เส้นค่าเฉลี่ย เป็นเครื่องมือที่ง่าย แต่ทรงประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ประยุกต์ในการเทรดได้หลากหลายค่อนข้างมาก ทั้งการดูแนวโน้ม, สัญญาณ Buy/sell และใช้เป็นจุด Stop loss โดยถือว่าเป็นเครื่องมือที่ครบเครื่องในเครื่องมือเดียว
ทำไมต้อง 20 วัน ?
ในบทความนี้เราจะโฟกัสไปที่เส้นค่าเฉลี่ย 20 วัน เพื่อใช้ในการเทรด เนื่องด้วยเพราะว่า ค่าเฉลี่ย 20 วัน เป็นค่าเฉลี่ยในรอบระยะกลาง มีความยืดหยุ่นสูง ไม่ช้า และก็ ไม่เร็ว จนเกินไป
จริงๆ สามารถใช้ ค่าเฉลี่ยอื่นได้ อันนี้เป็นเพียงตัวอย่างการใช้งาน เพื่อให้เทรดเดอร์ได้นำเอาไปเป็นไอเดียในการเทรดเพิ่มเติม
วิเคราะห์พฤติกรรมของราคากับเส้นค่าเฉลี่ย
เราสามารถวิเคราะห์สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นได้ระหว่างราคากับค่าเฉลี่ย เพื่อให้ได้มุมมองต่างๆ สามารถช่วยในการเทรดของเราได้
สิ่งที่ต้องดู
- ราคาเคลื่อนไหวเหนือกว่า หรือ ต่ำกว่า เส้นค่าเฉลี่ย
- ระยะห่างระหว่างราคากับเส้นค่าเฉลี่ย
- การแตะเส้นค่าเฉลี่ยของราคา
- ความชันของเส้นค่าเฉลี่ย
ราคาเคลื่อนไหวเหนือกว่า หรือ ต่ำกว่า เส้นค่าเฉลี่ย
เป็นหลักการพื้นฐานของการวิเคราะห์ราคาโดยใช้เส้นค่าเฉลี่ยเลย
- ราคาอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย = แนวโน้มขาขึ้น
- ราคาอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย = แนวโน้มขาลง
ในช่วงที่ราคาอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ย นั้นหมายความว่า ทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น โอกาสการปรับตัวขึ้นนั้นมีมากกว่า
และในช่วงที่ราคาอยู่ต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย นั้นหมายความว่า ทิศทางเป็นแนวโน้มขาลง โอกาสการอ่อนตัวลงนั้นมีมากกว่า
ระยะห่างระหว่างราคากับเส้นค่าเฉลี่ย
หากราคาวิ่งฉีกห่างออกจากเส้นค่าเฉลี่ยมากๆ แล้วมักจะมีการวกตัวกลับเข้าหาเส้นค่าเฉลี่ย ซึ่งพฤติกรรมนี้สามารถช่วยให้เราจับจังหวะในการเทรดได้ดีขึ้น หรือ สามารถสวนเทรนสั้นๆได้
ช่วงที่ราคาลงหนักๆ ต่อเนื่อง 2 แท่งติดต่อกัน จากนั้นก็มีการค่อยๆ ทยอยฟื้นตัวขึ้น แล้วสุดท้ายก็ปรับตัวลงต่อตามทิศทางเดิม
*** ข้อควรระวัง *** ในช่วงที่ราคาเคลื่่อนไหวเป็นแนวโน้มที่แข็งแรง ราคาสามารถฉีกออกค่าเฉลี่ยได้เรื่อยๆ หลายคนมักคิดว่าราคาต้องวกกลับเข้าหาเฉลี่ย แต่ไม่เลย กลับกลายเป็นเส้นค่าเฉลี่ยที่วิ่งตามราคาแทน … ซึ่งใครที่เทรดสวนเทรน มักเสียหายในช่วงจังหวะอย่างนี้ ดังนั้นควรรอบคอบอย่างมากในจังหวะที่เทรดสวนเทรน
จังหวะที่ราคาแตะเส้นค่าเฉลี่ย
เราสามารถสังเกตได้ว่า ราคาเป็นการย่อตัว หรือ เปลี่ยนแนวโน้ม ได้จากการพิจารณาถึงจังหวะที่ราคาแตะเส้นค่าเฉลี่ย
หากจังหวะการแตะเส้นค่าเฉลี่ยของราคาเปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีโอกาสสูงที่่ พฤติกรรมราคาอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต
จากตัวอย่าง แต่เดิมราคาอยู่ในแนวโน้มของขาขึ้น โดยมีการย่อตัวลงแตะเส้นค่าเฉลี่ยให้เห็นถึง 3 ครั้ง (สี่เหลี่ยมสีเขียว) โดยอาจมีเส้นหลุดๆต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ยได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้หลุดเต็มแท่ง โดยลักษณะนี้เป็นการ Pull back ย่อตัวระยะสั้นแล้วขึ้นต่อไปเรื่อยๆ
แต่พอครั้งที่ 4 (สี่เหลี่ยมสีแดง) ราคาปิดหลุดเส้นค่าเฉลี่ยเต็มแท่ง ไม่เหมือนพฤติกรรมก่อนหน้า ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการเปลี่ยนแนวโน้มเกิดขึ้น
อีกตัวอย่างในทิศทางตรงกันข้าม ทางซ้ายมือ (สี่เหลี่ยมสีน้ำเงิน) เป็นช่วงที่ราคาอยู่ในแนวโน้มขาลง มีการฟื้นตัวขึ้นมาแตะเส้นค่าเฉลี่ยให้เห็น มีเหลื่อมๆบ้างเล็กน้อย
แต่ในช่วง ทางขวามือ (สี่เหลี่ยมสีม่วง) การเหลื่อมของราคากับเส้นค่าเฉลี่ยเริ่มผิดแปลกไป ไม่เหมือนก่อนหน้าที่พอแตะ มีเหลื่อมๆนิดหน่อย แล้วก็ลงต่อ แต่ช่วงนี้การเหลื่อมของราคามากขึ้น และเตะเสร็จก็ไม่ลงต่อ ซึ่งเป็นสัญญาณผิดปกติบางอย่าง
และสุดท้าย ทางขวามือสุด (สี่เหลี่ยมสีเหลือง) การทะลุเส้นค่าเฉลี่ยขึ้นมา เป็นภาพที่ชัดเจนว่าแนวโน้มขาลงได้จบลง
ความชันของเส้นค่าเฉลี่ย
เราสามารถดูแนวโน้มการเคลื่อนไหวโดยรวมของราคาได้จากความชันของเส้นค่าเฉลี่ยได้เช่นเดียวกัน
- หากแนวโน้มเป็นขาขึ้นที่แข็งแรง ความชันเป็นบวก และการขึ้นจะชันมาก
- หากแนวโน้มเป็นลักษณะค่อยๆขึ้น ความชันเป็นบวก แต่จะไม่ค่อยชันมาก
- หากแนวโน้มเป็นขาลงรุนแรง ความชันเป็นลบ และจะชันมาก
- หากแนวโน้มเป็นการค่อยๆลง ความชันเป็นลบ แต่จะไม่ค่อยชันมาก
สรุป
ในการสร้างกลยุทธ์การเทรดโดยใช้เส้นค่าเฉลี่ย 20 วัน ทำให้หลากหลายค่อนข้างมาก จะเล่นรันเทรน , Pullback , Scalping หรือตามโมเมนตัม ดังตัวอย่างที่กล่าวมาในเนื้อหา ก็สามารถทำได้หมดเลย ขึ้นอยู่กับว่าเทรดเดอร์ชอบสไตล์ไหน และที่สำคัญสามารถทำวิธีการวิเคราะห์ต่างๆ มาผสมกันเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพในการเทรด และยังสามารถนำเครื่องมืออื่นเข้ามาใช้ อย่างการดูรูปแบบแท่งเทียน, รูปแบบราคา หรือ Indicaotr อื่นๆ ก็ได้เช่นเดียวกัน