ไม่ต้องฉลาดก็มองเห็นโอกาสได้มากกว่าคนอื่น

สรุปหนังสือ ไม่ต้องฉลาดก็มองเห็นโอกาสได้มากกว่าคนอื่น

โดยผู้เขียน โคมิยะ คาสุโยชิ

ความช่างสังเกต = การเป็นคนตาไว เคยนึกสงสัยไหมว่าทั้ง ๆ ที่มองสิ่งเดียวกันหรือฟังเรื่องเดียวกัน แต่ทำไมสิ่งที่คนอื่นเห็นกลับแตกต่างอย่างสิ้นเชิง จริง ๆ แล้วเรื่องนี้มีเทคนิคของมันอยู่นั่นคือ ทักษะโครงสร้างและหลักการของการเป็นคนตาไว คนที่มองไม่เห็นต่อให้มองเป็นหมื่นครั้งก็มองไม่เห็น ความช่างสังเกตและความคิดสร้างสรรค์ตั้งอยู่บนพื้นฐานเดียวกันนั่นคือ การมองเห็นสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น ผู้ที่ไม่ได้เป็นคนตาไวแม้จะพยายามค้นหา หรือพยายามคิดสักแค่ไหน สิ่งนั้นก็ไม่อยู่ในสายตามองอย่างไรก็ไม่เห็น การมองเห็นรายละเอียดจึงเป็นการฝึกความช่างสังเกตอย่างหนึ่ง พูดง่าย ๆ คือถ้ามีเหตุจูงใจเล็ก ๆ น้อย ๆ จะเริ่มมองเห็นรายละเอียด เมื่อมีความสนใจจะมองภาพรวม และเห็นรายละเอียดบางอย่าง หรืออย่างน้อยที่สุดก็ได้พยายามจะมองสิ่งสำคัญ ในลำดับต่อไปคือความรู้ว่าจะต้องมองอะไร การมีเกณฑ์การประเมินหรือการสร้างข้อสันนิษฐานว่า มันน่าจะเป็นแบบนี้ช่วยให้มองเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนยิ่งขึ้น สรุปได้ว่า ถ้ามีความสนใจจะมองเห็นรายละเอียด ถ้าตั้งข้อสันนิษฐานจะมองเห็นรายละเอียดอย่างครบถ้วน

บทที่ 1 ดูอยู่แต่มองไม่เห็นอะไรเลย

กฎสำคัญในการมองเห็นรายละเอียดมี 2 ข้อดังต่อไปนี้

  1. ถ้าใส่ใจ จะมองเห็นรายละเอียด ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการสังเกตเห็นตั้งแต่แรก
  2. ถ้ามีความคิดฝังใจ จะมองไม่เห็นรายละเอียด

ความแตกต่างระหว่างคนที่เก็บเงินหล่นได้บ่อย ๆ กับคนที่แทบจะไม่เคยเก็บได้อยู่ที่กฎข้อ 2 อันที่จริงเงินเป็นวัตถุที่คนทำหล่นบ่อยมาก เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่คิดว่าจะมีใครทำเงินหล่น ถ้าคิดฝังใจว่าไม่มีใครทำเงินหล่น ก็จะมองไม่เห็นเงินหล่น เพราะจะเอาแต่มองแต่สิ่งที่สนใจ หรือสิ่งที่สำคัญกับตัวเอง ไม่ได้เก็บภาพทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกล้องถ่ายรูป ปกติแล้วเวลาดูนาฬิกาเพื่อให้รู้เวลาจะไม่ดูรูปแบบของหน้าปัด ในทางกลับกันถ้าดูแต่รูปแบบคราวนี้จะไม่ดูเวลา

คนเราไม่ได้ดูทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในสายตา แต่จะคัดกรองสิ่งที่ควรดูไว้ล่วงหน้า แล้วรับเอาเฉพาะข้อมูลนั้น พูดอีกอย่างคือคัดแยกสิ่งที่ดูออกจากสิ่งที่ไม่ดู ขอย้ำอีกครั้งว่า การดูของคนเราไม่ได้บันทึกทุกสิ่งทุกอย่างเป็นภาพในหัวเหมือนกล้องถ่ายรูป แต่จะเลือกดูสิ่งที่เข้ามาในสายตา หรือดูเฉพาะสิ่งที่ตัดสินใจแล้วว่าจะดู ถ้าใส่ใจก็จะทำให้มองเห็นรายละเอียดซึ่งเป็นกฎสำคัญข้อแรก อย่าคิดแค่ว่าเห็นแล้ว สิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์คือ การเลือกดูสิ่งสำคัญ การเก็บข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ ข้อมูลที่เข้ามาจะเยอะเกินไปจนจัดเก็บไม่ทัน และไม่สามารถวินิจฉัยอะไรได้ ซึ่งอาจทำให้พลาดข้อมูลที่สำคัญไป แถมยังพลาดเยอะเสียด้วย

ถ้าดูแต่สิ่งที่ตัดสินใจตั้งแต่แรกว่าจะดู สิ่งไหนที่ไม่คิดว่าจะดูก็จะดูอย่างผิวเผินจึงไม่สังเกตเห็น ส่วนคนที่คิดว่าดูเต็มที่แล้วก็จะไม่เห็นไปมากกว่านั้นอีก ความดื้อรั้นมันก็เป็นแบบนี้ คนบางคนแค่ดูแวบเดียวก็คิดว่าตัวเองเก็บรายละเอียดได้ทั้งหมด ซึ่งจริง ๆ แล้วคนแบบนั้นน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะมีความเป็นไปได้ว่า เขาจะมองข้ามแก่นแท้ไปโดยไม่รู้ตัว แล้ววินิจฉัยผิดและทำผิดพลาด

ไม่ว่าจะเป็นมืออาชีพในด้านอะไรก็ตาม จะมองเห็นสิ่งที่มือสมัครเล่นมองไม่เห็นได้มากมาย เพราะเขาพินิจพิจารณาสิ่งที่เห็น ยิ่งดูก็ยิ่งเห็น สิ่งที่อยากดูหรืออยากเห็นจึงเพิ่มขึ้น อีกอย่างหนึ่งคือสิ่งต่าง ๆ มีเรื่องตื้นลึกหนาบาง ยิ่งดูให้ลึกก็ยิ่งรู้ว่าข้างหน้ายังมีสิ่งที่มองไม่เห็นอีกมากมาย กล่าวคือการได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ และความสนใจในสิ่งเหล่านั้นทำให้ตั้งใจดู

ส่วนคนที่มองไม่เห็นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็มองไม่เห็น เพราะไม่คิดจะรู้สิ่งที่ตัวเองไม่รู้ สิ่งที่ขาดไม่ได้ในความในการฝึกความช่างสังเกตคือ การตระหนักว่าตัวเองยังมีสิ่งที่มองไม่เห็นหรือไม่รู้ ดังนั้น การมองเห็นอย่างผิวเผิน แล้วทึกทักว่ารู้หมดแล้วเป็นเรื่องอันตราย เพราะมีความเป็นไปได้สูงที่จะมองข้ามเรื่องสำคัญไป

บทที่ 2 ความสนใจ และ ข้อสันนิษฐานช่วยให้มองเห็นรายละเอียด

เริ่มจากมีความสนใจในขั้นตอนแรก ในการมองเห็นได้ละเอียดคือ การมีความสนใจถ้ามีความสนใจก็จะเริ่มมอง และสิ่งนั้นจะเข้ามาอยู่ในสายตาโดยอัตโนมัติ ไม่ได้มองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าทั้งหมดเหมือนกล้องถ่ายรูป แต่กำหนดสิ่งที่จะมองไว้ล่วงหน้าแล้วเลือกมองสิ่งนั้น นั่นเป็นเพราะว่าความสนใจทำหน้าที่เป็นตัวคัดกรอง

มืออาชีพมีเกณฑ์การประเมินหรือข้อสันนิษฐานว่า จะดูตรงไหนและอย่างไร การมีข้อสันนิษฐานที่เหมาะสมจะช่วยให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนโดยอัตโนมัติ เมื่อตั้งข้อสันนิษฐานที่ถูกต้องได้ จะมองเห็นรายละเอียดอย่างแท้จริง ในกรณีนี้ต้องเริ่มจากการแตกประเด็น แล้วมองเฉพาะประเด็นสำคัญ กล่าวคือการกำหนดเป้าหมายที่ควรสนใจ ช่วยให้มองเห็นรายละเอียดได้ง่ายขึ้น

ช่วงแรกเริ่มจากกำหนดเป้าหมายความสนใจ แล้วให้มองเป้าหมายนั้น โดยใช้ข้อสันนิษฐานหรือเกณฑ์การประเมินที่ตั้งไว้ ส่วนเรื่องที่จะมองเห็นประเด็นสำคัญในตอนท้ายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับทักษะในการตั้งข้อสันนิษฐานเพิ่มเติม ซึ่งการมองเป้าหมายแล้วประเมินว่า มันน่าจะเป็นแบบนี้จะช่วยพัฒนาทักษะในการตั้งข้อสันนิษฐาน

สนใจ สงสัย สันนิษฐาน ตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการพิสูจน์ข้อสันนิษฐาน จะทำให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิม และเปลี่ยนให้กลายเป็นคนตาไว บางครั้งข้อสันนิษฐานก็กลายเป็นเปลือกนอกที่ทำให้เข้าใจผิด เมื่อเป็นเช่นนั้นกลับยิ่งทำให้มองไม่เห็นรายละเอียด ไม่ว่าใครต่างก็มีอคติแตกต่างกันไปมากบ้างน้อยบ้าง ซึ่งสิ่งนั้นทำให้มองเรื่องราวผิด หรือสร้างสถานการณ์ที่บดบังสิ่งที่กำลังมองอยู่ ควรจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น นั่นคือการสงสัยอคติ การหมั่นพิสูจน์ข้อสันนิษฐานที่ตั้งไว้แล้วก็เป็นสิ่งสำคัญ

บทที่ 3 ทำตามตัวอย่างแล้วจะเห็น

วิธีแยกแยะบริษัทที่ดีในแบบโคมิยะ ถ้าพนักงานบริษัทเรียกลูกค้าว่า ลูกค้า แม้เพียงคนเดียวก็ถือว่าบริษัทนั้นไม่ใช้ไม่ได้ บริษัทที่ดีนั้นประธานบริษัทยันพนักงานพาร์ทไทม์ จะเรียกลูกค้าว่า ท่านลูกค้า ไม่ว่าจะในบริษัท ในการประชุม หรือในคู่มือการใช้งานก็ตาม บริษัทที่พนักงานบอกลูกค้าที่โทรมาว่า ผู้รับผิดชอบกำลังเข้าประชุมออกมารับโทรศัพท์ไม่ได้ เป็นบริษัทที่ใช้ไม่ได้ เพราะว่ายอดขายของบริษัทมาจากลูกค้า ไม่ใช่การประชุมภายในบริษัท ที่โต๊ะประชาสัมพันธ์มีแต่โทรศัพท์ และบริษัทที่พนักงานประชาสัมพันธ์ถามลูกค้าคำแรกว่า นัดไว้หรือเปล่า ไม่ใช่บริษัทที่ดี

สังเกตเห็นไหมว่าบริษัทที่ใช้ไม่ได้หมายความว่า บริษัทนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องภายในบริษัทมากกว่าลูกค้า พูดอีกอย่างคือตั้งข้อสันนิษฐานว่า บริษัทที่ดีจะเอาใจใส่ลูกค้า เมื่อลองสังเกตจากข้อสันนิษฐานนี้ว่า บริษัทที่เอาใจใส่ลูกค้ามีลักษณะพิเศษอย่างไร จะมองเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นอกจากนี้บริษัทที่พนักงานทักทายลูกค้าก็เป็นบริษัทที่ดี เพราะมันเป็นการแสดงออกว่าพนักงานเอาใจใส่ลูกค้า

วิธีเดายอดขายของบริษัท เพียงแค่ดูจุดเล็ก ๆ น้อย ๆ แบบนี้ก็พอจะรู้ว่าบริษัทได้กำไรหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องดูงบการเงินเลย มีวิธีรู้ยอดขายของบริษัท ถึงจะถามบริษัทที่ไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ว่า มียอดขายเท่าไหร่เขาก็คงไม่บอก แต่ในวงการธุรกิจเดียวกัน ถ้าถามจำนวนพนักงานก็พอจะทราบยอดขายคร่าว ๆ ได้ เพราะว่ากำไรขั้นต้น มาจากยอดขายลบด้วยราคาทุน

ในแต่ละวงการมีการกำหนดไว้แล้ว สมมุติว่าราคาทุนคือ 30% กำไรขั้นต้นจะเท่ากับ 70% ถ้านำตัวเลขนี้ไปคูณกับจำนวนพนักงาน ก็จะทำให้รู้ยอดขายของบริษัท เมื่อนำค่าแรงมาเทียบกับกำไรขั้นต้นจะได้ตัวเลขที่เรียกว่า สัดส่วนรายได้ของแรงงาน ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณครึ่งหนึ่ง บริษัทที่มีกำไรขั้นต่ำถึงจะมียอดขายสูงมากสักแค่ไหน ก็มักจะให้เงินเดือนพนักงานไม่สูง บางวงการมีกำไรขั้นต้นไม่ถึง 20% ด้วยซ้ำ

วิธีดูงบการเงินในหนึ่งวินาที แค่รู้วิธีดูเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ว่าใครก็ดูงบการเงินได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย เคล็ดลับการดูงบการเงินคือ การตั้งข้อสันนิษฐานที่ถูกต้อง ในกรณีธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถ้าเงินสดและเงินฝากไม่เกินยอดขาย 1 เดือน แนะนำให้ไปกู้เงินมา เพราะในไม่ช้าบริษัทจะถึงคราวที่ต้องเดือดร้อน มันไม่เกี่ยวว่างบการเงินจะขาดทุนหรือกำไร ถ้าไม่สามารถชำระเงินสิ่งที่ควรชำระในวันนัดหมาย บริษัทจะล้มละลายเท่านั้นเอง นี่คือประเด็นสำคัญ

กรณีของบริษัทที่มีสภาพคล่องทางการเงินดีพอสมควร ถ้าจะดูงบการเงินเพียงแค่วินาทีเดียว ให้ดูอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างสินทรัพย์หมุนเวียนกับหนี้สินหมุนเวียนในงบดุล ให้ดูแค่ว่าหนี้สินหมุนเวียนมากกว่าหรือน้อยกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน เพราะว่าโดยทั่วไปแล้วบริษัทจะเดือดร้อนถ้าไม่สามารถชำระหนี้สินหมุนเวียนที่ต้องชำระภายในเวลา 1 ปีได้ แม้จะมีหนี้สินหมุนเวียนมาก แต่ถ้าเงินสดเงินฝากและลูกหนี้การค้ามีมูลค่ามากกว่า จะตั้งข้อสันนิษฐานว่าบริษัทจะเอาตัวรอดได้

บทที่ 4 วิธีฝึกความช่างสังเกต

เรียนรู้ให้มากกว่าคนอื่นเล็กน้อย คนที่พิจารณาเรื่องราวต่าง ๆ จากรากฐานเท่านั้นที่จะมองเห็นรายละเอียดมากมายจนน่าประหลาดใจ และคนที่พิจารณาเรื่องราวได้ถึงรากฐานจริง ๆ จะมองเห็นอะไรได้มากขึ้น ถ้าฝึกใช้ความคิดก็จะเข้าใจว่า พยายามใช้ความจำก่อนที่จะฝึกใช้ความคิด จึงมองไม่เห็นแก่นแท้ ทำนองเดียวกับนักวิ่งกระโดดไกล จะฝึกฝนเทคนิคการกระโดดอย่างเดียวไม่ได้ ถ้าไม่พัฒนาทักษะการวิ่งเพื่อสร้างแรงส่ง ก็จะกระโดดได้ไม่ดี การหมั่นใช้ความคิดหรือการคิดอย่างลึกซึ้ง ก็เหมือนกับการพัฒนาทักษะการวิ่งนั่นเอง

ดังนั้น การฝึกคิดอย่างลึกซึ้งให้เป็นนิสัย จะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดโดยอัตโนมัติ แนวทางในการเรียนรู้อย่างหนึ่งคือ การฝึกฝนเทคนิคเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ถ้ามีเทคนิคจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เพราะว่าการมีเทคนิคจะช่วยให้เห็นแนวทาง และเป็นจุดเริ่มต้นของการคิดแบบแตกประเด็น ตัวอย่างเช่น ที่ปรึกษาด้านการบริหารมีเทคนิค เครื่องมือต่าง ๆ เกี่ยวกับการวิเคราะห์ การบริหารจึงมองเห็นในสิ่งที่คนไม่รู้เรื่องนั้นมองไม่เห็น เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเวลาที่มีกับไม่มีเทคนิคเครื่องมือ จะมองเห็นเรื่องราวแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

เทคนิคอาจเรียกได้ว่าเป็นกรรไกร สำหรับที่ปรึกษาและพนักงานบริษัท ซึ่งเป็นเครื่องมือที่พวกเขาใช้ตัดปรากฏการณ์ต่าง ๆ มาวิเคราะห์ การมีเทคนิคเครื่องมือเยอะ ๆ จะช่วยให้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของ มาสโลว์ การถ่ายรูปสติ๊กเกอร์และกระเป๋าหลุยส์วิตตองของนักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลาย

มาสโลว์เป็นนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ที่มีบทบาทสำคัญช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิทยามนุษย์นิยม ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการเป็นทฤษฎีที่มีชื่อเสียง ซึ่งประกอบด้วยความต้องการ 5 ขั้นดังนี้

ขั้นที่ 1 คือความต้องการทางกายภาพ

ขั้นที่ 2 คือความต้องการความมั่นคงปลอดภัย

ขั้นที่ 3 คือความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ

ขั้นที่ 4 คือความต้องการความเคารพนับถือ

ขั้นที่ 5 คือความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต

และตามคำจำกัดความของมาสโลว์ มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโต เพื่อมุ่งสู่ความสมบูรณ์ของชีวิตอย่างไม่หยุดหย่อน

อย่างไรก็ตาม ความสมบูรณ์ของชีวิตที่มาสโลว์กล่าวถึงคือ การเป็นตัวเองในระดับแก่นแท้ ไม่ใช่เป็นตัวเองในแบบที่อยากเป็น พูดอีกอย่างคือการจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ มากกว่าคนอื่น สิ่งสำคัญคือต้องใฝ่หาความรู้มากกว่าคนอื่น และเพิ่มความรู้หรือลิ้นชักเครื่องมือ เพียงเท่านี้ความรู้จะเข้าไปอยู่ในลิ้นชัก และในยามที่ต้องการมันก็หยิบจับออกมาใช้ได้ทันที การพิจารณาว่าจะเปิดลิ้นชักไหนเท่าไหร่ และจะใช้ประกอบกันอย่างไรนั้น จะเป็นตัวกำหนดมุมมองการจะใช้ความรู้อย่างไรนั้นเป็นหัวข้อสำคัญ ถ้าจะให้ยกตัวอย่างสักเรื่องหนึ่งคิดว่าเป็นการกระหายความรู้ หรือการพยายามหาวิธีแก้ปัญหา ในเวลาจนมุมอย่างจริงจังได้แค่ไหน

ลักษณะเด่นของสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะ สินค้าเหล่านั้นต้องมีลักษณะเด่น เช่นราคาแพง เป็นของหายาก ใคร ๆ ก็รู้จัก เป็นต้น สินค้าที่ต้องใช้การอธิบายอย่างละเอียด จะเป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะได้ยาก นาฬิกาข้อมือหรือรถยนต์เป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะได้ง่ายกว่านาฬิกาตั้งโต๊ะหรือบ้าน เพราะสามารถพกพาได้ นาฬิกาตั้งโต๊ะและบ้านก็เป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะ แต่ว่าคนพกพาไปไหนมาไหนไม่ได้ สินค้าที่พกพาได้จึงเป็นสัญลักษณ์แสดงสถานะได้ดีกว่า

ดูสิ่งปกติให้มาก ๆ เมื่อครั้งที่แพทย์ตรวจพบเนื้องอกในปอดของผู้เขียน และเขาก็ได้เข้ารับการผ่าตัดออกแล้ว สาเหตุที่แพทย์ตรวจพบเร็วมากเพราะว่า ผู้เขียนเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำที่โรงพยาบาล ลองคิดดูแล้วมันแปลกดีถ้าให้มือสมัครเล่นดูภาพทีซีสแกนก็ดูไม่ออก แต่ว่าคุณหมอดูออกถามว่าทำได้อย่างไร คุณหมอตอบว่า ถ้าดูคนไข้ปกติมาก ๆ แล้วจะรู้เอง นี่คือวิธีสังเกตอีกวิธีหนึ่ง ถ้ารู้ค่าเฉลี่ยในแวดวงธุรกิจหรือดัชนีชี้วัดภาวะเศรษฐกิจ จะรู้ว่าธุรกิจไปได้ดีหรือไม่ คุณหมอก็รู้ความผิดปกติได้จากการเห็นภาพรังสีของคนปกติในจำนวนมาก ถ้าคุณหมอดูแต่ความผิดปกติหรือโรคภัยก็จะไม่รู้ว่าคนไหนเป็นโรคหรือเป็นคนปกติ แต่ถ้าคุณหมอเห็นคนปกติในจำนวนมาก เขาก็จะรู้ถึงความผิดปกติได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

การจะรู้ข้อดีของสิ่งนั้นเมื่อมีสิ่งเปรียบเทียบ ทุกคนล้วนอยากจะดูสิ่งพิเศษให้ออก ซึ่งสิ่งที่ต้องทำคือ การดูของธรรมดา ๆ ให้มาก ๆ และหลากหลายอย่างสม่ำเสมอ การรู้จักเปรียบเทียบกับของธรรมดา ๆ จะช่วยให้เห็นคุณค่าของสิ่งดี ๆ

หาวิธีแก้ปัญหาอย่างถึงที่สุด ระยะหลังมานี้จะได้ยินเรื่องมองเห็นปัญหามากกว่าแก้ปัญหา ซึ่งการมองเห็นปัญหานั้นเป็นความช่างสังเกตอย่างหนึ่ง พูดอีกอย่างคือการมองเห็นปัญหาคือ ทักษะที่มีความเกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้งกับความคิดการวางแผนและการประดิษฐ์ ซึ่งการฝึกฝนสิ่งเหล่านั้นทำได้ยากกว่าการแก้ปัญหา การแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ การหาวิธีแก้ปัญหาอย่างถึงที่สุด จะช่วยเพิ่มทักษะในการมองเห็นปัญหาได้กล่าวคือ ยิ่งพยายามแก้ปัญหามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมองเห็นประเด็นปัญหาในมุมต่าง ๆ มากเท่านั้น

การแก้ปัญหาจึงเป็นเงื่อนไขแรกของการมองเห็นปัญหา ไม่สามารถมองเห็นปัญหาได้ทันทีทันใด นอกจากนี้สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการมองเห็นปัญหาคือ การรับรู้ภาวะวิกฤต ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งของความรับผิดชอบ และระดับความจริงจังต่อการรับรู้ภาวะวิกฤตจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน การสะสมประสบการณ์แก้ปัญหาไว้มาก ๆ จะสัมพันธ์กับทักษะในการมองเห็นปัญหา

การแก้ปัญหาอย่างขอไปที จะไม่เชื่อมโยงกับการมองเห็นปัญหา ถ้าพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือต้องทำอย่างถึงที่สุดนั่นเอง ถ้าแก้ปัญหาอย่างถึงที่สุด จะมองเห็นรายละเอียดใหม่ คำสำคัญที่ว่าทำอย่างถึงที่สุดนั้นหมายถึง การทำอย่างลึกซึ้ง การทำอย่างถึงที่สุด ลองผิดลองถูก และพิถีพิถันจะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดอย่างแน่นอน

เพิ่มความสนใจให้หลากหลายและลึกซึ้ง การหมกมุ่นคือการมีความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง ซึ่งช่วยให้มองเห็นรายละเอียดตามความหลากหลายและความลึกซึ้งของสิ่งที่สนใจ เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ ล้วนมีความหลากหลายและลึกซึ้ง การมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในมุมกว้างและลึก จึงช่วยให้มองเห็นรายละเอียด แล้วจะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ในเชิงกว้างและลึกซึ้งได้โดยการฝึกฝน

การฝึกฝนคือการฝืนตัวเองให้มีความสุขใจ แล้วต้องฝึกฝนอย่างนี้คือ การอ่านหนังสือพิมพ์ไล่ตั้งแต่หน้าแรก และการอ่านนิตยสารที่ไม่มีความสนใจ จะช่วยเพิ่มความสนใจให้หลากหลายนอกจากนี้ต้องพลิกแพลงรูปแบบพฤติกรรมประจำวันด้วย

ถ้าให้คนประเภทที่ชอบท้าทายสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เลือกระหว่างทางที่รู้จักกับทางที่ไม่รู้จัก เขาจะเดินไปในทางที่ไม่รู้จักจึงมองเห็นรายละเอียดได้ดี ถ้ามีสินค้าหรือร้านค้าใหม่นิทรรศการ หรือภาพยนตร์ที่ผู้คนกล่าวขวัญถึง เขาจะต้องไปดูทันที ยิ่งถ้ามีเพื่อนกระตุ้นก็จะได้ผลยิ่งขึ้น การเปิดรับสิ่งต่าง ๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะช่วยให้มองเห็นความสำคัญของ ข่าว ตัวเลข และสินค้าที่เกลื่อนกลาด ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกัน ทั้งยังมองเห็นรายละเอียดในเชิงลึก และปลูกฝังความช่างสังเกต

ความสนใจนั้นมีที่มา ความรับความรับผิดชอบเป็นจุดกำเนิดความสนใจจุดหนึ่ง หากจะพูดให้ถูกต้องยิ่งขึ้น มันคือสำนึกรับผิดชอบ เมื่อตระหนักถึงความรับผิดชอบจะมองเห็นสิ่งสำคัญ และมองสิ่งนั้นอย่างจริงจังด้วย เพราะว่ามันเป็นงาน เมื่อมีความรับผิดชอบเรื่องงาน ความสนใจก็จะตามมาเอง ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง หากมีสำนึกรับผิดชอบสูงจะมองเห็นรายละเอียดได้ง่ายขึ้น

ในทางกลับกัน ผู้ที่ไม่มีสำนึกรับผิดชอบ และมองไม่เห็นรายละเอียด จะไม่ค่อยได้รับมอบหมายความรับผิดชอบที่ใหญ่หลวง จึงมองไม่เห็นรายละเอียดไปกันใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกันในทางลบ โดยทั่วไปแล้วพนักงานดีเด่นมีความสนใจในงานของตัวเองอย่างมาก แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวมของบริษัท พนักงานส่วนใหญ่จะไม่สนใจ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น เวลาที่คนเราทำอะไรอย่างจริงจังจะไม่มีคำว่าปานกลาง มีแค่ชอบกับไม่ชอบไม่มีคำว่าปานกลาง

แต่จะว่าไปแล้วพนักงานทั่วไปไม่ผิด เพราะว่าส่วนใหญ่แล้วพวกเขาแทบจะไม่ได้รับโอกาสให้คำนึงถึงเรื่องทั้งหมดในบริษัท จึงไม่แปลกที่ไม่มีความสนใจ บริษัทนั่นแหละที่ทำให้พวกเขาไม่มีความสนใจจริง ๆ แล้วบริษัทที่ไม่ได้เป็นแบบนั้นก็มี บางบริษัทให้พนักงานที่เพิ่งเข้ามาทำงาน คำนึงถึงเรื่องทั้งหมดของบริษัท ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนได้คิดถึงบริษัท ในมุมมองเพื่อบริษัท ไม่ใช่เพื่อตัวเอง เพื่อพวกเรา หรือเพื่อแผนก ถ้าพนักงานมีโอกาสได้คำนึงถึงว่า ทำอะไรแล้วดีหรือไม่ดีต่อบริษัทโดยรวม ทำอย่างไรให้ทุกคนในบริษัทและลูกค้ามีความสุข นอกเหนือจากงานของตัวเองแล้ว พวกเขาจะมีความสนใจเรื่องทั้งหมดในบริษัท ทั้งนี้ถ้าเขาเป็นพนักงานที่รักความก้าวหน้า นอกจากนี้บริษัทและหัวหน้าต้องให้โอกาสพนักงานมีความสนใจเรื่องทั้งหมดในบริษัท แบบเดียวกับที่ครูให้โอกาสศิษย์ และพ่อแม่ให้โอกาสลูก บางครั้งการบังคับให้มีความสนใจที่ดี จะจัดการประชุมวิชาการอย่างเช่น เรื่องเศรษฐศาสตร์มหภาค ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรง

ความสนใจเกิดจากการได้รับโอกาสให้คำนึงถึง เมื่อมีความสนใจจะรู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบสิ่งนั้น หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เกิดเกณฑ์การประเมินแล้ว เกณฑ์การประเมินนั้นจะกลายเป็นข้อสันนิษฐาน ซึ่งช่วยให้มองเห็นรายละเอียด

บทที่ 5 เคล็ดลับการเป็นคนตาไว

แค่รู้ประเด็นสำคัญก่อนจะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดได้ง่ายขึ้น การแนะแนวทางให้ก่อนเป็นเคล็ดลับ 1 ในการมองเห็นรายละเอียด เช่นเดียวกับการรู้ประเด็นสำคัญ ก่อนเวลาไปชมนิทรรศการที่หอศิลป์ ถ้าอ่านคำอธิบายก่อนที่จะดูภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน วิธีดูภาพจะต่างไปจากเดิม หรือถ้าได้ฟังการบรรยายจากผู้ที่มีความรู้ ผู้ที่มีความสามารถมากกว่านั้น จะแนะแนวทางให้ผู้ฟังได้คิดและมองเห็นรายละเอียด ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของครู หัวหน้า และรุ่นพี่ แจกแจงรายละเอียดก็จะมองเห็นได้ง่ายขึ้น

กรณีที่ต้องการเพิ่มความช่างสังเกตให้กับตัวเอง การมองภาพรวมไปพร้อมกับดูส่วนที่ตัวเองสนใจอย่างระมัดระวังและพิถีพิถันเป็นพิเศษนั้น ช่วยให้มุมมองเปลี่ยนไป ลดจำนวนข้อมูลลง เคล็ดลับข้อนี้สัมพันธ์กับการแตกประเด็น กล่าวคือต้องลดจำนวนสิ่งที่ดู นั่นคือวิธีหนึ่งที่ช่วยให้มองเห็นรายละเอียดได้ง่ายขึ้น การมองเห็นรายละเอียดคือ ทิศทางหรือความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น เวลาพบเห็นสิ่งต่าง ๆ ดังนั้น การจดบันทึกสิ่งที่สังเกตเห็นทันทีให้ติดเป็นนิสัยเป็นสิ่งจำเป็น ขณะทบทวนสิ่งที่จดบันทึก จะสังเกตเห็นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องราวที่จดบันทึกไว้ และมักจะมองเห็นรายละเอียดได้ดียิ่งขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นคนที่ฉลาดสักแค่ไหน แม้จะพยายามเปลี่ยนความคิด อคติ ตำแหน่งสายตา และมุมมองของตัวเองสักเท่าไหร่ สุดท้ายก็ไม่สามารถเปลี่ยนได้ แต่ถ้ามองสิ่งต่าง ๆ จากจุดยืนของคนหลายคน ความคิดเห็นจะต้องเปลี่ยนไป เนื่องจากมุมมอง วิธีคิด และอคติที่แตกต่างกัน การปะทะกันจะช่วยให้มองเห็นรายละเอียด การจับเข่าคุยกันเพื่อให้ได้มุมมองที่หลากหลาย จึงเป็นประเด็นสำคัญในการมองเห็นรายละเอียด การหมกมุ่นเป็นสิ่งจำเป็นแต่อย่าดื้อรั้น คนดื้อรั้นจะมองไม่เห็นรายละเอียด จะคิดว่าตัวเองถูกเสมอ และไม่เปลี่ยนแปลงมุมมองของตัวเองเด็ดขาด ส่งผลให้มองไม่เห็นสิ่งที่กำลังมองอยู่ โดยทั่วไปแล้วเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น มีความหมกมุ่นรุนแรงเกินไปจนโดนครอบงำ ถ้าไม่หมกมุ่นจะมองไม่เห็นรายละเอียด แต่ถ้าโดนครอบงำจนไม่ปรับมุมมอง ก็จะมองไม่เห็นรายละเอียดเช่นกัน

คนที่มองเห็นรายละเอียดจะมีความสุข คนที่มองเห็นได้ละเอียดคือคนช่างสังเกต ส่วนคนที่มองไม่เห็นรายละเอียดคือคนไม่ช่างสังเกต การมองเห็นรายละเอียดก็เกี่ยวข้องกับการสังเกตอาการของคนอื่นเช่นกัน คนช่างสังเกตจะมองเห็นเวลาที่คนอื่นเดือดร้อนจึงยื่นมือเข้าช่วยเหลือได้ คนบางคนเห็นแก่แกล้งทำเป็นไม่เห็นก็มี แต่ในชีวิตประจำวันคนที่ไม่เห็นความเดือดร้อนของคนอื่นเพราะว่า เป็นคนไม่ช่างสังเกตมีมากกว่าคนที่เห็นแต่แกล้งทำเป็นไม่เห็น

นอกจากนี้เวลาคนอื่นมีความสุข คนช่างสังเกตจะยินดีด้วย ทุกคนชอบคนแบบนั้น ส่วนคนที่ไม่รับรู้เวลาที่มีความทุกข์ หรือไม่ยินดีเวลาที่มีความสุข คนแบบนี้ไม่มีใครอยากคบเป็นเพื่อน การมองเห็นเชื่อมโยงกับการสังเกต เมื่อมองเห็นจะมีความสุข ความช่างสังเกตจะปูทางไปสู่การมองเห็นรายละเอียด และความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานให้ได้อย่างมีอาชีพ การรับรู้และมองเห็นความสุขหรือความทุกข์ของคนอื่น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับการเป็นมนุษย์

บทส่งท้าย

การได้รู้อะไรก็ตามถือเป็นการเรียนรู้ ทุกครั้งที่ได้เรียนรู้จะเกิดความประทับใจ และความซาบซึ้งใจว่า มีเรื่องแบบนี้ด้วยอยู่บ่อย ๆ ยิ่งไปกว่านั้น แม้แต่เรื่องที่เรียนมาแล้ว พอนำมาทบทวนใหม่ก็เกิดการค้นพบ มนุษย์ย่อมลืมเรื่องที่อ่านมานานแล้วไปพอสมควร อีกทั้งสิ่งที่เคยเรียนรู้ หรือประสบการณ์ที่ผ่านมาจะช่วยให้เข้าใจสิ่งที่เคยอ่านเมื่อนานมาแล้วแต่ไม่เข้าใจ การค้นพบและการฉุกคิดจะช่วยให้รู้สึกว่าโลกกว้างขึ้น ทั้งยังอิ่มเอมใจและเกิดความคิดสร้างสรรค์มากมายตามมา จึงทำให้อยากค้นพบเรื่องราวต่าง ๆ รอบตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด.