ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง

สั่งซื้อหนังสือ “ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง” (คลิ๊ก)

สรุปหนังสือ ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง

ภาคทฤษฎี

โบกมือลาตัวเองคนเก่าที่ไม่กล้าพูด

กลัวการเจอคนแปลกหน้า คนที่พูดไม่เก่งมักรู้สึกอึดอัดเวลาที่ต้องอยู่กับคนแปลกหน้า สาเหตุหลักที่ทำให้เป็นแบบนี้ น่าจะมาจากการคิดในแง่ลบ เช่น กลัวว่าตัวเองจะทำอะไรผิดพลาด กลัวว่าจะรบกวนคนอื่น บางคนอาจถึงขั้นรู้สึกผิดที่ทำให้คนอื่นต้องมาเสียเวลากับตัวเอง สรุปสั้น ๆ ได้ว่า เกิดจากความบกพร่องด้านการสื่อสาร ความบกพร่องด้านการสื่อสารไม่ใช่สิ่งที่จะแก้ไขได้ด้วยโชคหรือปาฏิหาริย์ แต่เกิดจากการค่อย ๆ ปรับปรุงแก้ไขไปทีละขั้น และฝึกปฏิบัติซ้ำ ๆ จนติดตัวเป็นนิสัย คนพูดไม่เก่งส่วนใหญ่สามารถใช้ชีวิตอยู่กับความบกพร่องนี้ได้ แม้จะเป็นอุปสรรคต่อชีวิตประจำวันอยู่บ้าง ให้เริ่มแก้ไขความบกพร่องด้านการสื่อสาร ด้วยการหาหนังสือเกี่ยวกับการพูดมาอ่าน หนังสือที่เกี่ยวกับการพูดมีวางขายอยู่มากมาย คนที่บกพร่องด้านการสื่อสาร สิ่งแรกที่ควรใส่ใจคือการพูด ไม่ใช่ประโยชน์ที่ได้จากการพูด

เป้าหมายของการพูดคือ การพูด เรื่องบางเรื่องนั้นถ้าพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะพบว่าจุดสูงสุดของมันก็คือ จุดเริ่มต้น อาจคิดว่าที่อยากคุยเก่งเป็นเพราะต้องการเงิน ความก้าวหน้า หรือความสำเร็จ แต่ถ้าไตร่ตรองดูให้ถึงที่สุดจะพบว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่ต้องการก็คือความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น หรืออาจเรียกได้อีกอย่างว่า คนเราพูดคุยก็เพื่อให้ตัวเองได้พูดคุยนั่นเอง

เทคนิคการพูดคุย ถ้าเป้าหมายของการพูดคุยเป็นเรื่องธุรกิจ ต้องรู้ว่าขอบเขตและเรื่องที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษมีอะไรบ้าง แต่ถ้าเป้าหมายของการพูดคุยคือ การพูดคุย ต้องเริ่มที่การฝึกฝนเทคนิคการพูดคุย

ความปรารถนาลึก ๆ ที่ทำให้อยากเป็นคนพูดเก่ง มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ความต้องการที่จะติดต่อสื่อสารกับคนอื่น จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนล้วนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่นอกจากเรื่องสัญชาตญาณแล้วยังมีความปรารถนาลึก ๆ ในใจเป็นแรงขับที่ทำให้อยากพูดคุยอยู่อีกด้วย นั่นคือความปรารถนาอยากเป็นที่ยอมรับ ทุกคนต่างก็อยากเป็นที่ยอมรับ อยากเป็นคนที่ใคร ๆ ก็ชอบ อยากเป็นคนที่คนอื่นอยากอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าไม่สามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นได้ ไม่ว่าจะพยายามแค่ไหน ก็ต้องมีสักคนที่ไม่ชอบหรือไม่ประทับใจอยู่ดี ดังนั้น ต้องไม่ปล่อยให้ความปรารถนาอยากเป็นที่ยอมรับ มาฉุดรั้งให้กลายเป็นคนไม่กล้าพูด เพราะกลัวจะเสียหน้า แต่ควรเอามันมาเป็นแรงผลักดัน ให้กระตือรือร้นที่จะพัฒนาการพูดของตัวเอง

ทิ้งความอยากเป็นจุดสนใจไป พอลองไตร่ตรองให้ลึกซึ้งขึ้นจะรู้ว่า มันไม่จำเป็นต่อการพูดคุยเลย แน่นอนว่าความอยากเป็นจุดสนใจ ไม่ใช้สิ่งที่จะควบคุมไม่ให้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ ให้เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นการพูดคุยกับคนอื่นอย่างสนุกสนาน ความอยากเป็นจุดสนใจก็จะค่อย ๆ หายไปโดยไม่รู้ตัว อันที่จริงความอยากเป็นจุดสนใจไม่ใช่สิ่งเลวร้ายอะไร แต่ถ้าพูดคุยเพราะอยากเป็นจุดสนใจเพียงอย่างเดียว ไม่ช้าคนอื่น ๆ ก็จะเริ่มมองออกและรู้สึกไม่ดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าพูดคุยด้วยความจริงใจ และความปรารถนาดีต่อคนอื่น ต่อให้พูดติด ๆ ขัด ๆ หรือน่าเบื่อไปบ้าง คนส่วนใหญ่ก็จะยังรู้สึกดี

มีน้อยคนที่คิดว่าตัวเองพูดเก่ง คนส่วนใหญ่คิดว่าการพูดเป็นเรื่องยาก มีคนพูดอยู่บ่อย ๆ ว่าถ้าไม่เคยเสียหน้าก็ไม่มีทางพูดเก่งขึ้นมาได้ แม้จะมีบางคนที่พัฒนาตัวเอง จนกลายเป็นคนพูดเก่งได้ โดยไม่เคยพลาดมาก่อนเลยอยู่บ้าง แต่คนส่วนใหญ่มักต้องผ่านความอับอาย กันมาในระดับหนึ่งถึงจะพูดเก่งขึ้น เปรียบไปแล้วก็เหมือนกับการหัดขี่จักรยาน บางคนขี่เป็นได้โดยที่ไม่เคยล้มเลย แต่บางคนก็ต้องมีล้มได้แผลกันก่อนบ้าง ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าต้องทนเจ็บตัว ล้มลุกคลุกคลานอย่างไม่มีทางเลี่ยงเสมอไป การเรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคด้วยวิธีที่ถูกต้อง สามารถจำกัดจำนวนครั้งที่หกล้ม หรืออะไรให้น้อยลงได้

บทที่ 1 เป้าหมายของการสื่อสาร

สถานที่ที่ทำให้อึดอัดที่สุดคือ ลิฟท์ ไม่ว่าใครก็คงเคยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัดใจที่จะพูดกันมาบ้าง สถานที่ที่ทำให้รู้สึกอึดอัดมากที่สุดคือในลิฟท์ เพราะนอกจากลิฟท์จะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในชีวิตประจำวันแล้ว พื้นที่แคบ ๆ ของมันยังบังคับให้ต้องยืนใกล้ชิดกับคนอื่น หากเป็นคนแปลกหน้าหรือเพื่อนก็ยังไม่เท่าไหร่ เพราะรู้ว่าควรจะวางตัวอย่างไร แต่ถ้าเป็นคนรู้จักที่ไม่ได้สนิทกันมากมาย จะรู้สึกเหมือนว่าตัวเองควรพูดอะไรสักอย่างออกไป แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้จะพูดอะไรดี แต่ถ้าฝึกฝนจนมีเทคนิคการพูดคุยติดตัวในระดับหนึ่ง ลิฟท์ก็จะไม่ใช่สถานที่ที่น่าอึดอัดอีกต่อไป เคล็ดลับสำคัญมีอยู่แค่ว่า ต้องคิดว่าการสื่อสารเป็นเกม ซึ่งมีกฎกติกาเหมือนกับเกมอื่น ๆ เพราะฉะนั้นขอเพียงทำตามกฎ และหมั่นฝึกฝนจนมีเทคนิคติดตัว ก็จะไม่รู้สึกประหม่าเวลาต้องพูดแล้ว

จงคิดว่าต่างก็เคยเป็นคนแปลกหน้าของกันและกันมาก่อน ไม่มีใครในโลกนี้ที่เกิดมาแล้วเจอกับคนรู้จักเลย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง หรือแม้แต่ฝาแฝดเอง ตอนที่เจอกันครั้งแรกก็ต่างเป็นคนแปลกหน้าของกันและกันทั้งนั้น สิ่งสำคัญอยู่ที่การทำความรู้จักกันต่างหาก ถ้าคิดแบบนี้จะรู้สึกประหม่าน้อยลงไปเอง

สิ่งที่ควรคำนึงถึงก่อนเรื่องถ่ายทอดข้อมูล การสื่อสารมักถูกมองว่าเป็นการถ่ายทอดข้อมูลจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง ก่อนจะไปให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดข้อมูล ควรคำนึงถึงการพูดคุยที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายหรือสบายใจเสียก่อน คนพูดไม่เก่งควรคิดว่า การพูดคุยกับคนอื่นได้ แม้จะยังรู้สึกประหม่าหรือตะกุกตะกักอยู่บ้างก็ถือเป็นพัฒนาการที่ดีแล้ว และถ้าสามารถพูดได้อย่างผ่อนคลาย หรือรู้สึกสนุกระหว่างที่คุย ก็ถือเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ต้องรู้สึกดีกับการพูดคุยก่อน แล้วค่อยไปฝึกเรื่องที่ยากขึ้น อย่างการถ่ายทอดข้อมูล

ความบกพร่องด้านการสื่อสารคืออะไร ทุกวันนี้มักได้ยินคนพูดถึงความบกพร่องหรือปัญหาด้านการสื่อสารกันเป็นประจำ เช่น สื่อสารไม่เป็นจนทำให้เข้าใจผิด หรือไม่รู้จะสื่อสารกับหัวหน้ายังไง สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญของการสื่อสาร แต่ในขณะเดียวกันมันก็แสดงให้เห็นด้วยว่า สังคมกำลังมีความเข้าใจผิด ๆ เกี่ยวกับการสื่อสารอยู่ มาเริ่มจากการพิจารณาที่ตัวคำศัพท์กัน คำว่า ความบกพร่องด้านการสื่อสารนั้น แท้จริงแล้วเป็นศัพท์ทางการแพทย์ ซึ่งหมายถึงคนที่มีปัญหาด้านการพูด และการสื่อสารอันเนื่องมาจากความผิดปกติของอวัยวะที่ใช้ในการออกเสียง หรือมีความผิดปกติด้านการรับรู้ แต่ปัจจุบันคนส่วนใหญ่นำคำนี้มาใช้แบบเหมารวมว่า ใครก็ตามที่พูดไม่เก่งหรือไม่กล้าพูด เป็นคนที่มีความบกพร่องด้านการสื่อสาร

ปัญหาของความมั่นใจ คนพูดไม่เก่งแทบทุกคนรู้ดีว่า ความบกพร่องด้านการสื่อสารไม่ได้หมายถึงแค่มีปัญหาเวลาที่พูด แต่ยังรวมถึงปัญหาด้านบุคลิก หรืออารมณ์ความรู้สึกด้วย ถ้ามีความมั่นใจจะไม่รู้สึกประหม่า และไม่กลัวที่จะพูดอีกต่อไป แต่ปัญหาก็คือความมั่นใจไม่ใช่สิ่งที่นึกอยากมีก็มีกันได้ง่าย ๆ ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำไม่ใช่การมีความมั่นใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างกันขึ้นมาได้ง่าย ๆ แต่เป็นการเรียนรู้และฝึกฝนเทคนิคที่ช่วยให้พูดได้ดีขึ้น เมื่อทำได้แล้วความมั่นใจก็จะเกิดขึ้นตามมาเอง

สามารถฝึกฝนจนกลายเป็นยอดฝีมือด้านการพูดได้หรือไม่ ถ้าทุ่มเทฝึกฝนอย่างจริงจัง คนที่มีความบกพร่องด้านการสื่อสาร จะเป็นผู้พูดที่ดียิ่งกว่าคนที่เก่งมาตั้งแต่เกิดเสียอีกสาเหตุที่เป็นเช่นนั้น ก็เพราะคนที่มีพรสวรรค์ด้านการพูด ไม่เข้าใจจิตใจของคนที่พูดไม่เก่ง คนที่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาแล้วพยายามเต็มที่ ที่จะปรับปรุงตัว เชื่อว่าคนที่ไม่กล้าพูดที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร จะกลายเป็นยอดฝีมือด้านการพูดได้

เริ่มต้นด้วยการสำรวจตัวเอง การสำรวจตัวเองในที่นี้คือ การฝึกสังเกตว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรเวลาที่พูดคุยกับคนอื่น ถ้ารู้สึกผ่อนคลายหรือสนุกก็ให้ถือว่าประสบความสำเร็จ ในทางกลับกัน ถ้ารู้สึกอึดอัดหรือคิดว่าการสนทนาไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ก็ให้จดจำว่าจุดไหนและเรื่องอะไรที่ไม่ถนัด แล้วนำไปฝึกฝนพัฒนาตัวเองในภายหลัง ในช่วงเริ่มต้นควรเน้นสังเกตเฉพาะตัวเองเป็นหลัก เพราะคนพูดไม่เก่งส่วนใหญ่เป็นคนคิดมาก และใส่ใจความรู้สึกของคนอื่น เวลาพูดจึงชอบสำรวจสีหน้าของคู่สนทนา เพื่อคาดเดาว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไร เบื่อหรือไม่พอใจในสิ่งที่ตัวเองพูดอยู่หรือไม่ พอคิดมากเข้าก็จะเริ่มประหม่ารู้สึกอึดอัดกับการพูด จนการสนทนาไม่ประสบความสำเร็จ

เพราะฉะนั้น ต้องมุ่งความสนใจไปที่ตัวเองก่อน เอาไว้เริ่มเก่งขึ้นแล้วค่อยหันไปสังเกตคู่สนทนา ควรคิดว่าการสื่อสารหรือการพูดคุยเป็นสิ่งที่ทำให้รู้สึกดีและผ่อนคลาย อย่าเพิ่งไปใส่ใจเรื่องอื่นอย่างการถ่ายทอดข้อมูล เวลาที่พูดไม่ได้อย่างที่หวังก็ไม่ต้องรู้สึกท้อแท้ เพราะการสื่อสารเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจึงจะทำได้ ตราบใดที่มีความพยายามจะสามารถเอาชนะความบกพร่องด้านการสื่อสารของตัวเองได้อย่างแน่นอน

บทที่ 2 ตัวผู้เขียนสมัยที่บกพร่องด้านการสื่อสาร

เมื่อคนที่กลัวการพูดกลายมาเป็นนักจัดรายการวิทยุ คนที่บกพร่องด้านการสื่อสารจะมีจุดอ่อนเฉพาะตัวแตกต่างกันไป ในช่วงแรก ๆ ของการฝึกฝน คนที่บกพร่องด้านการสื่อสารมักจะยังเป็นห่วงภาพลักษณ์ของตัวเอง เช่น กลัวโดนคิดว่าน่าเบื่อ กลัวเสียหน้า หรือกลัวว่าจะไปทำให้คนอื่นรำคาญ แต่เมื่อเก่งขึ้นจะเริ่มรู้จักปล่อยวาง และไม่เอาเรื่องเล็กน้อยเหล่านั้นมาคิดมากอีกต่อไป

ไม่กล้าสบตากับคู่สนทนา ปัญหาหนึ่งที่คนบกพร่องด้านการสื่อสารหลายคนมีก็คือ ไม่กล้าสบตากับคู่สนทนา การไม่กล้าสบตาคนอื่นมักถูกมองว่าเป็นข้อด้อย เพราะคนส่วนใหญ่คิดว่าการไม่สบตาเป็นการแสดงออกถึงความไม่จริงใจ หรือบ่งบอกว่ากำลังปิดบังอะไรอยู่ คนพูดไม่เก่งจึงยิ่งรู้สึกประหม่าเข้าไปใหญ่ แต่คนเราควรสบตากันตลอดเวลาที่พูดคุยจริง ๆ หรือ อาจกล่าวได้ว่าการสบตากันเป็นการท้าทายรูปแบบหนึ่ง จึงควรสบตาคู่สนทนาระหว่างที่พูดคุยบ้าง แต่การสบตาตลอดเวลานั้นไม่ดีแน่นอน ถ้ากลัวถูกคู่สนทนาคิดว่าไม่สนใจ ก็ให้มองไปที่จมูกของอีกฝ่ายแทน เมื่อทำแบบนี้ก็จะรู้สึกสบายใจกันทั้งสองฝ่าย ใครที่มีปัญหาเรื่องการสบตาลองเอาเคล็ดลับนี้ไปใช้ดู

รู้จักปล่อยวาง การไปทักคนอื่นแล้วเขาไม่ทักตอบนั้นเป็นเรื่องธรรมดา การที่เขาไม่ตอบคำถามก็เป็นเรื่องธรรมดา และการที่เขาไม่ใส่ใจก็เป็นเรื่องธรรมดา พอคิดได้แบบนี้ก็จะรู้สึกผ่อนคลายกับการพูดมากขึ้น และไม่สนอีกต่อไปว่าตัวเองจะดูน่าเบื่อ ในสายตาคนอื่นหรือเปล่า

ถ้าพูดไม่เก่งก็ต้องหัดใช้กลยุทธ์ ต้องมองว่าการพูดเป็นเกมชนิดหนึ่ง เกมเป็นสิ่งที่มีกฎกติกากำกับอยู่ ขอเพียงเข้าใจกฎเหล่านั้นก็จะเล่นเกมเป็น ยิ่งถ้ามีกลยุทธ์ในการเล่นก็จะยิ่งเก่งขึ้นเรื่อย ๆ กลยุทธ์ที่แนะนำให้คนพูดไม่เก่งมีติดตัวไว้เป็นอย่างแรกคือ กลยุทธ์คำตอบสำเร็จรูป ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า การพูดคุยส่วนใหญ่ในชีวิตประจำวันมีรูปแบบที่ตายตัว เช่น ถ้าอยู่ในสถานการณ์นี้ก็ต้องพูดอย่างนี้ หรือถ้ามีคนถามแบบนี้ก็ต้องตอบแบบนี้ เพราะฉะนั้น แค่จำคำตอบหรือบทสนทนาสำเร็จรูปสำหรับแต่ละสถานการณ์ได้ การพูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวันก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป

รู้จักวิเคราะห์สถานการขณะพูดคุย การใช้กลยุทธ์จะมีประสิทธิภาพที่สุดเมื่อใช้ได้ถูกที่ถูกจังหวะ จึงต้องรู้จักวิเคราะห์สถานการณ์ขณะพูดคุยไปด้วยว่า ถ้าคู่สนทนาพูดมาแบบนี้ควรจะตอบกลับไปแบบไหน คำว่าวิเคราะห์อาจทำให้รู้สึกเหมือนเป็นเรื่องยาก แต่จริง ๆ แล้วมันก็คือการพยายามคาดเดาว่าต้องพูดอย่างไรคู่สนทนาถึงจะรู้สึกดีเท่านั้นเอง ดังนั้น ขอแค่มีมารยาทและคิดถึงความรู้สึกของคนอื่น ก็จะวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างค่อนข้างแม่นยำแล้ว อันที่จริงการพูดคุยนั้นไม่ต่างไปจากการเล่นเกมหมากรุกหรือหมากล้อมสักเท่าไร ผู้เล่นหมากรุกจะวิเคราะห์หมากบนกระดาน พยายามคาดเดาว่าตาต่อไปฝ่ายตรงข้ามจะเดินเกมอย่างไร แล้วจึงตัดสินใจวางหมาก การพูดคุยที่ลื่นไหลเองก็ต้องทำแบบนี้เช่นกัน

บทที่ 3 เกมพูดคุย

มองว่าการพูดคุยเป็นเกม ควรมองการพูดคุยเหมือนเป็นเกมอย่างหนึ่ง แล้วเรียนรู้กฎกติกาของมัน พอได้ยินคำว่ากฎกติกาบางคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องยุ่งยากหรือซับซ้อน แต่จริง ๆ แล้วการไม่มีกฎกติกาเลยต่างหากที่ทำให้ทุกอย่างยากขึ้น ที่สำคัญการมีกฎกติกายังช่วยให้รู้ว่าควรฝึกซ้อมเรื่องใดบ้างได้อย่างตรงจุด เกมพูดคุยมีอยู่ 4 ข้อหลัก ๆ ได้แก่ 1. เป็นเกมที่ไม่มีคู่ต่อสู้ เพราะทั้งสองฝ่ายเป็นพวกเดียวกัน และต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในเกม 2. สิ่งที่ต้องเอาชนะให้ได้ในเกมคือความรู้สึกอึดอัด 3. เป็นเกมที่จำเป็นต้องเล่น 4. มีวิธีเอาชนะที่ยืดหยุ่น

เป็นเกมที่ไม่มีคู่ต่อสู้ การไม่มีคู่ต่อสู้อาจถือได้ว่าเป็นกฎข้อสำคัญที่สุดที่ต้องจำให้ขึ้นใจ คนพูดไม่เก่งจำนวนมากคิดว่า การพูดคุยเป็นเหมือนการแข่งขันที่ต้องโต้เถียงให้รู้แพ้รู้ชนะ หรือไม่ก็คิดว่าเป็นการแสดงออกถึงความเฉลียวฉลาด เลยไม่กล้าพูดเพราะกลัวจะทำอะไรผิดพลาด แล้วถูกคนอื่นคิดว่าไม่ได้เรื่อง แต่การคิดแบบนี้นอกจากจะไม่ช่วยให้พูดเก่งขึ้นแล้ว ยังบั่นทอนกำลังใจอีกต่างหาก เกมพูดคุยที่จะช่วยแก้ไขต้องเป็นเกมที่ไม่มีคู่ต่อสู้หรือคู่แข่ง ผู้เล่นแต่ละคนจะร่วมมือกันเพื่อให้การพูดคุยดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ถ้ายึดตามกฎกติกานี้เอาไว้ จะรู้สึกประหม่าน้อยลง เพราะคนที่คุยด้วยจะเป็นเสมือนผู้ช่วย

สิ่งที่ต้องเอาชนะให้ได้ในเกมคือความรู้สึกอึดอัด เกมพูดคุยก็เหมือนกับเกม RPG ที่มีตัวละครหลายตัวหลายบทบาท แต่มีเป้าหมายเดียวกันซึ่งก็คือการทำลายความรู้สึกอึดอัด เพื่อนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดี แค่คิดว่าตัวเองเป็นพวกเดียวกับคู่สนทนา และจะทำให้การพูดคุยครั้งนี้พ้นจากความอึดอัดให้ได้ก็พอแล้ว

เป็นเกมที่จำเป็นต้องเล่น เมื่อมองการพูดคุยว่าเป็นเกม คนพูดไม่เก่งบางคนอาจคิดว่าไม่เห็นต้องพยายามเล่นให้ลำบาก แค่ไม่เล่นเสียตั้งแต่แรกก็สิ้นเรื่อง แต่การทำแบบนั้นไม่มีวันช่วยให้พ้นจากความบกพร่องด้านการสื่อสาร คิดว่าคนเราสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข โดยไม่พูดคุยกับใครเลยได้จริง ๆ หรือไม่ เชื่อว่ามันเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นต้องไม่หนีปัญหาด้วยการคิดว่าจะไม่เล่นเกม แต่ควรคิดว่าการพูดคุยเป็นเกมที่จำเป็นต้องเล่น การต้องพูดทั้งที่ไม่อยากพูดนั้นทรมานแค่ไหนอย่างไรก็ตาม การเล่นเกมพูดคุยมีข้อดีตรงที่ยิ่งเล่นก็จะยิ่งเก่งขึ้น และเมื่อพูดได้คล่องขึ้นความรู้สึกอึดอัดทรมานก็จะหายไป กลายเป็นความสนุกขึ้นมาแทน

มีวิธีเอาชนะที่ยืดหยุ่น โดยทั่วไปแล้วเกมแต่ละเกมจะมีวิธีเอาชนะที่เคร่งครัด แต่เกมพูดคุยนั้นต่างออกไปตรงที่มีวิธีเอาชนะที่ยืดหยุ่น กล่าวคือขอเพียงรู้สึกดีกับการพูดคุยนั้นก็ถือว่าชนะแล้ว คำว่ารู้สึกดีเป็นคำที่ตีความได้หลากหลาย สามารถแสดงออกถึงความรู้สึกดีได้หลายรูปแบบ เช่น หัวเราะ นับถือ ชื่นชอบ ตื่นเต้น สนุกสนาน เป็นต้น ที่สำคัญการทำให้คนอื่นรู้สึกดี เช่น เล่าเรื่องตลก ๆ ให้เขาหัวเราะ หรือบอกเล่าข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคู่สนทนาเอง ก็สามารถทำให้รู้สึกดีไปด้วยได้เช่นกัน

หลักการพื้นฐานที่ช่วยให้เล่นเกมได้ง่ายขึ้น การพูดคุยเป็นเกมที่ยืดหยุ่นมาก จึงไม่มีเทคนิคที่พูดได้เต็มปากว่าจะได้ผล 100% วิธีที่ดีที่สุดคือการเรียนรู้จากประสบการณ์ และค่อย ๆ พัฒนาเทคนิคที่เหมาะกับตัวเองขึ้นมา อย่างไรก็ตามยังมีหลักการพื้นฐานที่ห้ามทำตาม แล้วจะช่วยให้เล่นเกมได้ง่ายขึ้นอยู่ หลักการพื้นฐานที่ว่านี้มีอยู่เพียงข้อเดียวเท่านั้นนั่นคือ ต้องพยายามทำให้คู่สนทนาเป็นฝ่ายพูด เพราะถ้าสามารถจูงใจให้อีกฝ่ายพูดอย่างสนุกสนานได้ ก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรอีกต่อไป เป็นหลักการที่เหมาะกับคนพูดไม่เก่งมากเลย การจูงใจให้คนอื่นพูดก็มีอยู่หลายวิธีเช่นกัน แต่หลักสำคัญคือต้องสร้างบรรยากาศให้เขาได้พูดในสิ่งที่คิดและรู้สึกจริง ๆ ออกมา ไม่ใช่บังคับให้พูดในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะทำได้ง่ายขึ้นหากตั้งใจฟังสิ่งที่คู่สนทนาพูด หรืออาจกล่าวได้ว่า การฟังคือหนึ่งในกลยุทธ์ที่ดีที่สุดของการพูด

อย่าลืมว่าเป้าหมายของการพูดคุยไม่ใช่การแสดงความโดดเด่น ควรให้ความสำคัญกับทีมเป็นหลัก จริงอยู่ว่าบางครั้งอาจเตรียมประเด็นที่จะพูดมาแล้ว แต่ถ้าบรรยากาศของการสนทนาไม่เอื้อให้หยิบมันขึ้นมาใช้ ก็ไม่ควรดันทุรังเอามาพูด ต้องประเมินสถานการณ์แล้วปรับเปลี่ยน ให้การพูดคุยเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

การสัมภาษณ์กับเกมพูดคุย คนส่วนใหญ่มองว่าการสัมภาษณ์งานเป็นการพูดคุยในฐานะผู้ใหญ่ที่เริ่มต้นใช้ชีวิตในสังคมเป็นครั้งแรก และยังเป็นการพูดคุยที่มีผลต่ออนาคตในวันข้างหน้าโดยตรง จึงมักรู้สึกเครียดหรือประหม่าจนนั่งไม่ติด แต่ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะมีความเข้าใจที่ผิด ๆ เกี่ยวกับการสัมภาษณ์งาน มักคิดกันว่าการสัมภาษณ์งานเป็นการพูดเพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่า เป็นใคร มีความสามารถมากแค่ไหน เหมาะกับงานหรือไม่ จึงพยายามแสดงความโดดเด่นของตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด แต่จริง ๆ แล้วการสัมภาษณ์งานเองก็เป็นเกมพูดคุยชนิดหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดจึงไม่ใช่การแสดงความโดดเด่นหรือความเฉลียวฉลาด แต่เป็นการทำให้ทุกคนในวงสนทนารู้สึกดี

บทที่ 4 เตรียมความพร้อมก่อนลงสนาม

การเตรียมพร้อมที่ดี คือเคล็ดลับที่นำไปสู่ความสำเร็จ ควรตระหนักเอาไว้เพื่อให้เล่นเกมพูดคุยได้อย่างสบายใจและง่ายขึ้น ในช่วงเริ่มต้นหากทำไม่ได้ทุกข้อ แต่เมื่อเล่นเกมพูดคุยไปเรื่อย ๆ จะทำได้เองโดยอัตโนมัติ

หวังผล คำว่าหวังผลมักถูกใช้ในแง่ลบ แต่ในความเป็นจริงคนเราจะมีกำลังใจทำอะไรสักอย่าง ก็ต่อเมื่อหวังผลที่จะได้จากการกระทำนั้น เช่น พ่อแม่ทุ่มเทให้ลูกเพราะหวังผลว่าลูกจะมีอนาคตที่ดี การทำอะไรโดยหวังผลจึงไม่ใช่เรื่องแย่ ยิ่งไปกว่านั้นถ้าสิ่งที่ต้องการเป็นสิ่งที่ดี หรือมีประโยชน์ต่อส่วนรวม การหวังผลจะเป็นเรื่องที่ดีอย่างมาก

การมีอคติไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป อคติในที่นี้หมายถึง ความคิด ความเชื่อ หรือความรู้สึกที่มี โดยที่ยังไม่ทันได้รับรู้ข้อเท็จจริงทั้งหมด แต่การมีอคติก็ส่งผลดีต่อเกมพูดคุยได้ เพราะอคติที่เกิดจากความไม่รู้ จะทำให้รู้สึกอยากพูดคุยกับอีกฝ่าย เพื่อหาข้อมูลมาล้มล้างอคติในใจ ด้วยเหตุนี้จึงไม่จำเป็นต้องรู้สึกผิด เวลาที่เผลอตัดสินคนอื่นจากรูปลักษณ์ภายนอก หรือข้อมูลที่ไม่เพียงพอ ขอแค่รู้ว่าตัวเองมีอคติ และพยายามแก้ไข ก็จะอยากพูดคุยมากขึ้นแล้ว

เน้นการส่งต่อไม่ใช่ถ่ายทอด การสื่อสารมีรูปแบบหลัก ๆ อยู่ด้วยกัน 2 แบบได้แก่ การถ่ายทอดกับการส่งต่อ โดยการถ่ายทอดเป็นการบอกเล่าข้อมูลเพื่อให้ผู้รับสารได้รับรู้ และมีความเข้าใจที่ถูกต้อง ในขณะที่การส่งต่อเป็นการแชร์ความรู้สึกนึกคิด ซึ่งผู้สงสารอาจตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ นอกจากนั้น ถ้ามองอีกมุมการส่งต่อน่าจะเป็นรูปแบบการสื่อสาร ที่เหมาะสำหรับคนพูดไม่เก่งมากกว่ากันถ่ายทอดด้วยซ้ำ เพราะไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคอะไรมากมาย เรียกว่าขอแค่มีความจริงใจ แทบไม่ต้องเปิดปากพูดก็สื่อถึงกันได้แล้ว

ดีใจเวลาล้อ คนพูดไม่เก่งส่วนใหญ่เป็นคนขี้กังวล เพราะกลัวว่าตัวเองจะทำอะไรเปิ่น ๆ ออกไปแล้วโดนหัวเราะเยาะ ทางที่ดีจึงควรปรับทัศนะคติที่มีต่อการถูกล้อเสียใหม่ นั่นคือแทนที่จะกลัวเวลาถูกล้อ ให้เปลี่ยนมารู้สึกดีใจแทน หากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า การพูดหยอกล้อกันนี่แหละที่ทำให้คนเราสนิทกันเร็วที่สุด ดังนั้น เวลาที่มีคนล้อนั่นแปลว่าเขากำลังให้ความร่วมมือในการเล่นเกม และอยากจะชนะไปด้วยกัน

เชื่อมั่นว่าไม่ได้ถูกเกลียด การกลัวถูกคนอื่นเกลียดถือเป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้คนพูดไม่เก่งไม่กล้าพูดออกไป แต่ในความเป็นจริงคิดว่าจะมีสักกี่คนที่เกลียดคนที่คุยด้วย โดยที่ไม่เคยมีความขัดแย้งอะไรกันมาก่อน การตีตนก่อนไข้ว่าถ้าพูดไปเดี๋ยวถูกคนอื่นเกลียดจึงไม่มีประโยชน์ ด้วยเหตุนี้เวลาจะเริ่มคุยกับใครก็ตามที่อยู่ตรงหน้า เลิกคิดว่าถ้าพูดแบบนี้ไปเขาจะไม่ชอบหรือเปล่าดีกว่า อย่าลืมว่าผลลัพธ์ของการสนทนามีหลายรูปแบบ มันอาจจะดีหรือร้ายหรือกลาง ๆ ไม่ดีไม่ร้ายก็ได้ ต้องเชื่อมั่นว่าตราบใดที่คุยกับคนอื่นด้วยความปรารถนาดี เขาย่อมไม่มีทางเกลียดอย่างแน่นอน

มองว่าเกมพูดคุยเป็นการเดิมพันชนิดหนึ่ง แม้เกมพูดคุยจะเป็นเกมที่ยืดหยุ่นและมีโอกาสชนะได้ง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะชนะอย่างแน่นอน 100% เสมอไป อาจมีบางครั้งที่ถึงพยายามเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังคุยกันได้ไม่ราบรื่น จึงควรคิดว่าเกมพูดคุยเป็นการเดิมพันชนิดหนึ่ง ถ้าชนะจะได้ความรู้สึกดี ๆ และมิตรภาพ แต่ถ้าแพ้ก็ไม่ได้เสียสิ่งที่มีอยู่ไป แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าคิดได้แบบนี้รับรองว่าไม่นาน ต้องหายขาดจากความบกพร่องด้านการสื่อสารแน่ ๆ

บทที่ 5 ความเงียบคือความสำเร็จ

การอ่านบรรยากาศคืออะไร คำว่าอ่านบรรยากาศหมายถึงการประเมินสถานการณ์และอารมณ์ความรู้สึก ในสถานที่และเวลานั้น ๆ แล้วปฏิบัติตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมรอบด้าน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คนที่อ่านบรรยากาศเป็นก็คือคนที่รู้ว่าควรพูดและวางตัวอย่างไร ในขณะที่คนที่อ่านบรรยากาศไม่เป็นคือ คนที่วางตัวไม่เป็นและพูดจาไม่ถูกกาลเทศะ

ทำการอ่านบรรยากาศให้เข้าใจง่ายขึ้น ควรนิยามคำว่า อ่านบรรยากาศ นี้ใหม่ว่า เป็นการปรับอารมณ์ของตัวเองให้กลมกลืนกับสถานการณ์ที่กำลังประสบอยู่ ปกติแล้วพอจะสัมผัสได้คร่าว ๆ ว่าอีกฝ่ายกำลังรู้สึกอย่างไรโดยดูจากสีหน้า แววตา หรือน้ำเสียง แต่ถ้าดูไม่ออกจริง ๆ ให้นำแนวคิดเรื่องอคติไปประยุกต์ใช้ดู จำไว้ว่าไม่จำเป็นต้องอ่านบรรยากาศออกตั้งแต่ต้น เพราะระหว่างที่คุยกันคำใบ้จะหลุดออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ เพียงแต่ต้องใส่ใจคู่สนทนา หมั่นสังเกตภาษากายของเขา แล้วปรับอารมณ์ตามเท่านั้นเอง

เหตุผลที่ควรปรับอารมณ์ คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจผิดว่า คนที่มีทักษะในการพูดคือคนที่สามารถพูดได้ทุกที่ทุกเวลา คุยสนุก อยู่ด้วยแล้วไม่น่าเบื่อ แต่ความจริงแล้วคนที่มีทักษะในการพูดคือ คนที่ทำให้คนที่คุยด้วยรู้สึกดี และสามารถชักนำการสนทนาให้เป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งสิ่งที่ช่วยให้กลายเป็นคนที่มีทักษะในการพูดได้อย่างรวดเร็วที่สุดก็คือ การปรับอารมณ์ให้เข้ากับคู่สนทนานั่นเอง

จะสร้างบรรยากาศได้อย่างไร ไม่ว่าใครก็คงอยากให้การพูดคุยดำเนินไปด้วยความรู้สึกที่ดี และควบคุมบรรยากาศให้เป็นไปอย่างที่ต้องการได้ บรรยากาศที่ดีไม่ใช่สิ่งที่ใครคนใดคนหนึ่งสามารถสร้างเองได้ เพราะมันต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันของทุกคนในวงสนทนา แต่ถึงอย่างนั้นก็พอจะกำกับมันได้ กฎในการกำกับบรรยากาศมีอยู่แค่ว่า ให้เริ่มด้วยการเข้าหาคนอื่นด้วยอารมณ์กลาง ๆ ไม่เคร่งเครียดแต่ก็ไม่ร่าเริงเกินไป และจะต้องเข้าหาอย่างสุภาพ จากนั้นสังเกตสีหน้าหรือน้ำเสียงของอีกฝ่าย แล้วค่อย ๆ ปรับอารมณ์ และพยายามชักนำให้บรรยากาศในวงสนทนา เป็นไปในทางบวกให้ได้มากที่สุด

ความสำคัญของการคุยเล่น มักเชื่อกันว่าการพูดคุยอย่างจริงจัง เช่น การรายงาน การนำเสนองาน การสอนหนังสือ เป็นต้น เป็นการสื่อสารที่สำคัญกว่าการคุยเล่น แต่ถ้าลองคิดดูดี ๆ จะพบว่า แต่ละวันมนุษย์อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องใช้การคุยเล่นมากกว่าอย่างเทียบไม่ติด แม้แต่ในการพูดคุยจริงจังอย่างการประชุม บ่อยครั้งก็จะพบว่ามีการคุยเล่นแฝงอยู่เป็นระยะ งานส่วนใหญ่ก็ใช้การคุยเล่นมากกว่าด้วย ชีวิตของคนเราใช้การสื่อสารแบบคุยเล่นเป็นหลัก จึงอาจพูดได้ว่าคนที่คุยเล่นเก่ง จะใช้ชีวิตได้ง่ายกว่า เครียดน้อยกว่า และมีโอกาสที่จะมีความสุขมากกว่าด้วย

เอาการคุยเล่นของผู้หญิงมาเป็นแบบอย่าง ถ้าพูดถึงมืออาชีพด้านการคุยเล่น แน่นอนว่าไม่มีใครสู้ผู้หญิงได้ การคุยเล่นที่ดีไม่จำเป็นต้องมีเนื้อหาสาระ ขอแค่สามารถส่งต่อความรู้สึกดี ๆ ให้กันได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว คนพูดไม่เก่งมีนิสัยชอบคิดมากว่าจะพูดอะไรดี ทั้งนี้เพราะมีความเชื่อแบบผิด ๆ ว่า การพูดคุยที่ดีจะต้องมีเนื้อหาสาระเท่านั้น แต่ความจริงคือมันขึ้นอยู่กับบรรยากาศ ในบรรยากาศของการคุยเล่นไม่จำเป็นต้องคิดอะไร นอกจากอยากแบ่งปันความรู้สึกดี ๆ ให้กัน

คนที่อยู่ด้วยกันโดยไม่จำเป็นต้องพูดคุยกัน การพูดคุยส่งผลดีต่อความสัมพันธ์ ถ้าพัฒนาความสัมพันธ์ไปจนถึงระดับที่เป็นเพื่อนรู้ใจกัน จะมีความสัมพันธ์ที่สามารถเงียบหรือไม่ต้องพูดอะไรกันเลย ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดของความสัมพันธ์ระหว่างคนเรา ความเงียบเวลาที่อยู่กับเพื่อนสนิทไม่ใช่ความเงียบที่น่าอึดอัดเหมือนเวลาอยู่ในลิฟท์ แต่เป็นความเงียบที่อบอุ่นและอ่อนโยน เพราะแม้จะไม่ได้พูดอะไรออกมา ความรู้สึกดีที่มีให้กันก็สามารถส่งต่อจากฝ่ายหนึ่งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งได้ เพื่อนหรือคนสนิทที่รู้ใจกันระดับนี้ไม่ใช่จะหาได้ง่าย ๆ บางคนหาทั้งชีวิตก็ไม่เจอ การคุยเล่นหรือการส่งต่อความรู้สึกดี ๆ จะเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่จุดนั้นได้

ภาคปฏิบัติ

บทที่ 6 เทคนิคในการเล่นเกมพูดคุย

เวลากับเกมพูดคุย สิ่งแรกที่ต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในการพูดคุยทุกครั้งก็คือเวลา เพราะเวลาจะเป็นตัวกำหนดว่าควรเข้าหา หรือตอบรับคำทักทายของคนอื่นอย่างไร และหัวข้อที่คุยควรเป็นเรื่องอะไร หากรู้ว่าการพูดคุยแต่ละครั้งมีระยะเวลาเท่าไหร่ ก็จะวางแผนเตรียมไว้ล่วงหน้าได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เรียกได้ว่า เวลาเปรียบเสมือนตัวช่วยในเกมพูดคุยนั่นเอง อย่างไรก็ตามไม่แนะนำให้วางแผนอย่างละเอียด เพราะเกมพูดคุยเป็นสิ่งที่ต้องเล่นร่วมกันกับผู้อื่น ปัจจัยแทรกซ้อนที่จะทำให้ทุกอย่างไม่เป็นไปตามแผนจึงมีอยู่สูงมาก สิ่งที่ควรทำคือวางแผนไว้แค่คร่าว ๆ โดยคิดว่าจะใช้เวลาพูดคุยที่มีจำกัดนี้อย่างไร ทำให้ทั้งตัวเองและผู้สนทนาได้รับความรู้สึกดี ๆ กลับไปให้ได้มากที่สุด

ควรคุยกันเรื่องอะไร เรื่องกลุ้มใจอันดับต้น ๆ ของคนพูดไม่เก่งก็คือไม่รู้จะคุยเรื่องอะไรดี แม้แต่คนที่สามารถสื่อสารได้เป็นปกติ พวกเขาคุยได้ทุกเรื่อง เพียงแต่ไม่รู้ว่าควรคุยเรื่องอะไร เห็นได้ชัดว่าปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ หัวข้อสนทนาที่เหมาะจะนำมาคุยเล่นนั้น ทั้งหมดทำเป็นสูตรสำเร็จได้แก่ สภาพอากาศ งานอดิเรก ข่าว การเดินทาง คนรู้จัก ครอบครัว สุขภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างเพศ งาน รวมถึงเสื้อผ้า อาหาร และที่อยู่ แต่ปัญหาก็คือต่อให้รู้หัวข้อที่จะคุยเล่น แต่ถ้าพูดกับใครสักคนว่าวันนี้ร้อน แล้วเขาตอบมาแค่ว่าอืม.. ก็คงไปต่อไม่ถูก

วิธีที่ปลอดภัยและง่ายกว่านั่นคือ ให้ถามคำถามแทน การถามคำถามอย่างสุภาพเป็นวิธีดึงคนอื่นเข้าสู่การสนทนาได้อย่างนุ่มนวลที่สุด เพราะมันเป็นการสื่อความหมายเป็นนัยว่าสนใจ และต้องการความเห็น ในขณะที่การชวนคุยแบบพูดขึ้นมาลอย ๆ เป็นการพูดโดยเอาความเห็นของตัวเองนำ ซึ่งอาจทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี จึงควรเอาหัวข้อคุยเล่นที่เป็นสูตรสำเร็จมาประยุกต์ใช้ โดยเรียบเรียงคำพูดให้อยู่ในรูปของคำถาม

ตั้งคำถามโดยคำนึงถึงคู่สนทนา เทคนิคการเล่นเกมพูดคุยด้วยการตั้งคำถามไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแค่ถามเรื่องทั่วไปที่ไม่เสียมารยาท และพยายามถามโดยคำนึงถึงคู่สนทนาเป็นหลัก เพียงเท่านี้ก็จะพูดคุยไปได้เรื่อย ๆ เมื่อจบเรื่องหนึ่งก็ให้คำถามอีกเรื่องหนึ่งต่อ อาจจะเป็นเรื่องอาหารที่ชอบ สภาพอากาศ หรือการเดินทางท่องเที่ยวก็ได้ สิ่งเดียวที่ต้องจำไว้ก็คือ ประเด็นที่คุยควรเป็นเรื่องของคู่สนทนาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องของตัวเองเลย แค่ตั้งคำถามสำหรับอีกฝ่ายก็พอ ไม่มีใครรู้สึกไม่ดีเวลามีคนแสดงออกอย่างจริงใจว่า สนใจ ที่สำคัญพอทำแบบนี้ คนพูดไม่เก่งก็ไม่จำเป็นต้องพูดอะไรมาก เท่ากับได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายเลยทีเดียว

สนใจในตัวคู่สนทนา เมื่อสามารถถามเรื่องทั่วไปได้อย่างชำนาญแล้ว เทคนิคขั้นต่อไปคือ การถามคำถามที่มีความเฉพาะเจาะจง หรือเป็นเรื่องส่วนบุคคลมากขึ้น ถ้าถามได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มันก็จะช่วยให้การสนทนามีรสชาติและรู้สึกดียิ่งขึ้นไปอีก เผลอ ๆ อาจพัฒนาความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายได้แบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว เคล็ดลับมีอยู่แค่ต้องสนใจในตัวคู่สนทนาเสียก่อน เพราะเวลาที่สนใจในอะไรบางอย่าง จะอยากรู้อยากเห็นจนคำถามผุดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ เมื่อปรับอารมณ์ให้สนใจคู่สนทนาแล้ว เรื่องที่เคยมองข้ามก็จะกลายเป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยใคร่รู้ นอกจากการสังเกตคู่สนทนาแล้ว ยังสามารถใช้วิธีจินตนาการได้อีกด้วย เทคนิคนี้จะทำให้การพูดคุยดูมีชั้นเชิงมากขึ้น ทั้งยังเป็นการฝึกให้เป็นคนช่างคิดช่างสังเกต ที่สำคัญคนที่คุยด้วยยังรู้สึกดีมากกว่าเดิม

เออออไว้ก่อน การสนทนาที่ไหลลื่นมักเกิดขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่าย มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน บางคนอาจรู้สึกว่าการเออออตามทุกเรื่อง จะไม่ทำให้ดูเหมือนเป็นคนขี้ประจบหรือ ไม่มีความคิดเห็นเป็นของตัวเองหรอกหรือ ความเห็นส่วนตัวไม่ใช่สิ่งจำเป็นในเกมการพูดคุย อย่าลืมว่ากำลังเล่นเกมที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันถึงจะชนะได้อยู่ ไม่ใช่การไม่เป็นตัวของตัวเอง แต่เป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อชัยชนะ

ไม่พยายามอยู่เหนือกว่าคนอื่น โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบอยู่เหนือคนอื่น หากศึกษาประวัติศาสตร์จะเห็นว่า การต่อสู้แข่งขันเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับมนุษย์มาตั้งแต่ยุคโบราณ อย่างไรก็ตาม การเอาชนะสัญชาตญาณที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีเทคนิคพิเศษเพื่อให้ปล่อยวางได้ง่ายขึ้นได้แก่ 1. ชื่นชมคู่สนทนา 2. แสดงความรู้สึกขึ้นบ่อย ๆ 3. รู้สึกสนุกเข้าไว้

ชื่นชมคู่สนทนา เป็นเทคนิคที่ใช้ได้ผลกับแทบทุกเกมพูดคุย การชื่นชมเป็นการตระหนักถึงข้อดีของคนอื่น และยังบังคับให้ต้องสนใจสังเกตอีกฝ่าย ส่งผลให้ยึดติดกับตัวเองน้อยลง นอกจากนั้นการชื่นชมยังเป็นกุญแจที่ทำให้การพูดคุยประสบความสำเร็จได้ด้วย การชื่นชมเป็นเทคนิคที่นำไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายมาก คู่สนทนาย่อมพอใจและรู้สึกอยากพูดคุยมากขึ้น เพราะฉะนั้น ฝึกชื่นชมคนอื่นตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย

แสดงความรู้สึกทึ่งบ่อย ๆ การแสดงความรู้สึกทึ่งเองก็คล้ายกับการชื่นชม ตรงที่เป็นการยอมรับในข้อดี หรือความสามารถของคนอื่น แต่เหนือขึ้นไปกว่านั้นตรงที่มันจะมีความรู้สึกนับถือแทรกอยู่ด้วย หลายคนอาจรู้สึกว่าถ้าแสดงความรู้สึกทึ่งออกมาบ่อย ๆ จะดูไม่ดี หรือคนอื่นจะมองว่าไม่ประสีประสาหรือเปล่า ที่จริงแล้วยิ่งรู้ลึกมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรู้สึกทึ่งได้ง่ายขึ้น ในขณะที่คนทั่วไปจะไม่รู้สึกอะไรเลย คิดว่าระหว่างการมีคนพูดชมด้วยใบหน้านิ่ง ๆ กับคนที่แสดงความทึ่งออกมาแบบไม่กั๊ก จะรู้สึกดีและอยากคุยต่อกับคนไหนมากกว่ากัน

รู้สึกสนุกเข้าไว้ ไม่ใช่ทุกคนในโลกนี้ที่เป็นคนคุยสนุก แน่นอนว่าระหว่างการสนทนาอาจมีบางครั้งที่รู้สึกเบื่อขึ้นมา และถ้าความรู้สึกนั้นถูกส่งต่อไปยังคู่สนทนา การพูดคุยก็จะจบลงโดยทิ้งความรู้สึกไม่ดีเอาไว้ แต่อย่าลืมว่าเวลาที่คิดว่าคนอื่นน่าเบื่อ ตัวเองก็อาจจะน่าเบื่อสำหรับเขาเช่นกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ต้องรู้สึกสนุกเข้าไว้ จะช่วยให้บรรยากาศดี และการสนทนาลื่นไหลขึ้นโดยอัตโนมัติ ส่งผลให้สามารถเอาชนะเกมพูดคุยได้อย่างง่ายดาย

บทที่ 7 พัฒนาทักษะในการตั้งคำถาม

คำถามที่รู้จักกันดีที่สุดในญี่ปุ่น ถ้าพูดถึงคำถามที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในญี่ปุ่น แน่นอนว่าต้องเป็น ตัดผมมาหรือ ของคุณทะโมะริพิธีกรขวัญใจประชาชน ที่คร่ำหวอดในวงการบันเทิงมาหลายสิบปี เคล็ดลับของคุณทะโมะริเรียบง่ายแต่ได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ นั่นคือจะทำเหมือนตัวเองเป็นผู้ชมที่กำลังนั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน ใครก็ตามที่เคยดูรายการของเขาน่าจะนึกภาพตามได้เป็นอย่างดี เขาจะไม่ค่อยเฮฮาแบบคนอื่น ๆ ที่อยู่ในรายการ เขาทำตัวเป็นมิตร แต่ก็นิ่งเงียบ จะหัวเราะออกมาก็ต่อเมื่อมีเรื่องน่าขำจริง ๆ และไม่เคยพูดแทรกหรือแย่งคนอื่นพูด

ทำไม ตัดผมมาหรือ? จึงเป็นคำถามชั้นยอด เหตุผลข้อแรกเลยก็คือ คำถามนี้บ่งชี้และให้ความสำคัญกับความเปลี่ยนแปลงของคู่สนทนา การแสดงออกว่ารับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของคู่สนทนา เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ได้ผลดีมาก เพราะคนส่วนใหญ่จะดีใจเวลามีคนสังเกตเห็นอะไรใหม่ ๆ ของตัวเอง นอกจากนั้นต่อให้อีกฝ่ายไม่ได้ตัดผม หรือทำอะไรต่างจากเดิมเลย การทักแบบนี้ก็ยังทำให้เขารู้สึกดีได้

ส่วนเหตุผลข้อที่ 2 ก็คือ เพราะมันเป็นคำถามที่ตอบง่าย และไม่สร้างภาระให้กับอีกฝ่าย หากคำถามเป็นภาระและบรรยากาศการสนทนาก็จะกร่อยไปด้วย

เหตุผลข้อ 3 เพราะมันเกี่ยวกับตัวคู่สนทนาโดยตรง จึงเป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าเรื่องของตัวเอง

เหตุผลข้อที่ 4 ชัดเจนในตัวอยู่แล้วนั่นคือ มันเป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจที่มีต่อคนอื่น

และเหตุผลข้อที่ 5 ซึ่งเป็นข้อสุดท้ายก็คือ เพราะไม่มีใครลืมว่าตัวเองตัดผม มนุษย์ลืมเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้ง่ายกว่าที่คิดมาก ขณะที่การตัดผมเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่จำได้แม่น แถมยังตอบได้โดยไม่ต้องคิดทบทวนให้วุ่นวาย

ทั้งหมดนี้เป็นเหตุผลว่าทำไมคำถามที่ดูแสนจะธรรมดา ถึงได้เป็นคำถามในอุดมคติของเกมพูดคุย

เกมพูดคุยกับการรับลูก ส่งลูก และเลี้ยงลูก เกมพูดคุยที่ลื่นไหลต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจหรือจังหวะจะโคนที่เข้ากันได้ของทั้งสองฝ่าย ทีมจะเล่นได้ดีก็ต่อเมื่อสมาชิกในทีมสามารถรับลูก ส่งลูก และเลี้ยงลูกได้อย่างคล่องแคล่ว ในเกมพูดคุยทุกครั้งสิ่งแรกที่ทำคือ การรับลูก จริง ๆ แล้วการที่มีความตั้งใจที่จะคุยกับเขาก็ถือเป็นการรับลูกแล้ว และการรับฟังสิ่งที่คนอื่นพูดก็นับว่าเป็นการรับลูกด้วยเช่นกัน ขั้นต่อไปคือการส่งลูก ซึ่งเป็นการนำเอาความตั้งใจที่จะคุยกับอีกฝ่ายมาทำให้เป็นรูปธรรมด้วยการทักทาย และใช้เทคนิคตั้งคำถาม เมื่ออีกฝ่ายตอบหรือถามกลับก็ต้องเลี้ยงลูก โดยการตอบคำถามเล่าเรื่องของตัวเอง หรือตั้งคำถามใหม่ พูดง่าย ๆ ก็คือทำให้บทสนทนาดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

การตั้งใจฟังแบบ 100% เต็ม มันคือการทุ่มสมาธิฟังคู่สนทนาแบบไม่ปล่อยให้มีอะไรหลุดรอดไปได้แม้แต่เรื่องเดียว ไม่เฉพาะสิ่งที่อีกฝ่ายต้องการจะบอกเท่านั้น สิ่งที่ต้องฟังยังรวมถึงน้ำเสียง สายตา และท่าทางที่สื่อออกมา

ปรุงแต่งสักนิดแล้วจะรับลูกได้ดีขึ้น วิธีรับลูกที่นิยมใช้กันมากที่สุดคือ การรับฟังและแสดงความรับรู้ต่อสิ่งที่คู่สนทนาพูด ด้วยการส่งเสียงตอบรับ หรือแสดงความเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ คนพูดไม่เก่งมากชอบใช้วิธีตอบรับสั้น ๆ แต่การตอบรับสั้น ๆ แบบนี้สามารถกลายเป็นการรับลูกที่ยอดเยี่ยมได้ ถ้ามีการปรุงแต่งเพิ่มเข้าไปสักเล็กน้อย ตัวอย่างเช่น เวลาที่คู่สนทนาเล่าถึงประสบการณ์หน้าดีใจให้ฟัง ควรตอบรับพร้อมรอยยิ้มแสดงความยินดี การทำแบบนี้จะทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าให้ความสนใจกับสิ่งที่เขาพูดอยู่จริง ๆ ทำให้เขารู้สึกอยากคุยต่อ ส่งผลให้การส่งลูกทำได้ง่ายขึ้น

ส่งลูก ถ้าหัวใจหลักของการรับลูกคือ การรับฟัง หัวใจหลักของการส่งลูกก็คือ การตั้งคำถาม สำหรับคนส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่พูดไม่เก่ง การเป็นฝ่ายฟังคนอื่นตอบคำถามนั้น ง่ายกว่าการเป็นคนตอบเองมาก หรืออาจกล่าวได้ว่าแค่ถามคำถามเป็น ก็เอาตัวรอดในเกมพูดคุยได้อย่างไม่ลำบากแล้ว อย่างไรก็ตามถ้าจะให้ชี้เฉพาะลงไปว่า มีคำถามอะไรที่ควรถามบ้าง ต่อให้ใช้เวลาเป็นปีก็คงพูดไม่จบ เพราะสิ่งที่สามารถถามได้มีมากมาย โดยหลักการใหญ่ ๆ มีดังนี้

เป็นคำถามที่ตอบง่าย ระหว่างคำถามที่ต้องคิดอยู่นานสองนานถึงจะตอบได้ กับคำถามที่ได้ยินปุ๊บตอบได้ปั๊บ ไม่ว่าใครก็คงชอบอย่างหลังมากกว่ากันทั้งนั้น นอกจากนั้นการถามคำถามที่ตอบยาก ไม่ได้หมายความว่าคำตอบที่ได้จะลึกซึ้ง หรือจริงใจกว่าคำถามที่ตอบง่าย ตรงกันข้าม คำถามที่ตอบง่ายมักมีพลังกระตุ้นให้อีกฝ่ายรู้สึกอยากเปิดเผยสิ่งที่อยู่ในใจได้มากกว่า ข้อดีอีกอย่างของคำถามที่ตอบง่ายคือ มันช่วยให้คู่สนทนารู้สึกผ่อนคลาย การพูดคุยจึงมีชีวิตชีวา และมีบรรยากาศที่ดี

ถามเรื่องที่อีกฝ่ายสนใจ เรื่องที่ทำให้คนถูกถามรู้สึกอยากตอบมากที่สุดนั้น หนีไม่พ้นคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องที่เขาสนใจ บางคนอาจนึกแย้งว่า แล้วถ้าไม่รู้ว่าอีกฝ่ายสนใจเรื่องอะไรจะทำอย่างไร ที่จริงถ้าใช้เทคนิคตั้งใจฟังแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มจะไม่มีปัญหานี้เลย แต่สำหรับคนที่ยังไม่เก่งแนะนำให้ใช้วิธี โยนหินถามทาง การโยนหินถามทางคือการหยิบเอาเรื่องทั่ว ๆ ไปของตัวคู่สนทนามาตั้งเป็นคำถามที่ตอบง่าย เพื่อเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ ระหว่างที่โยนหินถามทางก็สังเกตดูว่า เขามีท่าทีกระตือรือร้นกับเรื่องไหนเป็นพิเศษ แล้วยิงคำถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นซ้ำ โดยถามให้ละเอียดขึ้นกว่าเดิมอีกนิด เพราะโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ชอบสอนคนอื่นอยู่แล้ว

ถามคำถามที่แคบ คำถามที่แคบคือคำถามที่มีความเฉพาะเจาะจง และมีความเป็นรูปธรรมสูง ตรงกันข้ามกับคำถามที่กว้าง ที่จะถามเรื่องทั่วไปแบบกว้าง ๆ และมีความเป็นรูปธรรมต่ำ โดยทั่วไปแล้วคำถามที่แคบจะตอบง่ายกว่ามาก จึงควรตั้งคำถามให้แคบเข้าไว้ เพื่อไม่ให้คู่สนทนาต้องลำบากใจ หรือคิดหนักว่าจะตอบได้ไหม

เทคนิคการสัมภาษณ์ที่มีประโยชน์ต่อเกมพูดคุย การสัมภาษณ์เองก็เป็นการตั้งคำถามชนิดหนึ่ง จึงสามารถนำเทคนิคที่ใช้ในการสัมภาษณ์มาประยุกต์ใช้ในเกมพูดคุยได้ เทคนิคนี้อาจยากกว่าเทคนิคอื่น ๆ อยู่เล็กน้อย แต่สำหรับคนที่เริ่มมั่นใจ ในทักษะการตั้งคำถามของตัวเองแล้ว แนะนำให้ลองใช้ดู เทคนิคแรกเป็นวิธีการที่เรียกว่า ถามเรียงตามลำดับเวลา เพื่อเติมคำตอบที่หายไป เทคนิคนี้ต้องอาศัยความรู้เกี่ยวกับตัวบุคคล หรือหัวข้อที่พูดถึง และมีความจริงจังกว่าการคุยเล่นขึ้นมาระดับหนึ่ง จึงเหมาะกับการคุยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ให้สนิทสนมกันมากขึ้น

เลี้ยงลูก เทคนิคสุดท้ายต่อจากการรับลูกและส่งลูกก็คือการเลี้ยงลูก นี่เป็นเทคนิคที่เน้นที่การพูดของตัวเอง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การสนทนาดำเนินต่อไปได้ บางครั้งสถานการณ์จะบังคับให้ต้องเป็นฝ่ายพูดบ้าง กรณีแบบนี้แหละที่เรียกว่าการเลี้ยงลูก ในการพูดคุยเรื่องทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวัน ถ้าคู่สนทนากำลังสนุกกับการพูด สามารถปล่อยให้เขาเลี้ยงลูกไปเรื่อย ๆ ได้

ทำให้คู่สนทนาเลี้ยงลูกอย่างมีความสุข คนพูดไม่เก่งย่อมอยากให้คู่สนทนาเป็นฝ่ายเลี้ยงลูกไปเรื่อย ๆ ถ้าเป็นคนหนึ่งที่คิดแบบนั้น ก็ต้องพยายามทำให้คู่สนทนาเลี้ยงลูกอย่างมีความสุขให้ได้

บทที่ 8 คาแรคเตอร์กับกลยุทธ์ตัวตลก

คาแรคเตอร์คืออะไร คาแรคเตอร์เป็นสิ่งที่สำคัญมากในเกมพูดคุย คาแรคเตอร์ในที่นี้คือบุคลิก ตัวตน หรือบทบาทที่เลือกใช้เวลาอยู่ในเกมพูดคุย ซึ่งจะส่งผลต่อการพูดและการวางตัว ยังวมีผลต่อคำถามหรือคำตอบของคู่สนทนาด้วย อย่างไรก็ตามไม่ได้บอกให้เสแสร้ง ทำตัวเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง ต้องเข้าใจก่อนว่าคน ๆ หนึ่งไม่ได้มีแค่บุคลิกหรือคาแรคเตอร์เดียว มีคาแรคเตอร์มากมายอยู่ในตัว ทุกคนมักทำตัวแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์และคนที่อยู่ด้วย เช่น เวลาที่อยู่ในที่ทำงานอาจเป็นคนเงียบขรึมดูน่าเชื่อถือ แต่เวลาอยู่กับเพื่อนกลับเป็นคนเฮฮาสุด ๆ นี่คือการวางคาแรคเตอร์ ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

ข้อด้อยสามารถกลายเป็นข้อได้เปรียบได้ จริงอยู่ว่าสามารถปรับเปลี่ยนคาแรคเตอร์ตัวเองกันได้อยู่แล้วโดยสัญชาตญาณ แต่การค้นพบหรือรู้ว่าตัวเองมีคาแรคเตอร์อะไรบ้าง จะช่วยให้ใช้มันได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น และเลือกได้ว่าจะใช้คาแรคเตอร์ไหนในเกมพูดคุย วิธีที่ง่ายที่สุดที่ช่วยให้ค้นพบคาแรคเตอร์ของตัวเองก็คือ การสังเกต ต้องหัดสำรวจและพิจารณาว่า ตัวเองมีนิสัยใจคออย่างไร และมีพฤติกรรมแบบไหนในแต่ละสถานการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลามีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การทำแบบนี้จะทำให้ได้เห็นข้อดีของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ได้เห็นข้อด้อยหรือจุดบกพร่องของตัวเองด้วย แน่นอนว่าคงไม่มีใครชอบข้อด้อยของตัวเอง ในเกมพูดคุยข้อด้อยจะเป็นคาแรคเตอร์ที่มีประโยชน์ที่สุด เพราะมันคือองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สามารถใช้กลยุทธ์ตัวตลกได้

กลยุทธ์ตัวตลก ทุกคนล้วนมีตัวตลกซึ่งก็คือจุดบกพร่อง หรือปมด้อยซ่อนอยู่ในตัว พอมีใครพูดขึ้นมาจึงรู้สึกเหมือนถูกแทงใจดำ แต่การแก้ไขด้วยวิธีปิดกั้นตัวเองจากสังคม ไม่ยอมพูดจาหรือสนิทสนมกับคนอื่น ไม่ได้ช่วยให้ปัญหาหมดไป กลับกันมันจะเป็นการทำให้ตัวตลกแข็งแกร่ง และควบคุมชีวิตได้มากขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะยอมให้เป็นแบบนั้น มาเปลี่ยนตัวตลกที่ว่านี้ให้กลายเป็นอาวุธกันดีกว่า เรียกมันว่ากลยุทธ์ตัวตลก ง่ายมากแค่ยอมให้คนอื่นพูดถึงตัวตลก หรือข้อด้อยของตัวเองโดยไม่ถือโทษโกรธเคือง ก็ถือว่าทำสำเร็จแล้ว จะว่าไปแล้วการใช้กลยุทธ์ตัวตลกบ่อย ๆ นับเป็นการฝึกฝนจิตใจรูปแบบหนึ่ง เริ่มแรกอาจใช้กลยุทธ์นี้เพื่อให้พูดคุยกับคนอื่นได้เก่งขึ้น แต่พอนานเข้าผลพลอยได้ที่ตามมาคือจิตใจจะแข็งแกร่งขึ้น ไม่รู้สึกหวั่นไหวหรือสะเทือนใจง่ายอีกต่อไป

เตรียมความพร้อมทางจิตใจ ก่อนใช้กลยุทธ์ตัวตลก ถึงตอนนี้คงเข้าใจแล้วว่า กลยุทธ์ตัวตลกมีประโยชน์อย่างไร แต่การให้คนอื่นมาพูดหยอกล้อ ในสิ่งที่มองว่าเป็นปมด้อยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เรื่องต่อไปที่อยากให้เตรียมใจเอาไว้ก็คือ เนื่องจากตัวตลกไม่ได้มีอยู่เพียงเรื่องเดียว อีกทั้งคนที่กำหนดมันก็ไม่ใช่ตัวเองแต่เป็นคนรอบข้าง จึงไม่อาจรู้ล่วงหน้าได้ว่า ตัวตลกหรือข้อด้อยไหนจะถูกหยิบยกมาใช้ คนเราอ่อนไหวกับข้อด้อยแต่ละเรื่องไม่เท่ากัน บางคนอาจแค่รู้สึกอายนิด ๆ ที่หน้ามีสิว แต่รู้สึกแย่มากที่พูดติดอ่าง ถึงแม้เขาจะอยากให้การมีสิวเป็นคาแรคเตอร์ของตัวเอง แต่คนอื่นก็อาจเลือกเอาเรื่องที่พูดติดอ่างมาใช้ จึงต้องตระหนักเอาไว้ว่า เรื่องแบบนี้สามารถเกิดขึ้นได้ และอย่าให้มันมาเป็นอุปสรรคในการพัฒนาตัวเอง

เอาอย่างคนตาบอด เมื่อเทียบกับข้อด้อยของคนทั่วไป การมีดวงตาที่บอดสนิทน่าจะเป็นเรื่องร้ายแรงกว่าชนิดเทียบกันไม่ติด คนตาบอดจะเชื่อใจคนอื่นแบบ 100% พวกเขาไม่สามารถใช้ดวงตาตรวจสอบความจริงได้ เวลามีคนพาไปที่ไหนถ้าคนที่พาไปบอกว่าถึงแล้ว พวกเขาก็ต้องเชื่อไว้ก่อน เพราะถ้าไม่เชื่อพวกเขาย่อมไม่อาจใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ได้เลย คนตาบอดจึงเชี่ยวชาญด้านการเชื่อใจคนอื่น และคิดเสมอว่าคนส่วนใหญ่ปรารถนาดีต่อเขา แม้บางครั้งจะเจอเรื่องน่าผิดหวังแต่เขาก็ยังพร้อมจะเชื่อใจคนอื่นต่อไปอยู่ดี เรื่องนี้สอนได้ดีมาก ในเมื่อคนตาบอดไม่กลัวที่จะเชื่อใจคนอื่นแล้ว ทำไมคนตาดีที่สามารถเอาตัวรอดได้ดีกว่าหลายเท่า ถึงได้ไม่กล้าเชื่อว่าคนอื่นไม่ได้ล้อด้วยเจตนาร้าย

บทที่ 9 พฤติกรรมที่ผิดกฎเกณฑ์พูดคุย

พฤติกรรมไม่พึงประสงค์ มาถึงตอนนี้คงเห็นภาพและเข้าใจแล้วว่า เกมพูดคุยไม่ใช่เกมที่เล่นยากอะไรเลย กฎกติกาของมันยืดหยุ่น วิธีเอาชนะก็มีอยู่มากมายนับไม่ถ้วน อย่างไรก็ตามยังมีพฤติกรรมบางอย่างที่ถือว่าผิดกฎ และอาจนำความเดือดร้อนหรือความบาดหมางมาสู่ตัวเองและคู่สนทนา พฤติกรรมที่ว่านี้ได้แก่ 1. โกหก 2. โอ้อวด 3. ขัดคอ

โกหก การโกหกเป็นพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ต่างก็รู้กันดี การโกหกนั้นส่งผลเสียตามมาเสมอ ต่อให้เป็นการโกหกด้วยเจตนาดีก็ตาม การพูดสิ่งที่คิดหรือรู้สึกจริง ๆ ออกไปไม่ใช่เรื่องไม่ดี เพียงแต่ต้องมีการปรุงแต่งบ้างเพื่อไม่ให้คำพูด และท่าทางไปทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น

มีสิทธิ์ที่จะไม่พูด การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี และถ้าเป็นไปได้ก็ไม่ควรโกหกเลย แต่แน่นอนว่า ในชีวิตจริงบางครั้งสถานการณ์ก็ไม่เอื้ออำนวยให้พูดความจริงได้เสมอไป แล้วในสถานการณ์แบบนั้นยังมีอีกตัวเลือกหนึ่ง ที่สามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องโกหก นั่นคือมีสิทธิ์ที่จะไม่พูด มนุษย์ทุกคนล้วนได้รับสิทธิ์นี้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด จึงไม่ควรปล่อยให้มันสูญเปล่า

โอ้อวด จริงอยู่ว่าการโอ้อวดไม่ใช่เรื่องผิดศีลธรรมอย่างการโกหก แต่มันก็เสียมารยาทและไม่ถูกต้องตามกฎกติกาของเกมพูดคุย ถ้าจะเปรียบให้เห็นภาพการโกหกก็เปรียบเสมือนความผิดระดับโดนใบแดงและถูกไล่ออกจากสนาม ส่วนการโอ้อวดเป็นความผิดระดับใบเหลืองยังอยู่ในเกมพูดคุยต่อได้ แต่โอกาสที่คนอื่นจะส่งลูกมาให้ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ โดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มักให้ความสำคัญกับตัวเองที่สุด เวลาพูดก็อย่าพูดแต่เรื่องตัวเอง ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดแต่ต้องระวังไม่ให้มันกลายเป็นอุปสรรคต่อเกมพูดคุย

ทำไมการโอ้อวดจึงเป็นสิ่งไม่ดี สาเหตุที่การโอ้อวดเป็นพฤติกรรมที่ผิดกฎเกณฑ์ พูดคุยอย่างนั้นเป็นเพราะมันมีแนวโน้มจะจำกัดความเห็นของคู่สนทนาให้ต้องเห็นด้วยกับตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย จนถ้าเผลอทำขึ้นมาต้องรู้สึกผิดไปชั่วชีวิตอะไร แน่นอนว่าบางครั้งคนเราก็เผลอตัวไปบ้าง จึงไม่ควรเข้มงวดกับตัวเองจนเกินไป แต่ก็ต้องมีความระมัดระวังอยู่เสมอ

ขัดคอ ถ้าเคยคุยกับคนที่ชอบขัดคอ น่าจะยังจำความรู้สึกที่เกิดขึ้นในตอนนั้นได้ ส่วนใหญ่แล้วจะรู้สึกรำคาญ แต่ถ้าบรรยากาศการสนทนาแย่มาก ๆ จากความรำคาญก็อาจเปลี่ยนเป็นความโกรธ หรือกลายเป็นความเกลียดไปเลยก็ได้ ผลที่ตามมาของการขัดคอจึงถือว่าร้ายแรงทีเดียว

ลดการพูดคำว่าไม่ การพูดด้วยความจริงใจกับการขัดคอนั้นเป็นคนละเรื่องกัน การพูดด้วยความจริงใจมีจุดประสงค์คือ เพื่อบอกในสิ่งที่คิดโดยไม่ได้ต้องการทำร้ายความรู้สึกของคนอื่น แต่จุดประสงค์ของการขัดคอคือเพื่อต้องการจะบอกว่าตัวเองเก่งกว่า ถูกต้องกว่า รู้ทันว่าอีกฝ่ายกำลังมาไม้ไหน มันไม่ใช่วิธีแสดงความคิดเห็น แต่เป็นการโอ้อวดรูปแบบหนึ่ง วิธีแก้นิสัยชอบพูดขัดคอคนอื่นที่ทำได้ง่าย และเร็วที่สุดคือต้องลดการพูดคำว่าไม่ลง คำว่าไม่เป็นคำที่เต็มไปด้วยความรู้สึกด้านลบ คำประเภทนี้จะกระตุ้นสัญชาตญาณการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายของมนุษย์ได้ง่าย ถึงไม่ควรใช้มันพร่ำเพรื่อ

บทสรุป เทคนิคที่สำคัญที่สุดของการพูดคุยคือ การคำนึงถึงคนอื่น

การพูดเพื่อคู่สนทนา สุดท้ายแล้วเทคนิคที่สำคัญที่สุดของการพูดคุยก็คือ การคำนึงถึงคนอื่น การพูดคุยจะมีบรรยากาศที่ดีได้ก็ต่อเมื่อคิดถึงความรู้สึกของคู่สนทนา ไม่ใช่สนแต่ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร อาจมีบางคนคิดว่า ถ้าต้องคำนึงถึงแต่คนอื่น เวลาที่คุยแล้วจะได้อะไร อย่างนั้นสู้ไม่คุยเลยจะไม่ดีกว่าหรือ แต่นั่นเป็นความคิดที่ผิด เพราะเมื่อพูดคุยโดยคำนึงถึงคู่สนทนา อีกฝ่ายก็จะอยากคุยด้วย ส่งผลให้การพูดคุยครั้งนั้นเป็นไปอย่างรื่นไหล และต่างฝ่ายต่างรู้สึกดีต่อกัน อาจกล่าวได้ว่า แท้จริงแล้วการคำนึงถึงคนอื่นก็คือ การคำนึงถึงผลประโยชน์ที่ยั่งยืนของทั้งสองฝ่ายนั่นเอง คนพูดไม่เก่งนักคิดว่า การพูดเป็นเรื่องยาก แต่การพูดคุยไม่ใช่เรื่องยาก แค่กำลังใช้วิธีพูดคุยที่ไม่มีประสิทธิภาพอยู่ต่างหาก ที่น่าวิตกคือคนส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าวิธีสื่อสารที่ใช้อยู่นั้นไม่ดีพอ

คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใจร้าย คนพูดไม่เก่งมักเป็นคนจิตใจอ่อนโยน จึงกลัวว่าถ้าพูดแล้วน่าเบื่อจะไปทำให้คนอื่นรำคาญหรือไม่ชอบตัวเอง ยิ่งถ้าคนที่ต้องคุยด้วยเป็นคนที่นับถือ ชื่นชม ก็ยิ่งประหม่า สุดท้ายเลยไม่กล้าพูด จนกลายเป็นคนที่บกพร่องด้านการสื่อสาร ในที่สุดใครก็ตามที่เข้าข่ายตัวอย่างข้างต้น อยากให้จำประโยคนี้เอาไว้ให้ดี คนส่วนใหญ่ไม่ได้ใจร้าย พวกเขาจะไม่เกลียดเพียงเพราะคุยไม่เก่ง จากการสำรวจพบว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าตัวเองเป็นคนที่สื่อสารได้ไม่ดีซึ่งหมายความว่า ขณะที่พูดตะกุกตะกักด้วยความประหม่าอีกฝ่ายเองก็อาจกำลังประหม่าไม่แพ้กัน ต้องพูดคุยโดยคำนึงถึงคนอื่น คนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดเก่งหรอก ทำใจให้สบายแล้วร่วมมือกันเอาชนะเกมพูดคุยให้ได้ดีกว่า

รู้จักให้อภัยตัวเอง นิสัยเสียอย่างหนึ่งของคนพูดไม่เก่งคือ ชอบผ่อนปรนให้คนอื่นแต่เข้มงวดกับตัวเอง เวลาพูดผิดหรือสื่อสารไม่ชัดเจน ต่อให้ปัญหาที่เกิดตามมาจะเล็กน้อยแค่ไหน พวกเขาก็จะรู้สึกอับอาย เสียใจ หรือหดหู่ไม่เลิก นี่เป็นการทำร้ายตัวเองอย่างไม่สมควรเอามาก ๆ ในกรณีของคนที่เข้มงวดกับตัวเองมาก ๆ และไม่รู้จักแก้ไขอย่างไรลองคิดแบบนี้ดู ถ้าพูดขอโทษขอโพยและแสดงอาการหดหู่ตลอดเวลา คู่สนทนาจะไม่คิดว่าพูดไม่เก่ง แต่จะคิดว่าตัวเขาทำอะไรผิดหรือเปล่า จะทำให้คนอื่นรู้สึกแย่ไปด้วย การให้อภัยตัวเองจึงไม่ได้เป็นการทำเพื่อตัวเองเท่านั้น มันยังเป็นการทำเพื่อคนอื่นด้วย

การโหนบาร์กับการพูดคุย ทุกคนคงเคยเล่นโหนบาร์ในชั่วโมงพละกันมาก่อนแล้ว แน่นอนว่าจะมีกลุ่มที่ฝึกไม่กี่ครั้งก็ทำได้ซึ่งเป็นชนกลุ่มใหญ่ กับกลุ่มที่ทำไม่ได้สักทีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย การพูดคุยเองก็ไม่ต่างจากการโหนบาร์ ตรงที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝน บางคนอาจฝึกไม่กี่ครั้งก็ทำได้ บางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น แต่เมื่อพยายามจนทำได้ครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากนั้นจะทำได้ตลอดไป อย่าท้อแท้แม้จะไม่สามารถทำได้ตั้งแต่ครั้งแรก ขอแค่ตั้งใจจริงและไม่ยอมล้มเลิก รับรองว่าจะมีคนเข้ามาช่วยเหลือจนทำได้สำเร็จ เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกนี้ไม่ใช่คนใจร้าย ถ้ามีความจริงใจและคำนึงถึงคนอื่น เวลาที่พูดคุยจะกลายเป็นคนที่คุยด้วยแล้วรู้สึกดี และทุกคนจะอยากเข้ามาคุยด้วยอย่างแน่นอน

บทส่งท้าย

ผู้เขียนเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาด้วยความตั้งใจว่า อยากให้ผู้อ่านรู้สึกเพลิดเพลินเหมือนกำลังฟังรายการวิทยุ ทุกวันนี้คนเราให้ความสำคัญกับการสื่อสารอย่างมาก มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับเทคนิคการพูดคุยมากมายเต็มไปหมด แต่กลับแทบไม่มีเล่มไหนเลยที่พูดถึงเทคนิคขั้นพื้นฐานของการพูดคุย อาจเพราะสังคมเข้าใจกันว่าการพูดคุยเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายรู้สึกดีไม่ใช่เพื่อเงินหรือความก้าวหน้านั้น เป็นทักษะที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาตั้งแต่เกิด จึงไม่ต้องสอนหรือเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมกันอีก ความคิดนี้ไม่ถูกต้องและยังส่งผลให้คนจำนวนมากคิดว่า ตัวเองผิดปกติที่พูดคุยกับคนอื่นไม่เก่ง

ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอทฤษฎีและเทคนิคที่ได้ลองใช้จริงด้วยตัวเขาเอง หากมีใครที่อ่านแล้วรู้สึกว่าพูดคุยได้ง่ายและสนุกขึ้น ผู้เขียนก็จะดีใจมาก หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้นจากรายการวิทยุของผู้เขียนที่ออกอากาศ 8 ครั้งทางเว็บไซต์นิโกะนิโกะ ไลฟ์ โดยได้รับความกรุณาจาก คุณคุเมะ ยะชุฮิโระ มาช่วยเรียบเรียงให้ การเขียนหนังสือเล่มนี้ทำให้ตระหนักว่าตัวผู้เขียนเอง ขบคิดปัญหาเรื่องการพูดคุยมาแล้วกว่า 20 ปี หนังสือเล่มนี้ถือเป็นก้าวแรกของแนวคิดที่ว่า เป้าหมายหลักที่แท้จริงของการพูดคุยก็คือ การพูดคุย ผู้เขียนแค่ปรารถนาจากใจจริงว่า ต่อจากนี้ไปคนที่มีหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือ จะไม่รู้สึกอึดอัดเวลาอยู่ในลิฟท์ และมีวันที่สามารถพูดคุยได้อย่างสบายใจ.

สั่งซื้อหนังสือ “ทำไมคุยกับคนนี้แล้วรู้สึกดีจัง” (คลิ๊ก)