มาตรฐานสากลด้านการวัดผลการดำเนินงานการลงทุน [ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย]

หนังสือเล่มนี้เป็นหนึ่งในหนังสือของกลุ่มวิชาที่ 1: จรรยาบรรณและมาตรฐานการปฏิบัติงานภายใต้หลักสูตร CISA ใหม่ระดับที่ 1 (หลักสูตรการวิเคราะห์และการจัดการลงทุนขั้นพื้นฐาน)

บทที่ 1 แนวคิดและความสำคัญของมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล

ความสำคัญของการกำหนดมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล (GIPS)

เนื่องจากหลักปฏิบัติ หลักเกณฑ์การวัดและรายงานผลการดำเนินงานมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละประเทศ ทำให้การดำรงมาตรฐานในการวัดและนำเสนอผลการดำเนินงานอันเป็นมาตรฐานสากลและทั่วโลกให้การยอมรับจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบริษัทจัดการลงทุนและลูกค้า

บริษัทจัดการลงทุนที่ใช้มาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากลจะช่วยให้ผู้ลงทุนเกิดมั่นใจได้ว่ามีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานอย่างครบถ้วนและเป็นธรรม

ลูกค้าสามารถนำผลการดำเนินงานดังกล่าวไปเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับบริษัทอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก

วัตถุประสงค์ของการกำหนดมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล

  1. สนับสนุนให้เกิดประโยชน์แก่นักลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน
  2. เพื่อรับรองความถูกต้องและสอดคล้องของข้อมูล
  3. เพื่อสร้างมาตรฐานในการคำนวณและนำเสนอผลการดำเนินงานซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวและเป็นที่ยอมรับระดับสากล
  4. สนับสนุนให้เกิดการแข่งขันระหว่างบริษัทผู้ประกอบการลงทุนระดับสากลอย่างโปร่งใส
  5. ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมกำกับดูแลการดำเนินงานด้วยตนเองภายใต้มาตรฐานระดับสากล

โครงสร้างของมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ

  • บริษัท – หนังสือเล่มนี้จะเน้นในส่วนนี้
  • ผู้ถือครองสินทรัพย์
  • ผู้ตรวจสอบการดำเนินงาน

แนวคิดของมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล

  • มาตรฐาน GIPS เป็นมาตรฐานทางจริยธรรมสำหรับการนำเสนอผลการดำเนินงานของกองทุนรวม เพื่อรับประกันความถูกต้องและเป็นธรรมในการเปิดเผยและนำเสนอผลการดำเนินงานของกองทุนรวม
  • บริษัทควรปฏิบัติตามหลักปฏิบัติที่ GIPS กำหนด รวมถึงหลักปฏิบัติ การตีความและการถามตอบที่ CFA Institute และหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐาน GIPS เป็นผู้จัดทำและเผยแพร่
  • มาตรฐาน GIPS ไม่ได้กล่าวถึงการวัดผลการดำเนินงานโดยครอบคลุมทุกด้าน แต่จะดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเมื่อระยะเวลาผ่านไปเพื่อแก้ไขปัญหาด้านการวัดและการนำเสนอผลการดำเนินงาน
  • มาตรฐาน GIPS อาศัยการรวบรวมข้อมูลนำเข้า ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพในการวัดและนำเสนอผลการดำเนินงานของกองทุนรวมให้มีความถูกต้อง ดังนั้น ความถูกต้องของข้อมูลนำเข้าทั้งหมดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง

ภาพรวมการปฏิบัติตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล

  1. การบันทึกผลการดำเนินงานในระยะเวลาที่ผ่านมา

บริษัทนำเสนอผลการดำเนินงานของกองทุนที่ปฏิบัติตามมาตรฐาน GIPS อย่างน้อย 5 ปี 

หากกองทุนมีระยะเวลาดำเนินการน้อยกว่า 5 ปี นำเสนอผลการดำเนินงานนับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนรวม

  1. การยืนยันการปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลและการตรวจสอบความถูกต้อง

บริษัทจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดทุกประการเพื่อรับประกันว่าการดำเนินงานทุกขั้นตอนตรงตามหลักปฏิบัติของมาตรฐาน GIPS ก่อนยืนยันการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ GIPS และหลักการกำกับดูแล

บริษัทอาจจ้างผู้ตรวจสอบอิสระเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการดำเนินงานทุกขั้นตอนของบริษัทตรงหลักปฏิบัติของมาตรฐาน GIPS หรือไม่

  1. การดำเนินการตามมาตรฐานสากล

ประเทศที่ยังไม่มีการกำหนดใช้มาตรฐานการดำเนินงานของกองทุนรวมควรนำมาตรฐาน GIPS มาปรับใช้ และแปลเนื้อหาเป็นภาษาท้องถิ่น (หากจำเป็น)

บทที่ 2 สรุปข้อกำหนดของมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล

องค์ประกอบของมาตรฐานของการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล (GIPS) แบ่งออกเป็น

ส่วนที่ 1 หลักปฏิบัติขั้นพื้นฐาน 

มาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากลสร้างจากหลักการพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งรวมถึง

  • การให้คำจำกัดความของบริษัทอย่างถูกต้อง
  • การจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตามมาตรฐาน GIPS ให้แก่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งหมด รวมถึงนักลงทุนที่ลงทุนใน Pooled Fund
  • การดำเนินการโดยสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
  • การรับรองว่าข้อมูลที่นำเสนอในรายงานไม่ใช่ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

ส่วนที่ 2 วิธีการป้อนข้อมูลและการคำนวณ

ความถูกต้องของข้อมูลนำเข้าเพื่อใช้ในการคำนวณผลการดำเนินงานของกองทุนรวมมีความสำคัญอย่างยิ่งในการดำเนินการตามมาตรฐาน GIPS อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเป็นการสร้างรากฐานสำหรับการนำเสนอผลการดำเนินงานของกองทุนรวมอย่างครบถ้วน เที่ยงตรงและสามารถใช้ในการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมแต่ละบริษัท

ส่วนที่ 3 การสร้าง Composite และ Pooled Fund

กองทุน Composite ประกอบด้วยพอร์ตการลงทุนหนึ่งรายการขึ้นไป ซึ่งลงทุนภายใต้แนวทางการลงทุน วัตถุประสงค์ในการลงทุน และกลยุทธ์ในการลงทุนรูปแบบใกล้เคียงกัน

การสร้างกองทุน Composite มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการนำเสนอผลการดำเนินงานของกองทุนรวมอย่างครบถ้วน สอดคล้องและเที่ยงธรรม รวมถึงการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนรวมในแต่ละช่วงเวลา และระหว่างบริษัท

ส่วนที่ 4-7 การนำเสนอข้อมูล 

ข้อกำหนดและข้อเสนอแนะสำหรับการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนรวมแบ่งออกเป็นสี่ส่วนตามประเภทของผลตอบแทนดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 4: การนำเสนอผลการดำเนินงานของ Composite ผลตอบแทนประเภท Time-weighted Return

ส่วนที่ 5: การนำเสนอผลการดำเนินงานของ Composite ผลตอบแทนประเภท Money-weighted Return

ส่วนที่ 6: การนำเสนอผลการดำเนินงานของ Pooled Fund ผลตอบแทนประเภท Time-weighted Return

ส่วนที่ 7: การนำเสนอผลการดำเนินงานของ Pooled Fund ผลตอบแทนประเภท Money-weighted Return

ส่วนที่ 8 แนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์การลงทุนตามมาตรฐานการวัดผลการดำเนินงานระดับสากล

หากบริษัทต้องการยืนยันการปฏิบัติตามมาตรฐานของ GIPS สำหรับการโฆษณา บริษัทจะต้องดำเนินการตามแนวทางการโฆษณาผลิตภัณฑ์ตามมาตรฐาน GIPS หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์การลงทุนโดยใช้ข้อมูลจากรายงานผลการดำเนินงานของกองทุนรวมที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานของ GIPS 

คุณสามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่นี่ : คลิ๊ก

บทความนี้เป็นแค่สรุปหนังสือ หากคุณต้องการอ่านฉบับเต็ม คุณสามารถสั่งซื้อที่ศูนย์หนังสือจุฬาลงกรณ์