สั่งซื้อหนังสือ “พลังแห่งการตั้งคำถาม” (คลิ๊ก)
สรุปหนังสือ พลังแห่งการตั้งคำถาม
เวลาที่ไม่เข้าใจหรือไม่รู้อะไรให้ถามคนอื่น การตั้งคำถามอาจดูเหมือนเป็นการเปิดเผยความอ่อนด้อยของตัวเอง แต่ความจริงแล้วคนหัวดีส่วนใหญ่ชอบตั้งคำถาม และกล้าพูดว่าไม่รู้ดังนั้น การตั้งคำถามจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงออกถึงความโง่เขลาแต่อย่างใด คนเราไม่ว่าจะฉลาดแค่ไหน ก็ย่อมมีสิ่งที่ไม่รู้และมีเรื่องที่ทำให้รู้สึกคลุมเครือกันทั้งนั้น ความรู้สึกคลุมเครือไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายอะไร
ทุกคนล้วนเกิดความรู้สึกคลุมเครือได้ ด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันไป เช่น กลุ้มใจว่าควรเรียนต่อมหาวิทยาลัยหรือหางานทำดี สับสนว่าลูกค้าต้องการสินค้าหรือบริการแบบไหนกันแน่ ในการกำจัดความรู้สึกคลุมเครือนี้ ต้องตั้งคำถามกับตัวเองหรือคนอื่นควรทำอย่างไรดี การตั้งคำถามนี้กับตัวเองหรือคนอื่น จะช่วยจุดประกายให้สามารถก้าวไปข้างหน้า และเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ปัจจุบันไปได้อย่างสิ้นเชิง
การตั้งคำถามคือพลังที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงตัวเอง และสถานการณ์ปัจจุบันไปอย่างมหาศาล คนที่อยากเก่งขึ้นกว่าเดิม คนที่อยากพบเจอกับสิ่งที่ไม่เคยรู้จัก หรือคนที่อยากทำให้สังคมดีขึ้น คือคนที่รู้จักตั้งคำถามกับสถานการปัจจุบันของตัวเอง จากนั้นก็คิดว่าต้องทำยังไง เรื่องที่คิดไว้ถึงจะเป็นจริงได้ พร้อมกับฟันฝ่าสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อมุ่งไปข้างหน้า แต่การตั้งคำถามก็มีทั้งแบบที่ดีและไม่ดี หากตั้งคำถามได้ไม่ดี ก็จะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ได้ ส่งผลให้สถานการณ์ยังคงดำเนินไปแบบเดิม
ในทางกลับกันหากตั้งคำถามได้ดี ก็จะมีพลังในการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งยังเคยชินกับการคิดหาทางทำให้โลกใบนี้ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จึงควรนำการตั้งคำถามไปใช้เปลี่ยนแปลงตัวเอง สภาพแวดล้อมของตัวเอง รวมถึงโลกใบนี้ให้ดีขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่
บทที่ 1
การตั้งคำถามเปลี่ยนชีวิตได้
คนแบบไหนที่สามารถตั้งคำถามได้ดี คนที่สามารถตั้งคำถามซึ่งช่วยคลี่คลายสถานการณ์ยุ่งยากได้ในพริบตาคือคนหัวดี คนที่สามารถตั้งคำถามได้คือผู้ที่น่ายกย่อง ในโลกคณิตศาสตร์ทฤษฎีบทสุดท้ายของแฟร์มาต์คือโจทย์สุดหินที่ไม่มีใครหาคำตอบได้มาเนิ่นนาน คนที่ตั้งโจทย์นี้ขึ้นมาคือ ปิแยร์ เดอ แฟร์มาต์ นักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 17 และโจทก์นี้เพิ่งได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องในเชิงคณิตศาสตร์ เมื่อปี 1994 โดยนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษที่ชื่อว่า แอนดรูว์ ไวลส์
คิดว่าระหว่าง แฟร์มาต์ ซึ่งเป็นผู้ตั้งโจทย์กับ ไวลส์ ที่เป็นผู้แก้ไขโจทย์ ใครสมควรจะได้รับการยกย่องมากกว่ากัน แน่นอนว่าทั้งคู่ต่างก็เป็นคนหัวดีอย่างไม่ต้องสงสัย แฟร์มาต์ ไม่ได้พิสูจน์โจทย์นี้ออกมาให้ดู แต่เขียนข้อความไว้ในกระดาษว่า ฉันค้นพบวิธีอันน่าอัศจรรย์ที่สามารถพิสูจน์โจทย์นี้ได้ แต่พื้นที่กระดาษเหลือน้อยเกินกว่าจะเขียนคำอธิบาย ในทางกลับกัน ไวลส์ เอาความรู้เชิงคณิตศาสตร์ชั้นสูงอย่างข้อคาดการณ์ของ ทานิยามะ ชิมูระ (Taniyame Shimura Conjecture) และทฤษฎีของฟังก์ชันเชิงวงรี (Elliptic Function Theory) มาใช้ในการแก้โจทย์
น่าเสียดายที่แม้ ไวลส์ จะแก้โจทย์ได้อย่างยากลำบาก แต่ในประวัติศาสตร์ของวงการคณิตศาสตร์ แฟร์มาต์ กลับเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องมากกว่า จะเห็นได้ว่าผู้คนโลกนี้ส่วนใหญ่คิดว่าคนตั้งโจทย์ (คนที่ตั้งคำถาม) น่ายกย่องกว่าคนแก้โจทย์ (คนที่คิดหาคำตอบ)
การตั้งคำถามก่อให้เกิดนวัตกรรม หนึ่งในโปรเจคที่บริษัท google ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2016 คือโปรเจกต์ลูน (Project Loon) และนี่คือคำถามที่ทีมงานของ google ตั้งขึ้นมา ต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจากทุกจุดบนโลกนี้ได้ หากสามารถสร้างโลกที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ ก็จะพลิกโฉมหน้าโลกไปอย่างสิ้นเชิง
google มองเห็นโลกใบใหม่ จึงไม่พอใจกับสถานการณ์ปัจจุบัน และตั้งคำถามเรื่อยมา ในตอนนี้คำตอบที่ google คิดได้คือ ถ้าลองอาศัยบอลลูนนำสถานีฐานของอินเตอร์เน็ตขึ้นไปลอยอยู่บนฟ้าผลจะเป็นอย่างไร ในความเป็นจริงแล้ว หากปล่อยบอลลูนที่มีเครื่องส่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตไร้สายหลายพันเครื่อง ขึ้นไปลอยอยู่ในบรรยากาศชั้นสตราโตสเฟียร์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตก็จะครอบคลุมทุกพื้นที่บนโลก ไม่ว่าจะเป็นกลางทะเลทราย หรือบนภูเขาก็สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ทุกที่ หากมีสถานีฐานลอยฟ้า แม้จะเกิดภัยพิบัติจนส่งผลให้สถานีฐานภาคพื้นดินใช้การไม่ได้ ก็ยังสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ มันช่างเป็นไอเดียที่ล้ำสมัยจริง ๆ
อย่างไรก็ตามใช่ว่าคำตอบที่ทีมงานของ google คิดขึ้นมาจะไม่มีปัญหาเลย จริงอยู่ว่าถ้าทำสำเร็จก็คงสามารถเปลี่ยนโลกได้ และถ้ามีบอลลูนจำนวนมากลอยอยู่บนฟ้า ก็คงเป็นภาพที่สวยงามมาก แต่ปัญหาคือบอลลูนมักแตกง่าย และควบคุมได้ยาก คำตอบนี้จึงไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด ความจริงแล้วมันอาจมีไอเดียที่ดีกว่านี้
ลองทำตามไอเดียที่คิดขึ้นได้ในทันที บางทีมันอาจมีไอเดียอื่นที่ดีกว่า แต่ทางที่ดีควรลองทำตามไอเดียที่คิดขึ้นได้ก่อน เพราะนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกนั้นเกิดจากความคิดง่าย ๆ ที่ว่า ถ้ามีความเป็นไปได้ที่จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแม้เพียงสักนิดก็จะลองทำดู ถ้ามัวแต่ลังเลเพราะคิดว่าต้องมีไอเดียที่ดีกว่านี้แน่ จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย ให้ตั้งคำถามที่มีรายละเอียดชัดเจนว่า ถ้าลองทำแบบนี้จะเป็นยังไง แล้วทุกอย่างก็จะเริ่มเปลี่ยนแปลง
สิ่งที่ผู้สร้างนวัตกรรมยึดมั่นคือ ไม่ปล่อยให้ปัญหาอยู่ในสภาพที่คลุมเครือ โดยอ้างว่าไม่รู้คำตอบที่ถูกต้อง แต่จะเปลี่ยนคำตอบที่คิดได้ คำถามที่ตั้งขึ้นให้มีความชัดเจน และสามารถลงมือทำด้วยตัวเองได้ จากนั้นก็ลงมือทำตามที่คิดไว้ เพื่อขับเคลื่อนทุกสิ่งให้เดินหน้า นี่คือความหมายของการตั้งคำถามที่เปลี่ยนเป็นกุญแจสำคัญได้
ในโลกนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว ความจริงแล้วในโลกนี้ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบเจอนั้น ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว ทั้งที่เป็นอย่างนั้นแต่ทุกคนกลับคิดว่า ต้องมีคำตอบที่ทำให้รู้ว่าควรทำแบบนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องสำคัญในชีวิต อาจคิดว่าควรถามคนอื่น และรับฟังความเห็นจากคนจำนวนมาก แต่ความจริงแล้วการคิดว่าใครสักคน จะช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดให้เป็นสิ่งที่ผิดมหันต์ เพราะมันไม่ต่างอะไรกับการที่เลิกใช้ความคิดของตัวเองเลย
คนหัวดีมักตั้งคำถามกับตัวเอง ถึงแม้จะเปลี่ยนโลกนี้ไม่ได้ แต่สามารถหาทางพลิกแพลงเพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานได้ แม้จะมีบางสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องรู้ว่านั่นไม่ใช่ทั้งหมด คนหัวดีจะรู้ว่าไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว และตั้งคำถามอยู่เรื่อย ๆ พวกเขาไม่ได้ทำไปเพื่อหาคำตอบประเภทที่ว่า ควรทำแบบนี้ แต่เพื่อทำให้ปัญหามีความชัดเจน และคิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ความจริงทางวิทยาศาสตร์ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป สิ่งที่ถูกเรียกว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ความจริงที่ถูกต้องเสมอไป สมมุติว่าอย่างนี้ จากนั้นถ้าใช้วิธีการนี้ ก็จะได้ผลลัพธ์แบบนี้ การตั้งสมมติฐานเช่นนี้ อาจใช้ไม่ได้ในบางกรณี ดังนั้น คำตอบที่เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์เอง ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป ในโลกนี้มีเรื่องที่ไม่รู้อยู่มากมาย โลกนี้กว้างใหญ่กว่าที่รู้มากนัก สามารถพูดว่าไม่รู้โดยไม่รู้สึกอับอาย การไม่รู้นี่แหละที่ทำให้สามารถตั้งคำถามง่าย ๆ อย่าง ถ้าทำแบบนี้ผลจะเป็นอย่างไร? ได้อย่างมืออาชีพ
ใคร ๆ ก็ฝึกทักษะการตั้งคำถามได้ ชื่อเมืองหลวงของประเทศเคนยาคืออะไร? หรือ ภูเขาอะไรสูงที่สุดในโลก? หากเป็นคำถามที่มีคำตอบชัดเจนแบบนี้ ไม่ว่าใครก็คงตอบเหมือนกันหมด นี่คือการตั้งคำถามแบบที่กำหนดคำตอบที่ถูกต้องเอาไว้แล้ว แต่สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ให้ความสำคัญคือ การตั้งคำถามเพื่อค้นหาปัญหาและวิธีแก้ไขปัญหา ในสถานการณ์ที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี ต้องตั้งคำถามแบบนี้ ทำอย่างไรถึงจะใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น? การตั้งคำถามจะช่วยให้ปัญหาปรากฏเด่นชัดขึ้น และสามารถคิดหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ ไม่มีใครรู้คำตอบที่ถูกต้อง และวิธีแก้ปัญหาที่คิดได้ก็อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ถึงอย่างนั้นการค้นพบปัญหาก็มีส่วนช่วยให้โลกเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด โดยรอบตัวมีเรื่องที่ต้องตั้งคำถามซุกซ่อนอยู่เต็มไปหมด
คิดด้วยสมองของตัวเอง อยากให้โลกเป็นแบบนี้ เป็นปัญหาที่ต้องคิดด้วยตัวเอง การจะตั้งคำถามได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับความเคยชิน ถ้ารู้สึกกังวลเพราะนึกไม่ออกว่าอยากให้โลกเป็นแบบไหน เป็นไปได้ว่าอาจคิดมากเกินไป อันที่จริงแค่คิดพลิกแพลงเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อให้สภาพแวดล้อมรอบตัวดีขึ้นก็ได้ เช่น ถ้าทำแบบนี้การทำงานในบริษัทจะคล่องตัวขึ้นหรือเปล่า ถ้าคนนั้นเข้าร่วมประชุมด้วยความเห็นจะมีความหลากหลาย และสามารถถกประเด็นกันได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้นไหม
แม้จะมีคนเสนอไอเดียมากมายในเวลาอันรวดเร็ว แต่คำถามสำคัญที่สามารถเปลี่ยนโลกได้อย่างสิ้นเชิงนั้น ไม่ได้ปรากฏให้เห็นบ่อยนัก การนำเสนอปัญหาหรือคำถามอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ตั้งคำถามได้ดีขึ้นทีละนิด ขอแค่มีความเป็นไปได้ว่า จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ แม้เพียงสักนิดไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน ก็ถือว่าเป็นคำถามที่คู่ควรต่อการนำเสนอแล้ว เวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับปัญหา ถ้าลองทำแล้วสถานการณ์ดีขึ้นแม้เพียงสักนิด ก็ถือว่าก้าวหน้าไปขั้นหนึ่งแล้ว
แม้จะไม่สามารถแก้ไขที่ต้นตอของปัญหาได้ แต่อย่างน้อยสถานการณ์ก็ดีขึ้น ถ้ามัวแต่คิดหาคำถามและคำตอบที่สมบูรณ์แบบ คนเราก็คงไม่ก้าวหน้าไปไหน ดังนั้น แค่ตั้งใจทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะคิดได้ ภายใต้กรอบเวลาที่มีก็พอ คำถามอันยอดเยี่ยม ไม่ใช่สิ่งที่สามารถคิดขึ้นมาได้แบบทันทีทันใด แต่ถ้าได้ลองคิดคำถามด้วยตัวเอง แม้จะประสบความล้มเหลว หรือไม่เห็นผลในทันที ความทรงจำขณะที่คิดคำถามและลงมือทำ จะแปรเปลี่ยนเป็นประสบการณ์เก็บไว้ในสมองเสมอ
ในความเป็นจริง แม้จะประสบความล้มเหลว แต่ก็ยังได้เรียนรู้ว่าวิธีการนั้นไม่ได้ผล จึงกล่าวได้ว่าก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นหนึ่งแล้ว แม้จะโดนผลักให้ล้มลง ก็ต้องลุกขึ้นมาใหม่ทุกครั้งเหมือนซอมบี้ แนะนำให้ใช้ชีวิตแบบนั้น
บทที่ 2
ทักษะการตั้งคำถามคืออะไร
คำถามกับข้อสงสัยไม่เหมือนกัน สิ่งที่คล้ายกับคำถามก็คือข้อสงสัย แม้จะดูคล้ายกันแต่สามารถแบ่งแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันได้
ข้อสงสัย คือความรู้สึกผิดปกติ หรือความรู้สึกติดใจสงสัยต่อเรื่องที่มีความคลุมเครือ การตั้งข้อสงสัยเป็นทักษะการใช้ความรู้สึก (ทักษะในการรับรู้ถึงความรู้สึกคลุมเครือและความผิดปกติ)
คำถาม คือสิ่งที่มีความชัดเจน และชักนำไปสู่การแก้ไขปัญหา การตั้งคำถามเป็นทักษะการใช้หลักเหตุผล (ทักษะในการคิดคำถาม ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน)
สิ่งสำคัญก็คือต้องเปลี่ยนข้อสงสัยที่คลุมเครือ ให้กลายเป็นคำถามที่มีความชัดเจน การจะเปลี่ยนข้อสงสัยที่คลุมเครือให้เป็นคำถามที่ดีได้นั้น ต้องเชื่อมโยงความรู้สึกกับเหตุผลเข้าด้วยกัน และสิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญก็คือ การรู้เท่าทันตัวเอง (metacognition)
การรู้เท่าทันตัวเองคือ ความสามารถในการสังเกตความรู้สึกของตัวเองอย่างสุขุม และตระหนักรู้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันของตัวเองเป็นอย่างไร หรือตอนนี้ตัวเองกำลังรู้สึกแบบไหน คำถามที่ดีจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่รู้เท่าทันตัวเองอยู่เสมอ ทักษะการใช้ความรู้สึก ทักษะการรู้เท่าทันตัวเอง และทักษะการใช้หลักเหตุผล นี่คือ 3 ทักษะที่ช่วยให้สามารถตั้งคำถามที่ดีได้
รับรู้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในใจ อย่าปล่อยให้ความรู้สึกผิดปกตินั้น อยู่ในสภาพคลุมเครือต่อไป ต้องรู้เท่าทันตัวเองว่าไม่ชอบเรื่องแบบนี้ และตั้งคำถามต่อไปว่า ถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไรถึงจะกำจัดได้ นี่คือการตั้งคำถามตามหลักเหตุผล วิธีนี้จะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทักษะการใช้ความรู้สึกช่วยให้รับรู้ ถึงความผิดปกติของสถานการณ์ปัจจุบัน ทักษะการรู้เท่าทันตัวเองช่วยให้มองเห็นปัญหา ทักษะการใช้หลักเหตุผลช่วยให้คิดได้ว่า ควรทำอย่างไรเมื่อใช้ทักษะเหล่านี้ไปตามลำดับ ก็จะเกิดเป็นคำถามที่ดีขึ้นมา จำไว้ว่าความรู้สึกคือ จุดเริ่มต้นของการตั้งคำถาม
เชื่อมโยงความรู้สึกกับเหตุผลเข้าด้วยกัน เมื่อพูดถึงทักษะการตั้งคำถาม ก็จำเป็นต้องอธิบายด้วยว่า ความรู้สึกและเหตุผลคืออะไร ปัจจุบันนี้ในทางประสาทวิทยาให้ความหมายคำว่าความรู้สึกและเหตุผล แตกต่างจากความหมายที่ใช้กันในชีวิตประจำวันเล็กน้อย โดยมองว่าความรู้สึกกับเหตุผลคือสิ่งเดียวกัน เพราะหากคนเราไม่มีความรู้สึก ก็จะปราศจากเหตุผล สิ่งที่คิดว่า นี่คือการคิดอย่างมีสติ นี่คือตรรกะ นี่คือสิ่งที่ถูกต้อง
ความจริงแล้ว ต่างก็ถูกควบคุมโดยความรู้สึก จะเห็นได้ว่ามนุษย์สร้างความเชื่อขึ้นมาบนพื้นฐานความรู้สึกของตัวเอง ความจริงที่อยู่ในใจถูกสร้างขึ้นมาจากความรู้สึก พูดง่าย ๆ ก็คือวิธีมองโลกได้รับอิทธิพลมาจากความรู้สึกนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงไม่ควรกลบเกลื่อนความรู้สึกของตัวเอง สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือ การรับรู้ความรู้สึกตามความเป็นจริงก็คือรู้เท่าทันตัวเอง อย่ากลบเกลื่อนความรู้สึกแย่ ด้วยการคิดเข้าข้างตัวเอง ต้องรู้เท่าทันตัวเองว่า ตอนนี้กำลังเสียใจกับเรื่องนี้ ตอนนี้กำลังเศร้าเพราะเจ็บปวดกับเรื่องนั้น และคิดในแง่บวกว่าควรทำอย่างไรดี นี่คือจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถาม
คนเราทุกคนล้วนมีอคติ การมีชีวิตคือการมีอคติ คนเราไม่ใช่พระเจ้าจึงมีอคติกันทุกคน อาจกล่าวได้ว่าอคติคือสิ่งที่แสดงออกถึงตัวตนนั่นเอง ทุกคนล้วนมีอคติและจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงควรรู้เท่าทันสิ่งเหล่านั้น เพื่อจะได้บุกเบิกหนทางของตัวเองได้สำเร็จ การมีอคติมักถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี แต่ความจริงแล้วไม่ใช่แบบนั้นเลย การจะหาคำตอบที่ถูกต้องตามหลักเหตุผลให้กับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ
หากความรู้สึกไม่สร้างอคติขึ้นมา ก็คงไม่สามารถลงมือทำอะไรได้เลย ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การมีอคติ แต่อยู่ที่การไม่รู้ตัวว่ามีอคติต่างหาก พลังที่ชักนำไปสู่โลกใหม่ด้วยการแก้ไขอคติของตัวเอง ลงมือทำ และล้มเหลวซ้ำไปซ้ำมา ในความเป็นจริง ความรู้สึกเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด ส่วนหลักเหตุผลถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นอย่างสุดท้าย ในขั้นตอนวิวัฒนาการของมนุษย์ ความรู้สึกคือพื้นฐานของทุกสิ่ง จึงต้องรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเอง แล้วเปลี่ยนมันให้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้เติบโตขึ้น ไม่ใช่เมินเฉยหรือกระดากอายความรู้สึกของตัวเอง แล้วดึงดันคิดเข้าข้างตัวเอง
รู้เท่าทันตัวเอง การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องที่ยากจริง ๆ เช่นเดียวกับนิสัยที่คนอื่นมองปราดเดียวก็รู้แล้วว่าเป็นคนแบบไหน แต่ตัวเองกลับไม่รู้ การมองตัวเองด้วยมุมมองของคนอื่น จะช่วยให้รู้เท่าทันตัวเอง เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝน จึงจะทำได้สำเร็จ คนอื่นได้ส่งสัญญาณเกี่ยวกับตัวเรามากมาย ซึ่งมีทั้งในรูปแบบคำพูดโดยตรง และการแสดงออกทางสีหน้า จึงควรหาโอกาสพอจารณาตัวเองอย่างเข้มงวดบ้าง เพื่อจะได้เข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้
เครื่องมือที่ช่วยเพิ่มทางเลือกในชีวิต ในโลกนี้ไม่มีคำตอบที่แท้จริง หรือถูกต้องแน่นอน หรือต่อให้มีก็ใช่ว่าคำตอบจะมีเพียงหนึ่งเดียวเสมอไป สิ่งที่เข้าใจว่าเป็นคำตอบคือ สิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อหรือคิดไปเองว่า แบบนี้น่าจะถูกต้อง แบบนี้น่าจะเหมาะสม พูดอีกอย่างก็คือสามัญสำนึก ศีลธรรมจรรยา ธรรมเนียมปฏิบัติ มารยาททางสังคม โนว์ฮาว หรือประสบการณ์ความสำเร็จในอดีตนั่นเอง
แต่สิ่งเหล่านั้นไม่อาจใช้ได้ผลไปตลอด และใช่ว่าจะสามารถใช้ได้กับทุกคน ทุกคนล้วนมีอิสระในการค้นหาวิธีใช้ชีวิตที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดี และเครื่องมือที่ใช้สร้างทางเลือกก็คือ การตั้งคำถามนั่นเอง การตั้งคำถามคือทักษะที่ช่วยเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ปัจจุบันทีละนิด แต่ผลสุดท้ายจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล อีกทั้งเป็นทักษะที่ชักนำไปสู่วิธีดำเนินชีวิต วิธีลงมือทำและวิธีคิดที่ดีต่อตัวเอง การตั้งคำถามจะช่วยให้มีทางเลือกใหม่ ซึ่งช่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบายมากขึ้น
ในโลกนี้มีคนอยู่ 3 ประเภท ถ้าให้แบ่งอย่างคร่าว ๆ โลกนี้จะมีคนอยู่ 2 ประเภทนั่นคือ คนที่ตั้งคำถามได้ และคนที่ตั้งคำถามไม่ได้ นี่คือสิ่งที่สร้างความแตกต่างในชีวิตอย่างมหาศาล การตั้งคำถามจะช่วยให้จัดการกับปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและสร้างผลลัพธ์ได้ ส่งผลให้มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นอีกทั้งเข้าใจตัวเอง การตั้งคำถามจะช่วยให้เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองซึ่งไม่เคยรู้มาก่อน การตั้งคำถามนำมาซึ่งความคิดสร้างสรรค์ มันช่วยเปลี่ยนชีวิตได้
ถ้าจะพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คนที่ตั้งคำถามได้ยังสามารถแยกย่อยลงไปอีก 2 ประเภทคือ คนที่ตั้งคำถามได้ดี และคนที่ตั้งคำถามได้ไม่ดี ด้วยเหตุนี้ในโลกนี้จึงมีคนทั้งหมด 3 ประเภทคือ คนที่ตั้งคำถามได้ดี คนที่ตั้งคำถามได้ไม่ดี และคนที่ตั้งคำถามไม่ได้ แค่ตั้งคำถามได้ยังไม่พอ เพราะคำถามมีเส้นแบ่งระหว่างดีและไม่ดีอย่างชัดเจน เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เรื่องนี้ หากตั้งคำถามได้ดีก็จะสามารถกำจัดความรู้สึกคลุมเครือและสร้างผลลัพธ์ได้ ถ้าตั้งคำถามได้ไม่ดีแม้จะกำจัดความรู้สึกคลุมเครือได้ชั่วคราว แต่เพราะไม่ได้จัดการกับต้นเหตุของปัญหา จึงต้องเผชิญกับปัญหาเดิม และความรู้สึกคลุมเครือแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เรียกได้ว่าจะย่ำอยู่กับที่ และไม่ได้เติบโตขึ้นเลย
บทที่ 3
คำถามที่ดีและคำถามที่ไม่ดี
ความรู้และการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน คำถามเป็นสิ่งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อถามตัวเอง คนอื่น หรือสิ่งอื่น เวลาที่ตั้งคำถามกับคน ความสัมพันธ์ระหว่างคำถามและคำตอบ จะไม่เรียบง่ายเหมือนเวลาที่ตั้งคำถามกับคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะตอบได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ราวกับว่ามันกำลังตอบข้อสอบ พูดอีกอย่างก็คือคอมพิวเตอร์ตอบความรู้กลับมา แต่เวลาที่ตั้งคำถามกับคน บางครั้งผู้ถามเองก็ยังไม่เข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ด้วยซ้ำว่า อยากรู้อะไรกันแน่ ฝ่ายตอบเองก็ให้คำตอบแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน โดยพยายามบอกสิ่งที่ตัวเองคิดอย่างสุดความสามารถ คำตอบนั้นไม่มีถูกหรือผิด ยิ่งคำตอบอยู่เหนือการคาดการณ์มากเท่าไหร่ อีกฝ่ายก็ยิ่งได้ค้นพบอะไรใหม่ ๆ และรู้สึกยินดี การเรียนรู้คือสิ่งที่ทำให้ปรับเปลี่ยนคำตอบ ให้เข้ากับคู่สนทนาและสถานการณ์ ความรู้และการเรียนรู้ไม่เหมือนกัน การตั้งคำถามได้ดีและการตอบคำถามได้ดี คือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ที่ต้องขัดเกลา
การตั้งคำถามคือทักษะในการให้คำปรึกษา นักจิตวิทยาการปรึกษาคือมืออาชีพด้านการล้วงเอาความรู้สึกที่ซุกซ่อนอยู่ในใจของผู้รับคำปรึกษาออกมา การตั้งคำถามไม่ได้มีไว้เพื่อหาคำตอบที่ถูกต้อง แต่มีไว้เพื่อช่วยให้ผู้ถามเกิดการตระหนักรู้ด้วยตัวเอง กล่าวได้ว่าทักษะการตั้งคำถามก็คือ ทักษะการให้คำปรึกษานั่นเอง ปัญหาชีวิตไม่ใช่สิ่งที่มีคำถามและคำตอบเพรียบพร้อมไว้เสร็จสรรพ ที่น่าสนใจก็คือบางครั้งก็ตั้งคำถามโดยไม่ได้ตั้งใจ และค้นพบคำตอบเพราะเรื่องที่ไม่คาดคิด บางครั้งการได้พบกับใครบางคนโดยบังเอิญ ก็ทำให้ได้รู้คำตอบอย่างกะทันหัน และมองเห็นแก่นแท้ของสิ่งที่อยากรู้ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างคำถามและคำตอบจึงซับซ้อนมาก
คำถามอาจตื้นเขินเกินไป คนที่รับฟังข้อมูลโดยไม่ไตร่ตรอง และเชื่อว่าการปฏิบัติตามนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง คือคนที่ต้องการให้คนอื่นกำหนดเกณฑ์มาตรฐานให้ พอได้ยินว่าต้องอ่านหนังสือตอนเช้าจึงจะดี ก็ตื่นมาอ่านหนังสือตั้งแต่ 8:00 น ถึงแม้มันจะช่วยให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีได้จริง แต่คนคนนั้นก็คงต้องใช้ชีวิตตามคำบอกของคนอื่นอยู่ร่ำไป ต่างกับคนที่รู้จักคิดด้วยตัวเอง และพลิกแพลงจนก่อให้เกิดนวัตกรรม ดังนั้น คนแบบนี้จึงถูกตัดสินว่าเป็นคนที่ตื้นเขิน คิดอะไรง่าย ๆ และอ่อนหัด การตั้งคำถามโดยหวังให้ผู้เชี่ยวชาญ ตอบว่าต้องทำแบบนี้ถึงจะดี เพื่อจะได้ทำตามนั้น เป็นการตั้งคำถามที่ไม่ดี
ถ้าเป็นโสกราติสจะถามแบบนี้ โสกราติสนักปราชญ์ชาวกรีกผู้ได้รับการยกย่องว่ามีความรอบรู้อย่างกว้างขวาง เป็นที่รู้กันดีว่าโสกราติสมักจะใช้วิธีตั้งคำถาม เพื่อให้คู่สนทนาตระหนักถึงแก่นแท้ของปัญหา ถ้าเป็นโสกราติสเขาคงจะเริ่มจากการถามเกี่ยวกับสมมุติฐาน เขาคงจะบ่งชี้สมมุติฐานแบบนี้ เพื่อช่วยให้อีกฝ่ายตระหนักว่า การอ่านหนังสือตอน 8 โมงเช้าดีที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องตายตัว แต่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ ต้องรู้จักมองต้นไม้ 1 ต้นที่อยู่ท่ามกลางป่าอันซับซ้อน ไม่ใช่มองต้นไม้ในพื้นที่โล่งซึ่งไม่มีอะไรเลย ยิ่งคาดการณ์บริบทอันซับซ้อนได้มากเท่าไร ก็ยิ่งมองคนได้ลึกซึ้งมากขึ้นเท่านั้น โลกนี้มีความซับซ้อนและสิ่งต่าง ๆ ก็ถูกกำหนดท่ามกลางตัวแปรอันซับซ้อนเหล่านั้น นี่คือการเรียนรู้ที่จำเป็นต้องมีติดตัว
คำถามที่ไม่ดี
ต้องการคำตอบที่ถูกต้องแน่นอน ในโลกนี้ไม่มีอะไรที่ถูกต้องแน่นอน หรือต่อให้มีก็เป็นเพียงสิ่งที่สังคมยอมรับว่า ถูกต้องในระดับหนึ่งเท่านั้น ต่อให้ข้อมูลบางอย่างถูกต้องภายใต้เงื่อนไขหนึ่ง แต่ก็ต้องตัดสินข้อมูลนั้นท่ามกลางบริบทอันซับซ้อนอยู่ดี
ขอให้ช่วยแนะนำสิ่งดี ๆ
ต้องการให้อีกฝ่ายเห็นด้วย คนบางคนมักยึดติดกับความคิดดั้งเดิม และจะพูดในขอบเขตที่ตัวเองคิดว่าถูกต้องเท่านั้น คนแบบนี้ไม่ได้ตั้งคำถามเพื่อขอความเห็นจากคนอื่น แต่แค่ต้องการให้คนอื่นยอมรับอคติ หรือทัศนคติของตัวเองเท่านั้น
คาดคั้นอีกฝ่าย เวลาตั้งคำถามกับคนต้องไม่ละเลยจิตใจของอีกฝ่ายโดยเด็ดขาดมนุษย์เราทั้งเด็กและผู้ใหญ่จะสำรวจโลกได้อย่างอิสระก็ต่อเมื่อมีฐานที่มั่นอันปลอดภัยหรือก็คือคนที่ทำให้รู้สึกว่าถ้ามีคนคนนี้อยู่ด้วยก็จะไม่เป็นไรมนุษย์เราจะรู้สึกรักและผูกพันกับคนที่มอบฐานที่มั่นอันปลอดภัยให้กับตัวเองพูดอีกอย่างก็คือคนที่ทำให้ตัวเองสามารถสำรวจโลกได้อย่างอิสระในทำนองเดียวกันคำถามที่ดีจะต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกว่ามีอิสระ
ให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง การถามโดยให้เลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง หากถามแค่เพราะอยากรู้รสนิยมของอีกฝ่ายก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าถามเพื่อคาดคั้นเอาคำตอบจากอีกฝ่ายก็คงไม่เหมาะสักเท่าไหร่ การถกเถียงจะทำให้ได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แต่จะไม่ช่วยให้สามารถหาข้อสรุปได้ หากเปิดใจยอมรับฟังความเห็นของคนอื่น ก็จะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง และไม่หาข้อสรุปจนกว่าจะสามารถตั้งคำถาม ซึ่งนำไปสู่ทางเลือกที่ 3 ได้ การทำแบบนี้จะส่งผลดีกับทั้งสองฝ่ายมากกว่า
คำถามที่ดี
ช่วยเปลี่ยนบรรยากาศ ถ้าตั้งคำถามได้ดีก็จะช่วยให้ทิศทาง บรรยากาศ และสภาพแวดล้อมในการสนทนาเปลี่ยนแปลงไปได้ภายในพริบตา การถามเรื่องสำคัญแบบตรง ๆ อาจจะไม่ใช่การตั้งคำถามที่ดีเสมอไป การตั้งคำถามที่ดีต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์กับผู้คนด้วย
ถามประสบการณ์ของอีกฝ่าย คนที่รู้จักรับฟังประสบการณ์ของคนอื่นคือ คนที่สามารถขยายขอบเขตความสามารถของตัวเองให้กว้างยิ่งขึ้น
ถามเกี่ยวกับสิ่งที่ชอบ การตั้งคำถามแบบนี้ จะช่วยให้รู้รสนิยมของอีกฝ่าย และเหตุผลที่เขาคิดว่าดี หากอีกฝ่ายมีงานอดิเรกที่ต่างไปไม่จำเป็นต้องทำสิ่งเดียวกับเขา แค่บันทึกไว้ในความทรงจำว่า คนคนนี้ชอบเรื่องแบบนี้ก็พอ สักวันหนึ่งอาจจะชอบสิ่งเดียวกันก็ได้ หรือต่อให้ไม่ชอบก็ได้เรียนรู้ว่ามีคนแบบนี้อยู่ด้วย การถามเกี่ยวกับสิ่งที่คนอื่นชอบ จะช่วยให้รับรู้ได้อย่างชัดเจนว่า ผู้คนมีความหลากหลายและแตกต่าง อีกทั้งมีโลกที่ไม่รู้จักอยู่อีกมากมาย
ช่วยให้ตระหนักถึงความรู้สึกที่แท้จริง การจะรู้เท่าทันความรู้สึกของตัวเองนั้น ต้องอาศัยระยะเวลานานพอสมควร อย่าอยู่เฉยเมื่อรู้สึกผิดปกติกับเรื่องบางอย่าง การมุ่งมั่นตามหาสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งทำให้รู้สึกว่านี่แหละใช่เลย จะช่วยให้เข้าใจความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเอง
ถามเกี่ยวกับวิธีใช้ชีวิตของตัวเอง ต้องใช้ชีวิตแบบไหนถึงจะรู้สึกดีที่สุด นี่เป็นคำถามที่ดีมาก
คำสำคัญที่ช่วยให้ตั้งคำถามได้ดี วิธีเลือกคำพูดที่ช่วยให้ตั้งคำถามได้ดี บางครั้งแค่เปลี่ยนคำพูดเดียว ก็กลายเป็นคำถามที่ดี หรือคำถามที่ไม่ดีได้แล้ว คำถามจะมีพลังมากขึ้น เมื่อเพิ่มคำบางคำเข้าไป ขอแนะนำคำพูดที่มีพลังราวกับเวทมนต์เหล่านั้น ประเด็นสำคัญของคำถามมีทั้งหมด 3 ประเด็นคือ เวลา จุดมุ่งหมาย และวิธีการ
เวลา คำสำคัญเกี่ยวกับเวลาคือ ตอนนี้ การเอาใจใส่กับตอนนี้ จะช่วยให้มีทักษะในการสังเกตเพิ่มมากขึ้น และคิดหาแผนการรับมือกับปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม
จุดมุ่งหมาย คำสำคัญเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายคือ อยากทำอะไร ในชีวิตประจำวันมีหลายสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับจุดมุ่งหมายของตัวเอง ถึงแม้จะทำสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายของตัวเองมากมายหลายเรื่อง แต่ถ้าแบ่งเวลาไม่กี่นาทีในแต่ละวัน มาทำสิ่งที่คิดว่าเป็นเรื่องเดียวที่อยากทำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะรักษาความเป็นตัวเองเอาไว้ได้ การทำสิ่งต่าง ๆ พร้อมกับถามจุดมุ่งหมายไปด้วย จะช่วยให้ตัวเองและคนที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจตรงกัน การถามจุดมุ่งหมายจึงเปรียบเหมือนการใช้เข็มทิศนำทางนั่นเอง
วิธีการ ตอนที่เกิดปัญหา บางครั้งอาจรู้สึกตื่นตระหนก และไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี แต่ถ้าไม่ลงมือทำอะไรสักอย่าง สถานการณ์ก็รังแต่จะยิ่งเลวร้าย ในกรณีนี้คำสำคัญคือ ควรทำอย่างไร หรือ ต้องทำยังไง วิธีการนั้นมีอยู่นับไม่ถ้วน เมื่อเจอวิธีการที่สามารถทำได้ ก็ควรลองทำในทันที ถ้าไปได้สวยก็ทำต่อไป แต่ถ้าไม่ราบรื่นก็ให้คิดคำถามใหม่ การทำแบบนี้ซ้ำไปซ้ำมา จะช่วยให้แก้ปัญหาได้สำเร็จ
คำสำคัญสารพัดประโยชน์ นอกเหนือจากคำสำคัญ 3 ประเด็นนี้แล้ว ยังมีคำสำคัญอื่นที่ช่วยเพิ่มพลังในการตั้งคำถามได้นั่นคือ สักนิด คำสำคัญนี้จะช่วยเปลี่ยนสถานการณ์ปัจจุบันไปอย่างมาก จนต้องรู้สึกประหลาดใจ เช่น ต้องทำยังไงความสัมพันธ์กับคน ๆ นั้นถึงจะดีขึ้นอีกสักนิด ต้องทำยังไงถึงจะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกสักนิด ในโลกนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้อง แค่ลงมือทำสิ่งที่ทำได้แค่สักนิดก็พอแล้ว
บทที่ 4
การตั้งคำถามช่วยเพิ่มศักยภาพของสมองได้
ตอนที่ตั้งคำถามสมองทำงานอย่างไร การตั้งคำถามที่ดีต้องให้อิสระกับทั้งตัวเองและคนอื่น แล้วเผยให้เห็นแง่มุมใหม่ ๆ เวลาจะตั้งคำถามกับใครสักคน อันดับแรกต้องคิดโดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา ในสมองของคนเรามีวงจรความคิดที่เกี่ยวกับความรู้สึกของคนอื่นอยู่ 2 แบบคือ มีความรู้สึกร่วมและวิเคราะห์ตามหลักเหตุผล ให้ตั้งคำถามโดยอาศัยวงจรความคิดเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น สมมติว่ามีเด็กกำลังร้องไห้ วิธีตั้งคำถามกับเด็กคนนั้นจะมีอยู่ด้วยกัน 2 แบบคือ
การตั้งคำถามตามความรู้สึกร่วม คือการถามโดยที่มีรู้สึกร่วมไปกับเด็กว่า ตายจริง น่าสงสารจัง หนูเป็นอะไร?
การตั้งคำถามตามหลักเหตุผล คือการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่า เด็กอาจจะร้องไห้เพราะของเล่นพังหรือโดนเพื่อนทิ้ง เมื่อถามจนรู้ว่าเด็กต้องการอะไร จึงค่อยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
การมีความรู้สึกร่วม และการวิเคราะห์ตามหลักเหตุผล ต่างก็เป็นสิ่งจำเป็น แต่วงจรความคิดทั้ง 2 แบบ จะทำงานโดยใช้สมองคนละส่วนกัน คนเราสามารถรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นได้ จากการมีความรู้สึกร่วมหรือไม่ ก็ใช้วิธีโอนพฤติกรรมของคนอื่นมาไว้ในสมองของตัวเอง แล้วคาดการณ์ความรู้สึกนึกคิดของอีกฝ่ายออกมา สำหรับการคาดการณ์ความรู้สึกนึกคิด ที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมของอีกฝ่ายนั้น ต้องอาศัยทักษะในการคาดการณ์สภาพจิตใจของคนอื่น ซึ่งทักษะนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการรู้ว่า ตัวเองกับคนอื่นมีสภาพจิตใจที่ต่างกัน คนที่สามารถแยกตัวเองกับคนอื่นออกจากกันได้ สุดท้ายแล้วจะมีทักษะในการคาดการณ์ ความรู้สึกนึกคิดของคนอื่นสูง
สมองสามารถอ่านใจคนอื่นได้ ถ้าเข้ากับคนรอบข้างไม่ค่อยได้ หรือคนรอบข้างทำให้รู้สึกแย่ การตั้งคำถามแบบนี้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก ทำไมคนคนนี้ถึงทำตัวแบบนี้ จึงมีอยู่ 2 วิธีด้วยกันในการอ่านใจคนอื่น นั่นคือ ใช้ความรู้สึกร่วมกับใช้การวิเคราะห์ตามหลักเหตุผล ปัญหาก็คือเมื่อเผชิญกับคนที่แตกต่างจากตัวเอง คนส่วนใหญ่ก็มักจะคิดว่าไม่สามารถมีความรู้สึกร่วมกับอีกฝ่ายได้ จากนั้นจะรู้สึกว่าไม่ชอบคนคนนี้เลย เพราะคิดว่าหากไม่เกิดความรู้สึกร่วม ก็จะไม่สามารถเข้าใจกับอีกฝ่ายได้ แบบนี้ถือเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะจะทำให้ยอมเปิดใจให้คนเพียงไม่กี่คนเท่านั้น
ในโลกนี้ก็มีคนที่แตกต่างเยอะกว่าคนที่เหมือนกันอย่างเทียบไม่ติด ไม่ว่าจะเป็นประเทศ ศาสนา หรือความคิด ดังนั้น หากทำความเข้าใจเฉพาะคนที่คล้ายคลึงกับตัวเอง ก็จะรู้จักคนเพียงหยิบมือเดียว หากไม่รู้สึกร่วมไปกับอีกฝ่าย ก็จำเป็นต้องแยกตัวเองออกมาแล้ววิเคราะห์และทำความเข้าใจอย่างสุขุม การมีความรู้สึกร่วมและการวิเคราะห์อย่างสุขุม ก็ช่วยเพิ่มความรู้ความเข้าใจในตัวผู้อื่นได้อย่างก้าวกระโดด
การกล่าวว่าการผูกมิตรกับผู้อื่น ต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ในการวิเคราะห์ผู้อื่นอย่างสุขุม เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้คนจำนวนมาก ก็จะมีข้อมูลอ้างอิงสำหรับใช้ในการดำเนินชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย ถึงแม้จะไม่สามารถคาดการณ์เกี่ยวกับคนอื่นได้แบบ 100% เต็ม แต่อย่างน้อยก็น่าจะสื่อสารได้ราบรื่นขึ้นกว่าเดิมแน่นอน
การทำความเข้าใจเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลา ส่วนใหญ่แล้วเรื่องสำคัญไม่ใช่สิ่งที่จะเข้าใจได้ในทันที แม้จะมีคนบอกเรื่องสำคัญ แต่ถ้าเรื่องนั้นแตกต่างกับความคิด ก็คงยากที่จะยอมรับได้ ถ้าสมองไม่ได้สั่งสมประสบการณ์ต่าง ๆ เอาไว้ ก็จะไม่สามารถเข้าใจความหมายของเรื่องสำคัญดังกล่าวได้อย่างชัดเจน เพราะต้องรอให้ความทรงจำต่าง ๆ เชื่อมโยงกัน และสร้างความหมายขึ้นมา
จึงไม่จำเป็นต้องเข้าใจในทันที ควรพยายามจำความรู้สึกเอาไว้โดยที่ไม่ตัดสินอะไร สักวันหนึ่งน่าจะเข้าใจเรื่องนั้นได้ และมีความคิดที่กว้างไกลขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคำพูดที่รู้สึกติดใจสงสัย หรือคำพูดที่อยากปฏิเสธ จดจำคำพูดเหล่านั้นไว้ในสมอง แล้วลองนึกถึงเป็นครั้งคราว บางทีมันอาจจะกลายเป็นคำตอบที่จำเป็น ในยามที่ชีวิตเกิดการพลิกผันก็เป็นได้
สมองคุ้นเคยกับสิ่งแปลกใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เหตุที่สมองต้องตั้งคำถามนั่นก็เพราะความต้องการที่จะค้นพบสิ่งแปลกใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด เวลาที่รู้สึกดีใจสารโดปามีนในสมองจะถูกหลั่งออกมา ทั้งนี้โดปามีนจะหลั่งออกมาก็ต่อเมื่อพบเจอกับสิ่งแปลกใหม่ จะรู้สึกสบายใจเมื่อทุกอย่างเป็นไปตามที่กำหนดไว้ แต่สมองจะไม่รู้สึกยินดีอย่างแท้จริง หากไม่มีเรื่องที่อยู่เหนือการคาดการณ์ของตัวเองเลย
ทั้งนี้ก็เพราะสมองจะพยายามค้นหาความแปลกใหม่อยู่เสมอ ที่น่าสนใจก็คือ สมองจะเคยชินกับความแปลกใหม่อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะค้นพบสิ่งที่แปลกใหม่มากขนาดไหน แต่มันก็จะกลายเป็นสิ่งที่น่าเบื่ออย่างรวดเร็ว จึงกล่าวได้ว่า ความต้องการที่จะค้นพบสิ่งแปลกใหม่นั้น ไม่มีที่สิ้นสุด นี่จึงเป็นเหตุผลที่ต้องตั้งคำถามว่า ต่อไปคืออะไร แล้วย้ายความสนใจไปสู่เรื่องอื่นอยู่ตลอดเวลา
ใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้แบบเสริมแรงของสมอง หากไม่มีความแปลกใหม่สมองก็จะไม่รู้สึกยินดี แล้วสมองจะรู้สึกยินดีที่สุด ในเวลาตอนที่ทำสิ่งที่คิดว่าไม่มีทางทำได้สำเร็จ เมื่อทำอะไรสักอย่างที่กระตุ้นให้สารโดปามีน ซึ่งควบคุมความสุขหลั่งออกมา โดยธรรมชาติของสมองแล้ว มันจะสั่งการว่า ลองทำแบบนี้อีกดีกว่า การที่พยายามลองทำสิ่งที่สร้างความรู้สึกยินดีอีกนั้น เป็นเพราะในสมองเกิดการเรียนรู้แบบเสริมแรง (Reinforcement Learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการลองผิดลองถูก แล้วเลือกทำสิ่งที่ทำให้รู้สึกยินดี สามารถนำธรรมชาติของสมองนี้มาใช้ประโยชน์เช่น
- ลองตอบโจทย์ภาษาอังกฤษหรือคณิตศาสตร์ที่ไม่ถนัด
- บังเอิญตอบได้โดปามีนหลั่งออกมาเยอะ เพราะไม่คิดว่าจะทำได้
- อยากท้าทายโจทย์ที่ยากมากขึ้น
ต้องไม่ทำสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าทำได้ หากท้าทายตัวเองด้วยสิ่งที่แปลกใหม่ และค่อนข้างยากสำหรับตัวเอง จนไม่แน่ใจว่าจะทำสำเร็จหรือเปล่า เมื่อทำสำเร็จก็จะเกิดการเรียนรู้แบบเสริมแรง ส่งผลให้อยากทำสิ่งนั้นมากขึ้นเรื่อย ๆ กลไกนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนมีติดตัวอยู่แล้ว
บทที่ 5
8 กิจกรรมที่ช่วยเพิ่มทักษะการตั้งคำถาม
ทักษะการตั้งคำถามไม่ใช่สิ่งที่สามารถฝึกฝนได้ในวันเดียว ถ้าสามารถตั้งคำถามที่เปลี่ยนเป็นกุญแจสำคัญได้ ก็จะสามารถสร้างผลลัพธ์ในการทำงาน และใช้ชีวิตได้อย่างคุ้มค่า มีกิจกรรมหลายอย่างที่ควรทำเป็นประจำ เพื่อให้สามารถตั้งคำถามในชีวิตประจำวันได้ดี ขอแนะนำกิจกรรม 8 อย่างที่ช่วยให้ตั้งคำถามได้ดี บนพื้นฐานการทำงานของสมอง สามารถลงมือทำกิจกรรมเหล่านี้ได้ในทันที แม้จะไม่เห็นผลในทันที แต่ถ้าทำอย่างต่อเนื่อง วันหนึ่งก็จะคิดคำถามที่ดีได้โดยไม่รู้ตัว หรือตั้งคำถามออกมาเองทั้งที่เมื่อก่อนไม่สามารถตั้งคำถามแบบนั้นได้ การตั้งคำถามไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำได้ภายในวันเดียว แต่สักวันหนึ่งจะต้องตั้งคำถาม ที่ช่วยให้แก้ไขปัญหาคับข้องใจได้สำเร็จอย่างแน่นอน
กิจกรรมที่ช่วยเพิ่มทักษะการตั้งคำถาม
ดื่มชา ระหว่างที่ยังทำงานไม่เสร็จ การหยุดพักกลางคันเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญพอสมควร แต่การหาเวลาดื่มชาเพื่อผ่อนคลาย และคุยเล่นกับผู้คนในแต่ละวัน จะช่วยเพิ่มทักษะการตั้งคำถามได้เป็นอย่างดี
ถ่ายทอดความคิดออกมา เพื่อเพิ่มความสามารถในการสังเกต ควรลองถ่ายทอดความคิดทุกอย่างของตัวเองออกมา เป็นที่รู้กันดีว่าเมื่อพยายามพูดให้คนอื่นเข้าใจ สิ่งที่คิดอยู่ในสมองจะถูกจัดระเบียบ ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวจะส่งผลให้หาคำตอบได้ง่ายขึ้น
ทำซ้ำ เมื่อปี 2016 อัลฟาโกะ (AlphaGo) AI ที่ google พัฒนาขึ้น สามารถเล่นหมากล้อมและเอาชนะมนุษย์ ซึ่งเป็นแชมป์หมากล้อมระดับโลกได้เป็นครั้งแรก อัลฟาโกะก้าวข้ามสติปัญญาของมนุษย์ไปแล้วใช่หรือไม่ ความจริงแล้วสิ่งที่อัลฟาโกะ ทำนั้นเรียบง่ายมาก นั่นคือนำกฎการเรียนรู้ของสมองมนุษย์มาปฏิบัติตามแบบซ้ำไปซ้ำมา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้แบบเสริมแรง หรือการเรียนรู้รูปแบบ อย่างเช่น จำรูปแบบการเดินหมากของผู้เล่นเก่ง ๆ ไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ การเรียนรู้เหล่านี้เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว
มนุษย์มักละทิ้งการเรียนกลางคันเพราะรู้สึกเหนื่อยล้า เบื่อหน่าย หรือถอดใจ แต่ AI ไม่เป็นเช่นนั้น มันสามารถทำงานได้นานหลายชั่วโมง และจดจำรูปแบบการเดินหมากได้เป็นพันเป็นหมื่นแบบ ถึงแม้จะทำผิดพลาดก็ไม่รู้สึกซ็อกจนล้มเลิกความตั้งใจ แต่จะคิดว่าผิดพลาดตรงไหน แล้วค้นหาสิ่งที่ทำให้ล้มเหลว จากนั้นก็ลงมือทำใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ยอมรับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา คนเรามักจะมองความเป็นจริงบนพื้นฐานความรู้สึกของตัวเอง ถ้าไม่ยอมรับอคติของตัวเอง และมัวแต่หาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง ก็จะเลือกรับรู้แต่เรื่องที่ทำให้สบายใจ การมีชีวิตอยู่โดยที่ไม่เคยพูดคุยกับตัวเองถึงความรู้สึกที่แท้จริงนั้น เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก
หาข้อบกพร่อง การจะมองปัญหาของตัวเองให้เห็นอย่างทะลุปรุโปร่งนั้น จำเป็นต้องค้นหาแก่นแท้ของตัวเองอย่างจริงจัง ในทำนองเดียวกันเมื่อมีไอเดียอะไรสักอย่าง หากตั้งใจหาจุดที่เป็นปัญหา หรือข้อบกพร่องของไอเดียนั้น ก็จะช่วยให้สามารถขัดเกลาไอเดียดี ๆ ออกมาได้
กำหนดเส้นตาย คนส่วนใหญ่คิดว่าเส้นตายเป็นสิ่งที่ผู้อื่นกำหนดให้ แต่ความจริงแล้วเส้นตายเป็นสิ่งที่ต้องกำหนดขึ้นมาเอง เพียงแค่กำหนดเส้นตายด้วยตัวเอง ก็จะสามารถจัดการชีวิตของตัวเองได้ ส่งผลให้ชีวิตมีแต่ความสนุกสนาน สิ่งที่จะทำต่อไปไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เพราะสิ่งสำคัญคือการที่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง และไม่รู้สึกว่าถูกบังคับให้ทำ
ลองทำเรื่องที่ยากลำบาก ในการพัฒนาความสามารถอะไรสักอย่าง วิธีที่ช่วยให้ค้นพบปัญหาด้วยตัวเองได้ดีที่สุดคือ การลองทำเรื่องที่ยากลำบาก ลองทำโจทย์ให้ตัวเองแล้วทำตามนั้นวันละ 1 นาที ในระหว่างที่ทำมีการเฝ้าติดตามผลลัพธ์อยู่เสมอ และปรับเปลี่ยนวิธีการให้เข้ากับตัวเอง โดยคิดว่าจะทำอะไรต่อไปดี แล้วจะนึกแปลกใจตัวเอง ที่สามารถทำสิ่งที่เคยคิดว่าทำไม่ได้
ชื่นชมงานศิลปะ ยามประสบกับปัญหาที่ไม่มีทางแก้ไขได้ ขอแนะนำให้ชื่นชมงานศิลปะ การวาดภาพทำให้เห็นว่าจะรับมือกับความเจ็บปวด ที่ไร้ทางเยียวยาอย่างไรถือเป็นงานศิลปะ การชื่นชมงานศิลปะเป็นประจำ พร้อมกับคิดว่าทำไมคนคนนี้ถึงทำแบบนี้ ก็เหมือนกับการจำลองชีวิตของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมหรืองานศิลปะนั้น มีที่มาจากปัญหาที่ไม่สามารถหาทางแก้ไขได้นั่นเอง แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่การอ่าน ฟัง หรือดูงานศิลปะ จะช่วยให้สามารถจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ และมันจะเป็นประโยชน์กับตัวเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมาจริง ๆ เรียกได้ว่ามันคือวัคซีนดี ๆ นี่เอง
บทที่ 6
เทคนิคการตั้งคำถามที่นำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้
ฝึกตั้งคำถามในสมอง สถานการณ์ในการตั้งคำถามมีอยู่หลากหลายแบบ และเรื่องที่ทำให้รู้สึกคลุมเครือก็แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละคน แม้ว่าจะไม่มีคำถามครอบจักรวาลที่สามารถใช้ได้ผลกับทุกคน แต่ในการตั้งคำถามของทุกคน ล้วนมีจุดร่วมบางอย่าง
การตั้งคำถามเพื่อสร้างผลงานในระดับโลก การจะสร้างผลงานในระดับโลกนั้นจำเป็นต้องรู้ภาษา ถ้าไปต่างประเทศก็ต้องรู้ภาษาของประเทศนั้น ๆ อีกทั้งต้องฝึกคิดในมุมของคนต่างชาติ บางครั้งคำพูดที่ดูเหมือนไม่มีอะไร ก็อาจกลายเป็นการดูถูกหรือเหยียดคนอื่นได้ จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเกี่ยวกับโลก เพื่อให้พิจารณาได้ว่าในสถานการณ์แบบนี้ ไม่ควรพูดเรื่องอะไร และต้องระวังอะไรบ้าง
ในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ก็เหมือนกัน หากมองไม่เห็นความต้องการในระดับโลกว่า อะไรที่ทำให้ผู้คนรู้สึกยินดี ก็จะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ ควรติดตามข่าวสารจากสื่อต่างประเทศ เพื่อให้รู้ว่าเรื่องอะไรที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาของโลกในขณะนี้ อย่างไรก็ตามถึงจะทำทั้งหมดที่ว่ามานี้ แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างผลงานในระดับโลกได้
จำเป็นต้องตั้งคำถามนี้ด้วย สิ่งที่มีแต่ตัวเราเท่านั้นที่มีคืออะไร เพราะสิ่งที่ตัวเรามีถือเป็นของขวัญสำหรับโลกใบนี้ ต้องไม่เรียนรู้สิ่งที่โลกมอบให้เพียงอย่างเดียว เมื่อมีสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ฉันถนัดเรื่องนี้ และอุทิศมันให้กับโลก ก็จะเป็นที่ต้องการของผู้คน จะเป็นเรื่องอะไรก็ได้ขอแค่รู้ และรักสิ่งนั้นมากกว่าใคร ๆ ก็พอ เมื่อมีสิ่งนี้ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ก็สามารถสร้างผลงานได้อย่างแน่นอน
การตั้งคำถามเพื่อก้าวข้ามกำแพงอุปสรรค เมื่อมีสิ่งที่อยากทำแต่ต้องเผชิญกับกำแพงอุปสรรค ที่อาจก้าวข้ามไปไม่ได้ สิ่งแรกที่แนะนำให้ทำคือตั้งคำถามว่า ทำไมถึงมองเห็นกำแพงอุปสรรค พอลองตั้งคำถามนี้ก็จะตระหนักว่า มีเป้าหมายที่ต้องการทำให้สำเร็จ และรู้อยู่แล้วว่าแก่นแท้ของกำแพงอุปสรรคคืออะไร จึงสามารถค้นหาวิธีก้าวข้ามมันไปสู่เป้าหมายได้ การที่มองเห็นกำแพงอุปสรรค เป็นการบ่งชี้ว่ารู้อย่างชัดเจนว่า ยังมีความสามารถไม่มากพอที่จะบรรลุเป้าหมายได้ อีกทั้งเข้าใจอย่างกระจ่างชัดว่า ต้องทำอะไรเพิ่มเติมบ้าง ถือได้ว่าคืบหน้าไปมากแล้ว
การตั้งคำถามเพื่อเผชิญหน้ากับคนที่แตกต่างจากตัวเอง เมื่ออินเทอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย ก็ไม่มีอุปสรรคในด้านพรมแดนระหว่างประเทศอีกต่อไป มีการไปมาหาสู่และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ของบรรดาคนที่มีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภาษาต่างกันเพิ่มมากขึ้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าโลกเชื่อมโยงถึงกันหมด ถ้ารู้สึกสับสนลังเลเมื่อต้องเจอกับคนที่แตกต่างจากตัวเอง ก่อนอื่นให้ลองตั้งคำถามนี้ดู จุดร่วมของตัวเรากับอีกฝ่ายคืออะไร
มนุษย์นั้นแม้จะดูเหมือนแตกต่างกันลิบลับ แต่แท้จริงแล้วกลับคล้ายคลึงกันมาก ทุกคนล้วนปรารถนาให้ตัวเอง และคนรอบข้างมีความสุข ความปรารถนาขั้นพื้นฐานนี้คือจุดร่วมของคนในทุกวัฒนธรรม เมื่อหาจุดร่วมได้แล้วให้นำมันมาใช้เป็นพื้นฐานในการตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วเรากับอีกฝ่ายแตกต่างกันอย่างไร ความแตกต่างในที่นี้ไม่ใช่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนอย่างสีผิว สีตา หรือศาสนา แต่หมายถึงความแตกต่างแบบที่ต้องอาศัยการจินตนาการว่า ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น โดยการเอาใจเขามาใส่ใจเรา
วัฒนธรรมคือตัวอย่างหนึ่งของความแตกต่างที่ต้องอาศัยจินตนาการ หากมีความใส่ใจจินตนาการและเคารพในสิ่งที่ไม่รู้ ก็จะสามารถเผชิญหน้ากับคนที่แตกต่างแบบตรง ๆ ได้ความสามารถในการจินตนาการถึงความแตกต่างของอีกฝ่าย จะช่วยเปิดประตูไปสู่โลกที่ยังไม่รู้จัก ขอแค่มีความสามารถนี้ติดตัว การเผชิญหน้ากับคนที่แตกต่างก็จะไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล หรือหน้าหวาดกลัวอีกต่อไป และจะกลายเป็นบ่อเกิดของความยินดีแทน
การตั้งคำถามเพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน การหาสาเหตุที่ชัดเจนของความล้มเหลวถือเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าระบุข้อเท็จจริงที่ทำให้ล้มเหลวได้อย่างถูกต้องแม่นยำ และพยายามขับเคลื่อนสถานการณ์ให้เดินหน้าด้วยทัศนคติเชิงบวก ก็จะสามารถนำข้อเท็จจริงนั้นไปใช้ประโยชน์ในครั้งต่อไปได้ การจะวิเคราะห์หาสาเหตุที่ทำให้ล้มเหลว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในครั้งต่อไปนั้น จำเป็นต้องอาศัยการตั้งคำถามที่ดี
อันดับแรก ต้องรู้ก่อนว่ามีคำถามต้องห้ามอยู่ นั่นคือใครเป็นต้นเหตุที่ทำให้เรื่องกลายเป็นแบบนี้ ถ้าระบุตัวคนผิดได้ปัญหาจะคลี่คลายใช่หรือไม่ คำตอบคือไม่ ใคร ๆ ก็มีโอกาสทำผิดพลาด การหาตัวคนผิดและกำจัดคนคนนั้นออกไป อาจช่วยให้บางคนรู้สึกโล่งใจ เพราะว่าการหาสาเหตุที่ชัดเจน ไม่ใช่การโยนความรับผิดชอบให้คนอื่น แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำตามหลักเหตุผล
ในการหาเหตุผลด้วยทัศนคติเชิงบวก ต้องเริ่มจากการตั้งคำถามว่า การทำงานเริ่มมีปัญหาติดขัดตรงขั้นตอนไหน หรือจะตั้งคำถามแบบนี้ก็ได้ ทำไมถึงไม่สามารถยับยั้งเรื่องนั้นได้ การทำผิดพลาดไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ที่ผิดก็คือการไม่นำความผิดพลาดมาใช้ให้เป็นประโยชน์ อย่าโทษว่าตัวเองหรือคนอื่นคือสาเหตุของความผิดพลาด เพราะไม่ว่าใครก็สามารถทำผิดพลาดกันได้ทั้งนั้น หากแก้ไขปัญหาที่ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ มันก็จะนำพาไปสู่ความสำเร็จในครั้งต่อไป
การตั้งคำถามสำหรับตอนที่รู้สึกสิ้นหวัง เวลาเจอเรื่องโชคร้ายคนส่วนใหญ่มักจะตำหนิ คนเราเมื่อถูกลิดรอนผลประโยชน์ ก็จะมองเห็นคนอื่นเป็นสิ่งเกะกะ แต่เพราะไม่รู้ว่าจะไประบายอารมณ์กับใคร จึงตำหนิผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ตรงหน้าแทน ในเวลานั้นควรตั้งคำถามว่า ตอนนี้สามารถทำอะไรได้บ้าง ในกรณีแบบนี้สิ่งสำคัญคือ ให้พุ่งความสนใจไปที่เรื่องอื่น โดยคิดถึงสิ่งที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีแทน
แม้จะเป็นความโชคร้ายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่ต้องมีบางสิ่งที่สามารถทำได้อย่างแน่นอน แทนที่จะใช้อารมณ์เข้าปะทะ โดยไม่พยายามทำอะไรเลย ทางที่ดีควรลองตั้งคำถามว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ทั้งตัวเองและคนอื่นรู้สึกดีขึ้น นอกจากนี้การตั้งคำถามในสถานการณ์ที่โชคร้าย ยังช่วยให้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ด้วยคือ ไม่สามารถทำอะไรได้ แต่ก็มีช่วงเวลาที่มีความสุข ช่วงเวลาดังกล่าวก็คือช่วงเวลาธรรมดา ๆ ในชีวิตประจำวันที่มักจะไม่ใส่ใจนั่นเอง
แม้จะดูเหมือนไม่สามารถทำอะไรได้อีกแล้ว แต่ถ้าพยายามคิดพลิกแพลงหาสิ่งที่ตัวเองทำได้ ก็จะค้นพบมันอย่างแน่นอน ไม่ว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหน ก็ควรให้ความสำคัญกับการคิดพลิกแพลง เพื่อสร้างช่วงเวลาที่ทำให้ตัวเองและคนอื่นรู้สึกดี เพราะการทำแบบนั้นจะช่วยสร้างพลังชีวิตให้
การตั้งคำถามเมื่อไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับอนาคตดี ในชีวิตคนเราบางครั้งก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดี สำหรับคนที่ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไรดีลองถามตัวเองแบบนี้ดู ที่ผ่านมารู้สึกประทับใจกับเรื่องอะไรบ้าง มนุษย์มีชีวิตอยู่บนพื้นฐานความประทับใจกล่าวคือ สิ่งที่รู้สึกประทับใจจะกลายเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ทำไมการตั้งคำถามว่ารู้สึกประทับใจกับเรื่องอะไรถึงเป็นสิ่งสำคัญ นั่นก็เพราะนอกจากจะทำให้รู้ว่าตัวเองเป็นคนแบบไหนแล้ว จะมีความมุ่งมั่นยิ่งขึ้นเมื่อได้ทำสิ่งที่เคยทำให้ตัวเองประทับใจ ในโลกนี้เมื่อตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง ก็มักจะมีอุปสรรคมาขัดขวางมากมาย แต่ถ้านั่นคือสิ่งที่เคยทำให้ประทับใจ และยังจดจำความประทับใจนั้นได้ ก็จะสามารถฟันฝ่าความยากลำบากไปได้ เพราะคิดว่าอยากสัมผัสความประทับใจแบบนั้นอีก
เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง ไม่ว่าใครก็ต้องฝืนทนทำบางสิ่งกันทั้งนั้น แต่ถ้าสิ่งนั้นเกี่ยวพันกับความรู้สึกประทับใจ ที่เป็นรากฐานของตัวเองจะรู้สึกสนุกกับความยากลำบากและมีความเพียรพยายาม ดังนั้นเวลาที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับอนาคตดี ให้ลองถามตัวเองดูว่าที่ผ่านมารู้สึกประทับใจกับเรื่องอะไรบ้าง
บทส่งท้าย
การใช้ชีวิตในยุคน่านน้ำสีคราม
ที่ผ่านมาได้ให้ทักษะการตั้งคำถาม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ปัจจุบัน แท้จริงแล้วการตั้งคำถามก็คือการดำรงชีวิต การตั้งคำถามเริ่มต้นจากการตระหนักรู้ว่าตัวเองมีบางอย่างขาดหายไป ความรู้สึกที่ว่ามีบางอย่างขาดหายไปนี่แหละคือ พลังที่ขับเคลื่อนคนเรา
หิวแล้วถ้างั้นกินอะไรสักหน่อยดีกว่า
รู้สึกเหงา ๆ ยังไงไม่รู้งั้นไปหาใครสักคนละกัน
รู้สึกเหมือนยังขาดอะไรไปลองทำอะไรใหม่ ๆ ที่ตัวเองสนใจดีกว่า
ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกเยอะแยะถ้าอย่างนั้นก็ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม
การที่ตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองขาดไปแบบนี้คือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้มีความหลากหลายมากขึ้น และใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองต้องไม่ฝืนปรับตัวเองให้เข้ากับความถูกต้องที่สังคมกำหนด แต่จำเป็นต้องตระหนักถึงสิ่งที่ตัวเองขาดไปแล้วตั้งคำถามขึ้นมา ตอนนี้ยุคสมัยกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เนื้องานของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไป พรมแดนระหว่างประเทศก็ไร้ความหมาย เพราะความก้าวหน้าของเครือข่ายข้อมูลอย่างอินเทอร์เน็ต เรียกได้ว่าก้าวสู่ยุคที่โลกเชื่อมโยงถึงกันหมด
แน่นอนว่าในยุคแบบนี้ วิธีตั้งคำถามย่อมต้องเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย จากนี้ไปทักษะการตั้งคำถามจะยิ่งเปลี่ยนแปลง พัฒนา และกลายเป็นสิ่งที่ช่วยค้ำจุนการดำรงชีวิตของมนุษย์ ที่ผ่านมาการตั้งคำถามจะมุ่งเน้นไปที่การคิดคำถาม ซึ่งมีคำตอบอยู่แล้วเรียกการตั้งคำถามแบบนี้ว่า ทักษะการตั้งคำถามในน่านน้ำสีแดง (Red Ocean) น่านน้ำสีแดงคือดินแดนแห่งการแข่งขันอันดุเดือด ในสภาพแวดล้อมแบบนั้นจะให้ความสำคัญกับลำดับ กล่าวคือคำตอบที่ถูกต้องจะมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ทุกคนต้องแข่งขันกันว่าใครจะไปถึงคำตอบนั้นได้เร็วที่สุด และใครตอบได้ถูกต้องที่สุด ในกรณีนี้ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามที่มีลักษณะเฉพาะตัว
ในทางกลับกัน น่านน้ำสีคราม (Blue Ocean) คือดินแดนที่มีนวัตกรรม และการผลิตแบบใหม่เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ รูปแบบของวัฒนธรรมจะเปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งผู้คนเชื่อมโยงกันด้วยเครือข่ายข้อมูล ส่งผลให้ทักษะการตั้งคำถามที่จำเป็นต้องใช้ในโลกของน่านน้ำสีครามต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือการตั้งคำถามที่ไม่มีใครสามารถตอบได้มาเนิ่นนาน หรือตั้งคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีใครรู้คำตอบ
ในระหว่างที่ทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบ การใช้ชีวิตของตัวเองและผู้คน จะเปลี่ยนแปลงไปโดยอัตโนมัติ เอกลักษณ์เฉพาะตัวอันเกิดจากการเพ่งพิจารณาข้อบกพร่องของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา จะกลายเป็นสมบัติล้ำค่าของตัวเองและคนอื่นโดยไม่รู้ตัว กล่าวได้ว่าทักษะการตั้งคำถาม ในเรื่องที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องแน่นอนคือสิ่งจำเป็น นอกจากนี้การตั้งคำถามยังมีส่วนช่วยในการกำหนด วิธีการเผชิญหน้าและการวางตัวเวลาอยู่ในสังคมด้วย
คนที่ตั้งคำถามได้ดีจะได้รับความชื่นชมว่า เป็นคนที่เผชิญหน้ากับโลกด้วยความคิดในแง่บวก เรียกได้ว่าการตั้งคำถามคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงทัศนคติ ในการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ถ้าสามารถตั้งคำถามกับตัวเองหรือโลกนี้ได้ดี ก็มั่นใจได้เลยว่าจากนี้ไปจะบุกเบิกเส้นทางชีวิตด้วยตัวเอง คิดในแง่บวกและวางตัวได้อย่างยอดเยี่ยม พูดอีกอย่างได้ว่าคนที่มีทักษะการตั้งคำถามก็คือ คนที่สามารถดำเนินชีวิตได้ดีนั่นเอง
แม้จะไม่สามารถตั้งคำถามที่ดีได้ในทันทีก็ไม่เป็นไร จากนี้ไปขอแค่ฝึกตั้งคำถามอย่างค่อยเป็นค่อยไปทุกวัน จากนั้นหาจุดเริ่มต้นของตัวเอง ฝึกฝนการวางตัวให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตในยุคน่านน้ำสีคราม แล้วจะมีชีวิตที่แสนวิเศษและมีความสุขแล้ว.