การลงทุนของบริษัทสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การลงทุนเพื่อบำรุงรักษาธุรกิจ (Business maintenance investments) และการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ (Business expansion investments)

การลงทุนเพื่อบำรุงรักษาธุรกิจยังสามารถแบ่งได้เป็น:

  1. โครงการดำเนินต่อเนื่อง (Going concern projects) เป็นการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้ต่อไป หรือช่วยลดต้นทุนได้ ซึ่งมีใจความเพียงแค่ว่า การปฏิบัติงานต่างๆที่เป็นอยู่ทุกวันควรที่จะทำต่อไปหรือไม่ ถ้าควรทำต่อ ควรที่จะมีการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นหรือไม่ ตัวอย่างเช่น หากเทคโนโลยีอุปกรณ์เครื่องจักรที่ใช้อยู่ถูกประเมินว่าล้าสมัย ก็จะต้องมีการเปลี่ยนเครื่องใหม่ที่มีประสิทธิภาพกว่าเดิม มักเป็นการวิเคราะห์ที่ไม่ซับซ้อน
  2. โครงการจากการกำกับดูแล (Regulatory projects) เป็นการลงทุนตามเงื่อนไขขององค์กรที่มีหน้าที่กำกับดูแลอุตสาหกรรม หลักๆจะเกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการลงทุนที่อาจไม่สร้างรายได้ให้กับบริษัทเลย

สำหรับการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจเป็นโครงการที่ทำเพื่อขยายขนาด หรือขอบเขตธุรกิจของบริษัท จำเป็นต้องกระบวนการตัดสินใจที่ซับซ้อนเพื่อวิเคราะห์ระดับความต้องการสินค้าและบริการในอนาคต ยิ่งถ้าเป็นการขยายธุรกิจใหม่ที่ต่างไปจากลักษณะธุรกิจเดิมของบริษัทยิ่งต้องใช้ความรอบคอบในการประเมินสูง เนื่องจากมีความไม่แน่นอนสูง

กระบวนการจัดสรรเงินทุน (Capital allocation) เป็นการประเมินโครงการระยะยาวต่างๆเพื่อเลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นโครงการบำรุงรักษาธุรกิจ หรือขยายธุรกิจ โดยพิจารณาจากผลกำไรที่จะได้รับในอนาคตเป็นหลัก ดังนั้นการตัดสินใจเลือกลงทุนในโครงการใดโครงการหนึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในระยะยาวของบริษัท มีขั้นตอนดังนี้:

  1. คิดโครงการที่น่าจะมีความเป็นไปได้ขึ้นมา
  2. วิเคราะห์และคัดเลือกโครงการโดยดูจากกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากแต่ละโครงการ
  3. จัดเรียงลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการโดยคำนึงถึงระยะเวลาในการได้กระแสเงินสด, ทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่, และแผนการโดยรวมของบริษัท
  4. ติดตามผลดำเนินงานของโครงการว่าเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่

หลักสำคัญในการจัดสรรเงินทุนประกอบด้วย

– การวิเคราะห์โดยดูจากกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับเป็นหลัก โดยโครงการที่ทำให้กระแสเงินสดบริษัทสูงขึ้นมากที่สุดก็จะมีความน่าสนใจในการลงทุน

– กระแสเงินสดที่ได้รับจะต้องหักลบด้วยต้นทุนค่าเสียโอกาส เนื่องจากการที่บริษัทนำสินทรัพย์มาลงทุนในโครงการนั้นๆจะต้องแลกมาด้วยการเสียโอกาสในการลงทุนอีกโครงการหนึ่ง เช่น หากบริษัทมีที่ดินอยู่แล้วและต้องการสร้างโรงงาน บริษัทจำเป็นที่จะต้องคิดต้นทุนค่าที่ดินเข้าไปด้วย เนื่องจากที่ดินสามารถนำไปใช้ทำอย่างอื่นได้ด้วย

– กระแสเงินสดที่ได้รับเร็วกว่าจะมีค่ามากกว่าตามหลักของ Time-value of money

– โฟกัสที่กระแสเงินสดหลังจากหักภาษีแล้ว เพราะว่าบริษัทไม่สามารถใช้ส่วนที่จ่ายเป็นภาษีได้

– ต้นทุนทางการเงินจะถูกสะท้อนในอัตราผลตอบแทนของโครงการ และจะไม่ถูกนำไปรวมอยู่ในประมาณการกระแสเงินสดที่เพิ่มขึ้นจากโครงการ โดยโครงการที่คาดว่าจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าต้นทุนที่ลงทุนไป จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัท

ต้นทุนจม (Sunk cost) เป็นต้นทุนที่บริษัทจำเป็นต้องจ่าย ไม่ว่าจะตัดสินใจลงทุนในโครงการนั้นๆหรือไม่ก็ตาม เช่น ค่าใช้จ่ายในการสำรวจตลาดก่อนตัดสินใจลงทุน

ผลกระทบภายนอก (Externalities) สามารถส่งผลได้ทั้งในด้านบวกและลบ ในด้านลบจะเรียกว่า Cannibalization ซึ่งการออกสินค้าใหม่จะกินส่วนแบ่งสินค้าเดิม ส่วนในด้านบวกจะเป็นการเสริมให้สินค้าเดิมมีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นตามมา

รูปแบบของการไหลของกระแสเงินสดแบบทั่วไป (Conventional cash flow pattern) จะมีการเปลี่ยนทิศของกระแสเงินสดเพียงครั้งเดียว เช่น กระแสเงินสดไหลออกจากการลงทุนในช่วงแรก และเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดไหลเข้าจากรายได้หลังจากนั้น แต่ในบางครั้งจะมีค่าใช้จ่ายระหว่างอายุโครงการหรือเมื่อสิ้นสุดโครงการ เรียกว่ารูปแบบของการไหลของกระแสเงินสดแบบพิเศษ (Unconventional cash flow pattern) ตามรูปด้านล่าง

Source: https://analystprep.com/cfa-level-1-exam/corporate-issuers/process-and-principles-of-capital-allocation/

สองโครงการที่สามารถทำได้พร้อมๆกันไม่เกี่ยวข้องกันเรียกว่าโครงการแบบอิสระ (Independent projects) แต่จะมีโครงการบางรูปแบบที่บริษัทจำเป็นต้องเลือกลงทุนแค่อย่างใดอย่างหนึ่งจะเป็นโครงการแบบไม่สามารถเกิดขึ้นร่วมกันได้ (Mutually exclusive) ส่วนบางโครงการจำเป็นที่จะต้องทำโครงการก่อนหน้าให้สำเร็จเป็นลำดับก่อน และไม่สามารถทำได้หากโครงการก่อนหน้าไม่สำเร็จ

ทุกบริษัทมีเงินทุนที่จำกัดในการลงทุนในโครงการต่างๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องให้หลักเหตุและผลในการเลือกและเรียงลำดับความสำคัญในการลงทุนแต่ละโครงการเพื่อทำให้มูลค่าบริษัทเพิ่มสูงขึ้นไปได้มากที่สุดในงบประมาณที่มี

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง