สรุปหนังสือ ผ่อนคลายกับชีวิตบ้าง แล้วเธอจะชอบตัวเองมากขึ้น

35 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจ ที่จะช่วยให้ชีวิตเบาสบายขึ้นได้ทันที ถ้าลองเปลี่ยนโซเชียลเป็นที่ทำงาน เปลี่ยนเพื่อนเป็นรุ่นน้อง เป็นเพื่อนร่วมงาน หรือเป็นหัวหน้าก็จะพบว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับใครหลายคนเลย แม้ว่ารายละเอียดอาจต่างกันบ้าง แต่จะมีจุดร่วมที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือ คน ๆ นั้นจะทุกข์ใจเพราะเปรียบเทียบกับคนอื่น และตกอยู่ในสภาพที่กดดันกับการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ตามความกดดันนั้น อาจเกิดจากความคิดของตัวเอง หรือสภาพแวดล้อมก็ได้ ประสบการณ์ที่เคยเจ็บปวดอาจส่งผลให้พยายามปกป้องตัวเอง จิตใจก็เลยมีแต่ความตึงเครียดจนไม่สามารถผ่อนคลายกับชีวิตได้ ในการจะปลดปล่อยจิตใจให้เบาสบายขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องหาแนวทางสำหรับผ่อนคลายชีวิต และฝ่าฟันคลื่นลมในจิตใจไปให้ได้ คุณค่าไม่ได้อยู่ที่ความสวยหรูบนโซเชียล หรือจำนวนผู้ติดตาม

ต่อให้รู้สึกด้อยกว่าคนอื่นก็ไม่ได้แปลว่าคุณค่าลดลง ขอแค่ตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ จิตใจก็จะถูกปลดปล่อย จากแรงกดดันของการเปรียบเทียบแล้ว ก็จะรู้สึกว่าเป็นแบบนี้ก็ดีแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากการดูแลรักษาจิตใจคือ การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และมีจิตใจที่เข้มแข็ง หวังว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ มันจะช่วยให้ผู้อ่านได้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน

ในแต่ละหัวข้อ (35 CASE) ได้แบ่งประเภทของความทุกข์อย่างละเอียด และใช้คำอธิบายที่ช่วยขยายมุมมองให้กว้างขึ้น ทั้งยังวิธีฝึกหัดที่ทำได้ง่าย ๆ แม้ในตอนที่ใจเหนื่อยล้าเอาไว้ให้ด้วย ต่อให้ไม่ได้ไล่อ่านจากบทแรกไปเรื่อย ๆ ก็ไม่มีปัญหา ถ้าดูสารบัญแล้วเจอหัวข้อที่อยากอ่าน จะเริ่มจากตรงนั้นก่อนก็ได้ เชื่อว่าหนังสือเล่มนี้จะเป็นขุมพลัง ที่ช่วยให้ปกป้องจิตใจของตัวเอง และฝ่าฟันคลื่นลมในจิตใจไปได้ ถึงเวลานำจิตใจที่เข้มแข็งกลับคืนมาแล้ว

บทที่ 1

ความสับสนต่อทางเลือกของตัวเอง

CASE 1

เอาแต่คิดว่าตัวเองไม่ได้เรื่อง

ฝึกยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น

การมีประโยชน์ไม่ได้เท่ากับการมีคุณค่า คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ตรงไหน มักคิดว่าถ้าไม่มีประโยชน์ก็จะไม่มีคุณค่า แต่มันเป็นแบบนั้นแน่หรือ อันที่จริงแล้วการมีประโยชน์ ไม่ใช่ความหมายของการกระทำที่ก่อให้เกิดคุณค่า แต่เป็นแค่ผลลัพธ์เท่านั้น สิ่งที่เรียกว่าคุณค่าไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นกำหนด แต่เป็นสิ่งที่ติดตัวทุกคนมาตั้งแต่แรกแล้ว การมีประโยชน์กับใครสักคนหรือเปล่า ไม่ได้เกี่ยวอะไรด้วยเลย เมื่อเด็กคนหนึ่งลืมตาดูโลก ผู้คนรอบข้างก็จะยินดีและซาบซึ้งใจ นั่นไม่ใช่เพราะว่าเด็กคนนั้นสร้างประโยชน์อะไร แต่เป็นเพราะมองว่าชีวิตเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่างหาก ต่อให้โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว คุณค่าก็ไม่ต่างไปจากตอนที่เพิ่งเกิด

ค่อย ๆ ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นไปทีละน้อย มีคนจำนวนไม่น้อยเลยที่รู้สึกว่า ตัวเองไม่มีคุณค่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลกระทบที่ได้รับจากประสบการณ์ในวัยเด็ก เช่น ทั้งที่พยายามแล้วแต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับจากคนรอบตัว หรือไม่ได้รับคำชมจากคนในครอบครัว เพียงเพราะยังไม่เก่งพอ ในการสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตัวเอง ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แม้จะเปลี่ยนทันทีไม่ได้ แต่อย่างน้อยขอให้ตั้งเป้าหมายไว้ที่การคิดว่า ตัวเองเป็นแบบนี้ก็ได้ สักไม่กี่วินาทีก็ยังดี

คนเราไม่ได้แบ่งกันที่มีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า อันดับแรกให้เริ่มจากการทบทวนความหมายของคุณค่าก่อน จริง ๆ แล้วคุณค่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกแบ่งเป็นมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า ถ้าตั้งใจมองตัวเองในแบบที่เป็น ก็จะตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองทำได้ดี

CASE 2

สมองเต็มไปด้วยคำนินทาและคำบ่น

ไล่ความรู้สึกแง่ลบก่อนที่มันจะโดนแก้ว

สลัดเรื่องแย่ ๆ ออกจากหัวไม่ได้สักที ไม่ว่าจะพยายามปรับอารมณ์แค่ไหน สิ่งที่ผุดขึ้นมาในสมองก็มีแต่คำนินทาและคำบ่น เวลาที่เป็นแบบนั้นมันน่าหงุดหงิดใช่ไหม เวลาที่อยากบ่นจึงเผลอมองว่าตัวเองเป็นคนไม่ได้เรื่อง และรู้สึกหงุดหงิดใจหนักขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในเวลาแบบนี้ไม่ใช่การอดทนต่อความทุกข์ใจ เพื่อเป็นคนที่น่านับถือ แต่เป็นการสร้างพื้นที่ว่างในจิตใจต่างหาก

ไล่ความรู้สึกแง่ลบออกไป แล้วรับสิ่งใหม่เข้ามา จิตใจของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความจุเหมือนภาชนะ การไล่ความรู้สึกแง่ลบออกไป เป็นเรื่องที่ง่ายเกินคาด สิ่งที่ต้องทำคือการระบายความรู้สึกออกไปแบบตรง ๆ เท่านั้นเอง ถ้าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จะบ่นให้คนใกล้ตัวฟังก็ได้ แต่ในกรณีของเรื่องที่พูดลำบาก ขอแนะนำให้ใช้การเขียนแทน จะเขียนอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ได้ให้คนอื่นอ่านอยู่แล้ว ต่อให้เขียนนินทาคนอื่นก็ไม่ต้องรู้สึกผิด สิ่งสำคัญคือการเขียนออกไปให้หมด โดยไม่ล้มเลิกกลางคันมากกว่า เมื่อระบายออกไปหมดจนรู้สึกว่าไม่รู้จะนินทาอะไรแล้ว ก็จะมีพื้นที่ว่างในจิตใจมากขึ้น และรับความรู้สึกใหม่ ๆ เข้ามาเก็บไว้ได้

จิตใจของแต่ละคนมีความจุไม่เท่ากัน แต่ไม่ได้แปลว่าใจแคบคือไม่ดี และใจกว้างคือดี สิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นที่ว่าง เพื่อรับความรู้สึกหรือความคิดใหม่ ๆ เข้ามาอยู่เสมอ ทางที่ดีต้องรู้ความจุของจิตใจตัวเอง และพยายามไล่ความรู้สึกแง่ลบออกไปก่อนที่มันจะเต็ม

CASE 3

เครียดจนทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

ความเครียดอาจเป็นสัญญาณที่บอกให้พักสักหน่อย

การเปลี่ยนแปลงในแง่ดีทำให้เครียดได้ ความเครียดและผลกระทบของมันมักถูกเปรียบเทียบกับลูกโป่ง เวลาบีบลูกโป่งที่พองอยู่ แรงบีบจากมือก็คือความเครียด ส่วนลูกโป่งที่บิดเบี้ยวผิดธรรมชาติไปเพราะแรงบีบก็คือสภาพจิตใจ ตอนที่เจอกับความเครียดนั่นเอง มักคิดว่าความเครียดเท่ากับความทุกข์ แต่ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ไหน ก็ก่อให้เกิดความเครียดได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในแง่ลบเพียงอย่างเดียว

จิตใจที่เข้มแข็งคือจิตใจที่พลิ้วไหว วิธีปกป้องจิตใจคือการเอาอย่างต้นหลิว ในการใช้ชีวิตคงไม่มีทางหลีกเลี่ยงความเครียดได้ 100% ถ้าอยากเข้มแข็งพอที่จะต่อกรกับมันได้ จิตใจก็จำเป็นต้องมีความพริ้วไหว ที่แม้โดนลมแรงก็ไม่หัก รู้สึกเหนื่อยจนไม่อยากทำอะไร ท้อแท้ยังไงก็ไม่รู้ สมองว่างเปล่า เวลาแบบนี้เปรียบได้กับตอนที่กิ่งไม้โค้งจนเกือบจะหัก สิ่งแรกที่ควรทำคือการลดแรงกระทำที่มีต่อกิ่งไม้ หรือก็คือความเครียดนั่นเอง ลองทบทวนดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงนี้หรือเปล่า

สิ่งที่สร้างความเครียดได้ง่ายคือ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ภาระของจิตใจจะหนักอึ้งเป็นอย่างมาก แต่ละคนมีพลังในการรับมือกับความเครียดไม่เท่ากัน ถ้ารู้สึกเหนื่อยใจก็แสดงว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจหนักไป แต่ไม่จำเป็นต้องอดทนต่อสู้เลย วิธีที่ดีกว่าคือการลดภาระหน้าที่ในแต่ละวัน อย่างพวกงานหรืองานบ้านลงบ้าง ถ้ายังมีพลังกายและพลังใจเหลืออยู่ อย่างน้อยก็น่าจะค่อย ๆ ปรับตัวให้คุ้นชินกับสถานการณ์ได้ ถ้าสามารถจัดการกับปัญหาในแบบของตัวเองได้ ก็จะมีจิตใจที่ยืดหยุ่นขึ้น และสามารถรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้นด้วย

CASE 4

จู่ ๆ ก็เจ้าอารมณ์ขึ้นมา

หาวิธีรับมือแบบเร่งด่วนที่เหมาะสมกับตัวเอง

คนเรามีอารมณ์หลากหลาย ไม่ว่าจะโกรธ เศร้า หรือดีใจ ปกติแล้วอารมณ์เหล่านั้นจะแสดงออกมาทางสีหน้าหรือท่าทาง โดยปฏิกิริยาดังกล่าวเกี่ยวข้องกับระบบลิมบิก (Limbic system) หรือสมองส่วนควบคุมอารมณ์ ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยความคิด แม้จะอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวกัน แต่ความรู้สึกที่แสดงออกมาก็อาจต่างกัน และมีความรุนแรงไม่เท่ากัน แต่อย่างที่บอกไปว่าไม่สามารถข่มกลั้นความรู้สึกได้ด้วยความคิด ไม่ว่าจะพยายามข่มอารมณ์ไว้แค่ไหนก็ไม่ได้ผล

การข่มกลั้นความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาเองไปนาน ๆ รังแต่จะทำให้สภาพจิตใจแปรปรวนเท่านั้น สิ่งสำคัญคือวิธีที่ใช้จัดการกับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ความรู้สึกที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้างคือ ความรู้สึกแง่ลบ ทางที่ดีควรหาวิธีรับมือไว้ล่วงหน้า เพื่อจะได้จัดการกับความรู้สึกเหล่านั้นได้อย่างราบรื่น วิธีคือการพาตัวเองออกมาจากจุดนั้น การพาตัวเองออกมาจากจุดนั้น มีค่าเท่ากับการออกห่างจากบ่อเกิดของความหงุดหงิด นี่จึงนับเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจให้สงบลง

ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่พาตัวเองออกมาได้ลำบาก ให้ลองใช้วิธีรับมือแบบทั่ว ๆ ไปที่ใช้ในทุกสถานการณ์ เช่น หลับตาแล้วนับ 1-5 หรือหายใจเข้าลึก ๆ วิธีที่ดีในการรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้คือ วิธีที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องคิด เพราะถ้าเกิดใช้วิธีที่ต้องคิดนู่นคิดนี่ก่อน เวลาที่รู้สึกหงุดหงิดหรือข้องใจก็คงไม่ได้ลงมือทำสักที ลองหาวิธีรับมือที่ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องคิดเยอะ อย่างพอหงุดหงิดก็ให้หายใจเข้าลึก ๆ ข้อควรระวังคือให้หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง อาจทำให้สะใจชั่วครู่ก็จริง แต่หากทำหลาย ๆ ครั้งเข้า พฤติกรรมอาจยิ่งหนักข้อขึ้น

CASE 5

เผลอโทษตัวเองเป็นประจำ

มักมองไม่เห็นความสำเร็จบางอย่างของตัวเอง

เวลาทำงานพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ คนเราจะมีวิธีจัดการกับความรู้สึกที่ต่างกัน การค้นหาสาเหตุของความผิดพลาด เพื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นเป็นสิ่งสำคัญก็จริง แต่ถ้ารู้สึกผิดมากเกินไปจนเอาแต่โทษตัวเอง ก็จะเป็นทุกข์เกินกว่าที่ควรจะเป็น การมองทุกอย่างเป็นความผิดของตัวเองแบบนี้ จะทำให้จริงจังแม้กระทั่งกับความผิดพลาดเล็ก ๆ และเอาแต่กดดันตัวเอง

การคิดว่าควรทำจะทำให้มุมมองแคบลง ที่โทษตัวเองไปหมดทุกเรื่องเป็นเพราะโดนความคิดที่ว่า ควรทำครอบงำจนหลวงคิดไปว่า คำตอบมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น แต่ถ้าพิจารณาทุกเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ก็จะพบว่าแทบไม่มีเรื่องไหนเลยที่มีคำตอบเดียว การทุ่มเทให้กับงานอย่างสุดกำลังไม่ใช่เรื่องผิด แต่การทุ่มเทแบบพอประมาณก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน ทางที่ดีอย่าประเมินตัวเองทั้งที่โดนความคิดที่ว่า ควรทำครอบงำอยู่เลย ไม่อย่างนั้นจะมีคำตอบที่ถูกต้องเพียงหนึ่งเดียว สุดท้ายต่อให้ทำผลลัพธ์ได้ดีแค่ไหนก็คงไม่พอใจสักที

CASE 6

ไม่ได้ทำเรื่องที่อยากทำสักที

เติมพลังแล้วเตรียมลงมือ

มีเรื่องที่อยากทำเต็มไปหมด แต่พอมีเวลาหน่อยก็เอาแต่นอนกลิ้งอยู่บ้าน ไม่ว่าใครก็ต้องเคยเป็นแบบนี้กันทั้งนั้น มีเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ลงมือทำสิ่งที่อยากทำมาแนะนำ นั่นคือการหากลเม็ดที่ทำให้ลงมือทำได้ทันทีเตรียมไว้นั่นเอง สำหรับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน วิธีที่มีประสิทธิภาพคือ การจัดตารางไปเลยว่าจะทำตอนไหน

เวลาที่ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำ ลองมองตัวเองดูว่าพักผ่อนเพียงพอหรือเปล่า เพราะถ้าร่างกายและจิตใจไร้เรี่ยวแรง ก็เป็นธรรมดาที่จะไม่มีกะจิตกะใจทำอะไร ในเวลาแบบนั้นให้วางสิ่งที่อยากทำลงก่อน แล้วหันมาให้ความสำคัญกับการหยุดพักเติมพลังเป็นอันดับแรก การหยุดพักในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการนอนเล่น แต่กลับคิดเรื่องงานจนร้อนรน สิ่งสำคัญคือการพักใจต่างหาก มาเริ่มจากค้นหาวิธีพักที่เหมาะกับตัวเองดีกว่า

CASE 7

สลัดความผิดพลาดออกจากหัวไม่ได้

อย่าลืมหันไปมองสิ่งที่ทำได้

คนที่เอาแต่สนใจจุดที่ไม่ดี จะกลายเป็นพวกชอบความสมบูรณ์แบบ และเริ่มโดนความคิดที่ว่าควรทำต้องทำ หรือควรเป็นผูกมัด พอมีสิ่งที่ทำได้ไม่ค่อยดีก็เลยท้อแท้ และติดอยู่ในวงจรอุบาทว์

สนใจเรื่องอื่นนอกจากความผิดพลาดบ้าง สิ่งสำคัญคือการมองหาเรื่องที่ได้คะแนนสูงกว่าแม้เพียงเรื่องเดียวก็ยังดี ที่ไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากความรู้สึกผิด และความท้อแท้ได้ก็เป็นเพราะเอาแต่สนใจความผิดพลาดนั่นเอง อันดับแรกให้ลองเติมพอจะทำเรื่องนี้ได้บ้าง เข้าไปในจิตใจที่อัดแน่นไปด้วย ที่ทำพลาดและไม่ได้เรื่อง เพียงเท่านี้ก็จะสนใจความผิดพลาดน้อยลง และมีจิตใจที่ปลอดโปร่งขึ้นมาบ้าง

เวลาที่อะไร ๆ ติดขัดแล้วต้องมานั่งรู้สึกผิดอยู่คนเดียว ขอให้มองหาเรื่องที่จะได้คะแนนสูงกว่านั้นหน่อย แล้วเรื่องที่ทำได้ดีจะช่วยดึงความสนใจออกจากความผิดพลาดให้เอง บางครั้งก่อนจะรู้สึกผิด อาจรู้สึกช็อคเพราะความผิดพลาด จนสลัดมันออกจากหัวไม่หลุด การที่จิตใจทำงานแบบนี้คือ ปฏิกิริยาตอบสนองตามธรรมชาติ ที่ไม่ว่าใคร ๆ ก็เป็นเหมือนกัน การพยายามข่มกลั้นความรู้สึกเอาไว้ รังแต่จะยืดเวลาช็อคให้นานขึ้นเท่านั้น ความเศร้าคือสิ่งจำเป็นที่ทำให้ตระหนักได้ว่าต้องปรับตัว ขอแค่เข้าใจเรื่องนี้ก็จะเลิกหวั่นไหว หรือเลิกเป็นทุกข์กับปฏิกิริยาของตัวเอง

CASE 8

รู้สึกหวั่นป่วนเพราะคลื่นลมแห่งอารมณ์

อย่าปฏิเสธการมีอยู่ของคลื่นลม มาลอยตัวบนนั้นกันเถอะ

เวลาคลื่นลมแห่งอารมณ์ปรากฏตัว ถ้าควบคุมมันได้จะดีที่สุด แต่การควบคุมนั้นมีขีดจำกัดอยู่ เหตุผลเป็นเพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นได้ ด้วยความคิดหรือเจตนาของตัวเอง สิ่งที่มีประโยชน์ต่อการจัดการอารมณ์คือ การทำความเข้าใจตัวเอง ตอนที่อารมณ์ดีและตัวเองตอนที่อารมณ์ไม่ดี เพื่อการนั้นมาเขียนความรู้สึก หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์

ไม่ว่าจะดื่มกาแฟแสนอร่อย กอดสัตว์เลี้ยง หรือไปสวนสาธารณะที่ชอบ ขอให้มองว่าสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้สบายใจเป็นเครื่องมือ แล้วหาเครื่องมือหลาย ๆ อย่างมาเก็บไว้ในกล่องเครื่องมือที่เรียกว่า สมอง เมื่อเจอปัญหาจะได้กลับมาเป็นตัวเองที่อารมณ์ดีได้อย่างเร็วที่สุด

ข้อควรระวังเวลาเลือกเครื่องมือเครื่องมือ จะเป็นอะไรก็ได้ แต่มีข้อควรระวังเล็กน้อยในการเลือกอยู่เหมือนกัน เช่น ไม่ควรเลือกใช้แอคเคารนต์ลับที่ไม่ระบุตัวตน มาเขียนคำหยาบลงโซเชียล เพราะจะรู้สึกสะใจได้ชั่วคราว แล้วถ้าเกิดมีคนมาวิจารณ์ว่าร้าย จิตใจก็จะบอบช้ำ แล้วกลับไปเป็นตัวเองตอนที่อารมณ์ไม่ดีอีกครั้ง ดังนั้น เวลาเลือกเครื่องมือให้มองในระยะยาวแทนจะดีกว่า สิ่งสำคัญคือการคิดว่าเครื่องมือนั้น จะช่วยจัดการจิตใจที่ปั่นป่วน ให้กลับมาปกติได้หรือเปล่า ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงเครื่องมือ ที่มีโอกาสจะทำร้ายตัวเองเมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง

CASE 9

เผลอดื่มหนักตลอด

ใช้สภาพแวดล้อมเป็นเกราะป้องกัน

เวลาดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะรู้สึกล่องลอยจนลืมเรื่องแย่ ๆ ไปชั่วขณะ พอไม่หยุดดื่มร่างกายก็เลยมีภูมิต้านทานต่อแอลกอฮอล์ จนดื่มหนักขึ้นโดยไม่รู้ตัว กล่าวกันว่าเหล้าเป็นยาสารพัดโรค แต่นั่นหมายถึงการดื่มอย่างพอเหมาะ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องไปตรวจก็รู้ได้เลยว่า มีปัญหาติดเหล้า ทั้งที่จริง ๆ แล้วถ้ารู้ปริมาณที่เหมาะสมกับตัวเอง ก็ป้องกันปัญหาได้ไม่ยากเลย

ปกติแล้วตอนดื่มเหล้าคงไม่ได้คิดว่าดื่มไปทำไมสักเท่าไหร่ แต่หากทำได้ก็อยากให้ลองหยุดคิดดูก่อน ถ้าดื่มเพื่อคลายเหงา ดื่มให้หายเหนื่อย หรือดื่มเพื่อบรรเทาความโกรธ ก็น่าจะต้องระวังกันหน่อย แล้วแอลกอฮอล์ทำให้ความทุกข์เบาบางลงได้แค่ชั่วคราวเท่านั้น พอสร่างเมาก็จะกลับมาทุกข์อีกอยู่ดี หลังจากนั้นยังจะดื่มเพื่อบรรเทาทุกข์เป็นวงจรซ้ำอีก สุดท้ายก็จะดื่มหนักเกินจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ

CASE 10

ไม่สบายใจตลอดเวลา

มาวิเคราะห์ส่วนประกอบของความไม่สบายใจกันเถอะ

ความไม่สบายใจเป็นสิ่งที่จัดการได้ยากพอตัว เพราะพอไม่รู้สาเหตุที่ชัดเจน ก็จะไม่รู้วิธีจัดการที่เหมาะสม และสื่อสารกับอีกฝ่ายไม่ถูก ในเวลาแบบนั้น คนส่วนใหญ่มักหนีปัญหาด้วยการเมินความรู้สึก เพราะว่าถึงทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้หายไปไหน มีแต่จะสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ เท่านั้น

วิธีที่ช่วยให้หลุดพ้นจากความไม่สบายใจคือ การมองส่วนประกอบของมันให้ออก ค้นหาความรู้สึกที่ใกล้กับความรู้สึกของตัวเองในตอนนี้ แล้วเขียนมันออกมาดู พอทำแบบนี้แล้วก็จะได้รู้ส่วนประกอบของความไม่สบายใจ จะช่วยให้มองตัวเองในมุมมองของคนทั่วไปได้ ที่สำคัญคือยังสามารถคิดหาสาเหตุ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกนั้นได้ด้วย

หลังจากทำความเข้าใจส่วนประกอบของความไม่สบายใจแล้ว แนะนำให้สื่อสารความรู้สึกนั้นให้อีกฝ่ายรับรู้ แน่นอนว่าถ้าไม่อยากบอกหรือไม่กล้าบอกก็ไม่ต้องฝืนพูด ให้คิดอยู่เสมอว่าจะบอกเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ตอนนี้เอาไว้ก่อน เพื่อให้รับรู้ว่าคนที่มีสิทธิ์ในการควบคุมความรู้สึกนี้คือ ตัวเองไม่ใช่อีกฝ่าย

CASE 11

เผลอคิดไปว่ายังไงก็ไม่ได้เรื่องหรอก

สนใจปัจจุบันแทนอดีตที่เคยทำพลาด

เวลาที่รู้สึกแย่ เพราะโดนความทรงจำในแง่ลบฉุดรั้งเอาไว้ ไม่จำเป็นต้องฝืนคิดในแง่บวกก็ได้ สิ่งสำคัญที่ทำให้ไม่ยึดติดกับประสบการณ์ในอดีตคือ การสนใจปัจจุบัน โดยคิดว่าจะทำสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ ขอแค่หันไปสนใจกับสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ ก็จะไม่โดนอดีตฉุดรั้ง และก้าวไปข้างหน้าได้ในที่สุด

มีข้อควรระวังอย่างหนึ่ง เวลาเริ่มทำสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ นั่นคืออย่าตั้งเป้าไว้ที่ 100 คะแนนเต็ม ถ้าตั้งเป้าไว้ที่ 100 คะแนนแล้วทำคะแนนได้ไม่ถึง ก็มีแต่ต้องเผชิญหน้ากับตัวเองที่ทำได้ไม่ดี ถึงจะเป็น 50 คะแนน แต่มันก็มีคุณค่ามากพอ ที่จะช่วยให้ก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้าได้ แม้จะแค่ก้าวเดียวก็ตาม แทนที่จะทิ้งมันไปค่อย ๆ สั่งสมคะแนนไปเรื่อย ๆ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ในการท้าทายสิ่งใหม่ ๆ ดีกว่า

CASE 12

สลัดความท้อแท้ไม่หลุด

แค่รู้จักตัวเองเวลาทุกข์ใจ ก็เท่ากับก้าวไปข้างหน้า 1 ก้าวแล้ว

ความโกรธหรือความกลัวเป็นอารมณ์ ที่ไม่ซับซ้อนและเกิดขึ้นชั่ววูบ ในทางกลับกัน ความท้อแท้จะเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากคิดนู่นคิดนี่แล้ว เช่น ตอนที่พบว่าทำงานพลาดจะไม่ได้ท้อแท้ขึ้นมาทันที โดยทั่วไปสิ่งที่รู้สึกแรกสุดจะเป็นความตกใจ หรือความกังวลมากกว่า ส่วนอารมณ์ความรู้สึกอื่น ๆ นอกเหนือจากนั้น มักจะเกิดขึ้นตามมาหลังจากที่คิดวนเรื่องที่ทำพลาด แม้จุดเริ่มต้นจะเป็นอารมณ์ที่ไม่ซับซ้อน แต่หลังจากที่จมอยู่กับมันก็จะพบว่า มีอารมณ์มากมายประดังประเดเข้ามา จนไม่รู้ว่าตัวเองรู้สึกแบบไหนอยู่กันแน่

ในการผ่อนคลายจิตใจ การรู้จักปฏิกิริยาของตัวเอง ในตอนที่มีความรู้สึกแง่ลบเป็นสิ่งสำคัญ วิธีนี้อาจทำให้รู้สึกแย่ก็จริง แต่ขอให้ลองนึกถึงสถานการณ์ที่ไม่ชอบใจในอดีต แล้วเขียนออกมาดูว่าตอนนั้นรู้สึกอย่างไร และอยู่ในสภาพแบบไหน เมื่ออารมณ์สั่นไหวอย่างรุนแรง บางทีร่างกายก็แสดงปฏิกิริยาตอบสนองในแบบที่คาดไม่ถึง ให้เขียนอาการที่ร่างกายและจิตใจ ที่แสดงออกมาอย่างละเอียด

จริงอยู่ว่าการรู้จักปฏิกิริยาของตัวเอง ไม่ได้ช่วยขจัดความทุกข์ใจโดยตรง แต่อย่างน้อยก็สามารถคาดการณ์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์คล้าย ๆ เดิม และหาวิธีรับมือได้อย่างทันท่วงที ถ้าคาดการณ์ปฏิกิริยาตอบสนองของตัวเองได้ ความกังวลหรือความตกใจก็จะลดน้อยลง ก็จะควบคุมการกระทำของตัวเองได้ง่ายขึ้น

CASE 13

ร้อนรนจนใจไม่สงบ

จัดระเบียบสิ่งที่ต้องทำแล้วกำหนดลำดับความสำคัญ

ถ้ารู้สึกร้อนรน ทั้งที่ไม่ได้มีเรื่องต้องทำเยอะแยะ แสดงว่าอาจกำหนดลำดับความสำคัญไม่เก่ง โดยปกติเวลานำเรื่องที่ควรทำก่อนไปทำทีหลัง ถ้าสะสางเรื่องสำคัญไปเรียบร้อยแล้ว ก็จะจัดการเรื่องอื่น ๆ ได้อย่างสบายใจ

ถ้ายิ่งร้อนรนก็ต้องยิ่งวางแผนอย่างใจเย็นก่อนจะลงมือทำ ซึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพก็คือ การเขียนรายการสิ่งที่ต้องทำ เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำลงสมุดโน้ต และใช้เวลาทบทวนประมาณ 5 นาทีทุกเช้า เพื่อให้มองเห็นภาพของสิ่งที่ต้องทำมากขึ้น แน่นอนว่าวิธีนี้ไม่เพียงช่วยจัดระเบียบการทำงาน แต่ยังช่วยให้จิตใจสงบลงด้วย นอกจากนี้ การทำความเข้าใจตัวเองว่า มักร้อนรนในสถานการณ์แบบไหน และหาทางรับมือเตรียมไว้ ก็เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเช่นกัน เพราะถ้าเตรียมตัวไว้ก่อน เวลาที่ร้อนรนก็จะรู้ได้ทันทีว่าควรทำอะไร

CASE 14

กังวลอย่างบอกไม่ถูกอยู่ตลอด

เพ่งมองตัวเองที่ตั้งใจใช้ชีวิต

ความกังวลคือกลไกการป้องกันตัวเองของมนุษย์อย่างหนึ่ง ที่ช่วยปกป้องจากอันตรายก็ได้ ที่สำคัญเนื่องจากความกังวลคือสิ่งจำเป็นเพื่อเอาชีวิตรอด การรู้สึกกังวลจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า อยากใช้ชีวิตในปัจจุบันให้ดีพอ คิดแบบนี้แล้วความกังวลก็กลายเป็นอารมณ์ที่ขาดไปไม่ได้เลย

การหันมาสนใจกิจวัตรประจำวัน เป็นวิธีที่ช่วยจัดการกับความกังวลอย่างชาญฉลาด ขอให้ลองทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำอยู่อีกครั้ง โดยปกติเวลากังวลมักจะจินตนาการไปในทางที่ไม่ดีโดยไม่รู้ตัว ซึ่งจริง ๆ แล้วภาพจินตนาการเหล่านั้นก็มีประโยชน์อยู่เหมือนกัน นั่นคือช่วยปกป้องจิตใจให้ไม่ช็อกมากเวลาผิดพลาดขึ้นมาจริง ๆ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมด้วยว่าหากทำแบบนั้นมากเกินไป จิตใจก็อาจเต็มไปด้วยความทุกข์ใจเสียก่อน

ตอนที่กังวลว่าเรื่องราวจะไม่ราบรื่น ให้ลองคิดเผื่อในกรณีที่เลวร้าย ให้ลองวางแผนรับมือ แม้ว่าสุดท้ายแล้วมันอาจเป็นการเตรียมตัวที่เสียเวลาเปล่า แต่อย่างน้อยการทุ่มเททำสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้ ก็ช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาไปกับความกังวลสักเท่าไหร่

บทที่ 2

ความเครียดที่เกิดจากคำพูด

และการกระทำของผู้อื่น

CASE 15

เผลอเปรียบเทียบกับคนอื่นจนได้

ให้คำแนะนำกับเพื่อนที่ชื่อว่าตัวเอง

ไม่ว่าใครก็มีสิ่งที่ทำได้ และสิ่งที่ทำไม่ได้ด้วยกันทั้งนั้น การหยิบยกบางข้อมาเปรียบเทียบ แล้วหาคนแพ้หรือชนะ มีแต่จะทำให้รู้สึกกดดันเสียเปล่า ๆ ถ้าจะชนะแค่ช่วงหนึ่งแล้วต้องพ่ายแพ้ในวันข้างหน้า สู้ไม่แข่งเลยตั้งแต่แรกน่าจะดีกว่า รู้ทั้งรู้ว่ามันไม่ดีแต่ก็เลิกเปรียบเทียบไม่ได้ คนเราจะชอบคิดลบ เมื่อมองเรื่องราวต่าง ๆ ในมุมมองของตัวเอง ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาในเวลาแบบนี้ก็คือ การเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง โดยคิดว่าถ้าต้องให้คำแนะนำคนอื่น จะแนะนำว่าอะไร

แต่ถึงจะบอกว่าให้คำแนะนำคนอื่น สิ่งที่ผุดขึ้นมาในหัวก็ยังเป็นความคิดของตัวเองอยู่ดี บางครั้งทฤษฎีที่ถูกต้อง หรือคำพูดแง่บวกที่คนอื่นพูดให้ฟัง ก็อาจทำให้ขุ่นเคืองใจ ดังนั้น ถ้าใช้คำพูดของตัวเอง ร่างกายก็น่าจะซึมซับมันเข้าไปได้ง่ายกว่า อันที่จริงถึงจะไม่ทำตามคำแนะนำที่นึกขึ้นมาได้ก็ไม่เป็นไร เพราะจุดประสงค์ที่แท้จริงคือ การค้นหาแง่มุมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่แง่ลบจากภายในตัว แค่ให้คำแนะนำตัวเองได้ก็เท่ากับว่าก้าวไปข้างหน้าหนึ่งก้าวแล้ว

CASE 16

หัวหน้าเป็นคนแรง

ไม่ต้องแบกรับความหงุดหงิดของหัวหน้าก็ได้

อารมณ์ที่แสดงออกผ่านคำพูดและพฤติกรรม ถ้าเทียบกันก็จะพบว่า คำพูดที่เผยให้เห็นความรู้สึกแง่ลบ จะบั่นทอนจิตใจของผู้ฟังมากกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หัวหน้าปรับปรุงนิสัย แต่น่าเสียดายที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้อื่นไม่ได้ง่าย ๆ ทางลัดสำหรับบรรเทาความทุกข์ใจ ในเวลาแบบนี้ก็คือ การเปลี่ยนวิธีรับฟังของตัวเองแทน

พื้นฐานคือให้ยอมรับข้อเท็จจริงที่ว่า ทำพลาดแล้ว มองว่าการที่รู้สึกหงุดหงิดกับข้อเท็จจริงนั้นเป็นปัญหาของหัวหน้า หัวหน้าต้องเป็นคนจัดการกับความหงุดหงิดนั้นเอง การสาดอารมณ์ใส่คนอื่นไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องอยู่แล้ว ฝ่ายที่โดนใส่อารมณ์ไม่จำเป็นต้องรับความหงุดหงิดเข้ามา

อย่างไรก็ตาม การรักษาความเยือกเย็นไว้ ทั้งที่โดนสาดคำพูดรุนแรงใส่เป็นเรื่องยากพอควร เพื่อให้ข้ามผ่านสถานการณ์แบบนั้นไปได้ก็คือ กลยุทธ์มนุษย์ต่างดาว เมื่ออยู่ต่อหน้าคนที่ชอบพูดจารุนแรง ให้มองว่าอีกฝ่ายเป็นมนุษย์ต่างดาวดู แล้วเราเป็นมนุษย์โลกจึงไม่เข้าใจคำพูดของเขา แค่คิดแบบนี้ก็ไม่ต้องรู้สึกเครียดกับคำพูดของอีกฝ่ายแล้ว

ถ้าไม่สบายใจกับคำพูดของใครบางคน ให้ลองคิดดูว่าเขาอาจเป็นมนุษย์ต่างดาวก็ได้ แล้วแยกความรู้สึกของเขาออกไป ทางที่ดีอย่าเอาใจไปผูกไว้กับความรู้สึกของอีกฝ่ายเลย

CASE 17

ชอบคิดว่าทำไมเขาถึงทำไม่ได้

ปล่อยวางจากมาตรฐานของตัวเองบ้าง

ต่อให้ทำงานแบบเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าคนอื่น จะทำได้เหมือนกับที่ตัวเราเองทำได้เสมอไป ทั้งที่คนเราย่อมแตกต่างกันเป็นธรรมดา แต่กลับคิดเองเออเองว่า คนที่ทำงานแบบเดียวกัน และใช้ภาษาเดียวกัน จะต้องคิดและทำแบบเดียวกัน พยายามยัดเยียดให้คนอื่นทำตามกฎของตัวเอง และตำหนิคนที่ไม่ปฏิบัติตามอยู่ในใจ การยัดเยียดให้คนอื่นทำ สิ่งที่ควรทำตามมาตรฐานของตัวเอง เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลเลยแม้แต่นิดเดียว

ต่อให้เป็นงานเดียวกันก็ต้องมีทั้งคนที่ถนัดและไม่ถนัดอยู่แล้ว อีกทั้งความถี่ที่ทำและการให้ความสำคัญกับงานเอง ก็คงแตกต่างกันไปตามแต่ละคนด้วย สิ่งที่ควรทำเป็นการทำความเข้าใจเขาต่างหาก โดยเปลี่ยนไปเรียนรู้ความสามารถ ประสบการณ์ หรือแนวคิดของอีกฝ่าย แล้วปรับสิ่งที่อยากให้เขาทำ กับสิ่งที่เขาทำได้ให้เหมาะสมกันแทน เพียงเท่านี้ทางออกที่ได้ก็จะเป็นสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ โอกาสที่จะเกิดการปะทะกันก็จะลดลงด้วย

CASE 18

หงุดหงิดที่คุยกันไม่รู้เรื่อง

โลกของเรากับโลกของคนอื่นอาจมีกฎเกณฑ์ต่างกัน

การเข้าใจคนละเรื่อง มีสาเหตุมาจากการมีความรู้ เกี่ยวกับเรื่องที่สนทนาไม่ตรงกัน จริงอยู่ที่เวลาสื่อสารกันไม่รู้เรื่อง คงอดหงุดหงิดอีกฝ่ายไม่ได้ แต่ถ้าเอาแต่ยึดติดว่าใครเป็นฝ่ายถูก ความสัมพันธ์ก็ไม่มีทางราบรื่น ตอนที่รู้สึกว่าคุยกันไม่เข้าใจบ่อย ๆ ให้ลองใส่ใจที่จะคุยเรื่องที่มีความรู้ตรงกันดูบ้าง การปรับแนวคิดหรือความรู้ของตัวเองให้เข้ากับอีกฝ่าย จะช่วยให้คุยกันรู้เรื่องง่ายขึ้น การจะคุยกันให้รู้เรื่อง จำเป็นต้องใช้ภาษากลาง ระหว่างโลกของเรากับโลกของเขา

การจะเข้าใจโลกของเขาได้ จำเป็นจะต้องถามออกไปตรง ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุด หากมีความคิดไม่ตรงกัน ก็จะได้ทำการปรับแก้ตั้งแต่เนิ่น ๆ การทำงานหรือการเตรียมตัวจะได้คืบหน้าไปโดยไม่เสียเวลาเปล่า ปกติต้องทำแบบนี้ นี่มันเรื่องธรรมดานะ ความคิดแบบนี้คือสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังก้าวเข้าสู่โลกของตัวเอง ในเวลาแบบนี้ขอให้ถอยห่างออกมาแล้วพิจารณาว่า เรื่องธรรมดาในโลกของคนอื่นเป็นอย่างไร

CASE 19

ปะทะกับคนอื่นเพราะความหัวแข็ง

ลองคิดดูว่าเราผิดแล้วทบทวนข้อเท็จจริงอีกครั้ง

ไม่ว่าใครต่างก็เคยเข้าใจผิด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วตัวเองจะเป็นฝ่ายผิดเองเสียมากกว่า แต่ที่ชอบไปโทษอีกฝ่ายแทน ก็เป็นเพราะหลงเชื่อว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูกนั่นเอง ต่อให้เป็นปัญหาเดียวกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีวิธีรับมือเหมือนกันเสมอไป

การมีประสบการณ์แย่ ๆ ในอดีตอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คิดไปเองว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก เพราะหากเจอสถานการณ์ที่ทำให้ไม่สบายใจอีก ก็จะจินตนาการในแง่ลบมากเกินความจำเป็น การรู้สึกทุกข์ใจเมื่อนึกถึงประสบการณ์ในอดีตคือ ปฏิกิริยาตอบสนองทางธรรมชาติ จริงอยู่ว่าไม่จำเป็นต้องอดกลั้นมันเอาไว้ แต่ถ้าขาดอารมณ์นั้นไปตรง ๆ ก็อาจเป็นการทำร้ายจิตใจของอีกฝ่ายและตัวเองได้ ทางที่ดีของให้คิดไว้เสมอว่า จะไม่พูดสิ่งที่รู้สึกออกไปตรง ๆ เพราะส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกที่ทำให้ทุกข์ใจมาก เกิดจากการจินตนาการไปเอง

CASE 20

รู้สึกไร้ความสามารถเพราะช่วยเพื่อนไม่ได้

ทำสิ่งที่ทำได้แน่นอนเพื่อช่วยอีกฝ่าย

เวลาที่เพื่อนสนิททุกข์ใจกับปัญหาชีวิต ย่อมอยากช่วยเหลือหรืออยากทำอะไรให้เป็นธรรมดา แต่บางครั้งปัญหาหรือสภาพจิตใจของเพื่อน ก็อาจหนักเกินกว่าที่จะช่วยไหว สิ่งที่ทำได้ในฐานะเพื่อน มีแค่การปลอบใจและให้กำลังใจ ส่วนปัญหานั้นที่ทำให้เพื่อนซึมเศร้ารุนแรง หรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ก็ควรให้ไปปรึกษาแพทย์ หรือผู้ให้คำปรึกษาที่เชี่ยวชาญจะดีกว่า

สิ่งสำคัญสำหรับฝ่ายรับฟังปัญหาคือ การเลือกจัดการปัญหาอย่างเหมาะสม เมื่อรู้สึกเจ็บใจว่าเพื่อนอุตส่าห์เชื่อใจ เลยมาขอให้ช่วยแต่กลับช่วยอะไรไม่ได้เลย แนะนำให้เริ่มจากการจัดการความรู้สึกของตัวเองก่อน ถ้าช่วยแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ทุกเรื่องก็คงดี แต่ในความเป็นจริงแล้วนั่นเป็นเรื่องที่ยากมาก มนุษย์หนึ่งคนมีความสามารถที่จำกัด หากทำได้ขอให้จัดการความรู้สึกของตัวเองก่อน คิดว่าจะทำอะไรอยู่เสมอ เพราะเวลาที่รู้สึกอยากช่วย หรืออยากทำประโยชน์ให้คนอื่นมากเกินไป อาจเลือกวิธีรับมือแบบสุดโต่ง จนทำให้ทุกข์ใจกันทั้งสองฝ่าย

เมื่อจัดการความรู้สึกได้ระดับหนึ่งแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลาค้นหาสิ่งที่ตัวเองทำได้ หรือสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ในตอนนั้น โดยให้เริ่มจากการคาดการณ์ กรณีที่ดีที่สุดและกรณีที่แย่ที่สุดว่าเป็นอย่างไร ในกรณีที่ดีที่สุดจะกลายเป็นฮีโร่ ที่ช่วยเพื่อนแก้ปัญหาได้อย่างฉับไว แต่ในกรณีที่แย่ที่สุดจะกลายเป็นคนเย็นชา ที่ช่วยอะไรเพื่อนไม่ได้เลย การคาดการณ์ทั้งสองกรณีเอาไว้คือ วิธีที่ช่วยหาทางออกที่เป็นไปได้ เพราะสิ่งที่ทำได้จริงคือ สิ่งที่อยู่ตรงกลางระหว่างดีที่สุดกับแย่ที่สุด ลองเลือกสิ่งที่น่าจะทำได้ในตอนนี้ จากสิ่งที่อยู่ระหว่างดีที่สุดกับแย่ที่สุดดู

CASE 21

ไม่ชอบโดนข่ม

คนที่ประเมินคุณค่าของเราได้มีแต่เราเท่านั้น

การข่มคือการกระทำที่กดดันคนอื่นต่ำลง เพื่อยกตัวเองให้สูงขึ้น ถ้าคนคนนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่เหนือกว่าคนอื่นจริง ๆ เขาก็คงไม่ต้องกดคนอื่นให้ต่ำลง พูดง่าย ๆ ก็คือ คนที่ชอบข่มคนอื่น เป็นเพราะเขาไม่มั่นใจและไม่พอใจในชีวิตของตัวเองนั่นเอง ไม่ว่าใครก็คงไม่ชอบใจที่โดนพูดข่มกัน ความจริงแล้วไม่จำเป็นต้องไปใส่ใจคำพูดหรือพฤติกรรม เพราะคนที่มีปัญหาก็คือคนที่เป็นฝ่ายข่มต่างหาก พูดง่าย ๆ ว่าคนที่จะต้องเผชิญหน้ากับตัวเอง และจัดการความรู้สึกของตัวเองก็คือเขา การที่ชอบข่มคนอื่นแสดงให้เห็นว่า เขายังไม่พอใจในตัวเอง ในเมื่อเป็นปัญหาของเขา ก็ปล่อยผ่านไปจะดีกว่า แค่คิดว่าช่างเถอะ

ต่อให้สมองจะเข้าใจเหตุผล ก็ใช่ว่าความรู้สึกจะเข้าใจตาม บางครั้งก็อดรู้สึกโมโห หรือเสียใจกับคำพูดที่เสียมารยาทของคนอื่นไม่ได้ ในเวลาแบบนั้น ขอให้คิดว่าเรื่องที่เขาดูถูก เป็นเพียงส่วนเล็ก ๆ ของตัวเรา อีกฝ่ายก็แค่พูดทับถม เพราะคิดไปเองว่าเขาเหนือกว่า ไม่ต้องไปใส่ใจคำพูดที่ไร้เหตุผลแบบนั้น ไม่ว่าคนอื่นจะพูดอะไร คนที่ประเมินค่าของเราได้ ก็มีแต่เราเองเท่านั้น อย่าเสียเวลาอันมีค่าไปกับคำพูดของคนที่ชอบข่มคนอื่นเลย

CASE 22

สอนรุ่นน้องไม่ค่อยเก่ง

การเฝ้ามองอยู่ห่าง ๆ อาจทำให้เขาเติบโตได้ดีกว่า

คำว่า Enabling เป็นคำที่ใช้กันตามสถานบำบัดต่าง ๆ เช่น สถานบำบัดยาเสพติด ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมที่ตั้งใจช่วยเหลือ แต่กลับกลายเป็นการส่งเสริมให้อีกฝ่ายทำตัวมีปัญหาแทน ถ้าไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น ก็ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มจากตระหนักก่อนว่า คนที่ทำให้ไม่รู้สึกเดือดร้อนเวลาทำผิดพลาดก็คือตัวเอง และแทนที่จะรับภาระแทนเขา ควรปล่อยให้เขาทำงานด้วยตัวเองมากกว่า

ความกังวลที่ว่าอาจโดนต่อว่าก็ได้ ลำบากใจ คือความรู้สึกของอีกฝ่าย จึงไม่จำเป็นต้องแบบรับความรู้สึกนั้นแทนเขา เวลาที่รู้สึกว่าอยากช่วยอะไรสักอย่าง ขอให้คิดก่อนว่าทำแบบนี้จะส่งผลดีต่ออีกฝ่ายจริง ๆ หรือเปล่า ที่สำคัญคือระวังอย่าใช้วิธีที่จะลำบากตัวเองในภายหลังด้วย

CASE 23

กังวลที่ไม่เหมือนคนอื่น

ต่อให้อยากเหมือนคนอื่นก็คงไม่ใช่ทุกเรื่องใช่ไหม

ทั้งที่แต่ละคนย่อมมีแนวคิด ความชอบ และรูปแบบการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ในสังคมกลับมีค่านิยมที่บอกว่า คนส่วนมากถูกต้องอยู่เสียอย่างนั้น เรียกได้ว่าไม่แปลกเลยที่จะรู้สึกอึดอัด เมื่อคิดไม่เหมือนคนส่วนมาก ทว่าต่อให้เล่นเกมเดียวกัน ถือกระเป๋าแบรนด์เดียวกัน หรือชื่นชอบดาราคนเดียวกัน ก็เป็นคนละคนกันอยู่ดี ไม่มีทางที่จะเหมือนคนส่วนมากไปหมดทุกเรื่องได้

สิ่งที่แนะนำให้ทำเมื่อกังวลเรื่องการอยากเหมือนคนอื่นก็คือ การแยกเรื่องที่อยากเหมือนคนอื่น กับเรื่องที่ไม่ต้องเหมือนคนอื่นก็ได้ออกจากกัน โดยขอให้ใช้ความรู้สึกเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ขอแค่แบ่งประเภทเรื่องราวออกเป็นแบบนี้ ก็จะจำกัดได้ว่าอยากเหมือนคนอื่นในเรื่องไหน และมากแค่ไหน

สิ่งที่ทำให้มนุษย์กังวลมากที่สุดก็คือ ความไม่ชัดเจน ด้วยเหตุนี้การอยากเหมือนคนอื่น โดยที่ไม่รู้เป้าหมายแน่ชัด จึงทำให้เป็นกังวล ถ้าอยากให้มันเบาบางลง ก็จำเป็นต้องทำให้เป้าหมายของตัวเองชัดเจนขึ้น ซึ่งสามารถทำได้โดยการจำกัด เรื่องที่อยากเหมือนคนอื่นให้แคบลงนั่นเอง สิ่งสำคัญคือการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วเดินหน้าไปสู่เป้าหมายนั้น แต่ถึงจะผิดพลาดบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะอย่างน้อยครั้งหน้าก็รู้แล้วว่า วิธีไหนที่ได้ผลบ้าง

CASE 24

ไม่กล้าปฏิเสธเวลาถูกขอร้อง

ขีดเส้นที่ตัวเองยอมรับได้แล้วใจจะเบาขึ้น

ถ้าปฏิเสธแล้วจะถูกมองว่าเป็นคนนิสัยไม่ดี เพราะคิดแบบนี้ก็เลยไม่กล้าปฏิเสธ และต้องตอบรับคำขอร้องของคนอื่นจนใจรับไม่ไหว ประเด็นคือถ้าปฏิเสธแล้ว จะเป็นคนนิสัยไม่ดีจริง ๆ หรือ เมื่อถูกขอร้องให้ลองเปลี่ยนไปมองในมุมของฝ่ายขอร้องดู ย่อมเข้าใจว่าที่ถูกปฏิเสธ เป็นเพราะอีกฝ่ายเองก็ยุ่งเหมือนกัน จะบอกว่าปฏิเสธเท่ากับเป็นคนนิสัยไม่ดี เป็นสิ่งที่คิดไปเองก็ได้

การพยายามทำตามคำขอร้องไม่ใช่เรื่องผิด แต่การช่วยและทุ่มเทมากเกินไป โดยไม่ถามความคาดหวังของอีกฝ่ายก่อน ก็อาจทำให้เหนื่อยจนไม่ไหวได้ ทางที่ดีให้ถามเขาก่อนเสมอว่า ขอร้องโดยคาดหวังเรื่องอะไร มากน้อยแค่ไหน หาเวลาไปถามความคาดหวังของอีกฝ่ายสักหน่อยก็ดี

อย่างไรก็ตาม อาจมีบางครั้งที่พอไปถามความคาดหวังของอีกฝ่ายแล้วพบว่า เป็นเรื่องที่เกินกำลังของตัวเอง เมื่อพิจารณาขอบเขตที่รับไหวดู เพราะต่อให้ยอมช่วยทั้งที่เกินกำลังตัวเอง สุดท้ายก็จะทำให้สำเร็จจนเดือดร้อนกันทั้งคู่อยู่ดี การเข้าใจขอบเขตที่ตัวเองรับไหวอย่างชัดเจน แล้วคุยกับอีกฝ่ายคือวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ และจริงใจไม่ต้องไปคิดว่ามันเป็นการหนี

CASE 25

เลือกได้แค่ 0 หรือไม่ก็ 100

นึกถึงตัวเลือกที่อยู่ตรงกลางระหว่างศูนย์กับ 100 บ้างก็ดี

การมองเขาเป็นคนไม่ดีแค่เพียงครั้งเดียว อาจทำให้มองการกระทำทุกอย่างของเขาผิดไปตลอดเลยก็ได้ เพราะคนเราจะมีนิสัยอย่างหนึ่งที่เรียกว่า การตีความแบบขาวดำอยู่ มันคือการมองเรื่องต่าง ๆ แค่ 2 ขั้ว อย่าง 0 กับ 100 หรือดีกับไม่ดีนั่นเอง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจของตัวเอง จึงขอใช้คำว่านิสัย ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว แต่จริง ๆ ไม่ต้องกังวลกับมันนักก็ได้ นิสัยดังกล่าวก็เหมือนกับการนั่งสั่นขาหรือกอดอก ขอแค่ตั้งใจแก้ไขก็จะค่อย ๆ หยุดเป็นแบบนั้นได้เอง

ตอนที่จะตัดสินสิ่งต่าง ๆ ว่าดีหรือไม่ดี ขอให้เริ่มจากการสังเกตความคิดที่ผุดขึ้นมาในหัว แล้วหาเหตุผลที่ทำให้คิดแบบนั้นก่อน ขอแค่ทำแบบนั้น เหตุผลอื่น ๆ หรือข้อเท็จจริงในอดีต ก็จะฉายภาพเข้ามาในหัวเอง นี่คือวิธีที่ช่วยให้ไม่ยึดติดกับการคิดแบบขาวดำ และสามารถมองเห็นเฉดสี ที่อยู่ระหว่าง 2 สีนั้นได้นั่นเอง การพิจารณาความคิดอย่างละเอียดแบบนี้ จะทำให้เข้าใจว่าตัวเอง มีนิสัยชอบคิดอะไร ซึ่งหากทำติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มตระหนักและสามารถหยุดคิดแบบขาวดำได้

บทที่ 3

ปัญหาในที่ทำงาน

CASE 26

ทุกข์ใจเพราะงานยุ่งเกินไป

พลังงานมีขีดจำกัดควรประหยัดไว้บ้าง

การตั้งใจทำงานคือพื้นฐานของคนวัยทำงาน แน่นอนว่าการมีความรู้สึกรับผิดชอบ และอยากตอบสนองความคาดหวังของคนรอบข้างเป็นสิ่งสำคัญ แต่บางทีถ้ามากเกินไป มันก็อาจส่งผลให้พยายามเกินตัวได้ ทั้งที่รู้สึกว่าทำไม่ไหว แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธ สุดท้ายงานก็เลยกองอยู่แค่คนเดียว จนต้องทำงานหนักแทบตายอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่อยากพยายามต่อไปทั้งที่ทุกข์ใจแบบนั้น ก็ต้องรู้ว่าอะไร ที่เป็นสัญญาณเตือนบอกขีดจำกัด โดยเกณฑ์ในการพิจารณานั้นจะมีอยู่หลายเกณฑ์ด้วยกัน เช่น หากจู่ ๆ ก็น้ำตาไหล โมโห เหงา หรือรู้สึกหมดแรงอยู่เสมอ ก็ให้รู้ไว้เลยว่า สัญญาณอันตรายได้ปรากฏให้เห็นแล้ว

พลังในการทุ่มเททำงานคือ สิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตอย่างไม่ต้องสงสัย ไม่ว่าใครก็อยากเริ่มต้นทุก ๆ เช้าด้วยพลังเต็มหลอด และทำงานอย่างขันแข็งไปจนถึงตอนเย็น ด้วยเหตุนี้ การชาร์จพลังเตรียมไว้ในตอนกลางคืน จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่น่าเสียดายที่มนุษย์ไม่ใช่สมาร์ทโฟน ที่แค่เสียบปลั๊กก็ชาร์จได้โดยไม่มีปัญหา การไปทำงานทั้งที่ยังไม่เต็ม จะทำให้พลังหมดตั้งแต่ช่วงบ่าย ซึ่งหากยังฝืนทำงานต่อไปในสภาพนั้น ไม่เพียงแค่ประสิทธิภาพของงานจะลดลง แต่ร่างกายและจิตใจก็จะอ่อนล้าด้วย

ถ้าไม่อยากให้หมดพลัง ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนรอบข้าง สำหรับคนที่ทุ่มเททำงานมาตลอด การจะไปปรึกษาว่าอยากลดภาระงาน คงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน ในกรณีนี้แนะนำให้ซ้อมบอกความต้องการของตัวเองออกไปอย่างชัดเจนเอาไว้ก่อน เริ่มจากการแต่งคำพูดขึ้นมา ไม่ใช่แค่บอกความต้องการของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องหาเหตุผลมาเสริมด้วย เพราะอีกฝ่ายจะรับฟังหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงอยากทำแบบนั้นนี่แหละ

CASE 27

ปักใจเชื่อว่าเราเป็นฝ่ายถูก

เรื่องราวที่มองเห็นจะแตกต่างกันไปตามมุมมอง

ท่ามกลางผู้คนมากมาย จะมีบางคนที่เติบโตขึ้น โดยที่ไม่เคยตั้งคำถามกับค่านิยมของตัวเองเลย ซึ่งคนที่เป็นแบบนั้น มักจะชอบยึดติดกับมาตรฐานของตัวเองที่ว่า ควรทำจนต้องขัดแย้งกับคนอื่น หรือโดนตีตัวออกห่าง เพราะเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ทว่านี่ไม่ใช่เกมหรือข้อสอบ ที่มีคำตอบถูกผิดอย่างชัดเจน

ชีวิตคนเราไม่ใช่ว่าจะมีคำตอบที่ถูกต้องแค่ข้อเดียว ต่อให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกก็ไม่ได้หมายความว่า คนอื่นเป็นฝ่ายผิด มีหลายครั้งที่ทั้งเราและเขาต่างถูกด้วยกันทั้งคู่ ถึงจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่สิ่งที่เห็นก็ย่อมแตกต่างกันไปตามมุมมอง หรือระยะสายตาอยู่แล้ว

ตัวอย่างเช่น กรณีของปริซึมสามเหลี่ยม ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูปสามเหลี่ยม ถ้ามองจากด้านข้างจะเห็นเป็นรูปสี่เหลี่ยม ดังนั้น อย่าคิดว่าสิ่งที่มองเห็นคือสิ่งที่ถูกต้องอยู่ฝ่ายเดียว เพราะการยอมรับวิธีคิดจากมุมมองอื่นก็สำคัญไม่แพ้กัน

CASE 28

โดนปฏิเสธตัวตนเพราะเรื่องงาน

เขาอาจปฏิเสธแค่ความเห็นเท่านั้น

ถ้าออกความเห็นให้อีกฝ่ายที่มีมุมมองต่างกันฟัง ก็เป็นธรรมดาที่ความเห็นอาจถูกปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธเวลาคุยกันเรื่องงาน ก็เป็นแค่การปฏิเสธความเห็นเท่านั้น มันไม่ใช่การปฏิเสธตัวตน อันที่จริงน่าจะเข้าใจกฎเกณฑ์นี้ดี แต่ที่ยังรู้สึกทุกข์ใจอยู่ อาจเป็นเพราะตีความไปเอง ก็เลยรู้สึกเหมือนถูกปฏิเสธตัวตน และพยายามแก้ต่างให้ตัวเอง หรือนิ่งเงียบไปจนทำลายบรรยากาศ ซึ่งในกรณีที่เลวร้ายมาก ๆ ความมั่นใจในตัวเองก็อาจถึงขั้นหดหายไปจนหมด

ความเห็นต่างจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ ความเห็นเชิงสร้างสรรค์ ที่ช่วยพัฒนาไอเดียและความเห็นเชิงวิจารณ์ที่เอาแต่จับผิด อันดับแรกให้ลองรับฟังทุกความเห็น โดยมองว่าเป็นความเห็นเชิงสร้างสรรค์ทั้งหมดก่อน จากนั้นถ้าฟังแล้วยังรู้สึกตะขิดตะขวางใจ ก็ค่อยพิจารณาว่ามันคือความเห็นเชิงสร้างสรรค์ หรือความเห็นเชิงวิจารณ์กันแน่ หลังจากนี้ขอแค่แลกเปลี่ยนความเห็นเชิงสร้างสรรค์อยู่เสมอ ก็จะเข้าใจเจตนาในคำพูดของอีกฝ่ายได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้นเอง

CASE 29

ทุกข์ใจแค่ไหนก็ไม่ยอมขอให้คนอื่นช่วย

ไม่มีใครที่ใช้ชีวิตได้ด้วยตัวคนเดียวหรอก

คนส่วนมากเข้าใจดีว่า จำเป็นต้องพึ่งพาคนอื่น แต่ที่ไม่กล้าขอให้ใครช่วย อาจเป็นเพราะมองว่าการอ้อนวอน หรือการขอความช่วยเหลือเป็นเรื่องไม่ดี ซึ่งคนที่มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นแบบนั้นก็คือ คนที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเข้มงวด หรือคนที่มีความรับผิดชอบสูงนั่นเอง อย่างไรก็ตาม คนเราไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เรียกได้ว่ามีชีวิตอยู่โดยที่พึ่งพาผู้คนมากมาย

เวลาไปปรึกษาคนที่อยากขอความช่วยเหลือ บางครั้งปฏิกิริยาของเขาก็ไม่เป็นอย่างที่คิด ถ้าอย่างนั้นควรทำอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้เสียใจภายหลัง วิธีที่ดีก็แค่เลือกคนที่เหมาะสมกับเรื่องที่จะปรึกษาก็พอ โดยปกติมักจะปรึกษาคนใกล้ตัวทันที แต่จริง ๆ แล้วสิ่งแรกที่ควรทำก็คือ พิจารณาคนที่จะปรึกษา เคล็ดลับก็คือการเลือกคนที่น่าจะมีปฏิกิริยาตอบสนองอย่างที่ต้องการนั่นเอง

คนขี้เกรงใจมักมีแนวโน้มที่จะขอความช่วยเหลือ หรือขอร้องใครไม่เก่ง ดังนั้น อันดับแรกให้ลดเพดานความเกรงใจในใจของตัวเองก่อน อย่าเพิ่งตัดสินเองว่าเขากำลังยุ่งอยู่ หรือเขาไม่อยากถูกรบกวน แต่ให้ลองรวบรวมความกล้าถามดู บางครั้งการถูกขอร้องก็แปลว่ามีประโยชน์กับคนอื่นได้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าฝ่ายที่ถูกขอร้องจะรู้สึกเดือดร้อนไปทุกครั้ง หลาย ๆ คนก็น่าจะคิดว่าอยากช่วย

CASE 30

จริงๆแล้วอยากสนิทมากกว่านี้

เผยตัวตนที่ให้เขาเห็นได้บ้างสักนิด

แม้จะเป็นความสัมพันธ์ในที่ทำงาน แต่ถ้าคุยกันแต่เรื่องงานอย่างเดียวก็คงอึดอัดแย่ ทางที่ดีให้ลองเข้าหาอีกฝ่ายอย่างผ่อนคลาย เพราะนอกจากจะสบายใจขึ้นแล้ว มันยังจะส่งผลดีต่อการทำงานอีกด้วย ก้าวแรกที่จะช่วยลดระยะห่างกับผู้อื่นก็คือ การถามความสนใจของอีกฝ่าย เพื่อการนั้นจำเป็นต้องแบ่งปันช่วงเวลาที่ไม่จริงจังกับอีกฝ่ายให้ได้ เพราะระหว่างที่เจรจาธุรกิจอย่างเคร่งเครียด คงไม่มีใครคิดหรอกว่าหัวหน้าแผนกทำอะไรเป็นงานอดิเรก ด้วยเหตุนี้ช่วงเวลาทองที่จะได้พูดคุยกับอีกฝ่าย จึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่จริงจัง อาจเป็นตอนเดินไปสถานีรถไฟด้วยกันหลังเลิกงานก็ได้

ปัจจุบันการเผยให้เห็นแต่ด้านที่เกี่ยวกับงาน ไม่ค่อยดึงดูดความสนใจเท่าไหร่ การไม่คุยเรื่องสัพเพเหระกันบ้างเลย จะทำให้หัวข้อสนทนาถูกจำกัด ที่น่าเศร้าคือต่อให้จะไปกินเลี้ยงด้วยกันหลังจากนั้น ก็ไม่ทำให้ระยะห่างลดลงอยู่ดี ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือแทนที่จะถามเรื่องของอีกฝ่าย แนะนำให้เล่าเรื่องของตัวเองดีกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ สร้างหัวข้อสนทนาจากตัวเองน่าจะดีกว่า ขอแค่เลือกหัวข้อสนทนา และเปิดเผยตัวตนอย่างเหมาะสม ก็จะคุยถูกคอกับอีกฝ่ายได้ไม่ยาก

CASE 31

อยากหยุดพักแต่หยุดงานไม่ได้

การสร้างสภาพแวดล้อมให้ได้อยู่ภาคก็เป็นงานสำคัญอย่างหนึ่ง

บางคนหยุดงานไม่ได้ เพราะคิดว่าถ้าหยุดงานก็ไม่เดิน หรือไม่อยากทำให้บริษัทเดือดร้อน  แต่ไม่ว่าจะเป็นคนที่กระฉับกระเเสง หรือไฟแรงขนาดไหนก็ไม่สามารถวิ่งนาน ๆ โดยไม่พักได้ อันที่จริงการพักผ่อน หรือการหยุดพักให้ร่างกายและจิตใจสดชื่นนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญไม่ต่างจากการทำงานเลย ดังนั้น ไม่ต้องรู้สึกผิดที่หยุดงาน ถ้าวางแผนหยุดงานไว้ ก็แค่สะสางงานให้เรียบร้อยก่อน หรือถ้าลากะทันหันเพราะป่วย ก็ลดภาระด้วยการรีบติดต่อคนในทีมไปก็พอแล้ว คนที่หยุดพักไม่ได้มีอยู่ 2 ประเภท

ประเภทแรกคือ คนที่คิดว่าทำเองเร็วกว่า หรือได้ผลลัพธ์ดีกว่า ก็เลยแบกงานไว้คนเดียว เพราะหากเขาลาหยุดขึ้นมา ก็จะส่งผลกระทบกับงานแทน แทนที่จะมองว่าการทำงานในทุก ๆ วันเป็นการฉายเดี่ยว คนประเภทนี้ควรหันมาสนใจระบบ ที่ทำให้งานเดินไปได้ด้วยกันทำงานเป็นทีมมากกว่า

ประเภทที่ 2 คือ คนที่มีความรับผิดชอบมากเกินไป อันที่จริงต่อให้มีใครหยุดงานสักคน งานก็ไม่ติดขัดอะไรมากมาย คนรอบข้างไม่ได้คิดว่าเป็นการรบกวน การช่วยงานกันในที่ทำงานเป็นเรื่องปกติ สิ่งที่บริษัทต้องการไม่ใช่การบากบั่นทำงานอยู่คนเดียว แต่เป็นการร่วมมือกับคนในทีม เพื่อให้งานคืบหน้าต่างหาก ดังนั้น เวลาที่อยากหยุดพักอย่างสบายใจ แค่เตรียมตัวเอาไว้ให้งานไม่ติดขัดตอนฝากคนอื่นทำก็พอ

CASE 32

หมดไฟเพราะผลการประเมินงานแย่

มุมมองจะเปลี่ยนไปเมื่อทำงานเพื่อตัวเอง

เมื่อทำงานในองค์กร และถูกหัวหน้าประเมินงาน บางครั้งก็ไม่สามารถยอมรับผลการประเมินได้ ในเวลาแบบนั้นลองคิดแบบนี้ดู ผลการประเมินงานเป็นแค่ความคิดของคนอื่นเท่านั้น ไม่มีทางควบคุมมุมมองหรือความคิดของหัวหน้าได้ การคาดหวังว่าอยากให้ประเมินอย่างเป็นธรรมกว่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดก็จริง แต่แทนที่จะเปลืองพลังไปกับการเปลี่ยนความคิดหัวหน้า เปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองน่าจะง่ายกว่า

จริงอยู่ที่อาจหมดไฟเมื่อหัวหน้าไม่เห็นความพยายาม แต่หากใส่ใจแค่การทำให้หัวหน้ายอมรับ ก็จะลืมจุดประสงค์ในการทำงาน จนมองไม่เห็นคุณค่าของงานในที่สุด ทางที่ดีขอให้ตัดเรื่องการประเมินของหัวหน้าออกไปก่อน แล้วถามตัวเองเรื่องจุดประสงค์ในการทำงานอีกที ขอแค่หาจุดประสงค์ที่ทำให้มองเห็นคุณค่าของงานได้ ก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับจากหัวหน้าเอง

ต่อให้เป็นงานเดียวกัน ก็ใช่ว่ามุมมองที่ออกมาจะเหมือนกัน เพราะแต่ละคนย่อมมีจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม การทำงานเพื่อให้หัวหน้าเห็นความพยายาม ไม่ได้ช่วยให้ค้นพบคุณค่าที่แท้จริงของงาน ทางที่ดีให้ตามหาจุดประสงค์ ที่ช่วยให้เห็นคุณค่าของงานจะดีกว่า

CASE 33

กลัวถูกเกลียด

ไม่มีใครเป็นที่ชื่นชอบของทุกคนได้หรอก

รู้สึกห่างเหินทั้งที่อยู่กับเพื่อนที่สนิทกันพอสมควร รู้สึกว่าต้องแสดงท่าทีตามที่คนอื่นคาดหวัง รู้สึกว่ามีแต่ต้องเกรงใจ และเสียเปรียบจนเหนื่อยขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก ที่รู้สึกทุกข์ใจแบบนี้ อาจเป็นเพราะพยายามทำให้ทุกคนชื่นชอบก็ได้ จริงอยู่ที่การใส่ใจคนอื่น และเข้าหาอย่างเป็นมิตรคือสิ่งสำคัญ แต่ถ้าพยายามมากเกินไปก็จะอึดอัดขึ้นเรื่อย ๆ ที่จริงแล้วอาจกำลังพยายาม ให้ไม่ถูกเกลียดมากกว่าเป็นที่ชื่นชอบอยู่ก็ได้

ไม่แปลกที่จะกลัวถูกเกลียด จนรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าอยากเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน แต่อย่าห่วงไปเลย เพราะถึงทุกคนจะมีคนที่ชอบและคนที่ไม่ชอบ ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักหรอก คนส่วนใหญ่มักมองคนที่ไม่ชอบว่า แค่นิสัยเท่ากันไม่ได้เฉย ๆ เท่านั้น ไม่ถึงขนาดมองว่าเขาเป็นคนนิสัยไม่ดี จนเกลียดกันอย่างออกนอกหน้าหรอก ถ้ารู้สึกทรมานกับการอยากเป็นที่ชื่นชอบก็อย่าฝืนตัวเอง แม้จะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่ไม่ว่าจะเป็นคนดีแค่ไหน ก็จะยังมีคนไม่ชอบอยู่ดี

CASE 34

หนักใจที่งานไม่เสร็จสักที

ก้าวไปทีละก้าวแทนการมุ่งสู่เส้นชัยรวดเดียว

ปรากฏการณ์ดินพอกหางหมู มักเกิดจากการสั่งสมงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ในแต่ละวัน ซึ่งเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่เจอกับเหตุการณ์แบบนี้ สิ่งที่ควรทำเวลากลุ้มใจเรื่องงานเยอะเป็นดินพอกหางหมู ไม่ใช่การปรับอารมณ์ แต่เป็นการปรับพฤติกรรมในการแก้ปัญหา

แทนที่จะกลุ้มใจงานไม่เสร็จสักที หรือคิดหาวิธีที่จะทำงานให้มีประสิทธิภาพ ให้เริ่มลงมือทำสิ่งที่ทำได้ในตอนนี้จะมีประโยชน์มากกว่า ก้าวแรกในการแก้ปัญหา ไม่ได้เริ่มจากการคิดว่าจะทำงานที่ค้างคาอยู่ให้เสร็จ แต่เริ่มจากการลงมือทำต่างหาก

CASE 35

เหนื่อยใจเมื่อต้องอยู่กับคนที่ไม่ชอบ

ไม่ต้องชอบเขาก็ได้ เข้าหาแบบที่ไม่เหนื่อยกันดีกว่า

พอรู้สึกว่าไม่ชอบคนนี้เลย ก็มักจะเกรงใจเขาจนเกินเหตุ ความรู้สึกชอบและไม่ชอบเป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ ดังนั้น ไม่ต้องรู้สึกผิดกับความรู้สึกแบบนั้นก็ได้ ถ้าไม่อยากให้ตัวเองเหนื่อย ก็แค่เลิกตำหนิตัวเอง และเลิกปรับตัวเข้าหาคนที่ไม่ชอบ ด้วยการฝืนตัวเองก็พอ

ถ้าอย่างนั้นจะอยู่ร่วมกับคนที่ไม่ชอบได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการเว้นระยะห่าง แต่คงมีคนจำนวนไม่น้อยเลย ที่คิดว่าถึงอยากทำก็ทำได้ยาก ในกรณีนั้นให้ลองหลีกเลี่ยงอีกฝ่าย แค่ในระดับที่ไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดใจกันทั้งคู่ดู

ถ้าเป็นคนที่เจอกันเฉพาะเรื่องงาน แค่ทักทายอีกฝ่ายแล้วคุยประเด็นสำคัญก็พอ ไม่ต้องคุยสัพเพเหระ

ส่วนถ้าเป็นคนที่รู้จักกันส่วนตัว เวลาเขาทักทายก็คุยสั้น ๆ ไปสัก 5 นาทีก็ได้ หรือหากเขาส่งข้อความมาก็ตอบเฉพาะธุระสำคัญ ตราบใดที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่เสียมารยาทต่ออีกฝ่าย

การเว้นระยะห่างก็ไม่ใช่ปัญหา มาเตรียมวิธีเข้าหาคนที่ไม่ชอบไปล่วงหน้าแล้วทำตามนั้น

พฤติกรรมเกรงใจแบบนี้ เกิดจากการที่สูญเสียความเป็นตัวเองไป ก็เอาแต่เกรงใจอีกฝ่าย ซึ่งวิธีแก้ปัญหาในเวลาแบบนี้ก็คือ การคิดว่าไม่จำเป็นต้องเกรงใจ คนที่ไม่ชอบมาก ๆ แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่จำเป็นต้องทำรุนแรงกับเขา ด้วยการเป็นตัวของตัวเอง มีค่าเท่ากับการให้ความสำคัญกับตัวเอง ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเป็นใคร เวลาที่อยู่กับเขาก็เป็นตัวของตัวเองให้ได้จะดีกว่า