จากเด็กธรรมดาๆ คนนึงที่พื้นเพเป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่บ้านทำร้านขายก๋วยเตี๋ยวเรือเล็กๆ ทำให้ตัวเข้าเองต้องช่วยที่บ้านขายก๋วยเตี๋ยว และทำงานอื่นๆไปด้วย เช่น ขายเสื้อผ้า รวมไปถึงการเอาพลอยไปฝังที่หัวแหวน ด้วยความที่ตัวเองเป็นคนมุ่งมั่น เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ทำให้ตนเองสามารถสอบเทียบชั้น ม.ศ.5 และเอนทรานซ์เข้าศึกษาในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ ในปี 2518 หลังจากจบหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ก็เริ่มเข้าสู่ชีวิตการทำงานอย่างจริงจัง ทำธุรกิจโรงงานทำตะปู ที่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ

ปี 2531 จะขยายกิจการสร้างโรงงานเพิ่ม ได้ซื้อที่มา 1 ไร่ ถมดินเสร็จยังไม่ทันสร้างโรงงาน มีคนมาขอซื้อ ได้กำไรล้านกว่าบาท จึงจุดประกายให้เขาเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และหมู่บ้านจัดสรร

ปี 2542 คุณเสถียร กับเพื่อนสนิท ได้รวบรวมเงินกว่า 40 ล้านบาท เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจไมโครบริวเวอรี พร้อมสร้างโรงเบียร์ขนาดใหญ่ 1,000 ที่นั่ง ชื่อโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง เปิดสาขาแรกที่ถนนพระราม 3 เขตยานนาวา ก่อนจะขยายไปยังสาขาเลียบทางด่วนรามอินทรา และสาขาแจ้งวัฒนะ

และเมื่อปี 2544 อยู่มาวันหนึ่ง แอ๊ด คาราบาว มาปรึกษาเสถียร บอกว่าอยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งตอนแรก แอ๊ด เสนอสินค้ามาหลายอย่าง รวมทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่เสถียร กลับเลือกทำเครื่องดื่มชูกำลัง เพราะวงคาราบาว มีฐานแฟนเพลงมากมาย และกลุ่มแฟนเพลงเหล่านั้น น่าจะกลายมาเป็นกลุ่มลูกค้าของเครื่องดื่มชูกำลังได้

สุดท้าย ทั้งคู่จึงตัดสินใจร่วมกันลงทุนทำธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง โดยการนำที่ดินที่พอมีอยู่ไปจำนองธนาคาร เพื่อนำเงินมาเปิดบริษัทในชื่อ คาราบาวตะวันแดง ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลังในชื่อ ‘คาราบาวแดง’ โดยในปีแรก ๆ การทำตลาดสินค้าน้องใหม่ ด้วยทรัพยากรที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด คุณเสถียรจึงวางยุทธศาสตร์ ‘กินทีละคํา ทําทีละเมือง’ หรือนัยหนึ่งก็คือ ‘ชนบทล้อมเมือง’ โดยเริ่มจาก จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านเกิดแอ๊ด คาราบาว ก่อนที่จะไป จังหวัดจันทบุรี ซึ่งแอ๊ด เคยแต่งเพลงเชิดชูพระเจ้าตากสิน ทำให้ต่อมา แบรนด์เครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาว” ได้เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา

จากนั้นในปี 2557 บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ โดยใช้ชื่อหุ้นว่า “คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” (CBG) และมีมูลค่าบริษัทในวันแรกเท่ากับ 28,000 ล้านบาท มาวันนี้ CBG มีมูลค่าบริษัทสูงถึงกว่า 120,000 ล้านบาท สามารถต่อกรกับ 2 ยักษ์ใหญ่เครื่องดื่มชูกำลัง “เอ็ม-150” ขององค์กรร้อยปี “โอสถสภา” และต้นตำรับอย่าง “กระทิงแดง” ของกลุ่มธุรกิจทีซีพี (TCP) ด้วยความกล้าที่มาพร้อมสหายจากธุรกิจโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง ทั้ง “ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ” และ “ยืนยง โอภากุล” หรือแอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพลงเพื่อชีวิต ลงขันร่วมทุนปลุกปั้น “คาราบาวแดง” กระทั่งแซงกระทิงแดงก้าวขึ้นแท่นเบอร์ 2 ครองส่วนแบ่งการตลาดกว่า 23%  เป็นรองเพียงแค่เอ็ม-150 ของโอสถสภาเพียงเท่านั้น

นอกจากคุณเสถียรยังมีความสนใจในเรื่องการทำธุรกิจค้าปลีก และได้ตั้งบริษัทส่วนตัวชื่อ “ทีดี ตะวันแดง” เพื่อทำร้านสะดวกซื้อ มินิมาร์ท เมื่อปี 2555 แต่ในปี 2556 ได้เข้ามาซื้อหุ้นมากกว่า 80% ของบริษัท พี เอส ดี รักษ์ไทย จำกัด (ก่อตั้งขึ้นในปี 2548) อีกทั้งยังได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ในร้านสะดวกซื้อ “CJ Express” เป็นในชื่อบริษัท CJ Express Group ทำให้ปัจจุบัน CJ Express มีสาขากว่า 1,100 สาขา กระจายอยู่ในพื้นที่ 42 จังหวัดใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย และยังคงมุ่งมั่นขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2566 ทาง CJ Express ได้เตรียมงบกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาเพิ่มอีก 250 สาขา และคาดการณ์ภายในปี 2569 จะมีสาขาทั้งสิ้นทั้งหมด 2,000 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ต่างจังหวัดเป็นสัดส่วนกว่า 90%

กลับมาในส่วนบริษัททีดี ตะวันแดง จำกัด ได้ทำธุรกิจอย่างจริงจังเมื่อประมาณปี 2562 ที่ผ่านมา ด้วยการสร้างโมเดลเป็นผู้บริหารร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” มีกลุ่มรากหญ้าเป็นเป้าหมายหลัก โดยจะเข้าไปช่วยพัฒนาร้านโชห่วยในปัจจุบันให้เป็นร้านสะดวกซื้อที่ทันสมัย ผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเปิดโอกาสให้โชห่วยทั่วประเทศเข้ามาเป็นพันธมิตร ปัจจุบันมีเจ้าของร้านโชห่วยเข้าร่วมเป็นร้าน ถูกดี มีมาตรฐาน แล้วกว่า 500,000 ร้านค้าทั่วประเทศ และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังคงขยายกิจการสาขาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากความหนาแน่นของประชากร โดยเป้าหมายในปี 2567 นั้นจะเปิดสาขาได้ราวๆ 50,000 ร้านค้า

ปี 2564 คุณเสถียร เสถียรธรรมะ ลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด(มหาชน) โดยมอบให้สหายทางธุรกิจอย่าง ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ นั่งเก้าอี้ประธานกรรมการแทน แม้เจ้าพ่อคาราบาวแดง จะทิ้งตำแหน่งใหญ่ที่ทำหน้าที่ประธานกรรมการ แต่บทบาทสำคัญในการกุมบังเหียนธุรกิจยังคงอยู่ ทั้งเป็นกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือซีอีโอ

ในปี 2565 ยังได้ขยายธุจกิจใหม่คือ ทำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ด้วยความมั่นใจในประสบการณ์กว่า 20 ปี กับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง บวกกับมีพอร์ตโฟลิโอสินค้าแข็งแกร่งครอบคลุมสุราขาว, สุราสี, วิสกี้, บรั่นดี, สาเก และโซจู จึงได้ประกาศทำเบียร์ 2 ยี่ห้อ ได้แก่ เบียร์คาราบาว และ เบียร์ตะวันแดง โดยได้เปิดตัวเบียร์ใหม่ 5 รสชาติ จาก 2 แบรนด์ ดังนี้

  1. เบียร์คาราบาว 2 รสชาติ ได้แก่

– Lager Beer (เบียร์ลาเกอร์)

– Dunkel Beer (เบียร์ดุงเกล)

  1. เบียร์ตะวันแดง เปิดตัว 3 รสชาติ ได้แก่

– Weizen Beer (เบียร์ไวเซ่น)

– Rose Beer (เบียร์โรเซ่)

– IPA Beer (เบียร์ไอพีเอ)

ด้วยราคาที่จับต้องได้และรถชาติที่เหมือนกับโรงเบียร์เยอรมันตะวันแดงที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้ดูเหมือนว่า เบียร์คาราบาว และเบียร์ตะวันแดง ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

จากจุดเริ่มต้นเด็กบ้านๆ คนนึง สู่นักธุรกิจติดทำเนียบ 50 มหาเศรษฐีไทยตั้งแต่ปี 2563 และในปี 2565 เขายังขึ้นมาติดอันดับ 24 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1.5 พันล้านเหรียญ หรือประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท