Source: https://www.solitaireconsulting.com/2020/07/stakeholder-management-using-the-power-interest-matrix/
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ต่างมีความต้องการที่แตกต่างกัน (รวมถึงมีอำนาจต่อบริษัทไม่เท่ากัน) จึงมักเกิดความขัดแย้งด้านผลประโยชน์กับผู้บริหารในเชิงของโครงสร้างเงินทุนที่บริษัทควรมี แบ่งกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักๆได้ดังนี้:
ผู้ถือหุ้นกู้ (Public Debtholders)
ความต้องการหลักของคนกลุ่มนี้คือการได้รับดอกเบี้ยและเงินต้นตรงเวลาที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงไม่สามารถได้รับผลประโยชน์ไปมากกว่านี้ และกรณีที่แย่ที่สุดคือเสียเงินที่ลงไป 100% ต่างจากผู้ถือหุ้นสามัญที่มีอัพไซด์ไม่จำกัดหากบริษัทสามารถเติบโตต่อไปได้ แต่กรณีที่แย่ที่สุดก็คือการเสียเงินที่ลงไป 100% ไม่ต่างจากผู้ถือหุ้นกู้
ผู้ถือหุ้นกู้จึงต้องการให้บริษัทสร้างหนี้สินในปริมาณที่น้อย เพื่อลดความกดดันทางการเงิน (Financial distress) ที่นำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ ตรงกันข้ามกับผู้ถือหุ้นสามัญที่ต้องการให้บริษัทกู้เงินมาเพื่อขยายให้บริษัทมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งหากหนี้สินของผู้ถือหุ้นกู้มีการค้าประกันด้วยสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงก็จะช่วงลดความขัดแย้งลงได้
ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุมในบริษัท (Controlling Shareholders)
ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มนี้นอกจากจะมีความต้องการที่ต่างออกไปจากผู้ถือหุ้นกู้แล้ว อาจมีความต้องการที่ไม่เหมือนกับผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นๆอีกด้วย เนื่องจากคนกลุ่มนี้อาจมีเป้าหมายในการทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นเพื่อขายออกไปในเวลาอันสั้น ซึ่งขัดต่อจุดประสงค์ของคนกลุ่มอื่นที่เข้ามาลงทุน
ธนาคาร (Banks)
ผู้ปล่อยเงินกู้กลุ่มนี้จะต่างจากผู้ถือหุ้นกู้ตรงที่มีข้อมูลของบริษัทมากกว่า ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาในการชำระหนี้ขึ้นมาจึงสามารถปรับโครงสร้างหนี้ตามสถานการณ์ได้ และมักจะทำงานกับผู้บริหารอย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการยืนยันว่าผู้บริหารกำลังดำเนินงานตามความต้องการของธนาคารอยู่
ลูกค้าและซัพพลายเออร์ (Customers and Suppliers)
ลูกค้ามีความต้องการเหมือนๆกับผู้ถือหุ้นกู้ คือต้องการให้บริษัทมีความมั่นคงทางการเงิน เพื่อที่จะยังส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าต่อไปได้
ส่วนซัพพลายเออร์มักจะขายสินค้าให้กับบริษัทด้วยเครดิตระยะสั้น ดังนั้นซัพพลายเออร์จึงต้องการให้บริษัทยังสามารถชำระค่าสินค้าได้ตามกำหนด และซัพพลายเออร์บางเจ้าจำเป็นต้องออกแบบและผลิตสินค้าเฉพาะสำหรับบริษัท จึงต้องการให้บริษัทมีความมั่นคงไม่ต่างจากความสนใจของกลุ่มลูกค้า
ลูกจ้าง (Employees)
ในบางบริษัทอาจมีการให้หุ้นแก่ลูกจ้างที่ทำงานให้ อย่างไรก็ตามรายได้หลักของลูกจ้างก็ยังเป็นค่าจ้าง ดังนั้นลูกจ้างจึงต้องการให้บริษัทมีความมั่นคงเพื่อจะได้ทำงานต่อไปได้ ลูกจ้างในสายงานบางประเภทที่หางานในบริษัทอื่นๆได้ยากยิ่งต้องการอยู่กับบริษัทไปได้นานๆ
ผู้บริหาร (Managers and Directors)
คนกลุ่มนี้มักจะมีหุ้นบริษัทในปริมาณที่มีนัยสำคัญ ดังนั้นการเพิ่มความเสี่ยงในการบริหารบริษัทก็จะเพิ่มโอกาสในการเติบโตของมูลค่าบริษัทและหุ้นที่ตัวเองถืออยู่ด้วยเช่นกัน เช่นการซื้อหุ้นคืนก็จะเพิ่มราคาหุ้นที่เหลืออยู่ในตลาด โดยอาจเป็นการกู้เงินมาเพื่อซื้อหุ้นคืน ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนของหนี้สินในโครงสร้างเงินทุน และเพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัท
แต่ในทางตรงกันข้ามหากกลุ่มผู้บริหารนี้ได้รับค่าจ้างเป็นเงินที่มากกว่าหุ้นที่มีอยู่ก็จะต้องการบริหารบริษัทให้มีความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อที่จะสามารถอยู่ในตำแหน่งนี้ไปได้นานๆ
หน่วยงานกำกับดูแลและรัฐบาล (Regulators and Government)
ในบางอุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร จะถูกกำกับให้มีการรักษาสัดส่วนของหุ้นในโครงสร้างเงินทุนทั้งหมดเอาไว้เพื่อลดความเสี่ยงกรณีที่ธนาคารมีการกู้เงินหรือจ่ายเงินปันผลในสัดส่วนที่สูงเกินไป หรือในบางอุตสาหกรรมอาจมีการกำหนดราคาขายสินค้าให้ไม่สูงเกินไป เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา บริษัทเหล่านี้สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการให้เงินกู้แทนที่จะออกหุ้นสามัญ เนื่องจากต้นทุนในการกู้เป็นตัวเลขที่แน่นอนกว่าต้นทุนของหุ้นสามัญ
ในวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาหลายครั้งเราจะเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเข้าไปช่วยเหลือบริษัทใหญ่ๆไม่ให้เกิดการล้มละลาย เนื่องจากหากบริษัทเหล่านี้เกิดล้มละลายขึ้นมาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ โดยรัฐบาลมักจะสั่งให้บริษัทออกหุ้นเพิ่มทุนเพิ่มเติม, หยุดจ่ายเงินปันผลและหยุดซื้อหุ้นคืน, และรักษาสัดส่วนของหุ้นในโครงสร้างเงินทุนเอาไว้ไม่ให้ต่ำกว่าที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงในการล้มละลาย
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: โครงสร้างเงินทุน (Part 1) บทนำ
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: โครงสร้างเงินทุน (Part 2) MM Propositions
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: โครงสร้างเงินทุน (Part 3) MM with Taxes
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: โครงสร้างเงินทุน (Part 4) Target Capital Structure
- หลักการวิเคราะห์บริษัท: โครงสร้างเงินทุน (Part 5) Stakeholder Interests