เชื่อว่าหลายๆคนคุ้นหูกับ แคมเปญ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ที่เป็นภาพจำกันไป และอาจสับสนจนถึงบัดนี้ว่าเป็นบริษัทเดียวกันหรือไม่ แท้จริงแล้วแม้ว่ามีต้นกำเนิดเดียวกันก็ตาม แต่ปัจจุบันนั้นเป็นคนละบริษัทกันโดยสิ้นเชิง ไม่ได้เป็นเครือฯอะไรใดๆ  วันนี้ก็จะขอพาไปรวบตึงประวัติความเป็นมา กว่าจะเป็นบริษัท ”ศรีสวัสดิ์” และ “เงินติดล้อ” ได้จนถึงทุกวันนี้ต้องผ่านอะไรกันมาบ้างค่ะ

จุดเริ่มต้น

เกิดจากแนวคิดของเสี่ยเจ้าของธุรกิจอู่ซ่อมรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ คุณฉัตรชัย แก้วบุตตา ซึ่งมีเครือข่ายลูกค้าที่นำรถยนต์มาใช้บริการในอู่อยู่เป็นประจำ และส่วนใหญ่มักเจอปัญหาการติดต่อขอกู้เงินจากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเอกสารรายได้ทางการเงิน การตรวจสอบเครดิต รวมถึงการใช้เวลาเดินทางไปยังสาขาต่างๆ ของธนาคาร บ้างก็ต้องพึ่งบริการเงินกู้นอกระบบที่มีสัญญาไม่เป็นธรรม

ดังนั้นในปี 2522 ครอบครัวแก้วบุตตาจึงตัดสินใจเปิดธุรกิจให้บริการสินเชื่อ โดยใช้ชื่อมารดา “ศรีสวัสดิ์ แก้วบุตตา” ตั้งชื่อกิจการว่า “บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ จำกัดเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจให้บริการสินเชื่อในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยใช้ทะเบียนกรรมสิทธิ์รถทุกประเภทเป็นหลักประกัน หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถนั่นเอง นับเป็นผู้บุกเบิกตลาดสินเชื่อประเภทรถแลกเงินในขณะนั้นเลยทีเดียว จนกระทั่งในปี 2534 ก็สามารถขยายกิจการได้มากถึงกว่า 130 สาขาทั่วประเทศ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด”

ต่อมาในปี 2550 กลุ่มธุรกิจประกันและผู้ให้บริการทางการเงินสัญชาติอเมริกัน AIG หรืออเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป ได้เข้ามาเจรจาขอซื้อธุรกิจรวมถึงเครื่องหมายบริการ จากบริษัท ศรีสวัสดิ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (1991) จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น “บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด”  ซึ่งมีการเข้ามาปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจ รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดและกลายเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในชื่อ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ต้องถือว่าทำออกมาได้ดีมาก เพราะชื่อนี้ติดหูพวกเรากว่าทศวรรษเลยทีเดียว

แต่น่าเศร้าที่ในปี 2551 เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ / ซับไพรม์ โดยเริ่มจากการที่ภาวะฟองสบู่แตกในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา และการผิดนัดชำระหนี้ของสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อดอกเบี้ยลอยตัว โดยปัญหาเริ่มปรากฏชัดขึ้นในช่วงปี 2550 แล้วก็เจอปัญหาอย่างหนักในช่วงปี 2551 ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ทาง AIG ไปต่อไม่ไหว ขาดสภาพคล่องอย่างหนัก จึงได้มีการตัดสินใจขายกิจการศรีสวัสดิ์ออกไป โดยผู้เข้าร่วมการซื้อกิจการหนึ่งในนั้นก็มีครอบครัวแก้วบุตตารวมอยู่ด้วย แต่การเจรจาในครั้งนั้นไม่สำเร็จ สุดท้ายผู้ที่เข้ามาซื้อได้สำเร็จก็คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยซื้อกิจการแล้วเสร็จในปี 2552 ทำให้บริษัทฯ กลายเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงศรีฯ พร้อมกับใช้เครื่องหมายการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” และล่าสุดได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บริษัท เงินติดล้อ จำกัด” ในปี 2558 และได้มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ตราสัญลักษณ์เรื่อยมาจนล่าสุดในปี 2561 ก็ได้เป็นสัญลักษณ์ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน เพื่อลดความสับสนและความเข้าใจผิดที่อาจเกิดขึ้นกับลูกค้าได้

ในปี 2564 “TIDLOR” ก็ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในนาม “บริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)”

ย้อนกลับมาในปี 2551 ที่ฝั่งผู้ก่อตั้งดั้งเดิม คือครอบครัวแก้วบุตตา ก็ได้ซื้อบริษัทใหม่ชื่อ “บริษัท พีวี แอนด์เคเคเซอร์วิส 2008 จำกัด” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น “บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด” และหลังจากนั้นมีคดีฟ้องร้องในเรื่องเครื่องหมายบริการจนต้องหยุดดำเนินธุรกิจภายใต้ชื่อบริษัทเดิม อีกทั้งเมื่อไม่สามารถตกลงซื้อธุรกิจเดิมกลับมาจาก AIG จึงมีการเปิด “บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ จำกัด” ซึ่งประกอบกิจการรับจ้างจัดเก็บหนี้และบริการสินเชื่อ และได้มีการขยายสาขา เพิ่มทุนฯ และดำเนินกิจการเรื่อยมาจนสุดท้ายได้นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ในนามของ “บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)” “SAWAD” ในปี 2557 จนถึงปัจจุบันนั่นเอง

แม้ว่าศาลฎีกาจะยกฟ้องยุติคดี ที่มีการฟ้องร้องกันในเรื่องเครื่องหมายบริการระหว่าง 2 บริษัทนี้ เพราะอ้างว่าก่อให้เกิดความเข้าใจสับสนของประชาชนผู้ใช้บริการ แต่ดูแล้วสงครามธุรกิจนี้ก็คงไม่จบกันง่ายๆ ดังจะเห็นได้จากหลายๆธนาคารที่พยายามออกแคมเปญ โฆษณาให้ติดตาตรึงใจ พร้อมทั้งงัดกลยุทธต่างๆ เพื่อช่วงชิงฐานลูกค้า แสดงว่ายังมีเม็ดเงินหรือโอกาสเติบโตที่แฝงอยู่ และยิ่งถ้าสามารถดึงฐานลูกค้ากลุ่มที่มีการกู้นอกระบบ มาเข้าในระบบได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคที่ไม่โดนสัญญาเอารัดเอาเปรียบจนเกินไป (หรือถ้าโดนก็น่าจะฟ้องร้องได้ง่ายกว่า) และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นเช่นกัน

เรามาดูตัวเลขผลประกอบการกันบ้างดีกว่า ว่าล่าสุดในปี 2567 นี้เป็นอย่างไร ?

ในปี 2567 ศรีสวัสดิ์ มีรายได้รวม 21,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11.3% และมีกำไรสุทธิ 5,052 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1% (*กำไรสุทธิไม่รวมส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม) ส่วนทางด้านเงินติดล้อ ในปี 2567 มีรายได้รวม 22,161 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 16.8% และมีกำไรสุทธิ 4,230 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 11.6%

จะเห็นได้ว่าแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในปี 2567 จะไม่สดใสมากนัก แต่ผลประกอบการของทั้ง 2 บริษัทนี้ก็ไม่ธรรมดาจริงๆ

สุดท้ายแล้วสำหรับผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็คงต้องขอยืมคำนี้เข้ามาเตือนสติควบคู่ เมื่อมีความจำเป็นต้องกู้เงินหรือขอสินเชื่อใดๆ “กู้เท่าที่จําเป็นและชําระคืนไหว” และ “ถ้าเราใช้ชีวิตบนความไม่ประมาทเช่นใด ในอนาคตเราก็จะไม่เดือดร้อนเช่นกัน” …