เทคนิคหลอกสมอง ให้เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่
ในแต่ละปีหลายคนคงมีความปรารถนาในใจที่อยากทำให้สำเร็จ แต่พอผ่านไป 3 เดือนหรือครึ่งปี สิ่งที่ตั้งใจไว้ก็ถูกลืม มาซาชิ โยอิจิ (Masashi Yoshii) ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ได้ล่วงรู้ความลับว่าสมองนั้นซื่อมาก แค่เข้าใจกลไกการทำงานของสมอง ก็เปลี่ยนเรื่องยากที่ต้องทำ ให้เป็นเกมสนุก ๆ ได้ หากโลกของการเงินมีคำว่าพลังมหัศจรรย์ของดอกเบี้ยทบต้น โลกของประสาทวิทยาศาสตร์ก็มีคำว่าพลังมหัศจรรย์ของการทำอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ขอเพียงมุ่งมั่นทำสิ่งเล็ก ๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันนี้ ชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่พรุ่งนี้ กิจวัตรหมายถึงการที่ตัดสินใจว่าจะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งชีวิตจะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเลือกทำกิจวัตรแบบไหน
กิจวัตรคือตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง และส่งผลต่อชีวิต 100% ชีวิตดีขึ้นหลังทำสิ่งต่าง ๆ ให้เป็นกิจวัตร กิจวัตรคือทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เรื่องเรียน เรื่องครอบครัว หรือความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล หากนำเทคนิคที่แนะนำไปปรับใช้ รับรองว่าจะได้ใช้ชีวิตตามที่วาดฝันไว้อย่างแน่นอน หนังสือเล่มนี้สามารถเปลี่ยนกิจวัตรให้ดีขึ้น และช่วยให้เป็นคนใหม่ในแบบที่อยากเป็น
บทที่ 1 กิจวัตรส่งผลต่อชีวิต 100%
001 กิจวัตรคือตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง
ตัวเราในตอนนี้เป็นผลลัพธ์จากกิจวัตรในอดีต
ยิ่งโตขึ้นก็ยิ่งทำอะไรไม่ได้ดั่งใจมากขึ้น เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดความรู้สึกแง่ลบ เวลาที่เหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่เป็นดั่งใจ ข้อเท็จจริงที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลงได้อย่างหนึ่งนั่นก็คือ สิ่งที่สร้างตัวเราในตอนนี้ขึ้นมาก็คือตัวเราเอง พูดให้ชัดเจนกว่านี้ก็คือคำพูด การกระทำ หรือความคิดในอดีตล้วนสั่งสมมาทีละอย่าง จนกลายเป็นตัวเราในปัจจุบัน กิจวัตรคือตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต นี่คือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ พนักงานขายที่ขายเก่งมาก ยิ้มให้ลูกค้าระหว่างการพูดคุยเกี่ยวกับสินค้า เพราะเขาเชื่อจากใจจริงว่า การที่ลูกค้าซื้อสินค้าตัวนี้ไปใช้ก็เพื่อตัวลูกค้าเอง ทำให้เขามีความสุขที่ได้นำเสนอสินค้านั้นให้กับลูกค้า ต่อให้ถูกปฏิเสธก็ตาม ในทางกลับกันพนักงานขายที่ขายไม่เก่ง แม้จะแต่จะยิ้มก็ยังดูฝืนเพราะเจ้าตัวคิดว่า ต่อให้พยายามขายแค่ไหนก็คงถูกปฏิเสธอยู่ดี ดังนั้น สิ่งที่สร้างตัวเราในตอนนี้จึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกเหนือไปจากกิจวัตร ที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตมนุษย์ไม่มีข้อแตกต่างด้านทักษะ สิ่งที่มีเป็นเพียงข้อแตกต่างทางกิจวัตรเท่านั้นเอง
002 กำลังถูกชักใยโดยกิจวัตร
สิ่งที่ถูกปลูกฝังลงในสมองจะแสดงออกมาทางการกระทำโดยที่ไม่รู้ตัว
เมื่ออายุมากขึ้นถึงมีกิจวัตรที่ต่างกันออกไป สิ่งที่ถูกปลูกฝังลงในสมองเมื่อเริ่มจำความได้ เด็กที่เจอคำพูดว่า “เธอมันไม่ได้เรื่อง” “อย่างเธอทำไม่ได้หรอก” เป็นประจำ จะหลงเชื่อเช่นนั้นและคิดว่า “นั่นฉันมันไม่ได้เรื่อง” “อย่างฉันคงทำไม่ได้หรอก” สิ่งที่ถูกฝังในสมองคือสิ่งที่สร้างกิจวัตรและกิจวัตรก็คือสิ่งที่สร้างตัวเราขึ้นมา พูดง่าย ๆ ว่ากิจวัตรกำลังชักใยตัวเราโดยไม่รู้ตัวนั่นเอง สมองของมนุษย์มีนิสัยเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ มันมักเชื่อไปเองว่าข้อมูลทุกอย่างที่ได้ยินเป็นความจริง บางคนอาจนึกสงสัยว่าแค่คำพูดที่ได้ยินจะมีผลต่อความคิด หรือการกระทำได้ขนาดนั้นเลยหรือสมองแยกไม่ออกว่าอันไหนเรื่องจริง เรื่องโกหก หรือเรื่องล้อเล่น สมองก็จะเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ ส่งผลให้การกระทำไม่ได้เรื่องตามไปด้วย ข้อมูลที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกจึงส่งผลต่อการแสดงออก เช่น พฤติกรรม ถ้อยคำ หรือสีหน้า เรื่องที่ทำไปโดยไม่ตั้งใจหรือทำไปโดยธรรมชาตินี่แหละคือกิจวัตร สิ่งที่เชื่อว่าเป็นคุณสมบัติหรือพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดทั้งหมด ล้วนเป็นผลพวงจากสิ่งที่ฝังอยู่ในสมอง และถูกกลั่นกรองผ่านจิตใต้สำนึกออกมาจนกลายเป็นกิจวัตร กิจวัตรไม่ใช่เพียงการกระทำหรือการแสดงออก แต่มันคือความเป็นมนุษย์
003 หากเปลี่ยนกิจวัตรได้ชีวิตจะเปลี่ยนไป
จากพนักงานขายที่ทำผลงานได้แย่
แค่เปลี่ยนนิสัยเพียง 1 อย่างก็กลายเป็นพนักงานขายอันดับต้น ๆ ได้
กิจวัตรเกิดจากสิ่งที่ถูกปลูกฝังลงในสมอง และเป็นตัวกำหนดให้เป็น ในตอนนี้ถ้าอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง สามารถปลูกฝังสิ่งใหม่ ๆ ลงในสมองได้ตั้งแต่ตอนนี้และเดี๋ยวนี้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน หากคิดจะทำก็เริ่มได้ทันที ก่อนอื่นให้กำหนดเรื่องที่จะทำเอาไว้ 1 อย่าง จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ แล้วคอยบอกตัวเองให้ทำซ้ำ ๆ เพื่อปลูกฝังนิสัยนั้นลงไปในสมอง หากทำเช่นนั้นจะสร้างกิจวัตรซึ่งต่างจากในอดีตได้ กิจวัตรที่สั่งสมในอดีตทำให้เป็นตัวเราในตอนนี้ ถ้าอย่างนั้นก็แค่สั่งสมกิจวัตรใหม่เสียตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อสร้างตัวเราในอนาคตขึ้นมา ตัวอย่างเช่น หนุ่มพนักงานขายคนหนึ่งต้องทนทุกข์เพราะทำยอดขายไม่ได้เลย เขาคิดว่าจะต้องหลุดพ้นจากสภาพนี้ให้ได้ จึงตัดสินใจว่าจะสร้างกิจวัตรในการโทรศัพท์ ขอนัดพบลูกค้าวันละ 10 สายทุกวัน หลังจากตัดสินใจและเริ่มโทรศัพท์หาลูกค้าทุกวันเป็นเวลา 1 ปี ในที่สุดเขาก็กลายเป็นพนักงานขายผู้มียอดขายอันดับต้น ๆ ได้สำเร็จ จากพนักงานขายที่ทั้งตัวเองและคนอื่นมองว่าไม่มีผลงาน เพียงแค่ทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เป็นกิจวัตร ก็สามารถกลายเป็นพนักงานขายอันดับต้น ๆ ได้ นี่คือพลังอำนาจเรื่องของการสร้างกิจวัตร สิ่งสำคัญไม่ใช่จะทำอะไร แต่การทำอย่างต่อเนื่องต่างหาก ที่มีคุณค่ามากจนประเมินไม่ได้
004 เทคนิคง่าย ๆ ในการสร้างกิจวัตร
ทักษะนี้จะเป็นสินทรัพย์ที่ดูแลไปตลอดชีวิต
หากทำอะไรสักอย่างให้ต่อเนื่องเป็นกิจวัตร สิ่งนั้นจะกลายเป็นอาวุธที่ยิ่งใหญ่ เพียงแค่กำหนดว่าจะทำอะไรเพื่อให้สำเร็จตามเป้าหมาย แล้วทำสิ่งนั้นซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่องเท่านี้เอง เช่น พนักงานขายที่โทรหาลูกค้าให้ได้วันละ 10 สาย ก็ไม่ใช่เรื่องที่เจ้าตัวให้สัญญากับใครที่ไหน แต่เป็นการให้สัญญากับตัวเอง และเขาก็รักษาสัญญานั้น ทำให้ชีวิตของเขาเปลี่ยนไปอย่างมาก
วิธีสร้างกิจวัตรนั้นง่ายกว่าที่คิด คำว่ากิจวัตรพูดอีกอย่างก็คือ การรักษาสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเอง สิ่งสำคัญคือการกำหนดเนื้อหาในสัญญานั้นด้วยตัวเอง ฟังดูอาจไม่น่าเชื่อ แต่คนส่วนมากไม่ค่อยตัดสินใจอะไรด้วยตัวเอง ต่อให้คิดในหัวว่า “ต้องพยายามให้มากขึ้น” “ต้องตั้งใจมากกว่านี้” แต่คนส่วนใหญ่กลับไม่ค่อยคิดว่า “ต้องทำอะไรเพื่อให้สำเร็จตามนั้น” ด้วยเหตุนี้พฤติกรรมในชีวิตประจำวันจึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม และไม่อาจทำอะไรให้เป็นกิจวัตรได้ ขอเพียงรู้วิธีสร้างกิจวัตรไม่ว่าต้องเจอกับสถานการณ์ไหนในชีวิต ก็ใช้ทักษะนั้น ๆ รับมือได้คิดว่าจะกลายเป็นสินทรัพย์ที่ดูแลไปตลอดชีวิต
005 กิจวัตรจะกลายเป็นอาวุธ
แค่เปลี่ยนอีกนิดเดียวโอกาสรอบตัวก็เพิ่มขึ้นมากมาย
กิจวัตรคือเครื่องมือสร้างอนาคตที่ดีที่สุด ไม่มีอะไรน่าเสียดายไปกว่าการมีชีวิต ที่ทำให้อนาคตที่วาดฝันไว้เป็นจริง แต่กลับใช้ชีวิตโดยไม่ลงมือทำสิ่งนั้น สรุปง่าย ๆ ว่าทุกอย่างมาจากการตัดสินของตัวเราเอง ข้อเท็จจริงมีเพียงหนึ่งเดียว แต่วิธีคิดนั้นมีเป็นร้อย และวิธีคิดก็ถือเป็นกิจวัตรอย่างหนึ่ง กิจวัตรทางความคิดที่ว่าเวลาแบบนี้ให้คิดอย่างนี้ จะสั่งสมแล้วสร้างเป็นตัวเราขึ้นมา หากทำให้กิจวัตรกลายเป็นพันธมิตร เดินบนเส้นทางชีวิตของตัวเองได้โดยไม่คล้อยตามคนอื่น หรือสภาพแวดล้อม กิจวัตรคืออาวุธที่แข็งแกร่งกว่าคุณสมบัติหรือการศึกษามา
006 พลังแห่งกิจวัตรจะช่วยให้ทุกอย่างดีขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นการงาน การเงิน สุขภาพ และความสัมพันธ์
คนมากมายเปลี่ยนแปลงชีวิตได้แค่ทำเรื่องง่าย ๆ ที่ใครก็ทำได้อย่างต่อเนื่อง ทักษะการสร้างกิจวัตรสามารถนำไปใช้ได้ในทุกสถานการณ์ของชีวิต วิธีสร้างกิจวัตร (การปรับเปลี่ยนกิจวัตร) คุณเอเป็นพนักงานทั่วไปของบริษัทแห่งหนึ่ง ตอนแรกเขาเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ จากการทำงานอย่างหนัก เขาไม่มีทั้งความฝันและความหวังในการใช้ชีวิต เขาเชื่อที่ผู้เขียนบอก จึงลองทำอะไรสักอย่างให้ต่อเนื่องดู แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ เขาจึงตัดสินใจว่าจะเขียนเรื่องที่ต้องทำในแต่ละวันลงบนกระดาษ 1 แผ่น และจะไม่เข้านอนจนกว่าจะทำภารกิจเสร็จสิ้นทั้งหมด สิ่งที่เขาทำมีเพียงอย่างเดียวคือเขียนลงบนกระดาษให้เป็นกิจวัตร ระหว่างที่เขียนรายการสิ่งที่ต้องทำทุกวัน เขาก็ได้คิดและทบทวนกับตัวเองไปด้วยว่า อยากทำอะไรกันแน่แล้วไอเดียที่ว่า ถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้นควรทำอย่างไรก็ผุดขึ้นด้วยเรื่อย ๆ ผลจากการเขียนสิ่งที่ต้องทำลงบนกระดาษทุกวัน แล้วทำภารกิจให้เสร็จภายในวันนั้นมาตลอด 10 ปี ช่วยให้เขาทำความฝันที่ว่าสักวันอยากเปิดบริษัทของตัวเองในต่างประเทศได้สำเร็จ การที่กิจวัตรซึ่งเริ่มต้นจากกระดาษแผ่นเดียวนี่แหละ คือพลังอันยิ่งใหญ่ของการทำกิจวัตร
คุณบีเป็นผู้หญิงที่ไม่มั่นใจในตัวเอง และมักมีสีหน้าม่นหมองอยู่เสมอ เธอไม่มั่นใจเกี่ยวกับรูปร่างของตัวเอง จนทำให้รู้สึกมีปมด้อย เธอก็ตัดสินใจว่าต่อไปนี้เวลากินอะไรจะบอกตัวเองไปด้วยว่า “กินอันนี้แล้วหุ่นดี” โดยเชื่อในเรื่องที่ผู้เขียนบอกว่า สมองจะเชื่อในสิ่งที่ได้ยินผ่านหูว่าเป็นเรื่องจริงทั้งหมด จึงทำกิจวัตรที่ออกจะดูตลก ผลคือเธอลดน้ำหนักลงได้กว่า 10 กิโลกรัมเธอยังเข้าประกวดนางงามอีกด้วย ทำให้เธอกลายเป็นคนที่มีความมั่นใจในตัวเอง ปัจจุบันเธอดูสดใส มองโลกในแง่ดี และทำงานอย่างกระปรี่กระเปร่าทุกวัน
นี่เป็นส่วนหนึ่งของกรณีตัวอย่าง ขอเพียงมีกำลังใจในการสร้างกิจวัตร จะรับมือกับปัญหาได้ทุกรูปแบบ การสร้างกิจวัตรทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหลือเชื่อ เกินกว่าที่จะจินตนาการได้
007 ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็เริ่มต้นสร้างกิจวัตรได้
ถ้าเริ่มวันนี้ชีวิตก็จะเริ่มเปลี่ยนตั้งแต่พรุ่งนี้ การจะเริ่มสร้างกิจวัตรไม่มีคำว่าสายเกินไป การฝันว่าอยากเป็นแบบนี้ก็ไม่มีการจำกัดอายุ แน่นอนว่าบางเรื่องอาจมีข้อจำกัดทางกายภาพ เช่น ต่อให้คิดว่าอยากบินบนฟ้าก็ไม่สามารถบินไปบนท้องฟ้าได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าฝันว่าอยากสอบใบขับขี่เครื่องบินแล้วบินไปบนฟ้า แน่นอนว่าคงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพที่ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นจึงยังมีความเป็นไปได้ที่ความฝันนี้จะเป็นจริง หากมองจากช่วงชีวิตที่มีอยู่วันนี้คือ วันที่มีอายุน้อยที่สุด ไม่ว่าใครก็มีวันนี้เหมือนกันอย่างเท่าเทียม หากเริ่มทำกิจวัตรอะไรสักอย่างวันนี้ ตั้งแต่พรุ่งนี้ไปชีวิตจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน ทุกคนล้วนมีโอกาสเริ่มต้นใหม่ได้ทุกวัน
008 ไม่จำเป็นต้องใช้ความตั้งใจจริง แรงฮึด หรือพรสวรรค์
สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่คือมายาที่ดี การสร้างกิจวัตรไม่จำเป็นต้องอาศัยพรสวรรค์หรือแรงฮึดใด ๆ อันที่จริงใครเป็นคนตัดสินหรือว่ามีพรสวรรค์หรือไม่ หรือมีความตั้งใจจริงหรือเปล่า คำตอบคือตัวเราเองเป็นคนตัดสินไปเองว่าไม่มีพรสวรรค์ ยังขาดความตั้งใจจริง ทั้ง ๆ ที่ไม่มีเกณฑ์วัดที่แน่นอนตายตัว สรุปง่าย ๆ ว่าทั้งหมดเป็นเพียงความคิดเท่านั้น การที่จะบอกได้ว่ามีพรสวรรค์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าคิดแบบไหนเป็นกิจวัตร เมื่อคิดแบบนี้ซ้ำ ๆ จนเป็นกิจวัตร สมองก็จะหลงเชื่อตามนั้น ส่งผลให้ทำพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมาอย่างคนมีพรสวรรค์ หรือคนมีความตั้งใจแรงกล้าโดยไม่รู้ตัว สิ่งสำคัญในการเปลี่ยนชีวิตไม่ใช่พรสวรรค์หรือแรงฮึด แต่เป็นเพียงมายาเท่านั้น จงสร้างมายาที่ดีเพื่อหลอกสมองให้เป็นประโยชน์กับตัวเอง
009 ผมเองก็เคยทำอะไรต่อเนื่องเป็นกิจวัตรไม่ได้มาก่อน
การพบพานที่ทำให้ตัวผมในวัย 32 ปีซึ่งกำลังตกต่ำเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ แม้ผู้เขียนจะเคยทำอะไรไม่ได้ดีสักอย่าง ทั้งเรื่องงาน ทั้งความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นได้ด้วยการทำกิจวัตร ในเมื่อผู้เขียนยังทำได้ทุกคนก็ต้องทำได้อย่างแน่นอน สิ่งที่จะแนะนำในหนังสือเล่มนี้เป็นวิธีที่ลงมือทำ และเปลี่ยนชีวิตได้จริง ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ อายุ เพศ หรือทำอาชีพใดก็ตาม แนะนำวิธีง่าย ๆ และเป็นรูปประธรรมว่า ถ้าทำแบบนี้จะทำได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นขอให้ลองทำสิ่งที่ตัวเองสนใจ หรือสิ่งที่คิดว่าน่าจะทำได้ แค่เพียงอย่างเดียวก่อนก็ได้
010 พลังแห่งกิจวัตรช่วยเปลี่ยนให้เป็นตัวเองในแบบที่ฝันไว้
ทันทีที่คิดจะเปลี่ยนชีวิตตัวเองชีวิตก็เริ่มเปลี่ยนแล้ว เบื้องหลังของคำว่าอย่าเปลี่ยนแปลงตัวเองคือ การที่คิดว่าจริง ๆ แล้วอยากเป็นแบบนี้ คนที่วาดภาพตัวเองในแบบที่อยากเป็นเอาไว้จะต้องมีพลังในการเปลี่ยนแปลงตัวเองซ่อนอยู่อย่างแน่นอน ที่เหลือก็แค่ใช้ทักษะที่เรียกว่ากิจวัตร เพื่อให้เข้าใกล้ภาพในอุดมคติมากขึ้น ชีวิตไม่มีทางเป็นอย่างอื่นได้ นอกเหนือจากที่คิด คนเราเป็นได้แค่ตัวเองในแบบที่อยากเป็น ขอให้เชื่อในพลังนี้แล้วมาเริ่มต้นก้าวแรก เพื่อไปสู่ชีวิตในแบบที่อยากเป็นไปพร้อมกัน
บทที่ 2 ทำไมถึงทำอะไรได้ไม่ต่อเนื่อง
011 กิจวัตรคืออะไร กิจวัตรคือธรรมชาติที่แท้จริง
โดยทั่วไปกิจวัตรหมายถึง การทำบางสิ่งบางอย่างโดยต่อเนื่อง แต่การทำโดยคิดอยู่เสมอว่า “ต้องทำ” ยังไม่อาจเรียกว่าเป็นกิจวัตรได้ กิจวัตรคือพฤติกรรมที่เกิดจากสิ่งที่ถูกปลูกฝังอยู่ในสมองซึ่งทำไปโดยไม่รู้ตัว พูดง่าย ๆ ว่าสิ่งที่ลงมือทำไปเองโดยไม่ต้องคิดต่างหากที่เรียกว่ากิจวัตร พอคิดแบบนี้แล้วรู้สึกว่าแท้จริงแล้ว กิจวัตรเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะเป็นสิ่งที่ทำโดยไม่ต้องคิด จึงไม่ทันสังเกตพฤติกรรมหรือคำพูดของตัวเอง แต่พฤติกรรมหรือคำพูดที่แสดงออกมาโดยไม่ต้องคิดนี่แหละ ที่ทำให้เห็นถึงธรรมชาติที่แท้จริงของคน ๆ นั้น ยิ่งไปกว่านั้นคนอื่นยังมองเห็นกิจวัตรที่ทำไปโดยไม่ตั้งใจมากกว่าสิ่งที่จงใจทำเสียอีก เมื่อเริ่มประจันหน้ากับความเป็นจริงที่ว่า ยังมีข้อแตกต่างระหว่างธรรมชาติที่แท้จริงในตอนนี้กับในแบบที่อยากเป็น ก็เท่ากับเริ่มขยับเท้าก้าวแรกเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว หากไม่รู้จุดที่ตัวเองยืนอยู่ในตอนนี้ ย่อมไม่รู้ระยะทางหรือทิศทางไปสู่จุดหมายที่วางไว้ แต่ถ้ารู้ธรรมชาติที่แท้จริงในตอนนี้ จะทุ่มเทความพยายามเพื่อมุ่งหน้าสู่ในแบบที่อยากเป็นได้อย่างถูกวิธี ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธตัวเองในตอนนี้ เพราะในตอนนี้ถูกสร้างขึ้นจากกิจวัตรที่เคยทำในอดีต ขอเพียงรู้กลไกการทำงานของมัน จากนี้ไปก็จะสร้างตัวเองในอนาคตตามที่วาดฝันไว้ได้
012 ทำไมถึงทำอะไรได้ไม่ต่อเนื่อง
สมองอยากทำเรื่องสนุกอย่างต่อเนื่อง และอยากเลิกทำเรื่องไม่สนุก กิจวัตรที่ทำได้อย่างต่อเนื่อง กับกิจวัตรที่มักล้มเลิกกลางคันต่างกันคือ สมองคิดว่าสิ่งที่ทำนั้นเป็นเรื่องสนุกหรือไม่ การเรียนภาษาอังกฤษไม่สนุกแต่เล่นเกมสนุก การลดน้ำหนักไม่สนุกแต่การกินของหวานสนุก การออมเงินไม่สนุกแต่การช้อปปิ้งสนุก ความแตกต่างนี้ส่งผลว่าจะทำได้อย่างต่อเนื่องหรือล้มเลิกกลางคัน หากดูจากการทำงานของสมองแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจะถูกกำหนดว่าชอบหรือเกลียด ข้อมูลที่ได้รับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 แล้วส่งมายังสมองจะถูกตัดสินว่า รู้สึกดีหรือรู้สึกแย่ โดยสมองส่วนที่เรียกว่าอมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมเหตุผลและอารมณ์ จากนั้นสมองจะสั่งให้เข้าหาสิ่งที่ทำให้รู้สึกดี ชอบ สนุก ดีใจ ตื่นเต้น เป็นต้น สิ่งนี้เรียกว่า Approach response
ในทางกลับกันสมองจะบอกให้ถอยห่างจากสิ่งที่ทำให้รู้สึกแย่ เกลียด น่าเบื่อ เศร้า โมโห เป็นต้น สิ่งนี้เรียกว่า Avoidance response ด้วยเหตุนี้จึงทำสิ่งที่ชอบได้อย่างต่อเนื่อง และทำสิ่งที่เกลียดได้ไม่ต่อเนื่อง พูดง่าย ๆ ว่ามนุษย์จะทำเรื่องที่รู้สึกสนุกได้ต่อเนื่องนั่นเอง ความถูกต้องเพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้สมองอยากทำสิ่งนั้นได้อย่างต่อเนื่อง หากไม่มีความรู้สึกตื่นเต้นต่อให้เป็นเรื่องถูกต้องแค่ไหนก็ตาม สมองก็จะพยายามถอยห่างโดยที่ไม่รู้ตัว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่จะทำให้สมองอยากทำกิจวัตรอย่างต่อเนื่อง จึงไม่ใช่การฝืนทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่เป็นการพยายามสนุกกับสิ่งที่ถูกที่ควรต่างหาก ก่อนอื่นขอให้รู้ว่ากำลังถูกควบคุมโดยความรู้สึกชอบหรือเกลียด แล้วจะมองเห็นหนทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
013 กำลังถูกชักใยโดยกิจวัตรจริง ๆ นั่นแหละ
ความรู้สึกของมนุษย์ถูกควบคุมด้วยข้อมูลในอดีต อมิกดาลาใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่ารู้สึกดีหรือรู้สึกแย่ คำตอบก็คือความทรงจำซึ่งถูกจับคู่กับความรู้สึกที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คนที่เคยมีความทรงจำว่าทำงานได้ไม่ดี อมิกดาลาก็จะใช้ข้อมูลนั้นมาตัดสินว่ารู้สึกแย่ ส่งผลให้เกิดอารมณ์เกลียดหรือเบื่อหน่าย ตามมาด้วย Avoidance response ทำให้เจ้าตัวฝืนใจทำงานด้วยความรู้สึกว่า ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากทำ ในทางกลับกันคนที่เคยมีความทรงจำว่าทำงานได้ดี อมิกดาลาก็จะใช้ข้อมูลนั้นมาตัดสินว่ารู้สึกดี ส่งผลให้เกิดอารมณ์สนุกสนานกับตื่นเต้นตามไปด้วยApproach response ทำให้เจ้าตัวตั้งใจทำงานด้วยความรู้สึกว่าลองทำดูดีกว่า พูดง่าย ๆ ว่าความรู้สึกสนุกหรือไม่สนุกเป็นตัวกำหนดผลที่ตามมาทั้งหมด ในแต่ละวันสมองต้องตัดสินว่ารู้สึกดีหรือแย่กว่า 70,000 ครั้ง บางทฤษฎีบอกว่ามากถึง 120,000 ครั้งเลยทีเดียว แต่ไม่ว่าจะทฤษฎีไหนก็ถือเป็นจำนวนมหาศาลทั้งสิ้น เพราะความสามารถในการจดจำของมนุษย์นั้นดีเกินไป ทำให้ถูกควบคุมโดยความทรงจำในอดีต ความทรงจำในอดีตเป็นตัวกำหนดอารมณ์ เป็นตัวกำหนดพฤติกรรม และพฤติกรรมที่ทำซ้ำ ๆ จะกลายเป็นกิจวัตร
014 ทำไมถึงเลิกกิจวัตรแย่ ๆ ไม่ได้
ถ้าอยากลดน้ำหนักก็อย่าเข้าใกล้ของหวาน การตัดสินว่ารู้สึกดีหรือแย่โดยอมิกดาลา ทำให้ความรู้สึกหรือพฤติกรรมของมนุษย์ถูกแบ่งออกเป็น Approach response กับ Avoidance response คนที่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ดีคือคนที่เข้าหาสิ่งจำเป็นและถอยห่างจากสิ่งไม่จำเป็น ส่วนคนที่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ดีคือคนที่ถอยห่างจากสิ่งจำเป็นและเข้าหาสิ่งไม่จำเป็น หากอยากเลิกทำกิจวัตรแย่ ๆ และหันมาทำกิจวัตรดี ๆ จำเป็นต้องระลึกถึงรูปแบบพฤติกรรม การเข้าใกล้สิ่งจำเป็นและถอยห่างจากสิ่งไม่จำเป็นอยู่เสมอ
015 เบื้องหลังที่แท้จริงของตัวขัดขวางการทำกิจวัตร
จุดเปลี่ยนอยู่ที่จะเลือกชีวิตที่สบายหรือชีวิตที่สมบูรณ์ ในการสร้างกิจวัตรนั้น จำเป็นต้องเข้าใจอีกเรื่องหนึ่งก่อนนั่นคือมนุษย์มีความต้องการ 2 แบบได้แก่ ความต้องการชีวิตที่สบาย กับความต้องการชีวิตที่สมบูรณ์ ความต้องการชีวิตที่สบายหมายถึง อยากใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายนอกจากความต้องการขั้นพื้นฐานอย่าง อาหาร การนอนหลับ และความต้องการทางเพศ แล้วยังต้องการสิ่งของต่าง ๆ ต้องการมีอำนาจและต้องการผลประโยชน์ส่วนตนด้วย
ส่วนความต้องการชีวิตที่สมบูรณ์หมายถึง อยากใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ เช่น ต้องการที่จะตระหนักรู้ในตัวเอง ต้องการพัฒนาตัวเอง ต้องการสร้างคุณค่า ต้องการให้สังคมมีความสงบสุข เป็นต้น
คนที่ต้องการความสบายมักใช้ชีวิตด้วยการพึ่งพาคนอื่น และคาดหวังจากผู้อื่น เพราะคิดว่าถึงไม่ทำเดี๋ยวคนอื่นก็ทำ หรือที่ทำไม่ได้เป็นเพราะความผิดของคนอื่น จึงไม่พยายามคิดหรือลงมือทำด้วยตัวเอง ดังนั้น คนที่ต้องการชีวิตที่สมบูรณ์จึงมักใช้ชีวิตด้วยการพึ่งพาตัวเอง หรือคาดหวังในตัวเองเป็นหลัก การพึ่งพาตัวเองหมายถึง การพยายามดึงทักษะและความสามารถของตัวเองออกมา ไม่ว่าจะต้องเจอสภาพแวดล้อม หรือเงื่อนไขแบบไหนก็ตาม ซึ่งตรงกันข้ามกับการใช้ชีวิตด้วยการพึ่งพาผู้อื่นอย่างสิ้นเชิง ที่จะสร้างกิจวัตรที่ดีและพัฒนาตัวเองได้ ต้องเป็นคนที่ต้องการมีชีวิตที่สมบูรณ์ การระลึกถึงการใช้ชีวิตอย่างสมบูรณ์ โดยไม่ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความสะดวกสบายตรงหน้า จะทำให้พัฒนาตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นใครหรืออายุเท่าไหร่ก็ตาม
016 กิจวัตร = ระดับความเชื่อมั่น x การทำซ้ำ
หากเข้าใจกลไกการทำงานจะสร้างกิจวัตรมากแค่ไหนก็ได้ ถ้าต้องการมีชีวิตที่สมบูรณ์โดยไม่ปล่อยตัวปล่อยใจ ไปกับความต้องการชีวิตที่สะดวกสบายคือ ต้องสร้างภาพตัวเองในอุดมคติ กฎในการปรับเปลี่ยนกิจวัตร สามารถเขียนเป็นสมการได้ดังนี้ กิจวัตร = ระดับความเชื่อมั่น x การทำซ้ำ ในการสร้างกิจวัตรต้องบอกตัวเองให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำ ๆ แต่ก่อนหน้านั้นหากไม่มีความคิดว่าอยากเป็นแบบนี้ ก็ยากที่จะทำอะไรได้อย่างต่อเนื่อง และยิ่งมีความเชื่อมั่นมากเท่าไหร่ โอกาสที่จะทำสิ่งนั้นให้เป็นกิจวัตรก็ยิ่งสูงขึ้น
ลองนึกภาพว่าอยากเป็นอย่างไรในอีก 5 ปีหรือ 10 ปีข้างหน้า แน่นอนว่าเพียงเท่านี้ก็ได้เริ่มก้าวแรก เพื่อไปสู่การปรับเปลี่ยนกิจวัตรแล้ว แต่การจะทำกิจวัตรให้ได้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องอาศัยความเชื่อมั่นในภาพที่วาดไว้ หลักการสร้างความเชื่อมั่นคือให้จินตนาการว่า ใครจะรู้สึกยินดีเมื่อเห็นว่าเราเป็นตัวเองในอุดมคติได้แล้ว เพราะความรู้สึกว่าได้รับการยอมรับจากใครสักคน เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพยายามทำอะไรสักอย่าง การมีคนร่วมยินดีหรือยอมรับเมื่อทำสำเร็จคือแรงผลักดันที่สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด ยิ่งวาดภาพนี้ในหัวได้อย่างเป็นรูปธรรมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเท่านั้น เมื่อนำระดับความเชื่อมั่นกับพฤติกรรมการทำซ้ำมาประกอบเข้าด้วยกัน ก็จะได้สมบัติอันล้ำค่าที่เรียกว่า กิจวัตร ขอเพียงเข้าใจกลไกการทำงานของสมอง ก็สามารถดึงคุณลักษณะ และสัญชาตญาณของมนุษย์นี้มา สร้างเป็นกิจวัตรมากเท่าไหร่ก็ได้
บทที่ 3 ทักษะการสร้างกิจวัตรที่ดีที่สุด
แม้แต่คนที่ไม่มีความตั้งใจจริงก็ทำได้
017 ก่อนอื่นให้เริ่มต้นจากกิจวัตรเล็ก ๆ
การสั่งสมกิจวัตรเล็ก ๆ ที่เปลี่ยนแปลงชีวิตมหาศาล
หากอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ เริ่มจากการทำกิจวัตรเล็ก ๆ แม้จะอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองมากแค่ไหน ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนปุ๊บปั๊บได้ทันที แต่ต้องอาศัยการสั่งสมจากการทำกิจวัตรเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นประจำทุกวัน เคล็ดลับง่าย ๆ คือทำเรื่องที่ใครก็ทำได้ แต่ทำอย่างต่อเนื่องแบบที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้ ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอะไรได้อย่างต่อเนื่อง แต่คือการสร้างผลงานว่า รักษาสัญญาที่ให้ไว้กับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน หากทำได้อย่างต่อเนื่องวันแล้ววันเล่า จะเกิดความมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกถึงพลังแห่งความสำเร็จ เพราะว่าความรู้สึกของมนุษย์ถูกครอบงำโดยข้อมูล หรือความทรงจำจากอดีต
ดังนั้นหากสร้างความทรงจำใหม่ว่า สามารถทำอะไรบางอย่างได้อย่างต่อเนื่อง เวลาที่คิดจะทำสิ่งใหม่จะคิดว่า ต้องทำได้ ทำให้รู้สึกสนุกและตื่นเต้น เมื่อเวลาผ่านไปรู้ตัวอีกทีกิจวัตรเล็ก ๆ ก็เปลี่ยนแปลงชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง
018 อย่าเพิ่งคิดถึงการทำอย่างต่อเนื่อง
แต่ให้ลองคิดถึงการเริ่มต้นดูก่อน เริ่มจากลองทำดูโดยไม่ต้องกดดัน แม้จะเป็นกิจวัตรเล็ก ๆ หากกดดันตัวเองว่าต้องทำอย่างต่อเนื่องให้ได้ อาจยิ่งส่งผลให้ทำไม่สำเร็จ นั่นเป็นเพราะสมองจดจำความทรงจำในอดีตว่า การทำอะไรอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องยากเอาไว้มากนั่นเอง หากอมิกดาลาในสมองใช้ข้อมูลในอดีตมาตัดสินว่ารู้สึกแย่ จะทำสิ่งนั้นได้ไม่นาน ดังนั้นแทนที่จะคิดว่าจะทำอะไรสักอย่างให้ต่อเนื่อง ลองคิดว่าจะเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างดูดีกว่า หากคิดแบบนี้จะลงมือทำได้ด้วยความรู้สึกว่า เริ่มต้นลองทำดูก่อนก็แล้วกัน นอกจากนี้เวลาพูดว่าเริ่มต้น คนส่วนมากมักรู้สึกตื่นเต้นขึ้นมา ก่อนที่จะทำกิจวัตรเล็ก ๆ ได้ต่อเนื่อง เพียงแค่ลองทำดูก็มีคุณค่ามากแล้ว การเริ่มลองทำดูทำให้มองเห็นนิสัยที่แท้จริงของตัวเอง ที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนได้อีกด้วย
019 ลดระดับความยากลงก่อน
ถึงจะฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้องครั้งเดียว หรือเขียนบันทึกประจำวันบรรทัดเดียวก็ไม่เป็นไร สิ่งที่ห้ามทำโดยเด็ดขาดเมื่อเริ่มทำกิจวัตรคือ การตั้งเป้าที่จะทำให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ นี่คือสาเหตุใหญ่ที่ทำให้ล้มเลิกกลางคัน หากอยากทำอะไรให้เป็นกิจวัตร หลักสำคัญคือต้องลดระดับความยากลงก่อน ถ้าอยากฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้อง แทนที่จะคิดว่าต้องทำวันละ 30 ครั้ง ให้คิดว่าถึงจะทำแค่ครั้งเดียวก็ไม่เป็นไร ถ้าเป็นเรื่องเรียนแทนที่จะคิดว่าต้องทำแบบฝึกหัดให้ได้วันละ 2 หน้า ให้คิดว่าถึงจะทำแค่ข้อเดียวก็ไม่เป็นไร แน่นอนว่าหากทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ย่อมเป็นเรื่องดี แต่โดยพื้นฐานแล้วมนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตที่อ่อนแอ บางครั้งจึงรู้สึกไม่มีแรงฮึด หรือง่วงจนทนไม่ไหว หากอยากทำอะไรสักอย่างให้เป็นกิจวัตร ให้คิดเสมอว่าการทำได้จริงสำคัญกว่าความสมบูรณ์แบบ
020 ทำให้เหมือนเล่นเกม
สร้างแรงจูงใจด้วยความรู้สึกแห่งชัยชนะ
มนุษย์จะทำเฉพาะเรื่องที่สนุก และตื่นเต้นได้ต่อเนื่องเท่านั้น หากรู้สึกสนุกกับสิ่งที่ตั้งใจทำ จะช่วยให้ทำสิ่งนั้นอย่างต่อเนื่องได้ง่ายขึ้น หนึ่งในนั้นคือการทำให้เหมือนเล่นเกม แทนที่จะคิดว่าต้องทำ เรื่องที่ตัดสินใจจะทำ สู้เปลี่ยนมาคิดว่ากำลังเอาชนะเกมนั้นจะดีกว่า การหลอกสมองแบบนี้ จะช่วยให้สนุกกับการทำอย่างต่อเนื่อง เหมือนการเล่นเกมที่ค่อย ๆ เอาชนะไปวันละด่าน เมื่อเอาชนะครบ 100 ด่านก็พิชิตเกมได้สำเร็จ เคล็ดลับง่าย ๆ อย่างการใส่ลูกเล่นบางอย่างลงไป จะช่วยให้รับรู้ถึงความสำเร็จในทุกวันได้ง่ายขึ้น ทำให้ทำเรื่องเดิม ๆ อย่างต่อเนื่องได้ง่ายดาย แค่เทคนิคง่าย ๆ อย่างการเขียนเลขลงไป ก็ช่วยเปลี่ยนงานให้กลายเป็นเกมได้
021 การหาตัวช่วย
เตรียมสภาพแวดล้อมให้ทำได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งความตั้งใจจริงหรือแรงฮึด เวลาที่จะเริ่มทำกิจวัตรอะไรสักอย่าง ในตอนแรกทุกคนมักมีความตั้งใจเต็มเปี่ยมว่า คราวนี้จะต้องทำสำเร็จให้ได้ ปัญหาคือจะรู้สึกเช่นนั้นได้นานแค่ไหน หากไม่มีความมุ่งมั่นว่าจะทำสิ่งนี้ทำสำเร็จได้ยาก ขณะเดียวกันการรักษาความมุ่งมั่นนี้ไว้ก็เป็นเรื่องยากเช่นกัน ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการหาตัวช่วย แทนที่จะพยายามรักษาความตั้งใจจริง หรือความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าให้ได้อย่างต่อเนื่อง ให้หาตัวช่วยให้ทำสิ่งนั้นได้เองโดยอัตโนมัติ จะช่วยให้ทำกิจวัตรนั้นได้อย่างสบาย ๆ
การหาตัวช่วยมีด้วยกัน 2 วิธีคือ วิธีแรกการกำหนดเวลาและสถานที่ การกำหนดแค่จะทำทุกวันอาจทำให้มีบางครั้งที่คิดว่า วันนี้ยุ่งมากไม่มีเวลาเลย หรือเผลอลืมไป แต่ถ้าระบุไว้เลยว่า จะทำที่ไหนเมื่อไหร่ จะช่วยให้เพิ่มกิจกรรมนั้นลงไปในตารางชีวิตประจำวันได้อย่างชัดเจน อีกวิธีหนึ่งคือ ดึงคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมการทำอะไรอย่างต่อเนื่อง เพียงลำพังอาจเป็นเรื่องยากแต่หากสัญญากับใครสักคน หรือได้เห็นปฏิกิริยาโต้ตอบ จะช่วยให้ทำสิ่งนั้นได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแค่หาตัวช่วยง่าย ๆ ไม่ว่าใครก็ทำกิจวัตรได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องพึ่งพาความตั้งใจจริงหรือแรงฮึดเลย
022 การกำหนดกิจวัตรก่อนหน้า
ถ้าอยากตื่นเช้าให้กำหนดว่าจะเข้านอนกี่โมง คนที่ทำกิจวัตรอย่างต่อเนื่องไม่ได้ มักมีจุดร่วมอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือ การไม่ใส่ใจกิจวัตรก่อนหน้า หากอยากทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ควรคำนึงถึงกิจกรรมก่อนหน้าด้วย หากอยากวิ่งทุกเช้าให้เป็นกิจวัตร ก็ให้เตรียมชุดนอนสำหรับวิ่งไว้ข้างหมอนก่อนนอน หากอยากเรียนภาษาอังกฤษ ระหว่างเดินทางไปทำงานก็ให้เตรียมตำราไว้ในกระเป๋า หากอยากอ่านหนังสือเพื่อสอบเลื่อนชั้น ก็ให้เตรียมแบบฝึกหัดและเครื่องเขียนไว้ในจุดที่มองเห็นทันทีหลังกลับถึงบ้าน หากกำหนดกิจวัตรก่อนหน้าเช่นนี้ จะช่วยให้ทำกิจวัตรนั้นได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่น การกำหนดกิจวัตรก่อนหน้า ช่วยให้ทำกิจวัตรได้อย่างราบรื่น
023 ตั้งใจทำ
ต่อให้เป็นกิจวัตรที่ดีแค่ไหนหากทำลวก ๆ ก็กลายเป็นกิจวัตรที่แย่ได้ การทำกิจวัตรนั้นจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยากให้จำให้ขึ้นใจนั่นคือ ต้องตั้งใจทำไม่ว่าพฤติกรรมนั้นจะเป็นกิจวัตรที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าทำอย่างลวก ๆ ธรรมชาติที่แท้จริงของคน ๆ นั้น จะกลายเป็นคนทำอะไรลวก ๆ การทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สิ่งนี้กลายเป็นนิสัย หรือกริยามารยาทในตัวด้วย ดังนั้นเวลาทำกิจกรรมอื่น จึงทำด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้ตัว ธรรมชาติที่แท้จริงในตัว จะถูกกำหนดโดยขึ้นอยู่กับว่า ตั้งใจทำเรื่องปกติที่ต้องทำอยู่แล้วมากน้อยแค่ไหน การยกมาตรฐานให้สูงขึ้นแล้วทำกิจวัตรนั้นอย่างมีคุณภาพ จะช่วยยกระดับตัวตนให้สูงขึ้นตามไปด้วย การทำเรื่องปกติที่ต้องทำอยู่แล้วด้วยความตั้งใจ จะทำให้ทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยความตั้งใจโดยไม่รู้ตัว
024 เคล็ดลับที่ทำให้ไม่ล้มเลิกกลางคัน (1)
วาดภาพตัวเราในแบบที่อยากเป็นให้ชัดเจน
ขยายความปรารถนาให้มากที่สุด
ศัตรูตัวฉกาจของการสร้างกิจวัตรคือ การล้มเลิกกลางคัน ดังนั้นจำเป็นต้องประยุกต์หรือเพิ่มเคล็ดลับเพื่อช่วยให้ไม่ล้มเลิกการทำกิจวัตรนั้นไปดื้อ ๆ เคล็ดลับที่ช่วยให้ไม่ล้มเลิกกลางคันอย่างแรกคือ วาดภาพตัวเองในแบบที่อยากเป็นให้ชัดเจน หากเข้าใจโครงสร้างการทำงานของสมอง จะรู้ว่าการวาดภาพในอุดมคติมีพลังมากแค่ไหน สมองของมนุษย์แบ่งออกเป็นซีกซ้ายและซีกขวา เวลาที่สมองซีกซ้ายคิดอย่างมีเหตุผล โดยใช้หลักการวิเคราะห์ จะเกิดกลไกการคิดถึงอดีต ส่วนเวลาที่สมองซีกขวาวาดภาพในอุดมคติ โดยใช้ความรู้สึก จะเกิดกลไกการคิดของอนาคต หากไม่ใช้สมองซีกขวาวาดภาพอนาคตเลย มนุษย์จะถูกชักใยโดยความทรงจำในอดีต ซึ่งอยู่ในสมองซีกซ้าย ข่าวร้ายก็คือสมองของมนุษย์มีความสามารถในการจดจำที่ดีมาก และมันมากจนจำแต่เรื่องที่เคยทำไม่ได้ในอดีตไว้อย่างแม่นยำ ดังนั้นต่อให้เราพยายามจะทำกิจวัตรอะไรสักอย่าง ความทรงจำในสมองซีกซ้ายจะคอยขัดว่า เคยพยายามมากขนาดนั้นยังทำไม่ได้เลย สิ่งเดียวที่จะช่วยต่อต้านความคิดแง่ลบแบบนี้ก็คือ ใช้สมองซีกขวาวาดภาพในอนาคตให้ชัดเจน ปริมาณความปรารถนา = ปริมาณของความอดทน ดังนั้นสิ่งสำคัญเวลาวาดภาพตัวเองในแบบที่อยากเป็นคือ ต้องวาดภาพในอุดมคติให้ยิ่งใหญ่เข้าไว้ เนื่องจากวาดภาพตัวเองในแบบที่อยากเป็นให้ชัดเจนในหัว และขยายความปรารถนานั้นให้มากที่สุด เพื่อให้ไม่ล้มเลิกกลางคัน
025 เคล็ดลับที่ทำให้ไม่ล้มเลิกกลางคัน (2)
จ้องมองตัวเราในตอนนี้
หากไม่รู้จุดที่ตัวเองกำลังยืนอยู่
ย่อมไม่มีทางไปถึงเป้าหมายได้
การวาดภาพตอนทำเป้าหมายได้สำเร็จคือ เคล็ดลับที่ช่วยให้ไม่ล้มเลิกกลางคัน นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยากให้ทำร่วมกันนั่นคือ การรู้จักตัวเราในตอนนี้ หรือจุดที่กำลังยืนอยู่ไม่อาจออกรถได้ทันที ด้วยการป้อนจุดหมายปลายทางใน GPS เพียงอย่างเดียว แต่การรู้พิกัดที่ตัวเองอยู่ในตอนนี้ จึงจะช่วยให้วางแผนได้ว่าต้องขับรถไปทางไหน การสร้างกิจวัตรก็เช่นกัน หากไม่รู้สภาพปัจจุบันของตัวเอง ไม่รู้จุดอ่อนหรือสิ่งที่ยังขาดไป จะไม่รู้ว่าต้องพยายามอย่างไรจึงจะทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย หากไม่รู้ระยะห่างระหว่างจุดหมายปลายทางกับจุดที่กำลังยืนอยู่ ย่อมไม่สามารถใช้ความพยายามเพื่อถมช่องว่างนั้นให้เต็มได้
การรู้จักจุดที่ตัวเองกำลังยืนอยู่ทำได้หลายวิธี วิธีแรกคือการตรวจสอบตัวเอง สิ่งสำคัญคือการเขียนทั้งเรื่องดีและเรื่องไม่ดีอย่างตรงไปตรงมา หลายคนอาจพอรู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีข้อดีข้อเสียอย่างไร แต่การเขียนออกมาให้เห็นชัดเจน จะช่วยให้ได้ย้อนมองธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเองอย่างมีสติ อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้รู้จักจุดที่กำลังยืนอยู่คือ การถามคนอื่น ลองถามหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือเพื่อนว่า เป็นคนอย่างไร หากลองถามสัก 10 คนจะเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเองที่คนอื่นมองเห็น การจะถามคนอื่นเช่นนี้อาจต้องใช้ความกล้าหาญอย่างมาก แต่ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่ช่วยให้มองตัวเองอย่างเป็นกลาง การที่คนอื่นคิดทั้งที่ตัวเราเองไม่ได้ตั้งใจทำเช่นนั้น แปลว่ามีกิจวัตรบางอย่างที่ทำให้อีกฝ่ายคิดเช่นนั้น
หากเข้าใจจุดนี้ย่อมรู้ว่าตัวเองต้องเปลี่ยนกิจวัตรในการแสดงออก หรือใช้คำพูดอย่างไร การรู้จักจุดที่ตัวเองกำลังยืนอยู่ อาจทำให้บางคนรู้สึกหดหู่ แต่ไม่จำเป็นต้องรู้สึกเช่นนั้นเลย เพราะการที่รู้จักตัวเองในตอนนี้ ก็เท่ากับกำลังสร้างกิจวัตรใหม่สำเร็จแล้วครึ่งหนึ่ง หากไม่รู้จุดที่ตัวเองกำลังยืนอยู่ แล้วเดินหน้าไปเรื่อยเปื่อย โดยใช้เพียงสัญชาตญาณ จะไม่มีวันไปถึงจุดหมายปลายทาง ต่อให้ได้ใช้ความพยายามมากแค่ไหน ก็ไม่มีทางถึงที่หมาย
026 เคล็ดลับที่ทำให้ไม่ล้มเลิกกลางคัน (3)
คิดว่าทำไปเพื่ออะไร หากไม่มีเป้าหมายย่อมทำต่อเนื่องไม่ได้
หากอยากทำอะไรสักอย่างให้เป็นกิจวัตร ให้คิดด้วยว่าทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร คำตอบนั้นจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนให้ทำกิจวัตรได้อย่างต่อเนื่อง กรณีตัวอย่างของชายคนหนึ่ง ที่โทรหาลูกค้าวันละ 10 สายทุกวันเป็นกิจวัตร จนกระทั่งกลายเป็นพนักงานขายอันดับต้น ๆ สำหรับเขาคนนั้นพลังขับเคลื่อนในการสร้างกิจวัตรก็คือ ทำเพื่อครอบครัว จากเดิมที่ทำยอดขายไม่ได้จนรายรับแทบไม่มี ความคิดว่าถ้าปล่อยไว้แบบนี้ครอบครัวต้องอดตายแน่ เป็นแรงกระตุ้นให้เขาลุกขึ้นสู้ เพราะมีเป้าหมายว่าทำเพื่อครอบครัว ต่อให้ถูกลูกค้าปฏิเสธกี่ครั้งเขาก็ไม่ย่อท้อ และคิดว่าลองโทรอีกสายดีกว่าหรือโทรเพิ่มอีกสายก็แล้วกัน ส่งผลให้เขายกหูโทรศัพท์หาลูกค้าไปเรื่อย ๆ พูดง่าย ๆ คือ ขอแค่มีเป้าหมายว่าทำไปเพื่ออะไรอย่างชัดเจน การกระทำที่เหลือจะตามมาเอง
027 เคล็ดลับที่ทำให้ไม่ล้มเลิกกลางคัน (4)
คิดว่าอยากทำให้ใครมีความสุข
หากเป็นการทำเพื่อใครสักคนจะก้าวข้ามกำแพงที่สูงชันได้
มนุษย์พยายามได้มากขึ้นอีกหลายเท่า หากตั้งเป้าหมายเพื่อคนอื่น การจินตนาการถึงภาพใบหน้าดีใจของคนอื่น ตอนที่ทำเป้าหมายได้สำเร็จ จะช่วยให้มีแรงฮึดสู้ขึ้นมา การได้ยินคนพูดขอบคุณ จะกลายเป็นพลังให้ไม่ย่อท้อ หากเป็นเรื่องง่าย ๆ อาจทำต่อเนื่องได้ด้วยการตั้งเป้าหมายเพื่อตัวเอง แต่เวลาที่ตั้งเป้าหมายไว้สูงหรือคิดจะทำเรื่องยาก ๆ แค่ทำเพื่อตัวเองอาจไม่ช่วยให้ทำได้อย่างต่อเนื่อง ถ้าทำสิ่งนี้เพื่อคนอื่นจนดีใจ และเมื่อเห็นสีหน้าดีใจนั้นก็พลอยดีใจไปด้วย นี่คือแรงผลักดันที่ช่วยให้มนุษย์พยายามได้ดีที่สุด อ่านหนังสือเป็นกิจวัตรเพื่อให้ตัวเองมีทักษะความรู้เฉพาะทาง เพราะอยากช่วยเหลือเวลาลูกค้ามีปัญหา ฝึกกล้ามเนื้อเป็นกิจวัตรให้ร่างกายแข็งแรง เพราะอยากทำงานไปนาน ๆ เพื่อให้ครอบครัวมีความสุข หากเจอเป้าหมายเพื่อคนอื่นเช่นนี้ แม้ต้องทำกิจวัตรเดิมซ้ำ ๆ ก็จะไม่รู้สึกยอมแพ้กลางทาง ด้วยเหตุนี้การคิดว่า อยากทำให้ใครมีความสุข จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ในการทำอะไรสักอย่างให้ต่อเนื่อง
028 เคล็ดลับที่ทำให้ไม่ล้มเลิกการขันธ์ (5)
ห้ามคิดว่าต้องทำ สิ่งสำคัญคือความรู้สึกว่า อยากทำหรือไม่อยากทำ
การจะทำกิจวัตรอะไรสักอย่างได้ต่อเนื่องหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า สมองรู้สึกชอบหรือเกลียด สิ่งที่ชอบจะทำได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนสิ่งที่เกลียดจะทำต่อเนื่องไม่ได้ กลไกการทำงานของสมองนั้นเรียบง่ายมาก ดังนั้นหากไม่อยากให้ตัวเองย่อท้อกับการทำกิจวัตร ต้องให้ความสำคัญกับความรู้สึกอยากทำและไม่อยากทำ หากคิดว่าอยากทำสมองจะตื่นเต้น ทำให้ทำสิ่งนั้นได้อย่างสนุกสนานและต่อเนื่อง หากคิดว่าไม่อยากทำสมองจะรู้สึกเกลียด และพยายามถอยห่าง ดังนั้นก็แค่จริงใจกับความรู้สึกชอบหรือเกลียด แล้วเลือกทำสิ่งที่ตัวเองชอบก็พอ
029 นายลองใจ เสียงกระซิบปีศาจ
ที่มาเยือนอย่างรวดเร็ว
โอกาสดีที่จะได้รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเอง
หลังเริ่มทำกิจวัตรไปได้ราว 1-2 สัปดาห์ ขณะที่คิดว่าทำจนกลายเป็นกิจวัตรหรือยัง จะมีสิ่งหนึ่งมาเยือนเสมอ ทำแบบนี้ไปแล้วจะได้อะไร ไม่เห็นต้องทำตอนนี้เลยก็ได้ เสียงกระซิบปีศาจเช่นนี้จะดังขึ้นในหัวอย่างแน่นอน เรียกสิ่งนี้ว่านายลองใจ ทันทีที่นายลองใจมาเยือน ขอให้ย้อนมองดูตัวเองตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทำกิจวัตร นายลองใจคือตัวป่วนที่จะมาหลอกล่อด้วยคำเชิญชวน จนอาจทำให้อยากเลิกทำกิจวัตรนั้น แต่ให้คิดไว้ว่านี่คือโอกาสดีที่จะได้รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเอง หากคิดเสียว่านี่คือตัวช่วยให้รู้จุดที่ตัวเองกำลังยืนอยู่ตอนนี้ จะรู้สึกว่านายลองใจก็ไม่ใช่ตัวร้ายซะทีเดียว
030 จงทำรายการข้ออ้าง
เขียนข้ออ้างลงบนกระดาษแล้วค่อย ๆ ทำให้หายไปทีละข้อ
อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ล้มเลิกการทำกิจวัตรก็คือ ข้ออ้าง แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่ว่าใครก็อยากหาข้ออ้างด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครหรอกที่ตลอดทั้งชีวิตไม่เคยมีข้ออ้างเลย การคิดว่าห้ามมีข้ออ้างก็เหมือนการคิดว่าต้องทำ ซึ่งมีแต่จะทำให้เครียดมากยิ่งขึ้น แทนที่จะคิดเช่นนั้นให้เขียนรายการข้ออ้างขึ้นมา ลองนึกถึงข้ออ้างที่มักพูดบ่อย ๆ หรือข้ออ้างที่เคยใช้มาจนถึงเดี๋ยวนี้ แล้วเขียนลงบนกระดาษ จากนั้นให้นำกระดาษแผ่นนี้ไปติดไว้ในจุดที่มองเห็น จะเป็นผนังห้องของตัวเอง บนโต๊ะในที่ทำงาน หรือในสมุดบันทึกก็ได้ เมื่อนำกระดาษรายการข้ออ้างไปติดไว้ในที่ที่มองเห็นได้บ่อย ๆ ก็จะเกิดความรู้สึกอย่างแรงกล้าขึ้นมาว่า พรุ่งนี้จะไม่ใช้ข้ออ้างนี้อีก หากระลึกถึงสิ่งนี้อยู่เสมอเวลาที่เผลอมีข้ออ้างเมื่อไหร่จะรู้ตัวทันที เตรียมตัวให้ดีไม่ให้มีข้ออ้างอีกว่า ทำเช่นนี้บ่อย ๆ ข้ออ้างก็จะค่อย ๆ ลดน้อยลงไปเอง
031 การล้มเลิกภายใน 3 วันไม่ใช่เรื่องผิด
ไม่ใช่แค่ทำได้แค่ 3 วันแต่ทำได้ตั้ง 3 วันต่างหาก
หากลองทำกิจวัตรหนึ่งแล้วล้มเลิกภายใน 3 วัน ก็แค่เปลี่ยนไปทำกิจวัตรใหม่ก็พอ การที่ทำได้ไม่ต่อเนื่องเป็นเพราะกิจวัตรนั้นไม่เข้ากับตัวเราเท่านั้นเอง กิจวัตรอื่นที่ทำได้ก็ยังมีอีกเยอะแยะ หากวิเคราะห์ว่าทำไมถึงทำได้ไม่ต่อเนื่อง คราวหน้าต้องทำอย่างไรถึงจะทำได้อย่างต่อเนื่อง จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งช่วยให้ทำกิจวัตรถัดไปได้สำเร็จ ถ้าใช้สิ่งนี้เป็นบทเรียนในการทำกิจวัตรถัดไปและทำได้สำเร็จ การล้มเลิกครั้งนี้ก็ไม่ถึงเป็นความล้มเหลว การแก้ไขใหม่เรื่อย ๆ จนทำสำเร็จ จะทำให้คำว่าล้มเหลวหายไปจากชีวิต การล้มเหลวจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีทางแก้ไขได้อีกแล้ว หากคิดว่าถึงจะล้มเลิกภายใน 3 วันแค่ทำใหม่ก็สิ้นเรื่อง จะเริ่มต้นใหม่ได้เสมอต่อให้ล้มเลิกกลางคัน ก็ยังลงมือทำกิจวัตรเดิมนั้นได้อีก บางครั้งการแทรกเวลาหยุดพักบ้าง ยังยากกว่าเสียด้วยซ้ำ แม้จะหยุดพักบ้างแต่ถ้ายังกลับมาทำต่อก็ให้ชมตัวเองได้โดยไม่ต้องเกรงใจ ประสบการณ์ล้มเลิกภายใน 3 วันจะช่วยสร้างปุ่มเปิด-ปิดการทำกิจวัตรในตัวเรา ขอให้ทุกคนเริ่มต้นทำกิจวัตรใหม่เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องกลัวว่าตัวเองจะล้มเลิกกลางคัน
032 หากก้าวข้ามจุดเปลี่ยนแห่งความสำเร็จได้
ตัวเราในอุดมคติก็อยู่ไม่ไกล
ถ้าตั้งใจทำไปเรื่อย ๆ สักวันจะพัฒนาขึ้นเอง
ระยะเวลาในการทำกิจวัตรอย่างต่อเนื่อง กับระดับการพัฒนาตนเอง ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ บางครั้งอาจเริ่มทำกิจวัตรอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ว่าจะทำงานแค่ไหนก็มองไม่เห็นสัญญาณของความสำเร็จเลย ขณะที่บางครั้งเพิ่งทำไปได้ไม่ทันไรก็เริ่มเห็นผล แต่พอนานเข้าทุกอย่างก็หยุดนิ่ง เวลาแบบนี้แหละที่นายลองใจจะมาเยือน หากล้มเลิกในตอนนี้ พัฒนาการจะหยุดโดยสิ้นเชิง และจะไม่มีวันได้เป็นตัวเองในอุดมคติอีกเลย แต่คนที่มีเป้าหมายชัดเจนว่า ทำไปเพื่ออะไร หรือคิดว่าอยากทำให้สำเร็จเพื่อให้ใครสักคนดีใจ พวกเขาจะยังคงเชื่อมั่นในตัวเอง และทำสิ่งนั้นต่อไป เมื่อถึงเวลาจะรู้สึกขึ้นมาเองว่า ฉันพัฒนาขึ้นแล้ว สิ่งนี้เรียกว่าจุดเปลี่ยนแห่งความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนจำให้ขึ้นใจก็คือ ก่อนถึงจุดเปลี่ยนแห่งความสำเร็จ จะเจอช่วงเวลาที่ไม่รู้สึกถึงความสำเร็จเลย แต่ถึงอย่างนั้นคนที่ยังคงพยายามต่อไปโดยไม่ย่อท้อ จะต้องเป็นตัวเองในอุดมคติได้อย่างแน่นอน ที่เหลือก็แค่เชื่อมั่นในพลังของกิจวัตรเท่านั้น
บทที่ 4 เทคนิคสร้างกิจวัตรด้วยพลังจากสมอง
033 ความลับที่ช่วยให้สร้างกิจวัตรได้ต่อเนื่อง
เข้าใจหน้าที่ของกิจวัตรทางการรับข้อมูล กิจวัตรทางถ้อยคำ กิจวัตรทางความคิด และกิจวัตรทางพฤติกรรม ตามที่ได้บอกว่าสมองกับกิจวัตรมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การนำเอาคุณลักษณะเฉพาะของสมองเช่นนี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ถือเป็นเคล็ดลับในการทำกิจวัตรให้สำเร็จ ก่อนอื่นจำเป็นต้องเข้าใจว่ากิจวัตร มีโครงสร้างมาจากการทำกิจวัตร 4 ประเภทติดต่อกันคือ
- กิจวัตรทางการรับข้อมูล (รับข้อมูลมาอย่างไร) การรับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5
- กิจวัตรทางถ้อยคำ (แปลงเป็นถ้อยคำอย่างไร) เปลี่ยนข้อมูลที่รับรู้มาให้เป็นถ้อยคำ
- กิจวัตรทางความคิด (คิดอย่างไร) คิดโดยใช้ถ้อยคำเป็นพื้นฐาน
- กิจวัตรทางพฤติกรรม (ลงมือทำอย่างไร) เปลี่ยนความคิดให้เป็นการกระทำ
คำว่ากิจวัตรที่คนส่วนมากหมายถึงคือ กิจวัตรทางพฤติกรรม ดังนั้นการจะเปลี่ยนกิจวัตรทางพฤติกรรมจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกิจวัตรทางการรับข้อมูล กิจวัตรทางถ้อยคำ และกิจวัตรทางความคิดก่อน ยิ่งไปกว่านั้นการใช้ประโยชน์จากพลังแห่งความเชื่อ โดยกิจวัตรทางมายาและสร้างกิจวัตรทางความเชื่อมั่นว่า ฉันต้องทำได้ จะยิ่งช่วยสร้างกิจวัตรทางพฤติกรรมที่แข็งแกร่ง
034 กุญแจในการสร้างกิจวัตรอยู่ที่ความเร็วของสมอง
ใช้เวลาเพียง 0.5 วินาทีจากขั้นตอนรับข้อมูลจนกระทั่งเสร็จสิ้นการคิด
ขั้นตอนตั้งแต่การรับข้อมูลจนกระทั่งคิดเสร็จเรียบร้อยนั้น ใช้เวลา 0.5 วินาทีเท่านั้น ทันทีที่ได้รับข้อมูลผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 หู ตา จมูก ลิ้น สัมผัส ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกส่งไปยังสมองชั้นนอก (Neocortex) ภายใน 0.1 วินาที บริเวณนี้เรียกได้ว่าเป็นสมองฉลาด โดยจะทำหน้าที่รับรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ จากนั้นผลจากการรับรู้นั้น จะถูกส่งไปยังสมองส่วนระบบลิมบิก (Limbic System) ซึ่งเป็นสมองชั้นในหรือที่เรียกกันว่าสมองอารมณ์ ซึ่งมีหน้าที่ตัดสินอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ และอมิกดาลาก็อยู่ในส่วนนี้ สมองอารมณ์จะใช้เวลา 0.4 วินาที ค้นหาความทรงจำในอดีตเพื่อพิจารณาว่าข้อมูลที่ได้รับมามีความหมายอย่างไร ดังนั้นหลังรับข้อมูลเป็นเวลา 0.5 วินาที อมิกดาลาจะตัดสินว่า รู้สึกดีหรือรู้สึกแย่ และคิดให้เสร็จสรรพว่าชอบหรือเกลียด สรุปได้ว่าสมองมีกระบวนการคิดที่รวดเร็วอย่างน่าตกใจ โดยใช้ 0.1 วินาทีเพื่อรับรู้บวกกับ 0.4 วินาทีเพื่อเปรียบเทียบข้อมูล ดังนั้นจึงแสดงผลลัพธ์ออกมาภายใน 0.5 วินาที
035 สมองของมนุษย์คิดเรื่องในแง่ลบได้ภายในชั่วพริบตา
สิ่งที่รออยู่เบื้องหน้าของคนที่ถูกความคิดในแง่ลบกัดกินคือความย่อท้อ
ในขั้นตอนการคิดของสมองนี้มีปัญหาใหญ่อยู่อย่างหนึ่ง นั่นคือการที่มนุษย์มีข้อมูลแง่ลบ สั่งสมอยู่ในความทรงจำในอดีตมากกว่าข้อมูลแง่บวก เวลาที่อะมิกดาลาตัดสินว่ารู้สึกดีหรือรู้สึกแย่ จึงมักค้นหาแต่ความทรงจำในแง่ลบ เนื่องจากความทรงจำแง่ลบมีปริมาณเยอะกว่าความทรงจำแง่บวกมาก ดังนั้นเวลาที่สมองค้นหาความทรงจำในอดีต จึงดึงเอาแต่ความทรงจำแง่ลบออกมา ผลคืออมิกดาลาจะตัดสินว่า รู้สึกแย่เป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดความคิดในแง่ลบว่า ทำไม่ได้หรือทำไม่ไหว ยิ่งไปกว่านั้นยังคิดเรื่องในแง่ลบนี้ออกมาได้ภายใน 0.5 วินาที เรียกว่าแค่ชั่วพริบตาเท่านั้น หากไม่ตั้งสติเตือนตัวเอง จะหยุดความคิดในแง่ลบนี้ไม่ได้
036 เพิ่ม Output แง่บวกเพื่อให้สมองคิดบวกมากขึ้น
สมองเชื่อใน output มากกว่า input
การจะเปลี่ยนความคิดหรือพฤติกรรมให้เป็นแง่บวก สามารถทำได้โดยการใช้คุณลักษณะอีกอย่างหนึ่งของสมองให้เป็นประโยชน์ คุณลักษณะที่ว่านั้นก็คือสมองเชื่อใน output มากกว่า input เมื่อใส่ความคิดลงไปในสมอง input ก็จะแสดงออกผ่านถ้อยคำ พฤติกรรม หรือสีหน้า output ไม่อาจหยุดความคิดในแง่ลบ จึงช่วยไม่ได้ที่จะเผลอใส่ความคิดแง่ลบฝังลงไปในสมองโดยไม่ตั้งใจ มีสิ่งหนึ่งที่ทำได้นั่นคือการเปลี่ยน output แม้จะเปลี่ยนความคิดไม่ได้ แต่เปลี่ยนคำพูด พฤติกรรม หรือสีหน้าได้ สมมุติว่าหัวหน้ามอบหมายงานยากให้ ช่วยไม่ได้อาจจะคิดขึ้นมาทันทีว่า ทำไม่ได้หรอก แต่แทนที่จะแปลงความคิดนั้นออกมาเป็นถ้อยคำตรง ๆ สามารถเปลี่ยนเป็นคำพูดว่า จะลองทำดูได้ และถึงจะเป็นคำโกหกก็ไม่เป็นไร ดังนั้นสมองจะเชื่อคำพูดว่า จะลองทำดู มากกว่าความคิดว่า ทำไม่ได้หรอก จากนั้นสมองจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อค้นหาความทรงจำที่เชื่อมโยงกับคำว่า จะลองทำดูจากข้อมูลในอดีต หากสมองเจอข้อมูลว่าเคยทำงานคล้าย ๆ กันสำเร็จมาแล้ว หรือเคยใช้วิธีนี้ทำเป้าหมายได้สำเร็จมาแล้ว แม้จะเป็นงานยากเพราะยังคิดได้ว่าลองทำดูดีกว่า
037 กำหนดคำพูดไว้ล่วงหน้า เพื่อให้ทำ output ได้ในพริบตา
ตอบกลับใน 0.2 วินาทีเพื่อบังคับให้สมองไม่ค้นหาความทรงจำในแง่ลบ
ในการเปลี่ยน output มีสิ่งหนึ่งที่อยากให้ทุกคนจำให้ขึ้นใจ นั่นคือต้องทำ output ให้ได้ในพริบตา วิธีที่ใช้ก็คือการกำหนดคำพูดไว้ล่วงหน้า กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะพูดอะไร จะช่วยให้ทำ output ได้ในพริบตา ถ้อยคำกำหนดล่วงหน้าที่แนะนำคือ “จะลองทำดู” เมื่อหัวหน้ามอบหมายงานให้ตอบไปทันทีว่า จะลองทำดู เมื่อหัวหน้าทีมสั่งงานก็ให้ตอบว่า จะลองทำดู เวลาอาจารย์ถามในห้องเรียนว่ามีใครตอบโจทย์นี้ได้บ้างก็ให้พูดว่า จะลองทำดู เป็นคำพูดที่ใช้ได้ในทุกสถานการณ์ คำว่าจะลองทำดูถือเป็นคำวิเศษณ์ ที่ทำให้คนประเมินสูงขึ้น และช่วยให้ได้รับความเอ็นดูจากทุกคน เมื่อกำหนดว่าจะใช้คำพูดเหล่านี้แล้ว สมองจะเชื่อว่าโอกาสมาถึงแล้วโชคดีจัง ได้เวลาแสดงฝีมือแล้วจริง ๆ
038 เปลี่ยนถ้อยคำเพื่อเปลี่ยนความรู้สึกดีหรือความรู้สึกแย่
เปลี่ยนจากเรียนหนังสือเป็นพัฒนา
ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กิจวัตรทางถ้อยคำ มาเปลี่ยนกิจวัตรทางการรับข้อมูลได้นั่นคือ การเปลี่ยนความหมายของคำ นั่นหมายความว่า ถ้าสลับ Approach response กับ Avoidance response ได้ จะทำกิจวัตรที่อยากทำให้ต่อเนื่องได้ และเลิกทำกิจวัตรที่อยากเลิกได้ วิธีที่จะช่วยให้ทำเช่นนี้ได้คือ การเปลี่ยนความหมายของคำพูด
สมมติว่าเมื่อใครคนหนึ่งเอา input คำว่าเรียนหนังสือ สมองจะดึงข้อมูลจากความทรงจำในอดีตออกมาว่า เรียนหนังสือเป็นเรื่องเหนื่อยยาก และตัดสินว่าการเรียนหนังสือทำให้รู้สึกแย่ ถ้าอย่างนั้นหากเปลี่ยนจากคำว่าเรียนหนังสือเป็นพัฒนาจะเป็นอย่างไร ถึงจะเกลียดการเรียนแต่คงไม่มีใครเกลียดการพัฒนาตัวเองหรอก นี่คือสุดยอดเทคนิคที่ช่วยให้เล่นคนเกมต่าง ๆ ง่าย ๆ กับสมองของตัวเองลองทำฝึกทำตามกันดู
039 คิดบวกได้ด้วยท่าประจำตัวหรือรอยยิ้มเสแสร้ง
นอกจากคำพูดแล้ว พฤติกรรมและสีหน้าก็ถือเป็น output เช่นกัน หากเปลี่ยนพฤติกรรมหรือสีหน้าให้เป็นไปในแง่บวก จะสามารถสร้างกิจวัตรทางการรับรู้ที่ดีได้เช่นกัน การทำท่าประจำตัวก็ให้ผลดีเช่นเดียวกับการกำหนดถ้อยคำ เช่น ท่าชูกำปั้น ซึ่งถือเป็นท่าประจำตัวที่ดีมาก เวลากำหมัดแล้วออกแรงที่แขน จะคิดหรือพูดว่า สำเร็จ ดีละลองทำดูดีกว่า โดยอัตโนมัติ หากตั้งใจว่าจะทำท่าชูกำปั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สมองจะเชื่อในพฤติกรรมนั้น แล้วคิดไปในแง่บวก เมื่อเข้าใจกลไกการทำงานของสมองแบบนี้แล้ว จะเข้าใจได้ว่าทำไมนักกีฬามักชอบทำท่าชูกำปั้นระหว่างการแข่งขัน การทำท่าประจำตัวที่ชักจูงให้สมองคิดบวก ไม่ว่าสถานะการจะดีหรือไม่ก็ตาม การทำเช่นนี้จะช่วยให้เกิดความคิดในแง่บวกอยู่เสมอ นอกจากนี้ควรเตือนตัวเองให้แสดงสีหน้าในแง่บวกด้วย ซึ่งทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่หมั่นยกมุมปากอยู่เสมอก็พอ ปกติแล้วมุมปากจะยกขึ้นเวลาเกิดเรื่องดี ๆ เช่น เวลาที่รู้สึกดีใจ สนุก หรืออร่อย มุมปากจะยกขึ้นและกลายเป็นรอยยิ้มโดยอัตโนมัติ เพราะฉะนั้นต่อให้ไม่มีเรื่องสนุก หากคอยยกมุมปากอยู่เสมอ จะเชื่อไปเองว่ามีเรื่องดี ๆ เกิดขึ้น กล้ามเนื้อใบหน้ามีความเชื่อมโยงโดยตรงกับสมอง แม้จะเป็นรอยยิ้มเสแสร้งก็ทำให้สมองถูกหลอกได้ จึงควรฝึกยกมุมปากขึ้นเล็กน้อยให้เป็นกิจวัตร เวลาที่เหนื่อยล้าหรือเบื่อ เพื่อชักนำให้สมองคิดบวก ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ให้ทำท่าชูกำปั้นและยกมุมปากเข้าไว้
040 วิธีสร้าง output แง่บวกที่ควรฝึกไว้
ฝึกอารมณ์ดีใจ สนุก มีความสุข
เพื่อเปลี่ยนเรื่องปกติให้เป็นเรื่องซาบซึ้ง
ถึงจะบอกให้เปลี่ยนกิจวัตรทางการรับข้อมูล แต่สำหรับบางคนในช่วงแรก ไม่ว่าจะทำยังไงก็มักถูกขัดขวางโดยข้อมูลแง่ลบในอดีต ทำให้เปลี่ยนถ้อยคำหรือพฤติกรรมไม่ได้เสียที วิธีสร้าง output แง่บวกอีกวิธีหนึ่งนั่นคือ การเขียนความรู้สึกดีใจ สนุก หรือมีความสุขในแต่ละวันออกมา พูดง่าย ๆ ก็คือให้ย้อนมองสิ่งที่เกิดขึ้นใน 1 วันที่ผ่านมา แล้วเขียนเรื่องดี ๆ ลงในสมุด 3 เรื่องได้แก่เรื่องดีใจระหว่างเดินทางไปทำงาน เรื่องสนุกในที่ทำงาน และความสุขในครอบครัว หากลองมองหาเรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางชีวิตในแต่ละวัน อาจเขียนออกมาได้แม้แต่วันที่คิดว่าวันนี้ไม่มีเรื่องดีเลย หากมองให้ดีก็จะเจอเรื่องน่ายินดี หรือมีความสุขมากมาย การเขียนสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นประจำทุกวัน จะช่วยให้มองเห็นแง่ดีของสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ข้อดีของการฝึกฝนเช่นนี้เป็นประจำคือ ทำให้เข้าใจว่าบนโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นเรื่องปกติธรรมดา พูดง่าย ๆ ว่าจะมองเห็นความพิเศษหรือความสุขในเรื่องที่เคยคิดว่าเป็นเรื่องปกติมาตลอด เมื่อเป็นเช่นนี้ข้อมูลแง่บวกก็จะถูกบันทึกลงในสมอง
041 Clearing ให้เรื่องลบหายไปจากสมอง
ทำก่อนนอน 10 นาทีช่วยให้เริ่มต้นเช้าวันใหม่ได้อย่างสดชื่น
แม้จะคอยเตือนตัวเองให้ทำ output ในแง่บวก แต่ย่อมมีบางวันที่รู้สึกว่าวันนี้ไม่มีอารมณ์จะทำเลย หรือหงุดหงิดจนไม่อยากยิ้มแล้ว ทุกคนย่อมมีช่วงเวลาที่ตกอยู่ในอารมณ์แง่ลบเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือต้องไม่นำอารมณ์นั้นติดตัวข้ามไปจนถึงวันรุ่งขึ้น เวลาแบบนี้สิ่งที่อยากแนะนำคือ การทำ Clearing พูดง่าย ๆ ก็คือให้เคลียร์อารมณ์ลบ ๆ ของวันนี้ออกไปให้หมด แทนที่จะปล่อยให้สมองเต็มไปด้วยความกังวลหรือความหดหู่ ต้องทำให้สมองปลอดโปร่งตั้งแต่คืนนี้เลย แม้คำว่า Clearing อาจฟังดูยาก แต่วิธีทำมันง่ายมาก เพียงแค่เขียน 3 สิ่งนี้ออกมาก่อนเข้านอน
- เรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นในวันนี้
- เรื่องในวันนี้ที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้น
- วิธีรับมือและสิ่งที่จะทำในวันพรุ่งนี้
ในข้อ 3 วิธีรับมือและสิ่งที่จะทำในวันพรุ่งนี้ ให้เขียนชัด ๆ ว่าจะทำไม่ใช่แค่อยากทำ การทำเช่นนี้จะช่วยฝึกกิจวัตรในการมองเรื่องดี ๆ ขณะเดียวกันก็ได้คิดไปด้วยว่าจะแก้ไขเรื่องแย่ ๆ อย่างไร หลักสำคัญคือเวลาที่มีอารมณ์แง่ลบให้เขียนเรื่องดี ๆ ออกมาให้มาก เวลาที่มีอารมณ์แง่บวกให้เขียนเรื่องที่ควรปรับปรุงให้เยอะ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกวันมีความมั่นคงไม่แปรปรวนไปตามความทรงจำในอดีตคือ การมองหาทั้งเรื่องดีและเรื่องที่ต้องปรับปรุง ไม่ว่าวันนั้นจะเจออะไรมาก็ตาม นอกจากนี้การทำ Clearing จะต้องทำก่อนเข้านอนเสมอ เพราะช่วงเวลา 10 นาทีก่อนนอนถือเป็นเวลาทองของสมอง เวลาก่อนนอนนี้สมองจะกรอถอยหลังเหมือนวีดีโอเทป แล้วจะเริ่มฉายซ้ำในเช้าวันถัดไป ดังนั้นหากเข้านอนไปทั้งความรู้สึกแย่ ๆ จะเริ่มต้นวันใหม่ด้วยความรู้สึกแย่ ๆ
042 ยิ่งทำให้สมองตื่นเต้นมากเท่าไหร่
ยิ่งสร้างกิจวัตรได้นานขึ้นเท่านั้น
วาดภาพอนาคตที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นจากใจจริง การทำให้สมองตื่นเต้นนั้นง่ายมาก แต่ว่าภาพอนาคตที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นก็พอ การป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกควบคุม โดยความทรงจำในอดีตจากสมองซีกซ้าย ต้องใช้สมองซีกขวาวาดภาพอนาคตให้ชัดเจน กิจวัตรทางความคิดซึ่งเกิดจากประสบการณ์ในอดีต จะคอยใส่เบรกให้กับกิจวัตรทางพฤติกรรม ซึ่งอยู่ในขั้นถัดไป หากวาดภาพอนาคตที่น่าตื่นเต้นเอาไว้ สมองก็จะปล่อยเบรกทันที นอกจากนี้การพูดความฝันของตัวเองออกมา ก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน เพราะฉะนั้นจงพูดถึงตัวเองให้เกินจริงไปเลย สมองจะหลงเชื่อคำพูดเกินจริงนั้นอย่างตรงไปตรงมา และจะทำให้ลงมือทำเพื่อให้ความฝันเป็นจริง
043 เพิ่มความตื่นเต้นให้มากขึ้น
ด้วยแผนในอนาคตหรือบันทึกประจำวันในอนาคต
ทำอนาคตให้เห็นได้ด้วยตาวิธีที่นำไปใช้จริง
วิธีที่จะช่วยเพิ่มความตื่นเต้นในอนาคตได้ดีคือ การเขียนอนาคตของตัวเองลงบนกระดาษ เพียงแค่คิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ได้คงดี ไม่ช่วยให้ความฝันเป็นจริงได้ จำเป็นต้องเชื่อมั่นว่า ความฝันนี้จะเป็นจริง เพื่อไม่ให้ถูกขัดขวางโดยความทรงจำในอดีต การเขียนอนาคตลงบนกระดาษเพื่อให้มองเห็นได้ด้วยตา จะช่วยให้วาดภาพตัวเองที่ทำความฝันนั้นสำเร็จได้ชัดเจน และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในวิธีที่ว่าคือการสร้างแผนในอนาคต ให้เขียนถึงเรื่องที่คิดว่าถ้าเป็นแบบนี้ได้คงดี โดยไล่เรียงไปตามปีจากอนาคตย้อนกลับมาถึงปัจจุบัน การเขียนออกมาให้เห็นด้วยตาว่าตัวเราในอนาคตในแต่ละปีจะเป็นอย่างไร จะช่วยให้วาดภาพได้ชัดเจนมากขึ้นอีก วิธีหนึ่งที่แนะนำคือการเขียนบันทึกประจำวันในอนาคต โดยจินตนาการถึงวันที่เป็นตัวเองในอุดมคติได้สำเร็จ แล้วเขียนบันทึกประจำวันของวันนั้นออกมา การเขียนถึงอนาคตของตัวเองให้มองเห็นได้ด้วยตาคือ เคล็ดลับที่ช่วยเพิ่มความตื่นเต้นในอนาคตได้
044 จงมีเพื่อนที่พูดคุยเรื่องความฝันกันได้
คบเพื่อนที่สามารถทำและรับ output
ในแง่บวกซึ่งกันและกันได้
อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างความตื่นเต้นในอนาคตนั่นคือ การมีเพื่อนที่สามารถพูดคุยความฝันสู่กันฟังได้ เวลาที่เล่าความฝันของตัวเองแล้วมีคนให้การยอมรับว่า ยอดไปเลยต้องทำได้แน่ จะช่วยให้สมองคิดบวกมากขึ้น เมื่อทำ output ในแง่บวกอีกฝ่ายก็ทำ output ในแง่บวกตอบกลับมา การมีเพื่อนเช่นนี้จะช่วยเพิ่มความตื่นเต้นได้หลายเท่าตัว มนุษย์สูญเสียกำลังใจได้ง่ายมาก การมีเพื่อนที่พูดคุยคำว่าลำบาก ยาก ทำไม่ได้ แย่ที่สุด ไม่ไหว ซึ่งกันและกันมีแต่จะทำให้แรงผลักดันต่ออนาคตหายไปในพริบตา ในทางกลับกันหากมีเพื่อนที่พูดคำในแง่บวกต่อกัน จะช่วยเพิ่มกำลังใจให้กันได้ หากมีเพื่อนที่พูดว่า ง่าย ทำได้ ยอดเยี่ยม โชคดี ทำไหว จงให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับคนคนนั้นให้มาก
045 ค้นหาความตื่นเต้นในอดีตและคนที่ชื่นชม
วิธีรับมือกรณีวาดภาพในอนาคตไม่ได้จริง ๆ
อาจมีบางคนคิดว่านึกภาพอนาคตไม่ออกจริง ๆ พอบอกให้วาดภาพอนาคตแล้วรู้สึกกดดันไม่ต้องกังวลไป มีวิธีดี ๆ นั่นคือการนึกถึงความตื่นเต้นในอดีต ต่อให้เป็นคนที่ไม่รู้สึกตื่นเต้นกับอนาคต แต่ก็ย่อมมีความฝัน ประสบการณ์ดี ๆ หรือเรื่องสนุก ๆ สมัยเด็กกันทุกคน ให้คิดเรื่องเหล่านี้ออกมาให้มากที่สุดแล้วเขียนใส่กระดาษ จะเป็นเรื่องเก่าหรือเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ไม่เป็นไร ในเมื่อเคยตื่นเต้นในอดีตมาก่อน ก็ต้องตื่นเต้นกับอนาคตได้เหมือนกัน เมื่อจินตนาการถึงคำพูดจากตัวเองในอดีตแล้ว ต้องรู้สึกแบบนี้ได้แน่ ๆ แม้ตอนนี้จะยังวาดภาพอนาคตไม่ได้ในทันที แต่ขอเพียงนึกออกว่าสามารถรู้สึกตื่นเต้นตอนนี้ได้ สักวันจะวาดภาพในอนาคตได้เองโดยไม่ต้องรีบร้อน นอกจากนี้ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยค้นหาความตื่นเต้นในอดีตได้นั่นคือ การมองหาต้นแบบจากคนที่ชื่นชม หากนึกไม่ออกว่าอยากเป็นคนแบบไหน ลองมองหาจากคนที่ชื่นชม และคิดว่าอยากเป็นแบบคนนี้ คนที่ชื่นชมจะเป็นตัวช่วยในการวาดภาพตัวเองในอนาคต สำหรับคนที่วาดภาพอนาคตไม่ได้จริง ๆ ขอให้รู้ไว้ว่ายังมีวิธีให้ง่าย ๆ แบบนี้ที่มองข้ามไป
046 หลอกสมองเพื่อสร้างกิจวัตรทางความเชื่อมั่น
ถามคำถามในแง่บวกกับสมอง
สมองถูกหลอกง่ายมาก ซึ่งก็ช่วยไม่ได้เพราะสมองไม่แยกแยะว่า อะไรคือจริง อะไรคือเท็จ แต่ก็ถือเป็นโชคดีสำหรับคนที่ต้องการสร้างกิจวัตร ทุกเรื่องที่สมองคิดว่าทำได้จะทำได้จริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยากแค่ไหน สมองจะถูกหลอกและเชื่อมั่นว่าต้องทำได้อยู่แล้ว หากสร้างกิจวัตรทางความเชื่อมั่นนี้ได้ ไม่ว่าใครก็ทำความฝันให้เป็นจริงได้ จะสร้างกิจวัตรทางความเชื่อมั่นได้อย่างไร วิธีการคือให้ตั้งคำถามกับสมอง เพราะสมองมีกลไกในการตอบคำถาม ทุกอย่างที่ถูกป้อนเข้ามา ยิ่งไปกว่านั้นถ้าตั้งคำถามในแง่บวกก็จะได้คำตอบในแง่บวก ถ้าตั้งคำถามในแง่ลบก็จะได้คำตอบในแง่ลบ ถ้าถามสมองว่าทำยังไงถึงจะทำสำเร็จ สมองก็จะค้นหาวิธีที่ช่วยให้ทำสำเร็จ ถ้าถามสมองว่าทำยังไงถึงจะเป็นอัจฉริยะ สมองจะค้นหาวิธีที่ช่วยให้เป็นอัจฉริยะ เมื่อได้คำตอบแล้วจะเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาว่า ฉันเป็นอัจฉริยะ เข้าใจแล้วใช่ไหมว่าเพียงแค่รู้กลไกการทำงานของสมอง ก็สามารถหลอกสมองได้อย่างง่ายดาย หากตั้งคำถามชี้นำไปสู่คำตอบว่า ฉันทำได้ ฉันเป็นอัจฉริยะอยู่เป็นประจำ จะกลายเป็นแบบนั้นได้จริง ๆ คนที่ประสบความสำเร็จล้วนเป็นคนที่เชื่อมั่นว่า ฉันทำได้ สมองเป็นของเราจงหลอกมันให้เต็มที่ไม่ต้องเกรงใจ
047 เตรียมกิจวัตรทางมายาที่ผิด
ให้เป็นกิจวัตรทางมายาที่ถูก
เก่งหรือไม่เก่ง ถนัดหรือไม่ถนัดล้วนเป็นเรื่องที่คิดไปเอง
การที่สมองถูกหลอกง่ายเช่นนี้ มีความหมายแปลว่า ทุกอย่างเป็นเพียงสิ่งที่คิดไปเองทั้งสิ้น พูดอีกอย่างว่ามายาคือตัวกำหนดว่าเป็นคนอย่างไร ทุกคนต่างสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาจากมายาเช่นนี้ ดังนั้นมายาที่ดีย่อมทำให้มีความสุขได้มากกว่ามายาที่ไม่ดี กิจวัตรในการสร้างมายาที่ดีเรียกว่ากิจวัตรทางมายาที่ถูก ส่วนกิจวัตรในการสร้างมายาที่ไม่ดีเรียกว่ากิจวัตรทางมายาที่ผิด ทุกคนจะนำความรู้ที่แนะนำในบทนี้ไปใช้เพื่อการทำกิจวัตรทางมายาที่ถูกให้มาก ใช้ถ้อยคำในแง่บวก วาดอนาคตตอนที่ตัวเองทำความฝันได้สำเร็จ ถามคำถามในแง่บวกกับสมอง เพื่อสร้างมายาที่ดีว่า ฉันทำได้ หากทำเช่นนี้เป็นประจำสักวันภาพมายานั้นจะกลายเป็นจริงแน่นอน
บทที่ 5 พลังแห่งกิจวัตรทำให้ชีวิตก้าวไปข้างหน้า
048 แค่เปลี่ยนกิจวัตร ทุกอย่างในชีวิตก็ดีขึ้น
ทั้งเรื่องที่อยากทำและเรื่องที่อยากเลิก
แค่เปลี่ยนกิจวัตร ทุกอย่างในชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ทั้งการทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล สุขภาพ และทุกอย่างจะเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในบทนี้อธิบายถึงหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเปลี่ยนกิจวัตร โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ให้ทุกคนจำเทคนิคเหล่านี้ให้ได้
049 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (1) การตื่นเช้า
กำหนดเวลาตื่นนอนและเวลาเข้านอนให้ชัดเจน
หากอยากตื่นเช้า ก่อนอื่นต้องกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าจะตื่น 6 โมงเช้าทุกวัน เมื่อกำหนดเวลาที่จะตื่นนอนแล้ว ก็ให้กำหนดกิจวัตรก่อนหน้าด้วย ต้องกำหนดเวลาสำหรับกิจวัตรก่อนหน้านั้นไปทีละอย่าง ว่าจะอาบน้ำให้เสร็จก่อนกี่โมง จะกินมื้อเย็นให้เสร็จก่อนกี่โมง จะกลับถึงบ้านก่อนกี่โมง กิจวัตรคือการสัญญากับตัวเอง และรักษาสัญญานั้น หากเนื้อหาของสัญญาไม่ชัดเจน จะไม่รู้ว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรและอย่างไร การกำหนดเนื้อหาของสัญญาอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด เคล็ดลับในการทำกิจวัตรได้อย่างต่อเนื่อง
050 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (2)
การเขียนบันทึกประจำวัน
เขียนแค่อักษรตัวเดียวก็ยังได้
หรือจะใช้วิธีแลกกันอ่านบันทึกประจำวันก็ได้
หากอยากเขียนบันทึกประจำวันอย่างต่อเนื่อง ควรลดระดับความยากลงให้มากที่สุด เช่น ถ้ากำหนดว่าถึงจะเขียนบรรทัดเดียวก็ไม่เป็นไร ต่อให้ง่วงแค่ไหนหรือนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรก็ยังรักษาสัญญานี้ได้ หรือถ้าจะเอาให้สุดโต่งไปเลยก็คือ เขียนแค่อักษรตัวเดียวก็ยังได้ คิดเสียว่าอย่างน้อยที่สุด แค่กางหน้าสมุดบันทึกออก แล้วเขียนอะไรลงไปสักอย่าง ก็เท่ากับได้เขียนบันทึกประจำวันแล้ว หากคิดว่าต้องเขียนให้เป็นเรื่องเป็นราวทุกวัน จะยิ่งทำให้ล้มเลิกเร็ว จำไว้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้ได้ต่อเนื่องก่อน เคล็ดลับง่าย ๆ สำหรับคนที่ทำไม่สำเร็จเสียที ให้ลองคิดว่าไม่ได้ทำเพื่อตัวเองแต่ทำเพื่อคนอื่น
ในเวลาที่รู้สึกหดหู่ การได้อ่านข้อความแง่บวกที่คนอื่นเขียนว่า “พรุ่งนี้ต้องพยายามให้เต็มที่” ถือเป็นการทำ input แง่บวก และเมื่อตัวเองได้เขียนถ้วยคำแง่บวกลงในสมุดบันทึกของตัวเอง “ฉันก็จะพยายามเหมือนกัน” ก็เท่ากับได้ทำ output ในแง่บวก การแลกกันอ่านบันทึกประจำวัน จึงทำให้เกิดวงจร input แง่บวก output แง่บวก และส่งผลให้สมองคิดบวกมากขึ้น ดังนั้นการแลกกันอ่านบันทึกประจำวันจึงเป็นกิจวัตรที่ดี ในการเสริมสร้างกิจวัตรทางการรับข้อมูล ให้มองแต่เรื่องดี ๆ มากกว่าเรื่องแย่ ๆ หากทำกิจวัตรใดคนเดียวแล้วทำอย่างต่อเนื่องไม่ได้ เคล็ดลับที่ช่วยได้คือ การดึงคนอื่นเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ทำสิ่งนั้นต่อเนื่องได้นาน
051 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (3)
การเขียนบล็อกหรือบทความ
ไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องน่าสนใจหรือเอาใจคนอ่าน
การเขียนบล็อกหรือบทความ ต่างจากการเขียนบันทึกประจำวันตรงที่เป็นการเขียนแบบมีคนอ่าน จึงเป็นการดึงผู้อื่นเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่แรก แต่ทำไมถึงยังทำต่อเนื่องไม่ได้ นั่นเป็นเพราะพยายามจะเขียนแต่เรื่องดี ๆ คนส่วนมากมักคิดว่าต้องเขียนเรื่องสนุก ๆ เอาใจคนอ่าน แต่เป็นเรื่องที่ยากเกินไป หากอยากทำกิจวัตรนี้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนอื่นให้คิดว่าเขียนไปก่อน เขียนอะไรก็ได้ สำหรับคนที่บอกว่าคิดไม่ออกว่าจะเขียนอะไร แนะนำว่าให้เขียนเรื่องของตัวเอง ชอบอะไร อาศัยอยู่กับครอบครัวแบบไหน ใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างไร เขียนไปตรง ๆ ไม่ต้องสร้างภาพ หากเป็นเรื่องของตัวเองย่อมหาเรื่องมาเขียนได้ง่าย หากไม่มีเรื่องใหม่ ๆ มาเล่า จะเขียนเรื่องสมัยก่อน เช่น ตอนเด็กถึงสมัยเป็นนักเรียนก็ได้ การเล่าออกไปตรง ๆ ว่า ฉันเป็นคนอย่างไรจะทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าอยากลองอ่านเรื่องของคนคนนี้ให้มากขึ้น และผู้อ่านจะมี feedback หรือปฏิกิริยาตอบสนองต่อตัวเราในแบบที่เป็น ทำให้รู้สึกสนุกกับการเขียนมากขึ้นเรื่อย ๆ
052 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (4)
การลดน้ำหนัก
วาดภาพตัวเองตอนทำสำเร็จแล้วให้ชัดเจนที่สุด
หากอยากลดน้ำหนัก ก่อนอื่นขอให้วาดภาพตัวเองในแบบที่อยากเป็นให้ชัดเจนที่สุด นอกจากนี้ให้ตั้งคำถามในแง่บวกกับสมอง เพื่อให้สมองบอกวิธีลดน้ำหนักให้ ลองถามสมองว่าทำยังไงถึงจะลดน้ำหนักได้ หลักในการตั้งคำถามคือให้คิดว่าลดน้ำหนักได้แล้ว เพราะสมองแยกแยะระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องโกหกไม่ได้ มันจึงพยายามคิดหาคำตอบ ภาพตัวเองในแบบที่อยากเป็น + ตั้งคำถามกับสมอง นี่คือวิธีที่ช่วยให้ลดน้ำหนักได้อย่างต่อเนื่อง
053 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (5)
การวิ่ง ถ้าเหนื่อยก็พักเดิน
สำหรับการวิ่งก็ไม่ควรตั้งเป้าหมายสูงเกินไปตั้งแต่ตอนแรกเช่นกัน เทคนิคคือให้ลดระดับความยากลงให้มากที่สุด สำหรับคนที่ไม่เคยวิ่งมาก่อน ให้เริ่มจากการออกไปนอกบ้านทุกวัน ต่อให้วิ่งได้แค่ร้อยเมตรแต่เรายังรู้สึกได้ถึงความสำเร็จว่าออกมานอกบ้านแล้ว เท่ากับวันนี้ทำกิจวัตรสำเร็จแล้ว สมองจะจดจำว่า วิ่ง = รู้สึกดี ดังนั้นวันรุ่งขึ้นจึงรู้สึกอยากทำกิจวัตรนี้อีก หลังจากออกนอกบ้านทุกวันได้แล้ว จึงค่อยมาตั้งเป้าหมายในการวิ่ง อย่างไรก็ตามให้คิดด้วยว่าถ้าเหนื่อยก็พักเดินได้ นอกจากนี้การตั้งเป้าที่เวลาแทนระยะทาง ยังทำให้ทำต่อเนื่องได้มากกว่า สิ่งสำคัญคือการถามสมองแล้วหาคำตอบให้ชัดเจนว่า อยากทำอย่างไร หากเห็นภาพอนาคตชัดเจน จะทำให้เกิดพลังเชื่อมั่นว่า ฉันทำได้ และมีกำลังใจทำกิจวัตรนั้นได้อย่างต่อเนื่อง
054 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (6)
การฝึกกล้ามเนื้อ หลักการคือค่อย ๆ เพิ่มจำนวนครั้งทีละน้อย
การฝึกกล้ามเนื้อก็ใช้หลักการเดียวกับการวิ่ง ต้องไม่ตั้งเป้าหมายไว้สูง ๆ ตั้งแต่แรก การกำหนดว่าถึงจะฝึกกล้ามเนื้อหน้าท้องแค่ครั้งเดียวก็ไม่เป็นไร ถือเป็นเทคนิคที่ช่วยให้ทำได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้คนที่ฝึกกล้ามเนื้อโดยค่อย ๆ เพิ่มจำนวนครั้งทีละน้อย จะทำต่อเนื่องได้อย่างสนุกสนานมากกว่าคนที่ทำได้ 30 ครั้งตั้งแต่แรกอีกด้วย กิจกรรมที่สัมพันธ์กับร่างกายโดยตรงอย่างการฝึกกล้ามเนื้อ จะต้องไม่ฝืนจนเกินกำลังโดยเด็ดขาด การเพิ่มภาระให้ร่างกายอย่างกระทันหันเช่นนี้ อาจทำให้บาดเจ็บที่สะโพกหรือไหล่ได้ ผลสุดท้ายเมื่อทำไปได้ไม่นานก็ต้องหยุดพัก และเมื่อหยุดพักไปแล้วการจะกลับมามีกำลังใจพอที่จะเริ่มใหม่ได้ ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและกำลังอีก หากอยากฝึกกล้ามเนื้อให้ได้อย่างต่อเนื่อง หลักสำคัญคือต้องเพิ่มจำนวนครั้งทีละน้อย เหมือนการเดินขึ้นบันได ข้อควรระวังคือต้องไม่กระโดดข้ามขั้น
055 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (7)
การทำงาน
กิจวัตรก่อนหน้าคือตัวช่วยเพิ่มคุณภาพ
และความเร็วในการทำงาน
หากอยากเป็นคนทำงานเก่ง ควรใส่ใจเรื่องกิจวัตรก่อนหน้า หากอยากเริ่มต้นทำงานอย่างเต็มกำลังตั้งแต่เช้า แนะนำให้ฝึกทำกิจวัตรตรวจงาน และนัดหมายของวันรุ่งขึ้นในคืนก่อนหน้า การตรวจสอบไว้ก่อนว่าพรุ่งนี้ต้องทำอะไรบ้าง จะทำให้คิดแผนการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานได้อย่างราบรื่น สมองจะพยายามเพื่อคนอื่นได้ดีกว่าเพื่อตัวเองหลายเท่า ทำให้มีกำลังใจทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีกิจวัตรก่อนหน้าอีกหลายอย่างที่ทำได้ เช่น เก็บกวาดโต๊ะในที่ทำงานก่อนกลับบ้าน เตรียมเอกสารที่จำเป็นสำหรับพรีเซ้นต์ ใส่กระเป๋าเอาไว้ ขัดรองเท้าที่จะสวมวันรุ่งขึ้นก่อนเข้านอน มีเรื่องมากมายที่ทำล่วงหน้าเพื่อไปทำงานได้อย่างราบรื่นในวันรุ่งขึ้น หากอยากเพิ่มคุณภาพและความเร็วในการทำงาน ให้จำไว้ว่าต้องคิดและลงมือทำกิจวัตรก่อนหน้าอยู่เสมอ
056 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (8)
การอบรมลูกน้อง
สอนโดยนำเสนอความสนุกสนานไม่ใช่ความถูกต้อง
หากอยากให้ลูกน้องทำงานเก่งขึ้น และมีกำลังใจในการทำงาน จำเป็นต้องกระตุ้นที่สมองของเขา เวลาสอนงานลูกน้องแทนที่จะสอนว่าทำแบบนี้ถึงจะถูกต้อง ให้สอนว่าทำแบบนี้แล้วสนุก หากลูกน้องรู้สึกตื่นเต้นที่เหลือเขาจะพยายามอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ภาพสินค้าวางเรียงรายบนชั้นวางของในซุปเปอร์มาเก็ตเป็นจริง โดยที่ไม่ต้องคอยบอกคอยสอนทุกขั้นตอนเลย หากอยากให้ลูกน้องมีแรงฮึดในการทำงาน วิธีที่ดีที่สุดคือการใส่ input ที่รู้สึกดีต่อสมองของอีกฝ่าย สิ่งสำคัญควรฝึกสังเกตพฤติกรรมของลูกน้องให้เป็นกิจวัตร ด้วยมุมมองว่าชมอย่างไรสมองของเขาถึงจะดีใจ
057 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (9)
การเพิ่มยอดขาย
กุญแจของการเพิ่มยอดขายคือความเชื่อมั่นและความรู้สึกขอบคุณ
สิ่งที่คนทำยอดขายได้ดีทุกคนมีเหมือนกันโดยไม่มีข้อยกเว้นคือ ความเชื่อมั่นในสินค้าของบริษัท และความรู้สึกขอบคุณต่อบริษัท หากเชื่อว่าสินค้านี้ดีจะคิดว่าควรส่งต่อสินค้านี้กับลูกค้าให้ได้มากที่สุด ดังนั้นจึงไม่ลังเลที่จะโทรศัพท์นัดหมาย หรือเดินตรงเข้าไปเสนอขายกับลูกค้า งานฝ่ายขายเป็นงานที่มีหลักการเรียบง่าย ยิ่งพบคนมากยิ่งคุยกับคนมากก็ยิ่งขายได้มาก ดังนั้นยิ่งเดินหน้าเข้าหาลูกค้ามากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มยอดขายได้มากเท่านั้น
058 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (10)
การติวสอบ
การวาดภาพน่าตื่นเต้นหลังสอบติด ช่วยให้ตั้งหน้าตั้งตาอ่านหนังสือได้ดี เมื่อถึงฤดูกาลสอบคนส่วนมากมักตั้งเป้าหมายว่า จะเข้ามหาวิทยาลัยไหน แต่การคิดแค่นี้ไม่ช่วยให้อดทน ต่อการติวหนังสือสอบอันยาวนาน และแสนทรมานได้ สิ่งสำคัญคือการวาดภาพน่าตื่นเต้นว่า ถ้าเข้ามหาวิทยาลัยนี้ได้แล้วจะเป็นยังไง ต้องวาดภาพตัวเองที่ทำให้รู้สึกสนุก เช่น ตัวเองที่ได้เรียนในที่ที่อยากเรียน ตัวเองที่มีเพื่อนใหม่มากมาย ตัวเองตอนกำลังทำกิจกรรมชมรม ยิ่งความปรารถนาใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งอดทนได้มากเท่านั้น การวาดภาพที่ชัดเจนว่า ถ้าได้เข้ามหาวิทยาลัยนี้อยากทำแบบนี้ จะช่วยให้ตั้งหน้าตั้งตาติวหนังสือได้นาน สำหรับคนที่ไม่เคยตั้งใจเรียนมาก่อน และไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำอะไรอย่างต่อเนื่องเลย แนะนำให้เริ่มจากการทำกิจวัตรเล็ก ๆ อย่างอื่นที่ไม่ใช่การติวสอบก่อน นั่นคืออย่างเช่น ต้องล้างตะเกียบและช้อนด้วยตัวเอง การให้เด็กมีประสบการณ์รักษาสัญญาที่ตัวเองเป็นคนกำหนดเอง ซึ่งไม่เกี่ยวกับเรื่องเรียนถือเป็นเรื่องสำคัญมาก คนที่ทำกิจวัตรเล็ก ๆ ได้จะรู้จักเอาประสบการณ์นี้ไปใช้ในการติวสอบอันยาวนาน เพราะทักษะในการทำอย่างต่อเนื่องเป็นสิ่งที่นำไปใช้ได้กับทุกเรื่อง คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ และไม่เคยทำอะไรต่อเนื่องกันได้นาน ให้เริ่มต้นจากกิจวัตรเล็ก ๆ อย่างอื่นที่ใครก็ทำได้ สิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการอ่านหนังสือ ให้เป็นกิจวัตรได้อย่างแน่นอน
059 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (11)
การเรียนภาษาอังกฤษ
วาดภาพเรื่องสนุก ๆ ไม่ใช่แค่คะแนนสอบ
คนที่อยากเรียนภาษาอังกฤษให้ได้อย่างต่อเนื่อง สามารถให้คำตอบได้ว่าเรียนภาษาอังกฤษไปเพื่ออะไร เหตุผลในการเรียนภาษาอังกฤษมีได้หลากหลาย เช่น ต้องใช้ในการทำงาน อยากย้ายไปทำงานที่บริษัทในเครือต่างประเทศ หรืออยากสื่อสารกับคนท้องถิ่นเวลาไปเที่ยวต่างประเทศ แต่น่าเสียดายที่เหตุผลเพียงเท่านี้ ไม่อาจทำให้เรียนได้อย่างต่อเนื่อง เพราะสิ่งที่ยังขาดไปคือความตื่นเต้น ไม่ใช่แค่เพื่ออะไร แต่ต้องวาดภาพความฝันให้ใหญ่ขึ้นว่า ถ้าพูดภาษาอังกฤษได้จะเจอเรื่องสนุก ๆ อะไรบ้าง ยิ่งมีความปรารถนาใหญ่เท่าไหร่ก็ยิ่งอดทนได้มากเท่านั้น และจะส่งผลให้ทำแต่ความพยายามเพื่อความฝันนั้น
060 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (12)
การอ่านหนังสือ แค่เริ่มจากเปิดหน้าหนังสือ
สำหรับคนที่อยากอ่านหนังสือ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติมให้เป็นกิจวัตรนั่นคือ การสัญญากับตัวเองว่าจะเปิดหนังสือทุกวัน การที่อยากอ่านหนังสือให้เป็นกิจวัตรแสดงว่า ที่ผ่านมาไม่เคยกระทั่งเปิดหนังสือเป็นกิจวัตรเลย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการลดระดับความยากลงมาให้ได้มากที่สุดก่อน แค่เปิดหน้าหนังสือต่อให้ไม่ชอบอ่านหนังสือแค่ไหนก็คงทำได้อยู่แล้ว ถ้าไม่อยากอ่านจะเปิดแล้วปิดเลยก็ไม่เป็นไร เพราะสัญญาว่าจะเปิดหนังสือ ต่อให้ไม่ได้อ่านสักหน้าก็ให้ถือว่าทำตามสัญญาแล้ว เมื่อเริ่มชินกับการเปิดหน้าหนังสือแล้ว ต่อมาให้เปลี่ยนเป็นอ่านแค่บรรทัดแรก จะอ่านบรรทัดเดียวแล้วจบเลย หรือถ้าอ่านแล้วชอบจะอ่านต่ออีกสัก 2-3 บรรทัดก็ได้ คนที่ไม่ชอบอ่านหนังสือมักมีประสบการณ์การอ่านหนังสือน่าเบื่อ หรืออ่านไม่เข้าใจมาก่อน สมองจึงตัดสินว่า อ่านหนังสือ = รู้สึกแย่ ทำให้กลายเป็นคนเกลียดหนังสือ ดังนั้นก่อนอื่นต้องเชื่อมโยงให้เกิดความรู้สึกว่า อ่านหนังสือ = รู้สึกดี ขอเพียงทำให้ตัวเองคิดว่าการเปิดหน้าหนังสือเป็นเรื่องสนุก ต่อให้เป็นหนังสือการ์ตูนก็ไม่เป็นไร เมื่อสมองจดจำข้อมูลว่าการเปิดหน้าหนังสือเป็นเรื่องสนุกได้แล้ว หลังจากนั้นต่อให้เปลี่ยนเป็นหนังสือนิยาย หนังสือธุรกิจ หรือหนังสือเรียน ก็จะเปิดหนังสือได้อย่างสนุกสนาน
061 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (13)
การออมเงิน
ตั้งชื่อเงินออมเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าเอาไว้ทำอะไร
ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจจะใช้เงินฟุ่มเฟือย แต่รู้ตัวอีกทีเงินก็ร่อยหรอจนไม่เหลือเก็บ สิ่งสำคัญสำหรับคนที่มีปัญหาแบบนี้คือ การกำหนดว่าออมเงินไว้เพื่ออะไร วิธีแนะนำคือการตั้งชื่อเงินออม โดยแบ่งเงินเก็บออกเป็น 3 บัญชีได้แก่
- บัญชีทั่วไปคือ บัญชีที่มีเงินเดือนเข้าเป็นประจำทุกเดือน
- บัญชีเพื่อวัตถุประสงค์คือ บัญชีสำหรับออมเงินเพื่อวัตถุประสงค์อะไรบางอย่าง เช่น สำหรับท่องเที่ยวกับครอบครัว สำหรับซื้อรถ สำหรับเงินดาวน์เพื่อซื้อบ้าน
- บัญชีนักปราชญ์คือ บัญชีสำหรับออมด้วยความตั้งใจว่า จะไม่ถอนออกมาตลอดชีวิต ซึ่งจะกำหนดจำนวนเงิน เช่น 10% ของเงินเดือนแล้วเก็บสะสมเรื่อยมา
การตั้งชื่อให้เงินออมเพื่อให้เห็นเป้าหมายชัดเจนคือ เทคนิคที่ช่วยให้ออมเงินได้จริง หากคิดอย่างคลุมเครือว่ามีเงินเหลือแล้วค่อยเก็บ จะไม่มีทางเก็บเงินได้เลย แต่การกำหนดให้ชัดเจนว่าเอาไว้ทำอะไร และตั้งใจที่จะทำเช่นนั้นจริง ๆ จะทำให้ออมเงินสำเร็จ
062 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (14)
ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
เปลี่ยนจากสิ่งที่เปลี่ยนได้ ไม่ใช่พยายามเปลี่ยนสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ สิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่กลมเกลียวคือ การคิดเพื่ออีกฝ่ายอย่างเป็นกิจวัตร หากคอยคิดว่าทำอย่างไรเขาถึงจะดีใจ ทำอย่างไรถึงจะช่วยเขาได้ จะแสดง output ด้วยคำพูดหรือสีหน้า ที่ทำให้อีกฝ่ายดีใจได้เองโดยธรรมชาติ คำพูดที่ง่ายที่สุดคือคำว่าขอบคุณ ไม่มีใครไม่ดีใจที่ได้ยินคำขอบคุณ ขอบคุณคือคำพูดวิเศษที่ทำให้ทุกคนยินดี การจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ต้องเปลี่ยนที่คำพูดหรือพฤติกรรมเท่านั้น
การเกลียดคนอื่นไม่ส่งผลดีอะไรเลย แค่นินทาคนอื่นหรือคิดเรื่องของเขาก็ทำให้เกิดวงจร input และ output ในแง่ลบหมุนเวียนอยู่ในหัวแล้ว หากเป็นเช่นนั้นจะเหลือแสดงความเกลียด ออกไปทางคำพูดและพฤติกรรมของตัวเองโดยไม่รู้ตัว อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องฝืนใจชอบอีกฝ่าย ไม่อาจหยุดความเกลียดซึ่งเป็นความคิดแง่ลบ ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนที่ output ได้แก่คำพูดสีหน้าและพฤติกรรมแทน แทนที่จะพยายามเปลี่ยนสิ่งที่เปลี่ยนไม่ได้ ต้องเริ่มเปลี่ยนจากสิ่งที่เปลี่ยนได้ก่อน นี่คือวิธีสร้างกิจวัตรเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ดี
063 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (15)
ความสัมพันธ์ในครอบครัว
เปลี่ยนเรื่องปกติให้เป็นเรื่องซาบซึ้ง
คำว่าขอบคุณเป็นคำพูดวิเศษ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดีขึ้น และแน่นอนว่าช่วยเปลี่ยนความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ด้วย มักมองทุกอย่างในความสัมพันธ์ของครอบครัวเป็นเรื่องปกติ การมีกิจวัตรทางความคิดเช่นนี้ ทำให้ลืมความรู้สึกขอบคุณที่มีต่ออีกฝ่าย เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่สื่อความรู้สึกขอบคุณให้กัน จึงเกิดระยะห่างภายในครอบครัว หากครอบครัวอบอวลไปด้วยบรรยากาศเช่นนี้ ให้ฝึกพูดขอบคุณกับคนในครอบครัวให้เป็นกิจวัตร การพูดขอบคุณบ่อย ๆ ทำให้อีกฝ่ายสื่อความรู้สึกขอบคุณกลับมา ต่างฝ่ายจึงหันมาให้ความสำคัญแก่กันและกัน นี่คือพลังของคำว่าขอบคุณ ลองเปลี่ยนเรื่องปกติที่มีต่อคนในครอบครัวให้กลายเป็นเรื่องซาบซึ้งดูบ้าง
064 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (16)
การดูแลจิตใจ
หาข้อดีหรือมองหาแง่มุมดี ๆ
ปัจจุบันมีคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ การสั่งสมความเครียดจากการทำงาน หรือปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ ปัญหาเช่นนี้มีแต่จะเพิ่มขึ้นไม่มีวันหมด การเขียนเรื่องดี ๆ ลงในสมุด เช่น เรื่องน่ายินดีขณะเดินทางไปทำงาน ร่วมสนุกในที่ทำงาน และความสุขในครอบครัว พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นกิจวัตรในการมองหาข้อดี หรือการมองหาแง่มุมดี ๆ จากทุกเรื่อง การมองแต่แง่มุมเลวร้ายจากสิ่งต่าง ๆ มีแต่จะทำให้เกิดความเครียด ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการใส่ใจ ที่จะฝึกกิจวัตรในการมองหาแง่มุมดี ๆ จากสิ่งต่าง ๆ หากอยากใช้ชีวิตด้วยความคิดแง่บวก และสภาพจิตใจที่แข็งแรงทุกวัน ต้องฝึกมองหาข้อดีให้เป็นกิจวัตร
065 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (17)
การทำความสะอาดบ้าน
เริ่มทำทันทีที่กลับถึงบ้าน ถ้าอยากทำความสะอาดบ้านให้เป็นกิจวัตร สิ่งสำคัญคือการลงมือทำก่อนที่สมองจะคิดในแง่ลบเสร็จสิ้นภายใน 0.5 วินาทีว่า ฉันเกลียดการทำความสะอาดบ้าน เมื่อกลับถึงบ้านจะต้องไม่มานั่งคิดว่าวันนี้จะทำความสะอาดดีไหม แต่ให้ลงมือทำความสะอาดทันทีที่เปิดประตูเข้าบ้าน เก็บขยะที่อยู่ตรงหน้า เอาเครื่องดูดฝุ่นออกมา หาอะไรก็ได้แต่ให้ลงมือทันที ให้คิดว่าทำเรื่องง่าย ๆ ที่ตัวเองทำได้ก็พอ เช่น เก็บขยะ 3 ชิ้น ดูดฝุ่น 5 นาที ถ้าเกลียดการเช็ดกระจก ให้ลองตั้งชื่อกระจกแต่ละบาน การเช็ดกระจกพร้อมกับคุยกับมันไปด้วย เช่น วันนี้ฮานาโกะยังสะอาดเหมือนเดิมเลยนะ จะทำให้งานน่าเบื่อกลายเป็นเรื่องสนุกได้ แม้จะฟังเหมือนเรื่องตลก แต่หากทำให้สมองรู้สึกสนุกขึ้นเล็กน้อย จะช่วยให้ทำกิจวัตรนั้นได้ง่ายขึ้น กว่าการไม่ทำอะไรเลย
066 ทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (18)
การเลี้ยงลูก
ตั้งคำถามแง่บวกว่า คิดว่าทำยังไงถึงจะทำได้ดีขึ้น สมองของเด็กถูกสร้างขึ้นตาม output ของพ่อแม่ ถ้อยคำ สีหน้า และพฤติกรรมของพ่อแม่จะถูก input ลงในสมองของลูก และทำให้เกิดเป็นกิจวัตรทางความคิด กรณีเช่นนี้ให้ลองเปลี่ยนคำพูดแทนที่จะใช้คำพูดแง่ลบว่า ทำแบบนี้ไม่ได้นะ ให้ตั้งคำถามในแง่บวกว่า คิดว่าทำยังไงถึงจะทำได้ดีขึ้น การตั้งคำถามเช่นนี้ จะทำให้สมองของเด็กพยายามหาคำตอบในแง่บวก จึงตั้งใจคิดหาวิธีที่จะทำให้ดีขึ้น การที่เด็กไม่ชอบเรียนหนังสือ เป็นเพราะสมองของเด็กมีข้อมูลเก่าที่บอกว่า เรียนหนังสือ = รู้สึกแย่ ไปแล้ว ดังนั้นเมื่อได้ยินคำว่าเรียนหนังสือ เด็กจึงมีปฏิกิริยาตอบโต้ทันทีว่าไม่อยากทำ และด้วยเหตุนี้จึงต้องเลี่ยงการใช้คำว่าเรียนหนังสือ แต่เปลี่ยนไปใช้คำอื่นแทน แนะนำให้ใช้คำในแง่บวก เช่น พัฒนาหรือก้าวหน้า ถ้าพ่อแม่พูดว่าจะอ่านหนังสือเหมือนกัน เรามาพัฒนาไปพร้อมกันนะ แล้วเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกเห็น เด็กจะคิดได้ว่าลองเปิดหนังสือเรียนดูดีกว่า ขอให้จำไว้ให้ดีว่า output ของพ่อแม่คือ input ของลูก
067 เลิกทำกิจวัตรที่ไม่ดี (1)
การเลิกเหล้าและบุหรี่
ทำ output ในแง่ลบว่ารสชาติไม่ได้เรื่อง อาการอยากเลิกแต่เลิกไม่ได้ เป็นเพราะสมองทำ Approach response ต่อเรื่องที่ไม่จำเป็น การที่อยากเลิกบุหรี่แต่เลิกไม่ได้เป็นเพราะสมองตัดสินว่า บุหรี่ = รู้สึกดี พอเห็นบุหรี่จึงยื่นมือเข้าหาทุกที ดังนั้นเวลาที่เห็นบุหรี่อยู่ตรงหน้าต้องไม่หยิบมาสูบทันที การทิ้งระยะเวลาสักครู่หนึ่งจะช่วยหยุดการลงมือทำ ทันทีที่คิดว่าอยากสูบ แต่หากสูบไปแล้วให้ใช้ถ้อยคำหรือพฤติกรรมที่เป็น output ในแง่ลบ เช่น พูดออกมาว่ารสชาติไม่ได้เรื่องหรือจงใจไอออกมา สมองจะหลงเชื่อว่าบุหรี่ไม่ใช่ของอร่อย บุหรี่ไม่ดีต่อร่างกาย หากทำเช่นนี้แล้วสร้างข้อมูลว่า บุหรี่ = รู้สึกแย่ได้ สมองจะมี Avoidance response ต่อบุหรี่ขึ้นมาเอง ผลคือทำให้เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ
การดื่มเหล้าก็เช่นเดียวกัน หากทำ output ที่สมองเชื่อว่า เหล้าไม่อร่อย เหล้าไม่ดีต่อสุขภาพ สมองจะเกิด Avoidance response ต่อเหล้า การเลิกหมายถึงการคงสภาพว่าวันนี้ก็ไม่ได้สูบบุหรี่ วันนี้ก็ไม่ได้ดื่มเหล้าให้ได้อย่างต่อเนื่อง ต้องจำใส่ใจไว้ว่าสิ่งสำคัญคือ การทำกิจวัตร วันนี้ก็ไม่ได้ทำอีกเช่นเคยให้ได้อย่างต่อเนื่อง
068 เลิกทำกิจวัตรที่ไม่ดี (2)
การพนัน
วิธีที่ได้ผลคือ การถามถึงความกลัว หลายคนเลิกการพนันไม่ได้ การเล่นการพนันจนเป็นกิจวัตร ไม่เพียงทำให้เสียเงินเสียทอง แต่ยังส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือทางสังคม และความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย วิธีที่ช่วยให้เลิกการพนันได้ผลคือ การตั้งคำถามถึงความกลัว ลองถามตัวเองว่า ถ้าเล่นต่อไปเรื่อย ๆ จะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าการถามถึงความปรารถนาก็ได้ผลเช่นกัน สิ่งสำคัญที่ช่วยให้ถอยห่างจากการพนันได้คือ การถามตัวเองเพื่อให้นึกถึงสิ่งที่สำคัญจริง ๆ ถอยห่างจากการพนันด้วยการถามถึงความกลัว และการถามถึงความปรารถนา
069 เลิกทำกิจวัตรที่ไม่ดี (3)
การกินจุบกินจิบ
ใส่เบรคให้สมองด้วยคำว่าก้อนไขมัน ทั้งที่อยากกินให้น้อยลงเพื่อลดน้ำหนัก แต่กลับเผลอกินจุบกินจิบทุกที คนที่มีปัญหาเช่นนี้ควรตั้งชื่อที่ทำให้สมอง อยากถอยห่างจากอาหารที่อยู่ตรงหน้า ตัวอย่างเช่น เค้กหรือเนื้อสัตว์ให้เรียกมันว่าก้อนไขมัน จากนั้นลองพูดออกมาว่าฉันกำลังจะกินก้อนไขมัน ไม่มีใครชอบคำว่าก้อนไขมันแน่ ดังนั้นสมองจึงเกิด Avoidance response และเบรคการกินตามใจปาก นอกจากนี้ยังหยุดกินด้วยสีหน้าได้ด้วย เช่น ถ้าอยากเลี่ยงของหวานให้ลองไม่ยิ้มขณะกินของหวานดู พูดง่าย ๆ ว่าถ้าไม่ยิ้มสมองจะเชื่อว่าถึงกินของอร่อยก็ไม่มีเรื่องดี ๆ ดังนั้นครั้งต่อไปแม้จะเห็นของหวานอยู่ตรงหน้าก็จะไม่กินเยอะตามใจปากอีก หากเปลี่ยนคำพูดและสีหน้าเพื่อหลอกสมอง จะควบคุมความอยากอาหารของตัวเองได้
070 เลิกทำกิจวัตรที่ไม่ดี (4)
การเล่นเกม
ลองเปลี่ยนมาเรียกว่าของเล่นหลอกเด็กดูสิ หากอยากเลิกติดเกมการเปลี่ยนคำเรียกถือเป็นวิธีที่ได้ผล เช่น ลองเปลี่ยนมาเรียกว่าของเล่นหลอกเด็กแทนคำว่าเกม ต่อให้คิดว่าอยากเล่นเกม แต่คงไม่มีใครคิดว่าอยากเล่นของเล่นหลอกเด็ก การเปลี่ยนคำเพื่อให้สมองเกิด Avoidance response เช่นนี้จะช่วยให้ค่อย ๆ ถอยห่างจากเกมไปเอง นอกจากนี้ยังใช้วิธีเริ่มต้นทำกิจวัตรอย่างอื่นแทนได้ด้วย คนส่วนใหญ่มักชอบเล่นเกมขณะเดินทางไปทำงานหรือไปเรียน ดังนั้นถ้าเริ่มทำกิจวัตรอื่น เช่น เปิดหนังสือขณะอยู่บนรถ หรือฟังคลิปสอนภาษาอังกฤษขณะโดยสารรถไฟ จะทำให้ไม่มีเวลาว่างมาเล่นเกม
071 สร้างกิจวัตรที่ดีแล้วใช้ชีวิตอย่างยอดเยี่ยม
แม้แต่ชะตาชีวิตก็เปลี่ยนได้ด้วยพลังแห่งกิจวัตร ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหนในชีวิต กิจวัตรคือพันธมิตรที่เข้มแข็งเสมอ ทุกคนสามารถทำกิจวัตรที่ดีอย่างต่อเนื่อง และเลิกกิจวัตรที่ไม่ดีได้ทุกอย่าง ขึ้นอยู่กับว่าคิดและลงมือทำแบบไหน ไม่ว่าจะได้ข้อมูลแบบไหนมา input ใส่ลงในสมองก็สามารถเปลี่ยนให้เกิด output ในแง่บวกได้ ด้วยคำพูดหรือพฤติกรรมของตัวเอง คนที่ทำ output ในแง่บวกจะกลายเป็น input ในแง่บวกให้กับคนรอบข้าง ไม่ว่าคนนี้ไปอยู่ที่ไหนก็จะสร้างบรรยากาศสดใสและมีพลังขึ้นมา สิ่งนี้ส่งผลให้เขาทำทุกอย่างได้ดี คนที่ใคร ๆ คิดว่าเขาเป็นคนโชคดี แท้จริงแล้วเป็นเพราะเขาสร้างตัวเองที่เป็นคนโชคดีนั้น ด้วยกิจวัตรของตัวเองต่างหาก มนุษย์ไม่มีข้อแตกต่างด้านทักษะ สิ่งที่มีเป็นเพียงข้อแตกต่างทางกิจวัตรเท่านั้นเอง ชีวิตจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับกิจวัตร ดังนั้นขอให้ทุกคนสร้างกิจวัตรที่ดี แล้วใช้ชีวิตได้อย่างยอดเยี่ยม
บทส่งท้าย
หลายคนอาจใช้ชีวิตมาโดยไม่เคยรู้เลยว่า การทำกิจวัตรมีความสำคัญ นั่นถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก หากรู้สึกว่าชีวิตยังขาดอะไรไป หรือมีเรื่องที่ยังทำได้ไม่ดีพอ สามารถเปลี่ยนเรื่องเหล่านั้นได้ด้วยพลังแห่งกิจวัตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เพราะกิจวัตรส่งผลต่อชีวิต 100% ดังนั้นไม่ว่าตอนนี้ตำแหน่งที่ยืนอยู่จะเป็นอย่างไร ก็สามารถตั้งเป้าหมายให้สูงเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อได้ทำกิจวัตรเล็ก ๆ ไปทีละอย่าง ชีวิตก็เปลี่ยนไป ดังนั้นควรมั่นใจในตัวเอง แล้วย่างเท้าก้าวแรกออกไป จึงจะพบกับความสมบูรณ์ในชีวิตของตัวเอง.