หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ไม่นาน นโยบายทางการค้าก็ถูกเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง แม้จะรู้ว่าทรัมป์มีแนวคิด “America First” ที่เน้นปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกันเป็นหลัก

แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงคือการดึงเอาอัตราภาษีศุลกากร (Tariff) มาใช้เป็นอาวุธต่อรองในลักษณะ มาตราการภาษีโต้กลับ หรือ Reciprocal Tariff จนเกิดแรงกระเพื่อมต่อระบบเศรษฐกิจและการค้าโลกอย่างรุนแรง ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทิ้งดิ่ง จนเกิดความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังจะมาถึง

ในบทความนี้จะนำพาไปสู่ การอธิบายเกี่ยวกับภาษีศุลกากร และ Reciprocal Tariff ว่าคืออะไร

ภาษีศุลกากร หรือ Tariff คืออะไร

ภาษีศุลกากร (Tariff) คือ ภาษีที่รัฐบาลเรียกเก็บจากสินค้านำเข้า เพื่อนำรายได้เข้ารัฐและปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ

หลายคนอาจคิดว่า การเก็บภาษีนำเข้า คงไม่ได้มีประโยชน์ในวงกว้างมากมายหรอก เป็นเพียงช่องทางการหารายได้เข้ารัฐเท่านั้น

แต่ในความจริงแล้ว การเก็บภาษีนำเข้าสำคัญมาก ๆ ในเชิงนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ หรือใช้เป็น “อาวุธ” ทางการค้าเพื่อสร้างอำนาจต่อรองได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น เหล็ก ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในหลายอุตสาหกรรม หากรัฐบาลมองว่าการนำเข้าเหล็กราคาถูกอาจทำให้ผู้ผลิตเหล็กในประเทศเสียเปรียบ ก็สามารถตั้งกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นเพื่อ “ปกป้อง” โรงงานภายในประเทศได้

เปรียบเทียบง่าย ๆ ถ้าการนำเข้าเหล็กราคาถูกเป็นเหมือนสายน้ำที่ไหลทะลักเข้ามาจนท่วมท้น รัฐบาลก็มีหน้าที่สร้างกำแพงกั้นสายน้ำนี้ ไม่ให้ไหลเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

ซึ่งการกำหนดภาษีนำเข้าให้สูงขึ้น ถูกใช้เป็นอาวุธทางการค้า ที่ทรัมป์ใช้ในการต่อรองกับหลาย ๆ ประเทศ หรือที่เรียกว่า Reciprocal Tariff

มาตราการภาษีโต้กลับ หรือ Reciprocal Tariff คืออะไร

การที่ประเทศหนึ่ง ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอีกประเทศหนึ่ง เพื่อตอบโต้การที่ประเทศนั้นได้เก็บภาษี หรือใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อสินค้าของประเทศแรกอยู่ก่อนแล้ว

ซึ่งในกรณีของทรัมป์ เป็นการมองที่ว่า ประเทศที่ทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้ามากเท่าไหร่ จะต้องโดน Reciprocal Tariff มากเท่านั้น

อย่างที่ญี่ปุ่นโดน 24%, ไทยโดน 37% และเวียดนามโดน 46% เป็นต้น

ทำไมทรัมป์ถึงมองว่าการขาดดุลการค้า เป็นพิษร้ายต่อสหรัฐฯ

ทรัมป์อาจมองว่าการขาดดุลการค้า (นำเข้ามากกว่าส่งออก) ทำให้เงินไหลออกนอกประเทศมากเกินไป กระทบต่อผู้ผลิตและแรงงานในสหรัฐฯ เสมือนเป็นการที่สหรัฐฯถูกเอาเปรียบ จึงต้องโดนภาษีโต้กลับที่รุนแรง

ผลกระทบต่อประเทศที่ถูกขึ้นภาษี

เมื่อสหรัฐฯ เลือกขึ้นภาษีกับสินค้าจากประเทศคู่ค้าอย่างบ้าคลั่ง ทำให้ผู้ส่งออกของประเทศเหล่านั้นเจอกับปัญหาต้นทุนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นและแข่งขันลำบากในตลาดอเมริกา หากไม่มีการปรับกลยุทธ์ เช่น ย้ายฐานการผลิต ลดต้นทุน หรือหาตลาดใหม่ ก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ ได้

ความเสี่ยงต่อสงครามการค้า

ปัญหาคือ หากแต่ละประเทศไม่ยอมอ่อนข้อและโต้ตอบกลับด้วยการขึ้นภาษีสินค้าอเมริกันบ้าง อย่างที่เราเห็นกัน คือประเทศจีน ได้ประกาศภาษีโต้กลับสหรัฐฯแล้วเช่นกัน

มาตรการภาษีโต้กลับนี้ กำลังขยายวงกว้างจนกระทบตลาดโลก และฉุดให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนัก ราวกลับว่า เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหม่

ท้ายที่สุดแล้ว การใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของทรัมป์อาจเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวทีเศรษฐกิจโลกได้พร้อมกัน

ถึงแม้ว่าอาวุธชิ้นนี้จะช่วยปกป้องอุตสาหกรรมในสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าได้ดีก็ตาม

แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจกระตุ้นให้คู่ค้าตอบโต้กลับด้วยวิธีเดียวกัน จนก่อให้เกิดสงครามการค้า ที่ส่งผลเสียในวงกว้าง ไม่เพียงแต่กระทบผู้ผลิตและผู้บริโภคในประเทศคู่ขัดแย้ง แต่ยังส่งแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จนมีคำถามว่า การกระทำของทรัมป์ จะเป็นการได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่