เทคนิคเลิกคิดเยอะแล้วทำทันที

สั่งซื้อหนังสือ “เทคนิคเลิกคิดเยอะแล้วทำทันที” (คลิ๊ก)

สรุปหนังสือ เทคนิคเลิกคิดเยอะแล้วทำทันที

เมื่อไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไรดี เพราะไม่ถนัดอะไรสักอย่าง จึงไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย ในทางจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ (learned Helplessness) ซึ่งหมายถึงการทำผิดพลาดซ้ำ ๆ จนฝังใจว่าไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ คนที่ประสบความสำเร็จและคนที่ประสบความล้มเหลวมีอะไรแตกต่างกัน คนที่ประสบความสำเร็จหรือคนที่มีศักยภาพสูงมาก คนที่ลงมือทำทันทีเขามักจะเริ่มก้าวเดินก่อนคนอื่น จึงกล่าวได้ว่าจังหวะความเร็วของการออกเดินก้าวแรกนั้นเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ

การลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เร็วขึ้นถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ เชื่อว่านี่เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้กันดีอยู่แล้ว แต่หลายคนนั้นกลับประสบปัญหาว่าลงมือทำทันทีไม่ได้ คนที่ทำทันทีนั้นเขาไม่ได้พึ่งพาแค่พลังใจและความมุ่งมั่นเท่านั้น แต่ยังอาศัยกลไกกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำด้วย สมการของการลงมือทำทันทีคือ ความมุ่งมั่น x สภาพแวดล้อม x ความรู้สึก การฝึกฝนตัวเองให้มีพลังใจและความมุ่งมั่นเป็นสิ่งสำคัญ แต่แค่นั้นยังไม่อาจช่วยให้มนุษย์เริ่มลงมือทำอย่างจริงจังได้

การสร้างสภาพแวดล้อมและความรู้สึกที่กระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำทันทีจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การลงมือทำทันทีเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการบริหารจัดการชีวิตของตัวเอง การฝึกนิสัยที่คนที่ทำทันทีมักจะทำกันนั้น ช่วยให้ชีวิตในแต่ละวันสดใสขึ้นกว่าเดิมแน่นอน การลงมือทำคือหนทางเดียว ที่จะช่วยมอบแสงสว่างให้กับชีวิตได้

บทที่ 1 การปรับเปลี่ยนวิธีคิด

คนที่ทำทันทีมีวิธีกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำได้ง่าย ๆ  กุญแจสู่ความสำเร็จของทุกสิ่งคือการลงมือทำ นี่เป็นคำกล่าวที่โด่งดังของ ปาโบล ปีกัสโซ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดกุญแจสู่ความสำเร็จก็มีเพียงการลงมือทำเท่านั้น พูดง่าย ๆ ก็คือหากไม่ลงมือทำอะไรเลยก็ไม่มีทางมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิมได้ อยากมีชีวิตที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องเปลืองแรง แม้จะฟังดูเหมือนเรื่องเพ้อฝัน แต่อันที่จริงสามารถทำได้ขอแค่รู้วิธีกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำทันทีก็พอ

ในทางกลับกัน คนที่ไม่ทำสักทีจะฝืนบังคับตัวเองให้ลงมือทำ ซึ่งอาจส่งผลให้ประสบความล้มเหลวได้ เพราะการฝืนบังคับตัวเองจะทำให้รู้สึกทรมาน และจำเป็นต้องใช้พลังใจสูงมากไป อีกทั้งเขาอาจต้องเผชิญกับปรากฏการณ์ความสิ้นหวังอันเกิดจากการเรียนรู้ หากตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น การลงมือทำจะยิ่งยากขึ้นเรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็เลิกคิดที่จะลงมือทำ ซึ่งเป็นการตัดใจจากกุญแจสู่ความสำเร็จ ในทางกลับกัน คนที่ทำทันทีจะมีวิธีกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำได้ง่าย ๆ ดังนั้น ต้องเลิกฝืนบังคับตัวเองให้ลงมือทำ แล้วเปลี่ยนมาฝึกนิสัยของคนที่ทำทันที ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำกันดีกว่า

คนที่ทำทันทีเขียนสิ่งที่คิดออกมา ปัจจุบันอุปกรณ์ดิจิตอลอย่างสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นที่แพร่หลายอย่างมาก ความสามารถในการทำงานจึงพุ่งสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ยิ่งถ้าใช้ application ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยแล้ว ก็จะยิ่งรู้สึกว่าสามารถทำได้ทุกอย่าง อย่างไรก็ตาม คนที่ทำทันทีจะไม่พึ่งพาอุปกรณ์ดิจิตอลเพียงอย่างเดียว แต่จะเลือกใช้อุปกรณ์ดิจิตอล และอุปกรณ์อนาล็อกอย่างชาญฉลาด เขาจะไม่บันทึกไอเดียหรือสิ่งที่คิดได้ลงในคอมพิวเตอร์ทันที แต่จะหยิบปากกามาเขียนลงในกระดาษแทน นี่เป็นวิธีที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้สูงขึ้นได้

ในสถานการณ์ที่เรื่องนั้นก็ต้องทำเรื่องนี้ก็ต้องทำ ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะลดต่ำลง เรียกสถานการณ์นี้ว่า สภาวะที่ความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) แบบรับภาระมากเกินไป จนทำให้การทำงานของสมองขัดข้อง คนที่ทำทันทีจะลดภาระของสมองลงด้วยการทำให้สมองโล่ง โดยเขียนสิ่งที่คิดอยู่ในหัวลงในกระดาษ การเขียนออกมาจะช่วยให้จัดการกับสิ่งที่ต้องทำไปทีละเรื่องได้ จึงมีสมาธิจดจ่อกับแต่ละเรื่องที่ทำ และสามารถลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยปราศจากความลังเล การเขียนสิ่งที่คิดได้หรือความรู้สึกออกมา จะทำให้มองเห็นความคิดของตัวเองได้อย่างชัดเจน จึงสามารถจัดระเบียบความคิดที่ยุ่งเหยิงได้

คนที่ทำทันทีรู้จักใช้คนเงินและเวลา การพึ่งพาตัวเองดูเหมือนเป็นเรื่องดี แต่ความจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ขัดขวางการลงมือทำ การพึ่งพาตัวเองหมายถึง การอาศัยพลังใจของตัวเองในการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งถ้าเป็นคนที่มีพลังใจเข้มแข็งก็คงลงมือทำได้โดยไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็อาจไม่สามารถลงมือทำได้ จึงจำเป็นต้องมีกลไกการกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ ในการสร้างกลไกกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ ต้องเริ่มจากการวางแผนการทำงานที่ชัดเจน

คน เงิน และเวลา การเชื่อมโยงทรัพยากรเหล่านี้เข้าด้วยกันนั้น สำคัญมากต่อการสร้างกลไกการกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ อันดับแรกจะรู้จักดึงคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่ตัวเองจะทำ เงินเป็นทรัพยากรอีกอย่างที่มีอิทธิพลต่อการสร้างกลไกการกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเวลาเป็นอย่างมาก จึงกำหนดเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็วและชัดเจน โดยการมองภาพรวมแล้วประเมินว่า ต้องใช้เวลาเท่าไหร่ในการจัดการกับเรื่องตรงหน้า ไม่มีใครอยากทำเรื่องที่มองไม่เห็นจุดสิ้นสุด  แต่ถ้ามองเห็นแสงสว่างตรงปลายทาง ทำให้มีแรงที่จะก้าวไปข้างหน้า คนที่ทำทันทีจะรู้จักใช้ทรัพยากรล้ำค่าเหล่านี้ ในการสร้างกลไกการกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ

คนที่ทำทันทีสงสัยในวันพรุ่งนี้ เวลาจะทำอะไรสักอย่าง แรงจูงใจในการทำสิ่งนั้นจะมีมากที่สุด ในตอนที่คิดว่าอยากทำ จากนั้นแรงจูงใจจะลดลงเรื่อย ๆ จนทำให้ไม่ได้ลงมือทำสักที คนที่ไม่ทำสักทีจะหลงคิดว่าตัวเองสามารถรักษาแรงจูงใจเอาไว้ได้จนถึงวันพรุ่งนี้ และคอยพูดกล่อมตัวเองว่าไว้ค่อยทำวันพรุ่งนี้ หรือไว้ค่อยเริ่มลงมือตั้งแต่วันพรุ่งนี้ก็ได้ แต่ถ้ามองย้อนกลับไปก็จะตระหนักว่า สุดท้ายแล้วยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย ในเวลาแบบนั้นแรงจูงใจจะหายไปเกือบหมด จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเรียกแรงจูงใจกลับมาอีกครั้ง ทว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ในทางกลับกันคนที่ทำทันทีจะไม่เชื่อมั่นในอนาคต เพราะเขาดูว่าความคิดทำนองว่าไว้เริ่มทำตั้งแต่พรุ่งนี้ หรือเอาไว้ทำในสักวันหนึ่ง มีแต่จะช่วงชิงแรงจูงใจไป ไม่มีทางที่จะได้ทำในสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน เซย์การ์นิค เอฟเฟกต์ (Zeigarnik Effect) เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ว่า มนุษย์จะจดจำและฝังใจกับสิ่งที่ทำไม่สำเร็จหรือเลิกกลางคัน การเริ่มลงมือทำแม้เพียงเล็กน้อย จะทำให้รู้สึกค้างคาใจกับเรื่องที่ยังทำไม่เสร็จ จึงมีแรงจูงใจว่าอยากทำให้เสร็จนั่นเอง ถ้าเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างในตอนที่แรงจูงใจยังเปี่ยมล้น ก็จะมีความมุ่งมั่นมากขึ้น และสามารถทำสิ่งนั้นต่อไปได้จนจบ

คนที่ทำทันทีมีวิธีคิด 2 แบบ หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำเหล่านี้มาบ้าง ว่าการคิดนั้นมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ การคิดแบบย้อนกลับ คือวิธีคิดที่ทำได้โดยกำหนดเป้าหมายเอาไว้ก่อน จากนั้นจึงไปคิดว่าต้องทำอะไร และทำอย่างไร เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย และอีกแบบเป็นการคิดแบบค่อยเป็นค่อยไปคือ วิธีคิดที่ทำสิ่งที่ตัวเองทำได้ในตอนนี้อย่างสุดความสามารถไปเรื่อย ๆ ก่อน ส่วนหนทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ค่อยว่ากันอีกที เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจนก็จะรู้ว่าไม่จำเป็นต้องเสียเวลาทำสิ่งไหน

การคิดแบบย้อนกลับมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจ เพราะแวดวงนี้มักจะกำหนดเป้าหมายว่า ต้องทำอะไรให้สำเร็จและกำหนดระยะเวลาในการทำงานเอาไว้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังช่วยให้รู้ว่าเรื่องนี้ถ้าไม่ทำตอนนี้ก็จะไม่ทันกาล คนที่ไม่ทำสักทีจะไม่รู้จักการคิดแบบย้อนกลับ เขาจึงไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนและไม่รู้ว่าควรพยายามมากน้อยแค่ไหน ส่งผลให้คิดว่าพยายามพอสมควรแล้ว ทั้งที่ความจริงแล้วต้องพยายามมากกว่านั้นอีก ในทางกลับกัน คนที่ทำทันทีจะไม่ปฏิเสธการคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะว่าเป็นวิธีคิดที่จำเป็นต้องใช้ในบางเวลา การคิดแบบค่อยเป็นค่อยไป มักใช้ได้ผลดีในเวลาที่กำหนดเป้าหมายได้ค่อนข้างยาก

ในปัจจุบันมีคนที่อยากกำหนดเป้าหมายในชีวิต แต่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากทำอะไรเพิ่มมากขึ้น  หากพิจารณาถึงความรู้สึกก็จะเข้าใจว่า ทำไมบางครั้งถึงกำหนดเป้าหมายได้ยาก ถ้าไม่ได้มีสิ่งที่อยากทำจากใจจริง ถึงจะฝืนตามหาความฝันหรือเป้าหมายในชีวิตไปก็เปล่าประโยชน์ ในทางจิตวิทยาเรียกความคิดอันเรียบง่ายนี้ว่า แรงจูงใจภายใน มันคือแรงจูงใจที่เกิดจากความชอบ หรือความสนใจ ที่ทำให้คนเราอยากเรียนรู้เรื่องบางอย่างด้วยตัวเอง

คนที่ทำทันทีทำก่อนคิด ลำพังการคิดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่ช่วยให้สิ่งต่าง ๆ คืบหน้าได้ ประเด็นสำคัญก็คือต้องลองลงมือทำดูก่อน แล้วค่อยคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ทำไปทีหลัง เพราะการลงมือทำช่วยจุดประกายความคิดได้ นี่คือรูปแบบความคิดที่คนที่ทำทันทีมีเหมือนกัน โดยพวกเขาจะไม่คิดไตร่ตรองก่อนลงมือทำ แต่จะลองลงมือทำดูก่อนแล้วค่อยคิดไตร่ตรองทีหลัง ในทางกลับกัน คนที่ไม่ทำสักทีมักจะคิดว่าต้องทำแบบนั้น ต้องทำแบบนี้ และเอาแต่อ้างทฤษฎี เพราะว่าไม่ยอมลงมือทำอะไรเลย

จริงอยู่ว่าการลงมือทำโดยไม่คิดไตร่ตรองก่อน ย่อมมีความเสี่ยงหลายอย่าง แต่คิดว่ามันก็ดีกว่าการมัวแต่คิดจนไม่ได้ลงมือทำสักที ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องที่ยิ่งใหญ่อะไร แค่ลองทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ด้วยความรู้สึกผ่อนคลายก็พอ เพราะข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์การลงมือทำจริง เช่นนี้สำคัญกว่าข้อมูลที่ได้จากแหล่งอื่น ๆ ในวงจรบริหารงานคุณภาพหรือ PDCA (Plan Do Check Action) ทุกสิ่งทุกอย่างจะเริ่มต้นจากการลงมือทำ (Do) ถึงจะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้เริ่มต้นจากการลงมือทำ (Do) ก่อน พอได้ผลลัพธ์บางอย่างกลับมา ก็ค่อยตรวจสอบผลลัพธ์ (Check) และหาวิธีปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น (Action) คิดว่าการทำตามวงจรนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากทีเดียว

ทุกคนคงรู้กันดีอยู่แล้วว่าในโลกความเป็นจริงนั้น สิ่งต่าง ๆ มักไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ ดังนั้น ลองมาเพิ่มศักยภาพในการคิด โดยการเริ่มลงมือทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน แล้วนำ feedback ที่ได้รับมา ไปคิดไตร่ตรองอย่างลึกซึ้งกันอีกที แต่อย่าลืมว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากการลงมือทำ

คนที่ทำทันทีไม่หวาดกลัวความผิดพลาด คงไม่มีใครอยากทำผิดพลาดหรือประสบความล้มเหลว ถ้าให้เลือกระหว่างความล้มเหลวกับความสำเร็จ ทุกคนย่อมเลือกความสำเร็จอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ควรระวังด้วยว่า ความรู้สึกหวาดกลัวต่อความผิดพลาดหรือความล้มเหลวนั้น อาจพรากเส้นทางสู่ความสำเร็จไปได้ คนที่ทำทันทีคือคนที่กล้าเสี่ยง แต่ใช่ว่าจะไม่กลัวความเสี่ยงต่าง ๆ เลย เพียงแต่เลือกที่จะเผชิญหน้า และท้าทายกับปัญหาที่ประสบพบเจอไปทีละเรื่องเท่านั้น

ไม่ว่ายุคสมัยไหนผู้ที่ประสบความสำเร็จ ก็มักจะบอกเล่าถึงประสบการณ์ความผิดพลาดของตัวเอง คนที่ไม่ทำสักทีจะคิดว่าต้องระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดขึ้น จึงจะประสบความสำเร็จได้ ในทางกลับกันคนที่ทำทันที จะมุ่งหน้าไปบนเส้นทางที่ตัวเองเชื่อมั่นโดยไม่คิดว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องเลวร้ายเพราะตระหนักว่า ขอแค่ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากความผิดพลาดก็พอแล้ว มนุษย์ทุกคนล้วนกังวลว่าจะทำผิดพลาด แต่ความผิดพลาดเป็นสิ่งที่นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต

คนที่ทำทันทีจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า การยึดติดกับอดีตไม่ใช่เรื่องดี เพราะการหลงระเริงกับความรุ่งโรจน์ในอดีต แสดงให้เห็นว่าไม่ได้พัฒนาขึ้นจากเมื่อก่อนเลย อีกทั้งเป็นหลักฐานว่าไม่พึงพอใจกับสถานการณ์ในปัจจุบันของตัวเอง ในทางกลับกันการวาดฝันถึงอนาคตจะช่วยให้มีความกล้าในการใช้ชีวิต แต่ถ้าจดจ่อกับอนาคตมากเกินไป ก็อาจส่งผลให้ทำผิดพลาดโดยไม่รู้ตัวได้ ถึงอย่างไรอนาคตก็เป็นเพียงผลพวงจากการกระทำในปัจจุบัน ดังนั้น ไม่ว่าจะพร่ำเพ้อถึงอนาคตมากเพียงใด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเผชิญหน้ากับปัจจุบัน หรือความเป็นจริงตรงหน้าอยู่ดี

จงใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน (Seize the day.) คนที่สามารถจดจ่อกับปัจจุบันได้ จะไม่ใส่ใจเรื่องผลลัพธ์ เพราะเขาจะทุ่มเทสมาธิให้กับสิ่งที่ตัวเองสามารถทำได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลังจากนั้นผลลัพธ์ที่ดีจะตามมาเอง เมื่อเลิกกังวลกับผลลัพธ์ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคตได้ ก็จะไม่ผัดวันประกันพรุ่งและกลายเป็นคนที่ทำทันทีได้ เวลาที่กังวลกับอนาคตจนไม่กล้าลงมือทำสักที ควรหันกลับมาสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า และสิ่งที่อยู่รอบตัวแทน เพราะจะแก้ไขสถานการณ์ปัจจุบันได้ด้วยการจดจ่อกับสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้เท่านั้น

บทที่ 2 การกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ

คนที่ทำทันทีอยู่ห่างจากสิ่งยั่วยุ คนเราจะได้รับอิทธิพลจากข้อมูลที่มองเห็นได้ด้วยตามากที่สุด นี่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ นอกจากนี้เวลาเห็นสิ่งที่ชอบ สารโดปามีนจะถูกหลั่งออกมาและกระตุ้นให้รู้สึกดี จึงยิ่งจดจ่อกับสิ่งที่ชอบมากขึ้น กล่าวได้ว่าสิ่งที่ชอบก็คือสิ่งยั่วยุที่เบี่ยงเบนความสนใจไปจากสิ่งที่ควรทำนั่นเอง เวลาที่ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่ได้ คนที่ไม่ทำสักทีมักโทษตัวเองว่า มีความมุ่งมั่นไม่มากพอจนทำให้พ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยุ แน่นอนว่าการมีความมุ่งมั่นแน่วแน่เป็นเรื่องดี เพราะเมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ก็จะสามารถทำสิ่งที่ควรทำได้ จะบอกว่าการฝืนพยายามในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวย หรือมีสิ่งยั่วยุเป็นเรื่องปกติของคนที่ไม่ทำสักทีก็ได้

ในทางกลับกัน คนที่ทำทันทีจะไม่พึ่งพาความมุ่งมั่นเพียงอย่างเดียว แต่จะคิดว่าการอยู่ห่างจากสิ่งยั่วยุนั้นทำได้ง่ายกว่า พูดง่าย ๆ ก็คือเขาจะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงมือทำขึ้นมา ไม่อย่างนั้นก็พาตัวเองเข้าไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้ลงมือทำ ซึ่งวิธีนี้น่าจะง่ายกว่าการสร้างสภาพแวดล้อมขึ้นมาใหม่ จริงอยู่ว่าการขัดเกลาจิตใจให้ไม่หลงใหลไปกับสิ่งยั่วยุเป็นสิ่งสำคัญ แต่อยากให้จำไว้ว่าเวลาที่ต้องลงมือทำจริง ๆ นั้น สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะช่วยกระตุ้นให้ลงมือทำทันทีได้ง่ายขึ้น

คนที่ทำทันทีเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ทุกคนควรวอร์มอัพสมองและจิตใจก่อนเริ่มทำอะไรสักอย่าง เช่นเดียวกับการวอร์มอัพร่างกายก่อนออกกำลัง เวลาจะทำอะไรสักอย่าง คนที่ทำทันทีจะไม่เริ่มจากสิ่งที่ไม่ถนัด คือเรื่องยาก ๆ ก่อน แต่จะเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ ที่ไม่ค่อยรู้สึกว่าเป็นภาระ เพราะตอนที่เริ่มลงมือทำต้องใช้กำลังใจมากที่สุด ดังนั้น ถ้าเริ่มจากเรื่องยาก ๆ ก่อนก็จะหมดกำลังใจทำต่อ ในทางกลับกันถ้าเริ่มทำเรื่องบางอย่างไปได้ 5-10 นาทีโดยไม่มีปัญหาอะไร ก็จะรู้สึกมีกำลังใจมากขึ้น และสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ด้วยเหตุนี้คนที่ทำทันทีจึงทำเรื่องง่าย ๆ ก่อนแล้วค่อยทำเรื่องยาก ๆ ทีหลัง การดำเนินงานตามลำดับขั้นตอนเช่นนี้ จะช่วยให้สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น ในทางกลับกัน คนที่ไม่ทำสักทีจะพยายามทำเรื่องยาก ๆ หรือเรื่องที่จำเป็นต้องใช้พลังงานมากก่อน ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาไม่ได้คำนึงถึงเรื่องลำดับขั้นในการลงมือทำ สามารถพิชิตเรื่องยาก ๆ ได้ก็จะรู้สึกเหมือนกับว่าเป้าหมายขยับมาอยู่ใกล้แค่เอื้อม แต่อย่าลืมว่าถ้าทำเรื่องยาก ๆ ไม่สำเร็จก็จะพลอยหมดกำลังใจที่จะทำเรื่องอื่น ๆ ต่อไปด้วย

วิธีนี้ใช้ได้ผลดีเยี่ยมโดยเฉพาะวันที่ไม่ค่อยมีอารมณ์จะทำอะไร แม้จะคิดว่าวันนี้ไม่ค่อยมีอารมณ์ จึงตั้งใจจะฝึกเฉพาะกล้ามเนื้อส่วนที่ชอบ แต่เมื่อลงมือฝึกจริงไปสักพักจะรู้สึกว่า ไหน ๆ ก็มาแล้วฝึกอีกสักหน่อยค่อยกลับดีกว่า ในการลงมือทำอะไรสักอย่าง แค่เปลี่ยนลำดับขั้นตอนในการลงมือทำสักเล็กน้อย ภาระที่จิตใจแบกรับก็จะลดลงแล้ว ดังนั้น จึงคิดว่าคงเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง หากไม่คำนึงถึงลำดับขั้นตอนในการลงมือทำเลย

คนที่ทำทันทีนัดหมายกับตัวเองและคนอื่น ใน 1 ปีมี 365 วัน ถ้าคิดเป็นชั่วโมงก็จะเท่ากับ 8,760 ชั่วโมง จากการแบ่งเวลาเป็นทั้งหมด 3 ส่วน หากเสียเวลาส่วนหนึ่งไปกับการนอน และเสียเวลาอีกส่วนหนึ่งไปกับการทำงานหรือการเรียน เวลาที่สามารถใช้ได้อย่างอิสระก็จะเหลือเพียง 2,920 ชั่วโมงต่อปี ดังนั้น การที่ใช้เวลาเกือบ 3,000 ชั่วโมงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับตัวเองจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ทว่าคนเรามักจะไม่ค่อยรู้ว่าตัวเองใช้เวลาอย่างไร แม้จะคิดว่าสามารถควบคุมการใช้เวลาของตัวเองได้ แต่ความจริงแล้วมันกลับทำได้ยากกว่าที่คิดไว้ โดยเฉพาะคนที่เกลียดความยุ่งยาก

ถ้าไม่นัดหมายกับตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่าจะทำอะไร ที่ไหน และเมื่อไหร่ ก็จะขี้เกียจและเลื่อนการทำสิ่งนั้นออกไป ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะการผิดนัดหมายกับคนอื่น อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อใจระหว่างกันได้ จึงจำเป็นต้องบันทึกการนัดหมายกับตัวเองให้เห็นได้ชัดเจนด้วย จัดตารางเวลาของสัปดาห์ถัดไปทุกคืนวันอาทิตย์ โดยแบ่งเวลาที่เหลือจากการทำงาน มาใช้กับเรื่องที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนก่อนเป็นอันดับแรก

ในการนัดหมายกับตัวเองควรให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาสำหรับพัฒนาตัวเองเป็นพิเศษ แล้วแบ่งเวลามาใช้ในการพัฒนาตัวเองด้วย เช่น อ่านหนังสือ เรียนภาษา ไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส เข้าร่วมการสัมมนา ไปหาคนที่อยากเจอ และจัดระเบียบข้าวของ สิ่งเหล่านี้คือการนัดหมายกับตัวเอง เขียนลงไปในสมุดจดตารางเวลาอย่างละเอียดถี่ถ้วน การทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น จะรู้สึกอิ่มเอมใจและมีพลังงานเหลือล้น เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามแผนการที่วางไว้ คนที่ทำทันทีจะสร้างเวลาขึ้นมา ด้วยการนัดหมายกับตัวเอง เพื่อจะได้ใช้เวลาอันมีค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

คนที่ทำทันทีใส่ใจกับการเพิ่มพลังให้ตัวเอง ความมุ่งมั่นของคนเราจะเพิ่มขึ้นจนถึงจุดสูงสุดในช่วงเช้า และเมื่อแตะจุดสูงสุดแล้วก็จะเริ่มลดลง เมื่อเวลาผ่านไป 2-3 ชั่วโมง พูดง่าย ๆ ว่ายิ่งเวลาผ่านไปนานเท่าไหร่ ความพยายามก็ยิ่งลดน้อยลงเรื่อย ๆ นี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้าละเลยเรื่องการเพิ่มพลังให้ตัวเอง ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ดังนั้น มาเรียนรู้วิธีเพิ่มพลังให้ตัวเองในยามเหนื่อยล้ากันดีกว่า

วิธีแรกคือการงีบหลับ (Power Nap) อธิบายอย่างง่าย ๆ ก็คือการนี้ปรับประมาณ 15-20 นาที ซึ่งวิธีนี้จะมีผลอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง

วิธีที่ 2 การออกกำลังกายท่ามกลางธรรมชาติ (Green Exercise) การออกกำลังกายในสถานที่ที่ได้สัมผัสกับธรรมชาติ จะช่วยเพิ่มพลังให้อย่างรวดเร็ว แค่ยืดกล้ามเนื้อหรือเดินประมาณ 5-10 นาที ในบริเวณที่มีแม่น้ำหรือต้นไม้เยอะ ๆ ก็สามารถคลายความเหนื่อยล้าให้สมองได้แล้ว

วิธีที่ 3 คือการอาบน้ำ การอาบน้ำเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้ผลดี แค่อาบน้ำฝักบัวเพื่อกำจัดเหงื่อไคลประมาณ 5 นาทีก็พอแล้ว ไม่จำเป็นต้องแช่ตัวในอ่างนาน ๆ

แม้ประสิทธิภาพของวิธีนี้จะคงอยู่ได้ไม่นานเท่าการงีบหลับ และการออกกำลังกายท่ามกลางธรรมชาติ แต่ก็ช่วยให้มีความมุ่งมั่นเพิ่มขึ้นได้ เพราะน้ำช่วยคลายความอ่อนล้าให้สมอง และเพิ่มความสดชื่นได้

คนที่ทำทันทีจะไม่ฝืนทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่ยังรู้สึกเหนื่อยล้า แต่จะคิดหาวิธีเพิ่มพลังให้ตัวเอง เพื่อที่จะทำงานอย่างมุ่งมั่นได้ตลอดทั้งวัน

คนที่ทำทันทียินดีรับฟังความเห็นเชิงลบ ตอนที่ตั้งใจจะเริ่มทำอะไรใหม่ ๆ ในใจคงเต็มไปด้วยความฝันและความคาดหวังอันยิ่งใหญ่ เวลาที่ตั้งใจจะท้าทายสิ่งใหม่ ๆ หรือทำเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อน มักจะถูกคนรอบข้างอย่างพ่อแม่หรือเพื่อนพูดบั่นทอนกำลังใจ จนอดคิดไม่ได้ว่าเลิกทำดีไหม หลายคนปฏิเสธที่จะท้าทายสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งเรียกสภาพจิตใจในลักษณะนี้ว่า ความลำเอียงกับสถานะปัจจุบัน (Status Quo Bias) โดยคนเหล่านี้จะคิดว่าชีวิตที่เป็นอยู่ตอนนี้ก็ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำอะไรให้มันท้าทาย เพื่อเพิ่มความเสี่ยงให้กับชีวิตประจำวันก็ได้

การรักษาสภาพแวดล้อมปัจจุบันเอาไว้ ย่อมดีกว่าการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เนื่องจากชีวิตคนเรามักจะล้มเหลวมากกว่าประสบความสำเร็จ เวลาที่ได้ยินความเห็นเชิงลบจากคนรอบข้าง คนที่ไม่ทำสักทีและคนที่ถอดใจยอมแพ้ง่าย จะวางมือจากสิ่งที่ตั้งใจจะทำในทันที เพราะแค่ได้ยินว่ามีความเสี่ยงก็กลัวจนตัวสั่นแล้ว ในทางกลับกัน คนที่ทำทันทีจะสามารถเปลี่ยนความเห็นเชิงลบจากคนรอบข้างให้เป็นพลังของตัวเองได้ ดังนั้น เขาจะรับฟังคำวิจารณ์ด้วยความยินดี เพราะคิดว่าคำวิจารณ์หรือก็คือความเห็นเชิงลบ เป็นปัจจัยที่จำเป็นต่อการปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น อาจกล่าวได้ว่าคนที่ทำทันทีเข้าใจถึงคุณค่าของคำวิจารณ์อย่างแท้จริง

บทที่ 3 การมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

คนที่ทำทันทีทำให้คนอื่นสนุกสนาน เขาคือนักสร้างความบันเทิงที่ชอบทำให้คนอื่นสนุกสนาน ไม่ว่าจะทำงานอะไร หรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม จะใส่ใจกับการทำให้คนอื่นสนุกสนานหรือมีความสุขอยู่เสมอ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามความสนุกสนานเป็นสิ่งสำคัญ คนที่ทำทันทีซึ่งเป็นนักสร้างความบันเทิงจะมีความสุขจากใจจริง กับการทำให้คนอื่นสนุกสนานหรือดีใจ เขาจึงได้รับความเคารพและเป็นที่รักของผู้คน

ในทางกลับกัน คนที่ไม่ทำสักทีจะเอาแต่อ้างเหตุผล กล่าวคือเขาจะบอกว่าตัวเองพูดในสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นคนอื่นต้องสนับสนุนหรือโอนอ่อนผ่อนตามเขา อย่างไรก็ตามการยึดหลักเหตุผลเป็นสิ่งที่ถูกต้องก็จริง แต่อย่าลืมว่ามนุษย์เราเป็นสิ่งที่มีชีวิตที่มีอารมณ์ความรู้สึก แต่มนุษย์เราบางคนก็ไม่อาจยอมรับเหตุผลได้ ดังนั้น จึงไม่ควรยัดเยียดสิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องให้กับคนอื่น แต่ควรพยายามสังเกตและทำความเข้าใจมุมมองของคนอื่นต่างหาก

คนที่ทำทันทีให้เลือกจาก 3 ตัวเลือก เวลาจะลงมือทำอะไรสักอย่าง หากพึ่งพาพลังใจเพียงอย่างเดียวก็อาจจะไม่ได้ลงมือทำสักที เพราะการปรับความสบายและไม่อยากทำอะไรเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้น จึงควรกระตุ้นตัวเองให้ลงมือทำ ด้วยการดึงคนรอบข้างเข้ามามีส่วนร่วมกับสิ่งที่จะทำ คนที่ทำทันทีและคนที่ไม่ทำสักทีจะดึงคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วยวิธีที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ในกรณีของคนที่ทำทันทีเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น เขาจะไม่ขอร้องด้วยคำพูดที่คลุมเครือ เพราะรู้ว่ามันจะทำให้อีกฝ่ายลำบาก คนที่ทำทันทีจะนัดหมายกับคนอื่นโดยให้อีกฝ่ายเลือกจาก 3 ตัวเลือก การให้เลือกจาก 3 ตัวเลือกนั้น จะช่วยกระตุ้นอีกฝ่ายให้ลงมือทำอะไรสักอย่าง ดังนั้น แม้จะว่างไม่ตรงกัน แต่อีกฝ่ายก็จะเสนอทางเลือกอื่นเพิ่มเติมเอง กล่าวได้ว่าการนัดหมายที่มีตัวเลือกจำกัด จะช่วยให้การนัดหมายมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น เวลานัดหมายกับคนอื่นคนที่ไม่ทำสักทีมักจะถามคำถามที่คลุมเครือ ซึ่งการทำแบบนั้น จะกลายเป็นการมอบตัวเลือกที่ไร้ขีดจำกัดให้กับอีกฝ่าย ซึ่งมันจะทำให้เขาเลือกได้ลำบากและตัดสินใจไม่ได้สักที

ทฤษฎีความย้อนแย้งของตัวเลือก (The Paradox of Choice) จิตวิทยาชาวอเมริกันที่ชื่อแบร์รี ชวาร์ตซ์ เป็นทฤษฎีอันโด่งดัง ที่อธิบายว่าเมื่อคนเรามีตัวเลือกมากเกินไป ก็จะสับสนจนไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี แม้การเตรียมตัวเลือกไว้เยอะจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ามีอิสระในการเลือก แต่ก็มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้อีกฝ่ายตัดสินใจลงมือทำได้ยากขึ้นด้วย ถึงอย่างนั้นการกำหนดตัวเลือกให้แค่ 1 หรือ 2 ตัวเลือกก็ดูจะเป็นการบีบบังคับมากเกินไป ซึ่งจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่าไม่มีอิสระและเกิดการต่อต้านได้ สรุปก็คือถ้าอยากให้การนัดหมายประสบความสำเร็จ ต้องไม่ให้อีกฝ่ายเลือกวันเวลาได้อย่างอิสระเต็มที่ แต่ควรจำกัดให้เหลือเพียง 3 ตัวเลือก ซึ่งถือว่าไม่มากหรือน้อยจนเกินไป

คนที่ทำทันทีตั้งคำถามแง่บวก ไม่ว่าจะในยุคสมัยไหนคนที่ประสบความสำเร็จหรือก็คือคนที่ทำทันที ล้วนตระหนักว่าคำถามที่ดีจะกระตุ้นให้คนเราลงมือทำ ส่วนคำถามที่ไม่ดีจะช่วงชิงความสามารถในการลงมือทำไป เวลาถามตัวเองก็เหมือนกัน ถ้าเอาแต่ตั้งคำถามในแง่ลบก็คงเป็นเรื่องยากที่จะมองโลกในแง่บวก และมีพลังในการลงมือทำ แค่เปลี่ยนคำถามก็จะเริ่มมองโลกในแง่บวก และทำให้มีพลังที่จะลงมือทำมากขึ้น คำถามเปรียบเสมือนสวิตซ์ที่ควบคุมการทำงานของสมอง ซึ่งถ้าเปลี่ยนคำถามสมองก็จะเปลี่ยนจุดโฟกัสไปด้วย อีกทั้งคำถามยังมีอิทธิพลต่อความรู้สึก

ดังนั้นถ้าถูกถามคำถามแง่ลบซ้ำ ๆ ก็จะทำให้รู้สึกท้อแท้ ในทางกลับกัน ถ้าเจอคำถามแง่บวกบ่อย ๆ ก็จะรู้สึกดีอีกทั้งสมองก็จะตื่นตัว ในกรณีของคนที่ไม่ทำสักทีเขาจะชอบตั้งคำถามแง่ลบกับตัวเอง และกล่าวโทษตัวเองอยู่เสมอ จากนั้นเขาจะไม่เพียงตั้งคำถามแง่ลบกับตัวเอง แต่ยังมีแนวโน้มที่จะทำแบบนั้นกับคนอื่นด้วย การเปลี่ยนแปลงตัวเองนั้นง่ายกว่าการเปลี่ยนแปลงคนอื่นหลายเท่า ดังนั้น จึงไม่ควรหงุดหงิดกับทัศนคติของอีกฝ่าย แต่ควรเปลี่ยนจุดโฟกัสโดยการตั้งคำถามว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง แล้วก็จะค้นพบหนทางที่ทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการในที่สุด เพียงเท่านี้ก็จะมีอารมณ์ความรู้สึกที่มั่นคง และมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ควรทำได้มากขึ้นแล้ว

คนที่ทำทันทีสนับสนุนคู่แข่ง ทุกคนย่อมกังวลเกี่ยวกับคู่แข่งเป็นธรรมดา ซึ่งวิธีรับมือกับคู่แข่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ ยินดีต้อนรับคู่แข่งและหาทางขัดขาคู่แข่ง ทั้งนี้คนที่ทำทันทีจะยินดีต้อนรับและให้การสนับสนุนคู่แข่ง ส่วนคนที่ไม่ทำสักทีจะไม่รู้สึกยินดีกับการมีคู่แข่ง จึงพยายามขัดขาและหาทางเอาชนะอีกฝ่าย ทั้งยังยินดีปรีดาเมื่อเห็นอีกฝ่ายทำผิดพลาด ด้วยสาเหตุที่คนที่ทำทันทีมองว่าคู่แข่งเป็นสิ่งจำเป็น ก็เพราะเขาคิดว่าการมีคู่แข่งจะทำให้มีแรงจูงใจในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น แต่การมีคู่แข่งอาจชักนำให้กระทำเรื่องที่ไร้ศีลธรรมได้ เช่น การกลั่นแกล้ง การนินทาลับหลัง การปล่อยข่าวลือเสียหาย และการขัดขาคนอื่น นี่คือรูปแบบพฤติกรรมของคนที่ไม่ทำสักทีที่พบเห็นได้บ่อย ๆ ดังนั้น คนที่ทำทันทีจึงพยายามพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นด้วยการสนับสนุนคู่แข่ง เพราะมันจะกระตุ้นให้กระตือรือร้นและมีความพยายามมากขึ้น การปรากฏตัวของคู่แข่งจะทำให้ได้อยู่ในสภาพแวดล้อม ที่ต่างฝ่ายต่างช่วยขัดเกลาซึ่งกันและกัน เมื่อเปลี่ยนคู่แข่งให้กลายเป็นพลัง ก็จะสามารถลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างกระตือรือร้นมากกว่าเดิม

คนที่ทำทันทีกำหนดเดดไลน์ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับงานหรือชีวิตส่วนตัวก็ตาม การทำตามเดดไลน์ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในการรักษาความไว้วางใจที่คนอื่นมีให้ ยิ่งถ้าสามารถทำได้เหนือกว่าความคาดหวังของอีกฝ่าย ก็จะยิ่งสร้างความประทับใจได้มากขึ้น ดังนั้น เมื่อคนที่ทำทันทีได้รับคำสั่งหรือถูกไหว้วานมา ก็จะลงมือทำอย่างรวดเร็ว ซึ่งสิ่งแรกที่เขาจะทำก็คือการกำหนดเดดไลน์ใหม่ด้วยตัวเอง ไม่ใช่การทำงานตามเดดไลน์ที่คนอื่นกำหนดให้

ถ้าเรื่องที่คนอื่นไหว้วานมามีเดดไลน์ที่กระชั้นชิด ก็จะรู้สึกตื่นตัวกับเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่หากไม่มีเดดไลน์ที่ชัดเจน จะรู้สึกว่ามีเวลาไม่จำกัดและหรือคิดว่าไว้ค่อยทำทีหลังโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าใครก็คงรู้สึกว่าต้องลงมือทำได้แล้ว แต่สุดท้ายแล้วจะทำหรือไม่ทำก็ขึ้นอยู่กับการคำนึงถึงเดดไลน์ คือสิ่งที่ทำให้ระดับสมาธิของคนเราแตกต่างกันอย่างมาก หากมีการจำกัดเวลาก็จะมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการคัดเลือกสิ่งที่ทำได้ภายในเวลาอันจำกัด

ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีการจำกัดเวลา ไม่ว่าจะพยายามบังคับตัวเองให้จดจ่อกับงานมากแค่ไหน แต่ก็จะไม่ลงมือทำอยู่ดี นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ หากกำหนดเดดไลน์แบบรายวันก็อาจมีบางวันที่ไม่สามารถทำตามได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้กำหนดเดดไลน์แบบรายสัปดาห์แทน เพราะการทำเช่นนี้ จะทำให้วางแผนปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะสมกับแต่ละวันได้ ส่งผลให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น

คนที่ทำทันทีเรียนรู้เก่ง อินเตอร์เน็ตเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวก ที่ช่วยหาคำตอบของสิ่งที่สงสัยได้ในพริบตา แต่ในขณะเดียวกัน ข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตก็มีล้นหลาม จนไม่รู้ว่าสิ่งไหนถูกหรือสิ่งไหนผิด คนที่ทำทันทีเรียนรู้เก่งเพราะถามแล้วลงมือทำตาม แต่ในทางกลับกันคนที่ไม่ทำสักทีจะเรียนรู้ไม่เก่ง เพราะชอบถามแต่ไม่ลงมือทำตาม คนที่พัฒนาได้และคนที่พัฒนาไม่ได้มีจุดที่แตกต่างกันคือ คนที่พัฒนาได้จะลองทำตามคำแนะนำในทันที

ดังนั้น ตอนที่เจอกันครั้งถัดไป คนที่พัฒนาได้จึงมีฟีดแบ็คมาเล่าให้ฟังอยู่เสมอ แน่นอนว่ามีทั้งกรณีที่ลองทำตามคำแนะนำดูแล้วได้ผลดีมาก และกรณีที่ลองทำตามคำแนะนำดูแล้วแต่ไม่ค่อยราบรื่นเท่าไหร่ แต่ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน คนที่ให้คำแนะนำก็ย่อมอยากช่วยเหลือคนที่ทำตามคำแนะนำของตัวเอง โดยจะอยากช่วยให้อีกฝ่ายทำได้ดีขึ้น หรือถ้าอีกฝ่ายลองทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็อยากช่วยคิดว่าปัญหาอยู่ที่ตรงไหน เพื่อให้อีกฝ่ายลงมือทำครั้งต่อไปได้อย่างราบรื่น

 

คนที่ทำทันทีทักทายคนอื่นก่อน การทักทายและแลกนามบัตรกับคนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในแวดวงธุรกิจ ซึ่งความแตกต่างของคนที่ทำทันทีกับคนที่ไม่ทำสักที จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดในสถานการณ์เช่นนี้ โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาราว 15 วินาทีในการตัดสินภาพลักษณ์ของอีกฝ่าย แต่ในกรณีที่เร็วขึ้นมาหน่อยจะใช้เวลาแค่ 3 วินาทีเท่านั้น อิทธิพลจากตอนเริ่มต้น (Primacy Effect) เป็นหลักทางจิตวิทยาที่อธิบายว่า ความประทับใจแรกจะเป็นตัวตัดสินภาพลักษณ์ หลายคนคงคิดว่าการถูกตัดสินภาพลักษณ์ตั้งแต่ตอนทักทายกันครั้งแรกเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ถ้าเป็นฝ่ายแนะนำตัวก่อน ก็จะสร้างภาพลักษณ์ในแง่บวกได้

ด้วยเหตุนี้ ต่อให้เป็นคนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก คนที่ทำทันทีก็จะเป็นฝ่ายเข้าหาก่อน ในทางกลับกัน คนที่ไม่ทำสักทีจะเอาแต่รอให้อีกฝ่ายเข้าหาตัวเองก่อน จึงสร้างความประทับใจให้กับอีกฝ่ายได้ยาก ทั้งยังอาจถูกมองในแง่ลบว่า เป็นคนที่ไม่กระตือรือร้นอีกด้วย ในการสนทนาถ้ามัวแต่ชักช้าอืดอาด โอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ก็จะหลุดลอยไป ดังนั้น แม้อีกฝ่ายจะเป็นคนที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก แต่คนที่ทำทันทีก็จะเป็นฝ่ายเข้าไปทักทาย และแนะนำตัวก่อนเสมอ หรือถ้าอยากรู้ข้อมูลของอีกฝ่าย ก็จะเล่าข้อมูลของตัวเองก่อน เพื่อให้สามารถสานสัมพันธ์ได้อย่างราบรื่น

บทที่ 4 การจัดการความรู้สึก

คนที่ทำทันทีระบายความรู้สึกออกมา คนเราจะรู้สึกดีใจ โกรธ เสียใจ สนุกสนาน หรือเกิดความรู้สึกอื่น ๆ ระหว่างที่เผชิญกับสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละวัน ซึ่งตอนที่รู้สึกสนใจเรื่องบางอย่างจนลืมเวลา รวมถึงตอนที่รู้สึกดีใจหรือสนุกสนานจะใจเต้นแรง และทำสิ่งต่าง ๆ อย่างกระตือรือร้นโดยอัตโนมัติ นั่นแสดงว่าความสามารถในการลงมือทำ และความรู้สึกมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับก่อนว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความรู้สึก ยิ่งพยายามอดกลั้นความรู้สึกมากเท่าไหร่ ความรู้สึกก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมความรู้สึกก็คือ การยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น และไม่มองว่าเป็นสิ่งเลวร้าย จากนั้นก็ระบายความรู้สึกของตัวเองให้ใครสักคนฟัง การจัดการกับความรู้สึกโดยที่คิดอยู่แต่ในหัวนั้นเป็นเรื่องยาก การเขียนความรู้สึกลงบนกระดาษ จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากกว่า คนเราต้องมองในกระจกจึงจะเห็นรูปลักษณ์ของตัวเองได้ ซึ่งการเขียนสิ่งที่ทำให้รู้สึกขุ่นมัวลงบนกระดาษ ก็เหมือนกับการมองตัวเองในกระจก เพราะมันจะช่วยให้มองเห็นความรู้สึกของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น

การเขียนด้วยมือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สิ่งสำคัญก็คือการระบายความรู้สึกของตัวเองออกมา เพราะเมื่อเขียนระบายความรู้สึกอย่างหมดเปลือก ก็จะช่วยให้จิตใจปลอดโปร่งขึ้นมากทีเดียว

คนที่ทำทันทีเปิดสวิตช์การลงมือทำด้วยกิจวัตรที่ดี การทำกิจวัตรบางอย่างเพื่อเพิ่มสมาธิ และเรียกพลังใจจะช่วยให้ลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น วิธีหนึ่งในการเรียกพลังใจก่อนคือ การกำหนดกิจวัตรบางอย่างขึ้นมา ซึ่งเมื่อทำกิจวัตรนั้นก็จะเท่ากับเป็นการเปิดสวิตช์การลงมือทำ หลายคนน่าจะเคยได้ยินเกี่ยวกับทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ (Operant Conditioning Theory) ทฤษฎีนี้อธิบายว่า เมื่อทำอะไรสักอย่างแล้วเกิดเรื่องดี ๆ ขึ้นกับตัวเองก็จะมีความประทับใจที่ดีต่อการทำสิ่งนั้นไปตลอด และรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำมัน ในทางกลับกันถ้าทำอะไรสักอย่างแล้วเกิดเรื่องที่ไม่ดีขึ้นกับตัวเองก็จะไม่อยากทำมันอีก

กล่าวได้ว่าทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำ เป็นเรื่องของการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลลัพธ์นั่นเอง ถ้ามีกิจวัตรที่ดีซึ่งช่วยยกระดับประสิทธิภาพการทำงานของตัวเองได้ มันจะส่งผลดีต่อชีวิตอย่างมาก เพราะกิจวัตรที่ดีจะทำให้มีความคิดในแง่บวกว่าทำได้ และกระตือรือร้นที่จะลงมือทำ ในทางจิตวิทยาก็ลงความเห็นว่ากิจวัตรเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมากต่อการลงมือทำ คนที่ทำทันทีจะมีกิจวัตรที่ช่วยในการลงมือทำแตกต่างกันไป แม้คำว่ากิจวัตรอาจจะฟังดูเป็นเรื่องจริงจัง แต่ถ้าทำกิจวัตรที่ดีก็จะช่วยเปิดสวิตช์การลงมือทำได้

คนที่ทำทันทีใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของตัวเอง ปัจจุบันเป็นยุคที่ตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย ไม่ต้องคิดอะไรให้ยุ่งยาก แค่ค้นหาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต ก็รู้ทุกเรื่องได้โดยที่ไม่ต้องมีประสบการณ์จริง ไม่มีใครรู้หรอกว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง หรืออาจไม่มีสิ่งที่ถูกต้องมาตั้งแต่แรกแล้วก็ได้ ดังนั้น คนที่ทำทันทีจึงเชื่อมั่นในมาตรฐานของตัวเอง โดยเขาจะใช้มันในการตัดสินใจว่า ตัวเองพึงพอใจไหม รู้สึกสนุกสนานหรือไม่ และรสชาติถูกปากหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าตัดสินใจตามการประเมินของคนอื่น การทำแบบนี้จึงช่วยให้เขาสามารถตัดสินใจได้โดยไม่ลังเล

คนที่ทำทันทีจะใช้ประสาทสัมผัสในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างเต็มที่ โดยให้ความสำคัญกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การสัมผัส การรับรส หรือการดมกลิ่น การพัฒนาของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ทำให้สามารถชมภาพทิวทัศน์หรือคลิปวีดีโอที่ถ่ายในต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ถึงจะอาศัยอยู่ในยุคที่ใช้แค่ประสาทการมองเห็น และการได้ยินก็สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดาย แต่ต้องไม่หลงคิดไปว่าเข้าใจโลกและความเป็นจริงได้ทั้งหมด การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสจะช่วยกระตุ้นสมองให้ตื่นตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของสมอง ดังนั้น การลองสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง จึงเป็นวิธีขัดเกลาประสาทสัมผัสที่ดีที่สุด

คนที่ทำทันทีมั่นใจอย่างไม่มีเหตุผล ในปัจจุบันมีคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองเพิ่มมากขึ้น และเพราะไม่มั่นใจจึงไม่กล้าก้าวไปข้างหน้า เมื่อถึงเวลาที่ต้องเริ่มลงมือทำก็จะลังเลหรือเปลี่ยนใจ ดังนั้น การไม่มั่นใจในตัวเองจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ชีวิตหยุดอยู่กับที่ ไม่อาจก้าวหน้าทั้งในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว ซึ่งพอเป็นแบบนั้นแล้วก็จะยิ่งสูญเสียความมั่นใจมากขึ้น และติดอยู่ในวงจรอันเลวร้าย ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจะเรียกสภาพจิตใจที่ต้องการรักษาสภาพปัจจุบันเอาไว้และไม่คิดจะท้าทายสิ่งใหม่ ๆ ว่า ความลำเอียงกับสถานะปัจจุบัน ซึ่งสภาพจิตใจเช่นนี้มีสาเหตุมาจากการขาดความมั่นใจนั่นเอง

คนที่ไม่ทำสักทีจะคิดว่า เพราะไม่มีผลงานเลยไม่มีความมั่นใจ จึงเอาแต่ยึดติดอยู่กับสภาพปัจจุบัน ในทางกลับกันคนที่ทำทันทีจะคิดว่า ขอแค่มีความมั่นใจเดี๋ยวผลงานก็ตามมาเอง พูดง่าย ๆ ก็คือเขาไม่ได้คิดว่า เพราะไม่มีความมั่นใจก็เลยไม่ทำหรือทำไม่ได้ แต่คิดว่าต้องลงมือทำถึงจะมีความมั่นใจต่างหาก การแสร้งทำเหมือนว่ามีความมั่นใจ จะทำให้มีความมั่นใจขึ้นจริง ๆ แถมยังช่วยคลายเครียดได้อีกด้วย บางทีสิ่งแรกที่ควรทำอาจไม่ใช่การคิดว่าทำได้หรือไม่ได้ แต่เป็นการสร้างความมั่นใจอย่างไม่มีเหตุผลก็ได้

คนที่ทำทันทีเชื่อในพลังแห่งคำพูด พลังนี้ที่สถิตอยู่ในคำพูดซึ่งจะทำให้สิ่งที่พูดออกมากลายเป็นความจริง เมื่อเทียบกับการพูดในใจแล้ว การเปล่งคำพูดออกมาจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และความสามารถในการลงมือทำได้มากกว่า คำพูดมีอิทธิพลต่อตัวเรา ดังนั้น หากใช้คำพูดแง่บวกเป็นประจำ ก็จะมองเห็นเส้นทางใหม่ ๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จ อย่างไรก็ตามหากถามว่า คนที่ทำทันทีไม่ใช้คำพูดแง่ลบเลยหรือ คำตอบคือไม่ใช่ เขายังคงซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง และพูดระบายความรู้สึกแง่ลบออกมาเป็นครั้งคราวเพื่อรีเซ็ตจิตใจให้ปลอดโปร่ง แต่โดยปกติแล้วเขาจะใช้คำพูดแง่บวกมากกว่า

บทที่ 5 การดูแลสุขภาพ

คนที่ทำทันทีพักผ่อนแล้วหายเหนื่อยล้า พอเรียนหรือทำงานโดยไม่ได้หยุดพัก ร่างกายและจิตใจก็เลยเหนื่อยล้าสะสม จนทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง ไม่ว่าใครก็คงเคยสัมผัสกับประสบการณ์เช่นแบบนี้กันมาก่อน อันที่จริงแม้บางคนจะตระหนักว่า ไม่ได้การต้องพักเพื่อเติมพลังแล้ว แต่การพักผ่อนก็ยังเป็นเรื่องยากสำหรับเขาอยู่ดี สาเหตุเพราะสำหรับบางคนแล้ว แม้จะเป็นวันหยุดแต่ถ้าไม่ได้ทำอะไรสักอย่างจะรู้สึกกระวนกระวายใจ สุดท้ายจึงเผลอค้นหาข้อมูลหรือสรุปเอกสารจนได้ การพักผ่อนแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ เช่นนี้ จะทำให้ร่างกายชาร์จพลังได้ไม่เต็มที่ จึงเหนื่อยล้าในเวลาไม่นาน

ในทางกลับกันบางคนคิดว่า วันหยุดทั้งทีต้องพักให้เต็มที่ เลยทำตัวเกียจคร้านหรือนอนทั้งวัน แต่การทำแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องดีเช่นกัน เพราะนาฬิกาชีวิตจะรวนได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นกรณีไหน ร่างกายและจิตใจก็เหนื่อยล้าสะสมได้ง่าย จึงไม่สามารถพยายามในเวลาที่ควรพยายามได้ และมีความเสี่ยงสูงที่จะกลายเป็นคนที่ไม่ทำสักที ถ้าอยากให้สมองทำงานได้ดี ก็ต้องออกกำลังกายควบคู่ไปกับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ จะช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ จากความเหนื่อยล้าได้มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

คนที่ทำทันทีตื่นเช้า สมองและร่างกายจะเหนื่อยล้าในตอนกลางคืน จึงไม่หลงเหลือพลังงานที่จะไปท้าทายสิ่งใหม่ ๆ หรือทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แล้ว แม้จะบังคับตัวเองให้ลงมือทำ แต่ก็จะไม่ได้อะไรเป็นชิ้นเป็นอันกลับมาอยู่ดี ถ้าอยากใช้เวลาในตอนกลางคืนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ควรเลือกทำงานง่าย ๆ หรือทบทวนแก้ไขงานมากกว่า ข้อดีอีกอย่างของการตื่นเช้าคือ การได้ใช้เวลาทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่มีอะไรมากวนใจและไม่ต้องรีบ ตอนเช้าเป็นช่วงเวลาล้ำค่าที่สมองทำงานได้ดีที่สุด ถ้าไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ก็คงน่าเสียดายมากทีเดียว ดังนั้น แค่ตื่นเช้ากว่าเดิมสัก 1 ชั่วโมง ก็จะไม่ต้องรีบทำนู่นทำนี่ ทั้งยังสามารถใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาจจะบอกว่าวิธีที่ใช้เวลา 1 ชั่วโมงในตอนเช้าคือ ตัวกำหนดชีวิตตลอดทั้งวันก็ไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด

คนที่ทำทันทีนอนอย่างมีรูปแบบ การนอนของคนเรามีอยู่สองแบบด้วยกันคือ คนในกลุ่มนอนยาว (Long Sleepers) หมายถึงคนที่ต้องนอนนาน ๆ ถึงจะฟื้นฟูการทำงานของสมองได้ ส่วนคนในกลุ่มนอนระยะสั้น (Short Sleepers) หมายถึงคนที่นอนแค่ 3-4 ชั่วโมงก็พร้อมรับมือกับวันใหม่อย่างสดชื่น ถ้าไม่นับคน 2 กลุ่มนี้ โดยทั่วไปคนเราควรนอน 6 ชั่วโมงขึ้นไป แต่เนื่องจากระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงควรหาระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมกับตัวเอง

การนอนช่วยฟื้นฟูพลังใจได้ แต่โดยทั่วไปแล้วหากนอนไม่ครบ 6 ชั่วโมง นอกจากมันจะขัดขวางการฟื้นฟูพลังใจแล้ว ยังทำให้พ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยุได้ง่ายอีกด้วย ในทางกลับกัน ถ้านอนในระยะเวลาที่เหมาะสม สมองในส่วนพรีฟรอนทัลคอร์เทกซ์ ก็จะสามารถควบคุมไม่ให้พ่ายแพ้ต่อสิ่งยั่วยุได้ การตระหนักว่าการนอนเป็นตัวกำหนดชะตาชีวิตของวันพรุ่งนี้ คือก้าวแรกสู่การมีชีวิตที่ดียิ่งขึ้นในวันพรุ่งนี้

คนที่ทำทันทีมีบุคลิกที่ดี มีงานวิจัยมากมายที่บ่งชี้ว่า บุคลิกมีอิทธิพลต่อความรู้สึก โดยบุคลิกที่ดีจะก่อให้เกิดความรู้สึกแง่บวก และบุคลิกที่ไม่ดีจะก่อให้เกิดความรู้สึกแง่ลบ ผลการวิจัยต่าง ๆ ทำให้รู้ว่า หากพยายามแสดงบุคลิกที่ดีก็จะมีความรู้สึกนึกคิดในแง่บวก และมีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็จะลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างกระตือรือร้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อมีบุคลิกที่ดี ภาพลักษณ์ในสายตาคนอื่นก็จะดูดีตามไปด้วย เรียกได้ว่าการมีบุคลิกที่ดีชักนำแต่เรื่องดี ๆ มาให้

บทที่ 6 การจัดการกับเวลาและเป้าหมาย

คนที่ทำทันทีตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขชัดเจน ถ้าตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขชัดเจนเพื่อทำเป้าหมายให้เป็นจริง จะสามารถควบคุมความต้องการของตัวเองได้ และไม่ปล่อยให้อารมณ์พาไป การตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขจะทำให้รู้ว่า ตอนนี้ต้องอดทนหรือว่าพอจะทำตามความต้องการของตัวเองได้อยู่ พูดอีกอย่างก็คือเป้าหมายสร้างเกณฑ์ในการตัดสินใจให้ อย่างที่รู้กันดีว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่อยากพยายาม ความรู้สึกแบบนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ จึงไม่จำเป็นต้องปฏิเสธมัน สิ่งสำคัญคือต้องมีเกณฑ์ในการจัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นต่างหาก ซึ่งการจะสร้างเกณฑ์ดังกล่าวขึ้นมา ต้องฝึกตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขชัดเจนจนติดเป็นนิสัย ถ้ารู้จักใช้ตัวเลขให้เป็นประโยชน์ก็จะควบคุมการกระทำของตัวเองได้ง่ายขึ้น การตั้งเป้าหมายก็คือการสร้างเกณฑ์ในการตัดสินใจ ซึ่งเมื่อสร้างมันขึ้นมาได้แล้ว ก็จะสามารถลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จะตัดสินใจได้โดยไม่ลังเล สรุปก็คือ คนที่ทำทันทีจะไม่ใช้อารมณ์ แต่จะใช้ตัวเลขในการควบคุมการกระทำของตัวเอง ดังนั้น ลองตั้งเป้าหมายที่เป็นตัวเลขกันดู

คนที่ทำทันทีเตรียมพร้อมสำหรับวันพรุ่งนี้ เพื่อการเริ่มต้นวันที่ดี คนที่ทำทันทีจะวางแผนการทำงานตั้งแต่คืนก่อนหน้า และเริ่มต้นสัปดาห์ที่ดีด้วยกันวางแผนการทำงานตั้งแต่สุดสัปดาห์ที่แล้ว การเตรียมพร้อมจะทำให้ไม่รู้สึกลนลาน ที่สำคัญคือสมองจะถูกจัดระเบียบในขณะที่นอนหลับ ดังนั้น ถ้าวางแผนการทำงานของวันพรุ่งนี้ไว้อย่างชัดเจน การจัดระเบียบสมองก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น จึงตื่นเช้ามาด้วยสมองที่ปลอดโปร่งยิ่งกว่าเดิม ในการวางแผนการทำงานของวันพรุ่งนี้ ต้องระวังว่ากำหนดการต้องไม่แน่นเกินไป ในยุคปัจจุบันมักจะเกิดเรื่องที่ไม่คาดคิดขึ้นบ่อย ๆ ถ้าไม่เผื่อเวลาว่างเอาไว้เลย ก็จะไม่สามารถจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที สรุปก็คือ คนที่ทำทันทีจะวางแผนการทำงาน สำหรับตอนเช้าของวันพรุ่งนี้อย่างรอบคอบ โดยการเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำตามลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อยเตรียมไว้เสมอ

คนที่ทำทันทีทำงานตามลำดับความสำคัญ เวลาที่มีงานล้นมือคงกังวลเรื่องงานหนึ่งในระหว่างที่ทำอีกงานหนึ่ง จนเผลอทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เมื่อตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ก็จะรู้สึกกดดันว่าต้องทำงานทุกอย่างให้เสร็จ คนที่ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เข้าข่ายเป็นคนที่ไม่ทำสักที เพราะคนประเภทนี้จะไม่คิดหาวิธีแก้ไขสถานการณ์ที่มีงานล้นมือ แต่จะหวังพึ่งพลังใจในการทำงานให้สำเร็จ ทั้ง ๆ ที่การทำงานหลายอย่างพร้อมกันให้สำเร็จเป็นเรื่องยากมาก วิธีรับมือกับสถานการณ์ที่มีงานล้นมือคือ เขียนงานทั้งหมดที่ต้องทำลงในกระดาษ จากนั้นก็จัดลำดับความสำคัญของงาน โดยคำนึงถึงปัจจัย 3 อย่างดังต่อไปนี้ ความสำคัญสำหรับตัวเอง ความเร่งด่วน และระยะเวลาที่ใช้ การลงมือทำทันทีต้องอาศัยพลังงานและพลังใจ จึงไม่ควรใช้มันไปกับเรื่องที่ไม่จำเป็น ซึ่งถ้ารู้จักจัดลำดับความสำคัญ ก็จะสามารถตัดสินใจได้ว่า ควรทำหรือไม่ควรทำอะไร การจัดลำดับความสำคัญของงาน และการทำงานตามลำดับที่กำหนดไว้ จะนำไปสู่การสร้างผลลัพธ์ที่ดีอย่างแน่นอน

คนที่ทำทันทีกำหนดสิ่งที่ต้องไม่ทำ ถ้าถูกสิ่งที่ต้องทำไล่ต้อนอยู่ทุกวัน ก็อาจเผลอทำสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำได้ ส่งผลให้ไม่มีเวลาเหลือพอไปทำสิ่งที่ต้องทำจริง ๆ คนที่ทำทันทีจึงไม่เพียงกำหนดสิ่งที่ต้องทำ แต่ยังกำหนดสิ่งที่ต้องไม่ทำด้วย เพราะการกำหนดสิ่งที่ต้องไม่ทำเอาไว้อย่างชัดเจน จะช่วยลดความลังเลในการตัดสินใจ และลดภาระที่ไม่จำเป็นต่อสมองได้ พอไม่ต้องเสียเวลาไปกับสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำ ก็จะมีเวลาไปทำสิ่งที่ต้องทำจริง ๆ มากขึ้นด้วย ลองเขียนรายการสิ่งที่ไม่ต้องทำ ควบคู่ไปกับรายการสิ่งที่ต้องทำดู รับรองว่าต้องใช้เวลาและพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม

บทที่ 7 การกระทำ

คนที่ทำทันทีเลือกสภาพแวดล้อมจากคนที่จะเรียนด้วยกัน ทุกคนเข้าใจดีว่าการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเลือกเพื่อนที่จะเรียนด้วยนั้น สำคัญกว่าเนื้อหาที่จะเรียน และการเชื่อมโยงไปสู่เรื่องที่ว่าจะเลือกใช้ชีวิตแบบไหน ปัจจุบันมีงานสัมมนาฟรีมากมายที่สามารถเข้าร่วมและเรียนรู้ได้ แต่จุดที่งานสัมมาฟรีแตกต่างจากงานสัมมนาแบบคิดค่าใช้จ่ายก็คือ คุณภาพของคนที่เข้าร่วมงาน คนที่ยอมจ่ายเงินเพื่อเข้าร่วมงานสัมมนา ย่อมกระหายในการเรียนรู้อย่างมาก และมีความมุ่งมั่นที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาไปสร้างผลลัพธ์

มนุษย์นั้นได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมเป็นอย่างมาก จะเรียนด้วยกันกับใครส่งผลต่อมาตรฐานในการปฏิบัติตัวด้วย สำหรับคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจแรงกล้า และทำทุกอย่างได้อย่างกระตือรือร้น ด้วยเหตุนี้การที่เข้าไปอยู่ในแวดวงของคนที่กระตือรือร้น จึงช่วยสร้างแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่ให้ได้ การมองดูคนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องบางอย่าง หรือคนที่ทำผลงานได้ดี จึงช่วยกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าทำได้ พูดอีกอย่างก็คือระดับการรับรู้ความสามารถของตัวเองจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้กระตือรือร้นที่จะลงมือทำมากขึ้น ในทางจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การเสริมแรงทางอ้อม (Vicarious Reinforcement) นั่นคือเหตุผลที่ทำให้คนที่เรียนด้วยกัน มีอิทธิพลต่อการกระทำและการเติบโตนั่นเอง

คนที่ทำทันทีพึ่งพาการจดบันทึก มนุษย์เรามักจะพยายามหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองเสมอ เพื่อกลบเกลื่อนช่องว่างระหว่างความปรารถนาในใจและความจริง ความทรงจำของมนุษย์เป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ และมักบิดเบือนเข้าข้างตัวเอง ดังนั้น เมื่อกระทำถึงความจริงจึงตกใจว่า มันแตกต่างจากสิ่งที่คิดไว้ ความทรงจำเป็นสิ่งที่บิดเบือนได้ โดยมันจะตีความเพิ่มเติมเอาเอง และตีความเข้าข้างตัวเอง การติดตามความคืบหน้าเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยเพิ่มระดับการรับรู้ความสามารถของตัวเอง และช่วยฝึกนิสัยให้เป็นคนที่ทำทันทีได้ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องว่า อุดมคติและความจริงนั้นห่างไกลกันมากแค่ไหน

คนที่ทำทันทีจึงมีนิสัยจดบันทึกอยู่เสมอ เพื่อให้ควบคุมชีวิตในแต่ละวันของตัวเองได้ ถ้าไม่ฝึกนิสัยเผชิญหน้ากับความจริง เมื่อรู้ตัวอีกทีอุดมคติและความจริงก็จะยิ่งห่างไกลกันจนไม่สามารถแก้ไขได้ ส่งผลให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี คนที่ทำทันทีจะใช้การจดบันทึกเป็นรากฐานในการสร้างแรงจูงใจของวันพรุ่งนี้ แต่จะใช้แอพพลิเคชั่นต่าง ๆ แทนก็ได้ ลองฝึกนิสัยการจดบันทึกดู การจดบันทึกเป็นโอกาสที่ดี ทำให้ได้พิจารณาทบทวนความจริงจากมุมมองที่เป็นกลาง และเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่การลงมือทำในครั้งต่อไป

คนที่ทำทันทีอ่านหนังสือพลางจดบันทึกด้วยปากกาแดง สีมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึก สีแดงเป็นสีที่ให้ความรู้สึกกระตือรือร้นและฮึกเหิม ดังนั้นจึงมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นให้ลงมือทำ สาเหตุที่ป้ายโฆษณาลดราคาส่วนใหญ่ใช้ตัวอักษรสีแดง ก็เพราะเป็นที่รู้กันในวงการตลาดว่า สีแดงช่วยให้ยอดขายเพิ่มขึ้นราว 20%  สีแดงช่วยกระตุ้นพฤติกรรมการซื้อได้ การอ่านหนังสือจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว หากฝึกนิสัยใช้ปากกาแดงในในการจดบันทึก เกี่ยวกับวิธีนำข้อมูลที่ได้จากการอ่านหนังสือ ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือการทำงาน

ในทางกลับกัน สีน้ำเงินเป็นสีที่ช่วยให้มีสมาธิมากขึ้น ดังนั้นเวลาสรุปเนื้อหาที่เรียนหรือข้อมูลต่าง ๆ เพื่อใช้ท่องจำ การใช้ปากกาสีน้ำเงินจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สีน้ำเงินจะทำให้สุขุมเยือกเย็น และช่วยให้มีสมาธิจดจ่อเวลาที่ทำงาน เวลาที่ทำงานง่าย ๆ ถ้าใช้ปากกาสีน้ำเงินก็จะช่วยให้รักษาสมาธิไว้ได้นานขึ้น สีแดงกระตุ้นให้ลงมือทำ และสีน้ำเงินช่วยสร้างสมาธิ หากเลือกใช้ปากกาได้อย่างเหมาะสม ความสามารถในการลงมือทำก็จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน

คนที่ทำทันทีทบทวนเพื่อให้จำได้แม่นยำขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหรือการทำงานก็ย่อมมีเรื่องที่ต้องจำมากมาย แน่นอนว่าถ้าจำข้อมูลทั้งหมดได้ในครั้งเดียวก็คงดีไม่น้อย แต่ในความเป็นจริงสมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาให้ลืม ดังนั้น การจำไม่ได้จึงถือเป็นเรื่องปกติ การทบทวนซ้ำ ๆ จะช่วยให้จำสิ่งที่ควรจำได้ สมองจะตัดสินเรื่องอะไรสักอย่างว่า มีความสำคัญและติดตรึงไว้ในสมอง ก็ต่อเมื่อรับรู้เรื่องนั้นซ้ำ ๆ ทุกครั้งที่ทบทวนเรื่องบางอย่าง ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนั้นจะยิ่งชัดเจนขึ้น ทำให้เปอร์เซ็นที่เรื่องนั้นจะติดตรึงอยู่ในสมองเพิ่มมากขึ้นด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการท่องจำ หรือการทำความเข้าใจข้อมูลใหม่ ๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องเว้นช่วงในการทบทวนเล็กน้อย เพื่อที่จะรับรู้ข้อมูลมากมายในวันเดียว ทางที่ดีเปลี่ยนมาทบทวนในวันถัดมาดีกว่า ปรากฏการณ์ความทรงจำ (Reminiscence Effect) เป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่ว่า การนอนหรือการพักผ่อนในระยะเวลาหนึ่ง จะช่วยจัดระเบียบสมองและกำจัดอุปสรรคที่ขัดขวางการเรียกใช้ความทรงจำได้ นั่นหมายความว่า การนอนและการพักผ่อนช่วยจัดระเบียบและลดความเหนื่อยล้าของสมอง จึงมีเปอร์เซ็นต์ที่จะจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

คนที่ทำทันทีมันอัพเดทตัวเองอยู่เสมอ ปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ในยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น วิธีคิดและวิธีทำแบบเดิม ๆ จึงไม่สามารถใช้ไปได้ตลอด สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นอาวุธจะเสื่อมประสิทธภาพลงอย่างรวดเร็ว และไม่นานก็จะถึงวันที่มันใช้การไม่ได้ แม้ว่าข้อมูลความรู้ และทักษะที่มีอยู่ตอนนี้จะเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่อีกไม่นานมันก็จะล้าสมัย โดยเฉพาะในยุคที่นวัตกรรมอย่าง AI เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ คนที่ใช้ทักษะต่าง ๆ ในการทำงานล้วนมีความเสี่ยงว่า จะถูกแทนที่โดยใครบางคน หรืออะไรบางอย่างได้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้ คนที่ทำทันทีจึงหมั่นอัพเดทตัวเองอยู่เสมอ พูดง่าย ๆ ก็คือ เขาจะไม่ยึดติดกับวิธีใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ แต่จะเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา

ในการอัพเดทตัวเองมักต้องการข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์จริง ดังนั้น เวลาอะไรบางอย่างกลายเป็นกระแส จึงลองใช้อย่างไม่ลังเล และคิดหาเหตุผลว่าทำไมมันถึงได้รับความนิยม ส่งผลให้รู้สึกว่าตัวเองนั้นมีประโยชน์กับคนอื่น พอเป็นแบบนี้ก็จะมีความมั่นคงทางจิตใจ และมีความมั่นใจในตัวเอง ที่สำคัญคือการอัพเดทตัวเองเป็นเรื่องที่สนุกสนาน ซึ่งถ้านำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาใหม่จากการอัพเดทตัวเอง ไปสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นด้วย ก็จะทำให้มีความสุขมากขึ้น

บทส่งท้าย

ไม่มีทั้งอดีตและอนาคต มีเพียงชั่วขณะปัจจุบันเท่านั้น นี่คือคำกล่าวของลีโอ ตอลสตอย นักเขียนชาวรัสเซียผู้มีชื่อเสียง การลงมือทำทันที สุดท้ายแล้วก็เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับการกระทำ เพื่อให้ชีวิตดำเนินไปอย่างราบรื่น ต้องลงมือทำในเวลาที่ตัวเองตัดสินใจว่าจะทำ ไม่ใช่ลงมือทำในเวลาที่ถูกไล่ต้อนโดยใครบางคน หรือสถานการณ์บางอย่าง ทั้งนี้วิธีที่ดีที่สุดในการจัดการเวลาก็คือ การลงมือทำทันที

แม้จะฟังดูเป็นเรื่องง่ายแต่ความจริงแล้วมันกลับยากพอสมควรเลยทีเดียว วิธีเรียกความเชื่อมั่นในตัวเองกลับคืนมา ซึ่งวิธีการนั้นคือการจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองทำได้ในตอนนี้ เมื่อความสามารถในการลงมือทำเพิ่มขึ้น ก็จะรู้สึกว่าสามารถจัดการกับเวลาและชีวิตของตัวเองได้ ดังนั้น อยากให้ลองคิดดูว่า เพื่อให้มีชีวิตที่สดใสยิ่งขึ้นในวันพรุ่งนี้ สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คืออะไร จากนั้นก็ลองเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างดู จะเป็นอะไรก็ได้ เชื่อเถอะว่าการเริ่มต้นแม้เพียงก้าวเล็ก ๆ แต่ก็จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ มาสู่ชีวิตได้อย่างแน่นอน.