เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า “น้ำปลา” คือหนึ่งในเครื่องปรุงรสที่อยู่คู่ครัวไทยมาอย่างยาวนาน และหนึ่งในยี่ห้อที่คนไทยรู้จักกันดีต้องมี “ตราปลาหมึก” เป็นแน่ แล้วรู้หรือไม่ว่าน้ำปลาตราปลาหมึกมีมายาวนานกว่า 80 ปี และเป็นผู้ส่งออกน้ำปลาชั้นนำอันดับหนึ่ง โดยส่งออกมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก บทความนี้จะแกะรอยสูตรความสำเร็จของเขากัน
ครอบครัวน้ำปลา
เริ่มจากคุณเทียน นิธิปิติกาญจน์ (รุ่นอากง) เคยช่วยงานกิจการน้ำปลาของครอบครัวซึ่งก็คือ “น้ำปลาทิพรส” (ซึ่งก่อตั้งโดยนายไล่เจี๊ยง แซ่ทั้ง) แล้วหลังจากนั้นคุณเทียนก็มาเปิดกิจการเองในชื่อ บริษัท โรงงานน้ำปลาไทย (ตราปลาหมึก) จำกัด ในปี พ.ศ. 2487 เมื่อนับมาถึงปัจจุบันก็มาถึงทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นกิจการน้ำปลาตราปลาหมึกที่มีมายาวนานกว่า 80 ปี (แต่ถ้านับรวมของรุ่นต้นตระกูลหรือน้ำปลาทิพรสจะมีอายุมากกว่า 100 ปี)
โรงงานตั้งอยู่ในจังหวัด สมุทรปราการและสมุทรสงคราม อยู่ติดทะเลเพื่อให้ได้ปลาที่สดใหม่ ส่วนตราสัญลักษณ์มาจากที่ยุคนั้นปลาหมึกแห้งเป็นสัญลักษณ์ของความพรีเมียม และคุณเทียนมองว่าน่าจะเป็นที่จดจำได้ง่าย จึงนำมาเป็นโลโก้ แต่ไม่ได้มีการนำปลาหมึกมาทำน้ำปลาแต่อย่างใด ดังนั้นปลา100%ที่ใช้คือ “ปลากะตัก” หรืออีกชื่อคือ “ปลาไส้ตัน” และใช้เกลือทะเลหมักบ่มตามธรรมชาตินานสูงสุด 18 เดือน แล้วจึงนำไปผ่านกรรมวิธีการกรอง 5 ขั้นตอน ปรุงรสจนได้รสชาติมาตรฐานก่อนเข้าสู่ขั้นตอนของการบรรจุขวด โดยในแต่ละเดือนสามารถผลิตน้ำปลาได้ถึงเดือนละ 4 ล้านลิตร
น้ำปลาตราปลาหมึก (Squid Brand) ถือเป็นแบรนด์แรกของโลกที่สามารถส่งน้ำปลาออกไปขายนอกประเทศตนเอง ทำให้ปัจจุบันมียอดส่งออกสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยส่งออกไปมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา, ยุโรป, ออสเตรเลีย, เอเชีย และแอฟริกา ซึ่งมีการส่งออกไปที่อเมริกาสูงสุดถึง 40% ของยอดส่งออกทั้งหมด และล่าสุดบริษัทยังได้รางวัล THAI Select 2567 การันตีสินค้ารสชาติไทยแท้คุณภาพส่งออกอีกด้วย
ปัจจุบันน้ำปลาตราปลาหมึกมี 11 SKUs ได้แก่
- น้ำปลาตราปลาหมึกฉลากเขียว (สูตรOriginal)
- ฉลากเหลือง (สูตรกลมกล่อม)
- ฉลากทอง (สูตรพรีเมียม)
- น้ำปลาวีแกน คือ น้ำปลาที่ไม่ใช้ปลา แต่ใช้สาหร่ายคอมบุกับเห็ดชิตาเกะหมัก แต่มีรสชาติเหมือนน้ำปลา
- น้ำปลาหิมาลายัน
- น้ำปลาสำหรับเด็ก
- น้ำปลาสำหรับผู้ใหญ่
- น้ำปลาทรัฟเฟิล
- น้ำปลาพริกหมาล่า
- น้ำปลาร้า 2 สูตร สีแดงและสีส้ม
ส่วนของน้ำปลาแบรนด์ “เมกาเชฟ” เกิดจากทายาทรุ่นที่ 3 โดยคุณภาส นิธิปิติกาญจน์ ได้ออกมาแตกไลน์ธุรกิจออกไปจัดตั้ง บริษัท สินวารีพัฒนา จำกัด ขึ้นในปี พ.ศ. 2546 ภายใต้ชื่อแบรนด์ใหม่อย่าง “Megachef” โดยมีเป้าหมายผลิตน้ำปลาพรีเมียม รสชาติกลมกล่อม อุดมไปด้วยโปรตีนและฮีสตามีนต่ำ (ฮีสตามีนคือ สารก่ออาการภูมิแพ้ พบได้ในอาหารทะเลหลายชนิด รวมถึงทั้งพืช และสัตว์ที่ผ่านการหมักดอง) ปลอดภัย ไม่มีสารเคมี ไม่ใส่สี และไม่เติมผงชูรส เหมาะสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยที่รักสุขภาพ ซึ่งเรียกได้ว่ามองการณ์ไกลสอดคล้องกับยุคสมัยปัจจุบันที่ผู้บริโภคต่างเน้นใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น
เนื่องจากเมกาเชฟเน้นน้ำปลาเกรดพรีเมียม ราคาจึงค่อนข้างสูงกว่าแบรนด์อื่น ดังนั้นแรกเริ่มจึงมีเป้าหมายไปที่ตลาดต่างประเทศเป็นหลัก แต่ต่อมาเมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดอุปสรรคเรื่องการขนส่ง การส่งออกล่าช้า เนื่องจากการ Lock down ของแต่ละประเทศ ปัจจัยต่างๆเหล่านี้ทำให้เขาปรับตัวหันมากระตุ้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น
สาระน่ารู้เพิ่มเติม :
- ถ้าเทียบซีอิ๊วกับน้ำปลา กิจการซีอิ๊วมีรายได้มากกว่ากิจการน้ำปลาถึงอีก 1 เท่าตัว
- น้ำปลาทิพรส เป็นน้ำปลาที่ขายดีอันดับ 1 ในไทย ปี 2566 มีรายได้รวม 2,949 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 425 ล้านบาท
- น้ำปลาตราปลาหมึก ปี 2566 มีรายได้รวม 914 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 85 ล้านบาท
- น้ำปลาเมกาเชฟ ปี 2566 มีรายได้รวม 549 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 17 ล้านบาท
(ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
สรุป
จากที่สมัยก่อนคนไทยนิยมใช้เกลือปรุงอาหาร น้ำปลาทิพรสก็เป็นผู้ริเริ่มกรรมวิธีการผลิตน้ำปลา และได้ประกอบกิจการค้าขายจนครองตลาดไทยมาได้ยาวนาน และเมื่อมีน้ำปลาตราปลาหมึกก็ต้องเริ่มหาตลาดเพิ่ม เริ่มขยายตลาดไปต่างประเทศเพิ่มเติม จนมาถึงน้ำปลาเมกาเชฟก็ปรับตัวเน้นสร้างตลาดแบรนด์พรีเมียมและเน้นสุขภาพของผู้บริโภค จะเห็นได้ว่าการที่ธุรกิจจะอยู่รอดก็ต้องอาศัยการปรับตัวหาโอกาสหรือช่องทางใหม่ๆตลอดเวลา