ประปา

 

เมื่อเข้าใจประเภทการแข่งขันของอุตสาหกรรมแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการวิเคราะห์กลยุทธ์การแข่งขันตามแนวทางของ Michael E. Porter โดยวิเคราะห์ปัจจัยที่กำหนดสถานการณ์การแข่งขันของกิจการในอุตสาหกรรม 5 ปัจจัย ได้แก่

  • การแข่งขันระหว่างคู่แข่งขันที่มีอยู่ในปัจจุบัน
  • อุปสรรคต่อการเข้ามาของคู่แข่งขันรายใหม่
  • แรงกดดันจากสินค้าทดแทน
  • อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ
  • อำนาจต่อรองของผู้ขาย
  1. การวิเคราะห์บริษัท

ก่อนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณ ผู้วิเคราะห์ทราบลักษณะของกิจการ

  • กิจการและหุ้นที่มีการเติบโตสูง
  • กิจการและหุ้นที่ไม่ตกต่ำตามสภาวะเศรษฐกิจ
  • กิจการและหุ้นที่มีความผันผวนสูง
  • กิจการและหุ้นเพื่อการเก็งกำไร

เมื่อจำแนกประเภทหุ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ

  1. การวิเคราะห์บริษัทเชิงคุณภาพ หมายถึง การวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นข้อความในลักษณะเชิงบรรยายที่เกี่ยวข้องกับบริษัท แหล่งข้อมูลสำคัญ ได้แก่ รายงานประจำปีของบริษัทหรือข้อมูลที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ ข้อควรระวัง บริษัทอาจให้ข้อมูลเชิงโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์เกินจริง
  2. การวิเคราะห์บริษัทเชิงปริมาณ หมายถึง การวิเคราะห์ข้อมูลที่วัดได้เป็นตัวเลข ซึ่งโดยทั่วไปจะมาจากงบการเงินของบริษัท รวมถึงส่วนประกอบของงบการเงิน เพื่อประเมินถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทว่ายังมีสถานะที่มั่นคงดีอยู่หรือไม่

การวิเคราะห์ด้วยปัจจัยพื้นฐานสามารถทำได้ 2 วิธีคือ

  1. วิธีแบบล่างขึ้นบน: วิเคราะห์บริษัท > อุตสาหกรรม > การเมือง > เศรษฐกิจ 
  2. วิธีแบบบนลงล่าง: เศรษฐกิจ > การเมือง > อุตสาหกรรม > บริษัท

การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิค

แนวคิดพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิคเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์ขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการซื้อและปริมาณความต้องการขายหลักทรัพย์นั้น ซึ่งปริมาณความต้องการดังกล่าวถูกกำหนดโดยปัจจัยหลากหลายชนิด ตั้งแต่ข้อมูลทางสถิติ จิตวิทยาการลงทุน ความเชื่อ ฯลฯ ตลาดจะใช้ข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ประกอบกันเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงของราคาหลักทรัพย์

เครื่องมือสำหรับการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม

  1. เส้นแนวโน้ม (Trend Line): แนวโน้มจะไม่เปลี่ยนทิศทางจนกว่าจะมีปัจจัยใด ๆ มาส่งผลให้หุ้นเปลี่ยนทิศทาง แนวโน้มมี 3 แบบ คือ
  • แนวโน้มขาขึ้น
  • แนวโน้มขาลง
  • แนวโน้มคงที่
  1. เส้นแนวทาง (Channel Line): เกิดจากการลากเส้นขนานกับเส้นแนวโน้ม
  2. แนวรับ (Support Line) และแนวต้าน (Resistance Line)
  • แนวรับ หมายถึง ระดับราคาต่ำสุดของตลาดในช่วงเวลานั้น ๆ
  • แนวต้าน หมายถึง ระดับราคาสูงสุดของตลาดในช่วงเวลานั้น ๆ เป็นระดับที่ราคาหุ้นเคลื่อนไหวจนถึงระดับที่จูงใจให้เกิดอุปทานมากขึ้น ราคาหุ้นจะลดลง
  1. รูปแบบการเคลื่อนไหวของราคา (Price Pattern) หมายถึง การก่อตัวของราคาหุ้นจนเป็นรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกได้ว่า หุ้นกำลังจะขึ้นหรือลง ได้แก่
  • รูปแบบราคาบอกความต่อเนื่องตามแนวโน้มเดิม หมายถึง หากราคาหุ้นมีแนวโน้มไปในทิศทางใด เมื่อพบรูปแบบลักษณะนี้ ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวตามแนวโน้มต่อไป
  • รูปแบบการเปลี่ยนแนวโน้มใหญ่ หมายถึง การกลับตัวของราคาหุ้น เมื่อพบรูปแบบลักษณะนี้ ราคาจะเปลี่ยนทิศทางจากแนวโน้มปัจจุบัน
  1. เครื่องชี้วัดการเคลื่อนไหวของราคา (Oscillator) แบ่งออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ ดังนี้
  • กลุ่มที่ 1: เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) และเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ร่วมทาง/แยกทาง (MACD)
      • เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่อย่างง่าย (SMA): คำนวณโดยใช้ค่าเฉลี่ยเลขคณิตโดยไม่ถ่วงน้ำหนัก
      • เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ยกกำลัง (EMA): คำนวณโดยถ่วงน้ำหนัก ให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ใกล้เคียงกับปัจจุบันที่สุด
      • เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ถ่วงน้ำหนัก (WMA): คำนวณโดยถ่วงน้ำหนัก โดยให้วันล่าสุดมีน้ำหนักมากกว่าวันก่อนหน้า
      • เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบปรับให้ง่ายขึ้น (MMA): คำนวณโดยปรับสูตรให้คำนวณง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น
  • เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ร่วมทาง/แยกทาง (MACD): ใช้วิเคราะห์ตลาดว่าเคลื่อนตัวไปในทิศทางขาขึ้นหรือขาลง
  • กลุ่มที่ 2: ดัชนีกำลังสัมพัทธ์ (RSI) ใช้วัดความแข็งแกร่งของราคาหุ้น หาจากค่าเฉลี่ยของราคาปิดที่เป็นบวกหรือลบ
  • กลุ่มที่ 3 Momentum ใช้วิเคราะห์หุ้นระยะสั้น โดยคำนวณจากค่าความแตกต่างของราคาปิดปัจจุบันเทียบกับราคาปิดที่ผ่านมาจำนวน X วัน แล้วนำค่าส่วนต่างนั้นมาบันทึกบนเส้นกราฟ ซึ่งจะมีเส้นศูนย์กลางที่จะแบ่งส่วนที่เป็นค่าบวกและส่วนที่เป็นค่าลบ
  • กลุ่มที่ 4 Stochastic Oscillator: ดัชนีที่แสดงความสัมพันธ์ของการเคลื่อนไหวของราคาในระหว่างชั่วโมงการซื้อขายกับราคาปิด เป็นเครื่องมือที่ใช้คาดการณ์แนวโน้มระยะสั้นมาก
  1. ทฤษฎีคลื่นของอีเลียต (Elliott Wave Theory): การปรับตัวขึ้นลงของราคาหลักทรัพย์เปรียบเสมือนกับการปรับตัวของคลื่น คลื่นของอีเลียตประกอบด้วยคลื่นส่งและคลื่นรับ

การวิเคราะห์การเงินเชิงพฤติกรรม

การวิเคราะห์การเงินเชิงพฤติกรรม หมายถึง การวิเคราะห์โดยนำเอาแนวคิดทางจิตวิทยามาประยุกต์ใช้กับการตัดสินใจลงทุน ซึ่งตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า การลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดเกิดขึ้นจากพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผลของผู้ลงทุน ได้แก่

  • อุปนิสัยส่วนตัว
  • ความคุ้นเคย
  • ความมั่นใจในตนเองมากเกินไป
  • ความเสียใจ
  • ความภูมิใจ
  • ความกลัว
  • ความโลภ

การบริหารความเสี่ยงกลุ่มหลักทรัพย์เบื้องต้น

การบริหารความเสี่ยงเป็นกระบวนการเพื่อระบุเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจจะกระทบต่อกิจการในทางลบ จากนั้น ประเมินค่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น แล้วจึงวางแผนเพื่อการลดโอกาสของการเกิดขึ้นของเหตุการณ์ต่าง ๆ และดำเนินการลดความเสียหายเหล่านั้น

การวิเคราะห์ความเสี่ยงกลุ่มหลักทรัพย์

วิธีหาค่าความแปรปรวนร่วม

ค่าความแปรปรวนร่วมแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ 2 ชนิดว่ามีทิศทางและระดับความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์ทั้งสองชนิดไปในทิศทางใด

  • หากค่าความแปรปรวนร่วมเป็นบวก อัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์คู่นั้นมีทิศทางเดียวกัน
  • หากค่าความแปรปรวมร่วมเป็นลบ อัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์คู่นั้นมีทิศทางตรงกันข้าม

วิธีหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์

เนื่องจากการตีความค่าความแปรปรวมร่วมนั้นมีค่ามากหรือค่าน้อยอาจทำได้ยาก ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงนิยมใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ซึ่งเป็นค่าที่สามารถบ่งชี้ทิศทางและระดับความผันผวนของอัตราผลตอบแทนของหลักทรัพย์แต่ละคู่ได้ โดย

  • หากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เป็นบวก: ถ้าหลักทรัพย์ A มีผลตอบแทนเป็นบวก ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ B มีแนวโน้มเป็นบวก
  • หากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เป็นลบ: ถ้าหลักทรัพย์ A มีผลตอบแทนเป็นบวก ผลตอบแทนของหลักทรัพย์ B มีแนวโน้มเป็นลบ
  • หากค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เป็น 0: หลักทรัพย์ทั้งสองไม่มีความสัมพันธ์กัน

กรอบแนวทางการบริหารความเสี่ยงกลุ่มหลักทรัพย์

  1. ขั้นตอนการจัดการบริหารความเสี่ยงกลุ่มหลักทรัพย์

ขั้นที่ 1: การพิจารณาสิ่งแวดล้อมภายในว่ากลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนจะเผชิญความเสี่ยงในด้านใดบ้าง ควรชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนกับความเสี่ยง

ขั้นที่ 2: การกำหนดเป้าหมายของการลงทุนและกำหนดวัตถุประสงค์การจัดการบริหารความเสี่ยงอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม วัดได้และมีเงื่อนเวลาประกอบ

ขั้นที่ 3: การระบุเหตุปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อกลุ่มหลักทรัพย์ ที่ทำให้ผลตอบแทนที่คาดหวังต่างไปจากเป้าหมายและวัตถุประสงค์

ขั้นที่ 4: การประเมินความสำคัญของความเสี่ยง มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินผลของความเสี่ยงจากการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ว่าบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้หรือไม่

ขั้นที่ 5: การจัดการกับความเสี่ยง ซึ่งสามารถทำได้ 4 ทางเลือก

  • หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเสี่ยง
  • กระจายความเสี่ยงไปยังหลายส่วน
  • ระวังดูแลเพื่อลดโอกาสของการเกิดความเสี่ยง
  • ยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นนั้น ๆ

ขั้นที่ 6: การควบคุมความเสี่ยง

ขั้นที่ 7: การสื่อสารให้ข้อมูลระหว่างผู้บริหารกลุ่มหลักทรัพย์กับผู้ลงทุน และฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แต่ละฝ่ายได้รับข้อมูล เข้าใจบทบาทของตนในผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

ขั้นที่ 8: การติดตามผลการดำเนินงาน โดยสอดส่องว่า ระดับความเสี่ยงที่จัดการนั้นไปเป็นตามแผนที่วางไว้หรือไม่

  1. แนวทางการบริหารความเสี่ยงกลุ่มหลักทรัพย์
  • การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุน
  • การคัดเลือกหลักทรัพย์รายตัว
  • การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA)

ปัจจัยสำคัญที่ควรพิจารณาในการสร้างกลุ่มหลักทรัพย์

  • สัดส่วนและขนาดของแต่ละหลักทรัพย์
  • สภาพคล่องของหลักทรัพย์ในกลุ่มหลักทรัพย์
  • สภาวะตลาดและระยะเวลาในการลงทุน
  • ภาษีที่เกี่ยวข้อง
  • หลักเกณฑ์และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 5 การติดตามประเมินผลและปรับกลุ่มหลักทรัพย์

การประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์

การประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ หมายถึง การวัดผลการดำเนินงานว่ากลุ่มหลักทรัพย์ที่ผู้บริหารกลุ่มหลักทรัพย์ได้สร้างขึ้นมานั้นมีผลการดำเนินงานตามเป้าหมายเพียงใด และมีผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงหรือไม่

แนวคิดเกี่ยวกับการประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ

  • แบบสัมบูรณ์: การมุ่งหวังให้ผลตอบแทนมีค่าเป็นบวกตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยไม่คำนึงถึงสภาวะตลาด
  • แบบเปรียบเทียบ: การนำค่ามาตรฐานเปรียบเทียบมาเปรียบเทียบกับผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ ว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ดีกว่าหรือด้อยกว่าค่ามาตรฐานที่นำมาเปรียบเทียบ

การคัดเลือกค่ามาตรฐานเปรียบเทียบในการประเมินผลการดำเนินงาน

การคัดเลือกค่ามาตรฐานเปรียบเทียบในการประเมินผลการดำเนินงานสามารถแยกเป็น 2 ประเด็น ได้แก่

ประเภทของค่ามาตรฐานเปรียบเทียบ

กรณีกลุ่มหลักทรัพย์ตราสารทุน: สามารถเลือกจาก

  • กลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะคล้ายกัน อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
  • กลุ่มบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในดัชนีอ้างอิง
  • กลุ่มบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในตลาด

กรณีกลุ่มหลักทรัพย์ตราสารหนี้: ดัชนีตลาดตราสารหนี้

กรณีกลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศ: ดัชนีที่สอดคล้องกับหลักทรัพย์ที่กลุ่มหลักทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศ

คุณสมบัติของค่ามาตรฐานเปรียบเทียบ

  • ค่ามาตรฐานเปรียบเทียบที่ใช้ ต้องเป็นตัวชี้วัดประเภทหลักทรัพย์แบบเดียวกัน หรือเป็นหลักทรัพย์ทางการเงินที่กลุ่มหลักทรัพย์ได้ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน เพื่อให้การประเมินค่าวัดผลมาจากแหล่งอ้างอิงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงในหลักทรัพย์ประเภทเดียวกัน
  • การเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ต้องเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับค่ามาตรฐานเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน
  • ค่ามาตรฐานเปรียบเทียบควรมีความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์ที่จะนำใช้เป็นตัวอ้างอิงชี้วัดในระดับความเสี่ยงที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ต้องการประเมิน
  • ค่ามาตรฐานเปรียบเทียบแบบผสมต้องคำนวณจากน้ำหนักหรือสัดส่วนการลงทุนตามประเภทหลักทรัพย์ ตามวัตถุประสงค์การลงทุน นโยบายการลงทุนและกลยุทธ์ของกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน

การคำนวณอัตราผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์

  • Holding Period Return: อัตราผลตอบแทนต่อ 1 งวดระยะเวลา โดยไม่ได้จำกัดว่างวดระยะเวลามีเวลานานเท่าใด แต่ทั้งนี้ แต่ละงวดต้องมีช่วงเวลาที่เท่า ๆ กัน
  • Time-weighted Rate of Return: การคำนวณหาอัตราผลตอบแทนด้วยค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยงวดเวลาเป็นค่าเฉลี่ยที่คำนวณจากอัตราผลตอบแทนรายงวด แล้วเฉลี่ยต่องวดด้วยจำนวนงวด การคำนวณด้วยงวดเวลามี 2 วิธี คือ
    • ค่าเฉลี่ยเลขคณิต: กระแสเงินสดรับไม่มีการลงทุนต่อ
    • ค่าเฉลี่ยเรขาคณิต: กระแสเงินสดรับมีการลงทุนต่อ
  • Money-weighted Rate of Return: การคำนวณหาค่าเฉลี่ยอัตราผลตอบแทนแบบที่ใช้การคิดลดกระแสเงินสดที่อัตราผลตอบแทนทบต้น ในแต่ละงวดถูกถ่วงน้ำหนักด้วยกระแสเงินสดในงวดนั้น
  • Annualized Rate of Return: การปรับค่าผลตอบแทนที่อาจน้อยกว่าหรือมากกว่า 1 ปี ให้มีค่าเป็นอัตราผลตอบแทนรายปี

การวิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทน

การวิเคราะห์องค์ประกอบของผลตอบแทน หมายถึง การวิเคราะห์ความแตกต่างของผลตอบแทนที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้ ซึ่งควรวิเคราะห์ว่าผลตอบแทนที่เบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดว่าเกิดขึ้นจากผลการดำเนินงานด้านใด ใน 3 ด้านต่อไปนี้

  • ความสามารถในจัดสรรเงินลงทุน
  • ความสามารถในการคัดเลือกหลักทรัพย์
  • ความสามารถในการจับจังหวะการลงทุน

การประเมินประสิทธิภาพการบริหารกลุ่มหลักทรัพย์เบื้องต้น

    • Sharpe Ratio: เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงกับอัตราผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงแล้วเช่นกัน
    • Treynor Ratio: เปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงกับอัตราผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิงที่ปรับด้วยค่าความเสี่ยงแล้ว
    • Jensen’s Alpha: วัดผลตอบแทนที่เกิดขึ้นหรืออัตราผลตอบแทนในช่วงเวลาหนึ่งของกลุ่มหลักทรัพย์ เปรียบเทียบกับเกณฑ์ผลการดำเนินงานที่ควรเป็น ซึ่งคำนวณโดยอาศัยแนวคิดของตัวแบบการตั้งราคาหลักทรัพย์ (CAPM)
  • Appraisal Ratio และ Information Ratio
    • Appraisal Ratio: แสดงถึงอัตราผลตอบแทนส่วนเกินปกติต่อหนึ่งหน่วยความเสี่ยงที่สามารถขจัดออกไปได้โดยการกระจายการลงทุน
    • Information Ratio: แสดงความสามารถของผู้จัดการลงทุนในการสร้างผลตอบแทนกับความเสี่ยง
  • Tracking Error: ความเสี่ยงที่ผลตอบแทนของกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุนจะเบี่ยงเบนไปจากค่ามาตรฐานเปรียบเทียบ

การติดตามและปรับปรุงกลุ่มหลักทรัพย์

แนวทางการปรับปรุงกลุ่มหลักทรัพย์

  • แนวทางอันเนื่องจากการติดตามวิเคราะห์ผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มหลักทรัพย์
  • แนวทางอันเนื่องมาจากการวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้อง อันจะเกิดผลกระทบต่อพื้นฐานของหุ้นในกลุ่มหลักทรัพย์
  • แนวทางอันเนื่องมาจากโอกาสการลงทุนที่ดีกว่า
  • แนวทางอันเนื่องมาจากการทบทวนการวิเคราะห์หุ้นอย่างถี่ถ้วน
  • แนวทางอันเนื่องมาจากความตื่นตระหนกของตลาด

ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการปรับปรุงหลักทรัพย์

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุน

  • ผู้ลงทุนที่ไม่เชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ: มักใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรุก โดยมุ่งเน้นลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง และขายหลักทรัพย์ที่มีราคาสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง
  • ผู้ลงทุนเชื่อว่าตลาดมีประสิทธิภาพ: มักใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงรับที่ออกแบบกลุ่มหลักทรัพย์ให้มีจำนวนและสัดส่วนการลงทุน ใกล้เคียงกับกลุ่มหลักทรัพย์ตลาดที่ถูกนำมาใช้เป็นค่ามาตรฐานเปรียบเทียบ

ปัจจัยเกี่ยวข้องกับสภาวะตลาดการลงทุน

  • วิธีการปรับกลุ่มหลักทรัพย์ในตลาดขาขึ้น: ซื้อหุ้นที่ราคาถูกและขายหุ้นที่ราคาแพง
  • วิธีการปรับกลุ่มหลักทรัพย์ในตลาดขาลง: ขายหุ้นโดยเปรียบเทียบมูลค่าที่แท้จริงกับราคาตลาดของหุ้น ณ ขณะนั้นเป็นหลัก

การปรับสมดุลกลุ่มหลักทรัพย์

การปรับสมดุลของกลุ่มหลักทรัพย์ หมายถึง การปรับสมดุลของสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนเดิม ตามแผนการลงทุนเดิมตั้งแต่ต้น

ความสำคัญของการปรับสมดุลกลุ่มหลักทรัพย์

  • ผู้บริหารกลุ่มหลักทรัพย์: ช่วยให้ผู้จัดการกลุ่มหลักทรัพย์มีการลงทุนตามสัดส่วนน้ำหนักการลงทุนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
  • ผู้ลงทุนที่ซื้อกลุ่มหลักทรัพย์: เปิดโอกาสให้กับผู้ลงทุนที่ซื้อกองทุนไว้หลายกองทุนสามารถตรวจสอบกองทุนที่ลงทุนไว้

แนวทางการปรับสมดุลกลุ่มหลักทรัพย์

ขั้นตอนที่ 1: กำหนดจัดสรรสินทรัพย์เป้าหมาย

ขั้นตอนที่ 2: ตั้งค่าพารามิเตอร์ของการปรับสมดุล

ขั้นตอนที่ 3: ตรวจสอบการจัดสรรสินทรัพย์ในช่วงเวลาปกติ

ขั้นตอนที่ 4: ให้ความสำคัญต่อการเสียภาษีและค่าธรรมเนียมที่อาจเกิดขึ้น

ขั้นตอนที่ 5: การนำเงินลงทุนเพิ่มเพื่อปรับสมดุล

ปัจจัยที่ควรพิจารณาในการปรับสมดุลกลุ่มหลักทรัพย์

  • สัดส่วนถ่วงน้ำหนักการลงทุนในหลักทรัพย์แต่ละประเภท
  • ผลตอบแทนที่ได้รับจากการปรับสมดุล
  • ความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์จากการปรับสมดุล
  • ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ต่าง ๆ
  • ค่าภาษีที่เกี่ยวข้อง
  • ความถี่ของการปรับสมดุล
  • การมีวินัยในการลงทุน

บทที่ 6 การจัดทำนโยบายการลงทุนและกรณีศึกษา

ความสำคัญของนโยบายการลงทุน

  • นโยบายการลงทุนเปรียบเสมือนแผนที่นำทาง ที่ช่วยสร้างความพร้อมให้แก่นักลงทุน
  • นโยบายการลงทุนเป็นหลักในการยึดถือปฏิบัติของนักลงทุน นโยบายการลงทุนช่วยให้กระบวนการลงทุนมีวินัยมากขึ้น
  • นโยบายการลงทุนเป็นแนวทางในการวัดผลการดำเนินงานของกลุ่มหลักทรัพย์ที่ได้ลงทุน ว่าสอดคล้องกับนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด

แนวทางการจัดทำนโยบายการลงทุน

  • เก็บรวบรวมข้อมูล โดยนักลงทุนต้องพยายามระบุเป้าหมายในการลงทุน ปัจจัยส่วนบุคคลของตนตลอดจนข้อจำกัดต่าง ๆ ที่อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนออกมาให้ครบถ้วนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • นำปัจจัยดังกล่าวมาใช้ในการจัดทำนโยบายการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองโดยต้องทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
  • หากสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง นโยบายการลงทุนก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

องค์ประกอบของนโยบายการลงทุน

  • รายละเอียดของนักลงทุน
    • กรณีผู้ลงทุนบุคคลจะประกอบด้วย ชื่อและนามสกุลของผู้ลงทุน อายุ สถานภาพ รายได้ต่อเดือน และชื่อของที่ปรึกษาทางการเงิน (ถ้ามี)
    • กรณีที่เป็นนักลงทุนสถาบันจะประกอบด้วย ชื่อขององค์กรหรือกองทุน ประเภทขององค์กรหรือกองทุน และชื่อที่ปรึกษาทางการเงินหรือผู้จัดการกองทุน เป็นต้น
  • บทสรุปผู้บริหาร บอกให้ทราบถึงภาพรวมของสถานะการเงินในปัจจุบัน เหตุผลหรือความจำเป็นในการตัดสินใจลงทุน และสิ่งที่นักลงทุนคาดหวังจากการจัดสรรเงินลงทุน
  • เป้าหมายและข้อจำกัดในการลงทุน สิ่งที่นักลงทุนคาดหวังจากการตัดสินใจจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ภายใต้ระยะเวลาการลงทุนที่ชัดเจน และข้อจำกัดที่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจจัดสรรเงินลงทุน
  • แนวทางในการจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่าง ๆ แสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดสรรเงินลงทุนในหลักทรัพย์ที่เหมาะสมกับความต้องการของนักลงทุนหรือลูกค้า และแนวทางการลงทุน
  • แนวทางการควบคุมและวัดผลการดำเนินงาน แสดงให้เห็นถึงหลักในการทบทวนผลการลงทุน การพิจารณาขายหลักทรัพย์ที่ไม่เป็นที่ต้องการออกจากกลุ่มหลักทรัพย์ลงทุน และวิธีการวัดผลการดำเนินงาน

บทความนี้เป็นแค่สรุปหนังสือ หากคุณต้องการอ่านฉบับเต็ม คุณสามารถสั่งซื้อที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์