สารบัญ
แนวรับ แนวต้าน คือ
แนวรับ : รับไม่ให้ราคาหลุด
แนวต้าน : ต้านไม่ให้ราคาผ่าน
ทั้งนี้แนวรับ แนวต้าน สามารถถูกทำลายได้เช่นเดียวกัน กรณีมีแรงซื้อหรือแรงขายที่รุนแรงจนสามารถทำลายแนวดังกล่าวได้
“รับสามารถกลายเป็นต้าน และ ต้านสามารถกลายเป็นรับ”
แนวรับ
แนวรับ ในทางทฤษฎีคือ เมื่อราคาปรับตัวลงสู่บริเวณแนวรับ เป็นช่วงที่นักลงทุนหลายคนมองว่า ถูก ดึงดูดให้กลับเข้ามาซื้อ และจังหวะนั้นเอง คนขาย ก็ขายน้อยลง เพราะราคาถูก ขายไปก็ได้ราคาไม่ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้เมื่อราคาลงไปแตะโซนบริเวณแนวรับ แล้วมักจะเกิดแรงซื้อกลับ ทำให้ราคาฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้
ไม่จำเป็นที่ว่า เมื่อราคาลงทดสอบแนวรับ แล้วจะเกิดการเด้งกลับทุกครั้ง โดยสามารถเกิดเหตุการณ์ที่ว่า ราคาลงหลุดแนวรับ ซึ่งหมายความว่า แรงขายใหม่ที่ยังคงรุนแรง (แรงซื้อยังคงอ่อนแอ) แม้ว่าราคาจะต่ำแล้ว แต่คนก็ยังคงจะขาย และเมื่อแนวรับแรกถูกทำลาย ก็จะมีแนวรับถัดไปที่ถูกสร้างขึ้นในระดับราคาที่ต่ำลง
แนวต้าน
ตรงกันข้ามกับ แนวรับ , โดย แนวต้าน คือ เมื่อราคาปรับตัวขึ้นสู่บริเวณแนวต้าน เป็นช่วงที่นักลงทุนหลายคนมองว่า แพง จูงใจให้หลายคนขายทำกำไรในบริเวณนั้น และอีกทั้ง คนซื้อ บริเวณนั้นก็น้อย เพราะราคาแพง ซื้อไปก็ต้นทุนสูง ทำให้เมื่อราคาขึ้นไปแตะระดับแนวต้านแล้วมักเกิดแรงขาย ทำให้ราคาอ่อนตัวลง
เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นที่ว่า เมื่อราคาขึ้นแตะระดับแนวต้าน แล้วจะอ่อนตัวลงทุกครั้ง โดยสามารถเกิดการที่ ราคาทะลุผ่านแนวต้าน หมายความว่า แรงซื้อใหม่ที่ยังคงรุนแรง (แรงขายอ่อนแอ) แม้ว่าราคาจะสูงแล้วก็ตาม แต่คนก็ยังอยากซื้อ และเมื่อแนวต้านถูกทำลาย ก็จะมีโซนแนวต้านถัดไปที่ถูกสร้างขึ้นในระดับราคาที่สูงขึ้น
วิธีการดูแนวรับ แนวต้าน
ปกติการดูแนวรับ แนวต้าน สามารถดูได้ 4 แบบ
1. High และ Low
เป็นวิธีการดูที่ Classic ที่สุด โดยแนวรับคือบริเวณช่วง Low ของรอบการแกว่งตัวของราคา ส่วนแนวต้านคือบริเวณช่วง High ของรอบการแกว่งตัวของราคา
2. รับ กลายเป็น ต้าน , ต้าน กลายเป็น รับ
อีกหนึ่งหลักการในทางเทคนิค คือเมื่อแนวรับ ถูกทำลายลง สามารถนำมาใช้เป็น แนวต้านในอนาคต และในทางตรงกันข้าม เมื่อแนวต้านถูกทำลายลง สามารถนำมาใช้เป็นแนวรับในอนาคตได้เช่นเดียวกัน
3. กรอบการแกว่งตัว (Trading Range)
เป็นช่วงที่ราคาแกว่งตัวในกรอบคู่ขนาน จะเห็นช่วงการแกว่งตัวที่ชัดเจน กรอบบน สามารถบ่งชี้ถึงแนวต้าน ส่วน กรอบล่าง สามารถบ่งชี้ถึงแนวรับ
ถ้าเกิดราคาทะลุกรอบบน (แนวต้าน) ก็หมายความว่า แรงซื้อชนะ ส่วนถ้าราคาทะลุกรอบล่าง (แนวรับ) ก็หมายความว่า แรงขายชนะ
4. โซน
ในโลกแห่งความจริง ราคาไม่ได้เคลื่อนไหวเป๊ะๆ 100% เช่น เมื่อทดสอบแนวต้านระดับ 100 บาท แล้วจะลงมาเลย อาจจะขึ้นเลยไป 102 บาท แล้วค่อยลง หรืออาจขึ้นแค่ 98 บาท แล้วลงเลย ซึ่งทำให้การใช้แนวรับแนวต้าน แบบโซน จะค่อนข้างเหมาะสมกับโลกความเป็นจริง
บางครั้ง การใช้แนวรับแนวต้านแบบเป๊ะๆ ก็อาจจะดีกว่า โซน แต่บางครั้ง โซน ก็ดีกว่าแบบเป๊ะๆ