เมื่อพูดถึงกระเพาะปลาเก่า เชื่อว่าภาพในความคิดของหลายๆคนคือของสะสมที่มีมูลค่าสูงซึ่งอาจพุ่งไปถึงหลักแสนจนถึงหลักสิบล้านบาท อีกทั้งยังมีความเชื่อในเรื่องของสรรพคุณที่เป็นดั่งยาอายุวัฒนะ จนได้ชื่อว่าเป็นโสมแห่งท้องทะเล แล้วเราเคยสงสัยไหมว่า ทำไมกระเพาะปลาเก่าเหล่านี้มูลค่าถึงพุ่งสูงได้มากขนานนั้น

ทำไมกระเพาะปลาเก่าถึงแพง?

เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในยุคสมัยราชวงศ์ถัง มีหลักฐานอยู่ในหนังสือชื่อ ซินถังชู(新唐书)กล่าวว่ากระเพาะปลาได้ถูกใช้เป็นเครื่องบรรณาการให้แก่ฮ่องเต้ โดยกระเพาะปลาที่นำขึ้นถวาย ทางราชสำนักจะนำไปปรุงเป็นยาบำรุง แม้กระทั่งพระนางบูเช็คเทียน จักรพรรดินีองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีน ก็มีบันทึกว่าพระองค์โปรดปรานเสวยกระเพาะปลาเป็นอย่างมาก

แล้วทำไมกระเพาะปลาถึงนิยมนำมาปรุงเป็นยาบำรุง ตามตำราจีนแล้วกระเพาะปลามีฤทธิ์ช่วยบำรุงกำลัง บำรุงไต ฟื้นฟูร่างกาย เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน เป็นแหล่งโปรตีนที่ดี ช่วยบำรุงผิวพรรณ บำรุงการไหลเวียนของเลือด จึงเป็นที่นิยมนำมาตุ๋นผสมกับยาจีนเพื่อบำรุงผู้หญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงหลังคลอด อีกทั้งยังมีความเชื่อว่ากระเพาะปลายิ่งเก่าเท่าไหร่ สรรพคุณจะยิ่งสูงมากขึ้นเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ชาวจีนนิยมเก็บรักษากระเพาะปลาไว้เพื่อตุ๋นให้ลูกสาวหรือลูกสะใภ้ทานช่วงตั้งครรภ์ และเมื่อความนิยมเป็นเช่นนี้ ผู้คนจึงเริ่มเก็บสะสมกระเพาะปลาไว้เป็นทรัพย์สินเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป

แต่กระเพาะปลาที่เราเรียกกันจนติดปากนี้ จริงๆมันไม่ใช่กระเพาะปลาของปลานะ แต่มันคือถุงลมของปลาที่ช่วยรักษาอุณหภูมิและช่วยพยุงให้ปลาลอยตัวในน้ำได้ต่างหาก

ปัจจัยที่ส่งผลต่อราคากระเพาะปลา

ทีนี้เรามาดูถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อราคากระเพาะปลากันดีกว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นของสะสมแล้ว แน่นอนว่านักสะสมย่อมมีวิธีพิจารณาถึงมูลค่าของมัน

  1. สายพันธุ์ปลา – ยิ่งเป็นกระเพาะปลาของปลาน้ำลึกหรือปลาที่หายากเท่าไหร่ราคาก็จะยิ่งสูง และถ้าปลานั้นเป็นปลาที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ราคายิ่งพุ่งไปทวีคูณ สายพันธุ์ปลาที่นักสะสมชอบเล่น เช่น ปลากิมจี๊ ปลาเจี่ยโต้ว เป็นต้น
  2. แหล่งที่มาของปลา – ปลาที่จับได้ในน่านน้ำของจีนจะราคาสูง เพราะเชื่อว่าจะได้กระเพาะปลาที่มีคุณภาพสูง
  3. เพศของปลา – ในแวดวงนักสะสม แค่ดูลักษณะกระเพาะปลาก็สามารถแยกได้ทันทีว่าเป็นของปลาตัวผู้หรือปลาตัวเมีย โดยราคาของกระเพาะปลาตัวผู้ในตลาดนักสะสมจะให้ราคาสูงกว่าปลาตัวเมียถึง 2 เท่า ตัวอย่างเช่น กระเพาะปลาของปลากิมจี๊โดยในตลาดหากเป็นของปลาตัวเมีย ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อกิโลกรัม แต่หากเป็นของปลาตัวผู้ ราคาจะสามารถพุ่งไปได้ถึง 20 ล้านบาทต่อกิโลกรัมได้เลยทีเดียว สาเหตุมาจากที่ในตลาดกระเพาะปลาของตัวผู้นั้นหายากกว่าปลาตัวเมีย และตัวผู้กระเพาะปลาจะมีความหนามากกว่า ซึ่งจะส่งผลต่อรสชาติที่ดีขึ้นด้วยนั่นเอง
  4. ขนาด และสภาพความสมบูรณ์ – กระเพาะปลาเก่ายิ่งผู้เก็บรักษาเก็บไว้ได้รูปทรงและสภาพที่สมบูรณ์มากเท่าไหร่ ราคาก็จะยิ่งผันแปรไปตามสภาพนั้น เนื่องจากปกติกระเพาะปลาเก่าที่ซื้อขายกันบางชิ้นถูกเก็บไว้หลายสิบปี จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์

กระเพาะปลาทั่วไป VS กระเพาะปลาราคาสูง

แล้วกระเพาะปลาที่เราทานกันทุกวันนี้แตกต่างจากกระเพาะปลาที่ราคาสูงอย่างไร ทำไมราคาถึงต่างกันลิบลับ ต้องบอกว่าตามร้านอาหาร Street food เมนูกระเพาะปลาที่เราเห็นกันอาจไม่ได้ใช้กระเพาะปลาจริงๆมาทำ แต่เป็นหนังหมูที่ทำเลียนแบบรสสัมผัสของกระเพาะปลามาอีกที ส่วนกระเพาะปลาจริงๆที่นำมาทำอาหาร ราคาจะแตกต่างกันไปตามเกรดพันธุ์ปลาและอายุที่เก็บรักษา ซึ่งกระเพาะปลาที่นิยมนำมาทำเป็นอาหารราคาจะอยู่ที่หลักพันถึงหลักหมื่นบาทต่อกิโลกรัม

ราคากระเพาะปลาเก่าไม่มีราคากลางที่ตายตัว ราคาจึงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้ซื้อขายเหมือนการซื้อหยก โดยทั่วไปแล้วผู้ที่ซื้อกระเพาะปลาเก่าราคาสูงๆไม่ได้ซื้อเพื่อนำไปปรุงยา แต่ซื้อไว้เพื่อเป็นเสมือนเครื่องแสดงฐานะ แสดงถึงความหรูหรา เป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อให้ลูกหลานได้ ซึ่งราคาที่สูงของกระเพาะปลาเก่าย่อมสะท้อนถึงความหายาก กระบวนการเก็บรักษาที่พิถีพิถัน แม้ว่าจะเป็นของที่จับต้องได้ยากแต่ก็ต้องยอมรับว่ากระเพาะปลาเก่าถือเป็นหนึ่งที่ของที่นักสะสมมองว่าควรค่าแก่การลงทุน