สารบัญ
ช่องว่างของราคา หรือ ในวงการนักเทคนิคเรียกกันว่า Gap ที่สะท้อนถึงราคา ณ ช่วงระดับนั้น ไม่มีการเทรดเกิดขึ้น โดยปกติมักจะเกิดขึ้นกับตลาดที่ปิดในตอนเย็น แล้วเกิดข่าวสำคัญๆ แล้วราคากระโดดขึ้นหรือลง ในช่วงเช้าตอนเปิดตลาดในวันถัดมา
Up gap เป็น Gap ที่ราคากระโดดขึ้น แสดงถึงภาวะ Bullish ในช่วงนั้น
Down Gap เป็น Gap ที่ราคากระโดดลง แสดงถึงภาวะ Bearish ในช่วงนั้น
ซึ่ง Gap สามารถเกิดขึ้นในภาพรายนาที , รายชั่วโมง , รายวัน , รายสัปดาห์ หรือ รายเดือน บนกราฟได้ และส่วนมากจะมีนัยสำคัญเมื่อ Gap ดังกล่าว มีพร้อมกับปริมาณ Volume ที่หนาแน่นด้วย
ส่วน Gap ที่เกิดบนหุ้นที่สภาพคล่องน้อย … อันนี้ต้องระวัง จะไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ในทางเทคนิคได้
ประเภทของ Gap มี 4 ประเภท
1. Common Gaps
เทรดเดอร์บางคนอาจเรียกกันว่า Trading Gap หรือ Area Gap ก็ได้ ซึ่ง Common Gap เป็น Gap ปกติทั่วไป พบได้บ่อยมาก โดย Gap ลักษณะนี้มักจะถูกปิดในไม่ช้า
มักเกิดในช่วงที่ราคาแกว่งตัวอยู่ในกรอบ (Trading range) แสดงถึงความไม่สนใจของนักลงทุนส่วนมากในหุ้นตัวนั้น ณ ช่วงเวลานั้น
2. Breakaway Gaps
Gap เริ่มต้นแนวโน้มใหม่ เกิดขึ้นเมื่อราคาเกิดการ Breakout ออกจากกรอบ Trading range และราคามักจะเคลื่อนไหวต่อตามทิศทางที่ได้ทะลุ (Breakout) ออกมา
การทะลุกรอบบน แสดงถึง แรงซื้อที่รุนแรงอย่างมาก
การทะลุกรอบล่าง แสดงถึง แรงขายที่รุนแรงอย่างมาก
ปริมาณ Volume ควรจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงที่ราคาเกิดการ Breakout ออกจากกรอบ จะยิ่งสะท้อนถึงความรุนแรงของการทะลุของราคา และหนุนให้ราคาปรับตัวขึ้นตามทิศทางที่ทะลุได้มากยิ่งขึ้น
3. Runaway Gaps
เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Measuring Gaps เป็น Gap ที่อยู่ในช่วงระหว่างแนวโน้ม (ช่วงกลางของแนวโน้ม) เช่น แนวโน้มขาขึ้น แล้วเกิด Gap นี้ ราคาก็จะปรับตัวขึ้นต่อ หรือ แนวโน้มขาลง แล้วเกิด Gap ราคาก็ปรับตัวลงต่อ เป็นต้น แสดงถึงแรงซื้อที่ยังหนาแน่นต่อเนื่อง หนุนการเคลื่อนไหวของราคาต่อ
4. Exhaustion Gaps
Gap จบแนวโน้ม เป็น Gap ที่เกิดขึ้นแล้ว แสดงถึงว่าแนวโน้มนั้นใกล้ที่จะจบ เช่น แนวโน้มที่ผ่านมาเป็นขาขึ้น แล้วเกิด Exhaustion Gaps ก็แปลว่า แนวโน้มขาขึ้นนั้นใกล้ที่จะจบ เตรียมที่จะกลายเป็นขาลง เป็นต้น โดย Gap นี้มักจะเกิดในช่วงที่ราคาเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงต่อเนื่องมาสักพักใหญ่แล้ว แล้วการเกิดแรงซื้อ หรือแรงขาย รอบสุดท้ายเข้ามา ดันให้ราคากระโดด Gap แล้วจากนั้นแรงดังกล่าวหมดลง สุดท้ายก็จะเปลี่ยนแนวโน้มในที่สุด
โดยทั่วไป Exhaustion Gaps จะถูกปิดอย่างรวดเร็ว ไม่ถึงสัปดาห์
และที่สำคัญเทรดเดอร์ส่วนมากเวลาเกิดเหตุการณ์จริง เรามักจะสับสนระหว่าง Gap ที่เกิดขึ้นนั้น เป็น Runaway Gaps หรือ Exhaustion Gaps (Breakaway Gap ยังพอดูง่าย) ซึ่งสิ่งนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของเทรดเดอร์ในแต่ละคน เชื่อว่าถ้าศึกษาและสังเกตพฤติกรรมของราคากันบ่อยๆ เราก็จะสามารถแยกแยะ Gap ดังกล่าวได้ และสามารถนำหลักการนี้ไปช่วยในการเทรดได้เช่นเดียวกัน