การวิเคราะห์การลงทุนในตราสารหนี้ [ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย]
หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือของกลุ่มวิชาที่ 3: การวิเคราะห์หลักทรัพย์และการบริหารกลุ่มสินทรัพย์ลงทุนภายใต้หลักสูตร CISA ใหม่ระดับที่ 1 (หลักสูตรการวิเคราะห์และการจัดการลงทุนขั้นพื้นฐาน)
บทที่ 1 ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้
ตราสารหนี้ (Bond/Fixed Income Securities) คือตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่ให้ผู้ให้กู้ (รัฐบาลหรือภาคเอกชน) สามารถกู้ยืมเงินจากนักลงทุน โดยผู้ให้กู้มีสถานะเป็นลูกหนี้ ส่วนนักลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้
ความแตกต่างระหว่างตราสารหนี้กับตราสารทุน
ตราสารหนี้ | ตราสารทุน | |
รูปแบบของผลตอบแทน | ดอกเบี้ย | ปันผล |
สิทธิในการเรียกร้อง | ได้รับเงินคืนก่อนตราสารทุน | ได้รับเงินคืนหลังตราสารหนี้ |
อายุการลงทุน | มีอายุแน่นอน | ไม่มีกำหนด |
ความเสี่ยงและผลตอบแทน | ต่ำกว่า | สูงกว่า |
สภาพคล่อง | ต่ำกว่า | สูงกว่า |
ความสำคัญของตราสารหนี้ในตลาดการเงินและการลงทุน
- เป็นแหล่งรายได้ประจำ
- ความปลอดภัยของเงินทุน
- การกระจายความเสี่ยง
- สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้
องค์ประกอบพื้นฐานของตราสารหนี้
- มูลค่าหน้าตั๋ว: จำนวนเงินต้นที่ผู้ลงทุนจะได้รับคืนเมื่อมีการไถ่ถอนตราสารหนี้
- อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว: อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ออกตราสารหนี้จ่ายกับผู้ลงทุนตลอดอายุของตราสารหนี้
- งวดการชำระดอกเบี้ย: จำนวนครั้งของการชำระดอกเบี้ย โดยทั่วไปจะมีหน่วยเป็นปี
- วันครบกำหนดไถ่ถอน: วันที่ผู้ลงทุนจะไถ่ถอนตราสารหนี้
- ชื่อผู้ออก: ระบุชื่อลูกหนี้
- ข้อสัญญา: เงื่อนไขและข้อตกลงที่กำหนดให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามหรืองดเว้นการปฏิบัติ
ประเภทของตราสารหนี้
- แบ่งตามอายุของตราสารหนี้
1.1 ตราสารหนี้ระยะสั้น: ครบกำหนดไถ่ถอนไม่เกิน 1 ปีนับจากวันออกจำหน่าย
1.2 ตราสารหนี้ระยะยาว: ครบกำหนดไถ่ถอนเกินกว่า 1 ปีนับจากวันออกจำหน่าย
1.3 ตราสารหนี้ที่ไม่มีกำหนดไถ่ถอน: ไม่ระบุวันครบกำหนดไถ่ถอน
- แบ่งตามประเภทผู้ออก
2.1 ตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล: ออกโดยกระทรวงการคลัง แบ่งออกเป็น
- ตั๋วเงินคลัง: ตราสารหนี้ระยะสั้นอายุไม่เกิน 1 ปี
- พันธบัตรรัฐบาล: ตราสารหนี้ระยะยาวอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี
2.2 หุ้นกู้เทศบาล: ออกโดยหน่วยงานราชการระดับรัฐหรือระดับท้องถิ่น แบ่งออกเป็น
- หุ้นกู้ประเภทค้ำประกันด้วยภาษี แบ่งออกเป็น
- ภาระหนี้ทั่วไป
- ภาระหนี้ค้ำประกันด้วยการอนุญาตให้ก่อหนี้
- ภาระหนี้ซึ่งมีการเพิ่มระดับเครดิต
- หุ้นกู้รายได้: ชำระดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับรายได้ของผู้ออกหุ้นกู้
- หุ้นกู้มีการซื้อประกัน: ซื้อประกันการชำระเงินกับบริษัทประกัน เพื่อประกันการชำระเงินต้นหรือดอกเบี้ยแก่ผู้ลงทุน
- หุ้นกู้เตรียมชำระคืน: ค้ำประกันโดยพันธบัตรรัฐบาล โดยกระแสเงินสดที่ได้รับจากพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเพียงพอที่จะชำระคืนแก่ผู้ลงทุน
- อนุพันธ์ทางการเงินของหุ้นกู้เทศบาล: ตราสารอนุพันธ์ที่สร้างจากหุ้นกู้เทศบาล
2.3 ตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย: เครื่องมือในการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านตลาดเงินในการจัดกาารสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
2.4 พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ แบ่งออกเป็น
- ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง
- ไม่ได้ค้ำประกันโดยกระทรวงการคลัง
2.5 ตราสารหนี้ภาคเอกชน: ออกโดยบริษัทเอกชนเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนในวงจำกัดหรือประชาชนทั่วไปเพื่อนำเงินไปใช้ในกิจการ
- แบ่งตามวิธีการชำระดอกเบี้ย
3.1 ชำระดอกเบี้ยคงที่: ชำระดอกเบี้ยคงที่ตลอดอายุตราสารหนี้
3.2 ชำระดอกเบี้ยลอยตัว: ชำระดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เช่น อัตราดอกเบี้ยฝากประจำ 6 เดือน หากอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงมีการเปลี่ยนแปลง อัตราดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้รับจะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
3.3 ไม่ชำระดอกเบี้ย: ผู้ลงทุนซื้อตราสารหนี้ประเภทนี้ในราคาส่วนลด และรับเงินคืนตามมูลค่าหน้าตั๋ว
- แบ่งตามสิทธิเรียกร้อง
4.1 ตราสารหนี้ด้อยสิทธิ: ผู้ลงทุนได้รับสิทธิในการรับชำระหนี้เป็นรองจากผู้ถือตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ แต่ก่อนผู้ถือตราสารทุน
4.2 ตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิ: ผู้ลงทุนได้รับสิทธิในการรับชำระหนี้ก่อนผู้ถือตราสารหนี้ด้อยสิทธิ แต่ด้อยกว่าตราสารหนี้มีประกัน
- แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน
5.1 ตราสารหนี้ไม่มีหลักประกัน: สิทธิรับส่วนแบ่งจากการขายสินทรัพย์ที่เหลือจากสินทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน โดยจะได้รับคืนจากสัดส่วนและตามลำดับในการเรียกร้องสิทธิเท่านั้น
5.2 ตราสารหนี้มีหลักประกัน: ผู้ถือตราสารหนี้ประเภทนี้จะมีสิทธิเหนือหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกัน หากขายหลักประกันแล้วยังไม่เพียงพอ ผู้ถือตราสารหนี้จะถูกปรับสิทธิเป็นหนี้ไม่มีหลักประกัน
5.3 ตราสารหนี้มีการค้ำประกัน: ค้ำประกันโดยบริษัท องค์กรหรือบุคคลที่สาม โดยผู้ค้ำประกันจะจ่ายหนี้แทนผู้ออกตราสารหนี้หากไม่สามารถชำระหนี้หรือดอกเบี้ยในระยะเวลาที่กำหนด
- แบ่งตามชนิดของสิทธิแฝง
6.1 ตราสารหนี้ปราศจากสิทธิแฝง
6.2 ตราสารหนี้มีสิทธิแฝง เช่น
- หุ้นกู้แปลงสภาพ: หุ้นกู้ที่ให้สิทธิในการแปลงสภาพจากหุ้นกู้เป็นหลักทรัพย์อื่น
- หุ้นกู้ซึ่งกำหนดเงินเพื่อไถ่ถอน: ผู้ออกหุ้นกู้แบ่งเงินจำนวนหนึ่งในแต่ละปีเพื่อการไถ่ถอนหุ้นกู้
- ตราสารหนี้ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด
- ตราสารหนี้ซึ่งผู้ถือหุ้นกู้สามารถไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด
- ตราสารหนี้จากการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน: สินทรัพย์ที่ถูกแปลงมาเป็นตราสารหนี้ เช่น ตราสารที่มีการจดจำนองรองรับ (MBS) ที่นำลูกหนี้สินเชื่อจดจำนองอสังหามารองรับในการออกตราสาร
- แบ่งตามวิธีการชำระเงินต้น
7.1 ชำระคืนมูลค่าหน้าตั๋วครั้งเดียว ณ วันครบกำหนดไถ่ถอน
7.2 ทยอยชำระคืนมูลค่าหน้าตั๋ว
- แบ่งตามลักษณะอื่น ๆ
8.1 ตราสารหนี้ชนิดชำระดอกเบี้ยโดยอ้างอิงกับตัวแปรอ้างอิง: คล้ายกับตราสารหนี้ประเภทชำระดอกเบี้ยลอยตัวแต่อัตราดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรอ้างอิงแทนที่จะเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง
8.2 หุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศ แบ่งออกเป็น
- หุ้นกู้ต่างประเทศ: หุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ โดยสกุลเงินของหุ้นกู้เป็นสกุลเงินของประเทศที่ไปจำหน่าย
- บาทบอนด์: ตราสารหนี้ต่างประเทศที่ออกโดยภาครัฐหรือภาคเอกชนต่างประเทศมาจำหน่ายในไทยเป็นสกุลเงินบาท
- หุ้นกู้ยูโร: หุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศที่ออกจำหน่ายในต่างประเทศ โดยสกุลเงินของหุ้นกู้เป็นคนละสกุลเงินของสกุลเงินของประเทศที่ไปจำหน่าย
- FX Bond: หุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายในไทยในรูปของสกุลเงินต่างประเทศ
8.3 พันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ: ตราสารหนี้ภาครัฐที่ผูกกระแสเงินสดที่จะจ่ายในรูปเงิน, ดอกเบี้ยจ่ายและมูลค่าหน้าตั๋วเข้ากับอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงในอนาคตของประเทศ
8.4 ตราสารศุกูก: ตราสารทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่อยู่ในรูปของดอกเบี้ย, ไม่เกี่ยวพันกับธุรกิจต้องห้ามและผลตอบแทนจากการลงทุนมาจากการมีส่วนร่วมในธุรกรรมและรับความเสี่ยงร่วมกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักชาริอะห์ของศาสนาอิสลาม
8.5 หุ้นกู้ที่เลื่อนการชำระดอกเบี้ย: หุ้นกู้ที่ไม่มีการชำระดอกเบี้ยในระยะที่มีการเลื่อนการชำระดอกเบี้ย และจะเกิดการชำระดอกเบี้ยที่เลื่อนออกไปพร้อมกัน
8.6 หุ้นกู้หลายประเภทที่มีการออกพร้อมกัน: หุ้นกู้ที่ผู้ออกหุ้นกู้มีการกำหนดหุ้นกู้เป็นประเภทต่าง ๆ ตามลักษณะของหุ้นกู้ เช่น กำหนดไถ่ถอนและ/หรืออัตราดอกเบี้ยที่ต่างกัน
8.7 หุ้นกู้ที่ไม่ชำระด้วยตัวเงิน: หุ้นกู้ที่ชำระดอกเบี้ยแก่ผู้ถือหุ้นกู้ด้วยตราสารอื่น เช่น หุ้นกู้
8.8 หุ้นกู้สองสกุลเงิน: หุ้นกู้ที่มีการชำระดอกเบี้ยในสกุลเงินหนึ่ง แต่จ่ายคืนในอีกสกุลเงินหนึ่ง
ภาพรวมของตลาดตราสารหนี้
บทบาทของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตราสารหนี้
กระทรวงการคลัง: ออกตราสารหนี้หลักที่มีมูลค่ามากที่สุดในตราสารหนี้โดยดำเนินการผ่านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
ธนาคารแห่งประเทศไทย: ออกพันธบัตรเพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่องโดยดำเนินการผ่านตลาดเงิน
รัฐวิสาหกิจ: ออกพันธบัตรรัฐวิสาหกิจเพื่อลงทุนในโครงการต่าง ๆ หรือนำเงินทุนไปใช้จ่ายในการดำเนินงานตามโครงการต่าง ๆ ของรัฐวิสาหกิจ
บริษัทเอกชน: นิติบุคคลที่ออกหุ้นกู้เพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไปเพื่อใช้ในการลงทุนหรือเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของบริษัท
ผู้ค้าตราสารหนี้: สถาบันการเงินที่ได้รับใบอนุญาตค้าหลักทรัพย์หรือจัดจำหน่ายหลักทรัพย์อันเป็นตราสารแห่งหนี้
นายหน้าค้าตราสารหนี้: บริษัทที่ประกอบธุรกิจเป็นนายหน้าหรือตัวแทนซื้อขายตราสารหนี้ให้แก่บุคคลที่ต้องการจะซื้อหรือขายตราสารหนี้ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานก.ล.ต.
ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์: บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์จากสำนักงานก.ล.ต.
ที่ปรึกษาทางการเงิน: สถาบันการเงินที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานก.ล.ต. ในการให้บริการเกี่ยวกับคำปรึกษา ความเห็นและการจัดเตรียมเอกสารข้อมูลต่าง ๆ เพื่อนำเสนอต่อสำนักงานก.ล.ต., ตลาดหลักทรัพย์, ผู้ถือหุ้นกู้และประชาชนทั่วไป
ผู้ลงทุน แบ่งออกเป็น
- ผู้ลงทุนรายบุคคล: ผู้ลงทุนรายบุคคลที่ซื้อขายหลักทรัพย์ด้วยตนเอง
- ผู้ลงทุนสถาบัน: กลุ่มผู้ลงทุนหลักทั้งในตลาดหลักและตลาดรอง
หน่วยงานกำกับดูแล
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
- กระทรวงการคลัง
- ธนาคารแห่งประเทศไทย
- สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
องค์กรและผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ
- สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
- นายทะเบียน
- ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้
- ผู้รับฝากทรัพย์สิน
ภาพรวมของตลาดแรกของตราสารหนี้
การซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดแรกจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ออกตราสารหนี้ซึ่งต้องการระดมทุน ทำการขายตราสารหนี้ให้แก่ผู้ลงทุนในตลาดเป็นครั้งแรก
ภาพรวมของตลาดรองของตราสารหนี้
ตลาดรองของตราสารหนี้คือตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถทำการซื้อขายตราสารหนี้หลังจากได้มีการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดแรกเรียบร้อยแล้ว ซึ่งตลาดรองของตราสารหนี้ในไทยประกอบด้วย
- ตลาดซื้อขายตราสารหนี้ลักษณะติดต่อกันเอง แบ่งออกเป็น
- การซื้อขายระหว่างผู้ค้าตราสารหนี้
- การซื้อขายระหว่างผู้ค้าตราสารหนี้กับผู้ลงทุนสถาบัน
- ตลาดซื้อคืนตราสารหนี้: ผู้ขายหลักทรัพย์ตกลงขายหลักทรัพย์ให้กับผู้ซื้อหลักทรัพย์ โดยมีสัญญาว่าจะซื้อหลักทรัพย์ดังกล่าวกลับคืนตามวันเวลาและราคาตกลงกันไว้
ภาษีที่เกี่ยวข้องการลงทุนในตราสารหนี้
- กำไรจากการขายตราสารหนี้: หักภาษี ณ ที่จ่าย 15% หากมีกำไร
- ดอกเบี้ยที่ได้รับ: หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
- เงินได้จากส่วนลดจากการซื้อตราสารหนี้ หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่าย: หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
บทที่ 2 ผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้
ประเภทและองค์ประกอบของผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้
ผลตอบแทนการลงทุนตราสารหนี้พื้นฐานที่มีการจ่ายดอกเบี้ยสามารถแบ่งออกเป็น
- ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
- ผลตอบแทนจากกำไรหรือจากการเปลี่ยนแปลงราคา
- ผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุนต่อ
ผลตอบแทนการลงทุนตราสารหนี้ที่ไม่มีการชำระดอกเบี้ยสามารถแยกเป็นสองกรณีคือ
- กรณีตราสารหนี้ที่ไม่มีการชำระดอกเบี้ย ซึ่งมีอายุมากกว่า 1 ปี
- กรณีตราสารหนี้ที่ไม่มีการชำระดอกเบี้ย ซึ่งมีอายุไม่เกิน 1 ปี จะคำนวณราคาโดยใช้อัตราคิดลดด้วยแบบเดียวกับการจ่ายดอกเบี้ยของธนาคาร
การคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้: ตราสารหนี้ทั่วไป
- อัตราผลตอบแทนปัจจุบัน (Current Yield)
- อัตราผลตอบแทนเมื่อถือจนครบไถ่ถอนหรือครบกำหนดอายุ (Yield to Maturity)
- อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ที่ไม่มีการชำระดอกเบี้ย (Yield on Zero-coupon Bond)
- อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่มีการชำระดอกเบี้ย (Yield on Short-term Zero-coupon Bond)
- อัตราผลตอบแทนกระแสเงินสด (Cash Flow Yield)
การคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้: ตราสารหนี้ที่มีออปชันแฝง
- อัตราผลตอบแทนกรณีที่ผู้ออกไถ่ถอนก่อนครบกำหนด (Yield to Call)
- อัตราผลตอบแทนกรณีที่ผู้ถือไถ่ถอนก่อนครบกำหนด (Yield to Put)
- อัตราผลตอบแทนกรณีต่ำสุด (Yield to Worst)
ความเสี่ยงจากการลงทุนในตราสารหนี้
- ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
- ความเสี่ยงจากการนำเงินไปลงทุนต่อ
- ความเสี่ยงจากเส้นอัตราผลตอบแทน
- ความเสี่ยงด้านเครดิต
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
- ความเสี่ยงจากเหตุการณ์
- ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
- ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ
- ความเสี่ยงจากการมีออปชันแฝง
- ความเสี่ยงจากการชำระคืนเงินต้นก่อนกำหนด
บทที่ 3 การประเมินมูลค่าหนี้ที่ไม่มีสิทธิแฝง
หาก
มูลค่าที่เหมาะสม > มูลค่าตลาด = ตัดสินใจซื้อ
มูลค่าที่เหมาะสม < มูลค่าตลาด = ตัดสินใจขาย
แนวคิดพื้นฐานเพื่อประเมินมูลค่าตราสารหนี้
แนวคิดของมูลค่าเงินตามเวลา: มูลค่าของเงินเมื่อวัด ณ จุดของเวลาที่แตกต่างกันทำให้มูลค่าเงินนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยมูลค่าที่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลานั้นเรียกว่า “มูลค่าเงินตามเวลา”
แนวคิดของอัตราผลตอบแทน: อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประกอบด้วย
- ผลตอบแทนชดเชยเวลาหรือโอกาสของเงินที่สูญเสียไป
- ผลตอบแทนเพื่อชดเชยกับความเสี่ยง
กระบวนการประเมินมูลค่าหนี้
การประเมินมูลค่าตราสารหนี้คือการคำนวณหามูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับในอนาคตทั้งหมด โดยประกอบด้วยขั้นตอนดังต่อไปนี้
- การประมาณการกระแสเงินสด
- การกำหนดอัตราคิดลดหรืออัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
- การคำนวณมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดตามข้อ 1 ด้วยอัตราคิดลดในข้อ 2
การประเมินมูลค่าตราสารหนี้: แนวทางทั่วไป
- ตราสารหนี้ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่ปีละ 1 ครั้ง
- ตราสารหนี้ที่มีการจ่ายดอกเบี้ยแบบคงที่มากกว่าปีละ 1 ครั้ง
- ตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย
- ตราสารหนี้ที่ทยอยชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตลอดอายุตราสารหนี้
- ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยแบบลอยตัว
- ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยแบบขั้นบันได
การประเมินมูลค่ากรณีที่วันคำนวณไม่ตรงกับวันที่จ่ายดอกเบี้ย
- การคำนวณดอกเบี้ยค้างรับ
- การคำนวณราคารวมดอกเบี้ยค้างรับ (Dirty Price) และราคาไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ (Clean Price)
- ข้อมูลสำคัญของตราสารหนี้เพื่อการประเมินมูลค่า
การประเมินมูลค่า: แนวทางปราศจากอาร์บิทราจ
การประเมินมูลค่าแบบพื้นฐาน
การประเมินมูลค่าที่อาศัยหลักการคิดลดกระแสเงินสดในอนาคตของตราสารหนี้ให้เป็นมูลค่าปัจจุบันที่เหมาะสมด้วยอัตราคิดลดเดียวตลอดอายุของตราสารหนี้
กฎสินทรัพย์ราคาเดียวกันและกำไรอาร์บิทราจ
หลักการสำคัญทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการประเมินมูลค่าตามทฤษฎีของตราสารหนี้คือตลาดมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และมีการกระจายข่าวสารกันทั่วถึง ราคาสินทรัพย์จะเป็นราคาที่ไม่มีโอกาสการได้กำไรที่ไม่มีความเสี่ยง ซึ่งเรียกว่า “กำไรอาร์บิทราจ”
การทำกำไรที่ไม่มีความเสี่ยงมีหลายวิธีแต่วิธีที่พบบ่อยได้คือการทำกำไรจากการที่ราคาของสินทรัพย์ไม่สอดคล้องกับราคาตามกฎสินทรัพย์ราคาเดียวกัน
สาระสำคัญของกฎนี้คือ สินทรัพย์เดียวกันหรือสินทรัพย์ที่มีลักษณะเดียวกันนั้นไม่ว่าอยู่ที่ใดในตลาดไหนควรซื้อขายที่ราคาเดียวกัน หากสามารถซื้อขายได้โดยไม่ข้อจำกัดและไม่มีต้นทุนการซื้อหรือการขนย้ายที่ทำให้ราคาสินทรัพย์เปลี่ยนไป
การคำนวณมูลค่าโดยวิธีปราศจากอาร์บิทราจ โดยใช้เส้นอัตราผลตอบแทน: การประเมินมูลค่าแบบพื้นฐานโดยใช้ค่าที่ได้จากเส้นอัตราผลตอบแทน (Treasury Yield Curve) เป็นอัตราคิดลดเพียงค่าเดียวตลอด
การประเมินมูลค่าแบบปราศจากอาร์บิทราจ โดยใช้ Interest Rate Trees เช่น Binomial Interest Rate Tree ที่มีสมมติฐานหลักว่าอัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบไบโนเมียล ซึ่งขึ้นอยู่กับความแปรปรวนของแต่ละช่วงเวลา และอัตราดอกเบี้ยสามารถเปลี่ยนแปลงในสองทิศทาง – เพิ่มขึ้นหรือลดลง
การประเมินมูลค่าโดยวิธี Monte Carlo: การประเมินมูลค่าตราสารหนี้โดยกำหนดให้การเปลี่ยนแปลงเป็นค่าใดก็ได้ตามแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะแต่ละแบบจำลองมีรูปแบบที่แตกต่างกัน
บทที่ 4 ผลตอบแทนและความสัมพันธ์กับราคาตราสารหนี้
อัตราผลตอบแทนและเส้นอัตราผลตอบแทน
- อัตราดอกเบี้ยครบกำหนดไถ่ถอน: ผลตอบแทนเฉลี่ยของการลงทุนในตราสารหนี้เมื่อถือจนครบกำหนดไถ่ถอน การประเมินมูลค่าตามวิธีพื้นฐานนิยมใช้อัตราผลตอบแทนนี้เป็นอัตราคิดลด
- อัตราดอกเบี้ยสปอต: อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่ไม่มีการจ่ายดอกเบี้ย
- อัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า: ผลตอบแทนสำหรับธุรกรรมการกู้ยืมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ผู้ทำธุรกรรมได้ตกลงอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน
องค์ประกอบของเส้นอัตราผลตอบแทน
เส้นอัตราผลตอบแทนคือเส้นที่บอกถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนกับระยะเวลา
เส้นอัตราผลตอบแทนที่เผยแพร่และใช้อย่างกว้างขวางมี 3 ประเภท
- สร้างจากอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาครัฐ (Treasury Yield Curve)
- สร้างโดยการคำนวณจากตราสารหนี้ที่มีราคาซื้อขายเท่ากับพาร์ (Par Yield Curve)
- เส้นอัตราดอกเบี้ยสปอต (Spot Yield Curve)
ลักษณะเส้นอัตราผลตอบแทน
- เส้นอัตราผลตอบแทนปกติ: ลาดชันขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะปกติของเส้นอัตราผลตอบแทนที่พบได้ทั่วไป อัตราผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวมีค่าสูงกว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้น
- เส้นอัตราผลตอบแทนแบบลาดชันลง: อัตราผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวจะต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้น ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าเศรษฐกิจอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย
- เส้นอัตราผลตอบแทนแบบแบนราบ: อัตราผลตอบแทนทุกระยะการลงทุนมีค่าไม่แตกต่างกัน
- เส้นอัตราผลตอบแทนแบบโก่ง: โก่งขึ้นในช่วงกลางของระยะการลงทุน ทำให้ผลตอบแทนระยะกลางเป็นแบบลาดชัดขึ้นและอัตราผลตอบแทนระยะยาวเป็นแบบลาดลง
แนวคิดเกี่ยวกับเส้นอัตราผลตอบแทน
นอกจากอัตราผลตอบแทนแบบสปอตแล้ว ยังมีอัตราผลตอบแทนที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งคือ “อัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า” ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มต้นในอนาคตนับจากวันปัจจุบัน
ทฤษฎีที่อธิบายถึงการที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีรูปแบบต่างกันเรียกว่า “ทฤษฎีโครงสร้างอัตราผลตอบแทน” ซึ่งลักษณะของผลตอบแทนสามารถจำแนกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่
- ทฤษฎีที่อธิบายอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าจากการคาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตโดยไม่มีปัจจัยใดมาเกี่ยวข้อง
- ทฤษฎีการคาดการณ์ของตลาดที่ไม่เบี่ยงเบน: สิ่งเดียวที่มีผลต่อรูปร่างเส้นอัตราผลตอบแทนซึ่งสะท้อนอยู่ในอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าคือ การคาดคะเนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในอนาคตของผู้ลงทุนในอนาคต
- ทฤษฎีที่อธิบายอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าจากการคาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ยในอนาคตโดยมีปัจจัยอื่นมาเกี่ยวข้อง
- ทฤษฎีค่าชดเชยความเสี่ยงให้กับสภาพคล่อง: ผู้ลงทุนจะลงทุนในตราสารระยะยาว ถ้าประเมินแล้วว่าจะได้รับผลตอบแทนระยะยาวสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยระยะยาวตามที่ตลาดคาดไว้ ส่วนของผลตอบแทนที่สูงขึ้นคือผลตอบแทนชดเชยความเสี่ยงที่แปรผันในทางเดียวกันกับอายุการลงทุน
- ทฤษฎีส่วนตลาดที่นิยม: ใกล้เคียงกับทฤษฎีก่อนหน้า แต่ความเสี่ยงไม่จำเป็นที่จะเพิ่มขึ้นตามอายุการลงทุนได้เพียงรูปแบบเดียว ทฤษฎีนี้ดูจะสอดคล้องกับลักษณะของเส้นโครงสร้างอัตราผลตอบแทนในโลกแห่งความเป็นจริงมากที่สุด
- ทฤษฎีที่อธิบายอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้าโดยไม่ได้อาศัยการคาดการณ์ของอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
- ทฤษฎีการแยกส่วนตลาด: แตกต่างจากทฤษฎีส่วนตลาดที่นิยมคือ “แต่ละกลุ่มจะไม่เปลี่ยนแปลงความต้องการเพื่อแสวงกำไรอันเกิดจากความแตกต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์และอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า”
การเปลี่ยนแปลงของเส้นผลตอบแทน
การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงเส้นอัตราผลตอบแทนจะพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงของความชันของเส้นที่เปลี่ยนไป
คำว่า “ความชัน” หมายถึงระยะห่างหรือสเปรดระหว่างผลตอบแทนระยะยาวกับผลตอบแทนระยะสั้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
- การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วความชันมีค่าลดลง
- การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้วความชันมีค่าเพิ่มขึ้น
การเปลี่ยนแปลงเส้นอัตราผลตอบแทนสามารถแบ่งได้ 2 ลักษณะ
- การเปลี่ยนแปลงแบบขนาน: ผลตอบแทนของทุกระยะอายุการลงทุนของแต่ละตราสารหนี้เปลี่ยนแปลงไปเท่ากันไปในทิศทางเดียวกัน
- การเปลี่ยนแปลงแบบไม่ขนาน แบ่งออกเป็น
2.1 การเปลี่ยนแปลงแบบบิดเกลียว แบ่งออกเป็น
- Bearish Flattening: อัตราผลตอบแทนระยะสั้นปรับสูงขึ้นเร็วกว่าการลดลงของอัตราผลตอบแทนะระยะยาว
- Bearish Steepening:อัตราผลตอบแทนระยะยาวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเปลี่ยนแปลงของดอกเบี้ยระยะสั้น
- Bullish Flattening: อัตราผลตอบแทนระยะยาวเปลี่ยนแปลงลดลงเร็วกว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้น
- Bullish Steepening: อัตราผลตอบแทนระยะสั้นปรับตัวลดลงเร็วกว่าอัตราผลตอบแทนระยะยาว
2.2 การเปลี่ยนแปลงแบบผีเสื้อ: อัตราผลตอบแทนระยะสั้นและระยะยาวจะเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน ในขณะที่ผลตอบแทนระยะปานกลางจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางตรงกันข้าม
บทที่ 5 การวิเคราะห์ความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ย
ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้
ลักษณะความสัมพันธ์ทั่วไป
ประเภทของตราสารหนี้ | การเปรียบเทียบ | ||
Premium Bond | อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ > | อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ย > | อัตราผลตอบแทนจนถึงกำหนดไถ่ถอน |
Par Bond | อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ = | อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ย = | อัตราผลตอบแทนจนถึงกำหนดไถ่ถอน |
Discount Bond | อัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ < | อัตราผลตอบแทนจากดอกเบี้ย < | อัตราผลตอบแทนจนถึงกำหนดไถ่ถอน |
ความสัมพันธ์ระหว่างราคาและอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่ไม่มีสิทธิแฝง
- ราคาตราสารหนี้และอัตราผลตอบแทนมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม
- ความสัมพันธ์ระหว่างราคาตราสารหนี้และอัตราผลตอบแทนมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง
- การเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงเล็กน้อยที่มีขนาดเท่ากัน ราคาตราสารหนี้จะเปลี่ยนแปลงคิดเป็นร้อยละที่เท่ากัน
- การเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากในขนาดเท่ากัน ราคาตราสารหนี้จะเปลี่ยนแปลงคิดเป็นร้อยละที่ไม่เท่ากัน
- การลดลงของอัตราผลตอบแทนทำให้ราคาตราสารหนี้เพิ่มสูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลง ในการเพิ่มหรือลดลงของอัตราผลตอบแทนที่เท่ากัน และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มากนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาตราสารหนี้จะสูงกว่าการลดลงของตราสารหนี้
ความสัมพันธ์ระหว่างราคาและอัตราดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่มีสิทธิแฝง
ราคาของหุ้นกู้ที่มีสิทธิแฝงประกอบด้วยราคาของหุ้นกู้พื้นฐานและราคาของสิทธิที่แฝงในตราสารหนี้ โดย
ตราสารหนี้ที่ผู้ออกไถ่ถอนได้ก่อนครบอายุ
V ตราสารหนี้ที่ผู้ออกไถ่ถอนได้ก่อนครบอายุ = V ตราสารหนี้พื้นฐาน – V สิทธิการซื้อคืน
ตราสารหนี้ที่ขายคืนได้ก่อนครบอายุไถ่ถอน
V ตราสารหนี้ขายคืนได้ก่อนครบอายุ = V ตราสารหนี้พื้นฐาน + V สิทธิการซื้อคืน
การวัดความผันผวนด้านราคาตราสารหนี้
- ภาพรวมของความเสี่ยงด้านราคา: ราคาของตราสารหนี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามอัตราผลตอบแทนในท้องตลาด ผู้ลงทุนอาจต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงของราคาตราสารหนี้ที่ลงทุนในกลุ่มทรัพย์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการลงทุนอันเนื่องจากความผันผวนของอัตราผลตอบแทนในท้องตลาด
ตราสารหนี้ที่มีลักษณะแตกต่างกันจะมีความเสี่ยงด้านราคาแตกต่างกัน โดย
- ตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือนาน ความเสี่ยงด้านราคาจะสูง
- ตราสารหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำ ความเสี่ยงด้านราคาสูง
หากลักษณะอื่นของตราสารหนี้ไม่แตกต่างกัน
- การวัดความผันผวนตามวิธีการมูลค่าเต็ม: วัดว่าตราสารหนี้มีการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
- การวัดความผันผวนด้วยดิวเรชัน: เนื่องจากวิธีการมูลค่าเต็มมีข้อจำกัด ทำให้เกิดความต้องการมาตรวัดความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยที่ง่ายขึ้น ซึ่งก็คือ “ดิวเรชัน” โดยดิวเรชันคือ ตัวเลขหรือมาตรวัดแสดงการเปลี่ยนแปลงราคาโดยประมาณ
- การวัดความผันผวนด้วยคอนเวคซ์ซิติ: ด้วยดิวเรชันเป็นการประมาณราคาโดยสมมติว่าความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงราคากับผลตอบแทนเป็นเส้นตรง แต่ในความเป็นจริงคือเป็นเส้นโค้ง ทำให้ค่าการพยากรณ์โดยดิวเรชันต้องปรับค่าความโค้งกับการประมาณค่า ค่าความโค้งดังกล่าวเรียกว่า “คอนเวคซ์ซิติ”
บทที่ 6 การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิต
ความเสี่ยงด้านเครดิตคือการที่ผู้ออกตราสารหนี้จะไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือเงินต้นคืนได้เต็มจำนวนตามระยะเวลาที่กำหนด
ความเสี่ยงด้านเครดิตประกอบด้วยความเสี่ยงทั้งหมด 3 ประเภท
- ความเสี่ยงจากส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาคเอกชนกับพันธบัตรรัฐบาล
- ความเสี่ยงจากการถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
- ความเสี่ยงที่เกิดจากเหตุผิดนัดชำระ
หลักการวัดความเสี่ยงเครดิต
3 ตัวแปรที่จะใช้เป็นข้อมูลนำเข้าเพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิตประกอบด้วย
- มูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะเกิดความเสี่ยง: มูลค่าการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับและเกิดความเสี่ยงต่อเงินจำนวนนั้นเมื่อมีเหตุผิดนัดชำระ
- อัตราการฟื้นตัว: อัตราร้อยละของเงินที่จะได้รับคืนมาเมื่อผิดนัดชำระ
- โอกาสของการผิดนัดชำระ: การประมาณค่าความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่มีการไม่ชำระเงินตามสัญญาในช่วงเวลาที่กำหนด
หลักการวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านเครดิต
การวิเคราะห์ข้อตกลงสิทธิ: ข้อกำหนดสิทธิคือกฎเกณฑ์ที่เขียนขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของผู้บริหารและเพื่อไม่ให้ผู้บริหารใช้อำนาจบริหารอันอาจก่อให้เกิดผลต่อเจ้าหนี้หรือผู้ลงทุน
การวิเคราะห์หลักประกัน: พิจารณาปัจจัยในด้านคุณภาพของหลักประกัน, สภาพคล่องของหลักประกัน, มูลค่าของหลักประกัน รวมถึงโอกาสในการเปลี่ยนแปลงมูลค่าของหลักประกัน เป็นต้น
การวิเคราะห์ความสามารถในการชำระหนี้: การชำระดอกเบี้ยและเงินต้นให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ซึ่งต้องวิเคราะห์ในประเด็นดังต่อไปนี้
- การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางธุรกิจ
- การกำกับดูแลกิจการ
- การวิเคราะห์ความเสี่ยงทางด้านการเงิน เช่น
- อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย
- อัตราส่วนหนี้สิน
- กระแสเงินสด
- สินทรัพย์สุทธิ
- เงินทุนหมุนเวียน
การวัดความเสี่ยงด้านเครดิตโดยการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
อันดับความน่าเชื่อถือคือข้อมูลความเห็นของบริษัทที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีต่อธุรกิจหรือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ ซึ่งบริษัทผู้เชี่ยวชาญดังกล่าวเรียกว่า “บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ” เช่น Moody’s, S&P, Fitch เป็นต้น
กระบวนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
การวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือมี 2 องค์ประกอบสำคัญคือ
- การวิเคราะห์บริษัทผู้ออกตราสารหนี้
- การวิเคราะห์ตราสารหนี้ที่ออก
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีหน้าที่หลักในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อสะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตให้กับผู้ลงทุนในตราสารหนี้ ข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย
- อันดับความน่าเชื่อถือ
- ตราสารหนี้ระยะยาว: ประเมินโอกาสในการผิดนัดชำระ + ขนาดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นเมื่อผิดนัดชำระ
- ตราสารหนี้ระยะสั้น: ประเมินโอกาสผิดนัดชำระในอนาคต
- เครดิตพินิจ: การประกาศเพื่อเตือนให้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งมี 2 รูปแบบคือ แนวโน้มเป็นลบและแนวโน้มเป็นบวก
- แนวโน้มเครดิต: ความเปลี่ยนแปลงของอันดับความน่าเชื่อถือ โดยจำแนกเป็น 3 ลักษณะคือ บวก, ลบและคงที่
นอทชิง (Notching) คือกระบวนการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้แต่ละประเภทของบริษัทผู้ออกตราสารหนึ่ง ๆ ขึ้นหรือลงจากอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท เพื่อสะท้อนความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดจากการผิดนัดที่แตกต่างกันของตราสารหนี้แต่ละประเภท
รูปแบบการร้องขอเพื่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้แบ่งออกเป็น
- แบบร้องขอ: บริษัทผู้ออกตราสารหนี้ขอให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือประเมินและจัดอันดับความน่าเชื่อถือขณะที่จะออกตราสารหนี้เพื่อขายให้กับบุคคลทั่วไป บริษัทที่ร้องขอจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ
- แบบไม่ร้องขอ: เมื่อข้อมูลของบริษัทที่ออกตราสารหนี้เป็นที่เปิดเผยแก่สาธารณะ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะประเมินอันดับความน่าเชื่อถือสำหรับบริษัทที่ไม่ร้องขอ
ลำดับขั้นของอันดับความน่าเชื่อถือ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ
ลำดับขั้นของอันดับความน่าเชื่อถือ | สัญลักษณ์ในแต่ละลำดับ |
กลุ่มลงทุนได้ | AAA, AA, A และ BBB (S&P และ Fitch) Aaa, Aa, A, Baa (Moody’s) |
กลุ่มเก็งกำไร | BB, B, CCC, CC, C (S&P และ Fitch) Ba, B, Caa, Ca, C (Moody’s) |
กลุ่มผิดนัดชำระ | D (S&P และ Fitch) C (Moody’s) |
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้จาก
- อัตราส่วนทางการเงิน
- หลักทรัพย์ค้ำประกัน
- ระดับความด้อยสิทธิ
- การค้ำประกัน
- การกำหนดเงินเพื่อไถ่ถอน
- ระยะเวลาถึงกำหนดไถ่ถอน
- ความมีเสถียรภาพ
- กฎระเบียบ
- การดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม
- ภาระด้านสินค้า
- ด้านแรงงาน
- มาตรฐานการบัญชี
บทที่ 7 กลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้เบื้องต้น
ภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้
กลยุทธ์สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ
- กลยุทธ์การลงทุนที่อิงกับเกณฑ์มาตรฐาน: กลยุทธ์ที่ผู้ลงทุนหรือลูกค้าเลือกดัชนีตราสารหนี้เพื่อใช้เกณฑ์มาตรฐานในการเปรียบเทียบและการประเมินผลการลงทุน ซึ่งยังจำแนกวิธีการออกเป็นด้านต่าง ๆ เช่น
- การเทียบเคียงกับดัชนี
- การเทียบเคียงดัชนีแบบประยุกต์การเทียบปัจจัยความเสี่ยงหลัก
- การเทียบเคียงดัชนีแบบประยุกต์การเทียบปัจจัยความเสี่ยงรอง
- การบริหารแบบแอคทิฟที่ให้มีการเบี่ยงเบนได้บ้าง
- การบริหารแบบแอคทิฟแบบไม่มีข้อจำกัด
- การบริหารแบบคอร์/แซทเทลไลท์
- กลยุทธ์การลงทุนที่วัดผลลัพธ์ด้วยค่าสัมบูรณ์ผลตอบแทน: กลยุทธ์ที่ผู้บริหารการลงทุนจะพยายามทำให้ผลตอบแทนของกลุ่มตราสารหนี้ที่บริหารมีค่าสูงสุดในกรอบเวลาที่กำหนดโดยไม่คำนึงถึงสภาพการณ์ของตลาด
- กลยุทธ์การลงทุนที่มุ่งผลลัพธ์ให้สามารถชำระหนี้ได้: การลงทุนในตราสารหนี้ของบางองค์กรมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถนำดอกผลไปชำระพันธะหรือหนี้ในอนาคตได้ เช่น กองทุนเพื่อการเกษียณ, บริษัทประกัน เป็นต้น
ปัจจัยที่มีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้
โดยทั่วไปแล้ว ปัจจัยความเสี่ยงต่อตราสารหนี้แบ่งได้เป็นสองกลุ่มคือ
- ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย ได้แก่
1.1 ปัจจัยความเสี่ยงตามกลุ่ม
1.2 ปัจจัยความเสี่ยงเครดิต
1.3 ปัจจัยความเสี่ยงของสิทธิแฝง
- ปัจจัยเสี่ยงที่สัมพันธ์กับอัตราดอกเบี้ย
2.1 นโยบายการเงิน
2.2 นโยบายการคลัง
2.3 อัตราเงินเฟ้อ
2.4 อุปสงค์และอุปทานของเงินในระบบเศรษฐกิจ
2.5 ระบบเศรษฐกิจ
2.6 การดูแลระดับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย
ภาพรวมกลยุทธ์การลงทุนแบบแอคทิฟ
ผู้บริหารการลงทุนจะพยายามให้ผลตอบแทนของพอร์ตชนะหรือสูงกว่าผลตอบแทนของดัชนีที่ใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐาน กุญแจสำคัญของการบริหารพอร์ตตราสารหนี้แบบแอคทิฟคือการคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย
การคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยนำไปสู่กลยุทธ์การลงทุนแบบแอคทิฟ 3 ลักษณะคือ
- กลยุทธ์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย: การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยหมายถึงการที่ดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้นหรือลดลง หลักการเบื้องต้นคือการ “ซื้อถูก” และ “ขายแพง”
- กลยุทธ์ที่เกิดจากการคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงของเส้นโค้งอัตราผลตอบแทน: การเปลี่ยนแปลงเส้นโค้งอัตราผลตอบแทนหมายถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ภาครัฐที่มีอายุต่าง ๆ
การเปลี่ยนแปลงเส้นโค้งอัตราผลตอบแทนมี 2 ลักษณะคือ
- การเปลี่ยนแปลงแบบขนาน
- การเปลี่ยนแปลงแบบไม่ขนาน
- กลยุทธ์ที่เกิดจากการคาดคะเนการเปลี่ยนแปลงส่วนต่างอัตราผลตอบแทน: การคาดคะเนว่าส่วนต่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้สองกลุ่มเปลี่ยนแปลงแตกต่างจากที่เคยเป็นอยู่มากหรือน้อยกว่าปกติ
หากส่วนต่างอัตราผลตอบแทนเปลี่ยนแปลงไปผิดปกติหรือผิดไปจากคาดการณ์ ผู้บริหารการลงทุนจะใช้กลยุทธ์เปลี่ยนการลงทุนจากกลุ่มหนึ่งไปยังอีกกลุ่มหนึ่ง เพื่อที่ว่าเมื่อส่วนต่างการลงทุนกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วจะทำให้พอร์ตการลงทุนได้กำไรมากขึ้น
จุดประสงค์ของการลงทุนจากกลยุทธ์นี้คือการค้นหาตราสารหนี้ที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ซึ่งอาจเกิดได้จาก 2 กรณีคือ
- อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้มีสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้อื่น
- อัตราผลตอบแทนมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงลดลง เพราะมีการคาดการณ์ว่าความน่าเชื่อถือหรือเครดิตของตราสารหนี้จะเปลี่ยนแปลงดีขึ้นจากสถานการณ์ที่คาดไว้
คุณสามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่ : คลิีก
บทความนี้เป็นแค่สรุปหนังสือ หากคุณต้องการอ่านฉบับเต็ม คุณสามารถสั่งซื้อที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์