ตราสารอนุพันธ์ (Derivative) คืออะไร

ตราสารอนุพันธ์ (Derivatives securities) คือ ตราสารที่ก่อกำเนิดจากหรือแปรผันตามสิ่งอ้างอิง โดยทั่วไปตราสารอนุพันธ์จะมีมูลค่าขึ้นอยู่กับสินทรัพย์อ้างอิง (underlying asset) หรือ ตัวแปรอ้างอิง (underlying variable)

ตัวอย่างของอนุพันธ์ทางการเงินในชีวิตจริง เช่น สัญญาณซื้อขายบ้าน โดยผู้ซื้อวางเงินมัดจำซื้อบ้าน 50,000 บาท เพื่อที่จะซื้อบ้านในอีก 3 เดือนข้างหน้า ที่ราคา 2,000,000 บาท เมื่อครบกำหนดผู้ซื้อก็นำเงินมาจ่าย หากผู้ซื้อไม่ทำตามสัญญาก็จะถูกยึดเงินมัดจำ หากพิจารณาในลักษณะของการลงทุนจะเห็นว่า สัญญาซื้อขายบ้านเป็นตราสารอนุพันธ์ประเภทหนึ่ง โดยมีการตดลงทำสัญญาณในปัจจุบันเพื่อที่จะซื้อขายกันในอนาคต หากราคาบ้านเพิ่มขึ้นเป็น 3,000,000 บาท จะส่งผลให้สัญญามีค่าถึง 1 ล้านบาท (3,000,000 – 2,000,000 บาท) และหากนำ 1 ล้านบาทไปเทียบกับเงินมัดจำเพียง 50,000 บาท ซึ่งเปรียบเสมือนเงินลงทุน จะเห็นได้ว่ากำไรได้ถึง 20 เท่า นี่คือเหตุผลหนึ่งของการเรียกตราสารอนุพันธ์ว่าเป็นตราสารที่มีอำนาจเพิ่มทางการเงิน (leverage instrment)

ประโยชน์ทั่วไปของตราสารอนุพันธ์

  • การนำตราสารอนุพันธ์ไปใช้สะท้อนราคาในอนาคต (price discovery)
  • การนำตราสารอนุพันธ์ไปถัวความเสี่ยง (hedging)
  • การนำตราสารอนุพันธ์ไปเก็งกำไร (speculation)

ตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน 

สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่

  1. สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์สและฟอร์เวิร์ด)
  2. ออปชัน
  3. สัญญาสวอป

สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ฟิวเจอร์สและฟอร์เวิร์ด)

สัญญาที่มีการตกลงระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จะซื้อ และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้จะขายสินทรัพย์อ้างอิง ตามราคาที่ตกลงในอนาคต

ตัวอย่าง สัญญาซื้อขายล่วงหน้าของหุ้น ABC ในอีก 3 เดือนข้างหน้ามีราคา 100 บาท หมายความว่าในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้ซื้อจะต้องซื้อ และผู้ขายจะต้องขายหุ้น ABC ในราคา 100 บาท ไม่ว่าราคาหุ้นตอนนั้นจะเป็นเท่าใดก็ตาม

  • สัญญาฟิวเจอร์สจะเป็นการซื้อขายในตลาดทางการ (exchange)
  • สัญญาฟอร์เวิร์ดจะเป็นการตกลงซื้อขายในตลาดต่อรอง (OTC market)

ออปชัน

สัญญาที่ผู้ถือมีสิทธิซื้อ (call option) หรือ สัญญาที่ผู้ถือมีสิทธิขาย (put option) สินทรัพย์อ้างอิงจากผู้ออกออปชันนั้นในราคาและระยะเวลาที่กำหนด 

ความแตกต่างของออปชันกับสัญญาซื้อขายล่วงหน้าคือ ผู้ซื้อ (ถือ) ออปชัน จะเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ (ขายหรือไม่ขาย) ก็ได้ ในขณะที่ผู้ขายออปชันจะต้องทำตามสัญญา หากผู้ซื้อ (ถือ) ออปชันเลือกใช้สิทธิซึ่งมีหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ขายสัญญาซื้อล่วงหน้า ข้อสังเกต ผู้ที่ถือออปชันเป็นผู้ที่ได้เปรียบเนื่องจากเป็นผู้ทีมีสิทธิเลือก ดังนั้น โดยทั่วไปผู้ซื้ออปชันจึงต้องจ่ายเป็นค่าออปชัน ที่เรียกว่า พรีเมี่ยม (premium) ให้กับผู้ขาย

สัญญาสวอป

สัญญาที่จะมีการแลกเปลี่ยนกระแสเงินสดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตกันระหว่างคู่สัญญา (อาจนำมาหักลบกันก่อนก็ได้) หากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้วจะเห็นว่าสัญญาสวอปก็คือกลุ่มของสัญญาฟอร์เวิร์ด (series of forwards) นั่นเอง ดังนั้นสัญญาสวอปจึงมักจะตกลงการทำธุรกรรมกันในตลาดรอง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์ (DR1)