ปัจจุบันนาทีนี้ชื่อ คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี CEO กัลฟ์ (GULF) น่าจะไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะนอกจากจะเป็นนักธุรกิจวงการพลังงานรายใหญ่อย่างกัลฟ์ หรือเรียกได้ว่าเป็นเจ้าสัวพลังงานแล้ว ยังมีธุรกิจใดบ้างที่อยู่ในความครอบครอง วันนี้เราจะมาเล่า update ให้ฟังกัน
เปิดประวัติ
คุณสารัชถ์ รัตนาวะดี เกิดวันที่ 12 ก.ค.2508 เป็นบุตรของ พล.อ.ถาวร รัตนาวะดี อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ กองบัญชาการทหารสูงสุด กับนางประทุม รัตนาวะดี น้องสาวของนายวาริน พูนศิริวงศ์ นักธุรกิจและเจ้าของหนังสือพิมพ์แนวหน้า เขามีพี่น้อง 3 คน ตนเองเป็นบุตรคนกลาง มีพี่ชายชื่อ สาณิต และน้องชายชื่อ สฤษดิ์
สมรสกับคุณนลินี ตันติสุนทร บุตรสาวของนายรักษ์ ตันติสุนทร อดีต ส.ส.จังหวัดตาก (พรรคประชาธิปัตย์) มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ สาริศ กับ สิตมน
ประวัติการศึกษา ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (วิศวกรรมศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, Master of Science (Engineering Management), University of Southern California ประเทศสหรัฐอเมริกา, ปริญญาตรี วิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เปิดอาณาจักร
GULF หรือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งปี 2554 โดยมีคุณสารัชถ์ถือหุ้นอยู่ 35.81% หรือ 4,202,177,897หุ้น (ณ 20 ก.พ.2568 ก่อนควบรวมกับ INTUCH)
INTUCH หรือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วนถือหุ้น 47.37% (ณ 21 ส.ค.2567 ก่อนควบรวม)
ADVANC หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 40.44% (ณ 21 ก.พ.2568) ดังนั้น รายได้หลักของ INTUCH ก็มาจากADVANC นั่นเอง
THAICOM หรือ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท กัลฟ์ เอดจ์ จำกัดสัดส่วน 41.23% (ณ 21 ก.พ.2568) ซึ่งกัลฟ์ เอดจ์เป็นบริษัทในเครือที่ บริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ถือหุ้นในสัดส่วน 100%
และในวันที่ 1 เม.ย. 2568 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้มีการควบรวมกิจการกับ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทใหม่ชื่อว่าบริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อย่อ GULF โดยมีคุณสารัชถ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สัดส่วน28.96% หรือ 4,327,148,478 หุ้น
โดยสามารถแบ่งธุรกิจเป็นแต่ละประเภทดังนี้
1.) ธุรกิจพลังงาน ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม, พลังน้ำ, ชีวมวล, พลังงานขยะ) ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
2.) ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและโลจิสติกส์ เช่น การลงทุนในโครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน – นครราชสีมา (M6) และบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) ผ่านบริษัท *BGSR 6 และ BGSR 81 (*กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง BTS-GULF-STEC-RATCH เซ็นสัญญากับกรมทางหลวง) รวมถึงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 เป็นต้น
3.) ธุรกิจดิจิทัล ได้แก่
- ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและเทคโนโลยีอัจฉริยะ ผ่านทาง ADVANC ผู้นำในการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของไทย อย่างที่เรารู้จักกันดีคือการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G และ 5G ภายใต้แบรนด์ AIS การให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านความเร็วสูงภายใต้แบรนด์ AIS Fibre3 และ 3BB Fibre3 การให้บริการดิจิทัลโซลูชั่นสำหรับภาคธุรกิจ ภายใต้แบรนด์ AIS Business การให้บริการดิจิทัลเซอร์วิส (Digital Services)
- ธุรกิจดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศใหม่ โดยมี THCOM ซึ่งเป็นผู้นำในการให้บริการด้านโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมของประเทศไทย ทั้งดาวเทียมแบบทั่วไป (Conventional satellite) และดาวเทียมแบบบรอดแบนด์ (High-throughput satellite) และยังต่อยอดความเชี่ยวชาญสู่ธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมสำรวจโลก มาวิเคราะห์ร่วมกับเทคโนโลยี AI และการทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองโดยใช้ข้อมูล (Machine learning) โดยมีการดำเนินธุรกิจด้านโทรคมนาคมใน สปป. ลาว ผ่านการลงทุนในบริษัท เชนนิงตัน อินเวสเม้นท์ส พีทีอี จำกัด อีกด้วย
- ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล GULF ได้จับมือ Binance Capital Management (ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอันดับ 1 ของโลก) ตั้งบริษัทร่วมทุน Gulf Binance เพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยก.ล.ต. อนุมัติใบอนุญาตในเดือนพ.ย. 2566 และเปิดให้บริการสู่สาธารณชนตั้งแต่เดือนม.ค. 2567
- ธุรกิจคลาวด์ โดยการร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการระบบคลาวด์ Google Distributed Cloud air-gapped พร้อมจ่อขยายธุรกิจไปสู่บริการด้านอื่นๆ เช่น AI, cybersecurity ในอนาคต
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่บริษัทตัวอย่างที่ยกขึ้น(แท้จริงยังมีบริษัทย่อยอีกมากมาย)
เปิดผลดำเนินงาน GULF
- ปี 2567 กำไร 18,170 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณ 22.3%) รายได้ 124,585 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ประมาณ 6.5%)
- ปี 2566 กำไร 14,858 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 30.1%) รายได้ 116,951 ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ประมาณ 23.0%)
- ปี 2565 กำไร 11,418 ล้านบาท รายได้ 95,076 ล้านบาท
สาระน่ารู้เพิ่มเติม:
- จากวารสารการเงินธนาคารฉบับเดือนธ.ค.2567 แชมป์เศรษฐีหุ้นไทยประจำปี 2567 คือคุณสารัชถ์ ซึ่งมีมูลค่าหุ้น 2.4แสนล้านบาท และได้แชมป์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 6
- INTUCH เดิมมาจาก “ชินคอร์ป” ของตระกูลชินวัตร โดยในวันที่ 23 มกราคม 2549 ได้มีการขายให้บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ของสิงคโปร์ ในสัดส่วน 49.6% มูลค่า 73,271 ล้านบาท ซึ่งต่อมาในปี 2557 ได้ถูกเปลี่ยนชื่อจาก “SHIN” เป็น “INTUCH” และในปี 2563 GULF ได้เริ่มเข้าไปทยอยสะสมหุ้นใน INTUCH เรื่อยมาจนเกิดการควบรวมกิจการแล้วเสร็จในวันที่ 1 เม.ย. 2568
สรุป
ข้อดีของการควบรวมกิจการนอกจากจะมีอำนาจควบคุมการตัดสินใจต่างๆได้เต็มที่ ยังได้ประโยชน์ในเรื่องการขยายธุรกิจ สามารถเพิ่มอำนาจต่อรองได้มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ อีกทั้งประโยชน์ทางด้านภาษีอีกด้วย ก็ต้องมาดูกันต่อไปว่าวิสัยทัศน์ของคุณสารัชถ์ จะเปิดทางให้อาณาจักร GULF ขยายไปได้อีกยาวไกลแค่ไหน
(ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.gulf.co.th, https://gedinvestor.gulf.co.th, https://investor.gulf.co.th/th/shareholder-center/major-shareholders, https://www.thaipbs.or.th/news/)